วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Perspectives – 13. อุบัติการณ์แห่งรักและเกลียด -- นามธรรมขององค์รวม

ผมหายหน้าไปนานครับจาก Perspective 12 จนมาถึงบทความนี้ ที่จริงนั้นผมไปต่างจังหวัดมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว 25-27 พ.ย. 54 ผมไปงานแต่งงานที่จังหวัดพิษณุโลกมา แล้วก็เลยไปเที่ยวที่แม่สอด จ.ตากต่อด้วย ผมใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 3วัน แน่นอนครับไปงานแต่งงานบรรยากาศต้องอบอวลไปด้วยความรัก (Love) แล้วใครจะไปรู้ว่าที่ผมหายไปประมาณ 10 วันจนนักศึกษา MBA ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรสงสัยว่าผมหายไปไหน ใครจะรู้ว่าผมอาจจะเต็มอิ่มไปด้วยความรักก็ได้ แต่ที่แน่ๆ นั้นประเด็นสำหรับบทความนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรัก แต่ผมก็ลังเลใจอยู่อยู่หลายวันว่าจะเขียนในลักษณะใดดี ผมพยายามทำวิจัยค้นคว้าหาคำนิยาม (Definitions) ของความรักเสียด้วย แต่ก็ยังไม่มั่นใจนัก ที่จริงแล้วไม่ต้องหาเลยก็ได้ ลองไปฟังเพลงเอาก็ได้ ดูหนังดูละครก็น่าจะหาได้แล้ว หรือหันมาดูชีวิตรอบๆ ตัวเรา ผมก็น่าจะหาคำนิยามของความรักได้ไม่ยากนัก แต่ผมก็ยังไม่มั่นใจหรือลังเลใจในคำนิยามความรักของผมเสียแล้ว เรื่องนี้สร้างความสับสนใจและหงุดหงิดให้กับผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะความรักที่ผมตั้งใจจะเขียนนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสียแล้ว



จนได้มาเจอ ร.ศ.ไว จามรมาน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นั่งรถตู้จากสนามบินพิษณุโลกไปสอนที่ปริญญาโทที่คณะการจัดการ ม.นเรศวรเหมือนกันในช่วงระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.54 ผมได้มีโอกาสเจออาจารย์ไวเพียงสองครั้งเท่านั้นตอนนั่งรถตู้ไปสอนหนังสือที่นี่ล่ะครับ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม แต่ละครั้งนั้นน่าจะห่างกันประมาณหนึ่งปีประมาณนั้น ตกลงเจอกันปีละครั้ง ทุกครั้งเรามีเวลาคุยกันประมาณ 20 นาที แต่ว่าเรื่องราวที่ผมได้คุยกับอาจารย์ไวนั้นมีประโยชน์ต่อมุมมองของผมมากเลยครับ ต้องคารวะและขอบคุณอาจารย์ไวด้วยครับ เจอกันคราวนี้เราคุยกันเรื่องความซับซ้อน (Complexity) เพราะว่าผมมั่นใจในสาขาวิชาการนี้มากเพราะว่า นี่คืออนาคตของการจัดการ ผมพูดถึงองค์รวม (Holistic) คุณสมบัติของการอุบัติขึ้น (Emergent Property) และการบูรณาการ (Integration)



อาจารย์ไวเล่าถึงคำถามของอาจารย์ญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่เคยสอนอาจารย์ไวว่า อาจารย์ญี่ปุ่นเคยถามอาจารย์ไวว่า “สี่เหลี่ยมและวงกลมมันเหมือนกันอย่างไร” อาจารย์ถามความเห็นของผม ผมก็ตอบไปว่า มันมีจุดศูนย์กลางเหมือน มันสมมาตร และมีเส้นรอบรูปเป็นพื้นที่ปิดเหมือนกัน อาจารย์ไวตอบว่า ที่จริงแล้วอาจารย์ญี่ปุ่นตอบว่า ทั้งสี่เหลี่ยมและวงกลมนั้นมาจากทรงกระบอก (Cylinder) ถ้าเรามองจากด้านบนของทรงกระบอก เราก็จะเห็นเป็นวงกลม ถ้าเรามองจากด้านข้าง เราก็จะเห็นเป็นสี่เหลี่ยม โอ้โห ใช่เลย ผมตอบในใจว่านี่ คือ การบูรณาการ แต่นี่คือ ปรากฎการของการอุบัติขึ้นหรือไม่ มันเป็นข้อสงสัยที่ยังอยู่ในหัวมาตลอดการเดินทางจนไปถึงการสอนหนังสือตลอดสองวันที่ม.นเรศวร รวมมาถึงวันพ่อวันนี้ด้วย เพราะว่าอะไรเล่าจะเป็นกลไกที่ทำให้เกิดเป็นทรงกระบอก



นิยามความรักที่แสนสับสนของผมก็เลยปนเปไปกับสี่เหลี่ยม วงกลมและทรงกระบอกไปอย่างช่วยไม่ได้จริงๆ ผมยังจำได้ถึงเพลง Rock สากลเพลงหนึ่งของใครจำไม่ได้ตอนเด็กๆ ที่ร้องว่า “I want to know what love is” มาถึงวันนี้ผมก็คิดว่าเราคงจะรู้แล้วล่ะว่า มัน คือ อะไร แต่ว่ามันทำให้ผมประหลาดใจมากกว่า และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นหาความหมายหรือนิยามของความรักก็อาจจะล้มเหลวก็ได้ เพราะความรักนั้นมีมิติที่มากมายเหลือเกิน ส่วนมากความรักนั้นจะดูออกไปทางด้านบวก สดใส สวยงาม แต่ในขณะเดียวกันถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์ทรมาน ถึงตายแทนได้อย่างพระเยซูเจ้าในศาสนาคริสต์ก็เป็นตัวแทนความรักได้ ถึงแม้ว่าลูกจะเลวอย่างไรพ่อแม่ก็ยังรัก ในหมู่โจรคนชั่วร้าย พวกเขาเหล่านั้นก็ยังมีความรักกันได้ ในหมู่คนรวยหรือคนจนจะไม่มีกินก็มีความรักกันได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วความรักคงจะไม่มีตัวตนล่ะมั๊ง แล้วความรัก คือ อะไรล่ะ



ความรักในมุมมองของผมในเชิง Complexity Issue ยังไม่ได้อ้างถึง Theory นะครับ ซึ่งจะดูมากไปหน่อย ผมขอย้อนกลับมาในช่วงระว่างที่นั่งรถไปกับอาจารย์ไวซึ่งอาจารย์ได้ให้แง่คิดในการบูรณาการว่า ที่จริงแล้วเราเคยได้ยินกันว่า 1+1 =3 เป็นเหมือนการบูรณาการหรือ Synergy ก็คงจะไม่ใช่เสียแล้ว แต่น่าจะเป็น 1+1= One ซึ่งก็ยังคงจะเป็นหนึ่ง ผมฟังแล้วก็นึกในใจและตะโกนออกมาว่าใช่แล้วครับ ผมบอกอย่างนั้นเสมอ และ 1+1 ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ One ซึ่ง One นั้นมีคุณสมบัติที่แตกต่างจาก 1 และ 1 นั่นทำให้ผมคิดว่า ความรักนั้นไม่ใช่เรื่องอย่างที่เราคิดและเห็น รวมทั้งที่เราเข้าใจกัน แต่เราก็พยายามที่จะยัดเหยียดทุกอย่างเป็นความรักกันไปหมด ในศาสนาศริสต์ก็เป็นศาสนาแห่งความรัก เพราะว่าพระเจ้ารักมนุษย์โลก (ผมเองก็นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกด้วยครับ) ในยามภัยพิบัติเราก็จะต้องรักกัน คนไทยรักกัน (แล้วคนชาติอื่นๆ เขาไม่รักกันหรือ) และมีนิยามความรักอีกมากมายเหลือเกินที่จะนับได้



ลองนึกภาพของคนสองคนรักกัน เขาทำอะไรกันบ้าง จับมือกัน มองหน้ากัน จูบกันหรือมีเซ็กส์ด้วยกัน มนุษย์เรานิยามความรักจากประสบการณ์เชิงกายภาพที่เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างคนสองคน ในทางตรงกันข้าม เมื่อคนเราเกลียดกัน ก็คงจะทำทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับที่เรียกว่าความรัก แล้วผลที่เกิดขึ้นล่ะครับ ก็คงจะตรงกันข้ามกับความรัก ผลของความรักมักจะสร้างสรรค์ (Creative) ส่วนผลของการเกลียดจะเป็นการทำลาย (Destructive) ดังนั้นผมจึงมองเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังทั้งความรักและความเกลียดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วแต่ว่าจะอุบัติขึ้นมา (Emergent) ขึ้นมาในขั้วไหน รักหรือเกลียด? หรืออาจจะมีความเป็นกลางหรือที่เรียกกันว่า เป็นแค่เพื่อนกันหรือเปล่านะ ก็แล้วแต่ว่าเคมีมันจะเป็นอย่างไร ที่ว่าเคมีนั้นผมหมายถึงการตัดสินใจของคนแต่ละคนที่มามีปฏิสัมพันธ์กัน มาตัดสินใจร่วมกันมาแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตรงนี้ซึ่งคนเราเรียกว่า “รักกัน” หรือไม่ก็แก่งแย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกันซึ่งคนเราเรียกว่า “เกลียดกัน”



ผมได้มาสนใจปรากฎการณ์ความรักก็ตรงที่มันมีคุณสมบัติของการอุบัติขึ้น (Emergence Property)ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด (Whole) ของคนที่เกี่ยวข้องกัน ในทางตรงกันข้ามความเกลียดทำให้ผลประโยชน์ถูกแบ่งแยกและทำลายไป ลักษณะเหล่านี้เกิดจากการเชื่อมโยงกันและการมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการสื่อสารกันระหว่างหน่วยสภาวะ (Entity) ที่สามารถปรับตัวเองได้หรือมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจได้ ซึ่งก็คือ “คน” นั่นเอง ถ้าตัดสินใจไปในทางเดียวกันหรือสอดคล้องกันก็จะเสริมกัน หรือถ้าขัดแย้งกันก็จะหักล้างกันไป นั่นเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เกิดขึ้น ดังนั้นความรักเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เกิดขึ้นและดับลง มันเป็นฟังก์ชั่นของการบูรณาการของระบบในธรรมชาติที่มีการเชื่อมต่อและรวมตัวกันภายใต้กฎใดกฎหนึ่งที่เรายังไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้เพื่อให้เกิดการปรับตัวและวิวัฒน์ไปตามสภาวะแวดล้อมที่เป็นพลวัต



ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้ายนั้นก็เป็นเพราะว่า มันเป็นไปตามธรรมชาติภายใต้กฎใดกฎหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความรักหรือความเกลียดเท่านั้น ทุกอย่างทุกหน่วยสภาวะ (Entity) ในระบบต่างๆ ที่เป็นทั้งระบบย่อยและระบบใหญ่ล้วนแต่มีความเชื่อมโยงและเชื่อมต่อกันอย่างไม่รู้จบ ทั้งที่เปิดเผยและที่ซ่อนเร้นอยู่ซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ได้ จนถึงเวลาที่เหมาะสมมันจึงอุบัติขึ้นมา บางครั้งก็เป็นความโชคดีหรือไม่ก็โชคร้าย แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะไม่ชอบอะไรที่อุบัติขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นมานั้นจะต้องเกิดแบบไม่รู้เนื่อรู้ตัวหรือทำให้เราต้องประหลาดใจ ทั้งๆ ที่มีเรามีเรื่องราวมากมายที่เราจัดการวางแผนจนเราสามารถที่จะควบคุมการอุบัติขึ้นมาได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่วางแผนและควบคุมไว้ แน่นอนครับโอกาสของอุบัติที่เป็นเหตุร้ายก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน ที่เรามักจะเรียกกันว่า Emergency หรืออุบัติเหตุ ผมรู้สึกว่าอุบัติเหตุไม่ใช่อะไรที่เราคาดไม่ถึงหรือควบคุมไม่ได้ แต่เป็นอะไรก็ตามที่เราไม่ได้ใส่ใจหรือควบคุมวางแผนมันต่างหาก แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่รอบๆ ตัวเราที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เราก็ใช้กฎหมายสาธารณะเป็นตัวควบคุมการอุบัติขึ้นมา ดังนั้นถ้าคนขับรถในถนนปฏิบัติตามกฎจราจร อุบัติเหตุก็ลดลง



ดังนั้นความรักในมุมมองของผมในเชิงการอุบัติขึ้นมาขององค์รวม จึงเป็นเรื่องปกติในธรรมชาติ โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์ที่เป็นระบบของสิ่งมีชีวิตที่เป็นหน่วยสภาวะ (Entity)ซึ่งถือว่ามีสติปัญญาในการคิดและตัดสินใจ เมื่อหน่วยสภาวะที่เป็นคนมามีปฏิสัมพันธ์กันจนเกิดการอุบัติขึ้นมาก็ย่อมจะมีความหลากหลาย (Diversity)เป็นได้ทั้งความรักและความเกลียด และเมื่อบริบทของแต่ละหน่วยสภาวะมีความหลากหลาย



ด้วยแล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็ย่อมแตกต่างกันออกไป แต่ที่แน่ๆ ผลลัพธ์ที่ได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กันในระบบจนเกิดการอุบัติขึ้นมานั้นจะเป็นที่ยอมรับกันจากหน่วยสภาวะที่มามีปฏิสัมพันธ์กันจนกลายเป็น One (ความรัก) หรือเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือกลายเป็น 0 (ความเกลียด) ที่แยกกันอยู่หรือรวมกันไม่ได้



ท่ามกลางเสียงเพลงที่ให้คนไทยรักกันในยามที่เกิดภัยพิบัติ แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยต้องเถียงกันหรือเกลียดกันชั่วขณะที่อุบัติขึ้นมา ถ้าคนไทยจะรักกันได้นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องให้บริบทของสังคมเกิดภัยพิบัติกันเสียก่อนแล้วค่อยมารักกัน ผมไม่ค่อยชอบเหตุและผลอย่างนี้เท่าไรนัก ดูเหมือนว่าเป็นความกลัวของสังคมว่า เพราะว่าในขณะที่บริบทของสังคมปัจจุบันที่เป็นอยู่นั้นคนเรามักจะไม่รักกัน บริบทของสังคมอาจจะไม่ได้กำลังล่มสลาย แต่คนก็ไม่ได้รักกันเพื่อที่จะสร้างความเจริญหรืออุบัติความเจริญขึ้นมา เมื่อบริบทของสังคมถูกภัยธรรมชาติกระทำจนดูเหมือนว่ามนุษย์ในระบบกำลังจะสูญเสียผลประโยชน์ไป ระบบในสังคมที่สามารถปรับตัวได้ก็เร่งส่งข้อมูลข่าวสารสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันกันเพื่อสร้างความช่วยเหลือพิเศษให้อุบัติขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ด้วยเหตุนี้เพราะมันเป็นสิ่งดีงามเราจึงเรียกมันว่าความรักนั่นไงครับ ผมเลยเชื่อว่า ความรักนั้นไม่สามารถนิยามได้ ความรักเป็นมิติหรือ Projection ของสังคมที่ทอดลงบนความนึกคิดของมนุษย์ที่สร้างประโยชน์ให้ตัวเองในส่วนสร้างสรรค์และทำให้เกิดความสมดุลกับความเกลียด แต่ก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องเท่ากันเสมอไป สุดท้ายแล้วก็ต้องอยู่ในสัดส่วนใดสัดส่วนหนึ่งที่เหมาะสมเพื่อให้สังคมนั้นอยู่รอด



เมื่อความรักเป็นพื้นฐานของสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงนามธรรมของการเกิดขึ้นขององค์รวมในมุมมองของผมแล้ว และถ้าเราเข้าใจการอุบัติขึ้นมาขององค์รวมว่ามันมีกลไกอย่างไรแล้ว เราก็น่าจะออกแบบอนาคตของเราใหม่ (Redesigning the Future) ได้ให้เป็นไปตามสิ่งที่เราต้องการ