วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

My Thought - HA 2012 : บูรณาการงานกับชีวิต

ผมได้ไปงาน HA ครั้งที่ 13 ที่เมืองทองธานี ซึ่งเคยไปงานนี้เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง ลีนในการบริการสุขภาพ ไปคราวนี้ไปขายหนังสือ ลีนในโรงพยาบาล ผมออกหนังสือใหม่ในเรื่อง ลีนในวงการแพทย์และสาธารณสุข หนังสือ ชื่อ Lean Hospital เช่นเดิมครับในงานนี้บรรยายกาศอบอวลไปด้วยพลังแห่ง ความคิดสร้างสรรค์และความรู้เป็นอย่างมาก สำหรับในสังคมการจัดการสุขภาพและสาธารณสุข ดูแล้วทัศนคติในการทำงานและ การดำรงชีวิตอยู่ผู้คนหรือในวิชาชีพนี้ ดูแตกต่างไปจากวงการหรืออาชีพอื่นๆเสียจริงๆ เลย ความกระตือรือร้นในการขวนขวายหา ความรู้นั้นมีไม่รู้จักหมดสิ้น และยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นก็ คือ ผู้ปฏิบัติวิชาชีพในสาขานี้ได้ยึดถือการวิจัยเป็นพื้นฐานในการทำงาน ที่เรียกกันว่า R2R Routine to Research ซึ่งจุดประกายให้ผมนำไปประยุกต์ให้เป็น 3R Routine-Research-Reality ในการทำงานขายความรู้ของผม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การวิจัยทั้งหมดนั้นจะต้องออกมาในลักษณะของการทำวิจัยแบบในสาขาวิชาชีพนี้ หรือไม่ก็เพราะ ความเป็นพลวัตของระบบสาธารณสุขและสภาวะแวดล้อมการทำงานได้สร้างแรงกดดันให้คนในวิชาชีพนี้จะต้องปฏิบัติตัวและปรับตัวเช่นนี้ ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวผมจะหาโอกาสในการ เขียนประเด็นเรื่องงานวิจัยต่อไป

แล้วผมก็ไปเจอหนังสือที่แนะนำการทำวิจัยเชิงคุณภาพ แน่นอนครับเขียนโดย คนอาชีพหมอ แต่งานวิจัยทั้งหมดในโลกนี้ก็ไม่ได้อยู่ในสาขาแพทย์และสาธารณสุขแต่เพียงอย่างเดียว ผมเคยอ่านหนังสือประเภทเดียวกันนี้ที่ เขียนโดย รศ.ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ เรื่อง "สนุกกับการวิจัย" ท่านเป็นวิศวกร แต่มาดูแลหน่วยงานวิจัยทั้งในเชิงสังคม และด้านเทคนิค ซึ่งก็น่าสนใจว่า มุมมองงานวิจัยในแต่ละศาสตร์สาขาวิชาชีพจะเหมือนกันและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วคนอาชีพสาขาอื่นๆ จะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “การวิจัย” แต่ความเข้าใจในประเด็นการทำวิจัยที่ โดนใจผมนั้น กลับมาจากบทบรรณธิการของ Journal of Business Logistics ที่ผมได้เขียนไว้ในบันทึกไว้เมื่อวานนี้ ในประเด็นด้านการศึกษา เรื่อง “เราจะรู้ทฤษฎีกันไปทำไม” และถ้าใครสนใจในมุมมองการวิจัยของผม ลองไปค้นในบันทึกเก่าของผมใน FB ของผมได้ ซึ่งผมเคยเขียนไว้บ้าง

ธีมหรือแนวคิดของการจัด HA ในปี้ก็ คือ เรื่องการบูรณาการงานกับชีวิต ผมเองได้รับเชิญไปพูดในประเด็นนี้มาก่อน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี่ที่แล้ว พร้อมกับผสมผสานเรื่องลีนเข้าไปด้วย จะเห็นได้ว่าแนวคิดของงาน HA จะออกไปทาง Soft Side ของระบบมากขึ้น ถ้ากลับไปดูแนวคิดของงาน HA ที่จัดมาทั้งหมด ผมต้องยอมรับว่าผมเป็นคนนอกวงการสาธารณสุข ผมไม่อยากเข้าโรงพยาบาล ผมเป็นแค่คนทำมาหากินด้วยการแปลหนังสือ แล้วดันมาแปลหนังสือโรงพยาบาลเข้า แต่ผมก็เห็นว่า งานอย่างนี้ ดีจริงๆ เป็นพลังของสังคมและวิชาชีพจริงๆ เลย ผมก็มีมุมมองในแนวคิดที่ถูกนำเสนอในงาน HA ในครั้งนี้ว่า ที่จริงแล้ว ชีวิตนั้นมีความเป็นบูรณาการในตัวอยู่แล้ว ชีวิตนั้นได้แสดงคุณลักษณะของความเป็นองค์รวม (Holistic) อยู่แล้ว ชีวิตนั้นได้บูรณาการเรื่องงานเข้าไว้ในชีวิตอยู่แล้ว ที่จริงแล้วผมมองอีกอย่างหนึ่งว่า งานเป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มให้เป็นชีวิต ชีวิตกับงานนั้นไม่เท่ากัน ชีวิตนั้นใหญ่กว่างานมาก ชีวิตไม่ใช่งาน และงานก็ไม่ใช่ชีวิต แต่ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของงานที่จะต้องถูกบูรณาการเข้ากับส่วนอื่นๆ แล้วบูรณาการเป็นชีวิต ชีวิตตรงนี้ผมไม่ได้หมายถึงชีวิตในเชิงชีววิทยาเท่านั้น แต่เป็นชีวิตในเชิงสังคมจิตวิทยา การเมืองหรือแม้แต่ในเรื่องเทคโนโลยีต่างๆด้วย ชีวิตที่เกิดมาย่อมต้องมีคุณค่าในตัวเอง เพียงแต่ว่าคุณค่าเหล่าจะเป็นความสูญเปล่าหรือไม่ ดังนั้นเมื่อเกิดมาทุกคนต้องทำงาน ต้องสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคมที่อาศัยอยู่และพึ่งพาซึ่งกันและกัน

งานจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์หรือเติมเต็ม เมื่อใดที่เราคิดว่างานนั้นไม่มีค่าขึ้นมาแล้ว ชีวิตเราเองนั้นก็ไม่สมบูรณ์ไม่ได้ถูกเติมเต็ม เราจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้งานมีคุณค่ากับชีวิต แต่ที่สุดแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้ชีวิตนี้มีแต่งาน อย่างนี้ก็เกินไป ขาดความสมดุลในชีวิต เห็นไหมครับว่า คนในวงการสาธารณสุขนี้ละเอียดอ่อนจริงๆครับ เพราะในระบบสาธาณสุขนั้นมีแต่คน แล้วก็คน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับ Soft Side จึงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งครับ เรื่องของ Lean เองก็มีประเด็นในเชิงนี้เช่นกัน แล้วผมอาจจะหาโอกาสมาเล่า ให้ฟังภายหลังครับ

ชีวิตในสังคมมนุษย์ต่างก็มองหาประโยชน์ซึ่งกันและกันเพื่อหาจุดสมดุลเพื่อที่จะอยู่รวมกันให้ได้และอยู่รอดด้วย ประโยชน์พื้นฐานก็คือ การอยู่รอดทางกายภาพทางชีววิทยา (Hard Side) และทางจิตวิทยา (Soft Side) แต่เมื่อมองโลกและมนุษย์แล้ว ผมยังมองไม่เห็นเลยว่ามนุษย์จะให้ประโยชน์อะไรกับโลกบ้าง มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่หาประโยชน์ แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น โลกเรานั้นไม่จำเป็นที่ต้องมนุษย์อยู่บนโลกนี้ก็ได้ แต่ในทางตรงกันข้ามมนุษย์นั้นต้องอาศัยอยู่บนโลกนี้ มนุษย์ขาดโลกนี้ไปไม่ได้ครับ ผมจึงคิดว่ามนุษย์เราก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ มนุษย์ไม่ได้เป็นส่วนบูรณาการ (Intrgral Part) ของโลกนี้ แล้วเราเป็นใครมาจากไหนล่ะ?