วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Perspective 19 : ทิศทางยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ชาติในมุมมองของผม

เมื่อประมาณเดือนกว่าที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาโต๊ะกลมที่จัดโดยชมรมวิชาชีพซัพพลายเชน CSCMP Thailand Roundtable ที่คุยกันเรื่องยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ชาติ ในงานโต๊ะกลมครั้งนี้ก็มีการแสดงความคิดเห็นมากมายรวมทั้งผมด้วย แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่และนั่นเป็นจุดยืนของผมเสมอมาว่า แนวทางของยุทธศาสต์ลอจิสติกส์นี้ไม่ได้มีความเหมาะสมและขาดความเป็นแผนยุทธศาสตร์ ผมเสียใจจริงๆที่ไม่สามารถเห็นร่วมในเรื่องเหล่านี้ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าประเทศไทยเราไม่น่าจะมีแผนยุทธศาสตร์หลักหรือยุทธศาสตร์ชาติกันจริงๆ ผมใช้คำว่า “น่าจะ” ผมต้องออกตัวไว้ก่อนนะครับ ผมอาจจะผิดก็ได้ เพราะว่าอยากจะให้คนที่อ่านบทความผมมีข้อมูลที่ถูกต้องไว้พิจารณา

สิ่งที่ผมพยายามนำเสนอมาโดยตลอดว่า ความเข้าใจเรื่องลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะความเข้าใจในระดับนามธรรม (Abstract) และแผนยุทธศาสตร์ที่เรากำลังจะเขียนหรือวางแผนกันอยู่นี้ก็ถือว่าอยู่กันในระดับนามธรรมทั้งสิ้น แผนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ชาติ ถ้าจะเขียนกันออกมาแล้วมันจะต้องมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของชาติ ทั้งคนทั้งสินค้าและสาธารณะสมบัติต่างๆ แล้วแต่ว่าใครจะมีผลกระทบมากหรือน้อยกว่า ผมพูดอยู่เสมอว่า ที่จริงแล้วแผนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์นั้นอยู่กันอย่างโดดๆ ไม่ได้ แต่จะต้องไปเสริมไปเต็มกับส่วนอื่นๆ ในระดับโซ่อุปทานชาติอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เกิดเป็นคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าของประเทศซึ่งผมหมายถึงประชาชนในประเทศและคู่ค้าของประเทศไทย


ผมเห็นหน่วยงานอย่างเช่น สำนักงานลอจิสติกส์อุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม มีกิจกรรมด้านการจัดการลอจสิติกส์อุตสาหกรรมมากมาย ปีนี้มีงบประมาณออกมามากมายมาให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการสนับสนุนแนวคิดการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ( เรื่องนี้พูดถึงโซ่อุปทานมากไม่ได้ครับ เพราะหลายคนยังคิดว่ามันเป็นเรื่องลอจิสติกส์ ส่วนโซ่อุปทานนั้นไม่เกี่ยวกัน จริงๆ นะครับ คนเราก็ยังคิดกันอย่างนี้อยู่ครับ) เท่าที่ผมทราบมาว่า สำนักลอจิสติกส์อุตสาหกรรมจะดูแลและสนับสนุนลอจิสติกส์อุตสาหกรรม จึงได้มีโครงการและเป้าหมายในการลดสินค้าคงคลังในโรงงานอุตสาหกรรมและในกลุ่มอุตสาหกรรม ที่จริงแล้วผมได้ยินเรื่องราวในประเด็นนี้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากนัก มีกิจกรรมและโครงการต่างๆ นั้นเป็นเรื่องดีครับ แต่เมื่อมีแล้วจะมีผลกระทบอย่างไรและเป็นประโยชน์อย่างไรต่อโซ่อุปทานครับ ไม่ใช่แค่ลอจิสติกส์ โดยเฉพาะในมุมของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานโดยเฉพาะผลกระทบต่อสาธารณะหรือประเทศในภาพรวม


พอเขียนมาถึงตรงนี้ เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมลอจิสติกส์ในประเทศไทยมีอะไรกันมาบ้าง ผมก็เลยต้องกลับไปอ่าน Timeline ต่างๆ ของกิจกรรมลอจิสติกส์ในประเทศไทยที่ Website สศช หรือสภาพัฒน์ฯ http://www.nesdb.go.th/ ลองมองย้อนหลังกลับไปอีกเกือบ 10 ปี ดูแล้วน่าตื่นเต้นและน่าชื่นชมในกำลังกายและกำลังความคิดที่แต่ละหน่วยงานช่วยกันสร้างสรรค์ออกมาได้ถึงอย่างนี้ ไม่เบาเลยทีเดียวครับ แต่สิ่งที่ผมมองเห็นว่าขาดไปก็ คือ ความเป็นลอจิสติกส์ อ้าวทำไมเป็นอย่างงั้นไปล่ะครับ? ทั้งๆ ที่ชื่อหน่วยงานและกิจกรรมต่างๆก็ได้ชื่อว่าเป็น “ลอจิสติกส์” อยู่แล้ว ทำไมผมถึงยังกล้าดีอย่างไรที่มาบอกว่า “ขาดความเป็นลอจิสติกส์” แล้วต้องเป็นอย่างไรบ้างถึงจะเป็นลอจิสติกส์


จากความรู้สึกที่ผมว่ายังไม่เป็นลอจิสติกส์ ก็คือ กิจกรรมเหล่านั้นยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เกิดจากการบูรณาการกิจกรรมต่างๆ (ที่อ้างกันว่าเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์) ในโซ่อุปทาน พอผมพูดมาถึงเรื่องโซ่อุปทานก็จะกลายเป็นใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครให้กำหนดนิยามที่ชัดเจนและแน่นอน แต่โดยธรรมชาติของความเป็นนามธรรมโดยความหมายของโซ่อุปทานแล้ว ย่อมไม่มีความหมายที่เด่นชัดและแน่นอน เรื่องราวจึงจะต้องกำหนดลงไปตามบริบที่เกี่ยวข้องกันให้เป็นเรื่องที่จับต้องได้ (รูปธรรม)


เรื่องของโซ่อุปทานเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นประเด็นที่สำคัญของยุทธศาสตร์ของบริษัทในระดับโลก ซึ่งบริษัทระดับโลกเหล่านั้นได้ก้าวข้ามผ่านประเด็นเรื่องลอจิสติกส์กันไปนานแล้ว โดยนำประเด็นลอจิสติกส์และการผลิตมาอยู่ภายใต้แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทาน แล้วประเทศไทยเราล่ะ ยังวนเวียนกันอยู่ในอะไรดีล่ะ ยังอยู่กับลอจิสติกส์อยู่ทั้งๆ ที่ปัญหาด้านโซ่อุปทานของประเทศหรือองค์ธุรกิจอุตสาหกรรมมามาอยู่ตรงหน้าแล้ว ก็ยังไม่รู้จักหรือไม่ยอมที่ทำความรู้จักกับโซ่อุปทานเพื่อจะแก้ปัญหาได้ถูกต้องมากกว่า


ถ้าจะพูดถึงความเป็นลอจิสติกส์แล้ว เราจะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า (Customer Values) ที่ซื้อสินค้าไปใช้หรือไปขายเป็นหลักก่อน แล้วจึงตามมาด้วยระดับของการให้บริการ (Service Level) ลอจิสติกส์ในมุมมองของผมจึงหมายถึงลูกค้าหรือผู้บริโภคจะต้องได้รับผลิตภัณฑ์หรือบริการเมื่อต้องการอย่างทันเวลาพอดี (Just in Time) เพื่อให้เกิดการขายหรือการส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการ เป้าหมายของลอจิสติกส์มีอยู่แค่นี้ครับ ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ในการจัดการโซ่อุปทานของแต่ละผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งจะครอบคลุมการจัดการลอจิสติกส์และการจัดการผลิตไว้ด้วยกันอย่างเชิงระบบ (Systemic) ผมต้องบอกว่า แนวคิดลอจิสติกส์นี้ไม่ได้มาจากการลดต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งผมเข้าใจแตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ผมเข้าใจว่าลอจิสติกส์มาจากการเข้าถึงลูกค้าเพื่อส่งมอบคุณค่าและการทำงานร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันทุกคนในโซ่อุปทาน ดังนั้นเราจึงบอกได้ว่า ลอจิสติกส์นั้นเกิดมาจากแนวคิดและมุมมองในการจัดการโซ่อุปทานโดยเฉพาะการมองเชิงระบบ (Systems Thinking) ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Network) รวมทั้งการปรับตัวในเชิงระบบเพื่อรองรับการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้า


กิจกรรมต่างๆ ที่เราได้เห็นและประสบอยู่ในชีวิตประจำวันนั้นเช่น การจัดซื้อ สินค้าคงคลัง การผลิต คลังสินค้า การขนส่ง การกระจายสินค้า การขาย การบริการลูกค้า เป็นกิจกรรมที่อยู่ในโซ่อุปทานใดโซ่อุปทานหนึ่ง มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบในระดับหนึ่ง โดยมีเป้าหมายที่ผู้บริโภคได้รับคุณค่าที่อยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการอย่างดี (Good) เร็ว (Fast) และถูก (Cheap) ส่วนเรื่องของการลดต้นทุนเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับการจัดการทั่วไปซึ่งตามมาทีหลัง โดยในมุมมองของผมนั้นเรื่องต้นทุนสำหรับลอจิสติกส์แล้วไม่ใช่เป็นประเด็นหลัก การลดต้นทุนเป็นประเด็นที่สำคัญเสมอของการจัดการการดำเนินงาน (Oerations Management) ไม่ใช่เป็นประเด็นหลักของลอจิสติกส์


ส่วนประเด็นด้านลอจิสติกส์ คือ การจัดสรรทรัพยากรให้พร้อมอย่างถูกเวลาและสถานที่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าอย่างทันเวลาพอดี หรือ อย่าง On Time In Time (OTIF) ส่วนเรื่องต้นทุนในกิจกรรมลอจิสติกส์นั้นเป็นเรื่องการจัดการในการดำเนินการกิจกรรม ซึ่งในกิจกรรมการดำเนินงานั้นก็มีกิจกรรมลอจิสติกส์อยู่ด้วย เราจึงมีความเข้าใจว่าเมื่อจัดการลอจิสติกส์แล้วต้นทุนจะลดลง ซึ่งเป็นจริงเพราะว่าเมื่อมีการจัดการลอจิสติกส์แล้ว ก็จะมีการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมลอจิสติกส์ต่างๆ มีการแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน มีการวางแผนร่วมกันสำหรับกิจกรรมลอจิสติกส์ต่างๆ เมื่อใดจัดการลอจิสติกส์แล้ว ลูกค้าจะต้องได้รับผลิตภัณฑ์และบริการอย่างถูกเวลาและสถานที่ เมื่อใดมีการจัดการการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลอจิสติกส์ การผลิต สารสนเทศ หรือธุรการก็ตาม จะต้องได้ตามเป้าหมายของการดำเนินการและมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าหรือต้นทุนที่เหมาะสม


เมื่อจะพูดถึงโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แล้ว เราคงจะไม่ได้พิจารณาที่การลดต้นทุนการดำเนินงานและเรื่องการจัดการสินค้าคงคลังเท่านั้น เพราะว่าทั้งสองประเด็นนั้นเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของความเป็นโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ เราสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้หรือเข้าใจความเป็นโซ่อุปทานหรือลอจิสติกส์ เราสามารถจัดการสินค้าคงคลังได้ จัดการการขนส่งได้ จัดการการกระจายสินค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้หรือเข้าใจความเป็นโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ ในทางตรงกันข้ามถ้าเรารู้และเข้าใจความเป็นโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แล้ว จะทำให้เราสามารถจัดการกับกิจกรรมต่างๆที่ได้กล่าวมานั้นได้อย่างเชื่อมโยงกันเป็นโซ่อุปทานในเชิงองค์รวมหรือในเชิงระบบ ด้วยการจัดการเชิงความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กล่าวมาในโซ่อุปทานนั้นมีผลต่อการจัดการกิจกรรมต่างๆ นั้น ผลของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่างๆ ในโซ่อุปทานจะทำให้เกิดการดำเนินงานได้อย่างคุ้มค่าด้วยต้นทุนรวมที่เหมาะสมและสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าคนสุดท้ายผู้ที่ใช้ประโยชน์โดยตรง


ในปัจจุบันนั้นการเปลี่ยนแปลงของคุณค่าที่ลูกค้าต้องการมีพลวัตสูง และมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจจะต้องกำหนดระดับการให้บริการอย่างเหมาะสมที่ระบบลอจิสติกส์ขององค์กรจะรองรับได้ด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเมื่อความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ องค์กรธุรกิจก็จำเป็นที่จะต้องออกแบบยุทธศาสตร์เชิงลอจิสติกส์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการในโซ่อุปทานที่สามารถตอบสนองต่อลูกค้าได้ สำหรับในระดับประเทศก็เช่นกัน ระบบลอจิสติกส์ของประเทศไม่เหมือนขององค์กรธุรกิจ เพราะว่าระบลอจิสติกส์ของประเทศมีไว้เพื่อการบริการสาธารณะในการทำให้คนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงเพื่อไปประกอบอาชีพในภาคส่วนและองค์กรธุรกิจต่างๆที่อยู่ในโซ่อุปทานต่างๆ ของประเทศ


อาจจะมีหลายคนสงสัยว่าแล้วยุทธศาสตร์สำคัญอย่างไร ผมคงแค่ตอบได้ว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าถ้าไม่มียุทธศาสตร์ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะไม่มีชัยชนะ แล้วยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์สำคัญอย่างไร ยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์มีความสำคัญต่อโซ่อุปทานอย่างยิ่ง เพราะเป็นการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้แน่ใจว่าระดับของการให้บริการขององค์ธุรกิจหรือประเทศไม่ได้ลดลง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดและสิ่งแวดล้อม สำหรับในระดับประเทศนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศก็จะต้องดีขึ้น มีความสะดวกสบายขึ้น ต้นทุนการดำรงชีวิตก็ดีขึ้น เมื่อชีวิตประชาชนดีขึ้น การสร้างคุณค่าและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทานประเทศก็ดีขึ้น โอกาสในความอยู่รอดและยั่งยืนก็ดีขึ้นด้วย


ถ้าเราจะเขียนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ เราควรจะเริ่มตรงไหนก่อน ผมไปได้แนวคิดมาจาก Martin Murray, About.com Guide โดยแบ่งออกเป็น 4 มุมมอง คือ 1) ต้องมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ในมุมมมองของผมนั้นจะต้องเริ่มที่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กรธุรกิจหรือของประเทศ น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่เประเทศเราไม่มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ เรายังไม่รู้เลยว่าอีกสิบปีเราจะเป็นอะไร จะไปทางไหน ยังไม่ชัด แต่ก็มีบางหน่วยงานก็กำหนดทิศทางของตัวเองออกมาแล้วโดยที่ไม่มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน 2) ต้องมีโครงสร้าง (Structural) ยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์จะต้องกำหนดให้เห็นความเป็นโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Netwrok) คุณสมบัติเหล่านี้จะสร้างความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในกับองค์หรือประเทศได้ คุณสมบัติเหล่าเป็นพื้นฐานของความเป็นระบบ (Systemic Structure) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง 3) ต้องมีฟังก์ชั่นการทำงานที่เป็นเลิศ (Functional) ยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์จะต้องกำหนดว่าแต่ละฟังก์ชั่นการทำงานในโซ่อุปทานต่างๆที่เป็นกิจกรรมการผลิต กิจกรรมลอจิสติกส์ กิจกรรมการบริการ ไม่ว่าจะเป็นขององค์กรธุรกิจหรือของประเทศจะต้องมีความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ซึ่งหมายถึงทั้งภาครัฐและเอกชน 4)การนำไปปฏิบัติ (Implementation) หัวใจที่สำคัญที่สุดของแผนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ คือ การนำแผนงานไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กรธุรกิจ หรือถ้าเป็นในระดับประเทศ คือ การนำแผนยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติทั่วทุกภาคส่วนของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน


องค์ประกอบที่จะต้องพิจารณาในยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ในระดับองค์กรก็ไม่ได้แตกต่างไปจากองค์ประกอบในการดำเนินงานในระดับประเทศ เพียงแต่เราจะเข้าใจความแตกต่างของบริบทขององค์ธุรกิจและบริบทของประเทศหรือไม่ เรื่องขององค์ประกอบในการดำเนินงานในระดับประเทศก็จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมที่สนับสนุนให้เกิดการผลิตและการบริการ รวมทั้งกิจกรรมสนับสนุนของทางภาครัฐที่เป็นกฎระเบียบในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างคุณค่าของประเทศในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเพื่อสร้างให้เกิดความยืดหยุ่นในระบบลอจิสติกส์และการพัฒนาปรับปรุงระบบลอจสติกส์เพื่อที่จะสนับสนุนให้โซ่อุปทานของประเทศสามารถปรับตัวและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน


ผมคิดว่าเราเดินกันมาทางนี้ ไม่ผิดหรอกครับ มันเป็นไปตามกระแสโลก ความคิดเราก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรหรอกครับ ทุกประเทศก็มีแนวคิดเรื่องลอจิสติกส์และโซ่อุปทานกัน มันเป็นเรื่องสากล ทุกคนรู้และเข้าถึงข้อมูลและแหล่งความรู้ได้เหมือนๆกันและเท่าๆ กัน แต่เราจะเหนือกว่าคนอื่นๆเขาได้ เราก็ต้องเข้าใจในเรื่องนั้นให้ลึกซึ้งกว่าคนอื่นๆ เพื่อที่จะประยุกต์ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการอยู่รอดอย่างยั่งยืน