ผมฟังอาจารย์รุทธิ์ พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Intelligence ใน Voice TV เมื่อคืนวันที่ 5 ธ.ค. 54 แล้ว มันส์ดีครับ สะใจมากๆ แต่ก็รู้สึกรำคาญจริงๆ ครับ ไม่ได้รำคาญอาจารย์รุทธิ์นะครับ อาจารย์ท่านมีแนวคิดมาทางเดียวกับผมอยู่แล้ว ผมว่าอาจารย์น่าจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมรำคาญตรงคำถามต่างๆ มากกว่า แต่ก็โทษพิธีกรไม่ได้หรอกครับ เมื่อสังคมเรามีคำถามที่เกี่ยวกับลอจิสติกส์กันได้แค่นี้ มันก็คงจะเป็นวุฒิภาวะทางความคิดของสังคมที่มีต่อประเด็นการจัดการลอจิสติกส์ แล้วผมก็รำคาญตรงเรื่องต้นทุนลอจิสติกส์ ผมว่าคำถามต่างๆ ของสังคมเราไม่ได้ไปถึงไหนเท่าไหร่ เรารู้ต้นทุนลอจิสติกส์ของประเทศแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อดี มันจะมีผลต่อการขับรถไปทำงานของผมไหม หรือจะมีผลต่อกาแฟที่ผมจะกินอย่างไร ผมตอบก่อนเลยก็ได้ มีผลอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้ทันทีทันใด แล้วไงต่อ แล้วมันมีผลต่อการแข่งขันของประเทศอย่างไร จริงหรือเปล่า? หรือผมเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า อ้าว! ถ้างั้นมาดูว่าผมเข้าใจอย่างไร
ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจมิติของการดำเนินธุรกิจเสียก่อน ต้นทุนในการดำเนินการเป็นตัววัดความสามารถในการทำกำไรตัวหนึ่ง ซึ่งมีต้นทุนลอจิสติกส์อยู่ด้วย อย่าลืมนะครับ ต้นทุนลอจิสติกส์ไม่ใช่พระเจ้า เห็นเขาพูดกัน ก็พูดกันจัง เราต้องใช้ให้เป็น ตีความให้เป็น มันถึงจะมีประโยชน์ ไม่งั้นก็พูดเล่นกันเท่ห์ๆ ฟังแล้วก็เบื่อ ไม่เห็นจะได้อะไรขึ้นมา เปลืองน้ำลายกันเปล่า ลอจิสติกส์และต้นทุนลอจิสติกส์เป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ในความสามารถในการแข่งขันครับ ไม่ใช่ทั้งหมด มีต้นทุนลอจิสติกส์แต่กิจกรรมลอจิสติกส์อาจจะเลวก็ได้ เพราะลูกค้าได้รับสินค้าในสภาพไม่ดีไม่ตรงตามต้องการและไม่ตรงเวลา มนุษย์เราซื้อสินค้า ไม่ได้ซื้อลอจิสติกส์ แต่ถ้าไม่มีลอจิสติกส์เราก็ไม่มีสินค้า สุดท้ายแล้ว ถ้าเราจะเอาดีแค่ลอจิสติกส์ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้าได้ ก็หมดกันเลย ถึงแม้จะลอจิสติกส์ดี แต่ลูกค้าไม่ซื้อก็ไม่มีประโยชน์ต่อธุรกิจ
ผมมองประเด็นเรื่องต้นทุนประกอบกับประเด็นตัวชี้วัดอื่นๆ ด้วย เช่น ดี (Good) หรือ In Full แล้ว เร็วหรือตรงเวลา (On Time) สุดท้ายแล้วจึงมาดูที่ประเด็นของต้นทุนให้ถูกลง ประเด็น ดี เร็ว ถูก ไม่ได้ถูกพิจารณาพร้อมๆ กัน แต่มีความเชื่อมโยงกัน เป้าหมายของธุรกิจ คือ การทำกำไรสูงสุด ซึ่งก็คือ ราคาขาย – ต้นทุน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด จะได้แข่งขันกันได้ คิดอย่างนี้ก็ง่ายไปหน่อย อย่าลืมว่าเราจะได้กำไรก็ต่อเมื่อขายสินค้าได้ ดังนั้นเราต้องมีสินค้าเสียก่อนและต้อง “ดี” และถ้าจะแข่งขันได้ ก็จะต้อง “ดีกว่า” ลูกค้าจึงจะตัดสินใจซื้อ เราไม่ได้ซื้อของเพราะว่าราคาถูกเท่านั้น ก่อนที่เราจะพิจารณาเรื่อง “ถูก” นั้น เราจะต้องมีสินค้ามาไว้เสนอขายก่อน แล้วสินค้านั้นมาได้อย่างไรล่ะ ตรงนี้ไงครับ ก็มาจากกระบวนการผลิตในองค์กรและการจัดการสั่งซื้อวัตถุดิบและการกระจายสินค้าจากโซ่อุปทาน สินค้านั้นจะออกมาดีหรือไม่ดีนั้นก็มาจากกระบวนการผลิตในบริษัทและโซ่อุปทานของบริษัทนั้น โซ่อุปทานสำคัญตรงนี้
ดังนั้นก่อนที่เราจะผลิตสินค้าออกมานั้น เราก็ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) และมองหาว่าใครจะช่วยผลิตได้บ้างตามความสามารถในแต่ละชิ้นส่วน ซึ่งก็คือ การออกแบบโซ่อุปทาน (Supply Chain Design) ซึ่งจะมีการออกแบบและกำหนดโครงข่ายลอจิสติกส์ (Logistics Network) สำหรับ Suppliers ของการผลิตสินค้า และรวมถึงการออกแบบกระบวนการผลิต (Manufacturing Design) ในแต่ละโรงงานผลิตของแต่ละโรงงานผลิตชิ้นส่วน และการออกแบบการกระจายสินค้าและการขายปลีกที่เป็นจุดสุดท้ายที่จะส่งมอบสินค้าต่อผู้บริโภค ซึ่งเราจะได้เงินกลับคืนมา เราจะกำไรมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบกระบวนการทั้งหมดที่ผมกล่าวมาว่าสามารถควบคุมต้นทุนได้มากน้อยขนาดไหน ส่วนต้นทุนที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในขณะเวลาดำเนินงานในโซ่อุปทานซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตและต้นทุนลอจิสติกส์ซึ่งจะต้องมองแบบองค์รวม ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่ง และจะต้องรองรับความไม่แน่นอนและความผันผวนของสภาวะแวดล้อมของธุรกิจ
ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในมุมมองของผมมี 3 ประเด็น คือ (1) ความสามารถในการเป็นผู้นำในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใความหลากหลายและทันกับความต้องการของลูกค้าซึ่งคือ ประเด็นในการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการการผลิต (2) ความสามารถในเชิงลอจิสติกส์ ซึ่งก็คือ ความสามารถในการนำส่งผลิตภัณฑ์ตลอดโซ่อุปทานให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างถูกเวลาและสถานที่ (3) ความสามารถในเชิงโซ่อุปทาน คือ ความสามารถในการจัดการและการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทานตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ซึ่งรวมถึงการขนส่ง การกระจาย การจัดเก็บสินค้า ผู้ค้าปลีก ในประเด็นโซ่อุปทานเป็นประเด็นที่รวมประเด็นที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน
สำหรับประเด็นที่ 1 เป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic) ถ้าออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ดี ไม่ตรงตามความต้องการลูกค้าก็ไม่มีใครซื้อ แล้วลอจิสติกส์จะช่วยอะไรได้? ต่อให้ต้นทุนต่ำสุดติดดิน ก็ไม่มีใครซื้อ เพราะลูกค้าไม่อยากได้ การออกแบบและเลือกกระบวนการผลิตก็มีผลต่อคุณภาพและต้นทุน เราซื้อสินค้าเพราะคุณภาพที่เราต้องการก่อน ไม่มีใครในโลกนี้ ซื้อสินค้าเพราะถูกอย่างเดียว เมื่อได้สินค้าที่มีคุณภาพตามต้องการแล้ว ชิ้นไหนถูกกว่า เราก็ต้องเลือกอันนั้นแน่นอนครับ ประเด็นเรื่องต้นทุนที่ถูกกว่าจึงถูกนำมาพิจารณาได้ตามลำดับที่กล่าวมา เมื่อยุทธศาสตร์ดี ศึกษาตลาดและออกแบบโซ่อุปทานดีแล้ว เราก็คาดหวังว่าจะนำแผนต่างๆ ที่ออกแบบไว้ไปดำเนินงานให้อยู่ในขอบเขตของการออกแบบเพื่อที่จะควบคุมทั้งคุณภาพ (ดี) ส่งมอบให้ตรงเวลา (เร็ว) และต้นทุนต่ำ (ถูก) ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
สำหรับประเด็นที่ 2เป็นประเด็นในระดับการปฏิบัติการ (Operational) ซึ่งไม่ใช่ขั้นตอนของการออกแบบแล้ว แต่เป็นขั้นตอนที่จะต้องทำตามแผนที่ออกแบบมา ถ้าแผนที่ออกแบบมามีต้นทุนสูง ต้นทุนการดำเนินงานก็จะสูงตาม ประเด็นในระดับปฏิบัติการนี้จะต้องมองอย่างบูรณาการที่จะต้องรวบรวมเอาการผลิตเข้าไปด้วย เพราะเครื่องจักรและกระบวนการผลิตถูกออกแบบและเลือกไว้ ส่วนที่เหลือเป็นการจัดการลอจิสติกส์ของ การจัดซื้อ การจัดการลอจิสติกส์สินค้าคงคลังวัตถุดิบ การจัดการลอจิสติกส์การผลิต การจัดการลอจิสติกส์สินค้าคงคลังสำเร็จรูป การจัดการลอจิสติกส์การกระจายสินค้า การจัดการลอจิสติกส์การขาย และการจัดการลอจิสติกส์การบริการ หน้าที่ที่สำคัญในระดับปฏิบัติการ คือ การตอบสนองต่อคำสั่งซื้อ ถ้าบริษัทเรามีลอจิสติกส์ที่ดี ก็คือ ข้อมูลคำสั่งซื้อไหลจากลูกค้าไปสู่ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายจัดส่งและกลับมาที่ฝ่ายขายอีกครั้งหนึ่งเพื่อส่งมอบสินค้า ต้นทุนในการดำเนินงานส่วนใหญ่ก็มาจากกิจกรรมการดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ ประเด็นที่สำคัญในระดับการปฏิบัติการนี้ คือ จะต้องทำในทุกวิถีทางที่จะนำสินค้าไปส่งมอบให้กับลูกค้าตามคำสั่งซื้อ มุมมองในระดับนี้จะต้องเน้นที่คุณภาพ (Quality) หรือ ดี และตรงเวลา (On Time) หรือเร็ว การจัดการกิจกรรมต่างๆ ในระดับปฏิบัติการนี้จึงมีผลต่อต้นทุนสินค้าโดยตรงด้วย
สำหรับประเด็นที่ 3เป็นประเด็นที่สำคัญเช่นกัน เพราะเป็นประเด็นโซ่อุปทานซึ่งเน้นที่การทำงานร่วมกันตั้งแต่ Suppliers, Third Party Logistics, Manufacturers, Distributors, Retailers ลองคิดดูนะครับ ถ้าคนเหล่านี้หรือบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำงานร่วมกันแล้ว ผู้บริโภคคงจะไม่ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ (ดี) และอาจจะไม่ได้ผลิตภัณฑ์อย่างตรงเวลา (เร็ว) ถึงตรงนี้ถ้าเราไม่ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและไม่ได้ตรงเวลาแล้ว เราก็คงจะขายผลิตภัณฑ์ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะมีต้นทุนลอจิสติกส์ที่ต่ำแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์เสียแล้ว
เรื่องของต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในมุมไหนก็ตาม คงไม่ใช่ตัวเลขตัวเดียวโดดๆ ไว้ให้เราพิจารณาหรือประเมิน เราก็คงจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับมุมมองต้นทุนในด้านอื่นและมิติอื่นๆ ของโซ่อุปทานซึ่งไม่ใช่แค่ลอจิสติกส์ เลิกกันเสียที่เถอะครับในการนำเสนอองค์ความรู้แบบแยกส่วนหรือลดทอน (Fragmented or Reductionism) ทั้งๆ ที่ความเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นเกิดจากความเป็นองค์รวม (Holism) ของกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างยั่งยืน ผมเข้าใจอย่างนี้ล่ะครับ ใครช่วยแนะนำหน่อยครับ!