วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

Education - เราจะรู้ทฤษฎีกันไปทำไม ?

ผมได้ไปอ่านบทบรรณาธิการของวารสารวิจัย Journal of Business Logistics (JBL) March 2011, 32(1) : 1-5 ซึ่งเป็นวารสารวิจัยของ CSCMP (Council of Supply Chain Management Professional) เรื่อง Making Sense Out of Chaos : Why Theory is Relevant to Supply Chain Research. CSCMP นี้เป็นองค์กรวิชาชีพด้านนักปฏิบัติ การจัดการโซ่อุปทานที่มีนักวิชาการเข้ามาร่วมด้วยอย่างแข็งขัน ซึ่งองค์กรอย่างนี้ก็ไม่ได้มีแค่ CSCMP เท่านั้น แต่ก็ยังมีองค์กรอื่นๆอีกหลายองค์กรและหลายสาขาวิชาชีพที่ทำงานประสานงานกัน ระหว่างนักปฏิบัติและนักวิชาการ

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ถูกตราหน้าว่า เป็นนักวิชาการทั้งๆที่ผมเองก็ไม่รู้แน่ว่า นักวิชาการนั้น จะต้องเป็นอย่างไรหรือปฏิบัติกันอย่างไร แต่ผมนั้นหากินกับการพูดการสอนและเขียน และแปลหนังสือและตำรา ที่มีเนื้อวิชาการ จนบ่อยครั้งนั้นผมโดนตำหนิว่า ผมพูดอะไรเป็นวิชาการเกินไป ดูมันจับต้องไม่ได้ แต่ในความรู้สึกลึกๆแล้ว ผมมีความคิดว่า การที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาทางวิชาการและทฤษฎีเลยนั้น มัวแต่จะเอาแต่สิ่งที่จับต้องได้ แต่ว่าไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งจับต้องนั้นเลย ก็เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง ยิ่งผมสอนหนังสือ มากเท่าไร ผมกลับคิดว่า ถ้าจะให้เราปฏิบัติงานให้ได้ดีนั้น เราต้องยึดถือทฤษฎีเป็นหลักในการคิดและการนำไปปฏิบัติเสมอ

แต่ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมคนเราถึงไม่ได้คิดเหมือนผม หรือผมบ้าอยู่คนเดียว พอไปอ่านเรื่องราวใน บทบรรณาธิการของวารสาร JBL เล่มนี้แล้ว ผมพบว่าพวกฝรั่งเขาก็เป็นเหมือนกันกับเราๆ เหมือนกับคนไทยเราเลยเนี่ย เขาเขียนถึงความรับรู้ หรือความเข้าใจ ที่เกี่ยวข้องกับ “ทฤษฎี” ว่าคนส่วนใหญ่นั้นเห็นทฤษฎีเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เป็นเหมือนระหัสลับที่ยากจะแปลความหมาย จึงทำให้กลายเป็นสิ่งที่เกินหรืออยู่นอกเหนือจากความสนใจและ ความเข้าใจของผู้ที่จะตัดสินใจธรรมดาๆ คนหนึ่ง เราอาจจะเคยได้ยินคนในวงการผู้ปฏิบัติมักจะบ่นถึง ผลงานวิชาการที่ไม่ติดดิน เสนอกันเอง วิจัยกันเอง แถมยังไปตีพิมพ์ในหนังสือที่ไม่ใครที่เป็นนักปฏิบัติมาอ่านกัน จนเราเรียกกันติดปากว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” เราคงจะได้ยินคำบ่นเหล่านี้ มาอยู่เสมอ จนถึงปัจจุบัน เป็นคำโต้แย้งกันไปมาระหว่างนักปฏิบัติกับกลุ่มนักวิจัยเชิงวิชาการ แม้กระทั่งคำกล่าวดังเช่น “มันก็เป็นแค่ทฤษฎี ผมไม่มีเวลากับเรื่องราวไร้สาระเช่นนี้” คำกล่าวนี้เป็นสากลนะครับ ได้ยินบ่อยนักในเมืองไทยด้วย ผมเองก็โดนสบประมาทมาด้วยตัวเองแล้ว เอกสารคำบอกเล่าในต่างประเทศ ก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน แตถ้าจะดูกันไปแล้วนี่ก็เป็นความล้มเหลวของการศึกษาด้วย ที่เราไม่สามารถทำให้คนสองแนวทางหรือสองหน้าที่ในโลกแห่ง ความเป็นจริงเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกันสามารถไว้ใจกันได้ ในการค้นหาและค้นพบความรู้ใหม่ที่สามารถสร้างประโยชน์ ให้กับส่วนตัว ธุรกิจและสังคมได้

คณะบรรณาธิการนี้จึงได้เขียนบทบรรณาธิการนี้ไว้ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบายถึงว่า “อะไรคือ ทฤษฎี” โดยแบ่งออกเป็น 3 มุมมอง คือ 1) ทฤษฎีจะหมายถึง รายละเอียดที่มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เราสังเกตุอยู่หรือสิ่งต่างๆ ถูกทำขึ้นมา ได้อย่างไร แม้ว่ารายละเอียดที่ดูมีสาระในตัวเองบ่อยครั้งจะดูด้อยกว่าการทำให้เกิดความพึงพอใจทั้งหมดและนานๆ ครั้งกว่าจะทำให้พอใจอยู่ได้ สิ่งนี่แหละครับที่ทำให้เราจำเป็นที่จะต้องรู้ให้มากขึ้น 2) การอธิบายด้วยความละเอียดในคำว่า “ทำไม” ซึ่งอยู่ภายใต้คำว่า “อะไร”และ ”อย่างไร” ที่เราเผชิญหน้าอยู่ในโลกที่อยู่รอบๆ ตัวเรา การอธิบายจะจับคู่ความสัมพันธ์ของปรากฎการณ์ของสิ่งที่เราสนใจเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจที่ดีกว่า การอธิบายจะช่วยผู้จัดการให้เข้าใจความสัมพันธ์หลักแบบเหตุและผล ซึ่งจะช่วยเขาให้เข้าใจได้ดีว่าว ถ้าเขาดึงคาน A แล้ว ผลลัพธ์ B จะออกมาหรือไม่ การอธิบายจะทำให้ผู้จัดการทั้งหลาย ได้เห็นลึกเข้าไปข้างในว่าทำไมโลกเราถึงเป็นไปอย่างที่มัน เป็นว่าจะมีศักยภาพในการที่จะคงอยู่ได้พอๆ กับในการที่จะมีอิทธิพล 3) ข้อกำหนดจะเป็นตัวบอกว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างเมื่อเราเผชิญหน้ากับสิ่งที่ท้าทายที่มีอยู่หรือกับกลุ่มของสถานการณ์รอบๆเรา และที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ข้อกำหนดที่แน่นอนนั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่เด่นชัด ซึ่งก็ คือ ทฤษฎีที่ดี (Good Theory) ถึงแม้ว่าจะมีทฤษฎีที่ดีแล้วแต่ว่าขาดความเข้าใจที่ดี ข้อกำหนดของเราก็จะมีจุดบกพร่องเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ การแก้ปัญหาอย่างไม่สมบูรณ์แบบในสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น หรือผลลัพธ์ที่ไม่ได้คาดหวังไว้ หรือ ที่มีโอกาสจะไม่เป็นผลที่ต้องการ ความเข้าใจตรงนี้ยังสามารถที่จะหมายถึงความเข้าใจในบริบทของทฤษฎีที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้
ทีมบรรณาธิการนี้พยายามที่จะอธิบายเรื่องราวและความหมายของทฤษฎีในแบบติดดินเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะชักชวนให้ทั้งนักวิจัยที่เป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและนักปฏิบัติผู้ที่ทำงานในธุรกิจและอุตสาหกรรมได้หันมาร่วม มือกันในการสร้างทฤษฎีใหม่ๆ ร่วมกันทำวิจัยที่มีผลต่อการพัฒนาทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป เขาเหล่านั้นพยายามที่จะบอกว่าพลังของการอธิบายของทฤษฎีที่ดีนั้นจะเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจที่ดี ในขณะผู้ปฏิบัติในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆก็ต้องตัดสินใจอยู่ทุกวันอยู่แล้ว เขาเหล่านั้นได้ทำการตัดสินใจในเรื่องราวต่างๆ บนพื้นฐานของทฤษฎีอะไรบ้างหรือไม่ พวกเขาเคยใช้ทฤษฎีมาช่วยทำให้เขาได้เข้าใจปรากฎการณ์หรือ ปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้นหรือไม่ วันนี้ผมมีความมั่นใจว่าถ้าเรากลับมาทำความเข้าใจในความหมายและจุดมุ่งหมายของความเป็นทฤษฎีแล้ว โลกเราและชีวิตเราจะดีขึ้น จริงหรือไม่? การแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะเป็นระบบมากขึ้น แน่ใจหรือ? ทฤษฎีไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ยากที่ มั่นใจแน่นะ? เราจะทำความเข้าใจเพื่อที่เราจะเอาทฤษฎีต่างๆ นั้นไปทำความเข้าใจกับธรรมชาติ ทำความเข้าใจกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อเราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและปํญหาที่เกิดขึ้น แนวทางปฏิบัติที่เกิดจากทฤษฎีก็จะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิผลมากขึ้น เราก็จะรู้จักและเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากน้ำมือเราเอง ซึ่งจะต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาเป็นทฤษฎีใหม่ๆ ที่สามารถเข้าใจปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า