วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 8 กว่าจะมาเป็นงาน World Expo 2010: จากท่านผู้นำประเทศ สู่ท่านผู้ชมงาน

ผมเห็นข่าวงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ในหน้าหนังสือพิมพ์และทีวีในเมืองไทยมาตลอด ผมรู้สึกว่าเรายังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของงาน World Expo นี้กันเท่าไร ผมยังได้ยินคนพูดถึงงานนี้กันอย่างกว้างขวาง บางหน่วยงานบางบริษัทได้จัดเตรียมให้พนักงานเดินทางไปดูงาน World Expo กัน บ้างก็ไปเที่ยวกันจริงๆ บ้างก็ไปทำงานกันจริงๆ จังๆ ข่าวในโทรทัศน์บอกว่า “ศาลาไทย” หรือ “Thailand Pavilion” ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ติด 1 ใน 7 ของ Pavilion ที่มีผู้เข้าชมสูงสุด มีการกล่าวว่า “น่าภูมิใจที่เราจะได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยต่อสายตาชาวโลก” ผมกลับเห็นแย้งว่าเราอย่านึกถึงงานนี้ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเป็นอันขาด ในมุมมองของผมนั้น มันเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าจะให้ผมพูดต่อไปก็คือ ถ้าอยากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย ก็อย่าแสดงให้เห็นเพียงศิลปะวัฒนธรรมไทยทั่วไปที่เราพยายามจะบอกกับชาวโลกว่าของเราดีนักหนา สิ่งนันคงขายได้ไม่นาน มันคงเป็นเพียงประสบการณ์แค่ครั้งเดียวก็เพียงพอ ใครจะมาชื่นชมเรามากมายตลอดทั้งชีวิตของเขา เขาก็มีชาติบ้านเมืองของเขาและวัฒนธรรมของเขาเองให้ชื่นชม เราคิดกันได้แค่นี้จริงๆ หรือครับ?

ถ้าเราจะขายวัฒนธรรมกันจริงๆ แล้ว ก็ต้องเอาอย่างอเมริกัน ญี่ปุ่น เกาหลี พวกเขาขายวัฒนธรรมกัน “ทุกๆ วัน” สร้างใหม่ขึ้นมาเลย แล้วก็ขายได้เลย พวกนี้ไม่ต้องมีชาติหรือประวัติศาสตร์ให้รุ่งเรืองในอดีต เอารุ่งเรืองร่ำรวยในวันนี้เลย เอาเงินจากกระเป๋าเรานี้เอง พวกนี้เป็นนักขายกันจริงๆ ขายได้แล้ว ขายได้อีก ขายกันแบบเป็นมวลชนหรือเป็น Mass หากไม่เชื่อ ให้ลองส่องกระจกตัวเองว่าในตัวเราเองมีความเป็นอเมริกัน ญี่ปุ่น เกาหลีมากน้อยเพียงใด นั่นคือ การขายวัฒนธรรม สรุปแล้ว ผมว่าเราไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจคำว่าวัฒนธรรมเลย เราน่าจะขายวัฒนธรรมไม่เป็น แล้วหลงไปว่าตัวเองดีนักหนา มีวัฒนธรรมที่ดี คนทั่วโลกน่าจะเอาไปใช้ได้ ซึ่งไม่จริงเลย เขาแค่ชื่นชม “ชั่วครั้งชั่วคราว” เท่านั้น

สำหรับงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ ต้องขอบอกก่อนว่า “ไม่มี” การขายสินค้านะครับ บางคนจะไปดูงานอยู่แล้ว ยังถามอยู่เลยว่ามีสินค้าอะไรน่าจะนำกลับมาขายเมืองไทยได้บ้าง มีแต่แนวคิดที่นำกลับมาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ เสียแต่ค่าผ่านประตู แต่เราจะนำแนวคิดหรือถอดแนวคิดจากสิ่งที่ประเทศต่างๆ ที่นำเสนอได้หรือไม่ สำหรับศาลาไทยนั้นมีชื่อแนวคิดคือ “ความเป็นไทย วิถีแห่งความยั่งยืนของชีวิต (Thainess : Sustainable Way of Life)” ดูแค่ชื่อแล้วผมก็ชอบครับ แต่ต้องไปดูเอง เพราะชื่อแนวคิดหรือ Theme ที่ตั้งขึ้นมานี้สอดคล้องไปกับ Theme ของงาน แต่ทำไมเวลาประชาสัมพันธ์หรือคนที่เข้าไปดูแล้ว มักจะออกมาด้วยความชื่นชมว่า “เป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่ดี” ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการจัดงานมากๆ เพราะไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยว อาจเป็นเพราะว่าคนที่เข้าไปชมงานอาจจะยังไม่เข้าใจแนวคิดหลักของการจัดงาน World Expo ที่มีแนวคิด Better City, Better Life แม้แต่คนไทยที่เข้าไปดูแล้วยังไม่เห็นแก่นหรือ Theme ของการนำเสนอ อาจจะเป็นที่การนำเสนอเองด้วยหรือไม่ แต่ผมว่าไม่น่าจะใช่ คงเป็นเพราะผู้ที่เข้าชมไม่ได้รับข้อมูลและไม่ได้ทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการจัดงาน World Expo

ที่จริงแล้ววิถีไทยของเราแต่โบราณก็มีแนวทางการดำรงอยู่ของความเป็นเมืองและสังคมที่สงบและเรียบง่าย เพียงแต่เราจะต้องเข้าใจและถอดรหัสวัฒนธรรมการดำรงชีวิตอยู่ของคนไทยออกมานำเสนอสำหรับผู้ที่เข้าชม มองหรือศึกษาให้เห็นแก่นหรือแนวคิดหรือความเป็นนามธรรม เพื่อว่าผู้ที่เข้าชมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หรืออาจจะเป็นการสร้างความมั่นใจในการลงทุนกับไทย หรือเกิดความมั่นใจในความเป็นไทยในฐานะที่พวกเขาจะต้องเข้ามาติดต่อการค้ากับไทยหรือใช้สินค้าไทยในอนาคต ถ้าวิถีไทยถูกถอดรหัสจากความเป็นไทยในเชิงรูปธรรมสู่ความเป็นนามธรรม และสามารถนำออกไปใช้ในบริบทอื่นๆ ของประเทศต่างๆทั่วโลกจนได้เป็นรูปธรรมต่างๆที่มีประโยชน์ต่อพวกเขา ผลตอบแทนจะกลับเข้ามาสู่ประเทศในรูปแบบต่างๆ ในอนาคตได้ ตัวอย่างที่ดีคือ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่มีความเป็นนามธรรมมาก (แต่หลายคนตีความผิด) ซึ่งที่จริงสามารถนำไปประยุกต์ได้ในหลายๆ บริบท

งาน Expo ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้มีอยู่ 2 ประเภท คือ Registered และ Recognized งาน Expo ประเภท Registered บางครั้งเราก็เรียกว่า Universal Expositions ซึ่งมีนิทรรศการแสดงแนวคิด (Theme) ต่างๆรวมทั้งแนวคิดที่ใหม่ๆ หลากหลายออกไป ระยะเวลาการจัดงาน Expo ประเภทนี้ คือ 6 เดือน และช่วงห่างของการจัดงาน Registered Expo คือ 5 ปี ส่วนงาน Expo ประเภท Recognized หรือเรียกอีกอย่างว่า Specialized Expo ซึ่งจะเป็นงาน Expo ที่เจาะลึกเป็นเรื่องๆ ไป โดยปกติงานประเภทนี้จะมีระยะเวลาในการจัดงานประมาณ 3 เดือน และจะจัดในช่วงระยะห่าง 5 ปี ของการจัดงาน Registered Expo งาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ครั้งนี้ ถือว่าเป็นงาน Registered Expo ซึ่งสังเกตได้จากปีที่ลงท้ายด้วย 0 หรือ 5 (เช่น ค.ศ. 2010, 2015)

หลายคนอาจจะคิดว่าประเทศไทยน่าจะจัดประเภทนี้ได้บ้าง เราก็ได้เคยเป็นเจ้าภาพการจัดงานใหญ่ๆ ระดับโลกมาหลายงาน ลองมาดูกันครับว่าประเทศจีนเขาทำกันอย่างไร เริ่มที่เมื่อ 20 กว่าปีเมื่อปี 1985 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดงาน ถึงแม้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่มีการดำเนินการอะไรต่อในปีต่อมา แต่ประเด็นของการเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Expo ก็ยังอยู่ในวาระเสมอ จนมาถึงปี 1993 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่งสำหรับการเป็นเจ้าภาพงาน World Expo นี่

ในปี 1999 ประเทศจีนได้เป็นประเทศแรกที่ประกาศตัวเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo ในปี 2010 และในปีนั้น ประเทศจีนก็ได้มีโอกาสที่ส่งตัวแทนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบริหารของ BIE (International Exhibition Bureau) ในปี 2000 ทางการจีนได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อนำเสนอการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo และประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่ได้ยื่นเอกสารข้อเสนอการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2010 ต่อ BIE เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2002

ตั้งแต่งาน Expo ครั้งแรกที่กรุงลอนดอนในปี 1851 การจัดงาน World Expo 2010 นี้นับเป็นครั้งแรกที่มี 5 ประเทศเข้ามาแข่งขันเพื่อยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงานในเวลาเดียวกัน จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่างาน World Expo มีเสน่ห์และมีอิทธิพลต่อประชาคมโลกเพียงใด ในวันที่ 3 ธันวาคม 2002 เป็นวันที่เมืองเซี่ยงไฮ้ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ประเทศจีนจึงถือเป็นประเทศแรกของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo

ประธานาธิบดี หูจินเทา ได้กล่าวไว้ว่า “เราควรจะใช้ทรัพยากรทั้งหมดของประเทศและเก็บเกี่ยวภูมิปัญญาของโลก เพื่อที่จะทำให้ งาน Expo ที่เซี่ยงไฮ้เป็นงาน Expo ที่ประสบผลสำเร็จ และเป็นงาน Expo ที่มิอาจลืมเลือนได้” หลังจากนั้นทางการจีนได้จัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อ สำนักงานประสานงาน Shanghai World Expo เพื่อเป็นหน่วยงานในการวางแผนและดำเนินงานเพื่อให้เกิดเป็นงาน World Expo ในวันนี้

เมื่อเราได้ทราบถึงขั้นตอนและความพยายามในการจัดงาน World Expo ของประเทศจีนแล้ว ทำให้เราเห็นพลังและแรงใจรวมทั้งจิตวิญญาณของความเป็นจีนที่ต้องการแสดงให้ทั้งโลกได้เห็น และเราก็ได้เห็นมาผลแล้วในการจัดงานกีฬาโอลิมปิค 2008 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยที่การวางแผนและการดำเนินตามแผนงานที่วางไว้เป็นเวลานานนับสิบปีจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การบริหารงานของหลายรัฐบาลหรือผู้นำหลายคนตามวาระการบริหาร

งาน World Expo ที่เซี่ยงไฮ้คาดหวังว่าจะมีผู้เข้าชมกว่า 70 ล้านคนตลอดระยะเวลาจัดงาน 6 เดือน (เขาว่ากันว่า Disney Land 10 แห่งทั่วโลก มีผู้เข้าชมเกือบ 120 ล้านคน หรือไม่ถึง 60 ล้านคนในระยะเวลา 6 เดือน ลองเปรียบเทียบกันนะครับ) รวมทั้งมีประเทศที่เข้าร่วมกว่า 200 ประเทศ ซึ่งคาดว่าตัวเลขหรือจำนวนต่างๆ ในงาน Expo ครั้งนี้จะเป็นประวัติการณ์ที่จะทำลายสถิติของงาน World Expo ทุกครั้งที่ผ่านมา ผมได้อ่านคำกล่าวของประธานาธิบดีจีนที่ผมได้คัดลอกมาก่อนหน้านี้แล้ว ผมรู้สึกบอกไม่ถูก ประเทศจีนผู้ยิ่งใหญ่ไม่ได้บอกตัวเองเลยว่าตัวเองเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ทั้งๆ ที่มีวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน แต่ท่านผู้นำกลับบอกว่า “ให้เราทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดในการเก็บเกี่ยวภูมิปัญญาของโลก” ก็เป็นอย่างที่ผมได้วิเคราะห์ไปในตอนต้นๆ (ตอนไหนก็จำไม่ได้แล้วครับ) ว่า ประเทศจีนได้นำเอาภูมิปัญญาของโลกทั้งโลกมาไว้ที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อให้คนจีนและคนอื่นๆ ทั้งโลกได้ศึกษา เพื่อค้นหาตัวตน และพัฒนาตัวตนขึ้นใหม่สำหรับอนาคต เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและอย่างยั่งยืน

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า งานใหญ่ๆ อย่างนี้จะต้องอาศัยภาวะผู้นำและกระบวนการจัดการที่เป็นระบบเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะเป้าหมายทางสังคม คณะกรรมการจัดงานคงจะต้องอาศัยการประสานงานจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างสรรค์ วางแผน และดำเนินงานเพื่อมาเป็นงาน World Expo ที่เราได้ไปชมมา (หรือกำลังจะไปชม) เรามาลองนึกดูว่า ถ้าเราหรือประเทศไทยเราจะจัดงานประเภทนี้ เราจะทำอย่างไร ผมคิดว่าเรามีศักยภาพพอ มีความรู้และมีประสบการณ์แต่ในเพียงระดับหนึ่ง อะไรควรจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ อะไรเป็นสิ่งที่ประเทศจีนมี แต่เราไม่มี และอะไรที่ทุกประเทศสามารถมีได้ ประเทศไทยอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo หรือแม้แต่กีฬาโอลิมปิค แต่เราก็สามารถที่จะเข้าร่วมงาน World Expo ได้ แต่คงจะไม่ใช่ ไปแสดงสินค้าหรือไปแสดงความเป็นไทย และคิดว่าตัวเองดีกว่าชาติอื่นๆ แต่เราจะต้องไปแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทยเพื่อที่จะแบ่งปันให้กับชาวโลกเพื่อให้เกิดพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน และขณะเดียวกันก็สร้างความพร้อมของตัวเองและเปิดใจด้วยความถ่อมตัวในการไปเรียนรู้ภูมิปัญญาของโลกที่ทุกประเทศนำมาเสนอ

ดังนั้นเราจะไปงาน World Expo ทั้งที ก็คงจะไม่ได้แค่เตรียมเงินไป Shopping กันอย่างเดียวนะครับ แต่เราจะต้องความพร้อมทางด้านปัญญาและความใจกว้างในการเรียนรู้ภูมิปัญญาของโลก โดยเฉพาะแนวคิดของการพัฒนาเมืองเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งแนวคิดนี้จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของเราโดยตรงในปัจจุบันและอนาคต

แล้วคุยกันใหม่ครับ!

อ.วิทยา สุหฤทดำรง


นำ ประสบการณ์ เที่ยว Shanghai Expo 2010 มา เล่า แนะนำ เดินชม อย่างไร ไปตอนไหน น่าสน

Shanghai Expo 2010 - Part 7 Innovations in Shanghai Expo 2010

Blog นี้นับเป็นตอนที่ 7 ที่ผมเขียนเกี่ยวกับ Shanghai Expo 2010 ครับ...

เมื่อผมได้หนังสือ Official Guidebook จากบริเวณหอไข่มุก ก่อนวันเข้า Expo 1 วัน ผมได้เปิดอ่านไปเรื่อยๆ จนมาสะดุดที่เรื่อง Urban Best Practice Area หรือที่เรียกกันว่า UBPA ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ Zone E ทางฝั่งเมืองเก่า ประเด็นเรื่องการพัฒนาเมืองทำให้ผมมีความตั้งใจที่อยากจะเข้าไปชมเรื่องราวของ UBPA นี้มาก ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่มักอยากไปดู Pavilion ที่มีชื่อเสียงต่างๆ ผมก็ไม่เข้าใจตนเองว่าอะไรที่ทำให้ผมเกิดความอยากดูเรื่องราวของ UBPA นี้ น่าจะเป็นเพราะคิดว่านั่นคืออนาคตของเรา แต่ผมก็ผิดหวังในวันแรก เพราะว่าคณะทัวร์เราพาเดินข้ามไปทางฝั่งเมืองใหม่ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายผมก็ได้ไปดู UBPA ในวันที่ 2 แต่ก็ผิดหวังอีกเพราะไม่มีเวลามากพอที่จะได้ดูอย่างละเอียด เพราะมันเยอะและกว้างใหญ่มากๆ ภายในเวลา 4 ชั่วโมงของวันที่ 2 ก็ไม่สามารถเพียงพอได้เลย ก็ยังคงคาใจอยู่

ในงาน World Expo ที่ เซี่ยงไฮ้นี้ มีนวัตกรรมอยู่ 2 อย่าง คือ Urban Best Practice Area และ Expo Shanghai Online (ซึ่งอย่างหลังผมเข้าใจว่า คือ เว็บไซต์นี้ http://en.expo.cn/) เขาว่ากันว่า นวัตกรรมนี้จะทำให้งาน Expo นี้เป็นที่จดจำไม่รู้ลืมและงาน World Expo ก็จะไม่มีวันที่จะถูกปิดฉากลง ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นนวัตกรรมได้อย่างไร? เพราะยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสมากนัก แต่ในใจแล้วผมว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเรามากๆ ก่อนที่ประเทศจีนจะประสบความสำเร็จในการยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2010 ต่อ BIE ประเทศจีนได้มีการเสนอแนวคิดของการเพิ่มประเด็นของ Urban Experimental Area ในเอกสารข้อเสนอ ซึ่งต่อมาได้ถูกเปลี่ยนเป็น Urban Best Practices Area

ประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติต่างๆ ก็เป็นสมาชิกผู้ร่วมงานหลักในงาน World Expo ผู้จัดงาน Expo เซี่ยงไฮ้ ได้เชิญเมืองต่างๆ จากภายในประเทศและจากต่างประเทศที่มีข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ของการพัฒนาเมืองมาเข้าร่วมงานในฐานะผู้ที่ร่วมงานอิสระ เมืองต่างๆ เหล่านี้ถูกคาดหวังว่าจะต้องแสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์และแนวคิดที่เป็นเลิศใน Best Practices ในการพัฒนาเมือง ซึ่งจะต้องถูกเพิ่มเติมเป็นสีสรรค์ในงาน Expo นี้

UBPA จะเป็นสถานที่ซึ่งเป็นแบบจำลองที่บูรณาการฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ อย่างไหลลื่นไม่ติดขัด เช่น ชีวิตในเมือง เวลาพักผ่อน และการคมนาคม ในบริเวณนี้จะสาธิตให้เห็นถึงข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งได้ถูกนำไปใช้งาน และพิสูจน์แล้วว่าสามารถเป็นตัวอย่างและตัวชี้นำในการพัฒนาเมืองในอนาคตได้ ผู้เข้าชมก็น่าจะได้ความพึงพอใจในความก้าวหน้าหรือนวัตกรรมของชีวิตในเมือง

ในพื้นที่บริเวณของ UBPA นี้ ถือว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่งของงาน Expo ในรอบ 150 ปี และเป็นครั้งแรกที่เมืองต่างๆ ได้มีโอกาสในการเข้าร่วมงาน Expo ในฐานะผู้เข้าร่วมงานอิสระ UBPA จะแสดงถึงข้อปฏิบัติ (Practices) ที่ได้ถูกนำไปใช้โดยตัวแทนเมืองต่างๆ ในการปรับปรุงคุณภาพของชีวิตในเมืองและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางของคุณค่าของการมีนวัตกรรมและการได้รับความนิยม

ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2008 ซึ่งเป็นเวลากว่า 1 ปีในการเชื้อเชิญและคัดเลือก กรณีศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้มาออกงาน Expo มีอยู่เป็นจำนวน 59 กรณีศึกษา งานนี้ประเทศจีนลงทุนไปมากๆ ในการพัฒนาประเทศสู่ยุคใหม่ แล้วจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาคนจีนให้เข้าใจโลกาภิวัตน์และความเป็นอยู่ในอนาคต ดังนั้น คนจะมีคุณภาพที่ดีได้ก็ต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีเสียก่อน ผมจึงคิดว่านั่นคือแนวคิดของเขา (แล้วของเราล่ะ คิดกันอย่างนี้หรือไม่ ผมสะท้อนใจจากสภาพที่เห็นบริเวณตลาดเมืองไทยที่ไปมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คือพอดีมีเวลาว่างเล็กน้อยช่วงบ่ายแก่ๆ หลังจากเสร็จภารกิจที่มหาวิทยาลัย ผมจึงพาลูกไปเดินซื้อของที่สะพานเหล็กและคลองถม ไม่เดินมานานแล้ว รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยเราไม่น่าจะได้พัฒนาไปมากเท่าไรนัก)

ในงาน Expo นี้ ประเทศจีนจึงได้นำเอากรณีศึกษาของเมืองในประเทศต่างๆ มาแสดงให้คนจีนได้ดูและได้ศึกษาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเมืองและการดำเนินชีวิตในอนาคต ทำไมผู้นำของเขาสามารถคิดได้ สามารถวางแผนระยะยาวได้ มีการดำเนินงานตามแผนที่ได้วางไว้ นั่นทำให้ประเทศได้พัฒนาไปอย่างนี้ ทั้งหมดนี้อยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำเท่านั้น นอกจากวิสัยทัศน์แล้ว ผู้นำยังต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ถ้าประชาชนอยู่ได้ ประเทศชาติก็อยู่ได้ ไม่ใช่ผู้นำมารีดเอาส่วนแบ่งจากงบประมาณในการสร้างความเป็นอยู่ให้ประชาชน ถ้าประชาชนมีความเป็นอยู่ไม่ดี มีรายได้น้อย ภาครัฐก็เก็บภาษีได้น้อยเช่นกัน งบประมาณก็น้อยลง โกงกินก็ไม่ได้ ถ้าอยากจะโกงกินกันให้มากก็ต้องทำให้รัฐมีรายได้ให้มากขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี ทำงานดี มีรายได้ แล้วก็เสียภาษีให้รัฐ ไม่ใช่ใช้วิธีกู้เอา กู้เอา เพื่อจะได้มีงบประมาณ แต่ประชาชนก็ไม่ได้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อเมืองยกระดับ ชีวิตผู้คนก็จะดีขึ้น ผมคิดว่าความรู้และปัญญาก็จะเกิดขึ้น (แต่กิเลสของมนุษย์ยังคงเดิม) ปัญญาต่างหากที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานของสังคม การโกงกินก็ควรจะน้อยลงหรือสามารถควบคุมได้ ผมไม่ได้บอกว่าจะไม่มี แต่ควรจะน้อยลงไป

กลไกความคิดของผู้นำไทยต่างกับผู้นำจีนอย่างไร ใครบอกได้ไหมครับ? ผู้นำจีนรู้ไหมว่าถ้าไม่วางแผนสำหรับคน 1,300 ล้านคน ความซับซ้อนทั้งในการจัดการประเทศและการดำรงชีวิตของคนจีนเอง คงทำให้ประเทศจีนโกลาหลและจนแน่ๆ แต่ถ้าประเทศจีนสนับสนุนให้ทุกคนทำงานสร้างรายได้ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ชีวิตที่ดีๆ ก็น่าจะมาจากความเป็นอยู่ที่ดีๆ นั่นเอง ใครเป็นคนต้นคิดกันนะ ที่จริงแล้วประเทศจีนก็ไม่ได้ประโยชน์คนเดียวหรอก ประชากรโลกทั้งโลกก็ต้องได้ด้วยจากงานนี้ เพียงแต่ต้องเข้าถึง UBPA ให้ได้ ผมก็ไม่ได้คิดว่าคนไทยหรือผู้นำไทยคิดไม่ได้หรือคิดไม่เป็น ที่มีคิดได้ก็มีอยู่เยอะ มีคิดได้มากๆ ก็มีอยู่เป็นบ้างคน แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือคิดไม่ตลอดรอดฝั่ง หรือคิดในเชิงยุทธศาสตร์ไม่เป็น คิดได้แต่สั้นๆ เท่านั้น

ผมเห็น UBPA แล้วต้องคิดถึงตัวเองและเพื่อนร่วมโลกว่าในอนาคต ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ใครจะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของเรา? กรอบความคิดของเราคงจะไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทยเราแล้ว แต่เป็นขอบเขตของโลกและมนุษยชาติมากกว่า ถึงแม้ว่า UBPA ดูจะไม่โดดเด่นมากนักในงาน Expo ครั้งนี้ ทั้งที่ควรจะโดดเด่น ประเด็นของ UBPA จะสอดคล้องกับ Theme Pavilion และมีความสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตของเราในอนาคต

เรื่องของการมีชีวิตอยู่ในเมืองปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง หากเราลองเดินดูไปตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองต่างๆ ของประเทศไทยเรา ชีวิตความเป็นอยู่ในเมือง ทั้งต่างจังหวัดและในเมืองใหญ่ จะพบว่าสภาพแวดล้อมไม่ได้พัฒนาไปในทางที่ดีนัก ผมคิดว่าเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ในหลายๆ แห่งแย่มากๆ สกปรกมาก ไม่ได้สกปรกเพียงทางกายภาพ แต่เป็นในทางสายตาด้วย จริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ เราก็พัฒนามาและสะอาดขึ้นมาก แต่ผมยังรู้สึกว่าสกปรกในสิ่งที่เราไม่เห็น โดยเฉพาะอากาศที่เราหายใจ เรารู้สึกภูมิใจในอาหารที่วางขายอยู่ข้างถนนที่มีให้เลือกอยู่มากมาย (และเกือบตลอดเวลาในหลากหลายสถานที่ต่างๆ รอบๆ กรุงเทพฯ) แต่เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เรารับเข้าไปนั้นจะมีความปลอดภัยต่อชีวิตเราหรือไม่

ผมกลับมองว่า UBPA ที่แสดงใน World Expo นี้ไม่ใช่นวัตกรรมที่เป็นชิ้นงานหรือชิ้นส่วนของเครื่องไม้หรือเครื่องมือทางเทคโนโลยี แต่กลับเป็นกลุ่มของแนวคิดและการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา นวัตกรรมที่สำคัญ คือ การล้างสมองมนุษย์ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมและรู้จักการอยู่ร่วมกับโลกมากกว่า ใครจะไปรู้ว่า UBPA และเทคโนโลยีต่างๆ อาจจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ถ้าเราไม่เปลี่ยนความคิดเราใหม่ ในทางตรงกันข้าม UBPA อาจจะเป็นบันไดอีกขั้นในการนำพามนุษย์ให้เกิดการเปลี่ยนใจเปลี่ยนความคิดในการใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ เพราะว่าโลกเราจะพังก็เพราะน้ำมือเรา ที่จริงจะเรียกว่าโลกของเราไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่เจ้าของโลกนี้ เราเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยเท่านั้น และเป็นผู้อยู่อาศัยที่เนรคุณต่อโลกมาโดยตลอด ทำลายโลกโดยไม่ได้อะไรที่ดีให้คืนต่อโลกเลย

ผมว่าประเทศจีนเข้าใจในประเทศเหล่านี้ ดังนั้น เครื่องยนต์ต่างๆ ในงานจึงเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น (ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า 8 ที่นั่งสำหรับชมงาน และรถเก็บขยะ) มีการนำรถไฟฟ้ามาใช้ภายในงานและอีกหลายบริเวณของเมืองเซี่ยงไฮ้ เพราะว่านั่นเครื่องเป้าหมายที่จะต้องถูกพัฒนาไป เมืองเซี่ยงไฮ้มีประชากรประมาณ 20 ล้านคน บนพื้นที่ 1,000 ตารางกิโลเมตร มีตึกที่สูงๆ เป็นพันแห่ง จากข้อมูลที่ฟังคนจีนบอกเล่ามา ผมอยู่เซี่ยงไฮ้ประมาณ 6 วัน ผมรู้สึกสบาย ไม่ได้เป็นหวัดหรือไอแต่อย่างใด แต่เมื่อผมกลับมาถึงสุวรรณภูมิ ขึ้นแท๊กซี่กลับบ้านเท่านั้น ผมรู้สึกเจ็บคอทันที รู้สึกว่าอากาศไม่ค่อยสะอาดเท่าไรนัก นั่นน่าจะเป็นอะไรที่น่ากังวลมากๆ สำหรับคุณภาพชีวิตของคนเมืองอย่างผมและพวกเรา

แล้วเราจะนำเอาแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมจากงาน Expo ครั้งนี้มาใช้ได้อย่างไร สิ่งสำคัญ เราคงจะต้องสร้างนวัตกรรมทางสังคมของคนไทยเรากันเองเสียก่อน เพื่อที่จะรับนวัตกรรมทางกายภาพที่เป็นสากลต่างๆ เข้ามา เราต้องเตรียมความพร้อมของสภาพความคิด ระดับของความคิดและจิตใจ ผลที่ได้คือ ความมีระเบียบ มีวินัยในสังคม เราเคยคิดว่า ประเทศจีนยังล้าหลัง ไม่มีระเบียบ เวียดนามก็ยังไม่เป็นระเบียบเลย แต่ถ้าประเทศเหล่านี้สามารถควบคุมสังคมได้ สร้างระเบียบและวินัยให้เกิดขึ้นได้ในสังคม นวัตกรรมต่างๆ ก็จะถูกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วประเทศไทยมีระเบียบวินัยอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเรานั้นยอมรับได้หรือไม่ มันเป็นแค่ความสบายง่ายๆ ที่ทุกคนต้องการ แต่กลับสร้างความไม่เป็นระเบียบและไม่มีวินัยทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญของประเทศไปโดยไม่รู้ตัว ยิ่งขณะนี้ประเทศเราสับสนในความคิด ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก้าวล้ำข้ามความก้าวหน้าทางด้านจิตใจหรือสังคมไทยของเราไป เพราะความไม่พร้อมของระเบียบและวินัยทางสังคมจึงทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างการใช้นวัตกรรมกับระดับความตระหนักและความมีวินัยของผู้คนในสังคม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เห็นได้จากเหตุกาณ์ทางการเมืองที่ผ่านมานั่นเอง

สำหรับประเทศจีนนั้น ผมคิดว่าเขากำลังพัฒนาทั้ง 2 ด้าน คือ นวัตกรรมทางกายภาพ และพัฒนาสังคมของเขาให้เจริญไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่มีอยู่ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของเขา เราเองต้องลองมองย้อนกลับมาดูประเทศไทยว่า เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเรา ถึงแม้ว่า เราทุกคนจะปลอบใจตัวเราเองว่า จงทำตัวเองให้ดีที่สุด ผมว่ามันก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเท่าไรนัก เหมือนกับการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ที่มีผู้เล่นที่ต่างคนต่างเล่น ถึงแม้ว่าทุกคนจะเล่นในบทบาทของตัวเองให้ดีที่สุด ผลลัพธ์ออกมาก็ไม่น่าจะได้ดีที่สุด การจัดการโซ่อุปทานจึงต้องการผู้นำที่เข้าใจสภาพแวดล้อมที่สร้างคุณค่าให้ลูกค้าหรือประชาชน ผู้นำที่เข้าใจคุณค่าของสมาชิกทุกคนในโซ่อุปทาน ผู้นำที่ประสานผลประโยชน์และสร้างภาวะการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ของทุกคนเพื่อให้ผลประโยชน์สูงสุดของโซ่อุปทานประเทศ และจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของทุกคน แต่อาจจะไม่ใช่ผลประโยชน์สูงสุดในเวลานั้น และที่สำคัญผู้นำจะต้องนำการเปลี่ยนแปลง (Leading Changes) ได้จะต้องมีความพร้อมในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสำหรับโครงสร้างโซ่อุปทาน

ผู้นำจีนอาจะไม่รู้จักเรื่องการจัดการโซ่อุปทานแบบเป็นทางการ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้นำจีนกำลังทำอยู่ คือ การจัดการโซ่อุปทานของประเทศจีน (National Supply Chain) โดยเฉพาะโครงสร้างของเมืองซึ่งประกอบไปด้วยโซ่อุปทานที่สร้างคุณค่ามากมายที่ผลต่อเศรษฐกิจและต่อคนในโซ่อุปทานเอง เมืองถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นการไหล (Flow) ของทรัพยากรต่างๆ ในการสร้างคุณค่าสำหรับทุกๆ โซ่อุปทาน ผู้คนที่อยู่ในเมืองที่มีหน้าที่ในการสร้างคุณค่าให้กับโซ่อุปทานต่างๆ ของเมือง ถ้าเมืองมีความพร้อม คนในเมืองก็จะมีชีวิตที่ดี คนในเมืองนั้นจึงสามารถใช้กำลังความคิดที่ดีในการพัฒนาทั้งเมืองและโซ่อุปทานไปด้วยกันได้ คุณค่าที่เพิ่มขึ้นหรือพัฒนาขึ้นก็จะเป็นผลประโยชน์กลับคืนมาสู่คนและเมือง นั่นเป็นความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ที่มีความสำคัญต่อสังคมโลกอย่างยิ่ง อยากให้เมืองไทยซึ่งก็มีคนคิดอย่างนี้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีโอกาสที่จะนำเสนอหรือนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถนำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้บ้าง

อยากฝากท่านผู้อ่านไปลองคิดดูนะครับ อาจจะยากไปสักนิด แต่โลกนี้ไม่มีอะไรง่ายหรอกครับ ถ้าเราอยากจะพัฒนา สิ่งที่ยากที่สุดก็คือจิตใจและความคิดของเรา รวมทั้งจิตใจและความคิดของคนอื่นๆ ที่เราอยากจะให้เขาเปลี่ยนไปตามเรา แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ แล้วสิ่งที่เราคิดนั้นถูกแล้วหรือ? ใครจะตอบได้ ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ มันแสดงให้เห็นอยู่ที่สังคมมากกว่า เราเห็นจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราว่า สังคมทนต่อแรงเสียดทานได้มากน้อยหรือไม่ สังคมเรามีความเปราะบางมากน้อยแค่ไหน สังคมเรารองรับการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ผมอยากให้เราไปเที่ยวและดูงานแล้วได้คิดต่อ และกลับมาทำอะไรให้เกิดประโยชน์บ้าง

แล้วคุยกันใหม่ครับ!

อ.วิทยา สุหฤทดำรง

นำ ประสบการณ์ เที่ยว Shanghai Expo 2010 มา เล่า แนะนำ เดินชม อย่างไร ไปตอนไหน น่าสน

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 6 Theme Pavilion

ในตอนที่แล้วผมเล่าให้ฟังเรื่องของ China Pavilion ซึ่งเป็น National Pavilion ของจีนประเทศเจ้าภาพงาน Pavilion นี้จึงจะต้องมีจุดเด่นที่สามารถเป็น Landmark ของงานได้ ที่จริงแล้วยังมี Theme Pavilion อีกที่น่าสนใจตามแนวคิดของการจัดงาน World Expo 2010 ผมได้เข้าชมบาง Theme Pavilion มาแล้ว ซึ่งดูจะไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก เพราะไม่ค่อยมีแถวคอยรอคิว ไม่เหมือน China Pavilion หรือ Pavilion ของประเทศใหญ่ๆ เนื่องจากผมพอจะมีความรู้และเข้าใจในความหมายของงาน World Expo ครั้งนี้ที่ว่า Better City, Better Life จากการอ่านตามที่ได้เล่าไป จึงมุ่งหน้าไปยัง Theme Pavilion เหล่านี้ เพราะคิดว่าสิ่งที่จะได้รับน่าจะมีผลต่อการใช้ชีวิตของเราในอนาคตมากกว่าหรือเพื่อการต่อสู้แข่งขันในชีวิตและธุรกิจ ถ้าไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง ก็อาจจะต้องต่อสู้หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อครอบครัวและลูก หรือถ้าจะกล่าวให้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีหน่อย ก็ต้องบอกว่าเพื่อสังคมส่วนและประเทศชาติ เป็นไงครับ พอจะดูเป็นคนมีภาพลักษณ์เพื่ออุดมการณ์บ้างไหม

Theme Pavilion จะเป็นสิ่งที่เป็นพาหนะในการสื่อสารให้เข้าถึงแก่นสำคัญของงาน World Expo 2010 ที่ เซี่ยงไฮ้ ให้กับคนจีนและคนชาติ
ต่างๆ ที่เข้าชมงาน สถาปานิกและนักวางแผนจากทั่วโลกได้ถูกเชิญให้มาร่วมในการออกแบบและก่อสร้าง Theme Pavilion ต่างๆ นี้ สำหรับตัว Theme Pavilion นั้นมี Sub-Pavilion เชื่อมต่อกันอยู่ภายใน และเป็นอาคารนิทรรศการขนาดใหญ่ที่มีนวัตกรรมการสร้างโดยไม่มีเสากลาง ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมเชิงนิเวศและมีการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ ทั้งยังมีการการออกแบบต่างๆมากมายที่จะประหยัดพลังงานและลดการ Emission หลังจากงานจบลงแล้ว ตัว Pavilion ก็จะกลายไปเป็นศูนย์แสดงนิทรรศการนานาชาติ Theme Pavilion มีไว้สำหรับแสดงแนวคิด (Concept) อย่างเดียวเท่านั้น โดยปราศจากการชักชวนเพื่อการลงทุนหรือการประชาสัมพันธ์ประเทศ Theme Pavilion ได้ถูกชี้นำโดยพันธกิจเพื่อที่ถ่ายทอดแก่นสาร (Theme) ของงานและส่วนเพิ่มเติมด้วยการออกแบบที่หลากหลายและมีชีวิตชีวาสำหรับประสบการณ์ในการเข้าชมงาน Theme Pavilion จะทำให้ผู้เข้าชมต้องบอกต่อๆ กันถึงประสบการณ์ที่ทำให้รู้ชัดยิ่งขึ้นของ Theme เมือง และชีวิตที่อยู่ในเมือง

Theme Pavilion ของงาน World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ มีแนวคิดอยู่ 5 ประการ คือ คน (People), เมือง (Cities), โลก (The Earth), ร่องรอย (Footprint) และความฝัน (Dreams) ดังนั้น งาน World Expo ที่เซี่ยงไฮ้นี้จึงมี Theme Pavilion 5 แห่ง คือ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง (Urban Dwellers) ความเป็นอยู่ของเมือง (Urban Being) และโลกของเมือง (Urban Planet) ทั้ง 3 แห่งนี้อยู่ภายในอาคารนิทรรศการแห่งใหม่ ในฝั่งผู่ตง ส่วน Pavilion ร่องรอยของเมือง (Urban Footprint) และเมืองในฝัน (Urban Dream) นั้นมี Pavilion ขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งเมืองเก่า (Puxi)


ผมได้มีโอกาสเข้า Urban Planet Pavilion ที่อยู่ฝั่งเมืองใหม่ ผู่ตง ดูตื่นตา ตื่นใจดีครับ กระตุ้นจิตสำนึกเราให้เข้าใจโลกได้ มีเทคนิคการนำเสนอและการแสดงด้วยแสง สี เสียง ที่ตื่นตาตื่นใจทีเดียว ส่วน Urban Footprint Pavilion ที่อยู่ฝั่งเมืองเก่า (Puxi) นั้นผมเดินผ่านไปก่อน เพราะมีแถวคอยรอคิวที่ยาวเกินที่ผมตั้งเป้าไว้ คิดว่าจะได้เดินย้อนมาเข้าใหม่ แต่ก็หมดเวลาเสียก่อน คราวหน้า 23-27 ก.ค. 53 ต้องไม่พลาดแน่ครับ และผมก็มีโอกาสไปเข้า Urban Dream Pavilion ที่มีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่คล้ายโรงงานหรือโรงไฟฟ้า ที่มีเสาสูงที่แสดงอุณหภูมิของอากาศในเวลานั้นเหมือนเทอร์โมมิเตอร์ขนาดใหญ่ ก็นับว่าเป็น Pavilion ที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในอนาคต พร้อมๆ กับเทคนิคการนำเสนอที่มีชีวิตชีวามากๆ

คราวนี้ลองมาดูกันว่าจากที่ผมค้นคว้ามาได้ ในแต่ละ Theme Pavilion หลักๆ นั้นมีอะไรบ้าง มาที่แรกเลยครับ
The Urban Dweller Pavilion เป็น Pavilion ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในเมืองที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ คุณภาพชีวิตในเราโดยทั่วไปจึงหมายถึงการมีอาหารการกินที่พอเพียง เครื่องนุ่งห่ม และความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ที่จริงแล้วมันก็คือ ปัจจัย 4 ของมนุษย์ด้วยนั่นล่ะครับ ความหมายที่ 2 ยังหมายถึงการได้รับการปฏิบัติด้วยการให้เกียรติกัน มิตรภาพและความรัก สุดท้ายแล้ว ยังมีความหมายถึงการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization) และการข้ามพ้นตัวเอง (Self-transcendence) The Urban Dweller Pavilion จะตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการ 3 อย่างที่กล่ามาในฐานะที่เป็นเสมือนเส้นด้ายยืนและใช้อีกหลายๆ ส่วน เช่น การบูรณาการ การอยู่รอด การสัมผัส และการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง มาถักทอรวมกันเพื่อที่สำรวจว่าเมืองจะทำให้ผู้คนในเมืองพึงพอใจได้อย่างไร? เมืองจะมีผลต่อการใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างไร? และเมืองจะบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในเมืองได้อย่างไร?

ส่วนใน
The Urban Beings Pavilion จะมองเมืองเป็นเหมือนสิ่งที่มีชีวิตประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของระบบธรรมชาติซึ่งประกอบไปด้วยสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมกลุ่ม เมืองๆ หนึ่ง ก็คือ สิ่งมีชีวิตประดิษฐ์ เมื่อเมืองได้พัฒนาไปจนถึงระดับหนึ่งแล้ว เมืองก็จะมีกฎของตนเองในการพัฒนาและมีการดำเนินการของตนเอง เหมือนกับร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่มีการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก ในเวลาเดียวกัน เมืองก็มีอารมณ์และวิญญาณ เมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของอาระยธรรมของมนุษย์ชาติที่จับต้องไม่ได้ Pavilion นี้ได้ใช้ชีวิตของมนุษย์เป็นเสมือนเส้นด้ายยืน ด้วยการทำการสำรวจโดยทั่วไปในประวัติศาสตร์ของเมือง การแบ่งส่วนเพื่อที่จะศึกษาโครงสร้างของชีวิตและวิญญาณ เพื่อที่จะค้นหาศักยภาพของชีวิตในเมือง

สำหรับ
The Urban Planet Pavilion แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อชีวิตในเมืองที่มีต่อโลก ด้วยการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรเมืองของโลก และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของขนาดและจำนวนของเมืองต่างๆ ทั่วโลก ขนาดของแผ่นดินและท้องทะเลซึ่งมีอิทธิพลต่อความยั่งยืนที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ (ทั้งนี้ยังรวมถึงการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติและการซึมซับการปล่อยพลังงานออกมาของของเสียของมนุษย์) ที่กำลังถูกขยายผลอย่างต่อเนื่อง Pavilion นี้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ การแผ่ขยายและแพร่กระจาย (Expansion and Spread) บ้านที่หายไป (Lost Home) ความท้าทายและโอกาสของเมือง (City Challenges and Prospects) และการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน (Symbiosis and Win-Win) ทั้ง 4 ส่วนนี้โดยส่วนรวมแล้วแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในเชิงการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์ที่มีชีวิต เมือง และทุกสิ่งบนโลก และได้แสดงให้เห็นว่าโลกที่ดีกว่าในอนาคตต้องการความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ของประเทศทั้งหมดในโลก และความพยายามของสังคมมนุษย์ที่เห็นพ้องร่วมกัน

The Urban Dreams Pavilion เริ่มมาจากความใฝ่ฝันที่ไม่รู้จบ (Eternal dream) วิถีแห่งอนาคต (Way of The Future) และความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด (Infinite Possibilities) เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงจินตนาการของผู้คนที่เกี่ยวกับเมืองในอนาคต การแสวงหาชีวิตที่งดงามซึ่งเป็นความมุ่งมาดปรารถนาของมนุษยชาติ เมื่อเราจินตนาการถึงอนาคตในปัจจุบันแล้ว ในมุมหนึ่ง ความเป็นจริง ความท้าทาย และวิกฤตการณ์ซึ่งผู้คนมีอยู่ในเมืองต่างๆ ได้ทำให้ผู้คนต้องมองหาทางออกอย่างร้อนรน ในอีกมุมหนึ่ง กำลังความสามารถเชิงนวัตกรรมซึ่งไม่รู้จักสิ้นสุดของผู้คนและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็ยังได้นำพาผู้คนไปสู่เมืองในอนาคตซึ่งยากที่จะเชื่อว่าจะเป็นไปได้

The Urban Footprint Pavilion โดยหลักๆ แล้ว Pavilion นี้แสดงถึงร่องรอย (Footprint) ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ว่าผู้คนในอดีตนั้นอาศัยอยู่กับเมืองของพวกเขาและสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืนกันอย่างไรบ้าง เมืองได้เป็นสักขีพยานของการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าและกระบวนการของการสร้างอารยธรรมของมนุษย์ Pavilion นี้ได้ใช้การแสดงนิทรรศการอย่างเลอเลิศในการอธิบายร่องรอยของอารยะธรรมเมืองของมนุษยชาติ

เท่าที่ผมสังเกตการณ์และได้สัมผัส ผู้คนที่ได้ไปงาน Expoมา จะไม่ค่อยได้กล่าวถึง Theme Pavilion เหล่านี้เท่าไรนัก (สังเกตจากบทความในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในช่วงนี้) เพราะว่า Theme Pavilion อาจจะไม่ได้โด่งดังหรือสามารถสัมผัสได้ง่ายเหมือนกับ National Pavilion ของประเทศใหญ่ๆ ที่คนเข้าแถวรอคอยเยอะๆ อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะสนับสนุนให้พวกเราที่มีโอกาสไปงาน Expo ให้หาโอกาสแวะเข้าไปชม Theme Pavilion เท่าที่ผมได้ไปชมมา คนไม่เยอะครับ ไม่แน่น บ้างก็ไม่มีคิว แล้วแต่โอกาส (ช่วงเวลา) ครับ แต่ไม่เหมือน China หรือ Japan Pavilion ที่คนแน่นและมีคิวแถวรอคอย “อย่างแน่นอน” แต่ก่อนจะเข้าไปใน Theme Pavilion เหล่านี้ก็ต้องเตรียมตัวและเตรียมใจหน่อยครับ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ก็เพราะสิ่งที่แสดงอยู่ในนิทรรศการของ Theme Pavilion นั้นค่อนข้างจะเข้าใจยากอยู่พอสมควร หรืออาจเป็นเรื่องที่ดูเหมือนไกลตัวไปบ้างหรือจับต้องไม่ได้ แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด มีหลายส่วนเป็นปัจจุบันจริงๆ ที่เราประสบอยู่ เพียงแต่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ บางครั้งผมยังต้องใช้ความคิดบ้างถึงจะได้ประโยชน์จากการเข้าชม นั่นหมายความว่า เราต้องคิดเยอะๆครับ แต่ถ้าไม่อยากจะคิดหรือคิดไม่ออก จะเข้าไปสัมผัสการแสดงแสงเสียงที่หลากหลายสวยงามและน่าตื่นเต้นก็ยังโอเค แต่มันก็คงไม่คุ้มค่าเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาชมหรอกครับ ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็ควรจะเก็บเกี่ยวอะไรๆ ไปบ้าง

Theme Pavilion นี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมหลายๆ อย่าง ทำให้ผมต้องกลับไปคิดและสะท้อนเรื่องราวและความรู้ต่างๆ ที่เราได้ประสบมา เมื่อผมกลับมายังเมืองฟ้าอมรที่ชื่อกรุงเทพฯ แล้ว ชีวิตและการใช้ชีวิตของผมในเมืองกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ต้องดูต่อไป อย่างน้อยความมั่นใจในองค์ความรู้ทางด้าน Green และ Sustainable Management ที่ผมได้สั่งสมไว้ ก็คงได้นำออกมาแปรรูปเป็นองค์ความรู้สำเร็จรูปที่บริโภคหรือสามารถนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น

เมื่อก่อนนี้ ผมได้ยินคำว่า Carbon Footprint หรือรอยย่ำ รอยเท้าคาร์บอน ผมก็เข้าใจบ้างในกระบวนการเพื่อที่จะหารอยเท้า (หรือรอยตีน) คาร์บอน แต่ผมก็ยังไม่ได้เข้าใจคำว่า Footprint อย่างลึกซึ้งมากนัก (อาจเป็นเพราะว่าผมอ่อนภาษาอังกฤษเองล่ะมังครับ) จนมางาน Expo ครั้งนี้ มีการใช้ คำว่า Footprint ใน Theme Pavilion และอีกในหลาย Pavilion เมื่อวิเคราะห์แล้วผมจึงให้ความหมายของ Footprint ว่า คือ “ร่องรอย” นั่นคือ การศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อนำไปสู่อนาคต เราเดินตามรอยเท้าสัตว์เพื่อติดตามไปสู่สัตว์ตัวนั้นๆ เพื่อล่า การหา Footprint หรือการหาร่องรอย เป็นเสมือนการประเมินตัวเอง เป็นการดูกระจกที่สะท้อนภาพในอดีต เพื่อสร้างความพร้อมหรือศักยภาพในการกระโจนหรือก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคต ดังนั้น ถ้าใครจะก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคต แล้วไม่ได้มองเห็นหรือมองหาร่องรอยของการกระทำในอดีตที่เป็นประวัติศาสตร์หรือสิ่งที่ได้ทำลงไป และรวมถึงปัจจุบันด้วย เพื่อที่จะรู้จักตัวเอง ผมก็คิดว่าก็ยากที่จะจัดการตัวเองหรือประเทศไปสู่อนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เหมือนกับซุนวูที่กล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา” ถึงแม้จะ “รู้เขา” แต่ที่สำคัญหาก “ไม่รู้เรา” เลยก็แพ้แน่นอน หลายต่อหลายครั้งที่เราพ่ายแพ้ศึกสงคราม เราไม่ได้สู้กับข้าศึกศัตรูไม่ได้หรอก เราพ่ายแพ้ตัวเองต่างหาก เราไม่รู้จักตัวเอง เราไม่เคยหาหรือศึกษาร่องรอยของชีวิตหรือการกระทำที่ผ่านมา เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าหรือพัฒนาปรับปรุงให้ดีกว่า เหมือนกับแนวคิด Better City, Better Life

มาวันนี้ประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอย แต่จะเกิดขึ้นใหม่เสมอ ด้วยรูปแบบใหม่หรือรูปแบบเดิมๆ แต่ถ้าเราสามารถค้นหาหรือค้นพบร่องรอยของการกระทำของมนุษย์แล้ว ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจตัวเองดีขึ้น ซึ่งก็จะตรงกับแนวคิดของ Theme Pavilion ในเรื่องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization) เช่นเดียวกับที่คนไทยพยายามจะปรองดองกันอยู่ในเวลานี้ ให้ถามตนว่าพวกเราเข้าใจตนเอง เข้าใจคนไทยอย่างแท้จริงหรือไม่ มันคงไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติ สีผิว หรือภาษาหรอก อย่าให้เราถูกหลอกด้วยรูปลักษณ์ทางกายภาพและสถานภาพทางสังคมในการสร้างความเป็นตัวตนของคนไทย ผมชอบหลักคิดจาก China Pavilion ที่ว่า
“ตั้งเป้าที่ความกลมกลืน แต่ไม่ใช่ความเหมือนกัน (Aiming the harmony but not uniformity)” นั่นหมายความว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกัน หรือสีเดียวกัน หรือเป็นคนสัญชาติไทยเหมือนกัน ความหมายนี้สามารถใช้ในชีวิตประจำวันเราได้ และที่สำคัญมันคือแก่นของการจัดการโซ่อุปทานเลยทีเดียว! (ต้องเอ่ยถึงเสียหน่อยเดี๋ยวจะหาว่าผมไม่ได้กล่าวถึงเลย)

ยังมีต่ออีกครับ แต่ขอพักเสาร์-อาทิตย์ ผมจะไปชะอำ ทำสัมมนากับทีมสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน ม.ศรีปทุมหน่อยครับ

แล้วคุยกันใหม่ครับ!

อ.วิทยา สุหฤทดำรง


นำ ประสบการณ์ เที่ยว Shanghai Expo 2010 มา เล่า แนะนำ เดินชม อย่างไร ไปตอนไหน น่าสนใจ

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บทเรียนผิดๆ จากการเรียกคืนรถยนต์ของ Toyota – และความจริง


11:52 AM Thursday March 4, 2010 โดย Jeffrey Liker

ในตอนนี้ที่ Toyota ยืนพิงเชือก และทุกคนต่างเข้าแถวกันมารุมต่อย มีบทวิเคราะห์และคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทพรั่งพรูมาจากคนที่ไม่เคยเยี่ยมชมบริษัทด้วยซ้ำไป ไม่ต้องนับเลยว่าจะมีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบการผลิตแบบโตโยต้าหรือไม่ ผลก็คือ มีเรื่องเล่าที่เลื่องลือมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับข้อผิดพลาดของ Toyota และบทเรียนที่บริษัทอื่นๆ สามารถเรียนรู้ได้จากปัญหาเหล่านี้

ในบันทึก Blog อื่นๆ ที่ผมเขียนให้ Harvard Business Review และ Business Week ผมได้ตั้งคำถามว่าจำเป็นต้องอธิบายความล้มเหลวของระบบการผลิตแบบโตโยต้าโดยอิงกับการเรียกคืนรถยนต์ในช่วงไม่นานมานี้หรือไม่ - คันเร่งที่ค้างเพราะวัสดุผสมชนิดหนึ่งที่วิศวกรคนหนึ่งกำหนดไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ควรจะแสดงว่ายุทธศาสตร์ด้านผู้จัดส่งวัตถุดิบของ Toyota มีปัญหาหรือ? ลูกค้าที่ใช้พรมรองเท้าผิดประเภทและไม่ได้ยึดให้ดี ควรจะหมายความว่า Toyota กำลังหลงทางหรือเปล่า? เมื่อเราพิจารณาปัญหาแต่ละข้อ และช่วงเวลาที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าความคิดแบบเหมารวมเกี่ยวกับปัญหาของ Toyota เป็นเรื่องที่น่าขัน

บทความจากเมื่อไม่นานมานี้ในนิตยสาร The Economist เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งจากหลายๆ ตัวอย่างของการวิเคราะห์สาเหตุ รากเหง้า (Root-cause Analysis) ที่ทำได้ไม่ดี และการพิจารณาข้อเท็จจริงในมุมมองผิดๆ ประเด็นสำคัญของบทความ คือ ปัญหาการเรียกคืน (Recall) ของ Toyota แสดงถึงปัญหาด้านคุณภาพโดยทั่วไปที่เป็นผลมาจากการตัดสินใจให้บริษัทขยายตัวเร็วเกินไป ซึ่งนำไปสู่การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ที่ไม่ดี ข้อแย้งนี้ปรากฏในสื่ออื่นๆ ด้วยเช่นกัน และเป็นเรื่องน่าอันตรายที่มันจะกลายเป็นเรื่องราวการเรียกคืนรถยนต์ของ Toyota ฉบับที่ยอมรับกันทั่วไป ด้วยการใช้บทความของ The Economist เป็นตัวอย่าง คำกล่าวอ้างต่างๆ มีข้อโต้แย้งดังนี้ (“คำกล่าวอ้าง” แต่ละข้อเป็นการอ้างอิงจากบทความโดยตรง)

คำกล่าวอ้างข้อที่ 1: “James Womack หนึ่งในผู้เขียน The Machine that Changed the World ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับนวัตกรรมของ Toyota ในด้านการผลิต ระบุช่วงเวลาต้นกำเนิดปัญหานี้ในปี 2002 ตอนที่บริษัทได้ตั้งเป้าจะขยายส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกจาก 11% เป็น 15% เป้าหมายนี้ ‘ไม่ได้คำนึงถึงลูกค้ารายใด’ และ ‘ขับเคลื่อนโดยความทะนงตัวเท่านั้น’ เขากล่าว เขาเชื่อว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ‘หมายถึงการทำงานกับผู้จัดส่งวัตถุดิบหลายรายที่ไม่คุ้นเคย และไม่ได้มีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมของ Toyota’”

ความจริงข้อที่ 1: ความสำคัญของเป้าหมายส่วนแบ่งตลาด 15% ในวิสัยทัศน์ระดับโลก 2010 (Toyota Global Vision 2010) นั้นถูกให้ความสนใจมากจนเกินไป วิสัยทัศน์ระดับโลกนี้คือการทำตามหลักการที่นำ Toyota สู่การเป็นบริษัทที่น่าชื่นชมที่สุดในโลกผ่านทางความพึงพอใจของลูกค้าและคุณค่า ตอนที่ปฏิบัติการทวีปอเมริกาเหนือของ Toyota เปลี่ยนวิสัยทัศน์ระดับโลก 2010 ออกมาเป็นเป้าหมายเชิงปฏิบัติการ (Operting Goals) จึงระบุเป้าหมายออกมาได้ 4 ด้าน คือ ความพึงพอใจของลูกค้า, การพัฒนาผู้จัดส่งวัตถุดิบ, ต้นทุนที่ต่ำลง และการพัฒนาบุคลากร จุดศูนย์กลางของแบบจำลองนี้คือ Toyota ที่พึ่งพาตัวเองได้ ผมสงสัยว่านักข่าวของ The Economist ที่เขียนบทความเกี่ยวกับ Toyota จะประหลาดใจไหมที่ผลลัพธ์หนึ่งจากวิสัยทัศน์ระดับโลก 2010 คือต้นทุนการรับประกันที่ลดลง 60% Akio Toyoda ประธานบริษัท Toyota เองก็กล่าวว่าบริษัทได้เติบโตเร็วเกินไปและแซงหน้าความสามารถของตนเองในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่พอเพียง ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่ามีงานที่ต้องทำอีก แต่การโทษว่าการเติบโตเป็นต้นเหตุให้พัฒนาผู้จัดส่งวัตถุดิบได้ไม่ดีพอและทำให้ต้องเรียกคืนรถยนต์คงเป็นการสรุปง่ายเกินไป

คำกล่าวอ้างข้อที่ 2: “เมื่อถึงช่วงกลางทศวรรษ การเรียกคืนรถยนต์ Toyota ได้เพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่น่าตกใจจนผู้สืบทอดของ Mr.Toyoda อย่าง Katsuaki Watanabe ต้องเรียกร้องให้รื้อฟื้นการเน้นที่การควบคุมคุณภาพอีกครั้ง แต่ไม่มีอะไรสำคัญกว่าอีกเป้าหมายหนึ่ง นั่นคือ การแซงหน้า General Motors เพื่อเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก (แม้ว่าเป้าหมายนี้จะไม่ได้มีการประกาศออกมา) ในขณะที่ Toyota แซง GM ได้ในปี 2008 ปัญหาด้านคุณภาพและการเรียกคืนก็ค่อยๆ พอกพูนเพิ่มขึ้น”

ความจริงข้อที่ 2: การเรียกคืนเป็นตัวชี้วัดด้านคุณภาพที่แย่มากเมื่อคุณกำลังพยายามวินิจฉัยยุทธศาสตร์การปฏิบัติการ ปัญหาข้อเดียวที่ปรากฏในรถยนต์ 10 คันอาจทำให้ต้องเรียกคืนรถยนต์ 2 ล้านคัน มันไม่ใช่ 2 ล้านปัญหา แต่เป็นปัญหาเดียว การวิเคราะห์ที่ดีกว่านั้นจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมด รวมถึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอย่างเช่น J.D. Power and Associates หรือ Consumer Reports ด้วย จากตัวชี้วัดเหล่านี้นับว่าปี 2009 เป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่งในทั้งทศวรรษของ Toyota โดยแซงหน้าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ หรือหากพิจารณาที่จำนวนรายงานเหตุการณ์ที่ปลอดภัยในรถยนต์ เมื่อใช้มาตรวัดนี้ Toyota อยู่ในกลุ่มที่ดีที่สุดได้ตลอดทั้งทศวรรษ มีข้อมูลจริงใดบ้างที่ชี้แนวโน้มของปัญหาคุณภาพและปัญหาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น?
คำกล่าวอ้างข้อที่ 3: “ปัญหาส่วนใหญ่จากทั้งหมดแทบจะไม่ได้เกิดในโรงงานของ Toyota เอง แต่ในโรงงานของผู้จัดส่งวัตถุดิบ อุตสาหกรรมยานยนต์นั้นทำงานเหมือนเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อน ผู้ผลิตรถยนต์ (ที่รู้จักในชื่อผู้ผลิต OEM (Original Equipment Manufacturers) จะอยู่ตรงกลาง ถัดจากนั้นเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบชั้นที่ 1 อย่างเช่น Bosch, Delphi, Denso, Continental, Valeo และ Tenneco ซึ่งส่งชิ้นส่วนที่เป็นระบบแบบบูรณาการขนาดใหญ่ให้กับ OEM โดยตรง ถัดจากนั้นคือผู้จัดส่งวัตถุดิบชั้นที่ 2 ซึ่งจัดหาชิ้นส่วนแต่ละชิ้นหรือชิ้นส่วนประกอบให้กับ OEM โดยตรงหรือให้กับผู้จัดส่งวัตถุดิบชั้นที่ 1 (CTS Corp. ผู้ผลิตชุดประกอบคันเร่งที่ Toyota ระบุว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของ ‘การเร่งเครื่องอย่างไม่ตั้งใจ’ ในพาหนะบางรุ่นเป็นผู้จัดส่งชั้นที่ 2 ซึ่งธุรกิจยานยนต์ประกอบเป็นยอดขายราวๆ 1 ใน 3 ของบริษัท)”

ความจริงข้อที่ 3: คันเร่งที่เป็นปัญหาเป็นคันเร่งที่ยึดและเหนียวติด และ Toyota ระบุว่าเกิดขึ้นกับรถยนต์น้อยกว่า 15 คันจากมากกว่า 2 ล้านคันที่เรียกคืน ปัญหาคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัสดุผสมในส่วนหนึ่งของคันเร่งและความชื้นที่ทำให้เสื่อมสภาพตามกาลเวลา ไม่ปรากฏชัดจากข้อมูลที่ตีพิมพ์ว่า Toyota หรือ CTS เป็นผู้ระบุวัสดุนี้ อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่ปัญหาทั่วไปเกี่ยวกับการ ‘ประกอบคันเร่ง’ แต่เป็นคันเร่งที่เหนียวติด และเป็นปัญหาจากการออกแบบที่เป็นปัญหาโดดๆ ที่พิเศษมาก ดังเช่นการเรียกคืนส่วนใหญ่

คำกล่าวอ้างข้อที่ 4: “Toyota ได้ปฏิวัติการจัดการโซ่อุปทานของการผลิตยานยนต์โดยการแต่งตั้งผู้จัดส่งวัตถุดิบบางรายให้เป็นแหล่งเดียวสำหรับส่วนประกอบบางชิ้น ซึ่งนำไปสู่การร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนระยะยาวและเกิดภาพของผลประโยชน์ร่วมกัน”

ความจริงข้อที่ 4: อย่างที่ Rajan Kamath และผมได้เขียนในบทความ Harvard Business Review เมื่อหลายปีมาแล้ว Toyota เลือกการจัดหาแบบขนาน (Parallel Sourcing) มากกว่าการจัดหาจากแหล่งเดียวเสมอ แบบจำลองในอุดมคติของบริษัทคือผู้จัดส่งวัตถุดิบ 3 ราย ในกรณีของคันเร่งนี้ Denso และ CTS เป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนนี้สำหรับรถยนต์ Toyota บางส่วน แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบรายเดียว


คำกล่าวอ้างข้อที่ 5: “ผลจากการขยายตัวอย่างบ้าคลั่งของ Toyota คือ บริษัทต้องพึ่งพาผู้จัดส่งวัตถุดิบภายนอกประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำงานหลายทศวรรษ นอกจากนั้น Toyota ยังมีวิศวกรอาวุโสหรือ Sensei ไม่มากพอที่จะจับตาดูว่าผู้จัดส่งวัตถุดิบรายใหม่ๆ กำลังพัฒนาไปอย่างไร แต่ Toyota ยังวางใจในแนวทางการจัดหาจากแหล่งเดียวต่อไป (Sole-sourcing Approach) และไปไกลยิ่งกว่านั้น Toyota ยังได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) มากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วยการใช้ผู้จัดส่งวัตถุดิบรายเดียวสำหรับรถยนต์หลายรุ่นในหลายตลาด”

ความจริงข้อที่ 5: อาจมีความจริงอยู่บ้างว่าการเพิ่มผู้จัดส่งวัตถุดิบทำให้วิศวกรอาวุโสงานตึงมือ แต่มีข้อควรพิจารณาที่มีผลต่อการตัดสินใจนี้ คือ Toyota ต้องเพิ่มผู้จัดส่งวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการผลิตแบบทันเวลาพอดี (JIT) และทำให้นักการเมืองพอใจ เมื่อพิจารณาว่าการพัฒนาผู้จัดส่งวัตถุดิบให้ได้ดีเท่ากับผู้จัดส่งวัตถุดิบญี่ปุ่นเป็นเรื่องยากและใช้เวลามากเพียงใด การเพิ่มผู้จัดส่งวัตถุดิบเหล่านี้ทำให้ความผันแปรเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ผมเชื่อว่าบริษัททำงานได้อย่างดีแล้วในสถานการณ์แบบนี้ Toyota ทำงานได้ดีกว่าบริษัทอื่นๆ ที่ผมเคยได้ร่วมงาน และอย่างที่กล่าวถึงแล้ว Toyota ไม่จัดหาจากแหล่งเดียว แต่ด้วยการใช้ผู้จัดส่งวัตถุดิบจำนวนน้อยและขยายธุรกิจกับผู้จัดส่งวัตถุดิบจำนวนนี้ บริษัท Toyota จึงมีบริษัทที่ต้องพัฒนาน้อยกว่า – และมีอิทธิพลเหนือบริษัทเหล่านี้มากกว่า

คำกล่าวอ้างข้อที่ 6: “ผู้บริหารระดับอาวุโสที่บริษัทผู้จัดส่งชั้น 1 รายใหญ่รายหนึ่งแย้งว่า แม้ปรัชญาการใช้ผู้จัดส่งวัตถุดิบรายเดียวของ Toyota จะใช้ได้ดีในอดีต แต่บริษัทได้พัฒนาจึงถึงขีดสุดที่อาจเกิดอันตราย โดยเฉพาะเมื่อผสานกับกระบวนการตัดสินใจในประเทศญี่ปุ่นที่มาจากส่วนกลางเป็นหลัก ‘มีทางเลือกที่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง’ เขากล่าว ‘ถ้าคุณไม่ต้องการให้มีอุปทานซ้ำซ้อน ก็ต้องมีการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดมาก คุณจำเป็นต้องฟังฐานการอุปทานของคุณและต้องมีความโปร่งใส นั่นหมายถึงการจ่ายงานให้ผู้จัดการในท้องถิ่น สำหรับ Toyota มันใช้ได้ดีในระดับพื้นโรงงาน (Shopfloor) แต่มันจะเริ่มมีปัญหาในระดับที่สูงขึ้น’”

ความจริงข้อที่ 6: ผมอยากแย้งว่า Toyota ทำการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดได้ดี ผู้จัดส่งวัตถุดิบมักกล่าวว่ามีวิศวกรของ Toyota ในโรงงานคอยวัดแทบทุกอย่างและคอยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อยู่เสมอ ขณะที่คู่แข่งของ Toyota จำนวนหนึ่งส่งเด็กใหม่ซึ่งทำเพียงแค่ขอให้ลดราคา Toyota ได้รับคะแนนประเมินระดับสูงสุดอย่างสม่ำเสมอสำหรับบริษัทยานยนต์ในเรื่องการรับฟังและให้เกียรติผู้จัดส่งวัตถุดิบ

คำกล่าวอ้างข้อที่ 7: “หลังจากวิกฤตการณ์ของ Toyota อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังถามตัวเองว่าการจัดหาจากแหล่งเดียวนั้นเป็นการทำเกินไปหรือไม่ ‘อาจเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่าถ้าจะไม่เก็บไข่ทุกใบไว้ในตะกร้าเดียว แต่เปลี่ยนมาใช้ผู้จัดส่งวัตถุดิบสัก 3 รายสำหรับส่วนประกอบสำคัญๆ เพื่อจะได้เทียบวัดสมรรถนะซึ่งกันและกัน’ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อคนหนึ่งให้ความเห็นไว้ จนถึงเมื่อไม่นานมานี้ Toyota เป็นแบบอย่างที่ไร้ที่ติ แต่อย่างน้อยที่สุด ในตอนนี้กลายเป็นคำเตือนที่ร้ายแรงแล้ว”

ความจริงข้อที่ 7: อย่างที่ผมได้กล่าวแล้วว่า Toyota ไม่ได้จัดหาจากแหล่งเดียว และที่จริงแล้วก็มี “ผู้จัดส่งวัตถุดิบสัก 3 ราย” จริงๆ

ผมไม่ได้เสนอว่า Toyota นั้นสมบูรณ์แบบ Mr. Toyoda เองก็ยอมรับว่าบริษัทยังมีงานให้ทำอีกมาก โดยเฉพาะการปรับปรุงวิธีการตอบสนองต่อคำร้องเรียนของลูกค้า เรื่องหนึ่งที่แย้งได้คือ Toyota ไม่ได้ช่วยตัวเองมากนักในการปิดการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ไว้ภายในบริษัท แม้ว่าบริษัทจะพิจารณาอย่างเป็นทางการแล้วว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาความปลอดภัย “จริง” – อย่างเช่นการลังเลเล็กน้อยเกี่ยวกับระบบเบรค ABS ของรุ่น Prius แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาโซ่อุปทานที่เกิดจากการขยายตัวเร็วเกินไป บริษัทที่ต้องการเรียนรู้บทเรียนจากการเรียกคืนรถยนต์ของ Toyota จะต้องระมัดระวังไม่เรียนบทเรียนผิดเรื่อง

=======================
แปลโดยได้รับอนุญาตจาก Dr.Jeffrey K. Liker ภาควิชา Industrial and Operations Engineering ที่ University of Michigan และผู้เขียนหนังสือ The Toyota Way

ตีพิมพ์ใน Liker, Jeffrey K., "The Wrong Lessons From Toyota's Recalls — And the Truth" http://blogs.hbr.org/cs/2010/03/dont_believe_everything_you_re.html




Shanghai Expo 2010 - Part 5 China Pavilion

ขออนุญาตเล่าย้อนหลังไปตั้งแต่วันแรกของการไปดูงาน Trip นี้ก่อนนะครับ อ.บุญทรัพย์ (ผอ.หลักสูตร Logistics & Supply Chain ของ ม.ศรีปทุม) สั่งให้ไปงาน Expo กับนักศึกษา ผมก็ไป เขาให้ผมไปไหนก็ไป ก็ดีที่จะได้ไปเปิดหูเปิดตาบ้าง รู้สึกว่าโง่ลงอีกมาก เพราะมีอีกมากมายที่ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้างในโลกนี้ พวกเราขึ้นเครื่องตอนประมาณเกือบตี 2 เพื่อที่จะไปถึงเซี่ยงไฮ้ในตอนเช้า สนามบินที่เซี่ยงไฮ้ใหญ่ดีครับ ดูโดยรวมแล้ว สุวรรณภูมิของเรานั้นดูมี Design หรือมี Style มากกว่า แต่ไม่ต้องพูดถึงขนาดของสนามบินนะครับ น่าจะเทียบเขาไม่ได้ อากาศเย็นสบายมาก ชอบจริงๆ ครับ อยากให้บ้านเรามีอากาศเย็นอย่างนั้นบ้าง

ผมจำไม่ได้ชัดเจนว่าไปไหนบ้างในวันแรก เพราะง่วงมากจากการหลับๆ ตื่นๆ เป็นเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงบนเครื่องบิน พร้อมของว่างบนเครื่องที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นอาหารในหมู่ไหนของอาหารหลัก 5 หมู่ที่มนุษย์ควรจะกินเพื่อความอยู่รอด มีดีอยู่อย่างเดียวคือแอร์โฮสเตส ที่พอจะดูเป็นหมวยอินเตอร์บ้าง สบายตากว่าการบินไทยเยอะเลย แต่น่าเสียดายว่า เธอส่งแต่ภาษาจีนตลอด สงสัยเธอคงเห็นพวกเราหน้าตาอาจจะออกเป็นจีนตอนใต้ (กะเหรี่ยง) มั้งครับ แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงอาหารมื้อแรกที่สนามบินเซี่ยงไฮ้เลยครับ จบเรื่องอาหารไปก็แล้วกัน หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้วเราก็ขึ้นรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมือง ใช้เวลาประมาณ 7 นาทีครึ่ง ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 400-431 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Airport Rail Link ของเมืองไทยสู้ไม่ได้เลย (ทั้งๆ ที่ผมเองก็ยังไม่เคยนั่ง เพราะยังสร้างไม่เสร็จเสียที) น่าตื่นตาตื่นใจดีครับ มาครั้งที่แล้ว รถไฟนี้ยังสร้างไม่เสร็จ จีนนี่เจ๋งจริงๆ ครับ

เท่าที่จำได้ สิ่งที่ได้พบเห็นในเมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อถึงสนามบิน คือ ตราสัญญลักษณ์และเจ้าตัว Mascot ของงาน และสิ่งที่สำคัญที่เป็น Landmark ของงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้คือ แบบจำลองหรือรูปจำลองของ China Pavilion เห็นครั้งแรกไม่รู้ว่าคืออะไร เห็นตราสัญญลักษณ์ของงานก็ยังพอจะเดาได้ว่าเป็นงาน Expo เพราะมีตัวหนังสือบอกไว้ เจ้าตัว Mascot ก็เช่นกันพอจะรู้บ้าง แต่ China Pavilion ที่มีรูปร่างเหมือนอาคารทรงแปลกๆ บางคนบอกว่าเหมือนกระถางธูป (ดูไปดูมาก็พอจะได้เห็นความเป็นจีนบ้าง ทำให้นึกถึงวัดเส้าหลิน) และแล้วผมต้องตกใจ เมื่อรถบัสที่นำคณะทัวร์แล่นเลียบเคียงเข้าไปใกล้บริเวณงานขณะที่อยู่บนถนนและสะพานอันแสนสลับซับซ้อนของมหานครเซี่ยงไฮ้ ที่ไหนได้ ไอ้สิ่งที่ผมเห็นก็คืออาคารที่ถูกสร้างเป็น Model ที่เป็นของที่ระลึกวางขายอยู่ทั่วไป อาคารนี้เป็นอาคารขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหวงผู่ (Huangpu River) ซึ่งเป็นที่ตั้งของงาน World Expo 2010 ผมจึงได้ถึงบางอ้อว่า Model นั้นก็คือ China Pavilion นั่นเอง



(เอื้อเฟื้อภาพโดย ImKnow Snowy - LSCM รุ่น 1 SPU)

ในงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ กิจกรรม (Activity) การแสดงและสาธิต (Demonstration) และการประชุม (Forum) ในงานนี้มี Pavilion อยู่หลายๆ แบบที่ประกอบไปด้วย National Pavilion และ Theme Pavilion ซึ่งสร้างโดยเจ้าภาพผู้จัดงาน ในขณะเดียวกัน International Organization Pavilion และ Corporate Pavilions สร้างโดยผู้ที่เข้าร่วมงาน เจ้าภาพและผู้ที่เข้าร่วมงานและบริษัทต่างๆ ได้วางแผน ออกแบบและก่อสร้าง Pavilion ของพวกเขาตามภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดของการจัดงานและระดับของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

China Pavilion เป็นจุดเด่นและตั้งเป็นสง่า หรือเรียกว่าจะเป็น Landmark ของงานและหลังจากการจัดงานไปอีกนาน เหมือนกับ Landmark อื่นๆ ของงาน World Expo ครั้งที่ผ่านมาในอดีต (เช่น หอไอเฟล) ในส่วน China Pavilion จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ National Pavilion, Regional Pavilion of Provinces, Autonomous Regions and Cities และ Pavilion of Hong Kong, Macau and Taiwan แผนผังโดยรวมของ Pavilion จะมีลักษณะเหมือนกับกระดานหมากรุกซึ่งจะเหมือนกับเมืองเก่าของจีนในอดีต ตัว Pavilion นั้นหันหน้าไปทางทิศเหนือโดยมีแกนกลางพาดจากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ Chinese National Pavilion จะอยู่ตรงกลางและมีส่วนบนที่มีขนาดใหญ่ โดยมีความสูงกว่า 60 เมตร ส่วน Regional Joint Pavilion จะถูกสร้างสำหรับ 31 มณฑล และเขตปกครองตนเองและเมืองต่างๆ มารวมตัวกันอยู่รอบๆ เพื่อเป็นฐานรองรับโครงสร้างของ Chinese National Pavilion ส่วน National Pavilion และ Regional Pavilion ได้แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยกันเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกันและสถาปัตยกรรมที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของความเป็นจีน Chinese National Pavilion และ Regional Pavilion มีบริเวณที่เป็นส่วนชั้นบนและส่วนที่เป็นชั้นล่าง เขาบอกกันว่า ตัวอาคารนี้แสดงถึงหลักการแห่งความเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นความกลมกลืนและความสัมพันธ์ตามลำดับชั้นและจนได้กลายเป็น Landmark ของสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อน

China Pavilion นำเสนอความพยายามของจีน ความสำเร็จ และความท้าทายของอนาคต ในการผลักดันความเป็นเมือง (Urbanization) China Pavilion ไม่ได้เป็นแค่จุดศูนย์รวมของมโนทัศน์ (Concept) หรือแนวคิด และจิตวิญญาณ (Spirit) ระดับชาติของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่หลักและเป็นพาหนะที่สำคัญในการสื่อสารแนวคิดของงาน Expo 2010 Pavilion ของชาติที่เป็นเจ้าภาพของงาน Expo แต่ละครั้ง มักจะเป็นจุดที่สนใจอยู่เสมอ สำหรับแนวคิดของ Chinese National Pavilion คือ ภูมิปัญญาจีนในการพัฒนาเมือง (Chinese wisdom in urban development) ความเป็นเอกลักษณ์ของการพัฒนาเมืองมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมจีนที่ลึกซึ้ง (แล้วของไทยเรามีความหมายอย่างไรบ้าง ใครบอกได้บ้างครับ) การที่ประเทศจีนได้เลือกแนวคิดนี้เป็นเป็นแนวคิดพื้นฐานของ Chinese Pavilion ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความสะดวกในการหาวัตถุดิบต่างๆ มาสรรค์สร้างได้ ซึ่งในกรณีนี้มีอยู่มากมาย แต่ยังทำให้ความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างวัฒนธรรมจีนและแนวโน้มการพัฒนาอนาคตของจีนเป็นจริงได้ (แล้วทำไมประเทศไทยไม่คิดอย่างนี้บ้าง คิดถึงแต่อดีต แม้แต่ปัจจุบันก็ยังไม่อยากจะคิด ไม่ต้องพูดถึงอนาคตเลย)

จากกระถางธูปที่ผมเห็นแต่ไกลได้กลายเป็น China Pavilion ที่ประกอบด้วย Chinese National Pavilion ซึ่งมีพื้นที่ 20,000 sqm และ Chinese Provinces Pavilion ซึ่งมีพื้นที่ 30,000 sqm และ พื้นที่อีก 3,000 sqm สำหรับ Hong Kong Macao และ Taiwan พอได้ศึกษาเอกสารเพิ่มเติมจึงได้รู้ว่า ตึกสูงสง่าสีแดงๆ เหมือนกระถางธูปนี้เขาเรียกว่า “Oriental Crown” หรือ "มุงกุฎแห่งบูรพา" อาคารมุงกุฎแห่งบูรพาของ Chinese National Pavilion นี้ สูง 63 เมตร สร้างจากเสาคอนกรีตเสริมเหล็กและโครงสร้างเหล็ก โครงสร้างเหล็กจะถูกขยายออกที่ความสูงของเสาและยื่นออกมาในแต่ละชั้น ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นรูปร่างของ Bucket Arch อาคารทั้งหมดใช้คานทั้งหมด 56 ชิ้นเพื่อที่จะเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึง 56 ชนเผ่าในประเทศจีน (ลึกซึ้งจริงๆ ไม่เขียนบอกจะรู้ไหมเนี่ย ใครจะไปนั่งนับคานบนตึก แค่เดินกับยืนรอก็แย่แล้ว) แล้วพวกที่เดินๆ ชมเข้าออก Pavilion ไปเป็นล้านคนจะรู้บ้างไหม อย่างนี้ต้อง Recall เรียกกลับมาชมงานใหม่ เหมือนโตโยต้าเรียกรถคืน (เกี่ยวกันไหมเนี่ยอาจารย์?) การเชื่อมต่อกันระหว่างคานทำด้วย Dougong ซึ่งมีประวัติศาสตร์มากว่า 2,000 ปี ซึ่งเป็นเทนิคของการการเชื่อมต่อชิ้นส่วนของโครงสร้างสถาปัตยกรรมโดยไม่ต้องใช้ตะปู (แบบนี้บ้านเรือนไทยเราก็มีนะครับ ไม่เห็น Promote เลย หรือผมไม่ทราบ?)



ภูมิปัญญาจีนในการพัฒนาเมืองของจีนประกอบด้วย 4 มุมมอง คือ
# ดิ้นรนแสวงหาอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อที่จะแกร่งกว่าเดิม (Striving unceasingly to become stronger)

# อดกลั้นต่อทุกสิ่งด้วยคุณความดี (Tolerating all things with great virtue)

# ยึดถือกฎแห่งธรรมชาติ (Abiding by the laws of nature)
# ตั้งเป้าที่ความกลมกลืน แต่ไม่ใช่ความเหมือนกัน (Aiming the harmony but not uniformity)

“ดิ้นรนแสวงหาอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อที่จะแกร่งกว่าเดิม”
และ “อดกลั้นต่อทุกสิ่งด้วยคุณความดี” เป็นสำนวนจีนจากหนังสือจีนโบราณ Divination I-Ching สำนวนทั้งสองนี้ เสนอให้เห็นถึงความต้องการของความมีคุณธรรม และสะท้อนถึงความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิญญาณระดับชาติและความเป็นไปของชาติในวัฒนธรรมจีน และในเวลาเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงการอธิบายอย่างมีหลักเกณฑ์ทั่วไปในหลักสำคัญของวัฒนธรรมเมืองของจีนและจิตวิญญาณของคนเมือง

“ยึดถือกฎแห่งธรรมชาติ”
- สำนวนนี้นำมาจาก The cannon of Taoism ซึ่งเป็นวิธีแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นของจีน “ตั้งเป้าที่ความกลมกลืนแต่ไม่ใช่ความเหมือนกัน” มีที่มาจากขงจื๊อ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน สำนวนทั้งสองนี้ได้สะท้อนให้เห็นวิธีของการปฏิบัติตนอย่างมีเหตุผล ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งถูกทำให้เป็นรูปธรรมได้โดยตรงในการพัฒนาเมืองของจีนและวิถีชีวิตของคนเมือง

ผมคงจะต้องเชื่อว่ากว่าจะมาเป็นแนวคิดหรือ Concept ของงาน และ China Pavilion คงจะต้องผ่านการคิดอ่านของทีมงานจีนมาอย่างลึกซึ้งทีเดียว เพื่อให้งานนี้สามารถสื่อสารไปยังคนจีนและคนทั้งโลก เรื่องราวทั้งหมดนี้ผมไม่ได้รู้เองหรอกครับ ก็ด้วยความที่รู้ว่าตัวเองโง่ยิ่งนัก ต้องค้นหาอะไรสักอย่างมาอ่าน เมื่อไปที่ไหนสักแห่งในโลก เพื่อที่จะได้เข้าใจ อย่างที่ได้เล่าไปแล้วว่า ผมไปได้หนังสือ World Expo 2010 ภาคภาษาอังกฤษมา 4 เล่ม ก็เลยมีเรื่องมาเล่าให้ฟังกัน เผื่อว่า เมื่อพวกเราอ่านบันทึกผมแล้ว อาจจะมีความคิดอะไรใหม่ๆ บ้าง

ผมวางแผนว่าจะไปเซี่ยงไฮ้อีกครั้งหนึ่งในช่วง 23–27 กรกฎาคม 2553 นี้ เพื่อที่จะแก้มือ คราวหน้า เวลาไปยืนดู Pavilion ต่างๆ โดยเฉพาะ China Pavilion เราจะได้เข้าถึงจิตวิญญาณของผู้ที่คิดออกแบบและก่อสร้าง Pavilion ว่าเขาคิดอย่างไร ผมยังมีรายละเอียดของ Pavilion ต่างๆ ในหนังสือ Official Guide Book ของงาน World Expo ของทุก Pavilion หนังสือนี้มีหลายอย่างน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ละเอียดมากนัก ผมจึงต้องพึ่งพาหนังสือเล่มอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าชมควรมีหนังสือเล่มนี้ครับ จะได้ดูอย่างเข้าใจและคุ้มค่ากับเวลาและการเดินทาง

ที่จริงแล้วรูปลักษณ์ของแต่ละ Pavilion มักจะสะท้อนความคิดอ่านหรือวิสัยทัศน์ของประเทศนั้นๆ ด้วยรูปทรงที่แปลกและทันสมัย หรือสะท้อนความเป็นอนาคต จนบางครั้งเรามองไม่ออกว่าเป็นประเทศอะไร อย่างเช่น China Pavilion เอง ก็ไม่ใช่ตึกรูปร่างทรงจีนแบบโบราณ แต่ก็มีกลิ่นอายที่พอจะเดาได้ แต่ถ้าเอาไปตั้งนอกประเทศจีน เราอาจจะเดาไม่ออกว่าเป็นประเทศจีน ผมเห็นหลายประเทศพยายามที่จะนำเสนอแนวคิดสู่อนาคต ด้วยสถาปัตยกรรมของ Pavilion ในรูปแบบที่ทันสมัยแตกต่างกันไป แต่ Pavilionของไทยนั้นยังคงความเป็นเอกลักษณ์ไทยอยู่มิเสื่อมคลาย มองปุ๊บรู้ปั๊บว่าประเทศไทย ความเป็นไทยทำไมต้องถูกจำกัดด้วยอาคารทรงไทย ทำไมจึงต้องให้รูปร่างทางรูปธรรมเป็นตัวกำหนดความเป็นไทยด้วยเล่า ทำไมไม่ใช้ความเป็นนามธรรมหรือทางจิตวิญญาณเป็นตัวกำหนดความเป็นไทย

ผมไปเห็นในหนังสือ World Expo เล่มหนึ่ง เขาเอารูปของ Thailand Pavilion จากอดีตสู่ปัจจุบันมาแสดง ผมเห็นว่าก็มีลักษณะทรงไทยตลอด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย ผมไม่ทราบว่าผู้จัดการ Thailand Pavilion ในงาน World Expo ในครั้งที่ผ่านมา (และครั้งนี้ด้วย) เข้าใจแนวคิดหรือ Theme ของงานหรือไม่ และความเห็นของผมต่อไปนี้ ผู้อ่านทุกท่านไม่ต้องเห็นตามผมก็ได้ครับ (เป็นความรู้สึกส่วนตัว ห้ามเลียนแบบ) กล่าวคือ ผมเห็น Thailand Pavilion แล้วผมไม่ค่อยอยากเข้า ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เราคนไทยพอจะรู้จักกันไทยกันแล้ว ไปดูประเทศที่เรายังไม่รู้จักดีกว่า มีเวลาน้อยครับ และที่สำคัญผมคิดว่าพวกเราคนไทยบางคนอาจจะไม่เข้าใจความเป็นไทย และไม่รู้จักนำเสนอความเป็นไทย และที่สำคัญไม่เคยคิดที่จะสร้างความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นไทยเก่า ไทยปัจจุบัน หรือไทยอนาคต เรายึดติดกับรูปร่างหรือโครงสร้างทางกายภาพหรือรูปธรรม โดยเฉพาะอาคารทรงไทยทั้งหลาย หรือชุดไทย พวกเราไม่ได้รู้จักความเป็นไทยในเชิงนามธรรมหรือจิตวิญญาณ ความเป็นไทยไม่ใช่บ้านทรงไทย หรือชุดไทย ผมคิดว่าความเป็นไทยจะต้องแฝงอยู่ในความทันสมัยและร่วมสมัยได้

ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องคิด ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาจับภาพหลุดดารา นักศึกษานุ่งสั้น หรืออะไรที่ไม่ค่อยเข้าท่านัก ผมคิดว่าความเป็นจีนสามารถสะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมที่หลากหลายได้มากกว่าความเป็นไทย ความเป็นไทยควรต้องร่วมสมัย ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นของโบราณหรือมีร่องรอยของความไทยโบราณ จึงจะเป็นไทยได้ ผมไม่ได้บอกว่าความเป็นจีนดีกว่าความเป็นไทย แต่ประเทศจีนเข้าใจตัวเอง เข้าใจความเป็นจีน แล้วยังนำความเข้าใจนั้นมาสร้างชาติ สร้างความเป็นจีนในยุคใหม่ได้ ส่วนประเทศเรายังงงและไม่เข้าใจความเป็นไทยเท่าไรนัก ประเทศไทยเราจึงเป็นเช่นนี้ อย่าโทษรัฐบาลหรือท่านผู้นำเลยครับ ต้องโทษพวกเรากันเองก่อน แล้วค่อยไปโทษรัฐบาลที่ปล่อยปละละเลยพวกเราให้เป็นอย่างนี้

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศจีนนี้เป็นประเทศที่มีอารยธรรม มีวัฒนธรรม มีการศึกษาและมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาอย่างมากมาย แต่ประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยยังคงอยู่และถูกนำมาใช้ประโยชน์ในยุคปัจจุบัน ด้วยการแฝงหลักคิดหรือภูมิปัญญาจากอดีตหรือประวัติศาสตร์เข้าไปในวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละยุคแต่ละสมัย พูดแล้วก็เสียดายว่า หลายครั้งที่เดินทางไปที่ต่างๆ ในโลก ไปแต่ตัวหรือร่างกาย แต่หัวสมองและจิตวิญญาณไม่ได้ไปด้วย ก็เลยได้สัมผัสแต่พื้นแผ่นดิน แต่ไปไม่ถึงจิตวิญญาณของสถานที่นั้นหรือประเทศนั้น เป็นบทเรียนว่าต้องศึกษากันก่อนที่จะไป น่าจะทำให้การท่องไปในโลกกว้างนั้นคุ้มค่ามากขึ้น เพราะว่าค่าทัวร์ไม่ใช่ถูกๆ ใช่ไหมครับ

ส่วนเรื่องของ Thailand Pavilion ที่ผมมีคำถามส่วนตัวว่า ทางเราจะตีความงาน World Expo แตกต่างจากชาติอื่นเขาหรือไม่นั้น ก็คงต้องไปดูในรายละเอียด ผู้จัดจะลึกซึ้งพอในการทำความเข้าใจ Theme ของงาน World Expo หรือไม่ ผมทราบมาว่าชื่อ Theme ของ Thailand Pavilion คือ “ความเป็นไทย : วิถีชีวิตที่ยั่งยืน (Thainess : Sustainable way of Life)” อย่างไรก็ตามในหนังสือ Expo ที่เป็นภาษาอังกฤษเล่มหนึ่ง (ที่ไม่ใช่หนังสือ Official) ได้ลงรายละเอียดของคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ในจากกระทรวงหนึ่งของไทย (น่าจะเป็นหน่วยที่รับผิดชอบการเข้าร่วมงาน World Expo) ไว้ว่า “การเข้าร่วมงาน Expo ที่เซี่ยงไฮ้ในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ดีต่อเนื่องระหว่างจีนกับไทย และยังเป็นการประชาสัมพันธ์การพัฒนาการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย” (ในหนังสือเขาเขียนมาอย่างนั้น) ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว ผมก็ว่าเราคงมาผิดงานแล้วครับ! เพราะมันไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยว หรือกระชับความสัมพันธ์ แสดงว่าทีมงานของท่านผู้ให้สัมภาษณ์อ่อนเรื่องข้อมูล Expo แต่ที่สุดแล้วเราคงต้องไปดูกันเองว่า ผู้สร้างและรับผิดชอบ Thailand Pavilion ตีความโจทย์ที่เป็น Theme ของงานได้เข้าตาท่านผู้เข้าชมมากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ งานนี้ไม่ได้มา Promote การท่องเที่ยว แต่ถ้าจะแสดงความเป็นไทย ก็ต้องบอกว่าวิถีไทยนั้นมีความยั่งยืนของสังคมมาแต่โบราณแล้ว หรือแม้แต่แนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงก็น่าจะใช่เลย ...หากมีโอกาส ท่านต้องลองเข้าไปดูนะครับ

ดังนั้นไปเซี่ยงไฮ้ ไปเมืองจีนกันทั้งทีไม่ใช่ แค่ Shop แหลกเท่านั้น แต่น่าจะได้อะไรเป็นภูมิปัญญากลับมาพัฒนาประเทศไทย (ที่บอบช้ำสุดๆ) ที่จริงแล้วผมไปเซี่ยงไฮ้นี่ก็ Shop แหลกเหมือนกัน คราวหน้า 23-27 ก.ค.นี้ที่จะไปเซี่ยงไฮ้ กะว่าจะไปเอาชุดกอล์ฟ Driver 1-2-3 + Iron 3-9 PW S มาอีกสักชุดสองชุด ต่อราคาให้ได้ถูกกว่า 700 หยวน ที่เคยซื้อได้ แต่ที่น่าสนใจคือเขาผลิตอย่างไรจึงราคาต่ำมากๆ เช่นนี้ น่าสนใจมากเลยประเทศจีน จริงไหมครับ ไม้ที่ซื้อมานั้นใช้ตีได้จริงๆ ครับ หลายคนซื้อไม้จีนไป พอกลับไปเมืองไทยก็เลิกใช้ไม้จริงไปเลย อีกอย่าง ผมซื้อโทรศัพท์ยอดนิยม (ไม่ต้องบอกนะครับว่ายี่ห้ออะไร) 3G Wifi 2Sim (มี Stylus ด้วยแน่ะ ทั้งที่ของจริงไม่มี) 1,400 บาท ถูกมาก แต่ใช้งานไม่ได้ เพราะแบตเสีย ต้องไปซื้อแบตใหม่ 300 บาท แต่ก็ยังใช้ไม่ได้อีกเพราะที่ชาร์จแบตเสีย เดี๋ยวต้องไปซื้อที่ชาร์จแบตอีก นี่ล่ะครับสินค้าจีนประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ตัวใครตัวมันล่ะครับ (ที่จริงแล้ว ผมน่าจะตัดสินใจทิ้งไปเลย ผมจะได้ไม่ต้องเสียอีก 600 บาท) โปรดซื้อด้วยวิจารญาณนะครับ ถือว่าเป็นการผจญภัยก็แล้วกัน

ในบล็อคตอนนี้ได้เล่าถึง China Pavilion ของเจ้าภาพไปแล้ว ตอนหน้าจะเล่าถึง Theme Pavilion ซึ่งเป็นแนวคิดของงานครับ

แล้วคุยกันใหม่ครับ!

อ.วิทยา สุหฤทดำรง



นำ ประสบการณ์ เที่ยว Shanghai Expo 2010 มา เล่า แนะนำ เดินชม อย่างไร ไปตอนไหน น่าสนใจ

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 4

ผมเล่าเรื่องควันหลงจากการไปดูงาน World Expo ถึงตอนนี้ก็ตอนที่ 4 แล้วครับ

พวกเราอุตส่าห์ไปดูงาน World Expo แล้วก็น่าจะสังเกตเรื่องการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในของการจัดงานบ้าง เพราะทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในรูปแบบสินค้าและบริการทุกอย่างนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากโซ่อุปทาน (Supply Chain) เมื่อเรามีความอยากได้ เราต้องหาอะไรที่เป็นคุณค่า (Value) เทียบเท่ากันไปแลกกับคุณค่าที่ต้องการ พวกเราไปดูงาน Expo แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ได้รับจากงาน Expo จะได้มาฟรีๆ เพราะว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีแน่ๆ อยู่แล้ว ต้องนำอะไรมาแลกไปเสมอ ผมและคณะทัวร์ต้องเอาเงินมาแลกกับการเดินทาง การกินอยู่ การได้เข้าชมงาน World Expo ของที่ระลีกที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ให้เราลองนึกดูว่า กว่าจะมาเป็นงาน Expo นั้น ประเทศจีนซึ่งเป็นเจ้าภาพหรือเจ้าของงานจะต้องทำอะไรมาก่อนนั้นบ้าง มีใครมาร่วมกันทำอะไรบ้าง นั่นเขาเรียกกันว่า “โซ่อุปทาน” ครับ

การจัดงาน World Expo นั้นเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เหมือนการจัดงานกีฬาโอลิมปิค ประเทศส่วนใหญ่จัดงานแล้วมักจะได้กำไร บางประเทศจัดงานไปแล้วก็ขาดทุนก็มีให้เห็น (อย่างเช่น กีฬาโอลิมปิกที่เมืองเอเธนส์) ประเทศที่เป็นเจ้าภาพงาน World Expo ก็ต้องคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในการจัดการงานเช่นกัน แต่เมื่อมองกันลึกๆ แล้ว สิ่งที่ประเทศจีนน่าจะได้จากงาน World Expo คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชนของเขา ผู้นำจีนในยุคนี้ลึกล้ำอย่างยิ่ง ประเทศจีนสร้างชาติด้วยแนวทางในการสร้างคนของเขาด้วยการให้ความรู้ และสร้างความยิ่งใหญ่และความเป็นจริงในปัจจุบันให้ประจักษ์ต่อชาวโลก (ไม่ใช่มัวแต่หลงกับความยิ่งใหญ่ในอดีตเหมือนบางประเทศ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าจนจะแย่อยู่แล้ว) ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนจีนของเขา เมื่อผมไปเมืองจีนแต่ละครั้งในแต่ละเมืองนั้น ผมตื่นเต้นเสมอเมื่อได้เห็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของจีน และเศร้าใจอย่างยิ่งเมื่อย้อนดูการพัฒนาของประเทศไทยเรา ก็ได้แต่โทษตัวผมเองว่า ผมเองยังทำวันนี้ดีไม่พอ ประเทศเราถึงเป็นอย่างนี้ อย่าไปโทษคนอื่น เพราะถ้าเราทุกคนโทษกันไปมาแล้ว ก็คงจะไม่มีใครที่อยากจะพัฒนาตัวเอง ดังนั้นพวกเราต้องไม่หมดกำลังใจนะครับ แต่...ต้องระลึกเสมอว่าในน้ำนั้นไม่มีปลาแล้ว ในนานั้นก็ไม่มีข้าวแล้วเช่นกัน เราจะต้องคิดว่าชีวิตข้างหน้านั้น มันไม่เหมือนอดีต

ประเทศจีนพยายามที่จะประกาศให้โลกรู้ถึงการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของประเทศจีน ส่วนหนึ่งของการประกาศศักดานั้น คือ การจัดกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา ซึ่งประเทศจีนจัดได้ยิ่งใหญ่มากๆ เท่านั้นยังไม่พอ อีก 2 ปีต่อมาก็ยังมีการจัดงาน World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนด้วย สำหรับงาน World Expo นี้ ผมถือว่า จีนได้สร้างห้องเรียนทางนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งได้รวบรวมเอาสิ่งที่ดีๆ และ ใหม่ๆ เป็นนวัตกรรมของโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาไว้ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นเวลา 6 เดือน ให้คนจีนหลายสิบล้านๆ คนได้เข้าชมงาน ได้เรียนรู้และสัมผัสถึงโลกอนาคตที่ประเทศจีนจะต้องก้าวไปให้ถึง ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและสังคมในงาน World Expo จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานในอนาคตของมนุษยชาติ

การป้อนความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ของโลกให้กับประชากรของประเทศจีน น่าจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการจัดงาน World Expo ซึ่งเป็นคุณค่าในรูปแบบของการบริการ (Services) ให้ความรู้และข้อมูลข่าวสาร แต่กว่าจะได้มาเป็นงาน World Expo ได้คงต้องมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย ตั้งแต่คณะกรรมการจัดงาน เจ้าภาพผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมแสดงในงาน World Expo ผู้รับช่วงในการจัดงานในส่วนของกิจกรรมต่างๆ ผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงานต่างๆ (Sponsor) และที่สำคัญ คือ ผู้ที่เข้ามาชมงาน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เราเรียกกันว่า หุ้นส่วนในโซ่อุปทาน (Supply Chain Partner) การบริหารและจัดการงาน World Expo จึงเป็นเรื่องของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานล้วนๆ เพียงแต่เราอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำและความหมายเหล่านี้เท่านั้นเอง

ในปัจจุบัน เรื่องของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นเรื่องปกติของการจัดการเรื่องราวต่างๆ ในธุรกิจในปัจจุบัน และยิ่งถ้าแนวคิดและประเด็นในการจัดการลอจิสติกส์และโซอุปทานเป็นที่รู้จักกันในวงการทั่วไปแล้ว แนวคิดนี้จะทำให้เราสื่อสารกันในมุมมองที่เป็นองค์รวม (Holistic) หรือในมุมของบูรณาการ (Integration) เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่พวกเราจะต้องคำนึงถึง คือ กิจกรรมหรือขั้นตอนการทำงานในระดับการปฏิบัติการ (Operational) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะคุณค่าหรือประโยชน์ที่ลูกค้าต้องการจะถูกสร้างขึ้นมาจากขั้นตอนการดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ (Operational) นี้ ทรัพยากรที่ลงทุนไปในการสร้างคุณค่าหรือการจัดงานอยู่ในระดับปฏิบัติการทั้งสิ้น ลูกค้าหรือผู้ที่เข้าชมงานจะผู้ที่สัมผัสหรือได้รับคุณค่าหรือประโยชน์จากการจัดงานนี้ ดังนั้นงาน World Expo จะประสบผลสำเร็จได้นั้น จะต้องมีลูกค้าคนชมงานเป็นไปตามจำนวนที่คาดหวังไว้ และผู้เข้าชมงานได้รับความพึงพอใจจากการเข้าชมงานด้วย

การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ของงาน World Expo คือ การบูรณาการการจัดการลอจิสติกส์ (Integrated Logistics Management) ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ การเข้าชมงานของผู้เข้าชมงานที่หลั่งไหลมาจากทั่วประเทศจีนและทั่วโลก การเดินทางเข้ามายังเมืองเซี่ยงไฮ้โดยเส้นทางต่างๆ การเข้าพักตามโรงแรมต่างๆ ทั่วเมืองเซี่ยงไฮ้ การเดินทางจากที่พักโรงแรมไปยังงาน World Expo บริเวณทางเข้าชมงาน ตั้งแต่เดินเข้าประตูจนถึงเดินออก การเข้าชม Pavilion ต่างๆ การจราจรขนส่งภายในบริเวณงาน การอำนวยความสะดวกต่างๆ จนถึงทางออก ตลอดเวลาของการเข้าชมงานอย่างทั่วถึง ทำอย่างไรให้คุ้มค่ากับการลงทุนมาชมงาน World Expo ถ้าสังเกตดูดีๆ นะครับ กว่าจะครบกระบวนการเข้าชมงานนั้น มีกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ ที่มาร่วมกันทำให้เราเข้าชมงานได้ตลอดช่วงเวลาการชมงาน กลุ่มบุคคล กลุ่มหน่วยงาน กลุ่มบริษัท มหานครเซี่ยงไฮ้ องค์กรเหล่านี้แหละครับที่ผมเรียกว่า “โซ่อุปทาน” หรือ Supply Chain หรือเราอาจจะมองว่าเป็นลักษณะ Team ก็ได้ แต่ Supply Chain นั้นเป็นมากกว่าทีม (Team) เพราะความเป็น Supply Chain จะทำให้ Team สามารถปรับตัวได้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้ ถ้ามีความเป็น Supply Chain ก็จะต้องมี Team แต่ถ้าเป็น Team แล้ว อาจจะไม่มีความเป็น Supply Chain ก็ได้ โซ่อุปทานต้องทำให้ได้ ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า อยู่เสมอและตลอดไปเพื่อความรู้รอด

คราวนี้ลองนึกดูว่ากว่าจะมาเป็นงาน World Expo ได้มีใครอื่นๆ เกี่ยวข้องบ้าง คนแต่ละนั้นจะมีประโยชน์หรือคุณค่าต่อการจัดงานอย่างไรบ้าง ตั้งคนคุมคิวที่ประตูหน้างาน คนเก็บขยะทั่วงาน คนทำความสะอาดในห้องน้ำ หรืออาสาสมัครหนุ่มสาวในงาน World Expo ที่มาช่วยเหลือแนะนำคนที่มาชมงาน และอีกหลายๆ คนที่มารวมตัวกันเป็นโซ่อุปทานของงาน World Expo แล้วให้เราลองนึกดูว่าถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานงาน World Expo เกิดขาดไปหรือ มีปัญหา เราในฐานะลูกค้าคงจะไม่ได้รับความสะดวกในเชิงลอจิสติกส์ที่ต้องเคลื่อนตัวไปยังจุดต่างๆ ที่ต้องการภายในงาน

คุณค่า (Value) ของงาน Expo คือ การที่ผู้เข้าชมงานได้รับสารสนเทศ (Information) ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาไปในแนวคิด Better City, Better Life ใน Pavilion ต่างๆ ดังนั้น ผู้เข้าชมงานจะต้องเดินหรือเคลื่อนย้ายตัวเองไปตาม Pavilion ต่างๆ ที่ต้องการได้ สถานที่ใดที่อยู่ห่างออกไป ทางงาน Expo ก็ได้จัดระบบลอจิสติกส์ที่เคลื่อนย้ายผู้เข้าชมงานด้วยยานพาหนะในการรับส่งภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าขนาด 8 ที่นั่ง รถบัสไฟฟ้า เรือ Ferry ข้ามแม่น้ำระหว่างฝั่งเมืองเก่าและเมืองใหม่ ทำให้ลอจิสติกส์ของผู้ที่เข้าชมสามารถไหล (Flow) ไปยังเป้าหมายได้อย่างถูกเวลา ถูกสถานที่ และด้วยต้นทุนที่ต่ำ

โซ่อุปทานหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของการจัดงาน World Expo จึงต้องพยายามจะเตรียมทรัพยากรต่างๆ ที่รองรับการเคลื่อนย้ายตัวเองของผู้เข้าชมงาน ป้ายบอกทางต่างๆ ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านอาหารและน้ำในพื้นที่จะต้องพร้อมรองรับกับจำนวนผู้เข้าชมให้ได้เหมาะสม ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกิน ที่จริงแล้วการจัดงาน World Expo เป็นเรื่องราวของการจัดการลอจิสติกส์ของผู้ที่เข้าชมงานตั้งแต่เข้างานจนออกจากงานอย่างเหมาะสม ในแต่ละ Pavilion ที่คาดว่าจะมีคนเข้าชมมากๆ จะมีการกั้นแถวให้วกวนไปเวียนมา เพื่อรองรับจำนวนคิวที่ยาวๆ เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่ในการรอคิวได้อย่างเหมาะสมด้วย

ตลอดเส้นทางการเดินชมงานใน Pavilion ต่างๆ ก็จะต้องมีห้องน้ำเตรียมไว้ มีม้านั่งยาวเอาไว้นั่งพักเหนื่อยหรือเมื่อเมื่อยตลอดเส้นทางเดิน รวมทั้งภัตตาคารนานาชาติต่างๆ ก็มีไว้เตรียมพร้อมสำหรับไว้บริการผู้ข้าชมงาน และที่มีอยู่มากมายตลอดพื้นที่แสดงงาน คือ ร้านขายของที่ระลึกภายใต้ลิขสิทธิ์ ที่มีอยู่ครอบคลุมในทุกๆ ส่วนของพื้นที่จัดงาน ของที่ระลึกเหล่านี้มีมากมายหลายประเภทเท่าที่เรานึกได้ว่าจะใช้อะไรได้บ้างในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ละแห่งที่แวะเข้าไปก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป ร้านขายของที่ระลึกนี้เองก็เป็นแหล่งหนึ่งสามารถทำรายได้ให้กับงานได้เป็นอย่างดี

ก่อนที่จะมาเป็นงาน Expo ได้นั้นเจ้าภาพคงจะต้องมีการวางแผนกันมาก่อนเป็นอย่างดี มีการเตรียมงานมาเป็นปีๆ เจ้าภาพต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า โดยปกติการเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับโลกเช่นนี้ เจ้าภาพในระดับประเทศมักจะมีเป้าหมายที่ต้องการผลกระทบทางเศรษฐกิจ งานประเภทนี้เป็นงานมหกรรมทางสังคมที่ภาครัฐหรือภาคสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันเพื่อเกิดผลต่อเนื่อง หรือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศนั้นด้วย สำหรับประเทศจีนเองก็คงจะมีแบบจำลองธุรกิจ (Business Model) พื้นฐานเหมือนกันทุกประเทศที่ต้องการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานระดับโลกเข่นนี้ ประเทศไทยเองก็พยายามที่จะเข้าไปยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมระดับในประเภทต่างๆ ที่สำเร็จก็มี ที่ล้มเหลวไปก็มาก เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเพราะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการทางสังคมที่จะต้องลงทุนใช้เวลาเตรียมงานยาวที่นาน ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการจัดงานได้ ในขณะที่ช่วงเวลาของงานมหกรรมอื่นมีช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก แต่งาน World Expo นี้มีเวลาแสดงถึง 6 เดือน

สำหรับประเทศจีนแล้ว เมื่อตัดสินใจทำอะไรแล้วคงจะไม่ขาดทุนอย่างเป็นแน่แท้ แถมทำอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ด้วย แต่กลับเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้ประชากรรุ่นใหม่ๆ ของจีนเองในการพัฒนาประเทศในอนาคต ถ้าผู้นำจีนรุ่นต่อมาไม่หลงทางเสียก่อน งานมหกรรม World Expo สำเร็จได้อย่างยิ่งใหญ่อย่างนี้ ก็ต้องบอกว่าประเทศจีนก็มีความเข้าใจในแนวคิดการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นอย่างดี ตั้งแต่การจัดการโซ่อุปทานของการเตรียมงาน “ก่อน” วันแสดงงาน และการจัดการโซ่อุปทาน “ระหว่าง” ช่วงเวลาการแสดงงาน ซึ่งช่วงนี้สำคัญมากเพราะมีผู้เข้าชมงานเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ ทั้งยังต้องรวมถึงการจัดการโซ่อุปทาน “หลัง” จากงานจบลงด้วย แนวคิดการจัดการโซ่อุปทานจึงจำเป็นที่จะต้องคิดให้ครบตลอดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์และการบริการ

เห็นประเทศอื่นๆ เขาพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง แล้วสะท้อนใจว่า แล้วทำไมประเทศไทยที่เราภูมิใจนักภูมิใจนักหนาว่าสามารถรักษาเอกราชของประเทศไว้ได้ แต่กลับไม่สามารถช่วยกันพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศได้ ผมว่าเราไม่ได้แปลความหมายหรือสร้างความเข้าใจในความเป็นเอกราชในอดีตให้คนในปัจจุบันเข้าใจ ทั้งๆ ที่ในชีวิตความเป็นอยู่จริงของคนไทยนั้นเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจทั้งกายและใจให้ต่างชาติหมดแล้ว มีเพียงแต่ผืนแผ่นดินเท่านั้นที่เราบอกว่าเป็นเอกราช ไม่สูญเสียดินแดนให้ใคร และพยายามปกป้องรักษากันด้วยชีวิต เราก็ได้สูญเอกราชทางจิตวิญญาณของความเป็นชาติไปตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่รู้ตัวกัน ทั้งยังหลงละเมอกับอดีตที่ไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว นั่นเป็นเพราะเราใช้ประวัติศาสตร์ในการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าไม่เป็น เราเพียงแต่ใช้ประวัติศาสตร์เพียงเพื่อโฆษณาชวนเชื่อไปวันๆ เท่านั้น ผมว่าเราต้องดูแนวทางของประเทศอื่นๆ ในการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนในปัจจุบันพัฒนาชีวิตเพื่อสู่อนาคต หากเราใช้ประวัติศาสตร์เป็นแล้ว เราจะรู้สึกว่าประวัติศาสตร์ที่เราได้รับรู้นั้นทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผมว่าประเทศจีนทำเรื่องราวของการนำเสนอประวัติศาสตร์ได้ดีมาก เอาไว้ผมจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไปครับ

สุดท้ายผมว่าเราต้องไม่ย่อท้อ เราต้องคิดให้มากกว่านี้ เราต้องทำตัวให้ฉลาดหน่อย อย่าทำตัวเหมือนคนโง่ที่ไม่มีความคิด หลงมัวเมากับภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้หลงทางกลับไปติดยึดความรุ่งเรืองในอดีต ทำให้เราไม่ได้คิดพัฒนาปัจจุบันให้ดีกว่าเก่า เราจึงติดกับดักความคิดและหลงตัวเองว่าเราเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน ทั้งที่เราก็ไม่ได้รุ่งเรืองอะไรมากเท่าใดนัก เรารับรู้มาด้วยการเรียนประวัติศาสตร์ด้านเดียวมาตลอด แค่ได้เรียน แต่ไม่เคยเข้าใจและเราก็ไม่รู้หรอกว่า ประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านหรือประวัติศาสตร์โลกเขามองเราอย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นรากเหง้าของประเทศเราเองก็ได้ แต่อย่างไรผมก็ยังเชื่อว่าเราต้องพัฒนาได้ครับ!

รออ่านต่อนะครับ!

อ.วิทยา สุหฤทดำรง

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 3

หลังจากที่ได้เขียนเรื่องประสบการณ์การไปงาน World Expo ไป 2 ตอน ผมก็ได้กลับไปเช็คสถิติจำนวนผู้เข้าชมงาน ปรากฎว่าคณะทัวร์ของเราได้เข้าชมงาน World Expo ในวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่มีผู้เข้าชมงานมากที่สุด ตั้งแต่เปิดงานมา คือ มากกว่า 500,000 คน (http://en.expo2010.cn/yqkl/index.htm) อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็อาจจะมีผู้เข้าชมงานต่อวันมากกว่านี้ก็เป็นไปได้ และไหนๆ พวกคณะทัวร์ของเราก็เป็นผู้ที่ฝักใฝ่ทางด้านการจัดการโซ่อุปทานอยู่แล้วก็นน่าจะหันมามองงาน World Expo อย่างการจัดการโซ่อุปทานบ้าง ให้สมกับเป็นนักลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ผมเห็น Slogan ของงาน World Expo ที่ว่า “Better City, Better Life ก็เมื่อเดินทางมาถึงที่เซี่ยงไฮ้แล้ว คำว่า Better นั้นมีความหมายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในมุมมองของการจัดการที่จะต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ Theme ของงานนี้จะเป็นเรื่องของเมืองซึ่งเป็นสถานที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่ เมืองหรือ City นับว่าเป็นประเด็นเชิงสังคมที่เราสามารถจับต้องได้ดีที่สุดในชีวิตประจำวัน สามารถสัมผัสได้ ผมมองว่า Theme ที่ว่า Better City, Better Life นี้เป็นการต่อยอดจากประเด็นเรื่องโลกร้อนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผมเชื่อว่าเรื่องโลกร้อนนั้นก็เป็นผลพวงมาจากการที่เราไม่เข้าใจในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ จึงทำให้เราไม่ได้สร้างเมืองและสร้างสังคมมนุษย์อย่างเอื้ออาทรกับธรรมชาติ เราเพียงแต่หวังว่าจะเอาประโยชน์เข้าตัวเองมากที่สุดมาโดยตลอด โดยเฉพาะฉวยประโยชน์จากธรรมชาติ โดยมิได้ตอบแทนกลับ จนธรรมชาติได้ส่งสัญญาณโลกร้อนออกมาทวงคืน ทำให้มนุษย์พอจะคิดได้บ้าง และสามารถทำความเข้าใจหรือ ลดละความโลภลง จนหันมาประนีประนอมกับธรรมชาติได้บ้าง

ก่อนไปต่อ จะต้องทำความเข้าใจในความหมายของโซ่อุปทาน (Supply Chain) กันอีกนิดก่อน เพราะคุณค่า (Value) หรือประโยชน์แต่ละอย่างที่เราใช้สำหรับการดำรงชีวิตล้วนมาจากโซ่อุปทานทั้งสิ้น คุณค่าเหล่านั้นอยู่ในรูปแบบของสินค้าและบริการที่แต่ละบุคคลต้องกินและต้องใช้ รวมทั้งสาธารณะสมบัติต่างๆ ที่ผู้คนในสังคมใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น เมืองหรือ City จึงกลายเป็นแหล่งรวมคุณค่าต่างๆ ที่หลากหลายซึ่งมาจากโซ่อุปทานที่หลากหลายเช่นกัน เรามีซีวิตอยู่ในเมือง มนุษย์สร้างเมืองขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้อาศัยอยู่และสร้างประโยชน์ให้กับตัวมนุษย์เอง โดยส่วนใหญ่ มนุษย์ในเมืองมิได้คำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เมืองและมนุษย์จะต้องพึ่งพาอาศัย ความเป็นเมืองนั้นเกิดขึ้นจากการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์กันเองเพื่อให้เกิดเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เมืองให้คุณค่าหรือประโยชน์กับประชากรของเมือง คุณค่าหรือประโยขน์ของเมืองในฐานะที่เป็นสาธารณูปโภคต่างๆ จะเป็นประโยชน์ที่ประชากรของเมืองใช้ร่วมกัน ส่วนคุณค่าอื่นๆ ที่เป็นความต้องการของแต่ละบุคคลก็จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยโซ่อุปทานที่สร้างขึ้นมาและตั้งอยู่ในเมืองหรืออาจจะถูกสร้างจากโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงมาจากเมืองอื่นๆ ดังนั้นเมืองหนึ่งๆ จะประกอบและโยงใยไปด้วยสายโซ่อุปทานต่างๆ มากมาย โดยโซ่อุปทานทั้งหมดจะมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชากรในเมืองหรือเมืองอื่นๆ ถ้าปราศจากโซ่อุปทานแล้ว ความเป็นเมืองก็จะหมดไป สาธารณูปโภคก็จะไม่มีคนใช้งาน เมืองก็จะไม่มีคนอยู่ ความมีชีวิตของเมืองก็จะหายไป และก็จะไม่มีสังคม

ผมพูดเรื่องราวของงาน World Expo ให้เป็นเรื่องราวของโซ่อุปทานหนักๆ มากไปหรือเปล่าครับ ความหมายของ Better City, Better Life นั้นสามารถขยายความได้อีกมากมายในหลายมุมมอง เมื่อพูดถึงเมืองหรือ City แล้ว เราคงต้องมองเห็นสิ่งปลูกสร้างและคนมากมายที่มารวมตัวกันเป็นสังคม เมืองจึงเป็นรากฐานของสังคมและการสร้างคุณค่าในโซ่อุปทาน ยิ่งในปัจจุบันนี้ การเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าการควบคุมในมุมมองการจัดการ ดังนั้น คำว่า Better นั้นจึงเป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงการจัดการโซ่อุปทานที่ต้องทำให้เกิดคุณค่าที่ดีกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา คำว่า Better City ก็คงไม่ได้หมายความว่าสาธารณูปโภคที่ดีกว่าเดิม มีตึกที่สูงกว่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีกว่าเดิมเท่านี่น ประเด็นที่ดีกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ดีและควรจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและข้อจำกัดต่างๆ ที่จะต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเมืองที่มนุษย์สร้างขึ้น กับธรรมชาติที่มนุษย์และเมืองที่มนุษย์ต้องอาศัยพี่งพิงอยู่ คำว่า Better อาจหมายถึงความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่สมดุลของการอยู่รวมกันกับธรรมชาติของมนุษย์ด้วยก็ได้

ผมชอบ Theme ของงาน World Expo นี้ เพราะเป็นการต่อยอดหรือทำให้ประเด็น Global Warming สามารถนำเข้าสู่ประเด็นของการประยุกต์แนวคิดนี้ให้เข้าชีวิตประจำวัน ในเมืองที่เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดประเด็นนี้มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วนของสังคม Theme ของงานนี้จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอและสร้างความตระหนักในด้านพลังงาน โลกร้อน สีเขียว สู่สังคมมนุษย์ ในเมื่องาน World Expo ได้กลายเป็นงานมหกรรมทางด้าน Human Development ของมนุษยชาติ ก็คงจะไม่ได้ผิดแนวทางในการนำเสนอประเด็นที่ไปในแนวทางที่จะคำนึงถึงการสร้างสังคมเมืองให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีกว่าและอยู่อย่างยั่งยืน นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำมาแสดงในงาน World Expo ในครั้งนี้ก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องและสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วย นั่นเหมือนเป็นการประกาศของมนุษยชาติแล้ว ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (Life will never be the same) นั่นหมายความว่า เรามนุษย์เองจะต้องเป็นผู้กำหนดความเป็นของชีวิตเรา สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นไปในทางบวกหรือลบก็ล้วนเกิดขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้นความเป็นไปบนโลกนี้ก็อยู่ที่ความคิดของเรานั่นเอง เราคิดอย่างไร ส่วนมากเราก็ทำอย่างนั้น ถ้าเรามีความคิดในการสร้างสมดุลกับธรรมชาติ เพื่อเมืองที่ดีกว่าซึ่งจะนำพามาสู่ชีวิตที่ดีกว่า ความฝันที่จะทำให้การดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์และธรรมชาติมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นก็จะเป็นจริงมากขึ้น

เมื่อตอนเป็นความคิดก็คงจะง่าย แต่ในความเป็นจริงนั้นคงไม่ง่ายเลย เพราะในโลกนี้ประกอบไปด้วยเมืองหลายๆ เมืองที่มีสังคมมนุษย์เป็นองค์ประกอบ การที่จะปลูกฝังแนวคิดนี้ให้มนุษย์บนโลกเรานี้ คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความตระหนักในเรื่องการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติไม่ได้เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เรื่องนี้ไม่สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นทางด้านพันธุกรรมกันได้ ประเด็นนี้จึงจะต้องเรียนรู้กันด้วยการยกระดับของจิตใจของผู้คนในสังคม และจะต้องมีการถ่ายทอดผ่านการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมหรือการสร้างวัฒนธรรมของสังคมมารองรับการเปลี่ยนแปลง

Blog ตอนที่ 3 นี้ออกจะเครียดๆ ไปบ้าง แต่ผมไม่อยากจะให้เราไปดูงาน World Expo ในมุมมองที่การพัฒนาของเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมองเห็นการพัฒนาทางด้านสังคมไปพร้อมๆ เศรษฐกิจและเทคโนโลยี อย่างน้อยถ้าศึกษาหรือสังเกตประวัติศาสตร์บ้าง เราอาจจะเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องราวความเป็นไปของโลกที่โยงใยอย่างคล้องจองกันไป ซึ่งจะทำให้เราสามารถคาดการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับโลกเราในอนาคตได้ ผมหวังว่า เราน่าจะเห็นแนวคิดโซ่อุปทานใน Theme ของงาน World Expo 2010 ที่ Shanghai ยิ่งมีจำนวนประชากรในเมืองหรือ City มากขึ้นเท่าใด ความซับซ้อนในการจัดการก็มากขึ้นเท่านั้น และคงต้องใช้องค์ความรู้ในการจัดการความซับซ้อนแนวคิดใหม่ๆ มากขึ้นเช่นกัน นอกจากจะมีเทคโนโลยีในการช่วยเราทุ่นแรงแล้ว ยังต้องมีเครื่องมือที่จะช่วยเราคิดด้วย โดยเฉพาะมองในมุมมองของระบบของสังคมหรือที่มีความซับซ้อน (Complexity) มากยิ่งขึ้น

เอาล่ะครับ เครียดกันพอควรแล้วครับ แล้วจะเขียนมาอีกครับ จะพยายามวิเคราะห์เรื่องการจัดการ Supply Chain ของงาน World Expo และพาไปดู (ให้ข้อมูล) Pavilion ต่างๆ นะครับ ถ้ามีเวลาพอและไม่หมดไฟเสียก่อน

อนึ่ง หลังจากกลับจากงาน World Expo วันนี้ที่ห้างหนึ่งในกรุงเทพฯ ผมมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับพลังงานดังนี้ครับ ผมไปนั่งดื่มกาแฟที่ห้าง พอสั่งกาแฟเสร็จก็ได้กาแฟมา 1 ถ้วย พร้อมน้ำเย็นหนึ่งแก้วที่มีน้ำแข็งก้อนขนาดเล็กจำนวนไม่มากลอยอยู่ ตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก พอดีเหลือบไปเห็นวิธีทำของพนักงาน คือ เขาตักน้ำแข็งเต็มแก้ว แล้วนำแก้วน้ำแข็งไปเติมน้ำร้อนจากเครื่องทำกาแฟ ลองคิดดูก็แล้วกันว่าพลังงานในการทำร้อนและพลังงานในการทำน้ำแข็งจะสูญเปล่าไปขนาดไหน เอาน้ำร้อนไปละลายน้ำแข็ง เพื่อให้ได้น้ำเย็น เห็นไหมล่ะครับว่าพลังงานสูญเปล่าไปขนาดไหน แต่ถ้าทุกคนมีความตระหนัก ชีวิตในเมืองคงจะดีกว่านี้

อ.วิทยา สุหฤทดำรง