บทความนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thailand Industrial Review (ก่อนปี 2009)
http://www.thailandindustry.com/guru/view.php?id=10084§ion=9&rcount=Y
ในปัจจุบันมีการกล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างกว้างขวางถึงกับใช้เป็นนโนบายหลักสำหรับรัฐบาลในการขับเคลื่อนแนวคิดนี้นับว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านความคิดอย่างที่เรียกว่าแทบจะเลี้ยวกลับกันเลยก็ว่าได้สำหรับคนที่มีแนวคิดแบบทุนนิยม แต่ในระบบการค้าและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะแบบรุนแรงหรือไม่ก็ตามก็มีการเปลี่ยนผ่านแนวคิดในการจัดการเช่นกัน
แนวคิดที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในวงการอุตสาหกรรมโลกไม่แพ้เศรษฐกิจพอเพียงก็คือ แนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) มีบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งได้นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้เป็นยุทธศาสตร์ขององค์กรธุรกิจ ดังที่ได้เห็นผลลัพธ์ของแนวคิดแบบลีนนี้ได้จากผลสำเร็จของบริษัทโตโยต้าซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดแบบลีน
.
เป้าหมาย คือ พอเพียง พอดี
ทั้งแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดแบบลีนนั้น ถึงแม้จะมีที่มาแตกต่างกันและเป้าหมายการนำไปใช้ก็แตกต่างกัน แต่สำหรับแก่นความคิดของทั้งสองแนวคิดนั้นเหมือนกัน คือ ความพอดี พอเพียงไม่มากเกินไป และสิ่งที่เหมือนกันอีกประเด็น คือ การเป็นปรัชญาแนวคิดที่ยังไม่สำเร็จรูป ผู้นำเอาไปใช้จะต้องไปตีความให้เข้ากับปัญหาของตัวเอง
.
แต่สำหรับผมแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเศรษฐกิจส่วนบุคคลหรือเป็นทัศนคติเชิงเศรษฐกิจส่วนบุคคลหรือแนวทางการดำรงชีวิตมากกว่า เพราะผมมองว่าแนวทางการใช้ชีวิตและการทำงานของชนในชาติจะกำหนดความเป็นไปหรือการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจของชาตินั้น ๆ
.
แก่นความคิดของทั้งลีนและเศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เพื่อไม่ให้ขาดมือหรือเหลือใช้มากเกินไป แต่ข้อแตกต่างก็คือ อุปสงค์ของแนวคิดแบบลีนจะมาจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้บริโภคคนสุดท้ายที่แสดงความต้องการผลิตภัณฑ์ในระบบธุรกิจ ส่วนอุปสงค์ในเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นกิเลสในตัวเราที่ต้องการมากกว่าความจำเป็นจนเป็นส่วนเกินในการดำรงชีวิต
.
ถ้าทุกส่วนของสังคมมีความพอเพียงด้วยการจัดหาให้พอเพียงกับความต้องการแล้ว ก็จะเกิดสมดุลตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมหรือธุรกิจหยุดจะหยุดนิ่ง แต่ก็ยังมีการไหลของทรัพยากร มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันตามปกติ เมื่อมีความพอเพียงเป็นพื้นฐาน การพัฒนาต่อไปก็จะมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
.
เมื่อบริบทของสังคมเปลี่ยนไปด้วยความเป็นโลกาภิวัฒน์ จากจุดสมดุลหนึ่งก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่อีกจุดสมดุลหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติของการวิวัฒนาการอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมากจนเกินไปจะเป็นต้นเหตุของความเสียหาย
.
ข้อมูลข่าวสารสามารถกระตุ้นกิเลสของมนุษย์ให้เลิกละจากความพอเพียงทำให้เกิดการบริโภคเกินจำเป็น เกิดการแข่งขันกันเกินความจำเป็นพื้นฐาน จนเป็นการพัฒนาในส่วนที่ไม่จำเป็นจนกลายมาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยทั้งหลาย ผมมองว่าการปรับตัวเปลี่ยนแปลงของสังคมมีมาจากสองแหล่ง คือ จากสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เป็นธรรมชาติ
.
และสภาพความต้องการของจิตใจของบุคคลที่มองเห็นถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของการดำเนินชีวิตจากภายนอก สังคมมนุษย์เราจึงปรับตัวกับธรรมชาติอยู่เสมอ วิทยาศาสตร์และเทคโลยีต่าง ๆ ถูกคิดค้นขึ้นมาก็เพราะการปรับตัวของมนุษย์เพื่อรับมือกับธรรมชาติ ประกอบกับการขยายตัวของประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดลงไปอย่างรวดเร็ว
.
ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทำให้มนุษย์เข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การคมนาคม การติดต่อสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วทำให้การตัดสินใจของมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรมากขึ้น ความอ่อนไหวทางจิตใจและความกลัวว่าจะไม่มีทรัพยากรไว้ในครอบครอง จึงทำให้เกิดการกักตุนหรือการผลิตมากเกินจำเป็น การมีมากไว้เผื่อเพื่อยามขาดแคลน ประกอบกับที่มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่จะต้องมีการแข่งขันทางสังคมเพื่อความอยู่รอด
.
จากจุดนี้ทำให้ระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจมีจุดสมดุลที่เปลี่ยนแปลงหรือมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา และเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนมีใครต่อใครพูดถึงว่าระบบทุนนิยมนั้นไม่มีคำว่าพอจะต้องเดินหน้าก้าวไปอย่างรวดเร็ว ยากที่จะหยุดที่จุดสมดุลใดจุดหนึ่ง
.
แต่ต้องไม่ลืมว่าการขับเคลื่อนของความต้องการนี้มาจากมนุษย์แต่ละคนที่รวมตัวกันเป็นประชากรโลก โดยมีบริษัทระดับโลกไม่กี่บริษัทเป็นผู้คอยตอบสนองความต้องการของแต่ละคน สังคมธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไทยเราก็ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่กล่าวมานั้น
.
หลักคิด คือแก่นของเศรษฐกิจพอเพียงและลีน
ทั้งแนวคิดปรัซญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดแบบลีนมีปัญหาในการนำไปใช้เหมือนกัน มีหลายบริษัทหรือหลายคนมีปัญหากับการนำเอาหลักคิดทั้งสองไปใช้แล้ว มีการดำเนินงานนำไปใช้ผิดแนวคิดเพราะไม่มีความเข้าใจ คิดว่าเป็นหนทางการแก้ปัญหา (Solutions) ที่สามารถนำไปใช้ได้เลย
.
เมื่อขึ้นต้นด้วยหลักคิดแล้ว แสดงว่าจะต้องมีการสานต่อความคิดออกไปอีก นำหลักคิดไปต่อยอดให้ครบสมบูรณ์ตามความต้องการของแต่ละคน โดยปกติคนเราที่มีความสามารถไม่เหมือนกันก็ตรงที่เราจะคิดอย่างไร (How to Think) มากกว่า
.
แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีคนอธิบายไว้ในหลายรูปแบบ แต่ผมได้ไปพบพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ติดไว้ที่ร้าน Golden Place ซึ่งเป็นร้านในโครงการหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา กรุงเทพ ฯ ซึ่งกล่าวไว้ว่า
.
“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้อง ทำตามขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้ปูพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้าง ค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”
.
ถ้าผมจำไม่ผิดพระบรมราโชวาทนี้ได้ทรงประทานให้นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระราชพิธีประทานปริญญาบัตร เมื่อปี 2514 ซึ่งนานมาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง นี่แสดงเห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ผมได้ใช้พระบรมราโชวาทนี้ในการสื่อสารเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการสมัยใหม่อยู่เสมอ
.
แนวคิดหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบรมราโชวาทนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้อดออมหรือหยุดนิ่งไม่พัฒนา แต่ถ้าสังเกตให้ดีแล้ว พระองค์ท่านทรงกล่าวไว้เป็นคำแรกเลยว่า “การพัฒนา” ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ต้องมีการพัฒนา
.
ที่สำคัญจะต้องมีขั้นตอน มีพื้นฐาน ที่จะทำให้เกิดความพอดีของอุปสงค์และอุปทานของประเทศหรือกับส่วนบุคคล โดยคำนึงถึงการประหยัดหรือคุ้มค่า ผมคิดว่า นี่คือหลักสากลของการดำเนินงานอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องไทย ๆ แต่เป็นพื้นฐานของประเทศที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมาแล้ว แม้แต่ในงานวิศวกรรมเองก็ยังคำนึงถึงการประหยัดเป็นเบื้องต้น
.
ต่อมาคือ การสร้างความมั่นคง การรู้จริงในองค์ความรู้ด้วยหลักวิชาการ เพราะสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้เกิดขึ้นได้ด้วยหลักวิชาการ เราไม่สามารถแยกหลักวิชาการออกจากความเป็นจริงหรือการปฏิบัติได้ แต่ในปัจจุบันเรารู้สึกได้ว่าโลกวิชาการกับโลกแห่งการปฏิบัตินั้นแยกกันอยู่อย่างเห็นได้ชัด เพราะอะไรหรือ ? ก็เพราะนักวิชาการไม่พัฒนา
.
ส่วนนักปฏิบัติซึ่งต้องใช้หลักวิชาการรองรับก็ไม่ได้รับการตอบสนองในวิชาการใหม่ ๆ จากนักวิชาการ หรือไม่ก็นักปฏิบัติใช้นักวิชาการเป็นเครื่องมือในการต่อรองหรือต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม การทำงานร่วมกันของนักวิชาการและนักปฏิบัติการจึงน้อยลง การพัฒนาในองค์รวมของหลักวิชาการและการปฏิบัติจึงไม่เกิดขึ้น
.
เมื่อมีพื้นฐานที่แน่นและแข็งแกร่งด้วยหลักวิชาการและการปฏิบัติแล้วจึงค่อยพัฒนาสร้างเสริมให้ไปสู่ลำดับขั้นสูงต่อไป เป็นที่แน่ชัดว่าประเทศหรือตัวเราจะต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามกำลังความสามารถเพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างประเทศกับโลกภิวัฒน์หรือระหว่างชีวิตส่วนบุคคลกับสภาวะแวดล้อมของสังคมที่เป็นอยู่
.
สิ่งที่เป็นโจทย์หรือเป็นตัวผลักดันในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงก็ คือ การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัฒน์ ดังนั้นผมกลับมองว่าสิ่งสนับสนุนหรือสิ่งที่เป็นพื้นฐานความคิดสู่ความสำเร็จของระบบทุนนิยมก็ใช้แนวคิดพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
.
ความสำเร็จของผู้ชนะในระบบทุนนิยมคือ ผู้ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดและอุปทานได้อย่างแม่นยำและมีพื้นฐานของหลักวิชาการที่แข็งแกร่ง ส่วนผู้พ่ายแพ้ในระบบทุนนิยมก็ คือผู้ด้อยโอกาสทั้งทางปัญญาและทางทรัพยากร ผู้ที่ไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง
.
ระบบทุนนิยมที่ว่านั้นควรจะมีจุดสมดุลเหมือนกับระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ แต่จุดสมดุลที่ว่าของระบบทุนนิยมอาจจะไม่นิ่ง เพราะมีความเป็นพลวัตสูงระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ประกอบกับความแตกต่างทางปัญญาที่สามารถเอาเปรียบผู้ด้อยกว่า สิ่งที่กระตุ้นให้ระบบทุนนิยมมีความเป็นพลวัตสูงก็คือความโลภและผลประโยชน์ของผู้เหนือกว่าในระบบเพื่อสร้างกำไรสูงสุดให้กับตนเอง
.
แต่ถ้าเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าประโยชน์สูงสุดควรกลับคืนให้กับสังคมและธรรมชาติ ผมเชื่อว่าระบบทุนนิยมดังกล่าวจะเข้าสู่จุดสมดุลที่นิ่งขึ้น ทุกคนจะได้ดิ้นรนน้อยลง ไม่ต้องรีบ มีเวลาให้กับทุกอย่าง ที่สุดจะกลายเป็นความเอื้ออาทร
.
สำหรับแนวคิดแบบลีนนั้นไม่ได้เป็นแนวคิดที่ใช้กับบุคคลตั้งเริ่มต้น แต่แนวคิดแบบลีนถูกสร้างขึ้นมาจากแรงกดดันทางธุรกิจที่มีต่อบริษัทโตโยต้า จนบริษัทจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิดและการทำงานไปอย่างสิ้นเชิงเพื่อที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดและพัฒนาจนเป็นบริษัทผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในปี 2007
.
ซึ่งเป็นเวลา 50 ปีกว่านับจากวันนั้นที่บริษัทโตโยต้าซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดเล็กมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงแค่น้อยนิด ไหนเลยจะสู้ยักษ์ใหญ่บริษัทรถยนต์ของอเมริกาได้
.
ด้วยภาวะผู้นำและแนวคิดที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจพอเพียง ผู้นำบริษัทโตโยต้าก็นำเอาแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ผู้นำของโตโยต้าได้ใช้หลักวิชาการที่เรียนรู้มาจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของอเมริกามาประยุกต์ใช้และปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจและมีความลึกซึ้งในหลักการคิดและการปฏิบัติ จากนั้นจึงค่อย ๆ สร้าง ค่อยเสริมจนพัฒนามาเป็นบริษัทรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก
.
หลักสำคัญของการผลิตแบบลีนก็คือ การไม่มีส่วนเกิน การผลิตตามคำสั่งซื้อ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่าง ๆ ให้แข็งแรง มีเป้าหมายให้ชัดเจน แนวคิดแบบลีน ถึงมีไม่มาก ถึงจะเล็ก ก็มีพลังที่เปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายได้ ขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญ อยู่ที่วิธีคิดมากกว่า
.
การพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือหัวใจของ ความพอเพียง
นอกจากหลักคิดที่เป็นพื้นฐาน คือ การประหยัดหรือให้คุ้มค่าที่สุดภายใต้การจัดการข้อจำกัดต่าง ๆ ที่แนวคิดแบบลีนนำมาใช้จนเป็นพื้นฐานที่สำคัญของยุทธศาสตร์ขององค์กรระดับโลกในปัจจุบัน ยังมีหลักคิดที่สำคัญของแนวคิดแบบลีนที่เหมือนกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอพียง คือ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
.
ผลสำเร็จของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้นไม่สำเร็จได้มาโดยง่าย ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ความอดทน ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของการประชาสัมพันธ์ แล้วหวังว่าทุกคนจะเข้าใจเหมือนกันและพวกเขาจะลงมือทำให้เกิดผลสำเร็จดังที่หวัง กว่าจะเข้าถึงในจิตวิญญาณของทุกคนนั้นคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
.
การสร้างชาติหรือการสร้างองค์กรนั้นมันซื้อหากันไม่ได้ ชาติหรือองค์กรที่แข็งแกร่งก็ไม่ได้สร้างกันในวันหรือสองวัน หรือแค่การป่าวประกาศเรื่องราวเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ได้มีแผนงานให้คนปฏิบัติตาม ทั้งแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดแบบลีนจะต้องถูกปลูกฝังลงไปในวัฒนธรรมของชนในชาติหรือพนักงานขององค์กร
.
แค่การประชาสัมพันธ์โดยไม่มีรูปธรรมในการทำให้เกิดผลในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ก็เป็นเหมือนประชานิยมอีกขั้วหนึ่งเท่านั้น การสร้างวัฒนธรรมใหม่นั้นควรจะลงลึกไปที่โครงสร้างของสังคม ผลสำเร็จคงจะไม่ใช่แค่ภายในกรอบเวลาหนึ่งปีของการประกาศใช้นโนบายเศรษฐกิจพอเพียง
.
เพราะประเทศที่เจริญแล้วหรือองค์กรธุรกิจที่พัฒนาจนประสบความสำเร็จในระดับโลกก็ไม่ได้ใช้เวลาแค่หนึ่งปีซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย การพัฒนาที่ถูกต้องจะต้องมีกรอบการพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและผู้บริหารประเทศและนักการเมือง ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ (ระยะยาว) ระดับยุทธวิธี (ระยะกลาง) และระดับปฏิบัติการ (ระยะสั้น)
.
ประเด็นสำคัญการปฏิบัติการจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนยุทธวิธี (Tactical) ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ (Strategic) ของชาติหรือองค์กร ประเด็นตรงนี้เองที่การนำเอาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในระดับประเทศจึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็พอจะมีความหวังได้ในผลสำเร็จ ถ้ามีการนำไปใช้ในระดับบุคคลจนอย่างได้ผล เพราะบุคคลเป็นพื้นฐานของประเทศ
.
ถ้าพื้นฐานดีก็พัฒนาได้ง่าย นี่เป็นโจทย์ของการพัฒนาที่ประเทศเราอยู่ในวังวนมานานมากจนประเทศอื่น ๆ เขาพัฒนาล้ำหน้าไปไกลกว่าประเทศเรา เพราอะไรหรือ ? ก็คงต้องย้อนกลับมาที่ผู้นำของเราในการนำเอาความคิดต่าง ๆ ไปปฏิบัติใช้ ผู้นำจะเป็นตัวผลักที่สำคัญที่สุดในการดำเนินงานในการนำเอาแนวคิดทั้งสองไปปฏิบัติ
.
ที่สุด คือชีวิตที่สมบูรณ์แบบ
ลูกค้าที่ถือว่าเป็นที่สุดของระบบลีน คือชีวิตของเรานั่นเอง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายให้เราอยู่มีชีวิตได้อย่างยั่งยืน จากหลักการข้อสุดท้ายของการคิดแบบลีน คือความสมบูรณ์แบบ (Perfection)
.
เราอาจะถามว่าอะไร คือ ความสมบูรณ์แบบ ผมตีความว่า คือความยั่งยืนของธุรกิจที่จะต้องปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ด้วยสติปัญญาและการพัฒนา ไม่ใช่แค่หยุดนิ่งอยู่เฉยด้วยความพอดี พอลูกค้าต้องการสิ่งใหม่ก็ไม่สามารถตอบสนองได้
.
หลักการข้อที่ 5 ของแนวคิดแบบลีนสอดคล้องกับแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมอ้างถึงตรงที่ “เราจะต้องพัฒนา ค่อยสร้าง ค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นต่อ ๆ ไป” นี่คือ ความสมบูรณ์แบบที่จะนำพาความยั่งยืนมาสู่ประเทศชาติและสังคม ด้วยเป้าหมายอันเป็นที่สุด คือการมีชีวิตที่เป็นสุขอย่างยั่งยืน
.
ความหมายตรงนี้แฝงไว้ด้วยคุณลักษณะของความไม่นิ่ง แต่กลับมีความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและการสร้างวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตอยู่
.
มุมมองของผมในเรื่องแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอาจจะแตกต่างจากมุมมองของท่านอื่น ๆ ที่เน้นด้านคุณธรรม มุ่งเน้นไปที่มิติของระดับความดีของบุคคล แต่ผมพยายามมองในเชิงระบบซึ่งความพอเพียงในเชิงระบบในทางวิทยาศาสตร์เขาเรียกกันว่า วิธีการหาค่าที่เหมาะที่สุดภายใต้ข้อจำกัด (Optimization Method)
.
ค่าที่เหมาะสมนี้พร้อมที่จะเปลี่ยนไปตามสภาวะแวดล้อมหรือข้อจำกัดต่าง ๆ (Constraints) ที่เปลี่ยนแปลงไป ความสำเร็จของการพัฒนาในการจัดการข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว จะต้องอาศัยสติปัญญาและความอดทนอย่างมากของผู้นำองค์กร และสุดท้ายมุมมองที่วิทยาศาสตร์เข้าไปจัดการไม่ได้ คือคุณธรรมภายในจิตใจของมนุษย์ทุกวันนี้
.
แต่คุณธรรมอย่างเดียวก็ไม่สามารถพัฒนาประเทศหรือองค์กรได้ ต้องมีระบบและความคิด ด้วยระบบและความคิดที่ดีจะช่วยจำกัดขอบเขตบุคคลที่ไม่มีคุณธรรมได้ แต่ถ้าเมื่อใดสังคมใดมีคนไม่มีคุณธรรมมาก ต้นทุนของสังคมนั้นก็จะสูง เพราะจะต้องเอาทรัพยากรทั้งปัญญาและแรงกายมาออกแบบระบบป้องกันคนไม่มีคุณธรรม
.
ดังนั้นสังคมใดมีคนที่มีคุณธรรมอยู่มากและเข้าใจเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน เห็นถึงผลประโยชน์อันเป็นที่สุดเหมือนกัน คือ ชีวิตที่เป็นสุข สังคมนั้นคงจะสมบูรณ์แบบเหมือนอย่างที่เราฝันหรืออย่างในอุดมคติ
.
ทุกวันนี้เราร้องเรียกหาคุณธรรมกันมากเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เราใช้ปัญญาแก้ปัญหากันน้อยเกินไป ในการพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ก็ว่ากันตามอารมณ์เสียส่วนใหญ่ ฟังมาเยอะ รับข้อมูลมามาก แต่คิดกันน้อย สรุปอะไรกันง่าย ๆ กล่าวหากันง่าย ๆ โจมตีกันให้เสียหายโดยไม่ได้คิดถึงผลต่อเนื่องว่า มีความเสียหายกันทั้งคู่ คิดเพียงแต่หาความชอบธรรมให้กับตนเองเท่านั้น โดยไม่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
.
ถ้าเราคิดกันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประกอบกับคุณธรรมที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องมาก ผมว่าเราสามารถพัฒนาบุคลากรให้มีคุณธรรมมากขึ้นมาพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้ เพราะผมเชื่อว่าวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาคุณธรรมได้ แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดแบบลีนก็เป็นส่วนหนึ่งการคิดแบบวิทยาศาสตร์ในเชิงการจัดการทรัพยากรทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
แล้วคุณล่ะมีแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันบ้างหรือไม่ ?