บทความนี้ ผมเขียนถึงนักศึกษาปริญญาโท MS.LSCM#3 ของมหาวิทยาลัยศรีปทุมครับ นำมาแบ่งปันเพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย
เรื่องการเรียนปริญญาโทด้านลอจิสติกส์ ที่จริงแล้วมันไม่ได้เป็นความเห็นชอบผมคนเดียวหรอก เพราะว่าหลายๆ คน รวมทั้งหลายๆ อาจารย์ก็เห็นด้วย ผมก็เลยได้ทำมาหากินกับแฟชั่นนี้ไปด้วย ประเด็นก็คือ แล้วพวกคุณจะหาประโยชน์จากแฟชั่นในการเรียนปริญญาโทได้อย่างไร แรกๆ การเรียนปริญญาโทก็อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นเท่าไรในอดีต แต่เราต้องเข้าใจว่า แล้วมาเรียนกันทำไม ผมเข้าใจว่ามันจะต้องมีคนเริ่มกันมาก่อน เหมือนแฟชั่นเสื้อผ้าทั่วไป แฟชั่นก็คือแฟชั่น ไม่ผิดหรอก ต้องมีคนได้ประโยชน์สิ แล้วก็มีคนเรียนและก็มีคนสอนตอบรับอุปสงค์ มันก็สมเหตุสมผลดีอยู่แล้ว
โครงสร้างของการเรียน การสอนใน ป.ตรี ป.โท และ ป.เอก ของเรา มันน่าจะสมดุลกันดีอยู่แล้ว พอเรามีการเปิด ป.ตรีกันได้ง่ายขึ้น คนอยากจะไต่ขึ้นไปเรียน ป.โท กันมากขึ้น และตามด้วยป.เอก ตามลำดับ ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็ตอบสนองด้วยหลักสูตรต่างๆ มากมาย ผมมีความเชื่อและมีประสบการณ์ว่า คนที่เรียนส่วนใหญ่จะเรียนเพื่อ “ใบปริญญา” ซึ่งก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ถามผมว่าจำเป็นหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าใช่ จริงๆ แล้วมันจำเป็น “ดูไปแล้วอาจจะเป็นการดูถูกคนเรียนไปหน่อยไหม อาจารย์วิทยา” ก็แล้วแต่จะคิดนะ บางคนทำมาฟอร์มสร้างภาพว่ามาเรียนเอาความรู้ ผมบอกกลับไปว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว พอเรียนจบ ก็ไม่ต้องรับปริญญานะ เอาแต่ความรู้ไป ทุกคนเงียบหมด สรุปแล้ว ทุกคนมาเรียนเพื่อปริญญาใบนั้น
แต่ผมก็ให้ทุกคนที่มาเรียนตั้งเป้าหมายในการเรียนว่า จะต้องได้ใบปริญญาเป็นอันดับแรก ประสบการณ์และความรู้ตามมาที่สอง และอื่นๆ อีกแล้วแต่คนเรียนจะตั้งเป้าหมาย เพราะว่าอะไร... หลายคนที่ผมรู้จัก เรียนปริญญาโทประมาณ 3-4 รอบ ในหลายหลักสูตรและหลายมหาวิทยาลัย กว่าจะได้ปริญญาโทสักใบ ด้วยความทรนงหรือมั่นใจอะไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับหลักสูตร ไม่ชอบอาจารย์ มีอุดมการณ์ของตัวเองกับเรื่องที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองหรือองค์กรธุรกิจ มันเสียทั้งเงินและเวลาไปเปล่าๆ
พวกเราต้องเข้าใจกระบวนการทางสังคมว่าเรามาเรียนกันทำไม อะไรเป็นประเด็นที่สำคัญในการศึกษา มีสิ่งหนึ่งที่ปรัชญาการศึกษาไม่ได้บอกไว้ คือ คนในสังคม เมื่อไม่รู้จักกัน เขาดูกันที่ว่าใครจบปริญญาอะไรมา จบมาจากที่ไหน เรียนมาทางด้านไหน เพราะว่าในชีวิตเราจะต้องเจอคนมากขึ้น ปริญญาจึงเป็นเครื่องมือในการกรองผู้คนที่จะเข้ามาร่วมงานกับเรา การเรียนหนังสือจึงเป็นแฟชั่นหนึ่งของคนในสังคมที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มคนหรือบุคคลที่เราต้องการจะคบหรือทำงานร่วมด้วยหรือหาประโยชน์ด้วย ผมเองก็เป็นหนึ่งที่ใช้แฟชั่นของการศึกษาในการชุบตัวเองให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ผมต้องการทำงานด้วยหรือทำธุรกิจ เพราะว่าการใช้ชีวิตคือธุรกิจครับ เราหลีกเลี่ยงธุรกิจไม่ได้ ตัวอย่าง เช่น ป.ตรี ผมต้องเรียนวิศวะ นั่นเป็นความคิดตอนนั้น จบป.ตรีแล้วต้องไปเรียนเมืองนอก ต้องเป็นนักเรียนนอก พ่อผมก็ส่งไปครับ เสร็จแล้วต้องเรียนเอกต่อ ถ้าจะให้เท่ห์ต้องเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลสิ แล้วผมก็ได้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ดูสิผมทำตามแฟชั่นทั้งนั้น แต่ก็เป็นแฟชั่นกลุ่มเล็กๆ ที่ผมคิดว่าผมสามารถหาประโยชน์ได้ในอนาคต ผมคิดเป็นธุรกิจนะครับ
การเรียนหรือการศึกษาเป็นแฟชั่นที่ดีมาก เพราะได้ประโยชน์กับผู้ที่เรียน แต่ประเด็นคือ คุณจะได้ประโยชน์อย่างไรจากแฟชั่นเหล่านั้น หลายคนจบป.โทมาหลายใบ ถามว่าเรียนไปทำไมเยอะๆ คนนั้นก็ตอบไม่ได้มาก เพียงแต่แค่อยากรู้อะไรเพิ่มเติม ประเด็นคือ เมื่อคุณไม่รู้อะไรก็เลยต้องมาเรียนปริญญาโทอีกใบหรือ นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกเลย แล้วปริญญาที่เคยเรียนมาอีกหลายใบนั้นล่ะ ทำไมไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันเลยหรือ เขาก็บอกว่ามันต่างสาขากัน สิ่งที่เรียนนี้มันเป็นเรื่องใหม่ นั่นก็แสดงว่าปริญญาโทที่เรียนมานั้นให้แต่เนื้อหาความรู้เท่านั้น ไม่ได้ให้ระบบคิด กระบวนการเรียนรู้และภาวะผู้นำ
ถ้าเราคิดกันได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าระบบการศึกษาไทยยังไม่ได้ทำให้คนไทยมีการศึกษาที่แท้จริง การศึกษาไทยทั้งป.ตรี ป.โท และป.เอก ก็แค่ทำให้คนไทยที่เรียนในระบบการศึกษาไทย ได้แต่ “เรียน” และได้แค่ “รู้” เท่านั้น แต่ยังศึกษาไม่เป็นหรือเรียนรู้ไม่เป็น เมื่อมีปัญหาขึ้นมาก็จะต้องกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาใหม่เพื่อรับการเรียนและรู้โดยการสอนของอาจารย์ในระบบปริญญาทั้งหลาย ซึ่งที่จริงก็ไม่ผิดหรอก แต่ผมว่า ที่จริงเอาแต่แค่หลักสูตรสั้นๆ ก็พอ แล้วรีบกลับแก้ปัญหาหรือซื้อหนังสือมาอ่านและหาหนทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง มีกระบวนการหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมากำหนดคำตอบหรือกำหนดชีวิตเรา แต่บางคนว่างจริงและขี้เกียจจะอ่านหรือศึกษาเองก็เลยมานั่งเรียนในระบบการสอนแบบเก่าและไม่เหงาดีด้วยมีเพื่อนๆ ร่วมรุ่นอีกต่างหาก ที่จริงการเรียนในแต่ละปริญญาแล้วแต่คนที่เรียนด้วย บางคนเรียนเอา Connection ก็เยอะไปครับ อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับระบบการศึกษาและปรัชญาการศึกษา
เคยมีคนมาถามผมว่า “อาจารย์ครับ ผมจะเรียนลอจิสติกส์ที่ไหนดีครับ” ผมถามกลับว่า “แล้วจบอะไรมาล่ะ” เขาตอบว่า “จบ MBA มาครับ” แล้วผมก็ถามต่อไปว่า “แล้วทำไมถึงอยากจะมาเรียนล่ะ” เข้าตอบว่า “เจ้านาย กำลังสนใจเรื่องลอจิสติกส์อยู่ เพราะมีปัญหาด้านนี้ เจ้านายอยากจะนำมาใช้ ผมก็เลยคิดว่าน่าจะมาเรียนปริญญาโทด้านนี้” ผมสลดใจอย่างมาก อะไรกันเนี่ย แค่สนใจและมีปัญหาถึงกับต้องมาเรียนปริญญาโทกันใหม่เลยหรือ ถ้ายังไม่จบโทมาก่อนก็ไม่เป็นไร ใช้สาขาลอจิสติกส์ที่กำลังเป็นแฟชั่นอยู่นี้เป็นการเรียนป.โทไปก็ไม่เห็นเสียหายเลย แล้วเขาไม่คิดหรือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องถูกแก้ไขโดยเร็วหรือไม่ การแก้ปัญหาคงจะรอไม่ได้เป็นปีๆ ถ้าคิดและเป็นกันอย่างนี้ จบปริญญาโทมาแล้วยังมีความคิดแค่นี้ ผมว่ามันใช้ไม่ได้ หลักสูตรที่เรียนมาเขาไม่ได้สอนให้คิดได้มากกว่านี้หรือ? เพราะว่าคนที่มาเรียนปริญญาโทนี้ ไม่ได้มาเรียนเอาความรู้ แต่ต้องได้กระบวนการเรียนรู้และภาวะผู้นำในการเรียนรู้ ความรู้ในแต่ละสาขาวิชานั้นเป็นแค่เครื่องมือในทำให้คุณรู้และเข้าใจถึงกระบวนการเรียนรู้และใช้บริบทในสาขาวิชาที่เรียนสร้างภาวะผู้นำในการนำเสนอหัวข้อวิจัยต่างๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้เป็นปริญญาโทหรือเป็น Master
การเรียนปริญญาโทไม่ได้สร้างให้คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ป.โท และป.เอก จะสร้างคุณให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับตัวเองด้วยภาวะผู้นำ เมื่อคุณจบการศึกษาไปแล้ว สังคมมีองค์ความรู้ใหม่และไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว คุณสามารถเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่และใช้สิ่งที่เรียนรู้ใหม่นั้นให้เกิดผลประโยชน์ต่อชีวิตและองค์กรธุรกิจได้ และที่สำคัญ คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้หรือศึกษาในสาขาที่จบป.โทมาก็ได้ สิ่งที่คุณมีอยู่กับตัวซึ่งไม่ใช้ ตัว Thesis คือ ความสามารถในการเรียนรู้หรือการศึกษาและภาวะผู้นำนั่นเอง เขาถึงเรียกคุณว่ามหาบัณฑิต หรือ Master
เมื่อคุณก้าวเข้ามาเรียนป.โท หรือ ป.เอก แล้ว คุณทำได้แค่ตามแฟชั่นการเรียนที่ได้ใบปริญญามาหรือ? แล้วคุณได้แฟชั่นในการเรียนรู้ด้วยตนเองรวมทั้งภาวะผู้นำในการเรียนรู้ไปด้วยหรือเปล่า? เห็นไหมครับว่า ตามแฟชั่นก็ไม่เห็นเสียหายเลย เพียงแต่คุณเข้าใจคุณค่าของแฟชั่นนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้ประโยชน์จากแฟชั่นนั้นอย่างไร เพราะคนที่เข้าใจแฟชั่นและทำตามแฟชั่นก็คงจะไม่ได้สนใจว่าใครจะคิดอย่างไร ฉันจะทำของฉันล่ะ ฉันได้ประโยชน์จากแฟชั่นของฉันแน่ๆ ในทางตรงกันข้าม พวกที่แค่ทำตามแฟชั่นไป แต่ก็ไม่รู้ว่าได้ประโยชน์อะไรนั้น ก็เสียเวลาไปเปล่าๆ จริงไหมครับ
เมื่อการเรียนปริญญาโทเป็นแฟชั่นไปแล้ว อาจารย์และหลักสูตรตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ตอบสนองกันได้เป็นอย่างดี รายได้ดีเป็นอย่างมาก ผมและเพื่อนๆ เองก็มีรายได้จากตรงนี้พอสมควร เอาแค่คนสอนนะครับ ไม่ได้พูดถึงหลักสูตรที่มีคนเรียนกันเป็นร้อยๆ คน จะได้กำไรมากขนาดไหน ผมกำลังตั้งคำถามว่า แล้วนักศึกษาได้ความเป็น Master ไปหรือไม่ หรือได้แค่ความรู้ใหม่ๆ อย่างเช่น สาขาลอจิสติกส์ ซึ่งผมก็ต้องตอบว่า มันเป็นแฟชั่นจริงๆ ครับ เขาเป็นกันทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ต่างก็เปิดสาขานี้กันทั้งนั้น ไม่ว่าที่อังกฤษหรืออเมริกาหลายคนมาเรียนลอจิสติกส์ก็เพราะแฟชั่น เห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ ไม่อยากตกยุค เห็นใครๆ เขาก็จบมาทางด้านนี้ แต่บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างนี้ ใช่ครับ บางคนมาเรียนเพราะทำงานอยู่ในสาขานี้พอดีและอยากจะรู้เพิ่มเติม ก็เลยมาเรียนเพื่อจะรู้เพิ่ม ไม่เป็นไร เราไม่ว่ากัน ผมไม่รู้หรอกว่าใครๆ เขาคิดกันอย่างไร ผมเคารพความคิดเห็นส่วนตัวครับ
มาถึงตรงนี้แล้วเราจะทำให้แฟชั่นที่ต้องเรียนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นมากกว่าแฟชั่นได้อย่างไร เราต้องคิดว่า เราจะหาประโยชน์จากแฟชั่นนี้ได้อย่างไร เราจะเข้าถึงแก่นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเพียงแค่นั้นหรือ เราจะต้องเข้าถึงแก่นของความเป็นปริญญาโทในรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้และภาวะผู้นำผ่านบริบทของสาขาวิชาลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน และผมอยากจะบอกว่าแก่นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นจับต้องไม่ได้ เพราะเนื้อหาวิชาทั้งหมดในการเรียนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไม่ได้เป็นของใหม่ แต่ความเป็นลอจิสติกสฺและโซ่อุปทาน คือ กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองและภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้นเมื่อโลกแห่งการดำเนินงานซับซ้อนขึ้น วิธีการคิดและการจัดการก็ควรจะซับซ้อนขึ้นตาม เพื่อทำให้เราสามารถจัดการกับบริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนขึ้น ถ้ามาเรียนลอจิสติกส์แล้วก็เป็นเรื่องเก่าๆ เหมือนกับที่ทำงานอยู่ทุกวัน ก็ใช้ไม่ได้น่ะสิครับ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาสิ่งง่ายพื้นๆ ไปแก้ไขหรือจัดการกับสิ่งที่ซับซ้อนหรือสิ่งที่ยากกว่า ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจึงเป็นมากกว่าเครื่องมือในการจัดการ แต่เป็นแนวคิดและวิธีคิดในการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการจัดการ นั่นคือแก่นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งจะตรงกับมุมมองด้านปรัชญาของการเรียนปริญญาโทของผม
นั่นหมายความว่า เมื่อคุณจบปริญญาโทไปแล้ว คุณไม่ได้แค่นำเอาความรู้ที่ได้เรียนในหลักสูตรไปใช้งานหรือสร้างประโยชน์เท่านั้น แต่คุณจะต้องเอาประสบการณ์จากกระบวนการการคิด การนำเสนอปัญหา การหาเหตุและผลรองรับ การดำเนินการแก้ปัญหา การนำเสนอผล และการเผยแพร่การวิจัยและแก้ปัญหาต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวันในการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาเดียวกันหรือไม่ ยิ่งมีสาขาใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ คนที่จบปริญญาโทมาก็ยิ่งจะต้องใช้ประสบการณ์และความสามารถและภาวะผู้นำตรงนี้สร้างกระบวนการเรียนรู้ขึ้นมาให้กับตัวเองและองค์กรเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาปรับปรุงอย่างยั่งยืน นี่ก็เป็นแฟชั่นที่คนที่จบปริญญาโทไปแล้วควรจะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับตัวเองและองค์กรธุรกิจที่ตัวเองทำงานอยู่
ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นความผิดของผู้ที่ไปเรียนปริญญาโท แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องของผู้ที่บริหารและการจัดการหลักสูตรและอาจารย์ผู้ที่สอนจะต้องคิดและปรับปรุงกระบวนการการจัดการหลักสูตร เป้าหมายและปรัชญาของหลักสูตรคืออะไร ผมว่าทุกหลักสูตรมีเขียนไว้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าผู้บริหารหลักสูตรเข้าใจในสิ่งที่เขียนไว้หรือไม่ แต่อาจจะเป็นเพราะคนเขียนหลักสูตรไม่ได้มาบริหารเอง การจัดการหลักสูตรจึงไมได้เป็นไปตามปรัชญาของหลักสูตร อาจารย์ส่วนใหญ่ รวมทั้งผมเอง ก็ไปได้แค่สอนหนึ่งวิชาหรือหลายวิชาเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของหลักสูตรไป เป้าหมาย คือ นักศึกษาต้องจบออกไป จะจบออกไปอย่างไร ผมก็ไม่รู้จริงๆ เพราะไม่ได้เป็นผู้จัดการหลักสูตร
แต่ถ้าหลักสูตรปริญญาโทในเมืองไทยเป็นมากกว่าแค่การเรียนหนังสือ สอบแล้ว ทำรายงานแล้วได้ปริญญา จะดีมากเลย เพราะว่าถ้าหลักสูตรปริญญาโทสามารถเปลี่ยนเป็นหลักสูตรการสร้างผู้นำได้ จะประเสริฐมาก เพราะว่าหลักสูตรปริญญาโทในปัจจุบันกลายเป็นหลักสูตรสร้างขยะทางวิชาการไปแล้ว โดยไปเน้นที่ผลงานทางิชาการที่ไม่ได้เอาไปใช้จริง เพราะมีเป้าหมายที่แค่ทำให้ผ่านกรรมการสอบเพื่อให้ได้ใบปริญญา หรือไม่ก็ให้อาจารย์เอาผลงานไปตีพิมพ์เป็นผลงานวิชาการเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ผิดหรอกครับ มันเป็นการ “สมยอม” กันทางวิชาการ ทุกคนได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ไม่มีใครเสียหาย ก็ไม่มีใครร้องเรียนกัน แต่เมื่อมองจากข้างนอกสำหรับคนที่ไม่มีผลประโยชน์ร่วมด้วยแล้ว ผมว่าเราก็สามารถสร้างประโยชน์จากระบบการศึกษาที่เป็นอยู่อย่างนี้ได้มากเลย โดยเฉพาะปริญญาโท ผมเองก็เห็นหน่วยงานรัฐในด้านการวิจัยหลายหน่วยก็พยายามที่จะใช้ประโยชน์จากระบบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโทนี้ แต่ก็อาจจะมองคนละมุมกับผมไปบ้าง แต่ที่สุดแล้วไม่ว่าจะมองในมุมไหน เราก็อยู่ในกระบวนการสร้างคุณค่าเดียวกัน คือ การทำหลักสูตรปริญญาโท เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ในมุมต่างๆ ได้อย่างไร
ผมมองการเรียนหรือการทำหลักสูตรปริญญาโทเป็นการสร้างผู้นำ ผลผลิตสุดท้ายของปริญญาโท คือ มหาบัณฑิต หรือคนที่คิดเป็น คนที่มีภาวะผู้นำและมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ พวกเราไปเน้นที่ Thesis หรือการทำวิจัย ทั้งๆ ที่ก็มีประโยชน์เช่นกัน ก็แล้วแต่ว่าใครจะเอาไปหาประโยชน์ ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นงานวิจัยเป็น Thesis หรือ บทความวิชาการที่เป็นเลิศ ที่จริงแล้วผมว่าต้องไปเน้นที่การสร้างผู้ที่ทำวิจัย ไม่ควรเน้นที่การเรียนเนื้อหาความรู้ เพราะว่าผู้ที่ทำวิจัยจะค้องมีภาวะผู้นำและมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ต้องเน้นที่สร้างคนทำวิจัยครับ สร้างคนที่มีความเป็นนักวิชาการในตัว แต่ไม่ได้เป็นนักวิชาการโดยอาชีพ เพราะว่าโลกปัจจุบันนั้น มีความรู้มากมายที่เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมดภายในเวลา 1-2 ปี กับอีก 36-48 หน่วยกิตได้ ความรู้นั้นเป็นพลวัต (Dynamic) เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะเป็น Master ในเรื่องเหล่านั้นได้อย่างไร สิ่งที่หลักสูตรปริญญาโทน่าจะทำได้ คือ การพิสูจน์ตัวผู้เรียนเองว่า เขาเป็น Master ของตัวเอง และพิสูจน์ตัวเองด้วยกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่นำเสนอและดำเนินการรวมทั้งนำเสนอและเผยแพร่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าตัวผู้เรียนมีความพร้อมในการเป็น Master ในการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ในโลกของความเป็นจริงที่เป็นพลวัต แล้วลองมานึกถึงหลักสูตรปริญญาโทต่างๆ ที่เปิดอยู่เป็นอย่างไรกันบ้าง ผมรู้สึกเสียดายเวลาและทรัพยากรที่ทำให้ได้มาแค่กระดาษหนึ่งใบ แต่คนที่จบออกมานั้นสามารถเป็นผู้นำหรือมีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือไม่? นั่นยังเป็นคำถามของผมอยู่
หรือถ้ามองอีกด้านหนึ่ง อย่างน้อย คนที่จบปริญญาโทมานั้นจะต้องเป็นนักวิชาการหรือนักวิจัยให้กับองค์กรธุรกิจหรือให้กับตัวเองได้ ผลที่ได้ คือ กำไรในองค์กรธุรกิจ หรือมีชีวิตที่ดีกว่า ส่วนผู้ที่เป็นนักวิชาการโดยอาชีพนั้นก็ใช้หลักการเดียวกันกับผู้ที่จบ ป.โทมาเหมือนกัน แต่เป้าหมายก็ คือ ใช้กระบวนการเรียนรู้ของตนเองไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ เพราะว่านักวิชาการมีความสามารถตรงนี้มากกว่าคนในองค์กรธุรกิจ อีกทั้งปริญญาโทยังต้องสอนหรือฝึกให้คนมีความเป็นนักวิชาการในตัวมากขึ้น ดังนั้นเราก็คงหลีกหนีวิชาการและนักวิชาการไม่ได้เลย ยิ่งเรียนปริญญาโทแล้ว ก็ยิ่งต้องคิดอย่างนักวิชาการหรือนักวิจัยมากยิ่งขึ้น
ผมคิดว่า ตรงนี้น่าเป็นส่วนหนึ่งของความตกต่ำทางวิชาการของไทยในมุมมองแคบๆ ของวงการปริญญาโทที่เราได้เห็นและสัมผัส ซึ่งที่จริงแล้ววิชาการนั้นไม่ใช่อยู่ในมหาวิทยาลัยเสมอไป แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของเราเสมอ และธุรกิจก็คือชีวิตของเราที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย การที่เราดำเนินชีวิตได้นั้น ก็เพราะเราทำธุรกิจชีวิตเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่รอด ดังนั้นวิชาการต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นเราคงจะมองแค่มุมมองในปัญหาเรื่องการศึกษาในระดับปริญญาโทไม่ได้ เพราะมันเป็นแค่รูปแบบ (Pattern) เท่านั้น แต่เราต้องมองในลักษณะของโครงสร้าง (Structure) เราต้องไปแก้กันที่โครงสร้าง เราควรจะคิดกันเชิงระบบ (Systems Thinking) มากกว่านี้ แล้วผมจะมาเล่ามุมมองผมต่อนักวิชาการใหม่ในมุมที่กว้างขึ้นนะครับ แค่นี้คงจะยาวไปพอสมควรแล้วครับ ขอให้โชคดี
Cheers,
อ.วิทยา
วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ปริญญาโท กับ แฟชั่นการศึกษา
10:25
การเรียนรู้, การศึกษา, โซ่อุปทาน, ปริญญาโท, ลอจิสติกส์, โลจิสติกส์