วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 8 กว่าจะมาเป็นงาน World Expo 2010: จากท่านผู้นำประเทศ สู่ท่านผู้ชมงาน

ผมเห็นข่าวงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ในหน้าหนังสือพิมพ์และทีวีในเมืองไทยมาตลอด ผมรู้สึกว่าเรายังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของงาน World Expo นี้กันเท่าไร ผมยังได้ยินคนพูดถึงงานนี้กันอย่างกว้างขวาง บางหน่วยงานบางบริษัทได้จัดเตรียมให้พนักงานเดินทางไปดูงาน World Expo กัน บ้างก็ไปเที่ยวกันจริงๆ บ้างก็ไปทำงานกันจริงๆ จังๆ ข่าวในโทรทัศน์บอกว่า “ศาลาไทย” หรือ “Thailand Pavilion” ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ติด 1 ใน 7 ของ Pavilion ที่มีผู้เข้าชมสูงสุด มีการกล่าวว่า “น่าภูมิใจที่เราจะได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยต่อสายตาชาวโลก” ผมกลับเห็นแย้งว่าเราอย่านึกถึงงานนี้ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเป็นอันขาด ในมุมมองของผมนั้น มันเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าจะให้ผมพูดต่อไปก็คือ ถ้าอยากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย ก็อย่าแสดงให้เห็นเพียงศิลปะวัฒนธรรมไทยทั่วไปที่เราพยายามจะบอกกับชาวโลกว่าของเราดีนักหนา สิ่งนันคงขายได้ไม่นาน มันคงเป็นเพียงประสบการณ์แค่ครั้งเดียวก็เพียงพอ ใครจะมาชื่นชมเรามากมายตลอดทั้งชีวิตของเขา เขาก็มีชาติบ้านเมืองของเขาและวัฒนธรรมของเขาเองให้ชื่นชม เราคิดกันได้แค่นี้จริงๆ หรือครับ?

ถ้าเราจะขายวัฒนธรรมกันจริงๆ แล้ว ก็ต้องเอาอย่างอเมริกัน ญี่ปุ่น เกาหลี พวกเขาขายวัฒนธรรมกัน “ทุกๆ วัน” สร้างใหม่ขึ้นมาเลย แล้วก็ขายได้เลย พวกนี้ไม่ต้องมีชาติหรือประวัติศาสตร์ให้รุ่งเรืองในอดีต เอารุ่งเรืองร่ำรวยในวันนี้เลย เอาเงินจากกระเป๋าเรานี้เอง พวกนี้เป็นนักขายกันจริงๆ ขายได้แล้ว ขายได้อีก ขายกันแบบเป็นมวลชนหรือเป็น Mass หากไม่เชื่อ ให้ลองส่องกระจกตัวเองว่าในตัวเราเองมีความเป็นอเมริกัน ญี่ปุ่น เกาหลีมากน้อยเพียงใด นั่นคือ การขายวัฒนธรรม สรุปแล้ว ผมว่าเราไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจคำว่าวัฒนธรรมเลย เราน่าจะขายวัฒนธรรมไม่เป็น แล้วหลงไปว่าตัวเองดีนักหนา มีวัฒนธรรมที่ดี คนทั่วโลกน่าจะเอาไปใช้ได้ ซึ่งไม่จริงเลย เขาแค่ชื่นชม “ชั่วครั้งชั่วคราว” เท่านั้น

สำหรับงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ ต้องขอบอกก่อนว่า “ไม่มี” การขายสินค้านะครับ บางคนจะไปดูงานอยู่แล้ว ยังถามอยู่เลยว่ามีสินค้าอะไรน่าจะนำกลับมาขายเมืองไทยได้บ้าง มีแต่แนวคิดที่นำกลับมาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ เสียแต่ค่าผ่านประตู แต่เราจะนำแนวคิดหรือถอดแนวคิดจากสิ่งที่ประเทศต่างๆ ที่นำเสนอได้หรือไม่ สำหรับศาลาไทยนั้นมีชื่อแนวคิดคือ “ความเป็นไทย วิถีแห่งความยั่งยืนของชีวิต (Thainess : Sustainable Way of Life)” ดูแค่ชื่อแล้วผมก็ชอบครับ แต่ต้องไปดูเอง เพราะชื่อแนวคิดหรือ Theme ที่ตั้งขึ้นมานี้สอดคล้องไปกับ Theme ของงาน แต่ทำไมเวลาประชาสัมพันธ์หรือคนที่เข้าไปดูแล้ว มักจะออกมาด้วยความชื่นชมว่า “เป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่ดี” ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการจัดงานมากๆ เพราะไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยว อาจเป็นเพราะว่าคนที่เข้าไปชมงานอาจจะยังไม่เข้าใจแนวคิดหลักของการจัดงาน World Expo ที่มีแนวคิด Better City, Better Life แม้แต่คนไทยที่เข้าไปดูแล้วยังไม่เห็นแก่นหรือ Theme ของการนำเสนอ อาจจะเป็นที่การนำเสนอเองด้วยหรือไม่ แต่ผมว่าไม่น่าจะใช่ คงเป็นเพราะผู้ที่เข้าชมไม่ได้รับข้อมูลและไม่ได้ทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการจัดงาน World Expo

ที่จริงแล้ววิถีไทยของเราแต่โบราณก็มีแนวทางการดำรงอยู่ของความเป็นเมืองและสังคมที่สงบและเรียบง่าย เพียงแต่เราจะต้องเข้าใจและถอดรหัสวัฒนธรรมการดำรงชีวิตอยู่ของคนไทยออกมานำเสนอสำหรับผู้ที่เข้าชม มองหรือศึกษาให้เห็นแก่นหรือแนวคิดหรือความเป็นนามธรรม เพื่อว่าผู้ที่เข้าชมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หรืออาจจะเป็นการสร้างความมั่นใจในการลงทุนกับไทย หรือเกิดความมั่นใจในความเป็นไทยในฐานะที่พวกเขาจะต้องเข้ามาติดต่อการค้ากับไทยหรือใช้สินค้าไทยในอนาคต ถ้าวิถีไทยถูกถอดรหัสจากความเป็นไทยในเชิงรูปธรรมสู่ความเป็นนามธรรม และสามารถนำออกไปใช้ในบริบทอื่นๆ ของประเทศต่างๆทั่วโลกจนได้เป็นรูปธรรมต่างๆที่มีประโยชน์ต่อพวกเขา ผลตอบแทนจะกลับเข้ามาสู่ประเทศในรูปแบบต่างๆ ในอนาคตได้ ตัวอย่างที่ดีคือ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่มีความเป็นนามธรรมมาก (แต่หลายคนตีความผิด) ซึ่งที่จริงสามารถนำไปประยุกต์ได้ในหลายๆ บริบท

งาน Expo ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้มีอยู่ 2 ประเภท คือ Registered และ Recognized งาน Expo ประเภท Registered บางครั้งเราก็เรียกว่า Universal Expositions ซึ่งมีนิทรรศการแสดงแนวคิด (Theme) ต่างๆรวมทั้งแนวคิดที่ใหม่ๆ หลากหลายออกไป ระยะเวลาการจัดงาน Expo ประเภทนี้ คือ 6 เดือน และช่วงห่างของการจัดงาน Registered Expo คือ 5 ปี ส่วนงาน Expo ประเภท Recognized หรือเรียกอีกอย่างว่า Specialized Expo ซึ่งจะเป็นงาน Expo ที่เจาะลึกเป็นเรื่องๆ ไป โดยปกติงานประเภทนี้จะมีระยะเวลาในการจัดงานประมาณ 3 เดือน และจะจัดในช่วงระยะห่าง 5 ปี ของการจัดงาน Registered Expo งาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ครั้งนี้ ถือว่าเป็นงาน Registered Expo ซึ่งสังเกตได้จากปีที่ลงท้ายด้วย 0 หรือ 5 (เช่น ค.ศ. 2010, 2015)

หลายคนอาจจะคิดว่าประเทศไทยน่าจะจัดประเภทนี้ได้บ้าง เราก็ได้เคยเป็นเจ้าภาพการจัดงานใหญ่ๆ ระดับโลกมาหลายงาน ลองมาดูกันครับว่าประเทศจีนเขาทำกันอย่างไร เริ่มที่เมื่อ 20 กว่าปีเมื่อปี 1985 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดงาน ถึงแม้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่มีการดำเนินการอะไรต่อในปีต่อมา แต่ประเด็นของการเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Expo ก็ยังอยู่ในวาระเสมอ จนมาถึงปี 1993 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่งสำหรับการเป็นเจ้าภาพงาน World Expo นี่

ในปี 1999 ประเทศจีนได้เป็นประเทศแรกที่ประกาศตัวเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo ในปี 2010 และในปีนั้น ประเทศจีนก็ได้มีโอกาสที่ส่งตัวแทนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบริหารของ BIE (International Exhibition Bureau) ในปี 2000 ทางการจีนได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อนำเสนอการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo และประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่ได้ยื่นเอกสารข้อเสนอการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2010 ต่อ BIE เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2002

ตั้งแต่งาน Expo ครั้งแรกที่กรุงลอนดอนในปี 1851 การจัดงาน World Expo 2010 นี้นับเป็นครั้งแรกที่มี 5 ประเทศเข้ามาแข่งขันเพื่อยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงานในเวลาเดียวกัน จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่างาน World Expo มีเสน่ห์และมีอิทธิพลต่อประชาคมโลกเพียงใด ในวันที่ 3 ธันวาคม 2002 เป็นวันที่เมืองเซี่ยงไฮ้ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ประเทศจีนจึงถือเป็นประเทศแรกของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo

ประธานาธิบดี หูจินเทา ได้กล่าวไว้ว่า “เราควรจะใช้ทรัพยากรทั้งหมดของประเทศและเก็บเกี่ยวภูมิปัญญาของโลก เพื่อที่จะทำให้ งาน Expo ที่เซี่ยงไฮ้เป็นงาน Expo ที่ประสบผลสำเร็จ และเป็นงาน Expo ที่มิอาจลืมเลือนได้” หลังจากนั้นทางการจีนได้จัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อ สำนักงานประสานงาน Shanghai World Expo เพื่อเป็นหน่วยงานในการวางแผนและดำเนินงานเพื่อให้เกิดเป็นงาน World Expo ในวันนี้

เมื่อเราได้ทราบถึงขั้นตอนและความพยายามในการจัดงาน World Expo ของประเทศจีนแล้ว ทำให้เราเห็นพลังและแรงใจรวมทั้งจิตวิญญาณของความเป็นจีนที่ต้องการแสดงให้ทั้งโลกได้เห็น และเราก็ได้เห็นมาผลแล้วในการจัดงานกีฬาโอลิมปิค 2008 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยที่การวางแผนและการดำเนินตามแผนงานที่วางไว้เป็นเวลานานนับสิบปีจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การบริหารงานของหลายรัฐบาลหรือผู้นำหลายคนตามวาระการบริหาร

งาน World Expo ที่เซี่ยงไฮ้คาดหวังว่าจะมีผู้เข้าชมกว่า 70 ล้านคนตลอดระยะเวลาจัดงาน 6 เดือน (เขาว่ากันว่า Disney Land 10 แห่งทั่วโลก มีผู้เข้าชมเกือบ 120 ล้านคน หรือไม่ถึง 60 ล้านคนในระยะเวลา 6 เดือน ลองเปรียบเทียบกันนะครับ) รวมทั้งมีประเทศที่เข้าร่วมกว่า 200 ประเทศ ซึ่งคาดว่าตัวเลขหรือจำนวนต่างๆ ในงาน Expo ครั้งนี้จะเป็นประวัติการณ์ที่จะทำลายสถิติของงาน World Expo ทุกครั้งที่ผ่านมา ผมได้อ่านคำกล่าวของประธานาธิบดีจีนที่ผมได้คัดลอกมาก่อนหน้านี้แล้ว ผมรู้สึกบอกไม่ถูก ประเทศจีนผู้ยิ่งใหญ่ไม่ได้บอกตัวเองเลยว่าตัวเองเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ทั้งๆ ที่มีวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน แต่ท่านผู้นำกลับบอกว่า “ให้เราทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดในการเก็บเกี่ยวภูมิปัญญาของโลก” ก็เป็นอย่างที่ผมได้วิเคราะห์ไปในตอนต้นๆ (ตอนไหนก็จำไม่ได้แล้วครับ) ว่า ประเทศจีนได้นำเอาภูมิปัญญาของโลกทั้งโลกมาไว้ที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อให้คนจีนและคนอื่นๆ ทั้งโลกได้ศึกษา เพื่อค้นหาตัวตน และพัฒนาตัวตนขึ้นใหม่สำหรับอนาคต เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและอย่างยั่งยืน

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า งานใหญ่ๆ อย่างนี้จะต้องอาศัยภาวะผู้นำและกระบวนการจัดการที่เป็นระบบเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะเป้าหมายทางสังคม คณะกรรมการจัดงานคงจะต้องอาศัยการประสานงานจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างสรรค์ วางแผน และดำเนินงานเพื่อมาเป็นงาน World Expo ที่เราได้ไปชมมา (หรือกำลังจะไปชม) เรามาลองนึกดูว่า ถ้าเราหรือประเทศไทยเราจะจัดงานประเภทนี้ เราจะทำอย่างไร ผมคิดว่าเรามีศักยภาพพอ มีความรู้และมีประสบการณ์แต่ในเพียงระดับหนึ่ง อะไรควรจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ อะไรเป็นสิ่งที่ประเทศจีนมี แต่เราไม่มี และอะไรที่ทุกประเทศสามารถมีได้ ประเทศไทยอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo หรือแม้แต่กีฬาโอลิมปิค แต่เราก็สามารถที่จะเข้าร่วมงาน World Expo ได้ แต่คงจะไม่ใช่ ไปแสดงสินค้าหรือไปแสดงความเป็นไทย และคิดว่าตัวเองดีกว่าชาติอื่นๆ แต่เราจะต้องไปแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทยเพื่อที่จะแบ่งปันให้กับชาวโลกเพื่อให้เกิดพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน และขณะเดียวกันก็สร้างความพร้อมของตัวเองและเปิดใจด้วยความถ่อมตัวในการไปเรียนรู้ภูมิปัญญาของโลกที่ทุกประเทศนำมาเสนอ

ดังนั้นเราจะไปงาน World Expo ทั้งที ก็คงจะไม่ได้แค่เตรียมเงินไป Shopping กันอย่างเดียวนะครับ แต่เราจะต้องความพร้อมทางด้านปัญญาและความใจกว้างในการเรียนรู้ภูมิปัญญาของโลก โดยเฉพาะแนวคิดของการพัฒนาเมืองเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งแนวคิดนี้จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของเราโดยตรงในปัจจุบันและอนาคต

แล้วคุยกันใหม่ครับ!

อ.วิทยา สุหฤทดำรง


นำ ประสบการณ์ เที่ยว Shanghai Expo 2010 มา เล่า แนะนำ เดินชม อย่างไร ไปตอนไหน น่าสน