วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คำถาม - Lean ความสูญเปล่ากับคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ

การทำ Lean คือการลดสิ่งที่ไม่ต้องการ ไม่เกิดคุณค่าลง แต่ Supply Chain ในอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นการเพิ่มคุณค่าลงไปในตัวสินค้า แต่มีลูกค้ากี่คนที่ต้องการแล้วทำให้ราคาสูงขึ้น เช่น อุปกรณ์ GPS เป็นต้น ขัดแย้งกันหรือไม่



ตอบ - เข้าใจถูกแล้วครับ ตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของแนวคิดแบบลีน เรื่องของลีนเป็นเรื่องของการลดความสูญเปล่า ไม่ใช่แค่ลดของเสีย แต่เป็นการลดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้น Supply Chain จะต้อง Lean ด้วยการกำจัดกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับลูกค้า ดังนั้นลูกค้าควรจะมีสิทธิ์เลือกเป็น Options ว่าจะเลือกหรือไม่เลือก ถึงจะเป็น Lean Supply Chain


คำถาม - Supply Chain เรื่อง แรงงาน

1.Supply Chain เรื่องของแรงงานที่จะร่วมกับอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว แรงงานจะมีผลกระทบอย่างไรกับคนที่ทำงานในไทย ที่เรื่องของภาษา เราควรเตรียมไว้อย่างไร (เพราะแรงงานสามารถย้ายทำงานได้ในแต่ละประเทศ)



ตอบ แน่นอนครับ แรงงานเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการธุรกิจ (Business Process) ที่เป็นจุดที่สร้างคุณค่าในโซ่อุปทานซึ่งประกอบไปด้วยกระบวนการผลิต (manufacturing) และกระบวนการลอจิสติกส์ (Logistics) กระทบโดยตรง เพราะว่าถ้าเกิดมีคนที่ดีกว่า ทำไมเราจะไม่ใช้แรงงานนั้นในการทำงาน ประเด็นของการจัดการนั้น น่าจะมองแรงงานที่ใช้ปัญญามากกว่า แรงงานที่ใช้แรงจริง เพราะว่าในอนาคตพวกแรงงานที่ใช้แรงจริงก็จะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติ ประเทศไทยเราดูแล้วไม่น่าจะย้ายแรงงานออกไปไหนนะ เพราะไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ไม่มีปัญญาพูด แค่ไม่ยากจะดิ้นรน แต่ในทางตรงกันข้ามก็จะมีแรงงานเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น ผมคิดว่าเข้าคงจะไม่ใช้ภาษาอังกฤษเหมือนคนไทยนั่นแหละ แต่พวกแรงงานที่เข้ามา พวกเขาจะพูดภาษาไทยกันเลยที่เดียว นี่คือ ความน่ากลัวที่เราไม่ค่อยจะนึกถึงกันเท่าไหร่นัก

Life : ความสุข – แค่เริ่มคิดก็สุขได้แล้ว

ความสุข คือ ความรู้สึกที่ทุกคนไฝ่หา มันตรงกันข้ามกับความทุกข์ที่ทุกคนไม่ต้องการ แต่ไฉนเลยเล่า ทุกครั้งที่ลืมตาขึ้นมาเราจึงพบแต่ควาทุกข์ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นวนเวียนไปมาบนโลกเรานี้ แล้วเราจะไปทุกข์หรือสุขกับมันได้อย่างไร ผมไม่อยากจะบอกว่าทุกข์หรือสุขนั้นอยู่ที่ใจ โธ่เอ๊ย! ใครก็รู้ รู้มาตั้งนานแล้ว แต่จะทำได้หรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อ่านหนังสือธรรมะมาก็หลายเล่ม เขาก็บอกต่อกันมาว่า ธรรมะ คือ ธรรมชาติ มีความสุขและความทุกข์ผสมกันไป ที่ใดมีรักก็ย่อมมีทุกข์ อ้าวทำไมล่ะ ถ้าความรักเป็นความสุขแล้ว ทำไมจะต้องทุกข์ด้วยล่ะ เออ! แล้วทำไมเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา คนหนึ่งทุกข์ แล้วคนหนึ่งไม่ทุกข์ร้อน แต่อีกคนหนึ่งสุขล่ะ นั่นมันอะไรกัน? จุดสมดุลของธรรมชาติมันอยู่ตรงไหนกัน? สัดส่วนระหว่างความทุกข์กับความสุขมันอยู่ตรงไหนกัน มันเท่ากันไหม แล้วทำไมถึงไม่เท่ากัน แล้วมันเป็นเท่าไหร่กันล่ะ


คนทั้งโลกก็มีความทุกข์และสุขไม่เท่ากัน มันสมดุลกันตรงไหน แล้วมันจะเปลี่ยนไปอีกไหม และมันจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน แล้วมันจะเปลี่ยนไปได้อย่างไร คำถามทั้งนั้นเลย ไม่เป็นไรหรอก ผมตั้งคำถามให้กับตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว ในบางครั้งขณะที่นั่งคิดอะไรๆ อยู่ (อย่างเป็นทุกข์) ทำไมหนอเราและคนอื่นๆ ถึงมีความทุกข์กันเช่นนี้ จนบางครั้งเราก็สามารถตรวจจับความสุขได้โดยง่ายเพราะว่ามันทุกข์ซะเยอะเลย อะไรที่แปลกปลอมไปจากความทุกข์ก็เลยกลายเป็นความสุขไปในทันทีอย่างสัมพัทธ์กัน (relatively)


ก็ไม่รู้สินะ ความสุขที่ว่านี้ มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับบริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นตัวกำหนด ความสุขไม่ได้มาจากวัตถุสิ่งของดีๆ มีราคาๆ ของดีๆ มีแบรนด์ดังๆ หรืออาหารในภัตตาคารหรูๆ บางครั้งอาหารเลวๆ ที่ค้างคืนที่แสนจะจืดชืดก็สามารถสร้างความสุขให้กับผู้ที่อดอยากและหิวโหยได้ แล้วภาพความสุขและทุกข์ที่เราเห็นนั้น คือ อะไรกันเล่า? มันเป็นมายาภาพของความรู้สึกที่เราคิดกันไปเองหรือไม่? ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นจึงไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจ บางครั้งทุกข์อยู่ก็สุขขึ้นมาเฉยๆ ในทางตรงกันข้ามสุขอยู่ดีๆ ก็ทุกข์ขึ้นมาเฉยเลย คงเคยได้ยินกันว่า หัวเราะทั้งน้ำตา เพราะว่าเสียงหัวเราะเป็นเครื่องหมายแห่งความสุข ในขณะเดียวกันน้ำตาก็เป็นตัวแทนของความทุกข์ แล้วทำไมมันถึงได้เกิดขึ้นพร้อมกันได้ นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า สิ่งที่เราเห็นนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราคิดเสมอไปก็ได้


แล้วทำไมเราถึงสุขและทุกข์ได้เล่า บางคนบอกว่า มันมีสุขและทุกข์ทางกาย และมีสุขและทุกข์ทางใจ ถ้าใจนั้นเข้มแข็งพอ ก็สามารถที่อยู่เหนือความทุกข์และสุขทางกายได้ เหมือนกับที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า กายกับใจนั้นประสานกัน จนใจนั้นอยู่เหนือกาย หรือ ใจนั้นควบคุมกายได้ เรื่องความสุขนั้นเป็นศาสตร์ของใจ ไม่ใช่ศาสตร์ของกายอย่างแน่นอน ความคิดอ่านของจิตใจคนก็จะเป็นตัวกำหนดความทุกข์และความสุขของแต่ละคน แต่ปัญหาก็ คือ ตัวเราไม่ได้เป็นนายของใจเรา หรือว่าผมพูดไม่ถูก เราตกเป็นทาสของใจเราหรือเราควบคุมใจของเราไม่ได้ ทุกข์ทางกายจึงเกิดขึ้น เออ! แล้วทำไมใจเราถึงได้แต่นำพาเราและเพื่อนพี่น้องของเราไปสู่ความทุกข์เสียส่วนใหญ่ ทำไมเราจึงไม่มีสังคมในอุดมคติที่ทุกคนมีแต่ความสุข ดูเหมือนสังคมโลกที่ประกอบไปด้วยมนุษย์โลกจะไม่ค่อยมีความสมดุลทางใจกัน มีแต่จะเพิ่มระดับและความซับซ้อนของใจที่ทำให้เกิดทุกข์กับตัวเองและสังคม


ดังนั้นเราจะต้องหาวิธีที่จะจัดการกับความสุข โดยการจัดการใจของตัวเองให้เกิดความสุข แค่เริ่มคิดคุณก็เกิดความสุขขึ้นแล้วใช่ไหม เพราะว่าในขณะที่คุณคิดถึงความสุขอยู่นั้น คุณก็ลืมไปว่าคุณนั้นกำลังมีความทุกข์อยู่ พูดไปพูดมา คล้ายๆ กับว่า ชีวิตทางใจของมนุษย์นั้นเป็นการแย่งชิงพื้นที่ทางใจกันระหว่างความทุกข์กับความสุข ซึ่งส่วนมากแล้ว ความทุกข์จะรุกคืบกินพื้นที่ทางใจของมนุษย์เสียมากกว่า ความทุกข์ในโลกมนุษย์จึงมีอยู่มากมายและมากยิ่งขึ้นอีก จนยังไม่เห็นจุดที่จะหยุดหรือจุดที่จะสมดุลกันได้เลย


ทำไมหนอจิตใจคนเราถึงได้อ่อนแอเช่นนี้เล่า ที่จริงแล้วที่ผมเล่าให้ฟังมานี่ เอาแค่เปลือกบางๆ ของความคิดที่เป็นแก่นแท้ของความจริงแห่งชีวิตมาเล่านให้ฟังเท่าที่พอเข้าใจแบบตื้นๆ ก่อน ผมจะพยายามที่จะไม่พูดถึงศาสนามากนัก พยายามที่จะเป็นวิทยาศาสตร์บ้าง แต่ทั้งหมดที่ผมเล่ามาก็มาจากศาสนาพุทธทั้งนั้น เพราะว่าในศาสนาพุทธนั้นมีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่เต็มทีเดียว ธรรมะในศาสนาพุทธทำให้เราสังเกตุตัวเอง สังเกตุความคิดตัวเอง เอาล่ะไม่พูดถึงศาสนามากนัก เดี๋ยวจะเบื่อกันไปอีก แต่จริงแล้วไม่น่าเบื่อนะครับ สนุกดีออกต้องลองอ่านดูเองครับ!


แต่ทุกศาสนาก็ปรารถนาให้ทุกคนมีความสุขเช่นกัน แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะให้ใจเราเป็นสุขนะครับ ไม่ใช่เฉพาะกายเราที่เป็นสุขเท่านั้น ไม่ใช่ว่ากายสุขเสียก่อนแล้วใจค่อยเป็นสุข ไม่จำเป็น ใจที่เป็นสุขก็สามารถทำให้กายเป็นสุขได้ หลายครั้งเราได้ยินว่ากำลังใจหรือใจที่เข้มแข็งสบายเป็นสุขไม่เป็นทุกข์ตามโรคภัยที่เกิดขึ้นกับตัวก็สามารถทำให้โรคร้ายนั้นบรรเทาลงได้ เราทุกคนเป็นสุขโดยรวมได้ สังคมและโลกก็เป็นสุขได้


จากแค่คิดก็เป็นสุขได้แล้ว เราก็ต้องแปรสภาพความคิดหรือใจให้เข้มแข็งขึ้น ผ่านการฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็ง ผ่านการภาวนาหรือการทำสมาธิ หรือสิ่งอื่นๆ ที่เสริมสร้างใจและกำลังใจให้เข้มแข็ง คงไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นมาแล้วจะแกร่งหรือแข็งแรงได้เอง แต่จะต้องผ่านการฝึกฝนและผ่านความอดทนต่างๆ มาก่อนทั้งสิ้น ดังนั้นกว่าจะได้มาซึ่งความสุขที่ยั่งยืนนั้นก็ไม่ง่ายนัก เพราะว่าความเป็นพลวัตของสิ่งแวดล้อมที่เป็นความทุกข์ต่างพยายามที่จะรุกคืบเข้ามาชิงพื้นที่ของใจเราอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมใจคนเราถึงพ่ายแพ้ต่อความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เราคงจะต้องค้นหาต่อไป


จากประเด็นที่เราพยายามหาคำตอบให้กับเหตุผลของการมีชีวิตอยู่และชีวิต คือ อะไร ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงปรัชญา แต่ที่แน่ๆ ความสุขย่อมเกิดจากการคิดดี ส่วนความทุกข์นั้น ถ้าเป็นทางกายก็อาจจะเกิดจาการคิดไม่ดีและผลกระทบต่อเนื่องที่ไม่ได้คาดคิด (Unintended Consequence) ที่มาจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดจากการคิดดีและคิดไม่ดีรวมกัน ที่สุดแล้ว ถ้าคิดได้ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ยากมากๆ ถ้าคิดไม่ตก ใจก็ไม่สงบและสุข คงไม่มีอะไรได้มาโดยง่ายเป็นแน่ และปัญหาก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ทีท่าว่าจะหยุด แล้วเราจะแสวงหาความสุขได้อย่างไร หรือจะหยุดความทุกข์โดยการแปรเปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นความสุข หรือที่จริงแล้วทุกคนเองก็มีผลรวมความทุกข์และความสุขในปริมาณเท่าๆ กัน เหมือนหยินและหยาง เพียงแต่ว่าความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนระหว่างความทุกข์และสุขของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน แล้วเราจะสามารถฝึกใจเราให้สามารถปรับเปลี่ยนจากความทุกข์มาเป็นความสุขได้อยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งก็ คือ ความสามารถของจิตใจของเรานั่นเอง

Social : การศึกษา-มุมมองของการใช้ชีวิต

มีคนมาเล่าให้ฟังถึงกลุ่มคนทางการเมืองและดาราบางท่านที่ให้ข้อคิดเห็นเรื่องการศึกษาของประชาชนที่เกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง กลุ่มคนกลุ่มนี้พยายามจะบอกว่า คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือไม่สมควรมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง จนมีการกล่าวว่า... ถ้ากุลีมีสิทธิเท่าบัณฑิต บัณฑิตจะลงทุนเรียนกันไปทำไมไม่ทราบครับ... การที่อนุญาตให้คนที่ไม่เรียนมีสิทธิเท่าเทียมคนที่เรียน เป็นกติกาสากลสำหรับประเทศที่ระดับการศึกษาเฉลี่ยสูงถึงขั้นปลอดภัยแล้ว... เมื่อการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ใครไม่ยอมเรียนก็ต้องถือว่าผู้นั้นละเลยสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็แปลว่าบกพร่องในหน้าที่ซึ่งโยงกับบางสิทธิ... อ่านแล้วก็ตกใจนิดหน่อย ผมเห็นด้วยในเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน และผมสนับสนุนทุกอย่างทุกประเด็นที่จะให้คนเรียนหนังสือ แต่เมื่อเรียนแล้ว สำหรับผู้ที่จบการศึกษาออกมาก็ไม่ได้ประกันว่าจะดีกว่าคนที่ไม่มีการศึกษาเลย โจรที่มีปริญญาก็เยอะ ปริญญาโทก็มีอีกมาก ผมมองว่า อย่าเอาประเด็นเรื่องการศึกษาหรือการเรียนที่มีใบรับรองมาเป็นประเด็นในการกีดกันในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในการใช้สิทธิเลือกตั้ง


เราเองต้องยอมรับว่า ถึงแม้ว่าประเทศเราจะมีโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่บทพิสูจน์เลยว่า สังคมจะดีขึ้น หรือคนมีคุณภาพขึ้น ประเทศไทยเราเองก็ไม่ได้มีระดับการศึกษาเฉลี่ยสูงถึงขั้นปลอดภัยอย่างที่ว่านั้น ในขณะเดียวกันมันก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนที่ไม่ได้เรียนนั้นจะเป็นคนที่ไม่มีความคิดอ่านอะไรเลย ซึ่งก็ไม่จริงเสมอไป เพราะว่าเราไม่เรียนมาเพื่อใช้สิทธิในการเลือกตั้ง แต่เราเรียนมาเพื่อใช้ชีวิตให้อยู่รอด ให้ตัวเองอยู่รอด ให้ครอบครัวอยู่รอด และให้สังคมรอบข้างอยู่รอด แล้วทำไมสังคมในอดีตหรือคนในอดีตที่ยังไม่มีการศึกษามากนัก สามารถใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้อย่างลงตัวและกลมกลืนกัน โดยที่ไม่ต้องมีการศึกษาในระบบเหมือนอย่างปัจจุบัน


แล้วเราจะมีการศึกษาไปทำไมกัน? เรามีการศึกษาหรือการเรียนรู้จากโรงเรียนในระบบก็เพื่อนำเอาความรู้หรือประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิต ถ้าเรารู้จักการใช้ชีวิต แต่ถ้าไม่รู้จักการใช้ชีวิต ถึงเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อเรียนมาแล้วก็น่าจะต่อยอดได้ดีกว่า ไม่ต้องไปทดลองซ้ำ ไม่ต้องเดินทางผิดหรือผิดซ้ำเหมือนคนในอดีตก่อนหน้านี้ เรียนแล้วต้องต่อยอดออกไป เมื่อเรียนออกมาแล้ว ทุกคนในสังคมที่มีการศึกษาในระดับเดียวกันก็จะคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันได้ในการพัฒนาสังคมร่วมกันมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในทางตรงกันข้าม คนทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเรียนรู้เองได้ เรียนนอกระบบ เรียนจากประสบการณ์ เรียนจากการทดลองทำ ลองผิดลองถูก ทั้งนี้ก็ขึ้นกับต้นทุนการเรียนรู้หรือการใช้ชีวิตของแต่ละคน ทุกเวลาทุกนาทีของการใช้ชีวิตของเราคือ การเรียนรู้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเราจะมีสติและคิดได้หรือไม่


บังเอิญผมไม่ค่อยได้ศรัทธาหรือมีความเชื่อในระบบการศึกษาเท่าไหร่นัก แต่ก็สนับสนุนเสมอ ปัญหามันอยู่ที่ความเข้าใจในปรัชญาการศึกษาของผู้บริหารการศึกษาของประเทศตลอดจนครูหรืออาจารย์ที่ทำการสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพราะว่าการศึกษาของเรานั้นมันล้มเหลวจริงๆ มันล้มเหลวก็ตรงที่ผู้จบการศึกษานั้นหยุดการศึกษาเมื่อจบการศึกษา ที่จริงแล้วคนเราซึ่งเรียนจบแล้ว ก็ควรจะเริ่มต้นการศึกษา (ชีวิต) หรือการใช้ชีวิตอย่างมีการศึกษาไปตลอดชีวิต ผมเองไม่เชื่อว่าการศึกษาอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ได้หรือเป็นคนดีได้ ก็ลองดูสิครับ ถ้าท่านไม่เรียนรู้เรื่องราวต่างๆรอบตัวท่านตลอดเวลา ท่านจะอยู่รอดหรือไม่ ถ้าท่านต่อต้านคนที่ไม่มีการศึกษาไม่ให้มาเลือกตั้ง แล้วคนที่มีการศึกษาทั้งหลายในภาครัฐและภาคการเมืองเหล่านั้นเล่า พวกเขากำลังทำอะไรกันอยู่ พวกเขามีคุณค่าสูงคนชั้นต่ำที่ไม่มีการศึกษาหรือไม่ การดูคนหรือการประเมินคุณค่าของคนนั้น เราไม่ควรที่จะดูที่การศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราก็อาจจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคัดกรองคนที่เราต้องการใช้งานได้


ผมจึงมองการศึกษาเป็นการฝึกฝนในการเรียนรู้ เพื่อว่าต่อไปเมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้เรียนรู้เป็น เอาตัวรอดได้ พัฒนาตัวเองและสังคมได้ ไม่ใช่แค่การใช้ความรู้ที่เรียนในโรงเรียนไปทำมาหากิน เพราะความรู้ที่เรียนอาจจะล้าสมัยไปแล้ว ใครสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วก็จะได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เรียนรู้หรือไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้


ปกติเราก็ใช้ปริญญาหรือการศึกษาเป็นการสื่อสารกันในสังคมเพื่อการประเมินความสามารถหรือในการคัดกรองคนเข้ามาทำงานอยู่แล้ว แต่เมื่อเวลาลงไปทำงานจริงแล้ว เขาหรือเธออาจจะไม่สามารถทำงานได้ ถึงแม้ว่าจะจบการศึกษาหรือมีปริญญามา


ลองคิดดูนะครับ เวลาที่เราพูดว่า คนมีการศึกษานั้นหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า เป็นคนมีความรู้เท่าที่เรียนมา หรือหมายความว่า เป็นคนที่สามารถศึกษาหาความรู้ใหม่ได้ตลอดเวลา

Thinking - สิ่งที่ซ่อนเร้นที่อยู่ใน"ตัวอย่าง"

ดูจากหนังอีกแล้วครับท่านก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม Flashpoint พอดีมีเรื่องราวอยู่ตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับการสอนงานระหว่างการปฏิบัติงานของตำรวจมือใหม่กับตำรวจพี่เลี้ยงที่ผ่านงานมาอย่างโชกโชน หลังงานนั้นตำรวจมือใหม่ทำงานจนเป็นมือเก๋าคนหนึ่งในวงการตำรวจ จนมีการกล่าวถึงตำรวจรุ่นพี่ที่เป็นพี่เลี้ยงให้ว่าตำรวจรุ่นพี่คนนี้เป็นคนสอนทุกอย่างที่ทำให้เขาเป็นตำรวจที่ดีได้ ตำรวจรุ่นพี่คนนี้เป็น “ตัวอย่าง” ที่ดีสำหรับตำรวจผู้นี้ ผมก็เลยจับใจความสำคัญของคำว่า “ตัวอย่าง” มาพูดให้ฟัง


เราใช้คำว่า “ตัวอย่าง”อยู่หลายครั้งในหลายๆ โอกาส บางครั้งเราจะได้ยินคำว่า เรียนรู้จากตัวอย่าง (Learning by Example) ทำอะไรก็ตาม มักจะมีตัวอย่างให้เห็นหรือให้เรียนรู้หรือสามารถทำตามได้ แล้วตัวอย่างนั้นมีไว้เพื่ออะไร หลายๆ คนคงจะคิดว่า ตัวอย่างมีไว้เพื่อให้ทำตามหรือปฏิบัติตาม ใช่ครับ ในหลายๆ กรณี ตัวอย่างมีไว้ให้ทำตามหรือดำเนินงานตาม เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ถูกต้องเลยครับ นั่นเป็นตัวอย่างเพื่อการปฏิบัติหรือการกระทำ เราจึงต้องทำเป็นตัวอย่างไว้ หรือจำไว้เป็นตัวอย่าง เมื่อมีโอกาสหรือเผชิญหน้าแล้วจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง


ส่วนตัวอย่างอื่นๆ เช่นตัวอย่างของการนำทฤษฎีมาใช้ ตัวอย่างของการประยุกต์ต่างๆ ตัวอย่างของการนำความรู้มาใช้ เมื่อมาถึงประเด็นนี้ เราคงไม่ได้แค่รับรู้หรือมองเห็นแค่การปฏิบัติหรือการกระทำเท่านั้น และคงจะไม่ใช่แค่การกระทำ แต่เป็นกระบวนการการคิดก่อนที่จะกระทำหรือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดเป็นความเข้าใจ ซึ่งควรจะเป็นตัวอย่างความคิดที่นำไปสู่ความสำเร็จ เราคงจะได้เคยเห็นเรื่องราวและประสบการณ์ของบุคคลที่ประสบความสำเร็จต่างๆ เราคงจะไม่ได้นำเอาประสบการณ์ในการปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตของเขามาปฏิบัติตามโดยไม่ได้คิดอะไรเสียก่อน แต่เราควรจะนำเอาหลักคิดของเขามาประยุกต์ใช้กับชีวิตของเรามากกว่า นั่นเป็นตัวอย่างของความคิดที่นำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิบัติงาน เรามองเห็นความสำเร็จของเพื่อนเราหรือของคู่แข่งขัน เราจะนำเอาการปฏิบัติของพวกเขามาเป็นตัวอย่างได้อย่างไร เราก็คงจะต้องนำเอาความคิดของเขามาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ เราก็คงจะต้องอ่านและวิเคราะห์หลักคิดของบุคคลตัวอย่างของเราให้ออก หรือเมื่อเรามีตัวอย่างของเรื่องราวที่ประสบผลสำเร็จต่าง เราจะมองเห็นหลักคิดที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างไร

เช่นเดียวกัน แม้แต่ตัวอย่างง่ายๆ ที่เป็นเรื่องปฏิบัติที่เราต้องปฏิบัติตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่จะต้องทำตามเป็นขั้นตอนตามที่กำหนดมา เราก็ควรที่จะรู้ถึงว่าสิ่งที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นั้น มีหลักคิดหรือหลักการอะไรที่อยู่เบื้องหลังบ้าง เพราะว่าถ้าเราได้ตัวอย่างที่เป็นหลักการหรือหลักคิดได้ และเราเข้าใจในเรื่องราวที่จะนำไปใช้แล้ว เราก็จะได้หลักคิดนั้นไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ลองดูสิครับว่า วันนี้เรามีตัวอย่างที่ดีอะไรบ้าง ตัวอย่างที่ดีสำหรับคนใกล้ตัว พ่อแม่ หรือครูอาจารย์ บางครั้งเราไม่อาจที่จะทำได้อย่างท่านหรือดำเนินชีวิตได้อย่างท่าน แต่หลักคิดในการดำรงชีวิตก็สามารถนำมาใช้ในชีวติเราได้ ถึงแม้ว่าชีวิตของเราแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน สามีภรรยาหรือคู่ชีวิตก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กันและกันได้ สามารถเติมเต็มให้และกันได้ เพื่อนฝูงไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องก็สามารถเป็นตัวอย่างให้กันและกันได้เช่นกัน เมื่อเราสามารถแบ่งปันความคิดกันได้เช่นนี้แล้ว ผมว่าสังคมเราก็จะพัฒนาขึ้นอีกเยอะเลย เพราะว่าความคิดที่ดีได้ถูกส่งต่อกันออกไป ต่อยอดกันออกไปในทุกระดับชั้นของความสัมพันธ์ในสังคม โลกเราก็คงจะดีกว่านี้แน่

Thinking – โครงสร้างความคิดของสังคม

ดูหนังอีกแล้วครับ ผมพักผ่อนด้วยการดูหนัง Series แล้วก็พวกหนัง DVD อะไรต่างๆ ทำนองนั้น ยังมีสารคดีดีๆ อีกมากครับ ผมว่ามันมีเนื้อหาที่ดีในการพัฒนาความคิดอีกด้วย หลายเรื่องสอดแทรกความคิดให้กับคนดูที่เป็นสมาชิกของสังคม ถ้าคนดูในสังคมนั้นคิดเป็น ก็ดีไป และจะดียิ่งขึ้นถ้าเรารู้จักที่จะใช้แนวคิดนั้นให้เป็นประโยชน์ พอดีในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ ประเทศเราประสบปัญหามากมาย แล้วเราก็มาสรุปได้ตรงที่ระบบคิดของคนไทยเรามีปัญหา และกำลังมีปัญหามากขึ้นเรื่อย ผมอ่านหนังสือหลายเล่ม อ่านบทความหลายบทความ รวมทั้งคุยกับคนอีกหลายๆ คน ผมก็ว่า ความคิดของคนไทยนั้นอีกหลายคนยังเฉียบคมอยู่มาก แต่ทำไมในภาพรวมแล้วยังไม่ได้ไปไหนกันเสียเท่าไรนัก ความคิดของคนๆ เดียวก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ มันจะต้องมีกระบวนการอะไรสักอย่างในการเปลี่ยนแปลง คงต้องปฏิวัติความคิดของคนไทย


สุดท้ายเราก็มาโทษกันที่ระบบการศึกษา อย่าว่ากันอย่างนั้นเลยครับ จะให้หน่วยงานการศึกษารับไปแต่เพียงอย่างเดียวผมว่าก็ไม่ถูกเท่าไรนัก ผมนั้นพยายามที่จะไม่ใส่ตัวเองเข้าไปในการศึกษาในระบบหรือ Academic System มากนัก ผมว่าไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ ผมไม่ได้ว่ามันล้มเหลวอะไรหรอกครับ ผมว่ามันมีข้อจำกัดอยู่หรือระบบการศึกษาทำได้แค่นั้นจริงๆ การศึกษาที่ผ่านมานั้นล้มเหลวจริงหรือ? ผมว่าก็ไม่ทั้งหมดหรอกครับ ทั้งๆ ที่ผมเองก็ต่อต้านการศึกษาในระบบปัจจุบันอยู่นะครับ ตัวผมเองก็เป็นผลพวงจากการศึกษาที่ผ่านมาในอดีต แล้วยังไง ผมก็พอที่จะคิดได้บ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเลิศนัก


ผมกลับคิดว่า สังคมต่างหากที่ต้องรับผิดชอบในการเรียนรู้ตลอดชีวิต สังคมต่างหากที่เป็นคนที่บอกว่า ให้เอาสิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียนเก็บไว้ สังคมบอกว่ามาเรียนของจริงจากพี่ดีกว่า มาเรียนจากประสบการณ์ชีวิตดีกว่า สังคมต่างหากที่พยายามลดความสำคัญของการเรียนรู้ในระบบแล้วนำมาใช้ในชีวิตจริง สังคมต่างหากที่ทำลายระบบการศึกษาไป ทั้งๆ ที่เด็กนักศึกษาได้รับการเรียนรู้อย่างเป็นระบบมาและพร้อมที่จะนำความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตการทำงานในประจำวัน แต่พอมาทำงานกลับไม่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง กลับไปยึดติดกับระบบศักดินาในการทำงาน ยึดติดกับตำแหน่งและการได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่การงานเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ได้เน้นที่ระบบการเรียนรู้ การเรียนจึงเป็นการเรียนเพื่อใบปริญญาเพื่อปรับวุฒิการศึกษาในการนำไปต่อรองเงินเดือนหรือเพื่อเลื่อนขั้น นั่นเป็นสิ่งที่สังคมได้สอนนักเรียนหรือนักศึกษาของเราหลังจากจบการศึกษาจากระบบโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย


เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจึงไม่แปลกใจนัก ที่ไม่เพียงแต่เด็กของเราจะไม่ความคิดแล้ว ผู้ใหญ่ของเราในสังคมก็กลับคิดไม่เป็นเหมือนกัน สมน้ำหน้าสังคมไทยที่มีแต่เปลือกของความรู้ ยังไม่เคยเรียนรู้อะไรให้ถึงแก่นกันเลย เพราะว่าคิดไม่เป็น ระหว่างใช้ชีวิตในการทำงานไม่ได้มีโอกาสในการคิด เพราะอะไรล่ะครับ เจ้านายเองคิดไม่เป็นเลย นับประสาอะไรกับลูกน้องที่จะคิดได้ คิดเกินหน้าลูกพี่ก็หมดอนาคตสิ จริงไหม หรือว่าไม่จริงครับ ในขณะเดียวกันทั้งเจ้านายลูกน้องก็ช่วยกันที่จะแต่งตัวทาสีให้เปลือกของตัวว่าเป็นคนมีความรู้ด้วยวุฒิการศึกษาทั้งหลายที่ถูกอุปโหลกและสร้างภาพกันขึ้นมาโดยสถาบันการศึกษาทั้งหลายทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก มิน่าเล่า ใครเล่าเรื่องอะไรกรอกหู คนไทยเราก็เชื่อกันไปหมด ใครทำอะไร ผมก็ทำกันตามกันไป โดยที่ไม่ได้รู้เลยว่า ที่ทำไปนั้นเป็นเพราะเหตุใด เสียดายเวลาออกอากาศของช่อง 9 ที่พยายามทำให้เกิดเป็นสังคมอุดมปัญญา แต่ผมรู้สึกว่าสังคมไทยนั้นไม่ค่อยจะอุดมปัญญาสักเท่าไหร่นัก

เราทำตามแห่และทำตามกันเป็นแฟชั่นกันเสียส่วนใหญ่ เราคิดกันไม่ค่อยเป็นและหาเหตุผลกันไม่ค่อยเป็น ตัวอย่างเช่น เวลาฝนตกหนัก แน่นอนครับมองถนนไม่ค่อยเห็น รถหลายๆ คนเปิดไฟฉุกเฉินเป็นไฟเลี้ยวกระพริบสองข้างซ้ายขวา นั่นผิดนะครับ อันตราย เพราะว่าจะใช้ก็ต่อเมื่อรถจอดข้างทาง ไม่ใช้เมื่อขณะรถวิ่ง ในกรณีเดียวกันนี้ รถที่วิ่งผ่านสี่แยกเล็กๆ ที่ไม่สัญญาณไฟ รถหลายๆ คนชอบเปิดไฟฉุกเฉินเป็นไฟเลี้ยวกระพริบสองข้างซ้ายขวา เพื่อเป็นการบอกรถคันอื่นๆ ว่า จะตรงไป ซึ่งผิดหลักเช่นกัน อันตรายเช่นกัน ผมว่าพวกเราทำตามๆ กันโดยไม่ได้คิด หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ไม่ได้ทำอะไร นี่แหละความเป็นไทย น่าภูมิใจไหมครับ


ผมว่าทุกวันนี้เรามีกรณีตัวอย่างต่างๆ มากมายที่แสดงถึงระบบความคิดของคนไทยและสังคมไทย ซึ่งยิ่งวันยิ่งหนักเข้าไปทุกที เพราะการสื่อสารยิ่งรวดเร็วมากเท่าไหร่ และถ้ายิ่งมีระบบคิดน้อยอย่างที่เป็นอยู่ เราก็จะกลายเป็นสังคมแห่งคนที่เชื่ออะไรง่าย สังคมคนหูเบา สังคมที่มีแต่คนที่ไม่คิดและคิดไม่เป็น คนไม่คิดนี้ไม่เท่าไหร่ แต่คนที่คิดไม่เป็นและพยายามคิด คนพวกนี้อันตรายต่อสังคมครับ แต่ก็แปลกที่ทั้งๆ เราเป็นสังคมคนพุทธที่มีวัดวามากมาย มีพระอยู่ทุกหนแห่ง แต่เราก็ไม่เคยนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนไม่ให้เราเชื่ออะไรง่าย สอนให้เราใช้ปัญญาให้มากๆ แล้วเราจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมเรากันอย่างไรดีล่ะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Life ความรักในมุมมองของผม

ผมเขียนเรื่องที่ดูเครียดๆ มาพอสมควรแล้ว ผมเขียนเรื่องสวยงามก็ได้นะครับ ผมว่าเรื่องความรักนี้ ทุกคนรู้จัก ถึงแม้ว่า จะไม่รู้จักมากนัก แต่ก็สามารถสัมผัสได้ ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ความรักมีอยู่ในทุกช่วงอายุและทุกชนชั้น รวมทั้งคนที่ดีและคนเลวก็ไม่เว้น เอ๊ะ! แล้วความรักนี้เป็นเรื่องราวของคนดีหรือเปล่า? ผมคิดว่าในกลุ่มคนชั่วก็มีความรักได้ ก็ดูโจรสิครับก็ยังมีลูกมีเมียได้เลยครับ คนชั่วก็มีความรักได้ครับ ที่จริงแล้วผมก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นกันอย่างไรดี แต่รู้ว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราด้วยนะครับ ความรักย่อมเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคนเรา ถ้าเรารู้สึกได้ก็แสดงว่าจะต้องมีการรรับรู้ถึงข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เรารู้สึกดี ที่ได้รักและที่ถูกรัก


แล้วความรัก คืออะไร? ว่าไปแล้วก็เข้าทางครับ ไปตรงกับชื่อเพลงของใครอีกหลายคนๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยหรือเพลงฝรั่ง แต่บอกไว้ก่อนนะครับ นี่ไม่ใช่คำนิยามทั่วไปนะครับ จะถูกผิดไม่รู้แต่เป็นมุมมองของประสบการณ์ความรักของผมเอง นั่นแน่! ดู Romantic มากเลย ที่จริงแล้วผมเองพยายามจะนิยามความรักออกมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในความรักมากขึ้น จะได้รักให้เป็น จะได้ไม่เจ็บตัวมากนัก เพราะยิ่งวัน ความรักก็ยิ่งซับซ้อนขึ้น จากรักพ่อ รักแม่ รักพี่น้อง รักเพื่อน รักแฟน รักสามีภรรยา รักประเทศชาติ และมีรักอีกมากมาย พอมีลูก เราก็ต้องรักลูก ถ้ามีหลานเราก็ต้องรักหลานอีก สุดท้ายก็ต้องรักประเทศ นี่ยิ่งซับซ้อนและงงกันมากๆ เลย โอ้โห! อีกมากมายเหลือเกินครับ โลกเราเต็มไปด้วยความรักครับ


ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้ว ทำไมเราต้องเกลียดกันด้วย แล้วทะเลาะกันด้วยล่ะ ทำไมเพื่อนจึงทะเลาะเลิกคบกัน ทำไมพ่อแม่จึงผิดหวังในตัวลูก เมื่อลูกแสดงอาการไม่รักพ่อรักแม่ หรือเมื่อความรักระหว่างคู่รักจืดจางออกไปเหมือนดาราหลายคู่ที่ออกมาประกาศเลิกทางกัน แล้วทำไมประเทศเราถึงต้องแบ่งแยกเป็นสีเป็นกลุ่มด้วยเล่า รักกันไม่เป็นหรือ? ที่จริงแล้วสังคมที่ไม่ใช่อุดมคติก็ประกอบไปด้วยทั้งความรักและความเกลียดประสมปนเปกันไปในโลกแห่งนี้ เพียงแต่เราจะประคับประคองตัวเราเองได้ไกลแค่ไหน รักษาและธำรงความสมดุลในความรักนี้ได้แค่ไหน ผมเองมองที่ความสมดุลเพราะมัน คือ ธรรมชาติ ความรักจึงเหมือนการปรับตัวเข้าหากันด้วยความลงตัวเพื่อประโยชน์ของความเป็นมนุษย์ แล้วแต่ว่าจะเป็นผู้รักหรือผู้ที่ถูกรัก หรือทั้งคู่เลย
ความรักไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดเฉพาะคนสองคน จะเกิดกับคนกี่คนก็ได้ เป็นหมู่คณะ หรือแม้กระทั่งคนเดียวก็ได้ แบบว่า รักเขาข้างเดียวไง เคยเป็นไหม? ก็ต้องมีบ้างล่ะน่า นั่นก็เป็นความรัก ที่สุดของศาสนาศริสต์ ก็คือ ความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์โลก ที่เขียนมาเยอะๆ นี่นะ ก็เป็นการเก็บข้อมูลของมุมมองของผมเอง ผมไม่อยากจะให้เครียดมากนัก แต่ก็อยากให้เห็นมุมคิดเล็กของผม เอาไว้แบ่งปันกัน พอฟังได้ก็ฟังไป ไม่ได้เรื่องก็แนะนำมาได้ครับ


ความรักเป็นเรื่องคนหรือสิ่งมีชีวิตที่ตัดสินใจได้ มีความรู้สึกนึกคิดได้ แต่ในหลายๆ ครั้งในบทเพลงหรือบทกวีเรามักจะได้ยินว่า ท้องฟ้าโอบกอดภูเขาแผ่นดินและทะเล ธรรมชาติเขารักกันอย่างลงตัว แต่ในบางขณะหรือบางจังหวะของวัฏจักรธรรมชาติ ฟ้าก็พิโรธ ทำลายแม่น้ำ ทะเลและขุนเขา และแล้วธรรมชาติที่สดใสและลงตัวก็กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้งเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันก็เป็นวัฏจักรของธรรมชาติ ผมก็เลยมองว่า ความรักนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฎจักรของธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เป็นความลงตัวกัน เหมือนเกิดมาคู่กัน เป็นคู่รักคู่รส โดยเฉพาะความสมดุลของธรรมชาตินั่นเอง

ในธรรมชาตินั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องมีส่วนดีที่เป็นความรักเท่ากับส่วนเลวที่เป็นความเกลียด แต่ในที่สุดแล้ว ผมก็คิดว่าส่วนดีที่เป็นความรักก็ย่อมมากกว่าส่วนเลวที่เป็นความเลว แต่เราก็ไม่ควรมองว่าความรักนั้นดีกว่าความเกลียด แต่ถ้าเรามองจากข้างนอกเข้าไปหาวัฏจักรของชีวิตแล้ว ถ้าไม่มีความเกลียดแล้วจะมีความรักหรือครับ จากความเกลียดอาจจะกลับกลายหรือผลักดันไปสู่ความรักในอีกระดับก็ได้ ทั้งความรักและความเกลียดนั้นก็เป็นองค์ประกอบของวัฏจักรของชีวิตที่เป็นไปตามบทบาทของมัน ผมว่าน่าจะเป็นเหมือนหยินและหยาง แต่สุดท้ายเราในฐานะมุนษย์ก็ต้องการความรักความสุขที่เป็นส่วนดีอยู่วันยังค่ำ


แล้วความรักเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมว่ามันเป็นเรื่องของจิตใจมนุษย์ผู้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้วจึงแปรผลเป็นปฏิกริยาเคมีออกมาเป็นความรู้สึกที่รักหรือเกลียด ผลลัพธ์ออกมาจึงจะนำพาไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กับมนุษย์อื่นๆ หรือกับธรรมชาติก็ได้ สุดท้ายจิตของมนุษย์นั้นก็แล้วแต่ว่าจะคิดอย่างไร มีการเรียนรู้อย่างไร มีปัญญาอย่างไร ความรักเกิดจากการสื่อสารแล้วเกิดปฏิกริยาเคมีในสมองในการยอมรับเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งผู้รักหรือผู้ถูกรัก ถ้าเกิดปฏิกริยาในทางตรงกันข้ามก็กลายเป็นความเกลียด นอกจากนั้นก็จะเป็นระดับการยอมรับที่แปรเปลี่ยนกันระหว่างรักและเกลียด ซึ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างไม่รักและไม่เกลียด ดังนั้นในโลกนี้จึงมีระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในสังคมมากมายยิ่งนัก ที่สุดแล้วเหมือนกับที่ John Lennon ร้องเพลง หรือไม่ก็เป็นชื่ออัลบัมเพลง ที่ว่า Make Love No War.


ในหลายครั้งที่เรามีปัญหาในเรื่องความรัก ไม่ว่าระหว่างคุ่รักหรือคนในสังคม ประเด็นแรกเลย ก็คือ เรื่องการสื่อสาร และเนื้อหาในการสื่อสาร ที่สุดประเด็นใหญ่ ก็คือ จิตใจคนนั่นเองที่ประมวลข้อมูลเหล่านั้นก็ยังเป็นประเด็นหลักอยู่เสมอ ถ้าองค์ประกอบเหล่านี้มาอยู่ในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ความรักมันก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าผิดหูผิดตาผิดคนแล้วล่ะก็ ความเกลียดก็จะเข้ามาแทนที่ เมื่อผมพูดอย่างนี้ ความรักก็จัดการได้ล่ะสิครับอาจารย์ ใช่ครับ ผมเชื่ออย่างนั้น ก็ผมมันเป็นนักทฤษฎีการจัดการอยู่แล้ว แต่ประเด็นมันอยู่ที่จิตใจมุนษย์อีกต่างหากที่เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เกิดความรักหรือความเกลียด ถ้าเราควบคุมและเข้าใจจิตใจเราเองแล้ว และยังสามารถเข้าใจจิตคนอื่นๆ ด้วยแล้วล่ะก็ อีกทั้งสามารถประสานผลประโยชน์ร่วมกันได้ ความรักก็มีค่าความน่าจะเป็นสูง (Probability) กว่า ความเกลียด (เกือบจะเปรียบเทียบเป็นเรื่องโซ่อุปทานซะแล้วเรา!)


ในขณะเดียวกันเมื่อคนในสังคมมีอิสระในการคิดและรับข้อมูลข่าสารต่างๆ จิตใจมนุษย์แต่ละคนมีระดับที่แตกต่างกัน และยิ่งมาอยู่ในสังคมร่วมกันมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วยแล้ว ความรักและความเกลียดกันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ที่ใดมีความรักกันมากสังคมก็จะสงบ ที่ได้มีความเกลียดกันมากสังคมก็จะวุ่นวายหรือในทางเทอร์โมไดนามิกส์เขาว่ากันว่ามี เอ็นโทรปีสูง นั่นเอง

ความรักทำให้สังคมเจริญ สังคมที่มีความรักกันก็ย่อมเกิดจากระดับจิตใจของมนุษย์ที่นิ่ง มีสิตและมีคุณธรรมสูงมากพอที่ทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันและมีระดับของสังคมสูงขึ้นเรื่อยๆ ผมเองก็พยายามจะมองความรักในเชิงนามธรรม (Abstract) เช่นนี้ เพื่อว่า จะได้นำมุมคิดเล็กของผมไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่นๆ ของความรักต่อไป ซึ่งก็ต้องลองดูนะครับว่า works หรือไม่ ผมก็หวังว่า ทุกคนคงจะมีความรัก รักตัวเอง รักเพื่อนบ้านและรักประเทศชาติ ไม่รักไปในทางที่ผิด ผู้คนก็มีระดับความรักที่สูงขึ้น สังคมประชาติเราก็คงจะน่าอยู่มากกว่านี้ จริงไหมครับ

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Social - การจัดตั้งรัฐบาลในมุมมองของโซ่อุปทาน (2)

รัฐบาลต้องคิดอย่างองค์รวม


โดยหลักคิดแล้วไม่ว่าโซ่อุปทานไหนๆ ก็มีหลักคิดเชิงโซ่อุปทาน (Supply Chain Thinking)เหมือนกันหมด เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันในประเด็นของลักษณะของลูกค้า ลักษณะของผลิตภัณฑ์ ประเด็นทั้งสองนี้จะไปกำหนดโซ่คุณค่าและโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจการค้า สังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม ถ้าผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลสามารถมองปัญหาอย่างองค์รวมแบบโซ่อุปทานได้ ก็น่าจะสามารถตีประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ว่าประชาชนของประเทศเป็นใครบ้าง ความต้องการพื้นฐานของประชาชนในเวลานี้และในอนาคตมีอะไรบ้าง ภาวะกดดันทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เข้ามามีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไรบ้าง จะต้องวางแผนอย่างไร จะต้องมองไปข้างหน้าอย่างไร จะต้องปรับตัวอย่างไร จะต้องตัดสินใจอย่างไร สุดท้ายที่สำคัญเมื่อมารวมตัวกันแล้วจะทำงานร่วมกันอย่างไร (Collaboration) ให้ลองสังเกตนโนบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เราได้ฟังมาในช่วงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่ามีส่วนที่สะท้อนหรือเกี่ยวเนื่องกับความเป็นองค์รวมสำหรับโซ่อุปทานประเทศหรือไม่


หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศของเราก็มีอยู่แล้ว ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ ในการบริหารจัดการประเทศของเราก็มีพร้อมอยู่แล้ว แต่ว่าทำไมเรายังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งขันในโลกและโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ เรา ทั้งๆ ที่เราก็มีการพัฒนาประเทศที่ดีมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ทำไมเรากลับพัฒนาตามโลกไม่ทัน พัฒนาช้าไป หรือไม่ก็เป็นการพัฒนาไปไม่ถูกทาง ทั้งๆ ที่เราก็มีโครงสร้างโซ่อุปทานประเทศเหมือนกันกับประเทศอื่นๆ และเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง และหลายๆ อย่างที่เรามีก็ดีกว่าเสียอีก แต่ทำไมเรากำลังจะสู้เขาไม่ได้


ประเทศไทยเรายังขาดการคิดแบบองค์รวม (Holistic) แต่เรายังอยู่รวมกันเป็นประเทศ ก็ยังดีที่ไม่ต่างคนต่างแยกกันอยู่ ปัญหา ก็คือ คงจะตายร่วมกันในอนาคตเป็นแน่ แต่คิดว่าคงจะไม่เช่นนั้น ถ้าเราช่วยกันคิดช่วยกันทำ ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเหมือนกับทีมฟุตบอลที่รวมเอาผู้เล่นที่มีความสามารถมารวมกันเป็นทีมเหมือนทีมอื่นๆ แต่ไม่มีการจัดการโซ่อุปทานซึ่งไม่ใช่เป็นแค่มุมมองหนึ่งการจัดธุรกิจในอดีตที่เป็นการควบคุมและตรวจสอบ หรือเป็นในลักษณะเชิงรับ (Reactive) มากว่าเชิงรุก (Proactive) ปัจจุบันในการจัดการไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือประเทศจะต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงอย่างก้าวกระโดด (Breakthrough)เพื่อความอยู่รอด แต่บางคนอาจจะแย้งว่าเราควรจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ควรจะก้าวกระโดด ที่จริงแล้วเรายังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในอีกหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในตัวเองในเรื่องความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ให้ลองกลับไปอ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ว่ามีพื้นฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในระบบตลาดเสรีทุนนิยม สิ่งนี้อาจจะแสดงให้เราเห็นว่าเรายังใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก หรือไม่ก็คงไม่เข้าใจในแก่นของปรัชญาดีพอ ถ้าเราเข้าใจโซ่อุปทานก็จะพบว่าแก่นของการจัดการโซ่อุปทานที่ดีนั้นก็มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแฝงอยู่ด้วย


แต่ในภาวะของเศรษฐกิจที่เป็นพลวัตอย่างนี้ เราก็ควรจะต้องมองเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นพลวัตเช่นกัน ประเด็นของการจัดการโซ่อุปทานในอดีตก็แฝงตัวอยู่ในการจัดการองค์กรธุรกิจของแต่ละองค์กรแบบตัวใครตัวมัน แต่แรงกัดดันจากทุกด้านในปัจจุบันผลักดันให้ผู้บริหารองค์กรจะต้องมองอย่างโซ่อุปทาน มองอย่างองค์รวม มองจากทั้งจากภายนอกจนถึงข้างในองค์กร ที่สำคัญการมองอย่างองค์รวมเป็นการมองให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมาในสถานะการณ์ต่างๆ ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้อย่างทันท่วงที


ลองมาพิจารณาที่ทีมฟุตบอลซึ่งมีแต่นักฟุตบอลที่เก่งๆ แต่อาจจะพ่ายแพ้ต่อทีมที่มีนักฟุตบอลซึ่งไม่ได้มีฝีมือมากมายนัก แต่กลับมีแผนการเล่นที่เป็นหนึ่งเดียวสามารถควบคุมได้ทั้งทีม ดังนั้นความเป็นองค์รวมจึงต้องการความเป็นหนึ่งเดียว มีเป้าหมายร่วมกัน สังคมจะมีความเป็นองค์รวมได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกของสังคมมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่มีแต่ความแตกแยก โดยเฉพาะประเทศไทยในเวลาเช่นนี้ที่เรามักจะพูดถึงความแตกแยก สังคมแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย หลายคนอยากให้มีความสมานฉันท์กัน ที่จริงแล้วไม่ว่าสังคมหรือระบบใดก็ตามทั้งในธรรมชาติและในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก็ย่อมจะประกอบด้วยความแตกต่างกันทั้งสิ้น จึงเกิดเป็นความหลากหลายที่สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์และธรรมชาติเอง สังคมหรือระบบต่างๆ เกิดมาจากองค์ประกอบหลายๆ องค์ประกอบที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นทุกสังคมหรือทุกองค์กรในโลกนี้มีความแตกต่างมีฝ่ายกันทั้งนั้น แต่ทำไมสังคมอื่นๆ เขาจึงไม่มีความแตกแยกกัน


ที่เราพูดๆ กันมากในเรื่องความแตกแยก บางครั้งอาจจะทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราทุกคนต้องมีความคิดเหมือนกัน ซึ่งที่จริงแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น ที่เราแตกแยกกัน ก็เพราะว่าเรามีความคิดที่หลากหลายแต่เราขาดแกนนำหรือผู้ที่จะมาเป็นคนที่ผสมผสานหรือบูรณาการความคิดทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นผลประโยชน์ของทุกคนด้วย แต่ก็อาจจะไม่ได้อย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกัน แต่จะต้องจัดสรรและกระจายไปให้เหมาะสมตามสัดส่วนการมีส่วนร่วมในโซ่คุณค่าและสภาวะการณ์แวดล้อม ไม่ใช่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องจนมากเกินไป จนทำให้ระบบโซ่อุปทานที่ควรจะพัฒนาไปได้ด้วยการรวมเอาแต่ละฝ่ายที่เก่งกันคนละอย่างมาทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวมไม่สามารถดำเนินการและพัฒนาไปได้

ผู้นำโซ่อุปทาน : ผู้สลายความแตกแยก


ในปัจจุบันระบบธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจไม่ได้ถูกผลักดันด้วยภาวะผู้นำองค์กรธุรกิจเหมือนอดีต เพราะว่าบริบทของธุรกิจในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นผู้นำในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจหรือประเทศไทยก็ตามจะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดเสียใหม่ (Paradigm) เหมือนหนังสือ The World is Flat ที่พยายามจะบอกว่าโลกนั้นไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว เช่นกัน ผู้นำรัฐบาลในยุคนี้คงจะต้องมองจากภายนอกสู่ภายใน ความเข้าใจในบริบทของโลกาภิวัตน์เป็นประเด็นที่สำคัญของผู้นำประเทศในยุคนี้ไม่ว่าประเทศไหนๆ ก็ตาม ในขณะเดียวกันผู้นำรัฐบาลก็ต้องมีความเข้าใจในสภาพหรือสถานะของโซ่อุปทานประเทศว่าอยู่ในตำแหน่งใดและสถานะใด มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกอย่างไร วิสัยทัศน์ในการนำพาประเทศและปรับปรุงพัฒนาประเทศไปถึงที่เป้าหมายท่ามกลางการแข่งขันในระดับโลกได้อย่างไร

ส่วนนักการเมือง ก็คือ นักการเมือง ผู้นำผู้บริหารประเทศก็ต้องเป็นนักการเมืองในอีกบทบาทหนึ่งที่ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการมากกว่า ไม่ใช่แค่ตัวแทนของประชาชนในสภาเท่านั้น ผู้นำและคณะผู้บริหารประเทศจะต้องมีมุมมองเชิงโซ่อุปทานและประสานผลประโยชน์ของผู้ร่วมรัฐบาลและผลประโยชน์ของชาติ แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นกันนั้นเป็นการประสานผลประโยชน์ส่วนตัวให้ลงตัวกันเสียก่อน แล้วรัฐบาลก็อยู่ไม่รอดก็เป็นเพราะว่าประโยชน์ส่วนตัวไม่ลงรอยกันเอง แล้วยังกระทบไปยังประโยชน์ส่วนรวมจนสุดท้ายก็ต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ เลือกตั้งใหม่


ทำไมผู้นำรัฐบาลของประเทศเรายังไม่สามารถสลายความแตกแยกได้ หรือพูดในอีกมุมหนึ่งได้ว่ายังไม่ประสานรวมความคิดที่แตกต่างให้เข้ากันได้ และต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับทุกคน อย่าลืมว่าเรื่องของโซ่อุปทานนั้นมีแกนอยู่ที่การตัดสินใจในแต่ละฝ่ายแต่ละฟังก์ชั่นที่ทำงานร่วมกัน ไม่ใช่อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานหรือเทคโนโลยี โซ่อุปทานที่ดีนั้นอยู่ที่ความสามารถในการคิดอ่านหรือตัดสินใจ หรือ SupplyChain Intelligence ความสามารถตรงนี้มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ดีที่สุด ไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดจะมาทดแทนได้ แต่เทคโนโลยีถูกมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานแทนมนุษย์ ดังนั้นประเทศใดที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ประเทศนั้นจะมีความชาญฉลาดเชิงสังคม (Social Intelligence) สูง ซึ่งหมายถึงความสามารถของแต่ละบุคคลที่ร่วมกันคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม ในขณะที่สังคมหรือประเทศมีความซับซ้อนมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ความเก่งหรือความสามารถในการคิดอ่าน การเรียนรู้และการให้เหตุผลก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้น ความสามารถเช่นนี้ คือ ความฉลาดเชิงสังคมที่สามารถนิยามได้ว่าเป็นความสามารถที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมและการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มคน ดังนั้นโซ่อุปทานจึงเป็นเรื่องของคนหลายคนที่มาสร้างประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งดีกว่าคนเดียวหรือต่างคนต่างทำ

ความชาญฉลาดเชิงสังคม


การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นมากว่าการจัดสรรผลประโยชน์ส่วนพรรค (ทั้งพรรคการเมืองและพรรคพวก)ในมุมมองของโซ่อุปทาน ความสามารถของโซ่อุปทานขึ้นอยู่กับความชาญฉลาดของโซ่อุปทานซึ่ง ก็คือ ระบบสังคมแบบหนึ่ง ดังนั้นโซ่อุปทานก็ควรจะมีความชาญฉลาดในการสร้างสรรค์คุณค่า เช่นกับสังคมระดับประเทศที่เป็นโซ่อุปทาน ก็จะต้องมีความชาญฉลาดเชิงสังคมเพื่อที่จะตัดสินใจในกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคม มีนักเขียนนักวิชาการหลายท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่หลายเล่ม ส่วนใหญ่มองในมุมของจิตวิทยาส่วนบุคคลที่มีต่อสังคมภายนอกและการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือมองจากภายในไปสู่ภายนอก แต่ในมุมมองผมนั้นความชาญฉลาดเชิงสังคมของโซ่อุปทานจะต้องมองจากภายนอกสู่ภายใน โดยมีลักษณะเชิงรุก (Proactive) มากกว่า เพราะว่าเมื่อโซ่อุปทานเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทธุรกิจและเศรษฐกิจสังคม ผู้นำโซ่อุปทานจะต้องกลับมากำหนดความสามารถหรือปรับปรุงความสามารถของทีมงานหรือสมาชิกในสังคมเพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ การกระจายงานหรือการแบ่งงานกันทำในลักษณะการวิเคราะห์โซ่คุณค่าแล้วกระจายออกไปตามแผนกหรือฝ่าย หรือไม่ก็ Outsource ออกไปให้บริษัทภายนอกที่สามารถทำได้ดีกว่ารับไปทำในฐานะหุ้นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทาน


ดังนั้นทุกคนในโซ่อุปทานจะต้องมีความชาญฉลาด (Intelligence) ในการเรียนรู้และการให้เหตุผล เพื่อสร้างความสามารถใหม่ (New Competency)ให้สอดคล้องกับคุณค่าใหม่ที่ลูกค้าต้องการ และความสามารถเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกันไปทั่วทั้งโซ่อุปทานด้วยการทำงานร่วมกัน (Collaboration)แล้วลองคิดดูว่า โซ่อุปทานของรัฐบาลในแต่ละชุดมีความชาญฉลาดเชิงสังคมมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่ทุกคนในคณะรัฐมนตรีมีความชาญฉลาดส่วนบุคคลที่ดีทั้งนั้น แต่ขาดความชาญฉลาดเชิงสังคมหรือเชิงกลุ่มซึ่งจะต้องเกิดจากภาวะผู้นำของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ผมก็หวังว่าสังคมไทยก็น่าจะมีความหวังในการพัฒนาความชาญฉลาดเชิงสังคมให้เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจะได้ฉลาดขึ้น ผลประโยชน์จะได้ตกเป็นของประชาชนส่วนใหญ่

Social - การจัดตั้งรัฐบาลในมุมมองของโซ่อุปทาน (1)

หลายคนมีมุมมองว่าเรื่องการจัดการโซ่อุปทานคงเป็นแค่แฟชั่น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเดี๋ยวก็คงจะหายไปเหมือนเทคนิคการจัดการอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่โซ่อุปทานนั้นคงไม่เหมือนกับเทคนิคการจัดการทั่วไป ในอนาคตชื่ออาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น แต่หลักคิดของความเป็นโซ่อุปทานนั้นยังคงอยู่และได้รับการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องเพียงแต่เราไม่รู้และยังไม่เข้าใจในหลักคิดของมัน ถ้าจะคิดว่าโซ่อุปทานนั้นเป็นของจริงมากกว่าเทคนิคการจัดการอื่นๆ แล้ว เราก็ต้องดูว่าเรามองเห็นโซ่อุปทานนั้นจากอดีตสู่ปัจจุบันและนำไปถึงอนาคตได้อย่างมีความเข้าใจและเห็นตัวตนของโซ่อุปทานได้มากเพียงไหน


ในระยะเวลานี้เป็นเวลาที่ทุกคนในวงการการเมืองและประชาชนทุกคนกำลังเฝ้าติดตามการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อว่าประเทศไทยของเราจะกลับเข้าสู่วิถีทางแห่งประชาธิปไตยเสียที ด้วยการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ที่มาจากรัฐประหาร ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะต้องทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามหลักการแห่งประชาธิปไตยด้วย เราจะมาดูว่าแนวคิดจากการจัดการโซ่อุปทานจะแฝงอยู่ในทุกย่างก้าวของชีวิตเราอย่างที่ผมพูดไว้หรือไม่


โซ่อุปทานประเทศสร้างคุณภาพชีวิต


ถ้าเรามองโซ่อุปทานประเทศ (Country Supply Chain) ว่าเป็นเหมือนองค์กรธุรกิจที่มีประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นลูกค้าด้วยในเวลาเดียวกัน หรืออาจจะมองให้กว้างและครอบคลุมมากกว่าว่า โซ่อุปทานนั้นเป็นระบบสังคม ถ้าเป็นประเทศก็เป็นสังคมสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งมีสังคมสาธารณะขนาดเล็กๆ จำนวนมากเป็นองค์ประกอบ สังคมขนาดเล็กก็มีองค์กรธุรกิจที่แสวงหาประโยชน์ให้กับองค์กรเอง และในขณะเดียวกันก็มีองค์กรสาธารณะอื่นๆ ที่ไม่ได้แสวงหากำไรให้กับองค์กร แต่พยายามที่สร้างกำไรหรือประโยชน์ให้กับสาธารณะ ในเมื่อประเทศเป็นสังคมสาธารณะขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยสังคมธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลางและเล็ก สังคมสาธารณะต่างๆ รวมทั้งบุคคลธรรมดาทุกคนที่เป็นประชาชนและองค์กรในสังคมระดับประเทศจะต้องมีความมุ่งมั่นในผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ด้วยขนาดและความซับซ้อนที่เชื่อมโยงระหว่างทุกองค์ประกอบในสังคมทุกระดับ ทำให้การอยู่ร่วมกันด้วยผลประโยชน์ร่วมกันเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก
.
ในเมื่อประเทศเป็นสังคมที่สร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับประชาชน เราก็สามารถที่จะพิจารณามองสังคมอย่างโซ่อุปทานได้ และมองไปถึงโซ่คุณค่าของประเทศ แต่อาจจะมีคำถามว่าแล้วโซ่คุณค่าของประเทศ คือ อะไร? ผมขออนุญาตนำข้อเขียน “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งเป็นข้อเขียนโดย อ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาอธิบายถึงโซ่คุณค่าของประเทศที่ประชาชนเป็นผู้ได้รับในฐานะลูกค้าและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโซ่คุณค่าประเทศ


เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกฎหมาย หรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้ รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวย หรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่จะต้องมีขื่อ มีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรม และเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิด และวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาส รับเงินทุนจากต่างประเทศ มาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ผมต้องการให้ชาติของผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ราคายุติธรรม ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้นมีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่ ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่นๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ก็ได้โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชะอุ่ม สามารถมีบทบาท และชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัน งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ เมียผมก็ต้องการโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับผม และเราสองคนควรจะได้รับความรู้และวิธีการวางแผนครอบครัว เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใจในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตอง ในงานศพให้วุ่นวายไป นี่แหละคือความหมายของชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ขอความสุขสวัสดีและสันติสุข จงเป็นของท่านทั้งหลาย และพระท่านกล่าวไว้ดังนี้เกี่ยวกับความสวัสดี “เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เรื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำเร็จอินทรีย์ และความเสียสละ ”


ลองสังเกตุดูว่ามีกระทรวงใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเราในโซ่คุณค่าแห่งชีวิตนี้



ดังนั้นจากข้อเขียนข้างต้นคงจะบอกได้ถึงหน้าที่หลักของรัฐบาลที่จะต้องบริหารและจัดการโซ่คุณค่าประเทศเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งได้เลือกผู้แทนราษฎรขึ้นมาเพื่อใช้สิทธิ์ใช้เสียงแทนพวกเขาในการบริหารประเทศ ผมจึงมอง จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน นั้นเป็นโซ่คุณค่าที่รัฐบาลจะต้องมาบริหารจัดการและพัฒนาให้สอดคล้องตามกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลไหนๆ ในโลกก็ตามก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าเหล่านี้ไปได้ และเป็นที่แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ดีจากการบริหารจัดการของรัฐบาลจะต้องกระจายออกไปในทุกส่วนทุกระดับของประชาชนของประเทศ ในเมื่อประเทศมีโซ่คุณค่าที่เด่นชัดแล้ว ก็จะต้องมีโซ่อุปทานซึ่งหมายถึง กลุ่มผู้บริหารประเทศหรือผู้บริหารจัดการโซ่คุณค่า ซึ่งคือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่กระจายกันออกไปบริหารจัดการตามกระทรวงต่างๆ เพื่อทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับประชาชนในทุกช่วงระยะชีวิตของประชาชนแต่ละคน


การรวมตัวของโซ่อุปทาน



เวลาที่เราพูดถึงโซ่อุปทาน หลายๆ คนก็นึกไปถึงในหลายๆ มุมมอง แต่สำหรับผมนั้นเมื่อกล่าวถึงโซ่อุปทานผมจะหมายถึงความสามารถ (Competency) ของบุคคลหรือองค์กรที่มาปฏิบัติหรือมาดำเนินการกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) ดังนั้นผู้ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลมาบริหารโซ่คุณค่าของประเทศก็ต้องมีความสามารถที่เหมาะสมในแต่ละกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าซึ่งจะต้องให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ไม่ใช่เอาใครจากที่ไหนก็ได้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใดก็ได้


เมื่อเร็วๆ นี้ก่อนการเลือกตั้งได้มีดาราคนดังท่านหนึ่งพยายามที่จะวิจารณ์การเมืองออกทางโทรทัศน์ด้วยความคิดที่ไม่เป็นกลางหรือมีอคติว่าประเทศไทยนั้นไม่จำเป็นต้องมีนโนบายของพรรคการเมืองตามที่โฆษณาหาเสียงกันอยู่ เพราะว่าประเทศเรานั้นมีหน่วยงานวางแผนอย่างสภาพัฒน์ฯ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ต้องมีความสามารถอะไรมากมาย มีนายกรัฐมนตรีไว้รับแขกบ้านแขกเมืองก็พอแล้ว ผมคิดว่าเราจะคิดกันอย่างนั้นไม่ได้ มักง่ายเกินไป เพราะประเทศไม่ใช่แค่สังคมเล็กๆ แบบครอบครัว แต่ประเทศประกอบด้วยหลายๆ ครอบครัวที่มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป จึงต้องมีการจัดการแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน การเข้ามาบริหารประเทศไม่ใช่แค่ทำให้ประเทศดำเนินงานได้ไปวันๆ แต่ต้องจัดการให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลกได้ การที่จะทำได้เช่นนั้นก็ต้องมีผู้ที่เข้ามาบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรต่างๆ ในโซ่คุณค่าของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การจัดตั้งรัฐบาลจึงเหมือนกับการก่อตัวหรือการรวมตัวกัน (Formation)ของความสามารถในบริหารจัดการคุณค่าต่างๆ ในสังคมที่ประกอบกันเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน หรือจะเปรียบเทียบได้กับการรวมตัวของนักดนตรีที่มีความสามารถโดดเด่นในการเล่นคนตรีในแต่ละชนิดของเครื่องดนตรี โดยมารวมตัวกันเป็นวงดนตรี ไม่ใช่เหมือนกับการรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลแบบไทยที่มีสูตรการจัดตั้งรัฐบาลตามจำนวน ส.ส. ที่ได้ เห็นแล้วก็ตลกดี แต่มันก็เป็นวัฒนธรรมของการเมืองไทยมาโดยตลอด

แล้วเราจะทำการรวมตัวโซ่อุปทานได้อย่างไร ที่จริงแล้วการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นโซ่อุปทานนั้นไม่ใช่แค่การเอาแต่บุคคลหรือกลุ่มมารวมตัวกัน แต่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายใหญ่ของโซ่อุปทาน ก่อนอื่นเลยจะต้องรู้จักลูกค้าของประเทศเสียก่อนซึ่งก็ คือ ประชาชนของประเทศ ต้องรู้ตำแหน่งของตัวเองหรือประเทศในสนามการแข่งขัน รู้จักคู่ต่อสู้ เพราะประเทศต้องไปทำการค้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ และที่สำคัญต้องรู้จักสถานภาพปัจจุบันของตัวเองว่ามีความแข็งแกร่งตรงไหนและมีจุดอ่อนอย่างไรในกระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนของประเทศ ลองเปรียบเทียบกับการจะตั้งวงดนตรีสักวงหนึ่ง คุณจะต้องเลือกกลุ่มผู้ฟังเพลงเพื่อกำหนดลักษณะของเพลงว่าจะอยู่ในประเภทไหนบ้าง นักดนตรีจะเป็นใครบ้างที่จะมาร่วมวงกัน หัวหน้าวงดนตรีและผู้จัดการวงจะเป็นใครดี แล้วแผนการดำเนินการพัฒนาเพลงออกมาเป็นอัลบัมและการแสดงทัวร์คอนเสิทร์รวมทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้วงดนตรีและบริษัทค่ายเพลงอยู่รอดได้ในธุรกิจ

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Life - ผู้แพ้ : ใจของคนเราเองที่เป็นศัตรูในความคิดของเรา

Life - ผู้แพ้ : ใจของคนเราเองที่เป็นศัตรูในความคิดของเรา (The Enemy within)



คำ ๆ นี้ดูไม่น่าพิศสมัยเลย ดูเป็นคำที่หดหู่มากๆ แต่หลายคนก็เคยเป็นผู้แพ้มาก่อน ผมเองก็เคยรู้สึกอย่างนั้น และเคยคิดว่าตัวเรานั้นเป็นผู้แพ้ ที่เขียนหัวข้อนี้วันนี้ใน ผมไม่ได้คิดว่า ตัวเองเป็นผู้แพ้นะครับ แต่อยากให้ผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ คิดได้ว่าที่จริงแล้วเรานั้นไม่ได้เป็นผู้แพ้สักหน่อย ที่แท้แล้วเรานั้นพ่ายแพ้ตัวเองต่างหาก ศัตรูของเรานั้น ก็คือ ใจเราเองตัวเราเองต่างหาก


ถ้าคิดว่าเราจะเป็นผู้แพ้แล้ว เราก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย ผมเองก็เคยเป็นอย่างนั้นมาก่อน เคยมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ แต่วันนี้ก็ไม่ได้มีความคิดที่ถดถอยอย่างนั้นอีก จะมีแต่แค่ยังไม่กล้ามากนัก ยังไม่มั่นใจ แต่ถ้ามีโอกาสแล้วก็ขอลองอีกสักตั้ง ถ้าแพ้แล้ว ก็ไม่เป็นไร ถึงแม้ว่าจะแพ้ในเกมกีฬา ในเกมชีวิต ก็ไม่เป็นไร อกหักก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้รักก็พอแล้ว ใช่ไหม? ตามที่หลายเพลงร้องกันมาอย่างนั้น เราต้องไม่โทษตัวเราเองมากไปนัก


แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ชนะใจตนเองได้ เมื่อล้มลงแล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้ ด้วยประสบการณ์และสติปัญญา และใจกว้างพอที่จะรับมุมมองที่กว้างขึ้น รวมทั้งประเมินสิ่งที่ผ่านๆ มา เพื่อที่จะสู้ต่อไป ผมจำได้ว่าสมัยเด็กประมาณเรียนจบใหม่ๆ ขาดความมั่นใจ ขาดกำลังใจ ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “เหมือนๆ จะแพ้แต่ไม่แพ้” จำไม่ได้แล้วว่า เนื้อหานั้นมีอะไรบ้าง เอาแค่ชื่อก็ยังประทับใจอยู่ มีหนังสือที่เขียนให้กำลังใจอยู่มากมาย หนังสือเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ถ้าเราไม่สามารถคิดและชนะใจตัวเองได้


หลายครั้งที่เราคิดว่าเราเป็นผู้แพ้นั้น ที่จริงแล้ว ชีวิตเราไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ สำหรับใจเรา ที่ใจเราแพ้นั้นก็เป็นเพราะว่าเราไม่ยอมรับตัวเอง เราไม่ได้ประเมินตัวเอง หรือรักตัวเองมากเกินไป จึงทำให้ไม่เห็นตัวเองในมุมกว้าง ทั้งๆ ที่โอกาสข้างหน้ามีอีกมากที่จะพยายามใหม่อีกครั้งและอีกหลายครั้ง หรือไม่ก็ยังยึดติดกับความสำเร็จในอดีต หรือยศถาบรรดาศักดิ์ที่ติดตัวมาจากอดีต จนยอมรับตัวเองและคนอื่นๆ ไม่ได้ ทำให้ใจเรานั้นรับไม่ได้กับความไม่สำเร็จนั้น ถ้าใจเรารับได้กับความล้มเหลวนั้น และรู้ถึงวงจรแห่งการต่อสู้และปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนความคิด (Mindset) ความเป็นผู้แพ้ก็จะหมดไปเอง สุดท้ายมันก็คือ เราคิดไปเองหรือเปล่า?


ทุกวันนี้ผมเองก็ยังต้องต่อสู้กับใจตัวเองตลอดเวลาเพื่อให้ได้ยืนหยัดและคงอยู่ในการดำรงชีวิตในทุกๆ เรื่องๆ ทำสำเร็จบ้าง ทำได้ดีบ้าง ทำไม่ได้เรื่องก็มีเยอะ ไอ้ที่ไม่กล้าทำก็ยังมีอีกมาก แต่ถ้ามีโอกาส คงต้องลองดู ไม่กลัวที่จะแพ้ ไม่อายที่จะล้มเหลว แต่น่าเสียดายถ้าไม่ได้ลองดูอีกสักครั้ง หรือลองพยายามอีกครั้ง หรือพยายามที่จะชนะตัวเอง


ผมก็เลยไม่ใช่ “ผู้แพ้” เพราะผมไม่เคยกลัวที่จะ “แพ้” ทุกครั้งที่ผม “แพ้หรือล้มลง” ในการแข่งขันหรือในการดำเนินงานหรือการดำเนินชีวิต ผมนั้นเป็น “ผู้ชนะ” เสมอ เพราะผมได้ชนะใจตัวเองที่ได้ตัดสินใจลงไปสู้ในเกมการแข่งขันของชีวิตและการทำงาน ถ้าผมได้มีโอกาสที่จะตั้งใจทำอะไรสักอย่างนี้ แต่ถ้าคุณยังไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ให้กับตัวเอง และยังกลัวที่จะล้มเหลว และยังคิดว่าตัวเองนั้น คือ “ผู้แพ้” แล้วล่ะก็ คุณก็เป็น “ผู้แพ้” ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงสนามหรือยังไม่ได้ลองทำดูเลย ผมให้กำลังใจทุกคน ให้เป็นผู้ชนะตลอดไปครับ