วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชุม 6 สถาบันฯ -- 3.บูรณาการยุทธศาสตร์ชาติในทุกภาคส่วน (1) : แนวคิด

บูรณาการยุทธศาสตร์ชาติในทุกภาคส่วน (1) : แนวคิด

มีหลายคนมักจะตั้งคำถามถึงแผนยุทธศาสตร์หลักหรือแผนแม่บทของประเทศว่าที่จริงแล้วคืออะไรกัน  พูดกันง่ายๆ ว่ายุทธศาสตร์หลักหรือแผนแม่บทของประเทศ คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาตินั่นเองซึ่งเป็นแผนหลักของประเทศที่ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมในทุกภาคส่วน  หรือจะมองในอีกมุมมองหนึ่ง  ยุทธศาสตร์หลักหรือแผนหลักของประเทศ คือ แผนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ  ซึ่งมองครอบคลุมไปถึงความมั่นคงแห่งชาติในทุกรูปแบบ  และยังมีแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ อีกมากมายในหน่วยงานต่างๆ ในทุกภาคส่วน   แล้วแผนยุทธศาสตร์เหล่านี้จะมาบูรณาการเป็นยุทธศาสตร์ชาติได้ตามที่ควรจะเป็นหรือไม่?  อย่างไรก็ตามความเป็นชาติ  ประเทศและรัฐนั้นมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่างที่หลอมรวมกันเป็นระบบสังคมและประเทศในรูปแบบที่ทุกคนในสังคมได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มีความเชื่อมโยง (Linked) และมีปฏิสัมพันธ์ (Interactions) ซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา    และผลประโยชน์เหล่านี้จะทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

แผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศ

ยุทธศาสตร์หลักหรือแผนแม่บทของประเทศควรจะกล่าวถึงทุกภาคส่วนของการบริหารจัดการประเทศเพื่อให้เกิดเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ    จากยุทธศาสตร์หลักของประเทศ  ภาคส่วนต่างๆ ก็จะนำยุทธศาสตร์หลักของประเทศไปปฏิบัติจนกลายเป็นยุทธศาสตร์ย่อยของแต่ละภาคส่วนหรือแต่ละกระทรวง  ถ้าจะเปรียบเทียบให้ง่ายก็เหมือนกับทีมฟุตบอลทั้งทีมจะต้องมีแผนการเล่นของทีมเพียงแผนเดียวเท่านั้นในเกมการแข่งขัน   จากนั้นสมาชิกของทีมในแต่ละส่วนที่เป็นกองหลัง  กองกลางและกองหน้า  จะต้องมีแผนในการเล่นที่จะต้องสอดคล้องไปกับแผนหลักของทีมเท่านั้น  ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว   ทีมฟุตบอลก็คงจะไม่มีสภาพความเป็นทีมและจะไม่สามารถทำประตูในการแข่งขันได้

ก่อนที่จะพูดถึงยุทธศาสตร์ต่างๆ  เราจะต้องรู้ถึงเป้าหมายของยุทธศาสตร์นั้นว่าคืออะไร?   เป้าหมายนี้จะกำหนดกระบวนการ (Process) กลไก (Mechanism) หรือ กฎ (Rules)  รวมทั้งทรัพยากรต่างๆ  (Resources)  และผลลัพธ์ของกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process)    สำหรับความเป็นชาติหรือประเทศแล้ว  คุณค่าหรือผลประโยชน์ของชาติ คือ  ประชาชนในประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี  มีความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงในชีวิต    ยุทธศาสตร์หลักของชาติจึงเป็นการตัดสินใจในการวางแผนไปในอนาคตสำหรับกระบวนการจัดสรรทรัพยากรของชาติเพื่อให้ประชาชนในชาติสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข และสามารถพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้มีความมั่นคงในการอยู่รวมกันในสังคมโลก

บทบาทของภาครัฐในการบริหารจัดการประเทศจึงมีความแตกต่างและซับซ้อนไปจากการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจหรือการบริหารจัดการชีวิตของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง   แต่แนวคิดหรือหลักการในการจัดการนั้นสามารถประยุกต์ใช้ด้วยกันได้   เพียงแต่ผู้ที่นำไปใช้จะเข้าใจบริบทของแต่ละระดับของการนำไปปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง    เพราะบริบทของชาติ  รัฐ  และประเทศนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับบริบทขององค์กรธุรกิจ   แต่อย่างไรก็ตามหลักการคิดและหลักการบริหารทั่วไปยังสามารถประยุกต์ใช้ได้อยู่    ดังนั้นทุกเป้าหมายที่เราบรรลุผลสำเร็จได้เป็นคุณค่าหรือผลประโยชน์ที่เราต้องการจึงต้องถูกสร้างมาจากกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) ที่ประกอบไปด้วยทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร คน สารสนเทศ  และวิธีการ  รวมทั้งงบประมาณ

ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยมีความสามารถในการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์แห่งชาติซึ่งสามารถรับมือและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้อย่างมีความมั่นคงและยั่งยืน   เราจะต้องไปพิจารณาที่กระบวนการความเป็นชาติ  รัฐและประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันประชาชนในชาตินั้นๆที่เป็นกิจกรรมในการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ในทุกระดับชั้นของชาติอยู่ทุกวัน     โดยเริ่มตั้งแต่ประชาชนทุกคนตื่นนอน  ออกไปทำงานหรือเรียนหนังสือ   ออกไปพักผ่อนหรือหาความสำราญจนถึงเวลาที่ประชาชนเข้านอนและนอนหลับพักผ่อนอย่างมีความสุขจนตื่นนอนขึ้นมาอีกครั้ง   มาทำกิจกรรมในฐานะพลเมืองของประเทศอีกครั้งหนึ่งในแต่ละวัน    นี่คือเป้าหมายของการบริหารจัดการประเทศที่มีกระบวนการหรือขั้นตอนมากมายที่พุ่งเป้าไปที่กิจกรรมของประชาชนทุกคน  ถ้าประชาชนทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามแผนหรือเป้าหมายในชีวิตที่วางไว้  และแผนการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคนสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ   ประเทศชาติก็น่าจะเจริญก้าวหน้าได้ตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้

ปัญหาของชาติ

ถ้าประเทศมียุทธศาสตร์ชาติที่ดีแล้ว   ปัญหาของชาติคืออะไร?    ปัญหาของชาติ คือ การดำเนินงานของประเทศชาติ  แต่ไม่ได้สามารถบรรลุผลลัพธ์ (Result) ที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติหรือคุณค่า (Values) ตามที่วางแผนไว้  นั่นแสดงว่ากระบวนการหรือขั้นตอนที่บริหารจัดการทรัพยากรของประเทศเป็นปัญหาหรือไม่เป็นไปตามในสิ่งที่ควรจะเป็น   ปัญหามีอยู่ 2 ลักษณะ  คือ  1) กระบวนการหรือขั้นตอนในการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ที่ไม่ได้ถูกดำเนินการตามขั้นตอนที่ควรจะปฏิบัติหรือที่ถูกวางแผนไว้   นี่เป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติการ  เราสามารถแก้ไขในระดับปฏิบัติการได้   ถ้าแผนที่วางมานั้นอาจจะเหมาะสมอยู่แล้วก็เพียงให้ปฏิบัติตามแผน    2) ผลลัพธ์หรือผลประโยชน์แห่งชาติที่ได้จากการปฏิบัติการที่เป็นไปตามแผนงานนั้น   แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมหรือลูกค้า   เพราะสิ่งที่ทำอยู่เดิมๆ ใช้ไม่ได้แล้วหรือไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว    ในสถานการณ์เช่นนี้ถ้าการปฏิบัติหมือนเดิมก็ไม่มีประโยชน์แล้ว  สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องคิดใหม่หรือวางแผนใหม่  (Rethink or Replan)  เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการใหม่หรือเกิดกิจกรรมการสร้างคุณค่าใหม่ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์แห่งชาติใหม่ที่ดีกว่า

ดังนั้นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงอยู่ที่กระบวนการหรือขั้นตอนที่สร้างผลประโยชน์แห่งชาตินั่นเอง   สรุปได้ว่า  สถานการณ์ของปัญหาโดยทั่วไปมีดังนี้ คือ 1) การจัดการกระบวนการมีปัญหา เพราะไม่สามารถสร้างผลประโยชน์แห่งชาติได้ตามที่วางแผนไว้   จึงต้องไปแก้ไขวิธีการในกระบวนการสร้างคุณค่าให้ถูกต้องเหมาะสม   2) หรือในอีกประเด็นหนึ่ง คือ คุณค่าหรือผลประโยชน์แห่งชาติเดิมที่ปฏิบัติกันมาใช้ไม่ได้   ไม่สามารถตอบสนองต่อประชาชนหรือไม่สามารถแข่งขัน  เราต้องไปแก้ไขปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือขั้นตอนในการสร้างคุณค่าเพื่อให้เกิดเป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่ต้องการ

ผลประโยชน์แห่งชาติ

แล้วผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร?  และประกอบด้วยภาคส่วนอะไรบ้าง?  ชาติจะต้องมีบุคคลในชาติที่มารวมตัวกันเป็นประเทศโดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน     ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างมีความมั่นคงและยั่งยืนได้จะต้องมีคนในชาติที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมของประเทศชาตินั้นๆ  โดยที่เราจะต้องพิจารณาชีวิตคนตั้งแต่เกิดจนตาย  ดังนั้นการบริหารจัดการประเทศคือ การอำนวยความสะดวกในการจัดสรรทรัพยากรให้คนในประเทศสามารถมีชีวิตที่ดีและช่วยกันพัฒนาสังคมให้ทุกคนในชาติมีชีวิตที่ดีขึ้น  โดยอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงปลอดภัย

จากบทความของท่าน อ.ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  “จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน”  ที่กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของภาครัฐจะต้องดูแลและอำนวยความสะดวกชีวิตประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย   เราจะเห็นได้ว่ามีหน่วยรัฐทุกหน่วยงานมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมีคุณค่า   เพราะผลประโยชน์แห่งชาตินั้นเกิดจากกิจกรรมต่างๆในสังคมที่ประชาชนในชาติได้ปฏิบัติร่วมกันทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนรวม  ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของภาครัฐจึงเป็นการอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมของประชาชนในชาติให้เป็นไปอย่างที่บุคคลและภาครัฐได้วางแผนไว้เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ

การบูรณาการ คือ อะไร

ในหลายภาคส่วนของภาครัฐหรือภาคเอกชนมีการพูดถึงการบูรณาการอยู่เสมอ  แต่ในหลายโอกาสเราก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า การบูรณาการ (Integrations) คือ อะไร?   แต่เราสามารถที่จะสัมผัสได้หรือรู้ถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหรือในบางครั้งเราอาจจะได้ทำการบูรณาการไปโดยไม่รู้ตัว   การบูรณาการเป็นมากกว่าการนำเอาสิ่งต่างๆ มารวมกันหรือการเอาสิ่งที่แตกต่างกันมารวมกันเหมือนการเย็บเล่มหนังสือ    แต่ถ้าในอดีตเราอาจจะทำอย่างนั้นได้เพราะว่าบริบทของสังคมเราไม่ได้มีความซับซ้อนอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้   ยิ่งคุณค่าหรือผลประโยชน์ที่เราต้องการสูงขึ้นหรือผลประโยชน์แห่งชาติที่เราคาดหวังไว้สูงขึ้น  กระบวนการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติก็ยิ่งมีองค์ประกอบมากขึ้นหรือมีความซับซ้อนสูงขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกันและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆในกระบวนการสร้างผลประโยชน์   คุณค่าหรือผลประโยชน์แห่งชาติที่เราต้องการนั้นจะถูกสร้างมาจากกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process)ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆที่หลากหลายแตกต่างกันตามฟังก์ชั่นหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนที่มีหน้าที่ในการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์นั้นทั้งในทางตรงและในเชิงสนับสนุน   ดังนั้นองค์ประกอบหรือทรัพยากรต่างๆจึงได้ถูกนำมาจัดสรรอย่างมีความเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กันจนมีโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic)ที่สามารถควบคุมได้อย่างมีกลไกและสามารถพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิมได้  เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคมในประเทศและสังคมโลก

คุณค่าหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการบูรณาการองค์ประกอบของกระบวนการสร้างคุณค่านั้นจะต้องไม่เหมือนองค์ประกอบเดิม   หมายความว่าเมื่อมารวมกันแล้วต้องได้คุณค่าใหม่หรือสิ่งใหม่   ตัวอย่างเช่น  เอาเศษเหล็กมากองรวมกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังคงเป็นเศษเหล็กอยู่เหมือนเดิม     แต่ถ้าเราเอาเศษเหล็กมาต่อกันอย่างมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน  เราจะได้คุณค่าใหม่หรือผลประโยชน์ใหม่ซึ่งก็คือ รถจักรยาน  เราจะเห็นได้ว่าทั้งกองเศษเหล็กและรถจักรยานก็เป็นเหล็กเหมือนกัน   แต่คุณค่าหรือประโยชน์ในการใช้งานไม่เหมือนกัน   รถจักรยานมีคุณค่าหรือผลประโยชน์มากกว่ากองเศษเหล็กอย่างแน่นอน   สิ่งที่เกิดขึ้น คือ จักรยานเกิดจากการบูรณาการเศษเหล็ก  ดังนั้นการบูรณาการเป็นการสร้างสิ่งใหม่หรือคุณค่าใหม่หรือผลประโยชน์ใหม่ที่เกิดจากการนำเอาองค์ประกอบต่างๆที่แตกต่างกันตามฟังก์ชั่นการใช้งานมาสร้างผลลัพธ์ให้เป็นคุณค่าใหม่หรือผลประโยชน์ใหม่  โดยที่ทุกองค์ประกอบหรือทุกฟังก์ชั่นการใช้งานของกระบวนการจะต้องมีเป้าหมายหรือเข้าใจในเป้าหมายเดียวกัน   เหล็กทุกชิ้นในรถจักรยานมีเป้าหมายเพื่อเป็นส่วนประกอบหนึ่งให้กับรถจักรยาน  แต่เศษเหล็กในกองเหล็กไม่ได้มีเป้าหมายอะไรเลย  ไม่ได้มีฟังก์ชั่นการใช้งานหรือผลประโยชน์ใหม่เลย    เราจะต้องรู้ว่าคุณค่าหรือฟังก์ชั่นของตัวเองนั้นจะมีผลต่อเป้าหมายสุดท้ายที่เป็นผลลัพธ์อย่างไร

ตัวอย่างในการบูรณาการอีกตัวอย่างหนึ่ง  คือ ทีมฟุตบอล   ถ้าเราเอาคน  11 คน  ลงไปเล่นฟุตบอลในสนามโดยไม่วางแผนอะไรเลย   เราก็จะมีแค่คน 11 คนกำลังเตะลูกฟุตบอลอยู่   แล้วเราลองพิจารณาดูว่า  คน 11  คนจะเล่นฟุตบอลชนะหรือไม่   ในทางกลับกันเราจะต้องทำให้คนทั้ง 11 คนที่มีคุณค่าหรือมีฟังก์ชั่นในการเล่นฟุตบอลตามตำแหน่งหน้าที่ต่างๆตั้งแต่ศูนย์หน้า  กองกลาง  กองหลังและผู้รักษาประตู  ซึ่งทุกคนในทุกตำแหน่งเป็นทีม (Team)  หรือมีความเป็นทีม (Teamwork)   ดังนั้น โค้ชจะต้องสร้างให้นักฟุตบอล  11 คนสื่อสารด้วยภาษาในการเล่นด้วยภาษาและความเข้าใจเดียวกัน  เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน    เวลาเล่นก็วางแผนเป็นแผนเดียวกันเสมอ   แต่เวลาเล่นในสถานการณ์ต่างๆทุกคนก็มีแผนของตัวเองซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนหลักของทีม  เช่น แผนกองหลัง  แผนกองกลาง  แผนกองหน้า   ซึ่งแผนทั้งหมดจะไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนใหญ่ที่ทุกคนรับมาดำเนินงานโดยมีเป้าหมายในการยิงประตูเหมือนกัน    ถ้าไม่มีแผนใหญ่หรือแผนยุทธศาสตร์แล้ว   ผู้เล่นทุกคนก็ไม่รู้แผนของคนอื่นๆในทีมว่าจะเล่นด้วยกันอย่างไร   จะส่งบอลหรือรับบอลกันอย่างไร   หรืออาจจะกลายเป็นต่างคนต่างเล่น   แล้วคนจำนวน 11 คนนี้จะเป็นทีมฟุตบอลได้อย่างไร

สิ่งที่จะทำให้เกิดการบูรณาการได้คือ การที่มีอะไรที่ตรงกันหรือ Compatible หรือสามารถเข้ากัน  ได้หรือความเป็นมาตรฐาน (Standardization) เดียวกัน   เมื่อมองในเชิงกายภาพจะหมายถึง   แบบเดียวกัน   ขนาดเดียวกัน  รูปร่างเข้ากันพอดีต่อกันได้    แต่เมื่อมามองในเชิงสังคมหรือกลุ่มคนก็คือ ความเข้าใจในด้านการสื่อสาร  ภาษา แนวคิดและวัฒนธรรมเดียวกัน   ถ้ามองในลักษณะขององค์กรก็ คือ  ทุกคนในองค์กรมีวิสัยทัศน์ร่วมกันและอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน  ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นเพื่อทำให้ได้คุณค่าหรือผลประโยชน์ที่ต้องการ

บูรณาการไม่ใช่แค่การรวมตัว

แผนยุทธศาสตร์ในระดับต่างๆของการจัดการจะต้องมีความเป็นบูรณาการในตัวเองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างเป็นระบบที่สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนได้   ที่จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการสร้างคุณค่าก็เกิดจากการบูรณาการองค์ประกอบหรือขั้นตอนต่างๆที่เป็นฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆของกระบวนการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์นั้นๆ  ซึ่งเราสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีจนเราสามารถควบคุมและปรับปรุงกระบวนการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการหรือเพื่อตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
             
ยุทธศาสตร์ชาติของประเทศจะต้องระบุถึงผลลัพธ์ของยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติและกิจกรรมในฟังก์ชั่นหน้าที่ต่างๆในภาคส่วนต่างๆในกระบวนการสร้างคุณค่าที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ  ยุทธศาสตร์ชาติจึงต้องกำหนดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบหรือฟังก์ชั่นต่างๆในภาคส่วนต่างๆในกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ    ยุทธศาสตร์ชาติของประเทศจึงต้องมีลักษณะของการบูรณาการฟังก์ชั่นการทำงานของภาคส่วนต่างๆที่เป็นองค์ประกอบในกระบวนการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติหรือสามารถกำหนดความสัมพันธ์ (Relationships) และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interactions)  ภาคส่วนหรือฟังก์ชั่นงานในแต่ละภาคส่วนไม่ได้อยู่กันอิสระ (Independent) หรือเป็นเอกเทศ(Individual) ทุกฟังก์ชั่นหรือภาคส่วนต่างๆก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (Interrelated) และขึ้นตรงต่อกัน (Dependent)
             
จากยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นแผนใหญ่แผนเดียวซึ่งจะต้องเป็นแผนที่มีองค์ประกอบของภาคส่วนต่างๆที่ถูกบูรณาการเข้ากันเป็นอย่างดี   เมื่อยุทธศาสตร์ชาติถูกนำไปแปรสู่การปฏิบัติในแต่ละภาคส่วนในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม    ในแต่ละภาคส่วนก็จะต้องเขียนยุทธศาสตร์ของตนเองอย่างบูรณาการใน 2 ส่วน  คือ 1) ส่วนของการบูรณาการจากยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นๆ   2) ด้านของการบูรณาการกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นภายในแต่ละภาคส่วนเองให้เกิดการระบุถึงความเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นการทำงานในแต่ละภาคส่วนเพื่อให้เกิดการดำเนินงานสร้างผลประโยชน์ของแต่ละภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ   เพื่อให้มีความมั่นคงและความยั่งยืนในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละภาคส่วน

ดังนั้นยุทธศาสตร์ของแต่ละภาคส่วนจึงจะต้องมีความเชื่อมโยงและความมีปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นๆตามที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ และในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์หลักของแต่ละภาคส่วนจะต้องกำหนดความเชื่อมโยงและความมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นหน้าที่ในการสร้างผลประโยชน์ของแต่ละภาคส่วน

คน คือหัวใจของการวางแผน
             
แผนงานต่างๆที่เราใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานนั้นเกิดจากกำลังความคิดและความสามารถของคน    หัวใจของการวางแผน  ก็คือ คนหรือทรัพยากรบุคคลในการคิดและตัดสินใจ   แต่ถ้าแผนนั้นเป็นของคนๆนั้นคนเดียวก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนัก   แต่ยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่างๆนั้นมีผลต่อคนทั้งประเทศโดยส่วนรวม   มีคนจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นในการทำงานหรือสร้างผลประโยชน์ให้เป็นผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน   จากคนๆเดียวคิดและวางแผนก็จะกลายเป็นคนหลายคนจากหลายภาคส่วนมาร่วมกันทำการคิดและวางแผนร่วมกันเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ชาติที่มีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วนอย่างบูรณาการกัน

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติถูกแปรเปลี่ยนไปสู่แผนแม่บทของแต่ละภาคส่วนซึ่งจะนำพาไปสู่การสร้างผลประโยชน์แห่งชาติ   แผนทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคนหรือผู้วางแผนในแต่ละภาคส่วนรวมทั้งผู้ที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้มีความเข้าใจถึงผลประโยชน์แห่งชาติ    ไม่มีความเข้าใจในกระบวนการสร้างคุณค่าของชาติหรือผลประโยชน์ของชาติ    และยิ่งถ้าไม่เข้าใจกำลังความสามารถของชาติซึ่งเป็นตัวกำหนดการจัดสรรทรัพยากรต่างๆของชาติเพื่อไปสร้างผลประโยชน์แห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างมีความมั่นคงและยั่งยืนแล้ว   ยุทธศาสตร์ชาติจะขาดความสมบูรณ์ในเชิงเป้าหมายของผลประโยชน์แห่งชาติไป

การที่จะทำให้คนในชาติเข้าใจผลประโยชน์แห่งชาติและกระบวนการสร้างยุทธศาสตร์ชาติในระดับต่างๆเพื่อให้เกิดการบูรณาการกิจกรรมหรือฟังก์ชั่นในการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติ เราจำเป็นที่จะต้องสร้างตัวกลางในการสื่อสารแนวคิดและวิธีการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน   ความเป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ คือ พื้นฐานในการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน   การวางแผนงานหรือยุทธศาสตร์ต่างๆให้เกิดการบูรณาการนั้นจะต้องทำให้ผู้มีส่วนได้และส่วนเสียในแผนงานต่างๆมีเป้าหมายและทิศทางเดียวกันผ่านเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม   สิ่งที่สำคัญที่ถือว่าเป็นแกนกลางของสังคมที่เป็นมาตรฐานให้คนในสังคมได้สื่อสารเพื่อความเข้าใจเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ความเป็นชาติ  วัฒนธรรมของชาติ  รวมทั้งกฏหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆในกิจกรรมต่างๆในภาคส่วนต่างๆซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงกับผลประโยชน์แห่งชาติ

กระบวนการวางแผน
             
แผนงานทุกแผนงานเป็นกระบวนการคิดและตัดสินใจเพื่อการดำเนินงานในอนาคต  แต่ก็เป็นธรรมชาติที่ทุกอย่างมีความไม่แน่นอนเสมอ  อนาคตที่วางแผนไว้อาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดและวางแผนไว้   ดังนั้นกระบวนการวางแผนงานทั้งหลายจะต้องมีกระบวนการติดตามผลเพื่อที่จะประเมินว่าการดำเนินการตามแผนนั้นเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่   ถ้าผลจากการดำเนินงานนั้นไม่ได้เป็นตามแผนแล้ว นั่นแสดงว่าปัญหาได้เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินงานสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์  ซึ่งอาจจะเกิดจากองค์ประกอบต่างๆในกระบวนการหรือไม่ก็เกิดจากกระบวนการวางแผน   ดังนั้นการเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันระหว่างผู้วางแผนงานและผู้ที่นำแผนไปปฏิบัติเพื่อที่จะได้ติดตามผลและปรับแผนให้เข้าสถานการณ์เพื่อผลประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม

การทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน
         
ในองค์กรทั่วไปมักจะมีบุคคลอยู่  2 ประเภท  คือ  คนที่คิดแต่ไม่ได้ทำ คนประเภทนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อองค์กรมากนัก   และคนที่ทำแต่ไม่ค่อยได้คิด  คนประเภทนี้เป็นอันตรายต่อองค์กร   แต่ถ้าคนทั้ง 2 ประเภทหันมาทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว   องค์กรนั้นก็จะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถคิดและวางแผนเพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดคุณค่าหรือผลประโยชน์ได้เป็นอย่างดี    ด้วยสภาวะการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการที่มององค์ประกอบของกระบวนการวางแผนและกระบวนการสร้างคุณค่า (ปฏิบัติการ) อย่างเชื่อมโยงกันจากบนลงล่าง (Top-Down) ในการดำเนินการ (Execute) หรือสั่งการ (Command) และในทางกลับกันการเชื่อมโยงจากล่างขึ้นบน (Bottom-Up) ในมุมของการวัดสมรรถนะการดำเนินงาน (Performance Measurement)  เพื่อที่จะให้ผู้วางแผนได้ปรับแผนใหม่เพื่อให้การดำเนินงานการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์เพื่อให้เกิดสมดุลในกระบวนการสร้างคุณค่าและเกิดสมดุลในการสร้างผลประโยชน์โดยส่วนรวม
             
ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์แห่งชาติ  ปัญหาเหล่านั้นอาจจะเกิดจากทั้งการวางแผน (Planning) การดำเนินงาน (Execution) และการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ระหว่างการวางแผนกับการดำเนินงาน  การบูรณาการที่ดีจะต้องมีมาตรฐานในการเชื่อมโยงและความมีปฏิสัมพันธ์กันของฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆให้เข้ากันเพื่อผลลัพธ์เดียวกัน   กระบวนการวางแผนที่ดีก็ต้องมีการบูรณาการที่ดีสำหรับองค์ประกอบต่างๆของการวางแผน    กระบวนการดำเนินการที่ดีก็ต้องมีการบูรณาการที่ดีสำหรับองค์ประกอบต่างๆในการดำเนินการ   และในขณะเดียวกันการทำงานร่วมกันระหว่างการวางแผนและการดำเนินงานก็ต้องการการบูรณาการที่ดีเช่นกัน  ดังนั้นถ้ากระบวนการวางแผนและกระบวนการสร้างผลประโยชน์แห่งชาติมีการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน  ผลประโยชน์แห่งชาติที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมก็จะตกเป็นของประชาชนทุกคนอย่างเหมาะสมทำให้ประเทศชาติและสังคมโดยรวมเกิดการพัฒนาการและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยความมั่นคงและยั่งยืน  เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเราก็ยังสามารถปรับตัวได้อย่างทันเวลาและมีประสิทธิภาพ

การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ :  การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา  สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน  มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 2331 สิงหาคม 2554