วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Meeting - วิพากษ์ยุทธศาสตร์งานวิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน 1 มิ.ย. 54 ตอนที่ 2

ผมได้เคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำแผนยุทธศาสตร์วิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อประ มาณต้นปี 54 ผมก็ไม่ได้มีความเห็นแย้งในภาพใหญ่ มันต้องไปในทางนี้อยู่แล้ว และในทิศทางเดียวกันนั้นผมสนับสนุนกิจกรรมทั้งหมดที่อ.ดวงพรรณและทางสกว.และทางวช.กำลังดำเนินการอยู่ ผมว่ามันเป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อนพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำความเข้าใจเรื่องลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาพใหญ่ในระดับประเทศ หรือมันอาจจะต้องลดระดับการเรียกชื่อหรือการนิยามตัวตนออกมาว่าเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไปก่อนหรือไม่ ถอยหลังออกมาตั้งตัวหรือคุยกันให้เข้าใจเสียก่อนดีไหม?

มีงานวิจัยนะครับเมื่อ ปี 2010 ของฝรั่งนะครับ เขาวิจัยกันเรื่อง ความเข้าใจและคำนิยามของโซ่อุปทาน ซึ่งก็ยังมีอยู่หลายคำนิยาม จนมีการสรุปว่า ถ้าเรายังเข้าใจไม่ตรงกัน การพัฒนาเรื่องการจัดการโซ่อุปทานก็คงจะเป็นไปได้ยากหรือไม่มีประสิทธิภาพ หรือเพราะว่าโซ่อุปทานอาจจะเหมาะในระดับอุตสาหกรรมหรือองค์กรเท่านั้นก็ได้ ผมก็เคยคิดอย่างนั้น แต่ว่าถ้าโซ่อุปทานมีตัวตนและใช้ได้จริงในสังคมระดับเล็ก โซ่อุปทานก็น่าจะใช้ได้ในสังคมระดับใหญ่ขึ้นได้ แต่แนวทางหรือ Approach ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ก็คงจะแตกต่างกันออกไป ต้องมีการนิยามและต้องได้รับการยอมรับกันในระดับสังคมที่ใหญ่ขึ้นไปอีก

ความเห็นส่วนตัวที่ผมเห็นยุทธศาสตร์วิจัยนี้แล้ว ผมคิดว่าตัวยุทธศาสตร์เองก็ยังไม่ได้มีความเป็นโซ่อุปทานเท่าใดนัก เราอาจจะยังไม่ได้มองเห็นถึงองค์รวมของโซ่อุปทาน และยิ่งตัวยุทธศาสตร์ใช้คำว่าแห่งชาติด้วยแล้ว หรือเพราะโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในประเทศเราเป็นโซ่อุปทานชั้นต่ำที่ยังไม่พัฒนา มีความเป็น Silos สูงกว่ามาตรฐานสากล ผมว่าเราน่าจะมากำหนดหรือตัวตนของความเป็นโซ่อุปทานของชาติกันก่อนดีไหม? เพราะถ้าเราเขียนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของชาติออกไปโดยที่เราเองก็ไม่เข้าใจโซ่อุปทานแห่งชาติว่ามันคืออะไรและอยู่ตรงไหนกันบ้าง มีใครที่เกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง เหมือนกับการวางแผนการเล่นฟุตบอลของทีมไว้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่รู้เลยว่าใครจะลงเล่นในตำแหน่งไหนกันบ้าง

เอาว่าเป็นตัวผมเองยังไม่เห็นตัวลอจิสติกส์หรือโซ่อุปทานของชาติเลย ไม่ใช่ไม่มีครับ มีแน่นอนแต่ถ้าเราไม่ได้กำหนดออกมา เราไม่ได้ทำ Framework ที่เข้าใจร่วมกัน แล้วเราจะไปวิจัยอะไรที่เป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจริงๆได้ล่ะครับ ถ้าจะเขียนกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของชาติออกมาแล้วก็คงจะมีกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องมากมายเลย และมันไปแตะไปเกี่ยวข้องกับแทบทุกกิจกรรมนะครับ ในมุมมองของผมนะ คนอื่นๆ อาจจะเห็นต่างกันออกไป ตรงนี้ล่ะครับที่ผมว่ามันยาก แต่เราก็ไปแตะเอากิจกรรมย่อยที่เป็นส่วนๆ ที่เป็น Silos ใช่ครับกิจกรรมที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน แต่ตัวกิจกรรมเองอย่างเดียวนั้นมันยังไม่ได้เป็นโซ่อุปทาน เรายังไม่ไปให้ความสนใจในความเป็น Network Structure และการมี Interactions ต่อกัน เพื่อรองรับความเป็น Dynamics ของบริบท ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญที่สุด
ในตอนช่วงท้ายของการประชุมในวันที่ 1 มิ.ย. 54 ผมก็ได้ยกประเด็นถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัยของอุตสาหกรรมต่างๆในฐานะ Users หรือเป็นส่วนหนึ่งในโซ่อุปทาน ผมก็ยังเห็นว่าเป็นการเข้ามาร่วมอย่างเป็น Silos กันอยู่ ยังไม่เป็นโซ่อุปทาน ไม่ได้พิจารณาทั้ง Chain ท่านอาจารย์ดร.กฤษณ์ ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องการเข้ามาร่วมงานวิจัยของ Users ที่เป็นอยู่ ก็เข้ามาอย่างเป็น Silos กันอยู่ แล้วจะเป็นโซ่อุปทานกันอย่างไรล่ะ ถ้ายิ่งคิดกันไปเรื่อยๆ โซ่อุปทานก็คงจะใหญ่มากจนนักวิจัยอาจจะทำอะไรไม่ได้ แล้วเราจะทำวิจัยกันอย่างไรเล่า ต้องมีวิธีสิครับ!

ผมเองได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว เพราะว่าท่านอาจารย์สมพงษ์ท่านกลับไปก่อน แต่ก็แวะมาแซวผมก่อนกลับว่า “วันนี้ยังไม่เห็นพูดอะไรเลย” แต่ก็ไม่ได้ทันตอบอาจารย์ไปว่า “หิวข้าวครับ” ท่านก็เดินไปเสียก่อน ผมมองว่าความเป็นโซ่อุปทานนั้นจะต้องมองที่ปลายทางหรือปลายท่อ คือ ถ้าจะดูโซ่อุปทานของชาติแล้ว จะต้องมองเห็นว่าเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศนั้นทุกบาททุก สตางต์นั้นมาจากไหน มาจากคุณค่าในรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการตัวใดบ้าง ต้องเห็นลูกค้าหรือผู้ใช้ประโยชน์จากคุณค่านั้นๆ ต้องเห็นผู้สร้างและผู้นำส่งคุณค่าต่างๆ ในโซ่อุปทานก็คือ เจ้าของกระบวนการและกระบวนการทั้งหมดที่ทำให้เกิดคุณค่านั้นๆ พอพูดกันอย่างนี้ หลายคนคงจะร้องเป็นแน่แท้ เพราะว่ากว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการแต่ละตัวนั้น จะต้องผ่านใครหรือกระบวนการอะไรมาบ้าง ผมว่ามันยุ่งยากมากๆ มันใหญ่นะครับ แต่ถ้าเราไม่มองอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่โซ่อุปทานแห่งชาติสิครับ ผมพยายามจะเปรียบเทียบว่า ความเป็นหัวใจของคนเรานั้น หัวใจจะเป็นหัวใจอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมันยังติดอยู่กับร่างกายและทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อควักหัวใจออกมาจากร่างกายแล้ว ความเป็นหัวมใจก็หมดไป ลอจิสติกส์ก็เช่นกัน เมื่อเราดึงกิจกรรมลอจิสติกส์ออกจากโซ่อุปทานแล้ว กิจกรรมนั้นก็หมดความเป็นลอจิสติกส์ไปทันที ดังนั้นประเด็นของความเป็นโซ่อุปทานจะอยู่ที่ในระดับปฏิบัติการ (Operation) ซึ่งจะเป็นระดับของการสร้างคุณค่าและเป็นเป้าหมายของโซ่อุปทานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

ถ้าเราจะศึกษาโซ่อุปทานหรือวิจัยปรับปรุงโซ่อุปทานแล้ว เราจะต้องเห็นปลายทางของโซ่อุปทานที่สร้างประโยชน์ให้กับคนหรือมนุษย์เป็นเป้าหมายที่สำคัญ และที่สำคัญรองลงมาก็จะต้องเห็นกระบวนการทั้งหมดของโซ่อุปทาน ดังนั้นถ้าเราจะทำวิจัยเรื่องโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แล้ว (คราวนี้ผมจะต้องเปลี่ยนมาเป็นโซ่อุปทานนำหน้าบ้างแล้ว เพราะว่าโซ่อุปทานนั้นศักดิ์และสิทธิ์มากกว่าลอจิสติกส์เยอะมาก) เราก็ต้องมอง ให้ตลอดลอดฝั่งตั้งแต่ต้นชนปลาย (End to End) แต่ทำไมเราไม่ให้ความสำคัญกันอย่างจริงจังมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าลอจิสติกส์นั้นเดินไปไม่ได้ ถ้าไม่มีโซ่อุปทาน แต่เราก็ยังเล่นการเมืองกับว่าคำว่า “โลจิสติกส์” เล่นการเมืองกับนักการเมืองที่เอาลอจิสติกส์มาทำกันเล่นๆ เออ!ไม่ใช่สิ เขาเอาจริงๆ แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว รู้จริงหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่ก็ไม่เคยไปแตะให้ถึงความเป็นโซ่อุปทานกันจริงๆ เลย เห็นแล้วเซ็งๆจริงครับท่าน คือ ผมไม่มีอะไรจะเสียหรือจะแลกอะไรกับใคร เอาความเป็นจริงมาพูดกันดีกว่า ว่าถ้าจะให้ดีแล้ว ควรจะทำกันอย่างไรกันดีครับท่าน

หลายๆคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าผมจะพูดอะไร ดูวนๆ ไปมา ใช่ครับผมวนๆ ไปมาแน่ ผมค่อนข้างจะเกรงใจคนทำงานชิ้นนี้เป็นอย่างมาก พวกเขาลงแรงด้วยความหวังดีจริงๆ แต่บริบทของประเทศมันไม่เป็นใจด้วยเลย ไม่อยากจะพูดมาก แต่ก็อดไม่ได้ เพราะมันอัดอั้นในใจ คิดว่าแล้วเราเล่นอะไรกันอยู่กับเกมระดับชาติ เราใช้คำว่าแห่งชาติ แล้วเรามีอะไรที่เป็นแห่งชาติรองรับหรือไม่ เรามีแต่คำว่าชาติที่เราใช้เรียกตัวเองว่าเป็น “ชาติไทย” ที่จริงแล้วเราอาจจะไม่ได้มีชาติอยู่เลยก็ได้ เราเรียกกันไปเอง ประเทศไทยนี้ไม่ได้เป็นชาติเลย เป็นแค่กลุ่มคนที่มาหาผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้นเอง ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะมัวแต่ขัดขากันเอง

ผมมองความเป็นโซ่อุปทานแห่งชาติคือ ความเป็นชาติ ความเป็นองค์รวมของคนในประเทศ มันถึงเป็นประเทศชาติได้ แล้วเราจะทำ XXXX แห่งชาติไปทำไมกัน ผมไม่เห็นจะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมือง Care หรือสนใจอะไรเลย ผมก็หวังว่ายุทธศาสตร์ที่อาจารย์ทั้งหลายลงแรงทำไปนั้น อาจจะไม่ได้ Outcome ดังที่หวัง ฉะนั้นอาจารย์ทั้งหลายก็อาจจะลงแรงไปฟรีๆหรือไม่คุ้มเลย แต่ถ้าเรามีความเป็นชาติหรือมีความเป็นโซ่อุปทานมากกว่านี้ ผมว่าอาจารย์คงจะไม่ทำยุทธศาสตร์ออกมาแบบนี้หรอกครับ ผมว่าโจทย์ที่อาจารย์ได้รับ มันห่วย บริบทและข้อมูลมันห่วยนะครับ มันแย่ มันก็ได้แค่นี้จริงๆ อาจารย์ทั้งหลายจะยอมรับหรือไม่ ผมน่ะยอมรับได้ และพยายามจะไม่หลอกตัวเองอีกต่อไปว่า “เราน่ะไม่ได้เรื่องจริงๆ” แต่ไม่ต้องกลัวครับประเทศเราจะไม่ถอยหลังไปกว่านี้อีกแล้ว เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันคู่แข่งขันของเราก็นำหน้าเราไปไม่รู้กี่ช่วงตัว เราก็คงพัฒนาไปอย่างแน่นอนเพื่อวิ่งตามหลังเขาให้ทันในตำแหน่งรั้งท้าย เอาล่ะผมพยายามจะคิดในแง่บวก ผมไม่ได้หมดกำลังใจนะครับ แต่พยายามที่จะไม่หลอกตัวเอง

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าเราพยายามจะช่อมรถยนต์ในส่วนของระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ เราก็ถอดระบบขับเคลื่อนมาซ่อมและปรับปรุง เมื่อทำเสร็จแล้วเราก็จะต้องประกอบคืนกลับเข้าไปในรถยนต์เพื่อให้รถยนต์มันทำงานได้ แล้วเราก็ต้องทดสอบว่ารถยนต์มันวิ่งได้หรือไม่ ด้วยการขับรถยนต์ ระบบต่างๆของรถยนต์เป็นเหมือนกับระบบต่างๆ ในโซ่อุปทานที่ประกอบไปด้วยระบบการผลิตต่างๆ และระบบลอจิสติกส์ต่างๆ ความเป็นโซ่อุปทานก็คือ รถยนต์ที่วิ่งได้ ถ้าเราออกแบบระบบการผลิต ถ้าเราออกแบบระบบลอจิสติกส์ แล้วเราก็อ้างว่า มันเป็นระบบที่ดีเยี่ยมมากเพราะออกแบบมาดีหรือพัฒนามาดี แต่ก็ยังไม่ได้เคยใช้ร่วมกับระบบโซ่อุปทานที่สร้างคุณค่าออกมาให้ผู้ใช้งานหรือใช้ประโยชน์ได้ใช้จริง แล้วเราจะอ้างได้อย่างไรว่า ระบบแต่ละส่วนนั้นจะทำให้โซ่อุปทานสามารถแข่งขันได้และปรับตัวได้

มีประเด็นที่ผมเห็นและที่ผมเคยเสนอไว้ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้มีความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องนั้น แต่ผมก็มั่นใจว่า นี่คือ หนทางของการพัฒนา ถ้าใครต้องการ Literature review ผมมีอยู่ แล้วจะส่งไปให้ครับ เขียนบ่นๆ กันอย่างนี้ ผมขี้เกียจ Cite ครับ นั่นก็คือ ความเป็นองค์รวม (Holistic) อีกความทั้งความซับซ้อนของโซ่อุปทาน (Supply Chain Complexity) ผมยังมองไม่เห็นในประเด็นนี้ในยุทธศาสตร์งานวิจัยนี้สำหรับเรื่องของโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ ส่วนเรื่องของโซ่คุณค่านั้น ผมไม่เถียงว่ามันสำคัญและเป็นประเด็นแรกที่ต้องคิดและตัดสินใจในการปรับปรุงและวิเคราะห์ แต่เป็นเพราะว่าผมมองข้ามช็อตไปแล้ว ทุกๆ โซ่อุปทานที่ผมพูดถึงนั้น ผมรวมเอาโซ่คุณค่าเข้าไว้ด้วยแล้ว เพราะถ้าพูดแค่โซ่คุณค่านั้น เราก็แค่ออกแบบ หรือบอกว่าจะทำอย่างไรและประกอบไปด้วยอะไร มันก็มีต้นทุนที่เกิดจากการออกแรงคิดและออกแบบ แต่ลูกค้ายังไม่ได้สินค้าและบริการ ไม่มีการผลิต ไม่มีการนำส่งให้ลูกค้า ไม่ได้เงินกลับคืนมาน่ะ ไม่มีรายได้ แต่ถ้าเป็นโซ่อุปทานแล้ว นี่สิคือ ของจริง เราเอาโซ่คุณค่ามาสร้าง มาแปลงสภาพทรัพยากรให้เป็นสินค้าและบริการ มีการใช้ต้นทุนและทรัพยากร แล้วขายเอาเงินคืนมาจนเป็นกำไร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นของจริง เป็นสิ่งที่มนุษย์หรือคนได้ประโยชน์จริง เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้

จากโซ่คุณค่ามาเป็นโซ่อุปทาน มัน Take สังคมทั้งสังคมนะครับ มันใช้คน ใช้มันสมอง มันใช้ทรัพยากร มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และเราอยู่ได้ก็เพราะโซ่อุปทานทั้งหลายที่ให้ประโยชน์กับชีวิตเรา ดังนั้นผมจึงไม่ได้มองแค่กระบวนการผลิตหรือขั้นตอนการทำงานเท่านั้น มันมีอยู่หลายๆ ส่วนหลายมิติและในแต่ละส่วนมันเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ซึ่งในแต่การเชื่อมโยงนั้นมันก็มีปฏิสัมพันธ์กัน ถ้าในแผน 5 ปีนี้ ไม่ได้มีการกล่าวถึงหรือมีประเด็นเหล่านี้เป็นฐานความคิด (Foundation) แล้ว ผมคิดว่ามันไม่น่าจะมี Impact เสียเท่าไหร่นัก

ผมจะพูดให้เห็นได้ง่ายเข้าก็คือ ยุทธศ่าสตร์โช่อุปทานและลอจิสติกส์นั้นเป็นยุทธศาสตร์แห่งการบูรณาการและยุทธศาสตร์แห่งการปรับตัว (Adaptive) และการแปลงสภาพ (Transformation) เพื่อความอยู่รอด (Survival) และโดยลำพังของยุทธศาสตร์แล้ว คงจะอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ แต่จะต้องประกอบไปกับยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนกโซ่อุปทานจะอยู่ได้หรือมีผลงานก็จะต้องมีแผนกจัดซื้อ แผนกผลิต แผนกจัดส่ง แผนกขาย วันนี้เรามาทำยุทธศาสตร์วิจัยโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แห่งชาติ ก่อนที่จะวิจัยกันนั้น แล้วโซ่อุปทานแห่งชาติอยู่ตรงไหน แผนจัดซื้อแห่งชาติอยู่ตรงไหน แผนผลิตแห่งชาติอยู่ตรงไหน แผนขายแห่งชาติอยู่ตรงไหน หรือผมว่าพวกเราอาจารย์คิดไปไกลเกินว่าสภาพที่เป็นจริงหรือไม่