วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 3

หลังจากที่ได้เขียนเรื่องประสบการณ์การไปงาน World Expo ไป 2 ตอน ผมก็ได้กลับไปเช็คสถิติจำนวนผู้เข้าชมงาน ปรากฎว่าคณะทัวร์ของเราได้เข้าชมงาน World Expo ในวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่มีผู้เข้าชมงานมากที่สุด ตั้งแต่เปิดงานมา คือ มากกว่า 500,000 คน (http://en.expo2010.cn/yqkl/index.htm) อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็อาจจะมีผู้เข้าชมงานต่อวันมากกว่านี้ก็เป็นไปได้ และไหนๆ พวกคณะทัวร์ของเราก็เป็นผู้ที่ฝักใฝ่ทางด้านการจัดการโซ่อุปทานอยู่แล้วก็นน่าจะหันมามองงาน World Expo อย่างการจัดการโซ่อุปทานบ้าง ให้สมกับเป็นนักลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ผมเห็น Slogan ของงาน World Expo ที่ว่า “Better City, Better Life ก็เมื่อเดินทางมาถึงที่เซี่ยงไฮ้แล้ว คำว่า Better นั้นมีความหมายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในมุมมองของการจัดการที่จะต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ Theme ของงานนี้จะเป็นเรื่องของเมืองซึ่งเป็นสถานที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่ เมืองหรือ City นับว่าเป็นประเด็นเชิงสังคมที่เราสามารถจับต้องได้ดีที่สุดในชีวิตประจำวัน สามารถสัมผัสได้ ผมมองว่า Theme ที่ว่า Better City, Better Life นี้เป็นการต่อยอดจากประเด็นเรื่องโลกร้อนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผมเชื่อว่าเรื่องโลกร้อนนั้นก็เป็นผลพวงมาจากการที่เราไม่เข้าใจในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ จึงทำให้เราไม่ได้สร้างเมืองและสร้างสังคมมนุษย์อย่างเอื้ออาทรกับธรรมชาติ เราเพียงแต่หวังว่าจะเอาประโยชน์เข้าตัวเองมากที่สุดมาโดยตลอด โดยเฉพาะฉวยประโยชน์จากธรรมชาติ โดยมิได้ตอบแทนกลับ จนธรรมชาติได้ส่งสัญญาณโลกร้อนออกมาทวงคืน ทำให้มนุษย์พอจะคิดได้บ้าง และสามารถทำความเข้าใจหรือ ลดละความโลภลง จนหันมาประนีประนอมกับธรรมชาติได้บ้าง

ก่อนไปต่อ จะต้องทำความเข้าใจในความหมายของโซ่อุปทาน (Supply Chain) กันอีกนิดก่อน เพราะคุณค่า (Value) หรือประโยชน์แต่ละอย่างที่เราใช้สำหรับการดำรงชีวิตล้วนมาจากโซ่อุปทานทั้งสิ้น คุณค่าเหล่านั้นอยู่ในรูปแบบของสินค้าและบริการที่แต่ละบุคคลต้องกินและต้องใช้ รวมทั้งสาธารณะสมบัติต่างๆ ที่ผู้คนในสังคมใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น เมืองหรือ City จึงกลายเป็นแหล่งรวมคุณค่าต่างๆ ที่หลากหลายซึ่งมาจากโซ่อุปทานที่หลากหลายเช่นกัน เรามีซีวิตอยู่ในเมือง มนุษย์สร้างเมืองขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้อาศัยอยู่และสร้างประโยชน์ให้กับตัวมนุษย์เอง โดยส่วนใหญ่ มนุษย์ในเมืองมิได้คำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เมืองและมนุษย์จะต้องพึ่งพาอาศัย ความเป็นเมืองนั้นเกิดขึ้นจากการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์กันเองเพื่อให้เกิดเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เมืองให้คุณค่าหรือประโยชน์กับประชากรของเมือง คุณค่าหรือประโยขน์ของเมืองในฐานะที่เป็นสาธารณูปโภคต่างๆ จะเป็นประโยชน์ที่ประชากรของเมืองใช้ร่วมกัน ส่วนคุณค่าอื่นๆ ที่เป็นความต้องการของแต่ละบุคคลก็จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยโซ่อุปทานที่สร้างขึ้นมาและตั้งอยู่ในเมืองหรืออาจจะถูกสร้างจากโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงมาจากเมืองอื่นๆ ดังนั้นเมืองหนึ่งๆ จะประกอบและโยงใยไปด้วยสายโซ่อุปทานต่างๆ มากมาย โดยโซ่อุปทานทั้งหมดจะมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชากรในเมืองหรือเมืองอื่นๆ ถ้าปราศจากโซ่อุปทานแล้ว ความเป็นเมืองก็จะหมดไป สาธารณูปโภคก็จะไม่มีคนใช้งาน เมืองก็จะไม่มีคนอยู่ ความมีชีวิตของเมืองก็จะหายไป และก็จะไม่มีสังคม

ผมพูดเรื่องราวของงาน World Expo ให้เป็นเรื่องราวของโซ่อุปทานหนักๆ มากไปหรือเปล่าครับ ความหมายของ Better City, Better Life นั้นสามารถขยายความได้อีกมากมายในหลายมุมมอง เมื่อพูดถึงเมืองหรือ City แล้ว เราคงต้องมองเห็นสิ่งปลูกสร้างและคนมากมายที่มารวมตัวกันเป็นสังคม เมืองจึงเป็นรากฐานของสังคมและการสร้างคุณค่าในโซ่อุปทาน ยิ่งในปัจจุบันนี้ การเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าการควบคุมในมุมมองการจัดการ ดังนั้น คำว่า Better นั้นจึงเป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงการจัดการโซ่อุปทานที่ต้องทำให้เกิดคุณค่าที่ดีกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา คำว่า Better City ก็คงไม่ได้หมายความว่าสาธารณูปโภคที่ดีกว่าเดิม มีตึกที่สูงกว่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีกว่าเดิมเท่านี่น ประเด็นที่ดีกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ดีและควรจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและข้อจำกัดต่างๆ ที่จะต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเมืองที่มนุษย์สร้างขึ้น กับธรรมชาติที่มนุษย์และเมืองที่มนุษย์ต้องอาศัยพี่งพิงอยู่ คำว่า Better อาจหมายถึงความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่สมดุลของการอยู่รวมกันกับธรรมชาติของมนุษย์ด้วยก็ได้

ผมชอบ Theme ของงาน World Expo นี้ เพราะเป็นการต่อยอดหรือทำให้ประเด็น Global Warming สามารถนำเข้าสู่ประเด็นของการประยุกต์แนวคิดนี้ให้เข้าชีวิตประจำวัน ในเมืองที่เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดประเด็นนี้มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วนของสังคม Theme ของงานนี้จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอและสร้างความตระหนักในด้านพลังงาน โลกร้อน สีเขียว สู่สังคมมนุษย์ ในเมื่องาน World Expo ได้กลายเป็นงานมหกรรมทางด้าน Human Development ของมนุษยชาติ ก็คงจะไม่ได้ผิดแนวทางในการนำเสนอประเด็นที่ไปในแนวทางที่จะคำนึงถึงการสร้างสังคมเมืองให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีกว่าและอยู่อย่างยั่งยืน นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำมาแสดงในงาน World Expo ในครั้งนี้ก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องและสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วย นั่นเหมือนเป็นการประกาศของมนุษยชาติแล้ว ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (Life will never be the same) นั่นหมายความว่า เรามนุษย์เองจะต้องเป็นผู้กำหนดความเป็นของชีวิตเรา สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นไปในทางบวกหรือลบก็ล้วนเกิดขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้นความเป็นไปบนโลกนี้ก็อยู่ที่ความคิดของเรานั่นเอง เราคิดอย่างไร ส่วนมากเราก็ทำอย่างนั้น ถ้าเรามีความคิดในการสร้างสมดุลกับธรรมชาติ เพื่อเมืองที่ดีกว่าซึ่งจะนำพามาสู่ชีวิตที่ดีกว่า ความฝันที่จะทำให้การดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์และธรรมชาติมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นก็จะเป็นจริงมากขึ้น

เมื่อตอนเป็นความคิดก็คงจะง่าย แต่ในความเป็นจริงนั้นคงไม่ง่ายเลย เพราะในโลกนี้ประกอบไปด้วยเมืองหลายๆ เมืองที่มีสังคมมนุษย์เป็นองค์ประกอบ การที่จะปลูกฝังแนวคิดนี้ให้มนุษย์บนโลกเรานี้ คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความตระหนักในเรื่องการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติไม่ได้เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เรื่องนี้ไม่สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นทางด้านพันธุกรรมกันได้ ประเด็นนี้จึงจะต้องเรียนรู้กันด้วยการยกระดับของจิตใจของผู้คนในสังคม และจะต้องมีการถ่ายทอดผ่านการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมหรือการสร้างวัฒนธรรมของสังคมมารองรับการเปลี่ยนแปลง

Blog ตอนที่ 3 นี้ออกจะเครียดๆ ไปบ้าง แต่ผมไม่อยากจะให้เราไปดูงาน World Expo ในมุมมองที่การพัฒนาของเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมองเห็นการพัฒนาทางด้านสังคมไปพร้อมๆ เศรษฐกิจและเทคโนโลยี อย่างน้อยถ้าศึกษาหรือสังเกตประวัติศาสตร์บ้าง เราอาจจะเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องราวความเป็นไปของโลกที่โยงใยอย่างคล้องจองกันไป ซึ่งจะทำให้เราสามารถคาดการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับโลกเราในอนาคตได้ ผมหวังว่า เราน่าจะเห็นแนวคิดโซ่อุปทานใน Theme ของงาน World Expo 2010 ที่ Shanghai ยิ่งมีจำนวนประชากรในเมืองหรือ City มากขึ้นเท่าใด ความซับซ้อนในการจัดการก็มากขึ้นเท่านั้น และคงต้องใช้องค์ความรู้ในการจัดการความซับซ้อนแนวคิดใหม่ๆ มากขึ้นเช่นกัน นอกจากจะมีเทคโนโลยีในการช่วยเราทุ่นแรงแล้ว ยังต้องมีเครื่องมือที่จะช่วยเราคิดด้วย โดยเฉพาะมองในมุมมองของระบบของสังคมหรือที่มีความซับซ้อน (Complexity) มากยิ่งขึ้น

เอาล่ะครับ เครียดกันพอควรแล้วครับ แล้วจะเขียนมาอีกครับ จะพยายามวิเคราะห์เรื่องการจัดการ Supply Chain ของงาน World Expo และพาไปดู (ให้ข้อมูล) Pavilion ต่างๆ นะครับ ถ้ามีเวลาพอและไม่หมดไฟเสียก่อน

อนึ่ง หลังจากกลับจากงาน World Expo วันนี้ที่ห้างหนึ่งในกรุงเทพฯ ผมมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับพลังงานดังนี้ครับ ผมไปนั่งดื่มกาแฟที่ห้าง พอสั่งกาแฟเสร็จก็ได้กาแฟมา 1 ถ้วย พร้อมน้ำเย็นหนึ่งแก้วที่มีน้ำแข็งก้อนขนาดเล็กจำนวนไม่มากลอยอยู่ ตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก พอดีเหลือบไปเห็นวิธีทำของพนักงาน คือ เขาตักน้ำแข็งเต็มแก้ว แล้วนำแก้วน้ำแข็งไปเติมน้ำร้อนจากเครื่องทำกาแฟ ลองคิดดูก็แล้วกันว่าพลังงานในการทำร้อนและพลังงานในการทำน้ำแข็งจะสูญเปล่าไปขนาดไหน เอาน้ำร้อนไปละลายน้ำแข็ง เพื่อให้ได้น้ำเย็น เห็นไหมล่ะครับว่าพลังงานสูญเปล่าไปขนาดไหน แต่ถ้าทุกคนมีความตระหนัก ชีวิตในเมืองคงจะดีกว่านี้

อ.วิทยา สุหฤทดำรง