วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

Education-5 : Learning Model ประสานการ ”เรียน” เพื่อที่จะ ”รู้”

ผมหายหน้าไปจาก วงการ Social Media เสียนานครับ ประมาณ 2 อาทิตย์ ไม่ได้ไปไหนหรอกครับ ไปหลบอ่านหนังสืออยู่ เพราะว่าพอดีไปเจอเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจกับตัวเองและวงการการจัดการ แล้วก็ไม่อยากจะหลุด เลยต้องลุยให้จบ อ่านให้ขาดและทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งหน่อย คือจะต้องรู้ให้ได้ ถ้าทิ้งไว้แล้วก็ไม่ได้รู้สักที แล้วก็ต้องมาเริ่มอ่านและทำความเข้าใจกันใหม่อีกที ก็สนุกดีครับสำหรับอาชีพอย่างผม ที่หลายๆ คนตีความให้ผมเป็นนักวิชาการ ด้วยน้ำเสียงที่ผมฟังแล้ว ไม่ค่อยสบายหูเท่าไหร่นัก ฟังดูแล้วว่านักวิชาการอย่างผมจะไปทำอะไรกิน หรือไม่ก็เอาแต่วิชาการ แต่ไม่ได้จัดการหรือไม่ได้เชิงธุรกิจ จะทำอะไรได้ จะทำอะไรเป็น วิชาการมันจับต้องไม่ได้


แต่คุณเองรู้ไหมว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น ธุรกิจที่เจริญเติบโตได้ทุกวันนี้ก็เพราะวิชาการและนักวิชาการ นักธุรกิจต่างๆ ที่ประสบควาสำเร็จได้ก็ต้องใช้วิชาการ ที่จริงแล้วผมพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ทนไม่ได้อีก โดนชม (ด่า)ว่าเป็นนักวิชาการ แต่เราก็ไม่ได้ว่ากัน ผมก็มีความสุขกับการทำมาหากินแบบของผม ที่หลายคนและหลายบริษัทจะต้องใช้งานและเอาวิชาการที่ผมเขียนหรือแปลเป็นหนังสือไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของพวกเขา สุดท้ายไม่ว่าพวกเขาจะเก่งเรื่องการเงิน การตลาด ไอที ไอ้พวกที่ว่ามาทั้งหมดนั้นก็มีวิชาการอยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น เพราะจะปฏิบัติให้ได้ผลนั้นจะต้องใช้วิชาการทั้งนั้น แล้วจะมาแบ่งแยกกันทำไม ทำไมถึงไม่ใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ผมอยากจะนำเสนอการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันที่จะต้องเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง คือ จะต้องเรียนคู่ไปกับการรู้ เมื่อการเรียนคือ การค้นคว้าการเก็บข้อมูลการเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วที่เป็นผลดีหรือเสียออกมาแล้ว เป็นประวัติศาสตร์ เรื่องประเภทนี้ นักวิชาการรู้ดีและทำได้ดี แต่อาจจะไม่รู้เมื่อถึงคราวจะปฏิบัติเพราะไม่ได้มีโอกาสในการปฏิบัติมากนัก ส่วนเรื่องของการรู้นั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติการการทดลองการทำจริง ทำตามที่ได้เรียนมา ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เรา “รู้”เรื่องประเภทนี้นักปฏิบัติทำได้ดี แต่อาจจะเรียนไม่เก่งหรือไม่ได้มีเวลาหรือโอกาสมากนัก ดังนั้นทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติก็จะมีดีและเสียกันคนละอย่าง ทำอย่างไรที่จะให้สองคนนี้ทำงานกันเป็นทีม หรือมีข้อดีทั้งสองอย่างในตัวคนเดียวกัน


ดังนั้น Learning Model จะต้องมีคุณสมบัติของทั้งการเรียนและการรู้อยู่ใน Model เดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยและธุรกิจอุตสาหกรรมจะต้องไม่แยกจากกันหรือต่างคนต่างอยู่กันคนละโลก จะต้องมีส่วนเชื่อมโยงหรือจะต้องทำงานร่วมกันให้ได้ เราจะต้องสร้างกระบวนการ "รู้" ให้มากขึ้นในมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันเราจะต้องสร้างกระบวนการ "เรียน" ให้มากขึ้นในธุรกิจอุตสาหกรรม หรือว่าจะทำอย่างไรให้เกิดเป็นโซ่อุปทานซึ่งกันและกันระหว่างมหาวิทยาลัยและธุรกิจอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้มีลูกค้าร่วมกัน ผมว่า Model นี้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะเห็นว่ามีการนำมาใช้อยู่แล้ว ซึ่งในมหาวิทยาลัยก็พยายามที่จะรู้ให้มากขึ้น ธุรกิจอุตสาหกรรมก็พยายามที่จะเรียนให้มากขึ้นตามองค์ความรู้ใหม่ๆ


จากข้อความที่ผมได้ประกาศผ่านทางบทความใน Facebook นี้ ก็มีคนสอบถามเข้ามาพอสมควรว่า อาจารย์กำลังคิดอะไรหรือทำอะไรอยู่ แน่นอนครับผมกำลังคิดอยู่ แต่ว่าจะทำอะไรนั้น ก็มีที่กำลังทำส่วนหนึ่งและกำลังคิดหาทางอยู่อีกส่วนหนึ่ง แน่นอนว่าแนวทางของความรู้จะต้องเป็นองค์รวมมากขึ้น อย่างน้อยมุมมองของความเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานก็ต้องเลื่อนขั้นมามองในระดับองค์กรและเป็นในระดับวิสาหกิจ (Enterprise) มากขึ้นซึ่งจะมีความเป็นองค์รวมมากขึ้นและความซับซ้อนก็จะมากขึ้นตามลำดับ การดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการเรียน และการรู้ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ทีมงานมากขึ้น ใช้คนมากขึ้น จะต้องทำงานร่วมกันไปอย่างสอดคล้องกันมากขึ้น แน่นอนว่าจะต้องเริ่มที่กลุ่มนักวิชาการ (และนักศึกษาปริญญาเอกและโท) กลุ่มที่ปรึกษา และกลุ่มผู้ฏิบัติงาน เราจะต้องมองอย่างนี้ถึงจะเป็นองค์รวมของการเรียนรู้ เพราะว่าเราจะรู้อะไรก็ตาม มันต้องเกิดจาการปฏิบัติ เกิดจากการทดลองทำ เป็นการลองผิดลองถูก แต่ก่อนจะลองผิดลองถูก ผู้ปฏิบัติก็จต้องรู้หรือมีวิชาการเบื้องต้นรองรับการปฏิบัติหรือการทดลองในเรื่องนั้นมาก่อน การลองผิดก็จะน้อยลง จะเหลือแต่ถูกมากหรือถูกน้อยเท่านั้น


ผมตั้งใจจะรวบรวมกลุ่มคนทั้งสามประเภท กลุ่มนักวิชาการ (และนักศึกษาปริญญาเอกและโท)กลุ่มที่ปรึกษา กลุ่มนักปฏิบัติให้มาอยู่ในโลกเดียวกัน ในโลกแห่งความเป็นจริง ให้มาเป็นทีมเดียวกัน ต่างคน ต่างทำงาน แต่ภายใต้เป้าหมายและทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน บนผลประโยชน์เดียวกัน ทุกคนก็จะเป็นนักวิชาการได้อย่างเต็มที่ เป็นที่ปรึกษาได้อย่างใจหวังและเป็นนักปฏิบัติที่หวังผลได้ ต่างคนต่างก็เต็มที่กับสิ่งที่ตนเองถนัด ไม่มีการมาโต้เถียงกันว่าใครจะเก่งกว่ากัน ใครจะถูกกว่ากัน ไม่มีการท้าทายกัน “ไม่อย่างนั้นก็ลองมาทำดูสิ” เราอาจจะมีคนๆหนึ่งที่มีลักษณะทั้ง 3 ประเภท แต่ไม่โดดเด่นอะไรสักอย่างเลย แต่ถ้ามีคน 3 คน เป็นคนละประเภทที่ต้องการ แต่ถ้าทั้งสามคนไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการแล้วก็คงไม่มีประโยชน์ เช่นกัน นี่คือ โซ่อุปทานของการจัดการความรู้สู่การปฏิบัติสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบัน เราจะยกมหาวิทยาลัยไปไว้ในธุรกิจอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันเราก็ยกธุรกิจอุตสาหกรรมมาไว้ในมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายเราก็จะเข้าใจบทบาทของธุรกิจอุตสาหกรรมที่จะต้องสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าด้วย


ผมคงจะต้องสร้างองค์กรอะไรสักอย่างที่จะมาทำหน้าที่เป็นสะพานหรือสื่อกลางในการบูรณาการคนเหล่านี้ให้รวมเป็นเนื้อเดียวกันบนพื้นฐานที่เป็นผลประโยชน์เดียวกัน ผมไม่ได้ทำเพื่อการกุศล นี่เป็นธุรกิจล้วนๆ ผมไม่ได้ทำด้วยใจรัก หรืออยากจะทำเพื่อส่วนรวมมากนักหรอกครับ เพราะถ้าคิดอย่างนั้นแล้ว มักจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ มันเป็นความจริงที่ว่าทุกคนต้องกินต้องใช้ ต้องอยู่ดี ดังนั้นธุรกิจจะต้องมาก่อน แต่ธุรกิจและสังคมส่วนรวมจะต้องอยู่อย่างสมดุลและอยู่อย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าผมจะใช้ธุรกิจเป็นตัวนำหรือเป็นแนวคิด แต่ธุรกิจที่ผมว่าไปนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำกำไรสูงสุดมาก่อน หรือผลตอบแทนต่างๆ นั้นจะต้องออกมาเป็นเงินทั้งหมด ผมคงจะไม่ได้คิดเช่นนั้น ผมจะมองทุกคนและทุกส่วนเป็น Stakeholders ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ละคนก็มีคุณค่าและเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป ตรงนี้แหละครับที่เราจะต้องมาวางวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Shared Vision) มาเข้าใจกันเสียก่อน ไม่อย่างนั้นความเข้าใจร่วมกันคงจะไม่เกิดขึ้น พลังแห่งการรวมตัวกันก็จะอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตนที่แต่ละคนคาดหวังโดยไม่ได้ดูที่เป้าหมายร่วมกัน


ฟังดูไปแล้ว มันเป็นเหมือนฝัน แต่ฝันหลายฝันก็เป็นจริงมาได้ ถ้าเราเข้าใจเป้าหมายและร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้น มันจะเป็นเหมือนสังคมเล็กๆที่ถูกผลักดันด้วยพลังความคิดที่พยายามจะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคมหรือโลกที่เราอยู่ การคิดและการเรียนรู้ก็จะเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองดูนะครับ ถ้าสนใจก็แวะมาคุยกับผมได้นะครับ เผื่อว่าเราจะได้ร่วมงานกัน ทั้งกลุ่มนักวิชาการ (และนักศึกษาปริญญาเอกและโท) กลุ่มที่ปรึกษา กลุ่มนักปฏิบัติ ยินดีต้อนรับนะครับ