วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เจาะแก่นแนวคิดแบบลีน (6) : ลีนกับโซ่อุปทาน


ทุกวันนี้มีผู้กล่าวถึงแนวคิดแบบลีนอย่างต่อเนื่องด้วยความตื่นเต้นและเหนื่อยอ่อน เพราะหลายๆ คนคิดว่าทำไมจึงต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำไมจึงมีสิ่งใหม่มาให้ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ นั่นเป็นคำปรารภที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลาจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือบุคคลธรรมดาก็ตาม คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจัดการและแนวคิดที่เกิดขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลา แนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) เกิดขึ้นมาก่อนหรือหลังโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไม่ใช่ประเด็น แต่แนวคิดทั้งสองได้รับความนิยมในการนำมาประยุกต์ใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกันจนสามารถนำมาบูรณาการกันเป็นหนึ่งเดียวกันได้ กระนั้นก็ยังมีหลายต่อหลายคนที่มองแนวคิดทั้งสองเป็นคนละเรื่อง ทั้งๆ ที่ทั้งสองเรื่องนั้นเป็นเรื่องเดียวกันโดยแท้ ผมตั้งข้อสงสัยว่าอาจมองด้วยคนละมุม จึงทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการบูรณาการแนวคิดทั้งสองได้ พลังของการใช้ประโยชน์จากแนวคิดทั้งสองจึงลดลงไปอย่างน่าเสียดาย

ความเหมือน

ที่จริงแล้วแนวคิดแบบลีนนั้นได้รับความนิยมมาก่อนโซ่อุปทาน สังเกตได้จากงานวิจัย หนังสือ และโครงการริเริ่ม (Initiatives) ต่างๆ จากบริษัทระดับโลกทั้งหลาย จนในปัจจุบันได้แปลงเป็นโครงการหรือแนวคิดโซ่อุปทานแบบลีน (Lean Supply Chain) ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่าเป้าหมายสุดท้ายของการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามนั้นทำเพื่อให้เราที่เป็นมนุษย์นั้นได้ประโยชน์ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “คุณค่า (Value)” ดังนั้น ไม่ว่าโซ่อุปทานหรือลีน ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับมนุษย์เรานั่นเอง ทั้งสองแนวคิดนี้เป็นเรื่องของการจัดการกระบวนการการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) เพื่อตอบสนองความต้องของลูกค้า เทคนิคการจัดการทั้งหลายจึงมีเป้าหมายเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าบทบาทของแต่ละแนวคิดจะอยู่ตรงส่วนไหนของกระบวนการสร้างคุณค่านั้นๆ

เมื่อมองถึงความเหมือนของเทคนิคการจัดการทั้งหลายแล้ว เทคนิคการจัดการแต่ละเรื่องจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามบริบทของการนำไปใช้ในกระบวนการสร้างคุณค่า เทคนิคเหล่านี้จะต้องถูกบูรณาการเข้าด้วยกันเป็นระบบการจัดการโดยรวมของทั้งระบบ เหมือนกับชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์หรือรถยนต์ ที่มีลักษณะรายละเอียดแตกต่างกันเพื่อเป็นส่วนที่สมบูรณ์ (Complementary) ในการเติมเต็มที่มีจุดหมายเดียวกันในการทำให้รถยนต์วิ่งได้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลีนหรือโซ่อุปทาน เราไม่สามารถปฏิเสธความเหมือนของทั้งสองแนวคิดนี้ได้ เพราะแนวแนวคิดทั้งสองนี้ได้ถูกนำไปปฏิบัติบนกระบวนการสร้างคุณค่าขององค์กรและกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้ผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนเราเรียกการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กรว่าเป็นโซ่อุปทานขององค์กร ส่วนการรวมกลุ่มขององค์กรต่างๆ ในการผลิตสินค้าและบริการว่าเป็นโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์

หลายๆ คนมองและเข้าใจโซ่อุปทานและแนวคิดแบบลีนเป็นคนละเรื่องกัน มีการนำเอาไปใช้อย่างแยกกันเป็นส่วนๆ โดยไม่ได้บูรณาการเข้าด้วยกัน ทั้งๆ ที่เป้าหมายของนำไปปฏิบัติใช้งานก็เป็นกระบวนการการสร้างคุณค่าเหมือนกัน ทั้งลีนและโซ่อุปทานต่างก็มุ่งที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรขององค์กรและเครือข่ายให้คุ้มค่าที่สุดบนความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่สุดแล้ว ทั้งแนวคิดแบบลีนและโซ่อุปทานมีความเหมือนกันก็ตรงที่มุ่งเน้นไปที่การไหลของทรัพยากรในการสร้างคุณค่า และการไหลของคุณค่าไปยังลูกค้าอย่างบูรณาการจากต้นชนปลาย (End to End)

ความแตกต่าง

ความแตกต่างที่เราได้เห็นจากโซ่อุปทานและแนวคิดแบบลีน คือ วิธีการมองเข้าไปในกระบวนการสร้างคุณค่า แนวคิดแบบลีนมองจากมุมของการจัดการความรู้ (Knowledge-based View) โดยการเน้นที่การแก้ปัญหา (Problem Solving) ความรู้เรื่องการแก้ปัญหาจากระดับบุคคลในส่วนการผลิตบนกระบวนการสร้างคุณค่า และถูกแผ่ขยายไปทุกกระบวนการสร้างคุณค่าของทั้งองค์กรจนกลายเป็นวัฒนธรรมในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (Continuous Improvement) ในการทำงานเพื่อรองรับความเป็นพลวัตของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ความรู้ในการแก้ปัญหาในมุมมองของลีนมุ่งไปที่การไหลเชิงกายภาพของทรัพยากรในการสร้างคุณค่า จากระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) จนถูกถอดรหัสมาเป็นหลักคิด 5 ประการของแนวคิดแบบลีน ซึ่งได้สะท้อนภาพหรือมุมมองของทรัพยากร (Resource-based View) และการจัดการทรัพยากรให้คุ้มค่าหรือเกิดความสมดุลระหว่างการสร้างคุณค่าและความต้องการของลูกค้า เมื่อใดเกิดความไม่สมดุลขึ้น ทรัพยากรบางส่วนจะเป็นความสูญเปล่าไป หลักแนวคิดของลีนต้องการกำจัดความสูญเปล่าเพื่อให้เกิดความสมดุลของการใช้และการจัดสรรทรัพยากร นอกจากนั้น แนวคิดแบบลีนยังเน้นที่การปรับตัวหรือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการผลิตสินค้าและบริการกับความต้องการของลูกค้า

ส่วนโซ่อุปทานนั้นเป็นมุมมองในเชิงทรัพยากร (Resource-based View) เพื่อรวมกลุ่มและเชื่อมโยงทรัพยากรต่างๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่า โซ่อุปทานเน้นที่การเชื่อมโยงทางกายภาพของกระบวนการผลิตและกระบวนการลอจิสติกส์ในช่วงต่างๆ ของกระบวนการสร้างคุณค่าและการเชื่อมโยงทางด้านสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในปฏิบัติการ (Operational Level) และการตัดสินใจในระดับวางแผน (Planning Level) รวมทั้งการไหลด้านการเงินระหว่างองค์กร (Financial Flow) มุมมองของโซ่อุปทานจะเป็นมุมมองของการจัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดกระบวนการการสร้างคุณค่าเพื่อให้เกิดการไหลของคุณค่าไปสู่ลูกค้า ทรัพยากรเหล่านั้นจะประกอบไปด้วยวัตถุดิบ เครื่องจักร คน วิธีการ เงิน และสารสนเทศ โซ่อุปทานที่ดีจะต้องถูกจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานเพื่อให้ความเหมาะสมที่สุดภายใต้ข้อจำกัดหนึ่งๆ (Optimization)

การบูรณาการโซ่อุปทานเข้ากับลีน

ไม่ว่าองค์กรธุรกิจใดๆ ที่ริเริ่มนำเอาแนวคิดโซ่อุปทานหรือแนวคิดแบบลีนมาใช้ในองค์กรก็ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ ท่ามกลางพลวัตของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ถ้าองค์กรใดเริ่มด้วยแนวคิดแบบลีน โครงการริเริ่มนั้นก็จะถูกมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการโครงการไคเซ็น การจำกัดความสูญเปล่า การปรับปรุงประสิทธิภาพและการนำเอาเครื่องมือแบบลีนเข้ามาใช้ในกระบวนการสร้างคุณค่า (หรือเรียกกันว่า บนโซ่อุปทานนั่นเอง) ดังนั้น ถ้าจะนำเอาแนวคิดแบบลีนมาใช้ ก็ต้องหาโซ่อุปทานให้พบ หรือกำหนดโซ่อุปทานให้ได้ เพราะว่าโซ่อุปทานเป็นตัวที่สร้างคุณค่า ถ้าไม่นำลีนมาปฏิบัติใช้ในโซ่อุปทานแล้ว แนวคิดแบบลีนก็จะไม่มีตัวตนไปในทันที

ส่วนองค์กรธุรกิจที่นำเอาแนวคิดโซ่อุปทานมาใช้ในองค์กรจะมีโครงการริเริ่มในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยกระบวนการการผลิตและกระบวนการลอจิสติกส์ต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการหลักรวมทั้งกระบวนสนับสนุนต่างๆ การสร้างมาตรฐานในการดำเนินงาน การเชื่อมโยงข้อมูลและสารสนเทศ ซึ่งมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยสนับสนุนการดำเนินการ การเชื่อมโยงการตัดสินใจรวมทั้งการเชื่อมโยงด้านการเงิน กล่าวอีกอย่างคือ มุมของโซ่อุปทานเป็นมุมมองเชิงกระบวนการ (Process View) ในการสร้างคุณค่า ส่วนมุมมองของลีนนั้นเป็นมุมของการจัดการ (Management View) ที่ต้องใช้ความรู้ในการดำเนินการเพื่อทำการตัดสินใจ

แนวคิดแบบลีนจึงมีความหมายที่ตรงกับ “การจัดการ” โซ่อุปทาน เพราะว่าเมื่อมีทรัพยากรในการสร้างคุณค่ามารวมตัวเป็นโซ่อุปทานที่มีการเชื่อมโยงเป็นกระบวนการที่สร้างคุณค่าแล้ว จำเป็นต้องมีการจัดการเพื่อให้เกิดการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง ในมุมมองของผมแล้ว การจัดการเป็นกระบวนการที่ประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้ คือ การตัดสินใจวางแผน การนำไปปฏิบัติดำเนินงาน การประเมินและควบคุม และการปรับปรุง ดังนั้น ในการจัดการโซ่อุปทานจึงต้องมีขั้นตอนดังที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสมดุลทางธุรกิจ ทั้งจากผู้ผลิตสินค้าและบริการ กับลูกค้าผู้ใช้ประโยชน์

แนวคิดแบบลีนเกิดมาจากการศึกษาข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดของบริษัทโตโยต้าที่ได้ริเริ่มมาเป็นเวลา 70 กว่าปีมาแล้ว ในอดีต บริษัทโตโยต้านั้นยังไม่รู้จักคำว่าโซ่อุปทานคืออะไรหรืออยู่ตรงไหน เพราะว่าคำว่าโซ่อุปทาน เกิดขึ้นในธุรกิจอุตสาหกรรมเมื่อประมาณต้นทศวรรษ 1990 หรือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา แต่บริษัทโตโยต้าได้สร้างระบบการผลิตแบบโตโยต้ามานานแล้วจนได้กลายมาเป็นระบบลีนในตอนต้นทศวรรษ 1990 เช่นกัน ทั้งสองแนวคิดก็ได้ถูกนำไปใช้และพัฒนาให้การนำไปใช้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยต่างบริษัทต่างนำแต่ละแนวคิดไปใช้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ดีบริษัทโตโยต้าผู้ให้กำเนิดการผลิตแบบลีนก็ได้นำเอา TPS มาใช้ในโซ่อุปทานมานานแล้ว แต่ไม่ได้มีใครเรียกว่าโซ่อุปทาน ระบบ TPS หรือแนวคิดแบบลีน ที่จริงแล้วก็คือการจัดการโซ่อุปทานในมุมมองของบริษัทโตโยต้านั่นเอง

เมื่อองค์กรใดเริ่มต้นด้วยลีน ก็ต้องมองเห็นโซ่อุปทาน เพราะแนวคิดแบบลีนเป็นการจัดการโซ่อุปทาน เป็นการจัดการทรัพยากรให้เป็นกระบวนการ ลีนมีการจัดการข้อมูลด้วยคัมบังและการวางแผนอื่นๆ ลีนมีการจัดเรียงกระบวนการเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ลีนมีการปรับเปลี่ยนที่ต้องการปรับกระบวนการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่จริงแล้วทรัพยากรที่มาเชื่อมโยงเป็นกระบวนการต่างๆ นั้นก็คือ โซ่อุปทานนั่นเอง ดังนั้น เมื่อองค์กรใดก็ตามที่มีการนำเอาแนวคิดแบบลีนมาปฏิบัติใช้งานในพื้นที่ปฏิบัติการหรือในกระบวนการทำงาน องค์กรนั้นได้ทำการจัดการโซ่อุปทานไปด้วยในนามของ “ลีน”

ในทางตรงกันข้าม องค์กรใดเริ่มด้วยการจัดการโซ่อุปทาน ก็ต้องจบด้วยแนวคิดแบบลีน ในการจัดการโซ่อุปทานนั้นเริ่มต้นจากทรัพยากรที่ไม่มีชีวิตคิดเองไม่ได้ ถูกจับมาจัดเรียงกันและเชื่อมโยงกันให้เป็นโซ่อุปทาน การจัดการโซ่อุปทานเป็นกระบวนที่ทรัพยากรบุคคลซึ่งมีความสามารถดำเนินการวางแผนและตัดสินใจเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานด้วยการกำจัดความสูญเปล่า เพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุดภายใต้ข้อจำกัด (Optimization) และให้เกิดประสิทธิภาพ มีการปรับเปลี่ยนโครงร่างของกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อรองรับความต้องการใหม่ของลูกค้า สุดท้าย การจัดการโซ่อุปทานก็ต้องการการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีกำลังความสามารถในการคิดและวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงบนโซ่อุปทาน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มุมของการริเริ่มด้วยโซ่อุปทานนั้นก็จะตรงกับแนวคิดแบบลีนนั่นเอง สุดท้าย ก็ต้องนำเอาลีนและโซ่อุปทานมาบูรณาการเพราะว่าต่างคนต่างก็อยู่บนถนนเดียวกัน

โซ่อุปทานแบบลีน

ถึงแม้ว่าลีนกับโซ่อุปทานจะไม่ใช่เรื่องเดียวกันทั้งหมด แต่ก็อยู่ในบริบท (Context) เดียวกัน และเป็นเพราะว่า “โซ่อุปทาน” และ “การจัดการโซ่อุปทาน” นั้นก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น แนวคิดแบบลีนจึงตรงกับการจัดการโซ่อุปทานมากที่สุด องค์กรธุรกิจใดๆ ที่ต้องการนำแนวคิดทั้งสองนี้ไปใช้งาน ผมแนะนำว่าควรจะมีโซ่อุปทานและการจัดการโซ่อุปทานที่ดีเสียก่อนเป็นพื้นฐาน จากนั้นจึงค่อยนำเอาแนวคิดแบบลีนเข้าช่วยเสริมให้เกิดเป็นวัฒนธรรมในการเปลี่ยนแปลง เรื่องของโซ่อุปทานเป็นเรื่องของโครงสร้างของทรัพยากรในการสร้างคุณค่าที่มาบูรณาการเป็นกระบวนการธุรกิจ บริษัทโตโยต้าได้คิดค้นระบบการผลิตแบบโตโยต้าขึ้นมาบนพื้นฐานของการจัดการกระบวนการภายใน (หรือโซ่อุปทานภายในองค์กร) ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการจัดการความสัมพันธ์กับผู้จัดส่งวัตถุดิบ (Suppliers) ที่เข้มแข็ง (หรือโซ่อุปทานระหว่างองค์กร) ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผู้ที่นำข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดของบริษัทโตโยต้ามาปฏิบัติใช้มองข้ามความสำคัญของการจัดการโซ่อุปทานไป

สำหรับองค์กรที่นำเอาแนวคิดการจัดการโซ่อุปทานไปปฏิบัติใช้ก็จะต้องนำเอาแนวคิดแบบลีนมาเสริมให้กับการจัดการโซ่อุปทานให้มีความเป็นลีนมากขึ้น หลายๆ องค์กร หรือผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่าน มองแนวคิดแบบลีนเป็นเพียงโครงการการกำจัดความสูญเปล่า โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพ และโครงการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งเป็นมุมมองที่ไม่ผิด แต่ผมคิดว่าไม่ครบ ไม่มีความเป็นองค์รวม เพราะโครงการที่กล่าวมานั้นไม่สามารถทำให้เกิดการปรับตัวขององค์กรได้ แนวคิดแบบลีนนั้นมีมิติที่หลากหลายมากกว่านั้นมากนัก และจุดมุ่งหมายของลีน คือ การสร้างคน สร้างวัฒนธรรมให้คนหลายๆ คนมาทำงานร่วมกัน (Collaboration) เพื่อสร้าง ปรับปรุง และจัดการโซ่อุปทานให้รองรับการสร้างคุรค่าใหม่ให้กับลูกค้า

เป้าหมายของการจัดการโซ่อุปทาน คือ การทำให้โซ่อุปทานมีความเป็นลีน ซึ่งมีความหมายว่าโซ่อุปทานจะต้องมีความสามารถในการสร้างคุณค่าได้อย่างดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า นั่นคือเป้าหมายสุดท้ายของการจัดการโซ่อุปทานและแนวคิดแบบลีน แต่แนวคิดแบบลีนสำหรับองค์กรหรือวิสาหกิจ (Lean Enterprise) จะมีขอบเขตของการพิจารณามากไปกว่าการจัดการโซ่อุปทาน เพราะว่าโซ่อุปทานและการจัดการโซ่อุปทานเป็นแค่องค์ประกอบที่สำคัญองค์ประกอบหนึ่งของการจัดการองค์กรธุรกิจหรือวิสาหกิจอย่างยั่งยืน องค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการองค์กร คือ ทรัพยากรบุตคลที่เป็นผู้นำองค์กรและผู้ที่อยู่ในกระบวนการธุรกิจทั้งหลายให้มีกำลังความสามารถ (Capability) ในการจัดการกับกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ความต้องการของลูกค้า มุมมองทั่วไปของแนวคิดแบบลีนที่ผมได้พบเห็นมาเป็นแค่มุมมองตื้นๆ ขั้นพื้นฐานที่เน้นไปที่มุมมองเชิงทรัพยากร เช่น การจัดสรรทรัพยากร การจัดสรรพื้นที่ การจัดสายการผลิต การจัดการกำลังคน แต่ก็มีบ้างที่บ้างองค์กรเข้าใจแนวคิดแบบลีนในมุมมองของการจัดการความรู้ (Knowledge Management View) โดยเน้นที่การสร้างคนให้เป็นนักแก้ปัญหา (Problem Solvers) ถ้าในโซ่อุปทานมีทรัพยากรบุคคลที่สามารถมีภาวะผู้นำสามารถวางแผนและตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ โซ่อุปทานก็จะมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาท่ามกลางความเป็นพลวัตของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

โซ่อุปทานแบบลีนจะต้องถูกผลักดันไปข้างหน้าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้วยทรัพยากรบุคคลที่มีภาวะผู้นำ เข้าใจถึงคุณค่า เข้าใจโซ่อุปทานของตัวเอง และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ เมื่อมองเข้าไปในโซ่อุปทาน เราอาจเห็นสภาพความเป็นลีนหรือไม่เป็นลีน ทรัพยากรบุคคลในโซ่อุปทานที่เป็นผู้ตัดสินใจในทุกระดับตั้งแต่ระดับการปฏิบัติการ ระดับยุทธวิธี จนถึงระดับยุทธศาสตร์ และเป็นผู้ที่รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าจะให้โซ่อุปทานนั้นอยู่รอดแบบลีน ซึ่งก็คือสามารถสร้างคุณค่าได้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่าแล้ว ทรัพยากรบุคคลในโซ่อุปทานหรือในองค์กรจำเป็นที่จะต้องถูกพัฒนาให้มีแนวคิดโซ่อุปทานแบบลีน คือ เข้าใจโซ่อุปทานทั้งในมุมมองเชิงทรัพยากรและมุมมองเชิงการจัดการความรู้

มองโซ่อุปทานจากแนวคิดแบบลีน

ถ้าเราเข้าใจว่า Jim Womack มอง TPS แล้วกลั่นออกเป็นหลักการ 5 ประการของแนวคิดแบบลีนได้อย่างไรแล้ว เราควรมองเห็นความเป็นโซ่อุปทานจากแนวคิดแบบลีน เพราะแนวคิดแบบลีนถูกนำไปปฏิบัติใช้งานในกระบวนการสร้างคุณค่า ที่ต่อมาถูกเรียกกันว่ากระบวนการโซ่อุปทาน ดังนั้น แนวคิดแบบลีนจึงมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการโซ่อุปทาน

ในข้อที่ 1 เราจะต้องรู้จักคำว่า คุณค่า (Value) โซ่อุปทานนั้นมุ่งเน้นในการสร้างคุณค่าด้วยข้อกำหนดจากโซ่คุณค่าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า คุณค่านี้อยู่ในรูปของสินค้าและบริการ จุดนี้เป็นจุดที่เชื่อมโยงในการออกแบบโซ่อุปทาน เพราะว่าเมื่อคุณค่าของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป โซ่คุณค่าก็จะเปลี่ยนไป และจะมีผลถึงโซ่อุปทานด้วย

ในข้อที่ 2 นั้นกล่าวถึงสายธารคุณค่า (Value Stream) ซึ่งที่จริงแล้วก็คือ โซ่อุปทานภายในขององค์กรนั่นเอง ในมุมมองของลีน สายธารคุณค่านี้แสดงให้เห็นถึงการไหลของคุณค่าผ่านกระบวนการต่างๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลและสานสนเทศระหว่างกระบวนการ รวมทั้งการตัดสินใจวางแผนในระดับต่างๆ เช่น การใช้คัมบัง การวางแผนการผลิต กิจกรรมที่แสดงอยู่ในสายธารคุณค่าทั้งหมดแสดงให้เห็นโครงสร้างของโซ่อุปทานภายในองค์กรและกิจกรรมการจัดการโซ่อุปทาน ดังนั้น แผนผังสายธารคุณค่า คือ แบบจำลองการจัดการโซ่อุปทานชนิดหนึ่ง
ในข้อที่ 3 ได้กล่าวถึงการไหล (Flow) ซึ่งมีความหมายและเป้าหมายเดียวกันกับกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป้าหมายของการจัดการองค์กรธุรกิจ คือ การจัดการไหลของทรัพยากรและคุณค่าเพื่อนำส่งไปถึงลูกค้า กิจกรรมลอจิสติกส์เน้นที่การไหลของคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ กิจกรรมในโซ่อุปทานก็ประกอบไปด้วยกิจกรรมการผลิตและกิจกรรมลอจิสติกส์ซึ่งเต็มไปด้วยการไหลเช่นกัน ดังนั้น แนวคิดทั้งสองจึงมองการไหลของทรัพยากรเช่นกันเช่นกัน
ในข้อที่ 4 ได้กล่าวถึงการดึง (Pull) ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่อกับความต้องการของลูกค้าเพื่อให้เกิดความพอดี แนวคิดการดึงจะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างพอดี มีประสิทธิภาพ เป้าหมายของการจัดการโซ่อุปทานต้องการให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิผลเพื่อตอบสนองต่อลูกค้าและรักษาระดับการให้บริการต่อลูกค้าไว้ด้วย ดังนั้น การดึงในแนวคิดแบบลีนคือการจัดการโซ่อุปทานเพื่อให้เกิดสภาพความพอดีหรือสมดุล ซึ่งมีทรัพยากรไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป และสามารถรักษาระดับการให้บริการต่อลูกค้าได้

ในข้อที่ 5 ได้กล่าวถึงความสมบูรณ์แบบ (Perfection) ซึ่งหมายถึงความพร้อมของทรัพยากรในกระบวนการสร้างคุณค่าที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องสำรองไว้ เพราะทั้งทรัพยากรและความสามารถในกระบวนการมีความพร้อม ความแม่นยำในการการดำเนินการ ซึ่งที่จริงแล้วก็คือ การคิดและดำเนินการแบบ Six Sigma นั่นเอง และความพอดีในการรักษาระดับการให้บริการต่อลูกค้า ดังนั้น การจัดการโซ่อุปทานจึงต้องการความแม่นยำและความพร้อมของทรัพยากรเพื่อทำให้การวางแผนมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดขององค์กรในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

บูรณาการความเหมือน กำจัดความต่าง

โลกของการจัดการในปัจจุบันมีเทคนิคการจัดการต่างๆ มากมาย แต่ขาดวิธีคิดที่จะมองเอาแนวคิดทั้งหลายมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ผมเชื่อว่าเทคนิคการจัดการแต่ละเรื่องมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายเหมือนกัน คือ การสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อลูกค้า เทคนิคการจัดการทุกเรื่องเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน (Complementary) ในการจัดการคุณค่า (Value Management) เพียงแต่ว่าเราจะมีความเข้าใจในเรื่องคุณค่าและความซับซ้อนของมันมากน้อยเพียงใด เพราะว่ากว่าจะได้คุณค่ามาเพื่อใช้ประโยชน์จะต้องมีกระบวนการการสร้างคุณค่าต่างๆ มากมายที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างซับซ้อน ดังนั้น เทคนิคการจัดการเรื่องใดเรื่องหนึ่งคงไม่สามารถมีอิทธิพลในการจัดการคุณค่าขององค์กรได้ทั้งหมด แนวคิดการจัดการทั้งหมดจะต้องหลอมรวมกัน เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและผู้ที่ดำเนินงานจะต้องเข้าใจในบทบาทของแต่ละเครื่องมืออย่างถ่องแท้ ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นแค่ผู้ที่ใช้เครื่องมือหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือการจัดการ ต้นเหตุที่เทคนิคหรือเครื่องมือในการจัดการใช้ไม่ได้ผลไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือในการจัดการ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้ไม่มีความเข้าใจในคุณค่าและเครื่องมือที่นำไปใช้

สำหรับเรื่องลีนและโซ่อุปทานก็เช่นกัน มันเป็นเรื่องของระดับของความเข้าใจของผู้ที่นำเอาแนวคิดไปใช้ เรื่องลีนและโซ่อุปทานนั้นเป็นเรื่องหลักๆ ของการจัดการคุณค่าขององค์กรเพื่อตอบสนองต่อลุกค้า ทุกองค์กรจะต้องมีกิจกรรมในการดำเนินงานในด้านโซ่อุปทานและแนวคิดแบบลีน แต่จะพูดหรือสื่อสารออกมาในลักษณะอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เป็นมาตรฐานในการสื่อสารเหมือนคำว่าโซอุปทานและลีน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่นำแนวคิดแบบลีนไปใช้กลับเน้นไปที่เครื่องมือของลีน แต่ไม่เห็นประโยชน์จากโซ่อุปทาน ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่นำเอาโซ่อุปทานมาปฏิบัติใช้ กลับเห็นว่าลีนเป็นเรื่องของแค่การลดความสูญเปล่าและการเพิ่มประสิทธิภาพเท่านั้น

สำหรับผมแล้วโซ่อุปทานแบบลีน คือ การผสมสานแนวคิดที่มาจากมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องเดียวกัน เป็นการบูรณาการแนวคิดที่ทำให้เกิดการเติมเต็มส่วนที่ขาดไป เรื่องของโซ่อุปทานเป็นเรื่องของโครงสร้างของกระบวนการธุรกิจ การเชื่อมโยงทรัพยากรต่างๆ เข้าด้วยกัน เมื่อองค์กรมีโครงสร้างการไหลของทรัพยากรแล้ว ก็ยังต้องการการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น แนวคิดแบบลีนจึงเป็นแนวทางหรือพื้นฐานของการจัดการโซ่อุปทาน ซึ่งทั้งสองแนวคิดจะต้องไปด้วยกันในชื่อของ “โซ่อุปทานแบบลีน”

คิดอย่างองค์รวมกับเครื่องมือในการจัดการ

ในเมื่อโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ วุ่นวายและโกลาหลมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนก็เรียกร้องต้องการสิ่งใหม่ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แนวคิดแบบองค์รวมก็ได้ถูกนำเสนอขึ้นมาเช่นกัน แต่จะเป็นไปในรูปแบบใดบ้างก็ยังคงต้องดูกันต่อไป ที่จริงแล้ว สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรานั้นมีความเป็นองค์รวมด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่เราซึ่งเป็นมนุษย์จะมีความเข้าใจในความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ อย่างไรบ้าง โซ่อุปทานในมุมมองของการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการดำเนินงาน (Execution) และลีนในมุมมองของการจัดการแบบโดยรวม (Total Management) ต่างก็เป็นองค์ประกอบในการจัดการคุณค่า เราค้นพบโซ่อุปทานและลีนบนกระบวนการสร้างคุณค่า แต่เรากลับมองไม่เห็นความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของแนวคิดทั้งสองนี้ ในอนาคตผมหวังว่าจะมีการเติมเต็มและเสริมสร้างนำเอาแนวคิดที่มีอยู่มาบูรณาเข้าด้วยกันให้มีความเป็นการจัดการแบบองค์รวมเพิ่มมากขึ้น

บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Productivity World ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
vithaya@vithaya.com


Shanghai Expo 2010 - Part 12 (2ndTrip) - ลอจิสติกส์ที่แท้อยู่ที่ใจปรารถนาของลูกค้า


มาถึงการเดินทางในวันที่ 3 แล้ว ผมถือว่าเมื่อวานนี้ได้ซ้อมการเดินกันเรียบร้อยแล้ว วันนี้คงจะมีความพร้อมในการเดินเหมือนเดิม แผนการเดินทางในวันนี้ เราให้ Shopping กันตั้งแต่เช้า โดยไปที่ตลาดหลงหัว ซึ่งเป็นแหล่ง Shopping ที่มีทั้งทัวร์ไทยและทัวร์จีนไปลงกัน ดูไปแล้วไม่น่ามีอะไรใหม่นัก ผมว่าเงียบมากเกินไป ไม่น่า Shopping เลยจริงๆ ส่วนมากคนจะไปออกันอยู่ที่ร้านขายมือถือจีนกันเป็นส่วนใหญ่ ผมเองก็มีประสบการณ์กับมือถือจีนมาพอสมควร ซื้อมาลองดูหลายอันแล้ว ผมว่าไม่คุ้มเลย คนไม่เคยลองก็คงจะไม่เชื่อ ดังนั้นก็ต้องลองให้เสียเงินดูก่อนให้เป็นบทเรียน

ของ Copy เป็นสิ่งคู่กันกับเมืองจีนในเวลานี้ เขาว่าจีน Copy แหลก Copy ทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ถ้า Copy ไปแล้ว พัฒนาต่อได้ ก็น่าสนใจไม่ใช่หรือครับ ของปลอมกับของแท้นั้นแตกต่างกันอย่างไร ของปลอมจะดูแค่เหมือนกันในรูปลักษณ์ แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานคงจะไม่เหมือนกัน คุณค่าที่ได้ไม่เหมือนกัน ของแท้เป็นของที่สามารถทำงานได้ตามข้อกำหนดที่ตกลงไว้ใน Spec แต่ของจีนที่ Copy เขามาก็ทำงานได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ไม่เหมือนของแท้ ถึงแม้ว่าจะพยายามทำให้ดูรูปลักษณ์เหมือน ระยะหลังนี้ผมเองก็เริ่มไม่ค่อยอยากจะซื้อมาใช้เท่าไหร่นักแล้ว เพราะว่าเสียของ เสียเงินไปเปล่าๆ แรกๆ ก็สนุกดี แต่หลังๆ กระแสเรื่องสินทรัพย์ทางปัญญาเริ่มแรงขึ้น แล้วก็ตัวผมเองก็หากินกับสินทรัพย์ทางปัญญาที่ผมสร้างขึ้นมาด้วย เดี๋ยวกรรมตามสนองผม โดยมีคนมา Copy ของผมไปหาประโยชน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต

สินค้าบางชนิดสามารถถูกปลอมแปลงได้อย่างง่ายดาย เช่น โลโกหรือชื่อสินค้า ทำให้ดูเหมือนกันอย่างแยกไม่ออก ของแท้จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ มีค่าลิขสิทธิ์ เมื่อมีคนมาทำเลียนแบบทำให้ผู้คนที่พบเห็นเข้าใจผิดว่านั่นคือ ของแท้ แต่คุณภาพไม่ใช่ ทำให้ผู้ที่ใช้ของปลอมได้รับคุณค่าทางสังคมไปด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้ผู้พบเห็นคิดว่าใช้ของจริง ทั้งๆ ที่ผู้ที่ใช้ของจริงนั้นต้องจ่ายส่วนเกินนั้นเป็นค่าลิขสิทธิ์ และในขณะเดียวกันผู้ที่เป็นเจ้าของชื่อหรือโลโก้นั้นก็สูญเสียโอกาสของค่าลิขสิทธิ์นั้นไป

ดังนั้นในงาน Expo นี้จึงเต็มไปด้วยสินค้าหรือของที่มีลิขสิทธิ์ของงาน Expo ภายในบริเวณงานและโรงแรมทั่วไป และตามบริเวณแหล่งชุมชนใหญ่ๆ ในย่านธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า ก็จะเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ของงาน Expo ขายอยู่ทั่วไป พอเข้าไปดูเหล่าสินค้าลิขสิทธิ์เหล่านั้นก็จะพบว่ามีทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่ขอบอกว่าราคาไม่ได้ถูกๆ เลย แต่อาจจะเป็นบทเรียนบทต่อไปของคนจีนให้หันมาทำอะไรให้ถูกต้องมากขึ้นในเรื่องลิขลิทธิ์ แต่ใจจริงแล้ว เราเองก็ไม่ค่อยอยากจะจ่ายกันมากๆ หรอก อยากจะจ่ายกันน้อยๆ ทั้งนั้นแหละ นี่ถ้าพวกเราเข้าใจเรื่องการจัดการโซ่อุปทานดีๆ แล้ว เราจะพบว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เหมือนชื่อหนังสือของอาจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เลยครับ ความเข้าใจเรื่องการจัดการโซ่อุปทานนี้แหละจะทำให้เรารู้ว่า ตรงไหนมีต้นทุนอะไรบ้าง แล้วใครควรจะจ่าย ใครควรจะได้ใช้ (บทความของผม ต้องโยงเข้ามาในเรื่องการจัดการโซ่อุปทานบ้างตามธรรมเนียมครับ)

ผมคิดว่า อนาคตประเทศจีนก็อาจจะทำมือถือออกมาแข่งขัน เป็น Brand ของจีนเองเลย ไม่ต้อง Copy ของคนอื่นๆ มาขายราคาถูกๆ ในตลาดระดับล่าง มีสินค้าหลายอย่างที่จีนเองสามารถผลิตได้ และกำลังสร้าง Brand ในตลาดโลก แต่ถ้ากลัวว่าจะผลิตช้าไป ก็หันไปซื้อมาเสียเลย เหมือนที่ซี้อ IBM Computer มาเปลี่ยนเป็น Lenovo

ในงาน Expo ครั้งนี้เราคงจะเห็นแต่ของจริงและของแท้ที่เกิดจากแนวคิดในการพัฒนาเมือง (Urban Planning) โดยเฉพาะการวางผังเมืองที่งาน Expo ครั้งนี้พยายามที่จะนำเสนอกันตั้งแต่อดีตมาสู่ปัจจุบัน และเลยไปถึงอนาคต ผลพวงของความคิดที่มีแต่ของแท้ที่นำมาแสดงกันอย่างฟรีๆ แนวคิด Better City, Better Life ที่หลาย Pavilion นี้นำเสนอให้อย่างฟรีๆ รวมทั้ง Best Practices ในการวางผังเมืองของเมืองเด่นในโลกนี้ ถูกนำแสดงให้ผู้เข้าชมงานได้นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ได้อย่างฟรีๆ แต่ก็อาจจะไม่สามารถนำไปใช้ได้ง่ายนัก ซึ่งอาจจะเป็นแค่แนวคิดเบื้องต้นก็ได้ ที่เหลือต้องไปออกแรงลงทุนเอาเองครับ สรุปแล้ว ก็คงไม่ฟรีหรอกครับ

อย่าลืมว่าทุกอย่างมีต้นทุน และทุกคนก็ต้องการกำไรทั้งนั้น แต่สำหรับเรื่องของโลกเราที่ประกอบไปด้วยเมืองทั้งหลายที่มีคนอาศัยอยู่ด้วยแล้ว เรื่องนี้อาจจะคิดเป็นผลกำไรขององค์กรไม่ได้แล้ว แต่อาจจะต้องคิดเป็นผลกำไรของโลก คงจะต้องคิดว่าโลกทั้งโลกเป็นสังคมเดียวกัน เป็นหมู่บ้านเดียวกันที่เรียกกันว่า Global Village บางครั้งบางอย่างก็จะต้องทำให้อย่างฟรีๆ ออกไปก่อน เพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวในภายหลัง ทรัพยากรบางอย่างของโลกก็ควรจะเป็นของฟรีที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมัน เพราะมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยได้ลงทุนสร้างและทำลายมันลงไปด้วยในเวลาเดียวกัน ที่ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะไม่รู้จะซื้ออะไรที่เมืองจีนประเภทของCopy ของปลอมแล้ว เรียกได้ว่า หมดความตื่นเต้นไปแล้ว

จบจากตลาดหลงหัวแล้ว เราก็เคลื่อตัวไปรับประทานอาหารกลางวันตามปกติ ผมจะไม่พูดถึงเรื่องอาหารเลยนะครับ เพราะว่ากินพออิ่ม เรื่องรสชาดและความพึงพอใจไม่ต้องพูดถึงครับ อย่างไรก็ตามแล้วเรื่องอาหารก็ยังสู้กับอาหารไทยไม่ได้ ก็เรามันคนไทย ชินกับอาหารไทยนี่ครับ และยิ่งเรื่องการบริการแล้ว จีนยังขาดความนุ่มนวลในการเสิร์ฟอาหาร วางจานดังโครม เร่งเสิร์ฟให้มันจบๆ ไป เห็นแล้วก็เซ็งจริงๆ ที่สำคัญทั้งทัวร์นี้ ได้รับประทานแตงโมทุกมื้อครับ เห็นแล้วก็นึกถึงเมืองไทยครับว่า เรามีผลไม้มากมาย มีโอกาสอีกมากมายในการสร้างประโยชน์จากทรัพยากรที่เรามีอยู่ เราก็คงจะต้องคิดกันต่อไป

จากอาหารมื้อกลางวัน เราก็เคลื่อนตัวไปยังตลาดเฉินหวังเมี่ยว ตลาดร้อยปี (เขาสร้างใหม่ให้เหมือนร้อยปี) คนแน่นมาก ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นวันจันทร์ ในบริเวณตรงใจกลางของตลาดร้อยปีจะมีร้านค้าที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานและทันสมัย มีทุกอย่างตั้งแต่ของกิน สวนอาหารหลากชนิด ของตกแต่งต่างๆ ของใหม่ที่ทำให้เก่า นับว่าเป็นแหล่ง Shopping ที่น่าเดินมาก ตลาดของ Copy เทียบไม่ได้เลย ตลาดนี้ดีกว่าเยอะ ผมมา 2 ครั้ง เดินอย่างไรก็ยังไม่ทั่วครับ ไม่หมด มาครั้งที่แล้ว ผมก็ไปเดินตั้ง 2 รอบจาก 2 วัน ก็พบว่านอกจากแหล่งตรงใจกลางตลาดแล้ว ยังมีตลาดรอบนอกอีก คราวนี้ ผมและกลุ่มที่มีเฮียเฉลิมพล เฮียไพฑูรย์และคุณชิ๊งก็เดินหลุดไปในแหล่งสินค้าเก่า แล้วเลยหลุดไปในแหล่งที่ขายหยกและศริสตัล เพลิดเพลินไปกับหยกและศริสตัลอยู่เป็นชั่วโมงเลย อาศัยว่าเฮียเฉลิม แกเป็นคนเล่นหยกอยู่แล้ว แถมยังมีวิธีดูว่าศริสตัลแท้นั้นดูอย่างไร ผมน่ะมองหาศริสตัล (เพราะประทับใจกับบทบาทและความน่ารักของ คริส หอวัง) แต่ราคาของศริสตัลจริงนั้นค่อนข้างสูง ส่วนเฮียเฉลิมพลและเฮียไพฑูรย์ได้แหวนหยกไปคนละวง วันนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องของแท้และของปลอมกันไป

พอจบจากตลาดร้อยปีแล้ว เราจึงเคลื่อนตัวไปดูงาน Expo ในช่วงเย็นกันต่อ วันนี้เรามีแผนจะไปลงกันที่ฝั่งผู่ซี เมืองเก่าทีมี Theme Pavilion Footprint และ Future อยู่ และมีอีกหลาย Pavilion ที่น่าสนใจ เช่น Oil และ GM แต่เราไปได้แค่ Future และ Footprint แถมยังต้องทำเวลาด้วยการนั่งรถเมล์ภายในงานแทนการเดิน แต่เราก็ได้สัมผัสกับบรรยากาศยามค่ำคืนที่ Pavilion ต่างๆ ได้แสดงสีสันแสงไฟที่สวยงาม น่าเสียดายมากที่ไม่ได้ไปบริเวณของ UBPA (Urban Best Practice Area) ซึ่งผมถือว่าเป็น Highlight ที่สำคัญของ Better City, Better Life แต่ดูเหมือนว่าจะขายไม่ค่อยออก คนเดินไปไม่ค่อยจะถึงจริงๆ เพราะว่าเป็นบริเวณที่กว้างมากๆ ส่วนอาจารย์บุญทรัพย์ก็ได้นำอีกกลุ่มข้ามไปยัง Pavilion ญี่ปุ่น โดยใช้นโยบายรอดูให้ได้ รับรองว่า “คุ้ม” คือรออยู่หลายชั่วโมง ผลออกมาว่าคุ้มค่าที่รอดู อันนี้ต้องนับถือจริงๆ หลังจากนั้นเราก็กลับมาที่นัดหมายเพื่อเดินทางกลับโรงแรมเพื่อพักผ่อนและคลายปวดเมื่อยจากการเดินทั้ง Shopping และ การเดินดูงาน Expo วันที่ 2 ในช่วงกลางคืน

จากการดูงานในวันที่ 3 สิ่งที่ทำให้ผมได้สะท้อนความคิดประจำวัน (Daily Reflection) คือ ของแท้และของเทียม มีสิ่งหนึ่งมาสะกิดใจผม ก็ตอนที่ผมอยู่ในตลาดขายหยกกับเฮียเฉลิมพลและเฮียไพฑูรย์ เราคุยกันเรื่องที่จะซื้อหยก เฮียเฉลิมพลบอกว่า ถ้าอาจารย์ชอบก็ซื้อไปเลย ถูกแพงไม่ใช่ประเด็น มันอยู่ที่เราพอใจหรือไม่ เราเต็มใจที่จะจ่ายหรือไม่ เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องลอจิสติกส์ขึ้นมาทันที ผมเคยตัดสินซื้อของชิ้นหนึ่งเพราะว่าผมต้องการ และกลัวว่าจะไม่สามารถหาของชิ้นนั้นได้อีกในที่อื่นๆ หรือว่าวันหลัง ผมจึงต้องจ่ายค่าความต้องการเพื่อให้ได้ของชิ้นนั้นมาครอบครองในเวลานั้น ด้วยราคาที่ผมก็ไม่รู้ว่าสูงมากไปหรือไม่ แต่ผมเข้าใจว่าผมได้จ่ายค่าลอจิสติกส์เพื่อทำให้ผมได้ของชิ้นนั้นมาครอบครอง ทุกวันนี้ผมก็นั่งมองของขิ้นนั้นอย่างมีความสุขและสบายใจ แต่ถ้าวันนั้นผมกังวลว่าราคามันจะสูงเกินไปและคิดว่าที่อื่นๆ คงจะมีขายเหมือนกัน แล้วค่อยมาซื้อในวันหลัง ผมว่าวันนี้ผมก็ยังคงไม่มีของสิ่งนั้นมาครอบครอง ปัญหาคือ ที่จริงแล้วคุณต้องการของสิ่งนั้นมากน้อยขนาดไหนมากว่า

ในงาน Expo ผมเห็นคนยืนรอเป็นเวลานาน ทนแดด ทนร้อน ผมว่าพวกเขาลงทุนรอ (กิจกรรมลอจิสติกส์)เพื่อให้ได้มาสิ่งที่พวกเขาต้องการ (การเข้าชมใน Pavilion) ถ้าผมไม่ลงทุนเวลาสำหรับการรอ ผมก็ไม่ได้เข้าไปชมใน Pavilion จากมุมมองตรงนี้จึงทำให้ผมเข้าใจลอจิสติกส์มากขึ้นอีก เพราะว่าลอจิสติกส์จริงๆ แล้วเกิดจากความต้องการของผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคที่ต้องการจะเข้าถึงคุณค่าหรือได้คุณค่านั้นมาครอบครอง ถ้าเราไม่ต้องการมัน เราก็ไม่ต้องเข้าถึงสิ่งนั้น ถ้าเราต้องการมาก ก็จะต้องพยายามเข้าถึงให้มากขึ้น ถ้าเราต้องการน้อย ก็เข้าถึงให้น้อยหรือพยายามน้อย ดังนั้นคุณค่าที่มนุษย์ต้องการหรือที่จะใช้งานอยู่จะมีคุณค่าเชิงลอจิสติกส์อยู่เสมอ นั่นคือ มนุษย์ต้องคุณค่านั้น เมื่อใด ณ สถานที่ใด เป็นจำนวนเท่าใด คุณค่าลอจิสติกส์นั้นจะเป็นอย่างไร จะมากหรือน้อย จะเร็วหรือช้านั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเท่านั้น แต่เราเป็นผู้จัดเตรียมคุณค่าทั้งตัวผลิตภัณฑ์และลอจิสติกส์ให้กับลูกค้า

เมื่อลูกค้ากำหนดความต้องการเชิงลอจิสติกส์แล้ว ผู้ผลิตคุณค่าหรือผู้ขายจะต้องเป็นผู้ที่ตอบสนองต่อคุณค่าลอจิสติกส์นั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอาจจะพบกันครึ่งทาง คือ ลูกค้าจะต้องเดินทางมาที่ร้าน และผู้ผลิตก็จะต้องส่งของไปถึงที่ร้าน จึงเป็นการพบกันครึ่งทาง หรือถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ก็ยังมีอีก 2 กรณี คือ ลูกค้าอยู่เฉยๆ ผู้ผลิตจะส่งไปให้ถึงที่ กับผู้ผลิตอยู่เฉยๆ ลูกค้าเข้าไปหาเองที่ผู้ผลิต ทั้ง 3 กรณีนี้ ลูกค้าจะได้คุณค่าหรือสินค้าทั้ง 3 กรณีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าลูกค้าจะจ่ายค่าใช้จ่ายในการได้สินค้ามาครอบครองในรูปแบบใด หรือผู้ผลิตจะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าไปให้ลูกค้า และด้วยต้นทุนทั้งหมดเท่าใด

ดังนั้นเรื่องของลอจิสติกส์จึงไม่ใช่เรื่องของการลดต้นทุนหรือการส่งสินค้าเท่านั้น แต่ผมอยากจะเสนอในมุมของลูกค้ามากกว่า ผมกลับมองว่าลอจิสติกส์เป็นการลงทุนเพื่อทำให้ลูกค้าได้รับของไปใช้งาน แล้วเราก็เก็บเงินมาเพื่อเป็นผลกำไร การทำกิจกรรมลอจิสติกส์จึงไม่ใช่เรื่องของการลดต้นทุน แต่เป็นเรื่องของการทำกำไรมากกว่าในมุมมองของผม ถ้าเราลองคิดกลับกัน โดยการยืนมองดูกันคนละด้านกับการลดต้นทุน ผมว่ากิจกรรมลอจิสติกส์น่าจะเป็นการคิดเชิงรุกมากกว่า หลังจากคิดเชิงรุกเพื่อให้ไปถึงจุดขายและนำส่งคุณค่าให้กับลูกค้าได้แล้ว จึงค่อยมาจัดการกระบวนการผลิตและกระบวนการลอจิสติกส์ให้นิ่งและทำกระบวนการให้ยืดหยุ่นและปรับตัวได้กับความต้องการของลูกค้า ต้นทุนของลอจิสติกส์และต้นทุนการผลิตก็จะลดลงเพราะว่า เราทำกระบวนการได้ถูกต้องและตรงกับความต้องการของลูกค้า ผลกำไรก็จะตามมา เมื่อขายสินค้าได้

ต้นทุนลอจิสติกส์ที่แท้จริงจึงมีทั้งสองด้าน ทั้งด้านผู้ผลิตและด้านลูกค้า ขึ้นอยู่กับว่า ลูกค้าผู้ใช้งานได้รับของตรงจุดไหน ถ้าลูกค้าอยู่เฉยๆ ผู้ผลิตนำส่งให้ถึงที่ ต้นทุนลอจิสติกส์ต่อราคาขายก็จะสูง แต่ถ้าลูกค้าวิ่งไปซื้อถึงโรงงานเลย ต้นทุนลอจิสติกส์ต่อราคาขายให้กับลูกค้าผู้ซื้อก็จะต่ำมาก เพราะไม่ได้คิดต้นทุนลอจิสติกส์ฝั่งลูกค้าที่ลงทุนเคลื่อนย้ายตัวเองไปซื้อเองถึงโรงงาน

ปัจจุบันเราไปเน้นที่กิจกรรมลอจิสติกส์ด้านผู้ผลิตเท่านั้นให้ลดต้นทุนลง แต่สิ่งสำคัญมันไม่ใช่การลดต้นทุน แต่เป็นการไปลงทุนทำกิจกรรมลอจิสติกส์ให้มากกว่าเก่าเพื่อที่จะขายให้ได้มากขึ้นหรือตอบสนองให้มากขึ้น การลดต้นทุนในกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือลอจิสติกส์ในเบื้องต้น คือ การทำให้ถูกวิธี ทำให้ถูกตามแผนที่วางมา แต่ถ้าผลที่ได้ออกมายังไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้าทั้งๆ ที่ทำได้ดีและได้ถูกแล้ว เราก็คงต้องกลับไปเปลี่ยนที่การวางแผนใหม่หรือยกระดับไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับยุทธศาสตร์ แล้วก็ทำตามแผนให้ตรงที่สุด

เป็นความจริงที่ว่า ลอจิสติกส์มีความสำคัญต่อธุรกิจ เพราะว่ามันไม่ใช่แค่การขนส่ง ลอจิสติกส์ที่แท้จริงแล้ว อยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะว่าถ้าลูกค้ามีความต้องการแบบกำหนดเวลาไม่ได้และสถานที่ไม่รู้ว่าที่ไหนและจำนวนไม่แน่นอนด้วยแล้ว แต่จะต้องได้สินค้าทุกครั้งที่ต้องการ อย่างนี้ก็ลำบากในการตัดสินใจดำเนินการเพื่อการตอบสนอง ใครสักคนหนึ่ง ไม่ลูกค้าหรือผู้ผลิต ก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าตามที่ต้องการรูปแบบของสินค้าคงคลัง หรือค่าใช้จ่ายของลูกค้าในกรณีที่ไม่มีสินค้าส่งลูกค้า

ดังนั้นเรื่องราวของลอจิสติกส์ที่ผมเข้าใจมากขึ้นนั้น จึงขึ้นอยู่กับใจหรือความปรารถนาของลูกค้าว่าต้องการแบบไหน แบบที่รอได้หรือแบบทันทีทันใด ที่จริงแล้วผู้ที่ออกแบบระบบลอจิสติกส์อะไรก็ตาม จะต้องเข้าใจรูปแบบความต้องการของลูกค้าเสียก่อนว่าต้องการอย่างไร ต้องการเมื่อไร ต้องการที่ไหน ต้องการเท่าไร แล้วจึงมาออกแบบระบบลอจิสติกส์ ที่จริงแล้วลูกค้าเป็นผู้จ่ายค่าการผลิตและบริการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมลอจิสติกส์ด้วย เพียงแต่ว่าผู้ผลิตจะมีต้นทุนในการผลิตและต้นทุนลอจิสติกส์อย่างไร ถ้าเราลดต้นทุนลอจิสติกส์ได้ เราก็ลดต้นทุนการผลิตได้เช่นกันในมุมมองของการจัดการกระบวนการธุรกิจ (Business Process Management) แต่ถ้าเราอยากจะให้ต้นทุนลอจิสติกส์ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพและยังคงตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอยู่ได้ เราก็คงต้องมาคิดกันใหม่ ปฏิบัติการกันใหม่ให้ถูกต้องและถูกวิธี และสุดท้ายก็ต้องออกแบบระบบลอจิสติกส์กันใหม่และวางแผนการดำเนินการลอจิสติกส์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ดังนั้นเรื่องของลอจิสติกส์ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจฝ่ายผลิตหรือจัดหา (Supply) เท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจความต้องการและความปรารถนาของลูกค้าเป็นเบื้องแรกก่อนที่จะจัดการลอจิสติกส์และจัดการโซ่อุปทาน

หลับฝันดีนะครับ พรุ่งนี้ 7-8-9 ครับ Code ประจำวันเหมือนเดิมครับ แตงโมก็เหมือนเดิมครับ

อ.วิทยา สุหฤทดำรง




Shanghai Expo 2010 - Part 11 (2ndTrip) - การใช้ชีวิต คือ ศิลปะแห่งธรรมชาติบนโลก


มาถึงการเดินทางในวันที่ 2 ของการเดินทางครั้งที่ 2 แล้ว ที่จริงแล้วข้อเสียของคณะทัวร์เราก็คือ ที่ตั้งของโรงแรม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่จัดงาน World Expo พอสมควร โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง คุณศุภกรเองก็ได้กล่าวไว้เหมือนกันว่าถ้าได้โรงแรมใกล้ๆ ก็จะประหยัดเวลาไป แสดงว่ามีข้อด้อยด้านลอจิสติกส์อยู่ แต่ก็ด้วยเหตุที่ช่วงนี้เป็น High Season มีงาน Expo ก็เลยหาโรงแรมได้ยากหน่อย อย่างไรก็ตาม โรงแรมที่คณะทัวร์เราพักค่อนข้างมีสภาพดี อยู่ในระดับ 5 ดาว (ของเมืองจีน) เขาว่ากันนะครับ และมี Counter ขายของที่ระลึก (มีลิขสิทธิ์) จากงาน Expo ด้วย และทัวร์คนจีนส่วนใหญ่ที่พักที่โรงแรมนี้ก็ไปงาน Expo เหมือนกัน ขนาด โรงแรมอยู่ชานเมืองออกมาก็ยังแน่นมาก แน่นจนกระทั่งในช่วงตอนเช้าประมาณ 8 โมง ที่ทุกคนกำลังจะออกไปชมงาน Expo กัน ลิฟท์แน่นมากจนลงไม่ได้ ผมอยู่ชั้น 8 ของโรงแรมที่มี 32 ชั้น บางคนต้องขึ้นไปก่อน แล้วค่อยลงมา ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีโอกาสแทรกตัวเองเข้าไปในลิฟท์ได้แน่ๆ ผมเดินลงทางบันไดเป็นประจำ

มางาน Expo ครั้งนี้ มีแต่ผมและอ.บุญทรัพย์เท่านั้นที่เคยมางานนี้แล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งก็อยากจะมาอีก เพราะยังไม่ได้เดินอีกหลาย Pavilion พวกเรารับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม ซึ่งคงจะจำเจเหมือนกันทุกวันอย่างแน่นอน ก็ต้องทนหน่อย อย่างน้อยก็ดีกว่าหลายแห่งในเมืองจีนที่ได้เคยไปพักมานะครับ รถราในเมืองเซี่ยงไอ้ในวันอาทิตย์ไม่ค่อยจะติดเท่าไรนัก ผมจะคอยดูในวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันจันทร์อีกครั้ง ว่าในวันทำงานของเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้การจราจรจะเป็นอย่างไร เหมือนในกรุงเทพฯ บ้านเราหรือไม่

รถบัสประจำคณะของเราและไกด์สาวน้อยน่ารักที่ชื่อ “มินท์” (แล้วผมจะนินทาไกด์คนนี้ให้ฟังทีหลังครับ) ได้พาเรามาที่ประตูที่ 7 ซึ่งอยู่ทางฝั่งผู่ตง เมืองใหม่ บรรยากาศในงานก็มีคนเยอะมากๆ พอเข้าประตูมาแล้ว เราก็พุ่งตรงไปยัง Thailand Pavilion เลย คนไทยที่พูดภาษาไทยได้ ก็สามารถเข้าช่อง VIP ได้เลยครับ ไม่ต้องต่อแถว Thailand Pavilion ของเราขายดีจริงๆ เห็นแล้วก็อดภูมิใจไม่ได้ อย่างน้อยที่เห็นเมืองไทยแย่ๆ อยู่ตอนนี้ แต่ก็มีอะไรดีบ้าง ตอนมา Expo คราวที่แล้ว ผมข้าม Thailand Pavilion ไป เพราะรู้สึกว่าเราจะโชว์ความเป็นไทยมากไปหน่อย ด้วยศิลปกรรมไทย ก็เลยสงสัยว่าจะไม่มีอะไรเท่าไรนัก คิดว่ากลับมาดูเมื่อไรก็ได้ คณะทัวร์ในครั้งที่แล้วหลายคนประทับใจใน Thailand Pavilion รวมทั้งมีการโฆษณาว่า Pavilion ของไทยเราได้รับความนิยมมาก ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นไทยที่ดีและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวได้ดีมากด้วย กลับมาคราวนี้ผมก็เลยต้องมาดูด้วยตนเองเลย

คนไทยที่ไปดูที่ Thailand Pavilion รู้สึกดีตั้งแต่เป็น VIP แล้ว เพราะพวกเราคนไทยไม่ต้องต่อแถว ตรงนี้ผมมองว่า นี่เป็นคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ที่ไม่ต้องรอคิว เราจ่ายค่าลอจิสติกส์ตรงนี้นะครับ ไม่ใช่เราคนไทยไม่ต้องรอนะครับ เพราะว่าเราเกิดมา (หรือเลือกมาเกิด) เป็นคนไทย นี่เป็นต้นทุนของลอจิสติกส์ของการเป็น VIP แต่สุดท้ายเราก็ต้องไปต่อคิวใน Pavilion อื่นๆ เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป เรื่องของ VIP นั้นผมถือว่าเป็นคุณค่าในเชิงลอจิสติกส์ เพราะทำให้มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่นในเชิงลอจิสติกส์ เพราะว่าไปได้เร็วกว่าโดยไม่ต้องรอ แต่เรื่องพวกนี้ทุกคนต้องดิ้นรนหรือต้องลงทุนเพื่อให้ได้ความมีอภิสิทธิ์มาใช้ ไม่ใช่ได้กันมาฟรีๆ ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองนะครับ ทุกคนมีหน้าที่แตกต่างกันไป เพียงแต่อยู่ให้ถูกที่ ถูกเวลาอย่างลอจิสติกส์(Logistically) การใช้ชีวิตก็จะมีประสิทธิภาพ ผมว่าทุกคนเป็น VIP ในถิ่นของตนเอง ถ้าต้องการเป็น VIP ในพื้นที่อื่นๆ หรือในหลายวงการ เราก็คงต้องลงทุน ไม่ได้ด้วยการซื้อมา ลงทุนหรือลงทุนเวลา และโอกาสต่างๆ ในการทำงานและธุรกิจ หรือแลกเปลี่ยนกันด้วยคุณค่าต่อคุณค่า คงไม่มีใครได้อะไรๆ มาฟรีๆ หรอกครับ วันนี้เราไม่ได้เป็น VIP ที่งาน World Expo นี้ งานอื่นๆ ในอนาคตเราก็ยังมีโอกาสเป็น VIP ได้เสมอ

เวลาผ่านมา 2 เดือนจากการเดินทางมาในครั้งที่แล้ว อากาศในตอนเดือนพฤษภาคมเย็นสบายมากๆ แต่มาวันนี้ เดือนสิงหาคม อากาศร้อนมากไม่แพ้เมืองไทยเลย แถมยังมีโอกาสที่ฝนจะตกด้วย แต่พวกเราก็โชคดีมากที่ไม่เจอฝนเลย ฝนตกแค่ปรอยๆ เท่านั้น สำหรับแถวคอยตาม Pavilion และทางเข้าต่างๆ ก็มีการติดตั้งเต็นท์บังแดดและมีพัดลมและมีการพ่นไอน้ำเป็นระยะๆ เพื่อที่จะคลายความร้อนในขณะที่รอคิวเข้าตาม Pavilion ต่างๆ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นการจัดการลอจิสติกส์เช่นกัน เพราะผู้ที่เข้าชมลงทุนลอจิสติกส์ด้วยเวลาในการรอคอยเพื่อเป้าหมายการเข้าไปชม Pavilion ต่างๆ ทางผู้จัดงานจึงพยายามเพิ่มคุณค่าในการรอคอยด้วยอากาศที่ไม่ร้อนมากนัก ส่วนกัปตันปกาศิตซึ่งมากับคุณศุภกรในคณะทัวร์ของเรา ก็คุยให้ความเห็นว่าทำไมไม่จัดคิวเป็นพื้นที่ซึ่งให้คนได้นั่งรอไปเลยถึงเวลาก็เรียกตามคิว จะได้ไม่ต้องยืนรอเข้าคิวให้เมื่อยขา นั่นเป็นความคิดที่ดีมากครับ แต่ผมว่า ทางผู้วางแผนงาน Expo นั้นก็คงจะคิดมาแล้วล่ะครับ

มางาน Expo คราวนี้ ผมก็ได้ไปชม Thailand Pavilion ซึ่งก็ดีสมคำบอกเล่าครับ ไม่ผิดหวัง ใน Thailand Pavilion เป็นการแสดง Presentation ที่ดีครับ ซึ่งดีกว่าหลาย Pavilion ในเชิงเทคนิคการนำเสนอโดยเฉพาะ 4D movie อันนี้เยี่ยมจริงๆ เป็น 4 มิติจริงครับ แต่ผมกลับสนใจในการนำเสนอแนวคิดของ Thailand Pavilion ที่เป็นวิถีไทยและความยั่งยืนของความเป็นอยู่อย่างไทย ผมว่าในสังคมไทยเรามีอยู่เพรียบพร้อมแล้วล่ะ แต่มันอยู่ในบริบทแบบไทยๆ เราเข้าใจกันเอง เรารู้สึกกันเอง เราอยู่ร่วมกันแบบไทย ๆ แต่คนชาติอื่นๆ ที่มาดูอาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งได้อย่างเรา แม้แต่คนไทยกันเองที่รับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ ก็อาจจะหลงลืมหรือไม่ได้เคยเข้าใจความเป็นไทยที่แท้จริง ที่จริงแล้วเราควรจะถอดรหัสความเป็นไทยออกมา แล้วสื่อสารออกไปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์กับบริบทของเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีในยุดใหม่ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วความเป็นไทย (ที่ดี) ก็จะหายไป

สำหรับการเข้าชม Thailand Pavilion นั้นแบ่งออกเป็น 3 ห้องการแสดง จบห้องหนึ่งแล้วจึงเคลื่อนตัวไปยังอีกห้องหนึ่ง ทำให้สามารถควบคุมฝูงชนได้ สามารถประมาณเวลาได้ นี่ใช้แนวคิดแบบลีนนะครับ ทำให้เกิดการไหล (Flow) หลายๆ Pavilion ก็ใช้ระบบการจัดการแบบนี้ บาง Pavilion ใช้ลักษณะ Exhibition ให้คนเข้าไปเดินดู ใช้เวลาตามสบาย ซึ่งทำให้ควบคุมการไหลของฝูงชนยากหน่อย เพราะว่าคนแต่ละคนใช้เวลาดูสิ่งต่างๆ ใน Pavilion ไม่เท่ากัน นี่ก็เป็นการจัดการลอจิสติกส์ฝูงชนของแต่ละ Pavilion

สำหรับ Thailand Pavilion นั้นสิ่งที่นำเสนอนั้นมีเนื้อหาสาระที่ไม่ชัดเจนตาม Theme ของงาน เราสื่ออะไรออกไป คนชาติอื่นๆ นั้นอาจจะไม่ได้รู้สึกเหมือนคนไทย เพราะว่ามันไม่ใช่บ้านเขา แต่โดยรวมก็ใช้ได้ดีทีเดียว คนทั่วไปก็จะเห็นแต่ภาพลักษณ์ แต่การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ ความเป็นชนบทและในเมือง ความมีน้ำใจและความเป็นเพื่อนที่เกื้อกูลกัน ถ้าจะสื่อสารแนวคิดหรือมโนทัศน์เหล่านี้ออกไปยังการดำรงชีวิตในอนาคต ซึ่งต้องเป็นมากกว่า ตึกรามบ้านช่อง เป็นมากกว่าเครื่องจักรหรือวัสดุต่างๆ เมืองที่ปราศจากผู้คนก็ไม่ใช่เมือง เมืองที่มีผู้คนซึ่งไม่มีวัฒนธรรมร่วมกันก็เป็นเมืองที่ดีกว่าไม่ได้ และอาจจะล่มสลายไปในที่สุด

เราจะต้องบอกโลกว่า Thainess : Sustainable Way of Life นั้นเป็นอย่างไร ความร่ำรวยวัฒนธรรมของคนไทยคืออะไร ไม่ใช่มาขายของหรือชักชวนเขามาเที่ยวเมืองไทย เพราะว่ามืองไทยสวยหรือมีผลไม้เยอะ แต่ในที่สุดแล้ว เราจะมีอะไรบ้างที่จะมาช่วยป้องกันความเสื่อมโทรมที่จะเกิดขึ้นจากน้ำมือของคนไทยเราเอง สิ่งที่ดีและสวยงามก็จะหมดไป คนก็จะไม่มาเที่ยว ถ้าจะให้คนมาเที่ยว เราก็ต้องจัดการกับตัวเองเสียก่อน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีทุกคน แล้วจึงฉายภาพความเป็นไทยออกมาให้โลกได้เข้าใจ ผมว่าอยู่เมืองไทยนี่แหละสบายใจที่สุด แต่อาจจะไม่สะดวกเหมือนประเทศที่เจริญแล้ว แต่เรามีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมที่เรายังไม่ได้เอามาใช้ (หรือว่าเรายังไม่ได้เห็นคุณค่าของมัน)ให้เหมาะกับบริบทของยุคสมัยกันเลย ทำให้เราต้องมาคิดกันใหม่

กลับมา Expo อีกในครั้งนี้ ผมสังเกตเห็นมีถังขยะเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าถังขยะของเดิมนั้นถูกออกแบบมาอย่างสวยงามและมีขนาดกระทัดรัด อาจจะทำให้การเก็บขยะต้องมีจำนวนเที่ยวและจำนวนคนเพิ่มมากขึ้นในการเก็บขยะแต่ละรอบ ผมสังเกตว่า มีถังขยะขนาดใหญ่ที่มีล้อลากสีเขียวๆ เหมือนในกทม.ในบ้านเราถูกวางเพิ่มอยู่ทั่วบริเวณเพื่อรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วผมก็สังเกตเห็นว่า ตามแถวคิวที่รอคอยเข้า Pavilion ต่างๆ มีกล่องรองรับขยะมาแขวนไว้ตามแนวรั้วที่กั้นไว้เป็นแนวแถวคอย เอาไว้ให้ผู้ที่รอดอยเข้าชม Pavilion ต่างๆ ที่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มได้ทิ้งขยะกันอย่างถูกที่และเหมาะสม ทำให้บริเวณงานไม่สกปรกหรือเป็นที่รกหูรกตา นี่ก็เป็นการจัดการลอจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics) ของงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้

ส่วนของที่ระลึกนั้นก็มีร้านหรือซุ้มขายอยู่ทั่วงาน World Expo 2010 ตามปกติ สินค้าที่ระลึกพวกนี้ราคาไม่ถูกนะครับ เพราะเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ แต่คนจีนก็ซื้อกันเป็นส่วนใหญ่ ผมไม่ค่อยได้เห็นฝรั่งเท่าไรนัก แต่ผมเห็นคนไทยเยอะกว่า โดยเฉพาะบริเวณ Thailand Pavilion ซึ่งกลายเป็นที่นัดหมายของ กรุ๊ปทัวร์คนไทยแทบทุกกรุ๊ป ส่วน Pavilion อื่นๆ ที่ผมไปเข้าในครั้งนี้ ก็คือ ย่านยุโรปและแอฟริกา เอาแค่เดินผ่าน ไม่นิยมรอคิว Pavilion ไหนไม่มีคิวมากก็เดินเข้าไปได้เลย นี่คือนโยบายของกลุ่มที่ผมไปด้วย มีกันอยู่ 6 คน เฮียเฉลิมพล คุณชิ๊ง เฮียไพฑูรย์ อ.ดำรงศักดิ์ อ.สุนทร ส่วน อ.บุญทรัพย์ผ่าไปกัน 6 คน มี คุณศุภกร กัปตันปกาศิต เฮียเวช คุณหมู คุณเล็ก ลงเรือ Ferry ข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งผู่ซีเมื่องเก่าเพื่อไปดู Theme Pavilion : Footprint และ Future

กลุ่มผมก็เดินดูรอบแถบยุโรป โดยมีเป้าหมายที่ Africa Joint Pavilion แต่คุณเอ๋ยกว่าจะเดินถึงทำเอาขาลากไปเหมือนกัน นี่แค่วันแรกนะ แถมอากาศยังร้อนมากๆ ด้วย แต่พอถึง Africa Joint Pavilion ก็โล่งสบายเพราะเป็นโถงใหญ่มีแอร์เย็นฉ่ำ แถมข้างในยังมีของหรือสินค้าจากประเทศในกลุ่ม Africa ที่เข้าร่วมงานมาขายกันให้สนุกไปเลย ถึงแม้จะผิดวัตถุประสงค์การจัดงานไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็ได้มาร่วมงาน Expo สำหรับประเทศที่ไม่มีเงินมากนักที่จะใช้เป็นงบประมาณในการจัด Pavilion ทางการจีนก็มีเงินสนับสนุนให้ด้วยนะครับ เพื่อให้งานนี้มีความยิ่งใหญ่จริงๆ

ก่อนหน้านี้พวกเราคุยกันว่า เรามาดูงาน Expo กัน 3 วัน เวลามาดูงาน Expo ไม่ต้องข้ามเรือ ให้รถไปส่งฝั่งไหนก็ให้ดูฝั่งนั้น เพราะว่าจะทำให้เสียเวลาในการรอคอยข้ามเรือ ผมเป็นห่วงว่าคนจะเยอะมาก ยิ่งเป็นวันอาทิตย์ด้วย พออีกวันเราก็ให้รถไปส่งที่เมืองเก่าฝั่งผู่ซี แล้ววันที่ 3 ก็ให้มาส่งที่ฝั่งผู่ตง แต่ในวันที่ 2 และ 3 เราจะมาดูงาน Expo ในช่วงตอนเย็นและกลางคืนกัน และแล้วเราก็เดินดูงาน Expo วันแรกจบที่ประมาณ 4 โมงครึ่ง ให้เป็นไปตามสภาพที่ไม่ต้องหักโหมมากนักในวันแรก จากนั้นเราก็ไปทานข้าวเพื่อที่จะไปดูกายกรรรม ERA : The Intersections of Time โดยที่ทางไกด์จัดร้านอาหารและสถานที่แสดงกายกรรมไว้ในบริเวณเดียวกัน เพื่อลดเวลาและระยะทางในการเดินทาง เห็นไหมครับนี่เป็นการจัดการลอจิสติกส์อย่างง่ายๆ ที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ในการบริหารจัดการทัวร์เป็นการจัดการลอจิสติกส์ของนักท่องเที่ยว ทั้งคนขับรถและไกด์จะต้องวางแผนนำพานักท่องเที่ยวให้ไปถึงจุดหมายอย่างตรงเวลาและปลอดภัย

สำหรับการแสดงกายกรรม ERA นี้ ผมตั้งใจมาดูเป็นครั้งที่ 2 ตอนแรกไม่มีในโปรแกรมของทัวร์รอบ 2 นี้ แต่ผมบอกอาจารย์ดำรงศักดิ์ หัวหน้าทัวร์ว่า “ไม่ได้ ต้องมีโชว์ ERA ผมอยากดู” ถ้าผมอยากดู คนอื่นก็จะได้ดูไปด้วย เพราะว่ามันดีจริงๆ เฮียเฉลิมพลแนะว่าให้ลองไปดูการแสดง “ภูเก็ตแฟนตาเซีย” อาจจะเหมือนกันก็ได้ เรื่องรายละเอียดของการแสดงของ ERA นั้นผมไม่อยากเล่าครับ เพราะไม่เท่าไปเห็นเอง ลองไปหาดูกันใน You Tube กันก็ได้นะครับ ผมว่ามีคนเอาขึ้นไว้อยู่แล้วล่ะ

พอดูการแสดงของ ERA แล้วนั้นทำให้ผมได้คิดว่า นักแสดงเหล่านี้เป็นหนุ่มสาวทั้งนั้น กว่าจะได้มาขึ้นแสดงได้นั้น คงจะต้องผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างโชกโชน มีความตั้งใจสูง ทำให้ผมต้องมาสะท้อนความคิดตัวเองในวันนี้ว่าเราได้อะไรบ้างจากการมาดูงาน Expo และ ดู ERA ตั้ง 2 ครั้ง เสียทั้งเงินและเวลา ทั้งเหนื่อยและร้อนด้วย

ผมเห็นนักแสดงทุกคนเป็นมืออาชีพ ที่แสดงทุกวัน ต้องซ้อมกันทุกวัน ต้องทำงานอย่างสอดประสานกัน (Orchestrate) อะไรๆ ก็ตามที่เราคนธรรมดาทำไม่ได้ คิดว่าเราทำไม่ได้แน่ๆ แต่นักแสดงเหล่านี้ทำได้ แล้วเขาทำให้ดู มันก็เลยดูท้าทายต่อความสามารถของเราเป็นอย่างมาก เป็นหน้าที่ของนักแสดงที่จะต้องโชว์หรือแสดงให้คนรู้สึกพอใจตื่นเต้น หรือซึ้งใจไปกับการแสดงของเขา บางครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นแค่การแสดงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นการเลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ผู้ที่ชมการแสดงก็ได้รับความสุข ความพอใจผ่านสิ่งต่างๆ ที่ได้รับรู้หรือสัมผัสจากโสตประสาทของมนุษย์เท่าที่จะรับหรือรู้สึกได้ ทำให้มนุษย์หรือผู้ชมได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้นด้วย

การชมโชว์ ERA ผมนึกถึงว่า “การแสดงคืออะไร?” ซึ่งก็จะเชื่อมโยงไปที่ความเป็นศิลปะ ซึ่งหลายคนคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องความอ่อนช้อยและงดงาม ผมถามตัวเองว่าการแสดง คืออะไร ทำไมเราต้องดูการแสดง สำหรับการแสดงในมุมมองของผมเป็นเครื่องมือในการจรรโลงจิตใจมนุษย์หรือเป็นสิ่งที่ชดเชยในสิ่งที่มนุษย์ขาดหายไป (ผมคิดเองเองนะครับ อย่าเพิ่งเชื่อ) เมื่อมนุษย์ได้รับข้อมูลข่าวสารในรูปแบบของการแสดงแล้ว มนุษย์จะรู้สึกมีความสุข แล้วจะได้ผ่อนคลาย ในทางตรงกันข้ามแล้ว คงไม่มีใครอยากจะได้ความกดดันหรืออยู่ในความจริงที่หวาดกลัวต่อความอยู่รอดหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิต มนุษย์คงจะไม่มีความสุข

เมื่อมามองกันอีกครั้งหนึ่ง มนุษย์เองก็ได้พยายามในการจัดการกับตัวเองอยู่ 2 ประเด็น คือ จัดการทางกายภาพกับตัวเองด้วย อาหารหรือปัจจัยในการดำรงชีวิตต่างๆ หรือจัดการกับจิตใจของตัวเองเพื่อที่จะไปควบคุมทางกายภาพอีกทีหนึ่ง การแสดงจึงเป็นการให้ข้อมูลสารสนเทศที่จะทำให้คนพอใจหรือจรรโลงหรือเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป สำหรับในอดีตของมนุษย์เรานั้น ถ้าไม่มีการแสดง ผมเข้าใจว่ามนุษย์เราก็นั่งดูธรรมชาติที่สวยงามต่างๆ ซึ่งเป็นด้านดีของธรรมชาติ ประเภทสายลมและแสงแดด เสียงน้ำ เสียงนก ความเขียวของป่าและสีครามของน้ำทะเล แต่มนุษย์ทุกคนก็ไม่สามารถที่จะรับสิ่งเหล่านี้ได้อยู่ตลอดเวลา เพื่อจรรโลงใจหรือเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป มนุษย์เราจึงต้องแสดงหรือเลียนแบบธรรมชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนได้รับความสุข ความพอใจและเติมเต็ม ผมคิดว่าสิ่งที่มนุษย์ขาดไปและต้องเติมเต็มก็คือ ความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

มีหลายคนบอกว่า การแสดง คือ ศิลปะ แต่ผมคิดว่า ศิลปะนั้น คือ การแสดง ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การแสดงที่อ่อนช้อยและส่วยงามเท่านั้น แต่ความรุนแรง ความแข็งแรงและการต่อสู้ก็เป็นศิลปะได้เช่นกัน ไม่จำเป็นจะต้องอ่อนช้อยเสมอไป ในทางวิศวกรรมหรือทางวิทยาศาสตร์ ก็คือ การทำแบบจำลอง (Modeling) ซึ่งไม่ใช่ของจริง เราทำแบบจำลองขึ้นมาก็เพื่อสร้างความเข้าใจและได้รับข้อมูลข่าวสารที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งทำให้เราพอใจ มีความสุขหรือสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้ ผมหมายถึงว่า การแสดงจะต้องทำให้คนเชื่อว่าสิ่งนั้นเหมือนเกิดขึ้นจริงๆ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ เพราะมันเป็นการแสดง หรือทั้งๆ ที่ผู้ชมหรือคนอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะต้องทำโดยนักแสดงเหล่านี้เท่านั้น การแสดงเป็นการทำให้คนเขื่อว่า เรื่องนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ต่อหน้า ต่อตา เรื่องราวที่เราทำไม่ได้หรือไม่มีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมไปในเหตุการณ์ แต่การแสดงทำให้เกิดขึ้นต่อหน้าเรา ทำให้เรามีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วม

แล้วคนเราแสดงอะไรล่ะ คนเราแสดงความเป็นธรรมชาติ ผมมองว่า มนุษย์เราโหยหาธรรมชาติ พยายามเติมเต็มความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติซึ่งมนุษย์ไม่มี เพราะผมเองโดยส่วนตัวแล้ว มีความเชื่อว่ามนุษย์เองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบนโลกนี้ มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นส่วนเกินของโลกนี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ครับ ก็เพราะว่า คนเรานั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์เราจึงมองธรรมชาติที่สวยงามด้วยความรู้สึกที่โหยหาและอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบนโลกนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว

การแสดงจึงเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นศิลปะ การแสดงที่สมจริงจึงเป็นการแสดงที่เลียนแบบได้เหมือนธรรมชาติหรือได้เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง การแสดงที่ต้องใช้ฝีมือมากๆ จึงเป็นการแสดงที่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปของผู้ชมได้ เพราะผู้ชมคนธรรมดาไม่สามารถทำได้ ผู้ชมจึงมีความอิ่มเอมใจ การแสดงที่ดีต้องมีศิลปะ ดังนั้นศิลปะจึงไม่ใช่ความอ่อนช้อยหรืออารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว ผมมองว่า ศิลปะ คือ การทำให้มนุษย์มีความสุข ความพอใจก็เพราะว่าเขาเชื่อในสิ่งที่เขาได้รับข้อมูลจากประสาทสัมผัส ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ แต่เกิดจากการแสดง

เราเห็นการร่ายรำ ความอ่อนช้อย เห็นภาพเขียน เราเห็นว่ามันเป็นศิลปะเพราะว่ามันทำให้เรารู้สึกถึงธรรมชาติ มันเหมือนจริงหรือคล้ายกับธรรมชาตินั่นเอง แต่ในกรณีของการแสดงกายกรรม ที่ถึงแม้ว่าจะดุดัน แข็งแรงและรวดเร็ว ความพร้อมเพรียงด้วยจังหวะที่ต้องไม่ผิดพลาด แต่ผมก็เรียกมันว่าเป็นงานศิลปะ เขาถึงเรียกกันว่า ศิลปะการต่อสู้ ที่มีหลายท่วงท่าที่เลียนแบบมาจากท่าทางการต่อสู้ของสัตว์ต่างๆ ในธรรมชาติ ในมุมมองผม ศิลปะในการแสดงกายกรรมหรือการแสดงการต่อสู้ คือ จังหวะ ความลงตัวพอดีกัน ความสอดคล้องซึ่งกันและกัน คุณลักษณะเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ มันเป็นความลึกลับของธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ เราต่างหากที่ตกเป็นเบี้ยล่างของธรรมชาติตลอดเวลา ถ้าเราทำอะไรที่มันสวยงามและลงตัวพอดีและอยู่ในความควบคุมได้ เราก็พอใจและมีความสุข เราก็คิดว่าเราก็พยายามทำให้ได้เหมือนธรรมชาติ แต่มันก็น้อยนิดเหลือเกินเมื่อไปเทียบกับธรรมชาติแล้ว

ดังนั้นในมุมมองหนึ่ง ศิลปะ คือ ความลงตัวและความพอดีกันเหมือนธรรมชาติ เพราะว่าธรรมชาติโดยตัวมันเองแล้ว คือ ความลงตัวและความพอดีกัน ซึ่งจะเห็นได้จากหลายสิ่งหลายอย่างในธรรมชาติที่เราเองก็นึกไม่ถึงว่าทำไมมันถึงได้ลงตัวกันอย่างนี้ ผมจึงคิดไปอีกว่า ทำไมเวลาเราสอนหนังสือหรือนำเสนองาน (Presentation) เราน่าจะต้องทำให้มันเป็นการแสดงที่ทำให้ผู้ฟังหรือผู้เรียนพึงพอใจ มีความสุข สำหรับในกรณีการสอนนั้น เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ฟังมีความประทับใจหรือมีความสุข ก็เพราะว่าเขาเข้าใจในเรื่องที่เราได้สอน ผู้เรียนได้เป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่เรานำเสนอ

ผมไปดูกายกรรม ERA ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนช้อย ความดุดันและความแข็งแรง ต่างก็เป็นการแสดง ซึ่งการแสดงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา แต่เมื่อเราได้เห็นได้สัมผัส เราก็พอใจ มีความตื่นเต้น มีเครื่องไม้เครื่องมือในการแสดงและผู้คนอีกหลายสิบคน ซึ่งทั้งหมดแสดงได้ดี ก็เพราะความลงตัวที่เกิดขึ้นมาจากความพร้อมเพรียงในการแสดง ที่กล่าวมาคือความหมายของศิลปะในอีกมุมมองหนึ่งของผมจากการไปดูกายกรรม ERA ที่เซี่ยงไฮ้ ระหว่างการไปชมงาน Expo 2010 ในรอบที่ 2 ผมได้ภาพสะท้อนจากการเดินทางของความคิดในวันที่ 2 ทำให้ผมคิดว่าเวลาจะสอนหนังสือจะต้องคิดให้เป็นการแสดงหรือ Show ที่มีศิลปะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความลงตัวและกลไกความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ของเรื่องที่สอนหรือนำเสนอ

หลับฝันดีนะครับ พรุ่งนี้ Code ประจำวัน เหมือนเดิมครับ 7-8-9 อาหารเช้าก็เหมือนเดิมครับ

อ.วิทยา สุหฤทดำรง



Shanghai Expo 2010 - Part 10 (2ndTrip) - สูงเฉียดฟ้า ไร้ผู้คน ขาดแนวคิดและวัฒนธรรม ก็ไร้ชีวิต


ในที่สุดผมก็กลับไปชมงาน World Expo 2010 อีกครั้งหนึ่ง ช่วง 5-11 ส.ค. 2553 แต่คราวนี้คณะผู้ร่วมเดินทางกับผมเป็นคนละกลุ่มกับครั้งแรก แต่ก็ยังมีอาจารย์บุญทรัพย์คนเดิมร่วมเดินทางไปกับผมด้วย ในครั้งที่แล้ว คณะทัวร์ของเราเป็นคณะนักศึกษาปริญญาโทสาขาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของมหาวิทยาลัยศรีปทุม รุ่นที่ 1 และผู้ประกอบการที่สนใจ รวมแล้ว 40 กว่าคน ในการเดินทางครั้งที่ 2 นี้ เรามีผู้ประกอบการ นักศึกษาปริญญาโทสาขาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของมหาวิทยาลัยศรีปทุมรุ่นที่ 2 จำนวนหนึ่ง และทีมนักวิจัยของสถาบันวิทยาการโซ่อุปทานรวมแล้ว 19 คน โดยมี อ.ดำรงศักดิ์ เป็นหัวหน้าคณะทัวร์ และกว่าจะมาเป็นทัวร์ครั้งนี้ ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เฉียดฉิวมาก เพราะ Traffic ของการท่องเที่ยวไปในงาน Expo จัดการได้ไม่ง่ายนัก

ในครั้งนี้เราเดินทางด้วย Shanghai Airline ต่างจากคราวก่อนที่เดินทางด้วย MU หรือ China Eastern Airline สิ่งที่ประทับใจกว่าก็คือ อาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องบินเป็นอาหารจริงๆ พูดได้ว่า “เออ! ค่อยเป็นอาหารหน่อย” ข้อเสียคือ ใช้เครื่อง 737 ซึ่งเป็นเครื่องเล็ก แต่กลับใช้บินไกลๆ ราวๆ 4 ช.ม. ซึ่งอึดอัดมากๆ แต่ก็คงจะคุ้มกับสายการบิน คราวที่แล้ว MU เขาใช้ เครื่อง A-300 ดูกว้างขวางกว่า ส่วนเวลาการบินก็เหมือนเดิมครับ ออกเดินทางดึกๆ ถึงเช้า แล้วก็เที่ยวทันทีทั้งวัน ส่วนตอนกลับก็กลับค่ำๆ หน่อย จะได้อยู่เที่ยวและดูงานกันทั้งวันในเซี่ยงไฮ้ให้คุ้ม ไหนๆ เที่ยวกันแล้วก็พยายามใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพ พวกเรามีเวลาจำกัดครับ พยายามบริหารเวลากัน

ถึงเซี่ยงไฮ้ตอนเช้าวันเสาร์ ผมสังเกตบริเวณที่ตรวจคนเข้าเมือง เขามีเครื่องมือเครื่องไม้ที่ทันสมัยกว่าเมืองไทยเรา ตรงที่มีจอ Display แสดงให้เห็นหน้าของผู้เดินทางพร้อมชื่อและหมายเลข Passport สงสัยว่าไปครั้งที่แล้วเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ทำไมผมไม่ได้สังเกตเห็นนะ หรือเขาอาจติดตั้งมาตั้งแต่ครั้งที่แล้วหรือเปล่า? ที่สุววรณภูมิของเรามีแค่กล้อง LogicTec อันกลมๆ เท่านั้น เหมือนกับด่านตรวจเข้าเมืองที่ปอยเป็ตชายแดนไทยกับเขมร (แซวเล่นนะครับ) แต่ที่จริงแล้วอาจจะไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คือ กระเป๋าของผู้ร่วมเดินทางท่านหนึ่งในคณะแตกเสียหายไปเลยครับ ไม่รู้ว่าโดนกระแทกแตกกระจายที่สนามบินไหน จับไม่ได้ไล่ไม่ทันครับ

กระบวนการและวิธีการ Handle กระเป๋าคงจะไม่นุ่มนวลอยู่แล้วครับ เพราะว่าในแต่ละวันจะมีกระเป๋าหลายหมื่นใบที่ผ่านสายพาน และผ่านมือของคนที่ยกขึ้นและลงจากสายพาน ผ่านรถขนย้ายไปยังเครื่องบิน และยกขึ้นลงจากใต้ท้องเครื่องบิน นั่นเป็นส่วนหนึ่งของระบบลอจิสติกส์ในสนามบิน กระเป๋าเสียหายก็เพราะลอจิสติกส์ไม่ดี แล้วลองมาดูที่วิวัฒนาการของกระเป๋าบ้าง เพราะว่าคุณค่าของกระเป๋าเดินทางนี้เป็นคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ในลักษณะการจัดเก็บ (Storage) และการเคลื่อนย้าย (Move or Transport) รวมทั้งความโดดเด่นในการจดจำได้ง่าย (Easy to Identify) เพราะว่าทุกครั้งที่บริเวณรับกระเป๋าจะมีการหยิบกระเป๋าผิดอยู่เสมอ ในหลายครั้ง เรามักเอาผ้าสีหรือมีการผูกโบว์สีเป็นการทำสัญญลักษณ์เพื่อให้เราสามารถจดจำได้ง่าย หรือมีป้ายชื่อติดไว้เลยถ้ามากับบริษัททัวร์ จะได้ไม่หยิบผิดกันและจะได้รู้ว่าเป็นกรุ๊ปทัวร์เดียวกัน นี่ก็เป็นกิจกรรมลอจิสติกส์อีกอย่างหนึ่งในสนามบินครับ! (ขออภัยที่แอบแถมเรื่องลอจิสติกส์ ก่อนเข้าเรื่อง Expo นะครับ)

เหมือนเดิมครับ คือ มาถึงเซี่ยงไฮ้ตอนเช้าก็ต้องนั่งรถไฟแม่เหล็ก (MagLev) เข้าเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7 นาที ด้วยความเร็วสูงสุด 431 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่าที่สังเกต ไม่ค่อยมีคนนั่งมากเท่าไรนัก คนไม่แน่นมาก มีที่นั่งสบายๆ หรือช่วงเวลาที่พวกเราไปนั่งอาจจะไม่ค่อย Busy มากนัก พอนั่งมาถึงปลายทาง ผมสังเกตว่า บนรถไฟแม่เหล็กนี้ไม่มีที่รัดเข็มขัด (Seat Belt) เหมือนบนเครื่องบินหรือในรถยนต์ คุณศุภกรที่ร่วมทัวร์ไปกับเราเอ่ยว่า “รถไฟมันแล่นเร็วมาก แป๊ปเดียวก็ถึงที่หมาย ก็เลยคาดเข็มขัดไม่ทัน” ก็จริงครับ เพราะมัวแต่คุยกัน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าด้วยความเร็วขนาดนั้น เข็มขัดนิรภัยคงจะไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่นัก ก็เลยไม่ต้องใช้กันดีกว่าใช่ไหม? เพราะว่ารถไฟแล่นด้วยความเร็วสูงอย่างนั้น พลาดท่าเสียหลักไป ก็คงจะไม่เหลืออะไรอยู่แล้วหรือเปล่า แล้วผมจะพยายามไปหาคำตอบมาครับ

พอถึงตัวเมืองเซี่ยงไฮ้คราวนี้ เราไม่ได้ไปชมหอไข่มุก แต่เราจะไปชมตึกที่สูงกว่าหอไข่มุก คือ Shanghai World Financial Center (SWFC) ซึ่งเป็นตึกรูปทรงคล้ายๆ กับที่เปิดขวดน้ำอัดลม เราขึ้นไปที่ชั้น 94 และชั้นที่ 97 ซึ่งเป็นบริเวณช่องกลวงตรงกลางที่ยอดตึกซึ่งเหมือนที่เปิดขวด พวกเราได้เห็นวิวทิวทัศน์จากที่สูงของเมืองเซี่ยงไฮ้ที่สูงกว่าหอไข่มุก แต่ระดับความเสียวของการมองลงมาข้างล่างแล้ว สู้หอไข่มุกไม่ได้เลย หอไข่มุกมีพื้นซึ่งเป็นกระจกใสให้เรามองเห็นลงไปยังพื้นข้างล่างและเดินดูได้รอบๆ เห็นแล้วหวาดเสียวจนขาสั่นได้กว่าเยอะมากๆ เลย หากมีโอกาสก็ลองไปดูกันนะครับ แน่นอนว่า การจัดระบบลอจิสติกส์ของผู้ที่เข้าชมของสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนเข้าชมเป็นจำนวนมากๆ นั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนและจัดระเบียบการไหลของคนที่ขึ้นไปบนตึกด้วยลิฟท์และด้วยความเร็วที่เหมาะสม การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเพื่อไม่ให้ติดขัดและเกิดการรอคอยนานจนน่าเบื่อเกินไป แต่พอมองไปรอบๆ ก็ยังเห็นมีการก่อสร้างตึกอีกมากมาย และได้ทราบมาว่า ในปี 2014 จะมีอีกตึกหนึ่งซึ่งจะก่อสร้างเสร็จ และจะสูงกว่า ตึก SWFC อีก เขาจะสร้างให้สูงกว่ากันทำไม อะไรเป็นแรงบันดาลใจหนอ?

ในช่วงบ่าย คณะของเราไปที่สำนักงานผังเมืองของเมืองเซี่ยงไฮ้ Urban Planning Center ซึ่งที่นี่ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปแล้วครับ มีการเก็บเงินค่าเข้าชมด้วย มีทั้งหมด 4 ชั้น ที่สำนักผังเมืองนี้เป็นการแสดงแบบจำลอง (Model) การสร้างเมืองของเซี่ยงไฮ้ เออ! ก็แปลกดีครับ เขาเอางานประจำแบบราชการมาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเก็บเงินได้ด้วย เราจะเห็น Model ของตึกต่างๆ ของเมืองเซี่ยงไฮ้ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและที่กำลังก่อสร้างและที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง มี Model ของสนามบินในปัจจุบันและอนาคต ท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งพื้นที่ของงาน Expo ที่นี่มีเจ้าหน้าที่นำชมที่พูดเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะครับ ทำให้ผมตื่นตา ตื่นใจ พร้อมกับหนักใจว่าทำไมบ้านเราไม่เป็นอย่างนี้บ้างนะ ไม่ใช่บ้านเราไม่มีกรมผังเมืองนะครับ ของเราก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ผมยังให้รายละเอียดของกรมผังเมืองบ้านเราไม่ได้มากนัก ถ้าไม่มีกรมผังเมืองของเราแล้ว บ้านเราอาจจะแย่กว่านี้อีก แต่ปัญหาคือ แล้วจะทำให้ดีกว่านี้ได้ไหมล่ะครับ

ส่วน Highlight ของสำนักงานผังเมืองของเมืองเซี่ยงไฮ้ คือ Video Presentation 360 องศา ที่เขาเอาพวกเราเข้าไปในห้องวงกลมที่มีการยกระดับของพื้นขึ้น พร้อมกับมีการแสดง Video Presentation 360 องศา เหมือนขึ้นไปยืนบนพรม แล้วเหาะไปทั่วเมืองเซี่ยงไฮ้ Video Presentation แสดงให้เห็นทั้งหน้าและหลัง ด้านซ้ายและขวา ดูได้รอบทิศขณะที่ Video Presentation พาพวกเราเหาะไปทั่วเมือง ผมว่ามันเป็น 3D Presentation ที่ไม่ต้องใช้แว่นสองสีเลย เพราะขณะที่เราเหาะวนเวียนไปรอบๆ เมืองเซี่ยงไฮ้ ด้วยความเร็วที่เร่งขึ้นและชะลอลดต่ำลงและหยุดลอยอยู่ในบริเวณที่สำคัญต่างๆ ในเมืองเซี่ยงไฮ้ Video Presentation แสดงให้เรารู้สึกว่า บินสูงและบินต่ำ บินเร็วและบินช้า โค้งและเลี้ยวไปมา มันทำให้พวกเราเซไป เซมา ทรงตัวไม่ได้ ต้องหาที่ยึดเกาะไว้ ผมรู้สึกราวกับว่าพื้นที่เรายืนนั้นมันเคลื่อนไหวจริงๆ ที่แท้เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของ Video Presentation 360 องศากับการมองของเรา ทำให้เรารู้สึกไปเอง ตอนเดินออกมาจากห้องยังก้มไปดูที่พื้นที่ยกระดับเลยว่ามีระบบไฮโดรลิกหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีอะไรเลย มันเป็นพื้นยกระดับธรรมดาเอง ตรงนี้เจ๋งจริงๆ ครับ ผมแนะนำครับ ถ้าไปเซี่ยงไฮ้ควรจะไปดูที่สำนักผังเมือง ดีมากเลยครับ แล้ว อ.ดำรงศักดิ์ ยังเล่าให้ฟังว่า เพื่อนของอ.ดำรงศักดิ์ เคยมาทำงานวางผังเมืองที่เมืองเซี่ยงไฮ้มาก่อน เพราะว่าจบสถาปัตย์มาแล้ว เมืองไทยไม่มีงานให้ทำ ก็เลยมาทำงานให้เมืองจีน (แล้วผังเมืองของไทย ใครทำให้กันละเนี่ย)

จากนั้นก็ไปเดินถนนนานจิง ซึ่งเป็นถนนคนเดินที่มีทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นถนนคนเดิน (หรู) ที่มีแต่ของมีแบรนด์ (Brand Name) สินค้า Copy นั้นไม่ค่อยได้มีให้เห็น ผมก็เห็นมีแต่คนมาเดิน ไม่รู้มาเดินกันทำไม แล้วผมก็ไม่รู้ว่าพวกเราจะมาเดินกันทำไมด้วย สรุปแล้วเป็นการตลาดของเมืองเซี่ยงไฮ้ที่พาเราและคนจีนที่มาท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาดูคนเดินไปเดินมากัน และคนอื่นๆ ก็มาดูพวกเราไปเดินด้วย เออดี! แต่ก็มีห้างสรรพสินค้าและมีของขายตามปกตินะครับ ในเมืองใหญ่ๆ ของจีนก็จะมีลักษณะของถนนแบบนี้ครับ แต่ดูไปก็มีเสน่ห์ดีครับ จบวันนั้นแล้วพวกเราก็กลับไปพักผ่อนนอนหลับอย่างสบายจริงๆ ต้องบอกว่า คืนแรกจะหลับดีที่สุดเพราะว่าเหนื่อยกับการนอนบนเครื่องบินมาหนึ่งคืน ซึ่งหมายความว่า อดนอนมานั่นแหละครับ

มาเซี่ยงไฮ้วันแรกนี้ในรอบที่สองนี้ เป็นวันเสาร์ รถไม่ค่อยติดเท่าไหร่นัก แต่ก็แปลกดีนะครับ สำหรับเมืองที่คนประมาณ 20 ล้านคน รถไม่ค่อยติดเท่าไหร่นักในวันเสาร์ แล้ววันธรรมดาเป็นอย่างไรแล้วผมจะเล่าให้ฟังในวันต่อๆ ไป มาวันแรกเรายังไม่ได้เข้าชมงาน Expo สำหรับบทสะท้อนความคิดสำหรับวันแรก (Daily Reflections) ของผม คือ การแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่งจากการสร้างตึก SWFC ที่สูงที่สุดในเซี่ยงไฮ้ และมีอยู่แล้วยังไม่พอจะต้องสร้างให้สูงกว่า เพราะว่า ตึก SWFC เป็นตึกของต่างชาติ ที่ไม่ใช่ของจีน (ผู้พัฒนาเป็นบริษัทญี่ปุ่น) และเป็นตึกที่มีลักษณะที่เป็นฮวงจุ้ยที่ไม่ดีต่อเมืองเซี่ยงไฮ้ ต้องไปหาเรื่องราวจากแหล่งข้อมูลอื่นดูเอาเองนะครับ เพราะว่ามีเป็นรายการ TV อยู่ในช่อง Discovery ที่เล่าเรื่องราวของตึกนี้ครับ!

ผมมองว่าการสร้างตึกให้สูงกว่าเป็นการสร้างสิ่งที่เป็นสัญญลักษณ์ (Symbol) ที่เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศจีนที่ต้องต่อสู้และแข่งขันมาโดยตลอดด้วยจำนวนประชากรที่มากมายจนจะเกือบถึง 1,400 ล้านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พูดง่ายว่า อดอยากกันมาก่อน ถ้าไม่มีสิ่งที่เป็นลัญญลักษณ์เหล่านี้แล้ว การรวมตัวทางสังคมอาจจะไม่มีประสิทธิภาพนัก เพราะคนเพิ่มมากขึ้นทุกที แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องเสมอไปในการควบคุมสังคม อย่างประเทศมาเลเซียก็ใช้ ตึก Petronas เป็นสัญญลักษณ์ของประเทศมาแล้ว ก็ต้องลองดูต่อไป ประเทศใหญ่ๆ อย่างโซเวียตก็แตกสลายออกมาเป็นหลายๆ ประเทศ แล้วก็ยังมีประเทศอินเดียอีกประเทศหนึ่งที่มีประชากรจำนวนมากที่ไล่ตามจีนมาติดๆ แต่ผมกลับมองว่าความเป็นที่สุดของการสร้างตึกนั้นเป็นการแสดงเชิงสัญญลักษณ์ทางกายภาพเท่านั้น แต่มันจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ถ้าคนที่อยู่ในประเทศนั้นไม่มีสิ่งที่เป็นจุดยืนร่วมกันหรือมีวัฒนธรรมร่วมกัน

ถึงแม้ว่า Slogan ของงาน World Expo 2010 คือ Better City, Better Life. ผมก็อยากจะเพิ่มเข้าไปว่า “เมืองสร้างคน คนสร้างชีวิต และชีวิต สร้างเมือง” ดังนั้นสิ่งที่ขาดไป คือ ตัวคนและคนหลายๆ คนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน มามีชีวิตร่วมกัน เพราะว่าเมืองที่ไม่มีคนอยู่นั้น ก็คือ วัตถุที่ปราศจากชีวิต ตึกรามบ้านช่องที่ไม่มีคนอยู่ก็ไม่สามารถทำให้เมืองมีชีวิตอยู่ได้ เมืองก็จะตายไร้ชีวิต ดังนั้นชีวิตที่ดีกว่าก็คงจะไม่เกิดขึ้น จริงไหมครับ เมืองจึงเป็นเหมือน Hardware ส่วนวัฒนธรรมของคนที่เป็นผู้ใช้งาน (Users) ก็จะเป็น Software ตลอดเวลาที่เราได้รู้จักจีนเราก็คงจะไม่ได้รู้จักแค่หน้าตาเท่านั้น แต่เราจะต้องรู้จักปรัชญาและวิธีคิดและการปรับตัวของสังคมจีนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปกครองและภาวะผู้นำสำหรับจีนยุคใหม่ หน่วยงานการวางผังเมืองที่เราได้ไปดูในวันแรกจึงเป็นเหมือนหน่วยงานทางด้าน Hardware ที่จะต้องวางแผนโครงสร้างของเมืองเพื่อให้คนได้อยู่อย่างมีชีวิตที่มีคุณค่า และใช้ชีวิตที่มีคุณค่านั้นสร้างเและพัฒนาเมืองให้เจริญและอยู่ได้อย่างยั่งยืน นั่นเป็นบทสะท้อนความคิดจบท้ายของการเดินทางในวันแรกก่อนที่ผมจะหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย

แล้วค่อยมาคุยกันในบันทึกการเดินทางของความคิดในงาน World Expo 2010 กันต่อไปครับ

หลับฝันดีนะครับ พรุ่งนี้ 7-8-9 ครับ Code ประจำวัน

อ.วิทยา สุหฤทดำรง



Shanghai Expo 2010 - Part 9 ทำไมต้องไป งานExpo อีกครั้งหนึ่ง

ทำไมต้องไป งานExpo อีกครั้งหนึ่งหรือครับ? ต้องตอบว่า ผมเพิ่งจะรู้ว่าเราสามารถมีโอกาสสัมผัสงานระดับโลกแบบนี้ได้ไม่ยากมากนัก และในตอนแรก คิดว่างาน Expo จะเป็นเหมือนงานแสดงสินค้าทั่วๆ ไป (เหมือนงานวัดบ้านเรา เพราะว่าได้เคยไปงานAsian Expo ที่เมืองหนานนิง ที่มณฑลกวางสี เมื่อปีก่อน และได้แวะไปที่พื้นที่ประเทศไทยจัดงาน ไม่ได้แตกต่างงานขายของที่ Impact เมืองทองธานีเลยครับ) หลังจากที่ได้เดินทางไปชมงาน World Expo 2010 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พอกลับมาได้ไม่กี่วันก็เริ่มเขียนบันทึกการเดินทางตอนที่ 1 แล้วก็เกิดความคิดว่าจะต้องหาเรื่องหาราวกลับไปดูงาน Expo แก้ตัวอีกสักครั้งหนึ่ง ด้วยความเชยและไม่รู้ของผมในการไปชมงานแรกนั้น ผมคิดว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารความเป็นโลกใหม่ ความเป็นโลกภิวัฒน์ ความเป็นจีน ให้กับพวกเราทราบ ไม่อย่างนั้นแล้ว จะเป็นการทำงานที่ขาดวิสัยทัสน์ขาด แรงบันดาลใจ การดำเนินชีวิตและการทำงานคงจะพัฒนาไปได้น้อยมาก โดยเฉพาะทีมงานของสถาบันวิทยาการโซ่อุปทานที่อยู่ในการควบคุมและดูแลของผม

ผมเองก็ยังสงสัยตัวเองอยู่ ว่าอะไรทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานและการดำเนินชีวิตอยู่ได้ เพราะว่าพวกเราๆ ที่ผมรู้จักหลายท่านก็ได้มีโอกาสไปต่างประเทศหลายครั้ง หลายๆ ท่านไปบ่อยกว่าผมเสียอีก ตัวผมเองอยู่ต่างประเทศมาหลายปี ผมก็ต้องถามตัวเองว่า แล้วเราต้องคิดและทำอย่างไรบ้างเมื่อเราได้ไปเห็นโลกกว้าง ทั้งๆ ที่เราสามารถเดินทางไปเองหรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำมันมาสร้างให้เกิดขึ้นเป็นจริงกับบ้านเรา ไม่เช่นนั้นแล้วอะไรดีๆ ก็คงเกิดขึ้นกับเราหรือบ้านเมืองเราไปอีกมากแล้ว

สิ่งที่หนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าจะต้องกลับไปดูงาน Expo อีกครั้งหนึ่ง คือ ผมคงมีเวลาเหลือไม่มากนัก เลยวัยกลางคนมาแล้ว อยากจะทำอะไรให้เกิดเป็นรูปธรรมกับสังคมบ้าง Better City, Better Life เป็น Slogan ที่สะดุดความรู้สึกผมมาก เพราะสุดท้ายแล้ว เราคงอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยสังคมเมืองที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อลูกหลานในอนาคต งาน Expo น่าจะเป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตเราในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งท่านผู้ประกอบการทั้งหลายที่จะเดินทางไปกับผมด้วยนั้นก็ไม่ใช่คนธรรมดาเลย ธุรกิจของท่านเหล่านั้นก็ไม่ใช่เล็กๆ ผมว่าการเดินทางไป Expo ครั้งที่ 2 นี้คงไม่ได้เป็นการเดินทางท่องเที่ยวธรรมดาทั่วไปซึ่งเน้นไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่การเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางไปชมภูมิปัญญาของโลก ซึ่งไม่ใช่แค่ของคนจีนเท่านั้น ภายในเวลาอันจำกัดและพื้นที่ซึ่งจำกัด ดังนั้นผมว่าเราต้องเตรียมตัวและเตรียมใจก่อนที่จะเดินทาง หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะนึกว่า คงจะไม่สนุกแล้วล่ะมัง นั่นน่ะสิครับ คงไม่สนุกหรอกครับ แต่อาจจะได้อะไรดีๆ กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและสังคม ถึงตอนนั้นก็ชีวิตอาจจะสนุกขึ้นมาก็ได้ครับ

ระหว่างที่เขียนบทความถึงตอนที่ 9 นี้ ผมได้มีโอกาสพบปะผู้คนที่ได้ไปงาน Expo มาแล้วหลายท่าน ต่างคนต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ข้อมูลข่าวสารที่แต่ละท่านได้รับนั้นก็แตกต่างกันออกไป น้อยคนนักที่จะมีแนวคิดเหมือนผม แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีคนประเภทนั้นนะครับ ก็มีบ้าง ต้องมีอยู่แล้ว เพราะมีหลายๆ คนที่ไปด้วยกันครั้งที่แล้วกับผม ไปคราวนี้ก็ยังขอไปด้วยกันอีกเช่นกัน แต่ละคนคงจะมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันออกไป ดังนั้นตอนไปดูงาน Expo ครั้งหน้า ก็คงจะต้องแบ่งงาน แบ่งกลุ่มกันออกไปดูตามที่ตั้งใจกันไว้ แล้วคงจะต้องกลับมา Share กันด้วยในภายหลัง เพราะแต่ละบทความต่างๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่ผมได้อ่านนั้น มักเน้นกันที่การท่องเที่ยวและบรรยากาศภายในงานเป็นเสียส่วนใหญ่

แล้วคงจะมีคนถามว่า ทำไมผมจึงต้องไปอีกครั้งหนึ่ง คำตอบ คือ เพราะว่าตอนไปครั้งแรกไม่ได้เตรียมตัว และทราบข้อมูลเชิงลึกของงาน Expo ซึ่งไม่สามารถหาได้ในร้านหนังสือที่เมืองไทย ใน Internet ก็พอจะมีให้ค้นหาบ้าง เท่าที่ดูก็มี Website ของงาน Expo Online ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่สำคัญของงาน Expo นี้ด้วย การไปครั้งที่ 2 คงจะต้องกำหนดและวางแผนให้ดีกว่าเก่า เพราะรู้ถึงสภาพการเข้าชมแล้ว ส่วนผมเองก็คงจะไปดู Pavilion จีน และเรื่องราวของ Theme Pavilion ทั้งหลายให้ครบ และในส่วน ของ Urban Best Practice Area ที่ยังไม่ได้ดูอีกเยอะ และในส่วนของประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายที่เคยได้แค่เดินผ่านไป ไปคราวนี้ใครอยากจะไปไหน เดี๋ยวผมหาข้อมูลให้ เตรียมแนวทางไว้ให้ก่อน แต่ก็ไม่แน่ว่า กว่าจะถึงวันงาน คนอาจจะเยอะกว่าเก่าอีกก็ได้ อากาศอาจจะไม่เป็นใจเหมือนคราวที่แล้วก็ได้

หลายคนอาจจะถามว่า แล้วจะดูแต่ละ Pavilion อย่างไร ต้องมีคู่มือครับ ต้องศึกษาบ้างก่อนไป ต้องรู้ก่อนว่า เขานำเสนอแนวคิดอะไร และมีวิธีการนำเสนออย่างไร อะไรเป็นหัวใจและจิตวิญญาณของการนำเสนอ และที่สำคัญตรงกับ Theme ของงานหรือไม่ ผมไม่ได้ให้คะแนนอะไรกับ Pavilion ไหนนะครับ พูดไว้เป็นแนวทางเท่านั้น ไหนๆ เสียเงินไปแล้ว ไปทั้งที่ก็ต้องให้คุ้มค่าหน่อย เพราะครั้งแรกที่ผมไป รู้สึกไม่คุ้มค่า ผมน่าจะเก็บเกี่ยวอะไรได้มากกว่านี้ (ไม่ใช่งานไม่ดี ไม่น่าสนใจ)
คนไทยเราไปดูงานต่างประเทศกันเยอะมากๆ ต้องถามว่ากลับมาแล้วทำอะไรกันได้บ้าง หรือเอาไว้ลงประวัติว่ามีประสบการณ์ไปดูงานมา ผมยังคิดอยู่เลยว่า คนจีน 100 คน ไปดูงานกับคนไทย 100 คน ไปดูงานกลับมา คนกลุ่มไหนสร้างประโยชน์ให้กับสังคมของตัวเองได้มากกว่ากัน จริงอยู่ครับ บางคนต้องการพักผ่อนและอยากสนุกสนาน เป็นแค่ไปเที่ยวกันอย่างเท่านั้นจริงๆ ที่จริงแล้วไม่ต้องมีงาน Expo เราก็สามารถไปท่องเที่ยว เที่ยวชมเก็บเกี่ยวหาความรู้พร้อมกับความสนุกสนานได้เช่นกัน ลองนึกดูสิครับว่า จะเที่ยวอย่างไรให้ได้ความสนุกและได้ประโยชน์ด้วยในงาน Expo

เห็นการท่องเที่ยวของชาติอื่นๆ แล้วก็น่าหนักใจสำหรับประเทศไทย เพราะว่าเราต้องอาศัยการท่องเที่ยวเป็นรายได้ก้อนใหญ่เข้าประเทศ มีสิ่งหนึ่งที่ไกด์ของจีนพูดให้ฟังว่า สถานที่ท่องเที่ยวของจีนในเซี่ยงไฮ้นั้น เป็นสิ่งที่สร้างใหม่ขึ้นมาทั้งนั้น ก็จริงนะครับ เพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้ไปมานั้นถูกปรุงแต่งและสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ดูดเงินจากนักท่องเที่ยวจากสิ่งปรุงแต่งขึ้นมาใหม่เหล่านี้นี่เอง ดังนั้นประเทศไทยเราเองคงจะต้องมานั่งคิดว่าจะสร้างสรรค์งานกันอย่างไรเพื่อที่จะให้ขายนักท่องเที่ยวให้ได้ ผมเองก็ไม่ค่อยรู้ถึงกระบวนการจัดการท่องเที่ยวในเมืองไทยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะว่าไม่เคยเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทยเสียด้วย

ยิ่งตอนนี้เป็นยุคของการบูมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) แนวคิดการสร้างสรรค์สิ่งอาจจะไปโดนใจใครบางคน แต่เราก็อย่าไปหลงกับการสร้างกระแสเหล่านี้นัก เพราะคิดว่า หากประเทศอย่างเกาหลีเขาทำได้ เราก็อยากทำบ้าง ผมว่าเราสามารถนำเอาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้กับการท่องเที่ยวได้ ผมเห็นกิจกรรมหลายอย่างในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ มากกว่าการใช้ของเก่า มีการใช้แนวคิดในการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่ง คือ การจัดการการดำเนินงาน (Operations Management) เพื่อให้เกิดคุณค่าเพิ่ม (Value Added) และการบำรุงรักษาให้คงอยู่ใช้ประโยชน์ได้ตลอดอายุการใช้งาน รวมทั้งการตลาดและการพัฒนาปรับปรุงให้กิจกรรมนั้นอยู่อย่างยั่งยืนหรือมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา หรือต้องเอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง หรือมีการผสมผสานของความใหม่และความเก่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ใช่ยัดเยียดความเป็นของโบราณแบบตรงๆ ให้ ก็อาจจะไม่เกิดความประทับใจกับนักท่องเที่ยวเท่าไรนัก

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจอาจจะไม่ใช่เรื่องของการที่เราคิดอะไรออกหรือคิดได้ ความสร้างสรรค์ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่การทำให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้ใช้ต่างหาก นั่นจะเป็นตัวสร้างผลประโยชน์ในระยะยาว ถึงแม้เราจะมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าทำให้เกิดเป็นจริง (Product Realization) ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ มีผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่บริษัทนั้นไม่ได้คิดเอง ไม่ได้ผลิตเอง แต่สามารถทำตลาดได้ผลกำไรมากมาย นั่นคือ การจัดการโซ่อุปทานนะครับ ตราบใดที่ท่านยังเข้าไม่ถึงผู้บริโภค ท่านไม่ได้เงินจากผู้บริโภคหรอกครับ เมื่อคิดได้แล้วหรือคิดอย่างสร้างสรรค์ได้แล้วต้องคิดอย่างสรรค์ตลอดกระบวนการโซ่คุณค่าและโซ่อุปทาน ต้องเอาให้ถึงมือผู้บริโภคเลย ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อันใด

ผมว่าผมก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าจะไปงาน Expo อีกครั้งทำไม แต่ผมว่าผมน่าจะค้นพบคำตอบในงาน Expo ว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการไปดูงานในครั้งนี้ เราจะเข้าใจมากขึ้นหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยไม่การเปลี่ยนการปกครอง เขาทำได้กันอย่างไรบ้าง ไม่เหมือนบ้านเราที่บ้านเมืองเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหนเลย ล้าหลังจนดูไม่ได้เลยในมุมมองด้านความคิด ทั้งๆ ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารประเทศมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไปได้ไม่ถึงไหน งาน Expo ของจีนครั้งนี้น่าจะสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้นำจีนในการจัดการประเทศได้เป็นอย่างดี ทำให้เราต้องหันมาดูประเทศไทยแล้ว ปล่อยให้ท่านผู้นำประเทศไทยจัดการประเทศอย่างที่เป็นอยู่ไม่ได้แล้ว เราคงจะต้องมาช่วยกันคิดมากๆ แล้วทำอะไรให้เกิดขึ้นบ้างล่ะครับ!

แล้วคุยกันใหม่ครับ

อ.วิทยา สุหฤทดำรง

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จากปริญญาตรี สู่ นักปฏิบัติในวงการธุรกิจอุตสาหกรรม : ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม (ตอนที่ 1)


เมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมวิพากษ์หลักสูตรการเรียนการสอนที่จัดโดยมูลนิธิเครื่องนุ่งห่มไทย หรือ SHARE ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้อยู่ในวงการสิ่งทอหรือ Garment โดยตรง แต่ที่ถูกเชิญให้ไปวิพากษ์ก็คงเป็นเพราะเรื่อง ลีน (Lean) มากกว่าครับ เพราะว่าในวงการสิ่งทอกำลังสนใจเรื่องลีน แต่ในความเห็นของผม พื้นฐานของลีนคือ Supply Chain นะครับ แล้วเรื่องลีน ก็ดูจะห่างๆ ออกไปจากหลักสูตรการเรียนในระดับปริญญาตรีเสียด้วย หลังจากได้ฟังความคิดเห็นจากทางภาคอุตสาหกรรมและทางอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านสิ่งทอและ garment แล้ว ผมก็พอจะสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมไทยเราจะต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัย (University -Industry Linkage) ในขณะที่อุตสาหกรรมเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรม (แต่เป็นในมุมไหน?) มหาวิทยาลัยก็ต้องดิ้นรนในการอยู่รอดด้วยจำนวนนักศึกษาที่สมัครเรียนและด้วยกฎระเบียบและการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่ตลาดการศึกษาได้ขยายวงกว้างมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องรักษาจำนวนนักศึกษาให้เหมาะสมไว้ ผมไม่คิดว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยฟังอุตสาหกรรมเท่าไรนัก และผมก็ไม่คิดว่าอุตสาหกรรมเชื่อในมหาวิทยาลัยมากนัก เหมือนที่ อ.ดวงรัตน์ จาก ม.เกษตร ให้ข้อคิดเห็นไว้ และเหมือนๆ ที่ผมได้ประสบมา

ที่จริงแล้วอุตสาหกรรมต้องนำหน้าการศึกษาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งการศึกษาเองก็จะต้องเป็นผู้ที่นำหน้าอุตสาหกรรมด้านทฤษฎีและแนวคิดด้วย ทั้งอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยนั้นจะต้องเป็น Partnership หรือหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน ในขณะที่อุตสาหกรรมต้องการความรวดเร็วและการปรับตัวที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีลูกค้าที่เป็นนักศึกษาในระบบที่ต้องการมาเรียนปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ ความต้องของนักศึกษาเหล่านี้ก็ต้องการแค่ใบปริญญาที่สามารถออกไปหางานได้ และความรู้ประสบการณ์ที่เป็นพื้นฐานที่เพียงพอต่อการไปทำงาน

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของนักศึกษาจึงไม่รุนแรงหรือรวดเร็วเหมือนกับที่อุตสาหกรรมกำลังประสบอยู่ ลูกค้าจริงๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นนักศึกษา ไม่ใช่อุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยจึงเป็นความสัมพันธ์หรือความร่วมมืออย่างหลวมๆ ไม่ใช่ในเชิงธุรกิจ อุตสาหกรรมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับมหาวิทยาลัยโดยตรง เพราะว่าอุตสาหกรรมไม่ได้จ่ายเงินให้มหาวิทยาลัยเพื่อซื้อตัวนักศึกษามาใช้งาน นักศึกษามีอิสระที่จะเลือกสถานที่ทำงาน และบริษัทก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกที่ตัวนักศึกษา ไม่ใช่ที่มหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์ในเชิงโซ่อุปทานของมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมตรงนี้คอ่นข้างจะต่ำ เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกัน พอนักศึกษาจบปริญญาตรีออกมาก็ไร้สังกัดแล้ว เป็นอิสระ ทั้งนักศึกษาและอุตสาหกรรมก็สามารถเลือกกันเองได้ตามชอบใจ (Shopping round) นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการแรงงาน

ดังนั้นความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถลงไปถึงการพัฒนาตัวนักศึกษาได้ครบถ้วนหรือตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมมากนัก แต่ในปัจจุบันก็ยังมีโครงการความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีความร่วมมือกับอุตสาหกรรม เช่น Internship หรือ Co-Op ต่างๆ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะทำไม่ได้กับจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ที่สำคัญมันจะต้องมีคำสั่งหรือใบสั่ง หรือเป็นข้อตกลงที่เป็นความร่วมมือกันจริงๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นศึกษาเฉพาะทางกันไป ไม่เป็น General ทำให้กลายเป็นโรงเรียนฝึกอาชีพไป

ต้องบอกว่ามหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมไม่ได้เชื่อมโยงกันจริงๆ ในฐานะหุ้นส่วนในโซ่อุปทาน (Supply Chain Partners) ขาดการทำงานร่วมกัน (Collaboration) สิ่งที่ทำได้ก็คือ เรียกร้องหรือบอกกล่าวกัน ในความเป็นโซ่อุปทานระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่เป็นจริงจึงดูอ่อนไป เพราะว่าการเรียกร้องหรือบอกกล่าวกันนั้น ทำให้ผลลัพธ์ที่ต้องการอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะว่าไม่ได้มีข้อตกลงในการส่งผ่านคุณค่ากันโดยตรง ความร่วมมือในโซ่อุปทานนั้นจะต้องฟังร่วมกันอย่างใกล้ชิด ต้องมานั่งกำหนดปัญหาและแก้ปัญหาร่วมกัน ต้องสั่งและทำตามกันได้ บนพื้นฐานที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่อยู่กันคนละโลกกัน คนละมิติกัน ผู้ที่ให้คุณและโทษเป็นคนละคนกัน แล้วจะมาบอกว่ากันว่า มหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมจะต้องร่วมมือกัน

ผมให้ความสำคัญใครมากกว่ากัน ระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม คำตอบก็คือ อุตสาหกรรมครับ เพราะว่าอุตสาหกรรมสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์โดยตรงครับ มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะสินค้าและบริการที่โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ สร้างออกมา แล้วมหาวิทยาลัยทำอะไร? มหาวิทยาลัยเป็นโซ่อุปทานที่สร้างคนเข้าไปในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทีหนึ่ง มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างคน ทำให้คนมีความรู้พื้นฐาน แล้วส่งออกไปในตลาดแรงงาน เมื่ออุตสาหกรรมต้องการคนไปทำงานสร้างคุณค่าในโซ่อุปทาน จึงออกมาคัดเลือกคนไปทำงาน บางบริษัทก็ออกมาคัดเลือกกันถึงในมหาวิทยาลัย ดังนั้นตลาดแรงงานจึงเป็นตลาดเสรีที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกและถูกเลือก และกว่าจะได้ถูกคนและถูกใจกันจริง ก็เสียเวลาและทรัพยากรไปพอสมควร เพราะว่าอุตสาหกรรมไม่สามารถออก Spec ไปว่าต้องการคนคุณภาพแบบนี้ แล้วมหาวิทยาลัยไปสร้างมา อุตสาหกรรมไม่สามารถควบคุมได้เต็มที่หรือทั้งหมดของกระบวนการ เหมือนการสั่งวัตถุดิบ

บทบาทของมหาวิทยาลัยทั่วไปก็เป็นแค่ผู้ที่สอนความรู้พื้นฐานในระดับปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่เป็นผู้ควบคุม (Regulator) ก็คือ ภาครัฐซึ่งเป็นผู้ให้คุณให้โทษโดยตรงกับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่อุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ที่เอานักศึกษาไปใช้งาน และที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินให้กับมหาวิทยาลัย แต่เป็นนักศึกษาที่จ่ายเงินให้กับมหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์ตรงนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้ครับ

ประเด็นก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้มหาวิทยาลัยนั้นก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและอุตสาหกรรม และที่จริงแล้วบทบาทของมหาวิทยาลัยควรจะเป็นอย่างไรบ้าง ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับประเด็นที่ว่ามหาวิทยาลัยต้องตามอุตสาหกรรมให้ทันและในบางส่วนมหาวิทยาลัยก็ต้องนำอุตสาหกรรม ทั้งสองประเด็นนี้ก็คงต้องมากำหนดหรือออกแบบความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกัน (Collaborations) ใหม่ ผมคิดว่าทั้งมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมมีการทำงานร่วมกันน้อยมากในปัจจุบัน ซึ่งตามแล้วมีการทำงานร่วมกันอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมี Impact เท่าไรนัก เป็นแค่การคุยกันมากกว่า

มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ในการสร้างคนในระดับปริญญาตรีเข้าตลาดแรงงาน ในสาขาวิชาต่างๆ ผมมองว่าการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นการสร้างคนในระดับการปฏิบัติการ (Operations) แต่ผมก็ไม่ได้คาดหวังและคงเป็นไปไม่ได้ที่นักศึกษาที่จบออกไปแล้วจะต้องปฏิบัติงานได้เลย เพราะว่ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่โรงเรียนฝึกอาชีพ มหาวิทยาลัยนำเสนอองค์ความรู้ในหลากหลาย ครอบจักรวาล (Universal) ถึงได้ชื่อว่า เป็น “University” แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สอนคนในทุกเรื่อง แถมยังต้องแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ ให้นักศึกษาเลือกตามสิ่งที่สนใจหรือตามที่ถนัด เราจึงมีนักศึกษาปริญญาตรีสาขาต่างๆ จบออกมาทำงานตามบริษัทต่างๆ

ผู้ที่จบปริญญาตรีออกมาแล้ว ควรจะเป็นอย่างไรบ้าง? ผมมองการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นเป็นผู้ที่เรียนรู้และศึกษาเป็น นั่นก็คือ อ่านหนังสือแล้วเข้าใจ รู้เรี่อง คิดเป็น นำทฤษฎีที่มีอยู่สู่การปฏิบัติได้ ด้วยการทำความเข้าใจหรือศึกษาบริบท โดยมีอาจารย์เป็นผู้สอนวิธีการศึกษา อาจารย์ไม่ได้สอนตัวความรู้ในสาขาต่างๆ ตัวอาจารย์ใช้ความรู้ในสาขาต่างๆ เป็นแค่เครื่องมือหรือตัวอย่างในการทำให้เราได้ฝึกฝนในการศึกษาต่างหาก นักศึกษาควรจะอ่านเองได้ ศึกษาเองได้ด้วยตัวเอง อาจารย์ไม่ต้องมาอ่าให้ฟัง แต่อาจารย์ควรจะชี้นำในแนวคิดหรือวิธีคิดที่แฝงอยู่ในบทเรียนหรือในตำรามากกว่า

เราเข้าใจกันว่าการศึกษาว่าจะต้องเริ่มต้นกันที่หนังสือหรือในห้องเรียนเท่านั้น นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดมากๆ เพราะในห้องเรียนเป็นการฝึกฝนให้นักศึกษาเรียนรู้และนำเอาสิ่งที่รู้มาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมจึงเรียกสานสนเทศเหล่านั้นว่า “ความรู้” ดังนั้นผู้ที่จบปริญญาตรีไปจะต้องนำเอาความรู้ ทฤษฎี หรือข้อปฏิบัติต่างๆ ที่รู้ มาประยุกต์ใช้กับบริบทของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานและชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนให้นักศึกษาให้ปฏิบัติได้ทุกเรื่อง ทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่มหาวิทยาลัยต้องสอนวิธีการศึกษา วิธีการเรียนรู้ หลักคิดและการสร้างหลักปฏิบัติให้กับนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาที่จบปริญญาตรีจะสามารถนำเอาหลักคิดและการสร้างหลักปฏิบัติไปศึกษาบริบทของการทำงานหรือปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วจึงลงมือปฏิบัติ ถึงตอนนั้นนักศึกษาปริญญาตรีก็จะกลายเป็นนักปฏิบัติ มหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนหรือนำเสนอบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจได้ครบหมด เพราะบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บริบทของปัญหาหรือเรื่องราวต่างๆในหนังสือหรือตำราย่อมจะไม่เหมือนหรือแตกต่างกับบริบทที่เกิดขึ้นจริงตลอดเวลาในชีวิตจริง แต่หลักคิดและทฤษฎีต่างๆก็ยังใช้ได้อยู่เสมอ สิ่งที่นำเสนอเป็นแค่ตัวอย่างให้คิดและเรียนรู้เท่านั้น ผู้ที่จบปริญญาตรีจะต้องไปเรียนรู้ในพื้นที่ปฏิบัติงานหรือไปรับการฝึกอบรมเฉพาะทางสำหรับเรื่องนั้นๆ เมื่อไปทำงาน เพื่อนำไปฏิบัติให้เกิดผลในการทำงาน

ไม่ว่าบริบทของสังคมและธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หลักในการศึกษาและการเรียนรู้ หลักคิดและทฤษฎี รวมทั้งการนำไปสู่การปฏิบัติก็ยังคงเดิมอยู่ ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร เทคโนโลยีจะเกิดใหม่อย่างไร หลักคิดและการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติก็ยังคงเดิมอยู่ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป บริบทสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป การปฏิบัติจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่หลักคิดและทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังก็ยังคงอยู่ครับ เพราะนักปฏิบัติรู้วิธีการศึกษาและเรียนรู้เป็น และประยุกต์ความรู้หรือทฤษฎีให้เข้ากับบริบทใหม่จนกลายเป็นการปฏิบัติใหม่ นักปฏิบัติที่ดีจะต้องบอกได้ว่า ทำไมต้องทำอย่างนี้ เหตุและผลของมันคืออะไร นั่นคือความเป็นวิชาการของนักปฏิบัติซึ่งต้องเข้าใจทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังได้ครับ

ผู้ที่จบปริญญาตรีทุกคน ถึงแม้ว่าจะจบมากจากแตกต่างสาขา จะมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะต้องเรียนรู้เป็น เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ รู้จักการศึกษาบริบทของปัญหาเพื่อที่จะประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีอยู่หรือทฤษฎีต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ ผู้ที่จบปริญญาตรีมาแล้วได้ทำงานตรงสาขา ก็โชคดีไป มีความรู้และทฤษฎีต่างๆ ในสาขาที่จบมาแล้วเป็นทุนเดิม เพียงแต่จะต้องเข้าไปศึกษาบริบทของการทำงานให้เข้าใจและประยุกต์ความรู้หรือทฤษฎีให้ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองหรือองค์กร

ผู้ที่จบปริญญาตรีที่จบมาแล้ว ทำงานต่างสาขา ไม่ตรงกับที่เรียนมา ก็สามารถทำงานได้เช่นกัน แต่ต้นทุนการเรียนรู้สูงกว่า เพราะจะต้องมาเรียนรู้ความรู้ใหม่ เรียนรู้ทฤษฎีใหม่เพื่อที่จะประยุกต์ในบริบทใหม่ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและองค์กร

แต่น่าเสียดายว่า ผู้ที่จบปริญญาตรีมาส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักปฏิบัติเลย เพราะไม่ได้ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา ศึกษาไม่เป็น ทำให้ไม่เข้าใจบริบทของปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานหรือการดำรงชีวิต ทำงานไม่เป็น แต่คนเหล่านี้ไปแค่นักทำ (Doer) ทำตามที่บอก ทำแล้วได้ผล แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ลองผิด จนได้ถูก แล้วก็ทำถูกมาเรื่อยๆ แต่ไม่รู้และไม่เข้าใจในกลไกหรือความเป็นไปเป็นมาของสิ่งที่ตัวเองทำลงไป เมื่อบริบทของสังคมหรือเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ทำมาเดิมก็ไม่ได้ผล จึงต้องกลับมาลองผิดลองถูกกันอีก ซึ่งเป็นต้นทุนของการดำเนินการอย่างยิ่ง
ถ้าคนเหล่านี้จบปริญญาตรีมาด้วยความเป็นนักปฏิบัติ (Practioner) แล้ว เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคมและธุรกิจทำให้เกิดปัญหาขึ้น นักปฏิบัติเหล่านี้จะต้องศึกษาบริบทเพื่อที่จะนำเอาความรู้และทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและสังคม

ดังนั้นการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นจะต้องสร้างนักศึกษาที่จบออกมาเป็นนักปฏิบัติ มากกว่าเป็นนักทำ ดังนั้นเรื่องราวของการปฏิบัติจริงหรือให้เหมือนจริงในการเรียนการสอนนั้นจึงไม่น่าจะเป็นประเด็นมากนัก การปฏิบัติในระหว่างการเรียนการสอนนั้นเป็นแค่สิ่งที่ใช้ฝึกฝนการเป็นนักปฏิบัติของนักศึกษา ดังนั้นเครื่องไม้ เครืองมือหรือเรื่องราวของเทคโนโลยีต่างๆ ในการเรียนการสอนอาจจะตามการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมได้ไม่ทัน ยิ่งปัจจุบันแล้วมีการเปลี่ยนแปลงของบริบทธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจและเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็อาจจะใช้เครื่องมือในสมัยก่อนหรือโบราณเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างไร หลักคิดและทฤษฎีก็ยังคงใช้ได้อยู่ เพียงแต่ว่านักศึกษาที่จบมาใความเป็นนักปฏิบัติมากเพียงใด รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์และภาวะผู้นำที่จะทำให้เขามีความเป็นนักปฏิบัติที่มีประสบการณ์มากขึ้น

ถ้าเราจะปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีกันแล้ว ผมมีความเห็นว่า น่าจะมาปรับที่การแสดงให้เห็นถึงปรัชญาของปริญญาตรีในการผลิตนักศึกษาออกมาเป็นนักปฏิบัติ (ผมคิดเอาเองน่ะครับ) ยังไม่ใช่เป็นการสอนในเรื่องราวที่เป็นบริบทของปัญหาในอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยผลิตคนให้ป็นนักปฏิบัติและคิดเป็น มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนให้แค่ทำเป็น แต่ต้องสอนให้ปฏิบัติเป็น ด้วยตัวอย่างของเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าบริบทจะเปลี่ยนไปอย่างไร เทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่อย่างไรผู้ที่จบปริญญาตรีมาและเป็นนักปฏิบัติจะต้องสามารถที่จะเรียนรู้และศึกษาเรื่องใหม่ๆ ในบริบทใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ตลอดชีวิตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการสร้างคุณค่าให้กับตนเอง องค์กรและสังคม

อุตสาหกรรมเองก็ไม่อาจจะคาดหวังได้ว่ามหาวิทยาลัยจะผลิตผู้ที่จบปริญญาตรีออกมาแล้วใช้งานได้เลย แต่อุตสาหกรรมสามารถให้ข้อมูลรายละเอียดของปัญหาต่างๆในบริบทของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง เมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้เป็นตัวอย่างในการศึกษาแล้ว เมื่อจบออกไปเป็นนักปฏิบัติแล้ว เขาเหล่านั้นก็จะใช้เวลาในการเรียนรู้เรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นจริงน้อยลง อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนก็จำเป็นที่จะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคมด้วยการออกไปทำวิจัยและสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกันกับอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้กรณีศึกษาหรือข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices)มาเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้หรือการประยุกต์ให้ความรู้หรือทฤษฎีในบริบทต่างๆ ของอุตสาหกรรมให้กับนักศึกษา

ผมคิดว่า กิจกรรมตรงนี้น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยเชื่อมโยงกันแข็งแรงขึ้น แต่ละอุตสาหกรรมไม่สามารถไปบอกมหาวิทยาลัยต้องสอนในสิ่งที่ควรปฏิบัติในแต่ละอุตสาหกรรมได้ แต่อุตสาหกรรมสามารถบอกมหาวิทยาลัยได้ว่า นักปฏิบัติที่ดีควรจะมีอะไรเพิ่มเติมจากนักปฏิบัติในอดีตสำหรับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคต มีตัวอย่างของบริบทใดบ้างที่สมควรใช้เป็นตัวอย่างในการสร้างนักปฏิบัติ เพื่อให้อาจารย์ใช้สอนหรือฝึกนักศึกษาให้ออกมาเป็นนักปฎิบัติ อุตสาหกรรมสามารถสนับสนุนเรื่องราวเหล่านี้ได้ ถ้ามีกิจกรรมอย่างนี้แล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยก็สามารถที่จะ Update ได้ทันกับอุตสาหกรรม ไม่ใช่จมอยู่กับเรื่องราวที่เก่าล้าสมัย และไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคม

ที่สำคัญตัวอาจารย์เองก็จะต้องปรับตัวเองให้ทันกับบริบทของธุรกิจและสังคม การยกตัวอย่างที่เป็นบริบทในการแก้ปัญหาต่างๆ ก็สมควรที่จะต้องพบเห็นได้ในสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจารย์จะได้ข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดหรือเป็นกรณีศึกษาก็ต้องมาจากการวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรม เพราะว่าถ้าอาจารย์ไม่ได้เข้าไปในอุตสาหกรรมแล้ว อาจารย์ก็ไม่มีวันรู้ว่าของจริงนั้นที่เข้าปฏิบัติกันเป็นอย่างไร ทำให้ไม่สามารถอธิบายได้อย่างเด่นชัดและลึกซึ้ง ารยกตัวอย่างจากหนังสือหรือตำราอาจจะไม่ได้ทำให้เห็นภาพได้เด่นชัดหรืออาจจะล้าสมัยเกินไปสำหรับเรื่องราวในหนังสือที่เป็นตำรา แต่ตำราก็มีประโยชน์เสมอเพราะว่ามันประกอบไปด้วยหลักคิดและทฤษฎี ตัวอย่างการประยุกต์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เราต้องอย่าลืมว่า นักศึกษานั้นเป็นผู้เริ่มศึกษากระบวนการศึกษาเท่านั้น ยังไม่เป็นผู้ที่ศึกษาเป็นแล้วหรือนักปฏิบัติ ดังนั้นเราคงจะต้องหาวิธีหรือเครื่องมือที่ทำให้เขาเข้าใจและศึกษากระบวนการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพจนเป็นนักปฏิบัติได้ บริบทของการศึกษาในมหาวิทยาลัยจึงไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหมดก็ได้

มหาวิทยาลัยสร้างนักปฏิบัติ ธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสินค้าและบริการให้กับลูกค้า ธุรกิจอุตสาหกรรมก็ต้องใช้นักปฏิบัติจากมหาวิทยาลัย แต่เมื่อลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยอย่างแน่นอน แต่ถ้าในองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมมีนักปฏิบัติตัวจริงที่จบปริญญาตรีทำงานอยู่ในระยะเวลาหนึ่ง นักปฏิบัติเหล่านี้จะต้องสามารถใช้ความรู้และทฤษฎีที่เรียนมาและที่เรียนรู้จากการทำงานมาโดยตลอดไป รวมทั้งความรู้ใหม่ที่ค้นพบจากการปฏิบัติในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมาประยุกต์ใช้กับบริบทใหม่ๆที่เปลี่ยนแปลงไปอีกขั้นเพื่อให้ตนเอง องค์ธุรกิจและสังคมให้อยู่รอดได้ นี่คือคนหรือผู้ที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องการ


การศึกษา : มายาภาพแห่งความรู้ (1)



ที่จริงแล้วผมมีอาชีพเป็นอาจารย์ก็ยังไม่นานมากนัก แค่ประมาณ 10 ปีเท่านั้น แต่ก็ได้มีโอกาสสอนและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เรียนและผู้ฟังเกือบแทบทุกระดับ ตั้งแต่ CEO บริษัทมหาชนยอดขายเป็นหมื่นล้าน จนถึงเถ้าแก่ SME เล็กๆ และที่สอนอยู่เป็นงานประจำก็คือ นักศึกษาที่อยู่ในระบบการเรียนการสอนปกติในมหาวิทยาลัยทั่วไป คิดไปแล้วนับว่ามีชั่วโมงบินพอสมควรที่จะมาแลกเปลี่ยนแนวคิดกับท่านผู้อ่านได้ ตั้งแต่ผมได้มีโอกาสทำการสอน บรรยาย และมีงานวิจัยบ้าง ก็ยังไม่เคยพอใจกับผลงานตัวเองเลย ยิ่งในสาขาวิชา Logistics และ Supply Chain ที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงแรกๆ ของกระแสความนิยมด้วยความบังเอิญจริงๆ จนในปัจจุบันมีหลักสูตรทางด้าน ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอยู่มากมายด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผมสงสัยในความเป็นตัวตนของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ถูกสร้างกระแสขึ้นมาด้วยความไม่เข้าใจ และต้องการจะมีกระแสหรือภาพลักษณ์นี้ไว้ เหมือนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เพื่อที่จะเอาตัวรอด ทั้งที่ใช้ประโยชน์จากมันไม่ได้เต็มที่


เพราะต้อง “เรียน” แต่อาจจะไม่ได้ “รู้”
ในหลายชั้นเรียนระดับปริญญาโททางด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมพบว่านักศึกษาหลายท่านจบปริญญาโทมาก่อนแล้วทั้งในและต่างประเทศ ผมแปลกใจว่าทำไมพวกเขาถึงได้ต้องมานั่งเรียนปริญญาโทอีกหนึ่งใบให้เสียทั้งเวลาและเงินทอง แต่ผมก็ยังดีใจอยู่ถึงความตระหนักในการเปลี่ยนแปลงและการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการหาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา หลายๆ คนเรียนจบ MBA กันมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่เคยเรียนด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาก่อน จึงต้องมาเรียนปริญญาโทอีกใบ ความต้องการเช่นนี้เกิดขึ้นในวงการศึกษาทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเอง กระแสความตื่นตัวของหลักสูตรลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท แม้แต่ในระดับอาชีวะศึกษา ป.ว.ส เองก็ยังมีเปิดในสาขานี้

แต่อย่างไรก็ตามการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางด้านการศึกษาก็ต้องเป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อมีความต้องการแล้วก็ต้องมีคนตอบสนอง ในความรู้สึกส่วนตัวที่สอนเรื่องนี้มานาน ตั้งแต่ในช่วงก่อนเกิดกระแสลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมพบว่าความเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ถูกนำเสนอต่อวงการธุรกิจนั้นไม่มีอะไรใหม่เลย เพราะว่าลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอยู่ในธุรกิจและชีวิตประจำวันของมนุษย์เรามานานแล้ว แล้วแต่ใครจะมองออกหรือไม่ การเกิดใหม่ของแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไม่ใช่เรื่องแปลกในวิวัฒนการของการจัดการธุรกิจ แต่เมื่อมนุษย์อย่างเราได้รู้จักมันแล้ว จะใช้ประโยชน์หรือพัฒนาต่อยอดออกไป ก็เป็นเรื่องของเราเอง หรือจะลืมมันไปก็ได้ ให้หายไปจากความคิดเราก็ได้ เหมือนกับเทคนิดการจัดการเก่าๆ ที่หมดยุดสมัยไป แต่กิจกรรมของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจริงๆ ก็ยังคงอยู่ในกระบวนการธุรกิจตลอดไป แล้วแต่ใครจะให้ชื่อมันว่าอย่างไร

แล้วต้องเป็น “ปริญญาโท” หรือไม่
หลายคนที่เรียนปริญญาโท พอจบก็ได้ปริญญาโทจริงๆ กล่าวคือ ได้ใบปริญญาโทที่เป็นกระดาษ แต่บางครั้งกลับไม่ได้ความเป็นปริญญาโทหรือความเป็นมหาบัณทิต (Master) เสียนี่ แล้วอะไรที่เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นปริญญาโท ผมสอนปริญญาโทมามาก แม้จะไม่มากกว่าอาจารย์อาวุโสท่านอื่นๆ ที่สอนมาก่อนผมหลายปีนัก ส่วนใหญ่ผมจะเป็นอาจารย์พิเศษสอนปริญญาโทตามมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เปิดปริญญาโทกัน ตลาดวิชาปริญญาโทด้านการจัดการและการบริหารธุรกิจต่างเปิดกันอย่างมากมาย มีการเรียนการสอนเกือบจะทุกจังหวัดใหญ่ๆ ในประเทศไทย แล้วแต่ความต้องการของแต่ละพื้นที่ การไปเรียนของนักศึกษาก็เป็นตลาดวิชากันจริงๆ ไม่แตกต่างจากการไปเรียนกวดวิชาเลย เพราะดูเหมือนเป็นความเร่งรีบ ที่สำคัญคือ นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานแล้ว พยายามหาเวลาว่างมาเรียนเพื่อเพิ่มวุฒิการศึกษาและเป็นการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมสำหรับตัวเองเพิ่มนำไปใช้ในการทำงาน ยิ่งในปัจจุบันถ้าทำงานในองค์กรธุรกิจหรือเข้าสังคมในวงการธุรกิจคุณต้องจบปริญญาโทเป็นอย่างน้อย จบปริญญาโทย่อมจะดีกว่าคนที่จบปริญญาตรี (บางทีก็ไม่แน่เสมอไป) ผมว่าทุกคนจะอยากที่จะได้ตำแหน่งงานที่ดี เงินเดือนที่ดี แต่ผมว่าคิดอย่างนั้นก็อาจคิดผิด มันอยู่ที่ฝีมือและความคิดมากกว่า ปริญญาโทจะช่วยคุณได้ถ้ามีความคิด มีฝีมือหรือฝีคิดเป็นทุน คุณก็คงจะก้าวหน้าไปได้

เวลานี้หลักสูตรปริญญาโทต่างๆ เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แล้วมหาบัณฑิตจะมาช่วยพัฒนาประเทศหรือธุรกิจได้ไหม บางคนจบ ป.โท มา ทำงานแย่ก็มี บ้างก็สู้เด็ก ป.ตรี จบใหม่ไม่ได้ สังคมไทยบอกว่า คุณจะต้องจบโทเพื่อที่จะอยู่ในสังคมได้ คุยได้ว่าจบโทมาทางด้านนี้เป็นอย่างน้อยที่สุด บางคนมีเวลาว่างมากก็เลยไปหาที่เรียนอีกใบปริญญามาประดับบารมี ก็ดีครับ สบายอาจารย์อย่างพวกผม ได้เงินค่าสอนไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม พอนานๆ ไปผมกลับคิดว่าผมโง่ลงทุกวัน เพราะสอนแต่เรื่องเก่าๆ พูดซ้ำไปมา ไม่มีอะไรใหม่จากความคิดสร้างสรรค์ในการสอนแต่ละครั้งเลย ค่าสอนก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น อายุก็มากขึ้น แต่ก็ยังสอนเรื่องเดิมๆ อยู่ ที่สุดแล้วผมก็ต้องมาพิจารณาตัวเองว่า ระบบการศึกษาที่ผมและนักศึกษาเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั้นคืออะไร ใครได้ ใครเสีย แล้วผลรวมเป็นอย่างไร

หัวใจของการเรียนปริญญาโท
จากประสบการณ์การสอนปริญญาโทของผม ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์พิเศษแค่วิชาเดียวในแต่ละรุ่น แต่ผมไม่ได้รับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเหล่านั้นเลย เพราะว่ามีนักศึกษาจำนวนมากจริงๆ ดังนั้น การจัดการหลักสูตรปริญญาโทด้วยการทำวิทยานิพนธ์จึงหาได้ยากมากในตลาดปริญญาโท ถึงมีทางเลือก (Options) ให้เลือก นักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเลือกการทำเป็นโครงงานศึกษาอิสระ (Independent Study : IS) ที่เรียกกันว่า IS มากกว่า ด้วยเหตุผลคือ การทำวิทยานิพนธ์นั้นยาก กลัวว่าจะไม่จบ นั่นเป็นทัศนคติพื้นฐานของนักศึกษาปริญญาโท บางแห่งได้ข่าวมาว่า ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีการทำ IS เป็นกลุ่ม 5 หรือ 10 คนด้วยซ้ำ ลองคิดดูว่าคนจบปริญญาโทสักกี่คนที่ทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) แล้ววิทยานิพนธ์นั้นสำคัญต่อปริญญาโทหรือผู้เรียนอย่างไร

ผมเชื่อว่าหลายคนไม่รู้ว่า อะไรคือหัวใจของการเรียนปริญญาโท ผมมีความเห็นว่าหัวใจของปริญญาโท คือ การทำวิจัย (Research) แต่ผมกลับเคยได้ฟังมาว่า “เรียนปริญญาโทก็เหมือนเรียนปริญญาตรีเลย” “ลงหน่วยกิตให้ครบ แล้วหาวิทยานิพนธ์ (Thesis) ง่ายๆ ทำ จบเร็วๆ ก็พอแล้ว” แต่คนพวกนี้จะจบช้าที่สุด เพราะมัวแต่หา Thesis ง่ายๆ ไม่ลงมือทำเสียที ส่วนทางภาควิชาและคณะก็บอกว่าจะต้องวิจัย วิจัย และวิจัยเท่านั้น เพราะเราเป็นนักวิชาการ “เร่งเอานักศึกษาทุกคนมา เอา Case โรงงานไปทำเร็วๆ จะได้เป็น Thesis เป็นงานวิจัย จะได้เรียนจบปริญญาโท” ดูไปดูมาแล้วมันเป็นงานประจำที่พนักงานของโรงงานนั้นจะต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่นักศึกษาไปทำให้ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ ใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ แล้วก็จบ เราเรียกงานแบบนี้ว่างานวิจัยหรือเปล่า?

หน้าที่หลักของภาควิชา คณะ และมหาวิทยาลัย คือ ผลิตบัณฑิตและมหาบัณทิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม ดังนั้นคุณค่าที่ออกไปจะต้องอยู่ในตัวบัณฑิตและมหาบัณฑิตเหล่านั้น และจะต้องให้พวกเขาได้รับรู้ในสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเขาด้วย ที่จริงแล้ว งานวิจัยในปริญญาโทเป็นกระบวนการสร้างคุณค่า (Value) ในตัวนักศึกษา ผ่านการทำวิจัย งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างคนในระดับปริญญาโท เพราะผลลัพธ์ออกมาจะมีอยู่ 2 สิ่ง คือ

1. ผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์ที่เป็นรูปเล่มเอกสาร ซึ่งอาจจะมีคนเอาไปพัฒนาต่อหรือไม่ หรือก็แค่เอาไว้เป็นตัวอย่างในการเขียน
2. มหาบัณฑิตที่เป็นบุคคลที่สร้างงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์นี้ ตรงนี้ต่างหากที่ผมสนใจ เพราะตัววิทยานิพนธ์นั้นเป็นแค่เอกสารไม่สามารถพัฒนาตัวเองต่อได้ แต่มหาบัณฑิตที่เป็นบุคคลต่างหากที่สามารถพัฒนาตัวเองไปในอนาคตโดยสามารถเอางานวิจัยอื่นๆ ของตัวเองหรือของคนอื่นๆ มาพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น มาถึงตรงนี้ท่านคงจะอ่านแนวความคิดผมออกนะครับว่า ที่จริงแล้วปริญญาโท คือ การเรียนรู้ถึงวิธีการเรียนรู้ (Learn How to Learn) ความรู้หรือหัวข้อวิทยานิพนธ์และหัวข้อวิจัยเป็นแค่พาหนะในการฝึกฝนระบบวิธีคิด บ่งชี้ปัญหา (Problem Identification) วิธีการนำเสนอ (Proposal) การเรียนรู้ของตัวนักศึกษาในการแก้ปัญหา (Problem Analysis) ในอนาคต เราเรียนเพื่อไปใช้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนที่เราได้เรียนมา ถ้าไม่รู้เรื่องใดก็ศึกษาเอาเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเรียนรู้ใหม่ด้วยการเรียนปริญญาโทอีกใบ เพราะปัญหาในชีวิตจริงต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คงจะรอคุณมาเรียนปริญญาโทอีกใบไม่ได้หรอกครับ นั่นแสดงว่าคุณล้มเหลวในการเรียนปริญญาโทที่ผ่านมา

การศึกษา “วิธีการเรียนรู้”
สิ่งที่นักศึกษาปริญญาโทเป็นกังวลมากที่สุด คือ การทำวิทยานิพนธ์ แต่อย่าลืมนะครับ การทำวิทยานิพนธ์นั้นคือสุดยอดของปริญญาโท เพราะมันเป็นกระบวนการ ตั้งแต่การกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหา ขอบเขต วิธีการแก้ปัญหา การดำเนินการทดลองหรือการแก้ปัญหา และสรุปผล นักศึกษาปริญญาโทที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ด้วยความคิดของตนเองทุกขั้นตอนจะได้รับประสบการณ์ของการเรียนรู้อย่างเต็มเปี่ยม เพราะในชีวิตจริงก็คงจะไม่แตกต่างไปอย่างที่ผมกล่าวสักเท่าไหร่ ที่แตกต่างก็คงจะเป็นขนาดและดีกรีของความยากของปัญหา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่านักศึกษาส่วนใหญ่ พยายามที่จะไม่ลงทุนลงแรงในส่วนนี้ คิดแค่ว่าจบง่าย จบไว (คือไม่ต้องการความยากลำบาก) ส่วนนักศึกษาที่ทำโครงงานหรือ IS ก็ดูจะสบายใจมากกว่า เพราะไม่ยากมากเหมือนการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) จบแน่ๆ บางครั้งก็มีสโลแกนที่ว่า “จ่ายครบ จบแน่” นี่หรือคือการศึกษาของเมืองไทย ที่ผมเปรียบเทียบว่าการศึกษาในระดับปริญญาโทว่าเป็นการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการการสร้างคุณค่าและกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับสังคมและธุรกิจ และสุดท้ายก็จะกลับมาสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ไม่ใช่ว่าก่อนเรียนและหลังปริญญาโท ก็เป็นเหมือนเดิม ทำงานเหมือนเดิม คิดเหมือนเดิม

อาจารย์ + นักศึกษา = ทีมงาน
ผมมองงานวิจัยหรืองานวิทยานิพนธ์ เป็นส่วนหนึ่งของงานของผม (อาจารย์) เองด้วย นักศึกษาที่ทำงานกับผมก็เป็นผู้ร่วมงาน (Partner) ที่ช่วยคิดช่วยทำงาน ตรงนี้แหละครับที่มีการถ่ายทอดความรู้ อาจารย์ที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการ ไม่ใช่ผู้ชี้เป็นชี้ตายแก่คุณว่า คุณจะสอบหัวข้อผ่านหรือไม่ หรือสอบป้องกันผ่านหรือไม่ นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ผลงานของคุณเองจะดีจะเลวก็รับไปด้วยกันทั้งคู่ (นักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา) ไม่ใช่ผลงานออกมาดี อาจารย์ที่ปรึกษาก็ขอรับความดีความชอบด้วย แต่ถ้าผลงานแย่ก็โทษนักศึกษาอย่างเดียว นี่คงจะไม่ถูกต้องนัก

สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบันในความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ก็คือ นักศึกษามาหาหัวข้อจากอาจารย์แล้วก็หายไปสักพัก (เพราะคิดไม่เป็น ไม่ได้ถูกสอนถูกฝึกมาให้คิด รอคนอื่นคิดให้) แล้วจึงกลับมาหาใหม่เพื่อให้อาจารย์ดูว่าจะเสนอได้หรือยัง มีการแก้ไขกันตามปกติ แล้วก็ดำเนินการเสนอหัวข้อไป พอผ่านหัวข้อก็ฉลองกันไป จากนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาจะไม่เห็นหัวและหางของนักศึกษาเหล่านั้นเลยเป็นเวลาอีกนานหลายเดือน ขอโทษบางคนหายไป 2 ปี จนอาจารย์จำแทบไม่ได้ว่านักศึกษาคนนี้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร บางคนก็เลิกเรียนไปเลย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ผมคิดว่ามันเป็นวงจรอุบาทว์ ผมก็ผิดหวังและเซ็งมากในการที่จะให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์สักเรื่อง ทั้งหมดนี้ไม่มีใครผิดหรอกครับ มันเป็นที่ระบบ คือ ระบบการศึกษาแบบไทยๆ ซึ่งทุกคนมีอิสระในความคิด ผมมีประสบการณ์ทำงานวิจัยใกล้ชิดกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาส กล่าวคือ เข้าไปทำงานเป็นลูกมือ คู่คิด เป็นผู้ช่วยในเรื่องงานวิจัยและงานสอนอื่นๆ รวมทั้งเรียนรู้แนวคิดของอาจารย์ ไม่ใช่ให้อาจารย์เป็นตรายางประทับว่า “ผ่าน” อย่างนี้ผมว่าไม่ใช่การศึกษาครับ

นั่นหมายความว่า นักศึกษาจะต้องให้เวลากับงานวิทยานิพนธ์อย่างเต็มที่ เต็มเวลา (ส่วนมากจะเกินเวลาเสียด้วยซ้ำ) สมัยที่ผมเรียนปริญญาเอก ผมพบหน้าอาจารย์ที่ปรึกษาทุกวันที่อาจารย์ไปทำงาน เพราะถูกจ้างให้ทำงานวิจัย ในเมืองไทยก็สามารถทำอย่างนั้นได้เช่นกัน ทุนวิจัยก็มีมาก อาจารย์หลายท่านหาทุนมาได้ ก็หานักศึกษาทำงานวิจัยสำเร็จไปตามสูตรที่ว่าก็มีอยู่มาก ไม่ใช่ไม่มี แต่ส่วนที่อาจารย์โดนหนักๆ ก็มี นักศึกษาเลิกทำกลางคัน (หักหลัง) ก็มี อาจารย์ก็รับผิดชอบชดใช้ทุนไป หรือไม่ก็หาคนอื่นมาทำ หรือก็บอกเจ้าของทุนคือว่ายังหาคนทำไม่ได้ ถ้าคิดให้ดีแล้วการทำงานวิจัยหรือการทำวิทยานิพนธ์ก็คือ การ Outsourcing ความคิดของอาจารย์ที่ปรึกษาไปให้นักศึกษาทำนั่นเอง เป็นความสัมพันธ์เชิงการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ในโซ่อุปทานความรู้ ทุกคนต้องเห็นประโยชน์ร่วมกัน แต่ถ้าเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนักศึกษาก็ตาม โซ่อุปทานความรู้นั้นคงจะมีการพัฒนาไปได้น้อยมาก

การศึกษา บางทีก็เหมือนเมาเหล้า
ผมไม่ได้เปรียบเทียบการศึกษาเป็นเรื่องการกินเหล้า เพราะผมก็ไม่ได้ดื่มเหล้ามานานแล้ว แต่เหล้าก็ยังคงอยู่ในสังคมของเราทุกชนชั้นทั่วโลก แถมเป็นธุรกิจที่ดีเสียด้วย ผมจึงมองการศึกษาเหมือนกับการเมาเหล้า คือ การมีความคิดที่ไม่ถูกต้องกับการศึกษา แล้วก็เสพอย่างไม่คิด ไม่มีสติ ตามแห่ไปเรียนไปศึกษาในบางเรื่องจนมากเกินไป ที่สำคัญเหมือนกับกระแสที่ต้องทำตามแฟชั่น เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด แต่ก็ยังไม่รู้ถึงแก่นของการศึกษา เพราะการศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องไปเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราวจนได้เป็นปริญญาโทอีกใบหนึ่ง (แต่ถ้าคุณทำได้ก็ดี) แล้วทำไมจะต้องมาเรียนปริญญาโทอีกใบหนึ่งด้วย? การมีปริญญาโทหลายๆ ใบก็ไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่าคุณเป็นคนมีความรู้ดีในหลายเรื่อง ผมกลับมองว่าคุณเป็นคนไม่ได้เรื่อง ต้องเรียนกันในระบบตลอดไปหรือ? วิธีการเรียนรู้มีอยู่มากมาย

ในสังคม เราให้ค่าของคนที่มีปริญญามากกว่าความรู้และประสบการณ์ที่เป็นผลงานของเขา เพราะปัจจุบันในบางครั้งใบปริญญาไม่สามารถบอกอะไรในตัวคนๆ หนึ่งได้ กว่าจะได้เรียนรู้ถึงคุณค่าและความสามารถของเขาว่าใช้ได้หรือไม่ เราก็เสียเวลาไปมากเกินไป ด้วยแรงกดดันของการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราต้องพบและติดต่อสื่อสารกับคนมากมายทั่วโลก ประวัติการศึกษาจึงเป็นข้อมูลหนึ่งในการประเมินบุคคลได้เช่นกัน แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะประวัติการศึกษามีอายุใช้งานเช่นกัน ยิ่งนานเท่าใดก็อาจจะล้าสมัยได้ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ตัวเองทันสมัยและมีคุณค่าอยู่ได้ตลอดเวลา เมื่อคนเราไม่สามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ก็ต้องหาอะไรสักอย่างมาเป็นหน้ากากให้กับตัวเองว่ามีความรู้และมีค่าต่อสังคม คุณค่าของคนอยู่ที่ผลของผลงาน ไม่ใช่ที่ปริญญาบัตร ถ้ามีปริญญาบัตรแล้ว คุณสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ก็จะยิ่งดี และทำให้มหาวิทยาลัยที่คุณจบมามีคุณค่ายิ่ง

การศึกษาให้เกิดความรู้มาจากกระบวนการตั้งคำถาม
จากประสบการณ์การสอนในเกือบทุกระดับชั้นของผู้ฟังในชั้นเรียนของผม ทำให้ผมมีแนวคิดในการสอนว่า การเรียนรู้คือการตั้งคำถาม ไม่ใช่มานั่งจด มาเก็บความรู้จากผู้สอนไป แล้วคุณจะกลายเป็นคนมีความรู้ ถ้าคิดอย่างนั้นคงจะไม่ได้ทำให้คุณสามารถแข่งขันได้หรอก เพราะทุกคนสามารถหาความรู้อย่างนั้นได้เหมือนกัน สามารถจ่ายเงินมาเรียนได้เหมือนกัน อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน สิ่งที่ทำให้คนเราแตกต่างไปจากคนอื่นหรือสามารถแข่งขันได้ อยู่ที่ความสามารถในการตั้งคำถาม (Ask) และสามารถคิด (Think) ได้ดีกว่า ดังนั้น หัวใจของปริญญาโทอยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ วิชาการที่เรียนมาในแต่ละสาขานั้นเป็นแค่ตัวประกอบในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสาขาไหนก็ตาม คุณก็จะได้เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้เหมือนกัน แต่อาจจะแตกต่างในรูปแบบไปบ้างตามสาขาวิชา แต่หลักการนั้นคงเดิม คือ การตั้งคำถามนั่นเอง หัวใจของการทำวิทยานิพนธ์ คือ การนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ กระบวนการนี้เป็นเสมือนการนำเสนอขายความคิดของตัวเอง คุณใส่ภาวะความเป็นผู้นำลงไปในปัญหาที่เกิดขึ้น หรือปัญหาอาจยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่คุณพยายามจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ให้ลองนึกถึงตอนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอโครงงาน การขายโครงงานต่างๆ ให้กับเจ้านายหรือลูกค้า แม้แต่ลูกน้องตัวเอง ล้วนเป็นกระบวนการที่สะท้อนมาจากการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ทั้งนั้น

นักศึกษาส่วนใหญ่มักไม่อยากคิด แต่จะให้อาจารย์คิดให้ หรือพยายามที่จะเลียนแบบจากของเก่าที่มีอยู่ เอาง่ายๆ เข้าว่า ผมได้อ่านหนังสือ “What were They Thinking?” ของ Jeffrey Pfeffer ซึ่งกล่าวไว้ว่า “การศึกษาไม่ใช่การเล่าเรื่องราวให้กับผู้คนในสิ่งที่พวกเขารู้เรื่องแล้ว หรือ ไม่ใช่การบอกกล่าวกับผู้คนถึงแนวคิดซึ่งพวกเขาคงจะต้องเห็นด้วยหรือต้องตกลงด้วยความจำเป็น การศึกษาจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการช่วยผู้คนให้เห็นกระจ่างแจ้งและมีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ด้วยหนทางหรือวิธีการที่แตกต่างกัน ทำให้พวกเขาสามารถตั้งคำถามในสมมติฐานและแนวคิดที่ไม่ได้ถูกตั้งคำถามมาก่อนหน้านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือพวกเขาให้คิด (Think) และ ถาม (Ask) เพื่อที่จะค้นพบพื้นฐานบางอย่างที่ซ่อนอยู่ภายใน” เรียนไปมากๆ แต่ไม่ได้คิดต่อ ก็ไม่มีประโยชน์

ปริญญาโทด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน คือ มายาภาพของความรู้
ที่กล่าวเป็นหัวเรื่องไว้นั้น ไม่ได้จะต่อต้านการเปิดการเรียนการสอนด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเลย แต่ผมอยากนำเสนออีกมุมมองหนึ่งไว้ว่า แก่นที่แท้ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นไม่ได้มีตัวตนให้จับต้องได้ แต่เป็นสถานะเชิงความคิด (Thinking State) มากว่า เพราะในอดีตก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน แต่เราก็ยังสามารถอธิบายหรือกล่างอ้างกิจกรรมหรือเหตุการณ์ในอดีตเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้เป็นอย่างดี และยังนำเอาเหตุการณ์ในอดีตมาเป็นกรณีศึกษาได้ด้วย ผมจึงพิจารณาว่าแก่นแท้ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีอยู่จริงและไม่ใช่มายา เพราะผมเคยเขียนบทความโต้กับหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกว่า “โซ่อุปทานเป็นมายา ลูกค้าคือของจริง” และลูกค้าก็คือส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานอยู่แล้ว ส่วนการสร้างกระแสและการให้ความสำคัญกับมันอย่างไม่มีความเข้าใจจนกลายเป็นมายาภาพของความรู้ จนเป็นเหมือนแฟชั่นที่ทุกคนต้องการจะมีไว้ประดับประดาให้ตัวเองดูดีหรือสามารถนำไปใช้ได้โดยที่มีแต่ความรู้ แต่ยังคิดไม่เป็น ยังใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่ได้ ในอนาคต สภาพกระแสความต้องการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอาจจะหมดไปหรืออาจจะแปรสภาพไปเป็นชื่ออื่นๆ ก็เป็นไปได้ แต่แก่นแท้ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นการสร้างสมดุลธุรกิจก็ยังคงอยู่ด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับลูกค้า

ในมุมมองผมนั้นถ้าจะเรียนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเป็นอีกปริญญาหนึ่งเลย หรือต้องไปหาเรียนปริญญาโทอีกหนึ่งใบ ด้วยพื้นฐานที่มีอยู่แล้วของสาขาวิชา MBA ด้าน Operations Management หรือด้านวิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองและความคิดใหม่แล้วเรียนเพิ่มอีกวิชาหนึ่งหรือสองวิชา ก็เพียงพอที่จะปรับฐานความคิดจากเดิมมาเป็นการคิดเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ แต่ถ้าเปลี่ยนแค่วิชาหนึ่งหรือสองวิชาก็คงจะไม่สามารถสร้างปริญญาโทใบใหม่ได้ ตลาดวิชาคงไม่ต้องการ เพราะผู้เรียนก็ต้องการความแตกต่างเช่นกัน ลองกลับไปดูความซ้ำซ้อนของสาขาวิชาในกลุ่มที่ผมกล่าวถึง กับวิชาในกลุ่มลอจิสติกส์และโซ่อุปทานตามมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้ คุณจะพบว่ามีความแตกต่างกันไม่มาก แต่อยู่กันคนละชื่อ นี่คือความสูญเปล่าอย่างหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นแค่มายาภาพที่สร้างกระแสความต้องการให้เกิดขึ้น ปัญหามีอยู่ว่า แล้วเราจะเปลี่ยนมายาภาพเหล่านี้ให้เป็นจริงและสื่อสารออกไปให้เป็นรูปธรรมได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเราเองต่างหากที่ไม่เข้าใจแก่นแท้ของการจัดการธุรกิจ แล้วก็สร้างภาพต่างๆ ขึ้นมาด้วยความไม่เข้าใจภาพที่สร้างขึ้นมาเหล่านั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว เรามีวุฒิภาวะมากเพียงพอที่จะเข้าใจความเป็นไปของสังคมโลกและเข้าใจตัวเอง และจัดการกับตัวเองได้ ไม่ใช่แห่ไปตามกระแสด้วยความไม่เข้าใจ แล้วใช้ประโยชน์จากมันไม่ได้เต็มที่ เพราะธุรกิจทุกวันนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในวงการซื้อขายเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อชีวิต สังคมและโลกของเรา

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง เขียน