วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อ.วิทยา Talk at IE@CMU ตอนที่ 1



ผมได้มีโอกาสไปบรรยายในงานสัมมนาที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ InterTransport and Logistics ร่วมกับหอการค้าเชียงใหม่เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 53 โดยสายการบินไทย ก็ไม่เช้าเท่าใดนัก ประมาณ 7:30 น. แต่กว่าเครื่องจะลงก็ 9 โมงกว่าๆ แล้ว ต้องบรรยาย 9 โมงครึ่ง จึงรีบกันพอสมควร ผมบรรยายเรื่อง การพัฒนา Supply Chain ในกลุ่ม GMS และ AEC ซึ่งดูทันสมัยมากๆ แต่ผมสิครับ เหนื่อยจริงๆ เพราะมีหลายเรื่องมาก ผมก็ให้ได้แค่มุมมองเท่านั้น เพราะลึกๆ แล้ว ไม่มีรายละเอียดมากนัก เพราะไม่ได้ทำ ถ้าผมพูดไป ก็จะโดนโต้แย้งมาว่าผมไม่ได้ทำอีก แต่ผมว่า ผมพอจะมองออกว่าอะไรเป็นอะไรได้ พอจะอธิบายได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเพราะอะไร ที่จริงแล้วมันควรจะเป็นอย่างไร ตามทฤษฎีแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร

ช่วงบ่ายจะว่าง ก่อนหน้านี้ผมจึงวางแผนว่าจะหาที่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์บ้าง จึงตัดสินใจโทรหา ดร.อภิชาติ โสภาแดง ที่ IE มช. (มหาวิทยาลัยเชียงหม่) แจ้งว่า ผมจะว่างตอนบ่ายวันที่ 15 ก.ค. อ.ช่วยมาเชิญผมไปบรรยายหน่อย (ผมขอร้องเองครับ) ผมอยากทำตัวให้เป็นประโยชน์กับในพื้นที่เชียงใหม่บ้าง ถ้าอ.อภิชาติ เห็นสมควร ผมก็ยินดีและเต็มใจครับ ในที่สุด ดร.กรกฎ ก็ติดต่อประสานงานมาแทน อ.อภิชาติซึ่งต้องเดินทางไปต่างประเทศ อ.กรกฎ หรืออ.เปิ้ล ถามว่าผมอยากพูดถึงเรื่องอะไรให้นักศึกษาที่เรียนปริญญาโทฟังดี ผมจึงเสนอหัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างวิศวกรรมลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์ และบทบาทของ IE ในกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน” อ.เปิ้ลก็ OK ตามนั้น

พอถึงวันที่ 15 ก.ค. ตามนัด อ.เปิ้ลก็มารับที่โรงแรมหลังจากที่ผมบรรยายช่วงเช้าเสร็จ ปรากฎว่ามี Big Surprise ครับ เพราะว่ามี อ.ดร.สิงหา นั่งติดรถมาด้วย และจะร่วมวงสนทนากับผมที่ IE@ มช ผมรู้สึกตื่นเต้นดี เพราะไม่ได้มีโอกาสได้คุยกับ อ.สิงหาในช่วงเวลายาวๆ มาก่อนเลย นึกไปถึงภาพตอนที่จะบรรยายให้นักศึกษาฟัง ถ้าอ.สิงหามาร่วมสนทนาด้วย จะดีมากเลย ดูแล้วจะกลายเป็น 3 Generation ไปเลย

แล้ว อ.เปิ้ลก็พาไปทานก๋วยเตี๋ยวเนื้อครับ อร่อยดีมากครับ จำชื่อร้านไม่ได้ ให้ไปถาม อ.เปิ้ลเองครับ ที่เด็ดมากๆ คือ ไอศครีมแบบรวมมิตร มีซ่าลิ่มพร้อมทับทิมกรอบด้วย แถมมีให้เลือกแบบแห้งหรือน้ำด้วยนะครับ ผมก็ชี้ตามรูป ดูดีครับ ในกรุงเทพผมไม่เคยเจอแบบนี้ครับ แล้ว อ.เปิ้ลก็พาไปดื่มกาแฟร้านริมถนนในคณะวิศวะ มช. บรรยากาศดีมากๆ ครับ เหมือนอยู่เมืองนอก แต่อากาศร้อนไปหน่อยครับ อย่างนี้น่าจะได้มาสอนบ้าง ได้คุยกันไปกับ อ.เปิ้ล และ อ.สิงหาระหว่างนั่งจิบกาแฟ มีอยู่หลายประเด็นเลย แล้วค่อยทะยอยเล่าให้ฟังต่อนะครับ

แล้วก็มาถึงการบรรยายให้นักศึกษาปริญญาโท IE ปกติ และป.โท ลอจิสติกส์ ดูรวมๆ แล้วไม่มากไปและน้อยไป กำลังดี ประมาณ 20-25 คน ผมก็โม้ไปเรื่อยๆ ตามประสาคนไม่ชอบอยู่เฉยๆ ขู่นักศึกษาบ้าง บังคับให้ถามบ้าง แต่พวกเขาก็ยังไม่ค่อยจะยอมถามกันเท่าใดนัก เป็นธรรมชาติของนักศึกษาไทยหรือเปล่านะครับ แต่เขาว่ากันมาอย่างนั้น

ในครึ่งแรกผมก็เริ่มบ่นในประเด็นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมชูประด็นในเรื่องของความเป็น “วิศวะ” ของสาขาวิชาลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน มีนักศึกษาอยู่ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า IE ของเรานี้ไม่ใช่วิศวะ ผมคิดในใจว่า “เฮ้ยคิดอย่างนี้ได้อย่างไร?” “แล้วเอ็งเรียนวิศวะหรือเปล่า” ผมถามตัวเองอยู่ในใจ ไม่ได้การแล้วล่ะ ถ้าคิดกันอย่างนี้แล้ว จะเรียน IE กันไปทำไมเล่า แต่ผมก็ไม่ได้โทษพวกเขาหรอกครับ เราต้องโทษตัวเราเองต่างหาก ทั้งคนสอนและคนวงการธุรกิจเอง เราเป็นวิศวะกันแค่ชื่อที่เรียน วิชาที่สอนและคณะที่จบ แต่มีคนมากมายที่ไม่เคยเรียนวิศวะมา แต่มีความเป็นวิศวะเต็มตัว แล้วผมก็มาถามตัวเองว่าจริงไหม? ก็ใช่ ผมเรียนก็วิชา Engineering แล้วก็จบคณะวิศวะ แต่ตัวเป็นวิศวะหรือไม่นั้น ไม่มั้ง! คิดว่าไม่ แล้วแต่โอกาสในการทำงาน แต่ผมก็ต้องมาสอนคนให้เป็นวิศวะ ผมนั้นกล้าดีอย่างไร ผมคิดเอาเองในใจ ก.ว. ผมก็ไม่ไปขอกับเขา สอนหนังสืออยู่ทุกวันนี้ มีน.ศ.วิศวะที่สอนอยู่ในสัดส่วนน้อยมาก และมีที่เดียวที่ผมสอน คือ IE พระนครเหนือ (ทุกวันนี้ก็ยังสอนอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำที่นั่นแล้วก็ตาม)

ผมมองเรื่องของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นได้ทั้งวิศวะ (Engineering) และการจัดการ (Management) เราต้องไม่คิดว่า จะต้องเป็นวิศวะเท่านั้นหรือจบวิศวะเท่านั้นที่ทำงานวิศวะได้หรือทำงานอย่างวิศวะได้ คิดอย่างนั้นก็บ้าแล้ว ใจแคบจริงๆ ทำไมคนเราจะเรียนรู้อะไรจะต้องเรียนจากคณะนั้นด้วยหรือ ทำไมพวกสถาปัตย์ถึงเป็นนักแสดงได้กันมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนการแสดง ถ้าใครมีความคิดเช่นนี้ ผมคิดว่าต้องขอให้เปิดใจรับฟังกันหน่อยแล้ว

วิศวะนั้นแตกต่างจากวิทยาศาตร์ ความเป็นวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องราวที่มนุษย์ค้นหากลไกของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเรานัก เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่เทคโนโลยีนั้นเอาวิทยาศาตร์มาทำให้เกิดประโยชน์ หรือมีคุณค่า (Value) กับมนุษย์ ความเป็นวิทยาศาสตร์ทำให้เราเข้าใจกลไกของธรรมชาติ มนุษย์จึงใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์เอง การดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการดำรงอยู่ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีในยุคแรกๆ และถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ โดยมีโจทย์จากความต้องการของมนุษย์เป็นตัวตั้ง การออกแบบและพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อทำให้มนุษย์อยู่ดีกินดีทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องงานวิศวกรรมหรือ Engineering พูดกันง่ายๆ ว่า วิศวกรรมเป็นการออกแบบเพื่อมนุษยชาติ ที่จริงแล้ว ทุกวันนี้เราก็ทำทุกสิ่งก็เพื่อตัวเองอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

มีข้อสังเกตอยู่หนึ่งอย่าง คือ ถึงแม้ว่าวิศวกรผู้ออกแบบจะออกแบบงานทางวิศวกรรม แต่ก็อาจไม่ได้เป็นผู้สร้างคุณค่าโดยตรงหรือเผชิญหน้าโดยตรงกับผู้ใช้ประโยชน์ (Users or Consumers) แต่อาจจะมีวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างหรือการผลิตอยู่ เพราะว่าความเป็นวิศวกรจะต้องเข้าใจกลไกการสร้าง (Engineer) เหล่านั้น ผมจึงมีความเข้าใจว่า วิศวะนั้นจะต้องฟังความต้องการของลูกค้า (Requirements) แล้วมาออกแบบและสร้าง (Design and Build) สิ่งนั้นขึ้นมา ที่จะต้องดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า (เห็นไหมว่า เหมือนการจัดการโซ่อุปทานเลย)

วิศวกรจึงต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีในการออกแบบและสร้างสิ่งที่มนุษย์ต้องการในรูปแบบของสินค้าและบริการ วิศวกรทำการออกแบบและสร้างต้นแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ แต่ผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคก็ยังไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากคุณค่าที่อยู่ในรูปแบบสินค้าและบริการ ผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานจะได้รับสินค้าและบริการจากกระบวนการสร้างคุณค่าหรือกระบวนการผลิตหรือกระบวนการบริการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะต้องถูกออกแบบโดยวิศวกร โดยเฉพาะวิศวกรอุตสาหการ (Industrial Engineer : IE) เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติการ (Operations) หรือฝ่ายผลิต (Productions) จัดการทรัพยากรสำหรับการผลิต (Manufacturing Resources) และจัดการกระบวนการผลิต (Manufacturing Process หรือกระบวนการการบริการ (Service Process) ที่สร้างคุณค่าซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

เมื่อเกิดปัญหาในกระบวนการผลิตที่ฝ่ายผลิตไม่สามารถจัดการในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ วิศวกร IE จะต้องมาปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือออกแบบกระบวนการผลิตใหม่ เพื่อให้ฝ่ายผลิตสามารถดำเนินการผลิตได้ ส่วนฝ่ายปฏิบัติการหรือฝ่ายผลิตไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ แต่จะเป็นผู้วางแผนและดำเนินการกระบวนการสร้างคุณค่าหรือกระบวนการผลิตหรือกระบวนการบริการให้สามารถสร้างคุณค่าในรูปแบบสินค้าและบริการให้กับลูกค้าได้ ดังนั้นวิศวกร IE จะออกแบบและดูแลปรับปรุงโครงสร้างของกระบวนการผลิตหรือกระบวนการสร้างคุณค่าซึ่งจะปรับเปลี่ยนตามโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ ฝ่ายผลิตซึ่งไม่ได้ออกแบบหรือสร้างอะไร แต่จะเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรในการจัดการและดำเนินการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เช่นเดียวกันกับวิศวกรที่ออกแบบการผลิตและออกแบบเครื่องจักรก็ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการผลิตหรือไม่ได้เป็นผู้ใช้เครื่องจักร แต่กลับเป็นฝ่ายผลิตหรือฝ่ายปฏิบัติการที่เป็นผู้ใช้งานเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตนั้นนั้น

คราวนี้ลองกลับมาดูว่าเรื่องราวของลอจิสติกส์ว่า วิศวกรรมลอจิสติกส์ คือ อะไร และการจัดการลอจิสติกส์ คือ อะไร โดยลองใช้กรอบความคิดของวิศวกรรมดังที่ผมกล่าวมาข้างต้นมาประยุกต์ใช้ดูนะครับ ที่แน่ๆ ลอจิสติกส์ไม่ใช่การขนส่งเท่านั้น ผมและหลายท่านพูดกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีใครสนใจ ผมต้องขออนุญาตเล่าให้ฟังใหม่เสมอว่า ลอจิสติกส์ต้องมองให้เป็นกระบวนการที่ไม่ได้จบเสร็จในตัวหรือในขั้นตอน แต่ต้องมองไปให้จบที่การส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้งาน ดังนั้นลอจิสติกส์จึงสามารถกำหนดขอบเขตได้ตามมุมมองของกระบวนการ (Process View) ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ (Start to Stop) หรือมีต้นชนปลาย (End to End) สำหรับบริษัทหรือองค์กร หรือต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Upstream to Downstream) สำหรับทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ลอจิสติกส์จึงต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมในการนำส่งคุณค่าให้กับลูกค้า

ที่จริงแล้วผู้ที่เข้าใจลอจิสติกส์ที่แท้จริงจะต้องเข้าใจถึงความเป็นโซ่อุปทาน (Supply Chain) และการจัดการโซ่อุปทานเสียก่อน แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจลอจิสติกส์จากมุมมองของขนส่งและคลังสินค้า ซึ่งไม่ผิด แต่ล้าสมัยมากๆ ประเทศไทยยังคืบคลานอย่างช้าๆ กับคำว่าลอจิสติกส์อยู่เลย ไม่มองชาวบ้านเขาว่า เขาไปถึงไหนกันแล้ว Council of Logistics Management เขาก็เปลี่ยนไปเป็น Council of Supply Chain Management Professional ไปตั้งนานแล้ว พวกเราไปอยู่ที่ไหนกันมา เป็นเวลา 10 กว่าปีของแผนยุทธศาสตร์ก็มัวแต่ยุ่งกับการลดต้นทุนลอจิสติกส์กันอยู่นั่นแหละ แต่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะขายสินค้าอะไรเป็นหลัก จะทำมาหากินอะไรกับประเทศอื่นๆ เขา แต่ดันสนใจเรื่องลดต้นทุนของลอจิสติกส์ ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ใครที่คิดว่าลอจิสติกส์เป็นเรื่องของการลดต้นทุน ผมคิดว่าพวกเขาคิดไม่หมด คิดไม่ครบ ลอจิสติกส์จะต้องเป็นเรื่องของ On Time In Full (OTIF) ของครบถ้วนสมบูรณ์และตรงเวลาด้วย ไม่ใช่เรื่องต้นทุนแต่เพียงอย่างเดียว และที่สำคัญมันเป็นเรื่องของคุณค่า ลอจิสติกส์จะอยู่หรือพิจารณากันเป็นเรื่องโดดๆ ไม่ได้เลย พอถึงเวลาเราก็มาบอกกันว่า ลอจิสติกส์วิกฤติแล้ว เราจะทำอย่างไรกันดี เราก็ทำได้แค่นี้ ดังนั้นถ้าจะพูดถึงเรื่องลอจิสติกส์ ต้องมองลูกค้า คุณค่า โซ่คุณค่า โซ่อุปทาน แล้วก็การผลิต (make) และลอจิสติกส์ (Move) ถ้าไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ เราก็พูดแค่โครงสร้างพื้นฐานของระบบลอจิสติกส์ที่อยู่ในโซ่อุปทาน เอาไว้วันหลังค่อยคุยกันต่อใหม่ในเรื่องเหล่านี้

แต่เมื่อมาพิจารณาถึงเส้นทางการไหลของคุณค่าที่ลูกค้าต้องการแล้ว กิจกรรมลอจิสติกส์ไม่ได้มีแค่การขนส่งและคลังสินค้าเท่านั้น ดังนั้นความเป็นลอจิสติกส์จึงเป็นเรื่องของโครงสร้างความเป็นระบบ (Systemic Structure) ของกระบวนการ (Process) ตั้งแต่ต้นจนจบที่ได้ผลลัพธ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ (Value) และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าคนสุดท้ายด้วย (End Customer Values) ถึงแม้ว่าในกระบวนการหรือระบบที่เรารับผิดชอบอยู่จะไม่ได้เชื่อมต่อกับลูกค้าคนสุดท้ายก็ตาม ดังนั้นวิศวกรรมลอจิสติกส์จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการออกแบบและสร้างระบบการไหลของคุณค่า (Flow of Values) หรือระบบลอจิสติกส์ตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับองค์กรธุรกิจ กิจกรรมลอจิสติกส์ก็จะประกอบไปด้วย กระบวนการจัดหา กระบวนการผลิต กระบวนการจัดส่ง และกระบวนการวางแผน เพื่อให้เกิดการดำเนินการการสร้างคุณค่าหรือการผลิตและบริการเพื่อส่งคุณค่าให้กับลูกค้าคนสุดท้าย ดังนั้นวิศวกรลอจิสติกส์จะต้องออกแบบและสร้างกระบวนการทั้งหมดเพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติการหรือฝ่ายจัดการการสามารถดำเนินการสร้างคุณค่าได้ตามปริมาณและความหลากหลายของความต้องการของลูกค้าอย่างไหลลื่น (Seamless)

เมื่อโครงสร้างของระบบลอจิสติกส์หรือกระบวนการลอจิสติกส์ได้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมารองรับคำสั่งซื้อของลูกค้าแล้ว ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายผลิต ฝ่ายลอจิสติกส์หรือขนส่ง (ที่เขาเรียกกัน) ฝ่ายขาย และฝ่ายโซ่อุปทานก็จะมาใช้กระบวนการนี้โดยการจัดสรรทรัพยากรทั้ง คน การสั่งวัตถุดิบ เครื่องจักร สารสนเทศ รวมทั้งวิธีในการดำเนินงานในแต่ละกระบวนการเพื่อให้ลูกค้าได้รับคุณค่าตามที่ต้องการ เมื่อโครงสร้างของกระบวนการหรือระบบไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในด้านความหลากหลายและปริมาณหรือโครงร่างของสินค้าหรือโซ่คุณค่า วิศวกรลอจิสติกส์จึงต้องออกแบบใหม่หรือปรับปรุงกระบวนการหรือระบบใหม่เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าให้ได้

วิศวกรลอจิสติกส์ที่จริงแล้วอาจจะไม่สามารถทำหน้าที่วิศวกรในหลายๆ ฟังก์ชั่นหน้าที่ในระบบลอจิสติกส์ได้ เพราะว่ากิจกรรมลอจิสติกส์ทั้งระบบมีหลายสาขาวิชามาบูรณาการกัน เพราะว่าลอจิสติกส์นั้นเป็นสหวิทยาการ (Multi-discipline) ผมมองว่าวิศวกรรมลอจิสติกส์นั้นทำหน้าที่เหมือนสถาปนิกที่ออกแบบบ้าน เป็นผู้ที่รู้ทุกส่วนของบ้าน ทุกฟังก์ชั่น ทุกวัสดุ และเป็นคนที่ทำให้ทุกอย่างลงตัว จนกลายเป็นบ้าน แต่ไม่ได้สร้างเองทั้งหมด วิศวกรแต่ละสาขาไปดำเนินการสร้างตามแบบที่ได้ออกแบบมา

วิศวกรรมลอจิสติกส์ก็เช่นกัน จะต้องมองระบบทั้งระบบที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดการไหลของทรัพยากรอย่างลื่นไหล และแปรเปลี่ยนไปเป็นคุณค่าและทำให้คุณค่านั้นไหลไปถึงมือลูกค้า วิศวกรรมลอจิสติกส์จะต้องบูรณาการกระบวนการจัดหา กระบวนการผลิต กระบวนการจัดส่ง กระบวนการวางแผนให้เป็นระบบเดียวกันให้ได้ แต่อย่าลืมนะครับว่า กิจกรรมลอจิสติกส์นั้นเน้นที่การไหลของคุณค่า การเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการการไหลจะต้องเป็นมาตรฐานและเข้ากันได้ ทั้งนี้ขึ้นกับกายภาพของการไหล (Physical of Flows) ตัวอย่างการขายข่าวของหนังสือพิมพ์ เช่น มีการไหลทางกายภาพ 3 ทาง คือ 1) ทางกายภาพที่เป็นกระดาษ ขึ้นรถบรรทุกกระจายออกไป สู่หน้าร้านแล้วมีคนมาซื้อหรือมีรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งถึงบ้าน 2) ทางกายภาพที่ผ่านทางออนไลน์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ 3) ทางกายภาพที่ผ่านทาง SMS มือถือ การไหลทางกายภาพจะขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้นหัวใจของวิศวกรรมลอจิสติกส์ ที่นอกเหนือจากการออกแบบกิจกรรมหลักๆ ที่เป็นฟังก์ชั่นในระบบลอจิสติกส์ ก็คือ วิศวกรรมระบบ (System Engineering) ที่เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการ การออกแบบ การสร้างและทดสอบ การดำเนินการผลิต การบำรุงรักษา การปรับปรุง และการเลิกใช้งานของระบบลอจิสติกส์ IE เราไม่ค่อยได้เน้นเรื่องเท่าใดนัก

ในส่วนที่เป็นเรื่องของการจัดการลอจิสติกส์นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานในการอำนวยการ (Orchestrate) ให้เกิดการสร้างคุณค่าหรือการผลิตและจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าจริงๆ ผู้จัดการลอจิสติกส์มีหน้าที่ดำเนินการใช้งานระบบลอจิสติกส์ที่ออกแบบมาโดยวิศวกรรมลอจิสติกส์ให้สามารถสร้างคุณค่าและนำส่งคุณค่าไปสู่ลูกค้าได้ การจัดการลอจิสติกส์จะต้องใช้ระบบลอจิสติกส์ที่ถูกออกแบบมาและถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยการผลิต (Make) และนำส่ง (Move) สินค้าให้ถึงมือลูกค้า

การจัดการลอจิสติกส์ คือ การบูรณาการกิจกรรมลอจิสติกส์ซึ่งไม่ใช่แค่การจัดการการจัดซื้อ การจัดการผลิต หรือการจัดการการจัดส่ง แต่จะต้องจัดสรรทรัพยากรทั้งคน IT เครื่องจักร วัตถุดิบ รวมทั้งวิธีการให้กิจกรรมลอจิสติกส์ให้เชื่อมโยงและบูรณาการกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้สามารถตอบสนองการสั่งซื้อให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่าการจัดการลอจิสติกส์จะต้องติดต่อประสานงานกับทุกหน่วยงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและส่งคุณค่าให้กับลูกค้า หน่วยงานไหนไม่ได้เชื่อมกับลอจิสติกส์ หน่วยงานนั้นไม่สมควรอยู่ในองค์กร เพราะว่า ลูกค้าต้องการซื้อหรือรับคุณค่าจากระบบลอจิสติกส์ ถ้าไม่มีระบบลอจิสติกส์ ลูกค้าก็ไม่ได้รับคุณค่า

การจัดการลอจิสติกส์จึงเริ่มต้นตั้งแต่ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายจัดการอุปสงค์ ฝ่าย IT ฝ่าย HR ฝ่ายจัดหา ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี หน้าที่ของการจัดการลอจิสติกส์จะต้องประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ที่กล่าวมาเพื่อทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการตามความต้องการ การจัดการลอจิสติกส์จะประกอบไปด้วยการวางแผน การดำเนินงาน การควบคุมและปรับปรุงการไหลของคุณค่าบนโครงสร้างเชิงกายภาพของระบบลอจิสติกส์ที่ถูกออกแบบมาจากวิศวกรรมลอจิสติกส์

ปัจจัยเข้าของวิศวกรรมลอจิสติกส์ คือ ความต้องการของระบบลอจิสติกส์ ขนาด ปริมาณ ความเร็ว ความยืดหยุ่นของระบบ ความเชื่อมโยงของกระบวนการทั้งหมด (Seamless Integration) ของโครงสร้างการไหลเชิงกายภาพ ผลลัพธ์ก็ คือ ระบบลอจิสติกส์

เมื่อได้ระบบลอจิสติกส์มาแล้วลูกค้ายังไม่ได้คุณค่าอะไรเลย ส่วนการจัดการลอจิสติกส์จะต้องเอาระบบลอจิสติกส์ที่ออกแบบและสร้างมานี้มาดำเนินการให้เกิดการสร้างคุณค่าและนำส่งคุณค่าให้กับลูกค้าด้วยการจัดการวางแผนทรัพยากร การคำนวณอุปสงค์กับฝ่ายการตลาดและการจัดเตรียมอุปทานให้พอเพียงด้วยการประสานงานกับทางผู้จัดส่งวัตถุดิบ (Suppliers) สภาพแวดล้อมของระบบลอจิสติกส์ สภาพแวดล้อมการแข่งขันเชิงธุรกิจ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม องค์ประกอบเหล่านี้จะมีผลต่อการตัดสินใจวางแผนเพื่อใช้งานระบบลอจิสติกส์ให้สามารถตอบสนองต่อลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนั้นวิศวกรรมลอจิสติกส์ยังสามารถที่จะออกแบบระบบการจัดการลอจิสติกส์ (Logistics Management System) เพื่อที่จะทำให้ผู้จัดการลอจิสติกส์สามารถใช้เป็นเครื่องในวางแผนและตัดสินใจในระบบลอจิสติกส์อีกทีด้วย โดยเฉพาะระบบสารสนเทศต่างๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการวางแผนและการตัดสินใจในกระบวนการลอจิสติกส์ประเภทต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุด (Optimization) ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ผมหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่าทั้งวิศวกรรมลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์มีความเหมือนและความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ถ้าจะถามถึงแล้วการจัดการโซ่อุปทานอยู่ตรงไหน ก็อธิบายได้นะครับ กล่าวคือ จะรวมเอาการจัดการลอจิสติกส์และการจัดการผลิตเข้าไปด้วย แต่จะเน้นเพิ่มขึ้นมาตรงการตัดสินใจและวางแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานหรือองค์กร แล้วผมมาเล่าต่อในตอนหลังจะดีกว่า เดี๋ยวจะไม่จบเอา เพราะยิ่งเขียนก็ยิ่งเติมไปเรื่อยๆ แล้วจะสับสนไปเปล่าๆ

พอพักครึ่ง เหล่านักศึกษาก็ไปกินกาแฟด้วยความมึนงง พอกลับมาฟังต่อ ผมและอ.สิงหา ก็เลยมาช่วยกันตอบประเด็นปัญหาที่ค้างคากันอยู่ ที่มีคำถามว่า แล้ว Industrial Engineering นั้นเป็น วิศวะหรือไม่ สงสัยธาตุไฟจะเข้าแทรก ผมต้องขอโทษด้วยที่จำชื่อนักศึกษานั้นไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าเขาถามด้วยเจตนาดี และขอชื่นชมที่ถามมา คุณแน่มากที่ถาม ผมตอบได้เลย มันเป็นวิศวะอย่างแน่นอน เพราะว่ามี ก.ว. วิศวกรรมอุตสาหการด้วย เป็นสาขาวิชาที่เปิดการเรียนการสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั่วไปด้วย คุณถามอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้า IE ไม่ใช่วิศวะ ก็แปลกแล้ว ผมมีประสบการณ์การสอนวิชาในสาขานี้มาพอสมควร ผมคิดว่าระบบการเรียนการสอนอาจจะมีปัญหาบ้าง กล่าวคือ เราสอนแต่รายวิชา ตามที่ก.ว. มี โดยเฉพาะจะต้องเน้นที่รายชื่อวิชา แต่ไม่ได้มีการเน้นไปที่ปรัชญาของวิศวกรรมอุตสาหการ หรือปรัชญาของวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าในระบบการเรียนการสอนมีปรัชญาของวิศวกรรมศาสตร์จริง ก็ไม่น่าจะเกิดคำถามอย่างนั้นขึ้น นักศึกษานั้นไม่ผิดหรอกครับ แต่ต้องมาดูที่โครงสร้างการเรียนการสอนทั้งระบบ

ผมคิดว่า IE นั้นสัมพันธ์กับลอจิสติกส์และโซ่อุปทานโดยตรง IE เป็นแก่นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน แต่องค์ความรู้และแก่นของ IE แต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถรองรับลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ จากแก่นของ IE เอง เราจะต้องต่อยอดไปบูรณาการกับสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นนี้มีมาจากความเห็นของ IE ในระดับ World Class นะครับ เพราะว่าผมเคยอ่านบทความของ IIE (Institute of Industrial Engineering) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพของ IE ในอเมริกา เมื่อประมาณราวๆ ปี 2000-2003 ชื่อบทความ คือ “Supply Chain Management : The New Role of Industrial Engineering” นั่นเป็นมุมมองใหม่ของ IE ที่ IE จะต้องบูรณาการมากขึ้นตามบริบทของสังคมและธุรกิจ ผมเชื่อว่า เรา IE ทั่วโลก สามารถทำได้และมีศักยภาพพอในองค์ความรู้ ถ้าเปิดใจรับและเข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลง

ผมมอง IE ว่าจะไปมุ่งเน้นไปที่ตัวระบบหรือกระบวนการในมุมที่แยกส่วนออกมา (Reductionism) เพื่อการปรับปรุงและวิเคราะห์ แต่ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานพยายามที่จะบูรณาการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและส่งคุณค่าอย่างเป็นองค์รวม (Holistic) ดังจะเห็นได้ว่า หลายปีที่ผ่านมามีประเด็นในวงการวิชาชีพ IE ที่จะการเพิ่มชื่อ System Engineering เข้าไปด้วย เหมือนกับชื่อภาควิชา IE ในหลายมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา

อ.สิงหาได้เสนอประเด็นของวิวัฒนาการของ วิชา OM ซึ่งมีสอนกันอยู่ในแทบทุกมหาวิทยาลัย ในทุก Program MBA ในหนังสือ OM ยุคใหม่ๆ ก็ได้กลายสภาพเป็นหนังสือ Supply Chain หรือไม่ก็ Logistics ประเด็นนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เพราะผู้แต่งหนังสือเหล่านี้ (ผมคิดว่า) ก็ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันเท่าไหร่นัก มันไม่ผิดหรอก แต่เป็นการมองกันคนละมุม เป็นการใช้คำที่ไม่ถูก เช่น ชื่อหนังสือ Supply Chain Management : Logistics Approach หรือ Logistics Management : Supply Chain Approach แต่เมื่อดูๆ ไปแล้ว มันก็คือ OM นั่นเอง แล้วมันต่างกันอย่างไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับมุมที่นำเสนอ

แล้วผมมอง OM อย่างไรบ้าง ผมว่าเมืองไทยไม่ได้ให้ความสำคัญ OM มากเท่าใดนัก ไม่เหมือน Marketing หรือ Finance แต่ในต่างประเทศ OM เป็นกลุ่มวิชาชีพที่แข็งแกร่งมาก เช่น APICS เมืองไทยเราเองก็ไม่ค่อยให้ความสนใจในสาขาวิชาชีพ OM เท่าใดนัก เราก็จัดการผลิตแบบลูกทุ่งไปเรื่อยๆ ผมมอง OM ว่าคือ การมอง Logistics และ Supply Chain แบบแยกส่วน (Reductionism) เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ปัญหา แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาในองค์รวม วิชา OM เป็นเหมือนการไม่ได้มองช้างทั้งตัว แต่เป็นการมองแต่ละส่วนของช้าง แล้วแก้ปัญหาที่ละส่วน ทำให้ไม่ได้เห็นภาพช้างทั้งตัว ทำให้ปัญหาในภาพใหญ่ทั้งระบบไม่ได้รับการแก้ไข

วิชา OM เล่าถึงกระบวนการย่อยต่างๆ ใน Supply Chain ตั้งแต่ต้นจนจบก็จริง เป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้บอกถึงการจัดการโซ่อุปทานโดยรวม แต่ระยะหลายปีที่ผ่านมา หนังสือ OM ทุกเล่มจะเพิ่มบทที่เป็น Supply Chain ขึ้นมาตอนท้าย ให้เห็นภาพจากภายนอก แต่กลไกภายในของการจัดการโซ่อุปทานนั้นไม่ชัดเจน ผู้เขียนหนังสือในวงการ OM มาเขียนหนังสือ Supply Chain ก็หลายเล่ม แต่ผมก็คิดว่ายังไม่ใช่ Supply Chain แต่มันเป็น OM แบบรวมมิตร

แล้วอ.วิทยา กล้าดีอย่างไร... ไม่ได้กล้าอะไรหรอกครับ แต่กล้าคิดสักหน่อย ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ การเรียน OM นั้นเป็นการเรียนในเรื่องการคิดและการวางแผนตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในโซ่อุปทานที่เป็นเรื่องๆ ไป เรื่องต่างๆ ใน OM นั้นจบในบทเป็นบทๆ ไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ คุณทำ Forecast ได้ แล้วไง คุณวางแผนการผลิตได้ แล้วไง การวางแผนการจัดส่งได้ แล้วไง ธุรกิจจะเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าครบถ้วนและจ่ายเงินครบด้วย นั่นเป็นเป้าหมายของธุรกิจและโซ่อุปทาน มีใครบ้างเหล่าถึงกระบวนการทั้งหมดอย่างเชื่อมโยงกันเป็นระบบเดียวกันหรือไม่ ในความเป็นจริงนั้นมันเชื่อมโยงกันเป็นระบบเดียว เราถึงได้คุณค่าออกมา

เรียน OM ก็เหมือนเป็นการเรียนเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำอาหารในแต่ละชิ้น แต่ยังไม่ได้ทำอาหาร เรื่องของการจัดการโซ่อุปทานและลอจิสติกส์เป็นเรื่องของการรับ Order ว่าลูกค้าสั่งอาหารอะไรมา จะกินอะไร แล้วจึงไปทำอาหารด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์และส่งให้ถึงโต๊ะผู้สั่งด้วยอาหารที่มีรสชาดเยี่ยม การจัดการโซ่อุปทานและลอจิสติกส์จึงเป็นเรื่องของการต่อยอดจาก OM ด้วยการเชื่อมโยงการตัดสินใจต่างๆ ใน OM เข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ผลของการตัดสินใจหนึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจถัดไปจนไปถึงการตัดสินใจที่นำส่งสินค้าและบริการให้ถึงมือลูกค้า

ผมยังมีประเด็นค้างอยู่หลายเรื่อง ที่อ.สิงหาชูประเด็นขึ้นมาระหว่างสนทนาที่ IE@CMU ครับ แล้วผมจะมาเขียนต่อครับ

อ.วิทยา

ปริญญาโท กับ แฟชั่นการศึกษา

บทความนี้ ผมเขียนถึงนักศึกษาปริญญาโท MS.LSCM#3 ของมหาวิทยาลัยศรีปทุมครับ นำมาแบ่งปันเพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย


เรื่องการเรียนปริญญาโทด้านลอจิสติกส์ ที่จริงแล้วมันไม่ได้เป็นความเห็นชอบผมคนเดียวหรอก เพราะว่าหลายๆ คน รวมทั้งหลายๆ อาจารย์ก็เห็นด้วย ผมก็เลยได้ทำมาหากินกับแฟชั่นนี้ไปด้วย ประเด็นก็คือ แล้วพวกคุณจะหาประโยชน์จากแฟชั่นในการเรียนปริญญาโทได้อย่างไร แรกๆ การเรียนปริญญาโทก็อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นเท่าไรในอดีต แต่เราต้องเข้าใจว่า แล้วมาเรียนกันทำไม ผมเข้าใจว่ามันจะต้องมีคนเริ่มกันมาก่อน เหมือนแฟชั่นเสื้อผ้าทั่วไป แฟชั่นก็คือแฟชั่น ไม่ผิดหรอก ต้องมีคนได้ประโยชน์สิ แล้วก็มีคนเรียนและก็มีคนสอนตอบรับอุปสงค์ มันก็สมเหตุสมผลดีอยู่แล้ว

โครงสร้างของการเรียน การสอนใน ป.ตรี ป.โท และ ป.เอก ของเรา มันน่าจะสมดุลกันดีอยู่แล้ว พอเรามีการเปิด ป.ตรีกันได้ง่ายขึ้น คนอยากจะไต่ขึ้นไปเรียน ป.โท กันมากขึ้น และตามด้วยป.เอก ตามลำดับ ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็ตอบสนองด้วยหลักสูตรต่างๆ มากมาย ผมมีความเชื่อและมีประสบการณ์ว่า คนที่เรียนส่วนใหญ่จะเรียนเพื่อ “ใบปริญญา” ซึ่งก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ถามผมว่าจำเป็นหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าใช่ จริงๆ แล้วมันจำเป็น “ดูไปแล้วอาจจะเป็นการดูถูกคนเรียนไปหน่อยไหม อาจารย์วิทยา” ก็แล้วแต่จะคิดนะ บางคนทำมาฟอร์มสร้างภาพว่ามาเรียนเอาความรู้ ผมบอกกลับไปว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว พอเรียนจบ ก็ไม่ต้องรับปริญญานะ เอาแต่ความรู้ไป ทุกคนเงียบหมด สรุปแล้ว ทุกคนมาเรียนเพื่อปริญญาใบนั้น

แต่ผมก็ให้ทุกคนที่มาเรียนตั้งเป้าหมายในการเรียนว่า จะต้องได้ใบปริญญาเป็นอันดับแรก ประสบการณ์และความรู้ตามมาที่สอง และอื่นๆ อีกแล้วแต่คนเรียนจะตั้งเป้าหมาย เพราะว่าอะไร... หลายคนที่ผมรู้จัก เรียนปริญญาโทประมาณ 3-4 รอบ ในหลายหลักสูตรและหลายมหาวิทยาลัย กว่าจะได้ปริญญาโทสักใบ ด้วยความทรนงหรือมั่นใจอะไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับหลักสูตร ไม่ชอบอาจารย์ มีอุดมการณ์ของตัวเองกับเรื่องที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองหรือองค์กรธุรกิจ มันเสียทั้งเงินและเวลาไปเปล่าๆ

พวกเราต้องเข้าใจกระบวนการทางสังคมว่าเรามาเรียนกันทำไม อะไรเป็นประเด็นที่สำคัญในการศึกษา มีสิ่งหนึ่งที่ปรัชญาการศึกษาไม่ได้บอกไว้ คือ คนในสังคม เมื่อไม่รู้จักกัน เขาดูกันที่ว่าใครจบปริญญาอะไรมา จบมาจากที่ไหน เรียนมาทางด้านไหน เพราะว่าในชีวิตเราจะต้องเจอคนมากขึ้น ปริญญาจึงเป็นเครื่องมือในการกรองผู้คนที่จะเข้ามาร่วมงานกับเรา การเรียนหนังสือจึงเป็นแฟชั่นหนึ่งของคนในสังคมที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มคนหรือบุคคลที่เราต้องการจะคบหรือทำงานร่วมด้วยหรือหาประโยชน์ด้วย ผมเองก็เป็นหนึ่งที่ใช้แฟชั่นของการศึกษาในการชุบตัวเองให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ผมต้องการทำงานด้วยหรือทำธุรกิจ เพราะว่าการใช้ชีวิตคือธุรกิจครับ เราหลีกเลี่ยงธุรกิจไม่ได้ ตัวอย่าง เช่น ป.ตรี ผมต้องเรียนวิศวะ นั่นเป็นความคิดตอนนั้น จบป.ตรีแล้วต้องไปเรียนเมืองนอก ต้องเป็นนักเรียนนอก พ่อผมก็ส่งไปครับ เสร็จแล้วต้องเรียนเอกต่อ ถ้าจะให้เท่ห์ต้องเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลสิ แล้วผมก็ได้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ดูสิผมทำตามแฟชั่นทั้งนั้น แต่ก็เป็นแฟชั่นกลุ่มเล็กๆ ที่ผมคิดว่าผมสามารถหาประโยชน์ได้ในอนาคต ผมคิดเป็นธุรกิจนะครับ

การเรียนหรือการศึกษาเป็นแฟชั่นที่ดีมาก เพราะได้ประโยชน์กับผู้ที่เรียน แต่ประเด็นคือ คุณจะได้ประโยชน์อย่างไรจากแฟชั่นเหล่านั้น หลายคนจบป.โทมาหลายใบ ถามว่าเรียนไปทำไมเยอะๆ คนนั้นก็ตอบไม่ได้มาก เพียงแต่แค่อยากรู้อะไรเพิ่มเติม ประเด็นคือ เมื่อคุณไม่รู้อะไรก็เลยต้องมาเรียนปริญญาโทอีกใบหรือ นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกเลย แล้วปริญญาที่เคยเรียนมาอีกหลายใบนั้นล่ะ ทำไมไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันเลยหรือ เขาก็บอกว่ามันต่างสาขากัน สิ่งที่เรียนนี้มันเป็นเรื่องใหม่ นั่นก็แสดงว่าปริญญาโทที่เรียนมานั้นให้แต่เนื้อหาความรู้เท่านั้น ไม่ได้ให้ระบบคิด กระบวนการเรียนรู้และภาวะผู้นำ

ถ้าเราคิดกันได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าระบบการศึกษาไทยยังไม่ได้ทำให้คนไทยมีการศึกษาที่แท้จริง การศึกษาไทยทั้งป.ตรี ป.โท และป.เอก ก็แค่ทำให้คนไทยที่เรียนในระบบการศึกษาไทย ได้แต่ “เรียน” และได้แค่ “รู้” เท่านั้น แต่ยังศึกษาไม่เป็นหรือเรียนรู้ไม่เป็น เมื่อมีปัญหาขึ้นมาก็จะต้องกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาใหม่เพื่อรับการเรียนและรู้โดยการสอนของอาจารย์ในระบบปริญญาทั้งหลาย ซึ่งที่จริงก็ไม่ผิดหรอก แต่ผมว่า ที่จริงเอาแต่แค่หลักสูตรสั้นๆ ก็พอ แล้วรีบกลับแก้ปัญหาหรือซื้อหนังสือมาอ่านและหาหนทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง มีกระบวนการหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมากำหนดคำตอบหรือกำหนดชีวิตเรา แต่บางคนว่างจริงและขี้เกียจจะอ่านหรือศึกษาเองก็เลยมานั่งเรียนในระบบการสอนแบบเก่าและไม่เหงาดีด้วยมีเพื่อนๆ ร่วมรุ่นอีกต่างหาก ที่จริงการเรียนในแต่ละปริญญาแล้วแต่คนที่เรียนด้วย บางคนเรียนเอา Connection ก็เยอะไปครับ อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับระบบการศึกษาและปรัชญาการศึกษา

เคยมีคนมาถามผมว่า “อาจารย์ครับ ผมจะเรียนลอจิสติกส์ที่ไหนดีครับ” ผมถามกลับว่า “แล้วจบอะไรมาล่ะ” เขาตอบว่า “จบ MBA มาครับ” แล้วผมก็ถามต่อไปว่า “แล้วทำไมถึงอยากจะมาเรียนล่ะ” เข้าตอบว่า “เจ้านาย กำลังสนใจเรื่องลอจิสติกส์อยู่ เพราะมีปัญหาด้านนี้ เจ้านายอยากจะนำมาใช้ ผมก็เลยคิดว่าน่าจะมาเรียนปริญญาโทด้านนี้” ผมสลดใจอย่างมาก อะไรกันเนี่ย แค่สนใจและมีปัญหาถึงกับต้องมาเรียนปริญญาโทกันใหม่เลยหรือ ถ้ายังไม่จบโทมาก่อนก็ไม่เป็นไร ใช้สาขาลอจิสติกส์ที่กำลังเป็นแฟชั่นอยู่นี้เป็นการเรียนป.โทไปก็ไม่เห็นเสียหายเลย แล้วเขาไม่คิดหรือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องถูกแก้ไขโดยเร็วหรือไม่ การแก้ปัญหาคงจะรอไม่ได้เป็นปีๆ ถ้าคิดและเป็นกันอย่างนี้ จบปริญญาโทมาแล้วยังมีความคิดแค่นี้ ผมว่ามันใช้ไม่ได้ หลักสูตรที่เรียนมาเขาไม่ได้สอนให้คิดได้มากกว่านี้หรือ? เพราะว่าคนที่มาเรียนปริญญาโทนี้ ไม่ได้มาเรียนเอาความรู้ แต่ต้องได้กระบวนการเรียนรู้และภาวะผู้นำในการเรียนรู้ ความรู้ในแต่ละสาขาวิชานั้นเป็นแค่เครื่องมือในทำให้คุณรู้และเข้าใจถึงกระบวนการเรียนรู้และใช้บริบทในสาขาวิชาที่เรียนสร้างภาวะผู้นำในการนำเสนอหัวข้อวิจัยต่างๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้เป็นปริญญาโทหรือเป็น Master

การเรียนปริญญาโทไม่ได้สร้างให้คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ป.โท และป.เอก จะสร้างคุณให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับตัวเองด้วยภาวะผู้นำ เมื่อคุณจบการศึกษาไปแล้ว สังคมมีองค์ความรู้ใหม่และไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว คุณสามารถเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่และใช้สิ่งที่เรียนรู้ใหม่นั้นให้เกิดผลประโยชน์ต่อชีวิตและองค์กรธุรกิจได้ และที่สำคัญ คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้หรือศึกษาในสาขาที่จบป.โทมาก็ได้ สิ่งที่คุณมีอยู่กับตัวซึ่งไม่ใช้ ตัว Thesis คือ ความสามารถในการเรียนรู้หรือการศึกษาและภาวะผู้นำนั่นเอง เขาถึงเรียกคุณว่ามหาบัณฑิต หรือ Master

เมื่อคุณก้าวเข้ามาเรียนป.โท หรือ ป.เอก แล้ว คุณทำได้แค่ตามแฟชั่นการเรียนที่ได้ใบปริญญามาหรือ? แล้วคุณได้แฟชั่นในการเรียนรู้ด้วยตนเองรวมทั้งภาวะผู้นำในการเรียนรู้ไปด้วยหรือเปล่า? เห็นไหมครับว่า ตามแฟชั่นก็ไม่เห็นเสียหายเลย เพียงแต่คุณเข้าใจคุณค่าของแฟชั่นนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้ประโยชน์จากแฟชั่นนั้นอย่างไร เพราะคนที่เข้าใจแฟชั่นและทำตามแฟชั่นก็คงจะไม่ได้สนใจว่าใครจะคิดอย่างไร ฉันจะทำของฉันล่ะ ฉันได้ประโยชน์จากแฟชั่นของฉันแน่ๆ ในทางตรงกันข้าม พวกที่แค่ทำตามแฟชั่นไป แต่ก็ไม่รู้ว่าได้ประโยชน์อะไรนั้น ก็เสียเวลาไปเปล่าๆ จริงไหมครับ

เมื่อการเรียนปริญญาโทเป็นแฟชั่นไปแล้ว อาจารย์และหลักสูตรตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ตอบสนองกันได้เป็นอย่างดี รายได้ดีเป็นอย่างมาก ผมและเพื่อนๆ เองก็มีรายได้จากตรงนี้พอสมควร เอาแค่คนสอนนะครับ ไม่ได้พูดถึงหลักสูตรที่มีคนเรียนกันเป็นร้อยๆ คน จะได้กำไรมากขนาดไหน ผมกำลังตั้งคำถามว่า แล้วนักศึกษาได้ความเป็น Master ไปหรือไม่ หรือได้แค่ความรู้ใหม่ๆ อย่างเช่น สาขาลอจิสติกส์ ซึ่งผมก็ต้องตอบว่า มันเป็นแฟชั่นจริงๆ ครับ เขาเป็นกันทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ต่างก็เปิดสาขานี้กันทั้งนั้น ไม่ว่าที่อังกฤษหรืออเมริกาหลายคนมาเรียนลอจิสติกส์ก็เพราะแฟชั่น เห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ ไม่อยากตกยุค เห็นใครๆ เขาก็จบมาทางด้านนี้ แต่บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างนี้ ใช่ครับ บางคนมาเรียนเพราะทำงานอยู่ในสาขานี้พอดีและอยากจะรู้เพิ่มเติม ก็เลยมาเรียนเพื่อจะรู้เพิ่ม ไม่เป็นไร เราไม่ว่ากัน ผมไม่รู้หรอกว่าใครๆ เขาคิดกันอย่างไร ผมเคารพความคิดเห็นส่วนตัวครับ

มาถึงตรงนี้แล้วเราจะทำให้แฟชั่นที่ต้องเรียนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นมากกว่าแฟชั่นได้อย่างไร เราต้องคิดว่า เราจะหาประโยชน์จากแฟชั่นนี้ได้อย่างไร เราจะเข้าถึงแก่นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเพียงแค่นั้นหรือ เราจะต้องเข้าถึงแก่นของความเป็นปริญญาโทในรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้และภาวะผู้นำผ่านบริบทของสาขาวิชาลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน และผมอยากจะบอกว่าแก่นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นจับต้องไม่ได้ เพราะเนื้อหาวิชาทั้งหมดในการเรียนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไม่ได้เป็นของใหม่ แต่ความเป็นลอจิสติกสฺและโซ่อุปทาน คือ กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองและภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้นเมื่อโลกแห่งการดำเนินงานซับซ้อนขึ้น วิธีการคิดและการจัดการก็ควรจะซับซ้อนขึ้นตาม เพื่อทำให้เราสามารถจัดการกับบริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนขึ้น ถ้ามาเรียนลอจิสติกส์แล้วก็เป็นเรื่องเก่าๆ เหมือนกับที่ทำงานอยู่ทุกวัน ก็ใช้ไม่ได้น่ะสิครับ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาสิ่งง่ายพื้นๆ ไปแก้ไขหรือจัดการกับสิ่งที่ซับซ้อนหรือสิ่งที่ยากกว่า ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจึงเป็นมากกว่าเครื่องมือในการจัดการ แต่เป็นแนวคิดและวิธีคิดในการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการจัดการ นั่นคือแก่นของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งจะตรงกับมุมมองด้านปรัชญาของการเรียนปริญญาโทของผม

นั่นหมายความว่า เมื่อคุณจบปริญญาโทไปแล้ว คุณไม่ได้แค่นำเอาความรู้ที่ได้เรียนในหลักสูตรไปใช้งานหรือสร้างประโยชน์เท่านั้น แต่คุณจะต้องเอาประสบการณ์จากกระบวนการการคิด การนำเสนอปัญหา การหาเหตุและผลรองรับ การดำเนินการแก้ปัญหา การนำเสนอผล และการเผยแพร่การวิจัยและแก้ปัญหาต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวันในการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาเดียวกันหรือไม่ ยิ่งมีสาขาใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ คนที่จบปริญญาโทมาก็ยิ่งจะต้องใช้ประสบการณ์และความสามารถและภาวะผู้นำตรงนี้สร้างกระบวนการเรียนรู้ขึ้นมาให้กับตัวเองและองค์กรเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาปรับปรุงอย่างยั่งยืน นี่ก็เป็นแฟชั่นที่คนที่จบปริญญาโทไปแล้วควรจะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับตัวเองและองค์กรธุรกิจที่ตัวเองทำงานอยู่

ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นความผิดของผู้ที่ไปเรียนปริญญาโท แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องของผู้ที่บริหารและการจัดการหลักสูตรและอาจารย์ผู้ที่สอนจะต้องคิดและปรับปรุงกระบวนการการจัดการหลักสูตร เป้าหมายและปรัชญาของหลักสูตรคืออะไร ผมว่าทุกหลักสูตรมีเขียนไว้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าผู้บริหารหลักสูตรเข้าใจในสิ่งที่เขียนไว้หรือไม่ แต่อาจจะเป็นเพราะคนเขียนหลักสูตรไม่ได้มาบริหารเอง การจัดการหลักสูตรจึงไมได้เป็นไปตามปรัชญาของหลักสูตร อาจารย์ส่วนใหญ่ รวมทั้งผมเอง ก็ไปได้แค่สอนหนึ่งวิชาหรือหลายวิชาเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของหลักสูตรไป เป้าหมาย คือ นักศึกษาต้องจบออกไป จะจบออกไปอย่างไร ผมก็ไม่รู้จริงๆ เพราะไม่ได้เป็นผู้จัดการหลักสูตร

แต่ถ้าหลักสูตรปริญญาโทในเมืองไทยเป็นมากกว่าแค่การเรียนหนังสือ สอบแล้ว ทำรายงานแล้วได้ปริญญา จะดีมากเลย เพราะว่าถ้าหลักสูตรปริญญาโทสามารถเปลี่ยนเป็นหลักสูตรการสร้างผู้นำได้ จะประเสริฐมาก เพราะว่าหลักสูตรปริญญาโทในปัจจุบันกลายเป็นหลักสูตรสร้างขยะทางวิชาการไปแล้ว โดยไปเน้นที่ผลงานทางิชาการที่ไม่ได้เอาไปใช้จริง เพราะมีเป้าหมายที่แค่ทำให้ผ่านกรรมการสอบเพื่อให้ได้ใบปริญญา หรือไม่ก็ให้อาจารย์เอาผลงานไปตีพิมพ์เป็นผลงานวิชาการเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ผิดหรอกครับ มันเป็นการ “สมยอม” กันทางวิชาการ ทุกคนได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ไม่มีใครเสียหาย ก็ไม่มีใครร้องเรียนกัน แต่เมื่อมองจากข้างนอกสำหรับคนที่ไม่มีผลประโยชน์ร่วมด้วยแล้ว ผมว่าเราก็สามารถสร้างประโยชน์จากระบบการศึกษาที่เป็นอยู่อย่างนี้ได้มากเลย โดยเฉพาะปริญญาโท ผมเองก็เห็นหน่วยงานรัฐในด้านการวิจัยหลายหน่วยก็พยายามที่จะใช้ประโยชน์จากระบบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโทนี้ แต่ก็อาจจะมองคนละมุมกับผมไปบ้าง แต่ที่สุดแล้วไม่ว่าจะมองในมุมไหน เราก็อยู่ในกระบวนการสร้างคุณค่าเดียวกัน คือ การทำหลักสูตรปริญญาโท เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ในมุมต่างๆ ได้อย่างไร

ผมมองการเรียนหรือการทำหลักสูตรปริญญาโทเป็นการสร้างผู้นำ ผลผลิตสุดท้ายของปริญญาโท คือ มหาบัณฑิต หรือคนที่คิดเป็น คนที่มีภาวะผู้นำและมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ พวกเราไปเน้นที่ Thesis หรือการทำวิจัย ทั้งๆ ที่ก็มีประโยชน์เช่นกัน ก็แล้วแต่ว่าใครจะเอาไปหาประโยชน์ ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นงานวิจัยเป็น Thesis หรือ บทความวิชาการที่เป็นเลิศ ที่จริงแล้วผมว่าต้องไปเน้นที่การสร้างผู้ที่ทำวิจัย ไม่ควรเน้นที่การเรียนเนื้อหาความรู้ เพราะว่าผู้ที่ทำวิจัยจะค้องมีภาวะผู้นำและมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ต้องเน้นที่สร้างคนทำวิจัยครับ สร้างคนที่มีความเป็นนักวิชาการในตัว แต่ไม่ได้เป็นนักวิชาการโดยอาชีพ เพราะว่าโลกปัจจุบันนั้น มีความรู้มากมายที่เราไม่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมดภายในเวลา 1-2 ปี กับอีก 36-48 หน่วยกิตได้ ความรู้นั้นเป็นพลวัต (Dynamic) เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะเป็น Master ในเรื่องเหล่านั้นได้อย่างไร สิ่งที่หลักสูตรปริญญาโทน่าจะทำได้ คือ การพิสูจน์ตัวผู้เรียนเองว่า เขาเป็น Master ของตัวเอง และพิสูจน์ตัวเองด้วยกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่นำเสนอและดำเนินการรวมทั้งนำเสนอและเผยแพร่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าตัวผู้เรียนมีความพร้อมในการเป็น Master ในการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ในโลกของความเป็นจริงที่เป็นพลวัต แล้วลองมานึกถึงหลักสูตรปริญญาโทต่างๆ ที่เปิดอยู่เป็นอย่างไรกันบ้าง ผมรู้สึกเสียดายเวลาและทรัพยากรที่ทำให้ได้มาแค่กระดาษหนึ่งใบ แต่คนที่จบออกมานั้นสามารถเป็นผู้นำหรือมีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือไม่? นั่นยังเป็นคำถามของผมอยู่
หรือถ้ามองอีกด้านหนึ่ง อย่างน้อย คนที่จบปริญญาโทมานั้นจะต้องเป็นนักวิชาการหรือนักวิจัยให้กับองค์กรธุรกิจหรือให้กับตัวเองได้ ผลที่ได้ คือ กำไรในองค์กรธุรกิจ หรือมีชีวิตที่ดีกว่า ส่วนผู้ที่เป็นนักวิชาการโดยอาชีพนั้นก็ใช้หลักการเดียวกันกับผู้ที่จบ ป.โทมาเหมือนกัน แต่เป้าหมายก็ คือ ใช้กระบวนการเรียนรู้ของตนเองไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ เพราะว่านักวิชาการมีความสามารถตรงนี้มากกว่าคนในองค์กรธุรกิจ อีกทั้งปริญญาโทยังต้องสอนหรือฝึกให้คนมีความเป็นนักวิชาการในตัวมากขึ้น ดังนั้นเราก็คงหลีกหนีวิชาการและนักวิชาการไม่ได้เลย ยิ่งเรียนปริญญาโทแล้ว ก็ยิ่งต้องคิดอย่างนักวิชาการหรือนักวิจัยมากยิ่งขึ้น

ผมคิดว่า ตรงนี้น่าเป็นส่วนหนึ่งของความตกต่ำทางวิชาการของไทยในมุมมองแคบๆ ของวงการปริญญาโทที่เราได้เห็นและสัมผัส ซึ่งที่จริงแล้ววิชาการนั้นไม่ใช่อยู่ในมหาวิทยาลัยเสมอไป แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของเราเสมอ และธุรกิจก็คือชีวิตของเราที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย การที่เราดำเนินชีวิตได้นั้น ก็เพราะเราทำธุรกิจชีวิตเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่รอด ดังนั้นวิชาการต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นเราคงจะมองแค่มุมมองในปัญหาเรื่องการศึกษาในระดับปริญญาโทไม่ได้ เพราะมันเป็นแค่รูปแบบ (Pattern) เท่านั้น แต่เราต้องมองในลักษณะของโครงสร้าง (Structure) เราต้องไปแก้กันที่โครงสร้าง เราควรจะคิดกันเชิงระบบ (Systems Thinking) มากกว่านี้ แล้วผมจะมาเล่ามุมมองผมต่อนักวิชาการใหม่ในมุมที่กว้างขึ้นนะครับ แค่นี้คงจะยาวไปพอสมควรแล้วครับ ขอให้โชคดี

Cheers,

อ.วิทยา

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วิพากษ์ ทางออกวิกฤติโลจิสติกส์ไทย (บางประเด็น)

โดย อ.วิทยา สุหฤทดำรง

วิพากษ์นี้เป็นควันหลงจากงาน
ทางออกวิกฤติโลจิสติกส์ไทย ที่จัดเมื่อ วันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ครับ แม้ผมไม่ได้ไป แต่ก็ได้รับฟังเทปสัมมนา จาก FM 87.5 สถานีวิทยุรัฐสภา และมีคนบอกผมมาว่า มีท่านวิทยากรท่านหนึ่ง พูดบนเวทีว่า ประมาณ เวลา 11.50 น ในวันนั้น สรุปใจความมาได้สั้นๆ ว่า “อาจารย์ด้านโลจิสติกส์มีจำกัด ทำให้อาจารย์ด้านนี้ต้องบินไปสอนหลายที่ ขับรถไปสอนหลายที่ จนไม่เต็มที่กับวิชาที่สอน และมหาวิทยาลัยก็อยากเปิดสอนด้าน Logistics ทั้งๆ ที่อยู่หลังเขา ไม่ต้องบอกว่ามหาวิทยาลัยไหนหรอก อาจารย์ด้านนี้ไม่มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติงาน ทำให้สอนแต่ทฤษฎี ซึ่ง Logistics ต้องการด้านทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ในธุรกิจ” บังเอิญผมไม่ได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในช่วงเวลานั้น และด้วยความเคารพต่อวิทยากรท่านนั้น ก็เลยขอใช้เวทีนี้ในการแสดงความคิดเห็นในฐานะที่ถูกพาดพิงหลายอย่าง

ใช่ครับวิกฤติแน่ ไม่ใช่ลอจิสติกส์ที่วิกฤติ แต่เป็นเพราะความเข้าใจของเราต่อลอจิสติกส์ต่างหากที่วิกฤติ พวกเรายังไม่เข้าใจลอจิสติกส์จริงๆ ครับ ผมได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ของ “ลอจิสติกส์” ที่กล่าวกันว่ามีปัญหาหรือวิกฤติแล้ว ก็พบว่าความเข้าใจของพวกเรายังอยู่กับที่จริงๆ ไม่ได้พัฒนาหรือเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองไปเลย ความเข้าใจเรื่องราวของลอจิสติกส์ไทยเรายังคงเหมือนเดิม ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน และกระบวนการขนส่ง การ Shipping การออกของ การเอาของเข้าตู้และออกตู้ (ขอถอนหายใจดังๆ ครับ) ทำไมจึงต้องทำให้คนที่ไม่รู้จักลอจิสติกส์มาเข้าใจลอจิสติกส์ในรูปแบบนี้ด้วย แล้วใครเป็นคนบอกว่า นี่คือลอจิสติกส์ทั้งหมด ลองคิดดูสิครับว่า เครื่องดนตรีมีทั้งหลายชนิด ไม่ใช่ “เปียโนคือเครื่องดนตรีแต่เพียงอย่างเดียว” ถ้าคิดกันอย่างนี้ผม รับรองว่าวิกฤติจริงแน่ ที่สำคัญคือกลุ่มคนคิดเพียงมุมแคบๆ เพราะไม่เข้าใจ แต่ตั้งใจอย่างนี้กลับกลายเป็นคนที่มีส่วนในการวางแผนใน “ระดับชาติ” แล้วกิจกรรมลอจิสติกส์อื่นๆ ที่เหลือเล่าครับ ไม่มีความสำคัญหรือ ทำไมจึงไม่ให้ความสำคัญกล่าวถึงด้วยครับ มัวแต่คิดสร้างโครงสร้างพื้นฐานกันส่วนใหญ่ (Hard Side) แต่เรื่องของ “การเชื่อมโยง” (Soft Side) กลับไม่ได้สนใจกัน อย่างนี้แล้วจะปรับตัวกันได้อย่างไร

เพราะลอจิสติกส์เป็นโครงสร้างความคิดในการจัดการที่เตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในยุดปัจจุบัน ไม่ใช่ลดต้นทุนกันแล้ว ถ้าปรับตัวได้ อยู่รอดขายของหรือสินค้าได้ ก็มีกำไรแล้ว ลอจิสติกส์ไม่ได้มีไว้ลดต้นทุน แต่มีไว้ทำให้ขายได้ เพื่อทำกำไร ความคิดที่ว่า “ต้นทุนที่ลดได้ คือ กำไรที่คืนมา” เป็นความคิดที่ขาดมิติและไม่เป็นแนวคิดเชิงรุกเลย ผมมองว่าเป็นแนวคิดแบบคนจนตรอกไปหน่อย ทำไมหรือครับ ก็ผมไม่คิดว่าเราจนตรอกไง แต่จนใจและจนความคิดไปหน่อยเท่านั้นเอง คิดดูสิครับว่า ลอจิสติกส์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการแข่งขันได้อย่างไร ผมไม่เชื่อว่า ถ้าเราเข้าใจลอจิสติกส์ว่าคือแค่การนำสินค้าเข้าตู้ ออกตู้ การทำพิธีการศุลกากร การทำ Shipping การขนส่ง และคลังสินค้า คิดได้แค่นี้หรือ เราแข่งขันกันด้วยสินค้าและบริการครับ และก็ไม่ใครพูดถึงสินค้าและบริการกันเลย ขอโทษครับ ได้ฟังแล้วเหนื่อยจริงๆ ผมจะต้องออกแรงพูดหรือสอนให้มากขึ้นอีกเท่าใดหนอ

มันเป็นความคิดที่ผิดอย่างมากๆ ครับ ที่บอกว่ากิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้นคือ “ลอจิสติกส์” แล้วทำไมในอดีต ถึงไม่เรียกว่า “ลอจิสติกส์” แล้วตอนนี้กลับมาเรียกว่า “ลอจิสติกส์” กิจกรรมเหล่านี้ในอดีตเรียกกันอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงเรียกกันอย่างนั้น แต่พอมาเป็นลอจิสติกส์แล้ว มันจะต้องเป็นเรื่องที่พิเศษกว่ากิจกรรมเดิมใช่ไหมครับ ต้องไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่มาบอกว่า ลอจิสติกส์ คือ การขนส่ง ระบบราง การออกของ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows และโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่อธิบายให้ละเอียดว่า อะไรคือลอจิสติกส์ หรือคนพูดนั้นไม่ได้รู้จริง แต่ไปฟังฝรั่งหรือประเทศที่พัฒนาแล้วมาพูดโดยไม่ได้ใช้การสื่อสารในการทำความเข้าใจให้ถ่องแท้แล้วถ่ายทอดออกไป เพื่อให้ทุกคนใช้ประโยชน์จริงๆ จากลอจิสติกส์ แล้วประโยชน์จริงจากลอจิสติกส์คืออะไร?

เรื่องลอจิสติกส์เป็นเรื่องของแฟชั่นก็จริง ผมเห็นแห่ตามกันไปเรียนมากมาย แล้วพวกเราแห่ตามกันใช้คำว่า “ลอจิสติกส์” นี้โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองพูดหรือเข้าใจนั้น ใช่หรือไม่ใช่อย่างไร ทั้งๆ ที่ตัวเองอาจกำลังทำลอจิสติกส์อยู่แท้ๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองทำลอจิสติกส์อยู่ นั่นก็เป็นเพราะว่าไม่รู้และไม่เข้าใจ กิจกรรมพื้นๆ ในการขนส่งหรือขนสินค้า ที่ผ่านพิธีการต่างๆ ได้กลายเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ได้อย่างไร แต่ผมก็ไม่ได้เถียงว่ากิจกรรมเหล่านี้ไม่สำคัญนะครับ แต่มันก็ยังไม่ใช่ลอจิสติกส์ ให้ลองนึกถึงเครื่องเล่นที่ให้เสียงต่าง เช่น กีตาร์ กลอง ไวโอลีน เปียโน เครื่องดนตรีนี้เมื่อมีคนเล่นก็ให้เสียงออกมาเป็นเพลง เราเรียกว่า ผู้เล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้ว่า นักกีตาร์ มือกลอง นักไวโอลีน นักเปียโน แต่เมื่อเอาคนเหล่านี้มารวมกันเป็นวงดนตรี เราเรียกคนเหล่านี้ว่า “นักดนตรี” คำว่า “ลอจิสติกส์” ก็เหมือนคำว่า “นักดนตรี” เมื่อเจอนักดนตรีสักคนในวงดนตรี เราก็ถามว่าเขาเล่นเครื่องดนตรีอะไร หมายความว่าเล่นดนตรีอะไรในวงดนตรี ดังนั้นเวลาเราพูดกันถึงเรื่องของนักดนตรี เราพูดกันแต่เรื่องนักเปียโนคนเดียวหรือเปล่า ความหมายของลอจิสติกส์นั้นไม่ได้เป็นกิจกรรมเดี่ยวๆ แต่จะต้องอยู่รวมกันเป็นกระบวนการ (Process) หรือเป็นโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ “สร้างคุณค่าให้กับลูกค้า” หรือที่วงดนตรีบรรลงเป็นเพลงนั่นเอง ดังนั้น ลอจิสติกส์ไม่ใช่เป็นเหมือนเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง แต่เครื่องดนตรีหลายชิ้นที่ถูกเล่นร่วมกันเป็นวงดนตรีนั้นด้วยโน้ตเพลงเดียวกัน ถ้าคิดอย่างนี้ได้ คุณก็รู้ว่าลอจิสติกส์มีมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น และลอจิสติกส์เป็นมากกว่าที่กล่าวมาด้วย

ลอจิสติกส์เป็นกิจกรรมที่เป็นมากกว่าการใช้ “แรง” ในการเคลื่อนย้ายและจัดเก็บสินค้า แต่กลับเป็นการใช้ “สมองและปัญญา” ในการวางแผนและตัดสินใจเพื่อเคลื่อนย้ายและจัดเก็บอย่างบูรณาการตลอดโซ่อุปทาน ที่สำคัญคือเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ดูสิครับ สิงคโปร์เก่งเรื่องลอจิสติกส์ พวกเขาเน้นการใช้สมองใช้ความคิดมากกว่าใช้แรง กล่าวคือ คิดก่อนจะไปทำ ที่สำคัญคือกิจกรรมการคิดและวางแผนในการเคลื่อนย้ายและจัดเก็บรวมทั้งการดำเนินการตามแผนจะเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ ก็ต่อเมื่อการคิดและวางแผนนั้นเป็นผลมาจากการวางแผนร่วมกัน (Collaborative Planning) ของสมาชิกในโซ่อุปทาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

ถึงตรงนี้มีใครงงไหมครับ แล้วโซ่อุปทานคืออะไร นั่นล่ะครับ คือปัญหาของประเทศ เพราะแค่ลอจิสติกส์เอง เป็นเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็ยังเข้าใจกันผิดๆ แล้วโซ่อุปทานที่ซับซ้อนกว่ามาก จะใช้เวลาอีกกี่ทศวรรษ แล้วเราจะไปสู้เขาได้อย่างไรในตลาดโลก ทั่วโลกเขาก้าวข้ามผ่านลอจิสติกส์กันไปแล้ว ไทยเรายังมั่วๆ กับการลดต้นทุนลอจิสติกส์กันอยู่ มัวแต่จะสร้างหรือไม่สร้าง ทางเดี่ยว ทางคู่ ท่าเรือ สนามบิน แต่ละกระทรวงก็บอกว่าบูรณาการกัน แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่เห็นว่าจะเชื่อมโยงกันอย่างไร ที่สำคัญคือต้องเข้าใจโซ่อุปทานเสียก่อน ต้องรู้จักลูกค้าและสินค้ารวมทั้งการบริการด้วย ถึงจะกำหนดลอจิสติกส์ได้

เรื่องของลอจิสติกส์ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทักษะในการปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ทักษะที่สำคัญของลอจิสติกส์ คือ ทักษะในการคิดและวางแผนเพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดการตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เป็นความต้องการของลูกค้า คุณอาจจะมีทักษะในการทำงานและปฏิบัติงานได้ดี คือ เคลื่อนย้ายและจัดเก็บ รวมทั้ง การขนส่ง ระบบราง การออกของ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows กิจกรรมเหล่านี้ยังไม่ใช่ลอจิสติกส์ มันเป็นแค่การปฏิบัติงาน กิจกรรมเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ในบริบทของการทำงานครับ ไม่ต้องไปเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย มีหน่วยงานหรือสมาคมวิชาชีพเป็นผู้สอนครับ พวกเราอาจารย์ที่สอนลอจิสติกส์กันนั้น เราสอนให้ทุกคนมองปัญหาออก สอนให้คิดเป็น วางแผนเป็น สอนให้บูรณาการเรื่องต่างๆ ให้ได้ สร้างมาตรฐานความคิดให้ได้ โดยส่งผลต่อการเคลื่อย้ายและจัดเก็บเพื่อตอบสนองต่ความต้องการของลูกค้า นั่นจึงเป็นลอจิสติกส์ครับ แต่ถ้าคิดไม่เป็น วางแผนไม่เป็น และมีทักษะในการทำงานเหมือนเดิม โดยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่เคยเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ไม่มีภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ทักษะการทำงานเหล่านี้เหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคต เพราะว่างานประเภทนั้นจะกลายเป็นอัตโนมัติไปหมดในอนาคต

ทักษะที่สำคัญในการจัดการลอจิสติกส์ คือ การคิดและวางแผนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุด หรือ Optimization ภายใต้ข้อจำกัดที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวนี้ล่ะครับที่สามารถทำให้เรามีกำไรได้ ทำให้เราลดต้นทุนได้ ผมอยากรู้จริงๆ ว่า คนที่ชอบบอกว่าทำลอจิสติกส์แล้วลดต้นทุนนั้น เขาทำกันอย่างไร นอกจากลดขั้นตอนแล้ว ยังต้องทำอะไรอีก พวกที่ลดขั้นตอนนั้น ผมเรียกว่า “โจรกลับใจ” คือ เริ่มมีสติขึ้น รู้ว่าไม่ควรทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ อย่างนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ควรจะปลูกฝังไว้ตั้งแต่แรกๆ ของการทำงานหรือการดำรงชีวิตเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพิ่งมารู้ก็สายไปเสียแล้ว บริษัทในระดับ World Class ที่ทำลอจิสติกส์พวกเขาทำกันมากกว่านี้มากนัก ก็ต้องถามกันว่า แล้วนักลอจิสติกส์ทั้งหลายรู้จัก Optimization กันหรือไม่ หรือถ้าคุณเป็นนักจัดการแล้วไม่รู้จัก Optimization แล้วล่ะก็ คุณไม่ใช่นักจัดการ และคุณก็ไม่ใช่นักลอจิสติกส์

ส่วนที่ว่ากันถึงอาจารย์ทั้งหลายที่วิ่งรอกกันสอนในเมืองไทย ขึ้นเครื่องบินกันสอนกันให้วุ่นนั้น ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นและยังมีอีกหลายท่าน ถ้าผมมีโอกาสอีกก็จะพยายามไปสอนให้เยอะๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่สน เพราะว่าจะได้คนไทยเข้าใจกันมากขึ้น จะได้ทำลอจิสติกส์กันจริงๆ ไม่ใช่แค่ทำการขนส่ง ระบบราง การออกของ Shipping เอาของเข้าตู้และเอาของออกจากตู้ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows หรือโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากลอจิสติกส์เป็นมากกว่านั้นมากนัก

พวกเราอาจารย์นั้นสอนกันจริงๆ สอนกันด้วยใจเพราะอยากให้รู้ พวกเราเป็นนักวิชาการโดยอาชีพ ไม่ได้สอนกันเพราะสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดีในสังคม ไม่ว่าจะอยู่หลังเขาหรือชายแดน พวกเราหลายๆคนก็ไปสอนมาแล้ว ถ้าพวกเขาที่เรียนจากพวกผมไปใช้ประโยชน์ในองค์ความรู้เหล่านั้นได้ มันจะผิดอะไร มหาวิทยาลัยเหล่านั้นถึงแม้จะอยู่ชายแดน จะหน้าเขาหรือหลังเขา ก็ขึ้นอยู่กับคนมอง แต่มหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็ไม้ได้ด้อยความรู้เลย กลับพยายามสร้างบุคลากรและหาผู้ที่รู้มาถ่ายทอดเพื่อให้เกิดการนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่และจังหวัด ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน ผมเองสนับสนุนทุกอย่างครับ

อีกอย่างครับที่ผมโดนด่าเป็นประจำ คือ ทำไมไม่สอนปฏิบัติล่ะ อาจารย์ทำเป็นไหม คำตอบคือ ทำไม่เป็นและจะไม่ทำ เพราะผมไม่ได้ใช้แรงงานหรือปฏิบัติการ ผมหากินกับการสอนคนให้คิดและทำให้เป็น การปฏิบัติที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนนั้นเป็นการปฏิบัติที่สร้างขึ้นมาสนับสนุนการคิดหรือทฤษฎีทั้งหลายเพื่อให้เข้าใจ เป็นตัวอย่างในการนำทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ไม่มีการหลักสูตรเรียนการสอนที่ไหนเขาลงลึกเพื่อการปฏิบัติจริงหรอก แต่มีให้เห็นเพื่อที่จะสนับสนุนทฤษฎีเท่านั้น เพราะอะไรล่ะครับ ก็เพราะการปฏิบัติจริงมี “บริบท” ที่แตกต่างกัน มีการ “เปลี่ยนแปลง” อยู่เสมอ ไม่เหมือนเดิมตลอด ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่ทำหรือปฏิบัติอยู่ ไม่ใช่แค่รู้หรือจำได้แล้วก็ทำอย่างเดิมไปตลอด จึงทำให้การปฏิบัติมีปัญหา สำหรับคนที่มีอาชีพสอนกันจริงๆ ในมหาวิทยาลัยนะครับ ซึ่งไม่ใช่อาจารย์พิเศษผู้เป็นนักปฏิบัติ เขาเหล่านี้จะสอนภาพรวมและหลักการเพื่อให้ผู้ที่เรียนสามารถไปปฏิบัติใช้งานจริงในบริบทต่างๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในทฤษฎีและบริบทต่างๆ ในการปฏิบัติของผู้ที่เรียนมา ถ้ามีปัญหาในการปฏิบัติก็ต้องโทษผู้ปฏิบัติ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติทำถูกแล้ว ก็ต้องโทษผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรที่ไม่มีวิสัยทัศน์มากพอในการที่จะเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการปฏิบัติให้ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ผู้นำเหล่านี้ก็ร่ำเรียนมากันตั้งมาก อย่างน้อยก็ปริญญาโท แต่ไม่เข้าใจทฤษฎีและประยุกต์ไม่เป็น

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มักเกิดขึ้นในขั้นตอนของการปฏิบัติ มันไม่เกี่ยวกับอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยว่าได้สอนปฏิบัติหรือไม่ มันเกี่ยวกับผู้ที่เป็นเจ้าของบริบทหรือพื้นที่นั้นสามารถสอนงานหรือให้รายละเอียดการปฏิบัติการได้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่เช่นนั้น ผู้ปฏิบัติก็จะต้องเตรียมตัวเองในสาขาวิชาชีพนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งมีโรงเรียนเฉพาะทางสอน หรือสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่ให้ความรู้ในขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะต้องมาสอนในขั้นตอนปฏิบัติเหล่านี้ เพราะว่าอาจารย์สอนนักศึกษาจำนวนมาก นักศึกษาแต่ละคนก็ไม่รู้อนาคตว่าจะไปทำงานที่ไหนบ้าง ในสาขาการปฏิบัติงานอะไรบ้าง

แต่ที่แน่ๆ เมื่อเรียนจากมหาวิทยาลัยแล้วจะต้องเข้าใจในทฤษฎีและหลักการเป็นเบื้องต้นพร้อมที่จะประยุกต์ใช้งานในบริบทของธุรกิจต่างๆ ให้ดีขึ้นจนเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพกว่า มันต้องตรงนี้ ไม่ใช่มาบ่นว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่สอนปฏิบัติ ผมสอนให้คนคิดเป็นและไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงาน โดยทำให้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า และในหลายๆ ครั้งถ้าเขาเหล่านั้นไม่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้นได้ ก็เพราะท่านผู้ปฏิบัติงานเดิมนั้นหรือท่านผู้บริหารใจไม่กว้างพอไม่อยากเปลี่ยน อยากที่จะทำเหมือนเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติงานจึงวิกฤติไงครับ ไม่ได้เกี่ยวกับการวิ่งรอกสอน ถ้าไม่สอนแล้วใครจะรู้ได้เล่า ใช่ไหมครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนสอนได้ครบถ้วนนะครับ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เรียน จริงไหมครับ

สำหรับมหาวิทยาลัยหลังเขานั้น ผมก็ไปสอนมาหมดแล้วทุกมหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนนั้น ผมยังให้กำลังใจเขาเหล่านั้นอยู่เสมอนะครับ ถึงแม้จะเป็นชายแดนก็ตาม แต่หัวใจอินเตอร์นะครับ และที่สำคัญ มันเป็นจุดผ่านแดนที่สำคัญที่มีกิจกรรมลอจิสติกส์อยู่ รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจลอจิสติกส์ต่างๆ อีกมาก มันจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งที่เชื่อมโยงกับประเทศจีน ถ้าเราไม่ให้กำลังใจหรือสนับสนุนแล้ว คงจะไม่ได้ ยิ่งหลังเขาหรือหน้าเขาก็ไม่ใช่เป็นประเด็นหรอก แต่เขาอยู่ในพื้นที่และทำหน้าที่ให้ความรู้และพัฒนาความคิดของคนในพื้นที่ ผมสนับสนุนเต็มที่ ยิ่งอยากเรียนผมก็ยิ่งไปสอน ผมก็ไปสอนหมดแล้วประเภทชายแดนทั้งหลาย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ และผมว่าเขาต้องเรียนรู้เพื่อนำไปปฎิบัติให้ถูกต้อง พวกที่อยู่ในเมืองกลับไม่เห็นจะกระตือรือร้นเสียเท่าไหร่กันนัก

ผมคิดว่า ที่วิกฤติกันนั้น มันวิกฤติเฉพาะที่ แล้วอย่ามาเหมารวมว่าลอจิสติกส์ทั้งหมดจะวิกฤติ และที่วิกฤตินั้นก็จะวิกฤติตอนทำ เพราะว่าไม่ได้คิดหรือวางแผนมาก่อน และต้องคิดร่วมกันและวางแผนร่วมกันแบบการจัดการโซ่อุปทาน ไม่ใช่พอทำอะไรไม่ได้แล้วก็มาอ้างว่าวิกฤติ ทำไม่ได้แล้ว เรื่องอย่างนี้จะต้องคิดเสียก่อนว่า ที่ทำลงไปนั้นผ่านกระบวนการ “คิดและวางแผนร่วมกัน” หรือไม่เป็นสำคัญ ผมว่าอาจารย์ที่ไปสอนทั้งก็พยายามที่จะสอนหลักคิดและทฤษฎีเพื่อจะไปปฏิบัติให้ได้ แต่เรื่องของลอจิสติกส์เป็นเรื่องการฝึกคิดและวางแผนระบบการไหลของคุณค่าในโซ่อุปทานโดยเฉพาะการคิดร่วมกัน เพราะว่าคนลอจิสติกส์ไม่ใช่ Operator ในการขนส่ง ระบบราง การออกของ การเอาของเข้าตู้และออกจากตู้ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows แต่เพียงเท่านั้น แต่นักลอจิสติกส์เป็นคนวางแผนและประสานงานกับทุกส่วนในโซ่อุปทาน กรุณาอย่าเอามารวมกันอย่างมั่วๆ และอย่าคิดว่าสิ่งที่ทำๆ กันมาคือ “การปฏิบัติ” เพราะว่าการปฏิบัติที่ดีจะต้องมีหลักวิชาการที่ถูกต้องรองรับ

ดังนั้นใครที่เป็นนักปฏิบัติที่ดีจึงสามารถอธิบายหลักการที่อยู่เบื้องหลังได้ หลักวิชาการที่ถูกต้องจะต้องมาก่อนและเป็นตัวกำหนดการปฏิบัติ เพราะว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง นักปฏิบัติที่มีหลักวิชาการจะปรับตัวได้ดีกว่า ต้นทุนจึงต่ำกว่า และรักษาลูกค้าได้ ส่วนพวกที่ทำมาแต่อดีต ก็ต้องพยายามทดลองทำต่อไปตามประสบการณ์ที่เคยทำ โดยไม่รู้ถึงหลักการ ถ้าเป็นอย่างนี้ ต้นทุนก็จะสูง ส่งของไม่ทัน ที่ถูกแล้วควรจะต้องคิดก่อนแล้วจึงทำ ไม่ใช่ลองทำ แล้วทำได้ จึงไม่ได้คิดหรือคิดไม่เป็น ปกติแล้วคุณสอนคนให้ทำเลยหรือว่าสอนให้คิดก่อนแล้วค่อยทำ และทำให้ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า คนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานต้องคิดอย่างนี้ครับ ไม่ใช่เอาแต่คิดถึงแค่กิจกรรมการขนส่ง ระบบราง การออกของ การเอาของเข้าตู้และออกตู้ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows ซึ่งไม่ใช่ลอจิสติกส์ ผมคิดแล้วอยากร้องไห้ ทำไมเราคิดกันได้แค่นี้

และยิ่งคิดกันว่า ลอจิสติกส์ คือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยแล้ว ก็ยิ่งคิดผิดกันไปใหญ่ ลองคิดดูว่า คนจ่ายเงินเพื่อฟังเพลงที่เส่นจากทั้งวงดนตรี แต่ต่างคนต่างเล่น เล่นเก่งอยู่คนเดียว แล้วจะเป็นเพลงหรือไม่ ผมเชื่อเสมอว่า
“ลูกค้าต้องการซื้อสินค้า ไม่ได้ซื้อลอจิสติกส์” และต้องเข้าใจว่าถ้าไม่มีลอจิสติกส์แล้ว สินค้าก็ผลิตไม่ได้ สินค้าก็จะไม่ถึงมือลูกค้า ถ้าจะ Focus จะต้องมุ่งเน้นที่ “โซ่อุปทานของ Product” ที่จะต้องใช้ระบบลอจิสติกส์ในการนำส่งวัตถุดิบไปให้ถึงมือผู้ผลิต และนำสินค้าให้ไปถึงมือลูกค้า สำหรับเรื่องต้นทุนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ประเด็นอยู่ที่ว่าเราต้องลดต้นทุนด้วยจิตวิญญาณ ด้วยการไม่ทำพลาด ด้วยการไม่ทำในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่ลดต้นทุนด้วยลอจิสติกส์ มันเป็นเรื่องตลกมากๆ เพราะว่าในคำนิยามไม่ได้พูดถึงเรื่องลดต้นทุนเลย ถ้าทำถูกเรื่อง ต้นทุนต่ำ ถ้าทำผิดเรื่อง ไม่ได้วางแผน ต้นทุนก็สูง เมื่อสถานการณ์รอบๆ เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป โซ่อุปทานก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป การผลิตก็เปลี่ยนแปลง ลอจิสติกส์ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ลอจิสติกส์จึงเป็นเรื่องการจัดการการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การขนส่ง ระบบราง การออกของ การเอาของเข้าตู้และออกจากตู้ การคิดค่าระวางสินค้า คลังสินค้า Single Windows หรือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง “ไม่ใช่” ลอจิสติกส์ครับ แต่ “เป็นส่วนหนึ่ง” ของระบบลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์ ซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานและการจัดการโซ่อุปทาน งงไหมล่ะครับ ยังมีอีกเยอะครับ

พอแค่นี้นะครับ ยิ่งเขียน ยิ่งโกรธ ยิ่งสงสารตัวเอง วิกฤติมากๆ มันเป็นความเข้าใจของพวกเราเองที่วิกฤติ

แล้วเจอกันใหม่ครับ

อ.วิทยา
24 ก.ค. 2553

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เจาะแก่นแนวคิดแบบลีน (5) : มองความเป็นลีนจากกระบวนการสร้างคุณค่า

เจาะแก่นแนวคิดแบบลีน (5) : มองความเป็นลีนจากกระบวนการสร้างคุณค่า

เรื่องของธุรกิจเป็นเรื่องของคุณค่าและการแลกเปลี่ยนคุณค่า เพราะถ้าไม่มีคุณค่า ก็ย่อมไม่มีธุรกิจ ในมุมมองของลีนนั้น คำว่า “คุณค่า” (Value) ไม่ได้หมายถึง ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เราจับต้องหรือสัมผัสได้ แต่หมายถึง “ประโยชน์” ที่มนุษย์จะได้รับ ลีนหมายถึงกระบวนการในการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการให้กับลูกค้า โดยเฉพาะการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้า ดังนั้นลีนจึงมีความหมายในเชิงพลวัต (Dynamic) ซึ่งเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบันอย่างยิ่ง การนำแนวคิดแบบลีนไปปฏิบัติใช้ในองค์กรจึงไม่ใช่แค่เป็นนำเอาเครื่องมือในการจัดการเข้าไปติดตั้งเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาองค์กรและออกแบบองค์กรใหม่ ปรับปรุงกระบวนการใหม่ พัฒนาสร้างคนใหม่และใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้เกิดเป็นคุณค่าตามที่ลูกค้าต้องการ

ความเข้าใจในเรื่องคุณค่า

เรื่องของคุณค่าเป็นเรื่องของมุมมองของมนุษย์ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ สิ่งนั้นก็มีคุณค่ากับมนุษย์ และเรื่องคุณค่าก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเช่นเดียวกัน สิ่งใดเป็นประโยชน์กับเราก็มีคุณค่ากับเรา นอกเหนือจากนั้นก็เป็นความสูญเปล่า (Waste) ดังนั้น ทุกอย่างๆ ที่มีความเป็นตัวตนจะมีประโยชน์ในตัวเอง สิ่งนั้นจึงมีอยู่ได้ หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างมาอยู่รวมกันอย่างมีความสัมพันธ์เป็นระบบจึงทำให้เกิดเป็นคุณค่าใหม่ ระบบที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เราจะเข้าใจได้คือระบบจักรวาล และในทางตรงกันข้ามระบบที่เล็กที่สุดคืออะตอม อิเล็กตรอนและอื่นๆ เท่าที่มนุษย์เราจะสามารถเรียนรู้ได้ สสารหรือสิ่งต่างๆ ที่คงอยู่นั้นเป็นเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อระบบที่มันเป็นองค์ประกอบอยู่ ระบบทุกระบบหรือกระบวนการมีเป้าหมายของการสร้างประโยชน์ของตัวระบบหรือกระบวนการเอง แต่เมื่อใดก็ตามประโยชน์นั้นหมดไป สิ่งๆ นั้นก็จะต้องถูกสลายไปหรือมีการแปลงสภาพไปเป็นประโยชน์อื่นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ในระบบธรรมชาติ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของเสียของมนุษย์กลับกลายเป็นสิ่งที่พืชต้องการในการสังเคราะห์แสง และในทางตรงกันข้าม พืชได้คายออกซิเจนที่เป็นผลจากการสังเคราะห์แสงออกมาให้ประโยชน์กับมนุษย์เป็นวัฏจักรในระบบโลก แม้ว่าคำนิยามเรื่องคุณค่าและความสูญเปล่าได้ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แต่มุมมองของผมในเรื่องคุณค่านั้นเป็นมุมมองเชิงระบบและกระบวนการที่ถูกขยายผลไปสู่ระบบที่ใหญ่กว่า มีทั้งความเป็นพลวัตและความซับซ้อนกว่า

กระบวนการการสร้างคุณค่า

การสร้างคุณค่าต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการย่อมเกิดจากการนำคุณค่าอื่นๆ มาบูรณาการกันเพื่อให้เกิดคุณค่าใหม่ หรือคุณค่าเพิ่ม (Value Added) กระบวนการในการสร้างคุณค่าจะถูกออกแบบมาจากโซ่คุณค่า (Value Chain) ซึ่งจะกำหนดถึงวิธีการสร้างคุณค่าและทรัพยากรที่จะถูกนำมาใช้ในการสร้างคุณค่า กิจกรรมการดำเนินการการสร้างคุณค่านั้นจะเป็นกระบวนการที่มีความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของกระบวนการอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะสามารถควบคุมและปรับปรุงได้ เมื่อคุณค่าหรือความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป กระบวนการสร้างคุณค่าก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย หากบริบทของคุณค่าเปลี่ยนแปลงไป กระบวนการก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โทรทัศน์ในอดีตมีภาพขาวดำ ต่อมาต้องการคุณค่าเพิ่มเป็นโทรทัศน์สีก็จะต้องมีการสร้างกระบวนการผลิตหลอดภาพสี และต่อมาบริบทของเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นจนเป็นจอ LCD โทรทัศน์ในยุคปัจจุบันกลายเป็น LCD จนเกือบหมด กระบวนการผลิตโทรทัศน์จึงต้องมีกระบวนการผลิตจอ LCD แทนหลอดภาพ CRT แต่คุณค่าหลักของโทรทัศน์ก็ยังคงเป็นสิ่งที่สื่อสารออกมาเป็นภาพและเสียงเหมือนเดิม เมื่อเปลี่ยนมาเป็น LCD ก็ทำให้มีคุณค่ารองในด้านความบางและน้ำหนักเบาขึ้น

ความเป็นคุณค่านั้นไม่ได้ถูกจำกัดที่ความเป็นตัวผลิตภัณฑ์ที่เรามักพูดกันว่า “ผลิตภัณฑ์จับต้องได้ บริการจับต้องไม่ได้” ซึ่งผมคิดว่ายังไม่ได้ความหมายครบถ้วนนัก ความมีคุณค่าหรือไม่นั้นถูกกำหนดหรือถูกตัดสินจากลูกค้า แล้วลูกค้าจึงเอาสื่อที่แทนคุณค่า (เงิน) มาแลกเอาคุณค่าไปใช้ จะนำไปใช้งานด้วยตัวเอง หรือจะนำไปขายต่อเพื่อหาประโยชน์หรือสร้างกำไรก็ได้ ดังนั้นกระบวนการสร้างคุณค่าสามารถเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดความต้องการของลูกค้า แม้ว่าลูกค้าจะจ่ายเงินเพื่อแลกคุณค่าที่เป็นบริการ แต่ในการบริการเหล่านั้นก็ยังคงใช้ทรัพยากรที่เป็นผลิตภัณฑ์ในการให้บริการ ผู้ใช้บริการไม่ได้นำเอาผลิตภัณฑ์ที่เป็นทรัพยากรไปใช้ แต่ผู้ให้บริการเป็นผู้ครอบครองผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นทรัพยากรในการให้บริการเพื่อสร้างคุณค่าที่ลูกค้าต้องการงาน

กระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) จึงหมายถึงทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการไปพร้อมกัน ไม่ต้องจัดแยกกลุ่มหรือแยกเรื่องว่าเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพราะทั้งสองอย่างนั้นต่างก็ให้คุณค่าหรือตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเหมือนกัน ดังนั้นแนวคิดในการจัดการกระบวนการสร้างคุณค่าซึ่งไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นจึงหมือนกัน หากมองกันในระดับนามธรรม (Abstract Level) ก็คือการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบเพื่อให้ลูกค้านำเอาเงินมาแลกคุณค่าไป เพียงแต่บริบทของการผลิตและการบริการนั้นแตกต่างกันออกไป จึงทำให้รูปธรรมหรือสิ่งที่เห็นหรือจับต้องได้นั้นแตกต่างกันออกไปเช่นกัน ดังนั้นการประยุกต์ใช้แนวคิดใดๆ ในการจัดการคุณค่าในระดับนามธรรมย่อมใช้ได้ผลเสมอในระดับรูปธรรม แต่ผู้ประยุกต์ใช้จะต้องมีความเข้าใจในบริบทของการสร้างคุณค่าเป็นอย่างดี ดังนั้นแนวคิดแบบลีนที่มีจุดกำเนิดมาจาการผลิตก็ต้องสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับกระบวนการให้บริการ ถ้าเราเข้าใจถึงระดับนามธรรมของการผลิตแบบลีน

ลีนกับการจัดการกระบวนการ

ผมมีมุมมองในต้านการจัดการ 2 มุมมอง คือ การควบคุม (Control) และการปรับปรุง (Improvement) ดังนั้นการจัดการกระบวนการในมุมมองของผม คือ การควบคุมและการปรับปรุงการใช้และจัดสรรทรัพยากรในการสร้างคุณค่าของกระบวนการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า แนวคิดแบบลีนจึงเป็นแนวคิดที่สนับสนุนการจัดการกระบวนการสร้างคุณค่าโดยตรง เมื่อมองลูกค้าเป็นเป้าหมาย ธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนคุณค่ากัน และคุณค่าก็ถูกสร้างขึ้นมาจากกระบวนการธุรกิจ ดังนั้นแนวคิดด้านการจัดการต่างๆ จะต้องมุ่งเน้นมาที่ “กระบวนการธุรกิจ” (Business Process) ที่จะประกอบไปด้วยทรัพยากรขององค์กรธุรกิจ เช่น วัตถุดิบ เครื่องจักร คน วิธีการ เงิน และสารสนเทศ ทรัพยากรเหล่านี้จะถูกบูรณาการและแปลงสภาพไปเป็นคุณค่าตามที่ลูกค้าต้องการ แนวคิดแบบลีนเป็นหนึ่งในแนวคิดการจัดการที่มุ่งเน้นที่กระบวนการสร้างคุณค่าเหมือนกับแนวคิดแบบโซ่คุณค่า (Value Chain) และแนวคิดแบบโซ่อุปทาน (Supply Chain) แนวคิดทั้งสามนั้นพูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่แตกต่างกันในบริบทการใช้งาน โซ่คุณค่าถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้เป็นการสื่อสารถึงกระบวนการสร้างคุณค่าและทรัพยากรในระยะการออกแบบ โซ่อุปทานถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้เห็นถึงผู้สร้างคุณค่าหรือเป็นผู้ดำเนินการในกระบวนการสร้างคุณค่า ส่วนลีนนั้นเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมทั้งการออกแบบและปรับปรุงกระบวนการสร้างคุณค่า ขึ้นกับว่าเราจะมองจากมุมไหนและระดับไหน แต่ในที่สุดแล้วผลลัพธ์สุดท้ายก็คือคุณค่าที่นำส่งให้กับลูกค้านั่นเอง

ในปัจจุบันนี้แนวคิดแบบลีนได้ถูกขยายผลจากระดับกระบวนการผลิตไปสู่กระบวนการระดับวิสาหกิจและเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ในอดีตคำว่า “ลีน” ที่มีความหมายจากคำว่า”ผอม” บ่งบอกถึงทรัพยากรในเชิงกายภาพขององค์กรที่หมายถึง ใช้คนน้อยลง ใช้พื้นที่น้อยลง ใช้เวลาน้อยลง และใช้ทรัพยากรอื่นๆ น้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น (Do More with Less) แต่ในปัจจุบัน คำว่าได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นมากกว่า “ผอม” หรืออะไรที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร คำว่า “ลีน” ได้ถูกแทรกเข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการของวิสาหกิจจากรูปธรรมที่จับต้องได้ไปสู่นามธรรมขององค์กรที่จับต้องไม่ได้แต่กลับมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของตนในองค์กร ในองค์กรที่ประสบผลสำเร็จอย่างโตโยต้า TPS (Toyota Production System) หรือแนวคิดแบบลีนได้ถูกปลูกฝังเข้าไปอยู่ในสามัญสำนึกของบุคลากรในทุกระดับชั้นขององค์จนการเป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าที่สุดแล้ว คนนั่นเองที่เป็นผู้ตัดสินใจในการจัดการกระบวนการ สมรรถนะของกระบวนการขึ้นอยู่กับความสามารถของคนในกระบวนการและผู้ที่จัดการกระบวนการ

แนวคิดแบบลีนจะมุ่งเน้นที่กระบวนการมากกว่าการเน้นที่คนเพื่อให้ได้คุณค่าสำหรับลูกค้า เพราะว่าลูกค้าซื้อคุณต่า ไม่ได้ซื้อคนในกระบวนการหรือคนในองค์กร แต่การที่จะทำให้การเน้นที่กระบวนการเกิดผลได้นั้นจะต้องใช้ความคิดและความสามารถของคนในองค์กร ถ้ามององค์กรแบบองค์รวมและในเชิงระบบมากขึ้น คนในองค์กรถูกแบ่งเป็นผู้ที่อยู่ “ในกระบวนการ” และผู้ที่ “จัดการกระบวนการ” ถ้าคนในกระบวนการและผู้จัดการกระบวนการไม่มีแนวคิดแบบลีน การมุ่งเน้นที่กระบวนการก็จะไม่มีประสิทธิภาพ คุณค่าที่ได้มาก็อาจไม่ได้ตอบสนองต่อลูกค้า และที่สำคัญ ในปัจจุบันนี้ความคิดที่ให้ส่งคุณค่าให้กับลูกค้าได้เป็นผลสำเร็จนั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนได้ด้วย ดังนั้นคนจึงมีบทบาทมากในแนวคิดแบบลีนที่มีต่อกระบวนการและการจัดการกระบวนการ

ถ้าเป็นไปดังที่กล่าว บริษัทต่างๆ ที่นำแนวคิดแบบลีนมาประยุกต์ใช้งานจะต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการกระบวนการ แนวคิดแบบลีนจึงต้องถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการกระบวนการ ดังนั้นผู้ใดหรือบริษัทใดที่นำเอาแนวคิดแบบลีนมาประยุกต์ใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงแนวคิดการจัดการกระบวนการ (Process Management) เช่น โซ่คุณค่า (Value Chain) โซ่อุปทาน (Supply Chain) การจัดการกระบวนการธุรกิจ (Business Process Management) ผมคิดว่ามาผิดทาง ที่จริงแล้วแนวคิดแบบลีนเป็นแก่นของแนวคิดในการจัดการกระบวนการทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนั้น คำว่า “ลีน” ในฐานะคำขยายประเภทคำคุณศัพท์และคำกริยาวิเศษณ์ที่บ่งบอกลักษณะการจัดการกระบวนการจึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการมุ่งเน้นคุณค่าแนวคิดการจัดการกระบวนการต่าง เช่น Lean Value Chain, Lean Supply Chain, Lean Logistics, Lean Business Process

ความเป็นลีน ดูอย่างไร

มีหลายๆ บริษัทที่มีความพยายามในการนำแนวคิดแบบลีนมาใช้ บางบริษัทก็มีการติดตั้งหรือนำเอาสิ่งที่เรียกว่าเครื่องมือลีน (Lean Tools) มาใช้ บางบริษัทก็มีกิจกรรมการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง “ไคเซ็น” หากบริษัทคิดว่าตนได้เป็นลีนแล้วด้วยกิจกรรมเหล่านั้น ก็ดูเหมือนว่าบริษัทเหล่านั้นคิดว่า “การแต่งตัว” ด้วยเครื่องมือต่างๆ จะทำให้เป็นลีนได้ อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับการอยากเป็นนักฟุตบอล คงไม่ใช่เพียงแค่สวมใส่ชุดนักฟุตบอลที่จะทำให้กลายเป็นนักฟุตบอลได้ ความเป็นนักฟุตบอลนั้นไม่ได้มาจากชุดหรืออุปกรณ์การเล่น แต่มาจากจิตวิญญาณของความนักฟุตบอล ต้องเข้าใจในเกมการแข่งขันและที่สำคัญต้องมั่นฝึกซ้อมและมีระเบียบวินัยในทีมฟุตบอล สร้างเสริมความสามารถและเทคนิคการเล่นให้กับตนเองและสร้างการเล่นเป็นทีมให้เกิดขึ้นในกลุ่มนักฟุตบอลในทีม ดังนั้นเมื่อประเมินความนักฟุตบอล เราไม่ได้ดูชุดที่ใส่หรืออุปกรณ์ที่ใช้ แต่จะดูจากผลงานในการเล่นฟุตบอล

เมื่อถามว่า จะดูอย่างไรว่าเราเป็นลีนหรือไม่? ดูจากจุดใด? ลีนเป็นเรื่องที่เราจัดการกับกระบวนการสร้างคุณค่าอย่างไร? ผมขออธิบายว่า คำว่า “ลีน” จะสอดคล้องกับคำว่า “อย่างไร” หรือ How ดังนั้นคำว่า “ลีน” จึงเป็นคำขยายประเภทคำคุณศัพท์ (Adjective) และกริยาวิเศษณ์ (Adverb) ที่ใช้อธิบายถึงสิ่งต่างๆ และการปฏิบัติต่างๆ ว่ามีความพอดี (Just in Time) ในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระบวนการสร้างคุณค่าเมื่อลูกค้าต้องคุณค่าใหม่ “ลีน” เป็นสิ่งที่อธิบายถึงความสามารถในการปรับตัว (Adaptive) ของกระบวนการเพื่อให้เกิดความลงตัว (Fitness) ดังนั้นถ้าจะดูว่าองค์กรของเราลีนหรือไม่ ก็ให้ดูที่สมรรถนะขององค์กรเราว่าสร้างคุณค่าออกมาตอบสนองต่อลูกค้าได้อย่าง “ดี เร็ว ถูก” หรือไม่ ถ้าทำได้ องค์กรก็มีลักษณะของความเป็นลีนที่มีความพอดี (Just in Time) และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง องค์กรของเราสามารถปรับกระบวนการสร้างคุณค่าให้ได้ “ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า” หรือไม่ ถ้าทำได้ องค์กรก็จะมีลักษณะของความเป็นลีนที่มีความลงตัว (Survival of Fitness)

ในโครงสร้างของ TPS House มีเสาหลักอยู่ 2 เสา คือ ความทันเวลาพอดี (Just in Time) และ Jidoka หรือคุณภาพตั้งแต่เริ่มแรก (Built-in Quality) และกิจกรรมการลดความสูญเปล่าอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมหลักๆ ที่กล่าวมานั้นถูกดำเนินงานบนกระบวนการสร้างคุณค่าของบริษัทโตโยต้ามาโดยตลอด จนกลายเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดแบบลีนและการผลิตแบบลีน เห็นได้ว่ากิจกรรมต่างๆ ของ TPS หรือ แนวคิดแบบลีนล้วนมุ่งเน้นไปที่กระบวนการสร้างคุณค่าทั้งสิ้น หากต้องการวัดถึงความสำเร็จก็ต้องดูที่สมรรถนะหรือผลลัพธ์ของกระบวนการเป็นหลัก มาตรวัดหลักๆ ที่ได้กล่าวอย่างง่ายๆ ข้างต้น ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมเสาหลักของ TPS หรือลีน เช่น “ดี” เป็นผลมาจากการคำนึงถึงคุณภาพตั้งแต่แรกเริ่ม “เร็ว” เป็นผลมาจากความทันเวลาพอดีในการจัดการการไหลของทรัพยากร “ถูก” เป็นผลมาจากกิจกรรมการกำจัดความสูญเปล่าอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อพูดถึง “ลีน” เราจึงควรมุ่งเน้นไปที่กระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการลูกค้า กิจกรรมทุกอย่างที่ถูกดำเนินงานในองค์กรก็จะต้องสนับสนุนกระบวนการสร้างคุณค่าขององค์กร กิจกรรมใดไม่สนับสนุนต่อกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อตวามต้องการของลูกค้า จะถูกพิจารณาเป็นความสูญเปล่า

ลูกค้าและความต้องการของลูกค้า

ถึงแม้ว่าแนวคิดแบบลีนสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกส่วนขององค์กรก็ตาม ทุกสิ่งและทุกกริยาสามารถทำให้มีความเป็นลีนได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความลีนขององค์กรหรือวิสาหกิจ ความเป็นวิสาหกิจแบบลีน (Lean Enterprise) ต้องถูกกำหนดมาจากกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อลูกค้า ดังนั้นทุกสิ่งและทุกกริยา (การคิดและการกระทำ) จะมีความเป็นลีนได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงหรือมีปฏิสัมพันธ์กับกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ประเด็นที่สำคัญคือ ความเป็นลีนนั้นจะต้องเชื่อมโยงกับลูกค้าและความต้องการของลูกค้าเสมอ จะเห็นได้ว่าในบทความต่างๆ ของผมมักพบคำว่า “เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า” อยู่เสมอ เพราะว่าความเป็นลีนถูกกำหนดมาจากความสามารถในการปรับตัวของกระบวนการสร้างคุณค่าขององค์กรตามความต้องของลูกค้า

ความเป็นลีนดูได้จากหลายมิติขององค์กร แต่มิติที่มีความสำคัญต่อองค์กรที่สุด คือ กระบวนการสร้างคุณค่าขององค์กร ดังนั้นเมื่อประเมินความเป็นลีน เราสามารถประเมินได้ในหลายมุมมอง แต่สุดท้ายแล้วความเป็นลีนย่อมต้องวัดจากผลลัพธ์ของกระบวนการและสมรรถนะขององค์กรออกมาอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพเพื่อความเป็นเลิศและความยั่งยืน เนื่องจากลูกค้านำเงินมาแลกกับคุณค่าจากกระบวนการสร้างคุณค่าขององค์กร

ลีนกับการอำนวยการกระบวนการ (Process Orchestration)

ลีนไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาและปรับผลิตภาพเป็นจุดๆ หรือแบบแยกส่วน แต่ลีนเป็นการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการธุรกิจขององค์กรโดยมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าขององค์กร และต้องมองไปถึงลูกค้าคนสุดท้ายที่เป็นผู้บริโภคหรือเป็นผู้ใช้งานคุณค่าที่เราสร้างขึ้น ลีนเป็นการมองแบบกระบวนการ (Process Thinking) และมองเชิงระบบ (Systems Thinking) การดำเนินกิจกรรมในเชิงแนวคิดแบบลีนอย่างแยกส่วนกันหรือเป็นจุดๆ จึงไม่ได้ผลในระยะยาว ประธานกรรมการบริษัทโตโยต้า Fujio Cho ได้กล่าวไว้ว่า “บริษัทที่ดีหลายบริษัทพยายามนำเอาไคเซ็นมาปฏิบัติใช้ รวมทั้งมีการนำเอาเครื่องมือของ TPS มาใช้งานด้วย แต่ประเด็นที่สำคัญ คือ จะต้องทำให้องค์ประกอบทั้งหมดนั้นเป็นระบบ (System) ด้วย และมันจะต้องถูกนำไปปฏิบัติเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ในลักษณะการโหมทุ่มกำลังไปทั้งหมด แต่ควรเป็นไปในลักษณะที่เป็นรูปธรรมหรือที่เป็นจริงได้ในพื้นที่ปฏิบัติงาน” สิ่งที่ทำให้บริษัทโตโยต้าสร้างและพัฒนา TPS ได้จนประสบผลสำเร็จและได้ขยายผลออกมาเป็นแนวคิดแบบลีนได้นั้น ก็เป็นเพราะว่าบริษัทโตโยต้ามองการดำเนินงานทั้งอย่างเป็นกระบวนการสร้างคุณค่าและเป็นระบบ องค์ประกอบหรือทรัพยากรทั้งหมดล้วนมีความสัมพันธ์กันไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในกระบวนการการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า ดังนั้นแนวคิดแบบลีนต้องมองกันทั้งกระบวนการและอย่างเชิงระบบ จึงจะประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน

การจัดการกระบวนการในมุมมองของแนวคิดแบบลีนมีส่วนคล้ายคลึงกับการอำนวยเพลง (Conduct) ของวงดุริยางค์สากล (Symphony Orchestra) วงดุริยางค์สากลเปรียบเสมือนเป็นกระบวนการสร้างคุณค่าที่เป็นเสียงดนตรี เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเป็นคุณค่าแต่ละส่วนที่ถูกนำมาบูรณาการเป็นบทเพลงที่ไพเราะ การอำนวยเพลงในวงดุริยางค์เพื่อให้เครื่องดนตรีที่มีความแตกต่างกันสามารถสร้างเสียงออกมาได้ถูกต้องตามตัวโน้ตที่ถูกเรียบเรียงไว้ได้อย่างเหมาะเจาะและลงตัวอย่างไม่มีที่ตินั้น เป็นกระบวนการในการดำเนินการที่จะต้องมีระบบในการควบคุมและดำเนินการ การดำเนินการกิจกรรมภายใต้แนวคิดแบบลีนก็คล้ายคลึงกันที่ไม่ใช่เป็นเพียงการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นโดยต่างคนต่างเล่น แต่เป็นการเล่นกันเป็นทีมอย่างสอดคล้องและลงตัวภายใต้กระบวนการสร้างคุณค่า การดำเนินงานโครงการลีนจึงเป็นกระบวนการที่จะต้องทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างคุณค่าขององค์กรได้รับฟังซึ่งกันและกัน หรือการสื่อสารภายในและภายนอกองค์กรเพื่อความพอดี (Just in Time) ในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า หากเราไม่เริ่มต้นที่การสื่อสารในการรับรู้ถึงความต้องการของลูกค้าแล้ว องค์กรก็จะประสบปัญหาในด้านการมีสินค้าคงคลังสำเร็จรูปมากเกินไป หรือในทางตรงกันข้ามมีการขาดแคลนสินค้าคงคลังสำเร็จรูป และในขณะเดียวกัน ถ้าผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างคุณค่าไม่รับฟังหรือสื่อสารซึ่งกันและกันแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการสร้างคุณค่าคือการไหลอย่างติดขัดของคุณค่า ทำให้เกิดงานระหว่างกระบวนการหรือการขาดแคลนวัตถุดิบทำให้เกิดความสูญเปล่าอีกหลายอย่างตามมา

ในวงดุริยางค์สากลมีผู้อำนวยเพลง (Conductor or Maestro) ซึ่งเป็นผู้ที่ฟังเสียงจากลูกค้าว่าจะฟังเพลงอะไร และผู้อำนวยเพลงนี้จะต้องมาเขียนโน้ตเพลงหรือเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลงนั้นตามการตีความในเนื้อหาใจความของบทเพลง จากนั้นต้องมีการซ้อมทำความเข้าใจในบทเพลงและการเล่น จนถึงวันแสดงจริง นักดนตรีทุกคนในวงดุริยางค์สากลจะต้องเล่นตามตัวโน้ต และที่สำคัญทุกคนจะต้องเล่นให้ “สอดคล้อง” กันทั้งวง ไม่ใช่ “พร้อมกัน” ทั้งวง นักดนตรีทุกคนต้องฟังคนอื่นๆ เล่นด้วย ต้องดูรอสัญญาณจากผู้อำนวยเพลงของวงดุริยางค์เพื่อเล่นตามโน้ตอย่างถูกเวลาและจังหวะหนักเบาของเสียง ดังนั้นกิจกรรมการควบคุมวงดุริยางค์และการเล่นดนตรีในวงดุริยางค์จึงสามารถใช้เป็นตัวอย่างให้เห็นการดำเนินงานอย่างเป็นระบบในกระบวนการสร้างคุณค่าในแนวทางแบบลีนได้เป็นอย่างดี
การดำเนินกิจกรรมตามแนวคิดแบบลีนจึงต้องเริ่มตั้งแต่การฟังเสียงจากลูกค้าว่าต้องการคุณค่าอะไร เมื่อใด และเป็นจำนวนเท่าใด ความเร็วของความต้องการของลูกค้าหรือ Takt Time เป็นเท่าใด องค์กรแบบลีนและผู้นำแบบลีนจะต้องจัดสรรทรัพยากรขององค์กรเพื่อให้เกิดการไหลของทรัพยากรเพื่อสามารถสร้างคุณค่าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าอย่างทันเวลาพอดี ด้วยคุณภาพตามที่ลูกค้ากำหนดและด้วยต้นทุนที่เหมาะสมซึ่งเกิดจาการกำจัดความสูญเปล่าอยู่ตลอดเวลา ยิ่งคุณค่าที่ลูกค้าต้องการมีความซับซ้อนมาก กระบวนการสร้างคุณค่าก็ยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน จำนวนวัตถุดิบและขั้นตอนต่างๆ ก็ยิ่งมากขึ้นและซับซ้อนขึ้นไปอีก การจัดการทรัพยากรขององค์กรยิ่งมีความยากยิ่งขึ้น ในทำนองเดียวกับการเล่นดนตรี สำหรับวงเล็กๆ ที่มีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น อาจไม่ต้องมีผู้ควบคุมวง แต่เมื่อวงดนตรีมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีจำนวนนักดนตรีและเครื่องดนตรีมากชิ้นขึ้น การสื่อสารกันระหว่างผู้ควบคุมลงและระหว่างนักดนตรีด้วยกันเองจึงมีบทบาทและความสำคัญในการทำให้เกิดความสอดคล้องกันระหว่างการเล่นดนตรีระหว่างเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น เพื่อเกิดเป็นบทเพลงตามที่ผู้ควบคุมวงได้เรียบเรียงเสียงประสานไว้ และเพื่อให้ผู้ฟังได้ดื่มด่ำกับบทเพลงได้ตามที่คาดหวัง

ลีนเป็นกระบวนการแห่งธรรมชาติ

แนวคิดการจัดการสำหรับมนุษย์ในสังคมโลกนี้มีลักษณะที่เป็นการปรับองค์กรด้วยตัวเอง (Self-Organization) ตามแนวคิดเชิงระบบในธรรมชาติ การอุบัติขึ้นของ TPS จนกลายเป็นแนวคิดแบบลีนนั้นก็ไม่ใช่สมบัติของบริษัทโตโยต้าแต่เพียงผู้เดียว เพราะว่าความสำเร็จของ TPS ที่ได้มา มาจากทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่เป็นทั้งคู่ค้า คู่แข่งขัน และผู้จัดส่งวัตถุดิบ อีกทั้งแรงกดดันทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่ได้ส่งผลทำให้เกิดการปรับตัวและวิวัฒน์ขององค์กรไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและลงตัวกว่า (Fitter) ผมจึงมองว่าลีนเป็นกระบวนการการปรับตัวทางธรรมชาติของมนุษย์โลก และมนุษย์ก็พยายามเรียนจากธรรมชาติรอบๆ ตัวเอง เรียนรู้จากอดีตและปัจจุบัน เพื่อทำให้ตัวเองหรือองค์กรนั้นอยู่รอด (Survival of Fitness) ซึ่งจะนำพาให้ไปสู่ความยั่งยืน การเรียนรู้และทำความเข้าเรื่องลีนในยุคปัจจุบันแตกต่างจากการเรียนรู้เรื่องลีนในอดีต เราจะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในบริบทและคุณค่าความต้องของลูกค้าเพื่อจัดสรรทรัพยากรอย่างรู้คุณค่ามากกว่าที่จะกำจัดออกไปเลย เพียงแต่ว่าเราจะต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบอย่างถูกเวลาและสถานที่ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างยั่งยืน

บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Productivity World ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ