วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 4

ผมเล่าเรื่องควันหลงจากการไปดูงาน World Expo ถึงตอนนี้ก็ตอนที่ 4 แล้วครับ

พวกเราอุตส่าห์ไปดูงาน World Expo แล้วก็น่าจะสังเกตเรื่องการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในของการจัดงานบ้าง เพราะทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในรูปแบบสินค้าและบริการทุกอย่างนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากโซ่อุปทาน (Supply Chain) เมื่อเรามีความอยากได้ เราต้องหาอะไรที่เป็นคุณค่า (Value) เทียบเท่ากันไปแลกกับคุณค่าที่ต้องการ พวกเราไปดูงาน Expo แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ได้รับจากงาน Expo จะได้มาฟรีๆ เพราะว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีแน่ๆ อยู่แล้ว ต้องนำอะไรมาแลกไปเสมอ ผมและคณะทัวร์ต้องเอาเงินมาแลกกับการเดินทาง การกินอยู่ การได้เข้าชมงาน World Expo ของที่ระลีกที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ให้เราลองนึกดูว่า กว่าจะมาเป็นงาน Expo นั้น ประเทศจีนซึ่งเป็นเจ้าภาพหรือเจ้าของงานจะต้องทำอะไรมาก่อนนั้นบ้าง มีใครมาร่วมกันทำอะไรบ้าง นั่นเขาเรียกกันว่า “โซ่อุปทาน” ครับ

การจัดงาน World Expo นั้นเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เหมือนการจัดงานกีฬาโอลิมปิค ประเทศส่วนใหญ่จัดงานแล้วมักจะได้กำไร บางประเทศจัดงานไปแล้วก็ขาดทุนก็มีให้เห็น (อย่างเช่น กีฬาโอลิมปิกที่เมืองเอเธนส์) ประเทศที่เป็นเจ้าภาพงาน World Expo ก็ต้องคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในการจัดการงานเช่นกัน แต่เมื่อมองกันลึกๆ แล้ว สิ่งที่ประเทศจีนน่าจะได้จากงาน World Expo คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชนของเขา ผู้นำจีนในยุคนี้ลึกล้ำอย่างยิ่ง ประเทศจีนสร้างชาติด้วยแนวทางในการสร้างคนของเขาด้วยการให้ความรู้ และสร้างความยิ่งใหญ่และความเป็นจริงในปัจจุบันให้ประจักษ์ต่อชาวโลก (ไม่ใช่มัวแต่หลงกับความยิ่งใหญ่ในอดีตเหมือนบางประเทศ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าจนจะแย่อยู่แล้ว) ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนจีนของเขา เมื่อผมไปเมืองจีนแต่ละครั้งในแต่ละเมืองนั้น ผมตื่นเต้นเสมอเมื่อได้เห็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของจีน และเศร้าใจอย่างยิ่งเมื่อย้อนดูการพัฒนาของประเทศไทยเรา ก็ได้แต่โทษตัวผมเองว่า ผมเองยังทำวันนี้ดีไม่พอ ประเทศเราถึงเป็นอย่างนี้ อย่าไปโทษคนอื่น เพราะถ้าเราทุกคนโทษกันไปมาแล้ว ก็คงจะไม่มีใครที่อยากจะพัฒนาตัวเอง ดังนั้นพวกเราต้องไม่หมดกำลังใจนะครับ แต่...ต้องระลึกเสมอว่าในน้ำนั้นไม่มีปลาแล้ว ในนานั้นก็ไม่มีข้าวแล้วเช่นกัน เราจะต้องคิดว่าชีวิตข้างหน้านั้น มันไม่เหมือนอดีต

ประเทศจีนพยายามที่จะประกาศให้โลกรู้ถึงการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของประเทศจีน ส่วนหนึ่งของการประกาศศักดานั้น คือ การจัดกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา ซึ่งประเทศจีนจัดได้ยิ่งใหญ่มากๆ เท่านั้นยังไม่พอ อีก 2 ปีต่อมาก็ยังมีการจัดงาน World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนด้วย สำหรับงาน World Expo นี้ ผมถือว่า จีนได้สร้างห้องเรียนทางนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งได้รวบรวมเอาสิ่งที่ดีๆ และ ใหม่ๆ เป็นนวัตกรรมของโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาไว้ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นเวลา 6 เดือน ให้คนจีนหลายสิบล้านๆ คนได้เข้าชมงาน ได้เรียนรู้และสัมผัสถึงโลกอนาคตที่ประเทศจีนจะต้องก้าวไปให้ถึง ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและสังคมในงาน World Expo จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานในอนาคตของมนุษยชาติ

การป้อนความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ของโลกให้กับประชากรของประเทศจีน น่าจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการจัดงาน World Expo ซึ่งเป็นคุณค่าในรูปแบบของการบริการ (Services) ให้ความรู้และข้อมูลข่าวสาร แต่กว่าจะได้มาเป็นงาน World Expo ได้คงต้องมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย ตั้งแต่คณะกรรมการจัดงาน เจ้าภาพผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมแสดงในงาน World Expo ผู้รับช่วงในการจัดงานในส่วนของกิจกรรมต่างๆ ผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงานต่างๆ (Sponsor) และที่สำคัญ คือ ผู้ที่เข้ามาชมงาน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เราเรียกกันว่า หุ้นส่วนในโซ่อุปทาน (Supply Chain Partner) การบริหารและจัดการงาน World Expo จึงเป็นเรื่องของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานล้วนๆ เพียงแต่เราอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำและความหมายเหล่านี้เท่านั้นเอง

ในปัจจุบัน เรื่องของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นเรื่องปกติของการจัดการเรื่องราวต่างๆ ในธุรกิจในปัจจุบัน และยิ่งถ้าแนวคิดและประเด็นในการจัดการลอจิสติกส์และโซอุปทานเป็นที่รู้จักกันในวงการทั่วไปแล้ว แนวคิดนี้จะทำให้เราสื่อสารกันในมุมมองที่เป็นองค์รวม (Holistic) หรือในมุมของบูรณาการ (Integration) เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่พวกเราจะต้องคำนึงถึง คือ กิจกรรมหรือขั้นตอนการทำงานในระดับการปฏิบัติการ (Operational) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะคุณค่าหรือประโยชน์ที่ลูกค้าต้องการจะถูกสร้างขึ้นมาจากขั้นตอนการดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ (Operational) นี้ ทรัพยากรที่ลงทุนไปในการสร้างคุณค่าหรือการจัดงานอยู่ในระดับปฏิบัติการทั้งสิ้น ลูกค้าหรือผู้ที่เข้าชมงานจะผู้ที่สัมผัสหรือได้รับคุณค่าหรือประโยชน์จากการจัดงานนี้ ดังนั้นงาน World Expo จะประสบผลสำเร็จได้นั้น จะต้องมีลูกค้าคนชมงานเป็นไปตามจำนวนที่คาดหวังไว้ และผู้เข้าชมงานได้รับความพึงพอใจจากการเข้าชมงานด้วย

การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ของงาน World Expo คือ การบูรณาการการจัดการลอจิสติกส์ (Integrated Logistics Management) ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ การเข้าชมงานของผู้เข้าชมงานที่หลั่งไหลมาจากทั่วประเทศจีนและทั่วโลก การเดินทางเข้ามายังเมืองเซี่ยงไฮ้โดยเส้นทางต่างๆ การเข้าพักตามโรงแรมต่างๆ ทั่วเมืองเซี่ยงไฮ้ การเดินทางจากที่พักโรงแรมไปยังงาน World Expo บริเวณทางเข้าชมงาน ตั้งแต่เดินเข้าประตูจนถึงเดินออก การเข้าชม Pavilion ต่างๆ การจราจรขนส่งภายในบริเวณงาน การอำนวยความสะดวกต่างๆ จนถึงทางออก ตลอดเวลาของการเข้าชมงานอย่างทั่วถึง ทำอย่างไรให้คุ้มค่ากับการลงทุนมาชมงาน World Expo ถ้าสังเกตดูดีๆ นะครับ กว่าจะครบกระบวนการเข้าชมงานนั้น มีกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ ที่มาร่วมกันทำให้เราเข้าชมงานได้ตลอดช่วงเวลาการชมงาน กลุ่มบุคคล กลุ่มหน่วยงาน กลุ่มบริษัท มหานครเซี่ยงไฮ้ องค์กรเหล่านี้แหละครับที่ผมเรียกว่า “โซ่อุปทาน” หรือ Supply Chain หรือเราอาจจะมองว่าเป็นลักษณะ Team ก็ได้ แต่ Supply Chain นั้นเป็นมากกว่าทีม (Team) เพราะความเป็น Supply Chain จะทำให้ Team สามารถปรับตัวได้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้ ถ้ามีความเป็น Supply Chain ก็จะต้องมี Team แต่ถ้าเป็น Team แล้ว อาจจะไม่มีความเป็น Supply Chain ก็ได้ โซ่อุปทานต้องทำให้ได้ ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า อยู่เสมอและตลอดไปเพื่อความรู้รอด

คราวนี้ลองนึกดูว่ากว่าจะมาเป็นงาน World Expo ได้มีใครอื่นๆ เกี่ยวข้องบ้าง คนแต่ละนั้นจะมีประโยชน์หรือคุณค่าต่อการจัดงานอย่างไรบ้าง ตั้งคนคุมคิวที่ประตูหน้างาน คนเก็บขยะทั่วงาน คนทำความสะอาดในห้องน้ำ หรืออาสาสมัครหนุ่มสาวในงาน World Expo ที่มาช่วยเหลือแนะนำคนที่มาชมงาน และอีกหลายๆ คนที่มารวมตัวกันเป็นโซ่อุปทานของงาน World Expo แล้วให้เราลองนึกดูว่าถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานงาน World Expo เกิดขาดไปหรือ มีปัญหา เราในฐานะลูกค้าคงจะไม่ได้รับความสะดวกในเชิงลอจิสติกส์ที่ต้องเคลื่อนตัวไปยังจุดต่างๆ ที่ต้องการภายในงาน

คุณค่า (Value) ของงาน Expo คือ การที่ผู้เข้าชมงานได้รับสารสนเทศ (Information) ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาไปในแนวคิด Better City, Better Life ใน Pavilion ต่างๆ ดังนั้น ผู้เข้าชมงานจะต้องเดินหรือเคลื่อนย้ายตัวเองไปตาม Pavilion ต่างๆ ที่ต้องการได้ สถานที่ใดที่อยู่ห่างออกไป ทางงาน Expo ก็ได้จัดระบบลอจิสติกส์ที่เคลื่อนย้ายผู้เข้าชมงานด้วยยานพาหนะในการรับส่งภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าขนาด 8 ที่นั่ง รถบัสไฟฟ้า เรือ Ferry ข้ามแม่น้ำระหว่างฝั่งเมืองเก่าและเมืองใหม่ ทำให้ลอจิสติกส์ของผู้ที่เข้าชมสามารถไหล (Flow) ไปยังเป้าหมายได้อย่างถูกเวลา ถูกสถานที่ และด้วยต้นทุนที่ต่ำ

โซ่อุปทานหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของการจัดงาน World Expo จึงต้องพยายามจะเตรียมทรัพยากรต่างๆ ที่รองรับการเคลื่อนย้ายตัวเองของผู้เข้าชมงาน ป้ายบอกทางต่างๆ ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านอาหารและน้ำในพื้นที่จะต้องพร้อมรองรับกับจำนวนผู้เข้าชมให้ได้เหมาะสม ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกิน ที่จริงแล้วการจัดงาน World Expo เป็นเรื่องราวของการจัดการลอจิสติกส์ของผู้ที่เข้าชมงานตั้งแต่เข้างานจนออกจากงานอย่างเหมาะสม ในแต่ละ Pavilion ที่คาดว่าจะมีคนเข้าชมมากๆ จะมีการกั้นแถวให้วกวนไปเวียนมา เพื่อรองรับจำนวนคิวที่ยาวๆ เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่ในการรอคิวได้อย่างเหมาะสมด้วย

ตลอดเส้นทางการเดินชมงานใน Pavilion ต่างๆ ก็จะต้องมีห้องน้ำเตรียมไว้ มีม้านั่งยาวเอาไว้นั่งพักเหนื่อยหรือเมื่อเมื่อยตลอดเส้นทางเดิน รวมทั้งภัตตาคารนานาชาติต่างๆ ก็มีไว้เตรียมพร้อมสำหรับไว้บริการผู้ข้าชมงาน และที่มีอยู่มากมายตลอดพื้นที่แสดงงาน คือ ร้านขายของที่ระลึกภายใต้ลิขสิทธิ์ ที่มีอยู่ครอบคลุมในทุกๆ ส่วนของพื้นที่จัดงาน ของที่ระลึกเหล่านี้มีมากมายหลายประเภทเท่าที่เรานึกได้ว่าจะใช้อะไรได้บ้างในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ละแห่งที่แวะเข้าไปก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป ร้านขายของที่ระลึกนี้เองก็เป็นแหล่งหนึ่งสามารถทำรายได้ให้กับงานได้เป็นอย่างดี

ก่อนที่จะมาเป็นงาน Expo ได้นั้นเจ้าภาพคงจะต้องมีการวางแผนกันมาก่อนเป็นอย่างดี มีการเตรียมงานมาเป็นปีๆ เจ้าภาพต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า โดยปกติการเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับโลกเช่นนี้ เจ้าภาพในระดับประเทศมักจะมีเป้าหมายที่ต้องการผลกระทบทางเศรษฐกิจ งานประเภทนี้เป็นงานมหกรรมทางสังคมที่ภาครัฐหรือภาคสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันเพื่อเกิดผลต่อเนื่อง หรือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศนั้นด้วย สำหรับประเทศจีนเองก็คงจะมีแบบจำลองธุรกิจ (Business Model) พื้นฐานเหมือนกันทุกประเทศที่ต้องการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานระดับโลกเข่นนี้ ประเทศไทยเองก็พยายามที่จะเข้าไปยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมระดับในประเภทต่างๆ ที่สำเร็จก็มี ที่ล้มเหลวไปก็มาก เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเพราะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการทางสังคมที่จะต้องลงทุนใช้เวลาเตรียมงานยาวที่นาน ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการจัดงานได้ ในขณะที่ช่วงเวลาของงานมหกรรมอื่นมีช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก แต่งาน World Expo นี้มีเวลาแสดงถึง 6 เดือน

สำหรับประเทศจีนแล้ว เมื่อตัดสินใจทำอะไรแล้วคงจะไม่ขาดทุนอย่างเป็นแน่แท้ แถมทำอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ด้วย แต่กลับเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้ประชากรรุ่นใหม่ๆ ของจีนเองในการพัฒนาประเทศในอนาคต ถ้าผู้นำจีนรุ่นต่อมาไม่หลงทางเสียก่อน งานมหกรรม World Expo สำเร็จได้อย่างยิ่งใหญ่อย่างนี้ ก็ต้องบอกว่าประเทศจีนก็มีความเข้าใจในแนวคิดการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นอย่างดี ตั้งแต่การจัดการโซ่อุปทานของการเตรียมงาน “ก่อน” วันแสดงงาน และการจัดการโซ่อุปทาน “ระหว่าง” ช่วงเวลาการแสดงงาน ซึ่งช่วงนี้สำคัญมากเพราะมีผู้เข้าชมงานเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ ทั้งยังต้องรวมถึงการจัดการโซ่อุปทาน “หลัง” จากงานจบลงด้วย แนวคิดการจัดการโซ่อุปทานจึงจำเป็นที่จะต้องคิดให้ครบตลอดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์และการบริการ

เห็นประเทศอื่นๆ เขาพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง แล้วสะท้อนใจว่า แล้วทำไมประเทศไทยที่เราภูมิใจนักภูมิใจนักหนาว่าสามารถรักษาเอกราชของประเทศไว้ได้ แต่กลับไม่สามารถช่วยกันพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศได้ ผมว่าเราไม่ได้แปลความหมายหรือสร้างความเข้าใจในความเป็นเอกราชในอดีตให้คนในปัจจุบันเข้าใจ ทั้งๆ ที่ในชีวิตความเป็นอยู่จริงของคนไทยนั้นเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจทั้งกายและใจให้ต่างชาติหมดแล้ว มีเพียงแต่ผืนแผ่นดินเท่านั้นที่เราบอกว่าเป็นเอกราช ไม่สูญเสียดินแดนให้ใคร และพยายามปกป้องรักษากันด้วยชีวิต เราก็ได้สูญเอกราชทางจิตวิญญาณของความเป็นชาติไปตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่รู้ตัวกัน ทั้งยังหลงละเมอกับอดีตที่ไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว นั่นเป็นเพราะเราใช้ประวัติศาสตร์ในการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าไม่เป็น เราเพียงแต่ใช้ประวัติศาสตร์เพียงเพื่อโฆษณาชวนเชื่อไปวันๆ เท่านั้น ผมว่าเราต้องดูแนวทางของประเทศอื่นๆ ในการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนในปัจจุบันพัฒนาชีวิตเพื่อสู่อนาคต หากเราใช้ประวัติศาสตร์เป็นแล้ว เราจะรู้สึกว่าประวัติศาสตร์ที่เราได้รับรู้นั้นทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผมว่าประเทศจีนทำเรื่องราวของการนำเสนอประวัติศาสตร์ได้ดีมาก เอาไว้ผมจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไปครับ

สุดท้ายผมว่าเราต้องไม่ย่อท้อ เราต้องคิดให้มากกว่านี้ เราต้องทำตัวให้ฉลาดหน่อย อย่าทำตัวเหมือนคนโง่ที่ไม่มีความคิด หลงมัวเมากับภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้หลงทางกลับไปติดยึดความรุ่งเรืองในอดีต ทำให้เราไม่ได้คิดพัฒนาปัจจุบันให้ดีกว่าเก่า เราจึงติดกับดักความคิดและหลงตัวเองว่าเราเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน ทั้งที่เราก็ไม่ได้รุ่งเรืองอะไรมากเท่าใดนัก เรารับรู้มาด้วยการเรียนประวัติศาสตร์ด้านเดียวมาตลอด แค่ได้เรียน แต่ไม่เคยเข้าใจและเราก็ไม่รู้หรอกว่า ประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านหรือประวัติศาสตร์โลกเขามองเราอย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นรากเหง้าของประเทศเราเองก็ได้ แต่อย่างไรผมก็ยังเชื่อว่าเราต้องพัฒนาได้ครับ!

รออ่านต่อนะครับ!

อ.วิทยา สุหฤทดำรง