ผมได้มีโอกาสไปบรรยายในงานสัมมนาที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ InterTransport and Logistics ร่วมกับหอการค้าเชียงใหม่เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 53 โดยสายการบินไทย ก็ไม่เช้าเท่าใดนัก ประมาณ 7:30 น. แต่กว่าเครื่องจะลงก็ 9 โมงกว่าๆ แล้ว ต้องบรรยาย 9 โมงครึ่ง จึงรีบกันพอสมควร ผมบรรยายเรื่อง การพัฒนา Supply Chain ในกลุ่ม GMS และ AEC ซึ่งดูทันสมัยมากๆ แต่ผมสิครับ เหนื่อยจริงๆ เพราะมีหลายเรื่องมาก ผมก็ให้ได้แค่มุมมองเท่านั้น เพราะลึกๆ แล้ว ไม่มีรายละเอียดมากนัก เพราะไม่ได้ทำ ถ้าผมพูดไป ก็จะโดนโต้แย้งมาว่าผมไม่ได้ทำอีก แต่ผมว่า ผมพอจะมองออกว่าอะไรเป็นอะไรได้ พอจะอธิบายได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเพราะอะไร ที่จริงแล้วมันควรจะเป็นอย่างไร ตามทฤษฎีแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร
ช่วงบ่ายจะว่าง ก่อนหน้านี้ผมจึงวางแผนว่าจะหาที่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์บ้าง จึงตัดสินใจโทรหา ดร.อภิชาติ โสภาแดง ที่ IE มช. (มหาวิทยาลัยเชียงหม่) แจ้งว่า ผมจะว่างตอนบ่ายวันที่ 15 ก.ค. อ.ช่วยมาเชิญผมไปบรรยายหน่อย (ผมขอร้องเองครับ) ผมอยากทำตัวให้เป็นประโยชน์กับในพื้นที่เชียงใหม่บ้าง ถ้าอ.อภิชาติ เห็นสมควร ผมก็ยินดีและเต็มใจครับ ในที่สุด ดร.กรกฎ ก็ติดต่อประสานงานมาแทน อ.อภิชาติซึ่งต้องเดินทางไปต่างประเทศ อ.กรกฎ หรืออ.เปิ้ล ถามว่าผมอยากพูดถึงเรื่องอะไรให้นักศึกษาที่เรียนปริญญาโทฟังดี ผมจึงเสนอหัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างวิศวกรรมลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์ และบทบาทของ IE ในกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน” อ.เปิ้ลก็ OK ตามนั้น
พอถึงวันที่ 15 ก.ค. ตามนัด อ.เปิ้ลก็มารับที่โรงแรมหลังจากที่ผมบรรยายช่วงเช้าเสร็จ ปรากฎว่ามี Big Surprise ครับ เพราะว่ามี อ.ดร.สิงหา นั่งติดรถมาด้วย และจะร่วมวงสนทนากับผมที่ IE@ มช ผมรู้สึกตื่นเต้นดี เพราะไม่ได้มีโอกาสได้คุยกับ อ.สิงหาในช่วงเวลายาวๆ มาก่อนเลย นึกไปถึงภาพตอนที่จะบรรยายให้นักศึกษาฟัง ถ้าอ.สิงหามาร่วมสนทนาด้วย จะดีมากเลย ดูแล้วจะกลายเป็น 3 Generation ไปเลย
แล้ว อ.เปิ้ลก็พาไปทานก๋วยเตี๋ยวเนื้อครับ อร่อยดีมากครับ จำชื่อร้านไม่ได้ ให้ไปถาม อ.เปิ้ลเองครับ ที่เด็ดมากๆ คือ ไอศครีมแบบรวมมิตร มีซ่าลิ่มพร้อมทับทิมกรอบด้วย แถมมีให้เลือกแบบแห้งหรือน้ำด้วยนะครับ ผมก็ชี้ตามรูป ดูดีครับ ในกรุงเทพผมไม่เคยเจอแบบนี้ครับ แล้ว อ.เปิ้ลก็พาไปดื่มกาแฟร้านริมถนนในคณะวิศวะ มช. บรรยากาศดีมากๆ ครับ เหมือนอยู่เมืองนอก แต่อากาศร้อนไปหน่อยครับ อย่างนี้น่าจะได้มาสอนบ้าง ได้คุยกันไปกับ อ.เปิ้ล และ อ.สิงหาระหว่างนั่งจิบกาแฟ มีอยู่หลายประเด็นเลย แล้วค่อยทะยอยเล่าให้ฟังต่อนะครับ
แล้วก็มาถึงการบรรยายให้นักศึกษาปริญญาโท IE ปกติ และป.โท ลอจิสติกส์ ดูรวมๆ แล้วไม่มากไปและน้อยไป กำลังดี ประมาณ 20-25 คน ผมก็โม้ไปเรื่อยๆ ตามประสาคนไม่ชอบอยู่เฉยๆ ขู่นักศึกษาบ้าง บังคับให้ถามบ้าง แต่พวกเขาก็ยังไม่ค่อยจะยอมถามกันเท่าใดนัก เป็นธรรมชาติของนักศึกษาไทยหรือเปล่านะครับ แต่เขาว่ากันมาอย่างนั้น
ในครึ่งแรกผมก็เริ่มบ่นในประเด็นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมชูประด็นในเรื่องของความเป็น “วิศวะ” ของสาขาวิชาลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน มีนักศึกษาอยู่ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า IE ของเรานี้ไม่ใช่วิศวะ ผมคิดในใจว่า “เฮ้ยคิดอย่างนี้ได้อย่างไร?” “แล้วเอ็งเรียนวิศวะหรือเปล่า” ผมถามตัวเองอยู่ในใจ ไม่ได้การแล้วล่ะ ถ้าคิดกันอย่างนี้แล้ว จะเรียน IE กันไปทำไมเล่า แต่ผมก็ไม่ได้โทษพวกเขาหรอกครับ เราต้องโทษตัวเราเองต่างหาก ทั้งคนสอนและคนวงการธุรกิจเอง เราเป็นวิศวะกันแค่ชื่อที่เรียน วิชาที่สอนและคณะที่จบ แต่มีคนมากมายที่ไม่เคยเรียนวิศวะมา แต่มีความเป็นวิศวะเต็มตัว แล้วผมก็มาถามตัวเองว่าจริงไหม? ก็ใช่ ผมเรียนก็วิชา Engineering แล้วก็จบคณะวิศวะ แต่ตัวเป็นวิศวะหรือไม่นั้น ไม่มั้ง! คิดว่าไม่ แล้วแต่โอกาสในการทำงาน แต่ผมก็ต้องมาสอนคนให้เป็นวิศวะ ผมนั้นกล้าดีอย่างไร ผมคิดเอาเองในใจ ก.ว. ผมก็ไม่ไปขอกับเขา สอนหนังสืออยู่ทุกวันนี้ มีน.ศ.วิศวะที่สอนอยู่ในสัดส่วนน้อยมาก และมีที่เดียวที่ผมสอน คือ IE พระนครเหนือ (ทุกวันนี้ก็ยังสอนอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำที่นั่นแล้วก็ตาม)
ผมมองเรื่องของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นได้ทั้งวิศวะ (Engineering) และการจัดการ (Management) เราต้องไม่คิดว่า จะต้องเป็นวิศวะเท่านั้นหรือจบวิศวะเท่านั้นที่ทำงานวิศวะได้หรือทำงานอย่างวิศวะได้ คิดอย่างนั้นก็บ้าแล้ว ใจแคบจริงๆ ทำไมคนเราจะเรียนรู้อะไรจะต้องเรียนจากคณะนั้นด้วยหรือ ทำไมพวกสถาปัตย์ถึงเป็นนักแสดงได้กันมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนการแสดง ถ้าใครมีความคิดเช่นนี้ ผมคิดว่าต้องขอให้เปิดใจรับฟังกันหน่อยแล้ว
วิศวะนั้นแตกต่างจากวิทยาศาตร์ ความเป็นวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องราวที่มนุษย์ค้นหากลไกของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเรานัก เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่เทคโนโลยีนั้นเอาวิทยาศาตร์มาทำให้เกิดประโยชน์ หรือมีคุณค่า (Value) กับมนุษย์ ความเป็นวิทยาศาสตร์ทำให้เราเข้าใจกลไกของธรรมชาติ มนุษย์จึงใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์เอง การดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการดำรงอยู่ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีในยุคแรกๆ และถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ โดยมีโจทย์จากความต้องการของมนุษย์เป็นตัวตั้ง การออกแบบและพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อทำให้มนุษย์อยู่ดีกินดีทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องงานวิศวกรรมหรือ Engineering พูดกันง่ายๆ ว่า วิศวกรรมเป็นการออกแบบเพื่อมนุษยชาติ ที่จริงแล้ว ทุกวันนี้เราก็ทำทุกสิ่งก็เพื่อตัวเองอยู่แล้วไม่ใช่หรือ
มีข้อสังเกตอยู่หนึ่งอย่าง คือ ถึงแม้ว่าวิศวกรผู้ออกแบบจะออกแบบงานทางวิศวกรรม แต่ก็อาจไม่ได้เป็นผู้สร้างคุณค่าโดยตรงหรือเผชิญหน้าโดยตรงกับผู้ใช้ประโยชน์ (Users or Consumers) แต่อาจจะมีวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างหรือการผลิตอยู่ เพราะว่าความเป็นวิศวกรจะต้องเข้าใจกลไกการสร้าง (Engineer) เหล่านั้น ผมจึงมีความเข้าใจว่า วิศวะนั้นจะต้องฟังความต้องการของลูกค้า (Requirements) แล้วมาออกแบบและสร้าง (Design and Build) สิ่งนั้นขึ้นมา ที่จะต้องดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า (เห็นไหมว่า เหมือนการจัดการโซ่อุปทานเลย)
วิศวกรจึงต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีในการออกแบบและสร้างสิ่งที่มนุษย์ต้องการในรูปแบบของสินค้าและบริการ วิศวกรทำการออกแบบและสร้างต้นแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ แต่ผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคก็ยังไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากคุณค่าที่อยู่ในรูปแบบสินค้าและบริการ ผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานจะได้รับสินค้าและบริการจากกระบวนการสร้างคุณค่าหรือกระบวนการผลิตหรือกระบวนการบริการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะต้องถูกออกแบบโดยวิศวกร โดยเฉพาะวิศวกรอุตสาหการ (Industrial Engineer : IE) เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติการ (Operations) หรือฝ่ายผลิต (Productions) จัดการทรัพยากรสำหรับการผลิต (Manufacturing Resources) และจัดการกระบวนการผลิต (Manufacturing Process หรือกระบวนการการบริการ (Service Process) ที่สร้างคุณค่าซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
เมื่อเกิดปัญหาในกระบวนการผลิตที่ฝ่ายผลิตไม่สามารถจัดการในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ วิศวกร IE จะต้องมาปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือออกแบบกระบวนการผลิตใหม่ เพื่อให้ฝ่ายผลิตสามารถดำเนินการผลิตได้ ส่วนฝ่ายปฏิบัติการหรือฝ่ายผลิตไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ แต่จะเป็นผู้วางแผนและดำเนินการกระบวนการสร้างคุณค่าหรือกระบวนการผลิตหรือกระบวนการบริการให้สามารถสร้างคุณค่าในรูปแบบสินค้าและบริการให้กับลูกค้าได้ ดังนั้นวิศวกร IE จะออกแบบและดูแลปรับปรุงโครงสร้างของกระบวนการผลิตหรือกระบวนการสร้างคุณค่าซึ่งจะปรับเปลี่ยนตามโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ ฝ่ายผลิตซึ่งไม่ได้ออกแบบหรือสร้างอะไร แต่จะเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรในการจัดการและดำเนินการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เช่นเดียวกันกับวิศวกรที่ออกแบบการผลิตและออกแบบเครื่องจักรก็ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการผลิตหรือไม่ได้เป็นผู้ใช้เครื่องจักร แต่กลับเป็นฝ่ายผลิตหรือฝ่ายปฏิบัติการที่เป็นผู้ใช้งานเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตนั้นนั้น
คราวนี้ลองกลับมาดูว่าเรื่องราวของลอจิสติกส์ว่า วิศวกรรมลอจิสติกส์ คือ อะไร และการจัดการลอจิสติกส์ คือ อะไร โดยลองใช้กรอบความคิดของวิศวกรรมดังที่ผมกล่าวมาข้างต้นมาประยุกต์ใช้ดูนะครับ ที่แน่ๆ ลอจิสติกส์ไม่ใช่การขนส่งเท่านั้น ผมและหลายท่านพูดกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีใครสนใจ ผมต้องขออนุญาตเล่าให้ฟังใหม่เสมอว่า ลอจิสติกส์ต้องมองให้เป็นกระบวนการที่ไม่ได้จบเสร็จในตัวหรือในขั้นตอน แต่ต้องมองไปให้จบที่การส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้งาน ดังนั้นลอจิสติกส์จึงสามารถกำหนดขอบเขตได้ตามมุมมองของกระบวนการ (Process View) ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ (Start to Stop) หรือมีต้นชนปลาย (End to End) สำหรับบริษัทหรือองค์กร หรือต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Upstream to Downstream) สำหรับทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ลอจิสติกส์จึงต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมในการนำส่งคุณค่าให้กับลูกค้า
ที่จริงแล้วผู้ที่เข้าใจลอจิสติกส์ที่แท้จริงจะต้องเข้าใจถึงความเป็นโซ่อุปทาน (Supply Chain) และการจัดการโซ่อุปทานเสียก่อน แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจลอจิสติกส์จากมุมมองของขนส่งและคลังสินค้า ซึ่งไม่ผิด แต่ล้าสมัยมากๆ ประเทศไทยยังคืบคลานอย่างช้าๆ กับคำว่าลอจิสติกส์อยู่เลย ไม่มองชาวบ้านเขาว่า เขาไปถึงไหนกันแล้ว Council of Logistics Management เขาก็เปลี่ยนไปเป็น Council of Supply Chain Management Professional ไปตั้งนานแล้ว พวกเราไปอยู่ที่ไหนกันมา เป็นเวลา 10 กว่าปีของแผนยุทธศาสตร์ก็มัวแต่ยุ่งกับการลดต้นทุนลอจิสติกส์กันอยู่นั่นแหละ แต่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะขายสินค้าอะไรเป็นหลัก จะทำมาหากินอะไรกับประเทศอื่นๆ เขา แต่ดันสนใจเรื่องลดต้นทุนของลอจิสติกส์ ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ใครที่คิดว่าลอจิสติกส์เป็นเรื่องของการลดต้นทุน ผมคิดว่าพวกเขาคิดไม่หมด คิดไม่ครบ ลอจิสติกส์จะต้องเป็นเรื่องของ On Time In Full (OTIF) ของครบถ้วนสมบูรณ์และตรงเวลาด้วย ไม่ใช่เรื่องต้นทุนแต่เพียงอย่างเดียว และที่สำคัญมันเป็นเรื่องของคุณค่า ลอจิสติกส์จะอยู่หรือพิจารณากันเป็นเรื่องโดดๆ ไม่ได้เลย พอถึงเวลาเราก็มาบอกกันว่า ลอจิสติกส์วิกฤติแล้ว เราจะทำอย่างไรกันดี เราก็ทำได้แค่นี้ ดังนั้นถ้าจะพูดถึงเรื่องลอจิสติกส์ ต้องมองลูกค้า คุณค่า โซ่คุณค่า โซ่อุปทาน แล้วก็การผลิต (make) และลอจิสติกส์ (Move) ถ้าไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ เราก็พูดแค่โครงสร้างพื้นฐานของระบบลอจิสติกส์ที่อยู่ในโซ่อุปทาน เอาไว้วันหลังค่อยคุยกันต่อใหม่ในเรื่องเหล่านี้
แต่เมื่อมาพิจารณาถึงเส้นทางการไหลของคุณค่าที่ลูกค้าต้องการแล้ว กิจกรรมลอจิสติกส์ไม่ได้มีแค่การขนส่งและคลังสินค้าเท่านั้น ดังนั้นความเป็นลอจิสติกส์จึงเป็นเรื่องของโครงสร้างความเป็นระบบ (Systemic Structure) ของกระบวนการ (Process) ตั้งแต่ต้นจนจบที่ได้ผลลัพธ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ (Value) และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าคนสุดท้ายด้วย (End Customer Values) ถึงแม้ว่าในกระบวนการหรือระบบที่เรารับผิดชอบอยู่จะไม่ได้เชื่อมต่อกับลูกค้าคนสุดท้ายก็ตาม ดังนั้นวิศวกรรมลอจิสติกส์จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการออกแบบและสร้างระบบการไหลของคุณค่า (Flow of Values) หรือระบบลอจิสติกส์ตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับองค์กรธุรกิจ กิจกรรมลอจิสติกส์ก็จะประกอบไปด้วย กระบวนการจัดหา กระบวนการผลิต กระบวนการจัดส่ง และกระบวนการวางแผน เพื่อให้เกิดการดำเนินการการสร้างคุณค่าหรือการผลิตและบริการเพื่อส่งคุณค่าให้กับลูกค้าคนสุดท้าย ดังนั้นวิศวกรลอจิสติกส์จะต้องออกแบบและสร้างกระบวนการทั้งหมดเพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติการหรือฝ่ายจัดการการสามารถดำเนินการสร้างคุณค่าได้ตามปริมาณและความหลากหลายของความต้องการของลูกค้าอย่างไหลลื่น (Seamless)
เมื่อโครงสร้างของระบบลอจิสติกส์หรือกระบวนการลอจิสติกส์ได้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมารองรับคำสั่งซื้อของลูกค้าแล้ว ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายผลิต ฝ่ายลอจิสติกส์หรือขนส่ง (ที่เขาเรียกกัน) ฝ่ายขาย และฝ่ายโซ่อุปทานก็จะมาใช้กระบวนการนี้โดยการจัดสรรทรัพยากรทั้ง คน การสั่งวัตถุดิบ เครื่องจักร สารสนเทศ รวมทั้งวิธีในการดำเนินงานในแต่ละกระบวนการเพื่อให้ลูกค้าได้รับคุณค่าตามที่ต้องการ เมื่อโครงสร้างของกระบวนการหรือระบบไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในด้านความหลากหลายและปริมาณหรือโครงร่างของสินค้าหรือโซ่คุณค่า วิศวกรลอจิสติกส์จึงต้องออกแบบใหม่หรือปรับปรุงกระบวนการหรือระบบใหม่เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าให้ได้
วิศวกรลอจิสติกส์ที่จริงแล้วอาจจะไม่สามารถทำหน้าที่วิศวกรในหลายๆ ฟังก์ชั่นหน้าที่ในระบบลอจิสติกส์ได้ เพราะว่ากิจกรรมลอจิสติกส์ทั้งระบบมีหลายสาขาวิชามาบูรณาการกัน เพราะว่าลอจิสติกส์นั้นเป็นสหวิทยาการ (Multi-discipline) ผมมองว่าวิศวกรรมลอจิสติกส์นั้นทำหน้าที่เหมือนสถาปนิกที่ออกแบบบ้าน เป็นผู้ที่รู้ทุกส่วนของบ้าน ทุกฟังก์ชั่น ทุกวัสดุ และเป็นคนที่ทำให้ทุกอย่างลงตัว จนกลายเป็นบ้าน แต่ไม่ได้สร้างเองทั้งหมด วิศวกรแต่ละสาขาไปดำเนินการสร้างตามแบบที่ได้ออกแบบมา
วิศวกรรมลอจิสติกส์ก็เช่นกัน จะต้องมองระบบทั้งระบบที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดการไหลของทรัพยากรอย่างลื่นไหล และแปรเปลี่ยนไปเป็นคุณค่าและทำให้คุณค่านั้นไหลไปถึงมือลูกค้า วิศวกรรมลอจิสติกส์จะต้องบูรณาการกระบวนการจัดหา กระบวนการผลิต กระบวนการจัดส่ง กระบวนการวางแผนให้เป็นระบบเดียวกันให้ได้ แต่อย่าลืมนะครับว่า กิจกรรมลอจิสติกส์นั้นเน้นที่การไหลของคุณค่า การเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการการไหลจะต้องเป็นมาตรฐานและเข้ากันได้ ทั้งนี้ขึ้นกับกายภาพของการไหล (Physical of Flows) ตัวอย่างการขายข่าวของหนังสือพิมพ์ เช่น มีการไหลทางกายภาพ 3 ทาง คือ 1) ทางกายภาพที่เป็นกระดาษ ขึ้นรถบรรทุกกระจายออกไป สู่หน้าร้านแล้วมีคนมาซื้อหรือมีรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งถึงบ้าน 2) ทางกายภาพที่ผ่านทางออนไลน์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ 3) ทางกายภาพที่ผ่านทาง SMS มือถือ การไหลทางกายภาพจะขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้นหัวใจของวิศวกรรมลอจิสติกส์ ที่นอกเหนือจากการออกแบบกิจกรรมหลักๆ ที่เป็นฟังก์ชั่นในระบบลอจิสติกส์ ก็คือ วิศวกรรมระบบ (System Engineering) ที่เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการ การออกแบบ การสร้างและทดสอบ การดำเนินการผลิต การบำรุงรักษา การปรับปรุง และการเลิกใช้งานของระบบลอจิสติกส์ IE เราไม่ค่อยได้เน้นเรื่องเท่าใดนัก
ในส่วนที่เป็นเรื่องของการจัดการลอจิสติกส์นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานในการอำนวยการ (Orchestrate) ให้เกิดการสร้างคุณค่าหรือการผลิตและจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าจริงๆ ผู้จัดการลอจิสติกส์มีหน้าที่ดำเนินการใช้งานระบบลอจิสติกส์ที่ออกแบบมาโดยวิศวกรรมลอจิสติกส์ให้สามารถสร้างคุณค่าและนำส่งคุณค่าไปสู่ลูกค้าได้ การจัดการลอจิสติกส์จะต้องใช้ระบบลอจิสติกส์ที่ถูกออกแบบมาและถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยการผลิต (Make) และนำส่ง (Move) สินค้าให้ถึงมือลูกค้า
การจัดการลอจิสติกส์ คือ การบูรณาการกิจกรรมลอจิสติกส์ซึ่งไม่ใช่แค่การจัดการการจัดซื้อ การจัดการผลิต หรือการจัดการการจัดส่ง แต่จะต้องจัดสรรทรัพยากรทั้งคน IT เครื่องจักร วัตถุดิบ รวมทั้งวิธีการให้กิจกรรมลอจิสติกส์ให้เชื่อมโยงและบูรณาการกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้สามารถตอบสนองการสั่งซื้อให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่าการจัดการลอจิสติกส์จะต้องติดต่อประสานงานกับทุกหน่วยงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและส่งคุณค่าให้กับลูกค้า หน่วยงานไหนไม่ได้เชื่อมกับลอจิสติกส์ หน่วยงานนั้นไม่สมควรอยู่ในองค์กร เพราะว่า ลูกค้าต้องการซื้อหรือรับคุณค่าจากระบบลอจิสติกส์ ถ้าไม่มีระบบลอจิสติกส์ ลูกค้าก็ไม่ได้รับคุณค่า
การจัดการลอจิสติกส์จึงเริ่มต้นตั้งแต่ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายจัดการอุปสงค์ ฝ่าย IT ฝ่าย HR ฝ่ายจัดหา ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี หน้าที่ของการจัดการลอจิสติกส์จะต้องประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ที่กล่าวมาเพื่อทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการตามความต้องการ การจัดการลอจิสติกส์จะประกอบไปด้วยการวางแผน การดำเนินงาน การควบคุมและปรับปรุงการไหลของคุณค่าบนโครงสร้างเชิงกายภาพของระบบลอจิสติกส์ที่ถูกออกแบบมาจากวิศวกรรมลอจิสติกส์
ปัจจัยเข้าของวิศวกรรมลอจิสติกส์ คือ ความต้องการของระบบลอจิสติกส์ ขนาด ปริมาณ ความเร็ว ความยืดหยุ่นของระบบ ความเชื่อมโยงของกระบวนการทั้งหมด (Seamless Integration) ของโครงสร้างการไหลเชิงกายภาพ ผลลัพธ์ก็ คือ ระบบลอจิสติกส์
เมื่อได้ระบบลอจิสติกส์มาแล้วลูกค้ายังไม่ได้คุณค่าอะไรเลย ส่วนการจัดการลอจิสติกส์จะต้องเอาระบบลอจิสติกส์ที่ออกแบบและสร้างมานี้มาดำเนินการให้เกิดการสร้างคุณค่าและนำส่งคุณค่าให้กับลูกค้าด้วยการจัดการวางแผนทรัพยากร การคำนวณอุปสงค์กับฝ่ายการตลาดและการจัดเตรียมอุปทานให้พอเพียงด้วยการประสานงานกับทางผู้จัดส่งวัตถุดิบ (Suppliers) สภาพแวดล้อมของระบบลอจิสติกส์ สภาพแวดล้อมการแข่งขันเชิงธุรกิจ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม องค์ประกอบเหล่านี้จะมีผลต่อการตัดสินใจวางแผนเพื่อใช้งานระบบลอจิสติกส์ให้สามารถตอบสนองต่อลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนั้นวิศวกรรมลอจิสติกส์ยังสามารถที่จะออกแบบระบบการจัดการลอจิสติกส์ (Logistics Management System) เพื่อที่จะทำให้ผู้จัดการลอจิสติกส์สามารถใช้เป็นเครื่องในวางแผนและตัดสินใจในระบบลอจิสติกส์อีกทีด้วย โดยเฉพาะระบบสารสนเทศต่างๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการวางแผนและการตัดสินใจในกระบวนการลอจิสติกส์ประเภทต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุด (Optimization) ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ผมหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่าทั้งวิศวกรรมลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์มีความเหมือนและความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ถ้าจะถามถึงแล้วการจัดการโซ่อุปทานอยู่ตรงไหน ก็อธิบายได้นะครับ กล่าวคือ จะรวมเอาการจัดการลอจิสติกส์และการจัดการผลิตเข้าไปด้วย แต่จะเน้นเพิ่มขึ้นมาตรงการตัดสินใจและวางแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานหรือองค์กร แล้วผมมาเล่าต่อในตอนหลังจะดีกว่า เดี๋ยวจะไม่จบเอา เพราะยิ่งเขียนก็ยิ่งเติมไปเรื่อยๆ แล้วจะสับสนไปเปล่าๆ
พอพักครึ่ง เหล่านักศึกษาก็ไปกินกาแฟด้วยความมึนงง พอกลับมาฟังต่อ ผมและอ.สิงหา ก็เลยมาช่วยกันตอบประเด็นปัญหาที่ค้างคากันอยู่ ที่มีคำถามว่า แล้ว Industrial Engineering นั้นเป็น วิศวะหรือไม่ สงสัยธาตุไฟจะเข้าแทรก ผมต้องขอโทษด้วยที่จำชื่อนักศึกษานั้นไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าเขาถามด้วยเจตนาดี และขอชื่นชมที่ถามมา คุณแน่มากที่ถาม ผมตอบได้เลย มันเป็นวิศวะอย่างแน่นอน เพราะว่ามี ก.ว. วิศวกรรมอุตสาหการด้วย เป็นสาขาวิชาที่เปิดการเรียนการสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั่วไปด้วย คุณถามอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้า IE ไม่ใช่วิศวะ ก็แปลกแล้ว ผมมีประสบการณ์การสอนวิชาในสาขานี้มาพอสมควร ผมคิดว่าระบบการเรียนการสอนอาจจะมีปัญหาบ้าง กล่าวคือ เราสอนแต่รายวิชา ตามที่ก.ว. มี โดยเฉพาะจะต้องเน้นที่รายชื่อวิชา แต่ไม่ได้มีการเน้นไปที่ปรัชญาของวิศวกรรมอุตสาหการ หรือปรัชญาของวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าในระบบการเรียนการสอนมีปรัชญาของวิศวกรรมศาสตร์จริง ก็ไม่น่าจะเกิดคำถามอย่างนั้นขึ้น นักศึกษานั้นไม่ผิดหรอกครับ แต่ต้องมาดูที่โครงสร้างการเรียนการสอนทั้งระบบ
ผมคิดว่า IE นั้นสัมพันธ์กับลอจิสติกส์และโซ่อุปทานโดยตรง IE เป็นแก่นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน แต่องค์ความรู้และแก่นของ IE แต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถรองรับลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ จากแก่นของ IE เอง เราจะต้องต่อยอดไปบูรณาการกับสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นนี้มีมาจากความเห็นของ IE ในระดับ World Class นะครับ เพราะว่าผมเคยอ่านบทความของ IIE (Institute of Industrial Engineering) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพของ IE ในอเมริกา เมื่อประมาณราวๆ ปี 2000-2003 ชื่อบทความ คือ “Supply Chain Management : The New Role of Industrial Engineering” นั่นเป็นมุมมองใหม่ของ IE ที่ IE จะต้องบูรณาการมากขึ้นตามบริบทของสังคมและธุรกิจ ผมเชื่อว่า เรา IE ทั่วโลก สามารถทำได้และมีศักยภาพพอในองค์ความรู้ ถ้าเปิดใจรับและเข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลง
ผมมอง IE ว่าจะไปมุ่งเน้นไปที่ตัวระบบหรือกระบวนการในมุมที่แยกส่วนออกมา (Reductionism) เพื่อการปรับปรุงและวิเคราะห์ แต่ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานพยายามที่จะบูรณาการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและส่งคุณค่าอย่างเป็นองค์รวม (Holistic) ดังจะเห็นได้ว่า หลายปีที่ผ่านมามีประเด็นในวงการวิชาชีพ IE ที่จะการเพิ่มชื่อ System Engineering เข้าไปด้วย เหมือนกับชื่อภาควิชา IE ในหลายมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา
อ.สิงหาได้เสนอประเด็นของวิวัฒนาการของ วิชา OM ซึ่งมีสอนกันอยู่ในแทบทุกมหาวิทยาลัย ในทุก Program MBA ในหนังสือ OM ยุคใหม่ๆ ก็ได้กลายสภาพเป็นหนังสือ Supply Chain หรือไม่ก็ Logistics ประเด็นนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เพราะผู้แต่งหนังสือเหล่านี้ (ผมคิดว่า) ก็ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันเท่าไหร่นัก มันไม่ผิดหรอก แต่เป็นการมองกันคนละมุม เป็นการใช้คำที่ไม่ถูก เช่น ชื่อหนังสือ Supply Chain Management : Logistics Approach หรือ Logistics Management : Supply Chain Approach แต่เมื่อดูๆ ไปแล้ว มันก็คือ OM นั่นเอง แล้วมันต่างกันอย่างไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับมุมที่นำเสนอ
แล้วผมมอง OM อย่างไรบ้าง ผมว่าเมืองไทยไม่ได้ให้ความสำคัญ OM มากเท่าใดนัก ไม่เหมือน Marketing หรือ Finance แต่ในต่างประเทศ OM เป็นกลุ่มวิชาชีพที่แข็งแกร่งมาก เช่น APICS เมืองไทยเราเองก็ไม่ค่อยให้ความสนใจในสาขาวิชาชีพ OM เท่าใดนัก เราก็จัดการผลิตแบบลูกทุ่งไปเรื่อยๆ ผมมอง OM ว่าคือ การมอง Logistics และ Supply Chain แบบแยกส่วน (Reductionism) เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ปัญหา แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาในองค์รวม วิชา OM เป็นเหมือนการไม่ได้มองช้างทั้งตัว แต่เป็นการมองแต่ละส่วนของช้าง แล้วแก้ปัญหาที่ละส่วน ทำให้ไม่ได้เห็นภาพช้างทั้งตัว ทำให้ปัญหาในภาพใหญ่ทั้งระบบไม่ได้รับการแก้ไข
วิชา OM เล่าถึงกระบวนการย่อยต่างๆ ใน Supply Chain ตั้งแต่ต้นจนจบก็จริง เป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้บอกถึงการจัดการโซ่อุปทานโดยรวม แต่ระยะหลายปีที่ผ่านมา หนังสือ OM ทุกเล่มจะเพิ่มบทที่เป็น Supply Chain ขึ้นมาตอนท้าย ให้เห็นภาพจากภายนอก แต่กลไกภายในของการจัดการโซ่อุปทานนั้นไม่ชัดเจน ผู้เขียนหนังสือในวงการ OM มาเขียนหนังสือ Supply Chain ก็หลายเล่ม แต่ผมก็คิดว่ายังไม่ใช่ Supply Chain แต่มันเป็น OM แบบรวมมิตร
แล้วอ.วิทยา กล้าดีอย่างไร... ไม่ได้กล้าอะไรหรอกครับ แต่กล้าคิดสักหน่อย ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ การเรียน OM นั้นเป็นการเรียนในเรื่องการคิดและการวางแผนตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในโซ่อุปทานที่เป็นเรื่องๆ ไป เรื่องต่างๆ ใน OM นั้นจบในบทเป็นบทๆ ไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ คุณทำ Forecast ได้ แล้วไง คุณวางแผนการผลิตได้ แล้วไง การวางแผนการจัดส่งได้ แล้วไง ธุรกิจจะเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าครบถ้วนและจ่ายเงินครบด้วย นั่นเป็นเป้าหมายของธุรกิจและโซ่อุปทาน มีใครบ้างเหล่าถึงกระบวนการทั้งหมดอย่างเชื่อมโยงกันเป็นระบบเดียวกันหรือไม่ ในความเป็นจริงนั้นมันเชื่อมโยงกันเป็นระบบเดียว เราถึงได้คุณค่าออกมา
เรียน OM ก็เหมือนเป็นการเรียนเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำอาหารในแต่ละชิ้น แต่ยังไม่ได้ทำอาหาร เรื่องของการจัดการโซ่อุปทานและลอจิสติกส์เป็นเรื่องของการรับ Order ว่าลูกค้าสั่งอาหารอะไรมา จะกินอะไร แล้วจึงไปทำอาหารด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์และส่งให้ถึงโต๊ะผู้สั่งด้วยอาหารที่มีรสชาดเยี่ยม การจัดการโซ่อุปทานและลอจิสติกส์จึงเป็นเรื่องของการต่อยอดจาก OM ด้วยการเชื่อมโยงการตัดสินใจต่างๆ ใน OM เข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ผลของการตัดสินใจหนึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจถัดไปจนไปถึงการตัดสินใจที่นำส่งสินค้าและบริการให้ถึงมือลูกค้า
ผมยังมีประเด็นค้างอยู่หลายเรื่อง ที่อ.สิงหาชูประเด็นขึ้นมาระหว่างสนทนาที่ IE@CMU ครับ แล้วผมจะมาเขียนต่อครับ
อ.วิทยา