วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Life - แรงบันดาลใจ

ระยะนี้ได้ยินข่าวของ Apple อยู่บ่อยครั้ง ยิ่ง Steve Job ต้องออกจากตำแหน่ง CEO ของบริษัท Apple ด้วยแล้ว และนิตยสาร Fortune เล่มล่าสุด September 26, 2011 ยังลงบทความและเรื่องราวของ Apple ตั้งแต่ Steve Job ก่อตั้งบริษัทจนประสบเหตุการณ์ต่างๆ นานา จนมาถึงทศววรษที่ผ่านมา ในวัยที่ล่วงเลยมาถึงจุดหนึ่ง แต่คนอย่าง Steve Job ก็ยังมีจินตนาการและความฝันที่ผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บนพื้นพิภพนี้ได้อีกมากมาย ในนิตยสาร Fortune นี้ได้เขียนถึงตัว i ที่อยู่หน้า ipod iphone ipad และ icloud บทความเล่าว่า I ตัวนี้ หมายถึง Internet, individual, instruct, inform และ inspire พออ่านไปเจอเข้า โดยเฉพาะคำสุดท้ายนั้น Inspire มันโดนใจครับ มันต้องเริ่มต้นที่ Inspiration หรือแรงบันดาลใจเสียก่อน จึงจะเกิดเรื่องราวดีๆ ในโลกนี้ ผมจึงต้องกลับดูตัวเองและเรื่องราวอื่นๆ ในโลกนี้ ซึ่งล้วนแต่เกิดจากแรงบันดาลในของใครคนใดคนหนึ่ง ที่ช่วยกันสร้างสรรค์โลกและสร้างสรรค์ตัวเอง บางครั้งที่ผ่านมาในชีวิตเราเราอาจจะไม่ได้รู้สึกว่า ความสำเร็จต่างๆ ในชีวิตเราที่ผ่านมานั้น เกิดจากแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่ค่อยๆ ผลักดันเราให้เติบใหญ่และก้าวหน้าไปในชีวิตและการทำงานในสังคมทั้งเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคมรอบข้าง

ชีวิตเราก็คงได้แรงบันดาลใจจากพ่อแม่ เพื่อนหรือคนที่รักเรา หรือแม้กระทั่งคนที่เกลียดเราหรือคนที่เราเกลียดเป็นศัตรู ทุกคนหรือสภาวะแวดล้อมต่างๆ รอบๆ ตัวเราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้เสมอ ความชื่นชมหรือคำเหยียดยามก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจได้ แล้วทำไมทุกคนหรือเพื่อนเรารอบๆ ข้างที่เห็นหรือรับรู้สภาวะแวดล้อมเหมือนๆ กัน แต่ทำไมคนเราถึงมีแรงบันดาลใจไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ได้เห็นได้ฟังความสำเร็จของคนอื่นๆ เท่าๆ กัน ยิ่งวันนี้การสื่อสารยิ่งรวดเร็วและเข้าถึงทุกคนได้มากขึ้น

นั่นน่ะสิ แรงบันดาลใจไม่ได้มาจากสิ่งภายนอกที่เรารับรู้ไปเท่านั้น แต่เป็นแรงผลักดันจากภายในที่ผ่านกระบวนการคิดของใครคนคนใดคนหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงผลักดันจากภายในเพื่อสร้างฝันให้เกิดขึ้น ถ้าผมจะพูดในเชิงการจัดการก็ คือ ภาวะผู้นำ ทุกคนมีภาวะผู้นำที่แตกต่างกัน ผมคิดว่าภาวะผู้นำทำให้เกิดแรงบันดาลใจจากภายใน เรื่องอย่างนี้ทุกคนมีไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ก็สามารถเลียนแบบกันได้ แล้วแต่ว่าของใครจะลงตัวกันมากกว่ากัน

ที่จริงแล้วเราทุกคนเจริญก้าวหน้ามาในชีวิตในหลากหลายแนวทางก็เพราะต่างคนต่างมีแรงบันดาลใจที่แตกต่างกันออกไป ส่วนมากแรงบันดาลใจมักจะโดดเด่นในช่วงแรกๆ ของชีวิต ในวัยเด็ก หรือในวัยหนุ่มที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างชีวิต และเมื่อมองย้อนกลับไปที่จุด Start หรือจุดตั้งต้นของชีวิต เราก็มักจะเห็นความฝันของเด็กๆ หรือคนในวัยหนุ่มที่มีพลังและความมุ่งมั่นมากเหลือเกิน แต่เมื่อผมกลับมาดูตัวเองแล้ว พยายามมองหาแรงบันดาลใจในอดีต ก็พอจะมีบ้าง ไม่ใช่ไม่มี แต่อาจจะไม่โดดเด่นมาก แต่ผมก็นำพาชีวิตมาได้ระยะหนึ่ง เรียกว่าชักเกือบจะหมดแรงเสียแล้ว เริ่มที่จะเห็นฝั่งไกลๆ แล้ว แต่ก็ยังอีกนานพอสมควร ผมก็น่าจะทำอะไรได้บ้างในช่วงชีวิตในตอนครึ่งหลัง หรือบางคนอาจจะบอกว่า ชีวิตยังไม่เริ่มต้นเลย ฝรั่งเขามี Mid life Crisis ตอนอายุ 50 ปีกัน แต่ผมกลับมาดูชีวิต Steve Job ในช่วง 10 ปีหลังนี้ นับเป็นชีวิตที่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจให้เกิดจินตนาการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยผลิตภัณฑ์ของเขา อะไรกันน่ะที่ทำให้คนอย่าง Steve Job ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองและคนอื่นๆ ที่ยกย่องและชื่นชมเขา

ใครกันน่ะ คนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมฝันและจินตนาไปข้างหน้า คนที่ทำให้ผมต้องวางแผนการดำเนินชีวิตหรือวางยุทธศาสตร์ชีวิตข้างหน้าได้อย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า นี่ คือ ทิศทางที่เราจะเดินไปและจะเกิดประโยชน์กับตนเองและสังคม คนๆ นั้นไม่ใช่ Steve Job แต่กลับเป็น Peter Wish ปีเตอร์ (ชื่อเล่น) วิชช์ (ชื่อจริง) นั่นเองครับ เขาไม่ใช่ฝรั่งที่ไหนหรอกครับ แต่เป็นเจ้าลูกหัวดื้อของผมเองครับ คนไทยแท้ๆ แต่ต้องตั้งชื่อให้มัน Globalization หน่อยเท่านั้น ผมเห็นว่าความคิดความฝันของเด็กๆ นั้นมันง่ายๆ ครับ มันบริสุทธิ์ครับ ความฝันของเขานั้นง่ายๆ และพยายามที่จะตามฝันนั้นให้ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นฝันเล็กก็ตาม แต่พลังของเขานั้นมันมากเหลือเกิน ทำให้เขากล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ อาจจะเป็นพื้นฐานหรือต้นทุนชีวิตเรานั้นไม่เหมือนคนที่อายุมากแล้ว ซึ่งอาจจะคิดมากจนไม่อยากจะตัดสินใจอะไรเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เจ้า Peter ลูกผมนั้น มันมีแรงบันดาลใจจนประสบผลสำเร็จอะไรหรอก เพียงแต่ว่า เด็กเขาเห็น เขาจึงอยากจะเป็น เขาจึงพยายาม ส่วนที่เหลือจะพยายามมากหรือน้อยก็แล้วแต่ละคน ผลสำเร็จก็จะเป็นรางวัลของความพยายามของเขา

ชีวิตเราถ้ายังไม่สิ้นลมหายใจ ก็ยังฝันต่อไปได้ ถึงแม้ว่าจะล้มหรือจะผิดหวังอย่างไรในช่วงอายุที่เท่าไหร่ก็ไม่ใช่เป็นประเด็น เรายังสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้อยู่เสมอ เดี๋ยวนี้ความสำเร็จของเด็กหนุ่มอายุแค่ 26 ปี ใช้เวลาแค่ 5 ปี มีเงินเป็นพันล้าน ความสำเร็จของคนหนุ่มเหล่านี้ก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอายุมากกว่าให้สามารถฝันและสร้างฝันให้เป็นจริงได้

ผมบังเอิญไปได้ยินเพลง อีกไม่นานเราก็จากกัน เพลิน-ear น้าหนุ่ม พิมพ์ชนก ที่ร้องว่า “รู้ใหมว่าเวลาทุกวันที่มันหมุนเวียนผ่านไป เป็นจำนวนที่ให้ทุกคนใช้มันได้เทียมเท่ากัน จะกี่ปี กี่เดือน หรือ กี่วัน แม้ทั้งๆ ที่รู้เวลาของเรานั้นมีไม่นาน เท่าที่เห็นทุกครั้งทุกคนใช้มันด้วยความฟุ่มเฟือย น่าเสียดาย น่าเสียดาย” และท่อน Hook ที่ว่า “อีกไม่นานเราก็จากกัน และความฝันมันก็จบไป และชีวิตเธอนั้นมีความหมาย ก็ควรได้ใช้เวลาให้คุ้มไปในทุกวัน” ใช่ครับเวลาของเราก็เริ่มหมดไป แต่อย่าปล่อยเวลาที่เหลือ แค่ทำให้มันหมดไปเลยครับ ทำไมไม่ใช้ให้มันให้คุ้มค่ากับเวลาที่เราทุกคนมีอยู่ แรงบันดาลใจและความฝันเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการกำหนดเป้าหมาย และการไปถึงเป้าหมายนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราเองที่จะทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา มาร่วมกันสร้างบันดาลใจที่เกิดพลังภายในใจของเราทุกคนเถอะครับ เพราะว่าสังคมนั้นจะถูกสร้างสรรค์ได้ก็ด้วยแรงบันดาลใจของคนแต่ละคนในสังคม

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Thinking - ปรัชญากับแนวคิดแบบลีน

เมื่อวันก่อนไปสอบ Thesis ปริญญาโทของนักศึกษาคณะสถาปัตย์ ที่ธรรมศาสตร์ ตอน 2 ทุ่ม สะดวกดีครับ ประหยัดเวลากลางวัน แต่ก็โทรมหน่อยในวันนั้น เพราะมีนัดตั้งแต่เช้า ประเด็น คือ นักศึกษาปริญญาโทท่านนี้ค่อนข้างจะกล้าหาญที่จะคิดนำเอาประเด็นเรื่อง Leanมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการออกแบบเชิงสถาปัตย์ในงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ทั้งๆ ที่ก็เป็นเรื่องใหม่และท้าทายต่อวงการอสังหาฯ เองด้วย โดยเฉพาะเป็นการท้าทายต่อคณะกรรมการสอบ Thesis แต่ค่อนข้างโชคดีว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นวิศวะ Construction management ไปแล้วสองท่าน แถมยังมีผมอีกหนึ่งที่เป็น Industrial Engineering ผมว่าแค่นี้ นักศึกษาก็ผ่านไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการนำเสนอ แต่ผมว่า นักศึกษาไทยเราอ่อนในมุมมองเชิงวิจัยในระดับปริญญาโทและเอก แต่ผมคงจะไม่มาวิจารณ์ในประเด็นนี้มากนัก แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งถามผมมาว่า Lean นี่มันเป็นทฤษฎีหรือไม่ ผมเองก็นิ่งไปสักพักหนึ่ง ก่อนที่จะมีอาจารย์อีกท่านหนึ่งตอบว่า Lean มันเป็นปรัชญา ผมก็เสริมไปว่าใช่ครับ ผมตอบเสริมไปว่า เรื่องของ Lean นั้นมันเรื่องเป็นธรรมชาติ มันเป็นความจริง มันอยู่ในธรรมชาติของความเป็นอยู่ของเรา อยู่ในสังคมของเรา ส่วนทฤษฎีนั้นเป็นเรื่องของเครื่องมือทางความคิดในความต้องการที่จะพิสูจน์ให้รู้จริงและเข้าใจธรรมชาติที่เราพบเห็นนั้น ดังนั้นเราจึงมีทฤษฎีมากมายที่จะพยายามอธิบายธรรมชาติ เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติ


สำหรับเรื่อง Lean นั้น สามารถมองในระดับปรัชญาและในระดับทฤษฎี แต่ถ้ามองในระดับปรัชญาแล้วมันคือ ความจริงและเราได้สัมผัสกับมันอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเราอยู่ในธรรมชาติ เราได้ประโยชน์จากมัน และเราเองก็เสียประโยชน์ถ้าเราไม่ได้ใช้มัน ส่วนทฤษฎีนั้น คือ เครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่มีทฤษฎีไหนสามารถอธิบายธรรมชาติได้ทั้งหมด


เรื่องของลีนนั้นเกิดขึ้นมาจากการดิ้นรนหรือการมีปฏิสัมพันธ์กันเองในสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมมนุษย์จนเกิดเป็นรูปแบบหรือ Pattern ที่ทำให้เกิดการอยู่รอดหรือ Survival เรื่องของลีนจึงถูกนำเสนอได้ทั้งในระดับปรัชญา ทฤษฎี เครื่องมือต่างๆ ในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง แต่ที่แน่ๆ เรื่องของลีน มันเป็นความจริงในสังคมมนุษย์ที่จะต้องปรับตัวให้อยู่รอด ส่วนความเป็นปรัชญานั้นอาจจะเข้าใจกันยากอยู่สักหน่อย เพราะในหลายครั้งก็ยากที่จะอธิบายอยู่แล้ว และด้วยความสับสนในความหมายและความเข้าใจ ความเป็นปรัชญาจึงถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ที่ไม่มีคำตอบอยู่เสมอ ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะผิดเสมอไป เพราะความเป็นปรัชญานั้นก็เกิดขึ้นมาจากการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตนั่นเอง ทั้งในด้านจิตและกายภาพ คำถามที่เกี่ยวกับชีวิตเหล่านี้จึงเป็นแหล่งที่มาของสาขาวิชาต่างๆ ที่เราได้ร่ำเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ เพื่อที่จะเข้าใจชีวิตว่า คือ อะไร? บางครั้งเราเองเรียนหนังสือจนเกือบจะตายอยู่แล้วก็ยังไม่ได้คำตอบว่า เราเกิดมาทำไม ชีวิตคืออะไร ทั้งๆ ที่เราเองก็มีชีวิตอยู่และกำลังใช้ชีวิตอยู่ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วเราจะศึกษาปรัชญาไปทำไมกัน ถ้าไม่ศึกษาปรัชญาแล้ว วิชาการต่างๆ ที่เราศึกษาไปนั้นจะมีผลอย่างไรกับชีวิตเราบ้าง หรือเราอาจจะศึกษากันแค่ให้มีกินมีใช้ เราเองก็ไม่ได้ต้องการรู้อะไรไปมากกว่านั้น ที่จริงแล้วมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของทุกคนที่จะต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องของปรัชญาอะไรๆ ทั้งหลายหรอก วิชานี้เป็นพื้นฐานของสาขาวิชาต่างๆ ทั้งหลายในโลก ทุกคนต้องเคยเรียนมาบ้าง แต่ก็ใช่ว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจและลึกซึ้งถึงขั้นนำเอามาประยุกต์ใช้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้องการเข้าใจให้ถึงแก่นของเรื่องแต่ละเรื่องแล้ว ก็ต้องเข้าใจให้ถึงปรัชญาของมัน


สำหรับปรัชญาของแนวคิดแบบลีนนั้น ก็คงเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่ไม่ว่าจะมีความเป็นลีนหรือไม่ก็ตาม หรือจะไม่ได้มีชื่อว่าแนวคิดแบบลีนก็ตาม หรือจะย้อนรอยกลับไปอีก 100 - 200 ปีก่อนหน้านี้ กิจกรรมหรือความคิดแบบลีนก็ฝังตัวอยู่ในสังคมมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ได้มีความสำคัญอย่างเด่นชัด เพราะว่าสังคมและอุตสาหกรรมยังไม่ซับซ้อนมากนักเหมือนในปัจจุบัน เมื่อมาถึงปัจจุบันปรัชญาของแนวคิดแบบลีนก็คงจะเป็นเรื่องของการตั้งคำถามที่มีความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและผู้สร้างคุณค่าให้เกิดความสมดุลกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความลงตัว โดยปกติแล้วการเปลี่ยนแปลงหรือความพลวัตเป็นคุณลักษณะหนึ่งของธรรมชาติ ดังนั้นธรรมชาติหรือผู้ที่อยู่ในธรรมชาติก็จะต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความลงตัวอยู่เสมอ นั่นเป็นปรัชญาของธรรมชาติหรือชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แนวคิดแบบลีนก็เช่นกัน เลียนแบบธรรมชาติ เพียงแต่เริ่มแรกนั้นแนวคิดแบบลีนได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตหรือในวงจำกัดของการประยุกต์ใช้ แต่เมื่อมีการขยายบริบทให้กว้างขึ้น ความเข้าใจในแนวคิดแบบลีนจะต้องเจาะลึกให้ถึงแก่นแท้หรือปรัชญาเบื้องหลังที่เป็นธรรมชาติของแนวคิดแบบลีน เมื่อเข้าใจแล้วการประยุกต์ใช้ให้เกิดผลก็จะมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น


ดังนั้นการพัฒนาความคิดต่างๆ คงจะไม่ใช่แค่คิดให้ออกหรือให้ได้ผล แต่จะต้องคิดให้ถึงรากถึงโคนของแก่นความคิด แล้วจึงแตกออกไปเป็นแขนงวิชาต่างๆ เพื่อทำให้เกิดเป็นผลประโยชน์กับทุกคน