วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชุม 6 สถาบัน -- 6.รัฐบาลในมุมมองของโซ่อุปทาน (จบ)


รัฐบาลในมุมมองของโซ่อุปทาน

หลายคนมีมุมมองเรื่องการจัดการโซ่อุปทานว่าคงเป็นแค่แฟชั่น  เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเวลาผ่านไปก็คงจะหายไปเหมือนเทคนิคการจัดการอื่นๆที่ผ่านมา   แต่โซ่อุปทานนั้นคงไม่เหมือนกับเทคนิคการจัดการทั่วไป   ในอนาคตชื่ออาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น   แต่หลักคิดของความเป็นโซ่อุปทานนั้นยังคงอยู่และได้รับการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องเพียงแต่เราไม่รู้และยังไม่เข้าใจในหลักคิดของการจัดการโซ่อุปทานอย่างลึกซึ้ง   ถ้าจะคิดว่าโซ่อุปทานนั้นเป็นของจริงมากกว่าเทคนิคการจัดการอื่นๆ แล้ว  เราก็ต้องดูว่าเรามองเห็นโซ่อุปทานนั้นจากอดีตสู่ปัจจุบันและมองไปถึงอนาคตได้อย่างมีความเข้าใจและเห็นตัวตนของโซ่อุปทานได้มากเพียงไร

โซ่อุปทานประเทศสร้างคุณภาพชีวิต

ถ้าเรามองโซ่อุปทานประเทศ (Country Supply Chain) ว่าเป็นเหมือนองค์กรธุรกิจที่มีประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นลูกค้าด้วยในเวลาเดียวกัน  หรืออาจจะมองให้กว้างและครอบคลุมมากกว่าว่า  โซ่อุปทานนั้นเป็นระบบสังคม (Social System)  ถ้าเป็นประเทศก็เป็นสังคมสาธารณะขนาดใหญ่  ซึ่งมีสังคมสาธารณะขนาดเล็กๆ จำนวนมากเป็นองค์ประกอบ   สังคมขนาดเล็กก็มีองค์กรธุรกิจที่แสวงหาประโยชน์ให้กับองค์กรเอง  และในขณะเดียวกันก็มีองค์กรสาธารณะอื่นๆที่ไม่ได้แสวงหากำไรให้กับองค์กร   แต่พยายามที่สร้างกำไรหรือประโยชน์ให้กับสาธารณะ  ในเมื่อประเทศเป็นสังคมสาธารณะขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยสังคมธุรกิจทั้งขนาดใหญ่  กลางและเล็ก  สังคมสาธารณะต่างๆ รวมทั้งบุคคลธรรมดาทุกคนที่เป็นประชาชนและองค์กรในสังคมระดับประเทศจะต้องมีความมุ่งมั่นในผลประโยชน์ร่วมกัน   แต่ด้วยขนาดและความซับซ้อนที่เชื่อมโยงระหว่างทุกองค์ประกอบในสังคมทุกระดับ  ทำให้การอยู่ร่วมกันด้วยผลประโยชน์ร่วมกันเป็นไปได้ไม่ง่ายมากนัก
             
ในเมื่อประเทศเป็นสังคมที่สร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับประชาชน  เราก็สามารถที่จะพิจารณามองสังคมอย่างโซ่อุปทานได้  และมองไปถึงโซ่คุณค่าของประเทศ  แต่อาจจะมีคำถามว่าแล้วโซ่คุณค่าของประเทศ คือ อะไร?  ข้อเขียน “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งเป็นข้อเขียนที่เขียนโดย อ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์  สามารถอธิบายถึงโซ่คุณค่าของประเทศที่ประชาชนเป็นผู้ได้รับในฐานะลูกค้าและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโซ่คุณค่าประเทศ

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกฎหมาย หรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง  ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์

ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้ รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวย หรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่จะต้องมีขื่อ มีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรม และเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิด และวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาส รับเงินทุนจากต่างประเทศ มาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม  ผมต้องการให้ชาติของผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ในราคายุติธรรม

ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้นมีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่  ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่นๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ก็ได้โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก  ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชะอุ่ม สามารถมีบทบาท และชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัด งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า

ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ เมียผมก็ต้องการโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับผม และเราสองคนควรจะได้รับความรู้และวิธีการวางแผนครอบครัว เมื่อแก่ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใจในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตอง ในงานศพให้วุ่นวายไป  นี่แหละคือความหมายของชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน   สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ขอความสุขสวัสดีและสันติสุข จงเป็นของท่านทั้งหลาย และพระท่านกล่าวไว้ดังนี้เกี่ยวกับความสวัสดี “เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เรื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำเร็จอินทรีย์ และความเสียสละ”

จากข้อเขียนข้างต้น  ลองสังเกตดูว่า มีกระทรวงใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเราในโซ่คุณค่าแห่งชีวิตนี้   เราคงจะบอกได้ถึงหน้าที่หลักของรัฐบาลที่จะต้องบริหารและจัดการโซ่คุณค่าประเทศเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน  ซึ่งได้เลือกผู้แทนราษฎรขึ้นมาเพื่อใช้สิทธิ์ใช้เสียงแทนพวกเขาในการบริหารประเทศ   เราจึงมอง จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน นั้นเป็นโซ่คุณค่าที่รัฐบาลจะต้องมาบริหารจัดการและพัฒนาให้สอดคล้องตามกระแสโลกาภิวัฒน์   ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลไหนๆในโลกก็ตามก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าเหล่านี้ไปได้   และเป็นที่แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ดีจากการบริหารจัดการของรัฐบาลจะต้องกระจายออกไปในทุกส่วนทุกระดับของประชาชนในประเทศ   ในเมื่อประเทศมีโซ่คุณค่าที่เด่นชัดแล้ว   ก็จะต้องมีโซ่อุปทานซึ่งหมายถึง  กลุ่มผู้บริหารประเทศหรือผู้บริหารจัดการโซ่คุณค่า  ซึ่งก็คือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่กระจายกันออกไปบริหารจัดการตามกระทรวงต่างๆ เพื่อทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับประชาชนในทุกช่วงระยะชีวิตของประชาชนแต่ละคน

การรวมตัวของโซ่อุปทาน
             
เวลาที่เราพูดถึงโซ่อุปทาน หลายๆ คนก็นึกไปถึงในหลายๆ มุมมอง  แต่สำหรับผมนั้นเมื่อกล่าวถึงโซ่อุปทานผมจะหมายถึงความสามารถ (Competency) ของบุคคลหรือองค์กรที่มาปฏิบัติหรือมาดำเนินกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process)  ดังนั้นผู้ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลมาบริหารโซ่คุณค่าของประเทศก็ต้องมีความสามารถที่เหมาะสมในแต่ละกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าซึ่งจะต้องให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

เคยมีหลายความคิดที่ไม่เป็นกลางหรือมีอคติว่าประเทศไทยนั้นไม่จำเป็นต้องมีนโนบายของพรรคการเมืองตามที่โฆษณาหาเสียงกันอยู่  เพราะว่าประเทศเรานั้นมีหน่วยงานวางแผนอย่างสภาพัฒน์ฯ อยู่แล้ว   ไม่จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ต้องมีความสามารถอะไรมากมาย  มีนายกรัฐมนตรีไว้รับแขกบ้านแขกเมืองก็พอแล้ว  เราจะคิดกันอย่างนั้นไม่ได้  เพราะประเทศไม่ใช่แค่สังคมเล็กๆแบบครอบครัว  แต่ประเทศประกอบด้วยหลายๆครอบครัวที่มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป  จึงต้องมีการจัดการแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน  การเข้ามาบริหารจัดการประเทศไม่ใช่แค่ทำให้ประเทศดำเนินงานได้ไปวันๆ   แต่ต้องจัดการให้มีทิศทางในการพัฒนาและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน  ทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในโลกได้  การที่จะทำได้เช่นนี้นั้นก็ต้องมีผู้ที่เข้ามาบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรต่างๆในโซ่คุณค่าของประเทศและประสานผลประโยชน์ร่วมกันในโซ่อุปทานของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
             
การจัดตั้งรัฐบาลจึงเหมือนกับการก่อตัวหรือการรวมตัวกัน (Formation) ของความสามารถในการบริหารจัดการคุณค่าต่างๆ ในสังคมที่ประกอบกันเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน   หรือจะเปรียบเทียบได้กับการรวมตัวของนักดนตรีที่มีความสามารถโดดเด่นในการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชนิด  โดยมารวมตัวกันเป็นวงดนตรี  ไม่ใช่เหมือนกับการรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลแบบไทยที่มีสูตรการจัดตั้งรัฐบาลตามจำนวน ส.ส. ที่ได้  แต่มันก็เป็นวัฒนธรรมของการเมืองไทยมาโดยตลอด
             
แล้วเราจะทำการรวมตัวโซ่อุปทานได้อย่างไร?  ที่จริงแล้วการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นโซ่อุปทานนั้นไม่ใช่แค่การเอาแต่บุคคลหรือกลุ่มมารวมตัวกัน  แต่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายใหญ่ของโซ่อุปทาน  ก่อนอื่นเลยจะต้องรู้จักลูกค้าของประเทศเสียก่อนซึ่งก็ คือ ประชาชนของประเทศ  ต้องรู้ตำแหน่งของตัวเองหรือประเทศในสนามการแข่งขัน  รู้จักคู่ต่อสู้  เพราะประเทศต้องไปทำการค้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ  และที่สำคัญต้องรู้จักสถานภาพปัจจุบันของตัวเองว่ามีความแข็งแกร่งตรงไหนและมีจุดอ่อนอย่างไรในกระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนของประเทศ  ลองเปรียบเทียบกับการตั้งวงดนตรีสักวงหนึ่ง  คุณจะต้องเลือกกลุ่มผู้ฟังเพลงเพื่อกำหนดลักษณะของเพลงว่าจะอยู่ในประเภทไหนบ้าง  นักดนตรีจะเป็นใครบ้างที่จะมาร่วมวงกัน   หัวหน้าวงดนตรีและผู้จัดการวงจะเป็นใครดี  แล้วแผนการดำเนินการพัฒนาเพลงออกมาเป็นอัลบั้มและการแสดงทัวร์คอนเสิร์ตรวมทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้วงดนตรีและบริษัทค่ายเพลงอยู่รอดได้ในธุรกิจ

รัฐบาลต้องคิดอย่างองค์รวม
             
โดยหลักคิดแล้วไม่ว่าโซ่อุปทานไหนๆ ก็มีหลักคิดเชิงโซ่อุปทาน (Supply Chain Thinking) เหมือนกันหมด  เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันในประเด็นของลักษณะของลูกค้า   และลักษณะของผลิตภัณฑ์   ประเด็นทั้งสองนี้จะไปกำหนดโซ่คุณค่าและโซ่อุปทาน   การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจการค้า  สังคม  เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคม   ถ้าผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลสามารถมองปัญหาอย่างองค์รวมแบบโซ่อุปทานได้   ก็น่าจะสามารถตีประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ว่าประชาชนของประเทศเป็นใครบ้าง   ความต้องการพื้นฐานของประชาชนในเวลานี้และในอนาคตมีอะไรบ้าง  ภาวะกดดันทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเข้ามามีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไรบ้าง  จะต้องวางแผนอย่างไร   จะต้องมองไปข้างหน้าอย่างไร   จะต้องปรับตัวอย่างไร  จะต้องตัดสินใจอย่างไร   สุดท้ายที่สำคัญเมื่อมารวมตัวกันแล้วจะทำงานร่วมกันอย่างไร (Collaboration) ให้ลองสังเกตนโนบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เราได้ฟังมาในช่วงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่ามีส่วนที่สะท้อนหรือเกี่ยวเนื่องกับความเป็นองค์รวมสำหรับโซ่อุปทานประเทศหรือไม่
             
หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศของเราก็มีอยู่แล้ว   ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ ในการบริหารจัดการประเทศของเราก็มีพร้อมอยู่แล้ว   แต่ว่าทำไมเรายังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งขันในโลกและโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ เรา  ทั้งๆ ที่เราก็มีการพัฒนาประเทศที่ดีมาเป็นเวลานานแล้ว  แต่ทำไมเรากลับพัฒนาตามโลกไม่ทัน  พัฒนาช้าไป หรือไม่ก็เป็นการพัฒนาไปไม่ถูกทาง  ทั้งๆ ที่เราก็มีโครงสร้างโซ่อุปทานประเทศเหมือนกันกับประเทศอื่นๆ และเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง   และหลายๆ อย่างที่เรามีก็ดีกว่าเสียอีก  แต่ทำไมเรากำลังจะสู้เขาไม่ได้



ประเทศไทยเรายังขาดการคิดแบบองค์รวม (Holistic) แต่เรายังอยู่รวมกันเป็นประเทศ   ก็ยังดีที่ไม่ต่างคนต่างแยกกันอยู่   ปัญหาก็ คือ คงจะตายร่วมกันในอนาคตเป็นแน่   แต่คิดว่าคงจะไม่เป็นเช่นนั้น  ถ้าเราช่วยกันคิดช่วยกันทำ   ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเหมือนกับทีมฟุตบอลที่รวมเอาผู้เล่นที่มีความสามารถมารวมกันเป็นทีมเหมือนทีมอื่นๆ   แต่ไม่มีการจัดการโซ่อุปทานซึ่งไม่ใช่เป็นแค่มุมมองหนึ่งการจัดธุรกิจในอดีตที่เป็นการควบคุมและตรวจสอบ   หรือเป็นในลักษณะเชิงรับ (Reactive) มากกว่าเชิงรุก (Proactive)   ปัจจุบันในการจัดการไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือประเทศจะต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงอย่างก้าวกระโดด (Breakthrough)  เพื่อความอยู่รอด   แต่บางคนอาจจะแย้งว่าเราควรจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง  ไม่ควรจะก้าวกระโดด  ที่จริงแล้วเรายังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในอีกหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในตัวเองในเรื่องความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ก็ให้ลองกลับไปอ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10  ว่ามีพื้นฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง  ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในระบบตลาดเสรีทุนนิยม  สิ่งนี้อาจจะแสดงให้เราเห็นว่าเรายังใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก หรือไม่ก็คงไม่เข้าใจในแก่นของปรัชญาดีพอ   ถ้าเราเข้าใจโซ่อุปทานก็จะพบว่าแก่นของการจัดการโซ่อุปทานที่ดีนั้นก็มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแฝงอยู่ด้วย

แต่ในภาวะของเศรษฐกิจที่เป็นพลวัตอย่างนี้   เราก็ควรจะต้องมองเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นพลวัตเช่นกัน  ประเด็นของการจัดการโซ่อุปทานในอดีตก็แฝงตัวอยู่ในการจัดการองค์กรธุรกิจของแต่ละองค์กรแบบตัวใครตัวมัน  แต่แรงกดดันจากทุกด้านในปัจจุบันผลักดันให้ผู้บริหารองค์กรจะต้องมองอย่างโซ่อุปทาน   มองอย่างองค์รวม  มองทั้งจากภายนอกจนถึงข้างในองค์กร  ที่สำคัญการมองอย่างองค์รวมเป็นการมองให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมาในสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

ลองมาพิจารณาที่ทีมฟุตบอลซึ่งมีแต่นักฟุตบอลที่เก่งๆ  แต่อาจจะพ่ายแพ้ต่อทีมที่มีนักฟุตบอลซึ่งไม่ได้มีฝีมือมากมายนัก  แต่กลับมีแผนการเล่นที่เป็นหนึ่งเดียวสามารถควบคุมได้ทั้งทีม  ดังนั้นความเป็นองค์รวมจึงต้องการความเป็นหนึ่งเดียว   มีเป้าหมายร่วมกัน   สังคมจะมีความเป็นองค์รวมได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกของสังคมมีเป้าหมายเดียวกัน   ไม่ใช่มีแต่ความแตกแยก   โดยเฉพาะประเทศไทยในเวลาเช่นนี้ที่เรามักจะพูดถึงความแตกแยก  สังคมแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย  หลายคนอยากให้มีความสมานฉันท์กัน   ที่จริงแล้วไม่ว่าสังคมหรือระบบใดก็ตามทั้งในธรรมชาติและในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก็ย่อมจะประกอบด้วยความแตกต่างกันทั้งสิ้น  จึงเกิดเป็นความหลากหลายที่สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์และธรรมชาติเอง    สังคมหรือระบบต่างๆ เกิดมาจากองค์ประกอบหลายๆ องค์ประกอบที่มีความแตกต่างกัน   ดังนั้นทุกสังคมหรือทุกองค์กรในโลกนี้มีความแตกต่าง มีฝ่ายกันทั้งนั้น  แต่ทำไมสังคมอื่นๆ เขาจึงไม่มีความแตกแยกกัน

ที่เราพูดๆ กันมากในเรื่องความแตกแยก   บางครั้งอาจจะทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราทุกคนต้องมีความคิดเหมือนกัน   ซึ่งที่จริงแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น  ที่เราแตกแยกกัน ก็เพราะว่าเรามีความคิดที่หลากหลายแต่เราขาดแกนนำหรือผู้ที่จะมาเป็นคนที่ผสมผสานหรือบูรณาการความคิดทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน  ทำให้ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นผลประโยชน์ของทุกคนด้วย  แต่ก็อาจจะไม่ได้อย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกัน   แต่จะต้องจัดสรรและกระจายไปให้เหมาะสมตามสัดส่วนการมีส่วนร่วมในโซ่คุณค่าและสภาวะการณ์แวดล้อม   ไม่ใช่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากเกินไป  จนทำให้ระบบโซ่อุปทานที่ควรจะพัฒนาไปได้ด้วยการรวมเอาแต่ละฝ่ายที่เก่งกันคนละอย่างมาทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวมไม่สามารถดำเนินการและพัฒนาไปได้

ผู้นำโซ่อุปทาน : ผู้สลายความแตกแยก
             
ในปัจจุบันระบบธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจไม่ได้ถูกผลักดันด้วยภาวะผู้นำองค์กรธุรกิจเหมือนอดีต  เพราะว่าบริบทของธุรกิจในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง  ดังนั้นผู้นำในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจหรือประเทศไทยก็ตามจะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดเสียใหม่ (Paradigm)  เหมือนหนังสือ  The World is Flat  ที่พยายามจะบอกว่าโลกนั้นไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว   เช่นกัน  ผู้นำรัฐบาลในยุคนี้คงจะต้องมองจากภายนอกสู่ภายใน  ความเข้าใจในบริบทของโลกาภิวัฒน์เป็นประเด็นที่สำคัญของผู้นำประเทศในยุคนี้ไม่ว่าประเทศไหนๆก็ตาม   ในขณะเดียวกันผู้นำรัฐบาลก็ต้องมีความเข้าใจในสภาพหรือสถานะของโซ่อุปทานประเทศว่าอยู่ในตำแหน่งใดและสถานะใด   มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกอย่างไร  วิสัยทัศน์ในการจะนำพาประเทศและปรับปรุงพัฒนาประเทศไปถึงที่เป้าหมายท่ามกลางการแข่งขันในระดับโลกได้อย่างไร

ส่วนนักการเมืองก็คือ นักการเมือง   ผู้นำผู้บริหารประเทศก็ต้องเป็นนักการเมืองในอีกบทบาทหนึ่งที่ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการมากกว่า   ไม่ใช่แค่ตัวแทนของประชาชนในสภาเท่านั้น   ผู้นำและคณะผู้บริหารประเทศจะต้องมีมุมมองเชิงโซ่อุปทานและประสานผลประโยชน์ของผู้ร่วมรัฐบาลและผลประโยชน์ของชาติ   แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นกันนั้นเป็นการประสานผลประโยชน์ส่วนตัวให้ลงตัวกันเสียก่อน    แล้วรัฐบาลก็อยู่ไม่รอดซึ่งก็เป็นเพราะว่าผลประโยชน์ส่วนตัวไม่ลงรอยกันเอง   แล้วยังกระทบไปยังผลประโยชน์ส่วนรวมจนสุดท้ายก็ต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่เลือกตั้งใหม่
             
ทำไมผู้นำรัฐบาลของประเทศเรายังไม่สามารถสลายความแตกแยกได้   หรือพูดในอีกมุมหนึ่งได้ว่ายังไม่ประสานรวมความคิดที่แตกต่างให้เข้ากันได้  และต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับทุกคน  อย่าลืมว่าเรื่องของโซ่อุปทานนั้นมีแกนอยู่ที่การตัดสินใจในแต่ละฝ่ายแต่ละฟังก์ชั่นที่ทำงานร่วมกัน  ไม่ใช่อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานหรือเทคโนโลยี  โซ่อุปทานที่ดีนั้นอยู่ที่ความสามารถในการคิดอ่านหรือตัดสินใจ  หรือ Supply Chain Intelligence   ความสามารถตรงนี้มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ดีที่สุด  ไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดจะมาทดแทนได้   แต่เทคโนโลยีถูกมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานแทนมนุษย์    ดังนั้นประเทศใดที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง  ประเทศนั้นจะมีความชาญฉลาดเชิงสังคม  (Social Intelligence) สูง  ซึ่งหมายถึงความสามารถของแต่ละบุคคลที่ร่วมกันคิดร่วมกันทำเพื่อส่วนรวม  ในขณะที่สังคมหรือประเทศมีความซับซ้อนมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา  ความเก่งหรือความสามารถในการคิดอ่าน  การเรียนรู้และการให้เหตุผลก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้น   ความสามารถเช่นนี้ คือ ความฉลาดเชิงสังคมที่สามารถนิยามได้ว่าเป็นความสามารถที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมและการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มคน   ดังนั้นโซ่อุปทานจึงเป็นเรื่องของคนหลายคนที่มาสร้างประโยชน์ร่วมกัน  ซึ่งดีกว่าคนเดียวหรือต่างคนต่างทำ

ความชาญฉลาดเชิงสังคม
             
การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นมากกว่าการจัดสรรผลประโยชน์ส่วนพรรค (ทั้งพรรคการเมืองและพรรคพวก)  ในมุมมองของโซ่อุปทาน  ความสามารถของโซ่อุปทานขึ้นอยู่กับความชาญฉลาดของโซ่อุปทานซึ่งก็ คือ ระบบสังคมแบบหนึ่ง  ดังนั้นโซ่อุปทานก็ควรจะมีความชาญฉลาดในการสร้างสรรค์คุณค่า    เช่นเดียวกับสังคมระดับประเทศที่เป็นโซ่อุปทาน ก็จะต้องมีความชาญฉลาดเชิงสังคมเพื่อที่จะตัดสินใจในกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคม   มีนักเขียนนักวิชาการหลายท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่หลายเล่ม  ส่วนใหญ่มองในมุมของจิตวิทยาส่วนบุคคลที่มีต่อสังคมภายนอกและการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือมองจากภายในไปสู่ภายนอก   แต่ในมุมมองของนักจัดการโซ่อุปทานนั้นความชาญฉลาดเชิงสังคมของโซ่อุปทานจะต้องมองจากภายนอกสู่ภายใน  โดยมีลักษณะเชิงรุก (Proactive) มากกว่า   เพราะว่าเมื่อโซ่อุปทานเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทธุรกิจและเศรษฐกิจสังคม    ผู้นำโซ่อุปทานจะต้องกลับมากำหนดความสามารถหรือปรับปรุงความสามารถของทีมงานหรือสมาชิกในสังคมเพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้   การกระจายงานหรือการแบ่งงานกันทำในลักษณะการวิเคราะห์โซ่คุณค่าแล้วกระจายออกไปตามแผนกหรือฝ่าย   หรือไม่ก็ Outsource ออกไปให้บริษัทภายนอกที่สามารถทำได้ดีกว่ารับไปทำในฐานะหุ้นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทาน

ดังนั้น ทุกคนในโซ่อุปทานจะต้องมีความชาญฉลาด (Intelligence) ในการเรียนรู้และการให้เหตุผล  เพื่อสร้างความสามารถใหม่ (New Competency) ให้สอดคล้องกับคุณค่าใหม่ที่ลูกค้าต้องการ   และความสามารถเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกันไปทั่วทั้งโซ่อุปทานด้วยการทำงานร่วมกัน (Collaboration) แล้วลองคิดดูว่า โซ่อุปทานของรัฐบาลในแต่ละชุดมีความชาญฉลาดเชิงสังคมมากน้อยแค่ไหน  ทั้งที่ทุกคนในคณะรัฐมนตรีมีความชาญฉลาดส่วนบุคคลที่ดีทั้งนั้น  แต่ขาดความชาญฉลาดเชิงสังคมหรือเชิงกลุ่มซึ่งจะต้องเกิดจากภาวะผู้นำของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย   ผมก็หวังว่าสังคมไทยก็น่าจะมีความหวังในการพัฒนาความชาญฉลาดเชิงสังคมให้เพิ่มมากขึ้น  รัฐบาลจะได้ฉลาดขึ้น  ผลประโยชน์จะได้ตกเป็นของประชาชนส่วนใหญ่

การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ :  การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา  สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน  มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 2331 สิงหาคม 2554

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โซ่อุปทานหนังสือคืออะไร การจัดการโซ่อุปทานหนังสือจะเริ่มอย่างไร


ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง 
และ อี ไอ สแควร์ สำนักพิมพ์

หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า Demand และ Supply และเข้าใจกันอยู่บ้างแล้วว่าหมายถึงอุปสงค์และอุปทาน ตามลำดับ  และแม้ว่าหลายคนก็ได้ยินคำว่า Supply Chain หรือ โซ่อุปทาน มากขึ้นๆ  ผมยังเชื่อว่าคงมีคำถามอยู่ว่าคืออะไรกัน...

โซ่อุปทาน (Supply Chain) คือ เครือข่ายของหุ้นส่วนธุรกิจ ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงผู้บริโภค และรวมการผลิต การจัดจำหน่าย การขนส่ง การค้าส่ง การค้าปลีก และผู้จัดส่งวัตถุดิบรายอื่นๆ ที่มีส่วนในการผลิต จัดส่ง และขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ  (คำนิยามจาก Council of Supply Chain Management Professional: CSCMP)  เครือข่ายเหล่านี้สร้างคุณค่า (Value หรือประโยชน์ หรือผลิตภัณฑ์/บริการก็ได้) โดยกระบวนการสร้างคุณค่าซึ่งมี 2 ขั้นตอน คือ การวางแผนและการดำเนินการ  ซึ่งกิจกรรมในการดำเนินการนี้ก็จำแนกได้ 2 ประเภท คือ กิจกรรมการผลิต (Make) กิจกรรมลอจิสติกส์ (Move)    สมาชิกในโซ่อุปทานจะเป็นผู้สร้างคุณค่าเหล่านี้และเคลื่อนย้ายมารวมกันจนเป็นคุณค่าสุดท้ายที่ลูกค้าต้องการ    กิจกรรมลอจิสติกส์ (Logistics) เป็นกิจกรรมภายในโซ่อุปทานที่เกิดจากการวางแผน ดำเนินการ และควบคุมเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากร (ซึ่งหมายถึงทั้งจัดหา จัดเก็บ จัดส่ง การบริการต่างๆ และสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง) ที่จำเป็นสำหรับการนำส่งคุณค่า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดที่มีการใช้หรือบริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ    ลอจิสติกส์จึงไม่ได้ถูกตีกรอบว่าอยู่ในบริบทของการขนส่ง การจัดเก็บและการกระจายสินค้าอย่างเช่นที่มักเข้าใจกันเท่านั้น แต่อยู่ในบริบทของกระบวนการธุรกิจตั้งแต่ต้นทางของทรัพยากร ไปจนถึงปลายทางที่มีการบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ และมองแบบนามธรรมว่าเป็นการไหลของคุณค่า แทนการไหลของสินค้าหรือวัตถุดิบ

โซ่อุปทานหนังสือ (Book Supply Chain) จึงหมายถึง เครือข่ายของบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินกระบวนการต่างๆ ร่วมและต่อเนื่องกันเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาและผลิตออกมาเป็นหนังสือ  โดยหลักๆ แล้วประกอบไปด้วย นักเขียน/นักแปล สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และร้านหนังสือ   อย่างไรก็ตาม ยังคงมีโซ่อุปทานของคุณค่าอื่นๆ ประกอบกันเป็นโครงข่ายโยงใยนอกเหนือจากนี้อีก เช่น มีโซ่อุปทานกระดาษซึ่งประกอบด้วย ชาวไร่ปลูกต้นไม้ และโรงงานกระดาษ เป็นต้น

สมาชิกในโซ่อุปทานเหล่านี้จะสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น นักเขียนผลิตงานเขียนออกมา สำนักพิมพ์ก็ตรวจแก้และจัดทำเป็นต้นฉบับที่พร้อมเข้าสู่โรงพิมพ์ โรงพิมพ์พิมพ์หนังสือออกมาเป็นรูปเล่ม ผู้จัดจำหน่ายกระจายหนังสือไปให้ถึงร้านหนังสือที่เป็นจุดค้าปลีกที่เหมาะสม  คุณค่าเหล่านี้เป็นทั้งคุณค่าเชิงผลิตภัณฑ์ (คือทำให้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์มากขึ้นๆ)  และคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ (คือเก็บรักษาคงสภาพผลิตภัณฑ์หรือเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ให้ใกล้ลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ) รวมเป็นผลิตภัณฑ์สมบูรณ์ตามที่ลูกค้าต้องการ ในสถานที่และเวลาที่ลูกค้าต้องการ

โซ่อุปทานเกิดขึ้นเพราะความต้องการของลูกค้ามีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น จนเราไม่สามารถสร้างคุณค่าที่ซับซ้อนหรือมีองค์ประกอบมากมายได้ด้วยองค์กรเดียว นอกจากนี้ เราอาจไม่มีความสามารถ (ความเก่ง) ในการทำทุกกระบวนการได้ดีด้วยองค์กรเดียว จึงต้องแบ่งคุณค่าต่างๆ ออกไปให้ผู้สร้างคุณค่าอื่นๆ ร่วมกันสร้างคุณค่า แล้วจึงเคลื่อนย้าย (ลอจิสติกส์) มาบูรณาการกันเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย

ภาพอย่างง่ายของโซ่อุปทานและโซ่คุณค่าหนังสือ

แม้แต่ในองค์กรเดียวกัน ยังต้องแบ่งเป็นฝ่ายเป็นแผนกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายการตลาด/ขาย ฯลฯ ฝ่ายต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นโซ่อุปทานภายในองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างคุณค่าเพิ่มหรือสนับสนุนการสร้างคุณค่า แล้วจึงเคลื่อนย้าย (ลอจิสติกส์) มาบูรณาการกันเป็นผลิตภัณฑ์ขององค์กร

กิจกรรมในการดำเนินการที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่า (กิจกรรมที่ไม่ใช่การผลิต หรือ Make) ล้วนเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ หรือ Move ทั้งสิ้น    ลอจิสติกส์เป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงการจัดการการไหลของคุณค่าไปสู่ลูกค้า ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่การจัดซื้อ การจัดการผลิต การจัดเก็บ การขนส่งและการกระจายสินค้า การค้าปลีก และการบริการลูกค้า ฯลฯ รวมทั้ง เป็นได้ทั้งลอจิสติกส์ภายในองค์กรและลอจิสติกส์ระหว่างองค์กร

ประเด็นสำคัญคือ กิจกรรมลอจิสติกส์ต่างๆ ต้องมีเป้าหมายเพื่อนำส่งคุณค่าให้ถึงมือลูกค้าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์คนสุดท้ายเท่านั้น    การขนส่งจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ดังเช่นที่ผู้จัดจำหน่ายใช้บริการของผู้ให้บริการ (ไม่ว่าชื่อบริษัทจะลงท้ายว่า "ลอจิสติกส์" หรือไม่ก็ตาม) ที่รับขนส่งไปยังร้านหนังสือในต่างจังหวัด ถึงจุดหมายแล้วจบหน้าที่ โดยที่ไม่ได้คำนึงว่าสิ่งที่ส่งนั้นคืออะไร ลูกค้าคนสุดท้ายคือใคร  สภาพหนังสือที่ได้รับจะอยู่ในสภาพที่ดีที่เขาพึงพอใจหรือไม่  ทันเวลาตามที่เขาต้องการหรือไม่นั้น จึงยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์อย่างแท้จริง   การจัดการลอจิสติกส์ที่ดีจะเกิดขึ้นได้จากการจัดการโซ่อุปทานที่ดีเท่านั้น

การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) คือ การบูรณาการของกระบวนการธุรกิจหลักๆ ตั้งแต่ผู้ใช้ปลายทางไปจนถึงผู้จัดหาวัตถุดิบตั้งต้นที่จัดหาผลิตภัณฑ์ บริการ และข้อมูลที่เพิ่มคุณค่าให้แก่ลูกค้าและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่นๆ (Lambert และคณะ, 1998)  คือ กระบวนการและเครื่องมือในการปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกัน ที่ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ภายในโซ่อุปทานผ่านการสื่อสารส่วนตัวและการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองและข้อมูลที่สำคัญต่อพันธกิจ ทั้งข้อมูลสารสนเทศของการขาย การพยากรณ์ การวางแผน การจัดซื้อ และการเติมเต็ม โดยมีวัตถุประสงค์สูงสุดคือการเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน และเพิ่มกำไร โดยการทำให้มั่นใจว่ามีการนำส่งผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง ไปยังสถานที่ที่ถูกต้อง ในเวลาที่ถูกต้อง   โดยหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกัน ทำให้ไม่มีการแข่งขันระหว่างบริษัทอีกต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นการแข่งขันระหว่างโซ่อุปทาน (Tompkins Associates, 2000)

ดังนั้น เมื่อกลุ่มผู้สร้างคุณค่าในโซ่อุปทาน "ทำงานร่วมกัน วางแผนงานร่วมกัน" เพื่อให้เกิดเป็นแผนการดำเนินงานในโซ่อุปทาน ทั้งในด้านแผนการผลิต (สร้างคุณค่า) และทั้งแผนลอจิสติกส์ (เคลื่อนย้ายคุณค่า) ซึ่งสมาชิกในโซ่อุปทานภายในองค์กรแต่ละคนที่มีหน้าที่ต่างๆ ตามข้อตกลงที่มีร่วมกันที่จะนำแผนโซ่อุปทานมาเป็นแผนหลักในการจัดการ แผนการจัดหา แผนการผลิต แผนการจัดเก็บ แผนการจัดส่ง แผนการขาย  เมื่อทุกคนในโซ่อุปทานขององค์กรมีแผนเดียวกัน การดำเนินงานภายในองค์กรก็น่าจะสอดคล้องกัน

ในทำนองเดียวกัน ถ้าในโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ (หรือโซ่อุปทานระหว่างองค์กร) มีแผนโซ่อุปทานเดียวที่ได้รับการกำหนดและตกลงร่วมกัน ก็ย่อมสามารถทำให้สมาชิกของโซ่อุปทาน (ซึ่งก็คือบริษัทแต่ละบริษัท) สามารถวางแผนและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกันทุกบริษัทในโซ่อุปทาน   ลักษณะของโซ่อุปทานแบบนี้ หมายถึง สถานะภาพของความเป็นองค์กรเสมือน (Virtual Organization) หรือทำงานร่วมกันเสมือนเป็นองค์กรเดียวกัน ที่สามารถสร้างคุณค่าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการออกมาตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า  ความเป็นองค์กรเสมือนนี้ประกอบไปด้วยองค์กรย่อยๆ หรือหน่วยงานย่อยๆ ที่เชื่อมต่อกันอย่างหลวมๆ เพื่อความยืดหยุ่น (Flexible) และการปรับตัว (Adapt) ด้วยเป้าหมายร่วมกันในการสร้างคุณค่าเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

ในอุตสาหกรรมหนังสือไทยก็มีตัวอย่างให้เห็นว่าหลายองค์กรมีการบูรณาการข้ามหน่วยงานเพื่อสร้างโซ่อุปทานของตนให้ครอบคลุมขึ้น (บางแห่งเมื่อรวมบริษัทในเครือแล้ว มีตั้งแต่โรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย จนไปถึงร้านหนังสือ)  ตามหลักแล้วก็เพื่อใช้ประโยชน์ของการเป็นองค์กรเดียวกันในการทำงานร่วมกันมากขึ้น วางแผนและแบ่งปันข้อมูลกันได้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดการโซ่อุปทานในองค์กรให้ดีขึ้นนั่นเอง

ประเด็นของการทำงานร่วมกัน (Collaboration) หมายถึง การวางแผนและตัดสินร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงแค่ร่วมมือกัน (Cooperation) แต่จะต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดและรับชอบในผลงานของทั้งเครือข่าย  ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อสมรรถนะ (ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความสามารถในการปรับเปลี่ยน) ของเครือข่ายโซ่อุปทาน มองเครือข่ายโซ่อุปทานเดียวกัน  ไม่ใช่มองกันแบบแยกส่วน (Silo) ทำเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงานหรือองค์กรตนเองเป็นหลัก สิ่งที่สำคัญคือจะต้องเห็นผลประโยชน์ของเครือข่ายโซ่อุปทานเป็นหลักแทน  เพราะว่าถ้าเครือข่ายโซ่อุปทานไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้แล้ว สมาชิกทั้งเครือข่ายก็จะมีปัญหาตามมาอีก  ถ้าคุณค่าที่อยู่ในรูปของสินค้าและบริการสามารถขายได้ ทั้งเครือข่ายก็อยู่รอด แต่ถ้าขายไม่ได้ ทั้งเครือข่ายก็ไม่อยู่รอด

การทำงานร่วมกันจะกำหนดข้อตกลงและรูปแบบการดำเนินการที่สมาชิกในโซ่อุปทานทำและสื่อสารระหว่างกัน จะมีข้อมูลสารสนเทศอะไรบ้างที่แต่ละฝ่ายจะได้รับ ในเวลารวดเร็วเพียงใด ถ้าประเด็นการสื่อสารนี้มีปัญหาหรือไม่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในการสร้างคุณค่าที่มีผลต่อการดำเนินงานแล้ว โซ่อุปทานจะมีปัญหาในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้  ข้อมูลเหล่านี้จะมีผลต่อการดำเนินงาน (Execution) ของกระบวนการในโซ่อุปทาน  แม้จะมีการตัดสินใจที่ดีแต่หากอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือล่าช้า ก็จะส่งผลให้การไหลของคุณค่าไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า  ทำให้เกิดภาวะที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการไม่เพียงพอ หรือมีมากเกินไป  นอกจากนี้ ข้อมูลสมรรถนะ (ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความสามารถในการปรับเปลี่ยน) ที่อยู่ในรูปของดัชนีชี้วัด (KPI) ต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายใช้ จะประเมินว่ากิจกรรมต่างๆ เชิงลอจิสติกส์ที่ส่งผลของการไหลของคุณค่า หรือการนำส่งผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นสามารถดำเนินการตามที่คาดหวังหรือตกลงร่วมกันได้หรือไม่  กล่าวคือ ดี คือ นำส่งและคงรักษาผลิตภัณฑ์ได้ในสภาพที่ดี (ทั้งส่งผลิตภัณฑ์ขาไปและขากลับเป็นสินค้าคืน) ไม่ผิดพลาดจากการนำส่ง;  เร็ว คือ นำส่งได้ทันเวลาตามที่ต้องการ; ถูก คือ นำส่งด้วยต้นทุนการดำเนินการที่สมเหตุผล

ลองหันกลับมามองโซ่อุปทานหนังสือไทย โดยเฉพาะในส่วนของการกระจายหนังสือผ่านผู้จัดจำหน่าย ผ่านร้านหนังสือ ไปยังลูกค้าที่เป็นผู้อ่าน  นอกจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างคู่ค้าที่ชัดเจนคือส่วนลดการค้าและวิธีการเก็บเงินแล้ว พวกเราได้ทำงานร่วมกัน วางแผนงานร่วมกัน มีข้อตกลงในรูปแบบการทำงาน ข้อมูลสารสนเทศที่ต้องสื่อสารระหว่างกันอย่างไรบ้าง  พวกเราใช้หลักการ ข้อมูล และเครื่องมือใดเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ตัดสินใจ  พวกเราประเมินสมรรถนะการทำงานจากดัชนีชี้วัดใดบ้างที่นอกเหนือจากยอดขายและตัวเลขกำไรแล้ว  แล้วเรานำผลดัชนีชี้วัดนั้นมาสร้างมาตรการในการแก้ไขปรับปรุงทั้งภายในและระหว่างองค์กรอย่างไร   การจัดการโซ่อุปทานหนังสือที่ดีจึงควรเริ่มที่จุดนี้...

ประชุม 6 สถาบันฯ -- 5.สร้างยุทธศาสตร์ชาติด้วยการคิดอย่างโซ่อุปทานและลอจิสติกส์


สร้างยุทธศาสตร์ชาติด้วยการคิดอย่างโซ่อุปทานและลอจิสติกส์

จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในบริบทของสังคมโลกจึงทำให้มีความเป็นพลวัตหรือมีความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและสังคมอยู่ตลอดเวลา แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ก็ได้รับการตอบรับมากขึ้นเป็นลำดับ และได้รับความสนใจในระดับนโยบายระดับชาติ แต่ละหน่วยงานในระดับกระทรวงหรือ กรมต่างๆ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ศึกษาและหาข้อมูลต่างๆ  เพื่อที่จะกำหนดแนวทางและนโยบายด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในระดับชาติเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ในระดับชาติ

คุณค่าของความเป็นชาติ
             
เมื่อพูดถึงความเป็นชาติแล้ว ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ไทยในมุมต่างๆ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่อยมา แต่คุณค่า (Value) ของชาตินั้น สามารถที่จะมองได้ในเชิงเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของคนในชาติที่อยู่รวมกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันและมีสัญลักษณ์ของความเป็นพวกเดียวกัน ชนในชาตินั้นก็จะถูกผลักดันด้วยวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้เกิดการสร้างและพัฒนาความเจริญของชาติ ดังนั้นคุณค่าของชาติถ้าวัดในเชิงขนาดของเศรษฐกิจก็สามารถวัดได้ที่ GDP และความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ

แนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างชาติ และมีอิทธิพลโดยตรงต่อโซ่คุณค่า (Value Chain) ของประเทศนั้น แต่ละประเทศก็มีคุณค่า (Value) แตกต่างกันออกไป   ประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากก็จะสร้างผลิตผลทางการเกษตรออกมา บางประเทศที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากก็จะมีแหล่งอุตสาหกรรมในการแปรรูปวัตถุดิบเพื่อการส่งออกและใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ บางประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากก็จะใช้พื้นที่และแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อบริการแก่นักท่องเที่ยวเป็นหลัก บางประเทศก็อาจจะมีคุณค่าต่างๆ มากกว่าหนึ่งคุณค่าตามความหลากหลายในความสามารถของคนภายในประเทศ ในแต่ละคุณค่าก็จะมี  Value Chain  หรือ โซ่คุณค่าของแต่ละชนิดแตกต่างกันไป
สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการทำวิจัยและกำหนดคุณค่าหรือกลุ่มสินค้าที่สามารถพัฒนาให้มีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรม ICT  อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและแฟชั่น   เป็นที่แน่นอนว่าการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อที่จะผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์สินค้าไปสู่ลูกค้ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากิจกรรมการผลิตเลย ในมุมมองของประเทศหรือชาติ ลูกค้าของอุตสาหกรรมจะมีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหรือตลาดโลก   ดังนั้นโจทย์ของยุทธศาสตร์ชาติในด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานควรจะสนับสนุนการสร้างคุณค่าและการส่งมอบคุณค่าเหล่านี้ต่อลูกค้า (Value Creation and Value Delivery)  

บทบาทของภาครัฐ

โดยปกติภาครัฐไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อโซ่คุณค่าและโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์   แต่ถ้ามองให้ดีแล้วภาครัฐจะเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากและยังเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อโซ่คุณค่านั้นๆ ซึ่งจะเป็นเหมือนจุดมุ่งหมายของภาครัฐในการสร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศ ภาครัฐนั้นจะอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนในการสร้างคุณค่านั้นๆ ออกมา  ให้ลองพิจารณาประเทศหนึ่งๆซึ่งเป็นบริษัทที่มีประชาชนทุกคนเป็นผู้ถือหุ้น โดยที่ประชาชนแต่ละคนก็ต้องเสียภาษีเงินได้ทุกปีเปรียบเสมือนค่าหุ้น เหมือนดังที่นักการเมืองทุกคนจะพูดว่าประชาชนทุกคนคือ เจ้าของประเทศ

บทบาทของภาครัฐในโซ่คุณค่าแต่ละโซ่นั้นก็มีหลายบทบาท จึงจะเห็นได้ว่าหน่วยงานของรัฐนั้นแบ่งออกเป็นหลายกระทรวงแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ นั่นเป็นแนวคิดในอดีตซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานและตัดสินใจในการดำเนินการ ปัจจุบันการทำงานของกระทรวงต่างๆ ที่แบ่งเป็นหน้าที่ต่างๆ จะต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่การสร้างคุณค่าในแต่ละโซ่คุณค่าที่เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ  ดังนั้นบทบาทหนึ่งของภาครัฐ คือ การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่การสร้างคุณค่าในแต่ละโซ่คุณค่าต่างๆ ของธุรกิจและหน่วยงานที่อยู่ในประเทศและประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อให้เกิดประโยนช์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ  ในแบบจำลองโซ่อุปทานและโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ในประเทศสามารถแสดงได้ดังในรูปที่ 1 โซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ใดๆ สามารถที่จะแสดงอยู่ในลักษณะเป็นความเชื่อมโยง (Linkage) หรือโซ่ (Chain) หรือเครือข่าย (Network) ของความร่วมมือกันของผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต และผู้กระจายสินค้า จนสุดท้ายเป็นผลิตภัณฑ์หรือคุณค่าที่ได้ถูกส่งมอบไปถึงมือลูกค้า

กิจกรรมแรกเริ่มที่มีบทบาทในการค้าและอุตสาหกรรมของโลกก็คือ การขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ธุรกิจการขนส่ง ถือว่าเป็นธุรกิจลอจิสติกส์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกธุรกิจหนึ่ง ซึ่งต่อมาธุรกิจลอจิสติกส์ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมมาถึงการจัดเก็บและคลังสินค้า (Warehouse) จนทุกคนเข้าใจว่า ลอจิสติกส์นั้น คือ การขนส่งและการจัดเก็บในคลังสินค้า   แต่ที่จริงแล้วแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีขอบข่ายมากกว่าการขนส่งหรือการรับจัดเก็บสินค้า  จึงจะพิจารณาได้ว่าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมลอจิสติกส์ โดยที่ผู้ผลิตหรือผู้รับสินค้าไม่ได้เป็นผู้ดำเนินงานในการขนส่งหรือเคลื่อนย้าย แต่ว่าจ้างให้ผู้อื่นดำเนินการแทน ที่เห็นได้ชัดก็คือ รถขนส่งสินค้าต่าง ๆ สายเดินเรือ สายการบิน แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ากิจกรรมการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ที่อยู่นอกพื้นที่ปฏิบัติงานในบริษัทหรือโรงงาน รถขนส่งต่างๆ จะต้องเคลื่อนที่ไปบนถนนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบธุรกิจ แต่ก็คงจะไม่มีบริษัทเอกชนบริษัทไหนลงทุนสร้างถนนเอง   ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมาเป็นคนกลางสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในการขนส่ง  จากจุดนี้จะเห็นได้ว่ากระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในงานพัฒนาตรงนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าแผนงานลอจิสติกส์แห่งชาติที่ริเริ่มโดยกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานวางแผนทางด้านการขนส่งอื่น ๆ จึงออกมาในรูปแบบของแผนงานพัฒนาการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าลอจิสติกส์ไม่ได้หมายถึงการขนส่งจากโรงงานหนึ่งไปยังคลังสินค้าอีกโรงงานหนึ่งเท่านั้น แต่ลอจิสติกส์จะครอบคลุมการขนส่งและการเคลื่อนย้ายทั้งภายในและภายนอกองค์กรธุรกิจทั่วทั้งโซ่อุปทาน

หากเราเข้าใจลอจิสติกส์ดี  เราก็จะทราบว่า ที่ไหนมีลอจิสติกส์ก็ย่อมมีโซ่อุปทานตามมา แล้วโซ่อุปทานตรงการขนส่งระหว่างองค์กรมีอยู่ตรงไหนบ้าง  โซ่อุปทานสำหรับลอจิสติกส์ในช่วงการขนส่งระหว่างองค์กรก็คือ ข้อตกลงในซื้อขาย การโอนถ่ายความเป็นเจ้าของในตัวสินค้า และการส่งมอบคุณค่าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และการบริการ  จึงเห็นได้ชัดว่า เมื่อมีสังคมเกิดขึ้นก็จะต้องมีคนกลางซึ่งก็คือภาครัฐ  ในกรณีนี้กระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเรื่องการค้าขายระหว่างองค์กรจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการออกระเบียบวิธีการเพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานในการตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน เพื่อให้เกิดการขนส่งสินค้ากัน   ยิ่งในปัจจุบันการใช้อินเตอร์เน็ตมาช่วยให้การทำรายการทางธุรกิจ (Transactions)  มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ในรูปแบบของ E-commerce  ดังนั้นบทบาทในการจัดการโซ่อุปทานระหว่างองค์กรที่มีผลกระทบโดยตรงกับปริมาณการขนส่งบนโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นของกระทรวงพาณิชย์

บทบาทเหล่านี้ทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์มีผลกระทบต่อโซ่อุปทานโดยรวมของสินค้าทุกชนิด แต่มีข้อสังเกตง่ายๆ คือ กิจกรรมลอจิสติกส์ที่อยู่ภายนอกทรัพย์สินของบริษัทหรือองค์กรและเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่จะต้องใช้หรือปฏิบัติร่วมกัน ภาครัฐจะต้องเข้าไปมีบทบาท   แล้วมุมมองของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เสนอจะแตกต่างจากอดีตอย่างไร   ในอดีตแนวคิดของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นมีอยู่มานานแล้ว ดังนั้นปัจจุบันและอนาคตเราจะต้องบูรณาการความคิด ข้อมูล วิสัยทัศน์ และนโยบายเชิงลอจิสติกส์เข้าด้วยกันเพื่อให้การใช้ทรัพยากรในเชิงลอจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

อุตสาหกรรมลอจิสติกส์

กิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่อยู่นอกกรอบของพื้นที่และหน้าที่การทำงานในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เช่น การจัดเก็บและการขนส่ง ส่วนมากหลายบริษัทพยายามที่จะจัดจ้างจากหน่วยงานภายนอก (Outsourcing) โดยเฉพาะการขนส่ง ในบางบริษัทที่ต้นทุนในการดำเนินงานจัดส่งต่ำและมีการจัดการที่ดีก็อาจจะเป็นเจ้าของและจัดการยานพาหนะเอง แต่ในปัจจุบันธุรกิจลอจิสติกส์โดยเฉพาะในการขนส่งและการจัดการคลังสินค้าสามารถเสนอการบริการครบวงจรในการจัดการลอจิสติกส์ทั้งขาออกและขาเข้าให้กับลูกค้าโดยที่ลูกค้าไม่ต้องมากังวลในการบริหารจัดการลอจิสติกส์ทั้งในช่วงขาเข้าและขาออกทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ


จากรูปจะเห็นได้ว่านอกจากรัฐบาลในฐานะผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งและการค้าพาณิชย์แล้ว  ภาคเอกชนเองสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางในการขนส่งสินค้าและบริการข้อมูลต่างๆ ในฐานะผู้ให้บริการลอจิสติกส์ (Logistic Provider) และผู้ให้บริการ IT ( IT Provider)  ทำให้แนวโน้มของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และ IT ได้เจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกันอยู่เรื่อยมา
สำหรับอุตสาหกรรมลอจิสติกส์นั้นในอดีตก็คือธุรกิจการขนส่งและการรับฝากสินค้า จะเห็นได้จากธุรกิจการเดินเรือ การขนส่งทางบกและทางอากาศรวมทั้งคลังสินค้าต่างๆ  สังเกตได้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนือขอบเขตอาณาบริเวณของโรงงานผลิตหรือธุรกิจ แต่ในปัจจุบันการให้บริการจัดการกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ขยายขอบข่ายเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมหรือที่หน่วยผลิตแล้ว ด้วยแนวคิดของการจัดจ้างจากภายนอก (Outsourcing) แต่ยังไม่ถึงขั้นเข้าไปรับจ้างผลิตชิ้นส่วน

เป้าหมายของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีขอบข่ายแค่กิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเท่านั้น ไม่ได้รวมกิจกรรมการผลิต ดังนั้นในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจึงประกอบด้วยวิธีการ แนวคิด แนวทางแก้ไขปัญหา เครื่องมือในการขนส่งขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) และที่สำคัญมากก็คือ ระบบ IT หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศนั่นเองที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน
             
เมื่อมองมาถึงจุดนี้แล้วจะเห็นได้ว่าภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ และ IT ให้มีส่วนในการสร้างคุณค่าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานถึงแม้ว่าจะเป็นแค่การเคลื่อนย้ายหรือขนส่งสินค้า แต่จะต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนหลายหน่วยงานที่มีกฎระเบียบของราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พิธีการศุลกากรการแจ้งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้เวลานาน  แต่ถ้าภาครัฐสามารถลดขั้นตอนลดเวลาและทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้   กระบวนการของลอจิสติกส์ในขั้นตอนนี้ก็จะเป็นตัวช่วยให้การเชื่อมโยงนั้นดีขึ้น

ส่วนโครงสร้างของเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ที่เห็นกันอย่างชัดเจนก็คือ กระทรวง ICT ที่จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานของ ICT ทั้งทางด้านนโยบาย การสนับสนุนส่งเสริมและการสร้างมาตรฐานในการติดต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างองค์กรธุรกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะธุรกิจในปัจจุบันจะต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการรับส่งข้อมูล ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานในการรับส่งสินค้าและวัตถุดิบ คือ ถนน และการคมนาคมขนส่ง และที่สำคัญคือ การไหลของข้อมูลในระบบ IT นั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อลอจิสติกส์การไหลของวัตถุดิบและสินค้า  คุณภาพของข้อมูลเชิงลอจิสติกส์ย่อมมีผลต่อลอจิสติกส์การไหลของวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อข้อมูลข่าวสารของธุรกิจ ก็น่าจะเป็นกระทรวง ICT ดังนั้นเราสามารถที่จะเห็นถึงความสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของ ICT และการคมนาคมขนส่ง ภาครัฐจะต้องพยายามสร้างสมดุลให้เป็นภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจที่มีระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน

สร้างมุมมองใหม่ด้วยการบูรณาการ
             
การสร้างยุทธศาสตร์ชาติจึงจำเป็นที่จะต้องมองภาพใหญ่ให้เห็นอย่างเด่นชัด และที่สำคัญจะต้องเห็นถึงความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ ในภาพนั้นด้วย ดังนั้นการมองเชิงยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะต้องมีข้อมูลและรายละเอียดในทุกมุมมองของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน   โดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในหน่วยงานต่างๆ  สิ่งแรกที่จะช่วยให้เกิดการบูรณาการที่ประสบผลสำเร็จคือ การมีความเข้าใจเหมือนกันในเรื่องต่างๆ  เพราะสิ่งที่เราจะต้องเชื่อมโยงหรือบูรณาการกันในเบื้องต้นก็คือ ความคิดของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องมีผู้บริหารงานที่มีพื้นฐานความคิดตามตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน  ดังนั้นการสร้างยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทานนั้นจำเป็นต้องมี “คำนิยามร่วมในการดำเนินงาน” (Working Definition) ซึ่งจะต้องใช้ร่วมกันทั้งผู้วางยุทธศาสตร์และผู้ปฏิบัติรวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน   แต่ปัจจุบันเรายังเห็นต่างคน ต่างทำ ต่างคิดกันอยู่ แล้วยุทธศาสตร์นี้จะทำให้เราไปถึงยังจุดมุ่งหมายได้อย่างไร เราจึงคงต้องช่วยกันคิดและช่วยกันทำอย่างบูรณาการ

การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ :  การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา  สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน  มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 2331 สิงหาคม 2554

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชุม 6 สถาบันฯ -- 4.บูรณาการยุทธศาสตร์ในทุกภาคส่วน (2) : ยุทธศาสตร์

บูรณาการยุทธศาสตร์ในทุกภาคส่วน (2) : ยุทธศาสตร์
     
จากมุมมองและความเข้าใจเบื้องต้นในการบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติหรือยุทธศาสตร์ในด้านอื่นๆที่รองรับยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นเสมือนแผนแม่บท    จากผลการดำเนินงานด้วยยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว   เรามักจะพบว่าผลการดำเนินงานจากการนำยุทธศาสตร์ชาติไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง   หรือไม่มีประสิทธิภาพบ้าง  ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้เป็นผลมาจากการบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติทั้งจากบนลงล่าง  การวัดผลการนำไปปฏิบัติจากล่างขึ้นบนและระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของยุทธศาสตร์ชาติ   มุมมองที่สำคัญจะอยู่ที่การเขียนยุทธศาสตร์ชาติ  เพราะว่าถ้าการกำหนดรายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติที่ออกมานั้น   ไม่ได้กำหนดความเชื่อมโยงและการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ย่อยที่รองรับแล้ว   การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติที่ขาดการบูรณาการที่ดีจะทำให้ผลของการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ขาดความเป็นองค์รวม (Holism)  ประเด็นที่สำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเสริมสร้างความเป็นบูรณาการของยุทธศาสตร์ชาติโดยการระบุหรือกำหนดความเชื่อมโยงขององค์ประกอบของยุทธศาสตร์ชาติและการมีปฏิสัมพันธ์กันของส่วนย่อยของยุทธศาสตร์ชาติ

สถานการณ์ปัจจุบัน
     
โดยทั่วไปความเข้าใจถึงยุทธศาสตร์ชาติของแต่ละส่วนงานที่เป็นผู้ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละด้านหรือองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ชาติ   บางคนก็อาจจะเห็นความสำคัญของยุทธศาสตร์ในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไปตามระดับของยุทธศาสตร์   บางยุทธศาสตร์เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว   บางยุทธศาสตร์เป็นยุทธศาสตร์ในระยะสั้น   แผนยุทธศาสตร์เหล่านี้จะมีความซับซ้อนที่แตกต่างกันออกไปอีกตามแต่รายละเอียดขององค์ประกอบของยุทธศาสตร์ชาติและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง   ยิ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในระดับประเทศ   องค์ประกอบต่างๆของยุทธศาสตร์ก็จะมากขึ้นตามลำดับความสำคัญและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ชาติก็จะยิ่งมากขึ้นตามลำดับด้วย
     
ปัญหาของการนำยุทธศาสตร์ชาติไปปฏิบัติ  ส่วนใหญ่ที่พบในการดำเนินงานทั่วไปในการจัดการสาธารณะ (Public Management) คือ  ความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน  ความไม่ชัดเจนในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์   ซึ่งจะมีผลต่อผลลัพธ์ของการดำเนินยุทธศาสตร์  บางยุทธศาสตร์บรรลุผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี  แต่อาจจะขาดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์   บางยุทธศาสตร์อาจจะไม่มีคุณภาพซึ่งไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล  แต่ก็อาจจะประสบผลสำเร็จด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและภาวะผู้นำของผู้ที่นำยุทธศาสตร์ชาตินั้นไปปฏิบัติใช้ให้เกิดผลประโยชน์
     
ในภาวะปัจจุบันผู้ที่นำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติใช้งานมักจะตกอยู่ภาวะกดดันที่จะต้องบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติภายใต้บริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นพลวัต (Dynamics) ซึ่งทำให้รายละเอียดที่อยู่ในยุทธศาสตร์ชาตินั้นไม่สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  อีกทั้งผู้ที่นำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติก็มีความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์เพื่อให้ยุทธศาสตร์นั้นบรรลุเป้าหมายทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้มีทรัพยากรและงบประมาณเพียงพอ  รวมทั้งข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นต่อการตัดสินใจดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ   สถานการณ์เหล่านี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการบรรลุถึงเป้าหมาย  และอาจจะเกิดความเสียหายต่อผู้ปฏิบัติงานเองด้วย  ผู้ปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์จึงต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวที่ไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์
     
หรือจะพูดกันอย่างง่ายๆ ว่า  ยุทธศาสตร์ชาติหรือยุทธศาสตร์หลักของประเทศที่เขียนมานั้นไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้สะท้อนภาพเป็นจริงที่เกิดขึ้น  ผลที่เกิดขึ้นเป็นเพราะขาดการบูรณาการที่ดีของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ  ดังนั้นถ้ายุทธศาสตร์หลักดีและมีความเป็นองค์รวมที่เกิดจาการบูรณาการที่ดี  ยุทธศาสตร์ย่อยอื่นๆก็สามารถที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกันได้  และผู้ที่ปฏิบัติก็ต้องมีความพร้อมในการบูรณาการด้วย  เพื่อที่จะได้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์หลัก
     
ก่อนที่ยุทธศาสตร์ชาติจะถูกจัดทำและนำไปปฏิบัติ  ผู้จัดทำและผู้ที่นำไปปฏิบัติควรจะมีความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการบูรณาการเสียก่อน   เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะเกิดจากการบูรณาการทั้งสิ้น   เพียงแต่ว่าความสำคัญของการบูรณาการในอดีตนั้นยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไรนัก   เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมยังไม่รุนแรงและรวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน   ยิ่งสภาวะแวดล้อมปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นการบูรณาการจึงยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม      การบูรณาการ คือ การนำสิ่งที่แตกต่างกันมารวมกันให้มีโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic Structure)  ความเป็นระบบของการรวมตัวกันนั้นไม่ได้ให้แค่ประโยชน์ที่เป็นผลลัพธ์ที่เป็นเป้าหมายเท่านั้น  แต่ความเป็นระบบยังก่อให้เกิดเป็นความสามารถเชิงพลวัต (Dynamic Capability)  ทำให้ระบบนั้นสามารถปรับปรุงตัวและเปลี่ยนแปลงในการสร้างผลประโยชน์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพลวัตด้วย
             
ดังนั้นสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรานั้นดูเหมือนว่า  ยุทธศาสตร์ชาติกับยุทธศาสตร์ย่อยต่างๆ ยังขาดการเชื่อมโยงกันกับความเป็นจริงในการปฏิบัติงาน     สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ส่วนรวมก็ตาม   ย่อมมีความเป็นพลวัต (Dynamic) หรือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  (ไม่นิ่ง)    แต่ยุทธศาสตร์ชาติหรือยุทธศาสตร์หลักที่ถูกจัดทำออกไปกลับมีลักษณะสถิตย์ (Static) หรือนิ่ง   ความเป็นจริงในการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างผลประโยชน์ของชาตินั้นในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตทั้งในด้านความซับซ้อนและความเป็นพลวัต  ผู้ปฏิบัติงานต้องการแผนการดำเนินงานที่ยืดหยุ่น (Flexible) กับความสามารถในการปรับตัว (Adaptive)  เพื่อการตอบสนองต่อการปฏิบัติการในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน (Uncertainty) และความซับซ้อน (Complexity)ของปัญหาและความพลวัตของสภาวะแวดล้อม  ยุทธศาสตร์จึงต้องเป็นแผนงานที่มีความคล่องตัว (Agility) ที่มีลักษณะความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว   ความเป็นบูรณาการของยุทธศาสตร์ที่มีความเป็นระบบจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการทำให้เกิดความคล่องตัวเพื่อการรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ต้องเริ่มที่กระบวนการ
             
ผลลัพธ์ของคุณค่าหรือผลประโยชน์ทุกสิ่งบนโลกนี้ในมุมมองจากความต้องการมนุษย์เกิดจากกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) ที่สร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้นมา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์เราที่เป็นผู้สร้าง   สิ่งที่เป็นธรรมชาติก็เกิดจากกระบวนการธรรมชาติซึ่งเราอาจเข้าใจหรือรู้จักไม่ทั้งหมดและมนุษย์เราควบคุมไม่ได้ทั้งหมด   สิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาก็เกิดจากกระบวนการที่เราได้ออกแบบจากความเข้าใจในความต้องการของผลประโยชน์ของมนุษย์เองและควรจะควบคุมได้    แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ควบคุมไม่ได้  ดังนั้นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในธรรมชาติและในชีวิตเรานั้นก็เกิดจากผลลัพธ์หรือผลประโยชน์ที่ได้ไม่ตรงกับใจเรา    ธรรมชาติให้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับความค้องการของมนุษย์ก็เพราะกระบวนการในธรรมชาติมีปัญหา (อาจจะเป็นเพราะมนุษย์เราไปทำอะไรบางอย่างให้กระบวนนั้นผิดไป)

ในหลายๆครั้งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองก็ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์เองได้  เพราะมนุษย์เองมีความต้องการที่ไม่รู้จบ (กิเลส)  เราจึงต้องกลับไปพิจารณาดูหรือตรวจสอบที่กระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าซึ่งเป็นต้นทางของผลลัพธ์หรือผลประโยชน์ที่ต้องการ   ดังนั้นปัญหาต่างๆจึงเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการซึ่งไม่ใช่ที่ผลลัพธ์   ปัญหาจึงอยู่ที่กระบวนการ  เมื่อกระบวนการหรือขั้นตอนไม่เหมาะสมหรือไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ได้เป็นไปตามแผน  เราจึงต้องมาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงที่กระบวนการสร้างผลประโยชน์   หรือที่ในอดีตเรามักจะได้ยินคำว่า  Re-engineering    หรือ  คิดใหม่  เพื่อทำใหม่   เราได้รับผลกระทบจากผลประโยชน์ที่ไม่ได้รับหรือไม่ลงตัว  เราจึงต้องไปแก้ที่กระบวนการซึ่งเป็นต้นเหตุ  ไม่ใช่ที่ผลซึ่งเป็นปลายเหตุ
             
เราต้องลองกลับมาพิจารณาดูที่กระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเรา   ในระบบนิเวศต่างๆทั้งระบบตามธรรมชาติและระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น   ระบบทั้งสองประเภทนี้ต่างก็เกื้อกูลกันและมีความเชื่อมโยงอย่างเป็นบูรณาการโดยที่เราไม่รู้ตัว   จึงทำให้เกิดความสมดุลที่ลงตัว แต่ถ้าเรารู้และเข้าใจในความเป็นบูรณาการหรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าองค์รวม (Holism) เราก็จะสามารถจัดการกับระบบนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ   นั่นหมายความว่า  ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากทั้งภายในระบบและจากสภาวะแวดล้อมภายนอก  เราก็ยังคงรักษาและปรับปรุงระบบให้คงอยู่และขยายผลหรือพัฒนาต่อไปได้
             
เป้าหมายสุดท้ายของระบบหรือสังคมของมนุษย์ก็ คือ การอยู่รอด (Survival)  หรือการมีชีวิตอยู่ของคนในสังคม   และคนในสังคมซึ่งต้องการปัจจัยพื้นฐานเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดก็ต้องอาศัยระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนคุณค่าหรือผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน   เมื่อคนในสังคมมีชีวิตอยู่รอดแล้ว  สังคมหรือประเทศก็คงอยู่รอดและวัฒนาต่อไป   ดังนั้นเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติทั้งหลายในโลกก็อยู่ที่ผลประโยชน์แห่งชาตินี้เท่านั้น  แล้วเราลองนึกดูว่าในระบบสังคมของโลกมีกระบวนการต่างๆ มากมายทั้งเกิดจากธรรมชาติและกระบวนการที่มนุษย์ได้สร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ต่างๆ มากมายเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลและของสังคมหรือประเทศ

ผลประโยชน์เกิดจากกระบวนการปฏิบัติ
             
กระบวนการในโลกนี้มีหลากหลายประเภทของกระบวนการ  ทุกๆ กระบวนการมีผลลัพธ์   แต่ทุกๆผลลัพธ์ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเป็นผลประโยชน์ที่เราต้องการ  ในขณะเดียวกันทุกผลลัพธ์จากหลายกระบวนการจะมีส่วนเชื่อมโยงหรือเป็นตัวต่อ (Building Blocks) ที่สำคัญในการนำไปสู่ผลประโยชน์ของแต่ละบุคคลและเป็นผลประโยชน์ของชาติในที่สุด
             
เราสามารถแบ่งกระบวนการออกเป็น  2  ประเภท คือ กระบวนการวางแผนหรือด้าน Soft Side  และกระบวนการปฏิบัติหรือด้าน Hard Side   หรือพิจารณาอย่างง่ายๆ เหมือนระบบคอมพิวเตอร์ที่จะต้องมีทั้ง Software และ Hardware ซึ่งจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้    กระบวนการสร้างผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์แห่งชาติก็ตามย่อมจะมีทั้งด้าน Soft Side และ Hard Side   เหมือนกับระบบคอมพิวเตอร์   กระบวนการด้าน Soft Side จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนหรือควบคุมกระบวนการด้าน Hard Side   ผลลัพธ์จากกระบวนการ Soft Side ไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือประโยชน์แห่งชาติ     ส่วนกระบวนการด้าน Hard Side จะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นผลประโยชน์โดยตรงกับปัจเจกบุคคลและประเทศชาติ    กระบวนการวางแผนหรือด้าน Soft Side จะเป็นตัวกำหนดกิจกรรมในกระบวนการปฏิบัติการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์หรือกระบวนการ Hard Side  ดังนั้นถ้าจะให้ผลลัพธ์ออกมาดีเป็นผลประโยชน์ต่อปัจจเจกบุคคลและเป็นผลประโยชน์แห่งชาติแล้ว   กระบวนการทั้งสองประเภทจะต้องทำงานร่วมกันเป็นระบบเหมือนกับระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความลงตัวทั้งทางด้าน Hardware และ Software   ถ้า Hardware เร็วขึ้นก็ต้องเปลี่ยน Software ใหม่เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จาก Hardware ให้เต็มประสิทธิภาพ

ต้องบูรณาการที่กระบวนการ

ทุกวันนี้ผลประโยชน์ของชาติและผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือมีความเป็นพลวัตมากขึ้น  กระบวนการวางแผนและกระบวนการปฏิบัติการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย   อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างที่ดีได้สำหรับการเปลี่ยนแปลงทั้งความต้องการของลูกค้าและการตอบสนองของผู้ผลิตทั้งด้าน Hardware และ Software    ผลลัพธ์หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะมาจากกระบวนการปฏิบัติการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) ซึ่งต้องเชื่อมโยง (Linked) และมีปฏิสัมพันธ์ (Interactions) กับแผนงานที่เกิดจากกระบวนการวางแผน (Planning Process) อย่างบูรณาการกัน  ในขณะเดียวกันขั้นตอนต่างๆในกระบวนการวางแผนเองก็จะต้องบูรณาการกันภายในกระบวนการเองด้วยหรือเรียกกันว่า (Collaborative Planning) และในทิศทางเดียวกันกับกระบวนการปฏิบัติการในการสร้างคุณค่าก็จะต้องมีการบูรณาการภายในด้วยการเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างทรัพยากรต่างๆและขั้นตอนต่างๆในกระบวนการด้วย หรือเรียกกันว่า (Physical Compatibility)

เมื่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติได้ส่งผลไปที่ผลประโยชน์ของปัจจเจกบุคคลและส่งผลกระทบไปถึงผลประโยชน์แห่งชาติในที่สุด   แต่ถ้าเราพิจารณาย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดของกิจกรรมต่างๆ ภายในประเทศที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ  เราก็จะพบว่ายุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ย่อยต่างๆ ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อที่จะกำกับกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อาจจะไม่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมปัจจุบันและในอนาคตซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติที่ตั้งเป้าหมายไว้
สิ่งที่จะต้องดำเนินการ คือ เราจะต้องกลับไปพิจารณากระบวนการทั้งหมดตั้งแต่กระบวนการวางแผน   กระบวนการปฏิบัติการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ซึ่งประกอบไปด้วยทุกภาคส่วน  รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างการวางแผนและการปฏิบัติการ   การบูรณาการกระบวนการทั้งหมดให้เป็นองค์รวม (Holism) ให้เกิดเป็นระบบ (System) โดยการเน้นที่การเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งภายในกระบวนการและระหว่างกระบวนการ  เมื่อกระบวนการทั้งหมดมีความเป็นระบบที่เกิดจากการ บูรณาการแล้ว   ระบบที่สร้างผลประโยชน์ตั้งแต่ปัจเจกบุคคลและผลประโยชน์แห่งชาตินี้ก็จะมีความยืดหยุ่นและปรับตัวเองได้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวเพื่อรองรับกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ต้องทำให้ระบบมีชีวิต
             
การมีชีวิตนั้นหมายถึง การที่มนุษย์ (สิ่งที่มีชีวิต) สามารถดำรงตัวเองอยู่รอดด้วยผลประโยชน์ที่ต้องการเป็นพื้นฐาน   ดังนั้นองค์กรหรือประเทศก็จะต้องอยู่รอดได้ก็เพราะว่าคนในองค์กรหรือประเทศมีการตัดสินใจหรือวางแผนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ต้องการเป็นพื้นฐานให้เป็นผลประโยชน์ต่อองค์กรหรือเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ   คนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่มีปัญญาที่สามารถใช้ความคิดและตัดสินใจเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้   แต่ทำไมเมื่อสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์มาอยู่รวมกันแล้วไม่สามารถทำให้กลุ่มมนุษย์ที่รวมตัวกันเป็นสังคมมีชีวิตอยู่รอดได้หรือไม่มีการวัฒนา   ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าคนจำนวนมากไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมได้  กระบวนการต่างๆที่มนุษย์เป็นคนดำเนินการทั้งในด้านการวางแผนและการปฏิบัติการก็ไม่สามารถดำเนินการให้สอดคล้องกันได้   กลับมีแต่ความขัดแย้งในผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง  สุดท้ายองค์กรหรือประเทศก็ล่มสลาย  และในที่สุดมนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้
             
การสร้างให้องค์กรนั้นมีชีวิต (Living Organization) ได้ คือ การที่องค์กรได้ใช้ศักยภาพของแต่ละคนและกลุ่มคนในการคิดและตัดสินใจเพื่อ “รับรู้และตอบสนอง (Sense and Response)”  ต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็ว  นั่นหมายความว่า  ปัญหาในการบูรณาการ คือ การขาดการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ของคนในสังคมหรือประเทศ โดยเฉพาะความคิดอ่าน   เมื่อกลุ่มคนไม่มีการทำงานร่วมกัน  ก็จะไม่เกิดกิจกรรมการแบ่งปันข้อมูลกัน   ไม่ได้คิดร่วมกัน  ไม่ได้ตัดสินใจและวางแผนร่วมกัน   ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ กิจกรรมต่างๆในแต่ละภาคส่วนมักจะเกิดขึ้นแบบแยกส่วนกัน  ต่างคนต่างทำ   ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกันหรือมีปฏิสัมพันธ์กันในการดำเนินงาน   ทำให้ขาดพลังในการคิดและตัดสินใจและขาดกำลังในการดำเนินงาน  ทั้งๆ ที่เมื่อคนในหลายภาคส่วนจะต้องมารวมตัวกันเป็นกลุ่มคนหรือเป็นสังคมเป็นประเทศแล้วก็น่าจะทำให้ประเทศมีพลังอำนาจเพิ่มมากขึ้น   แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่เช่นนั้น    มีคำกล่าวอยู่เสมอว่าประเทศไทยเล่นเป็นทีมไม่เป็น   คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอจนถึงทุกวันนี้

ยุทธศาสตร์การบูรณาการ คือ ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่
             
ความเป็นจริงที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ ทุกคนมีความแตกต่างกัน  ผลประโยชน์ที่ต้องการก็แตกต่างกันออกไป  แต่ทุกคนต้องอยู่รวมกันเพื่อสร้างพลังอำนาจที่ทุกคนต้องการเป็นพื้นฐานในการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของแต่ละคน   แต่ถ้าทุกคนไม่มีพลังอำนาจของสังคมที่ทุกคนต้องมีไว้เป็นพื้นฐาน   คนเหล่านั้นก็คงไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ส่วนตัวได้ซึ่งจะทำให้แต่ละคนไม่สามารถอยู่รอดได้   ดังนั้นผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์แห่งชาตินั้นจึงเป็นการพึ่งพากันอย่างเป็นระบบ (Systemic) ตั้งแต่ระบบของแต่ละบุคคล (Personal System)   ระบบของแต่ละภาคส่วน (Sector System) ที่สนับสนุนบุคคลให้สร้างผลประโยชน์   และระบบของประเทศ (National System) ที่ประกอบขึ้นจากระบบของแต่ละภาคส่วน  ระบบทั้งหมดอยู่รวมกันเป็นระบบนิเวศทางสังคม (Social Ecology) ซึ่งบูรณาการกันอย่างที่เราไม่รู้ตัว     ความเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ถูกสร้างขึ้นภายในระบบอย่างไม่เป็นทางการ ในอดีตความเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์เหล่านี้อาจจะไม่ได้มีบทบาทหรือมีผลกระทบออกมาให้เห็นกันอย่างเด่นชัด   แต่เมื่อบริบทหรือสิ่งแวดล้อมแปรเปลี่ยนไปอย่างเป็นพลวัต   บทบาทหรือความสำคัญของความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นกลับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สังคมอยู่รอด   เมื่อสังคมอยู่รอดแล้ว คนแต่ละคนก็น่าจะอยู่รอดด้วย
             
สังคมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาโดยธรรมชาติของมนุษย์  ไม่ใช่เป็นธรรมชาติของโลก   ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดอ่านก็ขึ้นอยู่กับการหล่อหลอมของความคิดของคนในสังคมนั่นเอง   ไม่เกี่ยวกับธรรมชาติของโลก ธรรมชาติของคนเองก็แตกต่างจากธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย   ดังนั้นการอยู่รวมกันของคนหลายคนสามารถสร้างผลประโยชน์ได้และสามารถสร้างความเสียหายให้กับแต่ละบุคคลและต่อสังคมได้เช่นกัน  เพราะแต่ละคนมีความคิดอ่านที่แตกต่างกันออกไป   การที่จะทำให้ทุกคนมาหล่อหลอมรวมกันเพื่อบูรณาการความคิดและศักยภาพเพื่อสร้างพลังอำนาจใหม่ให้สามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ
             
สิ่งที่จะให้คนอยู่รวมกันได้ก็ คือ วัฒนธรรมที่คนในกลุ่มได้ตกลงร่วมกัน คิดที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน  สำหรับสังคมประเทศที่มีความเป็นชาติย่อมมีวัฒนธรรมร่วมกันซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สร้างผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน  วัฒนธรรม  (Culture) จะเป็นเสมือนสิ่งที่เป็นมาตรฐานทางด้านความคิด (Standardization for Thinking) ของคนในสังคมที่ชี้นำให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างผลประโยชน์ของสังคม   วัฒนธรรมจะเป็นเหมือนพื้นฐานของการพัฒนาในด้านต่างๆ  วัฒนธรรมจะนำไปสู่ความมีวินัย (Discipline) ของคนในสังคมซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกฎและระเบียบของสังคม  สังคมใดสร้างให้คนมีวินัยในตัวเองแล้ว  การจัดการสังคมก็จะง่ายขึ้น   การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมก็จะสำเร็จและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น   การมีวินัยเป็นพื้นฐานของการเคารพกฎระเบียบในสังคม  การมีวินัยเป็นพื้นฐานสำหรับความไม่เห็นแก่ตัว   ในทางตรงกันข้ามความมีวินัยจะทำให้คนในสังคมเห็นแก่ส่วนรวมเป็นหลัก   มีคำขวัญที่ติดไว้ในค่ายทหารแห่งหนึ่งเขียนไว้ว่า “ความมีวินัยอาจจะริดรอนความสุขสบายส่วนบุคคล  แต่ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม”
             
วัฒนธรรมใหม่นี้ต้องเป็นวัฒนธรรมแห่งการบูรณาการ  ซึ่งไม่ใช่การบูรณาการในระดับปฏิบัติการที่เป็นด้าน Hard Side  แต่เป็นการบูรณาการในด้านความคิดอ่านของคนในสังคมซึ่งเป็นด้าน Soft Side  ความหมายของการบูรณาการแสดงถึงความเป็นองค์รวม (Holism) ซึ่งเปรียบเสมือนกับอวัยวะต่างๆที่อยู่ในร่างกายเราที่มารวมประสานกันเป็นร่างกายที่มีชีวิต   เราไม่สามารถแยกอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งออกจากร่างกายได้   ไม่เช่นนั้นแล้วความเป็นชีวิตของเราก็จะหมดไป   สังคมก็เช่นกัน   คนในสังคมจะต้องเห็นประเทศเป็นหน่วยเดียวโดยที่ทุกคนในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ   จะขาดใครคนหนึ่งไม่ได้  แต่ในความเป็นจริงประเทศหนึ่งมีประชาชนมากมาย  การขาดคนไปบ้างก็คงไม่เป็นไรนัก   แต่ในความหมายของยุทธศาสตร์ชาติ  การขาดองค์ประกอบของยุทธศาสตร์องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไปอาจจะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติขาดความสมบูรณ์และขาดความเป็นองค์รวมไป   ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ไม่มีความยืดหยุ่นและไม่สามารถปรับตัวได้

ดังนั้นเมื่อทุกคนคิดและวางแผนจะทำอะไรก็ตาม  ก็ต้องคิดและทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก  แล้วค่อยเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัว  ความมั่นคงในผลประโยชน์แห่งชาติก็จะเกิดขึ้น  ถ้าวัฒนธรรมแห่งการบูรณาการถูกพัฒนาขึ้นและตอกย้ำเข้าไปในสังคมอย่างต่อเนื่อง   จากวัฒนธรรมเดิมเพื่อสร้างให้คนในสังคมสามารถเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นเพื่อประโยชน์ในภาพรวมและความเป็นองค์รวมของสังคมมากกว่าตัวเอง   เปรียบเสมือนกับทีมฟุตบอลที่นักฟุตบอลบางคนไม่ยิงประตูให้กับตัวเอง แต่ส่งผ่านบอลไปให้เพื่อนที่มีโอกาสยิงประตูได้มากกว่าได้ยิงประตู   เพื่อให้ทีมชนะมากกว่าการทำแต้มการยิงประตูให้กับประวัติของตัวเอง
             
ถ้าคนในสังคมมีพื้นฐานวัฒนธรรมที่ทำงานร่วมกันและทำงานเป็นทีมเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือส่วนรวมก่อนที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว  กิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการสร้างคุณค่าหรือประโยชน์ต่างๆ ในสังคมก็จะมีความเป็นบูรณาการในตัวเอง  ตั้งแต่ระบบการคิด   ระบบการศึกษา   ระบบการวางแผน   ระบบการปฏิบัติการ  รวมทั้งการตัดสินใจในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ในภาวะฉุกเฉิน   ความตระหนักในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมหรือประเทศเกิดจากวัฒนธรรมใหม่นี้เพื่อที่จะธำรงรักษาและพัฒนาผลประโยชน์แห่งชาติให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน   กิจกรรมต่างๆในกระบวนการสร้างผลประโยชน์ต่างๆ สำหรับภาคส่วนต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทและสภาพแวดล้อมที่มีสภาพความเป็นพลวัตในปัจจุบัน

ดังนั้นโครงสร้างการทำงานในกระบวนการแบบดั้งเดิม  ที่มีความเชื่อมโยงและการปฏิสัมพันธ์แบบดั้งเดิมซึ่งไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้   เพราะยังขาดการบูรณาการที่เหมาะสมหรือระดับของการบูรณาการไม่เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยน  วัฒนธรรมเชิงบูรณาการหรือการมองให้เป็นองค์รวม (Holism) มากขึ้น   ซึ่งจะทำให้เราไม่ได้มองสังคมแบบแยกส่วนเป็นฟังก์ชั่นการทำงานหรือมองเฉพาะโครงสร้าง   แต่จะต้องมองและคิดแบบกระบวนการ (Process Thinking) ที่มีหลักคิดแบบองค์รวม (Holistic Thinking) ที่มองถึงการเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์เพื่อผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก

ถ้าเราจะสร้างยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นพื้นฐานของสังคม  ยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะต้องมียุทธศาสตร์หลักที่เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เป็นวัฒนธรรมหลักของชาติที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์หลักแห่งชาติ  วัฒนธรรมหลักของชาติจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงแนวคิดต่างๆที่อยู่ในคนทุกคนในทุกภาคส่วนของประเทศ   ผลประโยชน์ต่างๆจากทุกภาคส่วนก็จะถูกบูรณาการกันตั้งแต่ระบบความคิด  การศึกษา  รวมทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ  ตลอดจนการนำไปปฏิบัติงานอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติอย่างมีความมั่นคงและยั่งยืนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม

การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ :  การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา  สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน  มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 2331 สิงหาคม 2554

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชุม 6 สถาบันฯ -- 3.บูรณาการยุทธศาสตร์ชาติในทุกภาคส่วน (1) : แนวคิด

บูรณาการยุทธศาสตร์ชาติในทุกภาคส่วน (1) : แนวคิด

มีหลายคนมักจะตั้งคำถามถึงแผนยุทธศาสตร์หลักหรือแผนแม่บทของประเทศว่าที่จริงแล้วคืออะไรกัน  พูดกันง่ายๆ ว่ายุทธศาสตร์หลักหรือแผนแม่บทของประเทศ คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาตินั่นเองซึ่งเป็นแผนหลักของประเทศที่ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมในทุกภาคส่วน  หรือจะมองในอีกมุมมองหนึ่ง  ยุทธศาสตร์หลักหรือแผนหลักของประเทศ คือ แผนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ  ซึ่งมองครอบคลุมไปถึงความมั่นคงแห่งชาติในทุกรูปแบบ  และยังมีแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ อีกมากมายในหน่วยงานต่างๆ ในทุกภาคส่วน   แล้วแผนยุทธศาสตร์เหล่านี้จะมาบูรณาการเป็นยุทธศาสตร์ชาติได้ตามที่ควรจะเป็นหรือไม่?  อย่างไรก็ตามความเป็นชาติ  ประเทศและรัฐนั้นมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่างที่หลอมรวมกันเป็นระบบสังคมและประเทศในรูปแบบที่ทุกคนในสังคมได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มีความเชื่อมโยง (Linked) และมีปฏิสัมพันธ์ (Interactions) ซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา    และผลประโยชน์เหล่านี้จะทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

แผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศ

ยุทธศาสตร์หลักหรือแผนแม่บทของประเทศควรจะกล่าวถึงทุกภาคส่วนของการบริหารจัดการประเทศเพื่อให้เกิดเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ    จากยุทธศาสตร์หลักของประเทศ  ภาคส่วนต่างๆ ก็จะนำยุทธศาสตร์หลักของประเทศไปปฏิบัติจนกลายเป็นยุทธศาสตร์ย่อยของแต่ละภาคส่วนหรือแต่ละกระทรวง  ถ้าจะเปรียบเทียบให้ง่ายก็เหมือนกับทีมฟุตบอลทั้งทีมจะต้องมีแผนการเล่นของทีมเพียงแผนเดียวเท่านั้นในเกมการแข่งขัน   จากนั้นสมาชิกของทีมในแต่ละส่วนที่เป็นกองหลัง  กองกลางและกองหน้า  จะต้องมีแผนในการเล่นที่จะต้องสอดคล้องไปกับแผนหลักของทีมเท่านั้น  ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว   ทีมฟุตบอลก็คงจะไม่มีสภาพความเป็นทีมและจะไม่สามารถทำประตูในการแข่งขันได้

ก่อนที่จะพูดถึงยุทธศาสตร์ต่างๆ  เราจะต้องรู้ถึงเป้าหมายของยุทธศาสตร์นั้นว่าคืออะไร?   เป้าหมายนี้จะกำหนดกระบวนการ (Process) กลไก (Mechanism) หรือ กฎ (Rules)  รวมทั้งทรัพยากรต่างๆ  (Resources)  และผลลัพธ์ของกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process)    สำหรับความเป็นชาติหรือประเทศแล้ว  คุณค่าหรือผลประโยชน์ของชาติ คือ  ประชาชนในประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี  มีความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงในชีวิต    ยุทธศาสตร์หลักของชาติจึงเป็นการตัดสินใจในการวางแผนไปในอนาคตสำหรับกระบวนการจัดสรรทรัพยากรของชาติเพื่อให้ประชาชนในชาติสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข และสามารถพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้มีความมั่นคงในการอยู่รวมกันในสังคมโลก

บทบาทของภาครัฐในการบริหารจัดการประเทศจึงมีความแตกต่างและซับซ้อนไปจากการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจหรือการบริหารจัดการชีวิตของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง   แต่แนวคิดหรือหลักการในการจัดการนั้นสามารถประยุกต์ใช้ด้วยกันได้   เพียงแต่ผู้ที่นำไปใช้จะเข้าใจบริบทของแต่ละระดับของการนำไปปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง    เพราะบริบทของชาติ  รัฐ  และประเทศนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับบริบทขององค์กรธุรกิจ   แต่อย่างไรก็ตามหลักการคิดและหลักการบริหารทั่วไปยังสามารถประยุกต์ใช้ได้อยู่    ดังนั้นทุกเป้าหมายที่เราบรรลุผลสำเร็จได้เป็นคุณค่าหรือผลประโยชน์ที่เราต้องการจึงต้องถูกสร้างมาจากกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) ที่ประกอบไปด้วยทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร คน สารสนเทศ  และวิธีการ  รวมทั้งงบประมาณ

ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยมีความสามารถในการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์แห่งชาติซึ่งสามารถรับมือและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้อย่างมีความมั่นคงและยั่งยืน   เราจะต้องไปพิจารณาที่กระบวนการความเป็นชาติ  รัฐและประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันประชาชนในชาตินั้นๆที่เป็นกิจกรรมในการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ในทุกระดับชั้นของชาติอยู่ทุกวัน     โดยเริ่มตั้งแต่ประชาชนทุกคนตื่นนอน  ออกไปทำงานหรือเรียนหนังสือ   ออกไปพักผ่อนหรือหาความสำราญจนถึงเวลาที่ประชาชนเข้านอนและนอนหลับพักผ่อนอย่างมีความสุขจนตื่นนอนขึ้นมาอีกครั้ง   มาทำกิจกรรมในฐานะพลเมืองของประเทศอีกครั้งหนึ่งในแต่ละวัน    นี่คือเป้าหมายของการบริหารจัดการประเทศที่มีกระบวนการหรือขั้นตอนมากมายที่พุ่งเป้าไปที่กิจกรรมของประชาชนทุกคน  ถ้าประชาชนทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามแผนหรือเป้าหมายในชีวิตที่วางไว้  และแผนการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคนสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ   ประเทศชาติก็น่าจะเจริญก้าวหน้าได้ตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้

ปัญหาของชาติ

ถ้าประเทศมียุทธศาสตร์ชาติที่ดีแล้ว   ปัญหาของชาติคืออะไร?    ปัญหาของชาติ คือ การดำเนินงานของประเทศชาติ  แต่ไม่ได้สามารถบรรลุผลลัพธ์ (Result) ที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติหรือคุณค่า (Values) ตามที่วางแผนไว้  นั่นแสดงว่ากระบวนการหรือขั้นตอนที่บริหารจัดการทรัพยากรของประเทศเป็นปัญหาหรือไม่เป็นไปตามในสิ่งที่ควรจะเป็น   ปัญหามีอยู่ 2 ลักษณะ  คือ  1) กระบวนการหรือขั้นตอนในการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ที่ไม่ได้ถูกดำเนินการตามขั้นตอนที่ควรจะปฏิบัติหรือที่ถูกวางแผนไว้   นี่เป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติการ  เราสามารถแก้ไขในระดับปฏิบัติการได้   ถ้าแผนที่วางมานั้นอาจจะเหมาะสมอยู่แล้วก็เพียงให้ปฏิบัติตามแผน    2) ผลลัพธ์หรือผลประโยชน์แห่งชาติที่ได้จากการปฏิบัติการที่เป็นไปตามแผนงานนั้น   แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมหรือลูกค้า   เพราะสิ่งที่ทำอยู่เดิมๆ ใช้ไม่ได้แล้วหรือไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว    ในสถานการณ์เช่นนี้ถ้าการปฏิบัติหมือนเดิมก็ไม่มีประโยชน์แล้ว  สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องคิดใหม่หรือวางแผนใหม่  (Rethink or Replan)  เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการใหม่หรือเกิดกิจกรรมการสร้างคุณค่าใหม่ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์แห่งชาติใหม่ที่ดีกว่า

ดังนั้นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงอยู่ที่กระบวนการหรือขั้นตอนที่สร้างผลประโยชน์แห่งชาตินั่นเอง   สรุปได้ว่า  สถานการณ์ของปัญหาโดยทั่วไปมีดังนี้ คือ 1) การจัดการกระบวนการมีปัญหา เพราะไม่สามารถสร้างผลประโยชน์แห่งชาติได้ตามที่วางแผนไว้   จึงต้องไปแก้ไขวิธีการในกระบวนการสร้างคุณค่าให้ถูกต้องเหมาะสม   2) หรือในอีกประเด็นหนึ่ง คือ คุณค่าหรือผลประโยชน์แห่งชาติเดิมที่ปฏิบัติกันมาใช้ไม่ได้   ไม่สามารถตอบสนองต่อประชาชนหรือไม่สามารถแข่งขัน  เราต้องไปแก้ไขปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือขั้นตอนในการสร้างคุณค่าเพื่อให้เกิดเป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่ต้องการ

ผลประโยชน์แห่งชาติ

แล้วผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร?  และประกอบด้วยภาคส่วนอะไรบ้าง?  ชาติจะต้องมีบุคคลในชาติที่มารวมตัวกันเป็นประเทศโดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน     ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างมีความมั่นคงและยั่งยืนได้จะต้องมีคนในชาติที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมของประเทศชาตินั้นๆ  โดยที่เราจะต้องพิจารณาชีวิตคนตั้งแต่เกิดจนตาย  ดังนั้นการบริหารจัดการประเทศคือ การอำนวยความสะดวกในการจัดสรรทรัพยากรให้คนในประเทศสามารถมีชีวิตที่ดีและช่วยกันพัฒนาสังคมให้ทุกคนในชาติมีชีวิตที่ดีขึ้น  โดยอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงปลอดภัย

จากบทความของท่าน อ.ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  “จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน”  ที่กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของภาครัฐจะต้องดูแลและอำนวยความสะดวกชีวิตประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย   เราจะเห็นได้ว่ามีหน่วยรัฐทุกหน่วยงานมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมีคุณค่า   เพราะผลประโยชน์แห่งชาตินั้นเกิดจากกิจกรรมต่างๆในสังคมที่ประชาชนในชาติได้ปฏิบัติร่วมกันทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนรวม  ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของภาครัฐจึงเป็นการอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมของประชาชนในชาติให้เป็นไปอย่างที่บุคคลและภาครัฐได้วางแผนไว้เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ

การบูรณาการ คือ อะไร

ในหลายภาคส่วนของภาครัฐหรือภาคเอกชนมีการพูดถึงการบูรณาการอยู่เสมอ  แต่ในหลายโอกาสเราก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า การบูรณาการ (Integrations) คือ อะไร?   แต่เราสามารถที่จะสัมผัสได้หรือรู้ถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหรือในบางครั้งเราอาจจะได้ทำการบูรณาการไปโดยไม่รู้ตัว   การบูรณาการเป็นมากกว่าการนำเอาสิ่งต่างๆ มารวมกันหรือการเอาสิ่งที่แตกต่างกันมารวมกันเหมือนการเย็บเล่มหนังสือ    แต่ถ้าในอดีตเราอาจจะทำอย่างนั้นได้เพราะว่าบริบทของสังคมเราไม่ได้มีความซับซ้อนอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้   ยิ่งคุณค่าหรือผลประโยชน์ที่เราต้องการสูงขึ้นหรือผลประโยชน์แห่งชาติที่เราคาดหวังไว้สูงขึ้น  กระบวนการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติก็ยิ่งมีองค์ประกอบมากขึ้นหรือมีความซับซ้อนสูงขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกันและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆในกระบวนการสร้างผลประโยชน์   คุณค่าหรือผลประโยชน์แห่งชาติที่เราต้องการนั้นจะถูกสร้างมาจากกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process)ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆที่หลากหลายแตกต่างกันตามฟังก์ชั่นหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนที่มีหน้าที่ในการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์นั้นทั้งในทางตรงและในเชิงสนับสนุน   ดังนั้นองค์ประกอบหรือทรัพยากรต่างๆจึงได้ถูกนำมาจัดสรรอย่างมีความเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กันจนมีโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic)ที่สามารถควบคุมได้อย่างมีกลไกและสามารถพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิมได้  เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคมในประเทศและสังคมโลก

คุณค่าหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการบูรณาการองค์ประกอบของกระบวนการสร้างคุณค่านั้นจะต้องไม่เหมือนองค์ประกอบเดิม   หมายความว่าเมื่อมารวมกันแล้วต้องได้คุณค่าใหม่หรือสิ่งใหม่   ตัวอย่างเช่น  เอาเศษเหล็กมากองรวมกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังคงเป็นเศษเหล็กอยู่เหมือนเดิม     แต่ถ้าเราเอาเศษเหล็กมาต่อกันอย่างมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน  เราจะได้คุณค่าใหม่หรือผลประโยชน์ใหม่ซึ่งก็คือ รถจักรยาน  เราจะเห็นได้ว่าทั้งกองเศษเหล็กและรถจักรยานก็เป็นเหล็กเหมือนกัน   แต่คุณค่าหรือประโยชน์ในการใช้งานไม่เหมือนกัน   รถจักรยานมีคุณค่าหรือผลประโยชน์มากกว่ากองเศษเหล็กอย่างแน่นอน   สิ่งที่เกิดขึ้น คือ จักรยานเกิดจากการบูรณาการเศษเหล็ก  ดังนั้นการบูรณาการเป็นการสร้างสิ่งใหม่หรือคุณค่าใหม่หรือผลประโยชน์ใหม่ที่เกิดจากการนำเอาองค์ประกอบต่างๆที่แตกต่างกันตามฟังก์ชั่นการใช้งานมาสร้างผลลัพธ์ให้เป็นคุณค่าใหม่หรือผลประโยชน์ใหม่  โดยที่ทุกองค์ประกอบหรือทุกฟังก์ชั่นการใช้งานของกระบวนการจะต้องมีเป้าหมายหรือเข้าใจในเป้าหมายเดียวกัน   เหล็กทุกชิ้นในรถจักรยานมีเป้าหมายเพื่อเป็นส่วนประกอบหนึ่งให้กับรถจักรยาน  แต่เศษเหล็กในกองเหล็กไม่ได้มีเป้าหมายอะไรเลย  ไม่ได้มีฟังก์ชั่นการใช้งานหรือผลประโยชน์ใหม่เลย    เราจะต้องรู้ว่าคุณค่าหรือฟังก์ชั่นของตัวเองนั้นจะมีผลต่อเป้าหมายสุดท้ายที่เป็นผลลัพธ์อย่างไร

ตัวอย่างในการบูรณาการอีกตัวอย่างหนึ่ง  คือ ทีมฟุตบอล   ถ้าเราเอาคน  11 คน  ลงไปเล่นฟุตบอลในสนามโดยไม่วางแผนอะไรเลย   เราก็จะมีแค่คน 11 คนกำลังเตะลูกฟุตบอลอยู่   แล้วเราลองพิจารณาดูว่า  คน 11  คนจะเล่นฟุตบอลชนะหรือไม่   ในทางกลับกันเราจะต้องทำให้คนทั้ง 11 คนที่มีคุณค่าหรือมีฟังก์ชั่นในการเล่นฟุตบอลตามตำแหน่งหน้าที่ต่างๆตั้งแต่ศูนย์หน้า  กองกลาง  กองหลังและผู้รักษาประตู  ซึ่งทุกคนในทุกตำแหน่งเป็นทีม (Team)  หรือมีความเป็นทีม (Teamwork)   ดังนั้น โค้ชจะต้องสร้างให้นักฟุตบอล  11 คนสื่อสารด้วยภาษาในการเล่นด้วยภาษาและความเข้าใจเดียวกัน  เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน    เวลาเล่นก็วางแผนเป็นแผนเดียวกันเสมอ   แต่เวลาเล่นในสถานการณ์ต่างๆทุกคนก็มีแผนของตัวเองซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนหลักของทีม  เช่น แผนกองหลัง  แผนกองกลาง  แผนกองหน้า   ซึ่งแผนทั้งหมดจะไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนใหญ่ที่ทุกคนรับมาดำเนินงานโดยมีเป้าหมายในการยิงประตูเหมือนกัน    ถ้าไม่มีแผนใหญ่หรือแผนยุทธศาสตร์แล้ว   ผู้เล่นทุกคนก็ไม่รู้แผนของคนอื่นๆในทีมว่าจะเล่นด้วยกันอย่างไร   จะส่งบอลหรือรับบอลกันอย่างไร   หรืออาจจะกลายเป็นต่างคนต่างเล่น   แล้วคนจำนวน 11 คนนี้จะเป็นทีมฟุตบอลได้อย่างไร

สิ่งที่จะทำให้เกิดการบูรณาการได้คือ การที่มีอะไรที่ตรงกันหรือ Compatible หรือสามารถเข้ากัน  ได้หรือความเป็นมาตรฐาน (Standardization) เดียวกัน   เมื่อมองในเชิงกายภาพจะหมายถึง   แบบเดียวกัน   ขนาดเดียวกัน  รูปร่างเข้ากันพอดีต่อกันได้    แต่เมื่อมามองในเชิงสังคมหรือกลุ่มคนก็คือ ความเข้าใจในด้านการสื่อสาร  ภาษา แนวคิดและวัฒนธรรมเดียวกัน   ถ้ามองในลักษณะขององค์กรก็ คือ  ทุกคนในองค์กรมีวิสัยทัศน์ร่วมกันและอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน  ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นเพื่อทำให้ได้คุณค่าหรือผลประโยชน์ที่ต้องการ

บูรณาการไม่ใช่แค่การรวมตัว

แผนยุทธศาสตร์ในระดับต่างๆของการจัดการจะต้องมีความเป็นบูรณาการในตัวเองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างเป็นระบบที่สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนได้   ที่จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการสร้างคุณค่าก็เกิดจากการบูรณาการองค์ประกอบหรือขั้นตอนต่างๆที่เป็นฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆของกระบวนการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์นั้นๆ  ซึ่งเราสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีจนเราสามารถควบคุมและปรับปรุงกระบวนการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการหรือเพื่อตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
             
ยุทธศาสตร์ชาติของประเทศจะต้องระบุถึงผลลัพธ์ของยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติและกิจกรรมในฟังก์ชั่นหน้าที่ต่างๆในภาคส่วนต่างๆในกระบวนการสร้างคุณค่าที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ  ยุทธศาสตร์ชาติจึงต้องกำหนดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบหรือฟังก์ชั่นต่างๆในภาคส่วนต่างๆในกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ    ยุทธศาสตร์ชาติของประเทศจึงต้องมีลักษณะของการบูรณาการฟังก์ชั่นการทำงานของภาคส่วนต่างๆที่เป็นองค์ประกอบในกระบวนการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติหรือสามารถกำหนดความสัมพันธ์ (Relationships) และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interactions)  ภาคส่วนหรือฟังก์ชั่นงานในแต่ละภาคส่วนไม่ได้อยู่กันอิสระ (Independent) หรือเป็นเอกเทศ(Individual) ทุกฟังก์ชั่นหรือภาคส่วนต่างๆก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (Interrelated) และขึ้นตรงต่อกัน (Dependent)
             
จากยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นแผนใหญ่แผนเดียวซึ่งจะต้องเป็นแผนที่มีองค์ประกอบของภาคส่วนต่างๆที่ถูกบูรณาการเข้ากันเป็นอย่างดี   เมื่อยุทธศาสตร์ชาติถูกนำไปแปรสู่การปฏิบัติในแต่ละภาคส่วนในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม    ในแต่ละภาคส่วนก็จะต้องเขียนยุทธศาสตร์ของตนเองอย่างบูรณาการใน 2 ส่วน  คือ 1) ส่วนของการบูรณาการจากยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นๆ   2) ด้านของการบูรณาการกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นภายในแต่ละภาคส่วนเองให้เกิดการระบุถึงความเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นการทำงานในแต่ละภาคส่วนเพื่อให้เกิดการดำเนินงานสร้างผลประโยชน์ของแต่ละภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ   เพื่อให้มีความมั่นคงและความยั่งยืนในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละภาคส่วน

ดังนั้นยุทธศาสตร์ของแต่ละภาคส่วนจึงจะต้องมีความเชื่อมโยงและความมีปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นๆตามที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ และในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์หลักของแต่ละภาคส่วนจะต้องกำหนดความเชื่อมโยงและความมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นหน้าที่ในการสร้างผลประโยชน์ของแต่ละภาคส่วน

คน คือหัวใจของการวางแผน
             
แผนงานต่างๆที่เราใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานนั้นเกิดจากกำลังความคิดและความสามารถของคน    หัวใจของการวางแผน  ก็คือ คนหรือทรัพยากรบุคคลในการคิดและตัดสินใจ   แต่ถ้าแผนนั้นเป็นของคนๆนั้นคนเดียวก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนัก   แต่ยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่างๆนั้นมีผลต่อคนทั้งประเทศโดยส่วนรวม   มีคนจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นในการทำงานหรือสร้างผลประโยชน์ให้เป็นผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน   จากคนๆเดียวคิดและวางแผนก็จะกลายเป็นคนหลายคนจากหลายภาคส่วนมาร่วมกันทำการคิดและวางแผนร่วมกันเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ชาติที่มีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วนอย่างบูรณาการกัน

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติถูกแปรเปลี่ยนไปสู่แผนแม่บทของแต่ละภาคส่วนซึ่งจะนำพาไปสู่การสร้างผลประโยชน์แห่งชาติ   แผนทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคนหรือผู้วางแผนในแต่ละภาคส่วนรวมทั้งผู้ที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้มีความเข้าใจถึงผลประโยชน์แห่งชาติ    ไม่มีความเข้าใจในกระบวนการสร้างคุณค่าของชาติหรือผลประโยชน์ของชาติ    และยิ่งถ้าไม่เข้าใจกำลังความสามารถของชาติซึ่งเป็นตัวกำหนดการจัดสรรทรัพยากรต่างๆของชาติเพื่อไปสร้างผลประโยชน์แห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างมีความมั่นคงและยั่งยืนแล้ว   ยุทธศาสตร์ชาติจะขาดความสมบูรณ์ในเชิงเป้าหมายของผลประโยชน์แห่งชาติไป

การที่จะทำให้คนในชาติเข้าใจผลประโยชน์แห่งชาติและกระบวนการสร้างยุทธศาสตร์ชาติในระดับต่างๆเพื่อให้เกิดการบูรณาการกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นในการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติ เราจำเป็นที่จะต้องสร้างตัวกลางในการสื่อสารแนวคิดและวิธีการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน   ความเป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ คือ พื้นฐานในการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน   การวางแผนงานหรือยุทธศาสตร์ต่างๆให้เกิดการบูรณาการนั้นจะต้องทำให้ผู้มีส่วนได้และส่วนเสียในแผนงานต่างๆมีเป้าหมายและทิศทางเดียวกันผ่านเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม   สิ่งที่สำคัญที่ถือว่าเป็นแกนกลางของสังคมที่เป็นมาตรฐานให้คนในสังคมได้สื่อสารเพื่อความเข้าใจเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ความเป็นชาติ  วัฒนธรรมของชาติ  รวมทั้งกฏหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆในกิจกรรมต่างๆในภาคส่วนต่างๆซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงกับผลประโยชน์แห่งชาติ

กระบวนการวางแผน
             
แผนงานทุกแผนงานเป็นกระบวนการคิดและตัดสินใจเพื่อการดำเนินงานในอนาคต  แต่ก็เป็นธรรมชาติที่ทุกอย่างมีความไม่แน่นอนเสมอ  อนาคตที่วางแผนไว้อาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดและวางแผนไว้   ดังนั้นกระบวนการวางแผนงานทั้งหลายจะต้องมีกระบวนการติดตามผลเพื่อที่จะประเมินว่าการดำเนินการตามแผนนั้นเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่   ถ้าผลจากการดำเนินงานนั้นไม่ได้เป็นตามแผนแล้ว นั่นแสดงว่าปัญหาได้เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินงานสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์  ซึ่งอาจจะเกิดจากองค์ประกอบต่างๆในกระบวนการหรือไม่ก็เกิดจากกระบวนการวางแผน   ดังนั้นการเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันระหว่างผู้วางแผนงานและผู้ที่นำแผนไปปฏิบัติเพื่อที่จะได้ติดตามผลและปรับแผนให้เข้าสถานการณ์เพื่อผลประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม

การทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน
         
ในองค์กรทั่วไปมักจะมีบุคคลอยู่  2 ประเภท  คือ  คนที่คิดแต่ไม่ได้ทำ คนประเภทนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อองค์กรมากนัก   และคนที่ทำแต่ไม่ค่อยได้คิด  คนประเภทนี้เป็นอันตรายต่อองค์กร   แต่ถ้าคนทั้ง 2 ประเภทหันมาทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว   องค์กรนั้นก็จะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถคิดและวางแผนเพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดคุณค่าหรือผลประโยชน์ได้เป็นอย่างดี    ด้วยสภาวะการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการที่มององค์ประกอบของกระบวนการวางแผนและกระบวนการสร้างคุณค่า (ปฏิบัติการ) อย่างเชื่อมโยงกันจากบนลงล่าง (Top-Down) ในการดำเนินการ (Execute) หรือสั่งการ (Command) และในทางกลับกันการเชื่อมโยงจากล่างขึ้นบน (Bottom-Up) ในมุมของการวัดสมรรถนะการดำเนินงาน (Performance Measurement)  เพื่อที่จะให้ผู้วางแผนได้ปรับแผนใหม่เพื่อให้การดำเนินงานการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์เพื่อให้เกิดสมดุลในกระบวนการสร้างคุณค่าและเกิดสมดุลในการสร้างผลประโยชน์โดยส่วนรวม
             
ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์แห่งชาติ  ปัญหาเหล่านั้นอาจจะเกิดจากทั้งการวางแผน (Planning) การดำเนินงาน (Execution) และการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ระหว่างการวางแผนกับการดำเนินงาน  การบูรณาการที่ดีจะต้องมีมาตรฐานในการเชื่อมโยงและความมีปฏิสัมพันธ์กันของฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆให้เข้ากันเพื่อผลลัพธ์เดียวกัน   กระบวนการวางแผนที่ดีก็ต้องมีการบูรณาการที่ดีสำหรับองค์ประกอบต่างๆของการวางแผน    กระบวนการดำเนินการที่ดีก็ต้องมีการบูรณาการที่ดีสำหรับองค์ประกอบต่างๆในการดำเนินการ   และในขณะเดียวกันการทำงานร่วมกันระหว่างการวางแผนและการดำเนินงานก็ต้องการการบูรณาการที่ดีเช่นกัน  ดังนั้นถ้ากระบวนการวางแผนและกระบวนการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติมีการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน  ผลประโยชน์แห่งชาติที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมก็จะตกเป็นของประชาชนทุกคนอย่างเหมาะสมทำให้ประเทศชาติและสังคมโดยรวมเกิดการพัฒนาการและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยความมั่นคงและยั่งยืน  เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเราก็ยังสามารถปรับตัวได้อย่างทันเวลาและมีประสิทธิภาพ

การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ :  การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา  สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน  มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 2331 สิงหาคม 2554

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชุม 6 สถาบันฯ -- 2.มุมมองและความเข้าใจกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วปอ.

มุมมองและความเข้าใจกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วปอ.

กระบวนการการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนมากพอสมควร  เพราะเป็นเรื่องระดับชาติ  ที่มีผลต่อความเป็นไปและการดำรงชีวิตของคนจำนวนมากในชาติ   รูปแบบของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ วปอ. มีความเป็นสากล (Universal) ในมุมมองของกระบวนการจัดทำ    แต่จะแตกต่างกันก็ตรงคำที่ใช้ในการอธิบายในบริบทต่างๆ ของการนำไปใช้ปฏิบัติใช้งาน (Implementation)      ในมุมมองของการจัดการโดยทั่วไป  ยุทธศาสตร์มีอยู่ 3 องค์ประกอบ  ซึ่งเราจะคำนึงถึงสถานะอนาคต (To-be State)   และสถานะปัจจุบัน (As-Is State)   จากนั้นเราก็จะมาหาความแตกต่าง (Gap Analysis) ของ 2 สถานะ    เพื่อหาหนทาง (Ways) ที่จะทำให้เรานั้นสามารถนำพาตัวเองและองค์กรของเราไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้ให้ได้    แนวทางนี้ก็จะตรงกับแนวทางด้านการทหารที่เป็น  End (To-be), Ways (Gap analysis)  และ Means (As-is)   ซึ่งสรุปได้ว่า  คำนิยามหรือหลักการดำเนินงานหรือการสร้างยุทธศาสตร์ทั้งหลายนั้นมีหลักการคิดเหมือนกัน  แต่บริบทในการสร้างยุทธศาสตร์และนำไปใช้งานนั้นแตกต่างกัน    ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่แบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ที่มีหมายเลขกำกับนั้นเป็นกระบวนการสำเร็จรูปที่พยายามจะทำให้กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นระบบตามขั้นตอน (Systematic) จะได้ไม่ผิดขั้นตอนในการจัดทำ   ซึ่งถือว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ทำให้การสื่อสารระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  

ความเข้าใจในยุทธศาสตร์

ประเด็นแรกในการจัดทำยุทธศาสตร์โดยทั่วไป   ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ระดับไหนก็ตาม   ผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำหรือในการชี้นำสำหรับทิศทางยุทธศาสตร์นั้น  ควรจะเข้าใจในประเด็นการคิดเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Thinking) ในเบื้องต้นก่อน   เพราะว่าถ้าไม่ได้มีแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์แล้ว   ถึงแม้ว่าจะมีกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ที่เป็นขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว  ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่น่ามีโอกาสที่จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีได้    แล้วการคิดเชิงยุทธศาสตร์คืออะไร?  แนวคิดนี้เป็นแนวคิดหนึ่งที่ใช้ในการทหาร   ซึ่งสรุปได้สั้นๆ ว่า คือเป็นการคิดเพื่อชนะ (Think to Win)  หรือการคิดเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง (Think to Change)  ซึ่งหมายความว่าเรากำลังกำหนดทั้ง 3 องค์ประกอบในเวลาเดียวกัน  คือ To-be,  Gap Analysis  และ As-Is  หรือ  End-Ways-Means  ซึ่งหมายความว่า   ถ้าคิดแล้วต้องชนะ    ถ้าคิดแล้วยังไม่ชนะก็ต้องกลับไปคิดใหม่      ต้องคิดให้ชนะหรือคิดให้แตกต่างเท่านั้น  ไม่อย่างนั้นเสียเวลาและทรัพยากรในการดำเนินงาน   และถ้าไม่สามารถคิดได้ ก็ต้องแพ้อย่างแน่นอน
             
ยุทธศาสตร์ (Strategy) จึงหมายถึง  การทำให้เกิดเป็นสถานะที่ไม่เหมือนเดิม  ซึ่งเป็นสถานะที่ต้องการในอนาคตที่ไม่เหมือนกับสถานะในปัจจุบัน   หรือการทำอย่างไรให้เกิดสภาพที่ดีกว่า  เร็วกว่าและถูกกว่า      การมุ่งไปสู่สถานะใหม่ในอนาคตนั้น ก็คือ  ยุทธศาสตร์ (Strategy) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกันทุกคน   ยุทธศาสตร์ย่อมมีผลต่อการปฏิบัติการ (Operations) ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราโดยตรงหรือมีผลต่อประโยชน์ต่างๆ ที่คนในชาติจะได้รับผลกระทบ  เพราะการปฏิบัติการที่เป็นกระบวนการสร้างประโยชน์ให้กับคนในชาตินั้นอาจจะมีปัญหา ต้องการการปรับปรุง (Improvement) ต้องการพัฒนา (Development) เพื่อสิ่งที่ดีกว่า  หรือต้องการพัฒนาเพื่อการแข่งขัน ดังนั้นจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในระดับปฏิบัติการให้ดีขึ้น  ยุทธศาสตร์จึงเป็นตัวกำหนดหรือเป็นแผนในการดำเนินการให้เกิดความเป็นไปในทางที่ดีขึ้นหรือดีกว่าในระดับปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสังคม  องค์กรหรือในระดับบุคคล

ปัจจุบันนี้คนในชาติเป็นอย่างไร?  สภาพแวดล้อมของชาติในปัจจุบันเป็นอย่างไร   แล้วในอนาคตนั้นเราต้องการให้ชาติของเราเป็นอย่างไร?     เราจะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นจริงและความต้องการในอนาคต    แต่ถ้าเป็นเรื่องของบุคคลหรือองค์กรก็คงจะไม่มีความซับซ้อนมากนัก   แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องของประเทศชาติที่มีความซับซ้อนสูง  มีมิติต่างๆมากมายที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นชาติและผลประโยชน์แห่งชาติ  ดังนั้นการจัดทำหรือการเขียนยุทธศาสตร์ชาติและการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติจึงต้องมีเป้าหมายในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติไว้ซึ่งจำเป็นที่จะต้องวางแผนหรือคาดการณ์ไปในอนาคตด้วยระยะเวลาที่ยาวไกลกว่าการคิดและการวางแผนงานทั่วไป
             
การที่จะมองออกไปถึงอนาคตเพื่อกำหนดทิศทางของการดำเนินงานของประเทศนั้น  จำเป็นที่จะต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของผู้นำและข้อมูลสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันเพื่อนำมาพยากรณ์ (Forecast) สภาพแวดล้อมและศักยภาพของชาติซึ่งก็จะประกอบไปด้วยคุณภาพของคนในชาติ  กระบวนการทางสังคม  ทรัพยากรธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มีใช้อยู่  อีกทั้งความมั่งคั่งที่จะใช้เงินลงทุนในการสรรหาทรัพยากรต่างๆ มาเพื่อที่จะทำให้ประเทศชาติได้ใช้ในการดำเนินการเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามวัตถุประสงค์แห่งชาติ
             
กระบวนการการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ของ วปอ. มีขั้นตอนที่เป็นระบบตามลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน  มีการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติหรือจะเป็นวิสัยทัศน์ในอนาคตที่ไกลออกไปมากๆ      เมื่อพูดถึงในความเป็นชาติแล้ว  สิ่งที่ทุกชาติต้องการก็คงคล้ายคลึงกัน คือ ความสามารถในการดำรงคงความเป็นชาติอยู่ได้อย่างมีความมั่นคงตลอดช่วงเวลาที่กำหนด  ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร   ชาติก็ต้องมีความมั่งคั่ง   และชาติก็ต้องได้รับการยอมรับจากสังคมโลก   จากนั้นเราก็จะกำหนดวัตถุประสงค์มูลฐานแห่งชาติและวัตถุประสงค์เฉพาะแห่งชาติ  ในมุมเชิงการจัดการ กระบวนการเช่นนี้ถือว่าเป็นกระบวนการมาตรฐานที่ทำให้เกิดการสร้างทางเลือกของการตัดสินใจต่างๆ (Alternatives) หรือเผื่อเลือกนั่นเอง  บนพื้นฐานของบริบทและสภาพแวดล้อมต่างๆที่ถือว่าเป็นข้อจำกัดหรือ (Constraints) จนได้วัตถุประสงค์ที่แน่นอน  เพื่อที่จะตอบโจทย์วัตถุประสงค์มูลฐานแห่งชาติและวัตถุประสงค์เฉพาะแห่งชาติ
             
แต่อย่างไรก็ตามโจทย์ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นโจทย์ขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนของโจทย์สูง  มีหน่วยงานหลายๆหน่วยงานเข้ามาเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders)  ทุกคนทุกหน่วยงานมีผลประโยชน์ร่วมกันเพราะเป็นสมาชิกในชาติเดียวกัน   และในขณะเดียวกันก็อาจจะมีความขัดแย้งในกระบวนการดำเนินงานขั้นตอนต่างๆตามกฎหมายที่ควบคุมการดำเนินงานซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเสียผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนหน่วยงานไปได้  จึงอาจจะมีโอกาสที่จะเกิดเป็นความขัดแย้งในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำมาได้

อย่างไรก็ตามกระบวนการที่ดำเนินงานในการจัดทำยุทธศาสตร์ในปัจจุบันที่ วปอ. อาจจะดูไม่มีความขัดแย้งมากนัก  เพราะว่าในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้น   ประเด็นหรือหัวข้อต่างๆ นั้นได้ถูกพิจารณาแบบแยกส่วนกัน (Reductionism)  แยกกันไปคิด  แยกกันไปทำ   ซึ่งที่จริงแล้ว  เราควรจะพิจารณาแบบบูรณาการหรือแบบองค์รวม (Holism) ด้วยการคำนึงความเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน  ทั้งนี้เพราะว่าประเทศชาตินั้นเป็นสังคมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวได้ (Complex Adaptive System : CAS)  องค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชาตินั้นมีความเชื่อมโยงกัน (Connectedness)  และมีปฏิสัมพันธ์กัน (Interactions)  ในหลายๆองค์ประกอบของความมั่นคงแห่งชาติทั้ง  9  ด้าน

โจทย์ของยุทธศาสตร์ชาติ
             
ประเด็นของการตั้งโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ คือ เป้าหมายที่ชาติเราต้องการจะเป็นในอนาคต  และผู้นำที่จะพาเราไปยังเป้าหมายที่ชาติต้องการ  รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำยุทธศาสตร์ชาติไปปฏิบัติให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติ   ซึ่งหมายความว่า  ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีความเข้าใจในบริบทและสิ่งแวดล้อมในเชิงระบบ (Systemic) มากแค่ไหน?    เรามีความเข้าใจว่าความเป็นชาติประกอบไปด้วยองค์ประกอบอะไรบ้างและอย่างไรบ้าง?   แล้วเราเข้าใจถึงความสัมพันธ์หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆในความเป็นชาติหรือไม่ ?   เรานำสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาในเชิงระบบหรือเชิงความสัมพันธ์หรือไม่?

อีกมุมหนึ่ง คือ เราได้ใช้เครื่องมือต่างๆที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ (Analysis) และสังเคราะห์ (Synthesis) ยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่?   คงจะเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์บนพื้นฐานที่ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง    ถึงแม้ว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบสภาวะแวดล้อมและการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ก็ตาม   แต่ประเด็นเหล่านี้ยังไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญนัก  เพราะว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วปอ. นี้เป็นหนึ่งในกระบวนการฝึกการจัดทำยุทธศาสตร์ของผู้บริหารระดับสูงของชาติในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ  ดังนั้นความเข้าใจในกระบวนการและเครื่องมือที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเป้าหมายและสภาพแวดล้อมรวมทั้งยุคสมัยจึงเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างมาก
             
ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น  ก็คือ  มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ที่จะต้องมองแบบการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ซึ่งเป็นการคิดและมองแบบองค์รวม (Holistic Thinking) โดยผู้ที่จัดทำยุทธศาสตร์นั้นจะต้องรู้และเข้าใจว่าปัญหาของชาติในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาตินั้นมีโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic Structure) โดยธรรมชาติอยู่แล้ว   ดังนั้นการมองปัญหาและการกำหนดยุทธศาสตร์ไปจนถึงการกำหนดวัตถุประสงค์มูลฐานแห่งชาติ   วัตถุประสงค์เฉพาะแห่งชาติ  นโยบายและมาตรการต่างๆ  จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นระบบ (Systemic)  ของเรื่องราวที่ถูกหยิบมาเป็นประเด็นต่างๆ นั้น  ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างโดดๆ  แล้วเอาประเด็นทั้งหมดมารวบรวมกัน (Collections) เป็นบทสรุป  ซึ่งที่จริงแล้วเราจะต้องนำเอาประเด็นต่างๆมาสร้างความเชื่อมโยงกันและมาประเมินผลของการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเสียก่อน  เพื่อให้เกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง

ทุกประเด็นของยุทธศาสตร์ย่อมมีความเชื่อมโยงกับอีกหลายๆ ประเด็นในองค์ประกอบของความเป็นยุทธศาสตร์ชาติ  อย่างไรก็ตามเรายังขาดแนวคิดพื้นฐานและเครื่องมือในการที่จะมองปัญหาในเชิงระบบและความเป็นพลวัตของยุทธศาสตร์  เพราะว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสภาวะแวดล้อมปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนและมีความเป็นพลวัตสูง  แต่ถ้าเราไม่มีเครื่องมือในการรับมือกับความซับซ้อนและความเป็นพลวัตของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น  และเรายังใช้เครื่องมือและฐานความคิดแบบเดิมๆ ที่ไม่เหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้น   การกำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์อาจจะไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรืออาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น   ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติขาดความมั่นคงหรือเสียผลประโยชน์แห่งชาติไปได้

การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ :  การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา  สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน  มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 23
31 สิงหาคม 2554