วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

Basic – ความเป็นจริงของโซ่อุปทาน Part 1 (Reality of Supply Chain) – 3C: Connect-Communicate-Collaborate

ผมเห็นงานวิจัยเรื่องของโซ่อุปทานต่างๆ แล้วบางครั้งก็ต้องหันมาถามตัวเองว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะมีคำว่าโซ่อุปทานกันไปทำไม จริงๆ แล้วเราจะมีคำว่าโซ่อุปทานไปทำไมกัน ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราได้ไปขุดกันมานั้น แล้วมานำเสนอว่าเป็นโซ่อุปทานนั้นเป็นสิ่งที่เราเห็นๆ กันอยู่และทำกันอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้ว แล้วอะไรล่ะทำให้เราเริ่มสนใจว่ามัน คือ โซ่อุปทานซึ่งมีอยู่แล้วเหมือนกันแต่เราไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้มีชื่อให้มันเพื่อที่จะเรียกขาน



ใช่ครับเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อพูดถึงโซ่อุปทานแล้ว เรามักจะวาดแผนภาพของโซ่อุปทานที่มีจุดตั้งต้นจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ มีผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า แล้วก็ผู้ขายจนถึงมือผู้บริโภค ใช่ครับเมื่อก่อนเราอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไหร่ แต่ว่าเห็นไหม เราก็เห็นครับ! แล้วอย่างไรต่อครับ ก็แค่นี้หรือ? ส่วนพวกฝรั่งนั้นก็เริ่มต้นกันอย่างนี้ล่ะ แถมยังเอากิจกรรมที่ทำอยู่แล้วในนาม Operations Management เข้ามาอยู่ในข่ายของการจัดการโซ่อุปทานให้พวกเรางงๆ เล่น ลองไปดูหนังสือการจัดการการดำเนินงาน (Operations Management) กับหนังสือการจัดการโซ่อุปทานและลอจสิติกส์สิครับ มันเหมือนกันเกือบหมดทุกเล่ม แค่เพิ่มบทของการจัดการโซ่อุปทานขึ้นมาอีก 2-3 บท เมื่ออ่านดูแล้วก็ยังสงสัยว่าแล้วการจัดการโซ่อุปทานนั้น คือ อะไร?กันแน่ แต่ไม่เป็นไรครับ ของไทยเราก็ตามๆ ฝรั่งไปก็แล้วกัน มันถึงได้เป็นอย่างนี้ ถ้าจะตามกันแล้วก็ต้องตามให้ถึงที่สุด ก็ตามกันว่าแล้วฝรั่งเขาพัฒนากันไปถึงไหนแล้ว
แต่ว่าเวลานี้ฝรั่งเขาไปกันถึงไหนแล้ว เรื่องของโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ของเรายังมีเอากิจกรรมพวก Operations Management เข้ามาเป็นกิจกรรมการจัดการโซ่อุปทานและลอจิสติกส์กันอยู่เลย อ่านบทความวิชาการหรือบทความวิจัยที่ทำกันเมืองไทย พอเห็นเป็นหัวข้อด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมถามผู้นำเสนอเสมอว่า ถ้าผมตัดคำว่าโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ออกไป แล้วเรายังจะอ่านบทความนี้รู้เรื่องไหม หรือบทความนี้หรืองานวิจัยนี้จะออกมาในรูปแบบใด ดูไปดูมาเมื่อตัดคำว่าโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ออกไปแล้วก็คงจะออกมาเป็นกิจกรรมใน Operations Management ทั่วๆ ไป ไม่เป็น Inventory Planning and Management ก็เป็น Warehouse, Distribution, Transportation หรือไม่ก็เป็น IT ในการจัดการ Operations Management แล้วทำไมถึงมาเรียกกันว่า การจัดการโซ่อุปทานหรือการจัดการลอจิสติกส์กันล่ะครับ มันก็เป็นอย่างนี้ล่ะครับ เป็นกันทั่วโลก



แต่เดี๋ยวนี้คนในวงการธุรกิจมีความเข้าใจในความเป็นโซ่อุปทานมากขึ้น โดยเฉพาะในวงการปฏิบัติการและงานวิจัยในระดับโลก เวลาเขาพูดถึงโซ่อุปทานนั้น เขาไม่ได้มานั่งวาดรูปโครงสร้างของโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำกันแล้ว ผมไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ทำกันแล้วนะครับ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เวลาไปนำเสนอหรือไปประยุกต์ใช้นั้น เราน่าจะทำอะไรที่ได้มากกว่าโครงร่างเบื้องต้นของโซ่อุปทานอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ความเป็นโซ่อุปทานนั้นมันเป็นมากกว่าโครงร่างของโซ่อุปทานแบบ (End to End) ที่เราได้วาดๆกันแล้วนำเสนอกันออกมา



แล้วผมก็ไปอ่านเจอการนำเสนอความเป็นโซ่อุปทานในธุรกิจระดับโลกและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาในระดับโลกพบว่าพวกเขามองความเป็นโซ่อุปทานโดยก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมๆ ออกไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังต้องมีกรอบความคิดเดิมที่เป็น Supply Chain Configuration แบบ End to End เป็นพื้นฐาน ความเป็นจริงของโซ่อุปทานนั้นเป็นมากกว่าที่จะมากำหนดว่าใครเป็นใครหรืออยู่ในตำแหน่งไหนในโซ่อุปทานไปเสียแล้ว หรือใครจะทำอะไรหรือวางแผนกันอย่างไรในโซ่อุปทาน แต่ถ้าเราจะคุยกันแค่นี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีคำว่าโซ่อุปทานออกมาใช้ในการสื่อสารกันก็ได้ ดังนั้นโซ่อุปทานจะต้องมีความหมายมากกว่ากิจกรรมที่ผมได้กล่าวมาอย่างแน่นอน



ความเป็นจริงของโซ่อุปทานหมายถึงสถานะภาพของความเป็นองค์กรเสมือน (Virtual Organization) ที่สามารถสร้างคุณค่า (Values) ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการออกมาตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ความเป็นองค์กรเสมือนนี้จึงประกอบไปด้วยองค์กรย่อยๆ หรือหน่วยงานย่อยๆ ที่เชื่อมต่อกันอย่างหลวมๆ เพื่อความยืดหยุ่น (Flexible) และการปรับตัว (Adapt) ด้วยเป้าหมายร่วมกันในการสร้างคุณค่าเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ผมก็เลยไปเห็นการนำเสนอความเป็นโซ่อุปทานของหลายๆ บริษัทที่นำมาเป็นคำที่ใช้นำเสนอความเป็นโซ่อุปทาน คือ Connect (เชื่อมต่อ) Communicate (การสื่อสาร) Collaborate (การทำงานร่วมกัน) นั้นหมายความว่า ความเป็นโซ่อุปทานนั้นถ้ามองเข้าไปในโครงร่างของโซ่อุปทาน (Supply Chain Configuration) ซึ่งเราเห็นและรับรู้ได้เป็นขั้นๆแบบ End to End เหมือนกับเราเห็นทีมฟุตบอลแล้ว เราก็เห็นแค่คนที่เป็นผู้เล่นและตำแหน่งต่างๆ ว่าใครเป็นผู้เล่นในตำแหน่งใดบ้างที่เป็นองค์ประกอบของทีมเท่านั้น แต่เรายังไม่เห็นความสามารถของความเป็นทีมเลย ดังนั้นความสามารถของทีมก็ คือ การส่งต่อบอลหรือการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้เล่น (Connect) และการสื่อสารกันระหว่างผู้เล่นและการวางแผนในระดับสูงระหว่างทีมโค้ชและผู้เล่น (Communicate) และการเล่นร่วมกันเป็นทีม(Collaborate)โดยมีการวางแผนและตัดสินใจที่มีเป้าหมายร่วมกันเป็นเป้าหมายของทีมซึ่งต้องไม่ใช่เป้าหมายของแต่ละบุคคล



เช่นเดียวกันในโซ่อุปทานในเชิงธุรกิจที่ประกอบไปด้วยองค์กรต่างๆ ตามตำแหน่งในโครงร่างโซ่อุปทานที่เวลาเรานึกภาพเป็นขั้นๆต่อกันออกไปจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (Upstream to Downstream) แต่ในความเป็นจริงของธุรกิจแล้วองค์กรธุรกิจต่างๆ ถูกเชื่อมต่อเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Network) มากกว่าความเป็นโซ่ (Chain) ที่ต่อกันเป็นขั้นๆเหมือนแบบจำลองในอุดมคติ ซึ่งที่จริงแล้วควรจะเรียกว่า Supply Network หรือ Supply Chain Network มากกว่า



ประเด็นของ Connect (เชื่อมต่อกัน) นั้นหมายถึงการเชื่อมต่อกิจกรรมต่างๆในเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network) ตั้งแต่ในระดับ Logistics Flow, Information Flow, Decision Flow และ Financial Flow การเชื่อมต่อกันของการไหลของทรัพยากรที่เป็นองค์ประกอบของการเชื่อมต่อกันระหว่างองค์กรเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเครือข่ายโซ่อุปทานที่จะทำให้เกิดเป็นคุณค่าที่ลูกค้าต้องการซึ่งเป็น Net Value หรือคุณค่าที่เกิดจากการดำเนินงานของเครือข่าย ถ้าการเชื่อมต่อเหล่านี้ขาดช่วงขาดตอนหรือมีการไหลขององค์ประกอบต่างๆ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้นคำว่า Connect (การเชื่อมต่อ) ถึงแม้ว่าจะสั้นๆ แต่มีความหมายและครอบคลุมไปทั้งโครงร่างของเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Configuration) เลยทีเดียว เปรียบเสมือนเส้นเลือด (Blood Lines) ของร่างกายคนเรา ถ้าขาดไปเราก็คงจะเสียเลือดจนสิ้นชีวิต นั่นหมายถึงว่า ถ้าเราจะมองโซ่อุปทาน เราต้องมองการเชื่อมต่อทั้ง 4 นี้เสมอ และต้องมองแบบ End to End หรือมองเป็น Process ที่จริงแล้วจะมองตรงไหนก็ได้อย่าง End to End หรืออย่าง Process Oriented สำหรับโซ่อุปทานย่อยในเครือข่ายโซ่อุปทาน หรือจะมองแค่ End to End ขององค์กรหรือ Core Business Process ขององค์กรต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายโซ่อุปทานก็ได้ แต่จะให้ดีแล้วจะต้องเอาคุณค่าของลูกค้าเป็นตัวตั้ง ดังนั้นจึงต้องมองกันทั้งโซ่อุปทานหรือทั้งกระบวนการที่สร้างคุณค่านั้นมา ขึ้นอยู่กับว่าเรากำหนดคุณค่านั้นเป็นอะไร หรืออยู่ตรงช่วงไหนของคุณค่าของโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ (Product Supply Chain)



ประเด็นของ Communicate(สื่อสาร) นั้นคงไม่ใช่แค่เรื่องของการสื่อสารข้อมูลหรือระบบ IT เท่านั้น แต่เครือข่ายโซ่อุปทานนั้นได้ถูกเชื่อมต่อสารสนเทศกันด้วยระบบ IT เป็นพื้นฐานอยู่ สิ่งที่ไหลไปบนระบบ IT ก็ คือ ข้อมูลต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินงาน (Execution) ของกระบวนการในโซ่อุปทานซึ่งประกอบไปด้วยกระบวนการผลิตและกระบวนการลอจิสติกส์ รวมทั้งผลการดำเนินงาน (Performance) ต่างๆ ที่อยู่ในรูปของ KPI ต่างๆ เพื่อที่จะให้แต่ผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วนของโซ่อุปทานไปคิดและวางแผนการตัดสินใจและส่งผ่านข้อมูลการตัดสินใจในการดำเนินการ (Execution)ลงมายังระบบการปฏิบัติการ(Operations)ของกระบวนการโซ่อุปทานที่มีกิจกรรมการผลิตและลอจิสติกส์ ถ้าระบบการสื่อสารนี้มีปัญหาหรือไม่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้าและการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในการสร้างคุณค่าและสิ่งแวดล้อมของโซ่อุปทานที่มีผลต่อการดำเนินงานแล้ว โซ่อุปทานจะมีปัญหาในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้และจะมีผลต่อผลกำไรที่เกิดขึ้นด้วย



ประเด็นของ Collaborate (ทำงานร่วมกัน) นี้เป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อสมรรถนะของเครือข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network Performance) เพราะว่าการทำงานร่วมกันนี้หมายถึงการวางแผนและตัดสินร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันในการสร้างคุณค่าของเครือข่ายโซ่อุปทาน ดังนั้นผลลัพธ์และอนาคตของการดำเนินงานในเครือข่ายโซ่อุปทานที่ประกอบไปด้วยกระบวนการผลิตและลอจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายส่งผ่านคุณค่าและเพิ่มคุณค่าจนได้คุณค่าที่ลูกค้าต้องการและถูกส่งผ่านจนถึงมือลูกค้า จึงขึ้นอยู่การทำงานร่วมกันของทุกคนในโซ่อุปทานซึ่งหมายถึงกระบวนการวางแผนและตัดสินใจร่วมกัน มองเครือข่ายโซ่อุปทานเดียวกัน ไม่ใช่มองกันแบบแยกส่วน และที่สำคัญจะต้องเห็นผลประโยชน์ของเครือข่ายโซ่อุปทานเป็นหลัก เพราะว่าถ้าเครือข่ายโซ่อุปทานไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้แล้ว สมาชิกทั้งเครือข่ายก็จะมีปัญหาตามมาอีก ดังนั้นทุกคนในเครือข่ายจะต้องทำงานร่วมกัน แค่ร่วมมือกันไม่เพียงพอแต่จะร่วมคิด ร่วมทำและร่วมรับผิดและรับชอบในผลงานของทั้งเครือข่าย เพราะว่าถ้าคุณค่าที่อยู่ในรูปของสินค้าและบริการสามารถขายได้ ทั้งเครือข่ายก็อยู่รอด แต่ถ้าขายไม่ได้ ทั้งเครือข่ายก็ไม่อยู่รอด



ผมจึงอยากจะนำเสนอมุมมองของความเป็นจริงของโซ่อุปทาน ไม่ใช่แค่โครงร่างของโซ่อุปทาน แต่ถ้าเรามองโซ่อุปทานแบบ Connect Communicate Collaborate แล้ว เราจะก้าวเข้าสู่การมองและการทำความเข้าใจโซ่อุปทานในเชิงองค์รวม (Holistic View) มากยิ่งขึ้นในอีกระดับหนึ่งที่จะทำให้เราจะก้าวข้ามความเข้าใจของโซ่อุปทานในระดับแค่โครงร่างของโซ่อุปทานไปได้ และโดยเฉพาะการยึดติดแค่ระดับกิจกกรรมลอจิสติกส์ ซึ่งจริงๆแล้วที่ทำๆ กันหรือเรียกๆ กันก็ไม่น่าจะใช่ลอจิสติกส์เสียเท่าไหร่นัก เพราะกิจกรรมเหล่านั้นจะเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ได้ก็จะต้องมีกิจกรรมการจัดการโซ่อุปทานมาก่อน ดังนั้นถ้าเรายังไม่เข้าใจการจัดการโซ่อุปทานกันเลย แล้วเราจะมาเข้าใจลอจิสติกส์ได้อย่างไร น่าแปลกมาก แต่เราก็ยังมีแค่ลอจิสติกส์กันอยู่ และถ้าเรายังพูดกันถึงว่าลอจิสติกส์เป็นหนทางรอดของการแข่งขัน และยังไม่ยอมที่จะพัฒนาความคิดตัวเองให้ไปสู่โซ่อุปทานและเครือข่ายโซ่อุปทานแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดกันอย่างไรแล้ว เพราะว่าถ้ายังดันทุรังผลักดันลอจิสติกส์กันผิดๆ อย่างนี้ ผมก็ว่าเราไม่ได้เข้าใจลอจิสติกส์เอาเสียเลย ไม่ได้ใช้ปัญญาในการพัฒนาประเทศกันเลย ทั้งที่องค์ความรู้เหล่านี้มีอยู่แหล่งข้อมูลสาธารณะแบบเปิดเผยที่ทุกคนเข้าถึงได้แบบทั้งมีค่าใช้จ่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ดูเหมือนว่าเราไม่สามารถใช้องค์ความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาความคิดของตัวเองได้ เพราะใช้แต่เครื่องมือที่มีอยู่หรือใช้เครื่องมือที่คนอื่นเข้าใช้กัน แต่ไม่ได้มีความเข้าใจในเครื่องมือและปัญหาที่ตัวเองมี ผลก็ คือ มีแต่เครื่องมือที่ล้าสมัยเสียแล้ว และปัญหาก็ไม่ได้ถูกแก้ไข แถมยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเสียอีก ผมว่าที่จริงมันเลยเวลาที่เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องโซ่อุปทานกันเสียใหม่ไปแล้ว แต่เราก็ต้องทำ ถึงแม้ว่าเราจะล้าหลังในเชิงความคิด แต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นและมองไปข้างหน้า และตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาความคิดตัวเองแล้ว เราก็คงจะล้าหลังมากกว่านี้ครับ