วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

เจาะแก่นแนวคิดแบบลีน (8) : ลีนในมุมมองจากองค์กรที่ซับซ้อน


ความหมายที่แท้จริงของลีนยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบสิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ที่จะนำคำว่าลีนไปใช้ในการสื่อสาร มีผู้ตีความและให้ความหมายของลีนไว้ในหลายมุมองและหลายระดับ บางคนอาจไม่ได้สนใจในความหมายของลีนที่ได้ถูกพัฒนาและขยายสู่ความหมายในระดับนามธรรม (Abstract) ที่สูงขึ้น ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายบริบท (Context) ของกระบวนการสร้างคุณค่า ความหมายของลีนมิใช่เป็นแค่เรื่องราวของการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรหรือลดความสูญเปล่าเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่หลายคนเข้าใจ แต่ลีนได้กลายเป็นกระบวนการคิด (Thinking Process) หรือวิธีการมองเข้าไปในระบบหรือกระบวนการสร้างคุณค่า และหาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้ระบบนั้น (หรือกระบวนการสร้างคุณค่านั้น) สามารถที่จะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้อยู่รอดอย่างยั่งยืน ผมมองลีนทั้งระบบหรือทั้งองค์กรที่มีองค์ประกอบต่างๆ มาบูรณาการอยู่รวมกันอย่างมีปฏิสัมพันธ์กัน สิ่งที่สำคัญคือ ผมมององค์กรนั้นเป็นระบบสังคม (Social System) ที่ประกอบไปด้วยทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะเป็นระบบที่มี “มนุษย์” ที่มีความสามารถในการคิดและตัดสินใจเพื่อคอยสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่รอด และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบนั้นมาจากการตัดสินใจของมนุษย์แทบทั้งสิ้น

เริ่มมองที่กระบวนการสร้างคุณค่า

คุณค่าไม่ได้ถูกสร้างมาจากกระบวนการเดี่ยวๆ แต่ถูกสร้างมาจากหลายๆ กระบวนการย่อยที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อสร้างคุณค่าสุดท้ายที่มนุษย์ต้องการ หลายๆ กระบวนการถูกบูรณาการ (Integrate) กันเป็นองค์กร (Organization) และหลายๆ องค์กรก็ถูกเชื่อมต่อกันเป็นโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่มีเป้าหมายสร้างคุณค่าสุดท้ายให้กับลูกค้า และหลายๆ โซ่อุปทาน (ที่มีหน้าที่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้า) จะรวมตัวกันเป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้สร้างคุณค่าและกลุ่มผู้ใช้คุณค่าที่อยู่กันอย่างพึ่งพากันอย่างมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สังคมจึงจะเป็นระบบที่มีพลวัต (Dynamic) อยู่ตลอด มนุษย์ที่มีความคิดอ่านและตัดสินใจจะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมที่มีองค์ประกอบต่างๆ เชื่อมโยงกันอยู่

แนวคิดแบบลีนมีจุดเริ่มต้นที่การระบุและกำจัดขั้นตอนการทำงานที่ไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับลูกค้า และถูกขยายผลและเชื่อมต่อไปยังส่วนต่างๆ จนครอบคุมไปทั้งองค์กร เพราะว่าทุกส่วนหรือทุกทรัพยากรขององค์กรจะต้องมีส่วนในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า ไม่เช่นนั้นแนวคิดแบบลีนจะถือว่าการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเป็นการสร้างความสูญเปล่า ดังนั้นการนำเอาแนวคิดแบบลีนมาใช้จึงต้องมองทั้งองค์กรและอย่างเป็นองค์รวม อีกทั้งยังต้องมองให้ครอบคลุมถึงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ที่พิจารณาตั้งแต่องค์กรต้นน้ำมายังองค์กรปลายน้ำด้วย ไม่ใช่เริ่มต้นที่ส่วนหนึ่งของกระบวนการธุรกิจที่เป็นขั้นตอนของการดำเนินงานหรือการสร้างคุณค่า เพราะจะทำให้การแก้ปัญหาหรือประยุกต์ใช้แนวคิดแบบลีนนั้นไม่ยั่งยืน แต่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าที่ต้นเหตุ ความเข้าใจในความเป็นองค์กรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาแนวคิดแบบลีนไปใช้ให้เกิดผล

เบื้องหลังโครงสร้างองค์กรธุรกิจ คือ โซ่อุปทาน

ความเป็นองค์กรธุรกิจคือกลุ่มทรัพยากรที่สร้างคุณค่าให้กับมนุษย์ ไม่ว่าองค์กรนั้นจะแสวงหาผลกำไรหรือไม่ โดยทั่วไปสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างองค์กรธุรกิจในเบื้องต้น คือ โครงสร้างองค์กร (Organization Chart) ที่แสดงให้เห็นถึงลำดับชั้นความสัมพันธ์ของกลุ่มคนและฟังก์ชั่นหรือหน้าที่การทำงาน แต่โครงสร้างองค์กรนั้นไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงกระบวนการสร้างคุณค่าซึ่งเป็นเป้าหมายขององค์กรธุรกิจ ดังนั้นความเป็นเลิศทางธุรกิจจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะทรัพยากรบุคคลที่อยู่ในโครงสร้างขององค์กรธุรกิจเท่านั้น แต่จะต้องเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของทรัพยากรต่างๆ ในองค์กรที่เป็นองค์ประกอบในการสร้างคุณค่าที่มนุษย์หรือลูกค้าต้องการ

คุณค่าที่ลูกค้าต้องการจากองค์กรธุรกิจจะเกิดจากกระบวนการสร้างคุณค่าในโซ่อุปทานขององค์กรธุรกิจนั้น รวมทั้งการเชื่อมโยงไปยังโซ่อุปทานของบริษัทอื่นๆ ที่นำส่งวัตถุดิบมายังองค์กรธุรกิจนั้นๆ ด้วย ดังนั้นการพัฒนาและจัดการองค์กรธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าจึงไม่ได้พิจารณาแค่โครงสร้างขององค์กร แต่จะต้องพิจารณาตั้งแต่คุณค่าที่ลูกค้าต้องการและโซ่อุปทานที่ประกอบไปด้วยกระบวนการสร้างคุณค่าต่างๆ ภายในองค์กรและกระบวนการขององค์กรที่เป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบให้กับองค์กรด้วย โครงสร้างโซ่อุปทานขององค์กรธุรกิจจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กันของกระบวนการสร้างคุณค่าและทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กรธุรกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของโซ่อุปทานที่ประกอบไปด้วยการไหลของสินค้าและวัตถุดิบเชิงกายภาพ การไหลของสารสนเทศระหว่างกระบวนการและบุคคล การตัดสินใจและวางแผนร่วมกันของแต่ละฝ่าย รวมทั้งการไหลของเงินขององค์กรธุรกิจ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโซ่อุปทานหรือกระบวนการธุรกิจขององค์กรต่างๆ เกิดขึ้นเพราะความซับซ้อนของโซ่อุปทานนั่นเอง

มององค์กรอย่างระบบที่ซับซ้อน

หลายคนมีมุมมองต่อองค์กรที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่พื้นฐานความรู้และวิชาชีพ องค์กรมีความสำคัญในฐานะเป็นจุดศูนย์รวมของทรัพยากรต่างๆ ที่ถูกนำมาสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า บางคนจึงมององค์กรในมุมของทรัพยากรบุคคลและโครงสร้างของการบริหารงาน   บางคนอาจมององค์กรในเชิงโครงสร้างทางกายภาพ ซึ่งไม่มีด้านใดผิด ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน อย่างไรก็ตามการมองเช่นนั้นอาจไม่ครบทั้งหมดของความเป็นองค์รวมขององค์กร การมององค์กรในเชิงฟังก์ชั่นการทำงานที่ถูกแยกส่วนออกมาเป็นการมององค์กรในแบบดั้งเดิม (Traditional View) ที่พยายามวิเคราะห์ปัญหาแบบแยกส่วนมากกว่าการมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวม มุมมองความเป็นองค์รวมหมดไปเมื่อแยกส่วนปัญหาออกมาเป็นส่วนย่อยเพื่อวิเคราะห์แก้ปัญหา องค์กรในมุมมองของแต่ละสาขาวิชาการก็จะอธิบายความเป็นองค์กรในมุมมองของสาขาวิชาการตามลักษณะการใช้งานประโยชน์จากทรัพยากรขององค์กรนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านทรัพยากรมนุษย์ สารสนเทศ และโครงสร้างทางกายภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกส่วนที่ประกอบกันเป็นองค์กรมีส่วนในการสร้างคุณค่าตามวัตถุประสงค์ของการรวมตัวเป็นองค์กร ยิ่งองค์กรใดมีคุณค่าที่มีมูลค่ามาก (หรือมีประโยชน์มาก) ก็จะมีความซับซ้อนของการแปรทรัพยากรไปเป็นคุณค่าที่ต้องการมากยิ่งขึ้น องค์กรใดมีจำนวนทรัพยากรมาก ความเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันก็ยิ่งมีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการวางแผนและควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรก็ยิ่งมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น

ผมมองระบบในโลกเป็น 2 แบบ กล่าวคือ ระบบที่เกิดจากธรรมชาติ กับระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ระบบที่เกิดจากธรรมชาตินั้นมีความซับซ้อนและมีขนาดใหญ่มากจนมนุษย์อาจไม่สามารถศึกษาได้จนหมด ระบบธรรมชาติมีตั้งแต่เรื่องที่เราเข้าใจได้อย่างง่ายๆ และเรื่องที่เข้าใจได้ยาก หรือยังไม่เข้าใจเลย การศึกษาเพื่อให้เข้าใจกลไกของธรรมชาติ คือ สาขาวิทยาศาตร์ (Science) ระบบที่เกิดจากธรรมชาติมีกลไกที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ระบบในธรรมชาติมีการเจริญเติบโตและการวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด ระบบในธรรมชาติประกอบไปด้วยทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ส่วนระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นจะประกอบไปด้วยทั้งสิ่งที่ไม่มีชีวิตจากธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมา รวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย  ระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นจะอยู่ภายใต้กฏระเบียบที่มนุษย์กำหนดขึ้นมา ระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นส่วนหนึ่งจะเป็นลักษณะของเครื่องยนต์กลไกที่สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ และระบบอีกแบบที่มนุษย์สร้างขึ้นจะเป็นระบบสังคมที่มีมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้นตลอดเวลา มนุษย์ในระบบสังคมจะหาประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติและจากทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นมา รวมทั้งจากมนุษย์ด้วยกันเองจากระบบสังคมเพื่อใช้ผลประโยชน์ร่วมกัน มนุษย์ในสังคมมีอำนาจและการตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมเพื่อให้เกิดความอยู่รอดและคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน และมีการปฏิสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

ลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่ในโลกนี้มีความโครงสร้างเป็นระบบ (Systemic Structure) อยู่ในตัว มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีทั้งระบบขนาดใหญ่และระบบขนาดเล็กที่อยู่ภายในระบบขนาดใหญ่ ยิ่งระบบที่มีขนาดใหญ่เพียงใดก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น แล้วความซับซ้อน (Complexity) คืออะไร? สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความซับซ้อนคือความเรียบง่าย (Simplicity) ผมมองความซับซ้อนและความเรียบง่ายในมุมมองของความเป็นจริง (Reality) ที่เป็นอยู่ ความเรียบง่ายเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย มีคุณค่าและมูลค่าต่ำกว่าอะไรที่มีความซับซ้อนมากกว่าหรือมีระดับของความยากมากว่า แต่ความยากหรือความซับซ้อนก็ประกอบมาจากความง่าย ที่หลายๆ ความเรียบง่ายบูรณาการกันเป็นความยากหรือความซับซ้อนยิ่งขึ้น

เมื่อมองในภาพรวม คณิตศาสตร์ในระดับชั้นประถมเป็นเรื่องง่าย ส่วนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมต้นก็ยากมากขึ้น และในระดับมัธยมปลาย และระดับมหาวิทยาลัยก็ยากขึ้นยิ่งกว่าตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเรียนชั้นประถม คณิตศาสตร์ชั้นประถมก็ดูยาก แต่เมื่อเราศึกษาจนเข้าใจแล้ว จากที่เคยคิดว่ายากก็กลายเป็นเรื่องง่ายไป แล้วเราก็เลื่อนชั้นไปเรียนคณิตศาสตร์มัธยมต้น ขณะที่เรียนและยังไม่เข้าใจจึงคิดว่ายาก รู้สึกว่าซับซ้อน แต่เมื่อได้เข้าใจแล้วจากที่เคยคิดว่ายากก็กลายเป็นเรื่องง่ายไปเช่นกัน แล้วก็เราสามารถความรู้นั้นๆ ไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น เมื่อศึกษาคณิตศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้นๆ ก็จะมีความซับซ้อนหรือความยากมากยิ่งขึ้น นั่นเพราะเรายังไม่เข้าใจ ความยากหรือความซับซ้อนย่อมส่งผลต่อคุณค่าหรือประโยชน์ที่มากขึ้นด้วย ยิ่งเราเข้าใจความซับซ้อนมากเท่าใด เราก็จะหาประโยชน์จากความซับซ้อนได้มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้นเราจะพบว่าเราเผชิญกับความซับซ้อนหรือความไม่รู้อยู่ตลอดเวลาเพราะโลกและจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้มีสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจ มนุษยชาติได้เรียนรู้จากระบบที่เรียบง่ายของธรรมชาติ มาสู่ระบบที่ซับซ้อนขึ้นของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์ทำการศึกษาจนเข้าใจ จากเรื่องที่เดิมเคยซับซ้อนก็จะเรียบง่ายขึ้น จากนั้นมนุษย์ก็จะศึกษาระบบที่ซับซ้อนกว่าในระดับที่สูงขึ้นต่อไปอย่างไม่รู้จบ

องค์กรคือสังคมที่ซับซ้อน

องค์กรในอดีตมีองค์ประกอบที่เป็นโครงสร้างขององค์กรไม่มากนัก ความต้องการของลูกค้าหรือมนุษย์ก็มีไม่มาก จำนวนประชากรโลกก็ยังมีไม่มาก แต่ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ทำให้เรื่องราวของโลกที่ยากหรือซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่ง่ายหรือมีความเรียบง่าย จึงทำให้มนุษย์หาหรือสร้างประโยชน์จากความเป็นจริงที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น จนมนุษย์สามารถปรับตัวเองไปกับธรรมชาติได้มากขึ้น และเมื่อมีจำนวนประชากรมากขึ้น สังคมก็ซับซ้อนมากขึ้น การพึ่งพาอาศัยกันและการมีปฏิสัมพันธ์กันก็มียิ่งขึ้นตามไปด้วย ทำให้การดำรงอยู่ในสังคมหรือระบบนั้นซับซ้อนไปด้วย เหมือนชีวิตของเราในปัจจุบัน

องค์กรหรือสังคมในปัจจุบันนี้มีความซับซ้อนในตัวเองตามวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ องค์ประกอบยิ่งมากเท่าไร ความซับซ้อนก็ยิ่งมากขึ้น การที่จะจัดการกับความซับซ้อนให้ได้นั้น เราต้องเข้าใจในโครงสร้างและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ในโครงสร้างนั้น และจากนั้นเราก็จะสามารถควบคุมกระบวนการหรือระบบได้ ถ้าเรามองความเป็นลีนในมุมมองของความซับซ้อนขององค์กร เราจะเห็นองค์ประกอบต่างๆ ทั้งหมดขององค์กรอย่างเป็นองค์รวมและอย่างมีความเชื่อมโยงกันหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะการผลิต (หรือการผลิตแบบลีน) และยิ่งถ้าขยายขอบข่ายของความเป็นไปทั่วทั้งองค์กรแล้ว ความเชื่อมโยงระหว่างส่วนต่างๆ ขององค์กรก็ยิ่งโยงใยกันอย่างซับซ้อนในตัวเองมากขึ้น จนยากที่จะควบคุมได้ ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ในปัจจุบันหลายองค์กรล้มเหลวในการปรับตัว เพราะไม่เข้าใจและไม่ได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อนขององค์กรตัวเอง

องค์ประกอบของความซับซ้อน

ความซับซ้อนในมุมมองของผมนั้นมีอยู่ 2 มุมมอง คือ มุมมองเชิงความเป็นอยู่จริงของธรรมชาติ และมุมมองเชิงความเข้าใจและความสามารถในการควบคุมความเป็นอยู่จริงของธรรมชาติของมนุษย์เอง ระบบกลไกของโลกถูกขับเคลื่อนไปด้วยระบบย่อยที่ดูเรียบง่ายและถูกเชื่อมโยงกันจนบูรณาการเป็นระบบที่ใหญ่และซับซ้อนขึ้น โลกเราหรือธรรมชาติก็ดำเนินกิจกรรมและปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมด้วยกฎและระเบียบของโลกหรือธรรมชาติ ส่วนมนุษย์ที่มีสติปัญญาก็พยายามสร้างความเข้าใจระบบของโลกจากระบบที่เรียบง่ายไปสู่ระบบที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้นความซับซ้อนที่มนุษย์กำลังกล่าวถึงกัน คือ มุมมองของมนุษย์ที่พยายามจะเข้าใจความเป็นอยู่จริงของธรรมชาติเพื่อที่จะควบคุมและประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด

มนุษย์รู้สึกถึงความซับซ้อนก็ต่อเมื่อไม่สามารถควบคุมเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ความซับซ้อนในมุมมองของมนุษย์ที่เห็นกันชัดๆ มักเกิดจากขนาด (Size) ความหลากหลาย (Diversity) ความหลากชนิด (Variety) และความไม่แน่นอน (Uncertainty) ของระบบหรือสิ่งที่มนุษย์สนใจ (Reiss, 1933) ขนาด (Size) เมื่อกล่าวถึงขนาด เราจะรวมถึง จำนวนผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หุ้นส่วน ลูกค้า เป้าหมาย ตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากขึ้นเท่าใดแล้ว ก็จะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นี่ก็เป็นวิธีการวัดความซับซ้อนได้วิธีการหนึ่ง ดังนั้นถ้าเราสามารถลดจำนวนองค์ประกอบได้เท่าใด ก็สามารถลดความซับซ้อนลดลงตามไปด้วย

ความหลากหลาย (Diversity) ครอบคลุมถึงความเป็นหนึ่งเดียว (Homogeneity) หรือ ความเป็นลูกผสม (Heterogeneity) ของระบบ ยิ่งมีความเป็นลูกผสมมากเท่าใด (มีความเป็นหนึ่งเดียวน้อยลง) ความซับซ้อนก็ยิ่งมากขึ้น

ความหลากชนิด (Variety) จะเกี่ยวข้องกับความแปรผัน (Variation) ของสภาพแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกของระบบ ความต้องการของลูกค้าหรือผู้คนในสังคมและแหล่งทรัพยากรวัตถุดิบ ถ้าองค์ประกอบของระบบถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและอย่างไม่รู้ตัว ความซับซ้อนก็จะเพิ่มมากขึ้น คุณลักษณะนี้จะทำให้เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบตลอดช่วงเวลาหรือเป็นมุมมองเชิงพลวัตของความซับซ้อน

ความไม่แน่นอน (Uncertainty) จะประกอบไปด้วยความยากลำบากในการสร้างความชัดเจนให้กับระบบ ตัวอย่างของสิ่งที่ทำให้ระบบขาดดุลและทำให้เกิดความไม่แน่นอน คือ การที่ไม่สามารถกำหนดหรือระบุสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ยิ่งมีความเสี่ยง ความคลุมเครือ ความไม่แน่ใจ ความไม่แน่นอนมากขึ้นเท่าใด ความซับซ้อนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

แนวคิดแบบลีนก็เกิดจากความซับซ้อนของสังคมที่มีเพิ่มมากขึ้นจนทำให้กระบวนการการสร้างคุณค่าต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความซับซ้อนที่เกิดขึ้นกับกระบวนการสร้างคุณค่า องค์กร โซ่อุปทาน และสังคมรอบตัวเรา สังคมมนุษย์โลกมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกวัน มีจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ความต้องการของมนุษย์มีหลากหลายมากขึ้น ด้วยทั้งขนาดและความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้นนี้ทำให้เกิดความแปรผันในระบบมากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนของระบบ แนวคิดแบบลีนจึงเป็นแนวคิดที่พยายามจะรับมือหรือตอบสนองกับความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้นของระบบการสร้างคุณค่าของสังคมมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม ดังนั้นผู้ที่จะนำแนวคิดแบบลีนไปใช้ให้เกิดผลอย่างแท้จริง ก็จะต้องสร้างความเข้าใจในความซับซ้อนที่เกิดขึ้นและเข้าใจในความเป็นองค์รวมของกระบวนการสร้างคุณค่า

ความซับซ้อนในโซ่อุปทาน

โดยทั่วไปแล้ว ความซับซ้อนในโซ่อุปทานถูกกำหนดขึ้นมาด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการธุรกิจภายในองค์กรที่เราไม่เข้าใจและไม่สามารถควบคุมได้ การที่องค์กรจะมีความซ้บซ้อนมากหรือน้อยยังไม่เป็นประเด็น เพราะว่าความซับซ้อนเป็นเรื่องของความเป็นอยู่จริง (Reality) ไม่ว่าจะมีความซับซ้อนมากหรือน้อยก็มีคุณค่าเช่นกัน สิ่งที่เรียบง่ายก็ให้คุณค่าน้อย สิ่งที่ซับซ้อนกว่าก็น่าจะให้คุณค่าได้มากกว่า เหมือนกับโทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชั่นน้อยไม่ซับซ้อน ก็มีคุณค่าน้อยและราคาต่ำ ส่วนโทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชั่นสูงกว่าสามารถทำอะไรได้หลายอย่างหรือมีความซับซ้อนมากกว่า ก็ย่อมมีคุณค่าสูงกว่าและราคาก็สูงกว่าตามไปด้วย ใครที่ซื้อโทรศัพท์แบบไหนไปก็ต้องได้แบบไหน เพียงแต่ว่าผู้ใช้งานจะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรืออย่างคุ้มค่าหรือไม่ สิ่งที่ง่ายอยู่แล้วผู้ใช้ก็ใช้ง่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับสิ่งที่ยาก ผู้ใช้คาดหวังผลสัมฤทธิ์สูง แต่ก็ไม่ง่ายต่อการใช้งาน ประเด็นของความซับซ้อนอยู่ที่ผู้ใช้งานจะสามารถเข้าใจกระบวนการสร้างคุณค่าได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งมนุษย์มีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานมากขึ้นเท่าใดกระบวนการสร้างคุณค่าก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งวิธีการใช้ประโยชน์จากคุณค่าก็จะมีวิธีการที่ซับซ้อนขึ้นด้วย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความซับซ้อน คือ การสร้างความเข้าใจในกลไกต่างๆ ของระบบหรือกระบวนการสร้างคุณค่า เมื่อมีความเข้าใจในความซับซ้อนแล้ว ก็จะเกิดเป็นความเรียบง่ายขึ้น ทำให้เราสามารถควบคุมและจัดการการสร้างคุณค่าได้ ต่อจากนั้นความต้องการใหม่ของมนุษย์ก็จะเกิดขึ้นมาอีก มนุษย์ก็ต้องสร้างคุณค่าที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วยกระบวนการที่ซับซ้อนตามมาจากการที่มีขอบเขตและองค์ประกอบที่ใหญ่ยิ่งขึ้น แต่ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ ความซับซ้อนเหล่านั้นก็จะถูกทำให้ง่ายขึ้นต่อไปอีกด้วยความเข้าใจโลกหรือธรรมชาติมากขึ้น

ในยุคปัจจุบัน องค์กรสามารถสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจได้จากความซับซ้อน ถ้าเราสามารถจัดการกับมันได้ เพราะว่าความซับซ้อนสร้างคุณค่าได้มากกว่าถ้าตรงกับความต้องการของลูกค้าตามแนวคิดแบบลีน ความซับซ้อนทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการสร้างคุณค่า ความซับซ้อนสูงอาจเป็นข้อได้เปรียบถ้าลูกค้าพร้อมจ่าย หรือถ้าเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานเมื่อมีความต้องการที่หลากหลาย ในขณะเดียวกัน ความซับซ้อนอาจเป็นข้อเสียเปรียบได้ ถ้าไม่สามารถจัดการกระบวนการสร้างคุณค่าที่ซับซ้อนได้ ผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน (Complex Product) ดี มีราคาสูง มีฟังก์ชั่นการใช้งานมาก จะถูกสร้างมาจากกระบวนการสร้างคุณค่าที่ซับซ้อน (Complex Process) กว่าผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่าย (Simple Product) แต่กระบวนการสร้างคุณค่าที่ซับซ้อนสามารถถูกทำให้เรียบง่ายได้ในมุมของผู้ที่จัดการกระบวนการ ความเรียบง่ายในการจัดการกระบวนการที่ซับซ้อนเกิดจากความเข้าใจในกลไกและความเชื่อมโยงขององค์ประกอบของกระบวนการที่ซับซ้อน ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างคุณค่า ทั้งๆ ที่โครงสร้างความซับซ้อนของความเป็นอยู่จริงของกระบวนการไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าถ้าโครงสร้างความซับซ้อนเปลี่ยนไปด้วยการลดทอนองค์ประกอบหรือชิ้นส่วนลงก็อาจจจะมีผลต่อคุณค่าหรือประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้ลดลงไปด้วย

ในขณะเดียวกัน ความซับซ้อนอาจจะเป็นข้อเสียเปรียบในกระบวนการสร้างคุณค่า เพราะยิ่งมีองค์ประกอบมากขึ้นเท่าใด ความเชื่อมโยงและการขึ้นต่อกันของกระบวนการย่อยต่างๆ ในกระบวนการสร้างคุณค่าก็ย่อมมีมากตามไป และโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาดก็มีมากตามไปด้วย ตั้งแต่การรับวัตถุดิบจำนวนมากเข้ามาด้วยความไม่แน่นอนของคุณภาพวัตถุดิบ การมีจำนวนกระบวนการแปรสภาพหรือขั้นตอนการผลิตที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเครื่องจักรที่แตกต่างกันและแรงงานฝีมือที่ต้องทำงานในกระบวนการ ความหลากหลายและความไม่แน่นอนขององค์ประกอบจำนวนมากของกระบวนการสร้างคุณค่าที่ซับซ้อน มีโอกาสสร้างปัญหาให้กับกระบวนการสร้างคุณค่าได้ง่าย ดังนั้นการรับมือหรือแก้ปัญหาความซับซ้อนในกระบวนการสร้างคุณค่าหรือโซ่อุปทาน คือ การทำความเข้าใจในความสัมพันธ์และพฤติกรรมของระบบหรือกระบวนการที่ซับซ้อน เพื่อควบคุมและจัดการไม่ให้เกิดปัญหาในการสร้างคุณค่า

ลีนคือการจัดการความซับซ้อน

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าชีวิตของพวกเราสุขสบายขึ้นด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย นั่นเป็นเพราะว่าเราเข้าใจความซับซ้อนและจัดการกับความซับซ้อนต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะความซับซ้อนที่เกิดจากระบบหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา และสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการดำรงชีวิต แต่ระบบสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นแตกต่างจากระบบอื่นๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ระบบสังคมเป็นระบบที่เกิดจากการรวมตัวกันของมนุษย์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และสิ่งที่สำคัญคือ มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตและมีสติปัญญาสามารถรับรู้และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งมีการเจริญเติบโตได้ ดังนั้นสังคมของมนุษย์จึงมีความซับซ้อนในตัวอยู่มาก เพราะว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การติดต่อสื่อสารที่ง่ายสะดวกรวดเร็ว ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการหรือประโยชน์ที่ซับซ้อนขึ้น

องค์กรธุรกิจประกอบไปด้วยทรัพยากรที่ถูกใช้เพื่อสร้างคุณค่าก็สามารถเปรียบเสมือนเป็นสังคมเล็กๆ สังคมหนึ่งที่มารวมตัวเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในมุมมองของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ทุกๆ สังคมมีความซับซ้อนเพราะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อรองรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังมีความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ในสังคมที่ถูกป้อนสารสนเทศและข่าวสารจนทำให้เกิดการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงความต้องการพื้นฐานให้เป็นความต้องการที่มีคุณค่าที่สูงขึ้นกว่าเดิม ความซับซ้อนจึงมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นมนุษย์ที่อยู่ในสังคมหรือองค์กรจึงต้องเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กรหรือสังคม โดยเฉพาะการตัดสินใจของแต่ละบุคคลและการตัดสินใจร่วมกันของกลุ่มคนในองค์กรหรือสังคม เมื่อเกิดการตัดสินใจของคนในองค์กรและสังคมแล้ว ก็ย่อมจะมีผลต่อโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กรหรือสังคมโดยรวม ถ้าเราเข้าใจหรือควบคุมกระบวนการคิดและตัดสินใจของบุคคลในองค์กรหรือสังคมได้ เราก็สามารถจัดการกับความซับซ้อนขององค์กรหรือสังคมได้

แนวคิดแบบลีนไม่ได้เน้นที่กระบวนการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องเท่านั้น แต่เน้นที่กระบวนการคิดและตัดสินใจของบุคคลและกลุ่มบุคคลในองค์กรธุรกิจที่มาร่วมกันเป็นสังคมเล็กๆ ที่สร้างคุณค่า และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความซับซ้อนของกระบวนการ แนวคิดแบบลีนไม่ได้มองแค่กระบวนการผลิตเท่านั้น แต่มองถึงความสัมพันธ์ของทุกองค์ประกอบขององค์กรที่สร้างคุณค่า โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มบุคคลกับวัตถุดิบและเครื่องจักรที่จะต้องถูกนำมาสร้างเป็นคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อลูกค้า แนวคิดแบบลีนสามารถประยุกต์ใช้ในทุกส่วนที่เป็นกระบวนการสร้างคุณค่าย่อยต่างๆ ทั้งในส่วนกระบวนการหลักและกระบวนการสนับสนุนขององค์กรที่สร้างคุณค่า แนวคิดแบบลีนมุ่งเน้นในส่วนของการจัดการความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ขององค์กร เพื่อสร้างคุณค่าให้เกิดความพอดีหรือเหมาะสมที่สุด (Optimization) และให้เกิดความสอดคล้องหรือตรงกับ (Synchronization) ความต้องการของลูกค้า โดยไม่มีส่วนขาดหรือส่วนเกินของทรัพยากร แนวคิดแบบลีนมองทั้งในภาพรวมและภาพย่อยในแต่ละส่วนโดยไม่ได้ละเลยเป้าประสงค์หลักในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

แนวคิดแบบลีนจึงเป็นการจัดการสังคมเล็กๆ ในองค์กรธุรกิจที่ซับซ้อน ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากจำนวนองค์ประกอบต่างๆ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นคุณค่าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมทั้งความซับซ้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลูกค้า โดยทั่วไปความซับซ้อนในองค์กรธุรกิจจะเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในองค์กรที่วางแผนและตัดสินใจในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างคุณค่าและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนกับทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบ เครื่องจักรและสารสนเทศต่างๆ ที่ใช้ในการจัดการการสร้างคุณค่า ความสัมพันธ์เหล่านี้มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตามความเจริญเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจในรูปแบบของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ซับซ้อนขึ้น (หรือมีคุณค่ามากขึ้น) ดังนั้น ถ้าเรามองแนวคิดแบบลีนจากจุดเล็กในระบบการผลิตไปสู่ภาพรวมขององค์กรที่มีเป้าประสงค์เดียวกันแล้ว เราจะพบว่า ลีนไม่ได้เป็นแค่เทคนิคในการจัดการการผลิตเพื่อลดต้นทุนเท่านั้น แต่ลีนได้กลายเป็นแนวคิดที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนแต่ละคนในองค์กรให้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อองค์กรในองค์รวม (Holistic) แล้วท่านผู้อ่านละครับ เปลี่ยนมุมมองลีนของท่านมามองในภาพรวมแล้วหรือยัง มองในภาพรวมเพื่อเตรียมความพร้อมขององค์กรในการจัดการความซับซ้อนของธุรกิจที่เราจะต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา

บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Productivity World ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
vithaya@vithaya.com

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

My Thought -- จังหวะความคิด….จังหวะชีวิต....บรรเลงเพลงแห่งโลก

ตื่นเช้าครับขับรถไปส่งลูกไปโรงเรียน  เปิดวิทยุฟังเพลงอะไรก็ไม่รู้   ไม่รู้จัก  ไม่ใช่เพลงไทย  ไม่ได้ฟังเนื้อร้อง  แต่ก็ฟังได้เพลินๆ ดี  ทำให้สมองและร่างกายของเราสอดคล้องไปกับเพลงเหล่านั้น   ตอนแรกๆที่ฟังเพลงนี้  สิ่งที่กระทบเข้าโสตประสาทแรกเลยก็ คือ จังหวะ  ก็เลยได้แนวคิดมาคุยกันในประเด็นเรื่อง “จังหวะ”   เพลงทุกเพลงต้องมีจังหวะ  เพราะถ้าไม่มีจังหวะแล้ว  เพลงก็จะไม่เป็นเพลง   เพราะว่าเพลงนั้นมีองค์ประกอบของเสียงหรือเครื่องดนตรีอีกหลายอย่างๆ เครื่องดนตรีทุกชิ้นจะเล่นให้เข้าจังหวะกัน   สรรพสิ่งต่างๆในโลกนี้เองก็มีจังหวะของตัวเองที่เข้ากันหรือสอดคล้องกัน  แม้แต่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก็มีองค์ประกอบต่างๆ ที่จะต้องทำงานให้เข้ากันถูกจังหวะกัน จึงจะทำงานให้ประโยชน์กับมนุษย์ได้

แล้วจังหวะของดนตรีนั้นก็จะต้องเข้ากับจังหวะการฟังของคนที่ฟังด้วย  ไม่ว่าจะเป็นจังหวะที่เร็วร้อนแรงหรือจังหวะที่ช้านุ่มนวล   เราเองก็จะต้องเลือกให้เข้ากันหรือเหมาะเจาะลงตัว   ประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นที่สำคัญมาก  เพราะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากจังหวะอีกทีหนึ่ง จังหวะเร็วหรือช้าไม่สำคัญ  เพียงแต่มันลงตัวและต่อเนื่องไปได้หรือไม่ คงไม่ต้องบอกว่าความลงตัวหรือเหมาะสมเป็นอย่างไร  เพราะว่าเราคงจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก  ถ้าเราเอาประโยชน์ (Value) เป็นตัวตั้ง

ที่สำคัญเราต้องรู้จักจังหวะของชีวิตตัวเอง  รู้สึกการสร้างและควบคุมจังหวะชีวิต   ไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่เรียบง่าย  ชีวิตที่ธรรมดาทั่วไป  หรือชีวิตที่โลดโผนจนแทบไม่น่าเชื่อ    ทุกจังหวะชีวิตล้วนถูกการสรรค์สร้างจากความคิดของเราเองภายใต้จังหวะของร่างกายเช่น  จังหวะลมหายใจ  จังหวะการเต้นของหัวใจ  ผสมผสานกับความคิดความรู้สึกจากสมองและจิตใจของเราเอง   จนออกมาเป็นพฤติกรรมของมนุษย์เรา  ส่วนการดำรงชีวิตอยู่ให้รอดในสังคมทั่วไป  เราก็จะต้องปรับจังหวะความคิดและร่างกายของเราให้กับสภาพแวดล้อมและชีวิตอื่นๆในสังคม   เหมือนนักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีต่างๆ ตามจังหวะและท่วงทำนองของเพลงแต่ละเพลงที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมาโดยใครก็ไม่รู้

แต่ถ้าเราผิดจังหวะ  เพลงมันก็เพี้ยน  ไม่ได้ประโยชน์   จังหวะความคิดกำหนดจังหวะของร่างกายและอารมณ์   เหมือนกับกายกับจิตที่สัมพันธ์กัน   ที่เหลือก็คือ เรากำหนดจังหวะชีวิตที่เป็นจังหวะความคิดและจังหวะของร่างกายให้ตรงกับจังหวะของสังคมและสิ่งแวดล้อม  คนเราอยู่ในสังคมได้ก็เพราะปรับจังหวะชีวิตของเราให้เข้ากันหรือสอดคล้องกันกับชีวิตอื่นๆในสังคม  คนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายนั้น  ไม่ใช่เพราะความโชคดีอะไรหรอก  แต่เขารู้จักปรับจังหวะชีวิตของเขาให้กับกับจังหวะของสังคมเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง  หรือสร้างประโยชน์ให้กับสังคมรอบข้าง  มาฟังเสียงจังหวะความคิดของตัวเองเสียใหม่  แล้วจึงปรับจังหวะชีวิตให้เข้าเสียงเพลงของสังคมและโลกรอบๆ ตัวเรา  เพื่อประโยชน์ของคนรอบข้างและตัวเอง   และทำให้สรรพสิ่งบนโลกนี้ร่วมกันบรรเลงเพลงเพลงแห่งโลกอย่างสวยงามและไพเราะตลอดไปและอย่างยั่งยืน

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

Basic – Logistics กับ Logistics Management ต่างกันอย่างไร?

เขียนเรื่องนี้เพื่อเตรียมสอนในวันเสาร์อาทิตย์นี้  ก็เลยต้องกลับไปที่พื้นฐานและแนวคิดอีกครั้งหนึ่ง  เคยจำได้ว่าได้เขียนไปบ้างแล้วในหมวด Basic  คราวนี้ลองเขียนดูให้ละเอียดอีกสักครั้งให้มันแจ่มไปเลย  ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจในความหมายของลอจิสติกส์เสียก่อน (ก็ไม่รู้ว่าอธิบายกันมากี่รอบแล้ว  ก็ลองไปค้นหากันดูในบันทึกของผมใน FB  หมวด Basic นะครับ  เรื่อง  Basic แล้วลอจิสติกส์ คือ อะไร)  ในมุมมองของผมนั้น  Logistics เป็นการไหลของทรัพยากรในการสร้างคุณค่าทั้งหมดในขอบเขตที่เราสนใจ  เช่น  ในองค์กร (จัดหา จนถึงจัดส่งและขาย) ในแผนกหรือฝ่าย (เริ่มต้นจนจบงาน) หรือทั้งอุตสาหกรรม (ต้นน้ำยันปลายน้ำจนถึงมือผู้บริโภค ) โดยเน้นที่คุณค่าในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ลูกค้าต้องการ   ดังนั้นทรัพยากรทั้งหลายจะต้องไหลมาบรรจบกันเพื่อสร้างหรือแปรสภาพให้มีคุณค่าเพิ่มตามที่ลูกค้าต้องการในสภาพที่ถูกเวลาและสถานที่   ถ้าผิดพลาดก็จะเกิดเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าคงคลัง (ของเกิน)  และวัตถุดิบหรือสินค้าขาดแคลน (ของขาด)   ลอจิสติกส์ที่ดีก็คือ การไหลทรัพยากรทั้งหลายให้ผ่านกระบวนการสร้างคุณค่าจนเป็นผลิตภัณฑ์และบริการไปจนถึงมือลูกค้าผู้บริโภคเมื่อต้องการอย่างถูกที่และถูกจำนวน

เมื่อดูอย่างนี้แล้ว  การไหลของทรัพยากรสำหรับการสร้างคุณค่าในองค์กรเพื่อผ่านกระบวนการสร้างคุณค่าจนไปถึงมือลูกค้าจึงเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์   แต่ในองค์กรหนึ่งไม่ได้มีการไหลของทรัพยากรอย่างเดียวหรือชนิดเดียว  และไม่ได้มีกระบวนการเดียว  แต่มีกระบวนการย่อยต่างๆเชื่อมโยงเป็นองค์ประกอบทั้งหมดขององค์กร  การไหลของแต่ละช่วง  ในแต่ละกระบวนการ  ในแต่ละทรัพยากรก็ไม่เหมือนกัน  ดูอย่างไรว่าการไหลนั้นเป็นลอจิสติกส์  ผมให้มุ่งเน้นไปที่ทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของคุณค่าที่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ   หรืออยู่ในกระบวนการธุรกิจหลัก (Core Business Process)  ส่วนการไหลของทรัพยากรอื่นๆนั้นไม่ถือว่าเป็นลอจิสติกส์  เพราะว่าก่อนที่จะพิจารณาว่าลอจิสติกส์อยู่ตรงไหนนั้น   ต้องถามก่อนว่า  “ลอจิสติกส์ของอะไร”   เช่น ลอจิสติกส์ของคำสั่งซื้อในกระบวนการรับคำสั่งซื้อ (Order Processing) โดยมีขอบเขต (end to end) จากลูกค้าไปจนถึงฝ่ายขายที่รับคำสั่งซื้อ   ส่วนคุณค่า (Value) คือ คำสั่งซื้อของลูกค้า  แล้วลอจิสติกส์ของคำสั่งซื้อ (Order Logistics) ก็คือ  คำสั่งซื้อถูกส่งผ่าน (Flow) ไปถึงฝ่ายขายอย่างถูกเวลาและสถานที่และถูกต้องแม่นยำ    เราจะเห็นเอกสารส่งผ่าน Fax เข้ามาดำเนินงานที่ฝ่ายขาย การส่งผ่าน Fax เป็นลอจิสติกส์   หรือเราจะเห็นการส่ง E-mail โดยการส่งผ่าน E-mail เป็นลอจิสติกส์  หรือเราจะเห็นการส่งข้อมูลคำสั่งซื้อผ่าน Web  และการส่งผ่าน Web เป็นลอจิสติกส์   ดังนั้นเวลาพูดถึงลอจิสติกส์นั้นพูดลอยๆ ไม่ได้จะต้องบริบทรองรับเสมอ  เพื่อที่จะกำหนดขอบเขต (end to end) และตัวคุณค่า (Value) ที่จะส่งหรือทำการไหล (Flow)

การส่งผ่านหรือการไหลของคุณค่าระหว่างตันทางกับปลายทางนั้นจะต้องมีการคุยกันหรือประสานงานกันเพื่อส่งและรับให้เกิดความถูกต้องในการส่งและรับคุณค่า  ไม่ใช่แค่ส่งไป  ไม่รู้ว่ามีใครรับหรือไม่   ไม่ใช่แค่รอรับ  แต่ก็ไม่รู้ว่ามีใครส่งมาหรือไม่    อย่างนี้ไม่ใช่ลอจิสติกส์    ถ้าต้นและปลายมีผู้ส่งต่อระหว่างทางหลายคน   คนเหล่านี้ทุกคนก็จะต้องคุยกันประสานงานกันเห็นสถานะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางในลักษณะโซ่อุปทาน (Supply Chain)   ไม่ใช่แค่ส่งต่อแล้วเสร็จ   หมดภาระแล้ว   แต่จะต้องติดตามสถานะให้ถึงเป้าหมาย   เพื่อให้คุณค่าหรือสิ่งที่ส่งไปมานั้นถึงปลายทางอย่างถูกเวลาและสถานที่
                   
ที่นี้ถ้าระหว่างต้นทางกับปลายทาง  มีการส่งหรือมีการไหลของทรัพยการหลายๆอย่าง  แล้วตรงไหนเป็นลอจิสติกส์    ให้ดูที่ตัวอย่างเดิมลอจิสติกส์ของคำสั่งซื้อ  เป้าหมายต้องการส่งคำสั่งซื้อไปให้ฝ่ายขาย   ให้มุ่งที่การไหลของคำสั่งซื้อเท่านั้น    โดยที่การโทรศัพท์คุยกัน  การประสานงานกันและข้อมูลต่างๆที่ไม่ใช่คำสั่งซื้อเพื่อให้เกิดการส่งคำสั่งซื้อที่ถูกต้องนั้นไม่ใช่ลอจิสติกส์ครับ   แต่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการลอจิสติกส์  เพราะว่าฝ่ายขายจะเอาเฉพาะคำสั่งซื้อเท่านั้นที่ไปดำเนินการต่อ    นี่ยังเป็นแค่กิจกรรมลอจิสติกส์นะครับ   ยังไม่ใช่การจัดการลอจิสติกส์  เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ว่าลอจิสติกส์เป็นอะไรหรือมีอะไรบ้างนั้น   จะต้องเป็น ลอจิสติกส์ X  ถ้าไม่บอก X มา ผมจะเข้าใจว่ากิจกรรมการไหลของคุณค่าตั้งแต่จัดซื้อจนถึงจัดส่ง หรือไม่ผมก็จะเข้าใจว่าเป็นการไหลของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำจนถึงมือผู้บริโภค  ดูแล้วมันจะวุ่นวายขนาดไหน

ส่วนเรื่องของการจัดการนั้นไม่ยาก  เพราะทุกการจัดการนั้นถ้าใช้คำว่าจัดการเหมือนกันแล้ว  ก็ควรจะมีกระบวนการคิดเหมือนกัน    เพียงแต่จะแตกต่างกันออกไปตามบริบท  เช่น  การจัดการโซ่อุปทาน  การจัดการลอจิสติกส์  การจัดการการขาย  การจัดการการตลาด  ฯลฯ  แล้วการจัดการคืออะไร?   ผมมองการจัดการเป็นกระบวนการ  มีขั้นตอนและเป็นวัฏจักร  เป้าหมายก็เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทและสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้สิ่งที่จัดการนั้นอยู่รอด  เช่น  ทำให้มีอยู่คงที่เท่าเดิมไว้   ถ้าไม่จัดการอาจจะลดลง ทำให้มากขึ้น ถ้าไม่จัดการก็เท่าเดิมหรือลดลง ทำให้ลดลง ถ้าไม่จัดการก็เท่าเดิมหรือมากขึ้น   สุดท้ายแล้วทุกคนทุกชีวิตต้องมีการจัดการ

หัวใจของการจัดการ คือ การตัดสินใจ (Decision Making)  เพื่อให้เกิดคุณค่าที่เราต้องการ   ผมจึงมองกระบวนการการจัดการเป็น  (1) การวางแผน  (2) การดำเนินงาน  (3) การวัดผลและควบคุม  และ (4) การปรับปรุง  ทั้งสี่ขั้นตอนนี้เป็นวัฏจักรของการจัดการ   เราคิดเราตัดสินใจอยู่ที่ (1) การวางแผน    เราสร้างเราทำ  อยู่ที่ (2) การดำเนินงาน     แล้วเราก็ (3) วัดผลและควบคุมให้อยู่ในเป้าหมาย      แต่ถ้าไม่ตรงใจลูกค้าหรือเป้าหมายเปลี่ยนไป  เราก็ต้อง (4) ปรับปรุงใหม่เพื่อไปวางแผนใหม่  ดำเนินการใหม่  วัดผลและควบคุมใหม่    และอาจจะปรับปรุงใหม่อีกรอบ  เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น  การจัดการ X  มีกระบวนการดังนี้  (0) เราต้องรู้จักว่า X คืออะไร   อะไรเป็น Input ของ X  และ output ของ X  หรือพูดง่ายๆ ว่าเราต้องเข้าใจกระบวนการ X   เป้าหมายต้องได้ประโยชน์จาก X     ให้เริ่มที่ (1) การวางแผน X เป็นการตัดสินใจโดยการสร้างทางเลือกต่างๆ ของกระบวนการ X แล้วเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ข้อจำกัด ไม่ใช่ดีที่สุด  ช่วงการวางแผนจะมีแต่ข้อมูลและคนที่ทำการตัดสินใจ  เพื่อนำไปสู่ (2) การดำเนินการกระบวนการ X  ซึ่งจะประกอบไปด้วยทรัพยากรต่างๆ ที่ถูกกำหนดมาจากการวางแผน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์หรือคุณค่าจากกระบวนการ X สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นเป้าหมายของการจัดการก็อยู่ที่ผลลัพธ์ของกระบวนการ X  เพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์  ขั้นตอนต่อไป (3)  เป็นการวัดผลและควบคุมการดำเนินการกระบวนการ X ให้ได้เป้าหมายอยู่อย่างสม่ำเสมอ    สุดท้ายเมื่อเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป  ก็จะต้องมี (4) การปรับปรุงกระบวนการ X ใหม่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่  และก็เริ่มต้นวัฏจักรใหม่  ทั้งหมดนั่นก็ คือ กระบวนการการจัดการ (Management Process)

ถ้าเป็นเช่นนั้น  การจัดการลอจิสติกส์จึงไม่ใช่แค่กระบวนการลอจิสติกส์ธรรมดา   มันมีกระบวนการจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง  เพื่อให้กระบวนการลอจิสติกส์หรือกิจกรรมลอจิสติกส์นั้นมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น  การจัดการลอจิสติกส์จึงประกอบไปด้วย (1) การวางแผนลอจิสติกส์ (Logistics Planning)   (2) การดำเนินงานกระบวนการลอจิสติกส์ (Logistics Execution)   (3) การวัดผลและควบคุมลอจิสติกส์ (Performance Measurement)   (4) การปรับปรุงกระบวนการลอจิสติกส์ (Logistics Improvement)  อย่าลืมว่า ผลลัพธ์ของการจัดการต้องการ Output จากขั้นตอนที่ 2 นะครับ   ทรัพยากรในการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการอยู่ในขั้นตอนที่ 2  ลูกค้าต้องการ Output จากขั้นตอนที่ 2 จากการดำเนินงานไปใช้ให้เป็นประโยชน์

ตัวอย่างเช่น  ลอจิสติกส์ขนส่ง (Transport Logistics)   และการจัดการลอจิสติกส์ขนส่ง (Transport Logistics Management)  จะประกอบไปด้วย   (1) การวางแผนลอจิสติกส์ขนส่ง ซึ่งเป็นการวางแผนการขนส่งที่นอกจากใช้ข้อมูลขององค์ประกอบในกระบวนการขนส่งแล้ว  ยังใช้ข้อมูลของกระบวนการก่อนหน้าการขนส่งและกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการขนส่ง  ไปจนถึงลูกค้าผู้ที่ได้รับคุณค่าไปใช้ประโยชน์   หมายความความว่า  จะต้องมีภาพใหญ่ End to End หรือความเป็นโซ่อุปทานที่มีการขนส่งนี้เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย   (2) การดำเนินงานในกระบวนการลอจิสติกส์ขนส่ง  ก็เป็นกิจกรรมการขนส่งธรรมดานี่แหละครับ  แต่เป็นการขนส่งที่อยู่ภายใต้แผนลอจิสติกส์ขนส่งที่ถูกมองอย่าง End to End หรือมองทั้ง Supply Chain   ดังนั้นในการดำเนินงานนี้ก็จะสามารถเห็นข้อมูลและสถานะการขนส่งได้จากกระบวนการก่อนหน้าการขนส่งและกระบวนการที่ต่อจาการขนส่ง  นี่คือ สิ่งที่ลอจิสติกส์ขนส่ง (Transport Logistics) แตกต่างจากการขนส่ง (Transport)   (3) การวัดผลและควบคุมการกิจกรรรมลอจิสติกส์ขนส่งให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือแผนที่ได้วางไว้    (4) ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงของความต้องการลูกค้าในเรื่องการขนส่ง  กระบวนการลอจิสติกส์ขนส่งก็จะต้องถูกปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้าแล้วจึงกลับเริ่มต้นที่ ขั้นตอนที่ 1 ของการจัดการในวัฏจักรใหม่  แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของลูกค้า  และกระบวนการลอจิสติกส์ขนส่งยังมีทรัพยากรเพียงพอในการรองรับความต้องการ  ก็แค่รักษากระบวนการลอจิสติกส์ขนส่งไว้ให้ตรงตามเป้าหมายหรือแผนไว้

จากที่ผมได้เล่าให้ฟังมานั้น  ลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์นั้นไม่เหมือนกัน    กิจกรรมลอจิสติกส์นั้นอยู่ภายในกิจกรรมการจัดการลอจิสติกส์   แล้วถ้ากล่าวว่า ลอจิสติกส์แบบลอยๆ  ก็ไม่ได้เหมือนกัน    น่าจะกำหนดไปเลยว่า   ลอจิสติกส์ X  และการจัดการลอจิสติกส์ X  ถ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุ X มาให้   เราน่าจะหมายถึง  ลอจิสติกส์ขององค์กรหนึ่งๆ ที่ผลิตสินค้าและบริการออกมา  End to End หรือ Supply Chain  ก็คือ จัดซื้อจนถึงจัดส่งและขาย   ลองไปนึกภาพดูนะครับว่า  เราจะสามารถแยกแยะกิจกรรมต่างๆ ออกมาเพื่อรวมกลับหรือบูรณาการ (Integrate) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร   ที่จริงแล้วกิจกรรมเหล่านี้มีอยู่แล้ว ถูกแยกออกมาเป็นกิจกรรมเดี่ยวๆ อยู่แล้ว   แต่เราไม่ได้บูรณาการเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ (Systematic) และจัดการในมุมมองเชิงระบบ (Systemic) เท่านั้นเอง   จึงทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

My Journal – เราทุกคน คือ ผู้กล้า...ไม่ต้อง Got Talent ก็ยังได้

ระยะหลายอาทิตย์ที่ผ่านมากระแส Got Talent มาแรงตามกระแสโปรโมต  ด้วยกลวิธีที่ทำให้คนสนใจมีเรตติ้งเพิ่มคนดูและติดตาม  ผมเองก็ดูบ้างไม่ได้ดูบ้างตามประสา  ผมเห็นแนวคิดและ Slogan ของรายการ เขาจะเน้นไปในแนวทางว่า  ถ้าท่าน “กล้า” มาแสดงในรายการก็ประสบผลสำเร็จได้   บางคนก็มีพรสวรรค์จริง  จึงกล้ามาแสดงบางคนมีแต่ความหวังและความกล้า  แต่ยังไม่เห็นพรสวรรค์เท่าใดนัก   แต่ทุกคนต้องการไปให้ถึงรางวัลนั้น  ดูไปแล้วเมืองไทยเราเองก็มีคนดีคนเก่งเยอะอยู่   มีคนเก่งๆ ที่มีพรสวรรค์อีกเยอะทีเดียว  แต่เราหาไม่เจอ  เราไม่มีเวทีให้เขาได้แสดง  ใครจะไปรู้ว่าขณะที่เราเดินอยู่ข้างถนน  เราอาจจะเดินสวนหรือเดินชนกับผู้กล้าที่มีพรสวรรค์ในด้านใดด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้  แต่เขาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้มีโอกาสในการแสดงออกถึงพรสวรรค์เหล่านั้นก็ได้  ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน  ที่ทำงาน  ที่โรงเรียน  หรือเวทีอื่นใดๆ
               
แต่ถ้าดูไปดูมาแล้ว  เราทุกคนก็มีพรสวรรค์กันทั้งนั้นแหละครับ  ผมว่าธรรมชาติได้คัดสรรพวกเราทุกคนมาแล้ว (Natural Selection)  พวกเราจึงอยู่รอดมาบนโลกนี้ได้    พวกเราคือ ผู้ชนะ  เราคือ ผู้กล้า   เรากล้าเรื่องอะไรบ้างล่ะ   เราถูกคัดสรรจากธรรมชาติมาเพื่อที่จะได้สร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับธรรมชาติ ให้โลกและสังคมที่เราอยู่   เพียงว่าเราจะต้องอยู่ให้ถูกที่และถูกเวลา   คนที่ประสบผลสำเร็จได้นั้น  ก็เพราะพวกเขาอยู่อย่างถูกที่ถูกเวลา ได้ใช้พรสวรรค์ที่มีให้เกิดประโยชน์  ทุกอย่างเป็นไปตามกฎของธรรมชาติและวัฏจักรที่เวียนวนกันไป    ทุกคนที่มีลมหายใจอยู่ก็มีบทบาทที่สำคัญในโลกนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่จะรอคิวแสดงหรือเล่นตามบทบาทที่ถูกกำหนดว่าเมื่อไหร่   จนกว่าจะถึงวาระหรือหมดหน้าที่ไป    บางทีเวที Got talent นี้เองกำลังทำหน้าที่ให้ผู้กล้าทั้งหลายได้พบได้เจอกับสิ่งที่เขามีพรสวรรค์อย่างถูกเวลาถูกสถานที่   คนที่ไม่ใช่ก็ถูกคัดสรรออกไป  นั่นเป็นกฎของธรรมชาติ  ผู้ที่ไม่ถูกคัดสรรหรือที่เรียกว่าผู้แพ้ก็ไปหาเวทีใหม่  ไปรับการคัดสรรใหม่ให้อยู่อย่างถูกเวลาและสถานที่  ก็ดิ้นรนกันไป  กว่าที่ผู้กล้าที่ชนะทุกคนจะมาถึงจุดนี้ได้  เราอาจจะไม่รู้ว่า เขาผ่านมาแล้วกี่เวที  ล้ม พ่ายและอับอายมาแล้วกี่ครั้ง   แต่เขาก็ยังก้าวมาถึงเวทีนี้  หรือมาถึงวันนี้และมีลมหายใจถึงวินาทีนี้
                   
ผมเชื่อว่า  ทุกคนในโลกนี้คือ ผู้กล้า  ทุกคนมีพรสวรรค์ (Talent) อยู่ในตัวของเราทุกคน   ทุกย่างก้าวที่เราก้าวเท้าออกไปก็เป็นแต่ละเวทีของเวทีชีวิต  เพื่อที่จะไปให้ถึงที่หมายของแต่ละชีวิต   ทุกคนในโลกนี้ คือ   ผู้กล้า  ผู้ที่กล้าจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อไปให้ถึงที่หมายมั่น   ผู้กล้า  ผู้ที่กล้าจะก้าวถอยหลังกลับไปตั้งหลักใหม่เมื่อล้มลงผู้กล้า  ผู้ที่กล้าจะหยุดก้าวเมื่อรู้ว่าเดินมาผิดทาง  เมื่อเราคือ ผู้กล้าแล้ว    ทำไมล่ะที่เราจะไม่ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างผู้กล้าเพื่อดำเนินพันธกิจของชีวิตที่แต่ละคนมีมาให้บรรลุผลสำเร็จดังที่หวังไว้

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

Basic : Logistics แตกต่างจาก Operations Management (OM) อย่างไร?

ถ้าเราไปดูหนังสือ Operations Management และ Logistics Management ในระยะ 10-15 ปี ที่ผ่านมา เราอาจจะพบว่า มันเหมือนกันมาก  แล้วมันต่างกันอย่างไร  เพราะว่าเราก็เรียกชื่อต่างกัน    พอได้มีโอกาสไปสอนหนังสือ เรื่องราวเบื้องต้นของ Logistics and Supply Chain Management อีกครั้งหนึ่ง    ก็ยิ่งจะต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเข้าไปอีก  เพราะว่าน่าจะมีคำถามเด็ดๆ ออกมาจากชั้นเรียนบ้าง  เพราะว่าสองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียแล้ว    ยิ่งวิชา OM หรือ Operations Management ยังคงอยู่ในท้องตลาดวิชาการด้วยแล้ว   แล้วเราจะหาความแตกต่างระหว่าง การจัดการ Inventory ในมุมลอจิสติกส์  และในมุมของ Operations Management ได้อย่างไร
                       
หลายๆ แห่งในระดับปริญญาโท MBA ก็เรียนกันทั้งสองวิชาเลย  ทั้ง Logistics และ OM  ซึ่งก็มีเนื้อหาวิชาและหัวข้อแทบจะเหมือนกัน  แน่นอนครับ  เหมือนกัน   กลับไปดูหนังสือ Textbook ฝรั่งก็เช่นกัน   มีหัวข้อเหมือนกัน  แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายได้ชัดเจนเท่าไรนัก   ผมก็พยายามจะหาเหตุผลและกลับไปดู Definitions  ต่างๆ ให้ครบถ้วนมากขึ้น   เพราะถ้าบอกกันว่า  Inventory Management ในลอจิสติกส์กับ  Inventory Management ใน OM  นั้นไม่เหมือนกันก็ไม่ใช่   เหมือนกันก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน   นั่นแสดงว่าจะต้องมีส่วนที่เหมือนกัน  และแตกต่างกัน   แต่ผมว่ามีส่วนที่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่เลยล่ะครับ
สิ่งที่เหมือนกันอย่างแน่นอนก็ คือ การสร้าง Model ต่างๆ ในการตัดสินใจแต่ละเรื่องสำหรับ Functions ต่างๆ ใน OM นั้นในหนังสือ Logistics และ OM นั้นแทบจะเหมือนกันก็ว่าได้  ประเด็นในหนังสือ OM จะเน้นเป็น Function ใน OM หรือใน Supply Chain ว่ามีอะไรบ้าง  แต่ละเรื่องมีการสร้าง Model การตัดสินใจอย่างไรบ้าง ใช้ข้อมูลอะไร?   OM จะมอง Functions เป็น Silos   เป็นเรื่องๆ ไป แต่ในมุมลอจิสติกส์นั้นควรจะเน้นว่า  ข้อมูล Input ที่ใช้ในการ Executing  Model นั้น เชื่อมโยงและเชี่อมต่อกันมาจากไหนและอย่างไร   และผลลัพธ์ Output ของ Model  จะไปเป็น Input ให้อีก Model หนึ่งอย่างไร   จะตอบสนองและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร
                   
Logistics จะมองการเชื่อมโยง Functions ใน OM ให้เป็น Process หรือ Streamline โดยที่มี Customer Demand และ Customer Value เป็น ตัวผลักดัน   เวลาเราเรียน OM  เราเรียนเป็นเรื่องๆ    แต่ในเวลาปฏิบัติงานจริงๆ  เราปฏิบัติเป็น Process ที่มี Functions ต่างๆที่ถูกเชื่อมต่อกัน    แต่ในตำรา  OM  ไม่ได้เน้นมากนัก หรือไม่ได้เน้นเลย  ส่วนมากจบในบทๆหนึ่ง  ในขณะเดียวกัน  ผมเองก็ยังไม่เห็นหนังสือลอจิสติกส์เล่มไหนที่เน้นไปที่กระบวนการอย่างที่ผมได้กล่าวไป เพราะอ่านไปอ่านมาก็เหมือนๆกับหนังสือ OM เล่มหนึ่ง
                     
ในชีวิตจริงเราก็ไม่ได้เน้นแบบแนวคิดลอจิสติกส์กันเลย   เราทำแบบ OM  ที่เราได้เรียนเป็นเรื่องๆ    แล้วต่างคนก็ต่างทำ   คนทำ Demand ก็ทำไป   ไม่ต้องคุยกับ  คนทำ Supply     ไม่ได้ทำงานร่วมกัน (Collaboration) ชีวิตจริงมันไม่ได้เป็นกระบวนการที่ดีหรือมีประสิทธิภาพเลย   จึงต้องมีแนวคิดลอจิสติกส์หรือแบบกระบวนการที่มองเป็น End to End มากขึ้น
                     
ดังนั้น  OM  กับ Logistics นั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่องเดียวกัน   เพียงแต่ใส่มุมมองแบบกระบวนการและความเป็นองค์รวม (Holistic) ลงไปใน OM  เราก็จะได้ความเป็นลอจิสติกส์ขึ้นมาก  ให้สังเกตว่า  ความเป็นลอจิสติกส์นั้น  ทำงานร่วมกันมากขึ้น   ลูกค้าตอบสนองมากขึ้น   กำไรมากขึ้นต้นทุนลดลง  แต่ก็อย่าลืมว่า  นั่นเป็นเพราะมีการจัดการโซ่อุปทานกันมาก่อน

ประชุม 6 สถาบันฯ -- 1.มุมมองความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

มุมมองความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

เรื่องความมั่นคงแห่งชาติโดยทั่วไปจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ เรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม แต่ในโลกยุคใหม่สังคมก็ถูกคุกคามได้ด้วยภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งที่ก็ยังมีความปลอดภัยในชีวิตและความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะมุมไหนๆก็เป็นความมั่นคงเหมือนกันและถูกทั้งหมด เพียงแต่ว่าเราจะสามารถหาประโยชน์จากมุมมองของความมั่นคงแห่งชาติในความเป็นองค์รวม (Holism) ที่บูรณาการทุกภาคส่วนได้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้อย่างไร? ทุกๆหน่วยงานต่างก็มีมุมมองในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติตามภาระหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ความมั่นคงแห่งชาติเป็นเรื่องของทุกคน ของทุกภาคส่วน และของทุกหน่วยงานในทุกระดับชั้น ความมั่นคงแห่งชาติเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าชาติไม่มีความมั่นคงแล้ว ก็คงจะไม่มีชาติหรือเกิดความสั่นคลอนในความเป็นชาติซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของคนในชาติได้

ความมั่นคงแห่งชาติสามารถพิจารณาออกเป็น 2 ส่วน คือ ความมั่นคงและความเป็นชาติ ความมั่นคงเป็นเรื่องของศักยภาพของชาติในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะอยู่รอดหรือปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดในท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัต (Dynamics) รุนแรง (Severe) และไม่สามารถคาดการณ์ได้ (Unpredictable) ความมั่นคงอาจจะไม่ใช่เรื่องของความแข็งแรงหรือแข็งแกร่งอีกต่อไปแล้ว ยิ่งในอนาคตต่อไปนี้ใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่อยู่รอด (Survival) และคงอยู่ได้ (Existing) ส่วนคำว่าชาตินั้น ปัจจุบันนี้อาจจะไม่ได้มีความหมายถึงกลุ่มคนที่จะต้องเป็นเชื้อชาติเดียวกันแล้ว เพราะว่าความเป็นโลกาภิวัฒน์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เราทุกคนเป็นประชากรของโลกเดียวกัน แต่มนุษย์เราก็ยังมีการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ เป็นชาติต่างๆ เป็นประเทศต่างๆ ซึ่งอาจจะเริ่มจากความเป็นเชื้อชาติเดียวกัน แต่ในปัจจุบันหลายประเทศเกิดจากการรวมกลุ่มกันจากหลายเชื้อชาติที่มารวมกันเป็นชาติ เพราะว่ามีจุดมุ่งหมายหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถ้าคนในชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีชีวิตอยู่ร่วมกันจนเป็นสังคมที่มีระบบการจัดการตัวเองได้ (Self-Organization) สังคมหรือประเทศชาตินั้นก็อยู่รอดได้

ความมั่นคงของชาติในอีกมุมมองหนึ่งที่นอกเหนือจากการป้องกันประเทศ คือ ความมั่นคงของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลที่จะทำให้เกิดเป็นสังคมที่สามารถปรับตัวได้กับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันที่มีลักษณะที่ซับซ้อน (Complex) และปรับเปลี่ยน (Adaptive) อยู่ตลอดเวลา หรือที่เรียกว่ามีความเป็นพลวัต (Dynamics) ดังนั้นการสร้างและการดำรงไว้ของความมั่นคงแห่งชาติ ก็คือ การสร้างและพัฒนาสังคมที่มารวมตัวกันเป็นชาติให้มีลักษณะเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวได้ (Complex Adaptive System : CAS)

ระบบ (System) ในความหมายทั่วไปจะประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยต่างๆ (Components) หรือระบบย่อยต่างๆ (Sub-System) ภายในที่ถูกเชื่อมโยงกัน (Connectedness) โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นความเป็นระบบนั้นจะหายไป ความเป็นระบบที่สร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับมนุษย์เรานั้นจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ (Components) และการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (Interactions) ระหว่างองค์ประกอบภายในระบบ ถ้าขาดความเชื่อมโยงและขาดการมีปฏิสัมพันธ์กัน ความเป็นระบบก็จะไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นแค่สิ่งของที่ถูกนำมากองรวมกัน (Collections) ไม่ได้เกิดเป็นประโยชน์ใหม่หรือคุณค่าใหม่ (Values) หรือเป็นแค่กลุ่มคนที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร การเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์กันขององค์ประกอบในระบบหรือสังคมที่สร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ร่วมกัน คือ พื้นฐานของการบูรณาการ (Integration)

ถ้าระบบที่ไม่ซับซ้อนมาก เราก็สามารถที่จะเข้าใจองค์ประกอบและความสัมพันธ์ภายในระบบได้ จึงทำให้เราสามารถควบคุมระบบได้ แต่ส่วนมากแล้วระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้น มนุษย์เราจะเป็นคนกำหนดและออกแบบระบบนั้น มนุษย์จึงมีความเข้าใจองค์ประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งหมดของสิ่งนั้นหรือระบบนั้นๆ มนุษย์เราจึงสามารถควบคุมระบบได้ทั้งหมด แต่ระบบหลายระบบทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาและที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เราก็อาจจะยังไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด เพราะเรายังไม่สามารถเข้าใจถึงองค์ประกอบทั้งหมดและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งหมด ระบบในอดีตนั้นจะดูเรียบง่าย (Simple) เพราะว่าเรามีความเข้าใจในองค์ประกอบและเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบนั้น

ในหลายๆระบบนั้นเรามีความเข้าใจและได้เห็นพฤติกรรมของความสัมพันธ์ขององค์ประกอบนั้นในลักษณะที่เป็นเส้นตรง (Linear) หรือเป็นเหตุเป็นผลโดยตรง เช่น เราใส่ปัจจัยเข้า (Input) ไปในระบบน้อยก็ควรจะได้ปัจจัยออก (Output) มาน้อย ใส่ปัจจัยเข้าไปในระบบมากก็ควรจะมีปัจจัยออกมามาก มีความแปรผันกันโดยตรงระหว่างปัจจัยเข้าและปัจจัยออก เราสามารถคาดการณ์ (Predict) พฤติกรรมของระบบได้ ซึ่งในความเป็นจริงในปัจจุบันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพียงแต่สิ่งที่เราได้รับรู้หรือเห็นนั้นเป็นไปในลักษณะที่เป็นเชิงเส้น (Linear) เราจึงเรียกว่าเป็นระบบแบบเรียบง่าย (Simple)

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันได้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความรู้สึกนึกคิดและความสามารถในการตัดสินใจของคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งจะมีผลต่อโครงสร้างและพฤติกรรมของสังคมโดยเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม รวมทั้งความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสารในการติดต่อสื่อสารจึงทำให้การตัดสินใจของคนในสังคมเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว สังคมต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นผลต่อเนื่องทำให้สภาวะแวดล้อมของสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนและรวดเร็วเช่นกัน จากสังคมดั้งเดิมที่เป็นระบบที่ง่ายๆ (Simple) มาเป็นสังคมยุคใหม่ที่เป็นระบบที่ซับซ้อนขึ้น (Complex) ซึ่งหมายถึง เป็นระบบที่ยากต่อการคาดการณ์หรือไม่สามารถคาดการณ์ได้ (Unpredictable) หรือว่ามีลักษณะพฤติกรรมเป็นแบบไม่เป็นเชิงเส้น (Non-linear) ซึ่งหมายถึง เราใส่ปัจจัยเข้า (Input)ไปในระบบน้อย แต่กลับมีปัจจัยออก (Output) มามากกว่า หรือเราใส่ปัจจัยเข้าไปในระบบมากแต่กลับได้ปัจจัยออกมาน้อยกว่า หรือระบบมีพฤติกรรมลักษณะโกลาหลวุ่นวายจนควบคุมไม่ได้ ที่เรียกว่า Chaos

ระบบที่เป็นสังคม

ในระบบที่มีความสามารถในการคิดและตัดสินใจเองได้ ระบบก็จะปรับตัวเอง (Self Organization) เพื่อความอยู่รอด ทำให้ระบบนั้นมีความสามารถในการปรับตัว (Adaptive) ดังนั้นสังคมที่เราอยู่นี้จึงประกอบไปด้วยคนที่มีสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิดและสามารถเอาตัวรอดได้หรือมีปัญญา (Intelligence) สังคมในปัจจุบันจึงเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวเองได้ (Complex Adaptive System : CAS) ถ้าเราจะจัดการกับสังคมของเราหรือจะสร้างความมั่นคงให้กับชาติซึ่งเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยสังคมขนาดเล็กๆมากมายอย่างสลับซับซ้อนและมีความเป็นพลวัตสูง แต่ละสังคมและคนในสังคมก็ต้องปรับตัวเองอย่างอิสระภายใต้กฎของสังคม เราคงจะต้องกลับมาทบทวนวิธีการคิดและวิธีการมองความมั่นคงของชาติในมุมมองใหม่ในสภาวะแวดล้อมปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเครื่องมือในการวิเคราะห์ (Analysis)และการสังเคราะห์(Synthesis) ด้วยการมองแบบองค์รวม (Holistic) ไม่ใช่เป็นการมองแบบแยกส่วน (Reductionism) เหมือนในปัจจุบันที่ยังแยกกันคิด แยกกันทำ แล้วจึงการนำมารวมกัน (Collections) แต่ยังไม่ได้เป็นนำมาบูรณาการกัน (Integration) อย่างเป็นองค์รวม

ในระบบทั่วไปจะมีองค์ประกอบภายในที่มีการปฏิสัมพันธ์กัน (Interactions) อย่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน (Same Purpose) ผลลัพธ์ของระบบนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบย่อยแต่ละองค์ประกอบและยังรวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบย่อยของแต่ละองค์ประกอบด้วย ชาติเป็นสังคมที่ประกอบด้วยสังคมย่อยๆและแต่ละสังคมก็ประกอบไปด้วยปัจเจกบุคคลแต่ละบุคคล สังคมจึงเป็นระบบ (System) ที่แตกต่างจากระบบอื่นๆที่เกิดจากธรรมชาติหรือระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น เพราะว่าองค์ประกอบของสังคมคือ มนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิดและมีสติปัญญา (Intelligence) ที่สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่มีผลต่อตัวเอง (Self Interest)ได้ และมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal) ซึ่งจะมีผลต่อสังคมหรือระบบโดยรวมด้วย

องค์รวมของความมั่นคงแห่งชาติ

ดังนั้นเราจึงต้องมองความมั่นคงของชาติอย่างเป็นองค์รวม(Holism)โดยมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของสังคมที่มนุษย์คนนั้นอาศัยอยู่และขยายผลไปสู่ความมั่นคงของชาติที่ประกอบไปด้วยสังคมย่อยต่างๆ สิ่งที่เป็นพื้นฐานของปัจเจกบุคคลที่เราต้องพิจารณา ก็คือ การดำรงชีวิตอยู่ของคนในสังคม ให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงาน คนหรือประชาชนในชาติต้องได้ผลประโยชน์ (Values) ในการดำรงชีวิต และต้องสร้างผลประโยชน์ให้กับส่วนรวมด้วย ภาพที่ 1 -1 แสดงให้เห็นถึงภาพรวมขององค์ประกอบของความมั่นคงแห่งชาติในบริบทของสังคมโลก ยุทธศาสตร์ชาติประกอบไปด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ คือ 1) การเมืองภายในประเทศ 2) การเมืองต่างประเทศ 3) เศรษฐกิจ 4) สังคมจิตวิทยา 5) การป้องกันประเทศ 6) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7) การพลังงาน 8) ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 9) เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ICT)



จากภาพที่ 1-1 คนในชาติจะต้องมีกระบวนการทางสังคม (Social Process) ซึ่งมีกฎหมายที่ควบคุมและพัฒนาคนในสังคม เราสามารถพิจารณาประเด็นด้านสังคมจิตวิทยาเป็นองค์ประกอบด้านความมั่นคงที่สำคัญเป็นแกนกลางของความมั่นคงแห่งชาติได้ เพราะถ้าคนในชาติอ่อนแอเสียแล้ว ชาติก็อ่อนแอเช่นกัน อาวุธยุทธโธปกรณ์ต่างๆก็ไร้ความหมาย ประเด็นด้านเศรษฐกิจจะมาช่วยให้คนในสังคมได้จัดสรรและสร้างสมดุลทรัพยากรต่างๆในการสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและสังคม เนื่องจากสังคมมนุษย์เป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวเองได้ สังคมย่อมจะเกิดแรงกดดันในการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในสังคม ระหว่างสังคม และจากสังคมของชาติอื่นๆในสังคมโลก

สังคมในโลกนี้จริงๆแล้วเป็นระบบเปิด (Open System) เพราะทุกคนอยู่ในระบบโลกเดียวกัน ในเชิงกายภาพเราทุกคนในโลกนั้นเชื่อมโยงกันหมด เพียงแต่เราสร้างเส้นแบ่งกั้นกันในเชิงสังคม (Social Boundary) เท่านั้นเพื่อผลประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรในการดำรงชีวิตและความสุขสะดวกสบายของคนในแต่ละสังคม ดังนั้นคนในสังคมจะต้องมีข้อตกลงกันในสังคมและในชาติเพื่อให้เกิดการจัดการสังคมให้เกิดความสมดุล ประเด็นเรื่องการเมืองในประเทศจึงเข้ามามีบทบาทในการจัดการสังคมให้มีประสิทธิภาพและให้มีความสมดุล รวมทั้งประเด็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงสังคมในชาติกับสังคมชาติอื่นๆทั่วโลกเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งสรรผลประโยชน์ร่วมกัน เรื่องของการเมืองนั้นจึงเป็นการสร้างข้อตกลงระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง ทั้งนี้ก็เพื่อลดแรงกดดันและสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งภายในชาติและระหว่างชาติอื่นๆด้วย ในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในชาติ

กระบวนการทางสังคมจะทำให้คนในชาติเกิดการพัฒนา เมื่อคนในชาติเกิดการพัฒนาแล้ว สังคมก็จะพัฒนาตามไปด้วย อย่างไรก็ตามคนแต่ละคนมีระดับของศีลธรรมและจริยธรรมที่แตกต่างกันไป ปัญหาสังคมจึงเกิดขึ้นจนเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาและยกระดับของสังคม ดังนั้นการทำงานร่วมกัน (Collaborations) หรือที่เราสามารถเรียกว่าเป็นการสมานฉันท์จึงเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมและในชาติ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด โดยไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง การสมานฉันท์จึงไม่ใช่การที่จะยอมรับข้อตกลงใดๆ เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือการยอมกันเพื่อให้สงบ แต่เป็นข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์โดยส่วนรวมในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตนและกลุ่มหรือพวกพ้อง

นอกจากนั้นประเด็นของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประเด็นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเด็นของสิ่งแวดล้อม ประเด็นของพลังงาน ก็เป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนกระบวนการทางสังคมและกระบวนการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคลให้คงอยู่ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม
ประเด็นสุดท้าย คือ ประเด็นของการป้องกันประเทศซึ่งเป็นประเด็นที่เริ่มจากการใช้กำลังเข้าควบคุมสังคมด้วยการใช้การทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามหรือคุกคามฝ่ายตรงข้าม เพื่อไม่ให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต กระบวนการในการป้องกันประเทศจะถูกใช้เมื่อประเด็นทางด้านความมั่นคงอื่นๆล้มเหลวลง เช่น ไม่สามารถเจรจากันระหว่างประเทศได้ การขาดแคลนทรัพยากรจนกลายเป็นการแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ความเข้าใจกันระหว่างคนในสังคมระหว่างชาติหรือภายในชาติ เพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงพื้นฐานให้กับชาติก่อนการดำเนินการในด้านอื่นๆเพื่อให้สังคมหรือชาติกลับคืนสู่ความมั่นคง
ในอดีตนั้นการป้องกันประเทศจะเน้นไปที่การป้องกันภัยคุมคามทางกายภาพ การคุกคามด้วยอาวุธสงครามและการทำลายล้าง แต่ปัจจุบันรูปแบบของภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิตินอกเหนือจากการทำสงครามทำลายล้างแล้ว ความมั่นคงของชาติยังถูกคุกคามในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและเรื่องของพลังงาน

ดังนั้นความมั่นคงของชาตินั้นจึงไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เป็นองค์ประกอบของสังคมในชาติ ความมั่นคงของชาติเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ ทุกองค์ประกอบที่เป็นองค์ประกอบของชาติย่อมมีผลต่อความมั่นคงของชาติ เพียงแต่ว่าภัยคุกคามจะมาในรูปแบบไหน ในบริบทไหนบ้าง และเราได้รับรู้ถึงความเป็นองค์รวม (Holism) ของความเป็นชาติอย่างไรบ้าง เราเข้าใจความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของความเป็นชาติอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะทำให้ชาติของเรานั้นสามารถมีความเป็นพลวัต (Dynamics) ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัต (Complex and Dynamics Environment) เพื่อให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของสังคมต่างๆจนกลายเป็นความมั่นคงของชาติในที่สุด


การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ : การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 23


วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

Basic : Logistics Transport และ Transport Logistics นั้นต่างกันอย่างไร ?

ที่จริงแล้วผมก็หากินกันอยู่ตรงนี้ล่ะครับ  ได้เห็นได้ยินกันมานานนับสิบ  เขียนกันอย่างนี้พูดกันอย่างนี้มานานแล้ว  ผมเพิ่งจะมาคิดตีความและทำความเข้าใจในความหมายและการใช้งานของสองคำนี้      ไม่ไงจะประดิษฐ์คำว่าลอจิสติกส์ขึ้นมาทำไม    ถ้ามันไม่แตกต่างกัน      แล้วถ้าวางตำแหน่งก่อนหน้าสลับหลังแล้ว    มีความหมายเหมือนกันมันก็จะกระไรอยู่  น่าจะผิดหลักภาษาหรือไม่ก็ไม่รู้  คำที่ประดิษฐ์ขึ้นมาก็คงจะเปล่าประโยชน์ไปอีก  คงไม่สามารถใช้ในการสื่อสารได้ครบถ้วนและได้กว้างขวางตามที่ต้องการ    ในภาษาอังกฤษนั้น  คำนามหลักคือ ตัวหลัง  คำขยายคือ ตัวหน้าครับ  ส่วนภาษาไทยตรงกันข้ามกันครับ

Transport Logistics คือ ลอจิสติกส์การขนส่ง  เป็นมุมมองของลอจิสติกส์ซึ่งเป็นกิจกรรมในภาพใหญ่ที่ดูแลการไหล  การเคลื่อนย้ายสินค้า  การจัดเก็บสินค้าเพื่อเป้าประสงค์ คือ การนำพาคุณค่าที่อยู่ในรูปแบบของสินค้าและบริการไปให้ถึงมือลูกค้าหรือผู้ใช้ประโยชน์จากคุณค่าที่จะได้รับไป    นั่นคือ ลอจิสติกส์ที่มอง End to End  แต่ Transport Logistics นั้นควรจะเป็นลอจิสติกส์ที่มอง End to End โดยที่มุ่งเน้นลงไปที่ส่วนของการขนส่งที่จะมีผลในภาพรวม End to End   นั่นคือ มองใหญ่ก่อน  มองตั้งแต่ต้นจนถึงมือลูกค้า  เป้าหมายลูกค้าต้องได้รับของหรือสินค้าและบริการ     แล้วคิดว่าจะจัดการกับส่วนการขนส่งอย่างไรเพื่อให้ End to End ที่ว่านี้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้   ประเด็นไม่ใช่จัดการการขนส่งให้ถึงผู้รับของหรือสินค้า   แต่เป็นประเด็นที่จัดการการขนส่งที่จะทำให้มั่นใจว่าลูกค้าได้รับสินค้า   ดังนั้นเราก็จะมี Purchasing Logistics, Manufacturing Logistics, Warehouse Logistics, Distribution Logistics, Retail Logistics  ด้วย  ที่มีเป้าหมายเดียวกัน  มุมมองจะเป็นการมองแบบช้างทั้งตัวหรือ Holistic View แล้วพยายามปรับองค์ประกอบภายในตัวใดตัวหนึ่งซึ่งก็จะมีผลกระทบกับตัวอื่นๆ ด้วย  ดูที่ ปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างองค์ประกอบภายในลอจิสติกส์  และสุดท้ายก็จะมีผลกระทบต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างไรบ้าง

ส่วน Logistics Transport นั้นแตกต่างกันครับ คือ  “ขนส่งเชิงลอจิสติกส์”  คำนามหลักก็ คือ Transport  เป้าหมายหลักก็คือ การขนส่งที่สุดของการ Transport ก็คือที่หมายหรือสถานที่และมีคนมารับของหรือสินค้าไป   ไม่จำเป็นจะต้องเป็นลูกค้าผู้ที่ใช้ของนั้น  ดังนั้นขอบข่ายของ Transport จึงเล็กและแคบกว่า Logistics มากยิ่งนัก   แต่เมื่อมี คำว่า Logistics มาเป็นคำขยายอยู่ข้างหน้าแล้วเป็น  Logistics Transport นั่นหมายความว่า  การจัดการขนส่งนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เห็นหรือมองแบบต้นจนปลายในมุมของลอจิสติกส์   แต่ในการจัดการขนส่งจากต้นทาง (Start) ไปยังปลายทาง (Stop) นั้น  ผู้จัดการขนส่งก็ได้ใช้ข้อมูลที่มาจากระดับการจัดการลอจิสติกส์แบบ End to End มาเป็น information เพิ่มเติมเข้าไปในการจัดการขนส่งอีก  จึงทำให้การจัดการขนส่งสินค้าหรือคุณค่าจากต้นทางจนไปถึงปลายทางการขนส่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าในภาพรวมได้

เมื่อมีการมองแบบลอจิสติกส์แล้ว   ก็ต้องมี Logistics Transport  และ Transport Logistics ขึ้นมาพร้อมๆ กันเสมอ  เพียงแต่ว่าจะมองในระดับไหน   ในระดับบินสูง (End to End) ในระดับลอจิสติกส์   หรือ ในระดับบินต่ำจุดต้นทาง (Start) จนถึงปลายทาง (Stop) ในระดับกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบต่างๆ ภายในของลอจิสติกส์  ดังนั้น Model และข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจก็แตกต่างกันออกไป  แต่ที่สุดแล้วมันจะต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน  เพื่อให้เกิดความเป็นองค์รวมในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองที่ผมเฝ้าสังเกตมานาน  แต่ยังไม่เห็นมีใครฟันธงลงไปชัดๆ เท่าที่เห็นทำๆ กัน ส่วนมากจะเป็น เรื่องของ Logistics Transport มากกว่า เพราะยังคงใช้ Model ของ Transportation เดิมได้หรือ Models ต่างๆ ใน OM functions (Operations Management)  เพียงแต่ใส่ข้อมูลใหม่ที่ผ่านการวิเคราะห์ในเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเข้าไปก็น่าจะใช้ได้เลย    แต่ Model ของ Logistics ที่เป็นองค์รวมนี้ยังไม่ค่อยเห็นนะครับ   Model กันยากเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับกรณีศึกษาด้วย  ผมคิดว่ามันคือ System Thinking Model หรือ System Dynamics มากกว่า  จึงเลยนำเสนอให้เพื่อนๆ ลอง Comment กันมาบ้าง เผื่อว่ามันน่าจะมีจุดบกพร่องทางความคิดตรงไหนบ้าง  แต่ถ้าทำ OM function ได้ดีแค่ไหนก็เป็นแค่ Local Optimization ถ้าจะให้คิดแบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานแล้วจะต้องคิดแบบ Global Optimization

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

My Thought -- คนดี...ไม่ใช่ที่ดูดี...แต่เป็นคนที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง

เอาเข้าแล้วไง  มันอยู่ในใจมานาน  พอได้ไปอ่านบทความของดร.วีระพงษ์ รามางกูร ในประชาชาติธุรกิจแล้วก็มั่นใจได้ว่ามีคนคิดเหมือนผม  เพราะว่ามุมมองที่ผมว่า "การเป็นคนดี" ของผมและความเห็นของคนทั่วไปนั้นไม่เหมือนกัน  ผมรู้สึกว่าความเป็นคนดีของคนไทยทั่วไปนั้นมาจากความรู้สึก  สิ่งที่มองจากภายนอก   สิ่งบอกต่อๆ กันมา  หรือเขาเป็นคนดีเพราะไม่เคยทำผิด  แต่เขาอาจจะก็ไม่ได้ทำอะไรเลย   แล้วความดีหรือคนดีคืออะไร   สำหรับผมนั้นคนที่จะดีนั้นจะต้องมาจากการกระทำดีและทำได้ดี  ทำได้สำเร็จคือ ต้องเป็นคนเก่งด้วย   ทำตามขั้นตอนหรือทำตามกระบวนการ  จึงจะได้ผลลัพธ์ตามที่กระบวนการกำหนด   ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะดี (Right) นั่นก็เพราะกระบวนการ (Process)  ส่วนผลลัพธ์จะเลวก็เพราะกระบวนการ   แต่ถ้าคนในกระบวนการไม่ได้ทำตามหน้าที่ในกระบวนการเสียแล้ว  ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเลวไปด้วย  เพราะคนนั้นไม่ได้ทำตามหน้าที่ซึ่งควรจะทำ    คนนั้นจึงไม่ใช่คนดี     ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นจะดีหรือจะเลว  ก็ต้องมาจากกระบวนการและการกระทำของคนในกระบวนการนั้นๆ   ไม่ใช่มาสร้างภาพให้กับตัวเองหรือกลุ่มพรรคพวกของตัวเองว่าเป็นคนดี  ทั้งๆ ที่ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์จากการกระทำในกระบวนการต่างๆ ให้เห็นว่าดีจริง

ปัญหาในปัจจุบันนั้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเชิงส่วนตัว  ธุรกิจ  สังคมและการเมือง  ล้วนมาจากปัญหาเชิงกระบวนการหรือระบบทั้งสิ้น  ถ้าผลลัพธ์ออกมาจะดีหรือจะไม่ดีนั้นอยู่ที่การออกแบบกระบวนการครับ   ถ้ากระบวนการนั้นออกแบบมาดี  ผลลัพธ์ก็คงจะดีถ้ามีคนดีๆ มาดำเนินงานตามกระบวนการจนได้ผลดี   เขาจึงเป็นคนดี   แต่ถ้าคนเลวมาดำเนินการตามกระบวนการที่ดีแล้ว  ผลลัพธ์น่าจะออกมาไม่ดีจนได้  เขาจึงเป็นคนไม่ดี    ส่วนกระบวนการที่ออกแบบมาไม่ดีนั้น  ไม่ว่าคนที่ดีหรือคนที่ไม่ดีนั้นมาดำเนินตามกระบวนการ  ผลลัพธ์ย่อมออกมาไม่ดีอย่างแน่นอน   และยิ่งถ้าได้คนที่ไม่ดีมาดำเนินการด้วย ยิ่งแล้วไปกันใหญ่ ผลที่ออกมาคงจะแย่กันไปตามๆ กัน

เพราะฉะนั้นเราจงค่อยๆ มองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้  โดยเอาผลลัพธ์เป็นพื้นฐาน  แล้วมองย้อนกลับไปที่กระบวนการหรือระบบ  และให้มองไปที่คนซึ่งอยู่ในระบบ  แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าอะไรเป็นอะไร   คนจะดีหรือจะเลว  ระบบจะดีหรือจะแย่  มันก็น่าเห็นๆ กันอยู่ที่ผลลัพธ์ซึ่งให้ประโยชน์อย่างไรและกับใคร  ถ้าเราวางใจเป็นกลางไว้  อย่าเอาความรู้สึกส่วนตัวหรือความรู้สึกของคนอื่นๆ มาเป็นปักเป็นธงไว้ก่อนเลยว่า  เขาหรือพวกเขาเป็นคนดีหรือคนเลว  เพราะทั้งหลายทั้งปวงนั้นพิสูจน์ได้ด้วยการกระทำในกระบวนการหรือระบบซึ่งประกอบไปด้วยกระบวนการและผู้ดำเนินงานในกระบวนการเท่านั้นเอง

แล้วจะควบคุมคนดีกับคนเลวอย่างไรในชีวิตเราในสังคมเรา  ทุกอย่างจะต้องผ่านกระบวนการทั้งสิ้น  แม้แต่ธรรมชาติ  ก้อนดิน ก้อนหิน  ลมฟ้า  และฝนต่างก็มีกระบวนการของมันอยู่ในธรรมชาติ  แน่นอนว่า ผลประโยชน์ในสังคมเรานั้นก็เกิดมาจากความต้องการของคนในสังคม  ประโยชน์ต่างๆ ที่เราใช้เพื่อความเป็นอยู่ในแต่ละวันก็ผ่านกระบวนการสร้างคุณค่าต่างๆ มาทั้งสิ้น   ในหลายกระบวนการก็มีคนอยู่เป็นองค์ประกอบ  แล้วจะควบคุมคนดีหรือเลวได้อย่างไร   เราเองก็อยากจะให้มีแต่คนดีหรือคนที่คิดและทำในสิ่งที่ถูกต้อง   ส่วนคนเลวนั้นจะคิดอย่างไรก็ไม่เป็นไร แต่คนเลวมักทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  เรื่องนี้เราห้ามไม่ได้  บังคับใจกันไม่ได้  ศาสนาก็สอนกันมาเยอะมาเป็นเวลานาน  คนในสังคมก็ยังประกอบไปด้วยคนดีและคนเลว  แล้วเราจะทำกันอย่างไร   สิ่งที่ทำได้ก็ คือ ต้องใช้กระบวนการและระบบเข้ามาช่วยในการสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและทุกๆ คน  ต้องเอาระบบเข้ามาใช้โดยไม่สนใจว่าคนในกระบวนการนั้นจะเป็นคนดีหรือคนเลว    ระบบที่ดีบางครั้งสามารถดัดนิสัยคนเลวให้กลับมาเป็นคนดีได้    ระบบสามารถป้องกันคนเลวไม่ได้กระทำในสิ่งที่ผิดหรือป้องกันความผิดพลาดได้  ถึงแม้ว่าจะคิดผิดไปแล้วก็ตาม  แต่ผลของการกระทำยอมรับได้  ดังนั้นสังคมเรานั้นต้องการคนที่คิดถูกมาออกแบบระบบเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับสังคมและทุกคนในสังคม  เราไม่ได้ต้องการคนที่ดี  ดูดี  มีคนบอกว่าดี   แต่ต้องการคนที่ทำถูกต้อง  คิดถูกต้อง   และถ้าถามต่อว่าถูกแค่ไหน  ถูกอย่างไร  ก็ต้องให้ถามเสียงจากสังคมและเสียงจากทุกคนในสังคม.

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

Basic – Predict แตกต่างจาก Forecast อย่างไร ?


ไปอ่านเอกสาร Logistics Scenario 2050 ของ DHL  ก็ได้ประเด็นมาเล็กน้อยมาเล่าสู่กันฟัง  เพราะว่าเอกสารนี้เป็นเอกสารที่พยายามจะมองอนาคต  โดยใช้นักอนาคตศาสตร์คนดังมาช่วยในการมองอนาคต    พออ่านไปได้บทหนึ่งมีสรุปตอนข้อหนึ่งว่า  The Future cannot be predicted, but alternative futures can and should be forecast.  อนาคตไม่สามารถที่จะถูกคาดการณ์ได้ (Predicted)  แต่ทางเลือกต่างๆของอนาคตนั้นสามารถและควรที่จะพยากรณ์ (Forecast)ได้  ก็เลยมาสะดุดตรงสองคำนี้   ผมว่าทั้งสองคำนี้ไม่เหมือนกัน  ถ้าเหมือนกันแล้ว  มันจะสร้างคำใหม่ขึ้นมาทำไมจริงไหมครับ

ผมเริ่มด้วยการไปเปิด Dictionary แบบภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาอังกฤษ   อย่าใช้ภาษาไทย  เพราะภาษาไทยเองก็ยังหาความหมายที่แน่นอนไม่ได้     ก่อนที่จะไปเปิด Dic   อย่างคำว่า Predict ส่วนตัวผมแปลว่า คาดการณ์   ส่วน Forecast ผมเองแปลว่า พยากรณ์  แต่ก็ยังแปลเป็นไทยไม่ได้ครบ  ตอนแรกผมสังเกตจากคำที่หนังสือ Textbook ทางวิศวกรรมใช้กัน  เมื่อใดที่ใช้ คำว่า Predict นั้น มักจะมีสูตรกันมาก่อน  มีตัวแปรที่แน่นอน   แล้วจึงใส่ค่าลงไป  แล้วสูตรก็ให้ค่าออกมา   เราสามารถรู้ได้อย่างแน่นอนว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร    ไม่ได้เกี่ยวกับเวลาในอนาคต  แต่ถ้าตัวแปรนั้นเป็นค่าเวลา  เราก็สามารถที่จะบอกได้ว่า  ณ เวลาหนึ่งเราจะได้ผลลัพธ์อะไร

ส่วนการพยากรณ์นั้น  เราไม่มีความรู้หรือเข้าใจกลไกของสิ่งที่เราสนใจอยู่เลย  แต่เรามีข้อมูลในอดีต  ข้อมูลปัจจุบัน   เราพยายามจะบอกว่าแล้วต่อไปนั้นมันจะเป็นอย่างไร  เราพยายามบอกพฤติกรรมหรือสร้างแบบจำลองจากผลลัพธ์ของสิ่งนั้น   ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่ากลไกจริงหรือสูตรภายในมันคืออะไร

คิดอย่างนี้อยู่นานแต่ก็ไม่ได้บอกใคร  แต่เห็นใครๆ ก็ใช้สองคำนี้สลับกันไปมา  แต่ไม่รู้ว่าเขาหมายความอย่างไร  เมื่อไหร่จะพยากรณ์ (Forecast) แล้วเมื่อไหร่จะคาดการณ์ (Predict)  พอมาเจอในเอกสารของ DHL  เขาเขียนว่า  The Future cannot be predicted, but alternative futures can and should be forecast.  (อนาคตนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ทางเลือกของอนาคตสามารถและควรจะพยากรณ์ได้) อ่านแล้วก็งงไปเลย จนต้องไปเปิด Dictionary  ภาษาอังกฤษเป็นภาษาอังกฤษ predict  คือการกล่าวถึงเหตุการณ์หรือการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะเป็นเรื่องที่เรามีความรู้มาก่อนหรือมีประสบการณ์มาก่อน  รู้มาก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น  ส่วน Forecast นั้นเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง  ผมว่าผมก็เข้าใจคล้ายๆ กับใน Dictionary บอกไว้  แต่ผมไม่ได้รู้เองหรอกครับ  ผมสังเกตจากประโยคภาษาอังกฤษที่เขาเขียนกันมาใน Paper หรือ หนังสือ Textbook

แล้วอย่างไหนดีกว่าล่ะครับ Predict ดีกว่าสิครับ  เพราะว่ามีศัพท์ว่า Predictable นั่นหมายความว่า เรารู้โครงสร้างหรือสูตร หรือกลไกของสิ่งๆ นั้นหรือเหตุการณ์นั้น  เราจึงสามารถคาดการณ์และสามารถควบคุมมันได้   แต่ถ้าไม่รู้อะไรเลยภายในเบื้องลึก  แต่รู้ว่ามันมีความเกี่ยวเนื่องกันกับเหตุการณ์อื่นๆ  เราจึงใช้ Forecast  และใน Dictionary ไม่มี Forecastable ด้วย  ก็ลองดูครับ  รู้มาก รู้ลึก  ก็คงจะไม่พอครับ  จะต้องรู้ถึงโครงสร้างกลไก  ถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลในส่วนต่างๆ  เพื่อที่จะได้ควบคุมมันได้ครับ  หรือจะได้ปรับตัวตามได้ทันเวลา  เหมือนที่ NASA จะมาศึกษาเมฆและอากาศ  ก็เพื่อที่จะได้ Predict การเปลี่ยนแปลงของอากาศ  จะได้คาดการณ์ได้อย่างแม่นยำขึ้น  มากกว่าการพยากรณ์ทั่วๆ ไป   เราจะได้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศได้ถูก  เช่นเดียวกับความต้องการของลูกค้า  เพื่อที่จะได้มาจัดการกับอุปทาน (Supply)

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

Research - ตอบ เมล์ "งานวิจัยเมื่อไรจะลงจากหิ้ง ตอนที่ 2"

ผมได้ตอบเมล์  "งานวิจัยเมื่อไรจะลงจากหิ้ง ตอนที่ 2"   ของอาจารย์ดร.ดวงพรรณ ไว้   ไหนก็เขียนแล้วก็เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง

ผมไม่ได้เมล์นี้มานานมากๆ โผล่มาก็ตอนที่สองเลย     ก็ไม่รู้ว่าตอนแรกเป็นอย่างไรแล้ว   แต่ก็พอจะเข้าใจบ้างในภาพรวมที่อาจารย์ดวงพรรณและนักวิจัยทั้งหลายกำลังพยายามทำกันอยู่  ผมขออนุญาตพูดในฐานะผู้บริโภคงานวิจัยนะครับ  ไม่ใช่นักวิจัย  เพราะระยะนี้ผมไม่ค่อยได้ทำงานวิจัยเท่าไหร่   แต่ก็พยายามที่จะเอาความรู้จากงานวิจัยต่างๆ ไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม

ผมบอกอาจารย์ดวงพรรณเสมอว่า  อย่าเอางานวิจัยลงจากหิ้งเลยเอาไว้อย่างนั้นเถอะครับ   แล้วนักวิจัยก็พัฒนาหิ้งให้สูงขึ้น  องค์ความรู้จะได้สูงขึ้น   ผมไม่เห็นด้วยที่เหล่านักวิจัยจะทุ่มตัวทั้งหมดลงจากหิ้ง    แต่อาจจะมีคนบอกว่า  แล้วจะทำวิจัยไปให้ใครเล่า   ผมว่าก็เอาไปขายให้คนที่เห็นค่าและเห็นประโยชน์ดีกว่า    โลกสมัยนี้มัน Connected กันหมด Globalization  กันหมดแล้วเอาไปขายทั่วโลก  แล้วประเทศไทยล่ะครับ   ก็คนใช้งานยังไม่สนใจเลย เพราะยังไม่เข้าใจในกระบวนการดำเนินงานที่เป็นปกติสากลกัน   ความคิดยังไม่ได้มาตรฐานหรือเป็นสากล   เอาเป็นว่ายังลูกทุ่ง  ลูกทุ่งกันอยู่    ทำวิจัยแล้ว  คนไทยไม่ได้ใช้  ก็คิดว่าทำเพื่อโลกก็แล้วกันครับ

ที่จริงแล้วมันก็เป็นเรื่องของผู้ใช้งานวิจัยหรือธุรกิจอุตสาหกรรมเองด้วยที่จะต้องปรับตัว  ไม่ใช่สิปรับความคิดและกรอบความคิด  ผมเคยบอกว่าจะต้องทำให้พวกผู้ใช้งานทั้งหลายเขาปีนหิ้งขึ้นมาดูงานวิจัยของอาจารย์ทั้งหลายและของต่างประเทศที่ทั่วโลกเขาทำกัน    นั่นหมายถึงพวกเขาจะต้องมีความรู้พื้นฐานต่างๆ ในการตัดสินใจในเชิงการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือการบริการสาธารณะ (Public Sector)  อาจารย์ดวงพรรณเขียนไว้ว่า  การทำนโยบาย หรือการตัดสินใจระดับประเทศเกิดขึ้นบน “ความรู้สึก”  นั่นไงครับ   ผมก็รู้สึกได้อย่างนั้นเหมือนกัน  ประสบมาเหมือนกัน  เพราะว่าการตัดสินใจในระดับยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประเทศเองยังขึ้นอยู่กับความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่   จริงมากน้อยอย่างไรผมก็พิสูจน์ไม่ได้   แต่ที่ได้พบประสบมานั้นก็คงจะมีความเห็นเหมือนกับอาจารย์ดวงพรรณครับ     นั่นสำหรับ Public Sector

ส่วนทางด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้นเหล่าผมก็ว่าลูกทุ่งพอๆ กัน   ท่านมีเงินเยอะมีความคิดดี    มี Leadership สูง  แต่ขาดกระบวนการในการตัดสินใจที่เหมาะสม   ยิ่งเป็นการตัดสินใจในระดับยุทธศาสตร์ด้วยแล้ว     ตอนที่คิดและตัดสินใจในอดีต   เงินไม่กี่ล้านคิดแบบลูกทุ่งได้   แต่พอเป็นพันๆ ล้าน  และยิ่งในปัจจุบันมันยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้น    มันคงจะเป็นเหมือนเดิมไม่ได้แล้วกระมังครับ     คิดแบบหนึ่งสมอง  สองมือเปล่า  บนเงินเป็นพันๆ ล้าน   ส่วนลูกน้องก็อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยวลีเด็ด  มือดำ ทำจริง  แต่คิดไม่เป็น  คิดต่อยอดไม่ได้    ไม่รู้จักวิธีการคิด การวางแผน   เรื่องราวนี้ไม่ใช่   ไม่เคยเรียนมา  พวกผมอาจารย์ไม่ใช่ไม่เคยสอน   แต่ทำไมไม่เอาไปใช้  หรือเป็นเพราะผมเองและเพื่อนอาจารย์ทั้งหลายอาจจะสอนไม่ได้ดี    ไม่ใช่สิผมคนเดียวมั้ง   ความคิดและความรู้จึงไม่เข้าถึงนักปฏิบัติเหล่านี้  พวกเขาก็เลยไม่ได้สนใจความรู้หรือวิชาการ    ผมเองนั้นโดนเป็นประจำ   เวลาไปบรรยายให้นักปฏิบัติฟัง   อาจารย์ไม่เอาวิชาการนะ   เอาแต่ปฏิบัติที่ทำได้    ผมเองก็นึกอยู่ในใจว่าที่พวกท่านทำกันได้อยู่ทุกวันนี้เนี่ยนะ  ก็เพราะวิชาการทั้งนั้น  ถ้าไม่มีวิชาการรองรับนะ  ป่านนี้จะมีอะไรเหลือบ้าง  ตึกคงจะพังกันหมด  โรงงานคงจะวุ่นวายกันมากๆ

เมื่อธุรกิจโตขึ้น  หรือฟุตบอลเปลี่ยนลีก  เทคนิคการเล่นหรือเทคนิดการดำเนินงานก็จะต้องเปลี่ยนแปลงตามระดับความยาก  เช่นกันครับ  นักปฏิบัติทั้งหลายก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งใหม่ๆ  วิชาการใหม่   งานวิจัยใหม่ๆ   ถ้าวันนี้เหล่านักปฏิบัติในอุตสาหกรรมยังบอกไม่ได้ว่า พวกเขาใช้ความรู้อะไรบ้างตอนเรียนป.ตรี และป.โท มาใช้ในงานประจำวันบ้าง   ผมว่าการนำเอางานวิจัยลงมาจากหิ้งก็ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่นัก     คิดไป คิดมาดูแล้วถ้าจะสร้างให้พวกเขาให้ขึ้นมาอ่านงานวิจัยบนหิ้งอย่างผมว่ามันก็อาจจะยากกว่าเอาลงจากหิ้งมาอีก    ประเด็นของผมก็คือ ถ้าจะเอามาจากหิ้งแล้ว  ทำให้เขาบริโภคง่ายๆ แล้ว  อีกหน่อยพวกเขาจะทำอะไรได้อีก  สุดท้ายก็ต้องป้อนให้เหมือนเดิม   แล้วมันจะพัฒนาได้อย่างไร      สุดท้ายแล้ว  นักวิจัยจะเอาตรงไหนเป็นจุดยืนดี  เพราะว่าเป็นนักวิจัยแล้ว  องค์ความรู้ใหม่ คือ สิ่งที่ท้าทายหนึ่ง    แต่เรานักวิจัยกลับมาเสียเวลากับโครงสร้างขององค์ความรู้ในกระบวนการปฏิบัติงานที่เป็นผลพวงของการพัฒนาการในสังคมและระบบการศึกษาของเรา

ผมไม่ได้คิดว่าคนอย่างผมหรือนักวิชาการอย่างผมที่ถูกตราหน้าว่า  เท้าไม่ติดดิน  ไม่ลงมือทำ    ไม่ได้เป็นคนวิเศษวิโสอะไรหรอกครับ   ถ้าจะพูดแล้ว  และวัดกันแบบเนื้อๆ เป็นตัวเงิน  ผมและนักวิจัยทั้งหลายนั้นยังห่างจากนักปฏิบัติหรือนักอุตสาหกรรมตัวจริงที่ทำเงินออกมามากมาย หรือมีผลตอบแทนเป็นเงินเดือนสูงๆ หรือมีโบนัสเป็นหลายเดือน   ผมสู้ไม่ได้หรอกครับ   นั่นคือ ผลลัพธ์ที่ผมมองเสมอว่า  พวกนักปฏิบัติเหล่านั้นเป็นตัวจริงแท้ๆ   วัดกันที่บรรทัดสุดท้ายตรงรายได้เลย   ผมไม่เคยคิดว่านักวิจัยจะเก่งเลิศเลอไปกว่าพวกนักปฏิบัติหรอกครับ   แต่ถ้าพวกท่านฟังและอ่านงานวิจัยจากนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศดูสักนิด   พวกเราต่างคนต่างทำหน้าที่กันไป   พวกที่คิดก็คิดไป   พวกที่ทำก็ทำไป   แต่ถ้าพวกที่คิดอย่างนักวิจัยสามารถทำงานร่วมกับนักปฏิบัติได้มีประสิทธิผลแล้ว  ผมคิดว่า  ท่านนักธูรกิจหรือปฏิบัติก็จะสามารถทำเงินเพิ่มได้อีกมากมายเลยทีเดียว

ว่าจะเขียนสั้นๆ นะครับ   ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร  แต่ยอมรับทุกความคิดครับ  แต่มันน่าจะมีทิศทางที่รองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมมากกว่านี้    มันเป็นกรอบความคิดของคนในสังคมที่ถูกขีดด้วยระบบการเรียนการศึกษาที่ทำให้คนไทยเรากลัวที่จะคิด   ไม่ใช่ไม่มีความสามารถในการคิด   ระบบสังคมที่เป็นอยู่ต่างหากที่มีอิทธิพลทำให้ความคิดไม่เกิดในคนหมู่มาก   ถ้าเรายังเอางานวิจัยในหิ้งชั้นที่หนึ่งลงมาแจกให้คนปฏิบัติบริโภคอย่างง่ายๆ เกินไป  โดยไม่ได้พัฒนาตัวพวกเขา    ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว  ผมว่าที่อื่นๆ ประเทศอื่นๆ นักปฏิบัติของเขาไม่รู้ว่าปีนขึ้นไปบริโภคงานวิจัยบนหิ้งชั้นสาม หิ้งชั้นสี่กันแล้วหรือไม่   ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

My Journal บินสูงบ้าง…..มองปัญหาที่โครงสร้าง

วันนี้การเดินทางเริ่มขึ้นอีกครั้ง  หลังจากชีพจรไม่ได้ลงเท้ามานาน  อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเดินทางไปมาเกือบทั้งอาทิตย์  ไปมาภาคตะวันออก 3 รอบ  บินขึ้นเหนือไปอีก 2 รอบ  ก็แปลกดีครับ  ครึ่งปีแรกไม่ค่อยได้ไปไหนเท่าไหร่  พอเข้าครึ่งปีหลังพอมาได้ไปไหนก็มากันติดๆเลยครับ   ผมชอบเดินทางโดยเครื่องบินในระยะสั้นๆไปกลับกรุงเทพฯ  เชียงใหม่ เชียงราย  ใช้ระยะเวลาเดินทางไม่นานมากนัก  ดูมันเป็นเวลาที่เป็นส่วนตัวมากๆ  ไม่ต้องรู้จักใคร  และไม่อยากให้ใครมารู้จัก  อยู่ท่ามกลางคนที่ไม่รู้จัก   มันเป็นโลกส่วนตัวจริง   ผมก็เลยอ่านหนังสือจบเป็นเล่มๆ ไปเลย   ปีที่แล้วก็อ่านไปได้หลายเล่ม    เวลาไม่ได้เดินทางก็ไม่ได้มีเวลาเป็นส่วนตัวเท่าใดนัก
               
ผมไม่ได้เดินทางโดยเครื่องบินมานาน   พอได้ขึ้นไปมองโลกบนพื้นดินจากบนฟ้าลงมานั้นมันมีความรู้สึกแปลกๆ  แต่ก็รู้สึกเหมือนเดิมทุกครั้ง   รู้สึกว่าตัวคนเรามันเล็กนิดเดียว  แต่ก็ไม่ได้หวาดกลัวอะไร   แต่ได้กำลังใจทุกครั้งกลับมาเสมอว่า  ชีวิตเราที่เหลือนั้นน่าจะทำอะไรได้มากกว่าเดิม  ทำได้มากกว่าเมื่อวาน  คิดได้มากกว่าที่ผ่านมา  ผสมกับแนวคิดใหม่หรือมุมมองใหม่ที่จากการอ่านหนังสือระหว่างเดินทางด้วย
               
หลายๆ ครั้งในการเดินทางด้วยเครื่องบิน  ผมมักจะนั่งที่นั่งใกล้ทางเดิน  แต่บางครั้งก็ลืมบอกเจ้าหน้าที่เขาไป  เขาก็เลยจัดที่นั่งริมหน้าต่างให้  ก็ทำให้ได้มองเห็นโลกเราจากบนฟ้า   เห็นพื้นน้ำแผ่นดินและเมืองต่างๆ ที่กระจุกอยู่ตามแม่น้ำและชุมชนต่างๆ ริมถนน   ผมไม่ได้เห็นรายละเอียดเพราะเครื่องบินอยู่สูงเหลือเกิน   แต่ก็พอจะบอกได้ว่า มันเป็นแม่น้ำ ภูเขาและถนน   ผมคงจะมองไม่เห็นคน  แต่พอจะเห็นบ้านเรือน  หรือถ้าบินต่ำหน่อยก็จะเห็นรถยนต์วิ่งอยู่บนถนน   ผมได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่สังคมและเมืองจากบนฟ้า  ผมเห็นโครงสร้างหรือ Structure แต่ผมขาดรายละเอียดของชีวิต   แต่ในทางตรงกันข้าม    ถ้าผมลงมาจากฟ้าเดินลงไปบนถนนผมก็จะเห็นรายละเอียดของชีวิตหรือธุรกิจเฉพาะที่ผมสามารถบอกเห็นในระยะไม่ไกลมากนัก  กินบริเวณพื้นที่ไม่กว้างมากนัก   ผิดจากการมองจากข้างบนฟ้า  รายละเอียดทั้งสองมุมมองไม่เหมือนกัน  แต่สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี    อยู่บนดินได้รายละเอียด  แต่ขาดโครงสร้างและความสัมพันธ์ในระดับสูง    มองจากบนฟ้าได้เห็นโครงสร้างและความสัมพันธ์ในระดับสูง  แต่ขาดรายละเอียดไป
                 
ปัญหาหลายๆ อย่างในสังคมหรือชีวิตเรานั้น   เราได้พบได้เห็นเหมือนกับรายละเอียดที่เรามองอยู่บนดิน   แต่เราไม่ได้มีโอกาสมองจากข้างนอกหรือมองที่ในระดับความสูงขึ้นเพื่อหาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างที่อยู่รอบๆ ตัวเรา  เพราะชีวิตเรา สังคมของเรา  หรือสิ่งที่เราสนใจอยู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่าหรือฝังตัวอยู่ในระบบที่ใหญ่กว่า  ด้วยความเป็นธรรมชาติของระบบหรือสังคมและระบบต่างๆ ในธรรมชาติที่มีความเป็นองค์รวม   นั่นหมายความว่า นอกจากเราจะต้องเขาใจตนเองแล้ว  เรายังต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอยู่ด้วยว่ามีความสัมพันธ์และเชื่อมต่อกันอย่างเป็นองค์รวมได้อย่างไร
           
ถ้าเรามีความเข้าใจในประเด็นนี้เราแล้ว  จะทำให้เราสามารถที่จะปรับตัวเราเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาได้อย่างทันท่วงที  ปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ไม่ว่าจะในชีวิตเราหรือธุรกิจการงานที่เราทำอยู่  อาจจะไม่ได้เกิดจากรายละเอียดที่เป็นอยู่ก็ได้  สังเกตได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็คงจะต้องแก้กันที่โครงสร้างมากกว่าที่รายละเอียดที่เป็นปลายเหตุซึ่งไม่ใช่ต้นเหตุ เพราะโครงสร้างกำหนดพฤติกรรมซึ่งทำให้เกิดรายละเอียด   ถ้ารายละเอียดนั้นเป็นปัญหาเราก็จะต้องแก้กันที่โครงสร้าง   แนวคิดนี้เริ่มถูกนำเข้ามาใช้ในการมองปัญหาในระยะหลังนี้มากขึ้น  เพราะปัญหาในปัจจุบันเริ่มเกิดขึ้นอย่างซ้ำซากและซับซ้อน  และไม่ได้ถูกแก้กันที่โครงสร้าง   ยิ่งปล่อยไว้ก็ยิ่งจะทำให้ปัญหาทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะแก้ไขหรืออาจจะต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าที่เคยคิดไว้  ดังนั้นวันนี้เราคงจะต้องหันมามองปัญหาต่างๆ ในชีวิตหรือธุรกิจการงานในมุมสูงในภาพกว้างหรือภาพใหญ่ (Big Picture) บ้างเพื่อให้เห็นถึงโครงสร้างในมุมกว้างที่เป็นต้นเหตุของพฤติกรรมในรายละเอียดที่เราไม่พึ่งปรารถนา  และเราจะได้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้อย่างถูกต้อง  ไม่ใช่ไปแก้ที่รายละเอียดเหมือนกับการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุซึ่งไม่ใช่ที่รากเหง้าของปัญหา

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

My Journal -- ไม่รู้ตัวเครียด

ที่จริงแล้วในระยะสองสามเดือนนี้  ผมเขียนบทความน้อยมากเฉลี่ยเดือนละครั้งซึ่งกว่าจะเขียนได้  มันยากเย็นจริงๆ  มาสังเกตตัวเองว่าทำไมถึงเขียนไม่ เขียนไม่ออก  ทั้งที่การเขียนบทความนั้นเป็นความสุข  เป็นการปล่อยคลาย  และฝึกความคิดไปในตัวด้วย   แต่ทำไมนะในระยะสองสามเดือนนี้  ผมถึงเขียนอะไรไม่ได้เลย  ไม่ใช่ไม่มีวัตถุดิบ  โอ้โห! มีมากมาย  แม้แต่ FB ก็ยังไม่ได้เข้าไปดูเลย    ก็สงสัยตัวเองอยู่   ก็คงจะเข้าใจว่าเครียดเพราะว่ามีคนเคยบอกว่า  บางครั้งคนที่เครียดนั้นอาจจะไม่รู้ตัวว่าเครียด  แถมยังตอบปฏิเสธอยู่เสมอว่าไม่ได้เครียด  ถึงตอนนี้ผมก็แย่ไปมากกว่านั้น   เข้าใจว่าตัวเองคงจะไม่เครียด   แล้วก็ลองมาพิจารณาตัวเองว่า เราเครียดเรื่องอะไร  ที่เลวร้ายนั้นก็ คือ มันดันหาคำตอบไม่ได้   หรือไม่ก็ยังหลงๆ อยู่ว่ามันเป็นเรื่องอะไรกันแน่    ก็ลองมาพิจารณาตัวเองดูสิว่าระบบการดำรงชีวิตเหมือนเดิมหรือไม่   เอ!  ผมก็กินปกติ  นอนปกติ   แต่ช่วงนี้ดูหนังใหญ่ไม่ค่อยจบเรื่องเท่าไหร่   แต่กลับดู Series ซะเยอะเลย   ตอนนี้ก็เลยประเมินตัวเองไม่ค่อยได้   แม้แต่ขณะที่เขียนบทความนี้ก็ยังหลงๆ อยู่ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรและจะจบอย่างไร  ไม่ค่อยมีทิศทางเท่าไหร่  ก็คงจะต้องหาทางคลายความเครียดลงซะบ้าง  เพื่อว่าจะได้ทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น  ชีวิตจะได้ดีขึ้น  โดยเฉพาะคนรอบข้าง   ผมเองก็ไม่รู้นะว่าคนรอบข้างผมอาจจะโดนหางเลขจากความเครียดของผมไปไม่มากก็น้อย   ก็ต้องยกโทษกันให้บ้างก็แล้วกัน
                     
แล้วความเครียดนั้นเกิดจากอะไรเล่า  ที่จริงแล้วผมเคยเขียนถึงเรื่องความเครียดไว้ในบันทึกของผมใน FB นี้นานมาแล้วเหมือนกัน   มันก็คงจะเป็นสถานะทางจิตใจ (Mental) ที่ไม่สามารถหาคำตอบให้กับคำถามของตัวเองได้   หรือไม่ก็มีคำตอบอยู่กับตัวแต่ไม่สามารถตั้งคำถามให้ตรงกับคำตอบได้  คือ หาเหตุผลต่างๆให้กับตัวเองไม่ได้   อันนี้ผมพยายามที่จะคิดเองนะครับ  เผื่อว่าผมจะได้หลุดพ้นจากความเครียดที่ผมเองยังไม่รู้ตัวเลยว่ามี   ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เขียนบทความ  แต่ผมก็ซื้อหนังสืออยู่เป็นประจำ  อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง  แต่มาอ่านอยู่เล่มหนึ่ง  “นิพพาน”  โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ   ซึ่งเป็นหนังสือสองภาษาไทย-อังกฤษ  อ่านแล้วชอบครับ   อ่านแล้วรู้สึกสบายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   ครั้งหนึ่งประมาณปีที่แล้ว  เวลาผมรู้สึกตัวว่าจะไม่ไหวแล้ว  ผมก็ไปคว้าหนังสือธรรมะมาอ่าน  ซึ่งมีอยู่มาก  ก็รู้สึกดีครับ   แต่คราวนี้ตัวผมเองอาจจะเครียดจนไม่ได้ไปหยิบหนังสือธรรมะมาอ่านเลย   แต่ประเด็นที่ทำให้ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วสบายใจก็ คือ ภาคภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ที่ Dr. Jame  Ratana Nanto Bhikkhu ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษไว้    เป็นภาษาอังกฤษที่อ่านง่ายครับ  อ่านแล้วดีจังเลย  ก็เลยไปสะดุดคำพูดทางธรรมก็เลย ปิ๊ง! เลย   กระโดดขึ้นโต๊ะทำงานมาเขียนบทความนี้ไงครับ   เหมือนหลบหนีออกจากคุกความคิดของตัวเองออกมาได้   ก็ไม่รู้วันพรุ่งนี้หรือวันอื่นๆ จะถูกความคิดของตัวเองตามล่าให้กลับเข้าไปสู่พันธนาการทางความคิดของตัวเองอีกครั้งหรือไม่   ก็ต้องคอยดูกันไป  หรือไม่ก็  เป็นความคิดของเราเองที่อาจจะยอมแพ้ไม่สู้   ยอมกลับเข้าไปสู่การคุมขังทางความคิดและทางจิตใจกับความเครียดอีกครั้งหนึ่ง  เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครช่วยได้ครับ   เราต้องสังเกตตัวเองครับ   และต้องสังเกตุจากคนรอบข้างด้วยว่าเขามีอาการอย่างไร   เป็นเพราะเราหรือไม่
                     
มีวิธีการมากมายที่นำเสนอในเรื่องการจัดการความเครียด (Stress Management)  ผมเองก็ไม่เคยจัดการกับความเครียดเหมือนกัน  เพราะไม่เคยยอมรับว่าตัวเองเครียด  ผมมีตัวชี้วัดที่สำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือการนอนให้หลับครับ   ถ้านอนไม่หลับหรือหลับยากเสียแล้วเป็นกังวล   นั่นก็น่าจะมาจากความเครียดส่วนหนึ่งเช่นกัน  แต่ส่วนมากผมก็หลับดีนะ  มีกังวลบ้างแต่ก็ไม่มากนานๆ ครั้ง  แล้วอะไรล่ะเป็นเครื่องมือในการคลายเครียด   ผมไม่มี Solutions ครับ  เพราะว่าตัวเองก็ยังเอาตัวเองไม่รอดเลยครับ  แต่ที่จริงแล้ว  ก็ไม่น่าจะมีอะไรนะครับ  นึกขึ้นมาได้เมื่อสมัยที่เรียน Ph.D.    ผมเข้าใจว่า ผมไม่ได้แค่เครียดในการเรียนเท่านั้น  แต่เป็นถึงขั้น Depress (หดหู่)  ขาดกำลังใจกันไปเลย  ก็เลยต้องหาวิธีในการจัดการตัวเอง (Self Improvement) ด้วยการอ่านหนังสือในการพัฒนาตัวเองต่างๆ  หนังสือให้กำลังใจ   จนมาถึงวิธีการที่เรียกว่า NLP  ซึ่งผมได้มีโอกาสอ่านจากหนังสือดังของ Tony Robbins  และเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสฟังการบรรยายของ คุณศุภกิจ  รุ่งโรจน์  นักพูดให้กำลังใจชื่อดัง   และได้ให้สูตรไว้ว่า  คิดดี  พูดดี และทำดี ซึ่งเป็นหลักของ NLP  ด้วย  ดูๆ ไปก็ไม่ได้ต่างจากหลักทางพุทธเท่าไหร่นัก   เพราะที่สุดแล้ว  You are what you think.  นั่นเป็นความจริงเสมอ   เราเองส่วนใหญ่พันธนาการความคิดของตัวเองไว้ในกรอบที่ตัวเองสร้างขึ้นมา  ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีใครสร้างหรือกำหนดขีดกั้นอะไรสำหรับความคิดเราได้เลย  นอกจากตัวเราเอง  เราเป็นนายความคิดของเรา   เราคิดอย่างไรเราก็พูดไปอย่างนั้น   เราคิดอย่างไรเราก็ทำไปอย่างนั้น   ความคิดของเรานั้นมันอยู่ข้างไหน  คนรอบข้างนั้นไม่เห็นไม่รู้ด้วย   แต่คำพูดของเราและการกระทำของเรานั้นมีผลกับคนรอบข้างและสังคมรอบๆ ตัวเรา
                     
ดังนั้นถ้าจะจัดการกับความเครียดนั้นจะต้องจัดการกับความคิดของตัวเราให้ได้  โดยเฉพาะการคิดให้ดี   แต่ก็คงจะไม่ง่ายอย่างที่พูดหรอกครับ  เพราะเรายังมีความโลภ โกรธหลง  ความแค้น  และความเห็นแก่ตัวอยู่   เป็นกิเลส   การที่จะคิดให้ดีก็เลยไม่ง่ายนัก   เราจึงต้องจัดการลดกิเลสต่างๆ เหล่านั้นให้หมดไปเสียก่อน   บางคนอาจจะพลาดท่าความคิดตัวเองจนคิดไม่ตก  ก็เลยยิ่งเครียดกันไปใหญ่  และอาจจะเลยเถิดบ้าไปเลยหรืออาจจะสิ้นคิดหรือคิดสั้นๆ ไปจนทำอะไรที่ไม่ดีหรือเสียหายลงไปก็ได้  ดังนั้นชีวิตเรามักจะเป็นไปตามความคิดของเรา  โลกของเราจึงออกมาเป็นไปอย่างความคิดของเรา   เราจะเป็นเจ้าของชีวิตเราเป็นเจ้าของความคิดของเรา หรือจะตกเป็นทาสความคิดหรือติดกับดักความคิดของเราเอง  จนชีวิตเราไม่ใช่ของเรา  และไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราอยากให้เป็นไป   กลับมาเป็นเจ้าของชีวิตเราเองด้วยการเป็นเจ้าของความคิดของเราเอง!

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ยุทธศาสตร์ - ศาสตร์แห่งการอยู่รอด ต่อ 2

เราคงจะได้ยินคำว่า "ยุทธศาสตร์ (Strategy)" อยู่บ่อยครั้ง  จากข่าวหรือการประกาศแถลงการณ์จากภาครัฐ   หรือไม่ก็ทางการทหาร   ส่วนทางภาคธุรกิจนั้นมักจะใช้คำว่า  "กลยุทธ์" แทน  ซึ่งผมนั้นมีความเข้าใจว่าทั้งสองคำนี้เหมือนกัน    ส่วนในการทางราขการหรือผู้ที่ทำยุทธศาสตร์กันนั้นยังใช้คำว่า "กลยุทธ์" อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์อีกที่หนึ่งเห็นแล้วดูสับสนเป็นอย่างยิ่ง    แล้วคำว่ายุทธศาสตร์นั้น คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร   ยุทธศาสตร์มีความสำคัญกับความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง  เพราะว่า  ในระบบของธรรมชาตินั้นไม่มียุทธศาสตร์    ในระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้นก็ไม่มียุทธศาสตร์  แต่สังคมที่ประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มีกิเลสทั้งหลายนั้น  หรือสัตว์ที่มีความคิดและสติปัญญาทั้งหลายนั้นมียุทธศาสตร์เอาไว้ทำให้ตัวเองมีชีวิตอยู่รอด   ชนะต่อคู่ต่อสู้  ดังนั้นยุทธศาสตร์ คือ การคิดเพื่อทำให้ชนะหรืออยู่รอดของมนุษย์เรา

(2) หรือในอีกมุมหนึ่ง  ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของการปั้นอนาคต (Shaping The Future)  เราใช้ยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือในการบรรลุผลสำเร็จที่เราต้องการ    เราเคลื่อนตัวเองไปสู่สิ่งที่เราอยากจะเป็น (Ends) จากสิ่งที่เราจะต้องทำ (Means)  เราจึงใช้ยุทธศาสตร์เป็นหนทาง (Ways) ที่ดีที่สุดในการไปให้ถึงสิ่งที่ต้องการ   เรื่องยุทธศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องคิดและตัดสินใจ  ยุทธศาสตร์เป็นแนวคิดในเชิงองค์รวมหรือเป็นแนวคิดเชิงระบบ (System Approach) ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  องค์กรหรือบุคคลก็ตามที่ใช้มีแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์จะสามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรืออยู่รอดได้   ผู้ที่เป็นนักยุทธศาสตร์จะต้องมองให้เห็นถึงโอกาสและภัยคุกคามในบริบทที่ตนเองอยู่รวมถึงการประเมินความสามารถของตนเองด้วย  หลายๆ คนหรือหลายองค์เข้าใจยุทธศาสตร์ในรูปแบบของการวางแผนยุทธศาสตร์หรือการวางแผยกลยุทธ์ (Strategic Planning) ที่เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ยุทธศาสตร์  แต่ในกระบวนการเหล่านี้ก็มีกระบวนการย่อยที่เป็นกระบวนการในการคิดยุทธศาสตร์หรือสร้างยุทธศาสตร์อยู่  แต่ผมว่าวิธีการและบุคคลที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นยังไม่ใช่นักยุทธศาสตร์   ที่เราได้ร่วมและสัมผัสกันส่วนใหญ่มักจะเป็นแค่กระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์ที่มีตัวยุทธศาสตร์เขียนมาให้แล้วเท่านั้น   ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่าแล้วยุทธศาสตร์ที่ว่านั้นได้มาอย่างไรหรือใช้กระบวนการอะไร    เพราะว่าตัวยุทธศาสตร์นั้นจะเกิดมาจากกระบวนการคิดที่มีผลต่อการดำเนินงานขององค์กรหรือบุคคลนั้นๆ แล้ว ใครควรจะเป็นคนคิดยุทธศาสตร์นั้นมาจากวิสัยทัศน์เดียวกันหรือไม่
                       
ยุทธศาสตร์นั้นควรจะเกิดมาจากกระบวนการคิดภายใต้กรอบของ Ends-Ways-Means  ก่อนที่เราจะสร้างหรือคิดออกมาเป็นยุทธศสาตร์ได้นั้น    เราควรจะตั้งคำถามดังนี้ Where are we?  Where do we want to go?  What change have to be made?  How should changes be made?  How shall we measure progress?  คำถามเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การคิดเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Thinking)  ที่จริงแล้วคำถามเหล่านี้ก็เป็นคำถามธรรมดาๆ นี่เอง   ผมเข้าใจว่าเราตั้งคำถามเหล่านี้ในชีวิตเราอยู่เสมอ  ถ้าเรานำคำถามเหล่านี้มาเรียงร้อยตามลำดับเราจะคำถามในเขิงระบบ (Systemic Questions) ที่เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งจะทำให้เรามองไปข้างหน้า  แล้วหันมามองตัวเอง    แล้วเกิดมองไปรอบๆ   เพื่อที่จะสร้างทางเลือกที่เป็นไปได้ เพื่อการตัดสินใจ

(มีต่อครับ)

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

Life -- บทสุดท้ายมักจะเป็นตัวกำหนดบทแรกๆ เสมอ


ผมไม่ได้เขียนบทความนานมากครับอีกแล้ว  ประมาณหนึ่งเดือนเห็นจะได้  มันเป็นความกลัวอย่างหนึ่งของผมที่ซ่อนอยู่  กลัวที่จะเขียน   ผมก็เลยออกไปจากสังคม FaceBook เลยครับ เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ  แต่ก็ OK ครับ  ผมยังอยู่ได้ปกติครับ  แสดงว่าไม่ได้ติด FB  หลายๆ คนเจอผมก็ถามถึงบทความที่ผมเขียน  เพราะว่าผมยัดเยียดให้อ่านทาง FB  แต่หลายๆ คนคงจะไม่รู้ว่ากว่าที่ผมจะกลับมาเขียนได้นั้นก็ไม่ง่ายนัก  เพราะว่าผมก็มีข้ออ้างต่างๆ มากมาย  ที่เห็นเด่นชัดก็ คือ ผมกำลังอ่านหนังสืออยู่เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวอะไรบางอย่างที่ผมกำลังสนใจเพื่อจะได้วัตถุดิบมาเขียนเรื่องราวต่างๆ     แต่พอได้เริ่มเขียนแล้วมันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลยครับ  บางครั้งเราเองก็สร้างกำแพงขังตัวเองอย่างง่ายๆ จนกลายเป็นกับดักความคิด
                     
วันนี้ผมมีโอกาสได้ไปสอบการเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง   ที่จริงแล้ว เรื่องการสอบวิทยานิพนธ์นั้นเป็นอาชีพของผมและพวกอาจารย์ทั้งหลายโดยเฉพาะในระดับบัณทิตศึกษา  ในระหว่างที่ทำการสอบโดยมีการตั้งคำถามต่างๆ นั้น  ทางอาจารย์ผู้สอบได้อ้างถึงบทต่างๆ ในรายงานการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์นั้น   โดยเฉพาะบทแรก ประเด็นก็คือ นักศึกษาทั้งหลายจะมีปัญหาในการเขียนบทแรก   ซึ่งเป็นบทที่สำคัญอย่างยิ่ง   แต่ในทางตรงกันข้าม   บทแรกของ Thesis ทั้งหลายนั้นควรจะเป็นบทสุดท้ายที่ต้องเขียน   เพราะว่าเมื่อกรรมการอ่านบทแรกแล้วน่าจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดว่านักศึกษาจะทำอะไร    แล้วผมก็หวนมานึกถึงบทสุดท้าย  
                     
หนังสือทุกเล่มมีบทสุดท้าย   หนังทุกเรื่องมีตอนจบ    หรือถ้าจบไม่ลงแล้วดันทุรังไปเรื่อยๆ ก็ต้องมีวันจบอยู่ดี   แล้วบทแรกและบทสุดท้ายนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร  เราอาจจะจำถึงเหตุการณ์วันแรกของชีวิตไม่ได้   แต่ผมก็ได้เห็นและยังจำเหตุการณ์วันแรกของลูกชายผมที่เกิดมาดูโลกได้   บทแรกของชีวิตเขาที่ไม่ได้เขียนเอง   แต่บทๆ ต่อๆ ไปของชีวิตเขานั้นก็อยู่ในกำมือเราพ่อแม่ที่จะปูทางรวมทั้งเขาเองก็ต้องเป็นคนเขียนบทสุดท้ายของชีวิตเขา     หรือไม่ก็เราไม่ได้มีสิทธิ์เขียนอะไรเลย บทบาททั้งหมดในชีวิตนั้นมีคนกำหนดมาอยู่ก่อนแล้ว   เราก็แค่เล่นไปตามบทบาทที่ใครก็ไม่รู้เขียนมา  จริงหรือไม่   แต่ที่แน่ๆ เราไม่รู้ว่าบทสุดท้ายจะเป็นอย่างไรจะมาถึงเมื่อไร
                   
บททุกบทของชีวิตหรือในหนังสือย่อมสัมพันธ์กับบทสุดท้ายเสมอ   คราวนี้ถ้าเราอยากรู้ว่าบทแต่ละบทของชีวิตเรา  ย่างก้าวแต่ละย่างก้าวของชีวิตนั้น มาถูกทางหรือไม่   เราก็คงต้องไปดูบทสุดท้ายของชีวิตเราหรือเป้าหมายของชีวิตเรานั่นเอง  ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเราจะวาดภาพบทสุดท้ายเป็นอย่างไร
                     
บางครั้งในระหว่างชีวิตหรือระหว่างบทที่ยังไม่ถึงบทสุดท้ายนั้น  เราอาจจะต้องจบบทใดบทหนึ่งลงไป  โดยที่อาจจะไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์กับบทสุดท้ายเลย หรืออาจจะไม่ได้ประทับใจหรือมีประโยชน์ในชีวิตต่อไปแล้ว ก็อาจจจะสร้างความผิดหวังให้กับเจ้าของบทนั้น   แต่ว่าเรายังมีหน้ากระดาษเหลืออยู่ใช่ไหมครับหรือยังมีชีวิตอยู่   เราก็เริ่มเขียนบทใหม่ของหนังสือหรือช่วงชีวิตใหม่ต่อไปได้  เหมือนกับชีวิตที่ยังมีเวลาเหลืออยู่  ประเด็นก็ คือ แล้วบทสุดท้ายของเรานั้นควรจะจบอย่างไร  เราจะวางแผนหรือมองไปในอนาคตอย่างไรดี
                   
มีหนังสือหลายเล่มที่มีบทต่างๆ ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับบทสุดท้ายเลย  แต่เรื่องราวในแต่ละบทนั้นก็กลับเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้บทต่อไปเพื่อที่จะไปถึงบทสุดท้าย   หรือบางครั้งการเดินทางมาผิดทางจนเราจะต้องจบบทนั้นลงไปเพราะว่าเรารู้ว่ามันไม่ใช่   เราก็จะต้องจบบทนั้นลงด้วยความล้มเหลว   จนบางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่า  เรานั้นโชคดีที่ล้มเหลว   ไม่อย่างนั้นเราอาจจะเสียหายมากกว่านั้น  บางครั้งเราอาจจะต้องล้มเลิกการวิจัยนั้นไปเพราะผิดทาง   ในมุมมองของงานวิจัยในการทำ Thesis ความล้มเหลวในการวิจัยนั้นก็ไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดพลาดในการทำงาน  แต่เราสามารถมองว่าเป็นการค้นพบอย่างหนึ่งที่เราสามารถบอกถึงว่าความล้มเหลวนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร   เพื่อให้ข้อมูลกับคนอื่นๆ ที่มาทีหลังจะได้หลีกเลี่ยงไม่ต้องดำเนินมาทางนี้ที่เราล้มเหลวมาก่อน  ประสบการณ์จากความล้มเหลวนั้นอาจจะเป็นพื้นฐานของความสำเร็จในอนาคตก็ได้   ไม่ใช่ก็ได้   แต่มีความเป็นไปได้สูงขึ้นอยู่กับตัวเรา
                 
สุดท้ายแล้วทุกก้าวแรกที่ก้าวไปย่อมหมายถึงปลายทางที่เป็นก้าวสุดท้ายเสมอ  แต่เมื่อใดที่ก้าวพลาดไปก็ก้าวใหม่ได้  ประโยชน์ที่ได้ก็ คือ คนที่ตามมาข้างหลังจะได้ไม่ก้าวตามมาผิดพลาดเหมือนเราอีก  แล้ววันนี้ท่านก้าวมาถึงไหนแล้ว  ถึงบทไหนกันแล้ว  เริ่มก้าวบทใหม่กันกี่บทแล้ว  สำหรับผมวันนี้ผมได้เริ่มบทใหม่อีกบทหนึ่งของหนังสือชีวิตของผม  ก็ไม่ใช่ว่าบทที่ผ่านมานั้นไม่ถูก ใช่หรือไม่สนุก  แต่กลับเป็นพื้นฐานที่ดีในการเขียนบทใหม่ต่อไป  เพื่อที่จะสรุปให้ถึงบทสุดท้ายที่สมบูรณ์ให้ได้

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

My Journal -- ส่งลูกเข้าค่าย…เรียนรู้กฎธรรมชาติ

ตลอด 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมส่งเจ้าลูกชายผู้ซึ่งเป็นเจ้านายผมโดยตรงไปเข้าค่ายภาษาอังกฤษที่ Asian University พัทยา  ผมว่าดีนะครับ  เป็นการฝึกการอยู่คนเดียวและช่วยเหลือตัวเองบ้างในเบื้องต้น  พร้อมๆ กับการฝึกภาษาอังกฤษพื้นฐานก่อนที่จะเลื่อนขั้นไปเข้าค่ายในระดับที่สูงขึ้น   มันก็เป็นเรื่องไม่ง่ายนักกับการไปอยู่ไกลบ้านคนเดียวสำหรับเด็กๆ  แต่พัทยากับกรุงเทพฯ ก็ไม่ไกลกันมากนัก   สำหรับโปรแกรมนี้นั้น  ก็ต้องเชื่อมือของดร.วิพรรธ์  เริงพิทยา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชี่ยน  ผมมีโอกาสได้เจอตัวและได้เข้ารับฟังการปฐมนิเทศและปัจฉิมนิเทศของค่ายภาษาอังกฤษฤดูร้อนนี้  ซึ่งมีเด็กๆ มาเข้าค่ายกันประมาณ 120 กว่าคนตั้งแต่เด็กขึ้น ป.3  จนถึงเด็กที่ขึ้น ม.6   ส่วน (Pe)ter เจ้าลูกชายผมนั้น  ขึ้น ป.5  ซึ่งก็คิดว่ายังไม่โตมากนัก  แต่การเข้าค่ายนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี

ผมนั้นประทับใจในตัว ดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา เป็นอย่างยิ่ง  เคยได้เห็นท่านในรายการข่าวในทีวี  แล้วยิ่งมาพบตัวท่านเอง  ซึ่งท่านทักทายผู้ปกครองที่มาส่งลูกๆ เข้าค่ายและรับลูกๆ กลับบ้านด้วยความเป็นกันเอง    ท่านเป็นเหมือนคุณปู่ใจดี  ถึงแม้ว่าท่านจะบริหารมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในระดับอุดมศึกษา   แต่ท่านก็ให้ความสำคัญและให้โอกาสเด็กๆ ในระดับประถมและมัธยมในการศึกษาโดยเฉพาะพื้นฐานด้านภาษาและพื้นฐานด้านความรู้วิชาการต่างๆ   โอวาททั้งตอนปฐมนิเทศและปัจฉิมนิเทศนั้นของท่านดร.วิพรรธ์นั้น ไม่ได้เหมาะกับเด็กๆ ผู้ที่เข้าค่ายเท่านั้น  แต่ท่านผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานทั้งหลายมาเรียนในค่ายนี้ก็ยังสามารถนำไปคิดและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี  เมื่อผมมองดูไปรอบๆห้องประชุมทั้งตอนปฐมนิเทศและตอนปัจฉิมนิเทศแล้ว  อายุอานามของท่านผู้ปกครองทั้งหลายรวมทั้งผมเองด้วยก็รุ่นลูกๆ ของท่านดร.วิพรรธ์ทั้งนั้น

ดร.วิพรรธ์ ท่านได้ให้ความสำคัญกับภาษาเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและในอนาคตก็คงจะเป็นภาษาจีน  เพราะว่าภาษานั้นเป็นสื่อที่นำเราไปสู่ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะกฎของธรรมชาติ (Law of Nature) ต่างๆ  ซึ่งถ้าเราเข้าใจแล้ว  เราจะสามารถนำเอากฎธรรมชาติเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เราเองด้วย ผมคิดว่านี่เป็นพื้นฐานของปรัชญาการศึกษา ความรู้ที่เราเรียนทั้งหมดนั้นก็เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติทั้งสิ้น  ทำให้เราอยู่ร่วมกันธรรมชาติได้  เข้ากับธรรมชาติได้   ความรู้ที่อยู่เอกสารที่เป็นภาษาไทยนั้นคงจะไม่พอในการศึกษาหาความรู้ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน   การเข้ามาอยู่ในค่ายนี้ยังทำให้นักเรียนได้ปรับตัวในการเข้าสังคมกับผู้อื่นได้  ผมเองก็หวังว่าลูกผมน่าจะเอาตัวรอดผ่านบทเรียนนี้ได้อย่างสบายๆ เพราะว่าถ้าเกิดปัญหาอะไร  โทรมากริ๊งเดียว  ผมกับแม่เค้าก็จะขับรถเดี๋ยวเดียวก็ถึงที่ Asian U  แล้วตามคำร้องขอ (Request)   ตกลงแล้วระหว่าง  3 อาทิตย์นี้  ไปเยี่ยมสัก 2 ครั้ง รวมไปส่งและไปรับอีก 2 ครั้ง ก็ยังพอไหว   แม่เค้าโทรเช็คทุกวัน   ในทางกลับกันลูกผมเค้าจะไม่ค่อยโทรมา  ถ้าไม่มีเรื่องอะไร  นอกจากเงินหมด  นั่นไง  มันเริ่มเป็นแล้ว
                   
ส่วนในช่วงตอนปัจฉิมนิเทศนั้น  ท่านดร.วิพรรธ์ ยังกล่าวย้ำในเรื่องเดิมอีกครั้งหนึ่ง  รวมทั้งบอกว่า  ถึงแม้วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของการเข้าค่าย   ในขณะเดียวกันวันนี้ก็จะเป็นวันแรกของการเริ่มต้นกลับใช้ชีวิตนอกค่าย   ที่ต้องจากเพื่อนๆ ครูอาจารย์ที่ค่ายซึ่งอยู่ร่วมกันมา   วันนี้จึงไม่ใช่เป็นแค่วันลาหรือวันจบหรือวันที่สำเร็จการศึกษาเท่านั้น   หลายๆ คนที่ผมเห็นความชื่นชมยินดีที่ได้จบการศึกษา  มีรอยยิ้มและความชื่นชมความสุข แต่ในขณะเดียวกันบทใหม่ของชีวิตก็กำลังเริ่มต้น  จะเป็นอย่างไร   จะเหมือนบทเก่าหรือไม่  เราก็ไม่แน่ใจ  เราก็ได้แค่หวังว่าน่าจะดีกว่าเก่าเสมอ   ผมยังจำได้เสมอถึงความรู้สึกตอนที่ผมจบปริญญาโทและเอกที่อเมริกา   ผมรับปริญญาโดยไม่ได้มีญาติหรือพ่อแม่ผมไปแสดงความยินดีแบบมากมายเหมือนในเมืองไทย  จะมีแต่ก็เพื่อนๆ น้องๆ ที่เรียนอยู่ด้วยกัน    ในขณะที่ด้านหนึ่งมีความสำเร็จ  ความภูมิใจและความยินดี   เมื่อมองออกไปข้างหน้า  แล้วมองออกไปนอกกรอบชีวิตเดิมๆ ที่ผ่านมาซึ่งยังเรียนอยู่   มันรู้สึกเหงาๆ อย่างไงชอบกล  ยิ่งตอนอยู่บนเครื่องบินตอนบินกลับบ้าน  มองจากเครื่องบินลงมาเบื้องล่างแล้ว   คนเราตัวเล็กนิดเดียวเอง   ธรรมชาติยิ่งใหญ่นัก   สิ่งที่เราฝ่าฟันมา   เรียนมาจนจบได้ปริญญานี้  มันเล็กนิดเดียวจริงๆ    ข้างหน้าในชีวิตจริงที่คนทำงานทั่วไปชอบปรียบเทียบว่า  ในห้องเรียนกับชีวิตจริงนั้นมันไม่เหมือนกัน  แล้วเราจะดำเนินชีวิตอย่างไรเล่า   ถึงแม้ว่าโลกแห่งการเรียนและโลกแห่งการทำงานจะไม่เหมือนกัน   แต่อย่าลืมว่า   โลกทั้งสองนั้นก็อยู่ในโลกแห่งความจริงเหมือนกัน  ถึงแม้ว่ามันจะไม่เหมือนกัน  แต่มันก็เสริมกันและกันเสมอ  ไม่ใช่ทิ้งโลกแห่งการเรียนไปเลย  คนเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา  การเรียนรู้ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดในห้องเรียนเสมอไป
             
ประสบการณ์ไปเข้าค่าย English Summer Camp  ของ (Pe)ter เจ้าลูกชายผมและโอวาทของท่านดร.วิพรรธ์  อธิการบดี  Asian University ทำให้ผมคิดอะไรๆ ได้บ้าง  โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา เพื่อให้เราเข้าใจกฎของธรรมชาติ  เพื่อทำให้เราได้อยู่รอดได้ในสังคม ซึ่งต่อไปนี้จะไม่ใช่แค่สังคมไทยเท่านั้น  แต่จะเป็นสังคมอาเซียนและสังคมโลก   แล้วเราจะทำอย่างไรให้ลูกหลานเรานั้นมีความพร้อมในการเรียนรู้ตัวเอง  โลกและกฎของธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ   สิ่งหนึ่งที่สะท้อนใจผมว่าพวกเราที่เป็นพ่อเป็นแม่ของเด็กๆ ในยุคนี้   เราเองก็ยังจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาให้ทันกับการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่  ที่สำคัญเราพ่อแม่คงจะต้องไม่หยุดการเรียนรู้แค่การจบหรือสำเร็จการศึกษาเมื่อหลาย 10 – 20 ปีที่ผ่านมา   ในยุคนี้พวกเราพ่อแม่คงจะต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับพวกลูกๆ เขา  และในขณะเดียวกันเราพ่อแม่ก็คงจะต้องเรียนรู้จากพวกเขาเช่นเดียวกันด้วย  เพราะทุกครั้งที่เราทำอะไรสำเร็จหรือสำเร็จการศึกษาอะไรก็ตาม  มันมักจะเป็นจุดเริ่มต้นของบทใหม่หรือวิชาใหม่เสมอตลอดเวลา  เพราะว่ากฎแห่งธรรมชาติมันยิ่งใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์จะเรียนรู้ได้หมดในชั่วอายุคน  หรืออาจจะไม่มีวันที่จะเรียนรู้ได้ทั้งหมดเลยก็ได้   เพราะว่ามนุษย์ไม่เป็นผู้สร้างธรรมชาติ   แต่ในทางตรงกันข้ามธรรมชาติต่างหากที่สร้างมนุษย์และทำให้มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  ขอบคุณ ดร.วิพรรธ์ ครับที่สอนกฎแห่งธรรมชาติให้ผมในระหว่างที่ลูกผมไปเข้าค่ายที่ Asian University

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

My Journal -- ใส่กรอบรูป...แล้วเปลี่ยนกรอบใหม่ให้ชีวิต

ระยะเดือน (เมษายน 2555) ที่ผ่านมานี้  ผมหลบไปหรือล่าถอย (Retreat) ไปคิดอะไรที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น  ก็ได้อะไรมามากพอสมควรสำหรับการแปลงสภาพความคิด (Transformation of Thinking) ในเรื่องการทำงานโดยเฉพาะองค์ความรู้ใหม่ที่จะต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่หรือรวบรวมขึ้นมาใหม่  ตามปกติแล้วผมเก็บรูปภาพสวยๆ ไว้บ้างพอสมควร   พอถึงเวลาผมก็นำออกมาใส่กรอบรูปเพื่อที่จะได้นำไปให้กับคนอื่นๆที่ผมนับถือหรือชอบพอกัน   ผมไม่ได้เก็บไว้แขวนดูเองเลยครับ เพราะว่าไม่มีที่จะแขวนเท่าไหร่นัก  กำแพงในบ้านและ Office ผมนั้นกลายเป็นชั้นหนังสือซะหมดเลย  ช่วงนี้พอมีเวลาก็เลยขนรูปเหล่านั้นไปใส่กรอบรูปที่ร้านประจำ  ซึ่งมีกรอบรูปมากมายหลายแบบหลายขนาด   รวมทั้งเม้าท์ (Mount) ในกรอบรูป  การเลือกแบบของกรอบรูปและเม้าท์ที่เข้ากันได้และลงตัวจะทำให้รูปนั้นดูเด่นขึ้นมาทันที  ระหว่างที่ผมเลือกแบบทั้งกรอบรูปและเมาท์สีต่างๆ ให้เข้ากับรูปเหล่านั้น  ทำให้ผมขึ้นถึงคำว่า Frame หรือ กรอบ  และ Framework หรือกรอบการทำงานขึ้นมาทันที ว่าทำไมรูปต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะต้องอยู่ในกรอบรูป  ไม่ต้องมีกรอบรูปไม่ได้หรือ?   รูปดีๆ สวยๆ ไม่ต้องมีกรอบก็ได้ รูปที่ไม่ค่อยสวยนัก แต่พอได้กรอบดีก็ดูดีไป ส่วนรูปที่สวยอยู่แล้วนั้น แต่ถ้าได้กรอบไม่สวยแล้ว ผลออกมานั้นก็พลอยไม่สวยไปด้วยเลย แล้วรูปที่ไม่มีกรอบก็คงจะไม่ได้แขวนไว้ให้คนได้เห็นหรือชื่นชม  คงจะถูกเก็บไว้หรือสอดไว้ที่ใดสักแห่งหนึ่งในลิ้นชักหรือตู้ หรืออาจจะกองทับอยู่กับหนังสือหรือกองกระดาษอื่นๆ จึงทำให้คนไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ชื่นชม

หันกลับมามองชีวิตคนเรา การทำงานของคนเรา ถ้าเราไม่มีกรอบของการดำรงชีวิต หรือกรอบของการทำงานแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง ที่จริงแล้วกรอบรูปนั้นไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องอะไรกับรูปเลย  แต่กรอบรูปก็ทำให้คนที่มองได้รับความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป รูปเดียวกันแต่มีกรอบรูปที่แตกต่างกันไป   เวลามองก็ให้ความรู้สึกที่ต่างกันออกไป คนเรามีชีวิตอยู่ในสังคมหรือทำงานในองค์กร ก็ต้องมีกรอบในการดำรงชีวิตและกรอบการทำงาน สังคมในแต่ประเทศหรือแต่ละภูมิภาคของโลกก็มีกรอบการดำรงชีวิตและกรอบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้การดำรงชีวิตของคนในแต่ละสังคมและองค์กรนั้นแตกต่างกันออกไป แต่คนทุกในโลกนี้ก็อยู่ในรูปภาพเดียวกันหรือโลกเดียวกันที่มีธรรมชาติเป็นกรอบของการดำรงชีวิต เพราะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่เป็นกรอบที่ใหญ่ที่สุดที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งไว้

กรอบทำให้เราอยู่ในขอบเขต กรอบทำให้เรามุ่งเน้น (Focus) เพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้ที่มองดูหรือเจ้าของภาพ  ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนว่า กรอบต่างๆ เหล่านั้นในชีวิตเราจะกำหนดและจำกัดความคิดหรือความรู้สึกรวมทั้งการกระทำต่างๆ ของเรา  แต่กรอบเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนในภาพเหล่านั้นโดยตรง  เช่นเดียวกับการทำงานหรือชีวิตเราที่เรามักจะคิดว่ากรอบต่างๆนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา  ที่จริงแล้วเราเองต่างหากเป็นคนที่ตีกรอบหรือกำหนดกรอบในการดำรงชีวิตเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเราเองหรือสังคมของเราเองมากที่สุด กรอบเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อความคิดของเรา มีผลต่อความคิดของคนในสังคม  กรอบรูปไหนที่ไม่ดีไม่เหมาะหรือไม่สวย เราก็สามารถถอดทิ้งได้ แล้วใส่กรอบใหม่ให้เหมาะสมหรือเข้ากับรูปอื่นๆ ที่ใส่กรอบประเภทเดียวกัน เช่นเดียวกันชีวิตเราจะรู้สึกดีหรือไม่  ก็ขึ้นอยู่กับกรอบความคิดของเราที่ใส่เข้าไปในชีวิตเรา การทำงานของเราจะได้ประสิทธิผลและประสิทธิภาพดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกรอบความคิดของเราในการทำงาน  แล้วลองคิดอยู่ว่าถ้าคนในองค์กรทั้งหมด มีกรอบความคิดที่แตกต่างกัน  เมื่อมองเข้ามาจากข้างนอกแล้ว  ก็ยิ่งเห็นความไม่เข้ากันหรือความไม่ลงตัวมากยิ่งขึ้น  หรือคนในชาติมีกรอบความคิดที่แตกต่างกัน  การทำงานและการดำรงชีวิตก็คงจะไม่สะดวกและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร  หรือไม่เหมาะสมที่สุด (Optimal)  ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำของสังคมจะเปลี่ยนกรอบความคิดของสังคมไปในทางใด   ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนกรอบความคิดของแต่คนในสังคม   อันจะนำพาไปสู่การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในสังคม

ที่สุดแล้วเราก็เป็นคนที่ตีกรอบให้ชีวิตเราเอง  เรากำหนดเอง  เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม  สังคมและสมาชิกของสังคมก็ควรจะต้องคิดนอกกรอบจนถึงขั้นจะต้องเปลี่ยนกรอบใหม่ตามความเหมาะสม   โดยเฉพาะกรอบความคิดของผู้นำในสังคม  ซึ่งจะต้องนำพาให้คนอื่นๆ ในสังคมเปลี่ยนตามกันไปด้วย  เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป  สภาพของบริบทในสังคมก็เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา กรอบเก่าๆ นั้นก็ไม่ได้ทำให้ภาพนั้นดูดีขึ้น   หรือทำให้สังคมดีขึ้น   รูปเก่าๆ เรายังนำมาใส่กรอบใหม่เลย   ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดตามกรอบความคิดของสังคมโลกที่เป็นกรอบของภาพใหญ่ของโลกเรา เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเข้ากันได้ไปทั่วกันทั้งระบบ  เพื่อประโยชน์ของสังคมโลกเชิงองค์รวม