วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วิพากษ์ ทางออกวิกฤติโลจิสติกส์ไทย (บางประเด็น)

โดย อ.วิทยา สุหฤทดำรง

วิพากษ์นี้เป็นควันหลงจากงาน
ทางออกวิกฤติโลจิสติกส์ไทย ที่จัดเมื่อ วันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ครับ แม้ผมไม่ได้ไป แต่ก็ได้รับฟังเทปสัมมนา จาก FM 87.5 สถานีวิทยุรัฐสภา และมีคนบอกผมมาว่า มีท่านวิทยากรท่านหนึ่ง พูดบนเวทีว่า ประมาณ เวลา 11.50 น ในวันนั้น สรุปใจความมาได้สั้นๆ ว่า “อาจารย์ด้านโลจิสติกส์มีจำกัด ทำให้อาจารย์ด้านนี้ต้องบินไปสอนหลายที่ ขับรถไปสอนหลายที่ จนไม่เต็มที่กับวิชาที่สอน และมหาวิทยาลัยก็อยากเปิดสอนด้าน Logistics ทั้งๆ ที่อยู่หลังเขา ไม่ต้องบอกว่ามหาวิทยาลัยไหนหรอก อาจารย์ด้านนี้ไม่มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติงาน ทำให้สอนแต่ทฤษฎี ซึ่ง Logistics ต้องการด้านทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ในธุรกิจ” บังเอิญผมไม่ได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในช่วงเวลานั้น และด้วยความเคารพต่อวิทยากรท่านนั้น ก็เลยขอใช้เวทีนี้ในการแสดงความคิดเห็นในฐานะที่ถูกพาดพิงหลายอย่าง

ใช่ครับวิกฤติแน่ ไม่ใช่ลอจิสติกส์ที่วิกฤติ แต่เป็นเพราะความเข้าใจของเราต่อลอจิสติกส์ต่างหากที่วิกฤติ พวกเรายังไม่เข้าใจลอจิสติกส์จริงๆ ครับ ผมได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ของ “ลอจิสติกส์” ที่กล่าวกันว่ามีปัญหาหรือวิกฤติแล้ว ก็พบว่าความเข้าใจของพวกเรายังอยู่กับที่จริงๆ ไม่ได้พัฒนาหรือเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองไปเลย ความเข้าใจเรื่องราวของลอจิสติกส์ไทยเรายังคงเหมือนเดิม ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน และกระบวนการขนส่ง การ Shipping การออกของ การเอาของเข้าตู้และออกตู้ (ขอถอนหายใจดังๆ ครับ) ทำไมจึงต้องทำให้คนที่ไม่รู้จักลอจิสติกส์มาเข้าใจลอจิสติกส์ในรูปแบบนี้ด้วย แล้วใครเป็นคนบอกว่า นี่คือลอจิสติกส์ทั้งหมด ลองคิดดูสิครับว่า เครื่องดนตรีมีทั้งหลายชนิด ไม่ใช่ “เปียโนคือเครื่องดนตรีแต่เพียงอย่างเดียว” ถ้าคิดกันอย่างนี้ผม รับรองว่าวิกฤติจริงแน่ ที่สำคัญคือกลุ่มคนคิดเพียงมุมแคบๆ เพราะไม่เข้าใจ แต่ตั้งใจอย่างนี้กลับกลายเป็นคนที่มีส่วนในการวางแผนใน “ระดับชาติ” แล้วกิจกรรมลอจิสติกส์อื่นๆ ที่เหลือเล่าครับ ไม่มีความสำคัญหรือ ทำไมจึงไม่ให้ความสำคัญกล่าวถึงด้วยครับ มัวแต่คิดสร้างโครงสร้างพื้นฐานกันส่วนใหญ่ (Hard Side) แต่เรื่องของ “การเชื่อมโยง” (Soft Side) กลับไม่ได้สนใจกัน อย่างนี้แล้วจะปรับตัวกันได้อย่างไร

เพราะลอจิสติกส์เป็นโครงสร้างความคิดในการจัดการที่เตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในยุดปัจจุบัน ไม่ใช่ลดต้นทุนกันแล้ว ถ้าปรับตัวได้ อยู่รอดขายของหรือสินค้าได้ ก็มีกำไรแล้ว ลอจิสติกส์ไม่ได้มีไว้ลดต้นทุน แต่มีไว้ทำให้ขายได้ เพื่อทำกำไร ความคิดที่ว่า “ต้นทุนที่ลดได้ คือ กำไรที่คืนมา” เป็นความคิดที่ขาดมิติและไม่เป็นแนวคิดเชิงรุกเลย ผมมองว่าเป็นแนวคิดแบบคนจนตรอกไปหน่อย ทำไมหรือครับ ก็ผมไม่คิดว่าเราจนตรอกไง แต่จนใจและจนความคิดไปหน่อยเท่านั้นเอง คิดดูสิครับว่า ลอจิสติกส์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการแข่งขันได้อย่างไร ผมไม่เชื่อว่า ถ้าเราเข้าใจลอจิสติกส์ว่าคือแค่การนำสินค้าเข้าตู้ ออกตู้ การทำพิธีการศุลกากร การทำ Shipping การขนส่ง และคลังสินค้า คิดได้แค่นี้หรือ เราแข่งขันกันด้วยสินค้าและบริการครับ และก็ไม่ใครพูดถึงสินค้าและบริการกันเลย ขอโทษครับ ได้ฟังแล้วเหนื่อยจริงๆ ผมจะต้องออกแรงพูดหรือสอนให้มากขึ้นอีกเท่าใดหนอ

มันเป็นความคิดที่ผิดอย่างมากๆ ครับ ที่บอกว่ากิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้นคือ “ลอจิสติกส์” แล้วทำไมในอดีต ถึงไม่เรียกว่า “ลอจิสติกส์” แล้วตอนนี้กลับมาเรียกว่า “ลอจิสติกส์” กิจกรรมเหล่านี้ในอดีตเรียกกันอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงเรียกกันอย่างนั้น แต่พอมาเป็นลอจิสติกส์แล้ว มันจะต้องเป็นเรื่องที่พิเศษกว่ากิจกรรมเดิมใช่ไหมครับ ต้องไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่มาบอกว่า ลอจิสติกส์ คือ การขนส่ง ระบบราง การออกของ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows และโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่อธิบายให้ละเอียดว่า อะไรคือลอจิสติกส์ หรือคนพูดนั้นไม่ได้รู้จริง แต่ไปฟังฝรั่งหรือประเทศที่พัฒนาแล้วมาพูดโดยไม่ได้ใช้การสื่อสารในการทำความเข้าใจให้ถ่องแท้แล้วถ่ายทอดออกไป เพื่อให้ทุกคนใช้ประโยชน์จริงๆ จากลอจิสติกส์ แล้วประโยชน์จริงจากลอจิสติกส์คืออะไร?

เรื่องลอจิสติกส์เป็นเรื่องของแฟชั่นก็จริง ผมเห็นแห่ตามกันไปเรียนมากมาย แล้วพวกเราแห่ตามกันใช้คำว่า “ลอจิสติกส์” นี้โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองพูดหรือเข้าใจนั้น ใช่หรือไม่ใช่อย่างไร ทั้งๆ ที่ตัวเองอาจกำลังทำลอจิสติกส์อยู่แท้ๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองทำลอจิสติกส์อยู่ นั่นก็เป็นเพราะว่าไม่รู้และไม่เข้าใจ กิจกรรมพื้นๆ ในการขนส่งหรือขนสินค้า ที่ผ่านพิธีการต่างๆ ได้กลายเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ได้อย่างไร แต่ผมก็ไม่ได้เถียงว่ากิจกรรมเหล่านี้ไม่สำคัญนะครับ แต่มันก็ยังไม่ใช่ลอจิสติกส์ ให้ลองนึกถึงเครื่องเล่นที่ให้เสียงต่าง เช่น กีตาร์ กลอง ไวโอลีน เปียโน เครื่องดนตรีนี้เมื่อมีคนเล่นก็ให้เสียงออกมาเป็นเพลง เราเรียกว่า ผู้เล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้ว่า นักกีตาร์ มือกลอง นักไวโอลีน นักเปียโน แต่เมื่อเอาคนเหล่านี้มารวมกันเป็นวงดนตรี เราเรียกคนเหล่านี้ว่า “นักดนตรี” คำว่า “ลอจิสติกส์” ก็เหมือนคำว่า “นักดนตรี” เมื่อเจอนักดนตรีสักคนในวงดนตรี เราก็ถามว่าเขาเล่นเครื่องดนตรีอะไร หมายความว่าเล่นดนตรีอะไรในวงดนตรี ดังนั้นเวลาเราพูดกันถึงเรื่องของนักดนตรี เราพูดกันแต่เรื่องนักเปียโนคนเดียวหรือเปล่า ความหมายของลอจิสติกส์นั้นไม่ได้เป็นกิจกรรมเดี่ยวๆ แต่จะต้องอยู่รวมกันเป็นกระบวนการ (Process) หรือเป็นโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ “สร้างคุณค่าให้กับลูกค้า” หรือที่วงดนตรีบรรลงเป็นเพลงนั่นเอง ดังนั้น ลอจิสติกส์ไม่ใช่เป็นเหมือนเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง แต่เครื่องดนตรีหลายชิ้นที่ถูกเล่นร่วมกันเป็นวงดนตรีนั้นด้วยโน้ตเพลงเดียวกัน ถ้าคิดอย่างนี้ได้ คุณก็รู้ว่าลอจิสติกส์มีมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น และลอจิสติกส์เป็นมากกว่าที่กล่าวมาด้วย

ลอจิสติกส์เป็นกิจกรรมที่เป็นมากกว่าการใช้ “แรง” ในการเคลื่อนย้ายและจัดเก็บสินค้า แต่กลับเป็นการใช้ “สมองและปัญญา” ในการวางแผนและตัดสินใจเพื่อเคลื่อนย้ายและจัดเก็บอย่างบูรณาการตลอดโซ่อุปทาน ที่สำคัญคือเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ดูสิครับ สิงคโปร์เก่งเรื่องลอจิสติกส์ พวกเขาเน้นการใช้สมองใช้ความคิดมากกว่าใช้แรง กล่าวคือ คิดก่อนจะไปทำ ที่สำคัญคือกิจกรรมการคิดและวางแผนในการเคลื่อนย้ายและจัดเก็บรวมทั้งการดำเนินการตามแผนจะเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ ก็ต่อเมื่อการคิดและวางแผนนั้นเป็นผลมาจากการวางแผนร่วมกัน (Collaborative Planning) ของสมาชิกในโซ่อุปทาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

ถึงตรงนี้มีใครงงไหมครับ แล้วโซ่อุปทานคืออะไร นั่นล่ะครับ คือปัญหาของประเทศ เพราะแค่ลอจิสติกส์เอง เป็นเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็ยังเข้าใจกันผิดๆ แล้วโซ่อุปทานที่ซับซ้อนกว่ามาก จะใช้เวลาอีกกี่ทศวรรษ แล้วเราจะไปสู้เขาได้อย่างไรในตลาดโลก ทั่วโลกเขาก้าวข้ามผ่านลอจิสติกส์กันไปแล้ว ไทยเรายังมั่วๆ กับการลดต้นทุนลอจิสติกส์กันอยู่ มัวแต่จะสร้างหรือไม่สร้าง ทางเดี่ยว ทางคู่ ท่าเรือ สนามบิน แต่ละกระทรวงก็บอกว่าบูรณาการกัน แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่เห็นว่าจะเชื่อมโยงกันอย่างไร ที่สำคัญคือต้องเข้าใจโซ่อุปทานเสียก่อน ต้องรู้จักลูกค้าและสินค้ารวมทั้งการบริการด้วย ถึงจะกำหนดลอจิสติกส์ได้

เรื่องของลอจิสติกส์ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทักษะในการปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ทักษะที่สำคัญของลอจิสติกส์ คือ ทักษะในการคิดและวางแผนเพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดการตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เป็นความต้องการของลูกค้า คุณอาจจะมีทักษะในการทำงานและปฏิบัติงานได้ดี คือ เคลื่อนย้ายและจัดเก็บ รวมทั้ง การขนส่ง ระบบราง การออกของ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows กิจกรรมเหล่านี้ยังไม่ใช่ลอจิสติกส์ มันเป็นแค่การปฏิบัติงาน กิจกรรมเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ในบริบทของการทำงานครับ ไม่ต้องไปเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย มีหน่วยงานหรือสมาคมวิชาชีพเป็นผู้สอนครับ พวกเราอาจารย์ที่สอนลอจิสติกส์กันนั้น เราสอนให้ทุกคนมองปัญหาออก สอนให้คิดเป็น วางแผนเป็น สอนให้บูรณาการเรื่องต่างๆ ให้ได้ สร้างมาตรฐานความคิดให้ได้ โดยส่งผลต่อการเคลื่อย้ายและจัดเก็บเพื่อตอบสนองต่ความต้องการของลูกค้า นั่นจึงเป็นลอจิสติกส์ครับ แต่ถ้าคิดไม่เป็น วางแผนไม่เป็น และมีทักษะในการทำงานเหมือนเดิม โดยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่เคยเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ไม่มีภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ทักษะการทำงานเหล่านี้เหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคต เพราะว่างานประเภทนั้นจะกลายเป็นอัตโนมัติไปหมดในอนาคต

ทักษะที่สำคัญในการจัดการลอจิสติกส์ คือ การคิดและวางแผนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุด หรือ Optimization ภายใต้ข้อจำกัดที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวนี้ล่ะครับที่สามารถทำให้เรามีกำไรได้ ทำให้เราลดต้นทุนได้ ผมอยากรู้จริงๆ ว่า คนที่ชอบบอกว่าทำลอจิสติกส์แล้วลดต้นทุนนั้น เขาทำกันอย่างไร นอกจากลดขั้นตอนแล้ว ยังต้องทำอะไรอีก พวกที่ลดขั้นตอนนั้น ผมเรียกว่า “โจรกลับใจ” คือ เริ่มมีสติขึ้น รู้ว่าไม่ควรทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ อย่างนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ควรจะปลูกฝังไว้ตั้งแต่แรกๆ ของการทำงานหรือการดำรงชีวิตเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพิ่งมารู้ก็สายไปเสียแล้ว บริษัทในระดับ World Class ที่ทำลอจิสติกส์พวกเขาทำกันมากกว่านี้มากนัก ก็ต้องถามกันว่า แล้วนักลอจิสติกส์ทั้งหลายรู้จัก Optimization กันหรือไม่ หรือถ้าคุณเป็นนักจัดการแล้วไม่รู้จัก Optimization แล้วล่ะก็ คุณไม่ใช่นักจัดการ และคุณก็ไม่ใช่นักลอจิสติกส์

ส่วนที่ว่ากันถึงอาจารย์ทั้งหลายที่วิ่งรอกกันสอนในเมืองไทย ขึ้นเครื่องบินกันสอนกันให้วุ่นนั้น ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นและยังมีอีกหลายท่าน ถ้าผมมีโอกาสอีกก็จะพยายามไปสอนให้เยอะๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่สน เพราะว่าจะได้คนไทยเข้าใจกันมากขึ้น จะได้ทำลอจิสติกส์กันจริงๆ ไม่ใช่แค่ทำการขนส่ง ระบบราง การออกของ Shipping เอาของเข้าตู้และเอาของออกจากตู้ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows หรือโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากลอจิสติกส์เป็นมากกว่านั้นมากนัก

พวกเราอาจารย์นั้นสอนกันจริงๆ สอนกันด้วยใจเพราะอยากให้รู้ พวกเราเป็นนักวิชาการโดยอาชีพ ไม่ได้สอนกันเพราะสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดีในสังคม ไม่ว่าจะอยู่หลังเขาหรือชายแดน พวกเราหลายๆคนก็ไปสอนมาแล้ว ถ้าพวกเขาที่เรียนจากพวกผมไปใช้ประโยชน์ในองค์ความรู้เหล่านั้นได้ มันจะผิดอะไร มหาวิทยาลัยเหล่านั้นถึงแม้จะอยู่ชายแดน จะหน้าเขาหรือหลังเขา ก็ขึ้นอยู่กับคนมอง แต่มหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็ไม้ได้ด้อยความรู้เลย กลับพยายามสร้างบุคลากรและหาผู้ที่รู้มาถ่ายทอดเพื่อให้เกิดการนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่และจังหวัด ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน ผมเองสนับสนุนทุกอย่างครับ

อีกอย่างครับที่ผมโดนด่าเป็นประจำ คือ ทำไมไม่สอนปฏิบัติล่ะ อาจารย์ทำเป็นไหม คำตอบคือ ทำไม่เป็นและจะไม่ทำ เพราะผมไม่ได้ใช้แรงงานหรือปฏิบัติการ ผมหากินกับการสอนคนให้คิดและทำให้เป็น การปฏิบัติที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนนั้นเป็นการปฏิบัติที่สร้างขึ้นมาสนับสนุนการคิดหรือทฤษฎีทั้งหลายเพื่อให้เข้าใจ เป็นตัวอย่างในการนำทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ไม่มีการหลักสูตรเรียนการสอนที่ไหนเขาลงลึกเพื่อการปฏิบัติจริงหรอก แต่มีให้เห็นเพื่อที่จะสนับสนุนทฤษฎีเท่านั้น เพราะอะไรล่ะครับ ก็เพราะการปฏิบัติจริงมี “บริบท” ที่แตกต่างกัน มีการ “เปลี่ยนแปลง” อยู่เสมอ ไม่เหมือนเดิมตลอด ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่ทำหรือปฏิบัติอยู่ ไม่ใช่แค่รู้หรือจำได้แล้วก็ทำอย่างเดิมไปตลอด จึงทำให้การปฏิบัติมีปัญหา สำหรับคนที่มีอาชีพสอนกันจริงๆ ในมหาวิทยาลัยนะครับ ซึ่งไม่ใช่อาจารย์พิเศษผู้เป็นนักปฏิบัติ เขาเหล่านี้จะสอนภาพรวมและหลักการเพื่อให้ผู้ที่เรียนสามารถไปปฏิบัติใช้งานจริงในบริบทต่างๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในทฤษฎีและบริบทต่างๆ ในการปฏิบัติของผู้ที่เรียนมา ถ้ามีปัญหาในการปฏิบัติก็ต้องโทษผู้ปฏิบัติ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติทำถูกแล้ว ก็ต้องโทษผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรที่ไม่มีวิสัยทัศน์มากพอในการที่จะเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการปฏิบัติให้ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ผู้นำเหล่านี้ก็ร่ำเรียนมากันตั้งมาก อย่างน้อยก็ปริญญาโท แต่ไม่เข้าใจทฤษฎีและประยุกต์ไม่เป็น

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มักเกิดขึ้นในขั้นตอนของการปฏิบัติ มันไม่เกี่ยวกับอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยว่าได้สอนปฏิบัติหรือไม่ มันเกี่ยวกับผู้ที่เป็นเจ้าของบริบทหรือพื้นที่นั้นสามารถสอนงานหรือให้รายละเอียดการปฏิบัติการได้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่เช่นนั้น ผู้ปฏิบัติก็จะต้องเตรียมตัวเองในสาขาวิชาชีพนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งมีโรงเรียนเฉพาะทางสอน หรือสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่ให้ความรู้ในขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะต้องมาสอนในขั้นตอนปฏิบัติเหล่านี้ เพราะว่าอาจารย์สอนนักศึกษาจำนวนมาก นักศึกษาแต่ละคนก็ไม่รู้อนาคตว่าจะไปทำงานที่ไหนบ้าง ในสาขาการปฏิบัติงานอะไรบ้าง

แต่ที่แน่ๆ เมื่อเรียนจากมหาวิทยาลัยแล้วจะต้องเข้าใจในทฤษฎีและหลักการเป็นเบื้องต้นพร้อมที่จะประยุกต์ใช้งานในบริบทของธุรกิจต่างๆ ให้ดีขึ้นจนเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพกว่า มันต้องตรงนี้ ไม่ใช่มาบ่นว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่สอนปฏิบัติ ผมสอนให้คนคิดเป็นและไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงาน โดยทำให้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า และในหลายๆ ครั้งถ้าเขาเหล่านั้นไม่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้นได้ ก็เพราะท่านผู้ปฏิบัติงานเดิมนั้นหรือท่านผู้บริหารใจไม่กว้างพอไม่อยากเปลี่ยน อยากที่จะทำเหมือนเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติงานจึงวิกฤติไงครับ ไม่ได้เกี่ยวกับการวิ่งรอกสอน ถ้าไม่สอนแล้วใครจะรู้ได้เล่า ใช่ไหมครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนสอนได้ครบถ้วนนะครับ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เรียน จริงไหมครับ

สำหรับมหาวิทยาลัยหลังเขานั้น ผมก็ไปสอนมาหมดแล้วทุกมหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนนั้น ผมยังให้กำลังใจเขาเหล่านั้นอยู่เสมอนะครับ ถึงแม้จะเป็นชายแดนก็ตาม แต่หัวใจอินเตอร์นะครับ และที่สำคัญ มันเป็นจุดผ่านแดนที่สำคัญที่มีกิจกรรมลอจิสติกส์อยู่ รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจลอจิสติกส์ต่างๆ อีกมาก มันจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งที่เชื่อมโยงกับประเทศจีน ถ้าเราไม่ให้กำลังใจหรือสนับสนุนแล้ว คงจะไม่ได้ ยิ่งหลังเขาหรือหน้าเขาก็ไม่ใช่เป็นประเด็นหรอก แต่เขาอยู่ในพื้นที่และทำหน้าที่ให้ความรู้และพัฒนาความคิดของคนในพื้นที่ ผมสนับสนุนเต็มที่ ยิ่งอยากเรียนผมก็ยิ่งไปสอน ผมก็ไปสอนหมดแล้วประเภทชายแดนทั้งหลาย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ และผมว่าเขาต้องเรียนรู้เพื่อนำไปปฎิบัติให้ถูกต้อง พวกที่อยู่ในเมืองกลับไม่เห็นจะกระตือรือร้นเสียเท่าไหร่กันนัก

ผมคิดว่า ที่วิกฤติกันนั้น มันวิกฤติเฉพาะที่ แล้วอย่ามาเหมารวมว่าลอจิสติกส์ทั้งหมดจะวิกฤติ และที่วิกฤตินั้นก็จะวิกฤติตอนทำ เพราะว่าไม่ได้คิดหรือวางแผนมาก่อน และต้องคิดร่วมกันและวางแผนร่วมกันแบบการจัดการโซ่อุปทาน ไม่ใช่พอทำอะไรไม่ได้แล้วก็มาอ้างว่าวิกฤติ ทำไม่ได้แล้ว เรื่องอย่างนี้จะต้องคิดเสียก่อนว่า ที่ทำลงไปนั้นผ่านกระบวนการ “คิดและวางแผนร่วมกัน” หรือไม่เป็นสำคัญ ผมว่าอาจารย์ที่ไปสอนทั้งก็พยายามที่จะสอนหลักคิดและทฤษฎีเพื่อจะไปปฏิบัติให้ได้ แต่เรื่องของลอจิสติกส์เป็นเรื่องการฝึกคิดและวางแผนระบบการไหลของคุณค่าในโซ่อุปทานโดยเฉพาะการคิดร่วมกัน เพราะว่าคนลอจิสติกส์ไม่ใช่ Operator ในการขนส่ง ระบบราง การออกของ การเอาของเข้าตู้และออกจากตู้ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows แต่เพียงเท่านั้น แต่นักลอจิสติกส์เป็นคนวางแผนและประสานงานกับทุกส่วนในโซ่อุปทาน กรุณาอย่าเอามารวมกันอย่างมั่วๆ และอย่าคิดว่าสิ่งที่ทำๆ กันมาคือ “การปฏิบัติ” เพราะว่าการปฏิบัติที่ดีจะต้องมีหลักวิชาการที่ถูกต้องรองรับ

ดังนั้นใครที่เป็นนักปฏิบัติที่ดีจึงสามารถอธิบายหลักการที่อยู่เบื้องหลังได้ หลักวิชาการที่ถูกต้องจะต้องมาก่อนและเป็นตัวกำหนดการปฏิบัติ เพราะว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง นักปฏิบัติที่มีหลักวิชาการจะปรับตัวได้ดีกว่า ต้นทุนจึงต่ำกว่า และรักษาลูกค้าได้ ส่วนพวกที่ทำมาแต่อดีต ก็ต้องพยายามทดลองทำต่อไปตามประสบการณ์ที่เคยทำ โดยไม่รู้ถึงหลักการ ถ้าเป็นอย่างนี้ ต้นทุนก็จะสูง ส่งของไม่ทัน ที่ถูกแล้วควรจะต้องคิดก่อนแล้วจึงทำ ไม่ใช่ลองทำ แล้วทำได้ จึงไม่ได้คิดหรือคิดไม่เป็น ปกติแล้วคุณสอนคนให้ทำเลยหรือว่าสอนให้คิดก่อนแล้วค่อยทำ และทำให้ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า คนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานต้องคิดอย่างนี้ครับ ไม่ใช่เอาแต่คิดถึงแค่กิจกรรมการขนส่ง ระบบราง การออกของ การเอาของเข้าตู้และออกตู้ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows ซึ่งไม่ใช่ลอจิสติกส์ ผมคิดแล้วอยากร้องไห้ ทำไมเราคิดกันได้แค่นี้

และยิ่งคิดกันว่า ลอจิสติกส์ คือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยแล้ว ก็ยิ่งคิดผิดกันไปใหญ่ ลองคิดดูว่า คนจ่ายเงินเพื่อฟังเพลงที่เส่นจากทั้งวงดนตรี แต่ต่างคนต่างเล่น เล่นเก่งอยู่คนเดียว แล้วจะเป็นเพลงหรือไม่ ผมเชื่อเสมอว่า
“ลูกค้าต้องการซื้อสินค้า ไม่ได้ซื้อลอจิสติกส์” และต้องเข้าใจว่าถ้าไม่มีลอจิสติกส์แล้ว สินค้าก็ผลิตไม่ได้ สินค้าก็จะไม่ถึงมือลูกค้า ถ้าจะ Focus จะต้องมุ่งเน้นที่ “โซ่อุปทานของ Product” ที่จะต้องใช้ระบบลอจิสติกส์ในการนำส่งวัตถุดิบไปให้ถึงมือผู้ผลิต และนำสินค้าให้ไปถึงมือลูกค้า สำหรับเรื่องต้นทุนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ประเด็นอยู่ที่ว่าเราต้องลดต้นทุนด้วยจิตวิญญาณ ด้วยการไม่ทำพลาด ด้วยการไม่ทำในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่ลดต้นทุนด้วยลอจิสติกส์ มันเป็นเรื่องตลกมากๆ เพราะว่าในคำนิยามไม่ได้พูดถึงเรื่องลดต้นทุนเลย ถ้าทำถูกเรื่อง ต้นทุนต่ำ ถ้าทำผิดเรื่อง ไม่ได้วางแผน ต้นทุนก็สูง เมื่อสถานการณ์รอบๆ เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป โซ่อุปทานก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป การผลิตก็เปลี่ยนแปลง ลอจิสติกส์ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ลอจิสติกส์จึงเป็นเรื่องการจัดการการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การขนส่ง ระบบราง การออกของ การเอาของเข้าตู้และออกจากตู้ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows หรือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง “ไม่ใช่” ลอจิสติกส์ครับ แต่ “เป็นส่วนหนึ่ง” ของระบบลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์ ซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานและการจัดการโซ่อุปทาน งงไหมล่ะครับ ยังมีอีกเยอะครับ

พอแค่นี้นะครับ ยิ่งเขียน ยิ่งโกรธ ยิ่งสงสารตัวเอง วิกฤติมากๆ มันเป็นความเข้าใจของพวกเราเองที่วิกฤติ

แล้วเจอกันใหม่ครับ

อ.วิทยา
24 ก.ค. 2553