วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

Daily Supply Chain 7 : My Coffee… My Starbucks’ Supply Chain

เครื่องดื่มประเภทกาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มประจำวันรองจากอาหารหลักของคนเราไปเสียแล้ว สำหรับบางคนกาแฟได้กลายเป็นอาหารเช้าไปแล้วเช่นกัน ซึ่งที่จริงแล้วเราควรกินอาหารเช้าจริงๆ มากกว่า เพราะว่าเป็นมื้ออาหารที่สำคัญ ไม่ควรงด แต่กาแฟก็ได้กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมสำหรับคนทั่วทุกมุมโลก จากร้านกาแฟในตลาดที่เป็นกาแฟคั่วมีถุงกรองกาแฟ เทน้ำร้อนๆไหลผ่านถุงกรองกาแฟโยกไปโยกมา (กาแฟโบราณ) จนกลายเป็นกาแฟร้อน กาแฟเย็น โอเลี้ยงซึ่งเป็นเครื่องดื่มของคนทุกคนทุกชนชั้นที่มีขายอยู่ตามตลาดสดในท้องถิ่นต่างๆยามเช้าและมืดเย็นค่ำทั่วไปในเมืองไทย แต่เดี๋ยวนี้กาแฟได้ยกระดับของสินค้าและการบริการของตัวเองขึ้นห้างและได้กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกไปเสียแล้ว แต่ไม่ใช่ แบนรด์ของไทยหรอกครับ อย่างเช่น Starbucks ความจริงกาแฟแรนด์ของไทยก็มีอยู่ครับ แต่ยังไม่ Go Global เสียที เพราะยังไม่สามารถสร้างโซ่อุปทานระดับโลกได้


ตอนแรกๆ ผมเองก็ไม่ได้คิดอะไรมากนัก มีกาแฟขายที่ไหนก็ดื่มที่นั่น ผม ไม่ได้เป็นนักดื่มกาแฟมากมายนัก เพราะคิดอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ได้ติดกาแฟซะหน่อย ผมแค่ดื่มวันละสองแก้ว ทุกวัน เช้าและบ่ายหลังอาหาร แค่ขาดไม่ได้ก็เท่านั้นเองครับ โดยบังเอิญว่าสถานที่ที่ผมแวะไปนั้นมีกาแฟ Starbucks ขายพอดี ผมก็เลยกินแต่กาแฟ Starbucks เป็นส่วนใหญ่ จนเดี๋ยวนี้ผมจะเดินทางไปไหนมาไหนในวันหนึ่งๆจะต้องสำรวจมองหาว่ามีร้านกาแฟ Starbucks หรือร้านกาแฟดีๆ อยู่ในเส้นทางหรือไม่ ต้องดีๆ นะครับ ไม่ใช่ร้านกาแฟสดร้านเล็กๆที่มีขายอยู่ทั่วไป ผมจะได้แวะดื่มกาแฟตามกำหนดการประจำวันของผม


ลองมาดูร้านกาแฟที่ผมเข้าไปดื่มกาแฟอยู่เป็นประจำอย่าง Starbucks ที่ Howard Schultz CEO ของ Starbucks ได้รับเลือกเป็น The 2011 Business Person of The Year โดยนิตยสาร Fortune Starbucks มีร้านกาแฟอยู่ทั่วโลกประมาณ 17,000 แห่งใน 56 ประเทศ เราลองนึกถึงการจัดการโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) ดูสิครับว่าจะยากหรือง่ายเพียงไร โดยเฉพาะรสชาดของกาแฟและการบริการในแต่ละสถานที่ในแต่ละประเทศ ตอนแรกๆแรกผมก็ไม่รู้ว่าทำไมผมถึงติดใจกาแฟ Starbucks ซึ่งราคาค่อนข้างสูง การจัดร้านดูดีมีรสนิยม ราคาสูง แต่ไม่ได้บอกว่าแพงนะครับ ถ้าได้ออกจากบ้านผมต้องหาร้าน Starbucks ไว้ก่อนไม่ว่าจะในช่วงเช้าหรือบ่าย ถ้าผมอยู่ Office หรือที่บ้านผมก็มีเครื่องทำกาแฟของผมอยู่แล้วพร้อมกาแฟ Starbucks และ กาแฟหลากชนิดหลายสายพันธุ์เอาไว้ให้ลองดื่มดู มีดีบ้างหรือพอดื่มได้บ้าง แต่ผมก็ยังไม่ได้สังเกตุตัวเองเท่าไหร่นักว่า ทำไมจึงดื่มแต่ Starbucks จนลูกชายผมต้องแซวว่า เข้า Starbucks อีกแล้ว


แล้วผมก็ได้มีโอกาสคุยกัย ดร.ฉัตรชัย เพื่อนอาจารย์ที่อยู่ในวงการค้าปลีก ระหว่างเดินทางไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกด้วยกัน ท่านอาจารย์ดร.ฉัตรชัย ท่านบอกว่า ท่านก็ดื่มกาแฟ Starbucks เหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า รสชาดอร่อยเหมือนกันทุกสาขา เป็นมาตรฐานเดียวกัน Standard เดียว เออ!ใช่เลย คำตอบของอาจารย์ดร.ฉัตรชัย ทำให้ผมตอบคำถามตัวเองได้แล้วว่าทำไมผมต้องดื่ม Starbucks และไม่ค่อยนิยมกาแฟสดตามร้านกาแฟเล็กๆ ทั้งหลาย ถึงแม้ว่าจะราคาถูกกว่ามากๆ ผมเองเคยไปดื่มกาแฟสดตามที่ต่างๆ ในราคาที่แตกต่างกันไป ก็ตามราคาครับ ระยะหลังๆ นี้ดื่มไม่ค่อยได้เลยครับ ดูมันจะไม่ใช่รสชาดของกาแฟอย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นกาแฟผสมที่เตรียมไว้สำหรับทำกาแฟเย็นใส่นมที่คนไทยส่วนใหญ่จะชอบดื่มกัน หลังๆผมจึงหลีกเลี่ยงกาแฟสดตามร้านเล็กๆ เพราะถึงแม้ว่าจะราคาถูกกว่าก็ตาม ผมกลับรู้สึกว่าเสียดายเงินครับ


แล้วลองมาดูกันสิครับว่ากว่า ร้านกาแฟ Starbucks ที่มีมาตรฐานอย่างนี้ เขาต้องจัดการโซ่อุปทานอะไรบ้าง ลองนึกดูว่าตั้งแต่เราเดินเข้าไปในร้านกาแฟ Starbucks เราเสียเงินซื้ออะไรบ้าง สิ่งนั้นก็จะต้องมีโซ่อุปทานเข้ามารองรับ ตั้งแต่ เมล็ดกาแฟ นม น้ำแข็ง เบเกอรี่ต่างๆ อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการชงกาแฟและดื่มกาแฟ แล้วมันควรจะถูกนำส่งไปยังร้าน Starbucks ทั่วไทยได้อย่างไร เรื่องนี้ผมไม่ได้รู้ละเอียดและลึกมากนัก ผมคงจะไม่พูดไป แต่ก็ไม่น่าจะมีอะไรลึกลับมากนัก ผมคิดว่า Starbucks เองก็ต้องใช้แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานเข้ามาช่วยในการจัดการเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ทั่วไป เพียงแต่จะต้องเข้าใจบริบทของธุรกิจตัวเองให้ลึกซึ้ง จึงจะสามารถจัดแนวคิดการจัดการโซ่อุปทานอย่างได้ผล


เหตุผลที่ Starbucks ประสบความสำเร็จได้มาถึงวันนี้ก็เพราะว่าได้ใช้แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานและการแปลงสภาพกระบวนการธุรกิจ (Process Transformation) ลองไปดูร้านกาแฟ Starbucks แต่ละร้านนะครับ เราจะเห็นกระบวนการในการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเสมอ แต่ในระดับโลกแล้ว Starbucks เองได้เคยประสบปัญหาในธุรกิจอันเกิดมาจากเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาเรื่องต้นทุนในการดำเนินงานมาอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในปี 2010 Starbucks ก็ได้ปรับตัวด้วยการลดต้นทุนในโซ่อุปทานออกได้ถึง 700 ล้านดอลล่าร์ และสามารถสร้างกระบวนการธูรกิจให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่าง On Time In Full (OTIF) ทำให้ Starbucks เปลี่ยนจากธุรกิจที่มีปัญหาด้านโซ่อุปทานได้กลายมาเป็นธุรกิจที่มีโซ่อุปทานที่ที่สุดในโลกอีกโซ่อุปทานหนึ่ง


เราลองมาดูตั้งแต่เริ่มต้นเลยก็ได้ว่า ร้านกาแฟ Starbucks ในเมืองไทยนั้น ส่วนมากจะเปิด 8:00 จนถึง 21:00 เป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าห้างจะเปิดตอน 10 โมงเช้า รานกาแฟ Starbucks ก็ต้องหาทำเลที่ตั้งของร้านในห้างฯที่ใกล้กับถนนหรืออยู่ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าชั้นที่หนึ่งให้มากที่สุด เพื่อที่จะให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้สะดวก (Customer Logistics) นั่นคือ Starbucks ได้คิดไว้ตั้งแต่ลูกค้าเดินเข้าร้านเลย คอยดักลูกค้าในช่วงเช้าๆ ส่วนร้านที่อยู่ในห้างลึกๆ ก็คงต้องเปิดตามเวลาห้าง ประเด็นตรงนี้ ทำให้ลูกค้าสามารถแวะระหว่างเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกโดยเฉพาะเวลาเช้า ผมใช้บริการที่สาขา Robinson รัชดาในช่วงเช้า ถ้ามีธุระแถวนั้นในตอนเช้า


ร้านกาแฟ Starbucks ที่จริงแล้วก็ไม่ได้ขายคุณค่า(Values) ในความเป็นร้านกาแฟอย่างเดียว แต่เขาบอกกันว่า Starbucks ขาย Life Styles น่าจะเป็นเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ทำให้มีการใช้บริการของลูกค้าอยู่เป็นประจำ ผมก็คิดว่าอย่างนั้น เพราะเราจะเห็นคนที่ไปกินกาแฟที่ Starbucks จะใช้ร้านกาแฟเป็นที่พบปะคุยกัน คุยธุรกิจกันหรือพวกหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาก็ใช้เป็นสถานที่ติวการบ้านหรือปรึกษาเรื่องงานกรณีศึกษากันสำหรับ Starbucks ที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย เราจึงเห็นคนที่เข้าในร้าน Starbucks จะมีพวก Notebook หรือ Tablet ติดตัวกันมา หรือไม่ก็มีหนังสือมานั่งอ่านกัน ทางร้านจึงต้องเตรียมแหล่งจ่ายไฟให้อยู่ใกล้กับที่นั่งต่างๆ มี Wi-fiไว้บริการ แต่เดี๋ยวนี้อาจจะไม่จำเป็นแล้ว เพราะว่าผู้ให้บริการข้อมูลมี Package Wi-fi หรือ 3G ดีๆ ถูกๆ ออกมาเยอะแล้ว

ต่อไปให้ลองนึกดูหรือลองไปใช้บริการ ตั้งแต่สั่งเริ่ม Order ไปจนถึงได้รับสินค้ารวมทั้งการบริการด้วย อีกทั้งพนักงานยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายอย่างเป็นกันเองเกือบจะทุกสาขาที่ผมเคยไป นั่นคือ หน้าฉากของโซ่อุปทาน Starbucks แต่ลองให้นึกหลังฉากของ Starbucks ซึ่งก็ คือ กระบวนการโซ่อุปทาน (Supply Chain Process) แล้วในช่วงเวลาที่เขาไม่ได้ให้บริการหรือในช่วงเวลาตั้งแต่ปิดร้านจนเปิดร้านในตอนเช้าล่ะ? ทาง Starbucks เขาก็จะต้องนำสินค้าและวัตถุดิบทุกอย่างเข้ามาเติมให้เต็มตามแผนที่วางไว้สำหรับการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า พวกเราๆ ลูกค้าคงจะไม่เคยได้รับรู้หรือเห็นหรอกครับ ผมว่าต้องลองไปแอบดูกันบ้าง จะดีไหมครับ! น่าสนใจนะครับ


ในการเติมเต็มสินค้าและวัตถุดิบในแต่ละวันนั้น Starbucks ก็ต้องใช้ Third Party Logistics (3PL) ในการกระจายสินค้าและวัตถุดิบไปยังสาขาต่างๆทั่วประเทศ ผมเข้าใจตามข้อมูลเดิมที่รับรู้มา ผมคิดว่าน่าจะประมาณ 130 กว่าสาขา หรือมากกว่านั้นสำหรับประเทศไทยเรา ให้เราลองมองไปรอบๆ ร้านว่า โซ่อุปทานของร้าน Starbucks มีอะไรบ้าง แล้วสิ่งของอุปกรณ์และวัตถุดิบเหล่านั้นจะถูกเคลื่อนย้าย (Logistics) มาที่แต่ละร้านสาขาได้อย่างไร อย่างถูกเวลาและถูกสถานที่ รวมทั้งถูกจำนวน อีกทั้งพนักงานที่ถูกมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละสาขาด้วย นั่นคือ กิจกรรมลอจิสติกส์ในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรต่างๆ ในการชงกาแฟไปยังจะร้านสาขาต่างๆ ที่ใกล้กับลูกค้ามากที่สุด ยิ่งใกล้กับลูกค้ามากเท่าไหร่ โอกาสการขายก็มากขึ้นเท่านั้น คุณค่าเชิงลอจิสติกส์ก็จะดีขึ้นด้วย เพราะลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย โอกาสในการขายก็ง่ายขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันกิจกรรมแบบนี้ก็ถือเป็นการลงทุนในการดำเนินงานด้วย เมื่อลงทุนไปแล้ว เราก็จะต้องจัดการกับกิจกรรมลอจิสติกส์ที่เกิดจากการลงทุนนี้ด้วย เพื่อเป้าประสงค์เดียวเลย คือ กำไรที่ได้จากการขายนั่นเอง


การดื่มกาแฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของเราบางคนไปแล้ว ยิ่งร้านกาแฟสมัยใหม่เป็นมากกว่าร้านกาแฟทั่วไป แต่เป็นชุมชนเล็กให้คนมาพบปะหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน แต่ถ้าจะดูให้ลึกๆแล้ว ร้านกาแฟ Starbucks นั้นไม่ได้แตกต่างจากร้านกาแฟตามซอยตามตลาดทั่วไปในบ้านเราเลย คุณค่าอย่างนี้บ้านเรามีมาตั้งนานแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเลย เขาถึงเรียกกันว่า “สภากาแฟ” แต่สิ่งที่แตกต่างกันออกไปก็คือ บริบทของสังคมและเทคโนโลยีและ Life Styles ของคนเราในปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงต้องเขาใจทั้งตัวคุณค่าและบริบทของคุณค่า เพื่อที่จะได้จัดสร้างคุณค่าและนำส่งคุณค่านั้นสู่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

Daily Supply Chain 6 : จากบัตรจอดรถ…สู่…บัตรประชาชน สถานะลอจิสติกส์ในโซ่อุปทาน

วันนี้มีโอกาสไปบรรยายที่โรงแรมแถวๆ ถนนเยาวราช ความกังวลแรกก็ คือ ที่จอดรถเป็นอย่างไรบ้างจะมีมากพอหรือคับแคบขนาดไหน เพราะว่าถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยจะย่างกายเข้าไปแถวนั้นเท่าไหร่ แน่นอนครับผมไปถึงโรงแรมก็ต้องผ่านด่านแรก คือ การรับบัตรจอดรถ ประทับใจครับ เพราะว่าเจอเครื่องจ่ายบัตรโดยไม่ต้องมีคนมายื่นบัตรให้ ที่จอดรถบางสถานที่ยิ่งเลวร้ายมากคือ มีเครื่องจ่ายบัตรแล้วยังต้องมีรปภ.มาคอยกดบัตรที่ออกจากเครื่องจ่ายบัตรที่คนขับรถเข้ามาก็กดเองได้ เห็นแล้วก็สมเพชครับ เสียค่าแรงรปภ.เปล่าๆ แต่ที่โรงแรมนี้ดีครับลดคนไปได้ เพราะลงทุนเรื่องเครื่องจ่ายบัตรไปแล้วไง คนที่ขับรถเข้ามาแล้วก็สามารถกดบัตรเองได้ ยิ่งไปกว่านั้นที่โรงแรมแห่งนี้ไม่ได้มีแค่บัตรจอดรถเท่านั้น ในบัตรนั้นยังมีภาพบันทึกป้ายทะเบียนรถจาก VDO ที่จับภาพทะเบียนรถมาพิมพ์ไว้บนบัตรจอดรถด้วย พร้อมบันทึกวันและเวลาให้เสร็จ เออ! ดีจังเลยผมชอบ


ผมก็เลยนึกถึงกระบวนการลอจิสติกส์ในโซ่อุปทานของการบริการ เพราะวันนี้ไปไหนๆ ในเมืองสิ่งที่ต้องกังวลไว้ก่อนก็ คือ ที่จอดรถ เพราะหายากเหลือเกินในสถานที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ การจอดรถนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ของลูกค้าอย่างหนึ่งในการเคลื่อนที่ไปหาคุณค่าหรือเคลื่อนที่ไปจ่ายเงินพื่อซื้อสินค้าและบริการนั่นเอง ทุกวันนี้จะหาที่จอดรถฟรีนั้นคงจะไม่มีอีกแล้ว ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆก็เริ่มเก็บเงินตามเวลาที่จอด เพราะว่ามีรถมากขึ้น ซึ่งก็ดีอยู่หรอกครับ ลูกค้าจะได้มากขึ้น ดังนั้นการที่เราจะต้องรับบัตรจอดรถและลงเวลาสำหรับการเข้าที่จอดรถนั้นจึงเป็นเรื่องของ Information ของลอจิสติกส์ของลูกค้าและพาหนะของลูกค้า ซึ่งมีผลถึงรวมทั้งความปลอดภัยต่างๆ ในการจอดรถ แต่ปัจจุบันนี้ก็อาจจะหาที่จอดรถฟรีได้บ้าง แต่จะเห็นที่จอดรถบางแห่งที่ไม่เก็บเงินได้ลดต้นทุนในกระบวนการ ด้วยการบันทึกวีดีโอภาพรถเข้าออกไว้ใช้เป็นหลักฐานในการด้านความปลอดภัย โดยไม่ต้องมีคนจ่ายบัตรตอนเข้าและรับบัตรตอนออก ประหยัดรปภ.ได้สองคน กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมด้านลอจิสติกส์ข้อมูลที่ไว้ใช้ในการจัดการคุณค่าและลูกค้าต่างๆ ในโซ่อุปทานนั้นๆ

เรื่องของข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้เป็นเรื่องของการบ่งชี้ (Identification)ถึงทรัพยากรต่างๆ หรือสิ่งที่เราสนใจในโซ่อุปทานที่เรากำลังจัดการอยู่ว่ามีตำแหน่งอยู่ที่ไหนอย่างไรและเมื่อไร เพื่อที่จะได้ถูกนำไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ลานจอดรถตามห้างใหม่ๆในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ติดตั้งระบบจอดรถที่มีป้ายสัญญาณบอกถึงจำนวนที่ว่างในแต่ละชั้นจอดและไฟแสดงสถานะตามตำแหน่งที่จอดต่างๆ ในแต่ละชั้น ถ้าเป็นสีเขียวช่องนั้นก็จะว่าง ถ้าไม่มีสีเขียวก็แสดงว่ามีรถจอดอยู่ ทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการในห้างๆ สามารถขับรถวนขึ้นหรือลงไปชั้นอื่นๆ ได้เลยโดยไม่เสียเวลาวนหาที่จอดอีก ระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตำแหน่งที่จอดรถนี้ ถือได้ว่าเป็นลอจิสติกส์ข้อมูลสารสนเทศซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการขับรถหาที่จอดในการเข้ามาใช้บริการของลูกค้าภายในห้างทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วของการเข้าถึงโซ่อุปทานของสินค้าต่างๆ ที่ขายอยู่ในห้างสรรพสินค้า ข้อมูลของสถานะของสินค้าต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรของต่างๆ ในกระบวนการธูรกิจหรือโซ่อุปทานนั้นมีผลต่อการตัดสินใจของเราในการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ การผลิต การส่งหรือการซื้อมาไว้เป็นเจ้าของ ถ้าเราไม่มีข้อมูลเหล่านี้แล้วหรือมีข้อมูลที่ผิดพลาดขึ้นมาแล้ว การตัดสินใจและการการดำเนินงานอาจจะมีข้อผิดพลาดขึ้นมาได้ ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับสินค้าและบริการนั้นๆ อย่างถูกเวลาและถูกสถานที่ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม หรือด้วยระดับการให้บริการที่เหมาะสม


คราวนี้เราลองหันกลับมาดูตัวเองสิครับ มาดูในกระเป๋าสตางค์ของเราบ้าง ตรวจดูดีๆ ว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่ ของผมน่ะหรือครับ ของผมมีเงินอยู่ไม่มากครับ แต่ทำไมกระเป๋าตุงอย่างนั้น ก็มีแต่บัตรสมาชิกและบัตรเครดิต บัตรประชาชน ใบขับขี่ บัตรอื่นๆ เต็มไปหมด สิ่งเหล่านี้เป็นลอจิสติกส์ช้อมูล เป็นข้อมูลเชิงสถานะของทรัพยากรหรือลูกค้าในโซ่อุปทานต่างๆ แล้วข้อมูลทั้งหมดสามารถหาได้จากแหล่งเดียวหรือไม่ ทำไมต้องแยกกันเก็บ ทำไมผมต้องพกบัตรมากมายอย่างนี้ด้วย พกแค่บัตรประชาชนใบเดียวได้หรือไม่ เวลาไปสมัครงานหรือทำธุรกรรมอะไรสักอย่าง เราจะต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านเสมอ พร้อมทั้งเซ็นสำเนาถูกต้อง เพื่อเป็นยืนยันว่าเป็นตัวจริง กิจกรรมเหล่านี้เป็นลอจิสติกส์ข้อมูลสารสนเทศทั้งสิ้นเพื่อประกอบในการดำเนินงานในโซ่อุปทานต่างๆ ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์โดยตรงกับผู้บริโภค แล้วเราจะลดจำนวนมันลงได้อย่างไร ทำอย่างไรให้เราใช้ข้อมูลร่วมกัน ใช้บัตร Smart Card ใบเดียวได้ไหม


ผู้ที่อยู่ในโซ่อุปทานต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลที่บ่งบอกสถานะของบุคคลในด้านต่างๆ จากบัตรใบเดียวได้ไหม พกใบเดียวใช้ได้ทุกที่ทุก ห้าง บัตรนั้นน่าจะเป็นบัตรประชาชนนะครับ ทุกวันนี้ผู้ที่ใช้บัตรประชาชนของผมก็คือ รปภ.ตามบริษัทและสถานที่ต่างๆ ที่ผมต้องแลกบัตรเข้าไป นอกนั้นผมไม่เห็นจะใช้บัตรประชาชนที่เกิดประโยชน์มากกว่านี้ ข้อมูลและเลขประจำตัวประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกในเชิงการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อให้ผมมีชีวิตและการจัดการชีวิตของผมได้ดีขึ้น ยิ่งข้อมูลได้ใช้ร่วมกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในโซ่อุปทานเดียวกันและต่างโซ่อุปทานกัน รวมทั้งภาครัฐต่างๆ ที่จัดการโซ่อุปทานสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นลูกชายผมที่ยังเป็นด.ช.อยู่ก็มีบัตรประชาชนเหมือนกัน ถ้าทำหายแล้วก็ยุ่งตายเลย แต่ตอนทำครั้งแรกก็สะดวกดี แต่ครั้งต่อไปนั้นยังไม่รู้ แล้วเด็กจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เพราะต้องไปกับพ่อแม่อยู่แล้ว อีกหน่อยเราคงมีบัตรให้พกกันมากมาย เพราะมีหลายตัวตนเดียวแต่หลายบทบาท แล้วทำไมแต่ละบทบาทถึงไม่ใช้ร่วมกันล่ะครับ ง่ายและประหยัดกว่าตั้งเยอะ


ที่จริงแล้วทำเป็นธุรกิจได้นั้น เป็นบริษัทรับจ้างบริหารข้อมูลส่วนบุคคล ใครต้องการข้อมูลของคุณ คุณก็รู้ คุณจะให้ข้อมูลใครไปทำอะไรก็รู้ เจ้าของข้อมูลก็รู้ว่าใครใช้ข้อมูลบ้าง คุณไปทำอะไรที่ไหนอย่างไร คุณก็รู้หมด แต่มาคิดอีกที กลายเป็นว่าบริษัทนี้รู้ลอจิสติกส์ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนไปหมด มันน่ากลัวเกินไปหรือเปล่าเนี่ย แต่ตอนนี้ก็เริ่มคล้ายอย่างนี้แล้วบนสังคมออน์ไลน์ กับ Social Network ไงครับ สำหรับ Timeline ที่เป็น Interface ใหม่ของ Facebook นั่นไง มันมาแล้วครับ แล้วชีวิตคุณในอนาคตอาจจะไม่ใช่มีคุณคนเดียวในชีวิตคุณอีกต่อไป เพราะว่ามีคนคอยจ้องมองชีวิตและบันทึกเรื่องราวของชีวิตคุณบน Facebook อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่น่ากลัวหรอกครับ ถ้าเรารู้จักวิธีใช้งานและหาประโยชน์จากมันได้ ลองดูสิครับ!

Daily Supply Chain 5 : จากรถรับจ้างขนส่ง..สู่ลอจิสติกส์..เพื่อเติมเต็มโซ่อุปทาน

ทุกวันนี้ระบบการขนส่งมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันเราเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา เอาน้ำท่วมแค่เข่า รถเล็กวิ่งไม่ได้ แค่นี้ก็เราก็เดือดร้อนกันไปทั่วแล้ว ไม่ต้องท่วมให้มิดหัวหรอกครับ ดังนั้นเราจึงเห็นธุรกิจรถรับจ้างขนส่งสินค้าอยู่เต็มไปหมดในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะใหญ่จะเล็ก การขนส่งจึ้งเป็นพื้นฐานที่สำคัญเรื่องหนึ่งในชีวิตเรามานานตั้งแต่โลกเรามีสังคมมนุษย์มีอารยะธรรม นอกจากการขนส่งสินค้าแล้วยังมีการขนส่งคนด้วยซึ่งก็มีความสำคัญๆ มากในอีกมุมหนึ่ง แต่ถ้าประเมินคุณค่าออกมาแล้ว คนก็น่าจะมีคุณค่ามากกว่าสิ่งของเพราะว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดเองและพัฒนาคุณค่าอื่นๆได้ การขนส่งคนจึงต้องมีความระมัดระวังและมีข้อจำกัดและข้อกำหนดเป็นพิเศษ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการขนส่งข้อมูลต่างๆ ให้กับคนนำข้อมูลไปคิดและตัดสินใจเพื่อที่จะขนส่งคุณค่าอื่นไปยังผู้ที่ต้องการคุณค่าคนสุดท้ายหรือผู้บริโภค ซึ่งคุณค่าสุดท้ายที่อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์และบริการจึงจะต้องเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาในภาพรวม


เราสามารถพบเห็นรถหรือพาหนะหลากหลายประเภทที่ถูกดัดแปลงหรือถูกสร้างมาเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะ แต่ในระยะหลังๆ นี้เรื่องราวของการขนส่งได้ถูกยกระดับให้กลายเป็นเรื่องของลอจิสติกส์ไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่ความหมายของลอจิสติกส์นั้นไม่ใช่แค่การขนส่ง แต่ก็ยังมีการพูดและใช้ลอจิสติกส์ไปในเชิงการขนส่งแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งผิดความหมายและวัตถุประสงค์ของการใช้คำๆ นี้ แต่สิ่งที่ทุกคนได้เห็นและได้รับรู้กันอยู่คือทุกคนในวงการขนส่งมีการปรับตัวและปรับชื่อกันไปเป็นลอจิสติกส์กันหมดแล้ว แต่จะมีการปรับแนวคิดจากการขนส่งไปสู่แนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้อย่างไรบ้างหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องนำมาคิดต่อยอดออกไปหรือพัฒนากันต่อไป เพราะว่าทุกวันนี้บริษัทขนส่งทั้งหลายอย่างน้อยก็เริ่มปรับตัวจากการเปลี่ยนชื่อจาก “บริษัทขนส่ง” ไปเป็น “บริษัทลอจิสติกส์” กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว แม้แต่บริษัทรถเมล์ที่มาเป็นรถร่วมของ ขสมก. เองก็ยังใช้คำว่าลอจิสติกส์เป็นชื่อบริษัท อย่างน้อยเวลานี้คนเราทั่วไปก็เริ่มที่จะเข้าใจว่าลอจิสติกส์ คือ การขนส่ง เป็นรถบรรทุก รถไฟ เรือ เครื่องบิน ขนส่งทั้งคนและทั้งสินค้า แล้วก็มีบริษัทไปรษณีย์ไทยด้วยที่ประกาศตัวเป็นบริษัทด้านลอจิสติกส์ด้วยเช่นกัน เราจะมองอย่างไรกันดีล่ะ เราจะเข้าใจความหมายของลอจิสติกส์ได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ คำว่า "ลอจิสติกส์" นั้นไม่ได้มีพัฒนาการมาจากการขนส่งแต่เพียงด้านเดียว แต่ในมุมมองของผมนั้นลอจิสติกส์มีพัฒนาการมาจากโซ่อุปทานมากกว่า แต่แนวคิดและความหมายของโซ่อุปทานกลับถูกพัฒนาตามหลังลอจิสติกส์อีกที


ก่อนที่จะมาเป็นลอจิสติกส์นั้น เรามีการขนส่ง ขนส่งทุกอย่างที่มนุษย์ต้องการ ทุกรูปแบบของการขนส่ง ขนส่งให้ถึงที่หมายให้มีสภาพเดิมเหมือนก่อนส่งและตรงเวลา แล้วการขนส่งจะเป็นลอจิสติกส์ได้อย่างไร ก่อนที่จะมาเป็นลอจิสติกส์นั้นก็ต้องคิดในเชิงโซ่อุปทานให้ได้เสียก่อน เพราะว่ากิจกรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือการจัดส่งก็เกิดมาจากโซ่อุปทานทั้งสิ้น เช่นกันแต่ก่อนเราไม่มีคำว่า "โซ่อุปทาน (Supply Chain)" กัน แต่ในช่วงนี้เราเข้าใจโซ่อุปทานจากคำว่าโซ่การผลิต ซึ่งเห็นได้จากตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 ข่าวต่างๆ ได้ใช้คำว่าโซ่การผลิต (Manufacturing Chains) เพราะว่าเมื่อโรงงานผลิตสินค้าทำการผลิตสินค้าไม่ได้จึงทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้า ผู้คนผู้บริโภคไม่ได้กินไม่ได้ใช้สินค้าและบริการ คุณค่าในรูปแบบสินค้าและบริการจึงไม่ถึงมือผู้บริโภค เมื่อเส้นทางถูกตัดขาด โซ่การขนส่ง (Transportation Chains) ก็ถูกตัดขาด ทำให้ของกินของใช้ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ (Product and Services) ก็ไม่สามารถถูกส่งถึงมือผู้บริโภคได้เช่นกัน


เรื่องของการขนส่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการผลิต มีทั้งการขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน (Inbound)และการขนส่งสินค้าสำเร็จรูปไปยังผู้กระจายสินค้า(Distribution) และส่งต่อไปยังร้านขาย (Retails) หรือไม่ก็ขนส่งสินค้ากึ่งสำเร็จรูปไปยังโรงงานผลิตอีกแห่งหนึ่งแล้วจึงขนส่งไปยังผู้กระจายสินค้าและส่งต่อไปยังร้านขายปลีกอีกทีหนึ่ง ถ้ามองกันแค่นี้ เราก็เห็นโซ่การผลิตและโซ่การขนส่งจนไปถึงผู้บริโภค เราเข้าใจว่าเรื่องราวเหตุการณ์และความเชื่อมโยงทั้งการผลิตและการขนส่งจนถึงผู้บริโภคกันแบบนี้กันมานานแล้ว ผมจะเรียกการเชื่อมโยงนี้ว่าโซ่ผลิตภัณฑ์ (Product Chain)


ถ้าใครคนใดคนหนึ่งในโซ่ผลิตภัณฑ์นี้เกิดปัญหาในการดำเนินงาน เช่น ผลิตไม่ได้ ขนส่งไม่ได้ ผู้บริโภคหรือลูกค้าคนสุดท้ายก็จะไม่ได้รับสินค้าและบริการ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นเชิงธุรกิจและประเด็นในการดำเนินงานในการสร้างคุณค่าในรุปแบบของผลิตภัณฑ์และการบริการ ธุรกิจทุกธุรกิจก็พยายามที่จะดิ้นรนในการพัฒนาตัวเองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในโซ่ผลิตภัณฑ์และโซ่กิจกรรมในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อที่จะได้มีศักยภาพและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า แล้วคำว่าโซ่อุปทานนั้นมาจากไหนและควรจะมีความหมายอย่างไร?


กิจกรรมต่างๆ ในโซ่ผลิตภัณฑ์ เช่น กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การแปรสภาพวัตถุดิบ การจัดส่งวัตถุดิบ การแปรสภาพวัตถุดิบไปเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูป การจัดส่งสินค้ากึ่งสำเร็จรูป การผลิตสินค้าสำเร็จรูป การกระจายสินค้า และการขายสินค้าที่หน้าร้าน กิจกรรมเหล่านี้ได้ถูกดำเนินการมาโดยตลอด โดยมีการเชื่อมโยงกันในเชิงธุรกิจและในระดับการดำเนินงานซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาการกระบวนการธุรกิจรวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่พัฒนาขึ้น ประเด็นหนึ่งที่ผลักดันให้โซ่ผลิตภัณฑ์กลายไปเป็นแนวคิดโซ่อุปทานคือ การเปลี่ยนแปลงของความต้องการลูกค้า ตลาดและโลกอย่างเป็นพลวัตในมุมของความต้องการของลูกค้าในด้านผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่ความต้องการของลูกค้า


แนวคิดโซ่อุปทานจะมองไปที่การเปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้าในตัวผลิตภัณฑ์และบริการ เมื่อผลิตภัณฑ์และบริการถูกผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า ซึ่งจะทำให้โซ่ผลิตภัณฑ์จะต้องปรับตัวตามให้ทันกับความต้องการของลูกค้า ประเด็นจึงอยู่ที่โซ่ผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบไปด้วยหลายๆ บริษัทที่แบ่งงานกันการผลิต แบ่งงานกันขนส่ง และส่วนกิจกรรมภายในแต่ละบริษัทก็ยังมีแผนกต่างๆ ที่แบ่งงานหรือกิจกรรมต่างๆ กันไปทำ เช่น แบ่งกันไปจัดซื้อ แบ่งงานกันไปผลิต แบ่งงานกันไปขนส่ง แบ่งงานกันไปขายตามฟังก์ชั่นการทำงาน


แนวคิดโซ่อุปทานจึงเป็นเรื่องราวที่จะต้องบูรณาการกิจกรรมต่างๆ ในโซ่ผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นองค์รวม (Holistic)มากขึ้น หรือเป็นระบบ (Systemic)มากขึ้น โดยที่มีโครงสร้างของโซ่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำส่งคุณค่าในรูปแบบของสินค้าและบริการไปจนถึงผู้บริโภค ผมถือว่าโซ่ผลิตภัณฑ์มีโครงสร้างที่เป็นระบบอยู่แล้วในระดับหนึ่ง เพราะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการออกมาได้ นั่นแสดงว่ากิจกรรมและองค์ประกอบต่างๆ ในโซ่ผลิตภัณฑ์นั้นมีการเชื่อมโยงกันและกันทางกายภาพจนได้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการออกมาตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ แต่อาจจะมีการทำงานร่วมกันหรือไม่มีก็ได้ และอาจะจะมีการทำงานเชิงระบบหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งยังหมายถึงว่า ถึงแม้จะมีความเป็นระบบอยู่ที่ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพพอหรือยังไม่สามารถจะสร้างความยืดหยุ่นหรือความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีพอ


แนวคิดโซ่อุปทานจึงเป็นการมองโซ่ผลิตภัณฑ์ในเชิงโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic Structure) โดยเน้นที่การทำงานร่วมกัน (Collaboration)ในระดับการวางแผนและตัดสินใจ (Decision and Planning)ร่วมกันของทุกคนในโซ่ผลิตภัณฑ์เพื่อให้กิจกรรมในโซ่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นการผลิตและการขนส่งสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเป็นโซ่อุปทานจึงเกิดขึ้นมาเพราะประเด็นในการจัดการโซ่ผลิตภัณฑ์เพื่อไม่ให้เป็นแค่เกิดการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่จะต้องทำอย่างไรให้อยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปอีก


เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว เราคงจะแยกแยะกันออกว่า ลอจิสติกส์ไม่ได้มาแทนขนส่ง และลอจิสติกส์ไม่ได้เกิดจาการขนส่งและเพื่อขนส่งเท่านั้น แต่แนวคิดและความหมายของลอจิสติกส์จะมาเสริมทุกๆ กิจกรรมในโซ่ผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นโซ่อุปทานที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายได้ เพราะว่าในอดีตก่อนหน้านี้ แต่และกิจกรรมในโซ่ผลิตภัณฑ์ก็จะแยกกันทำ และแยกกันคิดและวางแผน แต่มีการเชื่อมโยงทางกายภาพด้วยซื้อขายกันจนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการและส่งไปถึงลูกค้าได้ แต่พอมาเป็นลอจิสติกส์แล้ว มุมมองของลอจิสติกส์นั้นจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมเกือบทั้งหมดที่สนับสนุนการนำผลิตภัณฑ์และบริการหรือคุณค่าไปส่งให้ถึงมือลูกค้า ยกเว้นกิจกรรมในกระบวนการผลิต


นั่นก็หมายความว่าลอจิสติกส์จะทำให้การเชื่อมโยงกิจกรรมทั้งหลายให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นระบบเดียวกันซึ่งทำให้เกิดความพร้อมกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองต่อไป แนวคิดโซ่อุปทานทำให้คนต่างๆ ในโซ่ผลิตภัณฑ์และคนต่างๆในโซ่กิจกรรมของแผนกต่างในองค์กรมาทำงานร่วมกัน คิดวางแผนและตัดสินใจร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆกันอย่างเชิงระบบ (Systemic)และอย่างเป็นระบบ (Systematic)นี่คือ ความเป็นโซ่อุปทานที่มีแนวคิดลอจิสติกส์ที่ทำการเชื่อมประสานข้อมูลสารสนเทศและการวางแผนและตัดสินใจอย่างบูรณาการกันตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำสำหรับผลิตภัณฑ์ และตั้งแต่จัดซื้อ (ต้นทาง) ไปยัง ส่ง (ปลายทาง) สำหรับกิจกรรมในองค์กร


ถ้าผมจะอธิบายและแสดงให้เห็นถึงภาพใหญ่ของความหมายของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานแล้ว ผมคิดว่าเราคงจะประเมินได้ว่า กิจกรรมลอจิสติกส์ที่เราเรียกกันอยู่นั้นมีความเป็นลอจิสติกส์กันสักแค่ไหน แล้วเราเองสามารถต่อยอดจากแนวคิดลอจิสติกส์ไปสู่ความเป็นโซ่อุปทานได้มาน้อยแค่ไหน ยิ่งมีความเป็นโซ่อุปทานมากแค่ไหน ระดับของความเป็นลอจิสติกส์ก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันถึงแม้ความหมายของโซ่อุปทานและลอจิสติกส์จะมีความเกี่ยวพันกัน และมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน แต่วัตถุประสงค์ก็จะแตกต่างกันออกไปในเชิงของระดับการดำเนินงาน ดังนั้นวันนี้เราเห็นและเข้าใจลอจิสติกส์ในระดับหนึ่งแล้ว เราก็คงจะต้องเข้าใจโซ่อุปทานมากขึ้นอีก เพื่อที่จะต่อยอดความเข้าใจในลอจิสติกส์เพื่อที่จะพัฒนาลอจิสติกส์ให้ดีขึ้นไปอีก ทำให้ลอจิสติกส์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญองค์ประกอบหนึ่งของโซ่อุปทาน และจะได้ไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ลอจิสติกส์การขนส่งเท่านั้น เพราะว่าลอจิสติกส์เป็นมากกว่าการขนส่ง วันนี้เราเห็นรถส่งสินค้ามากมายและเราเห็นผู้คนและทรัพยากรต่างๆที่ถูกจัดเตรียมไว้รองรับความต้องการต่างๆของผู้บริโภค เราเห็นโซ่อุปทานหรือไม่ เราเห็นลอจิสติกส์หรือไม่ เราเห็นศักยภาพในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทานที่มีการผลิตและลอจิสติกส์หรือไม่

Daily Supply Chain 4 : โน้ต อุดม - เดี่ยวโซ่อุปทาน ”The Pizza Company”

ได้ดูเดี่ยว 9 ของโน๊ตอุดมไปแล้ว มันส์มากครับ โน้ตสามารถนำเอาเรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวันมาเล่าให้ฟังได้สนุกสนานมากเลย จนบางครั้งเราก็ลืมนึกถึงไปว่าเราก็เจอกับสภาพเช่นที่โน๊ตเอามาแซวในงานเดี่ยว 9 ของเขา ในตอนหนึ่งของเดี่ยว 9 ที่โน๊ตเล่าเรื่องการเป็น Brand Ambassador ของ “The Pizza Company.” พอได้ดูแล้ว เออ! สิ่งโน้ตเล่ามานั้น มันก็คือ โซ่อุปทานดีๆนี่หว่า ทุกท่านลองไปค้นใน You Tube แล้วค้นคำว่า “เดี่ยว 9 Pizza” หรือ http://www.youtube.com/watch?v=5wrFjJroDE8 ดูสิว่าโน้ตเขาเล่าว่าอย่างไรบ้างนะครับ












โน้ตเล่าถึงว่าการจะเป็น Brand Ambassador นั้นจะต้องไปดูว่ การทำ Pizza (Make) และส่ง Pizza (Move) นั้นเป็นอย่างไร? พอโน้ตขึ้นหัวเรื่องมาแล้วก็ใช่เลย ในโซ่อุปทานจะต้องมี Make และ Move เราถึงจะได้มี Pizza มากิน ตามธรรมดานั้นเราจะไปกิน Pizza ที่ร้าน เราจะต้องเดินทางไปที่ร้านเอง เราเสียค่าลอจิสติกส์ในการเดินทางและเวลาเองในการเข้าถึงร้าน Pizza แล้วถ้า Pizza ยี่ห้อไหนมีสาขาเยอะหน่อย เราก็เข้าถึงได้ง่าย เสียค่าลอจิสติกส์น้อย ร้าน Pizza นั้นก็ได้โอกาสในการขายมากขึ้น แต่การที่ร้าน Pizza มีสาขาเยอะก็หมายถึงการลงทุนด้านคุณค่าเชิงลอจิสติกส์เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้เร็วที่สุดเป็นการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ของโซ่อุปทาน (Strategic Supply Chain Planning) เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการ (Operational) ที่น่าจะขาย Pizzaได้มากขึ้น กำไรมากขึ้น น่าจะได้ผลตอบแทนการลงทุนมากขึ้น ส่วนลูกค้าที่ไม่อยากจะออกมานอกบ้านและเดินทางไปที่ร้าน ทางร้าน Pizza จึงเสนอคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ด้วยการส่งถึงบ้านจากสาขาที่ใกล้ที่สุดด้วยการโทรสั่งจากบ้าน แล้วทีมมอเตอร์ไซด์ส่ง Pizza ก็ซอกแซกจนถึงหน้าบ้านเรา ที่นี้เห็นแล้วหรือยังล่ะครับ นี่ผมพูดถึงแค่จะเอา Pizza มาให้กินก็มีกิจกรรมลอจิสติกส์มากมายที่จะต้องลงทุนก่อนที่จะลดต้นทุนลอจิสติกส์ในการดำเนินงานกัน





โน้ตเล่าถึงการไปเยี่ยมโรงเรียนทำ Pizza ซึ่งมีการปั้นแป้ง นวดแป้ง ซึ่งโน้ตคงจะไม่ได้มีโอกาสเห็นทาง The Pizza Company นั้นไปซื้อแป้งมาจากไหน? ซื้อมาเป็นจำนวนเท่าไหร่? แล้วต้องผ่านกระบวนการอะไรก่อนหรือไม่? และจะต้องส่งแป้งเหล่านี้ไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศอย่างไร? และคงจะไม่ใช่แค่แป้งเพียงเดียว รวมทั้งส่วนประกอบวัตถุดิบอื่นๆ ด้วย กิจกรรมตรงนี้เป็นกิจกรรม Inbound Logistics ผมเองก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ส่วนประกอบต่างๆ ของ Pizza หนึ่งชิ้น ควรจะมีส่วนประกอบอะไรบ้าง





แล้วโน้ตก็เล่าถึงกระบวนการนวดแป้งและกระบวนการต่างๆ ที่จะต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องและเครื่องมือเครื่องจักรในการแปลงสภาพแป้งไปเป็น Pizza ซึ่งก็ คือ กระบวนการผลิต (Make) นั่นเอง เราเองก็เข้าใจได้ไม่ยากหรอกครับ เรารู้จักกันดีในกระบวนการทำอาหารทั่วไป แต่ในเชิงการจัดการโซ่อุปทานนั้น เราจะทำอย่างไรให้ได้ตามคุณภาพ (Good) ได้ตามจำนวนและตรงเวลา (Fast) และต้นทุนที่เหมาะสม (Cheap) และเพื่อการแข่งและอยู่รอดนั้น เราก็จะต้องทำให้ดีกว่า (Better) เร็วกว่า (Faster) และถูกกว่า (Cheaper) อยู่เสมอ แป้งเหล่านั้นจึงถูกนวดและจัดการไว้รอลูกค้าอย่างเราๆ ไปโทรสั่ง ตรงนี้เป็นการจัดการ Semi-product Inventory หรือเป็น Work in Process (WIP) แล้วเราจะคาดการณ์อย่างไรดีว่าจะต้องมีไว้เป็นจำนวนเท่าใด อัตราของความต้องการเป็นอย่างไร เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยครับ เราทุกคนรู้และสัมผัสได้จากชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่าจะใส่ใจหรือนึกถึงหรือไม่





โน้ตเล่าให้ฟังต่อว่า ทางการตลาดไปสัญญาไว้ในโฆษณาว่า โทรสั่ง 1112 ได้ Pizza ภายใน 30 นาที นั่นคือ ระดับการให้บริการ (Service Level) ที่โซ่อุปทานของ “The Pizza Company” จะต้องตอบสนองให้ได้ทันตามที่สัญญาไว้ โน้ตยังเล่าต่อไปว่า พอลูกค้าโทรสั่งปุ๊บ ทางร้านที่ทำ Pizza นั้นจะมี Lead Time หรือเวลาในการผลิต แค่ 15 นาที และอีก 15 นาทีในการจัดส่ง โน้ตเล่าถึงขั้นตอนต่างๆ ในการใส่ส่วนประกอบต่างๆ ใน Pizza นั้นจะต้องใส่อะไรต่างๆ ลงไปบ้าง และจะต้องทำให้ทันเวลาที่กำหนดไว้ คนทำ Pizza ต้องทำงานเป้นลิงเลย เออ! แล้วในแต่ละสาขาจะต้องมีคนกี่คน มีเตากี่เตา นี่เป็นคำถามในเชิงการวางแผนและออกแบบ และขั้นตอนการทำ Pizza จะต้องมีมาตรฐานด้วย จึงทำให้ Pizza มีรสชาดเดียวกันทุกสาขา แล้วก็เอาไปเข้าเตาอบซึ่งจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง แล้วจึงนำออกมาใส่กล่องกระดาษซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เพื่อนำส่ง (Delivery) ไปถึงบ้านลูกค้า จากกล่องกระดาษนี้ไปสู่ขั้นตอนการนำส่งโดยมอเตอร์ไซด์ ซึ่งก็ยังต้องมีกระเป๋ารักษาความร้อนอีกชั้นหนึ่งเพื่อรักษาคุณค่า Pizza ให้ร้อนอยู่เหมือนตอน ออกมาจากเตาที่ร้านเมื่อมาส่งถึงบ้านลูกค้า ทั้งกล่องและกระเป๋ารักษาความร้อนนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ในการนำส่งคุณค่าที่เป็นอาหารในรูปแบบของ Pizza




หลังจาก 15 นาทีที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ในร้านแล้ว ภาระที่เหลืออีก 15 นาทีนี้จะอยู่ที่ทีมรถมอเตอร์ไซด์ซึ่งจะต้องไปส่งให้ทันเวลา (In Time) ถึงตรงนี้ล่ะครับ เราจะจัดการลอจิสติกส์การส่ง Pizza ได้อย่างไรเพื่อให้ทันเวลา ส่วนการมองภาพทั้งหมดเมื่อ Pizza ถึงมือลูกค้าอย่างถูกเวลา สถานที่ และ Pizza อยู่ในสภาพที่ร้อน หอมอร่อย ด้วยราคาและต้นทุนที่เหมาะสมจากการออกแบบและวางแผนมาก่อน รวมทั้งการปฏิบัติการในแต่ละวันและแต่ละคำสั่งซื้อ นั่นเป็นการมองทั้งโซ่อุปทานที่มีทั้งลอจิสติกส์และการผลิตอย่างเชื่อมโยงกันหรือบูรณาการกันจนไปถึงมือลูกค้า โน้ตยังเล่าถึงว่า มีความเห็นใจทีมส่ง Pizza มากๆ ว่าต้องบุกไปส่งให้ถึงที่ไม่ว่าฝนจะตกหนักหรือฟ้าจะร้อง ถึงแม้ว่าเราจะแกล้งบอกซอยไปผิดๆ ทีมส่งก็ยังไปส่งถูกเลย มันแน่ไหมล่ะ แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า แล้วทำไมเขาถึงมาส่งได้ถูกที่ล่ะ แล้วถ้าเราโทรสั่งบ่อยๆ แล้ว แค่บอกเบอร์โทรเขา แล้วเขาเช็คในฐานข้อมูลแล้วว่าเคยสั่งมาก่อนแล้ว ก็ไม่ต้องบอกทางให้ยุ่งยาก มาถูกแน่นอน ใครมาส่งก็ได้ นั่นแสดงว่า ข้อมูลต่างๆ นั้นเขาเก็บไว้ในฐานข้อมูลลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการธุรกิจ (Business Process)




แต่ประเด็นของการจัดการลอจิสติกส์ของการส่ง Pizza นี้ในระดับของการปฏิบัติการ (Operational) นั้นไม่ใช่การลดต้นทุนลอจิสติกส์เป็นหลัก แต่เป็นการส่งให้ทันเวลาและ Pizza อยู่ในสภาพพร้อมที่จะกินเพื่อให้ขายได้และมีกำไร แต่การปฏิบัติการ (Operational) นั้นจะดีหรือเลว จะมีต้นทุนมากหรือน้อยก็ต้องมาจากการออกแบบโซ่อุปทาน (Supply Chain Design) ในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic) และในระดับยุทธวิธี (Tactical) ผมมองการปฏิบัติการหรือ Operational คือ การตอบสนองต่อคำสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งเริ่มจากคำสั่งซื้อของลูกค้าไปจนลูกค้าได้รับสินค้าและเก็บเงิน ดังนั้นเราจึงต้องมองตั้งแต่ลูกค้าโทรสั่งจนถึงลูกค้าได้รับ Pizza กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การไหลวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์และการบริการที่สัญญากับลูกค้าไว้ กิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ ส่วนข้อมูลและการวางแผนนั้นเป็นกิจกรรมการจัดการลอจิสติกส์ แต่ถ้ามีการเพื่อคุณค่าหรือการแปลงสภาพ กิจกรรมนั้นเป็นการผลิต ส่วนข้อมูลและการวางแผนนั้นเป็นกิจกรรมการจัดการการผลิต ดังนั้นกิจกรรมในโซ่อุปทาน ก็ คือ กิจกรรมลอจิสติกส์และกิจกรรมการผลิต ถือว่าเป็นกระบวนการหลัก (Core Process) ส่วนการจัดการโซ่อุปทาน ก็คือ ข้อมูลและการวางแผนของลอจิสติกส์และการผลิตอย่างบูรณาการกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งก็คือ กระบวนการวางแผนโซ่อุปทาน (Supply Chain Planning)




ถ้าจะให้ Operation ของ The Pizza Company สามารถส่ง Pizza ได้อย่างทั่วถึงด้วยเบอร์โทร 1112 และคิดอย่างที่ โน้ตเล่าให้ฟังก็คงจะไม่เพียงพอ เพราะว่าจะต้องมีการคิดและวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic) และ ยุทธวิธี (Tactical) มาก่อนที่จะดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ (Operational) ในการทำและส่ง Pizza ตั้งแต่ข้อมูลด้านการตลาดว่ามี Demand เป็นอย่างไรบ้าง Locations หรือตำแหน่งที่ตั้งของร้านสาขาต่างๆ อยู่ที่ไหนบ้าง การออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Pizza ชนิดต่างๆ จะต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง แล้วจะต้องซื้อจากที่ใด ใครจะสามารถจัดส่งให้ หรือเป็น Suppliers ให้ได้อย่างไร The Pizza Company ต้องมีศูนย์รับและกระจายสินค้าหรือวัตถุดิบในการทำ Pizza อยู่ที่ไหนบ้าง ใครจะมาเป็นผู้ที่กระจายสินค้าและวัตถุดิบรวมทั้งจัดส่งไปยังร้าน The Pizza Company ที่มีอยู่ทั่วประเทศ แล้วทาง The Pizza Companyจะหาคนที่มาประจำร้านและผู้จัดการร้านที่คอยดูแล Operation ที่หน้าร้านด้วยจำนวนเท่าไหร่ ส่วนเรื่องของการรับคำสั่งซื้อนั้น Call Center ก็คงจะต้อง Outsource ออกไปให้บริษัท Call Center ดูแลรับคำสั่งซื้อมาให้แต่ละร้านสาขา The Pizza Company ก็จะต้องมีระบบ IT และ Database ไว้ดูแลข้อมูลลูกค้า แผนที่ที่ไปยังบ้านของลูกค้าโดยใช้เบอร์โทรศัพท์เป็นตัวบ่งชี้ และกระจายคำสั่งซื้อไปยังสาขาต่างๆ เพราะว่าถ้าไม่มี IT ระบบ Network ที่รองรับแล้ว การรับคำสั่งซื้อก็จะดำเนินการไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ




เห็นไหมครับว่ากว่าจะมาเป็น Operation ในการทำและส่ง Pizza ให้เราได้เห็นกันทุกวันนี้ เราได้กิน Pizza ที่บ้านโดยไม่ต้องออกจากบ้านได้นั้น The Pizza Company ต้องการการจัดการโซ่อุปทานที่ครบวงจร ทั้งๆ ที่คนทำอยู่หรือคนที่วางแผนอยู่นั้นอาจจะไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้นเป็นการจัดการโซ่อุปทานของ The Pizza Company เช่นเดียวกันกับ โน้ตอุดมที่เขามาเล่าเรื่องราวของ การทำ Pizza ของ The Pizza Company นี้ โน้ตเองก็ไม่รู้หรอกว่า เขากำลังเล่าเรื่องราวของโซ่อุปทาน Pizza อยู่ มันจะดีกว่าไหม ถ้าเรารู้เรื่องของการจัดการโซ่อุปทานที่ประกอบไปด้วยการผลิตและลอจิสติกส์ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและการจัดการธุรกิจที่เราเป็นเจ้าของหรือที่เราทำงานอยู่ เพื่อให้ผลกำไรอยู่รอดหรือเพื่อให้งานของเรามีประสิทธิภาพขึ้น เราทำงานน้อยลง เราผิดพลาดน้อยลง และเป็นการสร้างโอกาสในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานได้ดีขึ้น เราและบริษัทหรือธุรกิจของเราสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ และสุดท้ายชีวิตและสังคมก็น่าจะดีขึ้น ก็หวังไว้อย่างนั้นล่ะครับ





วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

Daily Supply Chain 3 : งานศพ...งานคนเป็น

ความตายเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็เห็นและสัมผัสงานศพได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เป็นความตายของคนอื่นๆ ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ระยะนี้เริ่มมีงานศพเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ตามระยะเวลาของอายุของผมที่เริ่มเข้าวัยที่สมควรแล้ว แล้วคุณค่า (Values) ของงานศพ คือ อะไร? ดังนั้นเราจึงจะต้องมากำหนดกันก่อน เราจัดงานศพเพื่อไว้อาลัยและให้เกียรติคนที่เสียชีวิตไป แต่กว่าจะมาเป็นงานศพได้ตามที่เราต้องการได้นั้น ก็จะต้องมีคุณค่า (Values) จากโซ่อุปทานต่างๆ (Supply Chains) มาประกอบกันเป็นงานศพที่เราเห็นกันอยู่ ตั้งแต่ วัดซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน แขกที่มาร่วมในงานสวด อาหารว่างที่ไว้เลี้ยงแขกในงานสวด พวงหรีดและดอกไม้ในงานสวด เจ้าหน้าที่ที่คอยให้ความสะดวกต่างๆ ของชำร่วยต่างๆที่แจกในงานศพ



คุณค่าของงานศพอยู่ที่การให้เกียรติและไว้อาลัยกับผู้วายชนม์ รวมทั้งเป็นจุดร่วมของการมาพบปะกันของผู้คนที่รู้จักกันหรืออยู่ในสาขาเดียวกันโดยมีผู้วายชนม์และลูกหลานต่างๆ เป็นจุดศูนย์กลางในการดึงดูดคนเหล่านั้นเข้ามา ดังนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ (Event) สำหรับการไว้อาลัยอย่างนั้นได้ การจัดงานศพแต่ละครั้ง แม้นว่าจะดูสิ้นเปลือง พระอาจารย์บางท่านก็อาจจะให้ความเห็นว่างานศพที่จัดๆ กันนั้นดูเป็นงานที่สิ้นเปลืองเปล่าๆ เรื่องการจัดงานศพนี้ก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคนแต่ละครอบครัว บางทีมันเป็นเรื่องของหน้าตา บางทีมันเป็นเปลือกของสังคม คนตายไม่ได้เกี่ยวกันเลย บางทีพาลทำให้คนที่ยังเป็นอยู่ทะเลาะกันเสียอีก ผมมองว่างานศพเป็นงานสังคมที่มีประโยชน์อยู่ แล้วแต่ความเหมาะสมของการจัด ที่จริงแล้วไม่มีก็ได้ แต่ก็ไม่มีใครห้ามครับ ถ้าวัฒนธรรมไทยเราจะเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะคิดว่าจะหาประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้อย่างไรให้เกิดผลกระทบในทางบวกกับทุกคนที่มางานและสังคม



โดยทั่วไปแล้วงานศพเหล่านี้ก็สร้างอาชีพทำให้คนอื่นๆ อีกหลายคนมีรายได้และมีกินมีใช้กัน งานศพจัดเป็นงานการบริการแท้ๆ เลย แต่ในงานบริการนี้จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์หรือ Product มากมายที่จะต้องมาสร้างให้งานศพขึ้น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ของสิ่งของและการบริการอื่นๆ อย่างมากมาย ตัวอย่างเช่น พวงหรีดต่างๆนั้นมีมูลค่าไม่น้อยเลยแล้วแต่ขนาดและความสวยงาม การจัดการพวงหรีดก็อาศัยกระบวนการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเข้ามาจัดการเพื่อให้พวงหรีดถึงงานศพอย่างถูกที่ถูกเวลา อย่างเช่น เมื่อรู้ว่าจะไปงานศพใครแล้ว ตั้งสวดอยู่ที่ไหนแล้ว เราก็ยกหูโทรศัพท์บอกร้านดอกไม้ว่าจะเอาพวงหรีดในระดับราคาไหน แล้วก็บอกวัดบอกศาลา บอกชื่อคนตายสักหน่อย พอใกล้ถึงเวลาสวด หรือเย็นๆ บ่ายๆ ทางร้านก็จัดการหารถมอเตอร์ไซด์มาส่งพวงหรีดให้ถึงศาลาที่สวด



ตอนที่ส่งมอเตอร์ไซด์นี่เป็นลอจิสติกส์ เพราะว่าบ้านเราจะมีนวัตกรรมที่ประยุกต์ใช้เอาเก้าอี้หงายขึ้นเพื่อให้สี่ขาของเก้าอี้ชี้ขึ้นเพื่อเอาไว้แขวนพวงหรีดเพื่อที่จะนำส่งไปยังวัดต่างๆ กิจกรรมตรงนี้เป็นกิจกรรมลอจิ สติกส์ แต่ตอนที่ส่งพวงหรีดนั้นผมเคยนั่งสังเกตุดูว่าพวกคนส่งพวงหรีดแต่ละแห่งจะมีความละเอียดไม่ตรงกัน คนส่งบางคนเดินตรงรี่เข้ามาแล้วก็ยื่นพวงหรีดให้เจ้าหน้าที่ศาลาทันที ไม่พูดไม่จา บางคนยังไม่ถอดหมวกกันน็อกเลย เดินดุ่มๆ เข้ามาเหมือนมือปืนเลย เขาส่งถูกที่หรือเปล่า ก็ไม่รู้ ไม่สนใจ บางคนก็มีแผ่นกระดาษมาถามถึงข้อมูลและตรวจสอบให้ถูกต้อง นั่นไงครับการจัดการข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ถึงที่หมาย พวกมอเตอร์ไซด์ส่งพวงหรีดเหล่านี้ก็เป็นโซ่อุปทานในการส่งพวงหรีดสำหรับงานศพ ส่วนร้านดอกไม้ ร้านพวงหรีดจะเป็นผู้ผลิตกระเช้าดอกไม้หรือพวงหรีด ส่วนพวกสวนดอกไม้ที่ปลูกดอกไม้ต่างๆ ก็จะเป็น Suppliers ให้กับร้านดอกไม้อีกทีหนึ่ง นั่นไงโซ่อุปทานพวงหรีดในงานศพ



มางานศพ ไม่กินข้าวต้มงานศพก็ไม่ได้ นั่นดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้มีการพัฒนาการไปเป็นชุดของว่างที่มีขนมและน้ำผลไม้ต่างๆ ร้านอาหารหรือร้านเบเกอรี่ดังๆ ทั้งหลายก็หันมาจับตลาดทางด้านนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะเจ้าภาพที่มีฐานะหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ผมเห็นเป็นบุฟเฟ่ต์เลยครับ มาถึงงานตอนเย็นหิวๆ ก็กินข้าวกันเสียก่อน ไม่ต้องเป็นอาหารว่างให้ยุ่งยากแล้ว เลี้ยงให้เต็มที่ไปเลย เหมือนงานศพในต่างจังหวัดเลยครับ บางรายมีฐานะหน่อย แจกข้าวกล่องเบนโตะเหมือนในร้านฟูจิเลยครับ เลี้ยงกันอย่างนี้ไปสวดครบเจ็ดวันเลยครับ ในกรุงเทพมัวแต่เลี้ยงของว่างกันอยู่นั่นแหละ เรื่องของการจัดเตรียมอาหารทั้งหนักทั้งเบาไว้ตอนรับแขกที่มางานศพก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโซ่อุปทานอาหารในแต่ละวันที่มีการสวดศพ ประเด็นของเรื่องนี้ เจ้าภาพจะต้องพยาการณ์หรือประมาณการว่าจะมีแขกมางานจำนวนเท่าไหร่ ต้องพยายามอย่าให้ขาด หรือไม่ให้เหลือมากจนเกิดไป นี่ก็เป็นการจัดการโซ่อุปทานอาหารในงานศพแบบหนึ่งที่เราจัดการโซ่อุปทานโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ลองคิดดูสิครับว่า ทุกเม็ดเงินที่เจ้าภาพจ่ายเงินไป ก็ต้องจ่ายให้กับโซ่อุปทานใดโซ่อุปทานหนึ่งเสมอ



นอกจากเม็ดเงินที่เจ้าภาพจ่ายไปแล้ว ก็ยังมีเม็ดเงินที่แขกช่วยเหลือเป็นซองมาอีกด้วย เจ้าภาพก็จะนำเงินเหล่านั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานทั้งหลาย ส่วนที่เหลือก็จะนำไปทำบุญตามศรัทธา ถือว่าเป็นระบบการเงินที่ทำให้เกิดการไหลของโซ่อุปทานต่างๆ ในสังคมได้ดี เป็นธรรมเนียมเหมือนงานแต่งงาน แต่มีงานศพบ่อยๆ ก็ไม่ดี คนเราตายได้ครั้งเดียวและเป็นเรื่องที่เรายังไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่เหมือนงานแต่งที่มีได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแต่งงานบ่อยๆ แล้วจะดี ใช่ไหมครับ



ส่วนวัดนั้นเป็นโครงสร้างที่สำคัญของงานศพ การจัดการแต่ละวัดก็ไม่เหมือนกัน ในกรุงเทพฯ มีวัดดังๆ หลายวัด แต่ละวัดนั้นมืออาชีพไม่แพ้โรงแรมชั้นหนึ่งเลยทีเดียว มีระบบการจัดการ และเจ้าหน้าที่ดูแลพร้อมสรรพ อีกทั้งทั้งคำแนะนำกับเจ้าภาพศพเป็นอย่างดี รวมทั้งราคาค่าใช้จ่ายในหมวดการบริการต่างๆ ให้เจ้าภาพได้เลือกใช้ แต่นั่นแหละครับ ของดีๆ สะดวกสบายก็ตามมาด้วยต้นทุนที่จะต้องยอมรับได้ วัดและศาลาที่สวดศพจะเป็นจุดรวมของโซ่อุปทานทั้งหมดของงานศพ เป็นจุดบริการ (Service Point) จะต้องเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งที่ตั้งของวัด การเข้าและออกของแขกที่มางานศพ การจัดการจราจรภายในวัด การจัดตารางเวลาการสวด รวมทั้งเวลาการเผาที่จะต้องจัดตารางๆ ให้เหมาะสมและต่อเนื่องกัน ลองคิดดูนะครับ สมมุติว่าวัดนั้น 10 ศาลามีสวด พร้อมทั้งเผาอีกสองศพ รวมกันเป็น 12 ศพ แขกที่มาทั้งหมด 12 กลุ่มในวันนั้น ผมว่าไม่แตกต่างจากการจัดรอบฉายหนังตามโรงหนังเลยครับ แถมยากว่าอีก แต่ก็ขึ้นกับว่า แขกของแต่ละศพนั้นมากแค่ไหน เป็นคนดังในสังคมมากแค่ไหน แล้วยิ่งคนดังศพดังมาเจอกันในวัดเดียวกัน สวดวันเดียวกัน เผาวันเดียวกัน ปัญหาก็ คือ หาที่จอดรถไม่ได้ กว่าจะถึงวัดก็สวดเสร็จไปแล้ว อะไรอย่างนี้ ผมคิดว่าหลายๆ ท่านก็คงจะเคยประสบกันมา



มุมมองนี้ใช้กับงานแต่งงานได้ แต่งานแต่งงานใหญ่กว่า หรูกว่า ลงทุนมากกว่า เป็นเรื่องน่ายินดีมากกว่า สำหรับงานศพตรงกันข้าม เล็กกว่า แต่มากวันมากกว่า แขกที่มางานสามารถเลือกวันมาได้ แต่งานไหนจะได้กำไรมากกว่าก็แล้วแต่นะครับ ไม่ว่าจะมีกิจกรรมใดๆ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ต่อเราก็ตาม ทุกคนที่อยู่ในโซ่อุปทานเหล่านั้นก็ได้คุณค่าในรูปแบบของผลตอบแทนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างและผลกำไรไปกินไปใช้ไปหาประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตต่อไปจนกว่าจะถึงวันตายของตัวเอง เป็นวัฏจักรของสังคมมนุษย์มิรู้สิ้น หรือจนกว่ามนุษย์จะสูญสิ้นไปจากโลกนี้

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

Daily Supply Chain-2 : ม็อบปิดถนน ตัดลอจิสติกส์ ฆ่าโซ่อุปทาน

เรื่องของม็อบปิดถนนได้กลายเป็นเครื่องมือในการต่อรองเรื่องราวต่างๆของสังคมไทยไปแล้ว ไม่ว่าใครจะไม่พอใจอะไร เอ๊ะอะก็จะปิดถนนกันท่าเดียว สร้างความเดือดร้อนกันไปถ้วนหน้าทุกผู้ทุกคน ม็อบถือว่าเป็นเครื่องมือในการกดดันฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งภาคประชาชนไม่ค่อยจะได้มีอำนาจอะไรไปเรียกร้องกันมากนัก โดยส่วนตัวแล้วผมก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยเลย เพราะว่าการปิดถนนไปก็สร้างความเดือดร้อน รถติดกันมากมาย วันนี้เองก็มีม็อบของผู้ชุมนุมประท้วงเรื่องราคา NGV จนทำให้การจราจรติดขัดกันไปหมด ดูๆ ไปก็เป็นเรื่องราวของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอีกแล้ว


สมมุติว่าเราไม่อยากจะให้รถวิ่งได้ เราก็ตัดสายน้ำมัน ตัดสายไฟ รถก็วิ่งไม่ได้ คุณค่าของรถไม่มี ถ้าเราอยากจะจบชีวิตของใครคนใดคนหนึ่ง เราจะบีบคอให้หายใจไม่ออก หรือตัดเส้นเลือดให้ขาดจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ จนจบชีวิตลง การที่รถวิ่งได้เป็นคุณค่า การที่เรามีชีวิตอยู่ได้เป็นคุณค่า ดังนั้นโซ่อุปทานของรถก็ คือ องค์รวมขององค์ประกอบรถ โซ่อุปทานของชีวิตก็ คือ องค์รวมของร่างกายที่มีชีวิต ลอจิสติกส์ในแต่ละโซ่อุปทานก็จะเป็นตัวเชื่อมในการนำพาคุณค่าต่างๆไปสู่คุณค่าสุดท้ายที่มนุษย์ผู้บริโภคต้องการ

ดังนั้นถ้าเราต้องการจะต่อรองหรือเรียกร้องอะไรจากใครบางคน เราก็คงจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ โดยการทำให้เขาเดือดร้อน หรือทำให้เขารู้สึกถึงภัยที่กำลังจะมา หรือตกอยู่ในสถานะเสียหาย หรือสูญเสียคุณค่าที่มีอยู่ไป หรือทำให้กระบวนการสร้างคุณค่านั้นมีปัญหา หรือโจมตีเข้าไปที่โซ่อุปทาน คราวนี้จะโจมตีตรงไหนในโซ่อุปทาน ซึ่งตามปกติในโซ่อุปทานจะมีการผลิตและการส่ง ในส่วนของการผลิตก็มีอยู่หลายส่วน แต่ละส่วนก็เป็นโรงงานที่มีรั้วรอบขอบชิด การเข้าไปทำลายก็คงจะยากอยู่ แต่คงจะไม่ถูกกฎหมาย และก็ไม่ควรจะทำอย่างยิ่งเลย ส่วนของการส่งเป็นเรื่องของลอจิสติกส์ เป็นเพียงการหยุดการไหลหรือแค่หน่วงเวลาของการไหลที่ไม่ให้ผู้รับปลายทางได้รับคุณค่า ถือว่ายังไม่ได้ทำลายตัวคุณค่า แต่ก็ฆ่าโซ่อุปทานได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ลูกค้าหรือผู้รับคุณค่าก็ไม่ได้คุณค่า เพราะถนนถูกตัดขาดไป


เราจึงเห็นได้ว่า มนุษย์เรานั้นมีความเข้าใจในเรื่องคุณค่า ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานกันมาช้านานแล้ว โดยไม่รู้ตัว และได้ใช้แนวคิดพื้นฐานเหล่านี้แหละครับในการดำเนินงานต่างๆ ในธุรกิจและชีวิตประจำวันเพื่อให้ถึงเป้าหมาย การปิดล้อมทางเข้าออก การปิดถนน วิธีการเหล่านี้ถือว่าเป็นการตัดเส้นทางการส่งกำลังบำรุง (Logistics) ทำให้คู่ต่อสู้ศัตรูของเราไม่สามารถดำเนินงานได้ และเมื่อไม่สามารถดำเนินงานได้คุณค่าก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากโซ่อุปทานนั้นได้ ปัญหาจึงเกิดขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามหรือคู่ต่อสู้ในการแข่งขัน


ถนนและการขนส่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนสาธารณูปโภคป็นลอจิสติกส์ของโซ่อุปทานของคุณค่าต่างๆ มากมายที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจของคนมากมายในเมืองและในประเทศ ถ้าถนนถูกปิดหรือถูกตัดขาด โซ่อุปทานถูกทำให้หยุดชะงัก คุณค่าไม่มา ไม่ไหล คนเดือดร้อน เพราะคนไม่ได้รับคุณค่า แล้วคนก็ไม่ใช่หนึ่งสองสามคน แต่เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น แล้วมูลค่าของความเสียหายก็ไม่รู้จะประเมินอย่างไร บอกไม่ถูกจริงๆ เมื่อมันจะเดือดร้อนอย่างนี้แล้ว ชาวบ้านเขาด่ากันอย่างนี้แล้ว อีกฝ่ายก็คงจะต้องฟังหรือยอมกันบ้าง เพื่อให้ลอจิสติกส์ได้ไหลตามปกติ โซ่อุปทานก็ผลิตคุณค่าออกมาได้ถึงมือลูกค้าหรือผู้ใช้ แล้วทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาพสมดุลดังเดิม เมื่อลอจิสติกส์ไหลส่งผ่านคุณค่าในโซ่อุปทานไปยังผู้ใช้คุณค่าได้ตรงตามเป้าประสงค์

Daily Supply Chain-1 : จากไปรษณีย์ถึงตั๋วคอนเสิร์ต

วันนี้ผมขับรถตามหลังรถเมล์เห็นป้ายโฆษณาของบริษัท ไปรษณีย์ไทย ว่าสามารถจองหรือตั๋วคอนเสิร์ตผ่านที่ทำการไปรษณีย์ได้แล้ว แล้วผมก็เห็นตราของบริษัท Thai TicketMaster ร่วมอยู่ด้วย ผมก็เลยอยากจะเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังของแนวคิดของกิจกรรมนี้ ว่ามาจากแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งๆ ที่ทั้งสองบริษัท ไปรษณีย์ไทยและ Thai Ticket Master อาจจะไม่ได้นำเอาแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาใช้อย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่ได้ทำได้ตัดสินใจไป นี่แหละ คือ การจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานตัวจริงที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน ทุกลมหายใจเข้าออก ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงตื่นนอนอีกวันหนึ่ง


มาดูกันให้ดีว่ามีใครเป็นผู้เล่นกันบ้าง ที่แน่ๆ ก็ คือ ไปรษณีย์ไทยนั้นเป็น Logistics Providers ที่มีฐานจากการส่งพัสดุและไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงทุกครัวเรือนจนเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย และมีที่ทำการไปรษณีย์กระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่งในประเทศ ที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยได้มีการปรับตัวมาตลอดด้วยการเพิ่มคุณค่าตัวเองด้วยการให้บริการลอจิสติกส์อื่นเพิ่มขึ้นโดยยังใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมอยู่ให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากที่ทำการไปรษณีย์เดิมก็กลายเป็นจุด Pay Point ให้บริการอื่นๆ มากกว่าไปรษณีย์ ทำให้มีการบริการหลากหลายมากขึ้น รายได้ก็มากขึ้น ส่วนการบริการส่งพัสดุและจดหมายต่างๆ ก็เพิ่มการบริการส่งสินค้าอย่างอื่นๆ ขึ้นมาอีก ไม่ว่าจะเป็นอาหารจากต่างจังหวัดที่มีชื่อเสียงต่าง รวมทั้งสินค้าอื่นๆ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ ไปรษณีย์ไทยมีความเป็นบริษัทลอจิสติกส์มากขึ้น นั่นแสดงว่า ไปรษณีย์ไทยได้เข้าไปมีส่วนในการนำส่งคุณค่าไปสู่ผู้บริโภคในโซ่อุปทานของสินค้าต่างๆ มากขึ้น ก็แล้วแต่ว่าสินค้านั้น คือ อะไร โดยใช้ความได้เปรียบของโครงสร้างและเครือข่ายของไปรษณีย์ไทยที่มีอยู่ทำให้มี Logistics Values เพิ่มมากขึ้น

ที่ไหนมี Logistics หรือ เรียกตัวเองว่าเป็น Logistics Providers เราก็ต้องมองเห็นโซ่อุปทานด้วย เพราะทั้งการผลิตและลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจะต้องเป็นของคู่กันเสมอ ถ้าพูดถึงโซ่อุปทานแล้วเราจะต้องเห็นผู้บริโภคหรือผู้ใช้คุณค่าคนสุดท้ายด้วย วันนี้ไปรษณีย์ได้เพิ่มคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ (Logistics Values) ให้กับโซ่อุปทานคอนเสิร์ต โดยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการจองตั๋วคอนเสิร์ตได้โดยผ่านช่องทางของไปรษณีย์ไทย เท่าที่ผมเห็น ก็ยังคงอยู่ภายใต้ Thai Ticket Master ซึ่งก็น่าจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของโซ่อุปทานคอนเสิร์ตต์นี้ ซึ่งมี Thai Ticket Master เป็นผู้กุมช่องทางการจำหน่ายตั๋วรายใหญ่อยู่ การร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย ถือว่าเป็นขยายช่องทางออกไปจากที่ข่องทางเดิมที่มีอยู่ ด้วยการลงทุนที่น้อยกว่า แต่กลับได้อาศัยช่องทางเดิมที่อยู่ของไปรษณีย์มาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงลูกค้า

เท่าที่สังเกตุดูในเรื่องการดำเนินการคงจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะระบบไอทีที่ถูกพัฒนาอย่างได้มาตรฐานและเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการเชื่อมต่อได้อย่างสะดวกขึ้น เป้าหมายของโซ่อุปทานคอนเสิรต์หรือภาพยนตร์ก็คือมีคนไปดูมากๆ แล้วจะทำอย่างไรล่ะให้คนเข้าถึงการซื้อตั๋วได้ง่ายที่สุดและไวที่สุด นี่ล่ะครับบทบาทของลอจิสติกส์ในโซ่อุปทานทั้งหลายในชีวิตประจำวัน

Life เมื่อผม...มีรักใหม่

คนเราไม่ใช่ว่าสามารถจะมีรักได้แค่รักเดียว ความรักมัน Unlimited dimensions และ Timeless ทำไมผมถึงเขียนถึงเรื่องนี้ เพราะว่าช่วงปีใหม่มีคนโทรศัพท์มาทักทายและอวยพรปีใหม่ และมักจะถามว่าผมสบายดีมีความสุขดีไหม? ผมก็ตอบไปว่าสุขดี และมีรักใหม่ด้วย คนได้ฟังก็แปลกใจพร้อมกับหัวเราะ ผมว่าเขาคงจะยิ้มด้วย ถึงแม้ว่าผมจะได้ยินแค่เสียงทางโทรศัพท์ ที่จริงแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะว่าเคยได้ยินพวกดารา Celeb ทั้งหลายชอบพูดกันว่า เวลานี้มีความสุขดีมาก เพราะว่ามีรักใหม่ เออ! แล้วเราทั้งหลายจะมีรักใหม่กันได้บ้างหรือไม่ แล้วจริงๆ แล้ว รัก คือ อะไร?คล้ายๆ เพลงของสาว สาว สาว เลย ใครจำได้บ้าง หลายๆ คนคงจะคนละรุ่นกันเลย ผมคิดว่า รัก คือ อะไรก็ได้ที่ให้ความสุขกับเรา และผมก็แปรความสุขออกมาในรูปของประโยชน์หรือคุณค่าต่างๆ ที่ให้ประโยชน์กับเราทั้งทางกายและใจ รักบางรักก็ให้แต่ทางใจ รักบางรักก็ให้แต่ทางกาย ส่วนรักที่ไม่ต้องการและไม่ได้ให้อะไรเลยก็มี ทั้งหมดนี้ทำให้เราเกิดสุข นั่นหมายถึงความสงบ ซึ่งก็ไปตรงกับหนังสือที่ผมแจกตอนปีใหม่ คือ “สุขแท้” ของท่านพุทธทาส



















ไม่ว่าทั้งจะเป็นผู้รับรักหรือให้รัก หรือเห็นเขารักกัน ผมว่าเราก็มีความรักความสุขกันไปด้วย ที่เหลือก็ คือ แล้วเราจะคงความรักและความสุขนี้ไปได้แค่ไหน เราจะสร้างสมดุลระหว่างความรักและความสุขไว้ที่ตรงไหนดีทั้งในชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัวและสังคม เราจึงควรมีรักใหม่กันทุกวัน ทุกนาที มาช่วยกันสร้างความรักให้เกิดขึ้นระหว่างกันจนเป็นแรงผลักดันให้สังคมเราดีขึ้น สูงขึ้น พัฒนาขึ้น ถึงวันนั้นความเกลียดก็จะพ่ายแพ้ไป โลกเราในภาพรวมก็จะดีขึ้น เขียนไปเรื่อยก็นึกถึงหนังสือของท่านอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่เล่าเรื่องราวการเดินทางของท่านจากรอยเท้าและแรงศรัทธา ซึ่งก็ คือ หนังสือ เรียนรู้และเปลี่ยนแปลง ซึ่งเต็มไปด้วยความรักเช่นกัน
















และมีอีกมากมายหลายเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิตเราแล้วทำให้เกิดสุขกับเราและทุกวัน นั่นแหละครับ รักที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน อย่าแค่แสวงหารักนั้น แต่จงสรรค์สร้างรักนั้นขึ้นมาด้วยหัวใจและศัรทธา แล้วรักใหม่จะเกิดขึ้นกับคุณทุกวัน

Book -2012-1 สุขแท้


หนังสือเล่มแรกที่อ่านของปี 2012 คือ “สุขแท้” โดยท่านพุทธทาส พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ผมเป็นแฟนหนังสือธรรมะเล่มขนาดเล็กของ สนพ.สุขภาพใจ มานานแล้วครับ น่าอ่านทุกเล่ม เล่มนี้อ่านตอนอยู่บ้านไม่ได้ไปไหนช่วงปีใหม่ 2012 เห็นชื่อเรื่องแล้ว มองดูตัวเองเหมือนเป็นคนที่ไม่มีความสุข ทั้งๆ ที่ดูตัวเองแล้วก็ไม่ได้ขาดอะไร แต่ก็อยากเยอะไปหมดเหมือนกัน ก็ได้แต่อาศัยการอ่านบ้าง พอประทังวามรู้สึกนึกคิดไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นนักอ่านตัวยงอย่างที่ใครบางคน (ภรรยา) บอกไป เอาเป็นว่าผมเป็นคนบ้าหนังสือ ชอบสะสมหนังสือ ไปหยิบมาอ่านได้เมื่อใดก็ได้ที่ต้องการก็แล้วกัน


เล่มนี้อ่านสบายๆ ครับ แล้วแต่คนชอบ บางคนอ่านงานของท่านพุทธทาสไม่รู้เรื่อง แต่ผมชอบอ่านครับ อ่านแล้วเย็นลง และสงบดีครับ หนังสือท่านช่วยผมไว้ได้หลายครั้งหลายคราทีเดียว ทำให้ผมเย็นและสงบ (ต้องเปิดแอร์ด้วยนะ) ผมแนะนำให้อ่าน นี่ยังอ่านไม่หมดนะครับ ชอบตรงนี้มากๆ

“ถ้าบิดามารดาเป็นคนเยือกเย็น ลูกก็จะเอาอย่างโดยไม่รู้สึกตัว เรียกว่าเป็นการเอาอย่างกันโดยไม่รู้สึกตัว เพราะว่าตั้งแต่เกิดมา ก็เห็นแต่ความละมุนละไม เรียบร้อย เยือกเย็น อดกลั้นอดทนอย่างนี้มันก็ซึมเข้าไปในนิสัยของเด็กๆ ให้เป็นคนอย่างนั้นบ้าง จึงสำคัญอยู่ที่ผู้ใหญ่ จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นเรื่องตั้งต้นที่ดี แล้วก็จะมีการตั้งต้นสำหรับเด็กๆที่ดีต่อไป”


คิดไปคิดมา ก็เลยอยากจะนำเอาแนวคิดตรงนี้มาใช้กับการบริหารคนในองค์กร ผมอยากจะให้คนในองค์กรเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะจะได้อ่านโลก อ่านลูกค้า อ่านตลาดออกจะได้สร้างคุณค่าให้กับองค์กรเราเพื่อให้อยู่รอด ดังนั้นผมก็คงจะต้องเป็นตัวอย่างในการอ่านและศึกษาหาความรู้ เป็นผู้นำในการหาความรู้ ลูกน้องจะได้อ่านตาม ความสำเร็จและสุขในองค์กรก็จะได้ตามมา


อ่านไปเรื่อยก็ไปเจอตรงที่ “ความโกรธ” ท่านพุทธทาส กล่าวไว้ว่า
“จิตที่ไม่ประทุษร้ายนั้นมันเย็นสงบลง เป็นความสุขอย่างยิ่ง ไม่ไปประทุษร้ายใคร ถ้าว่าใครมาประทุษร้ายเรา ก็อย่าประทุษร้ายตอบ เพราะว่าจะเลวเป็น 2 เท่า”

ฟังแล้วก็ต้องหวนกลับไปดูความโกรธที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายจังหวะเวลาในรอบปี ว่าเราโกรธไปกี่ครั้ง และกี่ครั้งที่เราโกรธตอบกลับไป ทุกข์จริงๆ น่ะนั่น จะทำอย่างไรให้เป็นสุข พูดกันง่ายก็อย่าโกรธตอบโต้เขาไป ถ้าจะให้ดีแล้วก็อย่าทำให้เขาโกรธ ถ้าเราเป็นต้นเหตุ ก็เท่านั้นเอง ถ้าเขาจะโกรธเองหรือโกรธคนอื่นๆ มา เราก็น่าจะช่วยให้เขาเย็นลงได้เช่นกัน คิดได้อย่างนี้จะเป็นสุขไหมหนอ อดุมคติจริงๆ สังคมเราจะมีคนอย่างนี้เหรออาจารย์ หรือไม่ก็ฝากไว้ก่อน คราวหน้ามาก็ที่ฉันบ้างล่ะ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงจะไม่มีวันจบสิ้นกัน มาเริ่มสร้างความสุข แทนการหาความสุขเถอะครับ


คิดไปคิดมาความสุขที่แท้มันอยู่ในใจเราจริงๆ เครื่องเสียงราคาเป็นแสนเล่นเล่นเพลงบทเยี่ยมก็ไม่อาจให้ความสุขเราได้ ถ้าใจเราไม่อยากจะเป็นสุขหรือยอมใจไปกับความทุกข์ สรุปแบบง่ายอีกแล้ว มันอยู่ที่ใจ แต่ทำยากเป็นบ้าเลย ถึงรู้แล้ว ก็ยังไม่สุข ต้องลองต้องฝึกดูครับ ที่พูดให้ฟังเนี่ยนะ ผมก็ยังทุกข์อยู่มาก ยังจัดการกับความคิด ความรู้สึกตัวเองไม่ได้ ทฤษฎีนั้นมีอยู่ แต่การปฏิบัตินั้น ต้องตัวใครตัวมันครับ ต้องฝึกซ้อม ต้องเจ็บ ต้องเหนื่อย ต้องสู้กับมัน อย่าท้อแท้นะครับ แล้วสักวันความสุขก็จะมาถึง ทั้งที่มันไม่ได้อยู่ไกลเลย แต่อยู่ข้างในใจเราเท่านั้นเอง.

Life -- ผมเชื่อว่า รองเท้าที่ดีที่สุดคือรองเท้าคู่ต่อไปเสมอ (ส.ค.ส 2555)

"ผมเชื่อว่า รองเท้าที่ดีที่สุดคือรองเท้าคู่ต่อไปเสมอ" เป็นวลีที่ The Last Student (TLS) Thanaphon Chearanai ได้ Post ไว้ที่ FB เมื่อ 31 ธ.ค. 2554 และผมได้ไปเห็นเข้าและได้มีโอกาสโต้ตอบแลกเปลี่ยนทางความคิดกับ TLS

ผมตอบ TLS กลับไปว่า “มันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด มันอาจจะเป็นวันเก่าๆ ปีเก่าๆ ความหลังเก่าๆ เพราะการเดินไปข้างหน้านั้นหรือการได้สิ่งใหม่นั้น ไม่ได้หมายความว่า ดีกว่าเก่าเสมอไป แต่ก็นั่นแหละครับ ก็ขึ้นอยู่กับเราว่า จะทำมันอย่างไร อย่าลืมว่า รองเท้าคู่เก่า ถึงมันจะเก่า แต่มันก็พาเรามาถึงที่นี่วันนี้ได้นะ แต่ถ้าจะต้องเปลี่ยนใหม่ เราก็จะต้องเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเดินทางไปข้างหน้า ไม่ใช่ว่าจะลืมคู่เก่าไป ทิ้งคู่เก่าไป คำว่าดีที่สุดนั้นใช้ได้สำหรับช่วงเวลา เช่น วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุด แต่พอตื่นขึ้นมาใหม่ โจทย์ใหม่แห่งชีวิต สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปเสมอ แล้วเราพร้อมสำหรับโจทย์ใหม่ สิ่งใหม่หรือไม่ ถึงแม้ว่าเราจำเป็นที่จะต้องทิ้งสิ่งเก่าไปเพื่อสิ่งใหม่ แต่ผมว่า รองเท้าคู่เก่งอันเก่า ก็ยังคงอยู่ในใจเราเสมอ”

TLS (The Last Student) ตอบกลับมาว่า “ผมนำวลีนี้มาจากหนังสือ Enough : Breaking Free from the World of More ของ John Naish ครับ ผู้เขียนพยายามหาหลักเกณฑ์ทางวิชาการเพื่อสนับสนุนความพอในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักเศรษฐศาตร์อย่างจัง และวลีดังกล่าวมาจาก อีเมลด้า มาร์กอส ครับ”

ผมจึงได้ตอบกลับไปว่า...”ขอบคุณครับ แน่นอนครับ เพราะเธอมีรองเท้ามากมายจริง แต่เราจะมองเห็นความหมายเชิงจิตวิทยาจากคำพูดหรือมุมมองเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะถ้าผมรู้ว่ามาจากเธอ ผมก็คงตีความไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วมันจะต้องมีปรัชญารองรับเสมอ แม้ว่าคนที่พูดจะไม่ได้หมายความอย่างนั้นก็ตาม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ล้วนมีจุดประสงค์ทั้งสิ้น เพียงแต่เราจะรู้ถึงวัตถุประสงค์ของมันบ้างหรือไม่ ถ้าเรารู้ถึงวัตถุประสงค์นั้น เราก็คงทำหรือตอบสนองต่อวัตถุประสงค์นั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

The Last Student ตอบกลับมาว่า ความหมายเชิงจิตวิทยานี่แหละครับที่ผมต้องการสื่อ มันเป็นสิ่งสะท้อนถึงกระบวนการคิดและตัดสินใจของผู้นั้นได้ แม้จะเป็นแค่วลีเดียวก็ตาม

ผมตอบกลับไปว่า “ถูกต้องแล้วครับ พวกเราเรียนมาทางช่างและวิศวกรรม แต่ขาดความละเอียดอ่อนทางด้านนี้มาก ที่จริงแล้ว เราต้องเรียนปรัชญาของวิศวกรรมเสียก่อน แล้วค่อนเข้าสู่เรื่องราวทางวิศวกรรม น่าเสียดายที่มหาวิทยาลัยที่สอนวิศวกรรมในเมืองไทยไม่เคยสอนเรื่องราวเหล่านี้ มันเป็นความงามอย่างหนึ่ง นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานทางวิศวกรรมของเราไม่ค่อยจะรุ่งเรืองเสียเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะอาจารย์ที่สอนเรื่องราวทางวิศวกรรมไม่ได้สอนวิศวกรรม สอนแต่การคำนวณ ไม่สอนการออกแบบ อาจารย์เหล่านั้นไม่ได้รู้ซึ้งถึงความเป็นวิศวกรรมหรือในความเป็นวิชาชีพ เราๆ และคนที่จบออกมาถึงเป็นกันอย่างนี้ กว่าจะรู้ซึ้งถึงความเป็นอาชีพก็เสียเวลาและความรู้สึกไปเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เราเรียนกันเอากระดาษใบเดียวกันจริง อาจารย์ก็สอนกันให้ได้เงินค่าสอนกันจริงๆ น่าสงสารการศึกษาไทย ไอ้ Pop เอ็งแน่มาก สมแล้วที่ผมเรียกเอ็งว่า The Last Student”

วันนี้เรามาใหม่และสดกว่า พรุ่งนี้เราก็จะเก่าแล้ว คลื่นลูกใหม่ย่อมที่จะไล่คลื่นลูกเก่า เมื่อเราใหม่เป็น เราก็ต้องเก่าให้เป็น เมื่อเราเป็นรุ่นเก่า เราก็ต้องสนับสนุนส่งเสริมรุ่นใหม่ๆ ให้เก่งยิ่งกว่ารุ่นเก่า ถึงแม้ว่าเราจะเก่าในอายุ เก่าในร่างกาย แต่ความคิดจะต้องไม่เก่าตาม แต่จะต้องต่อยอดสานต่อกับรุ่นใหม่ เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ร่างกายเราก็จะเสื่อมถอยตามกาลเวลา แต่ความคิดและจิตใจจะต้องไม่มีวันเก่าตามกาลเวลา

เราเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่กันมาโดยตลอด ด้วยความพยายามที่จะลืมความเลวร้ายทั้งหลายที่ผ่านมาแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ในปีใหม่ในทุกๆ ปี แต่เมื่อผ่านพ้นปีใหม่ไป ทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิมเป็นวัฏจักร ชีวิตเราเป็นวัฏจักรเป็นวงจร วงจรสั้นๆ ที่เรารับรู้ได้ก็ คือ การหายใจเข้าและออก การตื่นขึ้นจากการนอนหลับจนเราไปเข้านอนพักผ่อนในแต่ละรอบวัน แต่ละรอบเดือนของรายได้ที่เข้ามาในชีวิต แต่ละรอบของฤดู และแต่ละรอบปี ลองคิดดูสิครับว่า กว่าจะมาถึงรอบปีนั้น เราได้ทำอะไรไปตั้งหลายอย่าง มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในชีวิตเรา ทำไมเราต้องรอจนถึงสิ้นปีและปีใหม่ ทำไมเราไม่ฉลองการมีชีวิตอยู่สำหรับแต่ละรอบการหายใจเข้าออกในครั้งต่อๆ ไป ทำไมเราไม่ฉลองกับการที่เราได้ตื่นลืมตาขึ้นมาดูโลกในทุกวันตอนเช้าโดยที่เราไม่ได้หลับตายไป ทำไมเราไม่ตั้งสติในทุกเรื่องทุกจังหวะเวลาของชีวิต เฉลิมฉลองการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายต่อตนเองและต่อผู้อื่น เพื่อที่จะได้สร้างคุณค่าให้กับโลกที่เราอยู่ กับสังคม ประเทศชาติ และคนที่เรารักทุกคน

ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าเก่าหรือใหม่ มันก็ คือ รองเท้า มันมีคุณค่าในตัวเองซึ่งขึ้นอยู่กับคนที่ใช้งาน บางครั้งหรือในหลายครั้งผมก็ใช้ของเก่า ของมือสอง เพราะว่าไม่มีโอกาสได้ใช้ของใหม่ แต่ของเก่าที่ผมใช้ก็ดีที่สุดสำหรับผมในบริบทที่ผมรับได้ มิใช่ว่าของใหม่จะดีสำหรับผมเสมอไป ถ้าในปีเก่าเป็นปีที่ดีที่สุดสำหรับคุณ เราก็ต้องจดจำและสานต่อสิ่งที่ดีที่สุดให้คงอยู่ รักษามันไว้ แต่ถ้ามันจะต้องจากคุณไป เราก็ต้องปล่อยมันไป ก็จงอย่าเสียใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง แล้ววัฎจักรต่างๆ ในชีวิตก็จะวนเข้ามาอีก เพียงแต่เราจะปรับตัวเราในการสร้างคุณค่าต่างๆ ในชีวิตเราได้อย่างไร

ขอให้ทุกท่านมีความสุข มีสติกับทุกลมหายใจเข้าและออก ทุกวันที่ตื่นตอนเช้า ทุกวันที่เงินเดือนออก ที่เวลาที่เปลี่ยนฤดูกาล และทุกปีที่มีการเปลี่ยนแลง และตลอดเวลาที่เกิดเปลี่ยนแปลงในชีวิตครับ สุขสันต์ปีใหม่ 2555 อีกครั้งครับ

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

Life - ฝันให้ไกล ไปให้ถึง .. สู้ต่อไป ทาเคชิ ไอ้มดแดง ส.ค.ส 2555

ผมหายไปนานพอสมควรครับ ประมาณ 10 วัน กว่าจะกลับมาจาก Trip ทางภาคตะวันตกของไทยก็ปาเข้าไปเกือบจะสิ้นปีและปีใหม่เสียแล้ว ก่อนหน้านี้ก็ลงไปทางใต้มาครับ และวันต่อมาก็มีงานสัมนาที่ Bitec แล้วก็ตามด้วยการ Present งาน Project ที่ทำอยู่ ก็เลยไม่ค่อยจะว่างสำหรับที่จะมาคิดหรือเขียนอะไรก็ไม่รู้ให้ท่านทั้งหลายอ่านกัน


ไป Trip ทางตะวันตกที่เมืองกาญจนบุรีครั้งนี้ได้ไปหลบความวุ่นวายทั้งหลายไปสัมผัสกับธรรมชาติบ้าง ได้เห็นความนิ่งและสงบของธรรมชาติเผื่อว่าจะคิดอะไรๆ ออกบ้าง เคยได้อ่านจากหนังสือมาว่า มนุษย์นั้นพยายามปรับจูนคลื่นชีวิตกับธรรมชาติด้วยการทำสมาธิ เหมือนกับการปรับคลื่นสมองหรือจิตกับธรรมชาติ ดูก็เป็นไปได้นะครับ ผมเคยอ่านหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า “ผู้ชายที่เคยหายใจไม่เป็น” เป็นเรื่องราวของฝรั่งที่มาอยู่เมื่องไทยและเรียนเขียนภาษาไทยจนเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา ก็น่าประทับใจอยู่ครับ ในหนังสือเขาเล่าเรื่องราวของเขาในการเป็นครูสอนโยคะ นั่นน่าจะเป็นที่มาของชื่อหนังสือนี้ ว่าหลังจากได้ฝึกโยคะแล้ว ทำให้เขาได้หายใจเป็น หรือการใช้ชีวิตเป็น


สิ่งมีชีวิตหลายชนิดก็มีการหายใจตามที่เราได้เรียนรู้มาจากวิชาชีววิทยา แล้วคนเราจะหายใจให้เป็นนั้นเป็นอย่างไร ในมุมมองของผมนั้น ค่อยข้างจะชอบคำว่า “หายใจไม่เป็น”แล้วก็พยายามจะเชื่อมโยงกับความเป็นชีวิต และการมีชีวิต ผมมองว่าเราสามารถ “หายใจได้” นั้นเป็นชีวิต แต่การ “หายใจเป็น” นั้นคือ การมีชีวิต แล้วการมีชีวิตนั้น คือ อะไร ชีวิตในมุมของผม คือ การสร้างคุณค่า (Value) ให้กับตัวเองและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่ร่วมกัน ทุกคนที่เกิดมาและมีชีวิตนั้นย่อมสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย


คนเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีกระบวนการสร้างคุณค่าที่ซับซ้อนที่สุดชนิดหนึ่ง บางก็ว่าคนเราเป็นสัตว์ที่ประเสริฐที่สุดในโลกหรือทรงปัญญาที่สุด หรือบางคนก็มองว่าที่จริงแล้วคนหรือมนุษย์อย่างเรานี่แหละ เลวยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก ทั้งๆที่คนเรามีสติปัญญาที่สูงกว่าสัตว์อื่นๆ ทั้งหมด แต่วันนี้ผมอยากจะพูดถึงเรื่องที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการมีชีวิตของมนุษย์ นั่น คือ ฝัน


ผมว่าทุกคนต้องฝัน ต้องคิด ต้องมีความปรารถนา สถานะของการฝันมีทั้งที่ฝันกันตอนหลับที่เราไม่สามารถควบคุมความฝันได้ แต่อาจจะมาจิตใต้สำนึกต่างภายในจิตใจเรา แต่ฝันที่ผมจะพูดถึงนี้เป็นฝันกลางวันที่หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องราวที่เหลวไหล เพราะมัวแต่ฝัน ไม่ยอมทำงาน ผมคิดว่าฝันกลางวันนี้แหละสร้างโลกให้เราทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนนั้นฝันกลางวันกันทั้งนั้น แต่ใครจะมาเล่าให้ฟังกันบ้างนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในหลายๆ โอกาสเรามักจะเห็นว่าเราจะต้องหลับตาฝัน เหมือนการนอนหลับเพื่อให้ฝัน นั่นเป็นการเปรียบเทียบว่า เราต้องมองไปข้างหน้าในสถานะที่เรามองไม่เห็น หลายๆ ครั้งเรื่องราวที่อยู่ข้างเราในปัจจุบัน มันไม่น่าจะพิศมัยเสียเท่าไรเลย ก็เลยต้องหลับตา เราเองถ้าจะฝันก็คงจะไม่ได้ฝันเรื่องอะไรนอกจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราเอง ชีวิตเราเองและคุณค่าต่างๆที่ดีกว่าเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเท่านั้น ทุกคนมีสิทธิที่จะฝันครับ!

พอฝันกันไปเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือแล้วเราจะทำอะไรกับฝันนั้นได้บ้าง ผมแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ คนหาฝันและคนสร้างฝัน เราเองฝันกันทุกเรื่องแหละครับ คนเราทุกคนมีความปรารถนากันทุกคนและต้องมองไปข้างหน้าเพื่อสิ่งที่ดีกว่ากันทุกคน ไม่มีใครอยากอยู่กับที่หรอกครับ คนที่หาฝันนอกจากจะเป็นคนที่ฝันแล้ว แต่ก็ไม่ได้พยายามที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริงขึ้นมา เพียงแต่รอให้ฝันนั้นเป็นจริง ซึ่งก็แล้วแต่ครับ บางครั้งการรอฝันนั้นก็เป็นจริงขึ้นมาโดยไม่ออกแรง แต่อาจจะเป็นผลพวงของการสร้างฝันของคนอื่นๆ แล้วเราได้รับผลประโยชน์ตามมาอีกทอดหนึ่ง ส่วนคนอีกประเภทหนึ่ง คือ คนสร้างฝัน คนเหล่านี้ใช้ฝันเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้สร้างฝันให้เป็นจริงขึ้นมาได้


ในชีวิตคนเรานั้นเมื่อฝันแล้ว ถ้าไม่รอหรือวิ่งหาฝันก็ต้องสร้างฝันอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะต้องมีการแบ่งสัดส่วนของการหาฝันและสร้างฝัน แต่ส่วนใหญ่คนที่ประสบความสำเร็จตามที่ฝันไว้นั้น มักจะเป็นคนที่สร้างฝันมากกว่า เหมือนกับคนที่รวยขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะโชคดี แต่เป็นเพราะความฝันและแรงบันดาลใจในการสร้างฝันและสานฝันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


สำหรับปีใหม่ 2555 นี้ ผมขอให้ทุกท่านมีความสุขมากๆ สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ฝันสิ่งใดก็นอกจากหาฝัน ก็ขอให้สร้างฝันนั้นให้เป็นจริงเสมอไป

Perspective 17 - มาทำความเข้าใจกับโซ่อุปทานระดับโลก (F-35 Global Supply Chain)

นึกถึงคำพูดของบัญฑิต อึ้งรังษี ที่กล่าวว่า “จะต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้ และก็ไม่ใช่แค่ที่หนึ่งในประเทศเท่านั้น แต่จะต้องเป็นที่หนึ่งของโลกให้ได้”แล้วเราก็ได้ยินคำว่า Global Supply Chain หรือโซ่อุปทานระดับโลกอยู่บ่อยครั้ง แต่คงจะไม่ใช่ในแง่ที่ดีนัก เพราะเหตุภัยพิบัติในประเทศไทยเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม และสร้างผลกระทบให้เกิดการหยุดชะงักของโซ่อุปทานระดับโลก ผมได้ยินหลายคนพูดถึงกัน บางคนอาจจะไม่เคยนึกถึงว่าฐานการผลิตในประเทศไทยนั้นจะสร้างผลกระทบไม่ทั่วโลกเช่นนี้ แต่มันก็ไม่น่าจะภูมิใจเสียเท่าไหร่เลย แล้วความเป็นโซ่อุปทานและโซ่อุปทานระดับโลกนั้นมันมีอยู่แค่ที่เราเห็นและสัมผัสกันได้เท่านี้หรือ จะเหมือนกับโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในกลุ่ม SME หรืออุตสาหกรรมท้องถิ่นหรือไม่ คำตอบของผม คือ หลักการและแนวคิดเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่บริบท สิ่งที่สัมผัสและรับรู้ได้จะแตกต่างกันไปตามบริบท

ถ้านึกถึงโซ่อุปทานแล้ว ส่วนใหญ่ที่เห็นพูดกันในข่าวทั่ว ๆไป เราจะเข้าใจกันว่าเป็นโซ่การผลิต ... นั่นก็ใช่ครับ การผลิตเป็นบริบทหนึ่งของการสร้างคุณค่าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และการบริการ และอีกส่วนที่สำคัญมากก็คือ ลอจิสติกส์ เพราะว่าถ้าไม่มีลอจิสติกส์แล้ว การผลิตจะไม่มีวัตถุดิบและชิ้นส่วนสำหรับการผลิตหรือลูกค้าได้ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์และบริการตามที่คาดหมาย นั่นหมายถึงธุรกิจไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อพูดถึงโซ่อุปทานแล้วต้องมองให้ครอบคลุมไปทั่วทั้งโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงมือของลูกค้า ทุกคนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินงานร่วมกันตลอดโซ่อุปทานเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับลูกค้า แต่ว่าการที่จะมุ่งเน้นให้ความสนใจในการปรับปรุงกิจกรรมในโซ่อุปทาน เราก็สามารถที่จะดำเนินการในส่วนไหนก็ได้หรือถ้ามีพลังหรือกำลังมากจะดำเนินการตลอดทั้งโซ่อุปทานก็ได้ ก็จะได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง

กิจกรรมในโซ่อุปทานนั้นไม่ได้มีแค่การผลิตและลอจิสติกส์เท่านั้น เวลาที่เรากล่าวถึงโซ่อุปทานเรามักจะไม่ได้รวมเอากิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นส่วนต่างๆ ของโซ่อุปทานเข้าไปด้วย ถ้าจะว่าไปแล้วควรจะพูดว่า “กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้าได้นั้น ทุกกิจกรรมในโซ่อุปทานมีส่วนในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ” มีการให้ความหมายของโซ่อุปทานที่กว้างและครอบคลุมเกือบทุกกิจกรรมที่มีส่วนในการสร้างสรรค์คุณค่า จุดมุ่งหมายของคำว่า “โซ่อุปทาน” เพื่อต้องการที่จะสื่อสารให้เห็นถึงความเป็นองค์รวม (Holism) หรือเป็นระบบ (Systemic) ทุกคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ทุกคนมีความหมายและมีความสำคัญต่อความเป็นไปของระบบ ดังที่เราได้เห็นเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า ประเทศเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก เมื่อประเทศเราเกิดปัญหา โลกก็เกิดปัญหาด้วย

เมื่อเรากล่าวถึงความเป็นโซ่อุปทานเราไม่ได้เห็นแค่องค์ประกอบของโซ่อุปทานเท่านั้น แต่เราได้เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่เป็นเครือข่าย (Network) ขององค์ประกอบในโซ่อุปทานด้วย ผลิตภัณฑ์และบริการรวมทั้งความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทานเกิดขึ้นมาจากคุณค่าขององค์ประกอบต่างๆ และความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่สร้างผลลัพธ์ของโซ่อุปทานที่ออกมาในรูปของผลิตภัณฑ์และบริการ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงโซ่อุปทาน เราควรจะเห็นความเป็นระบบ (Systemic Structure) หรือความเป็นองค์รวม (Holism) ที่ประกอบไปด้วยคุณค่าย่อยต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าย่อยเหล่านั้นด้วย

แต่ส่วนมากเราจะศึกษาโซ่อุปทานในมุมขององค์ประกอบของโซ่อุปทานหรือมองกันเฉพาะฟังก์ชั่นในโซ่อุปทานกันเป็นส่วนใหญ่ว่า โซ่อุปทานนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง? แต่ไม่ค่อยได้เห็นการศึกษาถึงผลกระทบของการจัดการความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ในโซ่อุปทาน เรามักจะเข้าใจโซ่อุปทานในเชิงสถิตย์ (Static) มากกว่าในเชิงพลวัต (Dynamics) ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว บริบทของโซ่อุปทานนั้นมีความเป็นพลวัตสูงสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ความเข้าใจโซ่อุปทานในมุมเดียวนั้นอาจจะทำให้เราเข้าใจโซ่อุปทานไม่ลึกซึ้งเท่าไรนัก ซึ่งจะทำให้ได้ใช้ประโยชน์จากแนวคิดนี้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มันเป็นความจริงว่า โครงสร้างและองค์ประกอบของโซ่อุปทานในเชิงสถิตย์มีความสำคัญและเป็นพื้นฐานให้กับความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างองค์ประกอบกันเองในโซ่อุปทาน แต่ว่าพฤติกรรมเชิงพลวัตของโซ่อุปทานที่สามารถรองรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจะขึ้นอยู่กับการจัดการความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์กันขององค์ประกอบในโซ่อุปทาน ดังนั้นโซ่อุปทานต้องมีคุณสมบัติเชิงพลวัตเพื่อที่จะรับมือกับบริบทที่มีความเป็นพลวัต นั่นหมายความว่า โซ่อุปทานจะต้องมีความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าและบริบทต่างๆของกระบวนการสร้างคุณค่า

สิ่งที่ Global Supply Chain ต่างจาก Local Supply Chain ก็คือ บริบทขององค์ประกอบของโซ่อุปทานที่กระจายไปอยู่ทั่วโลก และโดยเฉพาะลูกค้าผู้รับคุณค่าที่กระจายไปอยู่ทั่วโลก บริบทของความเป็น Global หรือระดับโลกก็คือ การเชื่อมต่อกันและการมีปฏิสัมพันธ์กันจะมีความยุ่งยากและมีรายละเอียดมากกว่าโซ่อุปทานในระดับท้องถิ่นทั่วไป บางครั้งก็กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน ลองนึกภาพการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ในประเทศ กับการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในโลก เช่นเดียวกันกับการเดินทางของวัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นหรือในประเทศกับการเดินทางของชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ไปทั่วโลก ความยุ่งยากและรายละเอียดที่มากขึ้นของความเป็นระดับโลก (Global) ได้กลายมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการจัดการโซ่อุปทานระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนทางการค้า พิธีการศุลกากร ภาษี ข้อตกลงและความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบในโซ่อุปทาน ยิ่งมีปัญหาในประเด็นเหล่านี้มากเท่าไร เราก็จะมีต้นทุนและเสียเวลาในการดำเนินงานมากขึ้นเท่านั้น ทั้งๆ ที่กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนในการเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าเลย กิจกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็น Soft Side ของการจัดการโซ่อุปทาน ส่วนกิจกรรมการเพิ่มคุณค่าในตัวสินค้าและบริการนั้นถือว่าเป็น Hard Side ของโซ่อุปทาน ลูกค้าจะใช้ประโยชน์จากคุณค่าที่เกิดจาก Hard Side แต่ผลิตภัณฑ์และบริการจะไม่ถึงมือลูกค้าได้เลย ถ้าเราไม่ได้มีการจัดการในด้าน Soft Side

ลองนึกภาพการเดินทางจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง กฎระเบียบและขั้นตอนในแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันไป ยิ่งโซ่อุปทานครอบคลุมผู้จัดส่งวัตถุดิบไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมทั้งลูกค้าที่อยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยแล้ว การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดส่งวัตถุดิบจากหลายประเทศเพื่อที่จะนำส่งผลิตภัณฑ์และบริการไปให้กับลูกค้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็จะมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อสมรรถนะของโซ่อุปทานโดยรวมด้วย


คราวนี้ลองมาดู The F-35 Global Supply Chain จากนิตยสาร Blooberg Businessweek ฉบับเดือน September 2011 เครื่องบินขับไล่ F-35 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ที่มีราคาแพงที่สุดเท่าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐเคยว่าจ้างในการผลิต ผู้รับช่วงในการผลิต คือ Lockheed Martin และ Pratt & Whitney ซึ่งจะได้เงินไปเกือบๆ 500 พันล้านดอลลาร์ โครงการนี้จะประกอบไปด้วยผู้จัดส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ มากกว่า 1300 รายจาก 9 ประเทศและจาก 48 รัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ดูภาพประกอบ แล้วคิดว่ามันน่าจะมีความยุ่งยากขนาดไหน






ที่มา: http://www.businessweek.com/magazine/the-f35s-global-supply-chain-09012011-gfx.html

ความจริงแล้วความเป็น Global Supply Chain นั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสินค้ามีราคาแพงหรือมีเทคโนโลยีระดับสูงๆ สินค้าธรรมดาๆที่เรากินเราใช้อยู่ทุกวันนี้ก็สามารถอยู่ใน Global Supply Chain ได้ แต่ประเด็นของผมก็คือ เราได้รับรู้ถึงความเป็น Global Supply Chain ได้อย่างไรบ้าง เรารู้สึกหรือไม่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกหรือเป็นส่วนหนึ่งของโลกภิวัฒน์ เรามองเห็นโลกอย่างไร หรือเรามองเห็นแต่ตัวเอง ซึ่งมักจะทำให้เราคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่ได้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ระดับโลกอะไรเลย เราก็เป็นแค่ผู้รับจ้างผลิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร ถ้าเราจะเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิต แต่เราก็ต้องมองเห็นและเข้าใจความเป็น Global Supply Chain เพราะว่าถ้าเราไม่เห็นโลกและเข้าใจโลกแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ในตลาดโลกหรือเกิดเหตุการณ์ในโซ่อุปทานระดับโลก เราที่เป็นส่วนหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง โซ่อุปทานระดับโลกเป็นการลงทุนที่สูง ผลตอบแทนก็สูง ในขณะเดียวกันความเสียหายก็สูงตามไปด้วย

ความเป็น Global Supply Chain เป็นการลงทุนที่สูง ดังนั้นข้อมูลในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์และบริการในแต่ละตลาดทั่วโลกจึงมีความสำคัญมาก เพราะว่าถ้าผิดพลาดไป นั่นก็หมายความว่า การลงทุนไปใน Global Supply Chain นั้นจะทำให้เกิดการขาดทุนอย่างมหาศาล แทนที่จะเป็นกำไรอย่างมหาศาล ความต้องการของลูกค้าในระดับโลกจะเป็นตัวกำหนดหรือออกแบบเครือข่ายโซ่อุปทานระดับโลกเพื่อหาเครือข่ายผู้ผลิตที่มีความชำนาญและต้นทุนที่ต่ำกว่าตามแหล่งผลิตทั่วโลก รวมทั้งเครือข่ายลอจิสติกส์ในการนำส่งผลิตภัณฑ์และบริการให้ถึงตลาดเป้าหมาย การตัดสินใจในระดับโซ่อุปทานโลก (Global Decision Level) จึงเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Decision) เพื่อสร้างเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network) ในการตอบสนองอย่างมีโครงสร้างเชิงระบบเพื่อรองรับความเป็นพลวัตของตลาดและความไม่แน่นอนของสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติที่จะมีผลต่อการดำเนินงานของเครือข่ายโซ่อุปทาน ดังนั้นเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network) ใดที่สามารถใช้ประโยชน์จากการจัดการความสัมพันธ์และการมีปฎิสัมพันธ์ของสมาชิกในเครือข่ายโซ่อุปทานก็จะสามารถปรับตัวให้เข้าการเปลี่ยนแปลงได้ หรือสามารถฟื้นตัวได้เองจากสภาพความเสียหายที่ได้รับจากภัยพิบัติ และสามารถปรับองค์กรได้ด้วยตนเองจนเกิดการอุบัติขึ้นใหม่ของเหตุการณ์ในเครือข่ายโซ่อุปทานเพื่อทำให้เครือข่ายโซ่อุปทานระดับโลกสามารถอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์

วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

Perspective 16 - โซ่อุปทานแบบลีน มุ่งสู่ความสามารถในการฟื้นฟูตัวเอง (Resilience) และความแข็งแกร่ง (Robustness)

จากบทความที่แล้ว Perspective 15 ที่มีการพูดถึงเรื่องของ Lean Supply Chain ในเครือข่ายโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) และยังมีการพูดถึงว่าการทำโซ่อุปทานให้มีความเป็นลีน (Lean) นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ ที่จริงแล้วถ้าเรายังเข้าใจเรื่องลีนไม่หมดหรือไม่ลึกซึ้ง เราก็ยังคงต้องสงสัยกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละครับ ความเป็นลีนนั้นไม่ใช่แค่ลักษณะทางกายภาพที่เราเห็นว่ามีสินค้าคงคลังที่น้อยหรือเป็นศูนย์ (Zero Inventory) หรือมีลักษณะที่ทันเวลาพอดี (Just in Time) เท่านั้น ลีนนั้นเป็นมากกว่าที่เราได้เห็นและสัมผัสได้ ลีนนั้นเป็นวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคมมนุษย์ สำหรับลีนในเชิงกายภาพนั้นบริษัทโตโยต้าได้ค้นพบและปฏิบัติกันมานานกว่า 70ปีแล้วในนามของ Toyota Production System (TPS) จิตวิญญาณแห่งการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทโตโยต้าได้พัฒนาแนวคิด Toyota Production System ไปสู่ Toyota Way เพื่อความเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์และธุรกิจ ลีนในปัจจุบันคงจะไม่ใช่แค่ระบบ TPSในอดีต แต่ลีนในปัจจุบันก็จะต้องมุ่งสู่การสร้างวัฒนธรรมและจิตวิญญาณเหมือนใน Toyota Way สำหรับผมนั้นยังศรัทธาในความเป็นลีนและโซ่อุปทานอยู่เสมอ เพราะทั้งสองแนวคิดนี้เป็นเรื่องความจริงที่เป็นธรรมชาติ แล้วทำไมเราต้องปฏิเสธแนวคิดทั้งสองนี้ด้วยเล่า ถ้าเราเข้าใจทั้งสองแนวคิดนี้แล้ว เราก็น่าจะรับทั้งสองแนวคิดนี้ได้และยอมรับในความเป็นไปและความลงตัวตามธรรมชาติของแนวคิดทั้งสอง ไม่มีใครได้อะไรทุกอย่างและไม่อะไรเป็นที่สุดหรอกครับ ทั้งหมดที่เราเห็นนั้นมันไม่เที่ยง แต่ความจริงเท่านั้นที่คงอยู่ โซ่อุปทานแบบลีนก็ คือ ความจริงนั้น ที่สำคัญเมื่อเราเข้าใจ แล้วเราก็ยิ่งเข้าใจความเป็นลีนและโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้นในมุมและมิติที่ขยายออกไป


แนวคิดโซ่อุปทานในการจัดการผลิตที่มีแหล่งวัตถุดิบและการผลิตกระจายไปทั่วโลกนั้นก็ยังคงได้รับการยอมรับอยู่ หลักการนั้นก็ยังคงใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ของโซ่อุปทานทั่วไป เพราะว่าผลิตภัณฑ์และการบริการมีความซับซ้อนมากขึ้นตามความต้องการของลูกค้า หลายบริษัทๆ จึงต้องมุ่งเน้นตามความสามารถของตัวเองเป็นหลัก จึงทำให้เกิดการจัดจ้างจากภายนอกหรือ Outsourcing ใครเก่งเรื่องใดก็ทำเรื่องนั้นเป็นหลัก ทำให้โครงสร้างของโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไปในมุมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ในขณะเดียวกันโซ่อุปทานในยุคปัจจุบันก็ยังต้องการโครงสร้างที่มีความว่องไวในการตอบสนองทั้งในรูปแบบของปริมาณและรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของลูกค้า รวมทั้งความสามารถในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วย


สิ่งหนึ่งที่แนวคิดแบบลีนและโซ่อุปทานมุ่งเป้าไปในทิศทางเดียวกันก็ คือ การตอบสนองต่อคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้นทั้งลีนและโซ่อุปทานจึงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่มองกันคนละมุม ที่จริงแล้วเทคนิคการคิดและการจัดการทั้งในลีนและโซ่อุปทานนั้นเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น แต่มองกันคนละมุมเท่านั้นเอง โซ่อุปทานนั้นมองในเชิงโครงสร้างของการสร้างคุณค่าทั้งในการผลิตและลอจิสติกส์ ส่วนลีนนั้นมองในเชิงของการใช้ความสามารถของมนุษย์ที่อยู่ในโซ่อุปทานเพื่อสร้างความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาในโซ่อุปทานอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้า ดังนั้นในปัจจุบันเราจึงมักจะได้ยินและได้เห็นการบูรณาการแนวคิดทั้งสองนี้เป็นโซ่อุปทานแบบลีน

จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์การหยุดชะงักของโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) อยู่บ่อยครั้งขึ้นในช่วงทศววรษที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ด้วยกันเอง จึงทำให้คุณค่าที่ลูกค้าต้องการไม่สามารถถูกผลิตหรือถูกส่งมอบถึงมือลูกค้าได้ ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่วโลก แนวโน้มของเหตุการณ์เหล่านี้ดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และยากต่อการคาดการณ์ด้วย โดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานในช่วงทศววรษที่ผ่านมามักจะเน้นที่การจัดการโซ่อุปทานให้ลีนจนเกิดความเปราะบางจนกระทั่งทำให้เกิดการขาดช่วงหรือหยุดชะงักของโซ่อุปทานได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้โซ่อุปทานขาดช่วงขาดตอนไป จึงทำให้เกิดคำถามว่าแล้วโซ่อุปทานแบบลีนนั้นยังคงจะใช้ได้หรือไม่

เรื่องนี้แล้วแต่มุมมองของผู้ที่รับแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ แต่ผมคิดว่าแนวคิดของโซ่อุปทานและแนวคิดแบบลีนเป็นแนวคิดในเชิง Socio-Technical หรือ สังคม-เทคนิค ที่มีความเป็นพลวัตในตัวเองซึ่งเกิดมาจากการคิดและตัดสินใจของมนุษย์ที่อยู่ในโซ่อุปทาน ความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในองค์กรหรือสังคมทำให้เกิดการวิวัฒนาการทางแนวคิดเพื่อที่จะปรับแนวคิดให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม ดังนั้นโซ่อุปทานแบบลีนในอดีตจึงต้องแตกต่างจากโซ่อุปทานแบบลีนในปัจจุบันและในอนาคต ถ้าคิดว่าโซ่อุปทานยิ่งลีนแล้วยิ่งทำให้เกิดความเปราะบางในการนำส่งคุณค่าให้กับลูกค้า ในทางตรงกันข้ามแล้วถ้าเราจะทำให้โซ่อุปทานมีแต่ไขมันและไม่คล่องตัวว่องไวในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเพื่อแก้ไขความเปราะบาง มุมมองที่คิดว่าโซ่อุปทานแบบลีนมีความเปราะบางต่อการหยุดชะงักนั้นเป็นมุมที่มองแนวคิดแบบลีนแต่ด้านกายภาพแต่เพียงด้านเดียว ต่อให้มีการจัดการด้านอื่น ๆที่ไม่ใช่แบบลีน เมื่อได้ประสบกับภัยพิบัติที่ทำให้เกิดการพังทะลายหรือการหยุดชะงักของโซ่อุปทานแล้ว ก็คงจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติเหมือนกัน ไม่ว่าจะจัดการโซ่อุปทานในมุมมองไหนก็ตามก็ตาม

เพื่อที่จะแก้ไขความเปราะบางของโซ่อุปทาน เราจะต้องสร้างโซ่อุปทานให้มีความแข็งแกร่งและสามารถฟื้นตัวได้เองแนวคิดของโซ่อุปทานแบบลีนในอดีตจะที่มีลักษณะแนวคิดในเชิงกลไก (Mechanistic) ซึ่งต่อมาในยุคปัจจุบันคงจะต้องมีการพัฒนาไปสู่แนวคิดของโซ่อุปทานแบบลีนที่โครงสร้างเป็นระบบ (Systemic) หรือเป็นเครือข่าย (Network) การออกแบบโซ่อุปทานในอดีตมักจะใช้แนวคิดในเชิงวิศวกรรม (Engineering) ที่มุ่งเน้นไปที่ความมีเสถียรภาพของฟังก์ชั่นการทำงาน (Functional Stability) เพื่อทำให้เกิดสมรรถนะการทำงานที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ (Optimal) โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำงาน (Error Free) และจะต้องคาดการณ์เพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโซ่อุปทานและสภาพแวดล้อมของโซ่อุปทาน ถึงแม้ว่าในสภาพแวดล้อมจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตก็ตาม แต่แนวคิดในการจัดการก็ยังไม่ได้รองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัตมากเท่าใดนัก เพราะความเป็นพลวัตที่เกิดขึ้นยังไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก การจัดการโดยทั่วไปมักจะเน้นไปที่การพยากรณ์และการสำรองเผื่อไว้สำหรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น แนวคิดในการออกแบบและจัดการโซ่อุปทานในลักษณะนี้เป็นการออกแบบในเชิงวิศวกรรมที่จะไม่มีคุณสมบัติของความยืดหยุ่นและยังต้องอาศัยการตัดสินใจจากส่วนกลางทำให้ไม่สามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที



โซ่อุปทานแบบลีนในยุคปัจจุบันจะต้องมีคุณสมบัติในเชิงความสามารถในการฟื้นฟูตัวเอง (Resilience) และมีความแข็งแกร่ง (Robust) โซ่อุปทานที่มีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองเป็นโซ่อุปทานที่จะต้องจัดการกับขอบเขตของโซ่อุปทานและสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังคงมีกรอบการดำเนินงานเหมือนโครงสร้างโซ่อุปทานแบบดั้งเดิมซึ่งมีแบบจำลองที่เป็นฟังก์ชั่นและแนวการทำงานในเชิงวิเคราะห์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโซ่อุปทานต่างๆ ได้พยายามที่จะตัดสินใจในการมองหาหนทางในการฟื้นฟูตัวเองจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่วนโซ่อุปทานที่มีความแข็งแกร่งจะเป็นโซ่อุปทานที่มีพฤติกรรมของระบบที่ซับซ้อน (Complex System) และระบบที่ถูกกระจายออกจากศูนย์กลาง (Distributed System) โซ่อุปทานที่แข็งแกร่งจะจัดการกับกระบวนการที่ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมา (Non Deterministic) อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉินต่างๆ เฉพาะแนวทางนี้เท่านั้นที่เราสามารถที่จะสร้างแบบจำลอง (Modeling) และจำลองสถานการณ์ (Simulating) ของกระบวนการที่จัดองค์กรได้ด้วยตัวเอง (Self-organisation) ทำให้เกิดเป็นฟังก์ชั่นการของการอุบัติขึ้น (Emergent functionalities) ทำให้ไม่ต้องเกิดการรอคอยหรือการตั้งรับอย่างมีความคาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้

การจัดการโซ่อุปทานและแนวคิดแบบลีนในอดีตนั้นเป็นการจัดการในเชิงสถิตย์ (Static) ไม่มีความเป็นพลวัตเข้ามาเกี่ยวข้องมากนักในการออกแบบและการวางแผน นั่นคงจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมของสังคมและธุรกิจที่ยังคงนิ่งหรือมีความผันผวนน้อย การคิดและการวางแผนตัดสินใจจึงเป็นไปตามแบบและวิธีการดั้งเดิม คือ การคาดการณ์แล้วก็ตัดสินใจ แล้วก็รอคอยเวลาหรือเหตุกาณณ์นั้นจะเกิดขึ้นตรงกับที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ สภาพที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นสภาพของทรัพยากรที่เกิน (Inventory) และ ทรัพยากรที่ขาด (Shorttage) แต่สภาพที่เราต้องการก็คือ สภาพทรัพยากรที่พอดี (Just in Time) หรือเหมาะสมที่สุด ผมคิดว่า สภาวะแวดล้อมของธุรกิจซึ่งรวมทั้งสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมมีผลกระทบต่อการจัดการโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้น นับเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาแนวคิดการจัดการโซ่อุปทานและการนำเอาแนวคิดแบบลีนเข้ามาประยุกต์ใช้ และคงอีกไม่นานนักที่เราอาจจะเห็นรูปธรรมของการจัดการโซ่อุปทานและแนวคิดแบบลีนที่ถูกประยุกต์ใช้ในยุดที่มีความเป็นพลวัตสูงอยู่รอบๆ ตัวเรา

การสื่อสารก็คือ การสื่อสาร ไม่ว่าตัวกลางหรือสื่อในการติดต่อหรือส่งข่าวสารจะเป็นอะไร จะเป็นเทคโนโลยีอะไรก็ตาม หรือในบริบทใดก็ตาม เราก็ยังคงได้รับข้อมูลในการสื่อสารนั้น ปรัชญาแนวคิดในการจัดการโซ่อุปทานและแนวคิดแบบลีนก็จะยังคงเดิมไม่ว่าบริบทของการสร้างคุณค่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขนาดไหนก็ตาม เรามนุษย์ก็ยังคงจะต้องคิดและพัฒนาปรับปรุงกระบวนการจัดการตัวเองเพื่อความอยู่รอด มันคงจะไม่สำคัญหรอกว่าแนวคิดไหนจะใช้ได้อยู่หรือไม่ มันไม่ใช่การแข่งกันว่าวิธีการไหนจะดีกว่ากันหรือจะยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ถึงแม้ว่าวิธีการนั้นจะตายไปแล้วหรือใช้ไม่ได้แล้วก็ตาม แต่แนวคิดหรือปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังที่เป็นนามธรรมนั้นยังคงอยู่เสมอ ซึ่งพร้อมที่จะให้เราซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องสร้างสรรค์วิธีการที่ดีกว่าจากบริบทใหม่เพื่อความอยู่รอดขององค์กรหรือสังคม ดังนั้นผมคิดว่า มันจะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมาถามว่า “แล้ววิธีการโซ่อุปทานแบบลีนนั้นจะยังคงใช้ได้หรือไม่” ผมว่ามันไม่สร้างสรรค์เลย แต่ในทางตรงกันข้าม เราก็ควรจะหาทางในการพัฒนาและปรับปรุงวิธีการปัจจุบันให้สามารถรองรับกับสถานการณ์ต่างๆ ให้ได้ทุกสถานการณ์ แต่ผมก็ยังมั่นใจในปรัชญาของทั้งโซ่อุปทานและแนวคิดแบบลีนอยู่เสมอ ไม่ว่าบริบทของธุรกิจและสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม