วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

My Thought : 2 ล้านล้านช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้จริงหรือ

15 พ.ค. 2556  ผมไปร่วมงาน CSCMP Roundtable ที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท. หรือ TNSC) มาครับ  มีผู้เข้าร่วมพูดคุยหลัก คือ ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  และ รศ.ดร. สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ผู้อำนวยการ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รายละเอียดของการพูดคุยคงจะมาออกมาในภายหลัง  



ประเด็นเรื่องราวของ พรบ. 2 ล้านล้านบาทในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานนั้นมีการพูดกันมาอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีการท้วงติงกันมาตลอด จากที่เราได้เห็นจากข่าวจากสื่อทั้งหลาย ดูๆ แล้วเป็นกระแสต่อต้านและเป็นห่วงกันเป็นส่วนใหญ่   อาจารย์ดร.สุเมธได้นำเสนอข้อมูลอย่างละเอียดในภาพรวมของโครงการได้เป็นอย่างดี เหมือนอ่านหนังสือพิมพ์รวดเดียว 10 ฉบับ พร้อมสรุปเสนอแนะ  ทำให้ผมเข้าใจภาพใหญ่ของพรบ. นี้ได้ละเอียดดีขึ้นมากๆ   ส่วนอาจารย์สมพงษ์นั้น ท่านมาในรูปแบบที่เหนือรายละเอียด ด้วยมุมมองที่มองว่าไม่น่าจะคุ้มค่าสำหรับการลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูงซึ่งไม่น่าจะได้อะไรกลับคืนมาเท่าไหร่ สู้รถไฟรางคู่ไม่ได้ ที่น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า  อาจารย์สมพงษ์ได้เสนอมุมมองในหลายมิติครับ 

ผมนั้นนั่งฟังก็ไม่มีอะไรจะไปเถียงกับท่านอาจารย์ทั้งสอง เพียงแต่ฝันว่าน่าจะได้มีโอกาสนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงกับเขาบ้าง  เอาเป็นว่า ผมเห็นด้วยกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่จะลงทุนอย่างไร จะเป็นรถความเร็วสูงหรือความเร็วต่ำ ก็ค่อยมาว่ากัน  และบังเอิญงานนี้ ตั้งหัวข้อไว้เป็นเรื่อง "รถไฟฟ้าความเร็วสูงกับการลดต้นทุนลอจิสติกส์"   ผมบอกในที่ประชุมไปว่า ผมได้ก้าวข้ามเรื่องลดต้นทุนลอจิสติกส์ไปแล้ว  ผมว่าประเทศเราเริ่มจะล้าหลัง ตามเขาไม่ทันมากขึ้นแล้วนะครับ ถ้ามามัวหลงประเด็นอยู่กับ "ต้นทุนลอจิสติกส์"   ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่อาจารย์สมพงษ์เสนอมานั้น โยงเข้าไปถึงเรื่องความสามารถในการแข่งขัน  อาจารย์สมพงษ์หยิบรายงาน Global Competitiveness 2012-2013 ที่มีประเทศต่างๆ ถูกจัดอันดับอยู่ ประเทศไทยก็อยู่ในรายการอันดับนั้นด้วยเหมือนกัน   อาจารย์สมพงษ์ได้แสดงให้เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานนั้นยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศ แต่ควรจะเป็น "เทคโนโลยีและนวัตกรรม" ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ดูได้จากรายงานเหล่านั้น

เมื่ออาจารย์สมพงษ์เสนอมาอย่างนี้ก็เข้าทางผม ผมจึงเสนอไปว่า  ความสามารถในการแข่งขันนั้น ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนแล้ว โดยเฉพาะต้นทุนลอจิสติกส์  ผมเสนอว่า ถ้าเราสามารถแข่งกันได้ นั่นแสดงว่า เราขายสินค้าได้  และถ้าเราขายสินค้าได้ เพราะว่า 1) ต้นทุนถูกกว่า 2) คุณภาพสินค้าดีกว่า ใหม่กว่า เทคโนโลยีดีกว่า   เราคิดว่าสินค้าทั้ง 2 อย่างนี้ อย่างไหนจะทำกำไรมากกว่ากัน    ...เราต้องทำสินค้าที่ดีกว่า ใช่ไหมครับ    สินค้าที่ดีกว่า ย่อมน่าจะขายได้ง่ายกว่า ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการพัฒนาการมากกว่า  

พอมาถึงตัวสินค้าที่เป็นตัวที่สร้างความสามารถในการแข่งขัน นั่นก็แสดงว่า กว่าจะมาเป็นสินค้าได้ ก็ต้องมีออกแบบโซ่คุณค่า (Value Chain) มาก่อน  มีการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) จนออกมาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีกว่าจึงแข่งขันได้  และด้วยราคาที่ถูกกว่าจึงแข่งขันได้    ถ้าทำได้ทั้ง 2 ประเด็น เราก็สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้   และที่สำคัญในเชิงการจัดการโซ่อุปทานก็คือ มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้า   ถ้าโซ่อุปทานของเราสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว  เราก็อยู่รอด

ถ้าเป็นเช่นนั้นผมก็อยากจะมองว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น  ไม่ใช่การลงทุนสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งอย่างเดียว  เวลานี้สิ่งที่เราพูดกัน ประเด็นที่ดร.สุเมธ นำเสนอนั้น ผมเห็นด้วยในขอบเขตหรือสมมติฐานของการนำเสนอ   ส่วนของอาจารย์สมพงษ์นั้นผมก็เห็นด้วยในขอบเขตหรือสมมติฐานของอาจารย์เช่นกัน   แล้วในมุมของผมล่ะครับ  ...ผมเห็นด้วยในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่แค่โครงข่ายคมนาคมขนส่งเท่านั้น  เมื่อเราลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น เรามักมองได้แค่เป็นสิ่งก่อสร้าง เป็นวัตถุ  แล้วเราก็มองแค่ฟังก์ชั่นในการใช้งานของสิ่งๆ นั้น   เราไม่ได้มองถึงองค์รวม (Holistic) ของการใช้โครงสร้างพื้นฐานนั้น    เรามองแค่สร้างถนน สร้างทางรถไฟ   เรามองเห็นแค่คนที่จะมาใช้ถนน   เรามองเห็นแค่จำนวนรถที่จะมาวิ่ง  แต่เราไม่ได้มองเห็นชีวิตของคน  ไม่ได้มองเห็นสังคมที่เกิดขึ้น แล้วมีคนมาใช้ถนน   ที่จริงแล้ว เราต้องมองอย่างมีความสัมพันธ์กัน  มองอย่างมีโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure)  ถ้ามองอย่างนี้แล้ว ถนนหรือรถไฟฟ้านั้นจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนในสังคม   และในที่สุดมันก็จะสะท้อนกลับคืนมาในรูปแบบผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

ผมยังไม่ค่อยได้เห็นโครงการใหญ่ๆ ในบ้านเรามองโครงงานกันอย่างมีโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure) หรืออย่างเป็นองค์รวม (Holistic View) หรืออย่างบูรณภาพ (Integrated View)  ส่วนใหญ่จะมองกันที่วัตถุหรือที่ตัวโครงการ  ไม่ได้มองกันอย่างองค์รวม  มองแบบแยกส่วน (Reductionism)  ไม่ได้มองที่กลุ่มคนที่ใช้วัตถุหรือโครงการและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นและผลต่อเนื่องจากโครงการ  รวมถึงการใช้ประโยชน์นั้นอย่างต่อเนื่องและอย่างมีประสิทธิภาพ  แต่ว่าไปแล้ว ผู้ที่ทำโครงการก็คงจะมีข้อมูลต่างๆ อย่างที่ผมกล่าวมาเกือบทั้งหมดนั้นแหละครับ   แต่ประเด็นก็คือ ข้อมูลและวิธีคิดไม่ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงระบบ (Systemic Approach) นั้น   แต่กลับกลายเป็นต่างคนต่างคิด ต่างทำ ต่างหน่วยงาน สร้างเสร็จ ส่งต่อไปให้อีกคนใช้ จะใช้ได้ไม่ได้ ก็ไม่สน  การคิดจึงยังเป็นแบบแยกส่วน  ไม่ได้เป็นองค์รวม หรืออยู่ในรูปแบบของโซ่อุปทาน (Supply Chain)
ภาพจาก http://www.dailynews.co.th/businesss/191053

ถ้าเรามองรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นโครงสร้างพื้นฐาน  เราจะต้องเห็น โครงข่ายรถไฟฟ้า  และเราควรจะต้องการพัฒนาเมืองทั้ง 2 ปลายทางและระหว่างทางเพื่อรองรับปริมาณ  เราจะต้องพัฒนาคนให้มาอยู่ในเมืองต่างๆ  เราต้องพัฒนาอาชีพให้เกิดขึ้นในเมืองและรอบเมือง  ระหว่างเมือง  เราต้องพัฒนาธุรกิจให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนผ่านเส้นทางรถไฟฟ้า   ทั้งหมดที่ผมพูดมานอกจากโครงข่ายรถไฟฟ้านั้น ก็คือ แนวคิดโซ่อุปทานทั้งสิ้น  เป็นโซ่อุปทานเชิงสังคม  หรือการวางผังเมือง (Urban Planning) ซึ่งจะมีผลในเชิงเศรษฐกิจโดยตรง 

แต่ประเด็นเรื่องต่างๆ ที่ผมอ้างว่าเป็นเรื่องโซ่อุปทานนั้นก็เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว ทำอยู่แล้ว    ผมจะมาบอกทำไมด้วยล่ะ  สร้างไปเดี๋ยวก็ดีเอง   ใช่ครับ เมื่อก่อนนี้ สร้างไปก่อน เดี๋ยวก็ดีเอง   สังคมมนุษย์ในสมัยก่อนทำอย่างนั้นได้  ปล่อยให้เกิดขึ้นเองตามกลไกธรรมชาติของสังคมได้   แต่ในปัจจุบันนี้เราปล่อยให้สังคมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของมันไม่ได้แล้ว  โลกเราสังคมเราซับซ้อนขึ้น  เราจึงต้องออกแบบ (Design) และปรับแต่ง (Shape) การดำเนินไปเชิงสังคมให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผมสนับสนุนการดำเนินงานและการลงทุนทุกอย่างล่ะครับ  ถ้ามันตอบได้ว่าในอนาคตมันจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร  ไม่ใช่สร้างมาและซื้อมาแล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือไม่ได้มีแผนงานในการใช้ประโยชน์มัน  ในกรณีรถไฟฟ้าความเร็วสูง  ผมไม่ได้กลัวจะเป็นหนี้หรือคุ้มค่าหรือไม่   ผมกลับมองว่าจะคุ้มหรือไม่   มันอยู่ที่พวกเรา มันอยู่ที่การจัดการ  ผมมองไปที่ใครจะมาใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงนี้  คุณภาพหรือระดับฐานะของคนที่มาใช้   เราจะต้องสร้างคนขึ้นมาอีก  คนจะต้องมีเมืองอยู่   มีเมืองสำหรับทำงาน   มีธุรกิจหรือมีงานทำ   มีสินค้าให้ผลิตแล้วก็ขาย  ทุกคนมีชีวิตอยู่ในเมือง   แล้วก็เดินทางไปมาหาสู่ทำธุรกิจพบปะสังสรรค์  ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจ    แล้วมันก็เชื่อมโยงกันไปถึงเรื่องอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันมี โครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure)    มันจะมีความเป็นได้   ถ้าเราคิดจะพัฒนากันทั้งระบบ (The Whole)   และมันก็มีความเป็นไปไม่ได้  ถ้าเราคิดแบบเชิงเดี่ยวและถ้าเราเอาสถานะปัจจุบันของเราเป็นตัวตั้งแล้ว คิดว่าจะเป็นหนี้ มองเห็นแต่ระบบคมนาคมขนส่ง    รถไฟฟ้าความเร็วสูงสร้างมาได้ก็ไม่มีประโยชน์   แต่กลับไม่มีใครคิดว่าจะมีแผนในเชิงองค์รวมในการใช้ประโยชน์มันได้อย่างไร  อย่างเด่นชัดและมีเหตุผลที่รองรับได้

สรุปได้ว่า ประเทศเราไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย นอกไปจากระบบการคิดที่ยังล้าหลังประเทศอื่นๆ มาก  โตและเจริญแต่เปลือกภายนอก  แต่ฐานความคิดของคนในชาติ ก็คิดได้แค่นี้  ผมเองก็คิดได้แค่นี้เหมือนกันล่ะครับ  แต่ในใจก็ยังบอกตัวเองว่า  จะต้องคิดให้ได้ดีกว่านี้ครับ