วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

Basic : จากนามธรรม สู่ รูปธรรม

ไม่ได้เขียนบทความเสียนานครับ ติดภาระกิจทางความคิดครับ ก็เลยยังไม่มีภาวะที่จะเขียน ก็หายหน้าไปพอสมควร ตอนนี้พอปลดเปลื้องไปได้บ้างแล้วครับ ที่จริงแล้วทั้งสองคำนี้เป็นคำที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง โดยปกติผมจะโดนต่อว่าและถล่มอย่างมากมายว่า พูดอะไรไม่รู้เรื่อง พูดอะไรเป็นนามธรรมหรือเป็นทฤษฎีเกินไป พูดได้แต่นำไปใช้ไม่ได้หรือนำไปประยุกต์ไม่ได้ หรือไม่เห็นเป็น Best Practices เลย ผมก็โดนว่ากล่าวเป็นประจำ

เพราะว่าคนเรานั้นมักจะสนใจสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองโดยตรงเสมอ โดยเฉพาะที่กินได้ สัมผัสได้ มีประโยชน์ใช้สอย เราก็เรียกกันว่า เป็นรูปธรรม เพราะมันจับต้องได้ บริบทหรือสิ่งแวดล้อมของเราจึงเป็นกระบวนการสร้างคุณค่าทั้งนั้น มีทั้งคุณค่าที่มีประโยชน์กับตัวเรา และคุณค่าที่ไม่มีประโยชน์กับตัวเรา ดังนั้นบริบทต่างๆ รอบตัวเราหรือโลกรอบๆ ตัวเรานั้นจึงเป็นรูปธรรมทั้งสิ้น มีทั้งสิ่งที่เราต้องการหรือเป็นประโยชน์มีคุณค่า และไม่มีคุณค่าหรือไม่เป็นประโยชน์ ของทุกสิ่งทุกอย่างในตัวมันมีคุณค่าเสมอ เพียงแต่ว่ามนุษย์เราจะเห็นคุณค่าและจะนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อตัวมนุษย์เราอย่างไร คุณค่าที่อยู่รอบตัวเรานั้นก็ถูกสร้างขึ้นมาจากคุณค่าอื่นๆ ในระดับรูปธรรมเช่นกัน ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงจะไม่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ ดังนั้นรูปธรรมและบริบทนั้นเป็นเรื่องเดียวกันหรืออยู่ในระดับเดียวกันนั่นเอง ในบริบทจึงมีคุณค่าที่เป็นรูปธรรมที่เราต้องการและไม่ต้องการ รูปธรรมที่เราไม่ต้องการอาจจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการดำรงอยู่ของรูปธรรมที่เราต้องการ

แล้วทำไมเราถึงไม่คิดในเชิงนามธรรมกันบ้างล่ะครับ คิดจะกินจะใช้กันอย่างเดียวหรือครับ ทำไมถึงไม่คิดกันในลักษณะที่สร้างสรรค์ออกแบบใหม่ (นาม) มองกันไปในอนาคต (นาม) มองกันลักษณะนามธรรมกันก่อนที่จะนำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม เวลาเราคิดอะไรก็ตาม มันยังจับต้องไม่ได้ มันยังมาไม่ถึง มันเป็นแต่นาม มันยังไม่เป็นรูป มันไม่มีผลกระทบทางกาย แต่มันมีผลกระทบทางใจหรือทางความคิดนั่นเอง ต้นทุนทางนามธรรมนั้นมีน้อยครับ คิดผิด คิดใหม่ครับ ยังอยู่ใน Mode ของนามอยู่ครับ ไม่เกิดความเสียหายจริง แต่อาจจะเสียเวลาในการคิด เสียอารมณ์ แต่ถ้าคิดผิด (นาม) ทำไปก็ผิด (รูป) เกิดความเสียหายทั้งทรัพยากรและเวลา ไม่ได้ประโยชน์ที่ต้องการ แล้วยังต้องมาแก้ไขกันอีก

แล้วทำไมเราต้องมาคิดในระดับนามธรรมให้มากขึ้นด้วยล่ะครับ คำตอบ ก็คือ ในอดีต เราคิดครั้งเดียว แล้วทำเลย แล้วยังทำซ้ำๆ ได้อีกหลายครั้ง และได้ในหลายสถานะ ได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้นอีกต่อไป เราทำเหมือนอดีตไม่ได้อีกแล้ว สิ่งที่เราทำได้สำเร็จ (รูป) ทำให้เราได้กิน ได้ใช้ ได้มีชีวิตอยู่ เดี๋ยวนี้ สิ่ง (รูป) ที่เราต้องการกลับไม่เป็นเหมือนดังเดิม ทำให้เราไม่ได้กิน ไม่ได้ใช้ เหมือนเดิม สิ่งที่เราทำได้ก็ต้องเปลี่ยนการกระทำใหม่ เปลี่ยนรูปแบบใหม่ เหตุผล ก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราหรือในบริบทของเรา ยิ่งวันก็ยิ่งมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ถ้าเราต้องการเปลี่ยนการกระทำใหม่ให้เราอยู่รอดได้ มีกิน มีใช้เหมือนเดิม หรือดีกว่าเก่า เราจึงต้องคิด (นาม) ใหม่ เพื่อจะต้องทำใหม่ (รูป) สิ่งที่เราเป็นอยู่ทั้งหลาย มันมาจากกระบวนการคิดแทบทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าการคิดหรือกระบวนการในทางนามธรรมมีความสำคัญต่อการกระทำในชีวิตประจำวันของเรามากๆ ดังนั้นทุกการกระทำของมนุษย์จะต้องมีการคิดมาก่อนทั้งสิ้น ส่วนที่ไม่คิดมาก่อนก็มี บางครั้งก็ได้ประโยชน์ บางครั้งก็เสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม การคิดมาก่อนย่อมจะคุ้มค่ากว่าเยอะ

ยิ่งเรื่องราวต่างๆ ในโลกปัจจุบันนี้ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด มันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีคุณค่าหรือประโยชน์มากขึ้น จึงมีการกระทำ (รูป) ที่หลากหลาย มีคนหลายคนมาช่วยคิด เราไม่ได้กินข้าวเปล่าอย่างเดียว จะต้องมีกับข้าวด้วย หรือกลายเป็นข้าวผัด หรือเราจะต้องไปกินข้าวในภัตตาคาร ซึ่งเราจะเห็นว่ามีการกระทำ (รูป) แบบต่างๆ มากมาย เบื้องหลังสิ่ง (รูป) เหล่านี้ก็จะต้องผ่านการคิด (นาม) ต่างๆ มาเหมือนกัน จึงกลายมาเป็นรูปธรรมได้ ลองนึกถึงรูปธรรมที่เป็นข้าวเปล่าอย่างเดียว ข้าวเปล่าและกับข้าว ข้าวผัด และข้าวผัดที่อยู่ในภัตตาคาร คุณค่าเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ราคาจึงแตกต่างกัน ความคิดหรือนามธรรมที่อยู่เบื้องหลังก็แตกต่างกันออกไป โดยที่มุ่งหวังว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ เมื่อตกลงกันได้ในระดับนามธรรม เช่น เราจะกินข้าวในสถานที่ที่มีพนักงานบริการและมีคนทำอาหารให้กิน ซึ่งจะสะดวกกว่าที่บ้าน จานก็ไม่ต้องล้าง ความจริงที่เกิดขึ้นก็มีผู้ที่ทำภัตตาคารไปจัดหาทรัพยากร พ่อครัว วัตถุดิบในการปรุงอาหารและสถานที่พร้อมพนักงานผู้ให้บริการ ทั้งหมดก็เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นซึ่งให้ประโยชน์กับมนุษย์ผู้ที่คิด (นาม) ปัญหาในเรื่องของการนำไปปฏิบัติ ก็คือ ได้แค่คิด แต่ทำไม่ได้ แต่ถ้าคิดได้ ทำได้ ก็เรียกว่าปฏิบัติ แต่ถ้าคิดไม่ได้ แล้วดันทำได้ และไม่รู้ว่าทำได้อย่างไร นี่ไม่ใช่การปฏิบัติ ที่เราทำไม่ได้ก็เป็นเพราะเราไม่ได้ทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมหรือบริบทของคุณค่าที่อยู่รอบๆ ตัวเรา และเราไม่เข้าใจคุณค่าของตัวเราที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ

ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้มีคุณค่าเดียวโดดๆ แต่เป็นคุณค่าหลายอย่างรวมกันเพื่อให้มนุษย์มาเลือกใช้ประโยชน์เพื่อทำให้มนุษย์อยู่รอด ดังนั้นการคิดในระดับนามธรรมก็จะต้องมาจากหลากหลายความคิด มาจากหลายคนที่พยายามจะสร้างคุณค่าสุดท้ายที่ดีที่สุดให้กับเรามนุษย์ ตัวอย่างเช่น โน้ตดนตรีเป็นลักษณะของนามธรรมของเสียงเพลง โน้ตดนตรีเป็นเหมือนสื่อกลางทางความคิดของนักดนตรีแต่ละประเภท ที่มีบริบทเป็น ดีด สี ตี เป่า เวลาที่นักแต่งเพลงหรือนักเรียบเรียงเสียงประสานทำงานเพลง เขาก็ใช้โน้ตดนตรีเป็นเครื่องมือในระดับนามธรรมในการสร้างเพลงที่ประสานเสียงเครื่องดนตรีทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถฟังเสียงดนตรีได้จากโน้ตดนตรี เราต้องฟังจากเครื่องดนตรีทั้ง 4 ประเภทที่เล่นดนตรี (รูป) ตามโน้ต (นาม) เราถึงจะได้ยินเสียงเพลง (คุณค่า) แต่ถ้าผู้เล่นดนตรีไม่สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ดีหรืออย่างชำนาญแล้ว เสียงเพลงนั้นก็คงจะไม่ไพเราะ ถึงแม้ว่านักดนตรีจะมีความชำนาญในการเล่นดนตรี แต่ไม่สามารถอ่านเข้าใจโน้ตดนตรีได้ ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถเล่นดนตรีร่วมกับนักดนตรีคนอื่นๆ ได้ อีกทั้งอาจจะทำให้การเล่นเพลงใหม่ๆ ได้ช้าลง

ดังนั้นใครๆ ก็ตามที่บ่นว่าเรื่องราวเป็นทฤษฎีเกินไป กลัวว่าจะปฏิบัติไม่ได้ ประเด็นคือเราต้องเข้าใจบริบทของคุณค่าที่เราต้องการเสียก่อน แล้วเราถึงจะรู้ว่าจะต้องเอาทฤษฎีหรือนามธรรมตรงไหนไปจับหรือไปประยุกต์ใช้ ไม่ใช่เอะอ่ะก็บ่นกันว่าใช้ไม่ได้ มันไม่ Practical ไม่เห็นในเชิงปฏิบัติ แต่บางครั้งก็เป็นความจริง เพราะว่าผมอาจจะพูดในเชิงทฤษฎีหรือนามธรรมล้วนๆ ไม่มีตัวอย่างในเชิงปฏิบัติ ผู้ฟังเองก็อาจจะต้องกำหนดเองว่า ตัวเองเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำดีขนาดไหน แล้วเข้าใจทฤษฎีหรือนามธรรมขนาดไหน ถ้าเข้าใจทั้งสองอย่างมันก็จะไม่ยากนักที่จะประยุกต์ใช้ หลายๆ คนมักจะใช้คำพูดว่า ให้เอาทฤษฎีไปจับ ซึ่งหมายความอย่างที่ผมว่าไป คือ เข้าใจตัวเองและบริบท รวมทั้งตัวทฤษฎีด้วย เห็นความเชื่อมโยงและความลงตัวของทฤษฎี(นาม)และการปฏิบัติ(รูป) ไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่มีประโยชน์ แค่รู้ทฤษฎี แต่ปฏิบัติไม่ได้ หรือทำได้แต่พัฒนาไม่ได้ เพราะไม่รู้ทฤษฎีรองรับ ผู้บริหารหลายท่าน พยายามที่ทำอะไรหลายอย่างให้ง่ายในทางปฏิบัติ ในแง่การกระทำจะได้ไม่ผิดพลาด แต่ถ้าให้ทฤษฎีรองรับเพื่อทำให้พวกเขาคิดเป็นด้วยในระดับนามธรรมแล้ว รูปธรรมหรือการปฏิบัติก็จะมีศักยภาพในการพัฒนาก็จะเกิดขึ้นกับพนักงานเหล่านั้นในการปฏิบัติด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับ Mindset ของทั้งผู้บริหารและพนักงานจะต้องมีการคิดเชิงระบบหรือไม่

ตัวอย่างหนึ่ง เฮียฮ้อ แห่ง RS แกมองธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม คือ การขายเทปเพลง พอบริบทเปลี่ยนเป็น CD เฮียแก ก็ยังคงทำธุรกิจเพลงอยู่ แต่มาขาย CD แทน การกระทำ (รูป) ก็เปลี่ยนไป แต่ประโยชน์จากรูปธรรมนี้ เริ่มน้อยลง เพราะมี MP3 Download ในรูปแบบ Digital เฮียฮ้อคงได้คิดใหม่ในระดับนามธรรม เพราะในระดับรูปธรรมในเชิงธุรกิจ Digital นั้นเปลี่ยแปลงไปแล้ว ขายได้น้อย ผมคิดว่า เฮียฮ้อ คิดถึงสิ่งที่ตัวเองขายอยู่ คือ เนื้อหา หรือ Content (นาม) ที่มีรูปธรรมเป็นเพลงหรือเสียงดนตรี ทำไมจะต้องมาติดกับดักในระดับรูปธรรม แล้วเฮียฮ้อก็นึกถึงเนื้อหา (Content) อื่นๆ ที่น่าจะขายได้ เฮียฮ้อจึงมาเลือกลิขสิทธิ์ถ่ายทอดรายการกีฬาต่างๆ เช่น รายการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มีมูลค่าทางตลาดมากว่า รูปธรรมของเนื้อหาใหม่ของเฮียฮ้อก็เปลี่ยนไป ตลาดใหญ่ขึ้น รูปธรรมในการดำเนินงานหรือการปฏิบัติงานในการขายเนื้อหาหรือ Content ใหม่ก็เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ธุรกิจมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า มีกำไรมากกว่า

เห็นไหมครับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนามธรรมและรูปธรรมนี้มีผลต่อการพัฒนาและปรับปรุงทั้งการดำเนินชีวิตและธุรกิจของเรา ลองหันมามองแบบนามธรรมแล้วแปรสู่การปฏิบัติในเชิงรูปธรรมดูบ้าง และในทางตรงกันข้ามลองมองย้อนจากรูปธรรมที่เราดำเนินการอยู่ทุกวันกลับไปสู่นามธรรมดูบ้าง เผื่อว่าชีวิตและสังคมจะดีขึ้นบ้างครับ