วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จิบกาแฟยามบ่ายวันศุกร์ที่ IE@ขอนแก่น (ตอนที 2)


หลังจากผมเล่าเรื่องราวจากความคิดเห็นส่วนตัวในมุมมองของ IE ไปพอสมควร (โปรดอ่านด้วยวิจารณญาณ) ผมก็ได้ชูประเด็นโดยมุ่งไปที่กระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษา จากประสบการณ์ที่ผมก็เคยเป็นนักศึกษามาก่อนเหมือนกัน และผมได้มีโอกาสสอนนักศึกษาทั้งในระบบทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกบ้าง หรือไม่ก็ก็ไปสอบหัวข้อในระดับป.เอก และบรรยายให้นักศึกษาป.เอกบ้างพอสมควร (ยังไม่มีนักศึกษาปริญญาเอกจบกับผมเลย เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมในการการสร้างโปรแกรมปริญญาเอกมากนัก) และผมก็ยังมีโอกาสได้สอนในโรงงานอุตสาหกรรมหลายๆ แห่ง รวมทั้งในระดับผู้บริหารและระดับวิศวกร สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ เนื้อหาวิชาที่ผมนำไปสอนในอุตสาหกรรมก็เป็นเนื้อหาเดียวกับที่ผมสอนในมหาวิทยาลัย แต่อาจจะกระชับมากกว่า ผมจึงสงสัยว่าทำไม่ความรู้ที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยจึงเป็นที่ต้องการในเรียนซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำไปใช้งานในสถานที่ทำงาน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมเนื้อหาวิชาที่ร่ำเรียนมาในมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีถึงไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานหรือเป็นวิชาชีพตั้งแต่แรกที่นักศึกษาจบไปทำงาน แล้วทำไมอาจารย์หลายท่านต้องตามไปสอนซ้ำอีกในหลายปีต่อมา เรียนรู้เองไม่ได้หรือ แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้บริหารเหล่านั้นอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้ แล้วจะเรียนรู้เองได้ไหม?

เป้าหมายของการศึกษาในมหาวิทยาลัยอาจจะถูกเบี่ยงเบนออกไป กลายเป็นการเรียนเพื่อให้ได้มาซึ่ง "ใบปริญญา" เพื่อเป็นใบผ่านทางไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน ซึ่งก็ใช่ การเรียนในปัจจุบันผิดกับการเรียนรู้เพื่อที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน ซึ่งผลจาการเรียนรู้ในการทำงานมีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัย ผมก็เลยนึกเอาเองว่า มันถึงเวลาที่เปลี่ยนแปลงแล้วหรือยังสำหรับการศึกษาในมหาวิทยาลัย ความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมและหน่วยงานการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน ผมจึงมีความคิดว่า น่าจะสร้างกระแสอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมุมมองของกระบวนการศึกษาหรือการสร้างความรู้และการนำไปปฏิบัติใช้งานให้เกิดประโยชน์ ทำอย่างไรให้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นกว่านี้

ที่จริงแล้วผมได้เล่าเรื่อง Model 3R ที่ผมนำมาใช้เป็นปรัชญาในการดำเนินงานของสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่เชื่อมโยง ตั้งแต่ Routine to Research to Reality ที่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกๆ องค์กร ถ้ามองกันแค่ Routine to Research ก็คือ Problem Solving หรือ Best Practices ส่วน Research to Reality คือ การนำเอาทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติที่เกิดเป็นผล ทำให้เป็นจริงเกิดประโยชน์จับต้องได้เป็นรูปธรรม ส่วน Reality to Routine เป็นการ Implementation เพื่อให้การใช้งานที่เป็นประโยชน์กับบริบทของการใช้งาน หรือเป็นนำประโยชน์ที่ได้นั้นไปใช้งานร่วมกับส่วนอื่นๆของกระบวนการสร้างคุณค่า อ่านบทความเต็มๆ เรื่องนี้ของผมได้ ใน Blog ของผมได้ครับ

ถ้าเราสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกัน เราจะลดความสูญเปล่าในการเรียนรู้ของทั้งตัวนักศึกษาเองและผู้ที่ใช้งานนักศึกษาด้วย ค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการ Training ก็จะลดลงไปด้วย แต่ประเดนตรงนี้ผมเห็นว่ายังไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก ประเด็นที่มหาวิทยาลัยจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของความต้องการความรู้ในอุตสาหกรรมให้ทัน ที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยก็ควรจะเป็นผู้ที่ชี้นำมากกว่าที่จะเป็นผู้ตาม ผมลองนึกดูว่า เรื่อง Logistics Supply Chain Lean ฯลฯ ได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมมานับสิบปีแล้ว และกำลังถูกนำมาใช้จนกลายเป็นเครื่องมือที่เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงานมากขึ้นในอุตสาหกรรม แต่ผมก็ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษาที่น่าจะคึกคักและจริงจังมั่นใจเหมือนในอุตสาหกรรม ผมยังไม่เห็นหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงได้ทันตามอุตสาหกรรม คิดง่ายๆ ก็เพราะผลได้และผลเสียไม่เหมือนกัน ถ้าเราลองทำให้มันมีผลได้ผลเสียเหมือนกันสิครับ ถ้าอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยมีลูกค้าคนเดียวกันสิ ผมว่ามันน่าจะสนุกมากกว่านะครับ!

ทุกวันนี้เราได้ทำให้โลกของการเรียนและการศึกษาเป็นองค์กรที่แยกออกมาจากกระบวนการทำงานที่สร้างประโยชน์ ยิ่งเราดำเนินงานไปในเส้นทางนี้มากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเราไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าการศึกษาในระบบที่เป็นอยู่นั้นไม่ดี เพียงแต่ว่าเนื้อหาและระบบการเรียนการสอนยังไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทธุรกิจและสังคมได้ ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ยิ่งต้องใกล้กับผู้ใช้ประโยชน์จากความรู้นั้น ตัวผู้เรียนรู้ในกระบวนการเรียนรู้ก็ไม่จำเป้นที่จะต้องเป็นนักศึกษาเท่านั้น ถ้ามองกันกว้างๆแล้ว ผู้ที่ทำงานในกระบวนการธุรกิจนั้นแหละจะต้องเป็นผู้ที่เรียนรู้หรือเป็นนักศึกษาตลอดเวลา และผลประโยชน์ที่ได้หรือที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อผู้ศึกษาหรือเรียนรู้โดยตรง มากกว่าผู้ที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจะต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อที่จะเอาชีวิตให้อยู่รอด

ดังนั้นผมจึงเป็นหว่งคนทำงาน หรือ Professionals ทั้งหลายที่ยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงหรือยังไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว ความรู้ใหม่ๆ ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆนั้นอาจจะไม่สามารถหาได้จากหลักสูตรในมหาวิทยาลัย ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานจะต้องทำหน้าที่เป็นครูของตัวเอง เรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต ทัศนคตินี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราหยุดการเรียนรู้แล้ว เลิกสอบแล้ว ไม่ต้องทำการบ้าน ไม่ต้องทำการนำเสนอผลงาน ใครคิดอย่างนี้ก็ผิดแล้วครับ ความรู้ในมหาวิทยาลัยที่พวกเราเรียนรู้มานั้น น้อยนิดยิ่งนัก ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ๆ เกิดจากการทำงานหรือการดำเนินงานในกระบวนการธุรกิจที่เป็นผลประโยชน์ต่อเราเอง การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงแค่การฝึกตนเท่านั้น เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ต้องเริ่มดิ้นรนเอาตัวรอกด้วยการศึกษาเพื่อชีวิตรอด ด้วยประสบการณ์และวิธีการเรียนรู้จากกระบวนการในมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียน

ถ้าใครๆ ก็มีทัศนคติไปในทิศทางนี้แล้ว สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่อุดมปัญญา เต็มไปด้วยความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ เพราะทุกคนเข้าใจในกระบวนการหาความรู้มาแก้ปัญหาในการดำรงชีวิต และพัฒนาให้บ้านเมืองเจริญยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วสังคมเรายังขาดการบูรณาการภาคส่วนการศึกษาและภาคส่วนธุรกิจอุตสาหกรรม จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดในบทบาทของตัวเอง คนจบปริญญาก็นึกว่าตัวเองมีความรู้ ส่วนคนทำงานในอุตสาหกรรมก็ไม่มีภาวะผู้นำในการเรียนรู้ ไม่มีวัฒนธรรมในการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานและการแก้ปัญหาในการทำงาน คือ องค์ความรู้ที่แท้จริงทั้งสิ้น มีของดีอยู่กับตัว แต่ไม่มีกระบวนการในการสังเคราะห์ความรู้ที่อยู่ต่อหน้า สุดท้ายก็หันกลับไปพึ่งพาอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อให้สอนวิธีการแก้ปัญหาให้ในเฉพาะเรื่อง ซึ่งก็ผิดอีก เพราะว่าผู้ปฏิบัติงานก็ยังเรียนรู้ไม่เป็นอีกอยู่ดี ที่จริงแล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างหากที่จะต้องสอนกระบวนการค้นหาหรือสร้างความรู้ ไม่ใช่สอนองค์ความรู้ ที่จริงแล้วกระบวนการหาความรู้ทั้งหมดนั้นอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทั้งผู้สอนและผู้เรียนอาจจะยังไม่เข้าใจปรัชญาในการศึกษาดีพอ รู้แต่ภาระหน้าที่ที่จะต้องบรรลุตามวัตถุประสงค์ เรียนให้ได้เกรด จบให้ได้ปริญญา แก้ปัญหาให้ได้ แต่ไม่ได้นึกถึงกระบวนการเรียนรู้

ลองกลับมามองการเรียนการสอนใน IE ของเรา สภาวะความต้องการความรู้ของอุตสาหกรรมอยู่ในสภาวะสมดุลอย่างไรบ้างและเราจะต้องปรับตัวเราเองและกระบวนการได้อย่างไร จะดีกว่าไหมครับ