วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Life : ความตาย (Death)….จุดเปลี่ยนผ่านของชีวิต

ได้ดูหนังเรื่อง Final Destination ดูมาครบ 5 ภาคแล้ว สรุปได้ว่าเป็น Plot เดิมๆ แต่ในภาคที่ 5 นั้นอาจจะมีรายละเอียดมากกว่าที่ว่าเราสามารถโกงความตายหรือเราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วได้หรือไม่? หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเราคิดว่าเราได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างไปได้แล้ว แต่ก็ไม่ใช่เพราะเรากำหนด แต่มีธรรมชาติหรือพระเจ้าที่เราไม่รู้จักกำหนดมาก่อนหน้านี้แล้ว สุดท้ายสิ่งที่เราคิดว่าเราคิดเองได้นั้น แท้ที่จริงแล้วได้ถูกกำหนดมาแล้วทั้งสิ้น แต่เราไม่รู้

ความตายเป็นส่วนหนึ่งชีวิต ก่อนจะตายก็ต้องมีเกิด ระหว่างเกิดก่อนตายก็ต้องมีชีวิต หลังจากตายไปแล้ว เราจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ และก่อนเราจะมาเกิดนั้น เราเป็นอย่างไรมากก่อนเราก็ไม่รู้ เท่าที่เรารับรู้ก็แค่เกิด แล้วมีชีวิตอยู่แล้วก็ตาย เป็นวัฏจักรกันไป ชีวิตใครชีวิตมัน บางคนก็บอกว่า เรามีชีวิตก่อนหน้านี้และมีชีวิตหลังความตาย ทั้งหมดเป็นการเดินทางจากชีวิตหนึ่งในชาตินี้ไปยังอีกชีวิตหนึ่งในชาติหน้า แต่ก็ยังไม่มีใครบอกได้อย่างแน่ชัดว่า ชีวิตมันถูกดำเนินการอย่างนั้นจริงๆอย่างที่เราคิดหรือไม่


เราก็แค่มีความสงสัยว่า เรามาจากไหน เมื่อชีวิตที่แล้วเราเป็นอะไรมาก่อน ชีวิตที่เป็นอยู่นี้ก็พออยู่ได้ ส่วนชีวิตที่เลวร้ายก็ผ่านไป หวังไว้ว่าก่อนตายจะมีชีวิตที่ดีๆ กับเขาบ้าง (โอ้ โห หนังชีวิตจริงๆครับ) แล้วหลังเราตายไปแล้วจะเป็นอย่างไรดีล่ะเนี่ย ถ้าเรารู้เส้นทางเดินของชีวิตเราล่ะ แล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไรบ้าง เราจะเกิดเมื่อไหร่ เราไม่รู้หรอก พ่อแม่เรายังไม่รู้เลยว่าจะเกิดมาแน่หรือไม่ ยิ่งวันตายแล้ว ยิ่งไม่รู้ ใครล่ะเป็นคนกำหนด แล้วเราจะอยู่มีชีวิตในโลกอย่างไรดี จะอยู่นานๆ ไปทำไม ถ้าเรารู้ว่าชีวิตในชาติหน้ามันดีกว่าชีวิตปัจจุบัน ทำไมไม่รีบตายไปมีชีวิตในชาติหน้าเสียเลยล่ะ หรือถ้ารู้ว่าชีวิตหน้าไม่ดีกว่าชีวิตนี้ เราก็ใช้ชีวิตนี้ให้เต็มที่ซะเลย พอมีเวลาเยอะๆในชีวิตนี้ก็หาทางวิ่งเต้นติดสินบนกับพระเจ้าหรือคนจัดตารางชีวิตว่าช่วยปรับชีวิตหน้าให้ดีกว่าที่กำหนดไว้ได้ไหม บุญที่ทำในชาตินี้พอจะใช้ชดเชยในชาติหน้าได้หรือไม่


ที่จริงแล้วที่ผมคิดมานั้นอาจจะผิดหมดก็ได้ ทั้งหมดนั้นเราคิดไปเอง ทั้งหมดมันไม่จริงเลย ไม่มีโลกที่แล้ว ไม่มีโลกหน้า มีแต่ชีวิตนี้เท่านั้น ชีวิตเราก็ไม่แตกต่างจากมดที่เราเดินเหยียบตายไป แล้วมันก็เกิดขึ้นมาอีกตามวัฏจักร มนุษย์เรานั้นก็อย่าคิดว่า ตัวเองจะดีเลิศกว่าสรรพสิ่งอื่นในพื้นพิภพนี้ มนุษย์เราก็เป็นเพียงหมากตัวหนึง่ในเกมที่ชื่อว่า “โลก” ที่ทุกคนทุกสิ่งเล่นตามบทบาทที่ผู้กำกับ (พระเจ้า) ได้เขียนมาให้เราเกิดและตายตามกำหนด ตามดวง กำหนดให้เรามาเจอกัน รักกัน มาเกลียดกัน มาฆ่ากัน มาช่วยเหลือกัน มาเป็นครอบครัวเดียวกัน และที่สุดแล้วทุกอย่างที่เราทำไปนั้นมันไปตกอยู่ที่ไหนกัน ทั้งความดีและความเลวทั้งหมด KPI ทั้งหลายนั้น บุญที่สะสมกันมานั้นจะนำไปแลกของสมนาคุณหรือแลกแต้มลด % ได้เหมือนในห้างเซ็นทรัลจริงหรือไม่


ถ้าทุกอย่างถูกกำหนดให้มาแล้ว หรือแม้แต่สิ่งที่เราคิดว่าเราเป็นนายของตัวเราเอง ซึ่งก็คือ อำนาจการตัดสินใจนั้น มันยังเป็นของเราหรือไม่ หรือว่าเราถูกกำหนดมาให้ตัดสินใจอย่างนั้นอยู่แล้ว เราก็เล่นไปตามบทบาทนั้น ก็คือ จงใช้ชีวิตไปให้เต็มที่เหมือนกินเป๊ปซี่ เออ! แล้วสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ในเวลานี้ล่ะ คือ อะไร มันจะหมดไปเมื่อเราตายไปหรือไม่ เออ! แล้วเราจะมากังวลใจหรือสงสัยในสิ่งที่ไม่เข้าเรื่องทำไมกัน สุดท้ายแล้ว ผมก็ต้องมาจบที่คำถามว่า ชีวิต คือ อะไรอยู่ดี? และผมก็เชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนไหนรู้ได้ ถึงแม้ว่าจะรู้ก็อาจจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้วก็ได้


ดังนั้นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตที่ดีที่สุดก็ คือ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ปัจจุบัน คือ สิ่งที่เรารู้สึกได้ เป็นตัวตนมากที่สุด เป็นชีวิตมากที่สุด ทุกครั้งที่เรานึกถึงชีวิตที่ผ่านมา และชีวิตที่จะมาถึง มันไม่สะท้อนการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันจริงๆ มันเป็นแค่ข้อมูลที่เกิดขึ้นไปแล้ว (อดีต) และข้อมูลที่เราอยากจะให้เกิดขึ้น (อนาคต) ถ้าการคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาทำให้ชีวิตปัจจุบันดีขึ้นก็ทำเถอะครับไม่มีใครว่า ถ้าคิดถึงชีวิตในอนาคตแล้วทำให้มีกำลังใจในการพัฒนาชีวิตในปัจจุบัน ก็ทำเถอะครับ ทั้งๆ ที่เราอาจจะไปไม่ถึงสิ่งที่เราอยากจะเป็นหรืออยากจะได้ในอนาคต ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ เราคาดไม่ถึง เพราะมีผู้เล่นในละครเรื่อง “โลก” นี้อีกมากมาย บทบาทต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันไปมาอย่างไม่รู้จบจนเราไม่สามารถรับรู้ทุกเรื่องได้ จงมีสติอยู่กับปัจจุบันเล่นตามบทบาทที่ถูกกำหนดมา รับรองว่าเราน่าจะรู้จักคุณค่าของชีวิตเรามากขึ้น และเมื่อนั้นเวลาที่ความตายมาถึง มันก็เป็นแค่จุดเปลี่ยนผ่านจากชีวิตในโลกนี้ไปยังสถานะที่เราไม่รู้จัก (ชีวิตหน้า?) แต่เมื่อถึงวันนั้นแล้วจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่มีประสบการณ์ครับ และคิดว่าเมื่อถึงเวลาทุกคนก็คงจะทราบดีครับ ทุกคนเลย.

Perspective 18 : เห็นยุทธศาสตร์ BOI แล้วนึกถึงยุทธศาสตร์ชาติอีกแล้ว

ได้ยินคนเขามาเล่าให้ฟังถึงคำสัมภาษณ์ของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมโต๊ะกลมเรื่อง "ยุทธศาสตร์การลงทุนไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในงานบีโอไอแฟร์ 2011"โดยมีประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ดร.ศุภชัยกล่าวไว้ "รูปแบบการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน คงไม่เร่งการพัฒนาด้านโครงสร้างการผลิตของไทยเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคตได้ เพราะต่อไปจะมีการแข่งขันด้านข่าวสาร คมนาคม โลจิสติกส์ การบริการและพลังงาน" หลายคนพอจับประเด็นได้จึงมาเล่าให้ผมฟังต่อว่าดร.ศุภชัยชี้ว่าถ้าไทยจะแข่งขันได้นั้นจะต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลอจิสติกส์และด้านนวัตกรรม พอผมฟังรวมๆ แล้วก็ว่า ถูกเสมอ เพราะประเด็นเหล่านี้มีผลต่อการแข่งขันของธุรกิจทั่วไปอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยต้องเน้นมากๆ ในประเด็นเหล่านี้ ถ้าจะแข่งขันในภาวะปัจจุบัน เพราะมัน คือ พื้นฐานของโซ่คุณค่าและโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่เราจะสร้างไปแข่งขันกับคนอื่นๆ ในตลาดภูมิภาคหรือในตลาดโลก


ในวันที่ท่านดร.ศุภชัยพูดนั้นมีการอ้างถึงยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในระยะ 2555 - 2559 ประเด็นสำคัญที่ท่านได้พูดไว้ คือ ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโซ่อุปทานโลกเหมือนจีนและไต้หวัน ตรงนี้ผมชอบมากเพราะเป็นการมองตัวเองอย่างเป็นจริง โดยไม่ได้หลอกตัวเอง เพราะว่าประเทศเราชอบหลอกตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคหรือของโลกบ้าง ทั้งๆ ที่เราไม่ใช่เลย เราก็เห็นๆ กันอยู่ และอีกประเด็น คือ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอนาคตอาจจะมีผลต่อการให้สิทธิประโยชน์ต่อนักลงทุน มีผลต่อรายได้ของรัฐ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีความจำเป็นต่อการนำเงินเหล่านั้นมาพัฒนาคนเพื่อรองรับการลงทุน ประเด็นตรงนี้แสดงให้เห็นว่า มุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศใดก็ตาม นักลงทุนเขาจะต้องมองแบบองค์รวมหรือมองทั้งโซ่อุปทานสำหรับการลงทุนในการจัดหาทรัพยากรต่างๆ ในการผลิต ตั้งแต่เส้นทางการนำเข้าวัตถุดิบ การผลิตและการส่งออกไปยังตลาดโลก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของการจัดการโซ่อุปทานทั้งนั้น ผมคิดว่าเป็นมุมที่ BOI ควรจะนำมาพิจารณาในการส่งเสริมการลงทุน


นักลงทุนเองไม่ได้คำนึงถึงสิทธิประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเราเข้าใจอุตสาหกรรมดี เราก็ต้องเข้าใจว่าโซ่อุปทานว่ามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอย่างไร แล้วอะไรบ้างเป็นองค์ประกอบของโซ่อุปทานไม่ใช่แค่โครงสร้างอุตสาหกรรม แต่เป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆในอุตสาหกรรม เราต้องมองโครงสร้างอุตสากรรมในเชิงระบบ (Systemic Approach) หรืออย่างเชิงบูรณาการ (Integrative) โดยเฉพาะประเด็นที่ดร.ศุภชัยพูดเรื่องคนและการพัฒนาคนนั้นเป็นประเด็นที่จะผลักดันให้โซ่อุปทานเกิดความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ เพราะคนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโซ่อุปทานในการจัดการ


เวลานักลงทุนมาลงทุน อย่างแรกที่จะทำให้การลงทุนนั้นมีความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าต่างๆ นั้น คือ ความเป็นไปได้ในการสร้างโซ่อุปทานในพื้นที่การลงทุน ไม่ใช่สิทธิประโยชน์เป็นหลัก เพราะว่าถึงแม้จะได้สิทธิประโยชน์มากมาย แต่ถ้าต้นทุนของการสร้างโซ่อุปทานขึ้นมาผลิตสินค้าไม่ได้หรือไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนแล้ว เหล่านักลงทุนนั้นก็คงจะไม่มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต


ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความน่าสนใจหลายอย่างจึงมีหลายประเทศหลายโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตในโซ่อุปทานโลกของผลิตภัณฑ์ของเขา แต่เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป ความเป็นพลวัตมีผลกระทบโดนตรงต่อโซ่อุปทาน ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีผลกระทบโดยตรงต่อโซ่อุปทานโลก รวมทั้งโครงสร้างโซ่อุปทานและการจัดการโซ่อุปทานในแต่ประเทศ โซ่อุปทานที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานโลกก็ต้องปรับตัวตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทานโลก ถ้าโซ่อุปทานในประเทศของเราปรับตัวไม่ทันกับโซ่อุปทานโลกแล้ว ถึงแม้ว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ผมว่าก็คงจะไม่มีใครมาลงทุน เพราะว่าโซ่อุปทานในเมืองไทยไม่สามารถสร้างประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานโลกของผลิตภัณฑ์ของเขาได้


ส่วนประเด็นขององค์ประกอบด้านอื่นๆ ของการลงทุน เช่น แรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ BOI แต่ BOI เองจะต้องนำเสนอนักลงทุนและนำประเด็นเหล่านี้มาสร้างเป็นองค์ประกอบในการเขียนยุทธศาสตร์ของ BOI เมื่อถึงเวลาปฏิบัติการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ เมื่อถึงเวลาแล้วจะเป็นไปตามที่วาดฝันไว้หรือไม่ BOI ไปขายแนวคิดไว้ ไปขายฝันให้นักลงทุนว่า เราจะมีแรงงานที่มีคุณภาพ เราจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เราจะมีนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมได้ แต่พอถึงเวลาแล้วจะเป็นอย่างที่พูดไว้หรือไม่ นักลงทุนก็ต้องประเมินกันเอง ถ้าเรามีครบและตอบสนองต่อนักลงทุนได้ โซ่อุปทานเกิดขึ้น ผลประโยชน์ก็ตามมา


ดูเหมือนว่าในขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรๆ ก็ตามจะพยายามหาข้อมูลและประสานงานกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เพราะว่าเดี๋ยวนี้ทุกเรื่องราวนั้นมีความเกี่ยวโยงกันเกือบทั้งหมดอย่างเห็นได้ชัดมากว่าในอดีต เพียงแต่ว่าเวลาจะดำเนินงานเรื่องอะไรก็ตาม เช่น การเขียนแผนยุทธศาสตร์ทั้งหลายนั้นไม่ได้เขียนร่วมกันให้เป็นยุทธศาสตร์หลักหรือยุทธศาสตร์ชาติกันเสียก่อน เพราะว่าไม่ได้มีการเชื่อมโยงหรือทำงานร่วมกันอย่างเป็นทางการ คงจะมีแต่การประสานขอข้อมูลไปหรือนำข้อมูลมาเป็นองค์ประกอบในการวางแผนของตนเอง กิจรรมก็คงจะเท่านั้นเอง ไม่ได้ศึกษาถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานและผลกระทบต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานและผลประโยชน์สุดท้ายที่ประเทศชาติจะได้รับ ในที่สุดแล้วก็ยังเป็นการทำงานของแต่ละหน่วยงานก็ยังเป็นแบบที่ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำหรือเป็น Silos ผลที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็จะทำให้ภาพรวมของการดำเนินงานทั้งหมดขาดความเป็นเอกภาพและขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทำให้มีความสามารถในการตอบสนองต่ำ นี่ล่ะครับ คือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเรา

ถ้ายุทธศาสตร์ที่ BOI เขียนออกมาในช่วง 2555 - 2559 มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ใน 3 ด้าน คือ 1.เศรษฐกิจที่พึ่งตัวเองได้มากขึ้นในด้านทุน พลังงาน เทคโนโลยี วัตถุดิบและการตลาด 2.เศรษฐกิจฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ 3.เศรษฐกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยจะปรับปรุงสิทธิประโยชน์ใหม่ ลองสังเกตดูดีๆ ว่าแล้วบทบาทของ BOI ในเป้าหมายที่เขียนไว้นั้นควรจะเป็นอะไรและเป็นอย่างไร ถ้าจะให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้นหน่วยงานไหนควรจะเป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเรื่องที่กล่าวมา ภาพของแผนต่างๆก็ยังเป็นภาพที่เป็นแบ่งปันข้อมูลกัน แล้วก็ต่างคนๆต่างกลับมาเขียนแผนของตัวเองโดยไม่มีแผนหลักหรือแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นแกนกลางของความคิด

ประเด็นเรื่องความกังวลของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยนั้น เราไม่ต้องไปกังวลในประเด็นเรื่องราวต่างๆ ในเชิงปฏิบัติมากนัก ผมคิดว่าสิ่งที่เราขาดมากๆ ก็คือ แผนรวมหรือแผนหลักมากกว่า ประเทศไทยเรานั้นความสามารถเฉพาะตัวสูง จนถึงวันนี้แล้วเรายังไม่ได้มีแผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศที่ดีพอ เรายังไม่มีแผนที่สามารถตอบสนองต่อการบรรลุถึงวิสัยทัศน์ของประเทศได้ เรายังไม่มีวิสัยทัศน์ของประเทศที่แน่นอนเลย เรายังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยจะเดินไปทางไหนดี เรายังไม่มีผู้นำที่ดีพอที่จะกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศได้

ผมได้ยินมาอีกทีว่า ท่านดร.ศุภชัยกล่าวว่า เรื่องการเมืองนั้นเราได้มีพัฒนาการมาพอสมควรแล้ว เราควรจะมาพัฒนาในด้านอื่นๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ลอจิสติกส์และนวัตกรรม ผมเห็นด้วยครึ่งหนึ่งครับ ในเรื่องการเมืองนั้นผมว่าถึงทางตันแล้ว หมดหนทางในการพัฒนาแล้วครับ ถ้ามองกันในมิติที่เห็นกันอยู่ ดันทุรังไปก็อาจจะพังกันหมด แต่ถ้าเราหันกลับมาที่พื้นฐานในการทำงานร่วมกันเสียใหม่ สร้างวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ งานพัฒนาการเมืองต่างๆ ก็อาจจะดีขึ้นได้ เพราะว่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการพัฒนาด้านการเมืองจะทำให้การพัฒนาด้านต่างๆ ช้าลงไปด้วย

เรื่องที่เราควรจะพัฒนาเป็นอย่างมากก็ คือ พื้นฐานด้านการทำงาน เช่น คิดดี (Right Planning) ทำดี (Right Execution) ได้ผลดี (Right Results) แล้วจึงพัฒนาต่อมาเป็นการทำงานร่วมกัน (Collaboration) คิดดีร่วมกัน (Right Collaborative Execution) ทำดีร่วมกัน (Right Collaborative Execution) และได้ผลดีร่วมกัน (Right Collaborative Results) เรื่องราวของประเทศชาติไม่ใช่เรื่องคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เราไม่สามารถให้ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำอีกต่อไปแล้ว เรื่องราวในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนเกินกว่าการคิดและการดำเนินงานในอดีตและปัจจุบันจะสามารถรองรับได้ เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีวางแผนเป็นการวางแผนร่วมกัน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นการทำงานร่วมกันและเป็นผลประโยชน์ร่วมกันในสังคมและประเทศชาติ

สุดท้ายแล้วผมก็ต้องย้อนกลับมาที่ยุทธศาสตร์ชาติอยู่ดี เพราะว่าไม่เห็นหนทางไหนแล้วที่จะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันหรือแม้กระทั่งการปรองดองกันในชาติเอง นอกจากนั้นเรายังต้องพัฒนาการนำยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ไปดำเนินงานให้สอดคล้องกันทั้งองค์รวมของยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องอย่างนี้มันอาจจะดูไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นักในสังคมไทยในยุคปัจจุบันนี้ที่เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลได้สร้างทั้งประโยชน์และทำลายความสามารถในการคิดของคนเราบางอย่างไปพร้อมๆ กัน สภาพและปัญหาสังคมในปัจจุบันจึงอาจจะเป็นอุปสรรคในการหลอมรวมความคิดให้เป็นหนึ่งหรือเป็นองค์รวมได้ ถึงอย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และสามารถนำพาให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนของสังคมเข้าเป็นหนึ่งหรืออย่างเป็นเอกภาพเพื่อก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน

Perspective 19 : ทิศทางยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ชาติในมุมมองของผม

เมื่อประมาณเดือนกว่าที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาโต๊ะกลมที่จัดโดยชมรมวิชาชีพซัพพลายเชน CSCMP Thailand Roundtable ที่คุยกันเรื่องยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ชาติ ในงานโต๊ะกลมครั้งนี้ก็มีการแสดงความคิดเห็นมากมายรวมทั้งผมด้วย แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่และนั่นเป็นจุดยืนของผมเสมอมาว่า แนวทางของยุทธศาสต์ลอจิสติกส์นี้ไม่ได้มีความเหมาะสมและขาดความเป็นแผนยุทธศาสตร์ ผมเสียใจจริงๆที่ไม่สามารถเห็นร่วมในเรื่องเหล่านี้ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าประเทศไทยเราไม่น่าจะมีแผนยุทธศาสตร์หลักหรือยุทธศาสตร์ชาติกันจริงๆ ผมใช้คำว่า “น่าจะ” ผมต้องออกตัวไว้ก่อนนะครับ ผมอาจจะผิดก็ได้ เพราะว่าอยากจะให้คนที่อ่านบทความผมมีข้อมูลที่ถูกต้องไว้พิจารณา

สิ่งที่ผมพยายามนำเสนอมาโดยตลอดว่า ความเข้าใจเรื่องลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะความเข้าใจในระดับนามธรรม (Abstract) และแผนยุทธศาสตร์ที่เรากำลังจะเขียนหรือวางแผนกันอยู่นี้ก็ถือว่าอยู่กันในระดับนามธรรมทั้งสิ้น แผนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ชาติ ถ้าจะเขียนกันออกมาแล้วมันจะต้องมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของชาติ ทั้งคนทั้งสินค้าและสาธารณะสมบัติต่างๆ แล้วแต่ว่าใครจะมีผลกระทบมากหรือน้อยกว่า ผมพูดอยู่เสมอว่า ที่จริงแล้วแผนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์นั้นอยู่กันอย่างโดดๆ ไม่ได้ แต่จะต้องไปเสริมไปเต็มกับส่วนอื่นๆ ในระดับโซ่อุปทานชาติอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เกิดเป็นคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าของประเทศซึ่งผมหมายถึงประชาชนในประเทศและคู่ค้าของประเทศไทย


ผมเห็นหน่วยงานอย่างเช่น สำนักงานลอจิสติกส์อุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม มีกิจกรรมด้านการจัดการลอจสิติกส์อุตสาหกรรมมากมาย ปีนี้มีงบประมาณออกมามากมายมาให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการสนับสนุนแนวคิดการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ( เรื่องนี้พูดถึงโซ่อุปทานมากไม่ได้ครับ เพราะหลายคนยังคิดว่ามันเป็นเรื่องลอจิสติกส์ ส่วนโซ่อุปทานนั้นไม่เกี่ยวกัน จริงๆ นะครับ คนเราก็ยังคิดกันอย่างนี้อยู่ครับ) เท่าที่ผมทราบมาว่า สำนักลอจิสติกส์อุตสาหกรรมจะดูแลและสนับสนุนลอจิสติกส์อุตสาหกรรม จึงได้มีโครงการและเป้าหมายในการลดสินค้าคงคลังในโรงงานอุตสาหกรรมและในกลุ่มอุตสาหกรรม ที่จริงแล้วผมได้ยินเรื่องราวในประเด็นนี้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากนัก มีกิจกรรมและโครงการต่างๆ นั้นเป็นเรื่องดีครับ แต่เมื่อมีแล้วจะมีผลกระทบอย่างไรและเป็นประโยชน์อย่างไรต่อโซ่อุปทานครับ ไม่ใช่แค่ลอจิสติกส์ โดยเฉพาะในมุมของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานโดยเฉพาะผลกระทบต่อสาธารณะหรือประเทศในภาพรวม


พอเขียนมาถึงตรงนี้ เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมลอจิสติกส์ในประเทศไทยมีอะไรกันมาบ้าง ผมก็เลยต้องกลับไปอ่าน Timeline ต่างๆ ของกิจกรรมลอจิสติกส์ในประเทศไทยที่ Website สศช หรือสภาพัฒน์ฯ http://www.nesdb.go.th/ ลองมองย้อนหลังกลับไปอีกเกือบ 10 ปี ดูแล้วน่าตื่นเต้นและน่าชื่นชมในกำลังกายและกำลังความคิดที่แต่ละหน่วยงานช่วยกันสร้างสรรค์ออกมาได้ถึงอย่างนี้ ไม่เบาเลยทีเดียวครับ แต่สิ่งที่ผมมองเห็นว่าขาดไปก็ คือ ความเป็นลอจิสติกส์ อ้าวทำไมเป็นอย่างงั้นไปล่ะครับ? ทั้งๆ ที่ชื่อหน่วยงานและกิจกรรมต่างๆก็ได้ชื่อว่าเป็น “ลอจิสติกส์” อยู่แล้ว ทำไมผมถึงยังกล้าดีอย่างไรที่มาบอกว่า “ขาดความเป็นลอจิสติกส์” แล้วต้องเป็นอย่างไรบ้างถึงจะเป็นลอจิสติกส์


จากความรู้สึกที่ผมว่ายังไม่เป็นลอจิสติกส์ ก็คือ กิจกรรมเหล่านั้นยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เกิดจากการบูรณาการกิจกรรมต่างๆ (ที่อ้างกันว่าเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์) ในโซ่อุปทาน พอผมพูดมาถึงเรื่องโซ่อุปทานก็จะกลายเป็นใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครให้กำหนดนิยามที่ชัดเจนและแน่นอน แต่โดยธรรมชาติของความเป็นนามธรรมโดยความหมายของโซ่อุปทานแล้ว ย่อมไม่มีความหมายที่เด่นชัดและแน่นอน เรื่องราวจึงจะต้องกำหนดลงไปตามบริบที่เกี่ยวข้องกันให้เป็นเรื่องที่จับต้องได้ (รูปธรรม)


เรื่องของโซ่อุปทานเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นประเด็นที่สำคัญของยุทธศาสตร์ของบริษัทในระดับโลก ซึ่งบริษัทระดับโลกเหล่านั้นได้ก้าวข้ามผ่านประเด็นเรื่องลอจิสติกส์กันไปนานแล้ว โดยนำประเด็นลอจิสติกส์และการผลิตมาอยู่ภายใต้แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทาน แล้วประเทศไทยเราล่ะ ยังวนเวียนกันอยู่ในอะไรดีล่ะ ยังอยู่กับลอจิสติกส์อยู่ทั้งๆ ที่ปัญหาด้านโซ่อุปทานของประเทศหรือองค์ธุรกิจอุตสาหกรรมมามาอยู่ตรงหน้าแล้ว ก็ยังไม่รู้จักหรือไม่ยอมที่ทำความรู้จักกับโซ่อุปทานเพื่อจะแก้ปัญหาได้ถูกต้องมากกว่า


ถ้าจะพูดถึงความเป็นลอจิสติกส์แล้ว เราจะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า (Customer Values) ที่ซื้อสินค้าไปใช้หรือไปขายเป็นหลักก่อน แล้วจึงตามมาด้วยระดับของการให้บริการ (Service Level) ลอจิสติกส์ในมุมมองของผมจึงหมายถึงลูกค้าหรือผู้บริโภคจะต้องได้รับผลิตภัณฑ์หรือบริการเมื่อต้องการอย่างทันเวลาพอดี (Just in Time) เพื่อให้เกิดการขายหรือการส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการ เป้าหมายของลอจิสติกส์มีอยู่แค่นี้ครับ ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ในการจัดการโซ่อุปทานของแต่ละผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งจะครอบคลุมการจัดการลอจิสติกส์และการจัดการผลิตไว้ด้วยกันอย่างเชิงระบบ (Systemic) ผมต้องบอกว่า แนวคิดลอจิสติกส์นี้ไม่ได้มาจากการลดต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งผมเข้าใจแตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ผมเข้าใจว่าลอจิสติกส์มาจากการเข้าถึงลูกค้าเพื่อส่งมอบคุณค่าและการทำงานร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันทุกคนในโซ่อุปทาน ดังนั้นเราจึงบอกได้ว่า ลอจิสติกส์นั้นเกิดมาจากแนวคิดและมุมมองในการจัดการโซ่อุปทานโดยเฉพาะการมองเชิงระบบ (Systems Thinking) ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Network) รวมทั้งการปรับตัวในเชิงระบบเพื่อรองรับการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้า


กิจกรรมต่างๆ ที่เราได้เห็นและประสบอยู่ในชีวิตประจำวันนั้นเช่น การจัดซื้อ สินค้าคงคลัง การผลิต คลังสินค้า การขนส่ง การกระจายสินค้า การขาย การบริการลูกค้า เป็นกิจกรรมที่อยู่ในโซ่อุปทานใดโซ่อุปทานหนึ่ง มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบในระดับหนึ่ง โดยมีเป้าหมายที่ผู้บริโภคได้รับคุณค่าที่อยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการอย่างดี (Good) เร็ว (Fast) และถูก (Cheap) ส่วนเรื่องของการลดต้นทุนเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับการจัดการทั่วไปซึ่งตามมาทีหลัง โดยในมุมมองของผมนั้นเรื่องต้นทุนสำหรับลอจิสติกส์แล้วไม่ใช่เป็นประเด็นหลัก การลดต้นทุนเป็นประเด็นที่สำคัญเสมอของการจัดการการดำเนินงาน (Oerations Management) ไม่ใช่เป็นประเด็นหลักของลอจิสติกส์


ส่วนประเด็นด้านลอจิสติกส์ คือ การจัดสรรทรัพยากรให้พร้อมอย่างถูกเวลาและสถานที่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าอย่างทันเวลาพอดี หรือ อย่าง On Time In Time (OTIF) ส่วนเรื่องต้นทุนในกิจกรรมลอจิสติกส์นั้นเป็นเรื่องการจัดการในการดำเนินการกิจกรรม ซึ่งในกิจกรรมการดำเนินงานั้นก็มีกิจกรรมลอจิสติกส์อยู่ด้วย เราจึงมีความเข้าใจว่าเมื่อจัดการลอจิสติกส์แล้วต้นทุนจะลดลง ซึ่งเป็นจริงเพราะว่าเมื่อมีการจัดการลอจิสติกส์แล้ว ก็จะมีการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมลอจิสติกส์ต่างๆ มีการแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน มีการวางแผนร่วมกันสำหรับกิจกรรมลอจิสติกส์ต่างๆ เมื่อใดจัดการลอจิสติกส์แล้ว ลูกค้าจะต้องได้รับผลิตภัณฑ์และบริการอย่างถูกเวลาและสถานที่ เมื่อใดมีการจัดการการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลอจิสติกส์ การผลิต สารสนเทศ หรือธุรการก็ตาม จะต้องได้ตามเป้าหมายของการดำเนินการและมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าหรือต้นทุนที่เหมาะสม


เมื่อจะพูดถึงโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แล้ว เราคงจะไม่ได้พิจารณาที่การลดต้นทุนการดำเนินงานและเรื่องการจัดการสินค้าคงคลังเท่านั้น เพราะว่าทั้งสองประเด็นนั้นเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของความเป็นโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ เราสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้หรือเข้าใจความเป็นโซ่อุปทานหรือลอจิสติกส์ เราสามารถจัดการสินค้าคงคลังได้ จัดการการขนส่งได้ จัดการการกระจายสินค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้หรือเข้าใจความเป็นโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ ในทางตรงกันข้ามถ้าเรารู้และเข้าใจความเป็นโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แล้ว จะทำให้เราสามารถจัดการกับกิจกรรมต่างๆที่ได้กล่าวมานั้นได้อย่างเชื่อมโยงกันเป็นโซ่อุปทานในเชิงองค์รวมหรือในเชิงระบบ ด้วยการจัดการเชิงความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กล่าวมาในโซ่อุปทานนั้นมีผลต่อการจัดการกิจกรรมต่างๆ นั้น ผลของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่างๆ ในโซ่อุปทานจะทำให้เกิดการดำเนินงานได้อย่างคุ้มค่าด้วยต้นทุนรวมที่เหมาะสมและสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าคนสุดท้ายผู้ที่ใช้ประโยชน์โดยตรง


ในปัจจุบันนั้นการเปลี่ยนแปลงของคุณค่าที่ลูกค้าต้องการมีพลวัตสูง และมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจจะต้องกำหนดระดับการให้บริการอย่างเหมาะสมที่ระบบลอจิสติกส์ขององค์กรจะรองรับได้ด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเมื่อความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ องค์กรธุรกิจก็จำเป็นที่จะต้องออกแบบยุทธศาสตร์เชิงลอจิสติกส์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการในโซ่อุปทานที่สามารถตอบสนองต่อลูกค้าได้ สำหรับในระดับประเทศก็เช่นกัน ระบบลอจิสติกส์ของประเทศไม่เหมือนขององค์กรธุรกิจ เพราะว่าระบลอจิสติกส์ของประเทศมีไว้เพื่อการบริการสาธารณะในการทำให้คนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงเพื่อไปประกอบอาชีพในภาคส่วนและองค์กรธุรกิจต่างๆที่อยู่ในโซ่อุปทานต่างๆ ของประเทศ


อาจจะมีหลายคนสงสัยว่าแล้วยุทธศาสตร์สำคัญอย่างไร ผมคงแค่ตอบได้ว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าถ้าไม่มียุทธศาสตร์ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะไม่มีชัยชนะ แล้วยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์สำคัญอย่างไร ยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์มีความสำคัญต่อโซ่อุปทานอย่างยิ่ง เพราะเป็นการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้แน่ใจว่าระดับของการให้บริการขององค์ธุรกิจหรือประเทศไม่ได้ลดลง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดและสิ่งแวดล้อม สำหรับในระดับประเทศนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศก็จะต้องดีขึ้น มีความสะดวกสบายขึ้น ต้นทุนการดำรงชีวิตก็ดีขึ้น เมื่อชีวิตประชาชนดีขึ้น การสร้างคุณค่าและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทานประเทศก็ดีขึ้น โอกาสในความอยู่รอดและยั่งยืนก็ดีขึ้นด้วย


ถ้าเราจะเขียนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ เราควรจะเริ่มตรงไหนก่อน ผมไปได้แนวคิดมาจาก Martin Murray, About.com Guide โดยแบ่งออกเป็น 4 มุมมอง คือ 1) ต้องมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ในมุมมมองของผมนั้นจะต้องเริ่มที่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กรธุรกิจหรือของประเทศ น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่เประเทศเราไม่มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ เรายังไม่รู้เลยว่าอีกสิบปีเราจะเป็นอะไร จะไปทางไหน ยังไม่ชัด แต่ก็มีบางหน่วยงานก็กำหนดทิศทางของตัวเองออกมาแล้วโดยที่ไม่มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน 2) ต้องมีโครงสร้าง (Structural) ยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์จะต้องกำหนดให้เห็นความเป็นโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Netwrok) คุณสมบัติเหล่านี้จะสร้างความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในกับองค์หรือประเทศได้ คุณสมบัติเหล่าเป็นพื้นฐานของความเป็นระบบ (Systemic Structure) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง 3) ต้องมีฟังก์ชั่นการทำงานที่เป็นเลิศ (Functional) ยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์จะต้องกำหนดว่าแต่ละฟังก์ชั่นการทำงานในโซ่อุปทานต่างๆที่เป็นกิจกรรมการผลิต กิจกรรมลอจิสติกส์ กิจกรรมการบริการ ไม่ว่าจะเป็นขององค์กรธุรกิจหรือของประเทศจะต้องมีความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ซึ่งหมายถึงทั้งภาครัฐและเอกชน 4)การนำไปปฏิบัติ (Implementation) หัวใจที่สำคัญที่สุดของแผนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ คือ การนำแผนงานไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กรธุรกิจ หรือถ้าเป็นในระดับประเทศ คือ การนำแผนยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติทั่วทุกภาคส่วนของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน


องค์ประกอบที่จะต้องพิจารณาในยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ในระดับองค์กรก็ไม่ได้แตกต่างไปจากองค์ประกอบในการดำเนินงานในระดับประเทศ เพียงแต่เราจะเข้าใจความแตกต่างของบริบทขององค์ธุรกิจและบริบทของประเทศหรือไม่ เรื่องขององค์ประกอบในการดำเนินงานในระดับประเทศก็จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมที่สนับสนุนให้เกิดการผลิตและการบริการ รวมทั้งกิจกรรมสนับสนุนของทางภาครัฐที่เป็นกฎระเบียบในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างคุณค่าของประเทศในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเพื่อสร้างให้เกิดความยืดหยุ่นในระบบลอจิสติกส์และการพัฒนาปรับปรุงระบบลอจสติกส์เพื่อที่จะสนับสนุนให้โซ่อุปทานของประเทศสามารถปรับตัวและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน


ผมคิดว่าเราเดินกันมาทางนี้ ไม่ผิดหรอกครับ มันเป็นไปตามกระแสโลก ความคิดเราก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรหรอกครับ ทุกประเทศก็มีแนวคิดเรื่องลอจิสติกส์และโซ่อุปทานกัน มันเป็นเรื่องสากล ทุกคนรู้และเข้าถึงข้อมูลและแหล่งความรู้ได้เหมือนๆกันและเท่าๆ กัน แต่เราจะเหนือกว่าคนอื่นๆเขาได้ เราก็ต้องเข้าใจในเรื่องนั้นให้ลึกซึ้งกว่าคนอื่นๆ เพื่อที่จะประยุกต์ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการอยู่รอดอย่างยั่งยืน