วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Life – ความโกรธ คือ การตัดสินใจทางอารมณ์ที่หลงตัวเองโดยยึดตัวเองเป็นหลัก

เรื่องของความโกรธนี้เรามีกันทุกคน แล้วเราจะโกรธกันไปทำไม? ก่อนที่จะโกรธกันก็น่าจะมีการโมโหกันก่อน ผมก็ไม่ค่อยจะสันทัดเรื่องภาษาเท่าใดนัก แต่ก็พยายามที่จะทำความเข้าใจและแปลความเพื่อให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตามทั้งการโมโห และการโกรธนั้นไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นเท่าใดนักเลย บางครั้งผมเองก็ใช้ความโมโหเป็นประโยชน์ต่อการเขียนเพื่อกระตุ้นต่อมเขียนให้ออกมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับโกรธใครๆ มันถึงจะมีอารมณ์ในการเขียนอย่างนี้ ถือว่ายังไม่มืออาชีพครับ เพราะว่ายังสั่งความคิดตัวเองไม่ได้ ผมก็ยังตกเป็นทาสความโมโห เหมือนการใช้ยา และถ้าเผลอก็อาจจะกลายเป็นโกรธไปหรือไม่ แต่ว่าก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่าความโกรธนั้นน่าจะทำให้เราและคนอื่นๆ ที่เราโกรธได้รับความเสียหายหรือเป็นทุกข์ โดยเฉพาะด้านจิตใจและอารมณ์ ดูให้ดีมันเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง แบบตีตั๋วไปกลับเลย แล้วเราจะโกรธกันไปทำไม มันอยู่ที่ใจว่าจะยอมกันได้ไหมมากกว่า จริงมั๊ยครับ


เออแล้วทำไมเดี๋ยวนี้คนไทยกันเองก็โกรธกันง่ายอย่างนั้นเลยหรือ เพื่อนฝูงและคนในครอบครัวหรือสามีภรรยายกัน เขาโกรธกันเรื่องอะไรกันบ้างล่ะเนี่ย แล้วทำไมถึงหายโกรธกันได้ ผมสงสัยว่าอะไรเป็นกลไกของการโกรธกัน แล้วจะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้คนโกรธกันได้ แล้วก็ไอ้ประเภทโกรธกันเลิกคบหากันไปเลยก็มีครับ ไม่พอใจอะไรกันก็ไม่รู้หรือผลประโยชน์ไม่ลงตัว ไม่ได้ดั่งใจก็เลยเลิกคบหากับผม ไม่พูดกันไปเลยก็มี สรุปแล้วผมมันเลวก็แล้วกันนะครับ แต่ผมก็ยังมีคนคบผมอยู่บ้างนะ ไม่ได้เลวไปซะทั้งหมดหรอก แล้วก็พวกสามีภรรยาที่หย่าร้างกันไป กลไกมันเป็นอย่างไรนะ อะไรทำให้มันเกิดขึ้น แล้วจะเราจะป้องกันอย่างไรดี หรือประเทศเพื่อนบ้านทะเลาะกัน ผมว่ามันต้องมีความโกรธนี่แหละเป็นองค์ประกอบสำคัญหรือเป็นตัวจุดชนวนอย่างดี ไม่ใช่สิ ความโกรธไม่ใช่เป็นต้นตอสำคัญ แต่เป็นองค์ประกอบเสริมที่สำคัญที่ช่วยเพิ่มปัญหาให้ระอุขึ้น แล้วถ้าระงับความโกรธได้จะหมดปัญหาหรือไม่ ผมก็ว่าไม่หมดนะครับ มันคนละเรื่องกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การโกรธ ไม่งงนะครับ ผมเขียนวนไปมาพอสมควรจนเริ่มเข้าใจแล้วว่า ไอ้ความโกรธเนี่ย ก็คือ เชื้อไฟดีๆ นี่เองที่พัฒนาไปความเลวร้ายต่างๆ ในชีวิตหรือความทุกข์นั่นเอง


ระยะนี้ผมจะต้องควบคุมความโกรธไว้เป็นอย่างมาก ยิ่งต้องเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับหลากหลายชีวิตและวิชาชีพรอบๆ ตัวด้วยแล้ว มีคนให้ผมโกรธอยู่รอบด้าน แต่เราก็โตๆ กันแล้ว จะต้องคิดได้สิ จะต้องใช้ปัญญาได้สิ รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดีน่ะ แต่แล้วผมก็โกรธจนได้ มันพลาดไปแล้ว ถ้าเรารู้สึกตัวได้ แล้วเราจะระงับความโกรธได้อย่างไร ให้นับหนึ่งถึงสิบหรือ แล้วมันจะได้ผลหรือ? ผมว่ามันไม่ได้ผลหรอกครับ ผมคิดเอาเองว่า เราจะต้องมีสติด้วย ผมคิดว่านับหนึ่งถึงสิบก็เพื่อเรียกให้เรามีสติขึ้นมา ที่จริงแล้วระยะนี้ผมอ่านหนังสือธรรมะเป็นหลัก เพราะต้องการที่อยากจะรู้ถึงอะไรบ้างอย่างที่เป็นกลไกแห่งจิตใจมนุษย์ ทั้งๆ ที่ผมนับถือศาสนาศริสต์ แต่ก็ปิติและมีความสุขในการหนังสือธรรมะเหล่านั้น แต่ขอบอกว่ายังไม่ลึกซึ้งหรอกครับ แต่ด้วยความที่พอจะมีพื้นฐานด้านการจัดการ การคิดเชิงระบบและเชิงวิทยาศาสตร์อยู่บ้างก็เลยทำให้เกิดการสังเกตุและทดลองดูบ้างเล็กน้อย แล้วมันก็ไม่ได้เจ็บปวดมากมายอะไรเลย หรือเสียหายอะไรเลย ถ้าจะไม่โกรธ มันเป็นประโยชน์แท้ๆ เลย แต่มันไม่ได้อย่างใจหรือสะใจเหมือนก่อนตอนที่โกรธ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการไม่โกรธ มันก็น่าจะดีขึ้นนะ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเราควรจะโกรธ และเราต้องโกรธแน่ๆ เลย และผลต่อเนื่องก็จะมีอะไรที่ไม่ดีและไม่สบายใจออกมาอีกมากมาย ปัญหาก็จะตามมาอีกมากมายเช่นกัน ลูกน้องที่ไม่เข้าใจก็ลาออกไป หรือไม่ก็โดนเราไล่ออกไปบ้าง ลูกพี่ก็รับไม่ได้ ประเมินก็ไม่ผ่าน พาลไปถึงลูกค้า โปรเจคหรืองานก็ดันหลุดไปด้วย กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ไปจนเกิดความเสียหายอีกมากมาย ถ้าเราไม่หยุดหรือระงับไว้ แล้วดันโกรธต่อไปเรื่อยตามอารมณ์ตัวเองก็เป็นต้นทุนของคนที่โกรธเองล่ะครับ รวมทั้งความเสียหายรอบๆตัวด้วย แล้วถ้าเราไม่โกรธล่ะจะเกิดอะไรขึ้น ก็แค่ใจเราไม่เหมือนเดิม ก็แค่ไม่สะใจ ก็แค่ไม่เป็นทาสของอารมณ์ เพราะเรามีสติและปัญญาจึงเกิด ยิ่งมีปัญญาแล้ว เราน่าจะเห็นต้นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาซึ่งทำให้เราโกรธ มีปัญหาก็แก้ปัญหาไป แล้วทำไมต้องโกรธด้วย ไม่โกรธแล้ว ใจน่าจะสงบขึ้น ผมไม่พูดภาษาธรรมะนะครับ ผมไม่แม่นมากนัก ผมเล่าให้ฟังจากที่ผมได้สังเกตุดูพฤติกรรมตัวเอง


ทุกวันนี้ผมทำงานก็มีความรู้สึกโกรธวันละหลายหนเลย โกรธใครบ้างล่ะ โกรธทุกคนเลยที่ทำให้ผมไม่พอใจ ทุกคนที่สร้างปัญหาให้ผม แล้วถ้าไม่โกรธล่ะจะเกิดอะไรขึ้น ก็คงไม่มีเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเรา ก็คงจะสงบ สิ่งเลวร้ายที่เกิดจากความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าในใจเราไม่สงบ พุ่งพล่าน แล้วในที่สุดก็ระเบิดออกมา นี่ก็คงจะแย่กว่าเดิมอีก รู้อย่างนี้ก็คงจะโกรธต่อไปดีกว่า ถ้าไม่อยากให้มันระเบิดออกมาอย่างนั้น ผมว่าอย่างนี้มันเรียกว่า เก็บกด คนลักษณะอย่างนี้ผมว่ามีอยู่มาก เป็นคนที่มีความหวังดีหรือเป็นคนดีเลยล่ะ เพราะไม่อยากจะโกรธ แต่ใจก็ยังตกเป็นทาสของอารมณ์หรือเป็นทาสของความคิดที่ว่าควรจะโกรธ ก็เลยกลายเป็นระเบิดเวลาไป


ที่จริงแล้วมันก็ไม่น่าจะมีอะไรเลย เราควรจะระงับความโกรธได้ ไม่ใช่สะสมความโกรธไว้ พอถึงเวลาก็ระเบิดออกมา แล้วก็พยายามมาหาความชอบธรรมจากสิ่งที่ตัวเองระเบิดออกมา ผมสังเกตุจากพฤติกรรมตัวเองนะครับ เมื่อเร็วนี้เองไม่ได้ลอกตำราใครมา สังเกตุว่าไม่มีภาษาบาลีสันสกฤตใดๆ ทั้งสิ้น ผมเองไม่ได้ระงับความโกรธเลย แต่ผมกลับสะสมความโกรธให้มันกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ มันแค้นในใจตลอดเวลา คิดเอาเอง แล้วก็เออเองทั้งหมดไม่มีใครมาซ้ำเติม คิดเองซ้ำเติมเองด้วยเลย วิเศษมากเลยครับอารมณ์ตัวเอง พอไปอ่าน “ปฏิจจสมุปบาท” นั่นใช่เลยตัวเราเป็นไปอย่างที่ท่านพุทธทาสเขียนไว้เลยครับ ตัวเองนั่นแหละที่เป็นปัญหาในการสร้างความโกรธ นั่นแสดงว่า ผมนั้นไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักปัญหา ไม่มีสติ ไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำงานหรือดำเนินชีวิต หรือว่าไม่มีสมาธิก็ว่าได้ เพราะว่าถ้ามีสติก็มีสมาธิได้ ปัญญาก็มา


ถึงแม้ว่าจะรู้อะไรเป็นอะไรบ้าง แต่ก็ยังไม่ลึกซึ้งเท่าการปฏิบัติ ผมเองก็ไม่ได้ปฏิบัติอะไรหรอกครับ แต่เห็น Model ครับ พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ครับ เป็นวิทยาศาสตร์แห่งจิตใจครับ แต่จะเข้าใจลึกซึ้งได้ก็ต้องลองปฏิบัติหรือทดลองดู ผมเองก็ไม่ได้ปฏิบัติหรือตั้งใจปฏิบัติดูอะไรหรอกครับ แต่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเกิดขึ้นต่อเนื่องมานั้นก็เพราะว่าความโกรธของเราเอง ไม่ต้องไปโทษคนอื่นๆ เลยครับ ลองให้มาลงที่ตัวเราเองก่อนเสมอ ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้ก็ดีสิ ปัญหาต่างๆ ในสังคมบ้านเมืองหรือปัญหาชีวิตก็คงจะน้อยลงไป แต่บังเอิญมาลองสังเกตุตัวเองและเก็บข้อมูลดูแล้ว และลอง Fit Model ทางธรรมะดู เออ! จริงด้วย มันมีแวว โกรธแล้วเราได้อะไร ไม่ได้ต้องโกรธ เนี่ยผมยังโกรธเพื่อนผมอยู่เลย แล้วเพื่อนผมบางคนก็ยังโกรธผมอยู่หลายปีแล้ว คิดดูจะสิบกว่าปีแล้ว ไม่ค่อยได้เจอกันหรือพูดกันเท่าไหร่เลย แล้วผมก็ถามว่า แล้วถ้าไม่โกรธจะได้อะไร หรือการที่คิดว่าจะต้องโกรธคือ เป็นความถูกต้อง จะต้องสอน จะต้องตำหนิ จะต้องให้เขาเสียใจ เสียหน้า อับอาย เอาให้ซะใจเข้าไว้ แล้วผลที่ตามมาล่ะ มันคุ้มกันไหมครับ แล้วเราปล่อยวางได้หรือไม่ หรือให้เป็นทานไปได้ไหม?


แล้วทำไงไม่ให้โกรธ ผมเองก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ถ้าไม่โกรธได้เป็นดี คงจะต้องฝึกเท่านั้นแหละครับ แต่อย่าเก็บความโกรธหรือเก็บอารมณ์ไว้มันจะกลายเป็นความแค้นไปอย่างแน่นอน ปัญญาซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น และความใจกว้างที่เป็นทานจะช่วยส่งเสริมให้เราระงับหรือกำจัดความโกรธนั้นได้ สังคมเราคงจะอยู่ได้อย่างร่มเย็น จุดที่น่าสังเกตุ ก็คือ เวลาที่โกรธนั้นเรามักจะไม่ได้คิดตรึกตรองหาเหตุและปัจจัยเสียเท่าใดนัก ทำให้ขาดความยั้งคิด ส่วนความโกรธที่สะสมมาเหมือนแค้นฝังหุ่นบวกกับกระบวนการคิดที่เป็นการใช้ปัญญาไปในทางลบ และการยึดติดกับความคิดตัวเองเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า “ทิฎฐิ” ผลที่ได้ ก็คือ ความเสียหายและความทุกข์กับผู้อื่นและตนเอง ผมว่าว่าคนที่อ่านบทความนี้แล้วไม่ถูกใจผม จะไม่หันมาโกรธผมนะครับ ปล่อยผมไปเป็นทานเถอะครับ!

Life – ความเครียด – ต้องจัดการความคิดของตัวเองอย่างมีสติ

เห็นหลายๆ คนอารมณ์เสีย แล้วก็พาลไปยังคนข้าง เพื่อนร่วมงานรวมทั้งครอบครัวและคนอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อทุกคนเครียด หลายๆ คนก็มีทางออกมากมายหลายอย่างๆ ผู้ใหญ่บางคนอาจจะเครียด หาทางออกไม่ได้ ก็เลยเปิดใจออก TV ซะเลยเผื่อว่า จะมีอะไรดีขึ้นบ้าง แต่บางครั้งผมว่ามันน่าจะแย่ลงนะ ยิ่งเราอยู่ในสังคมในเมือง สังคมของโลกยุคใหม่ที่ต้องดิ้นรน หลายอย่าง เราก็สร้างทางเลือกให้ตนเองมากขึ้นด้วยกิเลสของตนเองและสังคมมนุษย์ จึงทำให้เราอาจจะไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไร ด้วยความกลัวและไม่มั่นใจในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น กลัวจะไม่สุข แต่เมื่อเลือกทางเลือกไปแล้ว เราก็จะต้องยอมรับผลที่ตามมา


เป็นที่แน่นอนว่า เราต้องตัดสินใจและหวังผลถึงสิ่งที่จะตามอย่างที่หวังไว้ (Intended Consequences) แต่ในหลายๆ ครั้ง เรามักจะไม่ได้ในสิ่งที่หวัง แต่กลับได้ในสิ่งที่ไม่ได้คาดหวัง (Unintended Consequences) หรือได้ทั้งสองอย่างเลย นั่นเป็นเพราะโลกของเราเองและโลกรอบๆ ตัวเรา นั้นมีความเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างแยกกันไม่ค่อยออก หรือว่าดูเหมือนว่าจะถูกแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่ดันกลับมีความเชื่อมโยงกันอย่างมากโดยที่เรามองไม่เห็นหรือไม่ก็ไม่ได้สนใจในความสัมพันธ์นั้น ผมเรียกความสัมพันธ์ของโลกของเราและความสัมพันธ์ต่างๆ ในโลกว่าเป็นความซับซ้อน (Complexity) ซึ่งไม่ได้เป็นความสัมพันธ์แบบ Linear เสียแล้ว แต่เป็นความสัมพันธ์แบบ Non-linear หรือเป็นการมองแบบ System Thinking และเป็นการมองแบบองค์รวม (Holistic)


สภาพแวดล้อมเหล่านี้ที่ไม่แน่นอน (Uncertainty) เป็นพลวัต (Dynamics) ซึ่งเราเรียกกันรวมๆ ว่า ความซับซ้อน (Complexity) แหละครับที่ทำให้เราเครียด ผลของความเครียดมีอะไรบ้าง ทำอย่างไรที่จะรู้ว่าเราเครียด เออ! อันนี้ไม่รู้ แฮะ เพราะว่าเคยเห็น หมอคุยกับคนไข้ที่ดูแล้วเป็นคนปกติ แต่หมอบอกว่า เขาเครียด เขาก็แก้ตัวว่าไม่เครียดด้วยอาการปกติ ตรงนี้บอกไม่ได้จริงๆ ครับ เพราะว่าความเครียดน่าจะแสดงออกได้ในหลายๆ ลักษณะเลยทีเดียว


เอาเป็นว่า ความเครียดทำให้เราไม่เป็นปกติก็แล้วกัน ทำให้เราตัดสินใจไม่ได้ แต่มันก็ไม่ใช่หมดหนทาง มันมีทางแต่เราไม่เห็น เราไม่ยอมที่จะไปเห็นมัน และเราก็เลยไม่พอใจ และในที่สุดมันจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานและการดำรงชีวิตของเราลดลงไปเรื่อยๆ แล้วถ้าเราไม่แก้ที่ตัวเราแล้ว เราก็จะทำลายตัวเราเองไปเรื่อยด้วยความเครียด แต่ก่อนที่ตัวเราจะถูกทำลายไป มันจะทำลายสิ่งรอบข้างเสียก่อน แล้วก็คนรอบๆข้าง ครอบครัวและในที่สุดก็อาจจะเป็นชีวิตตัวเอง เพราะว่าเราอาจจะเห็นว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้วก็ได้ ดังนั้น เราต้องไม่เครียด ตรงนี้บอกไม่ได้ เพราะบางคนไม่รู้ตัว เราต้องพยายามมองให้เห็นทางออกของปัญหา ทั้งที่มันก็มีทางของมันอยู่ตามธรรมชาติ เพียงว่าจะถูกกาละเทศะหรือไม่ แต่ความเครียดที่เป็นดินพอกหางหมูนี่เองที่ทำให้เรายิ่งมองไม่เห็นทางออกไปกันใหญ่ ทั้งๆ ที่มันมีอยู่แล้ว


ผมว่ามันอยู่ที่ใจของเราหรืออยู่ที่จิตใจของเรา ว่ามีพลังๆ ในการเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ได้ดีแค่ไหน มีปัญญาในการควบคุมจิตใจและความคิดในการกระทำหรือไม่ มันเป็นภาวะผู้นำในทางจิตใจ บางครั้งก็อาจจะมีคนบอกว่าให้ไปหาอะไรทำให้เพลินๆ หรือหาอะไรสนุกทำหรือเป็นความบันเทิง ก็อาจจะช่วยได้บ้างเพียงชั่วคราวแต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาโดยตรง ผมเองก็ไม่ได้รู้เรื่องราวของจิตวิทยามากนัก แต่ก็ได้เผชิญกับการที่คิดว่าตัวเองมีความเครียด แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่ก็สามารถผ่านมันมาได้ ก็อาจจะเป็นได้สองทางก็ คือ ตัวเองสามารถมีสติ มีสูตรในการดำรงชีวิต เข้าใจสูตรในการดำรงชีวิตของตนเอง มีเป้าหมายแน่นอนในการเดินทางไปข้างหน้า เราจึงสามารถปรับเปลี่ยนปัจจัยหรือตัวแปรต่างๆ ในชีวิตเราและรอบๆ ข้างได้ เออ! หรือผมเองปล่อยให้มันเป็นไปของมันเอง คิดว่าไม่ใช่หรอก เราต้องควบคุมมันได้สิ


ดังนั้นความก้าวหน้าในชีวิตเราเองก็เกิดจากการที่เราเข้าใจสูตรในการดำรงชีวิตของเรา (Life Equations) มีทิศทางที่แน่นอน และเข้าใจสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดอะไรขึ้นไม่ว่าจะเป็นตัวเอง ทิศทางที่จะไป หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็รับสภาพการณ์ต่างๆ ได้เสมอ ตัดสินใจได้ ยอมรับผลลัพธ์ได้ xปรับปรุง (Improvement) เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ หรือแม้กระทั่งแปลงสภาพ (Transformation) นั่นแสดงว่าเราจะต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา เข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก ผมเอาหลักการเรียนยุทธศาสตร์มาประยุกต์ใช้ได้เลย คือ End, Way, Means และ Environments


ดังนั้น คนที่เครียด ก็คือ คนที่ ไม่มี End ไม่มี Ways ไม่มี Means และไม่รู้จัก Environments เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นอนิจจังตามหลักพุทธศาสนา หรือจะเรียกว่าเป็นหลักความจริงของชีวิตก็ได้ ใจคนเหล่านั้นมันรับไม่ได้ ไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าน่าจะมีคนอื่นๆ มาช่วยบ้าง เพราะช่วยคนอื่นๆ มามากแล้ว ผมว่าผมก็เป็น ทุกคนก็เป็นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราจะรับรู้และยอมรับกับมันมากน้อยแค่ไหน เรื่องของการรับรู้นั้นไม่เท่าไร แต่เรื่องของการยอมรับนี่สิ มันยากมากสำหรับใจคน ถือว่าเป็นกิเลสประเภท “ทิฎฐิ” ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งในสังคม แต่นี่เป็นความขัดแย้งในจิตใจของเราเอง เราไม่สามารถชนะใจเราได้


ในเชิงการจัดการแล้ว ผมมองความเครียดว่าเป็นปัญหาด้านภาวะผู้นำที่คนเราไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ ไม่กล้าคิด ไม่มั่นใจในการตัดสินใจ ทั้งแบบมีข้อมูลอยู่ครบหรือไม่มีข้อมูลอยู่ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับปัญหาหรือชีวิต ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไรดีล่ะครับ ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ซะะด้วย เราก็ต้องมีสติมากขึ้น เปิดใจกว้างมากขึ้น หาข้อมูลสภาพแวดล้อมให้กับตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่เข้าข้างตัวเอง แต่ต้องพยายามเข้าใจความซับซ้อนต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราให้มากขึ้น แล้วปัญญาก็จะมาเอง แต่มันก็ไม่ง่ายนักที่เราจะอดทนเพื่อที่จะคิดและเดินหน้าต่อไปอย่างมีสติ และไม่เข้าข้างตัวเอง หรือโทษตัวเอง แต่ถ้าเรามีเป้าหมายที่ดีและมองให้ไกลออกไป เป้าหมายที่ไกลออกไปนั้นน่าจะทำให้เราอดทนหรือกล้าที่จะมองออกไปให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะได้สร้างทางออกหรือเห็นทางออกมาขึ้น หรืออดทนมากขึ้นเพื่อรอวันที่ปัญหาจะสุกงอมหรือจังหวะที่เหมาะสม


การที่ผมได้มาเขียนอะไรต่อมิอะไรให้เพื่อนๆ ได้อ่านนี้ ที่พอได้เรื่องได้ราวก็มีบ้าง หรืออาจจะไม่ได้เรื่องได้ราวก็คงอีกเยอะ คงไม่ว่ากันนะครับ นี่ก็อาจจะเป็นอีกหนทางหนึ่งของผมในการจัดการความเครียดของผมออกไปได้บ้าง ผมไม่ได้มองว่าการได้หัวเราะขบขันจะสามารถขจัดความเครียดออกไปได้ เพราะมันเป็นเพียงแค่การเบี่ยงเบนความสนใจของคุณไปจากปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ ที่สุดแล้วปัญหานั้นก็จะมาอยู่ตรงหน้าคุณอยู่ดี แล้วยิ่งถ้าคุณนิ่งเงียบ เก็บความรู้สึกที่ถูกกดดันอยู่ไว้โดยไม่พูดกับใคร ไม่แสวงหาทางออกอย่างมีปัญญาและมีสติด้วยแล้ว แถมยังฝาดหางและพาลไปยังคนอื่นๆ รอบข้างด้วยแล้ว เขาก็ยิ่งขาดทุนใหญ่ ปัญหาเดิมยังแก้ไม่ได้ ปัญหาใหม่ตามมาทันที โดยเฉพาะปัญหาส่วนบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อฝูง ครอบครัว และพี่น้อง ถ้าอย่างนั้นเรามาจัดการความเครียดด้วยการมีสติและพิจารณาปัจจัยต่างๆ รอบตัวและทิศทางที่จะดำเนินไปของชีวติกันใหม่ และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นอนิจจัง ผมว่า แล้วเราก็น่าจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ใจคนเรานั่นแหละครับ ยากสุด ผมยังชนะใจตัวเองไม่ได้เลยครับ แต่ก็จะพยายามอยู่เสมอ ถ้าคุณคิดว่าคนรอบข้างจะช่วยคุณได้ เขาก็อาจจะช่วยคุณได้ แต่ถ้าคุณคิดว่าคนรอบข้าง คือ กระโถนที่จะรองรับอารมณ์คุณแล้วละก่อน ผมว่า คุณคิดผิดแล้วล่ะครับ มันไม่ได้ช่วยอะไรคุณเลยครับ เอาล่ะครับ เลิกเครียด เถอะครับอาจารย์ ผมบอกกับตัวเองในขณะที่ตัวเองนั้นรู้สึกว่าไม่เครียดเลย!!!!!

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Life : IT พลังแห่งการสื่อสาร - สร้างสรรค์หรือทำลาย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

เคยอ่าน Post บน FaceBook ของใครก็ไม่รู้ อ่านแล้วก็ต้องหันมามองตัวเองบ้าง เขาบอกกันว่า Internet โดยเฉพาะ FB นี่แหละครับ ที่ทำให้คนไกลอยู่ใกล้ขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่อยู่ใกล้กันจริงกลับอยู่ไกล อันนี้จริงๆ ครับ ไม่ต้องดูให้ไกลเลย เอาแค่ใกล้ๆ กับตัวเราเอง ลองสังเกตุดูสิครับ ว่าเราคุยกับคนใกล้ชิดเราน้อยลงหรือไม่ แล้วเราก็คุยกับคนที่เราไม่รู้จักอื่นๆ มากขึ้น ก็จริงนะครับที่ FB ทำให้เราได้เจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนานๆ ทำให้เราได้เจอเพื่อนใหม่ๆ อีกมากมาย แต่มันก็อาจจะกัดกร่อนความสัมพันธ์ของคนที่ใกล้กันอยู่ไปทีละนิดหรือไม่ เราอาจจะได้เพื่อนใหม่ๆ มากมาย แต่ก็อาจจะไม่ได้สนิทใจเหมือนคนที่ใกล้ คนที่คุยกันด้วยได้ความรู้สึกที่โต้ตอบกันจริงที่เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา ที่มีความจริงใจให้มากกว่า มันจะคุ้มกันหรือไม่ ที่มีเพื่อนมากๆ แต่ไม่สนิทใจ แต่กำลังบั่นทอนคนที่อยู่ใกล้


ความจริงมันไม่ใช่ Internet อย่างเดียว แต่มันเป็น IT ทุกอย่าง เช่น TV Games ต่างๆ ที่ดึงคนๆ หนึ่งให้มีโลกส่วนตัว ให้แยกตัวออกมาจากสังคมเล็กๆ ที่เรียกว่าครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนสนิทกัน ผมก็กลับมามองตัวเองแล้ว ก็เห็นว่า มันก็จริงนะ แล้วเราควรจะทำกันอย่างไร เราคงจะไปห้ามเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้ เราก็คงจะต้องมีสติมากขึ้น ภาวนามากขึ้น และปฏิบัติให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ผมก็ไม่เคยอ่านงานวิจัยว่า อะไรเหล่านี้จะทำให้พฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนไปอย่างไรกันบ้าง แล้วเราจะแก้ไขหรือป้องกันมันอย่างไร ถึงแม้ว่าจะมาว่ากล่าวกัน เขาก็อาจจะไม่ฟัง มันก็ตกเป็นทาสมันไปแล้ว พฤติกรรมมันก็ฝังไปแล้ว แม้แต่ผมเอง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เล่น FB มากนัก เพียงแต่ใช้ FB เป็นสื่อในการกระจายความคิดและความรู้ออกไปในสังคมกว้าง แต่ก็ยังไม่ได้ติดมันมากนัก แต่ผมก็ติด Series TV ก็คือ ดูอยู่ทุกวัน อย่างน้อยวันละตอน แต่พอมาอ่านข้อความที่ว่านั้นแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาตัวเองเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ได้มาอ่านงานของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ในหนังสือ สยามสามไตร ท่านบอกไว้ว่า ดูหนังได้ แต่ต้องมีสติ และดูแล้วได้ปัญญา ก็ค่อยพอจะไปได้บ้าง เพราะอย่างไรก็ตามแล้ว ผมก็พยายามที่จะดู TV แล้วก็หันมาดูตัวเองเสมอ ซึ่งผมเองก็มีบทความที่เขียนลง FB เป็นแนว TV Series ที่ผมก็พยายามจะเก็บแนวคิดจาก Series ที่ได้ดูมานำเสนอกันไป แต่สุดท้ายเราก็คงต้องสำรวจดูชีวิตรอบตัวเราในครอบครัวเรา ในกลุ่มงานของเรา ในที่ทำงานของเราว่าเราได้สื่อสารกับคนที่อยู่กันใกล้แค่เอื้อมหรือไม่ บางครั้งเราก็ลืมที่จะสื่อสารกัน ความจริงเรื่องประเด็นในการสื่อสารนี้ ผมจำได้ว่า เก็บได้มาจากการดูสารคดีจาก TV


แต่ประเด็นของการสื่อสารแล้ว บางทีก็พังเพราะการสื่อสาร ถึงแม้ว่ามีสื่อที่ดี มีโอกาสที่ดี ให้คนที่อยู่ใกล้กันนี่แหละครับตัวดี คนที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกัน คนในครอบครัวเดียวกัน บางทีก็ไม่ได้คุยกัน ต้องออกไปห่างกันก่อนแล้วค่อยคุยกัน ถึงแม้คุยกันก็อาจจะกลายเป็นผลร้ายไปเสียฉิบ ถ้านั้นก็อย่าคุยดีกว่า บางครั้งเราก็สงสัยว่าทำไมคนเรากันเองแท้ๆ ทำงานมาด้วยกันแท้ๆ อยู่ด้วยกันมาแท้ๆ ทำไม่ต้องมาเถียงกัน ต้องมาขัดใจกัน ไม่ยอมลงให้กัน ผมเองก็สงสัยเหมือนกัน ก็ได้เห็นมา ก็ได้ประสบกับตนเองด้วย จึงทำให้ต้องสังเกตุตัวเอง เพิ่มมากขึ้น


บังเอิญระยะนี้ผมเดินทางบ่อย ขึ้นๆ ลงๆ เชียงราย เชียงใหม่ในช่วงนี้จึงทำให้มีเวลาว่างๆ ระหว่างนั่งรอขึ้นเครื่องและระหว่างนั่งเครื่องบิน โดยไม่ต้องคุยกับใครๆ ทำให้ผมได้อ่านงานของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ในหนังสือ “สยามสามไตร” ท่านบอกไว้ว่า “กิเลสมี 3 อย่าง ประกอบไปด้วย ตัณหา มานะ และทิฎฐิ” ผมคิดว่าที่เราเถียงกันไม่จบ ไม่ว่าในระดับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมสังคม เพื่อนร่วมโลก จนเป็นความขัดแย้ง การหย่าร้างในครอบครัว เพื่อรักหักเหลี่ยมโหด การแบ่งแยกในสังคม ก็เพราะกิเลสตัวนี้ ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) กล่าวไว้หนังสือว่า“ทิฎฐิ คือ ความยึดติดในความเห็น ดื้อร้นถือเอาความคิดเห็นเป็นความจริง ถือรั้นเอาแต่ความคิดเห็นของตน ความดันทุรังจะต้องให้เป็นอย่างทฤษฎี ศาสนา หรือลัทธินิยมอุดมการณ์ของตน ใจแคบ ไม่ยอมรับฟังผู้อื่น”


พออ่านแล้ว ผมเองก็ต้องมาพิจารณาตัวเองว่ามี ทิฎฐิ มากไปหรือไม่ หลงตัวเองหรือรักตัวเองมากเกินไปหรือไม่ เป็นเผด็จการมากเกินไปหรือไม่ ลูกน้องถึงได้หนีไปหมด หรืออาจจะไม่มีใครอยากจะคบด้วย หรือกลัวที่จะคุยด้วย บางทีก็เป็นไปได้นะครับ ถ้าเราเป็นอย่างนี้ มีทิฎฐิอย่างนี้แล้ว ก็เหมือนตาบอดแหละครับ ใครว่าก็คงไม่เชื่อ เราก็ยังคงจะเชื่อตัวเองไว้ก่อน ยิ่งถ้าใครเป็นคนที่มั่นใจในตัวเองหรือประสบความสำเร็จมาก่อนด้วยแล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่ คงจะไม่ฟังกันแล้วมั้ง เรื่องอย่างนี้คงจะต้องมีสักโอกาสหนึ่งที่จะต้องเย็นลง หรือรู้สึกได้บ้าง แล้วคงจะต้องมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ยอมให้กัน ถ้าไม่ยอมกันเลย ก็คงจะต้องแตกหักกันไป สุดท้ายก็คงจะไม่มีอะไรเหลือ คนรอบข้างลูกน้อง ก็ได้ผลกระทบไปด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นไม่ง่ายเลยนะครับ IT เป็นเพียงแค่สื่อเท่านั้น ทั้งหมดทั้งปวงก็อยู่ที่ตัวเรานั่นแหละที่จะสร้างสรรค์หรือทำลาย ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล

วัฏจักรแห่งการปรับปรุงอย่างองค์รวม : จากกิจวัตร สู่ การวิจัย สู่ ความเป็นจริง (ตอนที่ 3_จบ)

(Routine to Research to Reality : 3R)


วิจัย (Research)


หลายๆ คนได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ชีวิต” คือ การค้นหา คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอ เพราะมนุษย์เป็นผู้ที่ค้นหาความจริงของโลกและธรรมชาติ มนุษย์ค้นหาสิ่งที่มาทดแทนสิ่งเก่าเพื่อประโยชน์ที่ดีกว่าของตนเองและพวกพ้อง เมื่อมนุษย์มีปัญหา มนุษย์จึงใช้ปัญญาในการค้นหา ค้นคว้าสิ่งที่ไม่รู้ เพื่อที่จะรู้และเข้าใจ เพื่อที่จะได้ประโยชน์จากธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา กิจกรรมการค้นหาหรือค้นคว้าหาสิ่งที่ดีกว่าสำหรับมนุษย์ เราเรียกกันว่า การวิจัย (Research) กิจกรรมการวิจัยทำให้เกิดการพัฒนาและการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ดีขึ้น การวิจัยจึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ตั้งแต่ระดับส่วนบุคคลไปสู่ระดับองค์กรและในระดับโลก


ในมุมมองส่วนใหญ่ของคนเรายังคิดว่าการวิจัยเป็นเรื่องที่ยาก ต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างมากในการค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การวิจัยถูกมองว่าเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะเท่านั้น ผมคิดว่าเป็นความเข้าใจผิด การวิจัยเรื่องใหม่ๆ ที่มีคุณค่าซึ่งมีผลกระทบต่อคุณค่าขององค์กรหรือสังคมมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้านในด้านการวิจัยและเครื่องมือเฉพาะด้านในการวิจัย เช่น ความรู้หรือทฤษฎีใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ วัตถุดิบใหม่ หรือการบริการใหม่ ประเด็นและเป้าหมายของการวิจัยประเภทนี้ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำขององค์กรมาเป็นเครื่องชี้นำในการวิจัย การวิจัยประเภทนี้จะต้องให้ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างต่อองค์กรหรือสังคม การวิจัยประเภทนี้มีความเป็นเอกลักษณ์และไม่เคยมีมาก่อน ตรงจุดนี้เองที่ทำให้คนทั่วไปคิดว่าการวิจัยเป็นเรื่องยากต้องใช้กำลังความสามารถเป็นอย่างมาก ผลลัพธ์ที่ได้จึงต้องคุ้มค่ากับการลงทุนทรัพยากรไปในการดำเนินการวิจัย


ที่จริงแล้วผมมองการวิจัยในเชิงนามธรรมที่บ่งบอกถึงกิจกรรมการค้นหาสิ่งที่มนุษย์ไม่รู้และเมื่อได้รู้และเข้าใจแล้วมนุษย์ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นบริบทหรือสภาพแวดล้อมของการวิจัยจึงเป็นสิ่งที่กำหนดระดับของการวิจัย แต่แก่นแนวคิดของการวิจัยยังคงเดิม คือ การค้นหาสิ่งที่ไม่รู้ เมื่อได้ค้นพบแล้ว สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้วิจัยได้ ดังนั้นในการทำงานใดๆ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับองค์กรหรือในระดับส่วนบุคคล ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในการดำเนินงานที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ได้ ผู้นำองค์กรหรือเจ้าของกระบวนการจะต้องทำการค้นหาวิธีการใหม่มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือมาพัฒนาให้ดีกว่าเก่า ถึงแม้ว่าการแก้ปัญหาจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการ เพราะว่าเคยมีองค์กรอื่นๆ ได้นำมาใช้แก้ปัญหาก่อนแล้ว แต่เรื่องหรือประเด็นดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องใหม่ในองค์กรของเราหรือใหม่ในกระบวนการของเรา และที่สำคัญคือ บุคลากรภายในองค์กรหรือเจ้าของกระบวนการอาจจะไม่เคยรู้วิธีการหรือความรู้เหล่านี้มาก่อน ดังนั้นเมื่อมีการค้นคว้าหรือค้นหาจนได้ความรู้ใหม่ที่ให้ประโยชน์ต่อองค์กรและกระบวนการ กิจกรรมอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการวิจัยชนิดหนึ่ง เพียงแต่บริบทหรือสภาพแวดล้อมมีระดับหรือขอบเขตที่เล็กลงมาในระดับองค์กรหรือในระดับกระบวนการเท่านั้นเอง


แนวคิดการวิจัยจึงป็นเรื่องของการดิ้นรนและแสวงหาของมนุษยชาติ เพราะการวิจัยหรือการค้นคว้าของมนุษย์ในทุกหมู่เหล่านั่นเองที่ทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นและสะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ บางคนมีอาชีพเป็นนักวิจัย คุณค่าของพวกเขาคือ การค้นหาสิ่งใหม่ๆ ให้ทันหรือก้าวหน้ากว่าคู่แข่งขัน กลุ่มคนเหล่านี้มีไม่มากนัก เช่น นักวิจัยในศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อองค์กรและสังคมในวงกว้าง กลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ส่วนบุคคลอีกกลุ่มที่มีหน้าที่ในการสร้างคุณค่าในกระบวนการธุรกิจต้องใช้ความรู้ที่มีอยู่หรือความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาประยุกต์ใช้งานให้เกิดประโยชน์ในบริบทของตนเองเพื่อที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนาปรับปรุงกระบวนการ ดังนั้นบุคคลที่อยู่ในองค์กรที่มีหน้าที่ในการจัดการกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าจะต้องทำกิจกรรมการวิจัยในระดับการปฏิบัติการด้วยการค้นหาวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า กิจกรรมเช่นนี้ก็คือ การวิจัยเช่นกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการวิจัยในลักษณะนี้จะไม่มีผลกระทบสังคมในวงกว้าง แต่มีผลกระทบต่อองค์กรและบุคคลผู้ที่ค้นหาเอาความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์


ความเป็นจริง (Reality)


จากคำพูดหลายๆคำที่กล่าวว่า “เราต้องอยู่กับความเป็นจริง อย่าฝันไปเลย” หรือ “สร้างฝันให้เป็นจริง” ความเป็นจริงคือ อะไร? ความเป็นจริงคือ สภาพของสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่จริง (Real) ความเป็นจริง (Reality) เป็นคำพูดที่ค่อนข้างจะกว้างมากๆ โดยหมายถึงทุกสิ่งไม่ว่าจะสังเกตุเห็นได้หรือเข้าใจได้ แต่สำหรับ “ความเป็นจริง” ในความหมายของผมนี้เกี่ยวกับประโยชน์หรือคุณค่าที่มนุษย์จะได้รับเพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอด นั่นหมายความว่าเราจะต้องทำให้ความฝันหรือความคิดของเราเกิดเป็นจริงหรือได้ประโยชน์หรือมีคุณค่ากับเรามากที่สุด ความเป็นจริงจะเกิดขึ้นก็จากการลงมือทำหรือการปฏิบัตินั่นเอง ทุกคนสามารถที่จะคิดหรือฝันได้เสมอ แต่ถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติแล้วก็คงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เช่นกันเมื่อหลายๆ คนพยายามค้นหาแนวทางใหม่ในการดำเนินงานจนเป็นผลงานวิจัยที่ประกอบไปด้วยแนวคิดและผลในเชิงปฏิบัติ แต่กระบวนการสร้างคุณค่าในโลกนี้มีอยู่มากมายตามความต้องการของมนุษย์ แต่แนวคิดที่ได้มาจากงานวิจัยในรูปแบบของทฤษฎีที่ถูกสร้างหรือพัฒนาขึ้นใหม่จะต้องถูกนำมาปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้งานให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์โดยตรง ดังนั้นรูปแบบของการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพจะต้องอ้างอิงถึงแนวคิดหลักการหรือทฤษฎีที่อธิบายการปฏิบัติการนั้น การจัดการการปฏิบัติการเพื่อให้เกิดคุณค่าหรือประโยชน์โดยไม่ให้เกิดปัญหาจะเป็นเป้าหมายที่ต้องการของการปฏิบัติการ


ความเป็นจริงที่เราต้องการคือ การดำเนินงานหรือการปฏิบัติการเพื่อสร้างคุณค่าเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์อย่างไม่มีปัญหา เพราะปัญหาคือ อุปสรรคของกระบวนการสร้างคุณค่า เพื่อเกิดปัญหาขึ้น ผู้ที่ได้รับความลำบากหรือความไม่พึงพอใจเพราะไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ก็คือ มนุษย์เรานี่เอง ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงความเป็นจริงซึ่งก็คือ ประโยชน์หรือคุณค่าที่เกี่ยวกับตัวเราทั้งนั้น แต่ความเป็นจริงของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน การที่จะทำให้เกิดความเป็นจริงได้นั้น เราจะต้องเข้าใจกระบวนการสร้างคุณค่าหรือประโยชน์นั้นอย่างลึกซึ้ง ความเป็นจริงจึงจะเกิดขึ้นได้ มนุษย์เราก็จะได้ใช้ประโยชน์นั้น คงจะไม่มีใครเข้าใจในสิ่งแวดล้อมหรือบริบทของประโยชน์หรือคุณค่านั้นๆ ได้เท่ากับผู้สร้างคุณค่าหรือผู้ที่ใช้คุณค่าในบริบทนั้นๆ


ประโยชน์หรือคุณค่าที่มนุษย์ต้องการจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้ จะต้องมาจากความต้องการของมนุษย์เป็นเบื้องต้น จากนั้นจะต้องมีมนุษย์ที่เป็นผู้คิดหรือวิจัยหาวิธีการสร้างคุณค่านั้น จากนั้นจึงนำเอาแนวคิดมาสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นจริงได้ซึ่งจะเป็นผลไปสู่การออกแบบกระบวนการสร้างคุณค่ และสุดท้ายผู้ปฏิบัติการจะสร้างคุณค่าจากกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ผู้ดำเนินการทั้งสามนั้นอาจจะเป็นคนๆ เดียวกันก็ได้ แต่ถ้าคุณค่านั้นมีขนาดหรือปริมาณมากขึ้นหรือมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ดำเนินการในแต่ละส่วนก็อาจจะไม่ใช่คนเดียวกัน เมื่อสภาพความเป็นจริงที่ประกอบไปด้วยผู้ที่ต้องการคุณค่า (Customers) กับผู้ที่สร้างคุณค่า (Process Owner) และสภาพแวดล้อมการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) สามารถที่จะสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้ ถ้าสภาพความเป็นจริงในภาพรวมทั้งหมดอยู่ในสภาพสมดุล นั่นหมายถึงว่าไม่เกิดปัญหา เราก็สามารถที่จะทำให้สภาพการสร้างคุณค่าทั้งหมดถูกนำไปดำเนินการสร้างคุณค่าได้อย่างซ้ำไปซ้ำมาเพื่อเพิ่มปริมาณและความเร็วเพื่อตอบสนองต่อจำนวนความต้องการของกลุ่มลูกค้าอย่างเป็นกิจวัตร (Routine) ในการสร้างคุณค่า


ถ้าสภาพความเป็นจริงยังมีปัญหาอยู่หรือมีโอกาสที่จะเป็นปัญหาได้โดยที่ไม่สามารถสร้างคุณค่าให้มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีสภาพความเป็นจริงที่ฝ่ายสร้างคุณค่าไม่สามารถสร้างคุณค่าได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ เมื่อเรายังไม่สามารถทำให้เกิดมีสภาพความเป็นจริงที่เป็นประโยชน์หรือมีคุณค่ากับมนุษย์ได้ เราก็คงยังจะไม่ดำเนินการสร้างคุณค่าหรือปฏิบัติการอย่างเป็นกิจวัตร เพราะว่าความไม่มีประสิทธิภาพหรือความสูญเปล่าในการใช้ทรัพยากรจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติการสร้างคุณค่าอย่างเป็นกิจวัตร


กิจกรรมที่ทำให้เกิดความเป็นจริงจะเป็นกิจกรรมที่แปรแนวคิดหรือทฤษฎีสู่การปฏิบัติที่ต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทหรือสภาพแวดล้อมของการสร้างคุณค่านั้น ถ้าความเป็นจริงที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผู้ที่สร้างความเป็นจริงให้เกิดขึ้นจะต้องกลับไปทำการศึกษาแนวคิดหรืองานวิจัยและทำความเข้าใจในบริบทของการสร้างคุณค่าใหม่จนแน่ใจว่าเกิดสภาพความเป็นจริงที่ให้ประโยชน์สูงสุด (Optimum) กับผู้ต้องการคุณค่าและผู้ที่สร้างคุณค่า จึงทำให้ในภาพรวมของความเป็นจริงเกิดความสมดุลซึ่งจะต้องให้ประโยชน์สูงสุดกับผู้ที่ต้องการคุณค่าและผลกำไรหรือประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ทรัพยากรในการสร้างคุณค่า เมื่อสภาพความเป็นจริงเกิดความสมดุลแล้ว เราจึงดำเนินการสร้างคุณค่าในสภาพนั้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์อย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตร

วัฏจักรแห่งการปรับปรุงอย่างองค์รวม : จากกิจวัตร สู่ การวิจัย สู่ ความเป็นจริง (ตอนที่ 2)

(Routine to Research to Reality : R3)


ระบบความคิด


คุณค่าของคนเราอยู่ที่ผลของงาน แต่คุณค่าของงานแต่ละงานก็ไม่เท่ากัน ความแตกต่างของคุณค่าแต่ละคุณค่าก็เกิดจากความคิดของแต่ละคน ความคิดของแต่ละคนทำให้คนแต่ละคนมีคุณค่าไม่เท่ากัน คนที่มีความคิดดีย่อมนำไปสู่การปฏิบัติที่ดี แล้วการปฏิบัติที่ดีคืออะไร? และความดีคืออะไร? เรื่องนี้คงจะตอบยากแล้วแต่บริบทของคำถาม แต่สำหรับประเด็นของความคิดและการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่บริบทใดๆ สุดท้ายแล้วก็ต้องจบลงที่ความต้องการของมนุษย์เรา ทำอย่างไรให้เราได้มีชีวิตอยู่รอดได้ ปัญหาเกิดจากการมีอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากคุณค่าต่างๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดได้ หรืออีกด้านหนึ่งปัญหาคือ สิ่งที่ทำให้เราไม่สมหวังหรือไม่พึงพอใจ ซึ่งอาจจะทำให้การดำรงชีวิตลำบากขึ้น สิ่งที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดได้หรือทำให้สมหวังได้ดั่งใจคือ คุณค่าหรือประโยชน์ที่ถูกสร้างมาจากกระบวนการสร้างคุณค่าหรือคุณค่าจากธรรมชาติ ดังนั้นความคิดของเราทั้งหมดจะต้องมาเกี่ยวข้องกับคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์เสมอไม่ทางตรงก็ทางอ้อม


เราทุกคนมีความคิดเพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า มีฟังก์ชั่นใช้งานได้มากกว่าและเป็นประโยชน์มากกว่า การมีความคิดที่ดีก็คงต้องใช้การคิดที่มีหลายขั้นตอนตามลำดับและอย่างมีระบบ ความสัมพันธ์ระหว่างขั้นตอนการคิดต่างๆมีผลต่อผลลัพธ์ที่เป็นการปฏิบัติในการสร้างคุณค่าที่ดีออกมา ถ้าคิดอยู่อย่างเดียว ไม่ลงมือทำก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าทำอย่างเดียวโดยไม่ได้คิดเลยก็เป็นอันตรายมาก ความเสียหายจะเกิดขึ้นมากกว่าประโยชน์ ดังนั้นการคิดและการปฏิบัติจะต้องเชื่อมโยงกัน การคิดต้องมาก่อนการปฏิบัติเสมอ การปฏิบัติที่สร้างผลลัพธ์ออกมาได้เพราะมีระบบการคิดที่นำไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นระบบทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นคุณค่าออกมา สิ่งที่เป็นผลจากการปฏิบัติในระบบการสร้างคุณค่าจะเป็นประโยชน์หรือความสูญเปล่าก็ขึ้นอยู่ระบบคิดหรือกระบวนการคิด ดังนั้นระบบคิดหรือกระบวนการคิดที่ดีก็ย่อมทำให้ขั้นตอนการปฏิบัติได้ผลดีเช่นกัน ในทางตรงกันข้ามถ้าระบบคิดที่ไม่ดีก็ย่อมทำให้ขั้นตอนการปฏิบัติสร้างความสูญเปล่าออกมา


การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ควรแก้ไขตรงตำแหน่งที่ปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้น แต่การแก้ปัญหาจะต้องเป็นกระบวนการค้นหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ไม่ใช่แก้ตามอาการที่พบเห็น โดยเฉพาะกระบวนการสร้างคุณค่าหรือกระบวนการธุรกิจในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงทำให้การค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหายากยิ่งขึ้น เพราะองค์ประกอบของกระบวนการธุรกิจมีองค์ประกอบเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น ความซับซ้อนในการเชื่อมโยงก็มากยิ่งขึ้นตาม ดังนั้นระบบความคิดและกระบวนการคิดจึงมีผลต่อการแก้ปัญหาเป็นอย่างมาก เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถปรับระบบคิดหรือกระบวนการคิดให้สอดคล้องกับกระบวนการสร้างคุณค่าและบริบทแล้ว ระบบคิดนั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้


การแก้ปัญหาในปัจจุบัน


จากการดำเนินชีวิตประจำวันเราเผชิญปัญหาอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเราจะพยายามแก้ปัญหาไปแล้วก็ตาม ทำไมปัญหาจึงเกิดขึ้นอีก? ทำให้เราต้องแก้ปัญหากันอย่างไม่จบไม่สิ้น ลองมานั่งพิจารณาดูว่าสิ่งที่เราได้ลงมือแก้ปัญหานั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่ เราได้แก้ปัญหาที่รากของปัญหาหรือไม่? ปัญหาส่วนมากที่เราพบหรือรับรู้ได้มักจะเกิดขึ้นที่จุดๆ เดียวตรงที่เผชิญหน้ากับเรา แต่ต้นตอของปัญหาอาจจะไม่อยู่ในสถานที่เผชิญหน้ากับเราเลย ต้นตอของปัญหามักจะหลบอยู่ข้างหลังหรือฝังตัวอยู่ในกระบวนการทำให้เราไม่ได้นึกถึงหรือไม่สามารถรับรู้ได้ จึงทำให้การแก้ปัญหานั้นไม่จบสิ้นและอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก


การมองหรือการรับรู้ถึงปัญหาจึงต้องมองกระบวนการสร้างคุณค่าทั้งระบบด้วยการมองจากต้นชนปลาย (End to End) มองอย่างเป็นกระบวนการเพื่อการควบคุม (Control) และปรับปรุง (Improve) หรือมองในเชิงระบบ (System Thinking) ซึ่งทำให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งหมดที่เป็นต้นตอของปัญหา ในปัจจุบันการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ยังไม่ได้มองกันอย่างเชิงระบบหรือเป็นภาพใหญ่เพื่อหารากของปัญหา สิ่งที่เราพบเห็นในการแก้ปัญหาจึงเป็นการแก้ไขตามอาการ เหมือนกับไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไม่สบาย แพทย์จะรักษาตามอาการป่วย แต่ในขณะเดียวกันแพทย์จะแนะนำวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการป่วยนั้น ด้วยการถามถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้ป่วยได้ปฏิบัติไปซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการป่วยนั้น แล้วจึงแนะนำวิธีการเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดอาการป่วยเหล่านั้นซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาจากต้นตอของปัญหา


การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขตามอาการที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกสอนกันมาแต่อดีต แต่เราต้องไม่ลืมว่าบริบทของสังคมและโลกของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน สังคมมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้เรามีความเข้าใจตัวเองและโลกมากยิ่งขึ้นตลอดเวลา คุณค่าในรูปแบบของสิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้นมาตอบสนองตัวเองก็มีเป็นจำนวนมากขึ้นและมีคุณลักษณะที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ก็มากยิ่งขึ้นเช่นกัน ปัญหาในปัจจุบันจึงไม่เหมือนกับปัญหาในอดีตซึ่งมีความซับซ้อนน้อยกว่า ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันจึงไม่สามารถใช้การแก้ปัญหาแบบในอดีตได้ การแก้ปัญหาในปัจจุบันจึงต้องอาศัยมุมมองของการแก้ปัญหาในเชิงป้องกัน (Preventive) มากกว่าการแก้ไข (Corrective) การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมา จึงทำให้การที่ไม่ต้องแก้ปัญหาหรือการไม่มีปัญหาจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และสิ่งที่จะทำให้เราสามารถป้องกันปัญหาได้ก็คือ การทำความเข้าใจในระบบหรือความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ หรือใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ในการคิดและวางแผนในการควบคุมและปรับปรุงกระบวนการสร้างคุณค่าให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก


จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ


ถ้าผมจะพูดว่าการปฏิบัติให้ชีวิต ก็คงจะไม่ผิด เพราะว่าถ้าไม่ทำหรือปฏิบัติแล้วเราคงจะไม่มีชีวิตอยู่อย่างนี้แน่นอน กิจกรรมการดำเนินงานของมนุษย์เรานั้นมีเป้าประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทั้งสิ้น การปฏิบัติใดๆ ที่บังเกิดผลย่อมมีเหตุที่สามารถอธิบายเรื่องราวความสัมพันธ์ของเหตุและผลนั้นได้ การปฏิบัติที่ดีนั้นจะได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ ผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าได้ผลลัพธ์ตรงตามที่ต้องการทุกครั้งที่เกิดการปฏิบัติ ความเสียหายและความสูญเปล่าจากการปฏิบัติจึงไม่เกิดขึ้น รวมทั้งจะมีความปลอดภัยในการปฏิบัติด้วย


ขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ จะต้องถูกออกแบบมาจากผู้ที่มีความเข้าใจในความสัมพันธ์ขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าหรือเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งาน ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับขั้นตอนในการดำเนินงานในกระบวนการสร้างคุณค่า ซึ่งทำให้ไม่เกิดเป็นคุณค่าหรือเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานหรือลูกค้า เหตุผลข้อแรกคือ ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงานที่ถูกออกแบบมาตามหลักการหรือทฤษฎี ผู้ปฏิบัติงานใช้ความรู้สึกส่วนตัวหรือความเคยชินมาเป็นหลักการในการทำงาน โดยไม่ได้ใช้ความรู้หรือไม่มีความรู้ที่เกี่ยวกับขั้นตอนหรือกระบวนการทำงานจนทำให้กระบวนการเกิดความเสียหาย ความสูญเปล่าและความไม่ปลอดภัยตามมา นอกจากนั้นปัญหายังเกิดจากผู้ใช้งานไม่เข้าใจบริบทหรือสภาพแวดล้อมของการใช้งานหรือกระบวนการสร้างคุณค่า อีกเหตุผลหนึ่งคือ ผู้ปฏิบัติงานไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างขั้นตอนการปฏิบัติงานกับสภาพแวดล้อมจึงทำให้ไม่เกิดผลลัพธ์ตามต้องการ ถึงแม้ว่าขั้นตอนปฏิบัติจะถูกต้องก็ตาม หรือที่เรียกกันว่าใช้งานผิดประเภท


ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นก็มาจากการที่ผู้ใช้งานไม่ได้ยึดในหลักวิชาการที่ถูกออกแบบมากับขั้นตอนและการนำไปใช้งาน ทั้งๆ ที่ผู้ที่ออกแบบขั้นตอนการปฏิบัติงานหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ใช้องค์ความรู้หรือทฤษฎีต่างๆ มาทดลองและค้นหาวิธีการสร้างประโยชน์ให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้งานผ่านขั้นตอนการดำเนินงานที่ถูกต้องและอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่มักจะต้องการความสะดวกและความสบายด้วยผลตอบแทนเท่าเดิมหรือมากกว่า ผู้ปฏิบัติงานพยายามใช้วิธีการต่างๆ หรือการลัดขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายหรือได้ผลลัพธ์โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียในระยะยาว เพราะว่าไม่เข้าใจในหลักการหรือทฤษฎีที่รองรับการปฏิบัติการเหล่านั้น


เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ซึ่งไม่ได้ให้ความสนใจในหลักวิชาการหรือทฤษฎีต่างๆ ก็พยายามที่ลองผิดลองถูกเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งในบางครั้งก็ได้ผล แต่เป็นเพราะที่คนเหล่านี้ไม่สนใจในเหตุและผลว่าทำไมการลองผิดลองถูกจึงสามารถแก้ปัญหาได้ ผู้ปฏิบัติงานจึงได้จดจำวิธีการแก้ปัญหาที่บังเอิญได้ผลในช่วงเวลาหนึ่งภายใต้บริบทหนึ่งๆ ผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้เรียกเหตุการณ์เหล่านี้ว่า “ประสบการณ์” ซึ่งสามารถทำได้หรือแก้ปัญหาได้เพราะเคยทำได้ผลมาก่อนจนกลายเคยจากความเคยชิน แต่ผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ไม่รู้ถึงกลไลหรือเหตุผลรองรับถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อประสบการณ์ที่ได้กลายเป็นความเคยชินที่เคยทำได้ผล แต่ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้ผลอีกในอนาคตเพราะว่าผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถควบคุมกระบวนการได้ โดยเฉพาะเมื่อบริบทของกระบวนการเปลี่ยนแปลงไป


เมื่อเกิดปัญหาขึ้นอีกผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ก็ต้องลองผิดลองถูกอยู่เรื่อยไป ซึ่งไม่ใช่หนทางในการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะว่าการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เป็นต้นทุนที่สูงเกินไปด้วยการใช้เวลาและทรัพยากรมากเกินความจำเป็น ถ้าผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ที่ต่อต้านการใช้วิชาการหรือทฤษฎีที่ใช้ความเข้าใจเป็นแกนหลักได้หันกลับมาใช้ปัญญาในการคิดหรือใช้ความรู้ที่เป็นหลักการและทฤษฎีในการทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเราเพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดความรู้เดิมเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา ถ้ายิ่งนานวันขึ้นสังคมเราต่อต้านหลักการและทฤษฎีในการแก้ปัญหา เพราะมัวแต่จะหาสูตรสำเร็จมาใช้ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ถูกแก้ไขและยิ่งทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทำการแก้ไขลำบากมากยิ่งขึ้น


กิจวัตร (Routine)


มนุษย์เรามีการดำเนินงานในการใช้ชีวิตอย่างซ้ำไปซ้ำมาอย่างต่อเนื่องหรือเป็นกิจวัตร (Routine) การดำเนินงานของมนุษย์มีทั้งที่มีคุณค่าและไม่มีคุณค่าต่อมนุษย์กันเอง ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์เรานี้ถูกกำหนดมาจากมุมมองของมนุษย์ด้วยกันเองขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้กำหนดโจทย์หรือความต้องการ ถ้าใครก็ตามหรือกระบวนการใดก็ตามสามารถสร้างคุณค่าได้ตามที่กำหนดหรือโจทย์ กระบวนการหรือระบบนั้นก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าระบบที่ถูกดำเนินการอย่างเป็นกิจวัตรไม่ได้สร้างคุณค่าใดคุณค่าหนึ่งอย่างที่เคยสร้างมาก่อน กระบวนการหรือระบบนั้นจึงมีปัญหา


กิจกรรมต่างๆ ที่สร้างคุณค่าหรือประโยชน์สำหรับมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมจะอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ กิจกรรมต่างๆ นั้นมีความเชื่อมโยงกันตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขายจนถึงผู้บริโภคจนกลายเป็นโซ่อุปทาน และถูกบูรณาการทำให้เกิดเป็นระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจและระบบธุรกิจจนมาถึงการทำงานของบุคคลแต่ละคนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเป็นคุณค่าหรือประโยชน์ในการดำรงชีวิต กิจกรรมการสร้างคุณค่าเหล่านี้ถูกดำเนินการอย่างเป็นกิจวัตรอยู่ตลอดเวลา แต่ในระบบสังคมและระบบโลกเองไม่ได้มีลักษณะเป็นกิจวัตรอย่างที่มนุษย์เป็นผู้ปฏิบัติ ความจริงข้อหนึ่งของโลกที่อยู่รอบๆ ตัวเราคือ ความเป็นพลวัต (Dynamic) ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่การดำเนินงานของเราให้ถึงเป้าหมายจึงไม่ค่อยบรรลุผลหรือไม่เป็นไปตามโจทย์หรือข้อกำหนด มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงกลายเป็นความจริงอีกข้อหนึ่งว่า ทำไมปัญหาจึงไม่มีวันจบสิ้นเสียที


มนุษย์เราทุกคนได้รับประโยชน์โดยตรงจากกิจกรรมที่สร้างคุณค่าที่ถูกดำเนินงานอย่างเป็นกิจวัตร เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากความเป็นพลวัตทั้งของระบบและสภาพแวดล้อม ประเด็นที่ผู้เป็นเจ้าของกระบวนการหรือผู้นำองค์กรธุรกิจจะต้องคำนึงถึงคือ การแก้ปัญหาเพื่อการควบคุมและการปรับปรุงเพื่อให้กิจกรรมที่ดำเนินการอย่างเป็นกิจวัตรได้บรรลุเป้าหมาย ในหลายๆ กรณีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการปฏิบัติหรือการดำเนินงานนี้เป็นเพราะความต้องการของลูกค้าและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กิจกรรมการดำเนินงานที่เป็นกิจวัตรจึงต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย คำถามคือ จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและทันเวลาในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า?

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วัฏจักรแห่งการปรับปรุงอย่างองค์รวม : จากกิจวัตร สู่ การวิจัย สู่ ความเป็นจริง (ตอนที่ 1)

(Routine to Research to Reality : 3R)


ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรหรีอประเทศขึ้นอยู่กับพลังความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรหรือของประเทศนั้นๆ ยิ่งในยุคนี้มีการนำเสนอแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Ideas) จนกลายเป็นกระแสของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ผมเข้าใจว่าปฐมเหตุของความเจริญรุ่งเรืองขององค์กร สังคมและประเทศเกิดมาจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ทรัพยากรมนุษย์ทั้งสิ้น นั่นเป็นความจริงเสมอ แต่เมื่อเห็นการนำเสนอมุมมองของคำว่า “สร้างสรรค์” ของประเทศเราแล้ว ค่อนข้างจะโน้มเอียงไปในทางศิลปะและการสร้างสรรค์หรือการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ออกมาให้สามารถใช้งานเป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าได้ แต่ถ้าเรามีแค่ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงการประดิษฐ์และคิดค้นแต่เพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอเพียง เพราะว่าการนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาทำให้เกิดเป็นจริง (Realization) ในการใช้งานเชิงธุรกิจเป็นประเด็นที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน เพราะถ้าเราไม่สามารถนำความคิดนั้นมาแปรสู่การปฏิบัติจริงให้เกิดประโยชน์ได้ก็ไม่มีประโยชน์อันใด และในขณะเดียวกันเรายังต้องสามารถที่จะสร้างกระบวนการที่สร้างคุณค่า (Value Creation Process) ที่สามารถจับต้องได้จากความคิดสร้างสรรค์นั้นและยังคงจะต้องปรับปรุงคุณค่านั้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ผมจึงคิดว่าเราควรจะมีความคิดสร้างสรรค์เชิงการประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ความคิดสร้างสรรค์การนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในเชิงการแก้ปัญหาและปรับปรุงการสร้างคุณค่าในกระบวนการธุรกิจจนกลายเป็นวัฏจักรในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างองค์รวมและยั่งยืน


สภาพความเป็นจริง


เราทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอดซึ่งเป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ สิ่งที่มนุษย์เราต้องการเพื่อความอยู่รอดคือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะที่จำเป็นต่อร่างกายโดยตรง ซึ่งขาดไม่ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นมนุษย์อาจจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ก็ได้ ในขณะที่ประโยชน์หรือคุณค่าบางชนิดอาจจะเป็นแค่สิ่งที่ตอบสนองความพึงพอใจในทางจิตใจเท่านั้น ซึ่งเป็นความต้องการ (Want) ไม่ใช่ความจำเป็น (Need) แต่ก็ไม่ได้มีกระทบต่อชีวิตมากนัก สังคมมนุษย์เราก็มีเพียงเท่านี้ ต่างคนต่างสร้างคุณค่าและใช้คุณค่าร่วมกันไป ถ้าสังคมอยู่ในความสมดุลมีทั้งผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่า ทุกอย่างก็จะราบรื่นไม่มีปัญหาการขาดแคลนหรือมากเกินจากสมดุล ดังนั้นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มาจากกลุ่มคนสองประเภทคือ ผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่า ซึ่งปกติแล้วคนทุกคนจะมีทั้งสองบทบาทคือ ทั้งผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่า ใครเป็นผู้ที่สร้างคุณค่าได้มากและเอาไปขายหรือไปแลกคุณค่าอื่นมาได้มาก และใช้ทรัพยากรสร้างคุณค่าได้น้อยกว่า คนๆ นั้นก็มีความมั่งคั่ง ใครเป็นผู้ที่สร้างคุณค่าได้น้อยและขายได้น้อย และใช้ทรัพยากรในการสร้างคุณค่ามากก็จะกลายเป็นคนจนไป ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่าในสังคมทำให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ขนาดเล็กจนไปสู่ขนาดใหญ่และโยงใยจนกลายเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวเองได้ (Complex Adaptive System)


ทุกวันนี้เราทำงานเพื่อแก้ปัญหาเพื่อให้ได้รับคุณค่าต่างๆ มาทำให้ชีวิตเราอยู่รอด ผมจึงมองปัญหาในหลายมิติจากต่างมุมมองต่างๆ ปัญหาในมุมมองจองมนุษย์ส่วนบุคคลคือ การไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตหรือเป็นความต้องการจากจิตใจ ปัญหาในมุมมองของกระบวนการสร้างคุณค่าคือ กระบวนการสร้างคุณค่าสามารถสร้างคุณค่าได้ตามข้อกำหนดหรือไม่? และมุมมองในการปรับปรุงว่ามีสามารถปรับปรุงกระบวนการสร้างคุณค่าให้ได้ดีกว่า เร็วกว่าและถูกกว่าหรือไม่ ที่จริงแล้วปัญหาต่างๆ ที่เราคิดว่าเป็นปัญหาอาจจะไม่ใช่ปัญหาก็ได้ ถ้าเราไม่ได้กำหนดหรือมีความต้องการ แต่ในความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ เรากลับมีความต้องการมากยิ่งขึ้นและอย่างรวดเร็วขึ้น ในขณะที่ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและทรัพยากรต่างๆ ก็ถูกใช้จนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ สภาพแวดล้อมหรือบริบทที่มนุษย์อาศัยอยู่คือ โลกเราที่เริ่มเสียสมดุลมากขึ้น เพราะการใช้ทรัพยากรต่างๆ ของมนุษย์ ภาวะโลกร้อนจึงกลายเป็นปัญหาของมนุษย์ขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่ง ทั้งๆ ที่โลกนั้นอาจจะไม่มีปัญหาก็ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การปรับตัวของโลกให้เข้าสมดุลของธรรมชาติเท่านั้น แล้วมนุษย์ทั้งหลายก็ดิ้นรนเพื่อกำหนดความต้องการใหม่อยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นการสร้างปัญหาและแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด


ความเข้าใจในปัญหา


จากการรับรู้ถึงสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้น การไม่ได้รับคุณค่าตามที่ต้องการหรือที่กำหนด ผู้ที่ต้องการใช้คุณค่าไม่ได้รับคุณค่าตามที่ต้องการ เมื่อปัญหาเกิดขึ้น เรารับรู้ถึงสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่กระบวนการสร้างคุณค่าที่ไม่สามารถสร้างคุณค่าออกมาได้ตามข้อกำหนด เราจะต้องแก้ปัญหาให้กระบวนการสร้างคุณค่านั้นกลับคืนสู่สภาพเดิมเพื่อให้สามารสร้างคุณค่าออกมาได้เหมือนเดิม ก่อนที่เราจะเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า สภาพที่ไม่มีปัญหาคือ อะไรและเป็นอย่างไร เราต้องเข้าใจในกระบวนการสร้างคุณค่าและบริบทที่กระบวนการนั้นอยู่ เราต้องเข้าใจในปฏิสัมพันธ์ (Interactions) ของกระบวนการสร้างคุณค่าและบริบท (Context) ของกระบวนการ ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการและบริบทของกระบวนการที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่ควบคุมได้และสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญเราต้องเข้าใจในองค์ประกอบภายใน (Internal Parameters) ของกระบวนการสร้างคุณค่าเองด้วย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการสร้างคุณค่า


ประเด็นส่วนใหญ่แล้วทุกคนรับรู้ว่าปัญหาเกิดขึ้นตรงไหนในกระบวนการและมีผลกระทบอย่างไรต่อกระบวนการสร้างคุณค่า แต่การประยุกต์ใช้แนวทางการแก้ปัญหาและเครื่องมือต่างๆ ยังไม่ได้เป็นผลมากนัก ถึงแม้จะได้ผลก็ตาม แต่ก็เป็นผลในระยะสั้น แนวทางในการแก้ปัญหาและการใช้เครื่องมือต่างๆ จะต้องถูกใช้อย่างเป็นระบบตามโครงสร้างของกระบวนการสร้างคุณค่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งในองค์กรอาจจะเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากจุดอื่นๆ ตามโครงสร้างเชิงระบบขององค์กร (Systemic Organization) แต่ในความเป็นจริงแล้วโดยส่วนใหญ่ผู้ที่แก้ปัญหาไม่ได้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างของกระบวนการสร้างคุณค่าในเชิงระบบ แต่กลับใช้การแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ในลักษณะแยกส่วน (Reductionism) เพราะทุกส่วนในโครงสร้างของกระบวนการมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอยู่ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในจุดใดจุดหนึ่งแล้วอาจจะมีผลกระทบกับจุดอื่นๆ ได้ และจุดที่แก้ไขอาจจะไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา ทำให้การแก้ปัญหาไม่บรรลุผลสำเร็จอย่างถาวร ปัญหาก็อาจจะยังคงอยู่หรืออาจจะทวีความซับซ้อนมากขึ้นทำให้ยากต่อการแก้ไขมากขึ้นไปอีก ++++ต่อตอนที่ 2

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Basic - พื้นฐาน 101 คือ รากฐานของความก้าวหน้าที่สูงขึ้น

ผมได้รับการ Comment หรือบ่นอยู่เป็นประจำว่า ผมพูดแต่เรื่องเก่าๆ เรื่องที่เป็นพื้นฐานที่ฝรั่งเรียกกันว่า วิชา 101 บางครั้งก็อาจจะไม่ถูกใจคนฟังเท่าไหร่นัก เพราะว่าบางครั้งผมเองก็ไม่รู้จริงๆ ว่าคนฟังนั้นมีพื้นฐานความรู้อะไรมาบ้าง ยากไปก็บ่น ง่ายไปก็ว่ากัน โดยเฉพาะการบรรยายในที่สาธารณะ ผมเองก็ต้องรับฟังครับ ส่วนใหญ่บางท่านก็ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ที่ผมพูดนั้นรู้อยู่แล้ว เรียนมาแล้ว ทำมาแล้ว ถึงแม้ว่าผมจะพูดเรื่องที่ก้าวหน้าทันสมัยอย่างไร ผมก็ยังต้องกลับมาดูที่แนวคิด พื้นฐานเสมอ เพื่ออะไรครับ? เพื่อเติมพื้นฐานให้แน่ ในชีวิตจริงนั้นความสำเร็จต่างๆในโครงการต่างๆ หรือในการดำรงชีวิตก็มาจากพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าถ้าพื้นฐานไม่ดีแล้ว ก็คงจะไม่มีวันที่จะประสบความสำเร็จได้ แต่คนเรานี่แปลกมาก ไม่ชอบพื้นฐาน ไม่ชอบทำงานนัก ชอบแต่ทางลัด ทางง่ายๆ เร็วๆ เป็นต้น ไม่คิดที่จะปูพื้นฐานให้แน่อยู่เสมอ ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อผ่านพื้นฐานไปแล้ว ไปเลย ไม่ได้กลับมาคิดพิจารณาเรื่องที่ผ่านมาให้ลึกซึ้งขึ้น ความจริงแล้วพื้นฐานที่เราได้เรียนนั้นอาจจะเป็นแค่เสี้ยวเล็กของฐานรากของความจริงในชีวิตในภาพใหญ่ก็ได้ เราเลยต้องทำให้ง่ายไว้เพื่อที่จะผ่านไปในส่วนที่เป็นพื้นฐานในส่วนอื่นๆ ในภาพใหญ่ พอผ่านไปพอสมควรก็ต้องกลับมาบูรณาการร้อยเรียงให้เข้ากันเป็นภาพใหญ่ที่มีคุณค่าใหม่ที่เป็นพื้นฐานของการดำเนินงานในเรื่องนั้นๆ


พื้นฐานที่ดีไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในวันเดียว แต่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ความเข้าใจในกลไกต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานของความสำเร็จทั้งสิ้น นักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก เวลาซ้อมก็ยังต้องกลับมาซ้อมอยู่เสมอและด้วยวิธีการในการฝึกซ้อมที่เป็นพื้นฐานในการเล่น ก็เพื่อความสำเร็จที่สูงขึ้นหรือก้าวหน้าขึ้น คนเราทั่วไปมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับพื้นฐาน ไม่ค่อยฝึกฝน เพราะมันดูไม่ Pro มันดูพื้นๆ ไม่ค่อยมีคุณค่า ใจร้อน แต่พื้นฐานมันสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างคุณค่าในอนาคต ยิ่งไม่มีพื้นฐาน ยิ่งไม่มีอนาคต


ทุกครั้งที่ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ผมก็จะหาโอกาสกลับไปดูหรือทำความเข้าใจเพิ่มเติมในแนวคิดพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา ในหลายๆ ครั้งผมพบว่า ผมเข้าใจอะไรหลายอย่างมากขึ้นกว่าที่เคยเข้าใจในอดีต หรือเข้าใจพื้นฐานมากขึ้น เพราะในอดีตนั้นเราไม่มีประสบการณ์ นั่นเป็นการสร้างพื้นฐานให้แน่นขึ้น

เรามักจะพยายามให้วิชา 101 นั้นมันผ่านไปอย่างรวดเร็วเพื่อจะได้ข้ามไปให้ถึง 102 และ 103 และในขั้นก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่า ในขณะที่เราเรียนวิชา 101 นั้น เราอายุยังน้อย ประสบการณ์ยังน้อย ความสามารถในการคิดอ่านก็ยังน้อย ถึงแม้จะผ่านไปได้ เพื่อผ่านไปถึงวิชา 102 และ 103 แล้ว แต่เราก็อาจจะยังไม่สามารถเข้าใจพื้นฐานของความสำเร็จทั้งหมดได้ ความเป็นพื้นฐาน 101 ก็ยังต้องอยู่ใน 102 และ 103 เพียงแต่เราจะเห็นพื้นฐาน 101 ในวิชา 102 และ 103 หรือไม่ แต่ถ้าท่านไม่เห็นวิชา 101 ในวิชา 102 และ 103 เสียแล้ว ต่อจากนั้นท่านก็ก้าวไปวิชา 104 และ 105 ท่านอาจจะล้มครืนได้ หรือท่านอาจจะไม่สามารถพัฒนาต่อได้ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าท่านจะไปถึงไหน วิชา 106 107 108 … ท่านจะต้องเห็นวิชา 101 อยู่เสมอ และถ้าท่านเห็น 101 ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาแล้ว ท่านก็จะเข้าใจ 101 ด้วยประสบการณ์ แล้วท่านก็จะใช้ 101 ในการพัฒนาความคิดเพื่อพัฒนาในขั้นสูงขึ้นเรื่อยตลอดไป แต่คนส่วนใหญ่นั้น หยุดการนำเอา 101 มาพัฒนา 105 จึงทำให้ ไม่มี 106 หรือทำได้ช้าว่า ดังนั้นอย่าได้ดูถูกเรื่องพื้นฐานที่เป็นฐานรากของเรื่องที่สูงๆ ท่านอาจจะพัฒนาไปได้ไกล และไปได้สูง แต่พื้นฐานท่านอาจจะไม่แกร่งพอ เมื่อเจอลมแรงก็อาจจะโคนลงได้


วิชาแต่ละเรื่องแต่ละสาขาก็พื้นฐานที่แตกต่างกันออกไป อย่างวิชาลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นสหวิทยาการและมีความเป็นบูรณาการอยู่ในตัวสูง ความเข้าใจในแนวคิดพื้นฐานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มีความซับซ้อนในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นบางครั้งเราจึงจะต้องกลับมามองที่พื้นฐานความคิดอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะเข้าใจแนวคิดพื้นฐานให้มากขึ้น ส่วนเรื่องของการนำไปปฏิบัติใช้นั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แนวคิดพื้นฐานมีส่วนสำคัญมากเช่นกัน แต่ประเด็นที่ไม่สำเร็จในการปฏิบัตินั้น หรือนำไปปฏิบัติไม่ได้นั้นก็เพราะว่า แนวคิดพื้นฐานนั้นไม่แน่นพอ หรือไม่ได้มีความเข้าใจในแนวคิดพื้นฐานอย่างลึกซึ้งพอที่จะนำไปปฏิบัติได้

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Basic – Demand Chain โซ่อุปสงค์ โซ่แห่งความต้องการ

ความจริงแล้ว Demand Chain หรือ โซ่อุปสงค์เกิดขึ้นมาก่อนโซ่อุปทาน เป้าหมายของการจัดการไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม คือความพยายามที่จะสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ข้อแตกต่างระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ก็คือ ตัวเลขและความเป็นจริงที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น รถยนต์ 1000 คัน ถ้าเป็นอุปสงค์ก็เป็นแค่ข้อมูลความต้องการที่เป็นตัวเลขจำนวน 1000 คัน แต่ถ้าเป็นอุปทานนั้น ก็คือ การจัดหาและประกอบรถยนต์ให้ได้เป็นจำนวน 1000 คันที่วิ่งได้จริงๆ แล้วอุปสงค์ก็มีเป็นโซ่อุปสงค์ไหม? มีครับ เราก็เรียกว่าโซ่อุปสงค์ (Demand Chain) นั่นก็คือ เส้นทางการไหลของสารสนเทศที่เป็นตัวบอกว่า ความต้องการของลูกค้าเป็นจำนวนเท่าไหร่? ตัวอุปสงค์นี้จะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของกิจกรรมในโซ่อุปทาน ถ้าอุปสงค์ดีหรือแม่นยำก็จะทำให้การจัดการโซ่อุปทานนั้นมีประสิทธิภาพดี ไม่ได้อยู่ในสภาพขาด (Shortage) หรือเกิน (Inventory)

ส่วนมากแล้วกิจกรรมของโซ่อุปสงค์นั้นจะแฝงอยู่ในกิจกรรมของโซ่อุปทานอยู่แล้ว เช่น กิจกรรมการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า (Demand Forecasting) ถ้ายังจำได้ถึง 8 กระบวนการหลักของการจัดการโซ่อุปทานนั้น มีอยู่ 3 กระบวนการหลักที่เกี่ยวข้องกับโซ่อุปสงค์ คือ Customer Relationship Management, Customer Service Management และ Demand Management ทั้งสามกระบวนการนี้ คือ โซ่อุปสงค์ที่จะนำเอาสารสนเทศและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของลูกค้ามาเพื่อเป็นโจทย์ให้โซ่อุปทานจัดหามาเติมเต็มให้ได้ตามอุปสงค์หรือความต้องการ

สังเกตุได้ว่าโซ่อุปสงค์นั้นได้ฝังตัวอยู่ในการจัดการโซ่อุปทานอยู่แล้ว ที่จริงแล้วเรื่องของอุปสงค์นั้นมีความสำคัญต่อการจัดการโซ่อุปทานอย่างยิ่ง แต่กระบวนการของโซ่อุปสงค์นั้นไม่ได้ซับซ้อนและยุ่งยากเหมือนโซ่อุปทานซึ่งจะต้องมีความเกี่ยวพันกับขั้นตอนต่างๆ ผู้คนและบริษัทองค์กรอีกมากมายที่มาร่วมกันสร้างคุณค่าให้ได้คุณภาพและจำนวนตามที่โซ่อุปสงค์กำหนดมา นี่คือ อีกหนึ่งเหตุผลที่ว่า ทำไมเน้นแต่โซ่อุปทาน ไม่เห็นมีใครเน้นที่โซ่อุปสงค์ ที่จริงแล้วต้องเน้นที่อุปสงค์มากๆเลย แต่โซ่อุปสงค์ไม่ได้มีความซับซ้อนเท่ากับโซ่อุปทาน ต่อให้อุปสงค์นั้นเป็นความต้องการที่แท้จริงหรือไม่มีผิดพลาดเลย การจัดการโซ่อุปทานที่จะตอบสนองต่อจำนวนที่ต้องการนั้นก็อาจจะไม่สามารถตอบสนองได้ตรงตามเป้าหมายเสมอไป เพราะว่าความไม่แน่นอนและความซับซ้อนในโซ่อุปทานมีมากกว่าโซ่อุปสงค์มาก

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Meeting - วิพากษ์ยุทธศาสตร์งานวิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน 1 มิ.ย. 54 ตอนที่ 2

ผมได้เคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำแผนยุทธศาสตร์วิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อประ มาณต้นปี 54 ผมก็ไม่ได้มีความเห็นแย้งในภาพใหญ่ มันต้องไปในทางนี้อยู่แล้ว และในทิศทางเดียวกันนั้นผมสนับสนุนกิจกรรมทั้งหมดที่อ.ดวงพรรณและทางสกว.และทางวช.กำลังดำเนินการอยู่ ผมว่ามันเป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อนพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำความเข้าใจเรื่องลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาพใหญ่ในระดับประเทศ หรือมันอาจจะต้องลดระดับการเรียกชื่อหรือการนิยามตัวตนออกมาว่าเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไปก่อนหรือไม่ ถอยหลังออกมาตั้งตัวหรือคุยกันให้เข้าใจเสียก่อนดีไหม?

มีงานวิจัยนะครับเมื่อ ปี 2010 ของฝรั่งนะครับ เขาวิจัยกันเรื่อง ความเข้าใจและคำนิยามของโซ่อุปทาน ซึ่งก็ยังมีอยู่หลายคำนิยาม จนมีการสรุปว่า ถ้าเรายังเข้าใจไม่ตรงกัน การพัฒนาเรื่องการจัดการโซ่อุปทานก็คงจะเป็นไปได้ยากหรือไม่มีประสิทธิภาพ หรือเพราะว่าโซ่อุปทานอาจจะเหมาะในระดับอุตสาหกรรมหรือองค์กรเท่านั้นก็ได้ ผมก็เคยคิดอย่างนั้น แต่ว่าถ้าโซ่อุปทานมีตัวตนและใช้ได้จริงในสังคมระดับเล็ก โซ่อุปทานก็น่าจะใช้ได้ในสังคมระดับใหญ่ขึ้นได้ แต่แนวทางหรือ Approach ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ก็คงจะแตกต่างกันออกไป ต้องมีการนิยามและต้องได้รับการยอมรับกันในระดับสังคมที่ใหญ่ขึ้นไปอีก

ความเห็นส่วนตัวที่ผมเห็นยุทธศาสตร์วิจัยนี้แล้ว ผมคิดว่าตัวยุทธศาสตร์เองก็ยังไม่ได้มีความเป็นโซ่อุปทานเท่าใดนัก เราอาจจะยังไม่ได้มองเห็นถึงองค์รวมของโซ่อุปทาน และยิ่งตัวยุทธศาสตร์ใช้คำว่าแห่งชาติด้วยแล้ว หรือเพราะโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในประเทศเราเป็นโซ่อุปทานชั้นต่ำที่ยังไม่พัฒนา มีความเป็น Silos สูงกว่ามาตรฐานสากล ผมว่าเราน่าจะมากำหนดหรือตัวตนของความเป็นโซ่อุปทานของชาติกันก่อนดีไหม? เพราะถ้าเราเขียนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของชาติออกไปโดยที่เราเองก็ไม่เข้าใจโซ่อุปทานแห่งชาติว่ามันคืออะไรและอยู่ตรงไหนกันบ้าง มีใครที่เกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง เหมือนกับการวางแผนการเล่นฟุตบอลของทีมไว้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่รู้เลยว่าใครจะลงเล่นในตำแหน่งไหนกันบ้าง

เอาว่าเป็นตัวผมเองยังไม่เห็นตัวลอจิสติกส์หรือโซ่อุปทานของชาติเลย ไม่ใช่ไม่มีครับ มีแน่นอนแต่ถ้าเราไม่ได้กำหนดออกมา เราไม่ได้ทำ Framework ที่เข้าใจร่วมกัน แล้วเราจะไปวิจัยอะไรที่เป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจริงๆได้ล่ะครับ ถ้าจะเขียนกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของชาติออกมาแล้วก็คงจะมีกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องมากมายเลย และมันไปแตะไปเกี่ยวข้องกับแทบทุกกิจกรรมนะครับ ในมุมมองของผมนะ คนอื่นๆ อาจจะเห็นต่างกันออกไป ตรงนี้ล่ะครับที่ผมว่ามันยาก แต่เราก็ไปแตะเอากิจกรรมย่อยที่เป็นส่วนๆ ที่เป็น Silos ใช่ครับกิจกรรมที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน แต่ตัวกิจกรรมเองอย่างเดียวนั้นมันยังไม่ได้เป็นโซ่อุปทาน เรายังไม่ไปให้ความสนใจในความเป็น Network Structure และการมี Interactions ต่อกัน เพื่อรองรับความเป็น Dynamics ของบริบท ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญที่สุด
ในตอนช่วงท้ายของการประชุมในวันที่ 1 มิ.ย. 54 ผมก็ได้ยกประเด็นถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัยของอุตสาหกรรมต่างๆในฐานะ Users หรือเป็นส่วนหนึ่งในโซ่อุปทาน ผมก็ยังเห็นว่าเป็นการเข้ามาร่วมอย่างเป็น Silos กันอยู่ ยังไม่เป็นโซ่อุปทาน ไม่ได้พิจารณาทั้ง Chain ท่านอาจารย์ดร.กฤษณ์ ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องการเข้ามาร่วมงานวิจัยของ Users ที่เป็นอยู่ ก็เข้ามาอย่างเป็น Silos กันอยู่ แล้วจะเป็นโซ่อุปทานกันอย่างไรล่ะ ถ้ายิ่งคิดกันไปเรื่อยๆ โซ่อุปทานก็คงจะใหญ่มากจนนักวิจัยอาจจะทำอะไรไม่ได้ แล้วเราจะทำวิจัยกันอย่างไรเล่า ต้องมีวิธีสิครับ!

ผมเองได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว เพราะว่าท่านอาจารย์สมพงษ์ท่านกลับไปก่อน แต่ก็แวะมาแซวผมก่อนกลับว่า “วันนี้ยังไม่เห็นพูดอะไรเลย” แต่ก็ไม่ได้ทันตอบอาจารย์ไปว่า “หิวข้าวครับ” ท่านก็เดินไปเสียก่อน ผมมองว่าความเป็นโซ่อุปทานนั้นจะต้องมองที่ปลายทางหรือปลายท่อ คือ ถ้าจะดูโซ่อุปทานของชาติแล้ว จะต้องมองเห็นว่าเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศนั้นทุกบาททุก สตางต์นั้นมาจากไหน มาจากคุณค่าในรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการตัวใดบ้าง ต้องเห็นลูกค้าหรือผู้ใช้ประโยชน์จากคุณค่านั้นๆ ต้องเห็นผู้สร้างและผู้นำส่งคุณค่าต่างๆ ในโซ่อุปทานก็คือ เจ้าของกระบวนการและกระบวนการทั้งหมดที่ทำให้เกิดคุณค่านั้นๆ พอพูดกันอย่างนี้ หลายคนคงจะร้องเป็นแน่แท้ เพราะว่ากว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการแต่ละตัวนั้น จะต้องผ่านใครหรือกระบวนการอะไรมาบ้าง ผมว่ามันยุ่งยากมากๆ มันใหญ่นะครับ แต่ถ้าเราไม่มองอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่โซ่อุปทานแห่งชาติสิครับ ผมพยายามจะเปรียบเทียบว่า ความเป็นหัวใจของคนเรานั้น หัวใจจะเป็นหัวใจอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมันยังติดอยู่กับร่างกายและทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อควักหัวใจออกมาจากร่างกายแล้ว ความเป็นหัวมใจก็หมดไป ลอจิสติกส์ก็เช่นกัน เมื่อเราดึงกิจกรรมลอจิสติกส์ออกจากโซ่อุปทานแล้ว กิจกรรมนั้นก็หมดความเป็นลอจิสติกส์ไปทันที ดังนั้นประเด็นของความเป็นโซ่อุปทานจะอยู่ที่ในระดับปฏิบัติการ (Operation) ซึ่งจะเป็นระดับของการสร้างคุณค่าและเป็นเป้าหมายของโซ่อุปทานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

ถ้าเราจะศึกษาโซ่อุปทานหรือวิจัยปรับปรุงโซ่อุปทานแล้ว เราจะต้องเห็นปลายทางของโซ่อุปทานที่สร้างประโยชน์ให้กับคนหรือมนุษย์เป็นเป้าหมายที่สำคัญ และที่สำคัญรองลงมาก็จะต้องเห็นกระบวนการทั้งหมดของโซ่อุปทาน ดังนั้นถ้าเราจะทำวิจัยเรื่องโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แล้ว (คราวนี้ผมจะต้องเปลี่ยนมาเป็นโซ่อุปทานนำหน้าบ้างแล้ว เพราะว่าโซ่อุปทานนั้นศักดิ์และสิทธิ์มากกว่าลอจิสติกส์เยอะมาก) เราก็ต้องมอง ให้ตลอดลอดฝั่งตั้งแต่ต้นชนปลาย (End to End) แต่ทำไมเราไม่ให้ความสำคัญกันอย่างจริงจังมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าลอจิสติกส์นั้นเดินไปไม่ได้ ถ้าไม่มีโซ่อุปทาน แต่เราก็ยังเล่นการเมืองกับว่าคำว่า “โลจิสติกส์” เล่นการเมืองกับนักการเมืองที่เอาลอจิสติกส์มาทำกันเล่นๆ เออ!ไม่ใช่สิ เขาเอาจริงๆ แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว รู้จริงหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่ก็ไม่เคยไปแตะให้ถึงความเป็นโซ่อุปทานกันจริงๆ เลย เห็นแล้วเซ็งๆจริงครับท่าน คือ ผมไม่มีอะไรจะเสียหรือจะแลกอะไรกับใคร เอาความเป็นจริงมาพูดกันดีกว่า ว่าถ้าจะให้ดีแล้ว ควรจะทำกันอย่างไรกันดีครับท่าน

หลายๆคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าผมจะพูดอะไร ดูวนๆ ไปมา ใช่ครับผมวนๆ ไปมาแน่ ผมค่อนข้างจะเกรงใจคนทำงานชิ้นนี้เป็นอย่างมาก พวกเขาลงแรงด้วยความหวังดีจริงๆ แต่บริบทของประเทศมันไม่เป็นใจด้วยเลย ไม่อยากจะพูดมาก แต่ก็อดไม่ได้ เพราะมันอัดอั้นในใจ คิดว่าแล้วเราเล่นอะไรกันอยู่กับเกมระดับชาติ เราใช้คำว่าแห่งชาติ แล้วเรามีอะไรที่เป็นแห่งชาติรองรับหรือไม่ เรามีแต่คำว่าชาติที่เราใช้เรียกตัวเองว่าเป็น “ชาติไทย” ที่จริงแล้วเราอาจจะไม่ได้มีชาติอยู่เลยก็ได้ เราเรียกกันไปเอง ประเทศไทยนี้ไม่ได้เป็นชาติเลย เป็นแค่กลุ่มคนที่มาหาผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้นเอง ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะมัวแต่ขัดขากันเอง

ผมมองความเป็นโซ่อุปทานแห่งชาติคือ ความเป็นชาติ ความเป็นองค์รวมของคนในประเทศ มันถึงเป็นประเทศชาติได้ แล้วเราจะทำ XXXX แห่งชาติไปทำไมกัน ผมไม่เห็นจะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมือง Care หรือสนใจอะไรเลย ผมก็หวังว่ายุทธศาสตร์ที่อาจารย์ทั้งหลายลงแรงทำไปนั้น อาจจะไม่ได้ Outcome ดังที่หวัง ฉะนั้นอาจารย์ทั้งหลายก็อาจจะลงแรงไปฟรีๆหรือไม่คุ้มเลย แต่ถ้าเรามีความเป็นชาติหรือมีความเป็นโซ่อุปทานมากกว่านี้ ผมว่าอาจารย์คงจะไม่ทำยุทธศาสตร์ออกมาแบบนี้หรอกครับ ผมว่าโจทย์ที่อาจารย์ได้รับ มันห่วย บริบทและข้อมูลมันห่วยนะครับ มันแย่ มันก็ได้แค่นี้จริงๆ อาจารย์ทั้งหลายจะยอมรับหรือไม่ ผมน่ะยอมรับได้ และพยายามจะไม่หลอกตัวเองอีกต่อไปว่า “เราน่ะไม่ได้เรื่องจริงๆ” แต่ไม่ต้องกลัวครับประเทศเราจะไม่ถอยหลังไปกว่านี้อีกแล้ว เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันคู่แข่งขันของเราก็นำหน้าเราไปไม่รู้กี่ช่วงตัว เราก็คงพัฒนาไปอย่างแน่นอนเพื่อวิ่งตามหลังเขาให้ทันในตำแหน่งรั้งท้าย เอาล่ะผมพยายามจะคิดในแง่บวก ผมไม่ได้หมดกำลังใจนะครับ แต่พยายามที่จะไม่หลอกตัวเอง

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าเราพยายามจะช่อมรถยนต์ในส่วนของระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ เราก็ถอดระบบขับเคลื่อนมาซ่อมและปรับปรุง เมื่อทำเสร็จแล้วเราก็จะต้องประกอบคืนกลับเข้าไปในรถยนต์เพื่อให้รถยนต์มันทำงานได้ แล้วเราก็ต้องทดสอบว่ารถยนต์มันวิ่งได้หรือไม่ ด้วยการขับรถยนต์ ระบบต่างๆของรถยนต์เป็นเหมือนกับระบบต่างๆ ในโซ่อุปทานที่ประกอบไปด้วยระบบการผลิตต่างๆ และระบบลอจิสติกส์ต่างๆ ความเป็นโซ่อุปทานก็คือ รถยนต์ที่วิ่งได้ ถ้าเราออกแบบระบบการผลิต ถ้าเราออกแบบระบบลอจิสติกส์ แล้วเราก็อ้างว่า มันเป็นระบบที่ดีเยี่ยมมากเพราะออกแบบมาดีหรือพัฒนามาดี แต่ก็ยังไม่ได้เคยใช้ร่วมกับระบบโซ่อุปทานที่สร้างคุณค่าออกมาให้ผู้ใช้งานหรือใช้ประโยชน์ได้ใช้จริง แล้วเราจะอ้างได้อย่างไรว่า ระบบแต่ละส่วนนั้นจะทำให้โซ่อุปทานสามารถแข่งขันได้และปรับตัวได้

มีประเด็นที่ผมเห็นและที่ผมเคยเสนอไว้ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้มีความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องนั้น แต่ผมก็มั่นใจว่า นี่คือ หนทางของการพัฒนา ถ้าใครต้องการ Literature review ผมมีอยู่ แล้วจะส่งไปให้ครับ เขียนบ่นๆ กันอย่างนี้ ผมขี้เกียจ Cite ครับ นั่นก็คือ ความเป็นองค์รวม (Holistic) อีกความทั้งความซับซ้อนของโซ่อุปทาน (Supply Chain Complexity) ผมยังมองไม่เห็นในประเด็นนี้ในยุทธศาสตร์งานวิจัยนี้สำหรับเรื่องของโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ ส่วนเรื่องของโซ่คุณค่านั้น ผมไม่เถียงว่ามันสำคัญและเป็นประเด็นแรกที่ต้องคิดและตัดสินใจในการปรับปรุงและวิเคราะห์ แต่เป็นเพราะว่าผมมองข้ามช็อตไปแล้ว ทุกๆ โซ่อุปทานที่ผมพูดถึงนั้น ผมรวมเอาโซ่คุณค่าเข้าไว้ด้วยแล้ว เพราะถ้าพูดแค่โซ่คุณค่านั้น เราก็แค่ออกแบบ หรือบอกว่าจะทำอย่างไรและประกอบไปด้วยอะไร มันก็มีต้นทุนที่เกิดจากการออกแรงคิดและออกแบบ แต่ลูกค้ายังไม่ได้สินค้าและบริการ ไม่มีการผลิต ไม่มีการนำส่งให้ลูกค้า ไม่ได้เงินกลับคืนมาน่ะ ไม่มีรายได้ แต่ถ้าเป็นโซ่อุปทานแล้ว นี่สิคือ ของจริง เราเอาโซ่คุณค่ามาสร้าง มาแปลงสภาพทรัพยากรให้เป็นสินค้าและบริการ มีการใช้ต้นทุนและทรัพยากร แล้วขายเอาเงินคืนมาจนเป็นกำไร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นของจริง เป็นสิ่งที่มนุษย์หรือคนได้ประโยชน์จริง เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้

จากโซ่คุณค่ามาเป็นโซ่อุปทาน มัน Take สังคมทั้งสังคมนะครับ มันใช้คน ใช้มันสมอง มันใช้ทรัพยากร มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และเราอยู่ได้ก็เพราะโซ่อุปทานทั้งหลายที่ให้ประโยชน์กับชีวิตเรา ดังนั้นผมจึงไม่ได้มองแค่กระบวนการผลิตหรือขั้นตอนการทำงานเท่านั้น มันมีอยู่หลายๆ ส่วนหลายมิติและในแต่ละส่วนมันเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ซึ่งในแต่การเชื่อมโยงนั้นมันก็มีปฏิสัมพันธ์กัน ถ้าในแผน 5 ปีนี้ ไม่ได้มีการกล่าวถึงหรือมีประเด็นเหล่านี้เป็นฐานความคิด (Foundation) แล้ว ผมคิดว่ามันไม่น่าจะมี Impact เสียเท่าไหร่นัก

ผมจะพูดให้เห็นได้ง่ายเข้าก็คือ ยุทธศ่าสตร์โช่อุปทานและลอจิสติกส์นั้นเป็นยุทธศาสตร์แห่งการบูรณาการและยุทธศาสตร์แห่งการปรับตัว (Adaptive) และการแปลงสภาพ (Transformation) เพื่อความอยู่รอด (Survival) และโดยลำพังของยุทธศาสตร์แล้ว คงจะอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ แต่จะต้องประกอบไปกับยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนกโซ่อุปทานจะอยู่ได้หรือมีผลงานก็จะต้องมีแผนกจัดซื้อ แผนกผลิต แผนกจัดส่ง แผนกขาย วันนี้เรามาทำยุทธศาสตร์วิจัยโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แห่งชาติ ก่อนที่จะวิจัยกันนั้น แล้วโซ่อุปทานแห่งชาติอยู่ตรงไหน แผนจัดซื้อแห่งชาติอยู่ตรงไหน แผนผลิตแห่งชาติอยู่ตรงไหน แผนขายแห่งชาติอยู่ตรงไหน หรือผมว่าพวกเราอาจารย์คิดไปไกลเกินว่าสภาพที่เป็นจริงหรือไม่

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Meeting – วิพากษ์ยุทธศาสตร์งานวิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน 1 มิ.ย 54 ตอนที่ 1.2

ผมโดนแซวจากอาจารย์สิงหาในทำนองว่า “ผมมัวแต่ไปแปลหนังสือขายหรือไปทำ Consult ให้ผมหันมาทำวิจัยดีกว่าไหม?” นั่นไงครับ นี่คือ จุดยืนเรื่องงานวิจัยของผมซึ่งก็ยังคงเหมือนเดิม ตั้งแต่ผมพยายามเขียนบทความแรกลงในนิตยสารทางอุตสาหกรรมซึ่งผมตั้งใจว่าจะทำให้คนทำงานในอุตสาหกรรมอ่านแล้ว เขาอยากจะรู้ต่อไปว่า งานวิชาการหรือทฤษฎีจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง ถ้าวันนี้คนในอุตสาหกรรมยังพูดใส่หน้าผมว่า “อาจารย์! ผมไม่เอาทฤษฎีนะ ไม่ชอบวิชาการ เอาตัวอย่างการทำมาเลย บอกมาเลยว่าทำอย่างไร” ผมว่าเรามีงานวิจัยอย่างไร มีนักวิจัยมากเท่าไหร่ ก็ไม่มี Outcome ไม่มี Impact เพราะถ้าคนในอุตสาหกรรมไม่ Buy in ก็ไม่มีใครมาอ่านงานวิจัย แล้วทำไมถึงไม่ Buy in ล่ะ พวกเขาก็ลูกศิษย์เราทั้งนั้น ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา ก็ลูกศิษย์เพื่อนเราเองทั้งนั้น พวกเราสอนพวกเขามากับมือ ทั้งปริญญาตรี โท จนปริญญาเอก แล้วทำไมคนในอุตสาหกรรมนั้นถึงไม่รับวิชาการหรือทฤษฎีเลยล่ะ ก็อย่าโทษใครเลย ก็พวกเรากันทั้งนั้น ก็ผลงานของอาจารย์ทั้งนั้น วงการศึกษานี่ไงที่สร้างให้เขาเป็นอย่างนั้นไม่ใช่หรือ แล้วเรากำลังแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่ อะไรที่ทำให้เขา ไม่ใช่คิดไม่เป็น ไม่ใช่เขาคิดไม่ได้ แต่ทัศนคติต่อการศึกษาและการวิจัยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งการทำงาน แต่การวิจัยอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาก็ได้ เพราะว่าเขาได้ประโยชน์โดยตรง

จุดยืนผมนั้น ผมไม่ใช่นักวิจัย แต่ผมอ่านงานวิจัย ทำวิจัยบ้างตามโอกาส ผมใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างนักวิจัย และผมก็พยายามที่จะให้อุตสาหกรรมนั้นมีจิตวิญญาณของนักวิจัยในกระบวนการทำงาน อยากให้พวกเขามีกระบวนการวิจัยเป็นพื้นฐานอยู่ในการทำงานทุกวัน ไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิจัยที่ตีพิมพ์เอาผลงานหรอกครับ เอาแค่ทำ Kaizen ด้วยจิตวิญญาณของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและใช้ความรู้วิชาการธรรมดาก็พอแล้ว จากนั้นก็สื่อสารความรู้ที่ได้จากการทำ Kaizen ออกไปในองค์กรของตัวเอง แค่นี้ก็ Impact แล้วครับ นี่ล่ะครับงานวิจัยที่แท้จริง ได้ผลเลยครับ ไม่ต้องตีพิมพ์ ได้เงินเลย Impact เลยครับ เพราะว่าพวกเขาถ้ามีความเป็นนักวิจัยเป็นพื้นฐานแล้ว ถ้าเขาทำไม่ได้และเกินกำลังความสามารถของพวกเขาแล้ว พวกเขาก็มาหาอาจารย์และนักวิจัยเองล่ะครับ เขาจะมาให้โจทย์วิจัยด้วยตัวเอง

แล้วอาจารย์คิดว่า ผมสนุกกับการทำหนังสือแปลหรือครับ มันคุ้มกันไหม ศักดิ์ศรีหรือคุณค่าของงานแปลมันอาจจะสู้งานวิจัยที่ตีพิมพ์ไม่ได้หรอกครับ แต้มหรือคะแนนที่คณะกรรมการประเมินผลงานที่ให้ก็ไม่เหมือนกัน หรืออาจจะไม่นับให้เลยก็ได้ ผมก็คิดเพียงแต่ว่า “เมื่อคนทั้งโลกเขาได้อ่าน ได้รู้กัน แล้วทำไมคนไทยไม่อ่านภาษาอังกฤษไปเลยล่ะ ถ้าอยากจะรู้ เมื่อไม่อ่านแล้ว เราจะตามเขาทันไหมครับ” ผมคิดว่า “ผมอยากจะทำให้เขาได้อ่านกัน” งานแปลหนังสือของผมนั้นจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ผมสามารถเข้าไปสร้างให้นักอุตสาหกรรมได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ชองวิชาการและทฤษฎีทั้งหลาย มีอะไรที่ทำให้เขาได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของความรู้เชิงวิชาการมากขึ้น และที่สุดแล้วถ้าผมสามารถสร้างให้เขาเป็น Change Agent ได้ ทำให้เขามีความเป็นนักวิจัยในกระบวนการทำงานได้ ผมหมายความว่า เขาสามารถกำหนดปัญหา (กำหนดโจทย์วิจัยได้) เสนอโครงการได้ (เสนอโครงการวิจัยได้) ทำการแก้ไขปัญหาได้ (ดำเนินการวิจัยได้) สรุปโครงการ (สรุปงานวิจัย) กระบวนการที่ผมกล่าวมานี้ นั่นคือ กระบวนการทำวิทยานิพนธ์ในการเรียนปริญญาโทนั่นเองครับ แล้ววันนี้เราเรียนกันอย่างไรก็ดูกันเอาเองครับ ถ้าได้อย่างที่ผมว่า อย่างนี้มันน่าจะเป็น Outcome มากกว่าไหมครับ แต่อาจจะไม่ได้ Output มากนัก


Meeting - วิพากษ์ยุทธศาสตร์งานวิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน 1 มิ.ย. 54 ตอนที่ 1.1

เมื่อเช้าวันพุธที่ 1 ก.ค. ผมกำลังจะเข้าห้องประชุมอยู่พอดี คุณเล็กผู้ช่วยอาจารย์ดวงพรรณ โทรมาตามไปประชุมยุทธศาสตร์วิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมก็ลืมไป กะว่าจะโดดซะแล้ว ผมก็เลยหนีประชุมไปประชุมกับ อ.ดวงพรรณดีกว่า เห็นพอดีอยู่ใกล้ๆ กัน และเห็นว่าเป็นเรื่องราวที่ผมเคยได้มีโอกาสไปร่วมให้ความคิดเห็นกับยุทธศาสตร์วิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ชะอำมาก่อนหน้านี้ เห็นทีจะเป็นภาระต่อเนื่องที่จะต้องสานให้จบ

บอกจริงๆ เลยครับ เกรงใจทุกคนที่ไปร่วมให้ความคิดเห็น เพราะผมเห็นว่าไม่ค่อยจะ work เท่าไหร่หรอก ที่ work นั้นก็คือ ได้ใช้งบวิจัยอาจารย์และนักวิจัยมีงานวิจัยทำ ผมพูดแรงไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตามผมก็เอาด้วยล่ะครับ แต่ต้องแสดงความเห็นอีกด้านบ้างนะครับ คงจะไม่ว่ากันมากนะครับ ขอสักทีเถอะ แต่ถ้าผมเป็นอาจารย์ดวงพรรณและ ส.ก.ว+ว.ช. ผมก็จะต้องทำอย่างนี้แหละครับ เมื่อมันมีโอกาส

ผมว่านักวิจัยบางท่านก็อาจจะไม่คิดเหมือนผม เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้เสมอครับ มันมีหลายมุม ผมว่าที่เราทำๆ ยุทธศาสตร์ไปนี่ มันดูผิวๆ ไปหน่อย ปัญหางานวิจัยเมืองไทยนี่มันลึกและหลากมิติมากกว่านี้เยอะ ถ้าเราจะมาบอกว่าให้ทำยุทธศาสตร์วิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นตัวอย่างไปก่อน แล้วจะนำเอาไปใช้เป็นตัวอย่างในงานวิจัยสาขาอื่นๆ ผมว่าทางส.ก.ว และ ว.ช.ก็คิดผิดแล้วล่ะครับ มันผิดสาขาเสียแล้ว ในความคิดผมนะครับ ประเด็นคือ กลุ่มนักวิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนี้ ส่วนมากเป็น Young Blood ในสาขาวิชาใหม่ ซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเวทีหรือบริบทการวิจัยของเมืองไทย เอาเป็นว่าเป็นคนรุ่นใหม่ก็แล้วกัน แต่ด้วยความเป็น Multidisciplineของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเองนั้นก็ยังเป็นปัญหาให้กับกลุ่มงานวิจัยในด้านนี้ในมุมที่เป็น Applicationsที่มีความหลากหลายของบริบทมากและมีความเป็นบูรณาการของสิ่งแวดล้อมอย่างซับซ้อนอยู่มาก ผมว่าทางสกว.และทางวช.เองอาจจะเลือกสาขาการวิจัยมาทำเป็นยุทธศาสตร์ตัวอย่างผิดไป

แต่ว่าไปแล้วก็ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายกลุ่มนักวิจัยเลือดใหม่ใน New Discipline หรือสาขาวิชาการใหม่ กับรูปแบบการทดลองใหม่ แต่ประเทศไทยเองมีงานวิจัยและกลุ่มนักวิจัยที่เป็นนักวิจัยมืออาชีพในสาขาอื่นๆ อีกมากมายที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชน เพื่อจะหากรณีศึกษาและหารูปแบบในการสร้างยุทธศาสตร์งานวิจัยได้เป็นอย่างดีและมีข้อมูลที่เพียงพอซึ่งมากกว่าสาขาลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งในสภาพความเป็นจริงก็ยังหาตัวตนที่ Solidได้ยังไม่แข็งแกร่งพอ ยังต้องรอการพัฒนาให้ได้รับการยอมรับของวงการอุตสาหกรรมอีกพอสมควร ตรงนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนเองของการพัฒนายุทธศาสตร์งานวิจัยด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ต้องการให้เป็น Genericเพราะเราต้องยอมรับว่า พวกเราในวงการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานกันเองและทั่วโลกก็ยังถกเถียงกันถึงเรื่องตัวตนและความหมายที่ควรจะได้รับการยอมรับกันในวงกว้างกันอยู่ แต่กลับมาเลือกเอาสาขาลอจิสติกส์มาเป็นตัวทดลอง แต่ก็ดีแล้วล่ะครับ พวกเราจะได้มีงานทำ และเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินงานของธุรกิจและในการพัฒนาประเทศด้วย

ผมคิดว่าเหล่านักวิจัยในสาขาลอจิสติกส์และโซ่อุปทานก็เต็มใจครับที่จะเป็นแนวหน้าในการทดลอง แต่ผมกลับมองว่าพลังของกลุ่มงานวิจัยในสาขานี้ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นยังเล็กอยู่มากๆ เมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ที่มีประวัติการพัฒนาและสร้างชื่อเสียงมาแล้วทั่วโลกจนนักวิจัยหลายท่านได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เออ! ทำไมถึงไม่ไปเริ่มทำกันที่ตรงนั้น ทำไมมาเริ่มที่สาขาใหม่ที่ยังเล็กอยู่ โดยพื้นฐานในบริบทงานวิจัยก็ยังมีไม่มากพอ นี่ผมพูดแบบไม่ได้เข้าข้างตัวเองนะครับ ผมพยายามมองถึงประโยชน์ที่หน่วยงานอย่าง สกวหรือวช.น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ผมคงจะไม่ได้นึกแค่ว่า เอามาให้ลอจิสติกส์ทำน่ะดีแล้ว ที่จริงก็ดีเหมือนกัน สาขาลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจะได้มีโอกาสและโตได้ซะที ผมเป็นอาจารย์ดวงพรรณและมีโอกาสอย่างนี้ ผมก็ทำเหมือนกันและก็จะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาทำด้วย แต่ถ้าผมเป็นสกวหรือวช ผมจะไม่เลือกเอาสาขาลอจิสติกส์มาทำเป็นยุทธศาสตร์วิจัยตัวอย่าง

ตอนที่เข้าไปประชุมนั้น ได้มีโอกาสเจอหลายคนที่ไม่ได้เจอตั้งนาน เหมือนเป็นการคืนสู่เหย้ากัน งานนี้ผมไม่ได้พูดอะไรมากมายนัก แต่ก็โดนแซวหน่อย ผมสัญญากับตัวเองว่าจะพูดให้น้อยหน่อย ฟังเยอะๆ แต่ก็ดีใจนะครับที่อาจารย์ดร.สมพงษ์ยังจำจุดยืนหรือมุมมองของผมที่มีต่องานวิจัยในเมืองไทยได้ ต้องขอบคุณอาจารย์สมพงษ์มากๆ เพราะผมพูดในหลายๆ แห่งว่า “ต้องพัฒนานักอุตสาหกรรมให้มาอ่านงานวิจัย ให้เข้าใจงานวิจัย แล้วจึงทำให้เขาเป็นผู้บริหารงานวิจัยและเป็นผู้วิจัยเองในที่สุด”ผมว่าถ้ามาทำกันแบบนี้นะครับ ไปไม่ถึงดวงดาวหรอกครับ เราก็จะมีนักวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเรามีเงินวิจัยที่ถูกจัดสรรงบประมาณออกมาอยู่เรื่อยๆ นะครับ แต่อาจจะไม่มีการนำเอางานวิจัยออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็เพราะว่าพวกเขานักอุตสาหกรรมทั้งหลายไม่ได้ได้เห็นคุณค่าของงานวิจัย เพราะเขาไม่เข้าใจในกระบวนการวิจัย และไม่ได้คิดว่างานวิจัยนั้นจะมีประโยชน์ต่อตัวพวกเขาอย่างไร ผมเห็นว่า “งานวิจัยเริ่มที่อุตสาหกรรม (Users) และจบที่อุตสาหกรรม (Users) ไม่ได้เริ่มที่นักวิจัยหรือ สกว. หรือวช. “แต่ก็ไม่ผิดที่ยุทธศาสตร์วิจัยจะเริ่มที่นักวิจัยและสกวและวช.ก่อนในตอนเริ่มต้น แต่ในอนาคตวงรอบของการพัฒนาจะต้องกลับเริ่มที่อุตสาหกรรมและจบที่อุตสาหกรรมตามวัฏจักร ส่วนนักวิจัยและสกว.และวช.ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัฏจักรกระบวนการวิจัย

ผมเชื่อว่าถ้าอุตสาหกรรมยังไม่คิดหรือสนใจที่จะอ่านงานวิจัยหรือเห็นประโยชน์จากงานวิจัย ผมว่าเราทำวิจัยไปก็อาจจะเสียเปล่า หลายท่านอาจจะเถียงว่า ไม่ได้นะเราจะต้องสร้างงานวิจัยของตนเอง เป็นองค์ความรู้ของเราเอง ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เราเรียกว่าองค์ความรู้ของเราเองนั้น มันเป็นอย่างไร แล้วองค์ความรู้ของฝรั่งหรือที่ผมและคนอื่นๆ ไปลอกมาหรือแปลมานั้น มันใช้ไม่ได้หรือ ผมว่าองค์ความรู้นั้นมันเป็นสากลนะครับ ยิ่งคนทั่วโลกเขารู้อะไรแล้ว ถ้าเราไม่รู้หรือไม่เข้าใจแล้ว เราก็คงตามเขาไม่ทัน แล้วจะมาเสียใจกันภายหลัง ผมคิดว่าการที่สนับสนุนให้นักวิจัยสร้างองค์ความรู้ของเราเองนั้น ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนเราจะพยายามที่ตัดตัวเองออกจากระแสโลก แล้วให้หันมาพึ่งตนเองหรือดูตนเองมากขึ้น ผมเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน แต่การสร้างองค์ความรู้ของตนเองนั้น ผมเข้าใจว่า เราเองจะต้องเข้าใจตัวเองให้มากขึ้น แต่ก็จะต้องไม่ทิ้งองค์ความรู้ที่เป็นสากล องค์ความรู้ระดับโลกที่เขาใช้กัน องค์ความรู้ที่เขาเผยแพร่กัน เราจะต้องทุ่มเทกันทั้งสองด้าน ทั้งด้านที่คนอื่นๆ เข้ารู้กัน ต้องรู้ให้เท่าทันทันกระแสโลก อย่าคิดว่าเราเองดีกว่า วิถีไทยหรือวิถีตะวันออกดีที่สุด นั่นจะดูประมาทไปหน่อย แล้วสิ่งที่สำคัญคือ เรานั้นไม่รู้จักตัวเองเลยก็ว่าได้ ไม่มีข้อมูลอะไรเลย ถ้าอยากรู้อะไรที่เกี่ยวกับตัวเอง มันน่าอายไหม ที่บางครั้งเราอาจจะต้องไปซื้อข้อมูลนั้นจากฝรั่งหรือญี่ปุ่น ประเด็นนี้ต่างหากที่เราอ่อนแอยิ่งนัก ยังไม่ต้องคิดจะไปบุกไปนอกบ้านเลย จัดการตัวเองกันง่ายๆ พื้นฐานอย่างนี้ ก็ยังจะไม่รอดกันเลย เพราะว่าส่วนหนึ่งพวกเรานักอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเองนั้นไม่มีพื้นฐานแนวคิดในเชิงวิจัยหรือวิเคราะห์การเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับตนเองในการทำธุรกิจ