การเดินทางดูงานในกลุ่มจังหวัดอิสานเหนือครั้งนี้ในวันที่ 5 ผมได้มีโอกาสไปแวะที่จังหวัดขอนแก่น พอจะมีช่วงเวลาว่างอยู่บ้าง ก็เลยโทรหาอ.ดร.วีระพัฒน์ ที่ภาควิชา IE มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า ผมจะผ่านมา อยากแวะไปคุยด้วย เผื่อว่ามีใครอยู่บ้าง หากมีนักศึกษา ป.โท ป.เอก มาคุยกัน ผมบอกอาจารย์ดร.วีระพัฒน์ ล่วงหน้าแค่วันเดียว โหดร้ายไหมครับ? พอผมถึงขอนแก่น อ.วีระพัฒน์ ก็มารับถึง รร.พูลแมน และพาไปที่ห้องประชุมภาควิชาฯ มี Slide Show จาก Powerpoints เป็นป้ายตอนรับเป็นอย่างดี เท่ห์มากๆ การพบกันก็เลยกลายเป็นการนั่งจิบกาแฟ ตอนบ่ายวันศุกร์ ระหว่างอาจารย์และนักศึกษาในประเด็นทั่วไป แต่ที่สำคัญ อ.คร.วีระพัฒน์ บอกว่าผมเป็นแขกคนแรกของงานนี้ อ.วีระพัฒน์นี่เยี่ยมจริงเลย เอาเลยครับอาจารย์ ใครไปใครมาที่เมืองขอนแก่น ก็ไปเชิญมาคุยด้วยก็จะดีมากๆ ที่จริงแล้วถ้าทำกันดีๆ อีกหน่อยอาจมีคนอยากเสนอตัวมาขอพูด ขอคุยบ้าง ถึงตอนนั้นแล้ว อ.วีระพัฒน์อาจจะต้องค้ดเลือกคนมาพูดก็ได้นะครับ
เห็นนักศึกษาป.ตรี ป.โท และป.เอก มานั่งรอฟังแล้ว ทำให้ผมคิดถึงภาควิชา IE ที่พระนครเหนือนะครับ ผมเห็นแววตาของนักศึกษาทุกท่านที่มารอฟังผมพูดให้ฟังแล้ว ทำให้ผมมีพลังในการทำงานต่อไปอีก รวมถึงได้เห็นผลงานในการสร้างวิศวกรของ IE@KU แต่ก็น่าเสียดายนะครับที่เรามีเวลากันไม่มากนัก เพราะผมเองก็ไม่ได้มีเวลามากนักในช่วงเวลาหนึ่งปีข้างหน้านี้ แต่ถ้ามีโอกาสก็จะพยายามเต็มที่ครับไม่ต้องเกรงใจนัก โทรหาได้เลย
และที่ไม่คาดไว้ก็คือ มีอาจารย์ IE@KU อีกหลายท่านมาให้การต้อนรับ และได้ Share ประสบการณ์กันเล็กๆ น้อยๆ แต่มีความสำคัญและมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กับความคิดของผมมากๆ นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ผมจะพยายามหาโอกาสดีๆ อย่างนี้อีกในหลายที่ เสียดายตอนไปที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ไม่ได้มีโอกาสทำกิจกรรมอย่างนี้ ผมก็พอจะมีอาจารย์ที่รู้จักอยู่ที่นั่นบ้าง
ที่จริงแล้วผมมีโอกาสพูดอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง แต่ก็พยายามบังคับตัวเองให้พูดให้น้อยหน่อย ท่านอาจารย์และนักศึกษาจะได้ถามผมบ้าง ประเด็นที่ผมได้พูดไปก็เป็นเรื่องราวของแนวคิดในการจัดการความรู้ที่ผมได้สร้าง Model 3R ขึ้นมา เรื่องของ 3R หาอ่านได้ใน blog ของผมนะครับ แล้วก็มีประเด็นที่ผมมองว่าจะต้องมีจุดเปลี่ยนในองค์ความรู้และความเป็นตัวตนของ IE (Industrial Engineering) เพราะว่าโลกเราเปลี่ยนไป เราไม่สามารถใช้องค์ความรู้เก่า เพื่อแก้ปัญหาใหม่ได้แล้ว เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับสาขาใดสาขาหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกสาขาทุกองค์ความรู้ โดยเฉพาะการศึกษาปัญหาแบบแยกส่วน (Reductionism) และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้แบบแยกส่วน กับปัญหาต่างๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มีความเป็นพลวัตสูงขึ้น
ดังนั้นแนวคิดในการเรียนการสอน การตั้งปัญหา และการแก้ปัญหา ก็ต้องเป็นองค์รวม (Holistic)มากขึ้น ซึ่งจะเกิดจากการบูรณาการ (Integrating) ส่วนประกอบย่อยต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ ผมยังไม่ค่อยเห็นหลักสูตรหรือการสอนที่เน้นเรื่องราวเหล่านี้ เห็นแต่การเน้นที่การสอนเป็นวิชา มาตรฐานคุณภาพของการเรียนการสอนเองก็ยังดูเป็นแบบแยกส่วนกันอยู่ ยึดกันที่ชื่อวิชา คิดว่าถ้าได้เรียนวิชานี้แล้วจะเข้าใจหรือนำไปใช้ได้ ผมคิดว่า(ผมคิดคนเดียวนะครับ)พวกเราอาจารย์ยังยึดติดกับกรอบการเรียนและการศึกษาแบบเก่า ทั้งๆ ที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่เราเรียนมาไม่มีประโยชน์เลย มันมีประโยชน์แน่ๆ ถ้าเรารู้จักที่จะบูรณาการมันอย่างถูกต้องและอย่างเข้าใจคุณค่าหรือประโยชน์ที่มนุษย์ต้องการ
ผมว่าโลกปัจจุบัน มันถูกเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียวด้วยโครงข่ายสารสนเทศ ทำให้มนุษย์สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ความเป็นลำดับขั้นที่ยุ่งยากและเชื่องช้าได้หมดหายไป ทำให้มนุษยชาติได้ประโยชน์มากมายมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาอย่างมากสำหรับองค์ประกอบต่างๆ หรือผู้คนที่ไม่สามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เพราะว่าสภาวะแวดล้อมรอบๆตัวเรามีความเป็น Dynamic มากกว่าแต่ก่อน ถามว่าทำไม ก็เพราะว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกันในสังคมมนุษย์ ดังนั้นการแก้ปัญหาและการมองปัญหาจะต้องเปลี่ยนแปลงไป เรามองกันแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว
ผมกลับคิดว่าวิชาที่เป็นพื้นฐานสำหรับ IE ก็คือ System Engineering ซึ่งรู้สึกจะไม่ค่อยจะมีสอนในเมืองไทยมากนัก คงต้องลองสำรวจดู ผมเองก็มีอคติในองค์ความรู้ของ IE อยู่เสมอ เพราะว่า IE ไม่ใช่ Basic Discipline และไม่ใช่ Engineering ธรรมดา ผมขี้เกียจเข้าไปต่อสู้กับโครงสร้างการศึกษาของไทย ที่ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย กว่าจะผลักดันอะไรได้ จะต้องทำโน่นทำนี่ จะต้องมีกรรมการต่างๆ มาพิจารณาและอนุมัติ และที่สำคัญ กรรมการเหล่านั้นบางที่ก็ไม่ได้มีความรู้อะไรมากนัก แต่ต้องเป็นผู้ให้คุณและให้โทษ
อุตสาหกรรมในความจริงไปไกลแค่ถึงไหนแล้ว ลองหันกลับมาดูหลักสูตรของเราปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมหรือไม่ แต่ผมคิดว่า มันไม่ได้เลวร้ายเกินไปหรอกครับ ผมคิดว่า เราน่าทำกันได้ดีกว่านี้ เร็วกว่านี้ ร่วมมือกันได้มากกว่านี้ องค์ความรู้ด้าน IE ก็มีการวัฒนา (Evolve) มาจนมีความเป็นบูรณากันมากขึ้น บริบทของงาน IE มีความเป็นบูรณาการอยู่ในตัวใน 3 มิติ คือ 1)คน – คน 2)คน – เครื่องจักร 3)เครื่องจักร – เครื่องจักร แล้วเมื่อมองอย่างเป็นองค์รวมแล้วก็จะได้มุมมองที่เป็นแบบ Socio-Technical System ซึ่งถูกผลักดันด้วยคนและความคิดในตัดสินใจของคน
แล้วค่อยต่อ Part 2 ครับ
19 ธ.ค. 53
วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553
จิบกาแฟยามบ่ายวันศุกร์ ที่ IE@ขอนแก่น (ตอนที 1)
09:10
มหาวิทยาลัยขอนแก่น, IE