เห็นข่าวใน TV ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการ 2คณะเพื่อหาทางในการแก้ไขและเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ ผมได้ยินคำว่ายุทธศาสตร์แล้วรู้สึกเอียนเป็นอย่างยิ่ง ดูไปดูมาแล้วไม่อะไรจะทำหรือไม่มีอะไรจะคิดแล้วหรือ? ว่าแล้วก็ใช้คำยุทธศาสต์ก็แล้วกัน ดูขลังดี ผมก็เห็นใช้คำนี้กันในทุกๆ หน่วยงาน ทุกจังหวัด ดูแล้วก็เท่ห์ดี ดูแล้วก็มีความหวังในชีวิต มีความหวังในประเทศของเรา แต่ผมดูแล้วสิ้นหวังกันจริงๆ ผมคิดว่าทำไปแล้วมันเปล่าประโยชน์จริงๆ เปลืองกระดาษ เปลืองเวลา เปลืองงบประมาณ มียุทธศาสตร์หรือไม่มียุทธศาสตร์แล้ว พวกเราจะทำงานได้ดีกว่านี้หรือแตกต่างกันหรือไม่? แม้แต่ในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ก็ดูข่าวใน TVไปด้วยได้ยินนักข่าวกำลังพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์ในการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง แล้ว ยุทธศาสตร์ คือ อะไรกันแน่
ในมุมมองของผมนั้น ยุทธศาสตร์(Strategy) ที่พูดกันมานั้น จะต้องเป็นวิธีคิดและวิธีการเพื่อที่จะเอาชนะหรือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยุทธศาสตร์นั้นจึงมีอยู่ในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเฉพาะหน้า ระดับระยะสั้น ระดับระยะกลางและระยะยาว แน่นอนครับ เรามีวิธีการคิดและมีคนเก่งๆ ที่คิดในขอบเขตของปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาระยะสั้น ปัญหาระยะกลางและปัญหาระยะยาว นั่นเป็นการมองกรอบยุทธศาสตร์ในเชิงระยะเวลา แต่ประเด็นยุทธศาสตร์ที่แต่ละคน แต่ละขอบเขตนั้นมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกันเป็นระบบหรือเรื่องเดียวกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศหรือไม่ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะคิดอะไร อยากจะแก้ปัญหาอะไร ก็คิดออกมา เอางบประมาณกันออกมาก่อน แล้วก็ดำเนินการออกไปก่อน เดี๋ยวจะไม่ได้ KPI เสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่า KPI ในแต่ยุทธศาสตร์นั้นมีความสัมพันธ์หรือมีการปฏิสัมพันธ์ในทางส่งเสริมหรือขัดแย้งกันกับยุทธศาสตร์อื่นๆ อย่างไร พอถึงเป้าหมายของตัวเองถือว่าใช้ได้แล้ว แต่ในภาพรวมไม่รู้
ส่วนในอีกมุมหนึ่งเป็นการมองยุทธศาสตร์ในเชิงฟังก์ชั่นการทำงาน (Functions) เช่น ประเด็น ICT ประเด็นการศึกษา ประเด็นการเมือง ประเด็นการทหาร ประเด็นสังคมจิตวิทยา ประเด็น ICT ประเด็นพลังงานและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ผมเชื่อว่าทุกหน่วยงานที่ผมกล่าวมาทั้งหมดมียุทธศาสตร์รองรับการทำงาน ผมรู้สึกว่าเราเขียนยุทธศาสตร์กันก็เพราะต้องเขียนต้องทำ จะ รู้หรือไม่ว่า ยุทธศาสตร์จำเป็นต่อการทำงานอย่างไร ดู เหมือนว่ามันเป็นรูปแบบหรือฟอร์แมทในการทำงาน ทุกหน่วยงานจะทำจะต้องเขียน แต่ขอโทษนะครับ เห็นยุทธศาสตร์ของหลายๆ หน่วยงานแล้วดูไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นยุทธศาสตร์ (Strategy) ไม่มีความรู้สึกของการต่อสู้เพื่อที่จะเอาชนะหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญเวลาเขียนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เป็น Functions นั้น แต่ละหน่วยงานนั้นมีการประสานงานหรือคุยกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ละหน่วยงานก็คงเขียนยุทธศาสตร์ของตัวเองเพื่อเป้าหมายของตัวเอง ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าแต่ละหน่วยงานนั้นมีการคุยหรือประสานงานหรือวางแผนร่วมกันหรือไม่ ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ หน่วยงานเหล่านั้นอาจจะมีก็ได้หรืออาจจะเป็นพิธีการแบบลูบหน้าปะจมูกกันไปหรือเปล่าผมก็ไม่รู้ ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อยก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ถ้ามีการวางแผนร่วมกันและเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่บูรณาการทั้งในแต่ละระดับของห้วงเวลา จากระยะยาว สู่ระยะกลางและระยะสั้น จนถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งถ้ามีการประสานงานและเชื่อมโยงแผนเพื่อสนธิแผนงานกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว ผมเชื่อว่า ประเทศไทยเราไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
แล้วทำไมเราถึงเป็นเช่นนี้หรืออยู่ในสภาพอย่างนี้ ผมคิดว่าเราอ่อนแอในการใช้ปัญญา เรามีแต่เรื่องที่รู้มา แต่ไม่สามารถนำเรื่องที่รู้ไปทำให้เกิดประโยชน์ได้ จากเรื่องที่รู้ก็ไม่สามารถกลายหรือแปลงไปเป็นความรู้ได้ และอีกอย่างที่น่าสนใจมาก คือ เราไม่สามารถสร้างความรู้เองได้ เราไม่มี Mind หรือความคิดของความเป็นวิทยาศาสตร์หรือคิดอย่างวิทยาศาสตร์ เราไม่ค่อยที่จะมีความตระหนักของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราและรอบๆ สังคมของเรา ทั้งๆ ที่เรื่องราวของยุทธศาสตร์และการเขียนยุทธศาสตร์ที่ผมเล่ามาให้ฟังนี้ ผมไม่ได้คิดเอาเองแล้ว แนวคิดและวิธีการของยุทธศาสตร์พร้อมตัวอย่างมากมายนั้นอยู่หนังสือและตำราที่สามารถหาได้ตามร้านหนังสือหรือในปัจจุบันยิ่งหาได้อย่างง่ายดายมากใน Internet แล้วทำไมเราถึงได้ปล่อยเรื่องที่รู้กลายเป็นแค่เรื่องที่รู้ แต่ไม่สามารถทำให้เป็นความรู้ได้
ผมคิดว่าเรามีทัศนคติต่อการดำรงชีวิตด้วยความสบายเป็นหลัก คนในชาติถูกโฆษณาชวนเชื่อให้กลายเป็นชนชาติที่มีลักษณะเช่นนี้ รักความสบาย ไม่เคยลำบาก ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ยึดติดอยู่กับความโชคดีของประเทศไทย แม้กระทั่งมีความคิดที่ว่าโชคดีที่เกิดมาเป็นคนไทย แล้วคนชาติอื่นในโลกล่ะ เขาเป็นคนโชคร้ายในโลกนี้หรือ เราได้กลายเป็นชนชาติแห่งความโชคดีในทุกๆ ด้าน สุดท้ายความโชคดีของชนชาติไทยก็หมดโปรโมชั่นลง ความโชคร้ายต่างๆ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติได้ย่างกรายเข้ามาในสังคมเรา เข้ามาเขย่าความมั่นคงในชีวิต เราเริ่มโชคร้ายเพราะคนไทยทะเลาะกัน เราเริ่มโชคร้ายเพราะคนไทยทุจริตกันมากมาย คนไทยเราถึงแม้ว่าจะเห็นอยู่ต่อหน้าว่าภัยกำลังจะมา แต่ในความคิดของคนไทยเราก็ยังไม่เคยเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น เราดำรงชีวิตอยู่กันด้วยความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง แต่ในหลายๆ ครั้งความเชื่อและความจริงมันก็ไม่ตรงกัน มันคงจะเป็นบทเรียนที่สำคัญของคนในชาติที่จะต้องเริ่มคิดกันใหม่ ถึงขั้นจะต้องสร้างชาติใหม่กันเลย ผมหมายถึงต้องเปลี่ยนฐานคิดและวิธีมองโลกกันใหม่เลย
กลับมาที่ยุทธศาสตร์หลักที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ผมยังค่อยจะเห็นร่องรอยของเจ้าตัวยุทธศาสตร์ชาติที่ว่านี้เลย ตัวยุทธศาสตร์ชาตินี้ถือว่าเป็นแกนหลักให้ยุทธศาสตร์ย่อยตัวอื่นๆ ในเชิง Functions ในการทำงาน เช่น ประเด็น ICT ประเด็นการศึกษา ประเด็นการเมือง ประเด็นการทหาร ประเด็นสังคมจิตวิทยา ประเด็น ICT ประเด็นพลังงานและสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถเป็นมุดหมาย (Milestone) และเป็นแกนกลางสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ในระยะกลางและระยะสั้นด้วย รวมทั้งเป็นฐานที่สำคัญในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย
ยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ ( Grand Strategy) สำหรับการดำรงอยู่ของชาติอย่างมั่นคง ยุทธศาสตร์จึงมีความเป็นบูรณาการของแผนยุทธศาสตร์ในหน่วยงานต่างๆ แผนยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นแผนที่จะต้องรอมชอมกับแผนยุทธศาสตร์ย่อยๆ ต่างๆ แน่นอนครับแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานต่างๆ อาจจะมีความขัดแย้งกันเอง ถ้าต่างคนต่างวางแผน ถ้าเรามียุทธศาสตร์ชาติที่มองแผนยุทธศาสตร์ย่อยของแต่ละหน่วยงานในเชิงระบบ (Systemic) โดยมองความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของแต่ละแผนยุทธศาสตร์ย่อยที่เป็นของแต่ละหน่วยงานให้เป็นโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure)
โครงสร้างของแผนยุทธศาสตร์โดยเฉพาะในระดับยุทธศาสตร์ชาตินั้นโดยธรรมชาติจะมีลักษณะที่มีความซับซ้อนที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)อยู่มาก การจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นอาจจะต้องเปลี่ยนฐานคิดใหม่จากการจัดทำยุทธศาสตร์ในแบบดั้งเดิมที่มีฐานคิดแบบเป็นเชิงเส้น (Linear Thinking) หรือเป็นการคิดแบบกลไก (Mechanistic Thinking) มาเป็นการคิดเชิงระบบซึ่งเป็นการคิดแบบไม่เป็นเชิงเส้น (Non Linear Thinking) เพราะว่าสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันมีความซับซ้อน (Complexity) เพิ่มมากขึ้น การคิดในเชิงระบบ (Systems Thinking) หรือแนวทางเชิงระบบ (System Approach) น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าการคิดในแบบดั้งเดิมที่เป็นแบบเชิงเส้นสำหรับปัญหาในการเขียนแผนยุทธศาสตร์และการกำหนดนโยบายที่ไม่ได้จำกัดเวลา ไม่ได้มีขอบเขต และมีทรัพยากรอย่างไม่จำกัด
ผมคิดว่าที่ผ่านมา เราได้มีแผนยุทธศาสตร์ในระดับชาติ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บูรณาการยุทธศาสตร์ย่อยต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์จนเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เพราะว่าอาจจะยังไม่ได้บูรณาการถึงความเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ผลที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็แสดงให้เห็นว่า เกิดความไม่สอดคล้องกันในเชิงปฏิบัติทำให้ไม่บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การเชื่อมโยงจากระดับยุทธศาสตร์สู่ระดับการปฏิบัติที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นเมื่อมองจากระดับยุทธศาสตร์ก็ต้องเห็นผลในเชิงปฏิบัติ ในทางตรงกันข้ามเมื่อได้รับผลจากการปฏิบัติก็จะต้องเห็นว่าต้นทางของการปฏิบัตินั้นมาจากยุทธศาสตร์ นั่นน่าจะเป็นอีกมุมมองของปัญหาที่เกิดขึ้น และน่าจะเป็นแนวทางของการแก้ปัญหาและการพัฒนาในอนาคต ไม่เชื่อก็ลองดูนะครับว่า ถ้าเราไม่มียุทธศาสตร์ที่เห็นเขียนๆ กันแล้วแจกเป็นโบว์ชัวร์ตามสถานที่หน่วยงานต่างๆ เราจะสามารถมาถึงจุดนี้ได้ไหม ผมว่าได้ครับ แล้วถ้าเรามียุทธศาสตร์กันจริงๆ หรือดีกว่านี้ ผมว่าเราจะไปได้ไกลกว่านี้ และเราอาจจะไม่มีปัญหาเหมือนกับที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็ได้!