วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วัฏจักรแห่งการปรับปรุงอย่างองค์รวม : จากกิจวัตร สู่ การวิจัย สู่ ความเป็นจริง (ตอนที่ 1)

(Routine to Research to Reality : 3R)


ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรหรีอประเทศขึ้นอยู่กับพลังความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรหรือของประเทศนั้นๆ ยิ่งในยุคนี้มีการนำเสนอแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Ideas) จนกลายเป็นกระแสของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ผมเข้าใจว่าปฐมเหตุของความเจริญรุ่งเรืองขององค์กร สังคมและประเทศเกิดมาจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ทรัพยากรมนุษย์ทั้งสิ้น นั่นเป็นความจริงเสมอ แต่เมื่อเห็นการนำเสนอมุมมองของคำว่า “สร้างสรรค์” ของประเทศเราแล้ว ค่อนข้างจะโน้มเอียงไปในทางศิลปะและการสร้างสรรค์หรือการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ออกมาให้สามารถใช้งานเป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าได้ แต่ถ้าเรามีแค่ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงการประดิษฐ์และคิดค้นแต่เพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอเพียง เพราะว่าการนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาทำให้เกิดเป็นจริง (Realization) ในการใช้งานเชิงธุรกิจเป็นประเด็นที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน เพราะถ้าเราไม่สามารถนำความคิดนั้นมาแปรสู่การปฏิบัติจริงให้เกิดประโยชน์ได้ก็ไม่มีประโยชน์อันใด และในขณะเดียวกันเรายังต้องสามารถที่จะสร้างกระบวนการที่สร้างคุณค่า (Value Creation Process) ที่สามารถจับต้องได้จากความคิดสร้างสรรค์นั้นและยังคงจะต้องปรับปรุงคุณค่านั้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ผมจึงคิดว่าเราควรจะมีความคิดสร้างสรรค์เชิงการประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ความคิดสร้างสรรค์การนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในเชิงการแก้ปัญหาและปรับปรุงการสร้างคุณค่าในกระบวนการธุรกิจจนกลายเป็นวัฏจักรในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างองค์รวมและยั่งยืน


สภาพความเป็นจริง


เราทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอดซึ่งเป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ สิ่งที่มนุษย์เราต้องการเพื่อความอยู่รอดคือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะที่จำเป็นต่อร่างกายโดยตรง ซึ่งขาดไม่ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นมนุษย์อาจจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ก็ได้ ในขณะที่ประโยชน์หรือคุณค่าบางชนิดอาจจะเป็นแค่สิ่งที่ตอบสนองความพึงพอใจในทางจิตใจเท่านั้น ซึ่งเป็นความต้องการ (Want) ไม่ใช่ความจำเป็น (Need) แต่ก็ไม่ได้มีกระทบต่อชีวิตมากนัก สังคมมนุษย์เราก็มีเพียงเท่านี้ ต่างคนต่างสร้างคุณค่าและใช้คุณค่าร่วมกันไป ถ้าสังคมอยู่ในความสมดุลมีทั้งผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่า ทุกอย่างก็จะราบรื่นไม่มีปัญหาการขาดแคลนหรือมากเกินจากสมดุล ดังนั้นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มาจากกลุ่มคนสองประเภทคือ ผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่า ซึ่งปกติแล้วคนทุกคนจะมีทั้งสองบทบาทคือ ทั้งผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่า ใครเป็นผู้ที่สร้างคุณค่าได้มากและเอาไปขายหรือไปแลกคุณค่าอื่นมาได้มาก และใช้ทรัพยากรสร้างคุณค่าได้น้อยกว่า คนๆ นั้นก็มีความมั่งคั่ง ใครเป็นผู้ที่สร้างคุณค่าได้น้อยและขายได้น้อย และใช้ทรัพยากรในการสร้างคุณค่ามากก็จะกลายเป็นคนจนไป ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่าในสังคมทำให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ขนาดเล็กจนไปสู่ขนาดใหญ่และโยงใยจนกลายเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวเองได้ (Complex Adaptive System)


ทุกวันนี้เราทำงานเพื่อแก้ปัญหาเพื่อให้ได้รับคุณค่าต่างๆ มาทำให้ชีวิตเราอยู่รอด ผมจึงมองปัญหาในหลายมิติจากต่างมุมมองต่างๆ ปัญหาในมุมมองจองมนุษย์ส่วนบุคคลคือ การไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตหรือเป็นความต้องการจากจิตใจ ปัญหาในมุมมองของกระบวนการสร้างคุณค่าคือ กระบวนการสร้างคุณค่าสามารถสร้างคุณค่าได้ตามข้อกำหนดหรือไม่? และมุมมองในการปรับปรุงว่ามีสามารถปรับปรุงกระบวนการสร้างคุณค่าให้ได้ดีกว่า เร็วกว่าและถูกกว่าหรือไม่ ที่จริงแล้วปัญหาต่างๆ ที่เราคิดว่าเป็นปัญหาอาจจะไม่ใช่ปัญหาก็ได้ ถ้าเราไม่ได้กำหนดหรือมีความต้องการ แต่ในความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ เรากลับมีความต้องการมากยิ่งขึ้นและอย่างรวดเร็วขึ้น ในขณะที่ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและทรัพยากรต่างๆ ก็ถูกใช้จนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ สภาพแวดล้อมหรือบริบทที่มนุษย์อาศัยอยู่คือ โลกเราที่เริ่มเสียสมดุลมากขึ้น เพราะการใช้ทรัพยากรต่างๆ ของมนุษย์ ภาวะโลกร้อนจึงกลายเป็นปัญหาของมนุษย์ขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่ง ทั้งๆ ที่โลกนั้นอาจจะไม่มีปัญหาก็ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การปรับตัวของโลกให้เข้าสมดุลของธรรมชาติเท่านั้น แล้วมนุษย์ทั้งหลายก็ดิ้นรนเพื่อกำหนดความต้องการใหม่อยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นการสร้างปัญหาและแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด


ความเข้าใจในปัญหา


จากการรับรู้ถึงสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้น การไม่ได้รับคุณค่าตามที่ต้องการหรือที่กำหนด ผู้ที่ต้องการใช้คุณค่าไม่ได้รับคุณค่าตามที่ต้องการ เมื่อปัญหาเกิดขึ้น เรารับรู้ถึงสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่กระบวนการสร้างคุณค่าที่ไม่สามารถสร้างคุณค่าออกมาได้ตามข้อกำหนด เราจะต้องแก้ปัญหาให้กระบวนการสร้างคุณค่านั้นกลับคืนสู่สภาพเดิมเพื่อให้สามารสร้างคุณค่าออกมาได้เหมือนเดิม ก่อนที่เราจะเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า สภาพที่ไม่มีปัญหาคือ อะไรและเป็นอย่างไร เราต้องเข้าใจในกระบวนการสร้างคุณค่าและบริบทที่กระบวนการนั้นอยู่ เราต้องเข้าใจในปฏิสัมพันธ์ (Interactions) ของกระบวนการสร้างคุณค่าและบริบท (Context) ของกระบวนการ ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการและบริบทของกระบวนการที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่ควบคุมได้และสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญเราต้องเข้าใจในองค์ประกอบภายใน (Internal Parameters) ของกระบวนการสร้างคุณค่าเองด้วย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการสร้างคุณค่า


ประเด็นส่วนใหญ่แล้วทุกคนรับรู้ว่าปัญหาเกิดขึ้นตรงไหนในกระบวนการและมีผลกระทบอย่างไรต่อกระบวนการสร้างคุณค่า แต่การประยุกต์ใช้แนวทางการแก้ปัญหาและเครื่องมือต่างๆ ยังไม่ได้เป็นผลมากนัก ถึงแม้จะได้ผลก็ตาม แต่ก็เป็นผลในระยะสั้น แนวทางในการแก้ปัญหาและการใช้เครื่องมือต่างๆ จะต้องถูกใช้อย่างเป็นระบบตามโครงสร้างของกระบวนการสร้างคุณค่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งในองค์กรอาจจะเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากจุดอื่นๆ ตามโครงสร้างเชิงระบบขององค์กร (Systemic Organization) แต่ในความเป็นจริงแล้วโดยส่วนใหญ่ผู้ที่แก้ปัญหาไม่ได้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างของกระบวนการสร้างคุณค่าในเชิงระบบ แต่กลับใช้การแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ในลักษณะแยกส่วน (Reductionism) เพราะทุกส่วนในโครงสร้างของกระบวนการมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอยู่ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในจุดใดจุดหนึ่งแล้วอาจจะมีผลกระทบกับจุดอื่นๆ ได้ และจุดที่แก้ไขอาจจะไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา ทำให้การแก้ปัญหาไม่บรรลุผลสำเร็จอย่างถาวร ปัญหาก็อาจจะยังคงอยู่หรืออาจจะทวีความซับซ้อนมากขึ้นทำให้ยากต่อการแก้ไขมากขึ้นไปอีก ++++ต่อตอนที่ 2