เมื่อวันก่อนไปสอบ Thesis ปริญญาโทของนักศึกษาคณะสถาปัตย์ ที่ธรรมศาสตร์ ตอน 2 ทุ่ม สะดวกดีครับ ประหยัดเวลากลางวัน แต่ก็โทรมหน่อยในวันนั้น เพราะมีนัดตั้งแต่เช้า ประเด็น คือ นักศึกษาปริญญาโทท่านนี้ค่อนข้างจะกล้าหาญที่จะคิดนำเอาประเด็นเรื่อง Leanมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการออกแบบเชิงสถาปัตย์ในงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ทั้งๆ ที่ก็เป็นเรื่องใหม่และท้าทายต่อวงการอสังหาฯ เองด้วย โดยเฉพาะเป็นการท้าทายต่อคณะกรรมการสอบ Thesis แต่ค่อนข้างโชคดีว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นวิศวะ Construction management ไปแล้วสองท่าน แถมยังมีผมอีกหนึ่งที่เป็น Industrial Engineering ผมว่าแค่นี้ นักศึกษาก็ผ่านไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการนำเสนอ แต่ผมว่า นักศึกษาไทยเราอ่อนในมุมมองเชิงวิจัยในระดับปริญญาโทและเอก แต่ผมคงจะไม่มาวิจารณ์ในประเด็นนี้มากนัก แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งถามผมมาว่า Lean นี่มันเป็นทฤษฎีหรือไม่ ผมเองก็นิ่งไปสักพักหนึ่ง ก่อนที่จะมีอาจารย์อีกท่านหนึ่งตอบว่า Lean มันเป็นปรัชญา ผมก็เสริมไปว่าใช่ครับ ผมตอบเสริมไปว่า เรื่องของ Lean นั้นมันเรื่องเป็นธรรมชาติ มันเป็นความจริง มันอยู่ในธรรมชาติของความเป็นอยู่ของเรา อยู่ในสังคมของเรา ส่วนทฤษฎีนั้นเป็นเรื่องของเครื่องมือทางความคิดในความต้องการที่จะพิสูจน์ให้รู้จริงและเข้าใจธรรมชาติที่เราพบเห็นนั้น ดังนั้นเราจึงมีทฤษฎีมากมายที่จะพยายามอธิบายธรรมชาติ เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติ
สำหรับเรื่อง Lean นั้น สามารถมองในระดับปรัชญาและในระดับทฤษฎี แต่ถ้ามองในระดับปรัชญาแล้วมันคือ ความจริงและเราได้สัมผัสกับมันอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเราอยู่ในธรรมชาติ เราได้ประโยชน์จากมัน และเราเองก็เสียประโยชน์ถ้าเราไม่ได้ใช้มัน ส่วนทฤษฎีนั้น คือ เครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่มีทฤษฎีไหนสามารถอธิบายธรรมชาติได้ทั้งหมด
เรื่องของลีนนั้นเกิดขึ้นมาจากการดิ้นรนหรือการมีปฏิสัมพันธ์กันเองในสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมมนุษย์จนเกิดเป็นรูปแบบหรือ Pattern ที่ทำให้เกิดการอยู่รอดหรือ Survival เรื่องของลีนจึงถูกนำเสนอได้ทั้งในระดับปรัชญา ทฤษฎี เครื่องมือต่างๆ ในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง แต่ที่แน่ๆ เรื่องของลีน มันเป็นความจริงในสังคมมนุษย์ที่จะต้องปรับตัวให้อยู่รอด ส่วนความเป็นปรัชญานั้นอาจจะเข้าใจกันยากอยู่สักหน่อย เพราะในหลายครั้งก็ยากที่จะอธิบายอยู่แล้ว และด้วยความสับสนในความหมายและความเข้าใจ ความเป็นปรัชญาจึงถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ที่ไม่มีคำตอบอยู่เสมอ ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะผิดเสมอไป เพราะความเป็นปรัชญานั้นก็เกิดขึ้นมาจากการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตนั่นเอง ทั้งในด้านจิตและกายภาพ คำถามที่เกี่ยวกับชีวิตเหล่านี้จึงเป็นแหล่งที่มาของสาขาวิชาต่างๆ ที่เราได้ร่ำเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ เพื่อที่จะเข้าใจชีวิตว่า คือ อะไร? บางครั้งเราเองเรียนหนังสือจนเกือบจะตายอยู่แล้วก็ยังไม่ได้คำตอบว่า เราเกิดมาทำไม ชีวิตคืออะไร ทั้งๆ ที่เราเองก็มีชีวิตอยู่และกำลังใช้ชีวิตอยู่ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วเราจะศึกษาปรัชญาไปทำไมกัน ถ้าไม่ศึกษาปรัชญาแล้ว วิชาการต่างๆ ที่เราศึกษาไปนั้นจะมีผลอย่างไรกับชีวิตเราบ้าง หรือเราอาจจะศึกษากันแค่ให้มีกินมีใช้ เราเองก็ไม่ได้ต้องการรู้อะไรไปมากกว่านั้น ที่จริงแล้วมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของทุกคนที่จะต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องของปรัชญาอะไรๆ ทั้งหลายหรอก วิชานี้เป็นพื้นฐานของสาขาวิชาต่างๆ ทั้งหลายในโลก ทุกคนต้องเคยเรียนมาบ้าง แต่ก็ใช่ว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจและลึกซึ้งถึงขั้นนำเอามาประยุกต์ใช้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้องการเข้าใจให้ถึงแก่นของเรื่องแต่ละเรื่องแล้ว ก็ต้องเข้าใจให้ถึงปรัชญาของมัน
สำหรับปรัชญาของแนวคิดแบบลีนนั้น ก็คงเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่ไม่ว่าจะมีความเป็นลีนหรือไม่ก็ตาม หรือจะไม่ได้มีชื่อว่าแนวคิดแบบลีนก็ตาม หรือจะย้อนรอยกลับไปอีก 100 - 200 ปีก่อนหน้านี้ กิจกรรมหรือความคิดแบบลีนก็ฝังตัวอยู่ในสังคมมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ได้มีความสำคัญอย่างเด่นชัด เพราะว่าสังคมและอุตสาหกรรมยังไม่ซับซ้อนมากนักเหมือนในปัจจุบัน เมื่อมาถึงปัจจุบันปรัชญาของแนวคิดแบบลีนก็คงจะเป็นเรื่องของการตั้งคำถามที่มีความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและผู้สร้างคุณค่าให้เกิดความสมดุลกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความลงตัว โดยปกติแล้วการเปลี่ยนแปลงหรือความพลวัตเป็นคุณลักษณะหนึ่งของธรรมชาติ ดังนั้นธรรมชาติหรือผู้ที่อยู่ในธรรมชาติก็จะต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความลงตัวอยู่เสมอ นั่นเป็นปรัชญาของธรรมชาติหรือชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แนวคิดแบบลีนก็เช่นกัน เลียนแบบธรรมชาติ เพียงแต่เริ่มแรกนั้นแนวคิดแบบลีนได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตหรือในวงจำกัดของการประยุกต์ใช้ แต่เมื่อมีการขยายบริบทให้กว้างขึ้น ความเข้าใจในแนวคิดแบบลีนจะต้องเจาะลึกให้ถึงแก่นแท้หรือปรัชญาเบื้องหลังที่เป็นธรรมชาติของแนวคิดแบบลีน เมื่อเข้าใจแล้วการประยุกต์ใช้ให้เกิดผลก็จะมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้นการพัฒนาความคิดต่างๆ คงจะไม่ใช่แค่คิดให้ออกหรือให้ได้ผล แต่จะต้องคิดให้ถึงรากถึงโคนของแก่นความคิด แล้วจึงแตกออกไปเป็นแขนงวิชาต่างๆ เพื่อทำให้เกิดเป็นผลประโยชน์กับทุกคน