วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

My Journal - ชีวิตบางครั้ง อุดม แต่ก็ยังไม่ สมบูรณ์

ไม่ได้เขียนอะไรเป็นเวลานานมากๆ ประมาณ 3 อาทิตย์ถ้าจะได้ แต่ผมก็ไม่ได้อยู่เฉยๆครับ ก็อ่านค้นคว้าแนวคิดอะไรๆ ที่เป็นเรื่องใหม่ๆ ให้กับตัวเองอยู่เสมอ หลบไปอ่านหนังสือหาความรู้จริงๆ ใหม่ๆ สักพัก มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากสำหรับผมมาก ที่ว่างเว้นจากการเขียนไปนานๆ แล้วจะกลับมาเขียนใหม่ ไม่อยากจะเขียนอะไรเรื่อยๆ เปื่อยๆ เหมือนกับที่เขียนอยู่ในเวลานี้ มันเป็นความจริงที่ว่า ผมน่าจะเขียนมุมมองอะไรบางอย่างให้ได้ทุกวัน นั่นน่าจะเป็นข้อกำหนดที่ควรจะทำสำหรับการเขียน แต่ผมก็ไม่น่าจะทำได้อย่างง่ายๆ นัก ผมต้องมีวินัยสักหน่อย

เมื่อตอนตื่นนอนวันนี้ ผมนึกถึงคำพูดคำหนึ่ง คือ อุดมสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะมีความหมายอะไรบ้าง ผมมองเป็นสองคำ คือ อุดมและสมบูรณ์ ทั้งสองคำนี้ไม่น่าจะมีความหมายเหมือนกัน อุดมนั้น ผมนึกถึงความหลากหลาย ความมากพอ แต่จะเป็นจำนวนเท่าใดก็ไม่รู้ ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นเท่าไหร่ที่จะพอเพียงกับความต้องการของมนุษย์เรา แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ โน้ส อุดม ส่วนคำว่าสมบูรณ์นั้นผมมองว่าก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำนวนที่มากมายเช่นกัน มีแค่สองก็อาจจะสมบูรณ์ได้แล้ว ความสมบูรณ์นี้ผมจะหมายถึงว่า เมื่อมารวมกันแล้วต้องได้ประโยชน์ เคยได้ยินเวลาเราทำงานหรือใครก็ตามที่เขาทำงานกัน เมื่องานนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ นี่ไงครับ ความสมบูรณ์ คือ ความครบถ้วนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ลองหันกลับมาดูตัวเอง ดูสังคมเราเองแล้ว ดูเหมือนว่าสังคมเรา ชีวิตเรานั้นอุดมไปด้วยทรัพยากรต่างๆ มากมาย แต่ชีวิตก็ยังดูไม่สมบูรณ์

ใช่ครับเมื่อก่อนนี้บ้านเมืองเราอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก คนเราก็มีอยู่ไม่มากมายอะไรเท่าไหร่ แต่ก็ดูสมบูรณ์เพราะทุกอย่างสามารถใช้ประโยชน์ได้หมด ทุกคนในสังคมมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข (หรือเปล่า ไม่รู้) แต่พอโลกเจริญขึ้น เศรษฐกิจเจริญขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ลองดูชีวิตเราที่ผ่านมา 10-20 ปี ว่าเรามีทรัพยากรต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้นอีกเท่าไหร่ เราชีวิตเราสมบูรณ์หรือมีความสุขขึ้นมากเท่าไหร่หรือไม่ คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ ข้อมูลสารสนเทศต่างๆได้ถูกป้อนเข้าไปในสมองเราอย่างไม่หยุดหย่อนอยู่ตลอดเวลาที่เรายังมีสติ และบางครั้งอาจจะเข้าไปอยู่ในความฝันของเรายามเราหลับอยู่ด้วยก็ได้ ความต้องการของมนุษย์เราก็เปลี่ยนแปลงไป เราต้องการมากขึ้น ไม่ว่าสิ่งที่เราต้องการนั้นจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ แต่มันเป็นความอยาก อยากได้ อยากกิน มันเป็นกิเลส เราจึงต้องการไม่รู้จบ ความสมบูรณ์ของชีวิตจึงไม่มี ความสุขในชีวิตจึงไม่มี เราจึงได้เห็นความอุดมของทรัพยากรวัตถุสินค้าและผลิตภัณฑ์การบริการต่างๆมากมาย ในห้างสรรพสินค้าและสถานบริการต่างๆ เต็มไปหมด สิ่งเหล่านี้จะเติมเต็มชีวิตของคุณให้สมบูรณ์ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับใจของคุณเองว่า แค่ไหนถึงจะสมบูรณ์ ไม่ใช่ให้ใครหน้าไหนในสังคมมาบอกคุณหรือคำโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายมาบอกว่า ชีวิตคุณต้องมีอย่างนี้อย่างนั้น คุณถึงจะมีความสุข บางครั้งลองนึกถึงช่วงเวลาสั้นๆที่คุณมีความสุขจริงๆ  คุณต้องใช้ทรัพยากรอย่างอุดมหรือไม่ ความสมบูรณ์นั้นอยู่ที่ใจมากกว่า ถ้าใจเราพอ ความสุขก็อยู่ที่ใจนั่นเอง ครับ!

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

แนะนำหนังสือใหม่ 2555

หนังสือสำหรับผู้บริหารทุกคนที่ต้องอาศัยคนเพื่อสร้างคุณค่าที่แตกต่างสำหรับลูกค้า



หนังสือเล่มนี้บรรยายถึงความเป็นเลิศด้านบริการที่ยั่งยืนของ Mayo Clinic องค์กรด้านบริการสุขภาพชั้นเยี่ยมที่เป็นตำนาน และพลังที่ขับเคลื่อนองค์กรนี้


นอกจากนี้ยังแสดงถึงพลังของค่านิยมหลักที่มั่นคงของผู้นำ คือ Dr. William Worrall Mayo และ ลูกชายของเขา ผู้มีชีวิตอยู่เพื่อสอนและลงทุนสร้างวัฒนธรรมและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาค่านิยมหลักเหล่านี้ไว้


ผู้เขียนได้ตรวจสอบหลักการปฏิบัติที่ชี้นำการตัดสินใจด้านการบริหารทุกอย่างของ Mayo Clinic และ:


แสดงให้เห็นวิธีที่แบรนด์ด้านบริการที่ยิ่งใหญ่พัฒนาขึ้นมาจากค่านิยมหลัก ซึ่งฟูมฟักและปกป้องตัวแบรนด์ไว้ได้ตลอดเวลา


ให้บทเรียนด้านธุรกิจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้นอกระบบการบริการสุขภาพ


แสดงให้เห็นประโยชน์ของการระดมคนเก่งและส่งเสริมการทำงานเป็นทีม


เชื่อมโยงเหตุการณ์สำคัญและมิติต่างๆ ในอดีตเข้ากับสถานะของ Mayo Clinic ในปัจจุบัน


แบ่งปันเรื่องราวที่ประทับใจจากเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย




บทนำ


บทที่1แบรนด์ร้อยปี


บทที่ 2 การธำรงรักษามรดกที่ให้ผู้ป่วยเป็นอันดับหนึ่ง


บทที่ 3 เวชปฏิบัติทีม


บทที่ 4 เวชปฏิบัติจุดหมายปลายทาง


บทที่ 5 ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการนำองค์กร


บทที่ 6 การจ้างคนจากคุณค่าและความสามารถ


บทที่ 7 การผสมผสานเบาะแสด้านคุณภาพ


บทที่ 8 การสร้าง ขยาย และปกป้องแบรนด์


บทที่ 9 การลงทุนเพื่อสร้างองค์กรแห่งอนาคต


บทที่ 10 การตระหนักถึงศักยภาพของมนุษย์



เกี่ยวกับผู้เขียน


เกี่ยวกับผู้เแปล











บทเรียนการบริหารจากสุดยอดองค์กรบริการสุขภาพ Mayo Clinic THAI Version-sample


Life – ความล้มเหลว คือ รากฐานของความสำเร็จ จริงหรือ?

ในหลายๆ อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ได้ดูหนังเรื่อง “วัยรุ่นพันล้าน” ประวัติการสู้ชีวิตของเถ้าแก่น้อย ใช่ครับชีวิตของเขาถูกนำมาเป็นเรื่องราวที่โลดแล่นบนแผ่นฟิลม์ภาพยนตร์ไทย ตอนแรกๆ ไม่ได้ตั้งใจจะดูเลย พอดีลูกชายผมซื้อมาครับ แกเป็นแฟนหนัง “พี่พีท” จากเรื่อง Suck Seed โน่น กว่าผมจะดูจบก็เล่นไปหลายวันเป็นอาทิตย์เลยเพราะว่าต้องดูในรถคันอื่น และบังเอิญไม่ใช่รถผมก็เลยใต้องช้เวลาดูนานหน่อย ดูแล้วชอบ ชอบมากๆ ด้วย เพราะว่ามันเป็นเรื่องจริง ดูแล้วมีแรงบันดาลใจให้กับตัวเองอีกด้วย ที่จริงผมอยู่เฉยๆ ก็ดีแล้ว รู้สึกสบายดีจะตายไป แล้วจะดิ้นรนอีกไปทำไม แต่ก็ดีครับ ทำให้ต้องกลับมาพิจารณาตัวเองใหม่อยู่ตลอดเวลา เป็นเหมือนการเตือนสติ เราหาหนังไทยที่มีสาระในมุมอย่างนี้ได้น้อยมากๆ ในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นแต่เรื่องบันเทิงใจกับน้อยสาระกันเป็นส่วนใหญ่


ดูหนังเถ้าแก่น้อยแล้ว ทำให้คิดอะไรได้หลายอย่าง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำอย่างนั้นให้ได้ แล้วจะต้องเป็นอย่างเถ้าแก่น้อย นั่นมันชีวิตเขา ไม่ใช่ชีวิตผมหรือชีวิตใครๆ แต่น่าจะมีอะไรน่าสนใจเก็บไปใช้ได้มาก ถึงแม้ว่าเขาอายุยังน้อยก็ตาม แต่มันก็ให้คุณค่าได้มากเช่นกันครับ จากชีวิตเด็กที่ไม่ได้ลำบากอะไรมากนัก แต่ดูจะลำบากใจมากกว่าลำบากกาย จะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อมาใช้หนี้และจะต้องทำให้สำเร็จด้วย ความไม่ท้อถอยและใจสู้นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีได้ แต่ผมว่าต้องบ้าด้วยซึ่งอาจจะดีในบางช่วงเวลา บางช่วงอายุ ใช้กับทุกคนไม่ได้ ไม่ได้สนับสนุนให้คิดอะไรบ้าๆ อย่างนั้นนะครับ แต่ผมเชื่อว่าในประเทศเรายังมีคนอย่างเถ้าแก่น้อยอีกมากมายครับ พวกเขาได้คิดและทำอย่างเถ้าแก่น้อยเหมือนกันในบริบทที่แตกต่างกันไป ที่จริงแล้วน่าจะมี “คนค้นคน (ภาคคนรวย)” แต่จะมีสักกี่คนล่ะครับที่ประสบความสำเร็จเหมือนเขา และที่ประสบความสำเร็จแต่ไม่ได้นำมาเผยแพร่ก็ยังมีอีกมากครับ ที่จริงแล้วคนอย่างนี้มีอยู่ทั่วโลกเลย


แต่ผมก็ไม่ได้ให้ทุกคนที่กำลังพยายามอยู่ในชีวิต เลิกความพยายามนะครับ ก็จงพยายามต่อไปครับ แล้วผมเห็นอะไรในตัวเถ้าแก้น้อยล่ะครับ วิธีคิดของเขา วิธีสู้ของเขา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า วิธีของเขาดีที่สุด แต่ตัวอย่างของเขาก็ได้ถูกเผยแพร่ออกมาสู่สังคมไทยเรา เป็น Model ของคนไทย มันดูแล้ว in กว่ากันเยอะ มันดูติดดินกว่าไปดูหนังฝรั่ง ความสำเร็จของคนฝรั่งที่เผยแพร่ไปทั่วโลก มันก็เป็นจริงอย่าง Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook ที่ประสบผลสำเร็จ แต่มันอยู่ไกลจัง ก็เลยเป็นแค่ความบันเทิงไปในหนัง ก็เลยไม่ได้เหลืออะไรให้คิดกันต่อไป กลับไปดูเอาตลกแบบหนังไทย เอามันกันดีกว่า หรือไม่ก็หวานซึ้งกันไปเลย


เขาบอกกันว่า ความล้มเหลว คือ พื้นฐานของความสำเร็จ ก่อนจะมาสำเร็จได้ก็ต้องล้มกันก่อนทุกคน No pain no gain ที่เหลือใครจะใจสู้กว่ากัน ซึ่งก็ไม่จริงเสมอไป มันต้องบ้าด้วย ต้องคิดเป็นด้วย ไม่ต้องฉลาดก็ได้ ผมว่าสูตรของความสำเร็จไม่ได้มีตัวประกอบ หรือ Factor เดียว แต่มันมีหลายๆ องค์ประกอบในหลายสถานการณ์ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในมิติหนึ่งของความสำเร็จ ก็คือ ความไม่เหมือนใคร (Unique) เพราะว่า เรา คือ คนๆ เดียวในโลกนี้ ดังนั้นสูตรสำเร็จของเราทุกคนจึงไม่เหมือนกัน เราต้องคิดค้นและสร้างมันขึ้นมาเอง ที่สำคัญมันอยู่ที่ State of Mind ของแต่ละคนจริงๆเลย ไม่ได้อยู่ที่ใครจะมีความรู้มากหรือน้อย ผมหมายถึงว่ามีปริญญาหรือไม่มีปริญญา แต่ที่แน่ๆ จะต้องมีความรู้และประสบการณ์มาก่อน ต้องเรียนรู้และรับรู้กันมาก่อน ต้องเจ็บต้องทนกันมาก่อน จึงจะสามารถตัดสินใจได้ แต่ว่าเวลาวัดที่ผลลัพธ์นั้นก็แล้วแต่นะครับ จะวัดกันที่เงินทอง ความมีชื่อเสียง ความมีประโยชน์ต่อสังคม หรือแค่ความสุขของตัวเอง ตรงนี้แล้วแต่ครับ คุณจะวัดอย่างไรก็ได้ มันเป็นเรื่องของการดำรงอยู่ของแต่ละคน


อย่าลืมว่า ชีวิตของเรานั้นเป็นระบบที่มีตัวแปรอยู่หลายตัว Multivariate ไม่ใช่ตัวแปรเดียว ดังนั้น คำที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น วลีนี้อาจจะไม่จริงเสมอไป เรากลับยิ่งต้องใช้หลายวลีหรือหลายคำคมมาผสมผสานกันเพื่อให้ได้เหมาะสมกับตัวเราที่สุด ความสำเร็จของคนๆหนึ่งไม่อาจถูกลอกเลียนแบบไปสู่ความสำเร็จของอีกคนได้ แต่วิธีคิดกับ State of Mind ของแต่ละคนบวกกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เราไม่รู้มาก่อนจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นหรืออุบัติขึ้น (Emergence) บางครั้งองค์ประกอบของความสำเร็จที่เราไม่รู้มาก่อนหรือไม่เคยจะคิดถึง เรามักจะเรียกมันว่า พรหมลิขิต แต่หลายคนก็บริหารความเสี่ยงเพื่อที่จะไม่ให้พลาดจากความสำเร็จนั้น ด้วยการพยายามที่จะรู้ล่วงหน้าและเตรียมความพร้อมไว้ก่อน แต่มันก็ไม่จริงเสมอไป ก็อีกนั่นแหละครับ เรามีอะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้อีกเยอะทีเดียว ที่เหลืออยู่เราจะตัดสินใจอย่างไร ชีวิตเป็นของเราครับ


ใครจะไปรู้ว่าความล้มเหลวในครั้งนี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับความสำเร็จที่อยู่ข้างหน้า ถ้าเราไม่ลุกขึ้นเดินหน้าต่อไป เราก็คงจะไม่สำเร็จมั๊ง แต่ที่แน่ๆ จะล้มเหลวหรือจะสำเร็จ ทุกคนก็ต้องตัดสินใจด้วยความมีสติและข้อมูลอย่างเหมาะสม นี่ความเป็นจริง แต่ถ้ามีมากเกินไปจนไม่กล้าตัดสินใจ ผลก็อาจจะออกมาในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้ เรื่องนี้ไม่มีสูตรสำเร็จเช่นกัน มันเป็นสัญชาตญาณของแต่ละคน ถ้าจะมองว่าล้มเหลวหรือสำเร็จนั้นเป็นการมองแบบเชิงสัมพัทธ์ ด้วยผลลัพธ์เดียวกันเพื่อเปรียบเทียบกับตัวเทียบเคียงสองตัวแล้ว ผลลัพธ์ก็จะออกมาแตกต่างกันเป็นล้มเหลวหรือสำเร็จ ดังนั้นผลลัพธ์ที่ออกมานั้นก็ขึ้นอยู่กับเราจะมองอย่างไร และที่สำคัญ คือ เมื่อเราให้ค่ากับผลลัพธ์ของเราแล้วว่าล้มเหลวหรือสำเร็จ เราจะตัดสินใจอย่างไร นั่นก็เป็นที่ตัวเราเองนั่นแหละครับที่ตัดสินใจชีวิตเรา ไม่ได้มีใครลิขิตให้หรอกครับ นั่นแสดงว่าเราเขียนบทให้กับชีวิตของเราเองต่างหาก ถ้าอยากจะสำเร็จ ก็สำเร็จได้ ถ้าอยากจะล้มเหลว แล้วอยากล้มเหลวต่อไป ก็ล้มเหลวต่อไปได้ ไม่มีใครห้าม แต่ถ้าจะล้มเหลว แล้วกลับมาสำร็จก็สามารถทำได้ แต่เหนื่อยนะ ยากที่จะคิดนะ ไม่ง่ายนะ อยากทำหรือเปล่าล่ะ


สุดท้ายแล้วทุกคนประสบความสำเร็จในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพราะว่าถ้าหัวใจล้มเหลว ไตล้มเหลว ปอดล้มเหลว เราก็คงจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นเราทุกคนจึงเป็นผู้ที่ประสบผลสำเร็จในการมีชีวิตอยู่ Will Smith ดาราระดับโลกที่เล่นหนังเรื่อง Hancock ให้สัมภาษณ์ในรายการ TV ว่า “เขาอยากให้ชีวิตเขานั้นมีความหมาย ถ้าชีวิตของเขาไม่สามารถทำให้ชีวิตคนอื่นๆ ดีขึ้นแล้ว เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างสูญเปล่า” ดังนั้นหลังจากที่เราประสบความสำเร็จในการมีชีวิตอยู่แล้ว เราจะทำให้การมีชีวิตอยู่นั้นมีค่ามากขึ้น ด้วยการสร้างคุณค่าให้ผู้อื่นได้อย่างไร ไม่อย่างงั้นแล้วการมีชีวิตอยู่นั้นก็สูญเปล่าอย่างที่ Will Smith ได้กล่าวไว้ เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว เราคงจะไม่มีความล้มเหลวอีกต่อไป จะมีแต่ความสำเร็จและความสำเร็จที่ยิ่งกว่าเท่านั้น จนกว่าความล้มเหลวของชีวิตที่ คือ ความตายจะมาถึง ดังนั้นเราก็จงมีชีวิตอยู่อย่างเป็นผู้มีความสำเร็จเถอะครับ

My Thoughts - ปรองดอง : ปาหี่สังคมการเมืองไทยสู่มะเร็งร้ายในสังคม

ในที่สุดกระบวนการปรองดองก็ดำเนินการมาถึงจุดหนึ่ง ผมฟังข่าวแล้วรู้สึกหดหู่เป็นอย่างยิ่ง นี่หรือ คือ เกมการเมืองที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเขาเล่นกัน ดูแล้วเหมือนเด็กเล่นขายของกันจริงๆ ยอมรับความจริงกันไม่ได้ แล้วมันจะเป็นการปรองดองกันแบบไหนกันแน่ครับ พูดกันออกมาได้อย่างไร ให้ลืมอดีตไปซะ ผมคิดอย่างนั้นไม่ได้หรอกครับ ผมว่ามันมักง่ายไปหน่อยไหมครับ? ผมไม่เคยลืมอดีต ผมขายตัวเองได้อย่างนั้นไม่ได้


ผมเองพยายามที่จะทำความเข้าใจในเชิงเหตุและผลว่า ทำไมเราต้องปรองดองกัน ที่แล้วในสังคมเรานั้นไม่น่าจะมีประเด็นปรองดองกันแบบนี้แล้วในยุคนี้ด้วย แล้วจะปรองดองกันแบบไหนกันแน่ ให้เรานึกถึงพวกเด็กเขาทะเลาะกัน แล้วมีผู้ใหญ่เข้าไปห้ามปราม แน่นอนครับผู้ใหญ่จะต้องถามหากันว่า ใครเป็นคนเริ่มก่อน และต้องสรุปให้ได้ว่าใครผิดใครถูก และอะไรเป็นบรรทัดฐานของการกระทำเหล่านั้น จะเป็นบทเรียนสอนใจกันไป จริงๆ นะเราไม่น่าจะทำอะไรชุ่ยๆ กับเด็กเหล่านั้นหรอกครับ เพราะว่าเราเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าจะมีผลประโยชน์อะไรกับเด็กเหล่านั้น เราต้องการให้เด็กๆรักกัน มีหลักการในการดำรงชีวิตร่วมกัน จะได้เจริญเติบโตกัน ช่วยเหลือพึงพากัน เป็นเพื่อน เป็นญาติพี่น้องกันไป นั่นน่าจะเป็นเวอร์ชั่นหนึ่งของการปรองดองซึ่งจะต้องมีคนผิดและคนถูก หรือเป็นผิดทั้งคู่ หรือถูกทั้งคู่ จะต้องอะไรบ้างอย่างมาอธิบายให้ได้รู้ความจริงกัน


เราทุกคนเป็น”คน”นะครับ เรามีสิทธิมนุษยชน เป็นคนไทยเหมือนกันนะครับ ไม่ใช่”ควาย”ที่ไหนนี่ครับ จะมาบอกกันว่า “ถึงตายก็บอกไม่ได้” นั่นช่างไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย ฟังแล้วผิดหวังในชีวิตมากๆ แต่ถ้าจะปรองดองแบบไม่มีคำตอบไม่มีเหตุผลไม่เป็นบรรทัดฐาน ก็ทำได้ถ้าเป็นเด็กๆ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก แต่ก็สร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับเด็กเหล่านั้นไป จนกลายมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเด็กสองคน แต่เป็นกลุ่มคนกลุ่มประชาชน ผลกระทบและผลต่อเนื่องนี้มันเสียหายต่อประเทศชาติและความน่าเชื่อถือ


ผมได้เห็นได้ฟังแล้วอับอายขายหน้าประชาคมโลกมากๆ คราวนี้ผมว่ายิ่งกว่าน้ำท่วมอีก ผมว่ามันบั่นทอนความน่าเชื่อถือจนไปถึงรากฐานของสังคมของประเทศเลยก็ว่าได้ สงสัยว่าทำไมเขามักง่ายกันนักในความคิดและคำถามและคำพูดต่างๆ แล้วคนทั่วโลกเขาจะมองสังคมไทยอย่างไร ความร่วมมือและการลงทุนและกิจกรรมกับประชาคมโลก และในอนาคตเราจะเป็น AEC ด้วย เราเพื่อนๆ บ้านเรานั้นจะคิดกับเราอย่างไร เมื่อไส้ในของเรามันเหลวไหลสิ้นดี ไม่น่าเชื่อนะครับ เกมนี้เล่นกันเหมือนเด็กๆ จริง แต่เดิมพันนั้นมีผลทางอ้อมกันในระดับโครงสร้างของสังคมไทย ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงระดับความคิดของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ไม่มีความโปร่งใส มีแต่วาระซ่อนเร้นอยู่ตลอดเวลา เล่นกับอำนาจที่มีอยู่ ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงนั้นแทบจะไม่ได้มีปากมีเสียงอะไรเลย เพราะว่าไม่มีอำนาจ เรานั้นดีแต่เปลือกจริงๆ แต่ข้างในกลวงเสียยิ่งกว่ากลวงเสียอีก


ผมตีความว่าเรื่องของการปรองดองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ต่างฝ่ายต่างไม่เล่นตามกติกา แล้วก็ไม่มีผู้ชนะ ยิ่งเล่นกันไป ต่างคนต่างก็เสียหาย ส่วนคนดูอย่างประชาชนก็รับกรรมไปตามระเบียบพัก ผมว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้นึกถึงประชาขนคนดูหรอกครับ ก็คงจะนึกถึงแต่พวกของตัวเองเป็นหลักโดยยึดผลประโยชน์ของกลุ่มของฝ่าย แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะก็จะไปเขียนกฎกติกาใหม่ให้ตัวเองนั้นได้เปรียบตลอดไป แต่เมื่อจะมาปรองดองกัน ก็ต้องมากันด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่า เล่นผิดกติกากันทั้งคู่ ถ้าจะปรองดองแล้วก็ต้องมาสร้างกติกาใหม่ ถ้าจะสร้างกติกาใหม่นั้นก็ต้องเปิดใจเปิดเผยข้อมูลในอดีตกันให้เห็นเป็นบทเรียน เพื่อผลประโยชน์ร่วมเห็นแก่ส่วนรวมเป็นหลัก แต่ถ้ายังไม่ยอมเปิดก็แสดงว่ายังไม่ยอมที่จะปรองดอง ยังมีวาระซ่อนเร้น อย่างนี้ใครจะไปยอมกันล่ะครับ แล้วดันออกมาเป็นปาหี่ออกโทรทัศน์กันไปทั่วบ้านทั่วเมือง อย่างนี้มีแต่เสียกับเสียเท่านั้น เราลืมอดีตไม่ได้หรอกครับ เราจะต้องเอาอดีตไว้เป็นบทเรียนถ้าเราล้มเหลวหรือพลาดพลั้ง เราโตมาจากอดีต เราต้องการสร้างปัจจุบันให้ดีกว่า เราจะต้องใช้ข้อมูลจากอดีต และจากปัจจุบันเราก็ต้องมองอนาคตต่อไป


สรุปแล้วเล่นกันเหมือนลูกชายผมและเพื่อนๆ เลย แพ้แล้วล้มกระดานเล่นกันไหมให้ตัวเองชนะฝ่ายเดียว อย่างนี้มันจะสนุกหรือครับ ไม่อยากจะให้คำว่ามันเป็นธรรมหรือเปล่า เพราะว่าที่ผ่านมานั้นมันดูอะไรๆ ค่อนข้างจะไม่เป็นธรรมเสียเท่าไรนัก ทั้งหมดมันขึ้นอยูกับอำนาจ แต่อำนาจที่จริงนั้นอยู่ที่ไหน ยังคงซ่อนอยู่ อำนาจนั้นมีจริงหรือไม่ แล้วเราจะใช้อำนาจนั้นมาช่วยประเทศให้รอดพ้นจากวิบากกรรมนี้ได้อย่างไร อย่าคิดว่าเป็นเรื่องหรือประเด็นการเมืองเล็กๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป เมื่อมีกติกาที่ตั้งขึ้นมาแล้ว มีคนเล่นผิดกติกา เล่นสนุกอยู่คนเดียว แล้วคนอื่นๆ ที่เล่นด้วยเขาจะยอมหรือครับ ยิ่งคนดูก็คงจะโห่ไล่เอาในที่สุด


ประเด็นคือแล้วเราจะเล่นเกมใหม่กันอย่างไร จะใช้กฎและกติกาไหนกันดี ทีมต่างประเทศเข้าจะยอมรับให้ทีมประเทศไทยไปเล่นด้วยหรือไม่ แล้วทีมต่างประเทศเขากล้าจะมาเล่นร่วมกับเราในประเทศหรือไม่ ดูฟุตบอลไทยเป็นตัวอย่าง การเมืองไทยก็ไม่แตกต่างกันเลย สังคมไทยเป็นอย่างไรก็สะท้อนให้เห็นในหลายกิจกรรมต่างๆ ในสังคม มิน่าเล่า บอลไทยไปบอลโลกไม่ได้ แล้วการเมืองไทยก็คงไม่ได้ทำให้ประเทศไปไหนได้เลย ก็คงจะทำให้ประเทศไทยสู้เขาไม่ได้สักอย่าง ถดถอยลงไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้เล่นตามเกมตามกติกานั่นเอง เราไม่ได้เคารพผลประโยชน์ของกันและกัน เราอยู่กันด้วยกิเลส ความหลงมัวเมาในลาภยศจนเกินไป เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ที่จริงแล้วมันเป็นมะเร็งร้ายของสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเหตุผลของการปฏิวัติ ถ้าเราพูดกันอย่างนี้ก็แสดงว่า การปฏิวัติเป็นเรื่องชอบธรรม ถ้าหาเหตุผลที่ทุกคนยอมรับได้ แล้วเรายอมรับได้หรือครับ แล้วประชาคมโลกเขายอมรับได้หรือครับ นี่การคอร์รับชั่นทางสังคม ผมว่าร้ายยิ่งกว่าโกงเงินเสียอีกนะครับ

My Thoughts - ความภูมิใจในอดีตหรือ? จะสู้กับความภูมิใจในวันนี้

วันนี้ 20 มี.ค. 55 ไปร่วมเป็นวิทยากรที่ Impact เมืองทองธานี ได้มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารท่านหนึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองไทย ท่านได้กล่าวถึงเพื่อนของท่านที่ไปมีครอบครัวอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ท่านเล่าให้ฟังถึงคำปรารภของเพื่อนของท่านว่า เพื่อนของท่านนั้นเป็นห่วงประเทศไทย เป็นห่วงสังคมไทย ทำไมสังคมไทยและประเทศไทยถึงเป็นเช่นนี้ แล้วผมก็นึกในใจว่า แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ ผมก็ได้คำตอบที่ยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก เอาเป็นว่า คนไทยไม่ขยันเหมือนคนมาเลย์ก็แล้วกัน คือคงจะต้องฟังไว้ครับ!


ผมเองก็มีเพื่อนเป็นคนมาเลย์เหมือนกันในสมัยที่ยังเรียนปริญญาโทและเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นก็ยังไม่คิดว่า คนมาเลย์จะสู้ไทยได้ เพราะว่าในเวลานั้นนักเรียนไทยที่เรียนปริญญาโทและเอกในแต่ละมหาวิทยาลัยในอเมริกานั้นเยอะมาก เมื่อเทียบกับนักเรียนมาเลย์ นักเรียนไทยมีมากกว่าหลายๆ เท่าตัว ดูๆ ไปแล้ว มาเลย์จะสู้กับไทยได้หรือ? ผมยังเถียงกับอาจารย์ของผมเลยว่า ไทยนั้นเหนือว่ามาเลย์แน่นอน แต่สุดท้ายผมก็ผิด ตอนนี้เขาทิ้งเราห่างกันไปหลายช่วงตัว เป็นเพราะอะไรก็คงมีคนพูดถึงเหตุผลให้ฟังมากมาย


สิ่งหนึ่งที่บั่นทอนความคิดของผมเมื่อเราพูดถึงกำลังความสามารถของเราหรือความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เมื่อหลายๆ ท่านในหลายๆ หน่วยงานพยายามที่จะนำตัวเลขทั้งหลายมาแสดงให้เห็นถึงความหายนะผสมกับบางตัวเลขที่เป็นความหวังที่เจิดจ้า แต่ก็ไม่ได้มีใครสามารถให้หนทางออกหรือทางแก้ไขได้เด่นชัดหรือครอบคลุมไปทั้งหมดได้ เราจึงต้องเดินทางกันต่อไปด้วยความคลุมเครือเหมือนคนตาปรือๆ ไม่บอด แต่ตามัวๆ เห็นไม่ชัดเจน ดวงตานั้นไม่เท่าไหร่ แต่ใจนี่สิ ไม่รู้จะไปไหน หมายความว่าไม่สามารถตัดสินใจได้ ไม่รู้ถึงหนทางข้างหน้า ขาดภาวะผู้นำ เรื่องอย่างนี้มันถูกแสดงออกมาเป็นตัวเลขต่างๆ ที่สำนักต่างๆ นำมาแถลงและให้อันดับกันทั่วไป พวกเราก็นั่งมองกันตาปรือๆ อย่างที่เห็น


เสร็จแล้วเราก็จะได้ยินเสียงลอดออกมาจากสื่อต่างๆ ว่า เราภูมิใจในความเป็นไทย เราภูมิใจในภาษาไทย ผมฟังมาตั้งแต่เด็กๆจนแก่อีกไม่กี่ปีก็จะปลดระวางอยู่แล้ว ก็ยังได้ยินอยู่เสมอ ทำไมหรือครับ ผมมีปัญหาอะไรกับความเป็นไทย อ๋อไม่หรอกครับ ยังมีความภูมิในในความเป็นไทยอยู่ครับ เพียงแต่สงสัยว่า ปัจจุบันเรามีอะไรให้ภูมิใจมากไหมครับ นอกจากพรรคภูมิใจไทยเท่านั้นที่เห็นอยู่ (บังเอิญ ชื่อมันตรง) แล้วก็ตัวเลขและอันดับต่างๆที่มันฟ้องอยู่ แล้วเราจะมามัวภูมิใจอยู่กันในเรื่องอะไรเล่าครับ ต้องรีบทำอะไรอย่างจริงจังเสียที นั่นแสดงว่าที่ผ่านมานั้น เราคงจะไม่ค่อยได้ทำอะไรอย่างจริงใจกันเลยมั๊ง


ผมมีความคิดอย่างนี้ครับ! คนเรานั้นน่ะจะภูมิใจอะไรๆก็ตาม ก็เพราะว่าเราได้ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างในปัจจุบัน เช่น ลูกไปแข่งกีฬาและชนะได้เหรียญมา เราก็จะบอกว่าเราภูมิใจในตัวลูก แต่เวลานี้เรากลับไปภูมิใจกับอดีตที่มันจบไปแล้ว แต่กลับไม่ได้พยายามทำปัจจุบันให้ดีและพัฒนาสู่อนาคตที่ดีกว่า มัวแต่บอกกันอยู่นั่นแหละว่า จงภูมิใจในความเป็นไทย (อดีต) แล้วปัจจุบันแหละ ทำอะไรกันบ้าง ผมว่ามันไม่น่าภูมิใจเท่าไหร่นัก ตอนนี้นอกจากจะแข่งกันเวียดนามแล้ว ตอนนี้เป็นไงพม่าเริ่มตื่นขึ้นมาแล้ว เป็นไงล่ะ แรงงานรอบๆ บ้านเราทุกชาติ พูดภาษาไทยเราได้ แต่คนไทยพูดภาษาพวกเขาไม่ได้เลย คราวนี้ใครได้เปรียบ สุดท้ายก็ได้ยินเสียงแว่วมาอีกว่าจงภูมิใจในความเป็นไทยอีก แล้วเราจะเอาความเป็นไทยที่มีอยู่นี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรกับไทยในปัจจุบันและอนาคต

เราจะต้องกำหนดความเป็นไทยในปัจจุบันกันใหม่ และมองไปในอนาคตเพื่อจะได้มีทิศทาง ไม่ใช่อยู่กันไปเป็นรัฐบาลๆ ไป ผลัดกันขึ้นมา แล้วประเทศก็ไม่ได้ไปไหนเสียที ไม่ใช่เมื่อผิดหวังอะไร ไม่สำเร็จอะไร ก็หันกลับไปบูชาอดีต ไปหากินกับประวัติศาสตร์ แล้วก็หลงอยู่กับมัน จนลืมว่าเราอยู่กับปัจจุบัน และถ้าสร้างปัจจุบันไม่ได้แล้ว ก็คงจะต้องรู้ตัวเองว่า ไม่มีอนาคตแน่ๆ เราศึกษาประวัติศาสตร์ไม่เป็น เราไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ดูเหมือนว่าเราแค่ใช้ประวัติศาสตร์ในการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า เพื่อประโยชน์อะไรก็ตาม ผมว่ามันไม่ใช่แนวทางที่มีประสิทธิผลเลย เราต้องใช้ประวัติศาสตร์เพื่อที่จะเข้าใจปัจจุบันเพื่อที่จะสร้างอนาคต
เราไม่ได้ป็นคนสร้างความภูมิใจในอดีต แต่เราสามารถใช้เรื่องความสำเร็จในอดีตนั้นมาเป็นเครื่องมือในการผลักดันและสร้างกำลังใจเพื่อสร้างและแก้ปัจจุบันให้ดีขึ้นและอนาคตที่ดีกว่าได้ แต่ไม่ค่อยได้เห็นทำกัน เมื่อล้มเหลวในการสร้างปัจจุบัน แน่นอนไม่ต้องพูดถึงอนาคต ไม่มีแน่ เราก็เลยเอาความภูมิใจในอดีตมาปิดปมด้อยของความล้มเหลวในปัจจุบันเสีย เราใช้อดีตไม่ถูกทางถูกเรื่อง เราไม่เคยที่จะศึกษารูปแบบหรือ Pattern ของความสำเร็จในบริบทของอดีต ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราสามารถที่จะนำ Pattern นั้นมาเป็นพื้นฐานในการดำเนินงานในปัจจุบันได้บนบริบทในปัจจุบัน แม้แต่บริบทในอนาคต


เรื่องของประเทศและสังคม คงจะไม่ใช่แค่หน้าที่ของคนทุกคนเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ของกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้นำสังคมที่จะต้องนำพาประเทศและสังคมไปสู่จุดหมายที่วางไว้และดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน แล้ววันนี้กลุ่มคนกลุ่มนั้นได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคนทั้งประเทศและสังคมนั้นได้อย่างสมควรแล้วหรือยัง ความภูมิใจในอดีตนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไรเลยเท่ากับความภูมิใจในปัจจุบันที่ทำให้เกิดความเป็นจริงในปัจจุบันที่เราสามารถอยู่รอดได้ในปัจจุบันเท่านั้น “ยิ่งใหญ่ในอดีตหรือจะเท่ากับอยู่รอดได้ในปัจจุบัน”

AEC-1 : ใครว่า AECเป็นอุปสรรค แท้จริง คือ โอกาสและโอกาส

ผมได้ยินคนพูดถึง AEC กันมากขึ้น แล้วเราก็เห็นผู้เชี่ยวชาญ AEC กันมากขึ้น ก็ขุดข้อมูลกันมาป่าวประกาศกัน ก็ดีครับจะได้ตื่นตัวกันมากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อปี่ที่แล้วที่ผมเห็นสังคมไทยตื่นตัวกันน้อยมากๆ ที่จริงแล้วผมก็เคยเขียนเรื่องราวของ AEC มาบ้างนับว่าน้อยมาก แต่ก็เป็นบทความในมุมมองของ โซ่อุปทาน หรือ Supply Chain เป็นส่วนใหญ่ เมื่อปีที่แล้วก็บรรยายและพูดถึง AEC ก็เยอะเหมือนกัน พูดกันในต่างพื้นที่กันด้วยทั่วทุกภาค ก็ได้ประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง แล้วผมก็หยุดไปพักหนึ่ง พอดีมาเห็นงานโครงการการศึกษาของ สนข (สำนักงานนโยบายการขนส่งและจราจร) ที่นำเอาประเด็นเรื่อง AEC เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบลอจิสติกส์การขนส่งของไทยเพื่อรองรับการเปิดเป็น AEC ผมก็เลยจำเป็นที่จะต้องสนใจขึ้นมาอีก ก็ไม่รู้ว่าจะมีแนวคิดกันแบบไหนมานำเสนอกันอีกบ้าง


เรื่องของ AEC เป็นเรื่องใหญ่ครับ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่เราได้ยินกัน โดยส่วนตัวผมแล้ว คิดว่าการรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเซียนครั้งนี้ มันไม่ใช่แค่ AEC แต่เพียงอย่างเดียว มันไม่ใช่แค่เป้าหมายทางเศรษฐกิจเท่านั้น ผมชักสงสัยว่าเราชักนำความเข้าใจใน AEC ไปในแนวทางที่ไม่ค่อยตรงเป้าหมายเท่าไรนัก การรวมตัวกันครั้งนี้มันเป็นการรวมตัวกันในระดับภูมิภาค (Regional Integration) ไม่ใช่เป็นสมาคมหรือกลุ่มประเทศแบบเดิมๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับที่เราเห็นๆ และได้รับรู้กัน


การจะทำอะไรก็ตามของมนุษย์เราในสังคมต้องมีความหมายหรือมีคุณค่า ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ ถ้าไม่ได้ประโยชน์แล้ว เราจะทำไปทำไมกัน ใช่ไหมครับ! ถ้าจะถามกันว่าแล้วอะไรเป็นสุดยอดปรารถนาของมนุษย์ในสังคม เงินหรือ? ความสุขหรือ? ความมั่นคงในชีวิตหรือ นิพพานหรือ ความว่างหรือ? ในมุมมองของการจัดการสาธารณะนั้น ซึ่งผมก็ไม่ได้มีความรู้อะไรมากเท่าไรเลย แต่ก็เห็นทุกๆ รัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐไหนๆก็ตามก็พยายามทำกันมาโดยตลอด ผมก็เป็นลูกค้าหรือประชาชนของรัฐบาลไทย ผมเสียภาษีให้รัฐบาลไทย ผมก็ต้องการความมั่นคงในชีวิตของความเป็นมนุษย์ของผม ซึ่งก็ดูๆ แล้วไม่ว่ารัฐไหนก็ต้องการความมั่นคงของรัฐเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองประชาชนของตนเองเพื่อให้ดำรงความเป็นรัฐหรือประเทศอยู่ได้อย่างยั่งยืน และในความเป็นรัฐก็จะต้องมีสังคมที่แข็งแรงซึ่งจะรวมไปถึงความมั่นคงของมนุษย์ในสังคมในประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นกัน


ถ้าสิ่งที่ผมมองจากความเป็นลูกค้าหรือประชาชนของรัฐแล้ว AEC ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการรวมตัวในภูมิภาค แต่ AEC จะเป็นจุดขายของการรวมตัว เพราะว่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด มีผลกระทบต่อความสุขภายนอกของประชาชนในภูมิภาคมากที่สุด แต่เราทุกคนก็ทราบดีว่ากว่าจะมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ดีได้และอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้นมีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย เหมือนกับว่ากว่าจะได้เงินมาแต่ละบาทและทำอย่างไรให้มีเงินได้อยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการใช้เงินนั้นให้มีประสิทธิภาพให้มีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงได้นั้น ทั้งหมดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีองค์ประกอบกันทั้งภายในและภายนอกอย่างเชื่อมโยงและซับซ้อน


ถ้าผมจะให้ข้อมูลกันจริงๆ แล้ว การที่เรามารวมตัวกันในของแต่ละประเทศนี้ เราไม่ได้มีแค่ AEC เท่านั้น แต่เป้าหมายสูงสุดที่สูงกว่า AEC คือ AC (Asian Community) ซึ่งภายใต้ AC นี้ ไม่ได้มีแต่ AEC (Asian Economic Community) เท่านั้น แต่ยังมี ASCC (Asian Socio-Culture Community) และ APSC (Asian Political Security Community) รวมเป็น 3 เสาหลักที่ค้ำยันให้เกิดเป็น AC ที่เข้มแข็งและยั่งยืน จะเห็นได้ว่าความเป็น AEC ที่เข้มแข็งโดยมีเป้าหมายที่จะเป็น AC นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสาใดเสาหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับบทบาทที่พึ่งพากันและกันของแต่ละเสาที่มีเป้าหมายที่จะเป็น AC ให้เราลองนึกดูว่า ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจสังคมวัฒนธรรมของคู่ค้าของเราได้แล้ว โอกาสของธุรกิจก็เกิดขึ้นได้ยาก เช่นเดียวกันกับถ้าเรามีปัญหาเรื่องความมั่นคงหรือการเมืองกับคู่ค้าของเราแล้ว การค้าระหว่างกันก็คงไม่ราบรื่น เมื่อการค้าไม่เกิด เศรษฐกิจก็ไม่ดี ย่อมมีผลต่อความมั่นคงและการเมือง แต่อาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศด้วย

การรวมตัวเป็น AEC นี้คงจะไม่ใช่การรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนเหมือนที่ผ่านมา ไม่ใช่การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์อย่างที่เราเฝ้าดูกัน แต่เป็นการหลอมรวมชีวิตของเราทุกคนในภูมิภาคนี้ไปสู่สถานะใหม่ร่วมกันอย่างที่คาดหวังกันว่า AEC น่าจะเป็นพลังใหม่ในการขับเคลื่อนความเจริญและเป็นปราการในการรับมือกระแสเศรษฐกิจโลกที่เหมือนพายุโหมถล่มทุกภูมิภาคในโลกนี้ ถ้าไม่รวมตัวกัน ก็มีแต่จะล่มสลายกันไป ถ้ารวมตัวกันแล้วน่าจะมีโอกาสมากกว่าการไม่ทำอะไรเลย แต่เราก็เห็นว่ามีคำถามตามสื่อและงานเสวนาอยู่เสมอว่า AEC นั้นเป็น โอกาสหรืออุปสรรคกันแน่? ผมว่าคนที่ตั้งคำถามอย่างนี้ เป็นคนที่ไม่ได้มีความเข้าใจพื้นฐานของ AC และ AEC เลย เพราะว่าแทนที่จะทำให้คนเข้าใจมากยิ่งขึ้น กลับทำให้คนทั่วไปนั้นมีความกลัวเกิดขึ้น เมื่อเริ่มจากความกลัวแล้ว ความคิดสร้างสรรค์นั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วในช่วงตอนต้นว่า ถ้าเราจะทำอะไรกันแล้ว มันจะต้องมีประโยชน์อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าประโยชน์เหล่านั้นจะเป็นของส่วนรวมหรือส่วนตน ใครจะได้มากน้อยหรือตามสัดส่วนอย่างไรกันบ้าง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนและความร่วมมือกระบวนการในการดำเนินงานและความสามารถของแต่ละประเทศด้วย

ถ้าจะตั้งคำถามกันแล้ว ผมว่าเราน่าจะตั้งคำถามว่า เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจาก AEC (โอกาส) และเราพร้อมที่จะสร้างโอกาสให้กับตัวเราเองหรือยัง เราจะต้องลงทุนกับตัวเองเพื่อสร้างความพร้อมและเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะการเปลี่ยนแปลงรอบๆ ตัวเองนั้นไม่ว่าจะให้ประโยชน์กับเราหรือไม่ ก็จะเป็นโอกาสของเราเสมอถ้าเราพร้อม ถึงแม้โอกาสจะมาจากภายนอก แต่ถ้าเราเองไม่พร้อมจากโอกาสนั้นก็กลายเป็นอุปสรรคได้เสมอ ทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบฟรีๆ มันต้องแลกมาด้วยการออกแรงทั้งแรงความคิดและแรงกาย รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจกันด้วย ผมอยากให้มองเป็นโอกาสมากกว่า ผมอยากให้มองกว่าอุปสรรคนั้นมาจากความไม่พร้อมของตัวเราเองในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สถานภาพใหม่หรืออนาคตใหม่ซึ่งไม่มีของฟรีในโลกนี้แน่ๆ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องเริ่มมาจากข้างในตัวเราเองเสมอ เมื่อภายในพร้อม เราก็จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่นำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีๆที่อยู่ข้างในอนาคตของเรา แต่ว่าเราต้องถามตัวเองว่า ทัศนคติพร้อมหรือไม่ ตัวเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างหน้าหรือไม่ เราพร้อมจะรับมือมันหรือไม่ เราเห็นถึงประโยชน์ของมันหรือไม่ แล้วเราเข้าใจอนาคตของเราหรือไม่ นั่นเป็นประเด็นที่ผมเป็นห่วงอยู่มาก

Education - การวิจัยกับชีวิตการทำงาน

แน่นอนครับผม ไปงาน HA ครั้งที่ 13 มาก็ต้องมีอะไรมาฝากกันเพราะว่า ผมได้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของคนในวงการโรงพยาบาลและสาธารณสุขนี้แล้ว ก็คิดว่าในวงการอื่นๆเขาก็มีเหมือนกันน่ะ แต่อาจจะไม่ได้จริงจังหรือมีแบบฟอร์มในการทำกิจกรรมเหมือนในวงการพยาบาลหรือสาธารณสุขนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นในวงการโรงพยาบาล คือ การทำ R2R (Routine to Research) หรือพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย เท่าที่เห็นๆกันมาเราใช้คำว่าวิจัยกันในหลายๆ มิติ การไปค้นหาอะไรๆ ก็ตามที่เราไม่รู้ ก็เรียกว่าวิจัย ไปเก็บข้อมูลมาได้แล้ววิเคราะห์แบบที่เคยๆ ทำมาก็เรียกว่าวิจัย จนกระทั่งการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ก็เรียกว่าวิจัย หรือแม้กระทั่งการล้มล้างทฤษฎีเก่าๆเราก็เรียกว่าวิจัย งานที่ผมเคยทำมาก็เป็นวิจัยประเภทอย่างนั้น

จนผมได้ไปอ่านบทบรรณาธิการจาก Journal of Business Logistics ที่เขียนถึงความสำคัญของการทำวิจัยที่มีคุณค่าหรือมีประโยชน์ในเชิงทฤษฎี (Theoretical Contribution) ผมอ่านดูแล้วก็ชอบมาก เพราะว่าผมเห็นงานวิจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นจะออกไปในทางประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการปฏิบัติหรือการดำเนินงาน และมองหาผู้ใช้งานวิจัยเหล่านั้นเพื่อให้ครบกระบวนการวิจัยที่กำหนดขึ้น จนเดี๋ยวนี้ผู้เสนองานวิจัยเพื่อขอรับทุนวิจัยต่างๆ จะต้องหาผู้ใช้งานวิจัยเข้ามาด้วย ผมเห็นแนวทางการแก้ปัญหาการทำวิจัยในเมืองไทยที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเรากลัวว่างานวิจัยจะขึ้นหิ้งไปหมด ผมเคยเขียนให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้วว่า นั่นไม่ใช่แนวทางในการแก้ปัญหางานวิจัยเลย ถ้าต้องการให้ผู้ใช้ประโยชน์ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ ทำไมนักวิจัยไม่ไปเสนองานตามบริษัทและองคฺ์กรต่างให้พวกเขาจ่ายเงินเพื่องานวิจัยนั้นโดยตรงเลยล่ะ องค์กรธุรกิจต่างๆ ก็จะได้ประโยชน์ตรงๆ และไม่เสียเวลาด้วย ให้เขามาเป็น Stakeholder กันเลย แล้วพวกนักวิจัยอย่างเราๆ ก็ไปขายงานวิจัยกันตรงๆ ไปเลย แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องสร้างความเข้าใจและสร้างความต้องการงานวิจัยให้เกิดขึ้นในองค์กรธุรกิจไปพร้อมๆ กันด้วย แต่ในสภาพความเป็นจริงผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยจากโครงงานที่ภาครัฐสนับสนุนนั้น พวกเขาจะนำผลงานวิจัยไปใช้อย่างเต็มที่หรือไม่? ในเมื่อพวกขาไม่ได้เป็นผู้ลงทุน แต่ก็ยังดีกว่าเราไม่ได้มีงานวิจัยอะไรเลย

ผมคิดเสมอว่า ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาในกระบวนการการคิดและกระบวนการวิจัยเสียก่อน แนวคิดการวิจัยจะต้องหลอมรวมไปกับการทำงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่จะต้องพัฒนาในเชิงองค์รวมของผู้ประกอบการทั้งหมด เพราะว่าผู้วิจัยเองจะไม่สามารถรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจได้ดีเท่ากับผู้ประกอบการเอง ผมเองกลับคิดว่าเรื่องราวงานวิจัยต่างๆ ที่ทำกับภาคอุตสาหกรรมเองนั้น ทำไมภาคอุตสาหกรรมนั้นไม่พัฒนาบุคลากรในองค์กรของตัวเองเป็นผู้ทำวิจัยเชิงประยุกต์เหล่านี้เสียเอง ประหยัดงบประมาณและเวลามากด้วย การทุ่มเงินทุนสนับสนุนให้นักวิจัยลงไปทำงานกับอุตสาหกรรมนั้น ผมไม่ค่อยเห็นด้วย งานวิจัยเหล่านั้นที่เป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ในการใช้งานน่าจะเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการหรือองค์กรต่างๆ สามารถทำเองได้ ส่วนงานวิจัยของนักวิจัยอาชีพจริงนั้นน่าจะเป็นงานวิจัยประเภทชั้นสูงขึ้นมาอีก ควรจะประเภทที่มีประโยชน์ในเชิงทฤษฎีมากกว่า

ผมคิดว่าการพัฒนางานวิจัยในเมืองไทยน่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาที่เป็นนักวิจัยเชิงทฤษฎี ภาคอุตสาหกรรมควรจะเป็นนักวิจัยเชิงประยุกต์ที่นำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ ส่วนนักวิจัยในภาคการศึกษาควรจะเป็นนักวิจัยที่พยายามคิดค้นและปรับปรุงทฤษฎีและเทนิคต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าเก่า โดยทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นผู้ที่เข้าใจงานวิจัยและเห็นจุดบกพร่องของทฤษฎีเมื่อนำไปใช้ นักวิจัยก็จะได้ข้อมูลป้อนกลับมาทำการพัฒนาทฤษฎีหรือเทคนิคที่ใหม่กว่าดีกว่าต่อไป แนวคิดในลักษณะนี้ผมเคยนำเสนอไว้แล้ว ด้วยแนวคิด 3R (Routine Research Reality) นั่นน่าจะเป็นผมมองของการวิจัยอย่างเป็นองค์รวมที่แยกงานกันทำอย่างชัดเจนแต่สอดประสานรวมกันอย่างเป็นองค์รวมโดยมีเป้าหมายร่วมกัน ผมอยากจะเสนอเรื่องนี้ให้เป็นแนวคิดใหม่สำหรับการศึกษาที่ไม่ใช่เพื่อปริญญา แต่เป็นการศึกษาเพื่อการทำงาน (Professional Knowledges) แล้วเราพร้อมหรือยังที่จะก้าวไปสู่การทำงานไปด้วย ศึกษาวิจัยไปด้วย แล้วเราจะเปลี่ยนทัศนคติที่เกี่ยวกับวิชาการหรือทฤษฎีได้หรือไม่ เราจะทำความเข้าใจใหม่ได้ไหมว่า ที่เรามีกิน มีใช้ มีเงิน สุขสบายอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เพราะวิขาการหรือทฤษฎีหรือ? จริงไหมครับ

Basic - คุณค่าเชิงลอจิสติกส์ ในงาน HA National Forumครั้งที่ 13

ผมไปอ่านบทความภาษาอังกฤษมา ได้ห็นคำว่า Logistics Values แล้วนึกถึงสไลด์คำสอนของตัวผมเองในแผ่นแรกเลยของการสอนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานทุกครั้งจะต้องมีการให้ความหมายของคำว่าคุณค่า(Value)ซึ่งผมจะแบ่งออกเป็นคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ (Logistics Value) และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ (Product Value) ซึ่งตรงคุณค่าเชิงลอจิสติกส์นี้เราพูดกันน้อยมากในภาคภาษาไทยหรือในชีวิตประจำวัน มันมีจริงๆ แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับความหมายของมัน

แต่เท่าที่เรามีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าไม่มีคุณค่าเชิงลอจิสติกส์เสียแล้ว เราก็คงจะไม่อยู่รอด ผมอธิบายง่ายๆว่าคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ คือ การที่ทำให้เราได้คุณค่าที่เราต้องการ ไม่ว่าจะผลิตภัณฑ์ที่ส่งผ่านแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของกันระหว่างคนซื้อกับคนขาย หรือการให้บริการกันระว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ดังนั้นคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ คือ การมีพร้อม (Availability) ของทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งคุณค่าที่ลูกค้าต้องการสำหรับการนำส่งไปถึงเมื่อลูกค้าเมื่อลูกค้าต้องการ ซึ่งยังหมายถึง เวลา สถานที่ จำนวน และความถูกต้องทั้งหมด ถึงแม้จะมีคุณค่าเชิงผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว แต่ไม่มีคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ที่ดี เมื่อถึงเวลาที่ลูกค้าต้องการที่จะใช้คุณค่านั้น แล้วลูกค้าไม่ได้รับคุณค่าที่ต้องการนั้น Supply ไม่ match กับ Demand ดังนั้นลอจิสติกส์ที่ดีจะต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในทันที Just in Time


กิจกรรมลอจิสติกส์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่ การเคลื่อนย้าย การจัดเก็บ การขนส่ง การกระจายสินค้า ก็เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเมื่อลูกค้าต้องการ เรื่องของการลดต้นทุนสินค้าคงคลัง การลดต้นทุนขนส่ง การลดต้นทุนการกระจายสินค้านั้นไม่ใช่ประเด็นของการจัดการลอจิสติกส์ ก็อย่างที่ผมว่านั่นล่ะครับ ลอจิสติกส์เป็นเรื่องที่ทำอย่างไรให้ลูกค้าได้สินค้าหรือคุณค่าเมื่อต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องของประสิทธิผล ส่วนเรื่องการลดต้นทุนนั้นเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของลอจิสติกส์ ถ้าจะจัดการลอจิสติกส์หรือจัดการอะไรก็ตาม เราจะต้องเน้นที่ผลหรือประสิทธิผล ไม่ใช่ประสิทธิภาพแต่เพียงอย่างเดียว เพราะว่าถ้าประสิทธิภาพดีด้วยต้นทุนที่ต่ำแต่ไม่ได้ประสิทธิผล ของหรือสินค้าไม่ได้ถึงมือลูกค้าตามที่ลูกค้าต้องการ ก็ไม่มีประโยชน์


เมื่อวานนี้ผมไปงาน HA National Forum ครั้งที่ 13 ที่ เมืองธานี แน่นอนครับ คนเยอะมากๆ และเยอะทุกวันซึ่งจัดงานกันไปถึงวันศุกร์ที่ 16 ผมได้รับข้อมูลว่า ในแต่ละวันน่าจะมีคนเข้ามาร่วมประชุมงานนี้ประมาณ 3000คน แน่นอน ครับสถานที่หรือ ห้องในการจัดงานคงจะใหญ่ไม่พอ จึงจะต้อง TV วงจรปิดไว้บริการในจุดต่างเพื่อให้การฟังสัมมนาได้ทั่วถึงคนที่ต้องการ นี่ก็เป็นลอจิสติกส์อีกกิจกรรมหนึ่งครับ ทำให้ลูกค้าหรือผู้เข้าร่วมประชุมได้เข้าถึงการสัมมนา คราวนี้สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นก็ คือ การจัดเตรียมทรัพยากรไว้รองรับคนประมาณ 3000 นั้นคงจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ทั้งที่จอดรถและสถานที่ต่างๆ เรื่องนั้นก็คงจะพออยู่ แต่พอคน 3000 คน ต้องไปกินข้าวตอนเที่ยงพร้อมกันเนี่ยสิ จะทำอย่างไร จะต้องมีกี่ร้านและกี่โต๊ะ คนจะต้องรอสั่งข้าวและกินข้าวกันอย่างไร เพราะว่ามีเวลาให้กินข้าวประมาณ1 ชั่วโมงเท่านั้น


ผมได้ไปเห็นพื้นที่ในการจัดงานนี้เป็นพื้นที่ซึ่งแจกจ่าย Lunch Box ซึ่งผมก็คิดว่าน่าจะรวมค่าใช้จ่ายเข้าไปกับการร่วมสัมมนาไปแล้ว นี่ไงครับลอจิสติกส์อาหารกลางวันสำหรับคน 3000คนที่จะต้องกินข้าวให้เสร็จตามเวลา กิจกรรมเหล่านี้ไงครับ คือ การจัดการลอจิสติกส์ ทำอย่างไรเพื่อให้สามารถให้บริการอาหารกลางวันได้ครบถ้วนตามเวลาและอย่างเหมาะสม แล้วผมก็เห็น Suppliers ในการให้บริการ Lunch Box เข้ามาแจกจ่าย อาหารกล่อง นี่ไงโซ่อุปทาน แล้วต่างคนต่างก็ไปรับประทานในสถานที่ที่จัดไว้ตามความเหมาะสม


จากเวลาที่กำจัดและจำนวนที่ถูกกำหนดมาที่เป็นข้อจำกัดทำให้การบริการอาหารกลางวันจึงออกมาในรูปแบบ Lunch Box แทน นี่แหละครับ การจัดการลอจิสติกส์ที่ผมว่า ผมเอาของเก่าที่เรารู้กันและทำกันมานานแล้วในชีวิตเรา มาเล่าให้ฟัง แต่ว่าเราอาจจะไม่รู้ว่านี่คือ การจัดการลอจิสติกส์ แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า ถ้ารู้ว่าเป็นลอจิสติกส์แล้ว จะเป็นอย่างไรต่อ จะทำอะไรให้ดีขึ้นไหม ผมตอบว่า แต่เดิมนั้น เราจัดการลอจิสติกส์แบบลูกทุ่ง แต่ก็ได้ผล เหมือนเล่นดนตรีไม่รู้โน้ต ก็ร้องได้เล่นได้ แต่ถ้ารู้โน้ตรู้เทคนิคแล้ว ผมเชื่อว่าเราเล่นได้ดีกว่าไม่รู้โน้ตอย่างแน่นอน เช่นกันครับจากกิจกรรมธรรมดาๆ ในชีวิตเรา ที่เราทำกันเพื่อความอยู่รอดทั้งในชีวิตและธุรกิจ เราก็ทำได้ดี แล้วเรียนรุ้กันไป ก็ทำได้ดีขึ้น แต่ถ้ารู้ในหลักการแล้ว เรารู้จักคิดก่อนและออกแบบไว้ก่อน ผลลัพธ์ที่ออกมา มันน่าจะดีขึ้น มีโอกาสผิดพลาดน้อยลง ความเสี่ยงก็ต่ำลงครับ ได้ประสิทธิผลมากขึ้น แล้วผลพลอยได้ต้นทุนก็ต่ำลง อย่างนี้แล้วพอจะอธิบายเรื่องลอจิสติกส์ได้กระจ่างขึ้นบ้างไหมครับ เพราะว่าผมเองก็ไม่รู้ว่า คนอ่านนั้นอยากรู้หรือไม่ แต่ผมคิดว่าผมอยากให้ทุกคนรู้แล้วจะได้นำเอาหลักคิดในเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไปประยุกต์ใช้ในงานและชีวิต

My Thought - HA 2012 : บูรณาการงานกับชีวิต

ผมได้ไปงาน HA ครั้งที่ 13 ที่เมืองทองธานี ซึ่งเคยไปงานนี้เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง ลีนในการบริการสุขภาพ ไปคราวนี้ไปขายหนังสือ ลีนในโรงพยาบาล ผมออกหนังสือใหม่ในเรื่อง ลีนในวงการแพทย์และสาธารณสุข หนังสือ ชื่อ Lean Hospital เช่นเดิมครับในงานนี้บรรยายกาศอบอวลไปด้วยพลังแห่ง ความคิดสร้างสรรค์และความรู้เป็นอย่างมาก สำหรับในสังคมการจัดการสุขภาพและสาธารณสุข ดูแล้วทัศนคติในการทำงานและ การดำรงชีวิตอยู่ผู้คนหรือในวิชาชีพนี้ ดูแตกต่างไปจากวงการหรืออาชีพอื่นๆเสียจริงๆ เลย ความกระตือรือร้นในการขวนขวายหา ความรู้นั้นมีไม่รู้จักหมดสิ้น และยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นก็ คือ ผู้ปฏิบัติวิชาชีพในสาขานี้ได้ยึดถือการวิจัยเป็นพื้นฐานในการทำงาน ที่เรียกกันว่า R2R Routine to Research ซึ่งจุดประกายให้ผมนำไปประยุกต์ให้เป็น 3R Routine-Research-Reality ในการทำงานขายความรู้ของผม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การวิจัยทั้งหมดนั้นจะต้องออกมาในลักษณะของการทำวิจัยแบบในสาขาวิชาชีพนี้ หรือไม่ก็เพราะ ความเป็นพลวัตของระบบสาธารณสุขและสภาวะแวดล้อมการทำงานได้สร้างแรงกดดันให้คนในวิชาชีพนี้จะต้องปฏิบัติตัวและปรับตัวเช่นนี้ ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวผมจะหาโอกาสในการ เขียนประเด็นเรื่องงานวิจัยต่อไป

แล้วผมก็ไปเจอหนังสือที่แนะนำการทำวิจัยเชิงคุณภาพ แน่นอนครับเขียนโดย คนอาชีพหมอ แต่งานวิจัยทั้งหมดในโลกนี้ก็ไม่ได้อยู่ในสาขาแพทย์และสาธารณสุขแต่เพียงอย่างเดียว ผมเคยอ่านหนังสือประเภทเดียวกันนี้ที่ เขียนโดย รศ.ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ เรื่อง "สนุกกับการวิจัย" ท่านเป็นวิศวกร แต่มาดูแลหน่วยงานวิจัยทั้งในเชิงสังคม และด้านเทคนิค ซึ่งก็น่าสนใจว่า มุมมองงานวิจัยในแต่ละศาสตร์สาขาวิชาชีพจะเหมือนกันและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วคนอาชีพสาขาอื่นๆ จะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “การวิจัย” แต่ความเข้าใจในประเด็นการทำวิจัยที่ โดนใจผมนั้น กลับมาจากบทบรรณธิการของ Journal of Business Logistics ที่ผมได้เขียนไว้ในบันทึกไว้เมื่อวานนี้ ในประเด็นด้านการศึกษา เรื่อง “เราจะรู้ทฤษฎีกันไปทำไม” และถ้าใครสนใจในมุมมองการวิจัยของผม ลองไปค้นในบันทึกเก่าของผมใน FB ของผมได้ ซึ่งผมเคยเขียนไว้บ้าง

ธีมหรือแนวคิดของการจัด HA ในปี้ก็ คือ เรื่องการบูรณาการงานกับชีวิต ผมเองได้รับเชิญไปพูดในประเด็นนี้มาก่อน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี่ที่แล้ว พร้อมกับผสมผสานเรื่องลีนเข้าไปด้วย จะเห็นได้ว่าแนวคิดของงาน HA จะออกไปทาง Soft Side ของระบบมากขึ้น ถ้ากลับไปดูแนวคิดของงาน HA ที่จัดมาทั้งหมด ผมต้องยอมรับว่าผมเป็นคนนอกวงการสาธารณสุข ผมไม่อยากเข้าโรงพยาบาล ผมเป็นแค่คนทำมาหากินด้วยการแปลหนังสือ แล้วดันมาแปลหนังสือโรงพยาบาลเข้า แต่ผมก็เห็นว่า งานอย่างนี้ ดีจริงๆ เป็นพลังของสังคมและวิชาชีพจริงๆ เลย ผมก็มีมุมมองในแนวคิดที่ถูกนำเสนอในงาน HA ในครั้งนี้ว่า ที่จริงแล้ว ชีวิตนั้นมีความเป็นบูรณาการในตัวอยู่แล้ว ชีวิตนั้นได้แสดงคุณลักษณะของความเป็นองค์รวม (Holistic) อยู่แล้ว ชีวิตนั้นได้บูรณาการเรื่องงานเข้าไว้ในชีวิตอยู่แล้ว ที่จริงแล้วผมมองอีกอย่างหนึ่งว่า งานเป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มให้เป็นชีวิต ชีวิตกับงานนั้นไม่เท่ากัน ชีวิตนั้นใหญ่กว่างานมาก ชีวิตไม่ใช่งาน และงานก็ไม่ใช่ชีวิต แต่ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของงานที่จะต้องถูกบูรณาการเข้ากับส่วนอื่นๆ แล้วบูรณาการเป็นชีวิต ชีวิตตรงนี้ผมไม่ได้หมายถึงชีวิตในเชิงชีววิทยาเท่านั้น แต่เป็นชีวิตในเชิงสังคมจิตวิทยา การเมืองหรือแม้แต่ในเรื่องเทคโนโลยีต่างๆด้วย ชีวิตที่เกิดมาย่อมต้องมีคุณค่าในตัวเอง เพียงแต่ว่าคุณค่าเหล่าจะเป็นความสูญเปล่าหรือไม่ ดังนั้นเมื่อเกิดมาทุกคนต้องทำงาน ต้องสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคมที่อาศัยอยู่และพึ่งพาซึ่งกันและกัน

งานจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์หรือเติมเต็ม เมื่อใดที่เราคิดว่างานนั้นไม่มีค่าขึ้นมาแล้ว ชีวิตเราเองนั้นก็ไม่สมบูรณ์ไม่ได้ถูกเติมเต็ม เราจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้งานมีคุณค่ากับชีวิต แต่ที่สุดแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้ชีวิตนี้มีแต่งาน อย่างนี้ก็เกินไป ขาดความสมดุลในชีวิต เห็นไหมครับว่า คนในวงการสาธารณสุขนี้ละเอียดอ่อนจริงๆครับ เพราะในระบบสาธาณสุขนั้นมีแต่คน แล้วก็คน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับ Soft Side จึงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งครับ เรื่องของ Lean เองก็มีประเด็นในเชิงนี้เช่นกัน แล้วผมอาจจะหาโอกาสมาเล่า ให้ฟังภายหลังครับ

ชีวิตในสังคมมนุษย์ต่างก็มองหาประโยชน์ซึ่งกันและกันเพื่อหาจุดสมดุลเพื่อที่จะอยู่รวมกันให้ได้และอยู่รอดด้วย ประโยชน์พื้นฐานก็คือ การอยู่รอดทางกายภาพทางชีววิทยา (Hard Side) และทางจิตวิทยา (Soft Side) แต่เมื่อมองโลกและมนุษย์แล้ว ผมยังมองไม่เห็นเลยว่ามนุษย์จะให้ประโยชน์อะไรกับโลกบ้าง มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่หาประโยชน์ แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น โลกเรานั้นไม่จำเป็นที่ต้องมนุษย์อยู่บนโลกนี้ก็ได้ แต่ในทางตรงกันข้ามมนุษย์นั้นต้องอาศัยอยู่บนโลกนี้ มนุษย์ขาดโลกนี้ไปไม่ได้ครับ ผมจึงคิดว่ามนุษย์เราก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ มนุษย์ไม่ได้เป็นส่วนบูรณาการ (Intrgral Part) ของโลกนี้ แล้วเราเป็นใครมาจากไหนล่ะ?

Basic - Global Logistics and Supply Chain

ผมไปเจอหนังสือที่ชื่อว่า Global Logistics : A new Direction in Supply chain Management เกิดความเป็นห่วงเรื่องความเข้าใจระหว่าง Logistics และ Supply Chain Management ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ Classic เลยทีเดียวเพราะว่าคำสองคำนี้มีความหมายและความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งเลยทีเดียว แต่เราไม่สามารถแยกความหมายของทั้งสองคำนี้ออก มาเป็นความหมายโดดๆ ได้ เพราะว่าต้องมีทั้งสองคำอยู่ด้วยกัน ทั้ง logistics and Supply Chain

เอาอย่างนี้ครับ เรื่องของ logistics นั้นเป็นเรื่องที่มีบริบทที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งคุณค่าไปให้กับผู้ที่ต้องการจะใช้คุณค่า ดังนั้นเมื่อมันเป็น Global Logistics นั่นหมายถึงบริบทหรือสิ่งแวดล้อมของการนำส่งคุณค่าจากสถานที่ซึ่งสร้างคุณค่าหนึ่ง ไปยังสถานที่ซึ่งสร้างคุณค่า อีกแห่งหนึ่ง รวมทั้งสถานที่ของผู้ที่ใช้คุณค่านั้นด้วย เมื่อมีความเป็น Global เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นหมายถึงว่า บริบทนั้น มีขอบเขตกระจายไปทั่วโลก การเดินทางข้ามโลกยากลำบากเพียงไร ผ่านด่านแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ต้องใช้เอกสารอย่างไร ต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างไร สินค้าหรือคุณค่าก็ยากลำบากเพียงนั้น การไหลของสินค้าผ่านกระบวนการต่างๆ หรือกิจกรรมลอจิสติกส์ต่างๆ ผ่านการดำเนินงานของบริษัทมากมาย ผ่านการตัดสินใจของคนในแต่ละองค์กรที่สินค้าไหลผ่าน คนเหล่านั้นแหละครับ ที่เป็นโซ่อุปทานหรือ Supply Chain ของคุณค่านั้นๆ แล้วถ้าคนเหล่านั้นอยู่กระจายกันไปทั่วโลก มีกฎระเบียบการค้าที่แตกต่างกัน เมื่อมามองให้เป็นกลุ่มคนที่สร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าไปทั่วโลก เราก็จะเรียกว่า Global Supply Chain

ดังนั้นเวลาเราได้เห็นหรือได้ยินคำว่า Logistics Perspective ผมจะหมายถึง มุมมองเชิงกายภาพที่เห็นทรัพยากรในการสร้างคุณค่านั้นไหลไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ในคุณค่านั้น ส่วน Supply Chain Perspective นั้น ผมจะหมายถึง มุมมองเชิงความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำหรือการตัดสินใจร่วมกัน ระหว่างผู้กระทำ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นการผลิตหรือการเพิ่มคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์และกิจกรรมลอจิสติกส์ ดังนั้นถ้าเราไปได้ยินหรือได้เห็นคำเหล่านี้ เราก็ ควรจะเห็นบริบทที่แตกต่างกันออกไป ในการสื่อสารและการทำความเข้าใจก็จะง่ายขึ้นอีก ให้เราแยกคำว่า Logistics และSupply Chain ออกมาเป็นตัวตั้ง แล้วจึงขยายความออกไป อย่าลืมเห็น Logistics เห็นของหรือสินค้าวัตถุดิบไหลไปหาลูกค้า เห็น Supply Chain เห็นคนในแต่ละแผนกในองค์กร เห็นแต่ละองค์กรในโซ่อุปทาน คุยกันวางแผนและตัดสินใจร่วมกันเพื่อที่จะผลิตและส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า

Education - เราจะรู้ทฤษฎีกันไปทำไม ?

ผมได้ไปอ่านบทบรรณาธิการของวารสารวิจัย Journal of Business Logistics (JBL) March 2011, 32(1) : 1-5 ซึ่งเป็นวารสารวิจัยของ CSCMP (Council of Supply Chain Management Professional) เรื่อง Making Sense Out of Chaos : Why Theory is Relevant to Supply Chain Research. CSCMP นี้เป็นองค์กรวิชาชีพด้านนักปฏิบัติ การจัดการโซ่อุปทานที่มีนักวิชาการเข้ามาร่วมด้วยอย่างแข็งขัน ซึ่งองค์กรอย่างนี้ก็ไม่ได้มีแค่ CSCMP เท่านั้น แต่ก็ยังมีองค์กรอื่นๆอีกหลายองค์กรและหลายสาขาวิชาชีพที่ทำงานประสานงานกัน ระหว่างนักปฏิบัติและนักวิชาการ

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ถูกตราหน้าว่า เป็นนักวิชาการทั้งๆที่ผมเองก็ไม่รู้แน่ว่า นักวิชาการนั้น จะต้องเป็นอย่างไรหรือปฏิบัติกันอย่างไร แต่ผมนั้นหากินกับการพูดการสอนและเขียน และแปลหนังสือและตำรา ที่มีเนื้อวิชาการ จนบ่อยครั้งนั้นผมโดนตำหนิว่า ผมพูดอะไรเป็นวิชาการเกินไป ดูมันจับต้องไม่ได้ แต่ในความรู้สึกลึกๆแล้ว ผมมีความคิดว่า การที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาทางวิชาการและทฤษฎีเลยนั้น มัวแต่จะเอาแต่สิ่งที่จับต้องได้ แต่ว่าไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งจับต้องนั้นเลย ก็เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง ยิ่งผมสอนหนังสือ มากเท่าไร ผมกลับคิดว่า ถ้าจะให้เราปฏิบัติงานให้ได้ดีนั้น เราต้องยึดถือทฤษฎีเป็นหลักในการคิดและการนำไปปฏิบัติเสมอ

แต่ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมคนเราถึงไม่ได้คิดเหมือนผม หรือผมบ้าอยู่คนเดียว พอไปอ่านเรื่องราวใน บทบรรณาธิการของวารสาร JBL เล่มนี้แล้ว ผมพบว่าพวกฝรั่งเขาก็เป็นเหมือนกันกับเราๆ เหมือนกับคนไทยเราเลยเนี่ย เขาเขียนถึงความรับรู้ หรือความเข้าใจ ที่เกี่ยวข้องกับ “ทฤษฎี” ว่าคนส่วนใหญ่นั้นเห็นทฤษฎีเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เป็นเหมือนระหัสลับที่ยากจะแปลความหมาย จึงทำให้กลายเป็นสิ่งที่เกินหรืออยู่นอกเหนือจากความสนใจและ ความเข้าใจของผู้ที่จะตัดสินใจธรรมดาๆ คนหนึ่ง เราอาจจะเคยได้ยินคนในวงการผู้ปฏิบัติมักจะบ่นถึง ผลงานวิชาการที่ไม่ติดดิน เสนอกันเอง วิจัยกันเอง แถมยังไปตีพิมพ์ในหนังสือที่ไม่ใครที่เป็นนักปฏิบัติมาอ่านกัน จนเราเรียกกันติดปากว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” เราคงจะได้ยินคำบ่นเหล่านี้ มาอยู่เสมอ จนถึงปัจจุบัน เป็นคำโต้แย้งกันไปมาระหว่างนักปฏิบัติกับกลุ่มนักวิจัยเชิงวิชาการ แม้กระทั่งคำกล่าวดังเช่น “มันก็เป็นแค่ทฤษฎี ผมไม่มีเวลากับเรื่องราวไร้สาระเช่นนี้” คำกล่าวนี้เป็นสากลนะครับ ได้ยินบ่อยนักในเมืองไทยด้วย ผมเองก็โดนสบประมาทมาด้วยตัวเองแล้ว เอกสารคำบอกเล่าในต่างประเทศ ก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน แตถ้าจะดูกันไปแล้วนี่ก็เป็นความล้มเหลวของการศึกษาด้วย ที่เราไม่สามารถทำให้คนสองแนวทางหรือสองหน้าที่ในโลกแห่ง ความเป็นจริงเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกันสามารถไว้ใจกันได้ ในการค้นหาและค้นพบความรู้ใหม่ที่สามารถสร้างประโยชน์ ให้กับส่วนตัว ธุรกิจและสังคมได้

คณะบรรณาธิการนี้จึงได้เขียนบทบรรณาธิการนี้ไว้ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบายถึงว่า “อะไรคือ ทฤษฎี” โดยแบ่งออกเป็น 3 มุมมอง คือ 1) ทฤษฎีจะหมายถึง รายละเอียดที่มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เราสังเกตุอยู่หรือสิ่งต่างๆ ถูกทำขึ้นมา ได้อย่างไร แม้ว่ารายละเอียดที่ดูมีสาระในตัวเองบ่อยครั้งจะดูด้อยกว่าการทำให้เกิดความพึงพอใจทั้งหมดและนานๆ ครั้งกว่าจะทำให้พอใจอยู่ได้ สิ่งนี่แหละครับที่ทำให้เราจำเป็นที่จะต้องรู้ให้มากขึ้น 2) การอธิบายด้วยความละเอียดในคำว่า “ทำไม” ซึ่งอยู่ภายใต้คำว่า “อะไร”และ ”อย่างไร” ที่เราเผชิญหน้าอยู่ในโลกที่อยู่รอบๆ ตัวเรา การอธิบายจะจับคู่ความสัมพันธ์ของปรากฎการณ์ของสิ่งที่เราสนใจเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจที่ดีกว่า การอธิบายจะช่วยผู้จัดการให้เข้าใจความสัมพันธ์หลักแบบเหตุและผล ซึ่งจะช่วยเขาให้เข้าใจได้ดีว่าว ถ้าเขาดึงคาน A แล้ว ผลลัพธ์ B จะออกมาหรือไม่ การอธิบายจะทำให้ผู้จัดการทั้งหลาย ได้เห็นลึกเข้าไปข้างในว่าทำไมโลกเราถึงเป็นไปอย่างที่มัน เป็นว่าจะมีศักยภาพในการที่จะคงอยู่ได้พอๆ กับในการที่จะมีอิทธิพล 3) ข้อกำหนดจะเป็นตัวบอกว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างเมื่อเราเผชิญหน้ากับสิ่งที่ท้าทายที่มีอยู่หรือกับกลุ่มของสถานการณ์รอบๆเรา และที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ข้อกำหนดที่แน่นอนนั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่เด่นชัด ซึ่งก็ คือ ทฤษฎีที่ดี (Good Theory) ถึงแม้ว่าจะมีทฤษฎีที่ดีแล้วแต่ว่าขาดความเข้าใจที่ดี ข้อกำหนดของเราก็จะมีจุดบกพร่องเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ การแก้ปัญหาอย่างไม่สมบูรณ์แบบในสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น หรือผลลัพธ์ที่ไม่ได้คาดหวังไว้ หรือ ที่มีโอกาสจะไม่เป็นผลที่ต้องการ ความเข้าใจตรงนี้ยังสามารถที่จะหมายถึงความเข้าใจในบริบทของทฤษฎีที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้
ทีมบรรณาธิการนี้พยายามที่จะอธิบายเรื่องราวและความหมายของทฤษฎีในแบบติดดินเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะชักชวนให้ทั้งนักวิจัยที่เป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและนักปฏิบัติผู้ที่ทำงานในธุรกิจและอุตสาหกรรมได้หันมาร่วม มือกันในการสร้างทฤษฎีใหม่ๆ ร่วมกันทำวิจัยที่มีผลต่อการพัฒนาทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป เขาเหล่านั้นพยายามที่จะบอกว่าพลังของการอธิบายของทฤษฎีที่ดีนั้นจะเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจที่ดี ในขณะผู้ปฏิบัติในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆก็ต้องตัดสินใจอยู่ทุกวันอยู่แล้ว เขาเหล่านั้นได้ทำการตัดสินใจในเรื่องราวต่างๆ บนพื้นฐานของทฤษฎีอะไรบ้างหรือไม่ พวกเขาเคยใช้ทฤษฎีมาช่วยทำให้เขาได้เข้าใจปรากฎการณ์หรือ ปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้นหรือไม่ วันนี้ผมมีความมั่นใจว่าถ้าเรากลับมาทำความเข้าใจในความหมายและจุดมุ่งหมายของความเป็นทฤษฎีแล้ว โลกเราและชีวิตเราจะดีขึ้น จริงหรือไม่? การแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะเป็นระบบมากขึ้น แน่ใจหรือ? ทฤษฎีไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ยากที่ มั่นใจแน่นะ? เราจะทำความเข้าใจเพื่อที่เราจะเอาทฤษฎีต่างๆ นั้นไปทำความเข้าใจกับธรรมชาติ ทำความเข้าใจกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อเราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและปํญหาที่เกิดขึ้น แนวทางปฏิบัติที่เกิดจากทฤษฎีก็จะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิผลมากขึ้น เราก็จะรู้จักและเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากน้ำมือเราเอง ซึ่งจะต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาเป็นทฤษฎีใหม่ๆ ที่สามารถเข้าใจปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

Basic – ความเป็นจริงของโซ่อุปทาน Part 2 (Reality of Supply Chain) 5V (Velocity, Variability, Vocalize, Visualize, Value)

ผมเขียนตอนที่ 1 ในเรื่องการมองโซ่อุปทานที่ไม่ใช่แค่โครงร่าง (Supply Chain Configuration) ไปแล้ว ผมก็ไปพบงานวิจัยของ W. T. Walker เรื่อง Emerging Trends in Supply Chain Architecture ที่เขียนลงในวารสารวิจัย International Journal Production Research Vol. 43 No. 16 August 2005, 3517-3528 ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดของโซ่อุปทานในลักษณะที่มีโครงร่างเป็นเครือข่าย (Network) ซึ่งทำให้เราได้เห็นความเป็นจริงของโซ่อุปทานมากกว่าการเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันเป็นขั้นๆ (Tiers) จากต้นน้ำมายังปลายน้ำ(Upstream to Downstream) อย่างที่เราได้พบเห็นกันเสมอ ผู้เขียนได้นำเสนอ 5 หลักการของเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network) คือ Velocity, Variability, Vocalize, Visualize, Value ผู้เขียนมองว่าการรวมตัวของหุ้นส่วนการค้า (Trading Partners) ในเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network) นั้นเป็นมากกกว่าการทำงานแบบส่วนตัวหรือส่วนบุคคลซึ่งจะให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแค่ดีหรือเหมาะสมเป็นจุดๆ ไป (Local Optimization) แต่ในทางตรงกันข้ามจะต้องเป็นการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ระหว่างหุ้นส่วนการค้าในเครือข่ายโซ่อุปทานเพื่อที่จะได้ผลประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะการมีเป้าหมายสุดท้ายในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าคนสุดท้ายร่วมกันซึ่งจะทำให้เกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดโดยรวม (Global Optimization) หรือได้ความเป็นองค์รวม (Holistic) ในคุณลักษณะของเครือข่าย ซึ่งก็คือ ภาพรวมทั้งหมดมากกว่าผลรวมของส่วนย่อยๆ ทั้งหมดที่มารวมกัน (The Whole is greater than sum of its parts)

จากบทความตอนที่ 1 นั้นผมพยายามจะลบภาพของความแยกส่วนของโซ่อุปทานให้กลายมาเป็นการรวมตัวกันหรือการบูรณาการส่วนต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อภาพรวมหรือองค์รวมทั้งหมดของโซ่อุปทาน เพราะว่าเมื่อใดเรานึกถึงโซ่อุปทานเราจะต้องนึกถึงความเป็นองค์รวมของเครือข่ายและหุ้นส่วนการค้าต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายนั้น จาก 3Cที่อธิบายถึงลักษณะของด้านโครงร่างของเครือข่ายโซ่อุปทานไปแล้ว ผมอยากจะอธิบายอีก 5Vที่ผมใช้หลักการจากงานวิจัยของ Walker ที่ผมได้ศึกษามา และได้นำมาอธิบายคุณสมบัติของเครือข่ายโซ่อุปทานว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรที่จะทำให้เครือข่ายโซ่อุปทานนั้นอยู่รอดได้

Velocity (ความเร็ว) เครือข่ายโซ่อุปทานที่สามารถแข่งขันได้นั้นจะต้องมีความเร็วในการจัดการการไหลของวัตถุดิบจากต้นน้ำผ่านกระบวนการการผลิตและไหลไปจนถึงมือลูกค้า เมื่อใดก็ตามที่เกิดการหยุดไหลเมื่อนั้นก็จะกลายเป็นสินค้าคงคลังไปทันที เราจะต้องทำอย่างไรที่จะทำให้หุ้นส่วนการค้าในเครือข่ายโซ่อุปทานได้ออกแบบเครือข่ายเพื่อให้เกิดการเร่งความเร็วของกระบวนการ สั่งซื้อ-ส่งมอบ-เก็บเงิน (Order-to-Delivery-to-Cash velocity) เมื่อใดก็ตามที่หุ้นส่วนการค้าในเครือข่ายโซ่อุปทานต่างคนต่างที่จะลดต้นทุนของตัวเอง เมื่อนั้นก็จะทำให้ความเร็วของเครือข่ายในการตอบสนองต่อลูกค้าลดลง เมื่อมองดูเรื่องของความเร็วของเครือข่ายแล้ว ก็ย่อมจะหมายถึงความเร็วที่เกิดจากการเชื่อมต่อ (Connect)กันทั้ง 4การไหล ซึ่งก็ คือ การไหลของคุณค่า (Logistics Flow) การไหลของสารสนเทศ (Information Flow) การไหลของการตัดสินใจ (Decision Flow) การไหลของเงิน (Financial Flow) ซึ่งปัญหาของการไหลระหว่างจุดเชื่อมต่อกันระหว่างหุ้นส่วนการค้านี้จะทำให้ความเร็วของเครือข่ายโซ่อุปทานทั้งหมดช้าลงได้

Variability (ความแปรผัน) ความไม่แน่นอนทำให้เกิดต้นทุนในการจัดการเครือข่ายเพื่อรองรับระดับการให้บริการต่อลูกค้า ในแต่ละจุดของโครงร่างของเครือข่ายโซ่อุปทานจำเป็นที่จะต้องกำจัดความแปรผันของกระบวนการด้วยการดำเนินงานที่ถูกทำให้ลดความแปรผันของกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ออกไป ยิ่งในแต่ละส่วนของโครงร่างของเครือข่ายโซ่อุปทานมีความแปรผันมากขึ้นเท่าไร การจัดการเครือข่ายก็จะมีต้นทุนในการจัดการทรัพยากรของเครือข่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ คน เครื่องจักรและสินค้าคงคลังเพื่อที่จะรักษาระดับการให้บริการต่อลูกค้าไว้ จุดต่างๆ ที่สำคัญของเครือข่าย คือ จุดต่างๆ ที่เชื่อมต่อกันระหว่างกระบวนการสร้างคุณค่าหรือการผลิต ซึ่งก็คือกระบวนการลอจิสติกส์ทั้งหลายนั่นเอง ความแปรผันในกระบวนการลอจิสติกส์จะมีผลต่อความเร็วและต้นทุนของเครือข่ายโซ่อุปทาน ความแปรผันเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้ที่ การขนส่ง ขั้นตอนการส่งผ่าน คลังสินค้า การส่งมอบสินค้า ซึ่งความแปรผันเชิงลอจิสติกส์เหล่านี้ย่อมจะมีผลต่อความแปรผันที่เกิดขึ้นกับระดับการให้บริการต่อลูกค้า นอกจากนี้แล้วความแปรผันนี้ยังหมายถึงความแปรผันของแต่ละหุ้นส่วนการค้าและระบบต่างๆ ในหุ้นส่วนการค้าและยังรวมถึงความแปรผันของกระบวนการผลิตต่างๆ ด้วย

Vocalize (ความสอดคล้อง) เห็นคำนี้แล้วนึกถึงเสียงร้องของนักร้องที่สอดคล้องไปกับการเล่นของวงดนตรี ใช่แล้วครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสร้างความสอดคล้องของอุปสงค์และอุปทาน (Matching supply with demand) เครือข่ายโซ่อุปทานที่สามารถแข่งขันได้จะต้องปรับตัวด้วยการสร้างความสอดคล้องของอุปทานและอุปสงค์ได้ในเวลาจริง (Real Time) หรือทันตามสถานการณ์ การทำให้เครือข่ายโซ่อุปทานสอดคล้องกับอุปสงค์จะเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร (Communicate) (ตามที่กล่าวไว้ใน 3C ตาม part 1) ของรูปแบบของอุปสงค์อย่างต่อเนื่อง และการทำงานร่วมกัน (Collaborate) (ตามที่กล่าวไว้ใน 3C ตาม part 1) ในตำแหน่งตามข้อจำกัดต่างๆด้านกำลังความสามารถของเครือข่าย รวมทั้งตำแหน่งของสินค้าคงคลังของเครือข่ายและตำแหน่งของการไหลของเงินสดในเครือข่าย เมื่อใดก็ตามที่หุ้นส่วนการค้าพยายามที่จะหาจุดที่เหมาะสมที่สุดของการปฏิบัติการเครือข่ายด้วยการสร้างความสอดคล้องของอุปทานให้ตรงกับอุปสงค์เพื่อที่จะมุ่งเน้นไปที่อัตราผลผลิต (Throughout) ไปสู่ลูกค้าคนสุดท้าย เมื่อนั้นเครือข่ายโซ่อุปทานจึงจะสามารถแข่งขันได้ คุณลักษณะนี้เป็นแนวคิดเดียวกันกับแนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) ซึ่งที่จริงแล้วหลักการนี้นำแนวคิดมาจาก Drum-buffer-rope จากหนังสือ Theory of Constraints และยังสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ The Goal (พาโรงงานฝ่าวิกฤติ) โดย Eli Goldratt Drum เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงข้อจำกัดของเครือข่ายที่ทำให้อัตรผลผลิตแบบ End to End ของเครือข่ายมีจำกัด ส่วน Buffer เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงเวลาสำรองที่มีอยู่ซึ่งถูกรักษาไว้รองรับอัตราผลผลิตที่มีจำกัด เพื่อที่จะทำให้มั่นใจว่าข้อจำกัดเหล่านั้นได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ Rope นั้นเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการติดต่อสื่อสารที่ถูกจำกัดไว้เท่าที่มีอยู่ จากความต้องการจากปลายน้ำไปสู่อุปทานตอนต้นน้ำซึ่งจะต้องสอดคล้องกับการปฏิบัติการเพื่อที่จะเอาชนะปรากฎการณ์แส้ม้า(Bullwhip Effect) การประยุกต์ใช้ซึ่งถูกสาธิตให้เห็นด้วย Drum-Buffer-Rope ที่ถูกนำมาใช้ในโรงงานและได้ถูกนำมาใช้ในการหาจุดที่เหมาะสมที่สุด (Optimize) ของการปฏิบัติการทั้งหมดของเครือข่ายโซ่อุปทาน ในความเห็นของผม นี่ก็เป็นหนึ่งวิธีการในการจัดการกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายโซ่อุปทาน ด้วยเป้าหมายเดียวกันในการสร้างความสอดคล้องในเครือข่ายโซ่อุปทานกับอุปสงค์ของลูกค้า เราก็ยังมีแนวทางต่างๆ ที่คล้ายๆกับวิธีการของ Drum Buffer Rope หรืออาจจะเป็นการประยุกต์ใช้อย่างผสมผสานกันก็ได้กัยวิธีการอื่นๆในการจัดการกับความสอดคล้องของอุปสงค์และอุปทานในเครือข่ายโซ่อุปทาน

Visualize (เห็นและรับรู้ได้) ประเด็นสำหรับ V ที่เป็น Visualize นี้เป็นประเด็นเดียวกับ Visibility ใน End to End Supply Chain เรื่องของ Visualize นี้ จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับ C ที่เป็น Communicate เพราะว่าสิ่งที่เราสื่อสารออกไปเป็นแค่ข้อมูล แล้วเราจะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านั้นให้ความหมายของความเป็นโซ่อุปทานในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า การที่เราจะมองเห็นและรับรู้สภาพความเป็นโซ่อุปทานได้นั้น เราไม่ได้มองเห็นแค่ข้อมูลเท่านั้น แต่เราเห็นและรับรู้ถึงสารสนเทศ (Information) ตลอดตั้งต้นชนปลายของเครือข่ายโซ่อุปทานที่บอกเราถึงสมรรถนะของโซ่อุปทาน การวัดสมรรถนะโซ่อุปทานอย่างมีระเบียบและหลักการรองรับจะเป็นหัวใจของโซ่อุปทานที่สามารถแข่งขันได้ ธุรกิจในปัจจุบันให้ความสำคัญของการวัดเชิงการเงินอย่างเดียวซึ่งไม่เพียงพอในการผลักดันสมรรถนะการปฏิบัติการเชิงการแข่งขันได้ เพราะว่ามาตรวัดเชิงการเงินจะต้องถูกรวบรวมมาเป็นขั้นๆ จากกระบวนการต่างๆ ตามขั้นตอนและช้าเกินไปในการเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเชิงปฏิบัติการ ธุรกิจเองจึงต้องนำเอาตัวชี้วัดสมรรถนะ (KPIs) สำหรับการตัดสินใจเชิงกระบวนการแบบเวลาจริงหรือแบบทันทีทันใดมาใช้ KPI ในโซ่อุปทานมีอยู่เป็นจำนวนมากและค่อนข้างจะถูกจำกัดไปตามบริบทของการทำงานแบบแยกเป็นส่วนๆ (Silos) KPI ของแผนกวิศวกรรมที่วัด Time to Market ไม่ได้อยู่ในแนวทางเดียวกับ KPI ของแผนกทรัพยากรบุคคลที่วัดต้นทุนของผลประโยชน์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในแนวทางเดียวกับ KPI ของฝ่ายจัดซื้อซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในแนวทางเดียวกันกับ KPI ของแผนกผลิตที่มีจุดมุ่งหมายสำหรับประสิทธิภาพการผลิต ดังนั้น KPI เหล่านี้จึงไม่ได้ไปในแนวทางเดียวกันกับความต้องการของลูกค้าคนสุดท้าย Visualize เป็นหลักการที่มุ่งเน้นการปฏิบัติการเครือข่ายโดยผ่านคำนิยาม การสื่อสาร และการประยุกต์ใช้งานของมาตรวัดสมรรถนะตลอดต้นชนปลาย (End to End) เพื่อจะได้เห็นภาพทั้งหมดของกำลังความสามารถของเครือข่ายและสินค้าคงคลังทึ่อยู่ในเครือข่าย มาตรวัดสมรรถนะในภาพรวมจึงเป็นการวัดแบบเวลาจริงและเป็นการวัดเชิงปฏิบัติการซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากกำแพงสี่ด้านขององค์กรของหุ้นส่วนการค้าคนใดคนหนึ่งของเครือข่ายโซ่อุปทาน มาตรวัดเหล่านี้จึงจะต้องไปในแนวทางเดียวกับยุทธศาสตร์ธุรกิจและมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าคนสุดท้าย

Value เป็น V ตัวสุดท้ายที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของเครือข่ายโซ่อุปทาน คือ คุณค่า และสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ด้วย เพราะว่าถ้าไม่มีคุณค่าเหล่านี้แล้วมนุษย์ก็คงจะอยู่ไม่ได้ คุณค่าต่างๆ ที่มนุษย์ต้องการนั้นมีอยู่หลายแบบตั้งแต่เป็นแบบที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและแบบที่มนุษย์ต้องการตามอารมณ์ของแต่ละคน สิ่งที่เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของเครือข่ายโซ่อุปทานก็ คือ คุณค่าที่มนุษย์ต้องการ ยิ่งโลกเราพัฒนาไปมากเท่าไหร่ คุณค่าที่มนุษย์ต้องการก็พัฒนาไปมากเท่านั้นและยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ในเครือข่ายโซ่อุปทานนั้นประกอบไปด้วย 4 กลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ลูกค้า เจ้าของ พนักงานและ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ เมื่อใดก็ตามที่แต่ละหุ้นส่วนการค้าในเครือข่ายโซ่อุปทานมุ่งเน้นเฉพาะไปที่การลดต้นทุนแล้ว คุณค่าเครือข่าย (Network Value) จะกลายเป็นผลประโยชน์ที่เหมาะสมเฉพาะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเฉพาะคนหรือสองคนเท่านั้น เรื่องอย่างนี้จึงกลายเป็นเรื่องเกม ชนะหรือแพ้ เมื่อแต่ละหุ้นส่วนการค้าเข้าใจความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลในท่ามกลางการออกแบบเครือข่าย บัญชีวัสดุ (Bill of Material) และการปฏิบัติการเครือข่าย คุณค่าเครือข่ายจะกลายเป็นความเหมาะสมในภาพรวมสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกๆกลุ่ม เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องของเกม ชนะ-ชนะ เครือข่ายโซ่อุปทานใช้หลักการของคุณค่าเพื่อที่จะสร้างคุณค่าสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเปลี่ยนผ่านเชิงวัฒนธรรมจากการมุ่งเน้นในการลดต้นทุนกันภายในแต่ละองค์กรอย่างแยกส่วนกัน ไปสู่การทำงานร่วมกันในเครือข่ายโซ่อุปทานเพื่อที่จะเพิ่มอัตราผลผลิต (Throughput) ให้ได้มากที่สุด จึงเป็นแนวทางใหม่ในการจัดการโซ่อุปทาน บริษัทต่างๆที่กำลังเริ่มต้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มอัตราผลผลิตให้มากที่สุดกลับได้ผลลัพธ์ที่ตามมาเป็นต้นทุนการปฏิบัติการที่ลดลงตามที่ต้องการ

มุมมองของโซ่อุปทานในยุคปัจจุบันนั้น เราจะต้องหันมามองโซ่อุปทานให้เป็นเครือข่ายโซ่อุปทาน เราจะต้องก้าวข้ามการมองแบบภายในหรือการมองแบบแยกส่วนซึ่งจะไปจบลงที่การลดต้นทุนแต่เพียงอย่างเดียว ความยืดหยุ่นและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด บทความของ Walker ที่ผมศึกษามาแล้วนำมาสรุปในบันทึกนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าการมุ่งเน้นที่ถูกทางจะต้องมุ่งไปทางภายนอกหรือการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรหรือระหว่างแผนกหรือฝ่าย นั่นก็ คือ การมีความตระหนักของความเป็นเครือข่ายทั้งภานในองค์กรและภายนอกองค์กร และยังต้องคำนึงถึงการจัดการอัตราผลผลิตด้วย สิ่งที่เป็นของสมนาคุณพิเศษก็ คือ องค์กรทั้งหลายที่แข่งขันกันด้วยแนวคิดนี้จะพบว่า ผลพลอยได้ (By-product) ก็คือ ต้นทุนที่ลดลง ดังนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ผลิตของเราเปลี่ยนวิถีการคิดและการแก้ปัญหาไปสู่แนวคิดใหม่นี้ หนึ่งในคำตอบนั้นก็ คือ การเปลี่ยนบริบทของปัญหาที่เป็นองค์กรเดี่ยวๆไปเป็นองค์กรต่างๆที่ทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายโซ่อุปทาน

ผมหวังว่าบันทึกนี้พร้อมด้วยหลักการ 3C+5V จะทำให้เรามองโซ่อุปทานอย่างมีความเข้าใจในธรรมชาติของโซ่อุปทานมากขึ้น หลักการที่ผมสรุปแล้วนำมาเสนอนี้ อาจจะไม่ใช่ Total Solutions หรือ คำตอบสุดท้าย แต่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการมองโซ่อุปทานในมิติอื่นๆที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เราเข้าใจโซ่อุปทานมากขึ้นกว่าความเข้าใจแบบเดิมๆที่เป็นไปในทางการจัดการการปฏิบัติการ (Operations Management) ที่ยังคิดกันแบบแยกส่วนหรือเป็นองค์กรเดี่ยวๆหรือกระบวนการเดี่ยวๆอยู่ ผมว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะก้าวข้ามแนวคิดแบบเดิมไปสู่แนวคิดใหม่เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นเพื่อการจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งเรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน

Future : อนาคต - ปัจจุบันที่ยังมาไม่ถึง

เมื่อเราพูดถึงอนาคต เรามักจะมองไปข้างหน้า เรามักจะฝัน เรามักจะคาดหวัง แล้วเราก็ไม่แน่ใจในอนาคต บางคนบอกว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะแน่นอนก็ได้ เพียงแต่ว่าเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นนั่นเอง ความตื่นเต้น ความเป็นมนุษย์มันก็อยู่แค่นี้จริงๆ เพราะว่าถ้าเรารู้แล้วว่าอะไรก็จะเกิดขึ้น มันคงจะไม่มีรสชาดในชีวิต แต่ก็ไม่แน่หรอกมันอาจจะทำให้เรารู้สึกดีก็ได้ เพราะเรามีความมั่นคงในการมีชีวิต การที่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรอาจจะไม่พอก็ได้ แต่ถ้าได้กำหนดอนาคตได้ด้วย นี่สิดีเสียยิ่งกว่า ดังนั้นประเด็นของเวลาจึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนเลยทีเดียว เราได้เรียนรู้กันมาว่า เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง เวลาไม่เคยคอยใคร สิ่งที่มีค่าที่สุดก็ คือ เวลาที่อยู่บนโลกนี้ มีหนังหลายเรื่อง บทประพันธ์หลายเรื่องได้ใช้เวลาเป็นตัวนำเรื่องราวของตัวละครต่างๆ ให้โลดแล่นไปตามกรอบของเวลาและเรื่องราวของเวลา แม้แต่การข้ามเวลาหรือย้อนเวลาก็ตาม

มาถึงตรงนี้ผมอยากจะพูดถึงเรื่องของอนาคต ซึ่งเป็นอนาคตของเราทุกคน ผมเห็นหนังสือในระยะหลังนี้มีหลายเล่มที่พยายามทำนายหรือเล่าเรื่องของอนาคต ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าในศตวรรษที่แล้วก็มีคนเล่าเรื่องในอนาคตซึ่งตรงบ้างไม่ตรงบ้าง บางเรื่องก็เกิดขึ้นก่อนเสียด้วยซ้ำ อนาคตนั้นสำคัญอย่างไร เราคงจะเคยได้ยินถึงนักอนาคตศาสตร์ ผู้ที่ทำนายอนาคตของโลกหรือสังคม คงจะไม่ใช่หมดดูอย่างที่พวกเราได้มีประสบการณ์กันมาบ้างไม่มากก็น้อย บางคนก็อาจจะพูดว่าที่จริงแล้วไม่มีอนาคตหรืออดีต เพราะเรามีแต่ปัจจุบันเท่านั้น สิ่งที่เรารู้สึกได้ก็ คือ ปัจจุบัน (Now) ไม่ใช่ทั้งอนาคตและอดีต ดังนั้นทำไมเราถึงไม่ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด จะไปกังวลกับอดีตที่ผ่านไปแล้วและเป็นห่วงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงกันทำไมกัน จริงๆ ครับเราทำปัจจุบันให้ดีที่สุด นั่นเป็นหนทางที่ถูกต้องแล้วครับ แต่ถ้าเรานำเอาเหตุการณ์ในอดีตมาเชื่อมโยงกับปัจจุบัน เราอาจจะเตรียมตัวสำหรับอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เราจึงต้องมองอนาคตไว้เสมอ แต่เราจะมองได้อย่างไร เราก็ต้องมองจากปัจจุบันและร่องรอยจากอดีต รูปแบบของการมองอนาคตจากอดีตผ่านปัจจุบันอาจจะใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า เพราะว่าที่จริงแล้วอนาคตข้างนั้นอยู่ในมือและมันสมองของคุณในปัจจุบันเวลานี้ เพียงแต่ว่าเราจะสร้างอนาคตจากปัจจุบันได้หรือไม่และอย่างไร เรามองอนาคตจากเวลาในปัจจุบัน เราสร้างอนาคตจากเรื่องราวและทรัพยากรในปัจจุบัน อนาคตอยู่ในกำมือเรา นั่นก็ คือ เหตุผลที่ว่า ทำไมเราจะต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุดอยู่เสมอ สิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันก็เพื่อปัจจุบันเท่านั้น แต่เราสามารถคิดและวางแผนไปในอนาคตได้ ตรงนี้แหละครับที่ทำให้เราแต่ละคนแตกต่างกันออกไป

ผมคิดว่าคนเรานั้นส่วนหนึ่งก็แตกต่างกันตรงที่ใครมองได้ไกลกว่ากันหรือแตกต่างกว่ากัน พอพูดถึงการมองไปในอนาคตนี้ ผมไม่ได้หมายถึงการมองด้วยสายตาที่เราทุกคนเห็นสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราเหมือนกัน แต่เป็นการมองด้วยสายตาที่มองไปในอนาคตนั้นจะต้องเป็นสายตาของหัวใจและปัญญาที่ต้องการจะสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าเพื่อตัวเองหรือสังคม ถ้าเราขาดการมองอนาคตด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสียแล้ว ผมก็เชื่อว่าปัจจุบันของเราหรือเขาเหล่านั้นก็จะขาดความสมบูรณ์หรือความพร้อมไป หรือจะทำให้ปัจจุบันของเขานั้นมีปัญหา ไม่เป็นปัจจุบันที่เขาต้องการ เวลาที่ใครพูดกันว่าเป็นห่วงอนาคต ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย เขาเป็นหว่งปัจจุบันของเขาเองมากกว่า เพราะว่ากว่าจะรู้สึกตัวได้ อดีตที่เราพลาดไปก็ไม่ได้หวนกลับมาอีกแล้ว ในขณะเดียวกันจะไปกังวลกับอนาคตที่ไม่มีอยู่จริงกันไปทำไม

ผมไปซื้อหนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Business at the Speed of Now. ผมชอบตรงคำว่า Now เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นตรงนี้เวลานี้ เรามีความรู้สึกและมีความต้องการในเวลานี้เช่นกัน สิ่งนี้บอกเป็นนัยถึงสถานะในเชิงลอจิสติกส์และการบริการ เพราะว่าที่สุดของธุรกิจแล้วคือ การบริการเพื่อสร้างคุณค่าที่มนุษย์ต้องการ ไม่ใช่ในอดีตและในอนาคต แต่เป็นเวลานี้ (Now) เท่านั้น เพราะฉะนั้นวันนี้เราทำอะไรไปบ้าง เราตัดสินใจอะไรไปบ้าง ก็ย่อมเป็นผลมาจากอดีตและจะมีผลไปสู่อนาคต และที่แน่ๆ ต้องมีผลในปัจจุบันกับเราทุกคน
ที่สุดแล้วเรามีชีวิตก็ต้องมีสติ สติทำให้เราย้อนรอยอดีต รู้ภาวะปัจจุบันและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เราไม่ได้รู้ทุกอย่างๆ แต่อย่างหนึ่งที่เราต้องรู้ก็ คือ รู้ตัวเอง และถ้ารู้ถึงสภาวะภายนอก รู้ถึงลูกค้า เราก็สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ หรือสิ่งที่เราไม่รู้ได้ แต่ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันไม่ได้ และจัดการกับปัจจุบันไม่ได้ ก็อาจจะทำให้ปัจจุบันของอนาคตนั้นมีปัญหาตามมาอีกและต่อเนื่องกันไปเป็นปัญหาเรื้อรังไปไม่สิ้นสุด ลืมตาขึ้นมาเถอะ มาดูปัจจุบันและอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ไม่มีจริง จะมีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นจริงเสมอ

Basic – ความเป็นจริงของโซ่อุปทาน Part 1 (Reality of Supply Chain) – 3C: Connect-Communicate-Collaborate

ผมเห็นงานวิจัยเรื่องของโซ่อุปทานต่างๆ แล้วบางครั้งก็ต้องหันมาถามตัวเองว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะมีคำว่าโซ่อุปทานกันไปทำไม จริงๆ แล้วเราจะมีคำว่าโซ่อุปทานไปทำไมกัน ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราได้ไปขุดกันมานั้น แล้วมานำเสนอว่าเป็นโซ่อุปทานนั้นเป็นสิ่งที่เราเห็นๆ กันอยู่และทำกันอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้ว แล้วอะไรล่ะทำให้เราเริ่มสนใจว่ามัน คือ โซ่อุปทานซึ่งมีอยู่แล้วเหมือนกันแต่เราไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้มีชื่อให้มันเพื่อที่จะเรียกขาน



ใช่ครับเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อพูดถึงโซ่อุปทานแล้ว เรามักจะวาดแผนภาพของโซ่อุปทานที่มีจุดตั้งต้นจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ มีผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า แล้วก็ผู้ขายจนถึงมือผู้บริโภค ใช่ครับเมื่อก่อนเราอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไหร่ แต่ว่าเห็นไหม เราก็เห็นครับ! แล้วอย่างไรต่อครับ ก็แค่นี้หรือ? ส่วนพวกฝรั่งนั้นก็เริ่มต้นกันอย่างนี้ล่ะ แถมยังเอากิจกรรมที่ทำอยู่แล้วในนาม Operations Management เข้ามาอยู่ในข่ายของการจัดการโซ่อุปทานให้พวกเรางงๆ เล่น ลองไปดูหนังสือการจัดการการดำเนินงาน (Operations Management) กับหนังสือการจัดการโซ่อุปทานและลอจสิติกส์สิครับ มันเหมือนกันเกือบหมดทุกเล่ม แค่เพิ่มบทของการจัดการโซ่อุปทานขึ้นมาอีก 2-3 บท เมื่ออ่านดูแล้วก็ยังสงสัยว่าแล้วการจัดการโซ่อุปทานนั้น คือ อะไร?กันแน่ แต่ไม่เป็นไรครับ ของไทยเราก็ตามๆ ฝรั่งไปก็แล้วกัน มันถึงได้เป็นอย่างนี้ ถ้าจะตามกันแล้วก็ต้องตามให้ถึงที่สุด ก็ตามกันว่าแล้วฝรั่งเขาพัฒนากันไปถึงไหนแล้ว
แต่ว่าเวลานี้ฝรั่งเขาไปกันถึงไหนแล้ว เรื่องของโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ของเรายังมีเอากิจกรรมพวก Operations Management เข้ามาเป็นกิจกรรมการจัดการโซ่อุปทานและลอจิสติกส์กันอยู่เลย อ่านบทความวิชาการหรือบทความวิจัยที่ทำกันเมืองไทย พอเห็นเป็นหัวข้อด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมถามผู้นำเสนอเสมอว่า ถ้าผมตัดคำว่าโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ออกไป แล้วเรายังจะอ่านบทความนี้รู้เรื่องไหม หรือบทความนี้หรืองานวิจัยนี้จะออกมาในรูปแบบใด ดูไปดูมาเมื่อตัดคำว่าโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ออกไปแล้วก็คงจะออกมาเป็นกิจกรรมใน Operations Management ทั่วๆ ไป ไม่เป็น Inventory Planning and Management ก็เป็น Warehouse, Distribution, Transportation หรือไม่ก็เป็น IT ในการจัดการ Operations Management แล้วทำไมถึงมาเรียกกันว่า การจัดการโซ่อุปทานหรือการจัดการลอจิสติกส์กันล่ะครับ มันก็เป็นอย่างนี้ล่ะครับ เป็นกันทั่วโลก



แต่เดี๋ยวนี้คนในวงการธุรกิจมีความเข้าใจในความเป็นโซ่อุปทานมากขึ้น โดยเฉพาะในวงการปฏิบัติการและงานวิจัยในระดับโลก เวลาเขาพูดถึงโซ่อุปทานนั้น เขาไม่ได้มานั่งวาดรูปโครงสร้างของโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำกันแล้ว ผมไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ทำกันแล้วนะครับ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เวลาไปนำเสนอหรือไปประยุกต์ใช้นั้น เราน่าจะทำอะไรที่ได้มากกว่าโครงร่างเบื้องต้นของโซ่อุปทานอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ความเป็นโซ่อุปทานนั้นมันเป็นมากกว่าโครงร่างของโซ่อุปทานแบบ (End to End) ที่เราได้วาดๆกันแล้วนำเสนอกันออกมา



แล้วผมก็ไปอ่านเจอการนำเสนอความเป็นโซ่อุปทานในธุรกิจระดับโลกและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาในระดับโลกพบว่าพวกเขามองความเป็นโซ่อุปทานโดยก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมๆ ออกไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังต้องมีกรอบความคิดเดิมที่เป็น Supply Chain Configuration แบบ End to End เป็นพื้นฐาน ความเป็นจริงของโซ่อุปทานนั้นเป็นมากกว่าที่จะมากำหนดว่าใครเป็นใครหรืออยู่ในตำแหน่งไหนในโซ่อุปทานไปเสียแล้ว หรือใครจะทำอะไรหรือวางแผนกันอย่างไรในโซ่อุปทาน แต่ถ้าเราจะคุยกันแค่นี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีคำว่าโซ่อุปทานออกมาใช้ในการสื่อสารกันก็ได้ ดังนั้นโซ่อุปทานจะต้องมีความหมายมากกว่ากิจกรรมที่ผมได้กล่าวมาอย่างแน่นอน



ความเป็นจริงของโซ่อุปทานหมายถึงสถานะภาพของความเป็นองค์กรเสมือน (Virtual Organization) ที่สามารถสร้างคุณค่า (Values) ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการออกมาตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ความเป็นองค์กรเสมือนนี้จึงประกอบไปด้วยองค์กรย่อยๆ หรือหน่วยงานย่อยๆ ที่เชื่อมต่อกันอย่างหลวมๆ เพื่อความยืดหยุ่น (Flexible) และการปรับตัว (Adapt) ด้วยเป้าหมายร่วมกันในการสร้างคุณค่าเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ผมก็เลยไปเห็นการนำเสนอความเป็นโซ่อุปทานของหลายๆ บริษัทที่นำมาเป็นคำที่ใช้นำเสนอความเป็นโซ่อุปทาน คือ Connect (เชื่อมต่อ) Communicate (การสื่อสาร) Collaborate (การทำงานร่วมกัน) นั้นหมายความว่า ความเป็นโซ่อุปทานนั้นถ้ามองเข้าไปในโครงร่างของโซ่อุปทาน (Supply Chain Configuration) ซึ่งเราเห็นและรับรู้ได้เป็นขั้นๆแบบ End to End เหมือนกับเราเห็นทีมฟุตบอลแล้ว เราก็เห็นแค่คนที่เป็นผู้เล่นและตำแหน่งต่างๆ ว่าใครเป็นผู้เล่นในตำแหน่งใดบ้างที่เป็นองค์ประกอบของทีมเท่านั้น แต่เรายังไม่เห็นความสามารถของความเป็นทีมเลย ดังนั้นความสามารถของทีมก็ คือ การส่งต่อบอลหรือการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้เล่น (Connect) และการสื่อสารกันระหว่างผู้เล่นและการวางแผนในระดับสูงระหว่างทีมโค้ชและผู้เล่น (Communicate) และการเล่นร่วมกันเป็นทีม(Collaborate)โดยมีการวางแผนและตัดสินใจที่มีเป้าหมายร่วมกันเป็นเป้าหมายของทีมซึ่งต้องไม่ใช่เป้าหมายของแต่ละบุคคล



เช่นเดียวกันในโซ่อุปทานในเชิงธุรกิจที่ประกอบไปด้วยองค์กรต่างๆ ตามตำแหน่งในโครงร่างโซ่อุปทานที่เวลาเรานึกภาพเป็นขั้นๆต่อกันออกไปจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (Upstream to Downstream) แต่ในความเป็นจริงของธุรกิจแล้วองค์กรธุรกิจต่างๆ ถูกเชื่อมต่อเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Network) มากกว่าความเป็นโซ่ (Chain) ที่ต่อกันเป็นขั้นๆเหมือนแบบจำลองในอุดมคติ ซึ่งที่จริงแล้วควรจะเรียกว่า Supply Network หรือ Supply Chain Network มากกว่า



ประเด็นของ Connect (เชื่อมต่อกัน) นั้นหมายถึงการเชื่อมต่อกิจกรรมต่างๆในเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network) ตั้งแต่ในระดับ Logistics Flow, Information Flow, Decision Flow และ Financial Flow การเชื่อมต่อกันของการไหลของทรัพยากรที่เป็นองค์ประกอบของการเชื่อมต่อกันระหว่างองค์กรเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเครือข่ายโซ่อุปทานที่จะทำให้เกิดเป็นคุณค่าที่ลูกค้าต้องการซึ่งเป็น Net Value หรือคุณค่าที่เกิดจากการดำเนินงานของเครือข่าย ถ้าการเชื่อมต่อเหล่านี้ขาดช่วงขาดตอนหรือมีการไหลขององค์ประกอบต่างๆ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้นคำว่า Connect (การเชื่อมต่อ) ถึงแม้ว่าจะสั้นๆ แต่มีความหมายและครอบคลุมไปทั้งโครงร่างของเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Configuration) เลยทีเดียว เปรียบเสมือนเส้นเลือด (Blood Lines) ของร่างกายคนเรา ถ้าขาดไปเราก็คงจะเสียเลือดจนสิ้นชีวิต นั่นหมายถึงว่า ถ้าเราจะมองโซ่อุปทาน เราต้องมองการเชื่อมต่อทั้ง 4 นี้เสมอ และต้องมองแบบ End to End หรือมองเป็น Process ที่จริงแล้วจะมองตรงไหนก็ได้อย่าง End to End หรืออย่าง Process Oriented สำหรับโซ่อุปทานย่อยในเครือข่ายโซ่อุปทาน หรือจะมองแค่ End to End ขององค์กรหรือ Core Business Process ขององค์กรต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายโซ่อุปทานก็ได้ แต่จะให้ดีแล้วจะต้องเอาคุณค่าของลูกค้าเป็นตัวตั้ง ดังนั้นจึงต้องมองกันทั้งโซ่อุปทานหรือทั้งกระบวนการที่สร้างคุณค่านั้นมา ขึ้นอยู่กับว่าเรากำหนดคุณค่านั้นเป็นอะไร หรืออยู่ตรงช่วงไหนของคุณค่าของโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ (Product Supply Chain)



ประเด็นของ Communicate(สื่อสาร) นั้นคงไม่ใช่แค่เรื่องของการสื่อสารข้อมูลหรือระบบ IT เท่านั้น แต่เครือข่ายโซ่อุปทานนั้นได้ถูกเชื่อมต่อสารสนเทศกันด้วยระบบ IT เป็นพื้นฐานอยู่ สิ่งที่ไหลไปบนระบบ IT ก็ คือ ข้อมูลต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินงาน (Execution) ของกระบวนการในโซ่อุปทานซึ่งประกอบไปด้วยกระบวนการผลิตและกระบวนการลอจิสติกส์ รวมทั้งผลการดำเนินงาน (Performance) ต่างๆ ที่อยู่ในรูปของ KPI ต่างๆ เพื่อที่จะให้แต่ผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วนของโซ่อุปทานไปคิดและวางแผนการตัดสินใจและส่งผ่านข้อมูลการตัดสินใจในการดำเนินการ (Execution)ลงมายังระบบการปฏิบัติการ(Operations)ของกระบวนการโซ่อุปทานที่มีกิจกรรมการผลิตและลอจิสติกส์ ถ้าระบบการสื่อสารนี้มีปัญหาหรือไม่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในการสร้างคุณค่าและสิ่งแวดล้อมของโซ่อุปทานที่มีผลต่อการดำเนินงานแล้ว โซ่อุปทานจะมีปัญหาในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้และจะมีผลต่อผลกำไรที่เกิดขึ้นด้วย



ประเด็นของ Collaborate (ทำงานร่วมกัน) นี้เป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อสมรรถนะของเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network Performance) เพราะว่าการทำงานร่วมกันนี้หมายถึงการวางแผนและตัดสินร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันในการสร้างคุณค่าของเครือข่ายโซ่อุปทาน ดังนั้นผลลัพธ์และอนาคตของการดำเนินงานในเครือข่ายโซ่อุปทานที่ประกอบไปด้วยกระบวนการผลิตและลอจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายส่งผ่านคุณค่าและเพิ่มคุณค่าจนได้คุณค่าที่ลูกค้าต้องการและถูกส่งผ่านจนถึงมือลูกค้า จึงขึ้นอยู่การทำงานร่วมกันของทุกคนในโซ่อุปทานซึ่งหมายถึงกระบวนการวางแผนและตัดสินใจร่วมกัน มองเครือข่ายโซ่อุปทานเดียวกัน ไม่ใช่มองกันแบบแยกส่วน และที่สำคัญจะต้องเห็นผลประโยชน์ของเครือข่ายโซ่อุปทานเป็นหลัก เพราะว่าถ้าเครือข่ายโซ่อุปทานไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้แล้ว สมาชิกทั้งเครือข่ายก็จะมีปัญหาตามมาอีก ดังนั้นทุกคนในเครือข่ายจะต้องทำงานร่วมกัน แค่ร่วมมือกันไม่เพียงพอแต่จะร่วมคิด ร่วมทำและร่วมรับผิดและรับชอบในผลงานของทั้งเครือข่าย เพราะว่าถ้าคุณค่าที่อยู่ในรูปของสินค้าและบริการสามารถขายได้ ทั้งเครือข่ายก็อยู่รอด แต่ถ้าขายไม่ได้ ทั้งเครือข่ายก็ไม่อยู่รอด



ผมจึงอยากจะนำเสนอมุมมองของความเป็นจริงของโซ่อุปทาน ไม่ใช่แค่โครงร่างของโซ่อุปทาน แต่ถ้าเรามองโซ่อุปทานแบบ Connect Communicate Collaborate แล้ว เราจะก้าวเข้าสู่การมองและการทำความเข้าใจโซ่อุปทานในเชิงองค์รวม (Holistic View) มากยิ่งขึ้นในอีกระดับหนึ่งที่จะทำให้เราจะก้าวข้ามความเข้าใจของโซ่อุปทานในระดับแค่โครงร่างของโซ่อุปทานไปได้ และโดยเฉพาะการยึดติดแค่ระดับกิจกกรรมลอจิสติกส์ ซึ่งจริงๆแล้วที่ทำๆ กันหรือเรียกๆ กันก็ไม่น่าจะใช่ลอจิสติกส์เสียเท่าไหร่นัก เพราะกิจกรรมเหล่านั้นจะเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ได้ก็จะต้องมีกิจกรรมการจัดการโซ่อุปทานมาก่อน ดังนั้นถ้าเรายังไม่เข้าใจการจัดการโซ่อุปทานกันเลย แล้วเราจะมาเข้าใจลอจิสติกส์ได้อย่างไร น่าแปลกมาก แต่เราก็ยังมีแค่ลอจิสติกส์กันอยู่ และถ้าเรายังพูดกันถึงว่าลอจิสติกส์เป็นหนทางรอดของการแข่งขัน และยังไม่ยอมที่จะพัฒนาความคิดตัวเองให้ไปสู่โซ่อุปทานและเครือข่ายโซ่อุปทานแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดกันอย่างไรแล้ว เพราะว่าถ้ายังดันทุรังผลักดันลอจิสติกส์กันผิดๆ อย่างนี้ ผมก็ว่าเราไม่ได้เข้าใจลอจิสติกส์เอาเสียเลย ไม่ได้ใช้ปัญญาในการพัฒนาประเทศกันเลย ทั้งที่องค์ความรู้เหล่านี้มีอยู่แหล่งข้อมูลสาธารณะแบบเปิดเผยที่ทุกคนเข้าถึงได้แบบทั้งมีค่าใช้จ่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ดูเหมือนว่าเราไม่สามารถใช้องค์ความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาความคิดของตัวเองได้ เพราะใช้แต่เครื่องมือที่มีอยู่หรือใช้เครื่องมือที่คนอื่นเข้าใช้กัน แต่ไม่ได้มีความเข้าใจในเครื่องมือและปัญหาที่ตัวเองมี ผลก็ คือ มีแต่เครื่องมือที่ล้าสมัยเสียแล้ว และปัญหาก็ไม่ได้ถูกแก้ไข แถมยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเสียอีก ผมว่าที่จริงมันเลยเวลาที่เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องโซ่อุปทานกันเสียใหม่ไปแล้ว แต่เราก็ต้องทำ ถึงแม้ว่าเราจะล้าหลังในเชิงความคิด แต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นและมองไปข้างหน้า และตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาความคิดตัวเองแล้ว เราก็คงจะล้าหลังมากกว่านี้ครับ

Education-5 : Learning Model ประสานการ ”เรียน” เพื่อที่จะ ”รู้”

ผมหายหน้าไปจาก วงการ Social Media เสียนานครับ ประมาณ 2 อาทิตย์ ไม่ได้ไปไหนหรอกครับ ไปหลบอ่านหนังสืออยู่ เพราะว่าพอดีไปเจอเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจกับตัวเองและวงการการจัดการ แล้วก็ไม่อยากจะหลุด เลยต้องลุยให้จบ อ่านให้ขาดและทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งหน่อย คือจะต้องรู้ให้ได้ ถ้าทิ้งไว้แล้วก็ไม่ได้รู้สักที แล้วก็ต้องมาเริ่มอ่านและทำความเข้าใจกันใหม่อีกที ก็สนุกดีครับสำหรับอาชีพอย่างผม ที่หลายๆ คนตีความให้ผมเป็นนักวิชาการ ด้วยน้ำเสียงที่ผมฟังแล้ว ไม่ค่อยสบายหูเท่าไหร่นัก ฟังดูแล้วว่านักวิชาการอย่างผมจะไปทำอะไรกิน หรือไม่ก็เอาแต่วิชาการ แต่ไม่ได้จัดการหรือไม่ได้เชิงธุรกิจ จะทำอะไรได้ จะทำอะไรเป็น วิชาการมันจับต้องไม่ได้


แต่คุณเองรู้ไหมว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น ธุรกิจที่เจริญเติบโตได้ทุกวันนี้ก็เพราะวิชาการและนักวิชาการ นักธุรกิจต่างๆ ที่ประสบควาสำเร็จได้ก็ต้องใช้วิชาการ ที่จริงแล้วผมพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ทนไม่ได้อีก โดนชม (ด่า)ว่าเป็นนักวิชาการ แต่เราก็ไม่ได้ว่ากัน ผมก็มีความสุขกับการทำมาหากินแบบของผม ที่หลายคนและหลายบริษัทจะต้องใช้งานและเอาวิชาการที่ผมเขียนหรือแปลเป็นหนังสือไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของพวกเขา สุดท้ายไม่ว่าพวกเขาจะเก่งเรื่องการเงิน การตลาด ไอที ไอ้พวกที่ว่ามาทั้งหมดนั้นก็มีวิชาการอยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น เพราะจะปฏิบัติให้ได้ผลนั้นจะต้องใช้วิชาการทั้งนั้น แล้วจะมาแบ่งแยกกันทำไม ทำไมถึงไม่ใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ผมอยากจะนำเสนอการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันที่จะต้องเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง คือ จะต้องเรียนคู่ไปกับการรู้ เมื่อการเรียนคือ การค้นคว้าการเก็บข้อมูลการเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วที่เป็นผลดีหรือเสียออกมาแล้ว เป็นประวัติศาสตร์ เรื่องประเภทนี้ นักวิชาการรู้ดีและทำได้ดี แต่อาจจะไม่รู้เมื่อถึงคราวจะปฏิบัติเพราะไม่ได้มีโอกาสในการปฏิบัติมากนัก ส่วนเรื่องของการรู้นั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติการการทดลองการทำจริง ทำตามที่ได้เรียนมา ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เรา “รู้”เรื่องประเภทนี้นักปฏิบัติทำได้ดี แต่อาจจะเรียนไม่เก่งหรือไม่ได้มีเวลาหรือโอกาสมากนัก ดังนั้นทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติก็จะมีดีและเสียกันคนละอย่าง ทำอย่างไรที่จะให้สองคนนี้ทำงานกันเป็นทีม หรือมีข้อดีทั้งสองอย่างในตัวคนเดียวกัน


ดังนั้น Learning Model จะต้องมีคุณสมบัติของทั้งการเรียนและการรู้อยู่ใน Model เดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยและธุรกิจอุตสาหกรรมจะต้องไม่แยกจากกันหรือต่างคนต่างอยู่กันคนละโลก จะต้องมีส่วนเชื่อมโยงหรือจะต้องทำงานร่วมกันให้ได้ เราจะต้องสร้างกระบวนการ "รู้" ให้มากขึ้นในมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันเราจะต้องสร้างกระบวนการ "เรียน" ให้มากขึ้นในธุรกิจอุตสาหกรรม หรือว่าจะทำอย่างไรให้เกิดเป็นโซ่อุปทานซึ่งกันและกันระหว่างมหาวิทยาลัยและธุรกิจอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้มีลูกค้าร่วมกัน ผมว่า Model นี้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะเห็นว่ามีการนำมาใช้อยู่แล้ว ซึ่งในมหาวิทยาลัยก็พยายามที่จะรู้ให้มากขึ้น ธุรกิจอุตสาหกรรมก็พยายามที่จะเรียนให้มากขึ้นตามองค์ความรู้ใหม่ๆ


จากข้อความที่ผมได้ประกาศผ่านทางบทความใน Facebook นี้ ก็มีคนสอบถามเข้ามาพอสมควรว่า อาจารย์กำลังคิดอะไรหรือทำอะไรอยู่ แน่นอนครับผมกำลังคิดอยู่ แต่ว่าจะทำอะไรนั้น ก็มีที่กำลังทำส่วนหนึ่งและกำลังคิดหาทางอยู่อีกส่วนหนึ่ง แน่นอนว่าแนวทางของความรู้จะต้องเป็นองค์รวมมากขึ้น อย่างน้อยมุมมองของความเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานก็ต้องเลื่อนขั้นมามองในระดับองค์กรและเป็นในระดับวิสาหกิจ (Enterprise) มากขึ้นซึ่งจะมีความเป็นองค์รวมมากขึ้นและความซับซ้อนก็จะมากขึ้นตามลำดับ การดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการเรียน และการรู้ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ทีมงานมากขึ้น ใช้คนมากขึ้น จะต้องทำงานร่วมกันไปอย่างสอดคล้องกันมากขึ้น แน่นอนว่าจะต้องเริ่มที่กลุ่มนักวิชาการ (และนักศึกษาปริญญาเอกและโท) กลุ่มที่ปรึกษา และกลุ่มผู้ฏิบัติงาน เราจะต้องมองอย่างนี้ถึงจะเป็นองค์รวมของการเรียนรู้ เพราะว่าเราจะรู้อะไรก็ตาม มันต้องเกิดจาการปฏิบัติ เกิดจากการทดลองทำ เป็นการลองผิดลองถูก แต่ก่อนจะลองผิดลองถูก ผู้ปฏิบัติก็จต้องรู้หรือมีวิชาการเบื้องต้นรองรับการปฏิบัติหรือการทดลองในเรื่องนั้นมาก่อน การลองผิดก็จะน้อยลง จะเหลือแต่ถูกมากหรือถูกน้อยเท่านั้น


ผมตั้งใจจะรวบรวมกลุ่มคนทั้งสามประเภท กลุ่มนักวิชาการ (และนักศึกษาปริญญาเอกและโท)กลุ่มที่ปรึกษา กลุ่มนักปฏิบัติให้มาอยู่ในโลกเดียวกัน ในโลกแห่งความเป็นจริง ให้มาเป็นทีมเดียวกัน ต่างคน ต่างทำงาน แต่ภายใต้เป้าหมายและทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน บนผลประโยชน์เดียวกัน ทุกคนก็จะเป็นนักวิชาการได้อย่างเต็มที่ เป็นที่ปรึกษาได้อย่างใจหวังและเป็นนักปฏิบัติที่หวังผลได้ ต่างคนต่างก็เต็มที่กับสิ่งที่ตนเองถนัด ไม่มีการมาโต้เถียงกันว่าใครจะเก่งกว่ากัน ใครจะถูกกว่ากัน ไม่มีการท้าทายกัน “ไม่อย่างนั้นก็ลองมาทำดูสิ” เราอาจจะมีคนๆหนึ่งที่มีลักษณะทั้ง 3 ประเภท แต่ไม่โดดเด่นอะไรสักอย่างเลย แต่ถ้ามีคน 3 คน เป็นคนละประเภทที่ต้องการ แต่ถ้าทั้งสามคนไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการแล้วก็คงไม่มีประโยชน์ เช่นกัน นี่คือ โซ่อุปทานของการจัดการความรู้สู่การปฏิบัติสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบัน เราจะยกมหาวิทยาลัยไปไว้ในธุรกิจอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันเราก็ยกธุรกิจอุตสาหกรรมมาไว้ในมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายเราก็จะเข้าใจบทบาทของธุรกิจอุตสาหกรรมที่จะต้องสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าด้วย


ผมคงจะต้องสร้างองค์กรอะไรสักอย่างที่จะมาทำหน้าที่เป็นสะพานหรือสื่อกลางในการบูรณาการคนเหล่านี้ให้รวมเป็นเนื้อเดียวกันบนพื้นฐานที่เป็นผลประโยชน์เดียวกัน ผมไม่ได้ทำเพื่อการกุศล นี่เป็นธุรกิจล้วนๆ ผมไม่ได้ทำด้วยใจรัก หรืออยากจะทำเพื่อส่วนรวมมากนักหรอกครับ เพราะถ้าคิดอย่างนั้นแล้ว มักจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ มันเป็นความจริงที่ว่าทุกคนต้องกินต้องใช้ ต้องอยู่ดี ดังนั้นธุรกิจจะต้องมาก่อน แต่ธุรกิจและสังคมส่วนรวมจะต้องอยู่อย่างสมดุลและอยู่อย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าผมจะใช้ธุรกิจเป็นตัวนำหรือเป็นแนวคิด แต่ธุรกิจที่ผมว่าไปนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำกำไรสูงสุดมาก่อน หรือผลตอบแทนต่างๆ นั้นจะต้องออกมาเป็นเงินทั้งหมด ผมคงจะไม่ได้คิดเช่นนั้น ผมจะมองทุกคนและทุกส่วนเป็น Stakeholders ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ละคนก็มีคุณค่าและเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป ตรงนี้แหละครับที่เราจะต้องมาวางวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Shared Vision) มาเข้าใจกันเสียก่อน ไม่อย่างนั้นความเข้าใจร่วมกันคงจะไม่เกิดขึ้น พลังแห่งการรวมตัวกันก็จะอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตนที่แต่ละคนคาดหวังโดยไม่ได้ดูที่เป้าหมายร่วมกัน


ฟังดูไปแล้ว มันเป็นเหมือนฝัน แต่ฝันหลายฝันก็เป็นจริงมาได้ ถ้าเราเข้าใจเป้าหมายและร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้น มันจะเป็นเหมือนสังคมเล็กๆที่ถูกผลักดันด้วยพลังความคิดที่พยายามจะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคมหรือโลกที่เราอยู่ การคิดและการเรียนรู้ก็จะเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองดูนะครับ ถ้าสนใจก็แวะมาคุยกับผมได้นะครับ เผื่อว่าเราจะได้ร่วมงานกัน ทั้งกลุ่มนักวิชาการ (และนักศึกษาปริญญาเอกและโท) กลุ่มที่ปรึกษา กลุ่มนักปฏิบัติ ยินดีต้อนรับนะครับ

Education อ.วิทยา ประกาศ สร้าง Dream Team สำหรับ Learning Model

หลังจากที่ผมได้ Post Facebook เพื่อหาทีมงานที่มีพลังความคิดและรักอิสระ แต่มีความเสี่ยงหน่อย ผมหมายถึงความเป็นผู้ประกอบการน่ะ มาร่วมงาน Consultant และงานวิจัย ต่างๆ รวมทั้งงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกและโทร่วมด้วย ปรากฏว่ามีผู้ที่สนใจตอบกลับมาอยู่หลายท่าน ผมได้คุยกันเป็นส่วนตัวสองท่าน คุยทางโทรศัพท์หนึ่งท่านผมว่า หลายท่านอ่านแล้วอาจจะยังไม่เข้าใจว่าว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ แต่ที่แน่ๆหลายคนที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) อยู่น่าจะโดนใจมากที่สุด เพราะว่ากำลังงงและสับสนว่าไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี นั่นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยในระดับบัณฑิตศึกษา วันนี้ผมก็เลยให้คำปรึกษาเบื้องต้น ในฐานะที่ปรึกษาอิสระว่า การทำ Thesis คือ อะไร แนวคิดควรจะเป็นอย่างไร ควรจะตั้งเป้าหมายอย่างไร และควรจะจัดการกับตัวอย่างและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร


ผมเองไม่ได้ต้องการจะเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก ผมเองไม่ได้สังกัดในหลักสูตรใดๆ ทั้งสิ้น ในช่วงแรกๆ ในวิชาชีพของการเป็นอาจารย์นั้น ผมก็อยากจะเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาโทและเอก โดยเฉพาะปริญญาเอก แต่ผมเห็นระบบการเรียนการสอนของบ้านเราแล้ว ผมว่ามันไม่ใช่ ไม่ใช่เลยจริงๆ แต่ผมก็ไม่ได้ทวนกระแสนะครับ ก็ปล่อยไปตามกระแสและตามกำลังที่ผมมีอยู่ เขาเชิญไปเป็นกรรมการสอบก็ไป ผมก็ว่าไปตามกระบวนการ แต่ในใจนั้นผมว่าไม่ใช่แน่นอน ให้มันเป็นไปตามกลไกตลาด ผมว่ามันเป็นกลไกปีศาจน่ะ


จนผมได้มาเจอทีมงานของผมทั้ง Full Time และ Partnership ที่สถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน ผมกลับมี Model ใหม่ที่ผมไม่ต้องเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้ใครให้ยุ่งยากอีกต่อไป ทีมงานรอบๆ ข้างผมเกือบทั้งหมดกำลังเตรียมตัวเรียนปริญญาเอกด้วยกำลังความคิดและความสามารถที่พวกเขากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาจะเรียนที่ไหนก็ได้ มีใครเป็น Advisors ก็ได้ ทำเรื่องอะไรก็ได้ ผมเองไม่เกี่ยวกับเรื่องของหลักสูตรและปริญญา แต่ผมจะเป็นพี่เลี้ยงและคอยให้คำปรึกษาและฝึกฝนความคิดในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการทำวิทยานิพนธ์ของพวกเขาเหล่านั้น รวมทั้งในการทำงานด้วย พวกเขาจะได้เรียนรู้กระบวนการจากการทำงานร่วมกับผม ได้เรียนรู้วิธีคิด ได้เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ พร้อมกับใช้งานจริงในธุรกิจจริง Project จริง แล้วจึงนำประสบการณ์เหล่านั้นไปทำเป็นวิทยานิพนธ์เพื่อให้ได้ปริญญาที่เขาต้องการ แถมตอนทำงานยังได้เงินแบบมืออาชีพอีกด้วย ถ้าคุณเป็นมืออาชีพจริง


แต่ก่อนอื่นคุณก็ต้องกลับไปถามตัวเองก่อนว่า คุณอยากเรียนทั้งปริญญาโทและเอกไปเพื่ออะไร ถ้าแค่อยากมีไว้เป็นเกียรติกับตัวเองและวงศ์ตระกูลหรือเอาไว้เข้าสังคม คุณก็ไม่ต้องอ่านต่อ และไม่ต้องคิดอะไรมาก หลักสูตรเขาให้ทำอะไรก็ทำไป อย่าไปเถียงเขา เดี๋ยวไม่จบ จะเสียเงินและเวลาไปเปล่าๆ ค่อยรอให้จบแล้วถ่ายรูปรับปริญญาและฉลองกันให้เสร็จเสียก่อน แล้วค่อยกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เป็นทาสความคิดคนอื่นๆไปเรื่อย ก็เป็นชีวิตที่ดีเหมือนกัน แต่ก็ไม่จริงนะหลายคนอาจจะได้เจออะไรหรือถอดระหัสความคิดในชีวิตได้ ซึ่งอาจจะได้ดีกว่าผมอีก ก็เป็นไปได้นะ แต่จะมีสักกี่คนล่ะ


ที่จริงแล้วผมต้องการผู้ร่วมงานที่เป็นนักวิจัย ที่ปรึกษา มาร่วมกันทำงานอย่างเป็น Synergy ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนปริญญาเอกก็ได้นะครับ มาเป็น Management Consultant ที่มีความเข้าใจในเชิงองค์รวม (Holistic Thinking) แต่ถ้ามีอาชีพอย่างนี้ในเมืองไทยแล้ว คนอื่นๆ เขามองหัวจรดเท้า เราก็เลยจะต้องเอาปริญญาเอกมาข่มกัน มาเป็นเกราะป้องกันตัวเอง จนเราเห็นปริญญาเอกกันเต็มบ้านเต็มเมือง แต่คุยกันเท่าไหร่ก็ยังไม่ค่อยเห็นความเป็นปริญญาเอกกัน ทั้งๆที่การเรียนและการทำงานนั้นสามารถไปด้วยกันได้และสร้างประโยชน์ด้วยกันได้ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นคนละโลกกันเลย การเรียนเหมือนเล่นละครกันใครแสดงดีก็ได้ไป ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริงก็ไม่ได้คิดจะใช้ประโยชน์จากากรศึกษา ซึ่งที่จริงแล้วบริษัทใหญ่ในโลก เขาใช้ประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายเพื่อบรรลุผลทางธุรกิจ ซึ่งก็ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย


ประเด็นผมก็คือ ผมมีอะไรดีก็จะเอามาแบ่งปันกัน คุณมีอะไรดีก็มาเล่าสู่กันฟัง ผมไม่ค่อยกั๊กหรอก เพราะว่าผมหาความรู้ใหม่ สร้างความรู้ขึ้นมาใหม่ได้ ผมสอนให้กับทุกคนได้ ผมยินดีถ่ายทอดทุกอย่างที่ผมรู้ให้กับ Partners อย่างพวกคุณ ผมถ่ายทอดให้ไปแล้ว พรุ่งนี้ผมก็รู้มากขึ้น ทุกครั้งที่ผมถ่ายทอด พรุ่งนี้ผมก็หาใหม่ได้แล้ว ส่วนพวกที่ชอบกั๊ก ก็เป็นพวกที่เรียนรู้ไม่เป็น ชอบเก็บไว้เยอะแล้วก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่เข้าใจ เปลืองเนื้อที่เก็บความรู้ (ที่จริงไม่รู้) สู้ทำใจให้กว้างแล้วเปลี่ยน Mindset เสียใหม่มาร่วมกันสร้างองค์ความรู้ใหม่ Best Practices ใหม่กันดีกว่าไหม ถ่ายทอดความรู้นั้นออกไปให้มันเป็นธุรกิจแห่งความรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่ธุรกิจวิชาการแบบเดิมที่เราเรียนๆ กันอยู่ทุกวันนี้ มายุคนี้กระบวนการและความคิดจะต้องเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ต้องให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง จะต้องเลิกคิดแบบเชิงเส้น แต่จะต้องคิดแบบไม่เป็นเชิงเส้น ตรงนี้แหละครับ ความคิดนี้แหละจะเป็นจุดเปลี่ยนของแห่งการจัดการในปัจจุบันและอนาคต
ผมจึงอยากจะได้ผู้ที่มีแนวคิดตรงกันมากร่วมกันสร้าง Project ในเชิง Management Consultant ด้วยองค์ความรู้ใหม่ Complexity Management, System Theory ฯลฯ อีกมากมาย ลองมาคุยกันสิครับ....

Education-4 Learning Model สำหรับการ Synergy ระหว่างวิชาการและการปฏิบัติ

หลายๆ คน เมื่อได้มีโอกาสอ่าน Facebook จากบันทึกของผมเมื่อวานนี้แล้ว อาจจะสงสัยว่า ผมกำลังจะทำอะไร? แน่นอนอยู่แล้วครับ ผมมีอะไรอยากจะทำอยู่มากพอสมควร พอมายืนอยู่ตรงนี้คนเดียวจริงๆ ไม่มีภาระผูกพันใดๆ ผมก็น่าจะมีความกล้าหาญที่จะคิดอะไรๆ ออกมาดูบ้าง ผมได้เคยเขียนบทความ Education บทแรกๆ เลยที่มีชื่อว่า “เราเรียนหนังสือไปกันทำไม” จนมาถึงวันนี้ผมก็ยังยืนยันว่า ถ้าเราเรียนกันไปแบบนี้ก็เปล่าประโยชน์ทางการศึกษาจริงๆ แต่ได้ประโยชน์กันเรื่องทางสังคมอื่นๆ การศึกษากลายเป็นธุรกิจให้คนอื่นๆมีงานทำและมีเงินใช้ มีอาชีพ มีสังคมและคนนับน่าถือตา อาจารย์ทั้งหลายมีงานสอน แต่ผมก็ไม่ได้มีความมั่นใจเลยว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนเรามีความรู้มากขึ้นเลย หรือผมอาจจะมองว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเนี่ยนะ ไม้ได้สร้างคนให้มีความรู้เลย แถมยังสร้างให้คนเรียนรู้ไม่เป็นอีกด้วย เห็นแล้วน่าปวดใจเป็นอย่างยิ่ง


ยิ่งอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องการเรียน เรามักจะนึกถึงโรงเรียน เราจะนึกถึงการศึกษา และคิดว่านั่นไม่ใช่วิชาชีพ เออ! ทำไมถึงคิดกันอย่างนั้นล่ะครับ หรือคนในวงการศึกษาไม่ได้ทำตัวให้เหมือนคนในชีวิตจริง และชีวิตคนในการศึกษาไม่ใช่ชีวิตหรือครับ แต่เรื่องนี้เราโทษคนในชีวิตจริงไม่ได้หรอกครับ อาจจะเป็นเพราะว่าคนในวงการศึกษานั้นได้ทำตัวของเขาเองให้เป็นอย่างนั้น หมายความว่า อยู่กันคนละโลกกัน การศึกษามีไว้เพื่อเอาปริญญาเท่านั้น เป็นเกียรติยศและใบผ่านงานเท่านั้น เราคิดกันอย่างนั้นหรือเปล่า หรือมหาวิทยาลัยทั้งหลายก็คิดอย่างนี้เหมือนกับนักศึกษาทั่วไป เพราะว่าคนเราทั่วไปแยกการศึกษากับชีวิตจริงหรือวิชาชีพออกจากกัน จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากการศึกษาในชีวิตจริงนั้นไม่ได้เต็มที่ ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแค่สถานที่ผลิตบัณฑิตที่มีแต่ใบปริญญา แต่ไม่ได้เป็นมืออาชีพ มีหลายมหาวิทยาลัยพยายามจะอ้างว่าเป็นแหล่งผลิตมืออาชีพ แต่ผมก็ไม่ได้เห็นกระบวนการที่เป็นมืออาชีพในกระบวนการเรียนและการสอน ผมก็เลยสงสัยว่าผู้บริหารการศึกษาเหล่านั้นเข้าใจคำว่ามืออาชีพหรือไม่ ดูเหมือนว่าท่านเหล่านั้นจะพยายามจะเอาคนที่ทำงานอยู่เป็นมืออาชีพมาสอนร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แล้วก็อ้างว่า นี่เป็นหลักสูตรมืออาชีพ มหาวิทยาลัยของเราหรือโรงเรียนของเราสร้างมืออาชีพ


ผมว่าไม่มีมหาวิทยาลัยไหนหรือโรงเรียนไหนสร้างมืออาชีพออกมาได้หรอกครับ อ้าวคนที่เพิ่งจะเรียนจบยังทำงานไม่ได้นานจะเป็นมืออาชีพในวงการได้อย่างไร แต่มหาวิทยาลัยจะต้องปลูกฝังความเป็นมืออาชีพให้กับนักศึกษาของตนเอง ผมคิดว่าหนึ่งในคุณลักษณะของความเป็นมืออาชีพก็ คือ รู้จักกระบวนการเรียนรู้ และเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คุณลักษณะนี้สำคัญที่สุดในความเป็นมืออาชีพ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาของตนเองแล้ว เมื่อจบออกไป ถึงแม้ว่าจะไปอยู่ในวงการต่างๆ และมีคนเรียกว่ามืออาชีพก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้จักที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว ความเป็นมืออาชีพก็ลดน้อยถอยลงไป เพราะว่าสังคมในยุคนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้ ถ้าใครอยากจะรู้อะไร แล้วถ้าเรียนรู้ไม่ทัน เรียนรู้เองไม่ได้ ยังต้องมีคนคอยรู้คอยบอกกล่าวอยู่ตลอดเวลา คนเหล่านั้นก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป เพราะว่าเอาตัวรอดไม่ได้

Learning Model ที่ผมพูดถึงนี้ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย ผมมองนอกกรอบออกมาถึงในสถานที่ประกอบการธุรกิจ โรงงานต่างๆ บริษัทหรือองค์กร ที่ต้องการกระบวนการเรียนรู้อย่างเข้มข้น มีอะไรหลายอย่างให้เรียนรู้ มีปัญหามากมายให้แก้ไข แต่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือโรงเรียนต่างๆ ไม่สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ตรงกับความต้องการ หันหน้ากลับไปที่มหาวิทยาลัย ก็มัวแต่สอนตามหนังสือไปวันๆ อาจารย์เองก็ไม่กล้าที่จะลงมาคลุกคลีกับปัญหาจริงๆ เผื่อว่าจะได้เอาไปสอนเด็กๆ ให้เป็นมืออาชีพบ้าง สรุปแล้วตัวอาจารย์เองนั่นแหละครับไม่ได้เป็นมืออาชีพในวิชาชีพอาจารย์เลย อาจารย์เองก็ยังเรียนรู้ไม่เป็นเลย เนื้อหาวิชาการที่สอนๆ กันอยู่ก็ไม่สามารถนำไปใช้ไปปัญหาในทางธุรกิจที่เกิดขึ้นได้ เพราะเนื้อหาที่สอนอยู่ก็เป็นแค่เรื่องพื้นฐาน ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานก็ตาม อาจารย์เองก็ยังล้มเหลวในการนำเอาเรื่องราวพื้นฐานเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงหรือในธุรกิจจริง


แบบจำลองของการเรียนรู้ (Learning Model) ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนเลยครับ เพียงแต่เราจะต้องประยุกต์ Learning Model ให้เข้ากับชีวิตประจำวันของเราและชีวิตการทำงานของเรา ทุกอย่างที่เรียนมาจะต้องประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะเรียนกันไปทำไม? ใช่ไหมครับ? นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่เราทำงานอะไรในชีวิตเรา จะต้องมีการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาและเอาตัวรอด ตรงนี้ไงครับที่ Learning Model เข้ามามีบทบาท วิชาการเข้ามามีบทบาท แต่ในปัจจุบันนี้องค์กรหรือบริษัทใหญ่ทั้งหลายกันก็มีความตื่นตัวกันในเรื่องการเรียนรู้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์กรให้เป็น Learning Organization มีการทำกิจกรรม Knowledge Management ต่างๆ ซึ่งก็เป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาองค์กร แล้วบทบาทของมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ได้พัฒนาไปอย่างไรแล้วบ้าง มหาวิทยาลัยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ได้ความรู้ ไม่ใช่ความรู้สำเร็จรูปที่สอนๆ กันอยู่
ผมจึงคิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนั้นได้ เพราะว่ามัวแต่พยายามหาจำนวนนักศึกษาให้ได้ตามเป้าเพื่อที่จะได้มีรายได้เข้ามา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นลักษณะโดยทั่วไปของมหาวิทยาลัยในเอเชีย ส่วนมหาวิทยาลัยยุโรปหรือในอเมริกา รายได้ของมหาวิทยาลัยที่มาจากทั้งค่าเล่าเรียน มาจากเงินวิจัยและรายอื่นๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่มีแต่ค่าเล่าเรียนเป็นสัดส่วนใหญ่ ในเมื่อมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่มีบุคลากรชั้นยอดอยู่มากมาย แต่ก็ปล่อยให้บุคลากรเหล่านั้นออกไปทำมาหากินกันเองข้างนอก เพราะว่าในมหาวิทยาลัยนั้นมัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาสอนกันอย่างเดียว ไม่ได้หยิบยื่นโอกาสและผลประโยชน์ให้กับเหล่าผู้มีความรู้และเข้าใจกระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างดี เพราะว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เห็นเหล่าอาจารย์เป็นสินทรัพย์ (Asset) ที่สามารถสร้างประโยชน์ได้ มหาวิทยาลัยเห็นอาจารย์เป็นแค่เครื่องจักรในการสอนหนังสือเท่านั้นเอง


ตรงนี้แหละครับที่จะเป็นช่องว่างให้กับผมและ Dream Team ที่ผมกำลังจะสร้างขึ้นมา ได้มีโอกาสทำธุรกิจด้านวิชาการ โดยเฉพาะ Professional Knowledge ซึ่งไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ให้ปริญญา แต่ธุรกิจของผมเป็นธุรกิจวิชาการที่ให้ผลกำไรกับองค์กร ใครจะไม่รู้แหละครับว่า ถ้าผมมีผู้ร่วมงานมาเป็น Knowledge Partner กับผมแล้ว กลุ่มคนกลุ่มนี้อาจจะพัฒนาไปเป็น Professional University ที่จะต่อยอดส่วนที่ขาดหายไปของมหาวิทยาลัยและเติมเต็มกระบวนการเรียนรู้ที่ขาดไปขององค์ธุรกิจที่กำลังเผชิญความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และที่สุดแล้วทั้งวิชาการและปฏิบัติก็จะหลอมรวมเป็นหนึ่งที่เสริมพลังกันและกัน (Synergy) ระหว่างมหาวิทยาลัยและธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Education - เรียนปริญญาโทลอจิสติกส์ ที่ไหนดี อย่างไรดี

ขออนุญาตนำ Comment ก่อนเก่าประมาณ 1 วันมาใส่ไว้ในบันทึกที่มีคนถามกันมาใน Pantip.com ว่าจะเรียนปริญญาโทด้านลอจิสติกส์ที่ไหนกันดี ผมกลัวว่า Comments จะหายไปหาไม่เจอครับ ก็เลยเอามาบันทึกเก็บไว้

มีคนถามว่า


เรียนโทคณะ การจัดการอุตสาหกรรม สาขาการจัดการโลจิสติกและห่วงโซ่อุปทาน ดีหรือเปล่าครับมีใคร เคยเรียนโทคณะ การจัดการอุตสาหกรรม สาขาการจัดการโลจิสติกและห่วงโซ่อุปทาน หรือเปล่าครับผม กำลังสนใจศึกษาในหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม (MIM) ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือครับ ไม่ทราบมีท่านใดเคยเรียนที่นี่ หรือคณะนี้บ้างไหม อยากทราบว่าเป็นอย่างไรดีไหม แล้วปัจจุบันไปประกอบอาชีพอะไรที่ไหนบ้างครับ

ขอบคุณครับ

อ.วิทยา Comment ว่า เรียนที่ไหนดี ก็แล้วแต่ครับ ต้องลองถามกันดู มีหลายแห่งที่สอนวิชาลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ดูๆ ไปก็ดีนะครับ เป็นวิชาชีพที่ยังมีอนาคต คือ ยังไม่มีใครรู้แน่ว่า อะไรเป็นหรือตรงไหนเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน เอาแค่เห็นว่าเป็นการขนส่งก็อ้างได้แล้วว่า เป็นลอจิสติกส์ หรือเห็นว่ามีการจัดซื้อจัดหาก็เป็นลอจสิติกส์และโซ่อุปทานไปซะแล้ว

แล้วยิ่งเป็นการต่อ ป.โท ซะด้วย เรียนไปแล้วก็ไม่แน่ใจว่าเนื่อหานั้นจะเหมือน ป.ตรี หรือไม่ แล้วมันจะต่างกันตรงไหน ถ้าจะเรียนป.โทนั้น หวังอย่างแรก ต้องได้ปริญญา ถ้าไม่หวังปริญญา ก็ไม่ต้องไปเรียนมันให้เสียเงิน เสียเวลา เมื่อเสียเงินเสียเวลาแล้ว เราจะได้อะไรกลับมาบ้าง ถามตัวเองก่อนว่า ปริญญาโทให้อะไรเรา สร้างอะไรให้เรา ต่างกับปริญญาตรีตรงไหน

ส่วนเรื่องลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในแต่ละที่นั้น คิดว่ามีเนื่อหาวิชาตรงตามชื่อทั้งนั้นแหละครับ แต่แก่นของวิชานั้นและการบูรณาการของแต่ละวิชานั้นเป็นไปตามปรัชญาของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานหรือไม่ ก็ต้องประเมินกันเอาเองนะครับ ให้สังเกตุว่า อาจารย์แต่ละคนที่สอนๆกันในหลักสูตรเหล่านี้คุยกันบ้างหรือไม่ เข้าใจตรงกันหรือไม่ แล้วมันจะเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้อย่างไร จริงไหมครับ


พี่พงษศักดิ์ comment ว่าป.โท ด้าน Logistics บางหลักสูตร บางแห่ง เป็นหลักสูตรเดิมๆ ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วมา ไม่ได้ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ทั้งๆที่ Real Sector จริงๆได้เปลี่ยนไปมากแล้ว..

อ.วิทยา comment การเกิดขึ้นของสาขาวิชานี้ ไม่ใช่การเกิดขึ้นแบบธรรมดาเหมือนวิชาการทั่วไป ที่จับต้องได้ แล้วนำไปใช้แบบเป็นรูปธรรม แต่แนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเกิดจากรูปธรรมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านแนวคิดไปสู่จุดที่เหมาะสม (ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด)จึงเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่เป็นนามธรรม (Abstract) ขึ้นมา แล้วมนุษย์เราจึงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางรูปธรรมอีกต่อหนึ่ง

ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นแนวคิดเชิงองค์รวมที่เป็นนามธรรมซึ่งจะทำให้การดำเนินงานทาง รูปธรรมต่างๆ ตั้งแต่ จัดซื้อ ผลิต ส่ง ขาย สารสนเทศ ERP Forcasting ซึ่งไม่ได้บูรณาการกัน ไม่เป็นองค์รวม เป็นแท่งๆ Silosต่างคนต่างทำงาน ให้เป็นองค์รวมมากขึ้น เป็นระบบมากขึ้น คุยกันมากขึ้น ทำงานร่วมกัน (Collaborations) สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ไวขึ้น ต้นทุนลดลง กำไรมากขึ้น

ดังนั้นหลักสูตรที่ดี ก็ควรจะมีแนวคิดตามที่ผมกล่าวมาข้างต้น การทำหลักสูตรลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในเมืองไทยนั้น ยังไม่ถึงขั้น ตัวหลักสูตรและการบริหารหลักสูตรเองก็ยังไม่เป็นระบบ ไม่เป็นองค์รวม อาจารย์ต่างคน ต่างสอน ไม่รู้กันว่า ใครสอนอะไรไปบ้าง สอนให้จบๆ เป็นวิชาๆ ไป

นักศึกษาเองก็ไม่สามารถปะติดปะต่อวิชาต่างๆอย่างเป็นองค์รวมได้ หรืออย่างเป็นระบบเดียวได้ เพราะที่วิชาสอนๆ อยู่นี้ ไม่ใช่ลอจิสติกส์ และไม่ใช่โซ่อุปทาน เพราะความคิดและความเข้าใจของหลักสูตรไม่เป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเลย อย่ามาบอกว่า Transportation เป้นลอจิสติกส์ Warehouse เป็นลอจิสติกส์ ไม่จริง และไม่จริง

ที่สอนๆ อยู่นั้นก็เป็นแค่ วิชา Warehouse หรือ วิชา Transportation. ส่วนคนทำงานในด้าน Warhouse หรือ Purchasing หรือ Transportation ก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในสิ่งหรือกิจกรรมที่ตัวเองกำลังดำเนินการอยู่ คุณต้องสังเกตุและศึกษาให้ดี เวลาทำงาน

ส่วนที่คิดว่าจะมาเรียนให้รู้ว่าลอจิสติกส์และโซ่อุปทานคืออะไรนั้น ผมไม่แน่ใจครับ เพราะว่าแต่ละหลักสูตรนั้น ยังสอนกันเป็นเรื่องๆ อยู่เลย เป็น Silos อาจารย์แต่ละคนก็ต่างคนต่างสอนกันอยู่ แล้วมันจะเป็นองค์รวมหรือโซ่อุปทานได้อย่างไร แต่ก็ได้ปริญญานะครับ ก็ลองไปคิดกันดูครับ!


อ.วิทยา comment ถ้ามีคนถามว่า แล้วอาจารย์จะไปสอนปริญญาโทเหล่านั้นไหม OK แน่นอน ไปแน่ ถ้าได้เงินค่าสอน (ค่าสอนไม่ใช่ประเด็นใหญ่) อยากไปเพราะ อยากไปสอนอะไรๆ ที่อยากให้นักศึกษาได้เข้าใจอะไรๆ เสียใหม่ ผมจึงไม่ค่อยได้ใช้หนังสือตำราเท่าไหร่นัก ไม่อยากจะสอนเยอะ เพราะทางหลักสูตรไม่ได้ให้สอนมากวิชา ขอแค่วิชาหรือครึ่งวิชาก็ยังดี ผมพอจะได้แสดงวิสัยทัศน์หรือมโอกาสนำเสนอแนวคิดที่ผมมีอยู่บ้าง เผื่อว่านักศึกษาสามารถนำไปคิดและใช้ประโยชน์ได้บ้างในอนาคต ถึงอย่างไรก็ตาม มีเปิดสอนก็ยังดีกว่าไม่มี แต่ก็น่าจะทำอะไรให้มันแตกต่างบ้าง ไม่ใช่แค่สอน แล้วก็สอน แล้วก็สอบ แล้วก็รับปริญญา จบออกไปแล้ว มันจะแตกต่างกันอย่างไร เราสามารถบอกได้หรือไม่ว่า เรียนแล้วจะแตกต่างหรือเติบโตในหน้าที่การงาน สิ่งที่อาจารย์สอนนั้นช่วยได้มากจริงหรือ คุณแน่ใจหรือ ผมไม่เคยเชื่อว่าสิ่งที่ผมสอนหรือบอกกล่าวไปจะช่วยให้นักศึกษาทำงานได้ดีขึ้น นั่นไม่จริงเลย ที่จริงแล้วตัวนักศึกษาเองจะต้องสร้างกระบวนการคิดและภาวะผู้นำขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างให้เกิดความแตกต่างกับผู้อื่นในกระบวนการทำงาน


ผมยังมีความเชื่อว่า กระบวนการการทำวิทยานิพนธ์นั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมือนการทำงานและตรงกับชีวิตจริงมากที่สุด แต่ปริญญาโทส่วนใหญ่เอาง่ายเข้าไว้ เร็วเข้าว่า ทำให้ขาดหัวใจและกระบวนการคิดสำหรับภาวะผู้นำดังกล่าว ผมไม่เคยคิดที่จะมาเป็นผู้บริหารหลักสูตรปริญญาโทและเอกที่ไหนมาก่อน ตอนนี้ก็ไม่ได้เป็น แต่ถ้ามีโอกาสผมจะไม่ทำและบริหารหลักสูตรอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็อย่างว่าแหละครับโลกการศึกษาและโลกแห่งความเป็นจริงในการทำงานมันต่างกัน ทั้งๆ ที่ในโลกแห่งการทำงานนั้นที่จริงแล้วมันถูกขับเคลื่อนไปด้วยกระบวนการศึกษาเรียนรู้ทั้งสิ้น ตั้งแต่การเรียนรู้ การวิจัย การนำเสนอ การทดลอง เพียงแต่ว่าเป้าหมายของชีวิตจริง คือ การอยู่รอดของชีวิตและธุรกิจ แต่ในการศึกษาทุกคนทำเพื่อใบปริญญาหรือไม่ก็ตำแหน่งทางวิชาการ แล้วก็ความอยู่รอดของอาจารย์ ในทางกลับกันถ้าทั้งโลกการศึกษาและโลกแห่งความเป็นจริงสามารถมารวมตัวกันได้ มันจะดีสักแค่ไหน ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับสังคมขนาดไหน เราก็จะสนุกกับการเรียนและทำงานไป เป็นการทำงานและเรียนรู้ตลอดชีวิต แล้วปริญญาก็จะไม่มีความหมาย แต่ความรู้ก็จะเบ่งบานงอกงามอย่างต่อเนื่องและเป็นความรู้ที่เกิดจากความเป็นจริงด้วย.