วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 5 China Pavilion

ขออนุญาตเล่าย้อนหลังไปตั้งแต่วันแรกของการไปดูงาน Trip นี้ก่อนนะครับ อ.บุญทรัพย์ (ผอ.หลักสูตร Logistics & Supply Chain ของ ม.ศรีปทุม) สั่งให้ไปงาน Expo กับนักศึกษา ผมก็ไป เขาให้ผมไปไหนก็ไป ก็ดีที่จะได้ไปเปิดหูเปิดตาบ้าง รู้สึกว่าโง่ลงอีกมาก เพราะมีอีกมากมายที่ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้างในโลกนี้ พวกเราขึ้นเครื่องตอนประมาณเกือบตี 2 เพื่อที่จะไปถึงเซี่ยงไฮ้ในตอนเช้า สนามบินที่เซี่ยงไฮ้ใหญ่ดีครับ ดูโดยรวมแล้ว สุวรรณภูมิของเรานั้นดูมี Design หรือมี Style มากกว่า แต่ไม่ต้องพูดถึงขนาดของสนามบินนะครับ น่าจะเทียบเขาไม่ได้ อากาศเย็นสบายมาก ชอบจริงๆ ครับ อยากให้บ้านเรามีอากาศเย็นอย่างนั้นบ้าง

ผมจำไม่ได้ชัดเจนว่าไปไหนบ้างในวันแรก เพราะง่วงมากจากการหลับๆ ตื่นๆ เป็นเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงบนเครื่องบิน พร้อมของว่างบนเครื่องที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นอาหารในหมู่ไหนของอาหารหลัก 5 หมู่ที่มนุษย์ควรจะกินเพื่อความอยู่รอด มีดีอยู่อย่างเดียวคือแอร์โฮสเตส ที่พอจะดูเป็นหมวยอินเตอร์บ้าง สบายตากว่าการบินไทยเยอะเลย แต่น่าเสียดายว่า เธอส่งแต่ภาษาจีนตลอด สงสัยเธอคงเห็นพวกเราหน้าตาอาจจะออกเป็นจีนตอนใต้ (กะเหรี่ยง) มั้งครับ แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงอาหารมื้อแรกที่สนามบินเซี่ยงไฮ้เลยครับ จบเรื่องอาหารไปก็แล้วกัน หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้วเราก็ขึ้นรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมือง ใช้เวลาประมาณ 7 นาทีครึ่ง ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 400-431 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Airport Rail Link ของเมืองไทยสู้ไม่ได้เลย (ทั้งๆ ที่ผมเองก็ยังไม่เคยนั่ง เพราะยังสร้างไม่เสร็จเสียที) น่าตื่นตาตื่นใจดีครับ มาครั้งที่แล้ว รถไฟนี้ยังสร้างไม่เสร็จ จีนนี่เจ๋งจริงๆ ครับ

เท่าที่จำได้ สิ่งที่ได้พบเห็นในเมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อถึงสนามบิน คือ ตราสัญญลักษณ์และเจ้าตัว Mascot ของงาน และสิ่งที่สำคัญที่เป็น Landmark ของงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้คือ แบบจำลองหรือรูปจำลองของ China Pavilion เห็นครั้งแรกไม่รู้ว่าคืออะไร เห็นตราสัญญลักษณ์ของงานก็ยังพอจะเดาได้ว่าเป็นงาน Expo เพราะมีตัวหนังสือบอกไว้ เจ้าตัว Mascot ก็เช่นกันพอจะรู้บ้าง แต่ China Pavilion ที่มีรูปร่างเหมือนอาคารทรงแปลกๆ บางคนบอกว่าเหมือนกระถางธูป (ดูไปดูมาก็พอจะได้เห็นความเป็นจีนบ้าง ทำให้นึกถึงวัดเส้าหลิน) และแล้วผมต้องตกใจ เมื่อรถบัสที่นำคณะทัวร์แล่นเลียบเคียงเข้าไปใกล้บริเวณงานขณะที่อยู่บนถนนและสะพานอันแสนสลับซับซ้อนของมหานครเซี่ยงไฮ้ ที่ไหนได้ ไอ้สิ่งที่ผมเห็นก็คืออาคารที่ถูกสร้างเป็น Model ที่เป็นของที่ระลึกวางขายอยู่ทั่วไป อาคารนี้เป็นอาคารขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหวงผู่ (Huangpu River) ซึ่งเป็นที่ตั้งของงาน World Expo 2010 ผมจึงได้ถึงบางอ้อว่า Model นั้นก็คือ China Pavilion นั่นเอง



(เอื้อเฟื้อภาพโดย ImKnow Snowy - LSCM รุ่น 1 SPU)

ในงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ กิจกรรม (Activity) การแสดงและสาธิต (Demonstration) และการประชุม (Forum) ในงานนี้มี Pavilion อยู่หลายๆ แบบที่ประกอบไปด้วย National Pavilion และ Theme Pavilion ซึ่งสร้างโดยเจ้าภาพผู้จัดงาน ในขณะเดียวกัน International Organization Pavilion และ Corporate Pavilions สร้างโดยผู้ที่เข้าร่วมงาน เจ้าภาพและผู้ที่เข้าร่วมงานและบริษัทต่างๆ ได้วางแผน ออกแบบและก่อสร้าง Pavilion ของพวกเขาตามภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดของการจัดงานและระดับของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

China Pavilion เป็นจุดเด่นและตั้งเป็นสง่า หรือเรียกว่าจะเป็น Landmark ของงานและหลังจากการจัดงานไปอีกนาน เหมือนกับ Landmark อื่นๆ ของงาน World Expo ครั้งที่ผ่านมาในอดีต (เช่น หอไอเฟล) ในส่วน China Pavilion จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ National Pavilion, Regional Pavilion of Provinces, Autonomous Regions and Cities และ Pavilion of Hong Kong, Macau and Taiwan แผนผังโดยรวมของ Pavilion จะมีลักษณะเหมือนกับกระดานหมากรุกซึ่งจะเหมือนกับเมืองเก่าของจีนในอดีต ตัว Pavilion นั้นหันหน้าไปทางทิศเหนือโดยมีแกนกลางพาดจากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ Chinese National Pavilion จะอยู่ตรงกลางและมีส่วนบนที่มีขนาดใหญ่ โดยมีความสูงกว่า 60 เมตร ส่วน Regional Joint Pavilion จะถูกสร้างสำหรับ 31 มณฑล และเขตปกครองตนเองและเมืองต่างๆ มารวมตัวกันอยู่รอบๆ เพื่อเป็นฐานรองรับโครงสร้างของ Chinese National Pavilion ส่วน National Pavilion และ Regional Pavilion ได้แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยกันเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกันและสถาปัตยกรรมที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของความเป็นจีน Chinese National Pavilion และ Regional Pavilion มีบริเวณที่เป็นส่วนชั้นบนและส่วนที่เป็นชั้นล่าง เขาบอกกันว่า ตัวอาคารนี้แสดงถึงหลักการแห่งความเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นความกลมกลืนและความสัมพันธ์ตามลำดับชั้นและจนได้กลายเป็น Landmark ของสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อน

China Pavilion นำเสนอความพยายามของจีน ความสำเร็จ และความท้าทายของอนาคต ในการผลักดันความเป็นเมือง (Urbanization) China Pavilion ไม่ได้เป็นแค่จุดศูนย์รวมของมโนทัศน์ (Concept) หรือแนวคิด และจิตวิญญาณ (Spirit) ระดับชาติของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่หลักและเป็นพาหนะที่สำคัญในการสื่อสารแนวคิดของงาน Expo 2010 Pavilion ของชาติที่เป็นเจ้าภาพของงาน Expo แต่ละครั้ง มักจะเป็นจุดที่สนใจอยู่เสมอ สำหรับแนวคิดของ Chinese National Pavilion คือ ภูมิปัญญาจีนในการพัฒนาเมือง (Chinese wisdom in urban development) ความเป็นเอกลักษณ์ของการพัฒนาเมืองมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมจีนที่ลึกซึ้ง (แล้วของไทยเรามีความหมายอย่างไรบ้าง ใครบอกได้บ้างครับ) การที่ประเทศจีนได้เลือกแนวคิดนี้เป็นเป็นแนวคิดพื้นฐานของ Chinese Pavilion ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความสะดวกในการหาวัตถุดิบต่างๆ มาสรรค์สร้างได้ ซึ่งในกรณีนี้มีอยู่มากมาย แต่ยังทำให้ความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างวัฒนธรรมจีนและแนวโน้มการพัฒนาอนาคตของจีนเป็นจริงได้ (แล้วทำไมประเทศไทยไม่คิดอย่างนี้บ้าง คิดถึงแต่อดีต แม้แต่ปัจจุบันก็ยังไม่อยากจะคิด ไม่ต้องพูดถึงอนาคตเลย)

จากกระถางธูปที่ผมเห็นแต่ไกลได้กลายเป็น China Pavilion ที่ประกอบด้วย Chinese National Pavilion ซึ่งมีพื้นที่ 20,000 sqm และ Chinese Provinces Pavilion ซึ่งมีพื้นที่ 30,000 sqm และ พื้นที่อีก 3,000 sqm สำหรับ Hong Kong Macao และ Taiwan พอได้ศึกษาเอกสารเพิ่มเติมจึงได้รู้ว่า ตึกสูงสง่าสีแดงๆ เหมือนกระถางธูปนี้เขาเรียกว่า “Oriental Crown” หรือ "มุงกุฎแห่งบูรพา" อาคารมุงกุฎแห่งบูรพาของ Chinese National Pavilion นี้ สูง 63 เมตร สร้างจากเสาคอนกรีตเสริมเหล็กและโครงสร้างเหล็ก โครงสร้างเหล็กจะถูกขยายออกที่ความสูงของเสาและยื่นออกมาในแต่ละชั้น ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นรูปร่างของ Bucket Arch อาคารทั้งหมดใช้คานทั้งหมด 56 ชิ้นเพื่อที่จะเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึง 56 ชนเผ่าในประเทศจีน (ลึกซึ้งจริงๆ ไม่เขียนบอกจะรู้ไหมเนี่ย ใครจะไปนั่งนับคานบนตึก แค่เดินกับยืนรอก็แย่แล้ว) แล้วพวกที่เดินๆ ชมเข้าออก Pavilion ไปเป็นล้านคนจะรู้บ้างไหม อย่างนี้ต้อง Recall เรียกกลับมาชมงานใหม่ เหมือนโตโยต้าเรียกรถคืน (เกี่ยวกันไหมเนี่ยอาจารย์?) การเชื่อมต่อกันระหว่างคานทำด้วย Dougong ซึ่งมีประวัติศาสตร์มากว่า 2,000 ปี ซึ่งเป็นเทนิคของการการเชื่อมต่อชิ้นส่วนของโครงสร้างสถาปัตยกรรมโดยไม่ต้องใช้ตะปู (แบบนี้บ้านเรือนไทยเราก็มีนะครับ ไม่เห็น Promote เลย หรือผมไม่ทราบ?)



ภูมิปัญญาจีนในการพัฒนาเมืองของจีนประกอบด้วย 4 มุมมอง คือ
# ดิ้นรนแสวงหาอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อที่จะแกร่งกว่าเดิม (Striving unceasingly to become stronger)

# อดกลั้นต่อทุกสิ่งด้วยคุณความดี (Tolerating all things with great virtue)

# ยึดถือกฎแห่งธรรมชาติ (Abiding by the laws of nature)
# ตั้งเป้าที่ความกลมกลืน แต่ไม่ใช่ความเหมือนกัน (Aiming the harmony but not uniformity)

“ดิ้นรนแสวงหาอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อที่จะแกร่งกว่าเดิม”
และ “อดกลั้นต่อทุกสิ่งด้วยคุณความดี” เป็นสำนวนจีนจากหนังสือจีนโบราณ Divination I-Ching สำนวนทั้งสองนี้ เสนอให้เห็นถึงความต้องการของความมีคุณธรรม และสะท้อนถึงความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิญญาณระดับชาติและความเป็นไปของชาติในวัฒนธรรมจีน และในเวลาเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงการอธิบายอย่างมีหลักเกณฑ์ทั่วไปในหลักสำคัญของวัฒนธรรมเมืองของจีนและจิตวิญญาณของคนเมือง

“ยึดถือกฎแห่งธรรมชาติ”
- สำนวนนี้นำมาจาก The cannon of Taoism ซึ่งเป็นวิธีแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นของจีน “ตั้งเป้าที่ความกลมกลืนแต่ไม่ใช่ความเหมือนกัน” มีที่มาจากขงจื๊อ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน สำนวนทั้งสองนี้ได้สะท้อนให้เห็นวิธีของการปฏิบัติตนอย่างมีเหตุผล ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งถูกทำให้เป็นรูปธรรมได้โดยตรงในการพัฒนาเมืองของจีนและวิถีชีวิตของคนเมือง

ผมคงจะต้องเชื่อว่ากว่าจะมาเป็นแนวคิดหรือ Concept ของงาน และ China Pavilion คงจะต้องผ่านการคิดอ่านของทีมงานจีนมาอย่างลึกซึ้งทีเดียว เพื่อให้งานนี้สามารถสื่อสารไปยังคนจีนและคนทั้งโลก เรื่องราวทั้งหมดนี้ผมไม่ได้รู้เองหรอกครับ ก็ด้วยความที่รู้ว่าตัวเองโง่ยิ่งนัก ต้องค้นหาอะไรสักอย่างมาอ่าน เมื่อไปที่ไหนสักแห่งในโลก เพื่อที่จะได้เข้าใจ อย่างที่ได้เล่าไปแล้วว่า ผมไปได้หนังสือ World Expo 2010 ภาคภาษาอังกฤษมา 4 เล่ม ก็เลยมีเรื่องมาเล่าให้ฟังกัน เผื่อว่า เมื่อพวกเราอ่านบันทึกผมแล้ว อาจจะมีความคิดอะไรใหม่ๆ บ้าง

ผมวางแผนว่าจะไปเซี่ยงไฮ้อีกครั้งหนึ่งในช่วง 23–27 กรกฎาคม 2553 นี้ เพื่อที่จะแก้มือ คราวหน้า เวลาไปยืนดู Pavilion ต่างๆ โดยเฉพาะ China Pavilion เราจะได้เข้าถึงจิตวิญญาณของผู้ที่คิดออกแบบและก่อสร้าง Pavilion ว่าเขาคิดอย่างไร ผมยังมีรายละเอียดของ Pavilion ต่างๆ ในหนังสือ Official Guide Book ของงาน World Expo ของทุก Pavilion หนังสือนี้มีหลายอย่างน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ละเอียดมากนัก ผมจึงต้องพึ่งพาหนังสือเล่มอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าชมควรมีหนังสือเล่มนี้ครับ จะได้ดูอย่างเข้าใจและคุ้มค่ากับเวลาและการเดินทาง

ที่จริงแล้วรูปลักษณ์ของแต่ละ Pavilion มักจะสะท้อนความคิดอ่านหรือวิสัยทัศน์ของประเทศนั้นๆ ด้วยรูปทรงที่แปลกและทันสมัย หรือสะท้อนความเป็นอนาคต จนบางครั้งเรามองไม่ออกว่าเป็นประเทศอะไร อย่างเช่น China Pavilion เอง ก็ไม่ใช่ตึกรูปร่างทรงจีนแบบโบราณ แต่ก็มีกลิ่นอายที่พอจะเดาได้ แต่ถ้าเอาไปตั้งนอกประเทศจีน เราอาจจะเดาไม่ออกว่าเป็นประเทศจีน ผมเห็นหลายประเทศพยายามที่จะนำเสนอแนวคิดสู่อนาคต ด้วยสถาปัตยกรรมของ Pavilion ในรูปแบบที่ทันสมัยแตกต่างกันไป แต่ Pavilionของไทยนั้นยังคงความเป็นเอกลักษณ์ไทยอยู่มิเสื่อมคลาย มองปุ๊บรู้ปั๊บว่าประเทศไทย ความเป็นไทยทำไมต้องถูกจำกัดด้วยอาคารทรงไทย ทำไมจึงต้องให้รูปร่างทางรูปธรรมเป็นตัวกำหนดความเป็นไทยด้วยเล่า ทำไมไม่ใช้ความเป็นนามธรรมหรือทางจิตวิญญาณเป็นตัวกำหนดความเป็นไทย

ผมไปเห็นในหนังสือ World Expo เล่มหนึ่ง เขาเอารูปของ Thailand Pavilion จากอดีตสู่ปัจจุบันมาแสดง ผมเห็นว่าก็มีลักษณะทรงไทยตลอด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย ผมไม่ทราบว่าผู้จัดการ Thailand Pavilion ในงาน World Expo ในครั้งที่ผ่านมา (และครั้งนี้ด้วย) เข้าใจแนวคิดหรือ Theme ของงานหรือไม่ และความเห็นของผมต่อไปนี้ ผู้อ่านทุกท่านไม่ต้องเห็นตามผมก็ได้ครับ (เป็นความรู้สึกส่วนตัว ห้ามเลียนแบบ) กล่าวคือ ผมเห็น Thailand Pavilion แล้วผมไม่ค่อยอยากเข้า ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เราคนไทยพอจะรู้จักกันไทยกันแล้ว ไปดูประเทศที่เรายังไม่รู้จักดีกว่า มีเวลาน้อยครับ และที่สำคัญผมคิดว่าพวกเราคนไทยบางคนอาจจะไม่เข้าใจความเป็นไทย และไม่รู้จักนำเสนอความเป็นไทย และที่สำคัญไม่เคยคิดที่จะสร้างความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นไทยเก่า ไทยปัจจุบัน หรือไทยอนาคต เรายึดติดกับรูปร่างหรือโครงสร้างทางกายภาพหรือรูปธรรม โดยเฉพาะอาคารทรงไทยทั้งหลาย หรือชุดไทย พวกเราไม่ได้รู้จักความเป็นไทยในเชิงนามธรรมหรือจิตวิญญาณ ความเป็นไทยไม่ใช่บ้านทรงไทย หรือชุดไทย ผมคิดว่าความเป็นไทยจะต้องแฝงอยู่ในความทันสมัยและร่วมสมัยได้

ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องคิด ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาจับภาพหลุดดารา นักศึกษานุ่งสั้น หรืออะไรที่ไม่ค่อยเข้าท่านัก ผมคิดว่าความเป็นจีนสามารถสะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมที่หลากหลายได้มากกว่าความเป็นไทย ความเป็นไทยควรต้องร่วมสมัย ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นของโบราณหรือมีร่องรอยของความไทยโบราณ จึงจะเป็นไทยได้ ผมไม่ได้บอกว่าความเป็นจีนดีกว่าความเป็นไทย แต่ประเทศจีนเข้าใจตัวเอง เข้าใจความเป็นจีน แล้วยังนำความเข้าใจนั้นมาสร้างชาติ สร้างความเป็นจีนในยุคใหม่ได้ ส่วนประเทศเรายังงงและไม่เข้าใจความเป็นไทยเท่าไรนัก ประเทศไทยเราจึงเป็นเช่นนี้ อย่าโทษรัฐบาลหรือท่านผู้นำเลยครับ ต้องโทษพวกเรากันเองก่อน แล้วค่อยไปโทษรัฐบาลที่ปล่อยปละละเลยพวกเราให้เป็นอย่างนี้

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศจีนนี้เป็นประเทศที่มีอารยธรรม มีวัฒนธรรม มีการศึกษาและมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาอย่างมากมาย แต่ประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยยังคงอยู่และถูกนำมาใช้ประโยชน์ในยุคปัจจุบัน ด้วยการแฝงหลักคิดหรือภูมิปัญญาจากอดีตหรือประวัติศาสตร์เข้าไปในวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละยุคแต่ละสมัย พูดแล้วก็เสียดายว่า หลายครั้งที่เดินทางไปที่ต่างๆ ในโลก ไปแต่ตัวหรือร่างกาย แต่หัวสมองและจิตวิญญาณไม่ได้ไปด้วย ก็เลยได้สัมผัสแต่พื้นแผ่นดิน แต่ไปไม่ถึงจิตวิญญาณของสถานที่นั้นหรือประเทศนั้น เป็นบทเรียนว่าต้องศึกษากันก่อนที่จะไป น่าจะทำให้การท่องไปในโลกกว้างนั้นคุ้มค่ามากขึ้น เพราะว่าค่าทัวร์ไม่ใช่ถูกๆ ใช่ไหมครับ

ส่วนเรื่องของ Thailand Pavilion ที่ผมมีคำถามส่วนตัวว่า ทางเราจะตีความงาน World Expo แตกต่างจากชาติอื่นเขาหรือไม่นั้น ก็คงต้องไปดูในรายละเอียด ผู้จัดจะลึกซึ้งพอในการทำความเข้าใจ Theme ของงาน World Expo หรือไม่ ผมทราบมาว่าชื่อ Theme ของ Thailand Pavilion คือ “ความเป็นไทย : วิถีชีวิตที่ยั่งยืน (Thainess : Sustainable way of Life)” อย่างไรก็ตามในหนังสือ Expo ที่เป็นภาษาอังกฤษเล่มหนึ่ง (ที่ไม่ใช่หนังสือ Official) ได้ลงรายละเอียดของคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ในจากกระทรวงหนึ่งของไทย (น่าจะเป็นหน่วยที่รับผิดชอบการเข้าร่วมงาน World Expo) ไว้ว่า “การเข้าร่วมงาน Expo ที่เซี่ยงไฮ้ในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ดีต่อเนื่องระหว่างจีนกับไทย และยังเป็นการประชาสัมพันธ์การพัฒนาการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย” (ในหนังสือเขาเขียนมาอย่างนั้น) ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว ผมก็ว่าเราคงมาผิดงานแล้วครับ! เพราะมันไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยว หรือกระชับความสัมพันธ์ แสดงว่าทีมงานของท่านผู้ให้สัมภาษณ์อ่อนเรื่องข้อมูล Expo แต่ที่สุดแล้วเราคงต้องไปดูกันเองว่า ผู้สร้างและรับผิดชอบ Thailand Pavilion ตีความโจทย์ที่เป็น Theme ของงานได้เข้าตาท่านผู้เข้าชมมากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ งานนี้ไม่ได้มา Promote การท่องเที่ยว แต่ถ้าจะแสดงความเป็นไทย ก็ต้องบอกว่าวิถีไทยนั้นมีความยั่งยืนของสังคมมาแต่โบราณแล้ว หรือแม้แต่แนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงก็น่าจะใช่เลย ...หากมีโอกาส ท่านต้องลองเข้าไปดูนะครับ

ดังนั้นไปเซี่ยงไฮ้ ไปเมืองจีนกันทั้งทีไม่ใช่ แค่ Shop แหลกเท่านั้น แต่น่าจะได้อะไรเป็นภูมิปัญญากลับมาพัฒนาประเทศไทย (ที่บอบช้ำสุดๆ) ที่จริงแล้วผมไปเซี่ยงไฮ้นี่ก็ Shop แหลกเหมือนกัน คราวหน้า 23-27 ก.ค.นี้ที่จะไปเซี่ยงไฮ้ กะว่าจะไปเอาชุดกอล์ฟ Driver 1-2-3 + Iron 3-9 PW S มาอีกสักชุดสองชุด ต่อราคาให้ได้ถูกกว่า 700 หยวน ที่เคยซื้อได้ แต่ที่น่าสนใจคือเขาผลิตอย่างไรจึงราคาต่ำมากๆ เช่นนี้ น่าสนใจมากเลยประเทศจีน จริงไหมครับ ไม้ที่ซื้อมานั้นใช้ตีได้จริงๆ ครับ หลายคนซื้อไม้จีนไป พอกลับไปเมืองไทยก็เลิกใช้ไม้จริงไปเลย อีกอย่าง ผมซื้อโทรศัพท์ยอดนิยม (ไม่ต้องบอกนะครับว่ายี่ห้ออะไร) 3G Wifi 2Sim (มี Stylus ด้วยแน่ะ ทั้งที่ของจริงไม่มี) 1,400 บาท ถูกมาก แต่ใช้งานไม่ได้ เพราะแบตเสีย ต้องไปซื้อแบตใหม่ 300 บาท แต่ก็ยังใช้ไม่ได้อีกเพราะที่ชาร์จแบตเสีย เดี๋ยวต้องไปซื้อที่ชาร์จแบตอีก นี่ล่ะครับสินค้าจีนประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ตัวใครตัวมันล่ะครับ (ที่จริงแล้ว ผมน่าจะตัดสินใจทิ้งไปเลย ผมจะได้ไม่ต้องเสียอีก 600 บาท) โปรดซื้อด้วยวิจารญาณนะครับ ถือว่าเป็นการผจญภัยก็แล้วกัน

ในบล็อคตอนนี้ได้เล่าถึง China Pavilion ของเจ้าภาพไปแล้ว ตอนหน้าจะเล่าถึง Theme Pavilion ซึ่งเป็นแนวคิดของงานครับ

แล้วคุยกันใหม่ครับ!

อ.วิทยา สุหฤทดำรง



นำ ประสบการณ์ เที่ยว Shanghai Expo 2010 มา เล่า แนะนำ เดินชม อย่างไร ไปตอนไหน น่าสนใจ