วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

Education - การวิจัยกับชีวิตการทำงาน

แน่นอนครับผม ไปงาน HA ครั้งที่ 13 มาก็ต้องมีอะไรมาฝากกันเพราะว่า ผมได้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของคนในวงการโรงพยาบาลและสาธารณสุขนี้แล้ว ก็คิดว่าในวงการอื่นๆเขาก็มีเหมือนกันน่ะ แต่อาจจะไม่ได้จริงจังหรือมีแบบฟอร์มในการทำกิจกรรมเหมือนในวงการพยาบาลหรือสาธารณสุขนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นในวงการโรงพยาบาล คือ การทำ R2R (Routine to Research) หรือพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย เท่าที่เห็นๆกันมาเราใช้คำว่าวิจัยกันในหลายๆ มิติ การไปค้นหาอะไรๆ ก็ตามที่เราไม่รู้ ก็เรียกว่าวิจัย ไปเก็บข้อมูลมาได้แล้ววิเคราะห์แบบที่เคยๆ ทำมาก็เรียกว่าวิจัย จนกระทั่งการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ก็เรียกว่าวิจัย หรือแม้กระทั่งการล้มล้างทฤษฎีเก่าๆเราก็เรียกว่าวิจัย งานที่ผมเคยทำมาก็เป็นวิจัยประเภทอย่างนั้น

จนผมได้ไปอ่านบทบรรณาธิการจาก Journal of Business Logistics ที่เขียนถึงความสำคัญของการทำวิจัยที่มีคุณค่าหรือมีประโยชน์ในเชิงทฤษฎี (Theoretical Contribution) ผมอ่านดูแล้วก็ชอบมาก เพราะว่าผมเห็นงานวิจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นจะออกไปในทางประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการปฏิบัติหรือการดำเนินงาน และมองหาผู้ใช้งานวิจัยเหล่านั้นเพื่อให้ครบกระบวนการวิจัยที่กำหนดขึ้น จนเดี๋ยวนี้ผู้เสนองานวิจัยเพื่อขอรับทุนวิจัยต่างๆ จะต้องหาผู้ใช้งานวิจัยเข้ามาด้วย ผมเห็นแนวทางการแก้ปัญหาการทำวิจัยในเมืองไทยที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเรากลัวว่างานวิจัยจะขึ้นหิ้งไปหมด ผมเคยเขียนให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้วว่า นั่นไม่ใช่แนวทางในการแก้ปัญหางานวิจัยเลย ถ้าต้องการให้ผู้ใช้ประโยชน์ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ ทำไมนักวิจัยไม่ไปเสนองานตามบริษัทและองคฺ์กรต่างให้พวกเขาจ่ายเงินเพื่องานวิจัยนั้นโดยตรงเลยล่ะ องค์กรธุรกิจต่างๆ ก็จะได้ประโยชน์ตรงๆ และไม่เสียเวลาด้วย ให้เขามาเป็น Stakeholder กันเลย แล้วพวกนักวิจัยอย่างเราๆ ก็ไปขายงานวิจัยกันตรงๆ ไปเลย แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องสร้างความเข้าใจและสร้างความต้องการงานวิจัยให้เกิดขึ้นในองค์กรธุรกิจไปพร้อมๆ กันด้วย แต่ในสภาพความเป็นจริงผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยจากโครงงานที่ภาครัฐสนับสนุนนั้น พวกเขาจะนำผลงานวิจัยไปใช้อย่างเต็มที่หรือไม่? ในเมื่อพวกขาไม่ได้เป็นผู้ลงทุน แต่ก็ยังดีกว่าเราไม่ได้มีงานวิจัยอะไรเลย

ผมคิดเสมอว่า ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาในกระบวนการการคิดและกระบวนการวิจัยเสียก่อน แนวคิดการวิจัยจะต้องหลอมรวมไปกับการทำงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่จะต้องพัฒนาในเชิงองค์รวมของผู้ประกอบการทั้งหมด เพราะว่าผู้วิจัยเองจะไม่สามารถรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจได้ดีเท่ากับผู้ประกอบการเอง ผมเองกลับคิดว่าเรื่องราวงานวิจัยต่างๆ ที่ทำกับภาคอุตสาหกรรมเองนั้น ทำไมภาคอุตสาหกรรมนั้นไม่พัฒนาบุคลากรในองค์กรของตัวเองเป็นผู้ทำวิจัยเชิงประยุกต์เหล่านี้เสียเอง ประหยัดงบประมาณและเวลามากด้วย การทุ่มเงินทุนสนับสนุนให้นักวิจัยลงไปทำงานกับอุตสาหกรรมนั้น ผมไม่ค่อยเห็นด้วย งานวิจัยเหล่านั้นที่เป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ในการใช้งานน่าจะเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการหรือองค์กรต่างๆ สามารถทำเองได้ ส่วนงานวิจัยของนักวิจัยอาชีพจริงนั้นน่าจะเป็นงานวิจัยประเภทชั้นสูงขึ้นมาอีก ควรจะประเภทที่มีประโยชน์ในเชิงทฤษฎีมากกว่า

ผมคิดว่าการพัฒนางานวิจัยในเมืองไทยน่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาที่เป็นนักวิจัยเชิงทฤษฎี ภาคอุตสาหกรรมควรจะเป็นนักวิจัยเชิงประยุกต์ที่นำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ ส่วนนักวิจัยในภาคการศึกษาควรจะเป็นนักวิจัยที่พยายามคิดค้นและปรับปรุงทฤษฎีและเทนิคต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าเก่า โดยทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นผู้ที่เข้าใจงานวิจัยและเห็นจุดบกพร่องของทฤษฎีเมื่อนำไปใช้ นักวิจัยก็จะได้ข้อมูลป้อนกลับมาทำการพัฒนาทฤษฎีหรือเทคนิคที่ใหม่กว่าดีกว่าต่อไป แนวคิดในลักษณะนี้ผมเคยนำเสนอไว้แล้ว ด้วยแนวคิด 3R (Routine Research Reality) นั่นน่าจะเป็นผมมองของการวิจัยอย่างเป็นองค์รวมที่แยกงานกันทำอย่างชัดเจนแต่สอดประสานรวมกันอย่างเป็นองค์รวมโดยมีเป้าหมายร่วมกัน ผมอยากจะเสนอเรื่องนี้ให้เป็นแนวคิดใหม่สำหรับการศึกษาที่ไม่ใช่เพื่อปริญญา แต่เป็นการศึกษาเพื่อการทำงาน (Professional Knowledges) แล้วเราพร้อมหรือยังที่จะก้าวไปสู่การทำงานไปด้วย ศึกษาวิจัยไปด้วย แล้วเราจะเปลี่ยนทัศนคติที่เกี่ยวกับวิชาการหรือทฤษฎีได้หรือไม่ เราจะทำความเข้าใจใหม่ได้ไหมว่า ที่เรามีกิน มีใช้ มีเงิน สุขสบายอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เพราะวิขาการหรือทฤษฎีหรือ? จริงไหมครับ