วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

AEC-1 : ใครว่า AECเป็นอุปสรรค แท้จริง คือ โอกาสและโอกาส

ผมได้ยินคนพูดถึง AEC กันมากขึ้น แล้วเราก็เห็นผู้เชี่ยวชาญ AEC กันมากขึ้น ก็ขุดข้อมูลกันมาป่าวประกาศกัน ก็ดีครับจะได้ตื่นตัวกันมากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อปี่ที่แล้วที่ผมเห็นสังคมไทยตื่นตัวกันน้อยมากๆ ที่จริงแล้วผมก็เคยเขียนเรื่องราวของ AEC มาบ้างนับว่าน้อยมาก แต่ก็เป็นบทความในมุมมองของ โซ่อุปทาน หรือ Supply Chain เป็นส่วนใหญ่ เมื่อปีที่แล้วก็บรรยายและพูดถึง AEC ก็เยอะเหมือนกัน พูดกันในต่างพื้นที่กันด้วยทั่วทุกภาค ก็ได้ประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง แล้วผมก็หยุดไปพักหนึ่ง พอดีมาเห็นงานโครงการการศึกษาของ สนข (สำนักงานนโยบายการขนส่งและจราจร) ที่นำเอาประเด็นเรื่อง AEC เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบลอจิสติกส์การขนส่งของไทยเพื่อรองรับการเปิดเป็น AEC ผมก็เลยจำเป็นที่จะต้องสนใจขึ้นมาอีก ก็ไม่รู้ว่าจะมีแนวคิดกันแบบไหนมานำเสนอกันอีกบ้าง


เรื่องของ AEC เป็นเรื่องใหญ่ครับ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่เราได้ยินกัน โดยส่วนตัวผมแล้ว คิดว่าการรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเซียนครั้งนี้ มันไม่ใช่แค่ AEC แต่เพียงอย่างเดียว มันไม่ใช่แค่เป้าหมายทางเศรษฐกิจเท่านั้น ผมชักสงสัยว่าเราชักนำความเข้าใจใน AEC ไปในแนวทางที่ไม่ค่อยตรงเป้าหมายเท่าไรนัก การรวมตัวกันครั้งนี้มันเป็นการรวมตัวกันในระดับภูมิภาค (Regional Integration) ไม่ใช่เป็นสมาคมหรือกลุ่มประเทศแบบเดิมๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับที่เราเห็นๆ และได้รับรู้กัน


การจะทำอะไรก็ตามของมนุษย์เราในสังคมต้องมีความหมายหรือมีคุณค่า ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ ถ้าไม่ได้ประโยชน์แล้ว เราจะทำไปทำไมกัน ใช่ไหมครับ! ถ้าจะถามกันว่าแล้วอะไรเป็นสุดยอดปรารถนาของมนุษย์ในสังคม เงินหรือ? ความสุขหรือ? ความมั่นคงในชีวิตหรือ นิพพานหรือ ความว่างหรือ? ในมุมมองของการจัดการสาธารณะนั้น ซึ่งผมก็ไม่ได้มีความรู้อะไรมากเท่าไรเลย แต่ก็เห็นทุกๆ รัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐไหนๆก็ตามก็พยายามทำกันมาโดยตลอด ผมก็เป็นลูกค้าหรือประชาชนของรัฐบาลไทย ผมเสียภาษีให้รัฐบาลไทย ผมก็ต้องการความมั่นคงในชีวิตของความเป็นมนุษย์ของผม ซึ่งก็ดูๆ แล้วไม่ว่ารัฐไหนก็ต้องการความมั่นคงของรัฐเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองประชาชนของตนเองเพื่อให้ดำรงความเป็นรัฐหรือประเทศอยู่ได้อย่างยั่งยืน และในความเป็นรัฐก็จะต้องมีสังคมที่แข็งแรงซึ่งจะรวมไปถึงความมั่นคงของมนุษย์ในสังคมในประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นกัน


ถ้าสิ่งที่ผมมองจากความเป็นลูกค้าหรือประชาชนของรัฐแล้ว AEC ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการรวมตัวในภูมิภาค แต่ AEC จะเป็นจุดขายของการรวมตัว เพราะว่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด มีผลกระทบต่อความสุขภายนอกของประชาชนในภูมิภาคมากที่สุด แต่เราทุกคนก็ทราบดีว่ากว่าจะมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ดีได้และอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้นมีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย เหมือนกับว่ากว่าจะได้เงินมาแต่ละบาทและทำอย่างไรให้มีเงินได้อยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการใช้เงินนั้นให้มีประสิทธิภาพให้มีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงได้นั้น ทั้งหมดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีองค์ประกอบกันทั้งภายในและภายนอกอย่างเชื่อมโยงและซับซ้อน


ถ้าผมจะให้ข้อมูลกันจริงๆ แล้ว การที่เรามารวมตัวกันในของแต่ละประเทศนี้ เราไม่ได้มีแค่ AEC เท่านั้น แต่เป้าหมายสูงสุดที่สูงกว่า AEC คือ AC (Asian Community) ซึ่งภายใต้ AC นี้ ไม่ได้มีแต่ AEC (Asian Economic Community) เท่านั้น แต่ยังมี ASCC (Asian Socio-Culture Community) และ APSC (Asian Political Security Community) รวมเป็น 3 เสาหลักที่ค้ำยันให้เกิดเป็น AC ที่เข้มแข็งและยั่งยืน จะเห็นได้ว่าความเป็น AEC ที่เข้มแข็งโดยมีเป้าหมายที่จะเป็น AC นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสาใดเสาหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับบทบาทที่พึ่งพากันและกันของแต่ละเสาที่มีเป้าหมายที่จะเป็น AC ให้เราลองนึกดูว่า ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจสังคมวัฒนธรรมของคู่ค้าของเราได้แล้ว โอกาสของธุรกิจก็เกิดขึ้นได้ยาก เช่นเดียวกันกับถ้าเรามีปัญหาเรื่องความมั่นคงหรือการเมืองกับคู่ค้าของเราแล้ว การค้าระหว่างกันก็คงไม่ราบรื่น เมื่อการค้าไม่เกิด เศรษฐกิจก็ไม่ดี ย่อมมีผลต่อความมั่นคงและการเมือง แต่อาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศด้วย

การรวมตัวเป็น AEC นี้คงจะไม่ใช่การรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนเหมือนที่ผ่านมา ไม่ใช่การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์อย่างที่เราเฝ้าดูกัน แต่เป็นการหลอมรวมชีวิตของเราทุกคนในภูมิภาคนี้ไปสู่สถานะใหม่ร่วมกันอย่างที่คาดหวังกันว่า AEC น่าจะเป็นพลังใหม่ในการขับเคลื่อนความเจริญและเป็นปราการในการรับมือกระแสเศรษฐกิจโลกที่เหมือนพายุโหมถล่มทุกภูมิภาคในโลกนี้ ถ้าไม่รวมตัวกัน ก็มีแต่จะล่มสลายกันไป ถ้ารวมตัวกันแล้วน่าจะมีโอกาสมากกว่าการไม่ทำอะไรเลย แต่เราก็เห็นว่ามีคำถามตามสื่อและงานเสวนาอยู่เสมอว่า AEC นั้นเป็น โอกาสหรืออุปสรรคกันแน่? ผมว่าคนที่ตั้งคำถามอย่างนี้ เป็นคนที่ไม่ได้มีความเข้าใจพื้นฐานของ AC และ AEC เลย เพราะว่าแทนที่จะทำให้คนเข้าใจมากยิ่งขึ้น กลับทำให้คนทั่วไปนั้นมีความกลัวเกิดขึ้น เมื่อเริ่มจากความกลัวแล้ว ความคิดสร้างสรรค์นั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วในช่วงตอนต้นว่า ถ้าเราจะทำอะไรกันแล้ว มันจะต้องมีประโยชน์อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าประโยชน์เหล่านั้นจะเป็นของส่วนรวมหรือส่วนตน ใครจะได้มากน้อยหรือตามสัดส่วนอย่างไรกันบ้าง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนและความร่วมมือกระบวนการในการดำเนินงานและความสามารถของแต่ละประเทศด้วย

ถ้าจะตั้งคำถามกันแล้ว ผมว่าเราน่าจะตั้งคำถามว่า เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจาก AEC (โอกาส) และเราพร้อมที่จะสร้างโอกาสให้กับตัวเราเองหรือยัง เราจะต้องลงทุนกับตัวเองเพื่อสร้างความพร้อมและเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะการเปลี่ยนแปลงรอบๆ ตัวเองนั้นไม่ว่าจะให้ประโยชน์กับเราหรือไม่ ก็จะเป็นโอกาสของเราเสมอถ้าเราพร้อม ถึงแม้โอกาสจะมาจากภายนอก แต่ถ้าเราเองไม่พร้อมจากโอกาสนั้นก็กลายเป็นอุปสรรคได้เสมอ ทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบฟรีๆ มันต้องแลกมาด้วยการออกแรงทั้งแรงความคิดและแรงกาย รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจกันด้วย ผมอยากให้มองเป็นโอกาสมากกว่า ผมอยากให้มองกว่าอุปสรรคนั้นมาจากความไม่พร้อมของตัวเราเองในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สถานภาพใหม่หรืออนาคตใหม่ซึ่งไม่มีของฟรีในโลกนี้แน่ๆ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องเริ่มมาจากข้างในตัวเราเองเสมอ เมื่อภายในพร้อม เราก็จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่นำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีๆที่อยู่ข้างในอนาคตของเรา แต่ว่าเราต้องถามตัวเองว่า ทัศนคติพร้อมหรือไม่ ตัวเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างหน้าหรือไม่ เราพร้อมจะรับมือมันหรือไม่ เราเห็นถึงประโยชน์ของมันหรือไม่ แล้วเราเข้าใจอนาคตของเราหรือไม่ นั่นเป็นประเด็นที่ผมเป็นห่วงอยู่มาก