วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Misc – จะดูอย่างไรว่าเป็นลอจิสติกส์

ผมเคยได้ยินนักศึกษาที่เรียนลอจิสติกส์พูดกันว่า กิจกรรมลอจิสติกส์นั้นมี 13 กิจกรรม ดังนี้

1. การติดต่อสื่อสารด้านลอจิสติกส์ (Logistics Communications)
2. การบริการลูกค้า (Customer Service)
3. กระบวนการสั่งซื้อ (Order processing)
4. การคาดการณ์ความต้องการ (Demand forecasting)
5. การจัดซื้อ (Procurement)
6. การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management)
7. การบริหารการขนส่ง (Transportation Management)
8. การบริหารคลังสินค้าและการจัดเก็บ (Warehousing และ Storage)
9. ลอจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics)
10. การจัดเตรียมอะไหล่และชิ้นส่วนต่างๆ (Parts และ Services Support)
11. การเลือกที่ตั้งโรงงานและคลังสินค้า (Plant และ Warehouse Site Selection)
12. การจัดการเคลื่อนยัายขนถ่ายวัสดุ (Material Handling)
13. การบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ (Packaging และ Packing)


ก็ว่ากันไปตามตำรา ไม่ผิดหรอกครับ เข้าใจได้ดี ผมนั้นก็รับได้ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะผมคิดว่าลอจิสติกส์เป็นมากกว่าแค่ 13กิจกรรมและมีมุมมองที่เป็นมิติที่ลึกกว่านั้นมากนัก การที่จะมากำหนดว่าอะไรเป็นลอจิสติกส์และมีอะไรบ้างนั้น ผมว่ามันแข็งไป และดูผิวๆ ไปหน่อย เอาสอนเด็กๆ ปริญญาตรีพอได้ แต่พอจะประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างแล้ว มันดูจะไปไม่ได้เสียแล้ว มันต้องการคำอธิบายใหม่ ผมว่ามันก็ไม่ครบและครอบคลุมเสียเท่าไหร่นัก


เพราะว่าลอจิสติกส์นั้นเป็นนามธรรม (Abstract) เวลาพูดหรือสื่อสารออกไปนั้นจะต้องมีบริบท (Context)รองรับถึงจะเห็นออกมาเป็นรูปธรรม (Concrete) ได้ อย่างเช่น 13 กิจกรรมของลอจิสติกส์ที่ได้รับรู้กัน ถึงแม้ว่าจะกำหนดไปแล้วว่าเป็น 13 กิจกรรม แล้ว ทั้ง 13 กิจกรรมก็ยังต้องการบริบทอยู่ดีในการสื่อสาร ผมมองว่าที่เขากำหนด 13 กิจกรรมออกมานั้นก็เพราะต้องการสื่อสารเบื้องต้นให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันว่าลอจิสติกส์ คือ อะไร เป็นเบื้องแรก มีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง แต่ความเป็นลอจิสติกส์นั้นมีได้มากกว่าหรือมีรายละเอียดที่ลึกลงไปมากกว่านั้นอีกและลึกซึ้งกว่านั้นมากนัก เพราะว่าถ้าเราเอาทั้ง 13 กิจกรรมมาอธิบายโดยไม่ได้พูดถึงลอจิสติกส์เลย เราก็อธิบายได้เหมือนกัน เราก็เข้าใจได้เหมือนกันแต่เป็นแค่การจัดการฟังก์ชั่นหรือการดำเนินงานในกระบวนการธุรกิจ และเวลานำเสนอในตำราก็ไม่ได้เห็นเน้นเรื่องการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อเสียเท่าไหร่นัก ที่สุดแล้วจะต้องโยงกันไปถึงโซ่อุปทานด้วยจึงจะครบถ้วนมากขึ้น แล้วจริงๆแล้วลอจิสติกส์ คือ อะไรกันแน่


ถ้ามองเข้าไปในกิจกรรมลอจิสติกส์ทั้ง 13 กิจกรรมนั้นแล้ว ผมยังมองเห็นว่าใน 13 กิจกรรมนั้นยังแบ่งได้เป็นประเภทได้ 2 ประเภทด้วยกัน ซึ่งผมเรียกเองว่า เป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ซึ่งก็ คือ กิจกรรมที่เราเข้าไปสัมผัสและเคลื่อนย้ายและจัดเก็บตัวสินค้าและวัตถุดิบรวมทั้งบริการด้วยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าหรือการไหลของลอจิสติกส์ (Flow of Logistics)หรือสินค้าและวัตถุดิบ ส่วนอีกประเภทก็คือ กิจกรรมการจัดการลอจิสติกส์ซึ่งเป็นการไหลของข้อมูลและการตัดสินใจวางแผนให้เกิดกิจกรรมลอจิสติกส์


ลองมาอุปมาอุปไมยดูก็แล้วกันว่า 13กิจกรรมของลอจิสติกส์ที่ว่ากันมานั้นเพียงพอหรือไม่ในการอธิบายหรือสื่อสาร คราวนี้ให้ลองกำหนดหรือให้หาว่าเครื่องดนตรีมีกี่ประเภทและอะไรบ้าง เราก็ยังคงพอนึกออกนะครับ ก็ไล่เครื่องดนตรีแต่ละประเภทออกมา แต่ถ้าเราเอาน้ำใส่ในแก้วน้ำหลายๆใบในระดับน้ำที่แตกต่างกัน แล้วก็คลึงที่บริเวณปากขอบแก้ว ปรากฎว่ามีเสียงดังออกมาที่แตกต่างกันไป แล้วเราทำให้ได้ยินเป็นเสียงเพลงได้ แก้วน้ำนี้ก็เป็นเครื่องดนตรีได้เช่นกัน หลายสิ่งหลายอย่างรอบตัวเราสามารถทำเป็นเครื่องดนตรีได้ แล้วเสียงดนตรีจะต้องออกมาจากเครื่องดนตรีมาตรฐานทั่วไปเท่านั้นหรือไม่ ก็คงจะไม่ใช่เสมอไป แล้วเราจำเป็นไหมที่จะยึดกับ 13 กิจกรรมลอจิสติกส์ และที่สำคัญเมื่อบริบทของการสร้างคุณค่าเปลี่ยนไปหรือขอบเขตของการพิจาณาเปลี่ยนไป เราอาจจะไม่ได้มีชื่อของ 13 กิจกรรมนี้ให้เห็นเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการสร้างคุณค่า สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องเข้าใจความเป็นลอจิสติกส์ที่ระดับนามธรรม ไม่ใช่ที่รูปธรรมอย่างที่กำหนดไว้ใน 13 กิจกรรม เมื่อเข้าใจ 13 กิจกรรรมแล้ว ก็น่าจะเข้าใจลอจิสติกส์ในภาพรวมได้ด้วย


ถ้าตัดคำว่าลอจิสติกส์ออกไปจากการนำเสนอ แล้วเราก็ยังอธิบายกิจกรรม 13กิจกรรมได้ ความเป็นลอจิสติกส์ไม่ใช่แค่ทั้ง 13กิจกรรม แต่เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงทั้ง 13 กิจกรรมเข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ผมคิดว่าเราใช้ความหมายลอจิสติกส์ไปในทางที่ไม่ถูกเท่าไหร่นัก ส่วนมากเราใช้แทนการขนส่งหรือการจัดเก็บและการกระจายสินค้าไปเลย ซึ่งไม่ค่อยจะถูกต้องนัก


ลอจิสติกส์มีความหมายในเชิงบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำโดยเน้นที่การไหลของสินค้าและวัตถุดิบอย่างไร้ตะเข็บ (Seamless) และตอบสนองอย่างถูกเวลาและถูกสถานที่ ประเด็นที่สำคัญของลอจิสติกส์จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงถึงลูกค้าคนสุดท้ายผู้ที่ใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการ ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ เราเห็นนักไวโอลิน เล่นไวโอลิน จะเปรียบเสมือนกับคนที่จัดการสินค้าคงคลังกำลังคำนวณจำนวนสินค้าคงคลังและจัดเก็บสินค้าอยู่ อย่างนี้ไม่ใช่ลอจิสติกส์ครับ นักไวโอลินก็คือ คนที่เล่นไวโอลิน ยังไม่ใช่นักดนตรี แต่ถ้านักไวโอลินเล่นไวโอลินในวงดนตรีซิมโฟนีออเครสตร้า นักไวโอลินคนนี้เป็นนักดนตรีในวงดนตรีซิมโฟนีออเครสตร้า ครับ เพราะว่าในวงดนตรีเป็นเสมือนโซ่อุปทานมีเพลง มีโน้ตเพลงที่ใช้ร่วมกันและมีคนที่ฟังเพลงที่เป็นลูกค้าด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าคนที่จัดการสินค้าคงคลังมีการประสานงานกับการจัดซื้อ การผลิต การจัดเก็บและการจัดส่งจนถึงมือลูกค้า เห็นและแบ่งปันข้อมูลลูกค้าและข้อมูลอื่นๆที่จะมีผลต่อการตอบสนองต่อลูกค้าระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทานนี้ คนที่จัดการสินค้าคงคลังนี้ทำหน้าที่ลอจิสติกส์ครับ เราก็จะเรียกเขาว่าเขาทำกิจกรรมลอจิสติกส์สินค้าคงคลัง ส่วนกิจกรรมที่เหลือ ถ้าเชื่อมโยงกันและถึงลูกค้า เราก็ถือว่าเป็นลอจิสติกส์ของฟังก์ชั่นงานนั้น


เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ก็ต้องอธิบายกันต่อไปว่า ถ้ากิจกรรมต่างๆถูกเชื่อมโยงกันในเชิงกายภาพหรือเชิงคุณค่าสำหรับการใช้งาน เชื่อมโยงกันในเชิงสารสนเทศและการตัดสินใจวางแผนร่วมกันแล้วและถ้าเรารวมเอากิจกรรมการผลิตเข้าไปด้วยแล้ว เราก็จะได้โซ่อุปทานขึ้นมาเลย ที่จริงแล้วพูดอย่างนี้ไม่ได้หรอก เพราะว่าโซ่อุปทานจะต้องเกิดขึ้นมาก่อน แล้วจึงจะมีกิจกรรมการผลิตและกิจกรรมลอจิสติกส์ นั่นคือ ถ้าโซ่อุปทานดี ลอจิสติกส์และการผลิตก็น่าจะดีด้วย สิ่งที่บ่งบอกว่ากิจกรรมลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์แตกต่างจากกิจกรรมหลัก 13 กิจกรรมที่กล่าวมา คือ ความเป็นโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure) หรืออย่างเป็นบูรณาการ (Integrative) ของโซ่อุปทานอีกทั้งยังรวมถึงมุมมองเชิงคุณค่าและการจัดการคุณค่าเพื่อให้เกิดการรองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป


ถ้าจะจัดการลอจิสติกส์ โดยไม่ดูถึงการจัดการโซ่อุปทานเลย ก็ไม่ใช่ลอจิสติกส์ ดังนั้นกว่าจะมาเป้นลอจิสติกส์ได้ เราก็ต้องผ่านการจัดการโซ่อุปทานมาเยอะครับ แล้วถ้าใครจะมาพูดเรื่องลอจิสติกส์กับผมแล้ว แล้วผมถามต่อเรื่องโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง แล้วตอบไม่ได้ ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจองค์รวมของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ไม่ผิดหรอกครับ แต่ถูกไม่หมดครับ