เราเรียนหนังสือกันไปทำไม? เพื่อวิชาการหรือปฏิบัติ? สิ่งที่เราเรียนคือ อะไร? แล้วเราจะนำสิ่งที่เรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ผมมีโอกาสได้คุยกับหลายท่านที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ผมเองยังชื่นชมถึงความเก่งของเขาเหล่านั้นที่ผมไม่มี ทั้งๆ ที่ผมก็ดูจะมีความรู้มากกว่า แต่ผลออกมานั้นผมมีเงินน้อยกว่าและผมประสบความสำเร็จน้อยกว่า ผมยังแอบชื่นชมพวกเขาและอีกหลายๆ คนอยู่เสมอ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอายุน้อยกว่าผมก็ตาม เขาเหล่านั้นก็ยังเป็นตัวอย่างให้ผมได้คิดตามเพื่อที่เดินตามได้และเป็นแรงบันดาลใจ โดยไม่อายว่า เขาเหล่านั้นอาจจะอายุน้อยกว่าผม หรือไม่ก็มีวุฒิการศึกษาน้อยกว่า หรือมีความรู้น้อยกว่าผม แต่สิ่งที่พวกเขามีมากกว่าผมก็ คือ กล้าที่จะคิดและคิดเป็น และพร้อมที่จะสู้และท้าทาย
แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจเลย เพราะว่ามีผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายๆ ท่าน มีความคิดว่าสิ่งที่เราได้เรียนมา ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตหรือในการทำธุรกิจเลย สิ่งพวกเขาเรียนมาไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการทำงาน ชีวิตเขาเหล่านั้นประสบผลสำเร็จเพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองแท้เลย แต่ก็จริงครับเพราะสิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียนนั้นอาจจะดูเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ คงจะไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าเราไม่เรียนรู้ในโรงเรียนเลยนั้น เราอาจจะเสียเวลาหรือโอกาสไปบ้างในการลองผิดและลองถูกทำให้ประสบผลสำเร็จล่าช้าไป หรืออาจจะทำให้ไม่มีโอกาสได้ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ ทำไมเราไม่คิดว่า เพราะว่าเราได้เรียนมา สิ่งที่ได้เรียนมาเป็นพื้นฐานของตัวเราให้เราให้ไปต่อสู้ให้ตัวเราได้ประสบผลสำเร็จในอนาคตในการทำงาน อย่างน้อยการเรียนก็ต้องมีประโยชน์
ผมคิดว่าคงจะไม่ยุติธรรมเลยที่พูดกันว่า “เรียนมาแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร” แต่หลายๆ คนก็พยายามเรียนจนจบปริญญาตรี-โท-เอก แล้วเขาเหล่านั้นจะเอาปริญญาไปทำไมกัน เอาไว้ไปติดข้างฝาผนังแค่นั้นหรือ? หรือถ่ายรูป หรือเป็นเกียรติกับวงตระกูล ผมได้ฟังแล้วสะดุ้งทุกทีอาจเป็นเพราะว่าผมก็เป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยอยู่ด้วย แม้ว่าบทบาทของผมจะเป็นแค่คนให้ปริญญาที่เป็นกระดาษหรือเป็นผู้ที่สร้างพื้นฐานความรู้วิชาการในการออกไปทำงานและดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็มุมมองที่ต่างกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน แต่ปัจจุบันผมชักไม่แน่ใจว่า ทั้งสองมุมมองนั้นจะยังคงอยู่อย่างนั้นหรือพัฒนาออกไปในแนวใดบ้าง แต่ในปัจจุบันความรู้สึกของผมนั้น ผู้เรียนก็มีหน้าที่เรียนเพื่อให้ได้ปริญญา ส่วนผู้สอนก็มีหน้าที่สอนไปให้เด็กจบให้ได้ตามระเบียบข้อกำหนด แต่ประสิทธิภาพของบัณฑิต มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ที่เป็นปัญญาชนที่แท้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้น ผมไม่แน่ใจ
ผมมักได้ยินคำว่า “วิชาการกับการปฏิบัติ” อยู่คู่กันเสมอ แต่น่าเสียดายว่า วิชาการกับปฏิบัติไม่ได้ถูกบูรณาการเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ถูกมองว่าเป็นน้ำกับน้ำมัน มันเข้ากันไม่ได้ นั่นเป็นความรู้สึกของคนหลายๆ คน แม้แต่ผู้บริหารหลักสูตรเองก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจในคำว่าวิชาการ (Academic หรือ Technical) และ ปฏิบัติ (Practical) เลย ส่วนผู้บริหารในธุรกิจจะมีความเข้าใจในการปฏิบัติเพราะคิดว่า มันกินได้ มันจับต้องได้ มันทำกำไร มันได้เงินคืนมา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากน้ำมือและมันสมองของนักปฏิบัติ แล้วนักวิชาการล่ะ ก็คืออาจรย์ที่มีหน้าที่สอนในห้องเรียน นักศึกษาเรียนแล้วได้ปริญญา ทุกคนทำตามหน้าที่ นักธุรกิจที่เรียกตัวเองว่านักปฏิบัติ ได้เงิน ทำกำไร มีของกินของใช้ นั่นมันมาจากน้ำมือของเหล่านักธุรกิจเอง พวกเขาเรียนรู้จากชีวิตจริง พวกเขา คือ นักปฏิบัติ แต่ถ้าเรามาคิดว่า ถ้าพวกเขาไม่ได้มีพื้นฐานมาจากการเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแล้ว แต่พวกเขาได้ประสบการณ์การเรียนรู้และการทำด้วยตัวเอง เขาน่าจะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นหรือไม่ เรื่องนี้คงจะพิสูจน์ได้ไม่ง่ายนัก แต่ความจริงก็ คือ ทุกคนต้องเรียนรู้
สิ่งหนึ่งที่ผมต้องยืนยันคือ “ทุกการปฏิบัติจะต้องมีวิชาการรองรับ” ไม่ใช่ว่า ใครต้องการรู้เรื่อง “การปฏิบัติ” หรือเป็นนักปฏิบัติ แล้วห้ามมีวิชาการเข้ามาเกี่ยว ห้ามพูดถึงทฤษฎี หลายคนๆ เข้าใจผิดอย่างมากว่า การปฏิบัติคือการลงมือทำ หรือต้องมีนักปฏิบัติมาเล่าให้ฟังว่าพวกเขามีประสบการณ์ในการปฏิบัติอย่างไร ในหลายๆโอกาสเราได้ฟังการบรรยายของคนที่เรียกตัวเองว่านักปฏิบัติ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาแค่เล่าประสบการณ์การทำอะไรสักอย่างที่ประสบความสำเร็จในอดีตหรือในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ในอนาคต แต่เขาบอกไม่ได้ว่า เพราะอะไรจึงทำสำเร็จได้อย่างนั้น พวกเขาไม่สามารถบอกถึงเหตุและปัจจัยได้ว่าเพราะเหตุใดเขาถึงปฏิบัติเช่นนั้น พวกเขาไม่สามารถควบคุมอนาคตหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ เขาเหล่านั้นไม่ใช่นักปฏิบัติแน่ๆ แต่เป็นแค่นักทำ ทุกการปฏิบัติที่แท้จริงต้องมีวิชาการรองรับ
เหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆ ที่เป็นกลไกที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จต่างๆ นี้ ผมเรียกมันว่า “วิชาการ” ที่หลายๆ คนเกลียดเข้าใส้ รังเกียจเอามากๆ อาจารย์มาพูดถึงวิชาการทำไม? วิชาการมันกินไม่ได้ วิชาการมันไม่ Practical เลย พวกเขาบอกว่า ผมนั้นเป็นคนทำงาน เป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่นักวิชาการ แต่ว่าไปแล้ว คนเหล่านี้ไร้ปัญญาเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ากลไกหรือเหตุและปัจจัยเหล่านั่นล่ะครับที่ผมเรียกว่า “วิชาการ” ที่ทำให้นักปฏิบัติสามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้อยู่รอดได้หรือแก้ปัญหาได้ เพราะว่านักปฏิบัตินั้นมี “วิชาการ” เป็นอาวุธ นักวิชาการหรือตัววิชาการไม่ใช่แค่มีความรู้เท่านั้น แต่มีความสามารถในการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย นักวิชาการอาจจะไม่ใช่นักปฏิบัติที่สร้างประโยชน์โดยตรงหรือเป็นคนทำของที่กินได้ ขายได้ แต่นักปฏิบัติก็ต้องพึ่งพาวิชาการหรือนักวิชาการอยู่ดี เพราะถ้าเรื่องราวหรือปัญหาที่ซับซ้อนก็คงจะต้องแบ่งงานกันทำ ช่วยกันคิดและช่วยกันทำ แต่ถ้าทำอย่างเดียวโดยไม่คิดนั้น เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง
น่าเป็นห่วงอย่างมากที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่พยายามจะสร้างนักปฏิบัติ โดยหาคนที่ทำงานแล้วมาเรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารถึงความหมายที่แท้จริงของ ”วิชาการและปฏิบัติ” ได้ ในเมื่อมีคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนทำงานหรือเป็นนักปฏิบัติแล้ว ทางหลักสูตรก็คิดว่าควรจะสอนแบบนักปฏิบัติ ไม่ควรสอนวิชาการ ผมก็นึกเอาว่า แล้วจะสอนกันอย่างไรล่ะ สอนแบบช่างทั่วไปหรือ! ที่อ่านขั้นตอนในการปฏิบัติหรือในการทำมากกว่า แต่ช่างเหล่านั้นเขาก็ไม่อาจจะรู้ว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นหรือ โดยเฉพาะในระดับปริญญาโทที่น่าจะมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำเป็นผู้จัดการที่จะต้องเป็นนักปฏิบัติโดยเนื้อแท้ เพราะว่าเขาคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง เมื่อบริบทเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาที่เป็นผู้จัดการเป็นผู้นำเป็นผู้ปฏิบัติ คงจะไม่สามารถใช้ประสบการณ์ในการดำเนินงานเดิมๆ ในอดีตมาใช้กับเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้
สิ่งที่ผู้นำและผู้ปฏิบัติที่แท้จะต้องทำ คือ การใช้หลักวิชาการมาเป็นฐานคิดก่อนที่จะลงมือทำในบริบทต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นเวลาเรียนเราก็ต้องเรียนวิชาการและทฤษฎีเป็นพื้นฐาน ควบคู่กับการปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างของการใช้วิชาการให้เกิดประโยชน์หรือการประยุกต์วิชาการให้เกิดประโยชน์ นั่นคือ กระบวนการเป็นนักวิชาการ ดังนั้นถ้าจะเรียนหรือศึกษาแล้วก็จะต้องมาจบที่วิชาการหรือทฤษฎีอยู่ดี และถ้าจะให้ดีที่สุดแล้วผู้จัดการที่ดีหรือนักปฏิบัติที่ดีก็จะต้องเป็นนักวิชาการไปในตัวด้วย เพราะจะต้องทดลองค้นคว้าหาความจริงหรือความใหม่ ถ้าทำได้ก่อนคู่แข่งแล้ว เราก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน วิชาการไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในหนังสือหรือตำราแต่เพียงอย่างเดียว แต่วิชาการเป็นความจริงที่เราค้นพบ วิชาการเป็นกลไกของความจริงที่ได้ทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จมาแล้ว เราในฐานะนักปฏิบัติหรือผู้จัดการหรือผู้นำได้ทำการทดลองค้นคว้าพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง จากนั้นเราก็เอาวิชาการหรือความจริงที่ค้นพบไปใช้ประโยชน์ต่อ
นี่แหละวิชาการที่แท้ที่ฝังอยู่ในความเป็นนักปฏิบัติ แต่เราไม่เคยรู้ และที่สำคัญคนที่จะสอนให้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติเอง ก็ยังไม่รู้เลยว่านักปฏิบัติเป็นอย่างไรและสัมพันธ์กับวิชาการอย่างไร พอโดนลูกค้าที่เป็นนักศึกษาที่คิดเอาแต่ง่ายหวังใบปริญญาตามที่สัญญากันไว้ บ่นต่อว่าเอา ก็แก้ปัญหาโดยเอานักปฏิบัติมาสอนมาเล่าเรื่องราวต่างๆที่ไม่ได้มีวิชาการรองรับ โดยบางครั้งนักปฏิบัติรับเชิญเหล่านั้นก็ไม่ได้มีวิชาการรองรับการปฏิบัติของเขา สุดท้ายแล้วนักศึกษาก็ไม่สามารถออกไปเป็นนักปฏิบัติที่แท้จริงได้ ไม่ได้ไปเป็นผู้นำ ไม่ได้ไปเป็นผู้จัดการตามที่หวังไว้ ได้แต่ใบปริญญาไป นั่นเป็นเพราะความล้มเหลวและความมักง่ายของผู้บริหารการศึกษามากกว่า ที่ไม่ได้ใช้ปัญญาในการบริหารการศึกษาที่แท้จริง