ผมเห็นความกระตือรือร้นของหลายภาคส่วนทั้งก่อนน้ำท่วมและหลังน้ำลดแล้ว ที่เห็นๆ พูดกันมากๆ ก็คือ เรื่องของยุทธศาสตร์ ระยะหลังๆ ผมมีโอกาสในการเข้ารับการศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์มาพอสมควรและมีโอกาสศึกษาเพิ่มเติมมาบ้าง ทำให้ผมได้มองเห็นว่า ประเทศเราขาดยุทธศาสตร์ที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ ประเทศเรามียุทธศาสตร์หลายยุทธศาสตร์ ไม่เชื่อลองไปทุกจังหวัดสิครับ แต่ละจังหวัดเขาจะมีเอกสารประชาสัมพันธ์ของจังหวัดต่างๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดของยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดอยู่ และนี่ยังไม่ได้รวมหน่วยงานราชการทั้งหลายจะต้องมียุทธศาสตร์เช่นกันหรือไม่ก็ต้องมีไว้รองรับ แล้วผมจะมาบ่นทำไมว่าประเทศเราไม่มียุทธศาสตร์ มียุทธศาสตร์กันทั่วหน้าอย่างนี้แล้ว ทำไมประเทศเราไปกันแค่นี้ล่ะ
ที่ผมว่าไม่มีนั้นผมหมายความว่าเราไม่ได้คิดอย่างยุทธศาสตร์ (Strategic Thinking) กันจริงๆ สิ่งที่เราหรือใครก็ไม่รู้ที่เป็นผู้บริหารในบ้านเมืองเราคิดออกมานั้นยังไม่เป็นยุทธศาสตร์ที่ดี คือคิดแล้วไม่ชนะ หรือไม่ต้องคิดก็เป็นยุทธศาสตร์ได้ยังไง? ขาดทิศทางที่จะไป ขาดทิศทางที่จะปฏิบัติและที่สำคัญขาดแนวทางในการทำงานร่วมกัน ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ไม่สามารถเชื่อมโยงลงไปสู่การปฏิบัติร่วมกันได้ แล้วจะเป็นยุทธศาสตร์ได้อย่างไรกัน? ดังนั้นยุทธศาสตร์จะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ก็ทุกอย่างเลยก็ว่าได้ แต่ผมคิดว่ามันไม่ชัดเจนตั้งแต่เป้าหมายและวิสัยทัศน์แล้วล่ะครับ
ปัญหาของยุทธศาสตร์ในประเทศไทย คือ เรายังไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่แท้จริง ดูเหมือนไม่มีเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นอะไรจะไปทางไหนในอนาคตอันไกล รวมทั้งการนำยุทธศาสตร์ชาติไปแปรเป็นยุทธศาสตร์ย่อยในภาคส่วนต่างๆ ก็ยังขาดโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic Structure) ทำให้การดำเนินยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่างๆ ไม่มีความเป็นบูรณาการกัน ดังนั้นเราน่าจะมีแนวคิดใหม่ในการสร้างยุทธศาสตร์ จากแนวคิดการสร้างยุทธศาสตร์แบบเชิงเส้น (Linear Thinking) ไปสู่แนวคิดแบบไม่เป็นเชิงเส้น (Non-Linear Thinking) หรือเป็นปัญหาที่มีโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure)
กรอบความคิดและการทำงานในการแก้ปัญหาและการวางยุทธศาสตร์ในปัจจุบันยังอยู่บนพื้นฐานความคิดที่เป็นการวิเคราะห์ (Analysis) และการแก้ปัญหา (Problem Solving) ตามวิธีการเชิงวิทยาศาสตร์หรือวิธีการดั้งเดิมแบบเชิงเส้น เช่น แบบจำลองน้ำตก (Waterfall Model) ที่มีกระบวนการกำหนดปัญหา การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ต่อจากนั้นก็ค้นหาคำตอบและการนำคำตอบไปปฏิบัติใช้แก้ไขปัญหา ซึ่งดูแล้วอาจจะใช้ไม่ค่อยได้ผลสำหรับในปัญหายุคปัจจุบันที่มีความเป็นพลวัตและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น โดยปกติแล้วปัญหาที่เรียกว่ามีความยุ่งยาก (Complicated) จะประกอบด้วยชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบจำนวนมากและโครงสร้างที่อยู่แยกออกจากสภาพแวดล้อม ส่วนปัญหาที่ซับซ้อน (Complex) นั้นจะเกิดขึ้นจากความเป็นพลวัต (Dynamics) และมีการโต้ตอบกัน (Interactive) ระหว่างองค์ประกอบกันเองและกับสภาวะแวดล้อม อีกทั้งยังมีองค์ประกอบที่ปรับตัวเองได้ซึ่งไม่ได้ถูกพิจารณาแยกออกจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเลย
องค์ประกอบที่มีนัยสำคัญของระบบซับซ้อนก็ คือ มนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ระบบที่ยุ่งยาก (Complicated System) ส่วนใหญ่แล้วต้องการการอนุมาน (Deduction) และการวิเคราะห์ (Analysis) ซึ่งเป็นตรรกะอย่างเป็นทางการ (Formal Logic) ของการแบ่งแยกออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ระบบที่ซับซ้อนต้องการการหาเหตุผลเชิงการเหนี่ยวนำ (Inductive) และ เชิงการชักพาออกไป (Abductive) สำหรับการวินิจฉัยและการสังเคราะห์ซึ่งเป็นตรรกะอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Logic) ของการสร้างภาพรวมทั้งหมดใหม่ (New Whole) ของชิ้นส่วนต่างๆ เพราะว่าองค์ประกอบของระบบซับซ้อนที่เราสนใจเป็นมนุษย์ การรับรู้ถึงความสัมพันธ์ต้องการการวิเคราะห์เชิงสมมุติฐานในรูปแบบของแผนผังและการเล่าเรื่องของความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์
เรื่องของยุทธศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องคิดและดำเนินการเพื่อให้องค์กรและสังคมอยู่รอด เพราะว่าชีวิตคือการดิ้นรนในบริบทสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตนเองอยู่รอด สังคมก็มีชีวิต สังคมเองก็ต้องดิ้นรนให้อยู่รอด ดังนั้นยุทธศาสตร์จึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะว่าสิ่งมีชีวิตที่คิดและตัดสินใจเท่านั้นที่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และยุทธศาสตร์นั้นก็หมายถึง การปรับตัว การเปลี่ยนแปลงเพี่อการต่อสู้และแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ยุทธศาสตร์ที่ผมกล่าวถึงนี้เป็นยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของสังคมในเชิงองค์รวม เรื่องของยุทธศาสตร์ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือในระดับองค์กรโดยพื้นฐานแล้วก็ คือ เรื่องของสังคมหรือเป็นปัญหาเชิงสังคมซึ่งประกอบด้วยปัจเจกบุคคลมากมายที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างนับไม่ถ้วนตามแรงผลักดันที่หลากหลายของแต่ละคนแต่ละกลุ่มคน
ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการสร้างยุทธศาสตร์ เราจะต้องใช้เครื่องมือในการคิดและวางแผนเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม เราต้องไม่มองสังคมหรือประเทศในมุมมองเชิงเครื่องจักรซึ่งแบ่งบทบาทและหน้าที่ต่างๆ ออกเป็นกระทรวงทั้งทบวง กรม และหน่วยงานอิสระต่างๆ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพราะว่าเราใช้แนวคิดแบบลดทอน (Reductionistic Thinking) ทำให้เราสูญเสียความเข้าใจของภาพรวมทั้งหมดของชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติ เราคิดว่าเราสามารถคิดและวิเคราะห์ในแต่ละส่วนที่ลดทอนแยกส่วนออกมาแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมหรือเกิดผลกระทบในภาพรวมได้ ซึ่งไม่จริงในสภาพปัจจุบัน ที่จริงแล้วความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างแต่ละส่วนของความเป็นชาติต่างหากที่ทำให้เกิดความเข้าใจภาพรวมหรือชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติ ชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติจึงจำเป็นที่จะต้องถูกมองและถูกพิจารณาในเชิงระบบ (System Approach) หรือมองในเชิงองค์รวม
โดยทั่วไปแล้วองค์ประกอบเชิงยุทธศาสตร์คือ ภาพสะท้อนของปัจเจกบุคคลและองค์กรต่างๆ จำนวนมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวทางในการแก้ปัญหาที่อยู่ในยุทธศาสตร์ และมุมมองและความนิยมชมชอบที่เกี่ยวข้องกันรวมทั้งความยากที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จะพัวพันและขึ้นอยู่กับความสำเร็จของความเข้าใจปัญหาร่วมกันของปัจจเจกบุคคลและองค์กรต่างๆ แล้วเวลานี้เราเข้าใจปัญหาของยุทธศาสตร์ดีแค่ไหน เราเข้าใจปัญหาของชาติดีแค่ไหน และเข้าใจร่วมกันอย่างไร
ปัญหาในการเขียนยุทธศาสตร์และในการกำหนดนโยบายของปัญหาในระดับใหญ่ๆ อย่างระดับชาติซึ่งเป็นระบบที่มีความซับซ้อนมากๆ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาก มีความสัมพันธ์และมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก มีโครงสร้างที่เป็นระบบอย่างเห็นได้ชัด แต่เราเองไม่ได้ให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจในธรรมชาติของระบบของชาติที่เป็นสังคมขนาดใหญ่ นักวิชาการและนักวางแผนนโยบายเรียกปัญหาในระดับนี้ว่า “ปัญหาพยศ (Wicked Problem)” ซึ่งมีรายละเอียดของประเด็นที่เป็นเรื่องที่ “พยศ (Wicked)” ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถจัดการได้ง่าย ยากที่จะควบคุม ไม่เชื่อง “ปัญหาพยศ (Wicked Problem)” นี้ถูกตั้งชื่อขึ้นโดย Rittel and Weber จากบทความทางวิชาการ ‘Dilemmas in a general theory of planning’. ในปี 1973 หลังจากที่ผมได้มีโอกาสมาสัมผัสเรื่องราวของ Wicked Problem หรือปัญหาพยศแล้ว เวลาไปนำเสนอปัญหาอะไรหรือมองปัญหาอะไรในระดับใหญ่ๆ ที่มีหลายหน่วยงานหรือมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาก ผมคิดว่ามันเข้ากับปัญหาพยศทั้งสิ้นเลยครับ จากปัญหาน้ำท่วมสู้ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ทั้งหลาย คราวนี้แล้วเราจะสังเกตุได้อย่างไรว่าปัญหาเหล่านี้มันเป็นปัญหาพยศ (Wicked Problem) ที่จริงแล้วต้นฉบับบทความของ Rittel and Webber (1973) ได้อธิบายคุณลักษณะของปัญหาพยศนี้ไว้ 10 ข้อ ต่อมาก็มีคนกล่าวว่าคุณสมบัติบางข้อนั้นซ้ำซ้อนกัน จึงลดลงเหลือประมาณ 5 ข้อ แต่ Timothy Ritchey (2011) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ควรจะคงไว้ทั้ง 10 ข้อจะดีกว่าเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งในปัญหา ปัญหาพยศมีคุณสมบัติดังนี้
1. ไม่มีสูตรหรือนิยามที่ตายตัวสำหรับปัญหาพยศ ข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจปัญหาจะขึ้นอยู่กับแนวคิดของคนใดคนหนึ่งในการแก้ปัญหา ที่เราจะต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะว่าการที่จะอธิบายถึงปัญหาพยศในรายละเอียดที่พอเพียง เราต้องมีแนวทางหรือคำตอบพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้อย่างเต็มที่สำหรับแนวทางการแก้ไขที่เข้าใจได้ทั้งหมดไว้ล่วงหน้า เหตุผลก็คือ ทุกคำถามต้องการข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเข้าใจในปัญหาและคำตอบของปัญหาในเวลานั้น แต่ความเข้าใจในปัญหาและคำตอบของปัญหาเกิดขึ้นพร้อมกัน ดังนั้นเพื่อที่จะคาดการณ์คำถามทั้งหมด เราก็จะต้องคาดการณ์ข้อมูลทั้งหมดสำหรับคำตอบไว้ล่วงหน้าด้วย จึงทำให้เราต้องการความรู้ที่สามารถเข้าใจของคำตอบทั้งหมด
2. ปัญหาพยศนั้นไม่มีจุดสิ้นสุด ในการแก้ปัญหาเชื่อง (Tame Problem) ซึ่งตรงกันข้ามกับปัญหาพยศนั้น ผู้ที่แก้ปัญหารู้ว่าเขาจะจัดการกับปัญหาให้จบได้เมื่อใด จะมีกฎเกณฑ์ที่จะบอกว่าเมื่อใดที่จะได้คำตอบในการแก้ไขปัญหา แต่สำหรับปัญหาพยศเราจะไม่มีวันได้แนวทางการแก้ปัญหาที่สมบูรณ์หรือเป็นที่สุดหรือถูกต้องที่สุด เพราะว่าการจัดการปัญหาพยศไม่ได้มีวัตถุประสงค์สำหรับเรื่องนั้น ปัญหาพยศจะวิวัฒนาการและผ่าเหล่าผ่ากอออกไปอยู่ตลอดเวลา เราจะหยุดได้ก็ต่อเมื่อเราใช้ทรัพยากรหมดสิ้น และเรารู้สึกว่ามันดีพอแล้ว หรือไม่นั้นเราก็รู้สึกว่าเราได้ทำเท่าที่เราทำได้แล้ว
3. คำตอบของปัญหาพยศไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่าถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องที่บอกว่าดีกว่าหรือแย่กว่า กฎเกณฑ์สำหรับการตัดสินถึงข้อยืนยันของ ”คำตอบ” ของปัญหาพยศจะขึ้นอยู่กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการตัดสินของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่แตกต่างกันก็จะดูแตกต่างกันตามกลุ่มหรือความสนใจส่วนบุคคล กลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะและลัทธิที่มีความอคติ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างกลุ่มกันไปจะเห็นคำตอบที่แตกต่างกันออกไปซึ่งก็จะได้ผลออกมาแค่ดีกว่าหรือแย่กว่าเท่านั้น
4. ไม่มีการทดสอบแบบทันทีทันใดหรือทดสอบขั้นสุดท้ายของคำตอบที่มีต่อปัญหาพยศ คำตอบใดๆ ก็ตามที่หลังจากการนำไปปฏิบัติใช้ในการรับมือกับปัญหาพยศจะสร้างกระแสของผลต่อเนื่องที่อยู่นอกเหนือจากที่ส่วนถูกขยายผลออกไปซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลาที่ดูเสมือนไม่มีขอบเขต ยิ่งไปกว่านั้นผลต่อเนื่องของคำตอบในวันพรุ่งนี้อาจจะทำให้เกิดผลสะท้อนที่ไม่เป็นที่ปรารถนาอย่างมากที่สุด ซึ่งจะครอบงำผลประโยชน์ที่ต้องการหรือผลประโยชน์ที่บรรลุผลสำเร็จจนกระทั่งปัจจุบัน
5. ทุกคำตอบสำหรับปัญหาพยศเป็นการดำเนินงานแบบมีโอกาสครั้งเดียวหรือแบบยิงได้นัดเดียวเท่านั้น เพราะว่าเราไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้ด้วยการลองผิดและลองถูก ทุกความพยายามในการแก้ปัญหามีความหมายเสมอ “ทุกคำตอบที่ถูกนำไปปฏิบัติจะเป็นผลต่อเนื่อง มันได้ทิ้งร่องรอยที่ไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้ไว้ และทุกความพยายามที่จะกลับการตัดสินใจหรือแก้ไขสำหรับผลต่อเนื่องที่ไม่เป็นที่ปรารถนาจะทำให้เกิดชุดของปัญหาพยศใหม่ตราบจนถึงปัจจุบัน
6. ปัญหาพยศไม่มีชุดของคำตอบที่เป็นจำนวนที่นับได้ หรือ ไม่มีชุดของการดำเนินงานที่ถูกอธิบายอย่างชัดเจนซึ่งอาจจะถูกบรรจุเข้าไปในแผน ไม่มีหลักเกณฑ์ซึ่งจะทำให้ใครก็ตามพิสูจน์ได้ว่าคำตอบทั้งหมดสำหรับปัญหาพยศได้ถูกระบุและถูกพิจารณาไว้ ปัญหาพยศอาจถูกพบว่าไม่มีคำตอบ เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอเชิงเหตุและผลในภาพร่างของปัญหา
7. ทุกปัญหาพยศจะต้องเป็นปัญหาเฉพาะที่ไม่สามารถหาปัญหาอื่นมาเสมอเหมือนได้ ไม่มีระดับชั้นของปัญหาพยศในแง่มุมที่ว่าหลักการของคำตอบของปัญหาสามารถถูกพัฒนาเพื่อที่จะเข้ากันได้กับปัญหาอื่นๆของระดับชั้นของปัญหา และยังหมายถึงว่า ส่วนหนึ่งของศิลปะการจัดการของปัญหาพยศก็ คือ ศิลปะของการที่เราไม่สามารถรู้ถึงประเภทของคำตอบที่จะประยุกต์ใช้นั้นล่วงหน้าใขณะที่เรามีเวลาน้อยในการจัดการกับปัญหา
8. ทุกปัญหาพยศสามารถถูกพิจารณาเป็นอาการของปัญหาพยศอื่นๆ มีลักษณะภายในหลายๆอย่างของปัญหาพยศที่สามารถถูกพิจารณาเป็นอาการของลักษณะภายในอื่นๆของปัญหาเดียวกัน โดยมีความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่เป็นวงรอบและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันที่หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง และปัญหาก็มีระดับของที่มาของเหตุและผลมากมายที่จะต้องพิจารณา จะต้องใช้การตัดสินใจอย่างซับซ้อนเพื่อที่จะกำหนดระดับของนามธรรมที่เหมาะสมซึ่งจำเป็นต่อการกำหนดปัญหา
9. สาเหตุของปัญหาพยศสามารถอธิบายได้ในด้วยหลากหลายแนวทาง ทางเลือกต่างๆของการอธิบายจะกำหนดธรรมชาติของคำตอบในการแก้ปัญหา ไม่มีกฎหรือขั้นตอนที่จะกำหนดการอธิบายที่ถูกต้องหรือการรวมคำอธิบายเข้าด้วยกันสำหรับปัญหาพยศ เหตุผลก็ คือ ในการจัดการกับปัญหาพยศจะมีคำตอบอีกมากมายของการที่จะปฏิเสธสมมุติฐานมากกว่าการที่จะยอมรับสมมุติฐานได้ในมุมมองของวิทยาศาสตร์เชิงกายภาพ
10. ในปัญหาพยศผู้วางแผนไม่มีสิทธิ์ที่จะผิด ในวิทยาศาศตร์สายตรงนักวิจัยจะต้องตั้งสมุติฐานซึ่งต่อมาอาจจะถูกพิสูจน์ว่าผิด การสร้างสมมุติฐานเท่านั้นที่เป็นแค่แรงกระตุ้นที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ บุคคลหนึ่งจะไม่ถูกลงโทษสำหรับการตั้งสมมุติฐานออกมาแล้วปรากฎว่าผิด ในโลกของปัญหาพยศนั้นจะไม่มีสิทธิคุ้มครองอย่างนี้เกิดขึ้น ความมุ่งหมายไม่ใช่การค้นหาความจริง แต่เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติบางอย่างของปัญหาในโลกที่เรามนุษย์อาศัยอยู่ ผู้วางแผนรับผิดชอบต่อผลต่อเนื่องของกิจกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมา
ดังนั้นเราจะต้องมองการสร้างยุทธศาสตร์ในอีกมุมมองเชิงปัญหาพยศ ซึ่งโดยธรรมชาติของปัญหายุทธศาสตร์ไม่ว่าในระดับองค์กรหรือในระดับชาติก็เป็นปัญหาพยศเช่นกัน เพราะว่ามีพลวัตของความเป็นมนุษย์ (Human Dynamics) เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมคิดว่า นี่คือความท้าทายใหม่ขององค์ความรู้ของมนุษย์ชาติในการปรับตัวของสังคมเพื่อความอยู่รอดในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบของบริบทโลก