วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

My Thoughts - ปรองดอง : ปาหี่สังคมการเมืองไทยสู่มะเร็งร้ายในสังคม

ในที่สุดกระบวนการปรองดองก็ดำเนินการมาถึงจุดหนึ่ง ผมฟังข่าวแล้วรู้สึกหดหู่เป็นอย่างยิ่ง นี่หรือ คือ เกมการเมืองที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเขาเล่นกัน ดูแล้วเหมือนเด็กเล่นขายของกันจริงๆ ยอมรับความจริงกันไม่ได้ แล้วมันจะเป็นการปรองดองกันแบบไหนกันแน่ครับ พูดกันออกมาได้อย่างไร ให้ลืมอดีตไปซะ ผมคิดอย่างนั้นไม่ได้หรอกครับ ผมว่ามันมักง่ายไปหน่อยไหมครับ? ผมไม่เคยลืมอดีต ผมขายตัวเองได้อย่างนั้นไม่ได้


ผมเองพยายามที่จะทำความเข้าใจในเชิงเหตุและผลว่า ทำไมเราต้องปรองดองกัน ที่แล้วในสังคมเรานั้นไม่น่าจะมีประเด็นปรองดองกันแบบนี้แล้วในยุคนี้ด้วย แล้วจะปรองดองกันแบบไหนกันแน่ ให้เรานึกถึงพวกเด็กเขาทะเลาะกัน แล้วมีผู้ใหญ่เข้าไปห้ามปราม แน่นอนครับผู้ใหญ่จะต้องถามหากันว่า ใครเป็นคนเริ่มก่อน และต้องสรุปให้ได้ว่าใครผิดใครถูก และอะไรเป็นบรรทัดฐานของการกระทำเหล่านั้น จะเป็นบทเรียนสอนใจกันไป จริงๆ นะเราไม่น่าจะทำอะไรชุ่ยๆ กับเด็กเหล่านั้นหรอกครับ เพราะว่าเราเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าจะมีผลประโยชน์อะไรกับเด็กเหล่านั้น เราต้องการให้เด็กๆรักกัน มีหลักการในการดำรงชีวิตร่วมกัน จะได้เจริญเติบโตกัน ช่วยเหลือพึงพากัน เป็นเพื่อน เป็นญาติพี่น้องกันไป นั่นน่าจะเป็นเวอร์ชั่นหนึ่งของการปรองดองซึ่งจะต้องมีคนผิดและคนถูก หรือเป็นผิดทั้งคู่ หรือถูกทั้งคู่ จะต้องอะไรบ้างอย่างมาอธิบายให้ได้รู้ความจริงกัน


เราทุกคนเป็น”คน”นะครับ เรามีสิทธิมนุษยชน เป็นคนไทยเหมือนกันนะครับ ไม่ใช่”ควาย”ที่ไหนนี่ครับ จะมาบอกกันว่า “ถึงตายก็บอกไม่ได้” นั่นช่างไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย ฟังแล้วผิดหวังในชีวิตมากๆ แต่ถ้าจะปรองดองแบบไม่มีคำตอบไม่มีเหตุผลไม่เป็นบรรทัดฐาน ก็ทำได้ถ้าเป็นเด็กๆ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก แต่ก็สร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับเด็กเหล่านั้นไป จนกลายมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเด็กสองคน แต่เป็นกลุ่มคนกลุ่มประชาชน ผลกระทบและผลต่อเนื่องนี้มันเสียหายต่อประเทศชาติและความน่าเชื่อถือ


ผมได้เห็นได้ฟังแล้วอับอายขายหน้าประชาคมโลกมากๆ คราวนี้ผมว่ายิ่งกว่าน้ำท่วมอีก ผมว่ามันบั่นทอนความน่าเชื่อถือจนไปถึงรากฐานของสังคมของประเทศเลยก็ว่าได้ สงสัยว่าทำไมเขามักง่ายกันนักในความคิดและคำถามและคำพูดต่างๆ แล้วคนทั่วโลกเขาจะมองสังคมไทยอย่างไร ความร่วมมือและการลงทุนและกิจกรรมกับประชาคมโลก และในอนาคตเราจะเป็น AEC ด้วย เราเพื่อนๆ บ้านเรานั้นจะคิดกับเราอย่างไร เมื่อไส้ในของเรามันเหลวไหลสิ้นดี ไม่น่าเชื่อนะครับ เกมนี้เล่นกันเหมือนเด็กๆ จริง แต่เดิมพันนั้นมีผลทางอ้อมกันในระดับโครงสร้างของสังคมไทย ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงระดับความคิดของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ไม่มีความโปร่งใส มีแต่วาระซ่อนเร้นอยู่ตลอดเวลา เล่นกับอำนาจที่มีอยู่ ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงนั้นแทบจะไม่ได้มีปากมีเสียงอะไรเลย เพราะว่าไม่มีอำนาจ เรานั้นดีแต่เปลือกจริงๆ แต่ข้างในกลวงเสียยิ่งกว่ากลวงเสียอีก


ผมตีความว่าเรื่องของการปรองดองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ต่างฝ่ายต่างไม่เล่นตามกติกา แล้วก็ไม่มีผู้ชนะ ยิ่งเล่นกันไป ต่างคนต่างก็เสียหาย ส่วนคนดูอย่างประชาชนก็รับกรรมไปตามระเบียบพัก ผมว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้นึกถึงประชาขนคนดูหรอกครับ ก็คงจะนึกถึงแต่พวกของตัวเองเป็นหลักโดยยึดผลประโยชน์ของกลุ่มของฝ่าย แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะก็จะไปเขียนกฎกติกาใหม่ให้ตัวเองนั้นได้เปรียบตลอดไป แต่เมื่อจะมาปรองดองกัน ก็ต้องมากันด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่า เล่นผิดกติกากันทั้งคู่ ถ้าจะปรองดองแล้วก็ต้องมาสร้างกติกาใหม่ ถ้าจะสร้างกติกาใหม่นั้นก็ต้องเปิดใจเปิดเผยข้อมูลในอดีตกันให้เห็นเป็นบทเรียน เพื่อผลประโยชน์ร่วมเห็นแก่ส่วนรวมเป็นหลัก แต่ถ้ายังไม่ยอมเปิดก็แสดงว่ายังไม่ยอมที่จะปรองดอง ยังมีวาระซ่อนเร้น อย่างนี้ใครจะไปยอมกันล่ะครับ แล้วดันออกมาเป็นปาหี่ออกโทรทัศน์กันไปทั่วบ้านทั่วเมือง อย่างนี้มีแต่เสียกับเสียเท่านั้น เราลืมอดีตไม่ได้หรอกครับ เราจะต้องเอาอดีตไว้เป็นบทเรียนถ้าเราล้มเหลวหรือพลาดพลั้ง เราโตมาจากอดีต เราต้องการสร้างปัจจุบันให้ดีกว่า เราจะต้องใช้ข้อมูลจากอดีต และจากปัจจุบันเราก็ต้องมองอนาคตต่อไป


สรุปแล้วเล่นกันเหมือนลูกชายผมและเพื่อนๆ เลย แพ้แล้วล้มกระดานเล่นกันไหมให้ตัวเองชนะฝ่ายเดียว อย่างนี้มันจะสนุกหรือครับ ไม่อยากจะให้คำว่ามันเป็นธรรมหรือเปล่า เพราะว่าที่ผ่านมานั้นมันดูอะไรๆ ค่อนข้างจะไม่เป็นธรรมเสียเท่าไรนัก ทั้งหมดมันขึ้นอยูกับอำนาจ แต่อำนาจที่จริงนั้นอยู่ที่ไหน ยังคงซ่อนอยู่ อำนาจนั้นมีจริงหรือไม่ แล้วเราจะใช้อำนาจนั้นมาช่วยประเทศให้รอดพ้นจากวิบากกรรมนี้ได้อย่างไร อย่าคิดว่าเป็นเรื่องหรือประเด็นการเมืองเล็กๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป เมื่อมีกติกาที่ตั้งขึ้นมาแล้ว มีคนเล่นผิดกติกา เล่นสนุกอยู่คนเดียว แล้วคนอื่นๆ ที่เล่นด้วยเขาจะยอมหรือครับ ยิ่งคนดูก็คงจะโห่ไล่เอาในที่สุด


ประเด็นคือแล้วเราจะเล่นเกมใหม่กันอย่างไร จะใช้กฎและกติกาไหนกันดี ทีมต่างประเทศเข้าจะยอมรับให้ทีมประเทศไทยไปเล่นด้วยหรือไม่ แล้วทีมต่างประเทศเขากล้าจะมาเล่นร่วมกับเราในประเทศหรือไม่ ดูฟุตบอลไทยเป็นตัวอย่าง การเมืองไทยก็ไม่แตกต่างกันเลย สังคมไทยเป็นอย่างไรก็สะท้อนให้เห็นในหลายกิจกรรมต่างๆ ในสังคม มิน่าเล่า บอลไทยไปบอลโลกไม่ได้ แล้วการเมืองไทยก็คงไม่ได้ทำให้ประเทศไปไหนได้เลย ก็คงจะทำให้ประเทศไทยสู้เขาไม่ได้สักอย่าง ถดถอยลงไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้เล่นตามเกมตามกติกานั่นเอง เราไม่ได้เคารพผลประโยชน์ของกันและกัน เราอยู่กันด้วยกิเลส ความหลงมัวเมาในลาภยศจนเกินไป เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ที่จริงแล้วมันเป็นมะเร็งร้ายของสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเหตุผลของการปฏิวัติ ถ้าเราพูดกันอย่างนี้ก็แสดงว่า การปฏิวัติเป็นเรื่องชอบธรรม ถ้าหาเหตุผลที่ทุกคนยอมรับได้ แล้วเรายอมรับได้หรือครับ แล้วประชาคมโลกเขายอมรับได้หรือครับ นี่การคอร์รับชั่นทางสังคม ผมว่าร้ายยิ่งกว่าโกงเงินเสียอีกนะครับ