วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

Education-4 Learning Model สำหรับการ Synergy ระหว่างวิชาการและการปฏิบัติ

หลายๆ คน เมื่อได้มีโอกาสอ่าน Facebook จากบันทึกของผมเมื่อวานนี้แล้ว อาจจะสงสัยว่า ผมกำลังจะทำอะไร? แน่นอนอยู่แล้วครับ ผมมีอะไรอยากจะทำอยู่มากพอสมควร พอมายืนอยู่ตรงนี้คนเดียวจริงๆ ไม่มีภาระผูกพันใดๆ ผมก็น่าจะมีความกล้าหาญที่จะคิดอะไรๆ ออกมาดูบ้าง ผมได้เคยเขียนบทความ Education บทแรกๆ เลยที่มีชื่อว่า “เราเรียนหนังสือไปกันทำไม” จนมาถึงวันนี้ผมก็ยังยืนยันว่า ถ้าเราเรียนกันไปแบบนี้ก็เปล่าประโยชน์ทางการศึกษาจริงๆ แต่ได้ประโยชน์กันเรื่องทางสังคมอื่นๆ การศึกษากลายเป็นธุรกิจให้คนอื่นๆมีงานทำและมีเงินใช้ มีอาชีพ มีสังคมและคนนับน่าถือตา อาจารย์ทั้งหลายมีงานสอน แต่ผมก็ไม่ได้มีความมั่นใจเลยว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนเรามีความรู้มากขึ้นเลย หรือผมอาจจะมองว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเนี่ยนะ ไม้ได้สร้างคนให้มีความรู้เลย แถมยังสร้างให้คนเรียนรู้ไม่เป็นอีกด้วย เห็นแล้วน่าปวดใจเป็นอย่างยิ่ง


ยิ่งอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องการเรียน เรามักจะนึกถึงโรงเรียน เราจะนึกถึงการศึกษา และคิดว่านั่นไม่ใช่วิชาชีพ เออ! ทำไมถึงคิดกันอย่างนั้นล่ะครับ หรือคนในวงการศึกษาไม่ได้ทำตัวให้เหมือนคนในชีวิตจริง และชีวิตคนในการศึกษาไม่ใช่ชีวิตหรือครับ แต่เรื่องนี้เราโทษคนในชีวิตจริงไม่ได้หรอกครับ อาจจะเป็นเพราะว่าคนในวงการศึกษานั้นได้ทำตัวของเขาเองให้เป็นอย่างนั้น หมายความว่า อยู่กันคนละโลกกัน การศึกษามีไว้เพื่อเอาปริญญาเท่านั้น เป็นเกียรติยศและใบผ่านงานเท่านั้น เราคิดกันอย่างนั้นหรือเปล่า หรือมหาวิทยาลัยทั้งหลายก็คิดอย่างนี้เหมือนกับนักศึกษาทั่วไป เพราะว่าคนเราทั่วไปแยกการศึกษากับชีวิตจริงหรือวิชาชีพออกจากกัน จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากการศึกษาในชีวิตจริงนั้นไม่ได้เต็มที่ ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแค่สถานที่ผลิตบัณฑิตที่มีแต่ใบปริญญา แต่ไม่ได้เป็นมืออาชีพ มีหลายมหาวิทยาลัยพยายามจะอ้างว่าเป็นแหล่งผลิตมืออาชีพ แต่ผมก็ไม่ได้เห็นกระบวนการที่เป็นมืออาชีพในกระบวนการเรียนและการสอน ผมก็เลยสงสัยว่าผู้บริหารการศึกษาเหล่านั้นเข้าใจคำว่ามืออาชีพหรือไม่ ดูเหมือนว่าท่านเหล่านั้นจะพยายามจะเอาคนที่ทำงานอยู่เป็นมืออาชีพมาสอนร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แล้วก็อ้างว่า นี่เป็นหลักสูตรมืออาชีพ มหาวิทยาลัยของเราหรือโรงเรียนของเราสร้างมืออาชีพ


ผมว่าไม่มีมหาวิทยาลัยไหนหรือโรงเรียนไหนสร้างมืออาชีพออกมาได้หรอกครับ อ้าวคนที่เพิ่งจะเรียนจบยังทำงานไม่ได้นานจะเป็นมืออาชีพในวงการได้อย่างไร แต่มหาวิทยาลัยจะต้องปลูกฝังความเป็นมืออาชีพให้กับนักศึกษาของตนเอง ผมคิดว่าหนึ่งในคุณลักษณะของความเป็นมืออาชีพก็ คือ รู้จักกระบวนการเรียนรู้ และเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คุณลักษณะนี้สำคัญที่สุดในความเป็นมืออาชีพ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาของตนเองแล้ว เมื่อจบออกไป ถึงแม้ว่าจะไปอยู่ในวงการต่างๆ และมีคนเรียกว่ามืออาชีพก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้จักที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว ความเป็นมืออาชีพก็ลดน้อยถอยลงไป เพราะว่าสังคมในยุคนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้ ถ้าใครอยากจะรู้อะไร แล้วถ้าเรียนรู้ไม่ทัน เรียนรู้เองไม่ได้ ยังต้องมีคนคอยรู้คอยบอกกล่าวอยู่ตลอดเวลา คนเหล่านั้นก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป เพราะว่าเอาตัวรอดไม่ได้

Learning Model ที่ผมพูดถึงนี้ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย ผมมองนอกกรอบออกมาถึงในสถานที่ประกอบการธุรกิจ โรงงานต่างๆ บริษัทหรือองค์กร ที่ต้องการกระบวนการเรียนรู้อย่างเข้มข้น มีอะไรหลายอย่างให้เรียนรู้ มีปัญหามากมายให้แก้ไข แต่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือโรงเรียนต่างๆ ไม่สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ตรงกับความต้องการ หันหน้ากลับไปที่มหาวิทยาลัย ก็มัวแต่สอนตามหนังสือไปวันๆ อาจารย์เองก็ไม่กล้าที่จะลงมาคลุกคลีกับปัญหาจริงๆ เผื่อว่าจะได้เอาไปสอนเด็กๆ ให้เป็นมืออาชีพบ้าง สรุปแล้วตัวอาจารย์เองนั่นแหละครับไม่ได้เป็นมืออาชีพในวิชาชีพอาจารย์เลย อาจารย์เองก็ยังเรียนรู้ไม่เป็นเลย เนื้อหาวิชาการที่สอนๆ กันอยู่ก็ไม่สามารถนำไปใช้ไปปัญหาในทางธุรกิจที่เกิดขึ้นได้ เพราะเนื้อหาที่สอนอยู่ก็เป็นแค่เรื่องพื้นฐาน ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานก็ตาม อาจารย์เองก็ยังล้มเหลวในการนำเอาเรื่องราวพื้นฐานเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงหรือในธุรกิจจริง


แบบจำลองของการเรียนรู้ (Learning Model) ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนเลยครับ เพียงแต่เราจะต้องประยุกต์ Learning Model ให้เข้ากับชีวิตประจำวันของเราและชีวิตการทำงานของเรา ทุกอย่างที่เรียนมาจะต้องประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะเรียนกันไปทำไม? ใช่ไหมครับ? นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่เราทำงานอะไรในชีวิตเรา จะต้องมีการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาและเอาตัวรอด ตรงนี้ไงครับที่ Learning Model เข้ามามีบทบาท วิชาการเข้ามามีบทบาท แต่ในปัจจุบันนี้องค์กรหรือบริษัทใหญ่ทั้งหลายกันก็มีความตื่นตัวกันในเรื่องการเรียนรู้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์กรให้เป็น Learning Organization มีการทำกิจกรรม Knowledge Management ต่างๆ ซึ่งก็เป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาองค์กร แล้วบทบาทของมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ได้พัฒนาไปอย่างไรแล้วบ้าง มหาวิทยาลัยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ได้ความรู้ ไม่ใช่ความรู้สำเร็จรูปที่สอนๆ กันอยู่
ผมจึงคิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนั้นได้ เพราะว่ามัวแต่พยายามหาจำนวนนักศึกษาให้ได้ตามเป้าเพื่อที่จะได้มีรายได้เข้ามา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นลักษณะโดยทั่วไปของมหาวิทยาลัยในเอเชีย ส่วนมหาวิทยาลัยยุโรปหรือในอเมริกา รายได้ของมหาวิทยาลัยที่มาจากทั้งค่าเล่าเรียน มาจากเงินวิจัยและรายอื่นๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่มีแต่ค่าเล่าเรียนเป็นสัดส่วนใหญ่ ในเมื่อมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่มีบุคลากรชั้นยอดอยู่มากมาย แต่ก็ปล่อยให้บุคลากรเหล่านั้นออกไปทำมาหากินกันเองข้างนอก เพราะว่าในมหาวิทยาลัยนั้นมัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาสอนกันอย่างเดียว ไม่ได้หยิบยื่นโอกาสและผลประโยชน์ให้กับเหล่าผู้มีความรู้และเข้าใจกระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างดี เพราะว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เห็นเหล่าอาจารย์เป็นสินทรัพย์ (Asset) ที่สามารถสร้างประโยชน์ได้ มหาวิทยาลัยเห็นอาจารย์เป็นแค่เครื่องจักรในการสอนหนังสือเท่านั้นเอง


ตรงนี้แหละครับที่จะเป็นช่องว่างให้กับผมและ Dream Team ที่ผมกำลังจะสร้างขึ้นมา ได้มีโอกาสทำธุรกิจด้านวิชาการ โดยเฉพาะ Professional Knowledge ซึ่งไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ให้ปริญญา แต่ธุรกิจของผมเป็นธุรกิจวิชาการที่ให้ผลกำไรกับองค์กร ใครจะไม่รู้แหละครับว่า ถ้าผมมีผู้ร่วมงานมาเป็น Knowledge Partner กับผมแล้ว กลุ่มคนกลุ่มนี้อาจจะพัฒนาไปเป็น Professional University ที่จะต่อยอดส่วนที่ขาดหายไปของมหาวิทยาลัยและเติมเต็มกระบวนการเรียนรู้ที่ขาดไปขององค์ธุรกิจที่กำลังเผชิญความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และที่สุดแล้วทั้งวิชาการและปฏิบัติก็จะหลอมรวมเป็นหนึ่งที่เสริมพลังกันและกัน (Synergy) ระหว่างมหาวิทยาลัยและธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน