วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Perspectives 15. เมื่อโซ่อุปทานขาดสะบั้นลง ธุรกิจและชีวิตก็คงจะหยุดนื่ง

ผมได้อ่านนิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ 26 December 2011 มีคอลัมน์หนึ่งเขียนโดย Bill Powell ได้เสนอรายงานที่เกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วมในประเทศไทยโดยมีรูปรถยนต์ Honda ลอยน้ำอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ใต้รูปเขียนว่า “Logistics” แต่ชื่อบทความกลับเป็น “When Supply Chain Break (เมื่อโซ่อุปทานขาดสะบั้นลง)” แล้วก็มีคำโปรยว่า “Manufacturers have spent years buildings low-cost global supply chains. Natural disasters are showing them just how fragile those networks really are. (ผู้ผลิตได้ใช้เวลาหลายปีในการสร้างโซ่อุปทานระดับโลกที่มีต้นทุนต่ำ แล้วภัยพิบัติจากธรรมชาติก็แสดงให้พวกเขาเห็นว่าเครือข่ายเหล่านั้นเปราะบางแค่ไหน)” ผมเห็นแล้วก็เป็นห่วงว่า คนไทยเราเห็นทั้ง Logistics และ Supply Chain ในเรื่องเดียวกันแล้วจะเข้าใจอย่างไรกันบ้างหนอ โดยเฉพาะภาพรถ Honda จมน้ำนั้นมันจะเกี่ยวกับลอจิสติกส์ได้อย่างไร เพราะว่าเรื่องของภัยพิบัตินั้นคนส่วนใหญ่หรือในข่าวทั่วไปนั้นเขาพูดกันถึงเรื่อง Supply Chain เป็นส่วนใหญ่ แล้วทำไม นิตยสาร Fortune ถึงนำเสนอรูปรถที่จมน้ำด้วยคำว่าลอจิสติกส์ด้วยเล่า










Bill ผู้เขียนบทความนี้นำเสนอว่าความเสียหายของน้ำท่วมในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 30 พันล้านดอลลาร์ ผลของภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้มีผลกระทบต่อแหล่งผลิตต่างๆทั่วโลก ทำให้การผลิตต้องล่าช้าลงหรือไม่ก็ต้องหยุดชะงักไปเลย น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าเป็นการทดสอบความยอดเยี่ยมของการปฏิบัติการของบริษัทต่างๆ ซึ่งเราดูได้จากอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งประสบเหตุการณ์เช่นนี้ตั้งแต่ภัยพิบัติสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว และยังไม่เท่าไหร่เลยก็มาเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่เมืองไทยทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลก





จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้หลายๆ คนได้ยินคำว่าโซ่อุปทาน (Supply Chain) หรือไม่บางคนก็พูดว่าเป็นโซ่การผลิต แต่ผมว่าโซ่อุปทานนั้นเป็นมากกว่าโซ่การผลิตหรือเป็นมากกว่าที่เราเห็นและเข้าใจจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนี้ เหตุการณ์หายนะจากภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้เราเห็นอะไรต่างๆ ที่ไม่เคยเห็น เรื่องบางเรื่องที่ไม่เคยได้รับรู้ บริษัทที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรเท่าไหร่ แต่กลับเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนส่งให้ Macbook และ Prius.




ในบทความของ Bill ยังกล่าวถึงสิ่งที่น่าสังเกตุและเป็นคำถามอยู่เสมอ เมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติทำให้สายการผลิตหยุดชะงักลงเพราะว่าขาดชิ้นส่วนในการผลิตว่า “แล้ว Lean Supply Chain หรือ โซ่อุปทานแบบลีนนั้นเหมาะสมแล้วหรือ?” เพราะว่าแนวคิดนี้ถูกพัฒนามาจากบริษัทโตโยต้าเอง และบริษัทโตโยต้าก็ได้พยายามทำให้โซ่อุปทานของตัวเองนั้น Lean หรือมีความคล่องตัวและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าด้วยความมีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตใหญ่ๆ ในระดับโลกได้สร้างเครือข่ายของบริษัทผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั่วโลกเพื่อที่จะผลิตชิ้นส่วนป้อนให้บริษัทผู้ผลิตสินค้า ด้วยแนวคิดแบบลีนหรือแนวคิดของ Toyota Production System (TPS) ผู้ผลิตที่อยู่ในโซ่อุปทานจะต้องผลิตชิ้นส่วนในลักษณะทันเวลาพอดี (Just In Time) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ผลิตสินค้าจะได้ชิ้นส่วนวัตถุดิบได้ทันตามเวลาที่ต้องการ เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผน ระบบในโซ่อุปทานก็จะให้ผลประโยชน์กับทุกคนในโซ่อุปทาน โรงงานประกอบสามารถเดินสายการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถรักษาต้นทุนให้ต่ำไว้ได้โดยหาแหล่งผลิตในภูมิภาคต่างได้ด้วยตันทุนของค่าแรงที่ต่ำกว่าและสุดท้ายผู้บริโภคก็ได้ใช้ของที่มีราคาถูก





แต่เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้น ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผน บริษัทโตโยต้าเองก็ต้องมาประสบปัญหาเช่นกัน เราได้เห็นความเปราะบาง (Vulnerability) ของโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่เพราะว่าเป็นธรรมชาติของความเชื่อมต่อกันในโซ่อุปทาน ที่จริงแล้วโซ่อุปทานเองไม่มีคุณลักษณะสร้างผลกระทบเป็นแค่ลูกโซ่เท่านั้น เพราะว่าโครงสร้างของโซ่อุปทานนั้นเป็นเครือข่าย (Network) ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นก็จะเกิดขึ้นกันเป็นวงกว้างทั้งเครือข่ายเช่นกัน ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมที่มีส่วนในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า





เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2011 นี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักของโซ่อุปทานระดับโลกครั้งใหญ่เกิดความเสียหาย อย่างมากกับธุรกิจระดับโลก ผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดก็ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และสินค้าอื่นๆ อีกหลายชนิดทั้งในประเทศและในระดับโลก ด้วยเหตุการณ์นี้จึงทำให้ผู้ผลิตในระดับโลกต้องหันมาพิจารณาหรือคิดกันใหม่ในเรื่องโครงสร้างการผลิตทั่วโลก (Glabal Structure) Bob Ferrari ผู้เชี่ยวชาญด้านโซ่อุปทานได้กล่าวไว้ว่า “เหตุการณ์หงส์ดำ (Black Swan) หรือภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวกันมาก่อนได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความเปราะบางของโซ่อุปทานอุตสาหกรรม” Carlos Ghosn, CEO of Nissan มองในเชิงปรัชญาว่า “จะมีวิกฤติอีก เราไม่รู้ว่าวิฤตินั้นจะเป็นอะไร จะเกิดขึ้นที่ไหน จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้นเราจะต้องเรียนรู้จากมัน” แล้ว Bill Powell ก็กล่าวสรุปว่า ถ้า Ghosn พูดถูก และวิฤกตินั้นจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นความได้เปรียบเชิงต้นทุนอาจจะไม่ได้ตกอยู่กับโซ่อุปทานที่ว่องไวที่สุด แต่จะเป็นโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง (Robust) ที่สุด ตรงนี้ผมเห็นด้วยอย่างมาก บทความครั้งต่อๆ ไปของผมคงจะต้องลองมาดูกันว่า Robust Supply Chain นั้น คือ อะไรกัน?





ลองกลับมาดูที่รูปของ Fortune ที่เป็นรถ Honda ที่ลอยอยู่ในน้ำท่วม Bill Powell ดูว่าเป็นลอจิสติกส์อย่างไร เพราะว่าดูในบทความแล้วเขาไม่ได้เอ่ยถึงลอจิสติกส์สักคำเลย และชื่อเรื่องกลับเป็น “เมื่อโซ่อุปทานขาด (When Supply Chain Break)” ผมก็ไม่รู้ว่าพวกเราคนไทยพอเห็นรูปนั้นและชื่อเรื่องจะเข้าใจความสัมพันธ์ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนี้อย่างไรกันบ้าง ผมคิดว่า Bill Powell คงจะไม่ได้เขียนคำว่า Logisitcs ใต้รูปน้ำท่วมอย่างไม่ตั้งใจ ผมคิดว่า Bill เข้าใจว่าน้ำท่วมโรงงาน Honda แล้วจะทำให้รถที่ผลิตเสร็จแล้วไม่สามารถนำส่งให้ถึงมือลูกค้านั้นหมายความว่าเป็นปัญหาเชิงลอจิสติกส์ เพราะว่าลอจิสติกส์เป็นกิจกรรมที่จะต้องพยายามนำคุณค่าต่างๆ ที่ลุกค้าต้องไปถึงมือลูกค้าให้ได้ เมื่อลอจิสติกส์ขาดสะบั้นลงก็จะทำให้โซ่อุปทานนั้นขาดไปด้วย ซึ่งหมายความว่า โซ่อุปทานไม่สามารถนำส่งคุณค่าที่อยู่ในรูปแบบของสินค้าและบริการได้อย่างดี เร็วและถูก ผมว่า Bill นี้มีความเข้าใจในประเด็นของความสัมพันธ์ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นอย่างดี เพราะว่าเขามองจากลูกค้า ไม่ได้มองเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง เมื่อมองจากลูกค้าแล้ว เราจะเห็นกิจกรรมลอจิสติกส์และการผลิตเป็นเครือข่ายกันทั้งสายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network) เราจะเห็นลอจิสติกส์และการผลิต ดังนั้นในรูปรถที่ลอยน้ำนั้น เป็นรถที่ผลิตเสร็จจอดอยู่ในลานจอดเพื่อรอส่งให้กับลูกค้า ตรงนี้ไงครับเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ครับ เมื่อน้ำท่วมมารถก็เสียหายส่งลูกค้าไม่ได้ ลอจิสติกส์ขาดไปเลยครับ





เมื่อเปรียบเทียบกับพวกเราคนไทยในหลายๆ ภาคส่วนนั้นมีความเข้าใจที่หลากหลายกันไปทำให้การสื่อสารและการวางแผนร่วมกันในภาพใหญ่ๆ ของประเทศมีปัญหามากๆ เพราะที่เราได้ยินกันว่า น้ำท่วมนั้นทำให้โซ่อุปทานขาดลง แล้วมันขาดลงตรงไหนบ้าง มันขาดลงตรงที่ลอจิสติกส์และการผลิตของโรงงานใดโรงงานหนึ่งในโซ่อุปทานใดโซ่อุปทานหนึ่ง แล้วน้ำก็ไหลท่วมไป ทำให้ถนนขาด ลอจิสติกส์ก็ขาดลง ชิ้นส่วนส่งเข้าไปผลิตไม่ได้และส่งออกจากโรงงานไม่ได้ นั่นยังไม่เท่าไหร่ น้ำยังเข้าไปทำให้โรงงานไม่สามารถผลิตได้อีก การผลิตก็ขาดลง เมื่อเป็นเช่นนี้โซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply Chain Disruption) ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าลูกค้าไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งหรือที่ต้องการ สินค้าก็ขาดตลาด ผมว่าเรื่องครั้งนี้ทำให้เรารู้ซึ้งถึงความสำคัญของโซ่อุปทานในระดับหนึ่ง แต่เราจะต้องไม่หยุดยั้งแค่รู้สึกเท่านั้นแต่จะต้องต่อยอดด้วยการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องโซ่อุปทานในมิติที่หลากหลายขึ้นและยังต้องสื่อสารออกไปให้สังคมได้เข้าใจมากขึ้นด้วย เพราะว่าเท่าที่ผมสังเกตุดูแล้วพวกเราเองยังมองลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน และยิ่งเป็นเรื่องการผลิตด้วยแล้ว เรายิ่งดูห่างออกไปเลย ทั้งๆ ที่การผลิตนั้นคือหัวใจของโซ่อุปทาน และยิ่งในการผลิตนั้นก็มีลอจิสติกส์ที่ยังต้องจัดการอีกมากในโรงงานผลิต ซึ่งไม่ใช่แค่การขนส่งหรือการจัดเก็บสินค้าเท่านั้น หนทางยังอีกไกลครับ สำหรับการเดินทางของการเรียนรู้ซึ่งไม่มีวันจบสิ้น แต่กลับจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นทุกวัน พวกเราเองก็จะต้องเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราด้วย เพื่อเผชิญและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะภัยพิบัติ