วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Perspective 18 : เห็นยุทธศาสตร์ BOI แล้วนึกถึงยุทธศาสตร์ชาติอีกแล้ว

ได้ยินคนเขามาเล่าให้ฟังถึงคำสัมภาษณ์ของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมโต๊ะกลมเรื่อง "ยุทธศาสตร์การลงทุนไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในงานบีโอไอแฟร์ 2011"โดยมีประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ดร.ศุภชัยกล่าวไว้ "รูปแบบการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน คงไม่เร่งการพัฒนาด้านโครงสร้างการผลิตของไทยเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคตได้ เพราะต่อไปจะมีการแข่งขันด้านข่าวสาร คมนาคม โลจิสติกส์ การบริการและพลังงาน" หลายคนพอจับประเด็นได้จึงมาเล่าให้ผมฟังต่อว่าดร.ศุภชัยชี้ว่าถ้าไทยจะแข่งขันได้นั้นจะต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลอจิสติกส์และด้านนวัตกรรม พอผมฟังรวมๆ แล้วก็ว่า ถูกเสมอ เพราะประเด็นเหล่านี้มีผลต่อการแข่งขันของธุรกิจทั่วไปอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยต้องเน้นมากๆ ในประเด็นเหล่านี้ ถ้าจะแข่งขันในภาวะปัจจุบัน เพราะมัน คือ พื้นฐานของโซ่คุณค่าและโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่เราจะสร้างไปแข่งขันกับคนอื่นๆ ในตลาดภูมิภาคหรือในตลาดโลก


ในวันที่ท่านดร.ศุภชัยพูดนั้นมีการอ้างถึงยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในระยะ 2555 - 2559 ประเด็นสำคัญที่ท่านได้พูดไว้ คือ ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโซ่อุปทานโลกเหมือนจีนและไต้หวัน ตรงนี้ผมชอบมากเพราะเป็นการมองตัวเองอย่างเป็นจริง โดยไม่ได้หลอกตัวเอง เพราะว่าประเทศเราชอบหลอกตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคหรือของโลกบ้าง ทั้งๆ ที่เราไม่ใช่เลย เราก็เห็นๆ กันอยู่ และอีกประเด็น คือ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอนาคตอาจจะมีผลต่อการให้สิทธิประโยชน์ต่อนักลงทุน มีผลต่อรายได้ของรัฐ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีความจำเป็นต่อการนำเงินเหล่านั้นมาพัฒนาคนเพื่อรองรับการลงทุน ประเด็นตรงนี้แสดงให้เห็นว่า มุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศใดก็ตาม นักลงทุนเขาจะต้องมองแบบองค์รวมหรือมองทั้งโซ่อุปทานสำหรับการลงทุนในการจัดหาทรัพยากรต่างๆ ในการผลิต ตั้งแต่เส้นทางการนำเข้าวัตถุดิบ การผลิตและการส่งออกไปยังตลาดโลก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของการจัดการโซ่อุปทานทั้งนั้น ผมคิดว่าเป็นมุมที่ BOI ควรจะนำมาพิจารณาในการส่งเสริมการลงทุน


นักลงทุนเองไม่ได้คำนึงถึงสิทธิประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเราเข้าใจอุตสาหกรรมดี เราก็ต้องเข้าใจว่าโซ่อุปทานว่ามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอย่างไร แล้วอะไรบ้างเป็นองค์ประกอบของโซ่อุปทานไม่ใช่แค่โครงสร้างอุตสาหกรรม แต่เป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆในอุตสาหกรรม เราต้องมองโครงสร้างอุตสากรรมในเชิงระบบ (Systemic Approach) หรืออย่างเชิงบูรณาการ (Integrative) โดยเฉพาะประเด็นที่ดร.ศุภชัยพูดเรื่องคนและการพัฒนาคนนั้นเป็นประเด็นที่จะผลักดันให้โซ่อุปทานเกิดความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ เพราะคนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโซ่อุปทานในการจัดการ


เวลานักลงทุนมาลงทุน อย่างแรกที่จะทำให้การลงทุนนั้นมีความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าต่างๆ นั้น คือ ความเป็นไปได้ในการสร้างโซ่อุปทานในพื้นที่การลงทุน ไม่ใช่สิทธิประโยชน์เป็นหลัก เพราะว่าถึงแม้จะได้สิทธิประโยชน์มากมาย แต่ถ้าต้นทุนของการสร้างโซ่อุปทานขึ้นมาผลิตสินค้าไม่ได้หรือไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนแล้ว เหล่านักลงทุนนั้นก็คงจะไม่มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต


ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความน่าสนใจหลายอย่างจึงมีหลายประเทศหลายโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตในโซ่อุปทานโลกของผลิตภัณฑ์ของเขา แต่เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป ความเป็นพลวัตมีผลกระทบโดนตรงต่อโซ่อุปทาน ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีผลกระทบโดยตรงต่อโซ่อุปทานโลก รวมทั้งโครงสร้างโซ่อุปทานและการจัดการโซ่อุปทานในแต่ประเทศ โซ่อุปทานที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานโลกก็ต้องปรับตัวตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทานโลก ถ้าโซ่อุปทานในประเทศของเราปรับตัวไม่ทันกับโซ่อุปทานโลกแล้ว ถึงแม้ว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ผมว่าก็คงจะไม่มีใครมาลงทุน เพราะว่าโซ่อุปทานในเมืองไทยไม่สามารถสร้างประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานโลกของผลิตภัณฑ์ของเขาได้


ส่วนประเด็นขององค์ประกอบด้านอื่นๆ ของการลงทุน เช่น แรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ BOI แต่ BOI เองจะต้องนำเสนอนักลงทุนและนำประเด็นเหล่านี้มาสร้างเป็นองค์ประกอบในการเขียนยุทธศาสตร์ของ BOI เมื่อถึงเวลาปฏิบัติการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ เมื่อถึงเวลาแล้วจะเป็นไปตามที่วาดฝันไว้หรือไม่ BOI ไปขายแนวคิดไว้ ไปขายฝันให้นักลงทุนว่า เราจะมีแรงงานที่มีคุณภาพ เราจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เราจะมีนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมได้ แต่พอถึงเวลาแล้วจะเป็นอย่างที่พูดไว้หรือไม่ นักลงทุนก็ต้องประเมินกันเอง ถ้าเรามีครบและตอบสนองต่อนักลงทุนได้ โซ่อุปทานเกิดขึ้น ผลประโยชน์ก็ตามมา


ดูเหมือนว่าในขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรๆ ก็ตามจะพยายามหาข้อมูลและประสานงานกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เพราะว่าเดี๋ยวนี้ทุกเรื่องราวนั้นมีความเกี่ยวโยงกันเกือบทั้งหมดอย่างเห็นได้ชัดมากว่าในอดีต เพียงแต่ว่าเวลาจะดำเนินงานเรื่องอะไรก็ตาม เช่น การเขียนแผนยุทธศาสตร์ทั้งหลายนั้นไม่ได้เขียนร่วมกันให้เป็นยุทธศาสตร์หลักหรือยุทธศาสตร์ชาติกันเสียก่อน เพราะว่าไม่ได้มีการเชื่อมโยงหรือทำงานร่วมกันอย่างเป็นทางการ คงจะมีแต่การประสานขอข้อมูลไปหรือนำข้อมูลมาเป็นองค์ประกอบในการวางแผนของตนเอง กิจรรมก็คงจะเท่านั้นเอง ไม่ได้ศึกษาถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานและผลกระทบต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานและผลประโยชน์สุดท้ายที่ประเทศชาติจะได้รับ ในที่สุดแล้วก็ยังเป็นการทำงานของแต่ละหน่วยงานก็ยังเป็นแบบที่ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำหรือเป็น Silos ผลที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็จะทำให้ภาพรวมของการดำเนินงานทั้งหมดขาดความเป็นเอกภาพและขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทำให้มีความสามารถในการตอบสนองต่ำ นี่ล่ะครับ คือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเรา

ถ้ายุทธศาสตร์ที่ BOI เขียนออกมาในช่วง 2555 - 2559 มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ใน 3 ด้าน คือ 1.เศรษฐกิจที่พึ่งตัวเองได้มากขึ้นในด้านทุน พลังงาน เทคโนโลยี วัตถุดิบและการตลาด 2.เศรษฐกิจฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ 3.เศรษฐกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยจะปรับปรุงสิทธิประโยชน์ใหม่ ลองสังเกตดูดีๆ ว่าแล้วบทบาทของ BOI ในเป้าหมายที่เขียนไว้นั้นควรจะเป็นอะไรและเป็นอย่างไร ถ้าจะให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้นหน่วยงานไหนควรจะเป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเรื่องที่กล่าวมา ภาพของแผนต่างๆก็ยังเป็นภาพที่เป็นแบ่งปันข้อมูลกัน แล้วก็ต่างคนๆต่างกลับมาเขียนแผนของตัวเองโดยไม่มีแผนหลักหรือแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นแกนกลางของความคิด

ประเด็นเรื่องความกังวลของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยนั้น เราไม่ต้องไปกังวลในประเด็นเรื่องราวต่างๆ ในเชิงปฏิบัติมากนัก ผมคิดว่าสิ่งที่เราขาดมากๆ ก็คือ แผนรวมหรือแผนหลักมากกว่า ประเทศไทยเรานั้นความสามารถเฉพาะตัวสูง จนถึงวันนี้แล้วเรายังไม่ได้มีแผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศที่ดีพอ เรายังไม่มีแผนที่สามารถตอบสนองต่อการบรรลุถึงวิสัยทัศน์ของประเทศได้ เรายังไม่มีวิสัยทัศน์ของประเทศที่แน่นอนเลย เรายังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยจะเดินไปทางไหนดี เรายังไม่มีผู้นำที่ดีพอที่จะกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศได้

ผมได้ยินมาอีกทีว่า ท่านดร.ศุภชัยกล่าวว่า เรื่องการเมืองนั้นเราได้มีพัฒนาการมาพอสมควรแล้ว เราควรจะมาพัฒนาในด้านอื่นๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ลอจิสติกส์และนวัตกรรม ผมเห็นด้วยครึ่งหนึ่งครับ ในเรื่องการเมืองนั้นผมว่าถึงทางตันแล้ว หมดหนทางในการพัฒนาแล้วครับ ถ้ามองกันในมิติที่เห็นกันอยู่ ดันทุรังไปก็อาจจะพังกันหมด แต่ถ้าเราหันกลับมาที่พื้นฐานในการทำงานร่วมกันเสียใหม่ สร้างวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ งานพัฒนาการเมืองต่างๆ ก็อาจจะดีขึ้นได้ เพราะว่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการพัฒนาด้านการเมืองจะทำให้การพัฒนาด้านต่างๆ ช้าลงไปด้วย

เรื่องที่เราควรจะพัฒนาเป็นอย่างมากก็ คือ พื้นฐานด้านการทำงาน เช่น คิดดี (Right Planning) ทำดี (Right Execution) ได้ผลดี (Right Results) แล้วจึงพัฒนาต่อมาเป็นการทำงานร่วมกัน (Collaboration) คิดดีร่วมกัน (Right Collaborative Execution) ทำดีร่วมกัน (Right Collaborative Execution) และได้ผลดีร่วมกัน (Right Collaborative Results) เรื่องราวของประเทศชาติไม่ใช่เรื่องคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เราไม่สามารถให้ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำอีกต่อไปแล้ว เรื่องราวในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนเกินกว่าการคิดและการดำเนินงานในอดีตและปัจจุบันจะสามารถรองรับได้ เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีวางแผนเป็นการวางแผนร่วมกัน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นการทำงานร่วมกันและเป็นผลประโยชน์ร่วมกันในสังคมและประเทศชาติ

สุดท้ายแล้วผมก็ต้องย้อนกลับมาที่ยุทธศาสตร์ชาติอยู่ดี เพราะว่าไม่เห็นหนทางไหนแล้วที่จะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันหรือแม้กระทั่งการปรองดองกันในชาติเอง นอกจากนั้นเรายังต้องพัฒนาการนำยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ไปดำเนินงานให้สอดคล้องกันทั้งองค์รวมของยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องอย่างนี้มันอาจจะดูไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นักในสังคมไทยในยุคปัจจุบันนี้ที่เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลได้สร้างทั้งประโยชน์และทำลายความสามารถในการคิดของคนเราบางอย่างไปพร้อมๆ กัน สภาพและปัญหาสังคมในปัจจุบันจึงอาจจะเป็นอุปสรรคในการหลอมรวมความคิดให้เป็นหนึ่งหรือเป็นองค์รวมได้ ถึงอย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และสามารถนำพาให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนของสังคมเข้าเป็นหนึ่งหรืออย่างเป็นเอกภาพเพื่อก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน