บูรณาการยุทธศาสตร์ในทุกภาคส่วน (2) : ยุทธศาสตร์
จากมุมมองและความเข้าใจเบื้องต้นในการบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติหรือยุทธศาสตร์ในด้านอื่นๆที่รองรับยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นเสมือนแผนแม่บท จากผลการดำเนินงานด้วยยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะพบว่าผลการดำเนินงานจากการนำยุทธศาสตร์ชาติไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง หรือไม่มีประสิทธิภาพบ้าง ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้เป็นผลมาจากการบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติทั้งจากบนลงล่าง การวัดผลการนำไปปฏิบัติจากล่างขึ้นบนและระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของยุทธศาสตร์ชาติ มุมมองที่สำคัญจะอยู่ที่การเขียนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะว่าถ้าการกำหนดรายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติที่ออกมานั้น ไม่ได้กำหนดความเชื่อมโยงและการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ย่อยที่รองรับแล้ว การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติที่ขาดการบูรณาการที่ดีจะทำให้ผลของการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ขาดความเป็นองค์รวม (Holism) ประเด็นที่สำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเสริมสร้างความเป็นบูรณาการของยุทธศาสตร์ชาติโดยการระบุหรือกำหนดความเชื่อมโยงขององค์ประกอบของยุทธศาสตร์ชาติและการมีปฏิสัมพันธ์กันของส่วนย่อยของยุทธศาสตร์ชาติ
สถานการณ์ปัจจุบัน
โดยทั่วไปความเข้าใจถึงยุทธศาสตร์ชาติของแต่ละส่วนงานที่เป็นผู้ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละด้านหรือองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ชาติ บางคนก็อาจจะเห็นความสำคัญของยุทธศาสตร์ในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไปตามระดับของยุทธศาสตร์ บางยุทธศาสตร์เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว บางยุทธศาสตร์เป็นยุทธศาสตร์ในระยะสั้น แผนยุทธศาสตร์เหล่านี้จะมีความซับซ้อนที่แตกต่างกันออกไปอีกตามแต่รายละเอียดขององค์ประกอบของยุทธศาสตร์ชาติและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในระดับประเทศ องค์ประกอบต่างๆของยุทธศาสตร์ก็จะมากขึ้นตามลำดับความสำคัญและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ชาติก็จะยิ่งมากขึ้นตามลำดับด้วย
ปัญหาของการนำยุทธศาสตร์ชาติไปปฏิบัติ ส่วนใหญ่ที่พบในการดำเนินงานทั่วไปในการจัดการสาธารณะ (Public Management) คือ ความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ความไม่ชัดเจนในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งจะมีผลต่อผลลัพธ์ของการดำเนินยุทธศาสตร์ บางยุทธศาสตร์บรรลุผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี แต่อาจจะขาดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ บางยุทธศาสตร์อาจจะไม่มีคุณภาพซึ่งไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ก็อาจจะประสบผลสำเร็จด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและภาวะผู้นำของผู้ที่นำยุทธศาสตร์ชาตินั้นไปปฏิบัติใช้ให้เกิดผลประโยชน์
ในภาวะปัจจุบันผู้ที่นำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติใช้งานมักจะตกอยู่ภาวะกดดันที่จะต้องบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติภายใต้บริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นพลวัต (Dynamics) ซึ่งทำให้รายละเอียดที่อยู่ในยุทธศาสตร์ชาตินั้นไม่สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้ที่นำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติก็มีความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์เพื่อให้ยุทธศาสตร์นั้นบรรลุเป้าหมายทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้มีทรัพยากรและงบประมาณเพียงพอ รวมทั้งข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นต่อการตัดสินใจดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ สถานการณ์เหล่านี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการบรรลุถึงเป้าหมาย และอาจจะเกิดความเสียหายต่อผู้ปฏิบัติงานเองด้วย ผู้ปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์จึงต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวที่ไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์
หรือจะพูดกันอย่างง่ายๆ ว่า ยุทธศาสตร์ชาติหรือยุทธศาสตร์หลักของประเทศที่เขียนมานั้นไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้สะท้อนภาพเป็นจริงที่เกิดขึ้น ผลที่เกิดขึ้นเป็นเพราะขาดการบูรณาการที่ดีของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นถ้ายุทธศาสตร์หลักดีและมีความเป็นองค์รวมที่เกิดจาการบูรณาการที่ดี ยุทธศาสตร์ย่อยอื่นๆก็สามารถที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกันได้ และผู้ที่ปฏิบัติก็ต้องมีความพร้อมในการบูรณาการด้วย เพื่อที่จะได้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์หลัก
ก่อนที่ยุทธศาสตร์ชาติจะถูกจัดทำและนำไปปฏิบัติ ผู้จัดทำและผู้ที่นำไปปฏิบัติควรจะมีความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการบูรณาการเสียก่อน เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะเกิดจากการบูรณาการทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าความสำคัญของการบูรณาการในอดีตนั้นยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไรนัก เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมยังไม่รุนแรงและรวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน ยิ่งสภาวะแวดล้อมปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นการบูรณาการจึงยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม การบูรณาการ คือ การนำสิ่งที่แตกต่างกันมารวมกันให้มีโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic Structure) ความเป็นระบบของการรวมตัวกันนั้นไม่ได้ให้แค่ประโยชน์ที่เป็นผลลัพธ์ที่เป็นเป้าหมายเท่านั้น แต่ความเป็นระบบยังก่อให้เกิดเป็นความสามารถเชิงพลวัต (Dynamic Capability) ทำให้ระบบนั้นสามารถปรับปรุงตัวและเปลี่ยนแปลงในการสร้างผลประโยชน์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพลวัตด้วย
ดังนั้นสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรานั้นดูเหมือนว่า ยุทธศาสตร์ชาติกับยุทธศาสตร์ย่อยต่างๆ ยังขาดการเชื่อมโยงกันกับความเป็นจริงในการปฏิบัติงาน สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ส่วนรวมก็ตาม ย่อมมีความเป็นพลวัต (Dynamic) หรือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (ไม่นิ่ง) แต่ยุทธศาสตร์ชาติหรือยุทธศาสตร์หลักที่ถูกจัดทำออกไปกลับมีลักษณะสถิตย์ (Static) หรือนิ่ง ความเป็นจริงในการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างผลประโยชน์ของชาตินั้นในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตทั้งในด้านความซับซ้อนและความเป็นพลวัต ผู้ปฏิบัติงานต้องการแผนการดำเนินงานที่ยืดหยุ่น (Flexible) กับความสามารถในการปรับตัว (Adaptive) เพื่อการตอบสนองต่อการปฏิบัติการในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน (Uncertainty) และความซับซ้อน (Complexity)ของปัญหาและความพลวัตของสภาวะแวดล้อม ยุทธศาสตร์จึงต้องเป็นแผนงานที่มีความคล่องตัว (Agility) ที่มีลักษณะความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ความเป็นบูรณาการของยุทธศาสตร์ที่มีความเป็นระบบจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการทำให้เกิดความคล่องตัวเพื่อการรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ต้องเริ่มที่กระบวนการ
ผลลัพธ์ของคุณค่าหรือผลประโยชน์ทุกสิ่งบนโลกนี้ในมุมมองจากความต้องการมนุษย์เกิดจากกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) ที่สร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้นมา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์เราที่เป็นผู้สร้าง สิ่งที่เป็นธรรมชาติก็เกิดจากกระบวนการธรรมชาติซึ่งเราอาจเข้าใจหรือรู้จักไม่ทั้งหมดและมนุษย์เราควบคุมไม่ได้ทั้งหมด สิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาก็เกิดจากกระบวนการที่เราได้ออกแบบจากความเข้าใจในความต้องการของผลประโยชน์ของมนุษย์เองและควรจะควบคุมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในธรรมชาติและในชีวิตเรานั้นก็เกิดจากผลลัพธ์หรือผลประโยชน์ที่ได้ไม่ตรงกับใจเรา ธรรมชาติให้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับความค้องการของมนุษย์ก็เพราะกระบวนการในธรรมชาติมีปัญหา (อาจจะเป็นเพราะมนุษย์เราไปทำอะไรบางอย่างให้กระบวนนั้นผิดไป)
ในหลายๆครั้งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองก็ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์เองได้ เพราะมนุษย์เองมีความต้องการที่ไม่รู้จบ (กิเลส) เราจึงต้องกลับไปพิจารณาดูหรือตรวจสอบที่กระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าซึ่งเป็นต้นทางของผลลัพธ์หรือผลประโยชน์ที่ต้องการ ดังนั้นปัญหาต่างๆจึงเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการซึ่งไม่ใช่ที่ผลลัพธ์ ปัญหาจึงอยู่ที่กระบวนการ เมื่อกระบวนการหรือขั้นตอนไม่เหมาะสมหรือไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ได้เป็นไปตามแผน เราจึงต้องมาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงที่กระบวนการสร้างผลประโยชน์ หรือที่ในอดีตเรามักจะได้ยินคำว่า Re-engineering หรือ คิดใหม่ เพื่อทำใหม่ เราได้รับผลกระทบจากผลประโยชน์ที่ไม่ได้รับหรือไม่ลงตัว เราจึงต้องไปแก้ที่กระบวนการซึ่งเป็นต้นเหตุ ไม่ใช่ที่ผลซึ่งเป็นปลายเหตุ
เราต้องลองกลับมาพิจารณาดูที่กระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเรา ในระบบนิเวศต่างๆทั้งระบบตามธรรมชาติและระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น ระบบทั้งสองประเภทนี้ต่างก็เกื้อกูลกันและมีความเชื่อมโยงอย่างเป็นบูรณาการโดยที่เราไม่รู้ตัว จึงทำให้เกิดความสมดุลที่ลงตัว แต่ถ้าเรารู้และเข้าใจในความเป็นบูรณาการหรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าองค์รวม (Holism) เราก็จะสามารถจัดการกับระบบนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากทั้งภายในระบบและจากสภาวะแวดล้อมภายนอก เราก็ยังคงรักษาและปรับปรุงระบบให้คงอยู่และขยายผลหรือพัฒนาต่อไปได้
เป้าหมายสุดท้ายของระบบหรือสังคมของมนุษย์ก็ คือ การอยู่รอด (Survival) หรือการมีชีวิตอยู่ของคนในสังคม และคนในสังคมซึ่งต้องการปัจจัยพื้นฐานเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดก็ต้องอาศัยระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนคุณค่าหรือผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เมื่อคนในสังคมมีชีวิตอยู่รอดแล้ว สังคมหรือประเทศก็คงอยู่รอดและวัฒนาต่อไป ดังนั้นเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติทั้งหลายในโลกก็อยู่ที่ผลประโยชน์แห่งชาตินี้เท่านั้น แล้วเราลองนึกดูว่าในระบบสังคมของโลกมีกระบวนการต่างๆ มากมายทั้งเกิดจากธรรมชาติและกระบวนการที่มนุษย์ได้สร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ต่างๆ มากมายเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลและของสังคมหรือประเทศ
ผลประโยชน์เกิดจากกระบวนการปฏิบัติ
กระบวนการในโลกนี้มีหลากหลายประเภทของกระบวนการ ทุกๆ กระบวนการมีผลลัพธ์ แต่ทุกๆผลลัพธ์ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเป็นผลประโยชน์ที่เราต้องการ ในขณะเดียวกันทุกผลลัพธ์จากหลายกระบวนการจะมีส่วนเชื่อมโยงหรือเป็นตัวต่อ (Building Blocks) ที่สำคัญในการนำไปสู่ผลประโยชน์ของแต่ละบุคคลและเป็นผลประโยชน์ของชาติในที่สุด
เราสามารถแบ่งกระบวนการออกเป็น 2 ประเภท คือ กระบวนการวางแผนหรือด้าน Soft Side และกระบวนการปฏิบัติหรือด้าน Hard Side หรือพิจารณาอย่างง่ายๆ เหมือนระบบคอมพิวเตอร์ที่จะต้องมีทั้ง Software และ Hardware ซึ่งจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ กระบวนการสร้างผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์แห่งชาติก็ตามย่อมจะมีทั้งด้าน Soft Side และ Hard Side เหมือนกับระบบคอมพิวเตอร์ กระบวนการด้าน Soft Side จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนหรือควบคุมกระบวนการด้าน Hard Side ผลลัพธ์จากกระบวนการ Soft Side ไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือประโยชน์แห่งชาติ ส่วนกระบวนการด้าน Hard Side จะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นผลประโยชน์โดยตรงกับปัจเจกบุคคลและประเทศชาติ กระบวนการวางแผนหรือด้าน Soft Side จะเป็นตัวกำหนดกิจกรรมในกระบวนการปฏิบัติการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์หรือกระบวนการ Hard Side ดังนั้นถ้าจะให้ผลลัพธ์ออกมาดีเป็นผลประโยชน์ต่อปัจจเจกบุคคลและเป็นผลประโยชน์แห่งชาติแล้ว กระบวนการทั้งสองประเภทจะต้องทำงานร่วมกันเป็นระบบเหมือนกับระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความลงตัวทั้งทางด้าน Hardware และ Software ถ้า Hardware เร็วขึ้นก็ต้องเปลี่ยน Software ใหม่เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จาก Hardware ให้เต็มประสิทธิภาพ
ต้องบูรณาการที่กระบวนการ
ทุกวันนี้ผลประโยชน์ของชาติและผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือมีความเป็นพลวัตมากขึ้น กระบวนการวางแผนและกระบวนการปฏิบัติการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างที่ดีได้สำหรับการเปลี่ยนแปลงทั้งความต้องการของลูกค้าและการตอบสนองของผู้ผลิตทั้งด้าน Hardware และ Software ผลลัพธ์หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะมาจากกระบวนการปฏิบัติการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) ซึ่งต้องเชื่อมโยง (Linked) และมีปฏิสัมพันธ์ (Interactions) กับแผนงานที่เกิดจากกระบวนการวางแผน (Planning Process) อย่างบูรณาการกัน ในขณะเดียวกันขั้นตอนต่างๆในกระบวนการวางแผนเองก็จะต้องบูรณาการกันภายในกระบวนการเองด้วยหรือเรียกกันว่า (Collaborative Planning) และในทิศทางเดียวกันกับกระบวนการปฏิบัติการในการสร้างคุณค่าก็จะต้องมีการบูรณาการภายในด้วยการเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างทรัพยากรต่างๆและขั้นตอนต่างๆในกระบวนการด้วย หรือเรียกกันว่า (Physical Compatibility)
เมื่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติได้ส่งผลไปที่ผลประโยชน์ของปัจจเจกบุคคลและส่งผลกระทบไปถึงผลประโยชน์แห่งชาติในที่สุด แต่ถ้าเราพิจารณาย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดของกิจกรรมต่างๆ ภายในประเทศที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ เราก็จะพบว่ายุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ย่อยต่างๆ ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อที่จะกำกับกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อาจจะไม่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมปัจจุบันและในอนาคตซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติที่ตั้งเป้าหมายไว้
สิ่งที่จะต้องดำเนินการ คือ เราจะต้องกลับไปพิจารณากระบวนการทั้งหมดตั้งแต่กระบวนการวางแผน กระบวนการปฏิบัติการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ซึ่งประกอบไปด้วยทุกภาคส่วน รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างการวางแผนและการปฏิบัติการ การบูรณาการกระบวนการทั้งหมดให้เป็นองค์รวม (Holism) ให้เกิดเป็นระบบ (System) โดยการเน้นที่การเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งภายในกระบวนการและระหว่างกระบวนการ เมื่อกระบวนการทั้งหมดมีความเป็นระบบที่เกิดจากการ บูรณาการแล้ว ระบบที่สร้างผลประโยชน์ตั้งแต่ปัจเจกบุคคลและผลประโยชน์แห่งชาตินี้ก็จะมีความยืดหยุ่นและปรับตัวเองได้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวเพื่อรองรับกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ต้องทำให้ระบบมีชีวิต
การมีชีวิตนั้นหมายถึง การที่มนุษย์ (สิ่งที่มีชีวิต) สามารถดำรงตัวเองอยู่รอดด้วยผลประโยชน์ที่ต้องการเป็นพื้นฐาน ดังนั้นองค์กรหรือประเทศก็จะต้องอยู่รอดได้ก็เพราะว่าคนในองค์กรหรือประเทศมีการตัดสินใจหรือวางแผนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ต้องการเป็นพื้นฐานให้เป็นผลประโยชน์ต่อองค์กรหรือเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ คนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่มีปัญญาที่สามารถใช้ความคิดและตัดสินใจเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ แต่ทำไมเมื่อสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์มาอยู่รวมกันแล้วไม่สามารถทำให้กลุ่มมนุษย์ที่รวมตัวกันเป็นสังคมมีชีวิตอยู่รอดได้หรือไม่มีการวัฒนา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าคนจำนวนมากไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมได้ กระบวนการต่างๆที่มนุษย์เป็นคนดำเนินการทั้งในด้านการวางแผนและการปฏิบัติการก็ไม่สามารถดำเนินการให้สอดคล้องกันได้ กลับมีแต่ความขัดแย้งในผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง สุดท้ายองค์กรหรือประเทศก็ล่มสลาย และในที่สุดมนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้
การสร้างให้องค์กรนั้นมีชีวิต (Living Organization) ได้ คือ การที่องค์กรได้ใช้ศักยภาพของแต่ละคนและกลุ่มคนในการคิดและตัดสินใจเพื่อ “รับรู้และตอบสนอง (Sense and Response)” ต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็ว นั่นหมายความว่า ปัญหาในการบูรณาการ คือ การขาดการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ของคนในสังคมหรือประเทศ โดยเฉพาะความคิดอ่าน เมื่อกลุ่มคนไม่มีการทำงานร่วมกัน ก็จะไม่เกิดกิจกรรมการแบ่งปันข้อมูลกัน ไม่ได้คิดร่วมกัน ไม่ได้ตัดสินใจและวางแผนร่วมกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ กิจกรรมต่างๆในแต่ละภาคส่วนมักจะเกิดขึ้นแบบแยกส่วนกัน ต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกันหรือมีปฏิสัมพันธ์กันในการดำเนินงาน ทำให้ขาดพลังในการคิดและตัดสินใจและขาดกำลังในการดำเนินงาน ทั้งๆ ที่เมื่อคนในหลายภาคส่วนจะต้องมารวมตัวกันเป็นกลุ่มคนหรือเป็นสังคมเป็นประเทศแล้วก็น่าจะทำให้ประเทศมีพลังอำนาจเพิ่มมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่เช่นนั้น มีคำกล่าวอยู่เสมอว่าประเทศไทยเล่นเป็นทีมไม่เป็น คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอจนถึงทุกวันนี้
ยุทธศาสตร์การบูรณาการ คือ ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่
ความเป็นจริงที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ ทุกคนมีความแตกต่างกัน ผลประโยชน์ที่ต้องการก็แตกต่างกันออกไป แต่ทุกคนต้องอยู่รวมกันเพื่อสร้างพลังอำนาจที่ทุกคนต้องการเป็นพื้นฐานในการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของแต่ละคน แต่ถ้าทุกคนไม่มีพลังอำนาจของสังคมที่ทุกคนต้องมีไว้เป็นพื้นฐาน คนเหล่านั้นก็คงไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ส่วนตัวได้ซึ่งจะทำให้แต่ละคนไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังนั้นผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์แห่งชาตินั้นจึงเป็นการพึ่งพากันอย่างเป็นระบบ (Systemic) ตั้งแต่ระบบของแต่ละบุคคล (Personal System) ระบบของแต่ละภาคส่วน (Sector System) ที่สนับสนุนบุคคลให้สร้างผลประโยชน์ และระบบของประเทศ (National System) ที่ประกอบขึ้นจากระบบของแต่ละภาคส่วน ระบบทั้งหมดอยู่รวมกันเป็นระบบนิเวศทางสังคม (Social Ecology) ซึ่งบูรณาการกันอย่างที่เราไม่รู้ตัว ความเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ถูกสร้างขึ้นภายในระบบอย่างไม่เป็นทางการ ในอดีตความเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์เหล่านี้อาจจะไม่ได้มีบทบาทหรือมีผลกระทบออกมาให้เห็นกันอย่างเด่นชัด แต่เมื่อบริบทหรือสิ่งแวดล้อมแปรเปลี่ยนไปอย่างเป็นพลวัต บทบาทหรือความสำคัญของความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นกลับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สังคมอยู่รอด เมื่อสังคมอยู่รอดแล้ว คนแต่ละคนก็น่าจะอยู่รอดด้วย
สังคมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาโดยธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นธรรมชาติของโลก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดอ่านก็ขึ้นอยู่กับการหล่อหลอมของความคิดของคนในสังคมนั่นเอง ไม่เกี่ยวกับธรรมชาติของโลก ธรรมชาติของคนเองก็แตกต่างจากธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย ดังนั้นการอยู่รวมกันของคนหลายคนสามารถสร้างผลประโยชน์ได้และสามารถสร้างความเสียหายให้กับแต่ละบุคคลและต่อสังคมได้เช่นกัน เพราะแต่ละคนมีความคิดอ่านที่แตกต่างกันออกไป การที่จะทำให้ทุกคนมาหล่อหลอมรวมกันเพื่อบูรณาการความคิดและศักยภาพเพื่อสร้างพลังอำนาจใหม่ให้สามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ
สิ่งที่จะให้คนอยู่รวมกันได้ก็ คือ วัฒนธรรมที่คนในกลุ่มได้ตกลงร่วมกัน คิดที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน สำหรับสังคมประเทศที่มีความเป็นชาติย่อมมีวัฒนธรรมร่วมกันซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สร้างผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน วัฒนธรรม (Culture) จะเป็นเสมือนสิ่งที่เป็นมาตรฐานทางด้านความคิด (Standardization for Thinking) ของคนในสังคมที่ชี้นำให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างผลประโยชน์ของสังคม วัฒนธรรมจะเป็นเหมือนพื้นฐานของการพัฒนาในด้านต่างๆ วัฒนธรรมจะนำไปสู่ความมีวินัย (Discipline) ของคนในสังคมซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกฎและระเบียบของสังคม สังคมใดสร้างให้คนมีวินัยในตัวเองแล้ว การจัดการสังคมก็จะง่ายขึ้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมก็จะสำเร็จและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การมีวินัยเป็นพื้นฐานของการเคารพกฎระเบียบในสังคม การมีวินัยเป็นพื้นฐานสำหรับความไม่เห็นแก่ตัว ในทางตรงกันข้ามความมีวินัยจะทำให้คนในสังคมเห็นแก่ส่วนรวมเป็นหลัก มีคำขวัญที่ติดไว้ในค่ายทหารแห่งหนึ่งเขียนไว้ว่า “ความมีวินัยอาจจะริดรอนความสุขสบายส่วนบุคคล แต่ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม”
วัฒนธรรมใหม่นี้ต้องเป็นวัฒนธรรมแห่งการบูรณาการ ซึ่งไม่ใช่การบูรณาการในระดับปฏิบัติการที่เป็นด้าน Hard Side แต่เป็นการบูรณาการในด้านความคิดอ่านของคนในสังคมซึ่งเป็นด้าน Soft Side ความหมายของการบูรณาการแสดงถึงความเป็นองค์รวม (Holism) ซึ่งเปรียบเสมือนกับอวัยวะต่างๆที่อยู่ในร่างกายเราที่มารวมประสานกันเป็นร่างกายที่มีชีวิต เราไม่สามารถแยกอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งออกจากร่างกายได้ ไม่เช่นนั้นแล้วความเป็นชีวิตของเราก็จะหมดไป สังคมก็เช่นกัน คนในสังคมจะต้องเห็นประเทศเป็นหน่วยเดียวโดยที่ทุกคนในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ จะขาดใครคนหนึ่งไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงประเทศหนึ่งมีประชาชนมากมาย การขาดคนไปบ้างก็คงไม่เป็นไรนัก แต่ในความหมายของยุทธศาสตร์ชาติ การขาดองค์ประกอบของยุทธศาสตร์องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไปอาจจะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติขาดความสมบูรณ์และขาดความเป็นองค์รวมไป ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ไม่มีความยืดหยุ่นและไม่สามารถปรับตัวได้
ดังนั้นเมื่อทุกคนคิดและวางแผนจะทำอะไรก็ตาม ก็ต้องคิดและทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก แล้วค่อยเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัว ความมั่นคงในผลประโยชน์แห่งชาติก็จะเกิดขึ้น ถ้าวัฒนธรรมแห่งการบูรณาการถูกพัฒนาขึ้นและตอกย้ำเข้าไปในสังคมอย่างต่อเนื่อง จากวัฒนธรรมเดิมเพื่อสร้างให้คนในสังคมสามารถเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นเพื่อประโยชน์ในภาพรวมและความเป็นองค์รวมของสังคมมากกว่าตัวเอง เปรียบเสมือนกับทีมฟุตบอลที่นักฟุตบอลบางคนไม่ยิงประตูให้กับตัวเอง แต่ส่งผ่านบอลไปให้เพื่อนที่มีโอกาสยิงประตูได้มากกว่าได้ยิงประตู เพื่อให้ทีมชนะมากกว่าการทำแต้มการยิงประตูให้กับประวัติของตัวเอง
ถ้าคนในสังคมมีพื้นฐานวัฒนธรรมที่ทำงานร่วมกันและทำงานเป็นทีมเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือส่วนรวมก่อนที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว กิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการสร้างคุณค่าหรือประโยชน์ต่างๆ ในสังคมก็จะมีความเป็นบูรณาการในตัวเอง ตั้งแต่ระบบการคิด ระบบการศึกษา ระบบการวางแผน ระบบการปฏิบัติการ รวมทั้งการตัดสินใจในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ในภาวะฉุกเฉิน ความตระหนักในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมหรือประเทศเกิดจากวัฒนธรรมใหม่นี้เพื่อที่จะธำรงรักษาและพัฒนาผลประโยชน์แห่งชาติให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน กิจกรรมต่างๆในกระบวนการสร้างผลประโยชน์ต่างๆ สำหรับภาคส่วนต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทและสภาพแวดล้อมที่มีสภาพความเป็นพลวัตในปัจจุบัน
ดังนั้นโครงสร้างการทำงานในกระบวนการแบบดั้งเดิม ที่มีความเชื่อมโยงและการปฏิสัมพันธ์แบบดั้งเดิมซึ่งไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะยังขาดการบูรณาการที่เหมาะสมหรือระดับของการบูรณาการไม่เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยน วัฒนธรรมเชิงบูรณาการหรือการมองให้เป็นองค์รวม (Holism) มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราไม่ได้มองสังคมแบบแยกส่วนเป็นฟังก์ชั่นการทำงานหรือมองเฉพาะโครงสร้าง แต่จะต้องมองและคิดแบบกระบวนการ (Process Thinking) ที่มีหลักคิดแบบองค์รวม (Holistic Thinking) ที่มองถึงการเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์เพื่อผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก
ถ้าเราจะสร้างยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นพื้นฐานของสังคม ยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะต้องมียุทธศาสตร์หลักที่เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เป็นวัฒนธรรมหลักของชาติที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์หลักแห่งชาติ วัฒนธรรมหลักของชาติจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงแนวคิดต่างๆที่อยู่ในคนทุกคนในทุกภาคส่วนของประเทศ ผลประโยชน์ต่างๆจากทุกภาคส่วนก็จะถูกบูรณาการกันตั้งแต่ระบบความคิด การศึกษา รวมทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ ตลอดจนการนำไปปฏิบัติงานอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติอย่างมีความมั่นคงและยั่งยืนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ : การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 2331 สิงหาคม 2554
วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555
ประชุม 6 สถาบันฯ -- 4.บูรณาการยุทธศาสตร์ในทุกภาคส่วน (2) : ยุทธศาสตร์
08:52
กระบวนการ, การบูรณาการ, คุณค่า, ประชุม 6 สถาบันฯ, ยุทธศาสตร์, Dynamics, Holism, System