วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

My Perspectives 2-2015 : ความปรองดองเริ่มจากการมีคิดร่วมกันไปในทิศทางเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

ไม่ได้เขียนถึงเรื่องการเมืองมานานเป็นปีเลยครับหลังจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว  และอีกหลายๆเหตุการณ์ จนมาถึงการยึดอำนาจของ คสช.  ท่ามกลางความเห็นด้วยและไม่เห็นมาโดยตลอดจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ  สิ่งที่เห็นเด่นชัดอย่างหนึ่งก็ คือ ความสงบซึ่งเป็นเรื่องที่เถียงไม่ได้ ถึงแม้ว่าทางภาคใต้ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ยังไม่ได้สงบอย่างที่ว่ากัน   มันเห็นกันชัดๆอยู่โดยทั่วไปว่าบ้านเมืองสงบจริง เมื่อเทียบกับก่อนการปฎิวัติ   แต่ทว่าความมั่นคงของชาตินี่สิครับ ประเทศเรานี้มีความมั่นคงจริงหรือ   ความมั่นคงของชาติเราวัดกันที่ความสงบตัวเดียวเท่านั้นหรือไม่  ผมว่าไม่ใช่ครับ  ความั่นคงของชาตินั้นต้องไม่เปราะบาง  แต่จะต้องเหนียวแน่นและยืดหยุ่น
 แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้ประเทศชาติมีความเหนียวแน่นและยืดหยุ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและในขณะเดียวกันนั้นก็ยังสามารถที่จะสร้างชาติให้เจริญขึ้นไปได้อีก   
หลายคนอาจจะบอกว่าต้องปรองดองกัน แล้วการปรองดองกันนั้น คือ อะไรและเป็นอย่างไรกันอีก    ความจริงแล้วการปรองดองกันนั้นไม่ใช่ว่า คือ การจับมือกันหรือการกอดกัน  หรือเป็นแค่การอาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน   นั่นเป็นสภาพแบบผิวๆที่เราเห็นจากการปรองดอง  ซึ่งอาจจะสร้างภาพกันได้หรือเกิดแค่ชั่วคราว   แต่ในมุมมองของผมนั้นความปรองดองที่แท้ไม่ได้เริ่มจากสภาพหรือกิจกรรมเหล่านั้นเลย  ความปรองดองนั้น เกิดจาการทำงานร่วมกัน (Collaboration) หรือ ความสามัคคีกัน  ถึงแม้ว่าผู้คนในสังคมนั้นจะมีความคิดเห็นต่างกัน  มีความสามารถแตกต่างกัน  และอยู่ในระดับของชนชั้นในสังคมที่แตกต่างกัน  แต่ก็สามารถที่จะมีความคิดร่วมกันและทำงานร่วมกันเป็นทีมได้  มีความคิดแบบองค์รวมกัน  ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่  ต่างคนต่างหาผลประโยชน์  ความเป็นองค์รวมไม่ได้บอกว่าเหมือนกันทั้งหมด  แต่ก็ต้องยอมรับว่าต้องไปในทิศทางเดียวกัน   ที่สำคัญ คือ ต้องได้ผลประโยชน์ร่วมกัน   ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เมื่อใดก็เมื่อนั้นเมื่อเวลามาถึง  ทุกคนต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน  

                ความสามัคคีหรือความปรองดองนั้นต้องเกิดจากความคิดหรือ mindset เป็นหลัก  ถ้าคนในสังคมคิดไม่ได้แล้วหรือไม่พยายามที่จะคิดนั้น  ก็คงไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้หรือสามัคคีกันได้    องค์ประกอบที่สำคัญของความสามัคคีหรือความปรองดองนั้นก็ คือ ความไว้ใจ (Trust) นั่นเอง  เพราะว่าถ้าเราขาดความไว้ใจกันแล้ว  เราก็จะขัดขาและขัดแย้งกันเองจนกิจกรรมเพื่อส่วนรวมไม่สามารถดำเนินการกันได้   แต่ว่าเมื่อคนในสังคมมีจำนวนวนมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น  มีผู้คนมากหน้าหลายตาต่างความคิดและประสบการณ์  คนเราจึงต้องใช้เครื่องมือทางสังคมเพื่อสร้างความไว้ใจและการได้รับมอบหมายในอำนาจในการดำเนินงานตามความคิดส่วนรวม  ด้วยการสื่อสารและควบคุมในการดำเนินงานของคนในสังคมเพื่อให้เกิดระเบียบทั้งในการการรวบรวมความคิดและการนำเอาความคิดไปใช้ให้เกิดประโยชน์   เครื่องมือในการสร้างความไว้ใจเหล่านี้ก็ คือ กฎระเบียบของสังคมซึ่งทุกคนในสังคมยอมรับและให้การรับรองผ่านกระบวนการต่างๆทางสังคมอื่นๆที่คนในสังคมตกลงร่วมกัน 
                ผมว่านี่เป็นตรรกะง่ายๆที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของสังคมมนุษย์ที่ยังไม่ได้เอาอารมณ์ ความรู้สึกเห็นแก่ตัว  คุณธรรม  การเอาเปรียบผู้อื่น  และเครื่องมือที่สำคัญที่เป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายในเวลาเดียวกัน ก็ คือ ความรุ่นแรงนั่นเองเข้ามาเกี่ยวข้อง   สังคมมนุษย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไม่ได้เป็นสังคมในอุดคติที่มีแต่เรื่องดีๆที่เราคิดได้   ในทางตรงกันข้ามเรื่องร้ายๆที่เรานึกไม่ถึงก็เกิดขึ้นได้เสมอ   ความรุนแรงถูกมนุษย์นำเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจในสังคมเพื่อการทำร้ายล้างทั้งชีวิตและทรัพย์สินเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจในการควบคุมทั้งความคิดและการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของสังคมหรือของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง     สมการนี้มีองค์ประกอบหรือตัวแปรไม่มากนัก  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรและบริบทที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคมอีกทั้งห้วงเวลาที่เกิดขึ้นนั้นซับซ้อนยิ่งนัก 
                ดังนั้นเมื่อมองเข้ามาในสังคมไทยด้วยตัวแปรต่างๆและบริบทต่างๆ  โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาดวงดาวหรือโหราศาสตร์  ก็พบว่าสังคมไทยขาดสมดุลด้วยพลังแห่งอำนาจของความรุนแรงที่ทำให้เสียสมดุลไป อีกทั้งความเชื่อมโยงหรือความปฎิสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองและความสัมพันธ์ประชาคมโลกนั้นใกล้ชิดด้วยข่าวสารและการคติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วขึ้น  ภายในประเทศดูสงบนิ่ง  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดูตึงเครียดด้วยสภาพเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่กดดันอยู่ในหลายๆเรื่อง  ในทางตรงกันข้ามความคิดของพลเมืองหรือประชาชนในประเทศก็มีการพัฒนาไปมากขึ้น  พลเมืองประเทศไทยและผู้นำไทยเข้าใจตัวเองหรือการเมืองและเศรษฐกิจโลกหรือเปล่า  ในขณะเดียวกันกลับไม่ได้ประเมินตัวเองในสถานะและสมรรถนะของตัวเองเพื่อการพัฒนาและอยู่รอด แต่นับว่าโชคดีที่ไม่มีความรุนแรงจากอีกฝ่ายหนึ่งที่จะออกมาต่อต้านหรืออาจจะรอคอยกัการระเบิดออกอีกครั้งหนึ่ง จึงอาจจะทำให้ฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ทุกวันนี้ต้องการความมั่นใจและความสะดวกในการดำเนินการในการจัดการกฎระเบียบใหม่ของสังคมซึ่งจะเป็นผลดีหรือไม่ดีต่อประเทศนั้นก็คงต้องดูต่อไป ตรงที่การยอมรับของพลเมืองหรือประชาชน   ไม่ใช่ที่ผู้กำหนดหรือผู้ที่เขียนรัฐธรรมนูญขึ้น  
                แต่ถ้าเมื่อใดการเขียนรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนแล้ว  ถึงจะดูดีอย่างไรในมุมเชิงวิชาการหรือมุมใดมุมหนึ่งของผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น  เมื่อรัฐธรรมนูญนั้นถกนำไปใช้ในกลุ่มพลเมืองหรือประชาชนส่วนใหญ่   ประชาชนพลเมืองพวกเขาก็จะต่อต้านและปรับกระบวนการในที่สุด    ผลลัพธ์จะออกมาเป็นรูปแบบใดนั้นก็แล้วแต่ประชาชนจริงๆ  แต่ถ้าเรารู้อย่างนั้นแล้ว  ถ้าเรารู้ว่ามันผิดทางแล้ว  ทำไมเราจะต้องพาประเทศ พาสังคมหลงทางไปในทางนั้นอีกด้วยเหล่า  ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จะลลายหายไปกับการหลงทางนี้โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย  แต่ในระหว่างทางที่เราเดินหลงทางไปคนส่วนหนึ่งย่อมได้ประโยชน์  ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่อาจจะทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเสียประโยชน์จากโอกาสต่างๆทีเกิดในสังคมโลก  นั่นเป็นเพราะอะไร?  อาจจะเป็นเพราะแค่ความคิดพื้นฐานหรือหลักคิดพื้นฐานของคนไทยในการดำรงอยู่ร่วมกันที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปกาลเวลา
7 เม.ย. 2558