มุมมองและความเข้าใจกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วปอ.
กระบวนการการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนมากพอสมควร เพราะเป็นเรื่องระดับชาติ ที่มีผลต่อความเป็นไปและการดำรงชีวิตของคนจำนวนมากในชาติ รูปแบบของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ วปอ. มีความเป็นสากล (Universal) ในมุมมองของกระบวนการจัดทำ แต่จะแตกต่างกันก็ตรงคำที่ใช้ในการอธิบายในบริบทต่างๆ ของการนำไปใช้ปฏิบัติใช้งาน (Implementation) ในมุมมองของการจัดการโดยทั่วไป ยุทธศาสตร์มีอยู่ 3 องค์ประกอบ ซึ่งเราจะคำนึงถึงสถานะอนาคต (To-be State) และสถานะปัจจุบัน (As-Is State) จากนั้นเราก็จะมาหาความแตกต่าง (Gap Analysis) ของ 2 สถานะ เพื่อหาหนทาง (Ways) ที่จะทำให้เรานั้นสามารถนำพาตัวเองและองค์กรของเราไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้ให้ได้ แนวทางนี้ก็จะตรงกับแนวทางด้านการทหารที่เป็น End (To-be), Ways (Gap analysis) และ Means (As-is) ซึ่งสรุปได้ว่า คำนิยามหรือหลักการดำเนินงานหรือการสร้างยุทธศาสตร์ทั้งหลายนั้นมีหลักการคิดเหมือนกัน แต่บริบทในการสร้างยุทธศาสตร์และนำไปใช้งานนั้นแตกต่างกัน ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่แบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ที่มีหมายเลขกำกับนั้นเป็นกระบวนการสำเร็จรูปที่พยายามจะทำให้กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นระบบตามขั้นตอน (Systematic) จะได้ไม่ผิดขั้นตอนในการจัดทำ ซึ่งถือว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ทำให้การสื่อสารระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ความเข้าใจในยุทธศาสตร์
ประเด็นแรกในการจัดทำยุทธศาสตร์โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ระดับไหนก็ตาม ผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำหรือในการชี้นำสำหรับทิศทางยุทธศาสตร์นั้น ควรจะเข้าใจในประเด็นการคิดเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Thinking) ในเบื้องต้นก่อน เพราะว่าถ้าไม่ได้มีแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ที่เป็นขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่น่ามีโอกาสที่จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีได้ แล้วการคิดเชิงยุทธศาสตร์คืออะไร? แนวคิดนี้เป็นแนวคิดหนึ่งที่ใช้ในการทหาร ซึ่งสรุปได้สั้นๆ ว่า คือเป็นการคิดเพื่อชนะ (Think to Win) หรือการคิดเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง (Think to Change) ซึ่งหมายความว่าเรากำลังกำหนดทั้ง 3 องค์ประกอบในเวลาเดียวกัน คือ To-be, Gap Analysis และ As-Is หรือ End-Ways-Means ซึ่งหมายความว่า ถ้าคิดแล้วต้องชนะ ถ้าคิดแล้วยังไม่ชนะก็ต้องกลับไปคิดใหม่ ต้องคิดให้ชนะหรือคิดให้แตกต่างเท่านั้น ไม่อย่างนั้นเสียเวลาและทรัพยากรในการดำเนินงาน และถ้าไม่สามารถคิดได้ ก็ต้องแพ้อย่างแน่นอน
ยุทธศาสตร์ (Strategy) จึงหมายถึง การทำให้เกิดเป็นสถานะที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นสถานะที่ต้องการในอนาคตที่ไม่เหมือนกับสถานะในปัจจุบัน หรือการทำอย่างไรให้เกิดสภาพที่ดีกว่า เร็วกว่าและถูกกว่า การมุ่งไปสู่สถานะใหม่ในอนาคตนั้น ก็คือ ยุทธศาสตร์ (Strategy) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกันทุกคน ยุทธศาสตร์ย่อมมีผลต่อการปฏิบัติการ (Operations) ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราโดยตรงหรือมีผลต่อประโยชน์ต่างๆ ที่คนในชาติจะได้รับผลกระทบ เพราะการปฏิบัติการที่เป็นกระบวนการสร้างประโยชน์ให้กับคนในชาตินั้นอาจจะมีปัญหา ต้องการการปรับปรุง (Improvement) ต้องการพัฒนา (Development) เพื่อสิ่งที่ดีกว่า หรือต้องการพัฒนาเพื่อการแข่งขัน ดังนั้นจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในระดับปฏิบัติการให้ดีขึ้น ยุทธศาสตร์จึงเป็นตัวกำหนดหรือเป็นแผนในการดำเนินการให้เกิดความเป็นไปในทางที่ดีขึ้นหรือดีกว่าในระดับปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสังคม องค์กรหรือในระดับบุคคล
ปัจจุบันนี้คนในชาติเป็นอย่างไร? สภาพแวดล้อมของชาติในปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วในอนาคตนั้นเราต้องการให้ชาติของเราเป็นอย่างไร? เราจะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นจริงและความต้องการในอนาคต แต่ถ้าเป็นเรื่องของบุคคลหรือองค์กรก็คงจะไม่มีความซับซ้อนมากนัก แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องของประเทศชาติที่มีความซับซ้อนสูง มีมิติต่างๆมากมายที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นชาติและผลประโยชน์แห่งชาติ ดังนั้นการจัดทำหรือการเขียนยุทธศาสตร์ชาติและการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติจึงต้องมีเป้าหมายในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติไว้ซึ่งจำเป็นที่จะต้องวางแผนหรือคาดการณ์ไปในอนาคตด้วยระยะเวลาที่ยาวไกลกว่าการคิดและการวางแผนงานทั่วไป
การที่จะมองออกไปถึงอนาคตเพื่อกำหนดทิศทางของการดำเนินงานของประเทศนั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของผู้นำและข้อมูลสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันเพื่อนำมาพยากรณ์ (Forecast) สภาพแวดล้อมและศักยภาพของชาติซึ่งก็จะประกอบไปด้วยคุณภาพของคนในชาติ กระบวนการทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มีใช้อยู่ อีกทั้งความมั่งคั่งที่จะใช้เงินลงทุนในการสรรหาทรัพยากรต่างๆ มาเพื่อที่จะทำให้ประเทศชาติได้ใช้ในการดำเนินการเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามวัตถุประสงค์แห่งชาติ
กระบวนการการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ของ วปอ. มีขั้นตอนที่เป็นระบบตามลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน มีการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติหรือจะเป็นวิสัยทัศน์ในอนาคตที่ไกลออกไปมากๆ เมื่อพูดถึงในความเป็นชาติแล้ว สิ่งที่ทุกชาติต้องการก็คงคล้ายคลึงกัน คือ ความสามารถในการดำรงคงความเป็นชาติอยู่ได้อย่างมีความมั่นคงตลอดช่วงเวลาที่กำหนด ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร ชาติก็ต้องมีความมั่งคั่ง และชาติก็ต้องได้รับการยอมรับจากสังคมโลก จากนั้นเราก็จะกำหนดวัตถุประสงค์มูลฐานแห่งชาติและวัตถุประสงค์เฉพาะแห่งชาติ ในมุมเชิงการจัดการ กระบวนการเช่นนี้ถือว่าเป็นกระบวนการมาตรฐานที่ทำให้เกิดการสร้างทางเลือกของการตัดสินใจต่างๆ (Alternatives) หรือเผื่อเลือกนั่นเอง บนพื้นฐานของบริบทและสภาพแวดล้อมต่างๆที่ถือว่าเป็นข้อจำกัดหรือ (Constraints) จนได้วัตถุประสงค์ที่แน่นอน เพื่อที่จะตอบโจทย์วัตถุประสงค์มูลฐานแห่งชาติและวัตถุประสงค์เฉพาะแห่งชาติ
แต่อย่างไรก็ตามโจทย์ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นโจทย์ขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนของโจทย์สูง มีหน่วยงานหลายๆหน่วยงานเข้ามาเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทุกคนทุกหน่วยงานมีผลประโยชน์ร่วมกันเพราะเป็นสมาชิกในชาติเดียวกัน และในขณะเดียวกันก็อาจจะมีความขัดแย้งในกระบวนการดำเนินงานขั้นตอนต่างๆตามกฎหมายที่ควบคุมการดำเนินงานซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเสียผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนหน่วยงานไปได้ จึงอาจจะมีโอกาสที่จะเกิดเป็นความขัดแย้งในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำมาได้
อย่างไรก็ตามกระบวนการที่ดำเนินงานในการจัดทำยุทธศาสตร์ในปัจจุบันที่ วปอ. อาจจะดูไม่มีความขัดแย้งมากนัก เพราะว่าในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้น ประเด็นหรือหัวข้อต่างๆ นั้นได้ถูกพิจารณาแบบแยกส่วนกัน (Reductionism) แยกกันไปคิด แยกกันไปทำ ซึ่งที่จริงแล้ว เราควรจะพิจารณาแบบบูรณาการหรือแบบองค์รวม (Holism) ด้วยการคำนึงความเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งนี้เพราะว่าประเทศชาตินั้นเป็นสังคมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวได้ (Complex Adaptive System : CAS) องค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชาตินั้นมีความเชื่อมโยงกัน (Connectedness) และมีปฏิสัมพันธ์กัน (Interactions) ในหลายๆองค์ประกอบของความมั่นคงแห่งชาติทั้ง 9 ด้าน
โจทย์ของยุทธศาสตร์ชาติ
ประเด็นของการตั้งโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ คือ เป้าหมายที่ชาติเราต้องการจะเป็นในอนาคต และผู้นำที่จะพาเราไปยังเป้าหมายที่ชาติต้องการ รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำยุทธศาสตร์ชาติไปปฏิบัติให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีความเข้าใจในบริบทและสิ่งแวดล้อมในเชิงระบบ (Systemic) มากแค่ไหน? เรามีความเข้าใจว่าความเป็นชาติประกอบไปด้วยองค์ประกอบอะไรบ้างและอย่างไรบ้าง? แล้วเราเข้าใจถึงความสัมพันธ์หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆในความเป็นชาติหรือไม่ ? เรานำสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาในเชิงระบบหรือเชิงความสัมพันธ์หรือไม่?
อีกมุมหนึ่ง คือ เราได้ใช้เครื่องมือต่างๆที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ (Analysis) และสังเคราะห์ (Synthesis) ยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่? คงจะเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์บนพื้นฐานที่ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบสภาวะแวดล้อมและการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ก็ตาม แต่ประเด็นเหล่านี้ยังไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญนัก เพราะว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วปอ. นี้เป็นหนึ่งในกระบวนการฝึกการจัดทำยุทธศาสตร์ของผู้บริหารระดับสูงของชาติในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นความเข้าใจในกระบวนการและเครื่องมือที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเป้าหมายและสภาพแวดล้อมรวมทั้งยุคสมัยจึงเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างมาก
ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ที่จะต้องมองแบบการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ซึ่งเป็นการคิดและมองแบบองค์รวม (Holistic Thinking) โดยผู้ที่จัดทำยุทธศาสตร์นั้นจะต้องรู้และเข้าใจว่าปัญหาของชาติในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาตินั้นมีโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic Structure) โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นการมองปัญหาและการกำหนดยุทธศาสตร์ไปจนถึงการกำหนดวัตถุประสงค์มูลฐานแห่งชาติ วัตถุประสงค์เฉพาะแห่งชาติ นโยบายและมาตรการต่างๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นระบบ (Systemic) ของเรื่องราวที่ถูกหยิบมาเป็นประเด็นต่างๆ นั้น ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างโดดๆ แล้วเอาประเด็นทั้งหมดมารวบรวมกัน (Collections) เป็นบทสรุป ซึ่งที่จริงแล้วเราจะต้องนำเอาประเด็นต่างๆมาสร้างความเชื่อมโยงกันและมาประเมินผลของการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเสียก่อน เพื่อให้เกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง
ทุกประเด็นของยุทธศาสตร์ย่อมมีความเชื่อมโยงกับอีกหลายๆ ประเด็นในองค์ประกอบของความเป็นยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไรก็ตามเรายังขาดแนวคิดพื้นฐานและเครื่องมือในการที่จะมองปัญหาในเชิงระบบและความเป็นพลวัตของยุทธศาสตร์ เพราะว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสภาวะแวดล้อมปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนและมีความเป็นพลวัตสูง แต่ถ้าเราไม่มีเครื่องมือในการรับมือกับความซับซ้อนและความเป็นพลวัตของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น และเรายังใช้เครื่องมือและฐานความคิดแบบเดิมๆ ที่ไม่เหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้น การกำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์อาจจะไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรืออาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติขาดความมั่นคงหรือเสียผลประโยชน์แห่งชาติไปได้
การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ : การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 23
31 สิงหาคม 2554
วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555
ประชุม 6 สถาบันฯ -- 2.มุมมองและความเข้าใจกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วปอ.
08:44
ประชุม 6 สถาบันฯ, ยุทธศาสตร์, วปอ., Analysis, Development, Stakeholders, Strategy, Systemic