Blog นี้นับเป็นตอนที่ 7 ที่ผมเขียนเกี่ยวกับ Shanghai Expo 2010 ครับ...
เมื่อผมได้หนังสือ Official Guidebook จากบริเวณหอไข่มุก ก่อนวันเข้า Expo 1 วัน ผมได้เปิดอ่านไปเรื่อยๆ จนมาสะดุดที่เรื่อง Urban Best Practice Area หรือที่เรียกกันว่า UBPA ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ Zone E ทางฝั่งเมืองเก่า ประเด็นเรื่องการพัฒนาเมืองทำให้ผมมีความตั้งใจที่อยากจะเข้าไปชมเรื่องราวของ UBPA นี้มาก ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่มักอยากไปดู Pavilion ที่มีชื่อเสียงต่างๆ ผมก็ไม่เข้าใจตนเองว่าอะไรที่ทำให้ผมเกิดความอยากดูเรื่องราวของ UBPA นี้ น่าจะเป็นเพราะคิดว่านั่นคืออนาคตของเรา แต่ผมก็ผิดหวังในวันแรก เพราะว่าคณะทัวร์เราพาเดินข้ามไปทางฝั่งเมืองใหม่ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายผมก็ได้ไปดู UBPA ในวันที่ 2 แต่ก็ผิดหวังอีกเพราะไม่มีเวลามากพอที่จะได้ดูอย่างละเอียด เพราะมันเยอะและกว้างใหญ่มากๆ ภายในเวลา 4 ชั่วโมงของวันที่ 2 ก็ไม่สามารถเพียงพอได้เลย ก็ยังคงคาใจอยู่
ในงาน World Expo ที่ เซี่ยงไฮ้นี้ มีนวัตกรรมอยู่ 2 อย่าง คือ Urban Best Practice Area และ Expo Shanghai Online (ซึ่งอย่างหลังผมเข้าใจว่า คือ เว็บไซต์นี้ http://en.expo.cn/) เขาว่ากันว่า นวัตกรรมนี้จะทำให้งาน Expo นี้เป็นที่จดจำไม่รู้ลืมและงาน World Expo ก็จะไม่มีวันที่จะถูกปิดฉากลง ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นนวัตกรรมได้อย่างไร? เพราะยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสมากนัก แต่ในใจแล้วผมว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเรามากๆ ก่อนที่ประเทศจีนจะประสบความสำเร็จในการยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2010 ต่อ BIE ประเทศจีนได้มีการเสนอแนวคิดของการเพิ่มประเด็นของ Urban Experimental Area ในเอกสารข้อเสนอ ซึ่งต่อมาได้ถูกเปลี่ยนเป็น Urban Best Practices Area
ประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติต่างๆ ก็เป็นสมาชิกผู้ร่วมงานหลักในงาน World Expo ผู้จัดงาน Expo เซี่ยงไฮ้ ได้เชิญเมืองต่างๆ จากภายในประเทศและจากต่างประเทศที่มีข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ของการพัฒนาเมืองมาเข้าร่วมงานในฐานะผู้ที่ร่วมงานอิสระ เมืองต่างๆ เหล่านี้ถูกคาดหวังว่าจะต้องแสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์และแนวคิดที่เป็นเลิศใน Best Practices ในการพัฒนาเมือง ซึ่งจะต้องถูกเพิ่มเติมเป็นสีสรรค์ในงาน Expo นี้
UBPA จะเป็นสถานที่ซึ่งเป็นแบบจำลองที่บูรณาการฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ อย่างไหลลื่นไม่ติดขัด เช่น ชีวิตในเมือง เวลาพักผ่อน และการคมนาคม ในบริเวณนี้จะสาธิตให้เห็นถึงข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งได้ถูกนำไปใช้งาน และพิสูจน์แล้วว่าสามารถเป็นตัวอย่างและตัวชี้นำในการพัฒนาเมืองในอนาคตได้ ผู้เข้าชมก็น่าจะได้ความพึงพอใจในความก้าวหน้าหรือนวัตกรรมของชีวิตในเมือง
ในพื้นที่บริเวณของ UBPA นี้ ถือว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่งของงาน Expo ในรอบ 150 ปี และเป็นครั้งแรกที่เมืองต่างๆ ได้มีโอกาสในการเข้าร่วมงาน Expo ในฐานะผู้เข้าร่วมงานอิสระ UBPA จะแสดงถึงข้อปฏิบัติ (Practices) ที่ได้ถูกนำไปใช้โดยตัวแทนเมืองต่างๆ ในการปรับปรุงคุณภาพของชีวิตในเมืองและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางของคุณค่าของการมีนวัตกรรมและการได้รับความนิยม
ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2008 ซึ่งเป็นเวลากว่า 1 ปีในการเชื้อเชิญและคัดเลือก กรณีศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้มาออกงาน Expo มีอยู่เป็นจำนวน 59 กรณีศึกษา งานนี้ประเทศจีนลงทุนไปมากๆ ในการพัฒนาประเทศสู่ยุคใหม่ แล้วจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาคนจีนให้เข้าใจโลกาภิวัตน์และความเป็นอยู่ในอนาคต ดังนั้น คนจะมีคุณภาพที่ดีได้ก็ต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีเสียก่อน ผมจึงคิดว่านั่นคือแนวคิดของเขา (แล้วของเราล่ะ คิดกันอย่างนี้หรือไม่ ผมสะท้อนใจจากสภาพที่เห็นบริเวณตลาดเมืองไทยที่ไปมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คือพอดีมีเวลาว่างเล็กน้อยช่วงบ่ายแก่ๆ หลังจากเสร็จภารกิจที่มหาวิทยาลัย ผมจึงพาลูกไปเดินซื้อของที่สะพานเหล็กและคลองถม ไม่เดินมานานแล้ว รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยเราไม่น่าจะได้พัฒนาไปมากเท่าไรนัก)
ในงาน Expo นี้ ประเทศจีนจึงได้นำเอากรณีศึกษาของเมืองในประเทศต่างๆ มาแสดงให้คนจีนได้ดูและได้ศึกษาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเมืองและการดำเนินชีวิตในอนาคต ทำไมผู้นำของเขาสามารถคิดได้ สามารถวางแผนระยะยาวได้ มีการดำเนินงานตามแผนที่ได้วางไว้ นั่นทำให้ประเทศได้พัฒนาไปอย่างนี้ ทั้งหมดนี้อยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำเท่านั้น นอกจากวิสัยทัศน์แล้ว ผู้นำยังต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ถ้าประชาชนอยู่ได้ ประเทศชาติก็อยู่ได้ ไม่ใช่ผู้นำมารีดเอาส่วนแบ่งจากงบประมาณในการสร้างความเป็นอยู่ให้ประชาชน ถ้าประชาชนมีความเป็นอยู่ไม่ดี มีรายได้น้อย ภาครัฐก็เก็บภาษีได้น้อยเช่นกัน งบประมาณก็น้อยลง โกงกินก็ไม่ได้ ถ้าอยากจะโกงกินกันให้มากก็ต้องทำให้รัฐมีรายได้ให้มากขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี ทำงานดี มีรายได้ แล้วก็เสียภาษีให้รัฐ ไม่ใช่ใช้วิธีกู้เอา กู้เอา เพื่อจะได้มีงบประมาณ แต่ประชาชนก็ไม่ได้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อเมืองยกระดับ ชีวิตผู้คนก็จะดีขึ้น ผมคิดว่าความรู้และปัญญาก็จะเกิดขึ้น (แต่กิเลสของมนุษย์ยังคงเดิม) ปัญญาต่างหากที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานของสังคม การโกงกินก็ควรจะน้อยลงหรือสามารถควบคุมได้ ผมไม่ได้บอกว่าจะไม่มี แต่ควรจะน้อยลงไป
กลไกความคิดของผู้นำไทยต่างกับผู้นำจีนอย่างไร ใครบอกได้ไหมครับ? ผู้นำจีนรู้ไหมว่าถ้าไม่วางแผนสำหรับคน 1,300 ล้านคน ความซับซ้อนทั้งในการจัดการประเทศและการดำรงชีวิตของคนจีนเอง คงทำให้ประเทศจีนโกลาหลและจนแน่ๆ แต่ถ้าประเทศจีนสนับสนุนให้ทุกคนทำงานสร้างรายได้ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ชีวิตที่ดีๆ ก็น่าจะมาจากความเป็นอยู่ที่ดีๆ นั่นเอง ใครเป็นคนต้นคิดกันนะ ที่จริงแล้วประเทศจีนก็ไม่ได้ประโยชน์คนเดียวหรอก ประชากรโลกทั้งโลกก็ต้องได้ด้วยจากงานนี้ เพียงแต่ต้องเข้าถึง UBPA ให้ได้ ผมก็ไม่ได้คิดว่าคนไทยหรือผู้นำไทยคิดไม่ได้หรือคิดไม่เป็น ที่มีคิดได้ก็มีอยู่เยอะ มีคิดได้มากๆ ก็มีอยู่เป็นบ้างคน แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือคิดไม่ตลอดรอดฝั่ง หรือคิดในเชิงยุทธศาสตร์ไม่เป็น คิดได้แต่สั้นๆ เท่านั้น
ผมเห็น UBPA แล้วต้องคิดถึงตัวเองและเพื่อนร่วมโลกว่าในอนาคต ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ใครจะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของเรา? กรอบความคิดของเราคงจะไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทยเราแล้ว แต่เป็นขอบเขตของโลกและมนุษยชาติมากกว่า ถึงแม้ว่า UBPA ดูจะไม่โดดเด่นมากนักในงาน Expo ครั้งนี้ ทั้งที่ควรจะโดดเด่น ประเด็นของ UBPA จะสอดคล้องกับ Theme Pavilion และมีความสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตของเราในอนาคต
เรื่องของการมีชีวิตอยู่ในเมืองปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง หากเราลองเดินดูไปตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองต่างๆ ของประเทศไทยเรา ชีวิตความเป็นอยู่ในเมือง ทั้งต่างจังหวัดและในเมืองใหญ่ จะพบว่าสภาพแวดล้อมไม่ได้พัฒนาไปในทางที่ดีนัก ผมคิดว่าเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ในหลายๆ แห่งแย่มากๆ สกปรกมาก ไม่ได้สกปรกเพียงทางกายภาพ แต่เป็นในทางสายตาด้วย จริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ เราก็พัฒนามาและสะอาดขึ้นมาก แต่ผมยังรู้สึกว่าสกปรกในสิ่งที่เราไม่เห็น โดยเฉพาะอากาศที่เราหายใจ เรารู้สึกภูมิใจในอาหารที่วางขายอยู่ข้างถนนที่มีให้เลือกอยู่มากมาย (และเกือบตลอดเวลาในหลากหลายสถานที่ต่างๆ รอบๆ กรุงเทพฯ) แต่เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เรารับเข้าไปนั้นจะมีความปลอดภัยต่อชีวิตเราหรือไม่
ผมกลับมองว่า UBPA ที่แสดงใน World Expo นี้ไม่ใช่นวัตกรรมที่เป็นชิ้นงานหรือชิ้นส่วนของเครื่องไม้หรือเครื่องมือทางเทคโนโลยี แต่กลับเป็นกลุ่มของแนวคิดและการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา นวัตกรรมที่สำคัญ คือ การล้างสมองมนุษย์ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมและรู้จักการอยู่ร่วมกับโลกมากกว่า ใครจะไปรู้ว่า UBPA และเทคโนโลยีต่างๆ อาจจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ถ้าเราไม่เปลี่ยนความคิดเราใหม่ ในทางตรงกันข้าม UBPA อาจจะเป็นบันไดอีกขั้นในการนำพามนุษย์ให้เกิดการเปลี่ยนใจเปลี่ยนความคิดในการใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ เพราะว่าโลกเราจะพังก็เพราะน้ำมือเรา ที่จริงจะเรียกว่าโลกของเราไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่เจ้าของโลกนี้ เราเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยเท่านั้น และเป็นผู้อยู่อาศัยที่เนรคุณต่อโลกมาโดยตลอด ทำลายโลกโดยไม่ได้อะไรที่ดีให้คืนต่อโลกเลย
ผมว่าประเทศจีนเข้าใจในประเทศเหล่านี้ ดังนั้น เครื่องยนต์ต่างๆ ในงานจึงเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น (ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า 8 ที่นั่งสำหรับชมงาน และรถเก็บขยะ) มีการนำรถไฟฟ้ามาใช้ภายในงานและอีกหลายบริเวณของเมืองเซี่ยงไฮ้ เพราะว่านั่นเครื่องเป้าหมายที่จะต้องถูกพัฒนาไป เมืองเซี่ยงไฮ้มีประชากรประมาณ 20 ล้านคน บนพื้นที่ 1,000 ตารางกิโลเมตร มีตึกที่สูงๆ เป็นพันแห่ง จากข้อมูลที่ฟังคนจีนบอกเล่ามา ผมอยู่เซี่ยงไฮ้ประมาณ 6 วัน ผมรู้สึกสบาย ไม่ได้เป็นหวัดหรือไอแต่อย่างใด แต่เมื่อผมกลับมาถึงสุวรรณภูมิ ขึ้นแท๊กซี่กลับบ้านเท่านั้น ผมรู้สึกเจ็บคอทันที รู้สึกว่าอากาศไม่ค่อยสะอาดเท่าไรนัก นั่นน่าจะเป็นอะไรที่น่ากังวลมากๆ สำหรับคุณภาพชีวิตของคนเมืองอย่างผมและพวกเรา
แล้วเราจะนำเอาแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมจากงาน Expo ครั้งนี้มาใช้ได้อย่างไร สิ่งสำคัญ เราคงจะต้องสร้างนวัตกรรมทางสังคมของคนไทยเรากันเองเสียก่อน เพื่อที่จะรับนวัตกรรมทางกายภาพที่เป็นสากลต่างๆ เข้ามา เราต้องเตรียมความพร้อมของสภาพความคิด ระดับของความคิดและจิตใจ ผลที่ได้คือ ความมีระเบียบ มีวินัยในสังคม เราเคยคิดว่า ประเทศจีนยังล้าหลัง ไม่มีระเบียบ เวียดนามก็ยังไม่เป็นระเบียบเลย แต่ถ้าประเทศเหล่านี้สามารถควบคุมสังคมได้ สร้างระเบียบและวินัยให้เกิดขึ้นได้ในสังคม นวัตกรรมต่างๆ ก็จะถูกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วประเทศไทยมีระเบียบวินัยอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเรานั้นยอมรับได้หรือไม่ มันเป็นแค่ความสบายง่ายๆ ที่ทุกคนต้องการ แต่กลับสร้างความไม่เป็นระเบียบและไม่มีวินัยทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญของประเทศไปโดยไม่รู้ตัว ยิ่งขณะนี้ประเทศเราสับสนในความคิด ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก้าวล้ำข้ามความก้าวหน้าทางด้านจิตใจหรือสังคมไทยของเราไป เพราะความไม่พร้อมของระเบียบและวินัยทางสังคมจึงทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างการใช้นวัตกรรมกับระดับความตระหนักและความมีวินัยของผู้คนในสังคม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เห็นได้จากเหตุกาณ์ทางการเมืองที่ผ่านมานั่นเอง
สำหรับประเทศจีนนั้น ผมคิดว่าเขากำลังพัฒนาทั้ง 2 ด้าน คือ นวัตกรรมทางกายภาพ และพัฒนาสังคมของเขาให้เจริญไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่มีอยู่ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของเขา เราเองต้องลองมองย้อนกลับมาดูประเทศไทยว่า เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเรา ถึงแม้ว่า เราทุกคนจะปลอบใจตัวเราเองว่า จงทำตัวเองให้ดีที่สุด ผมว่ามันก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเท่าไรนัก เหมือนกับการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ที่มีผู้เล่นที่ต่างคนต่างเล่น ถึงแม้ว่าทุกคนจะเล่นในบทบาทของตัวเองให้ดีที่สุด ผลลัพธ์ออกมาก็ไม่น่าจะได้ดีที่สุด การจัดการโซ่อุปทานจึงต้องการผู้นำที่เข้าใจสภาพแวดล้อมที่สร้างคุณค่าให้ลูกค้าหรือประชาชน ผู้นำที่เข้าใจคุณค่าของสมาชิกทุกคนในโซ่อุปทาน ผู้นำที่ประสานผลประโยชน์และสร้างภาวะการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ของทุกคนเพื่อให้ผลประโยชน์สูงสุดของโซ่อุปทานประเทศ และจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของทุกคน แต่อาจจะไม่ใช่ผลประโยชน์สูงสุดในเวลานั้น และที่สำคัญผู้นำจะต้องนำการเปลี่ยนแปลง (Leading Changes) ได้จะต้องมีความพร้อมในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสำหรับโครงสร้างโซ่อุปทาน
ผู้นำจีนอาจะไม่รู้จักเรื่องการจัดการโซ่อุปทานแบบเป็นทางการ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้นำจีนกำลังทำอยู่ คือ การจัดการโซ่อุปทานของประเทศจีน (National Supply Chain) โดยเฉพาะโครงสร้างของเมืองซึ่งประกอบไปด้วยโซ่อุปทานที่สร้างคุณค่ามากมายที่ผลต่อเศรษฐกิจและต่อคนในโซ่อุปทานเอง เมืองถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นการไหล (Flow) ของทรัพยากรต่างๆ ในการสร้างคุณค่าสำหรับทุกๆ โซ่อุปทาน ผู้คนที่อยู่ในเมืองที่มีหน้าที่ในการสร้างคุณค่าให้กับโซ่อุปทานต่างๆ ของเมือง ถ้าเมืองมีความพร้อม คนในเมืองก็จะมีชีวิตที่ดี คนในเมืองนั้นจึงสามารถใช้กำลังความคิดที่ดีในการพัฒนาทั้งเมืองและโซ่อุปทานไปด้วยกันได้ คุณค่าที่เพิ่มขึ้นหรือพัฒนาขึ้นก็จะเป็นผลประโยชน์กลับคืนมาสู่คนและเมือง นั่นเป็นความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ที่มีความสำคัญต่อสังคมโลกอย่างยิ่ง อยากให้เมืองไทยซึ่งก็มีคนคิดอย่างนี้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีโอกาสที่จะนำเสนอหรือนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถนำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้บ้าง
อยากฝากท่านผู้อ่านไปลองคิดดูนะครับ อาจจะยากไปสักนิด แต่โลกนี้ไม่มีอะไรง่ายหรอกครับ ถ้าเราอยากจะพัฒนา สิ่งที่ยากที่สุดก็คือจิตใจและความคิดของเรา รวมทั้งจิตใจและความคิดของคนอื่นๆ ที่เราอยากจะให้เขาเปลี่ยนไปตามเรา แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ แล้วสิ่งที่เราคิดนั้นถูกแล้วหรือ? ใครจะตอบได้ ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ มันแสดงให้เห็นอยู่ที่สังคมมากกว่า เราเห็นจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราว่า สังคมทนต่อแรงเสียดทานได้มากน้อยหรือไม่ สังคมเรามีความเปราะบางมากน้อยแค่ไหน สังคมเรารองรับการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ผมอยากให้เราไปเที่ยวและดูงานแล้วได้คิดต่อ และกลับมาทำอะไรให้เกิดประโยชน์บ้าง
แล้วคุยกันใหม่ครับ!
อ.วิทยา สุหฤทดำรง
นำ ประสบการณ์ เที่ยว Shanghai Expo 2010 มา เล่า แนะนำ เดินชม อย่างไร ไปตอนไหน น่าสนใจ
วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553
Shanghai Expo 2010 - Part 7 Innovations in Shanghai Expo 2010
10:33
จีน, เซี่ยงไฮ้, ศรีปทุม, Shanghai, Shanghai Expo 2010, World Expo