วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชุม 6 สถาบันฯ -- 5.สร้างยุทธศาสตร์ชาติด้วยการคิดอย่างโซ่อุปทานและลอจิสติกส์


สร้างยุทธศาสตร์ชาติด้วยการคิดอย่างโซ่อุปทานและลอจิสติกส์

จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในบริบทของสังคมโลกจึงทำให้มีความเป็นพลวัตหรือมีความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและสังคมอยู่ตลอดเวลา แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ก็ได้รับการตอบรับมากขึ้นเป็นลำดับ และได้รับความสนใจในระดับนโยบายระดับชาติ แต่ละหน่วยงานในระดับกระทรวงหรือ กรมต่างๆ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ศึกษาและหาข้อมูลต่างๆ  เพื่อที่จะกำหนดแนวทางและนโยบายด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในระดับชาติเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ในระดับชาติ

คุณค่าของความเป็นชาติ
             
เมื่อพูดถึงความเป็นชาติแล้ว ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ไทยในมุมต่างๆ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่อยมา แต่คุณค่า (Value) ของชาตินั้น สามารถที่จะมองได้ในเชิงเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของคนในชาติที่อยู่รวมกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันและมีสัญลักษณ์ของความเป็นพวกเดียวกัน ชนในชาตินั้นก็จะถูกผลักดันด้วยวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้เกิดการสร้างและพัฒนาความเจริญของชาติ ดังนั้นคุณค่าของชาติถ้าวัดในเชิงขนาดของเศรษฐกิจก็สามารถวัดได้ที่ GDP และความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ

แนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างชาติ และมีอิทธิพลโดยตรงต่อโซ่คุณค่า (Value Chain) ของประเทศนั้น แต่ละประเทศก็มีคุณค่า (Value) แตกต่างกันออกไป   ประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากก็จะสร้างผลิตผลทางการเกษตรออกมา บางประเทศที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากก็จะมีแหล่งอุตสาหกรรมในการแปรรูปวัตถุดิบเพื่อการส่งออกและใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ บางประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากก็จะใช้พื้นที่และแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อบริการแก่นักท่องเที่ยวเป็นหลัก บางประเทศก็อาจจะมีคุณค่าต่างๆ มากกว่าหนึ่งคุณค่าตามความหลากหลายในความสามารถของคนภายในประเทศ ในแต่ละคุณค่าก็จะมี  Value Chain  หรือ โซ่คุณค่าของแต่ละชนิดแตกต่างกันไป
สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการทำวิจัยและกำหนดคุณค่าหรือกลุ่มสินค้าที่สามารถพัฒนาให้มีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรม ICT  อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและแฟชั่น   เป็นที่แน่นอนว่าการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อที่จะผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์สินค้าไปสู่ลูกค้ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากิจกรรมการผลิตเลย ในมุมมองของประเทศหรือชาติ ลูกค้าของอุตสาหกรรมจะมีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหรือตลาดโลก   ดังนั้นโจทย์ของยุทธศาสตร์ชาติในด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานควรจะสนับสนุนการสร้างคุณค่าและการส่งมอบคุณค่าเหล่านี้ต่อลูกค้า (Value Creation and Value Delivery)  

บทบาทของภาครัฐ

โดยปกติภาครัฐไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อโซ่คุณค่าและโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์   แต่ถ้ามองให้ดีแล้วภาครัฐจะเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากและยังเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อโซ่คุณค่านั้นๆ ซึ่งจะเป็นเหมือนจุดมุ่งหมายของภาครัฐในการสร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศ ภาครัฐนั้นจะอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนในการสร้างคุณค่านั้นๆ ออกมา  ให้ลองพิจารณาประเทศหนึ่งๆซึ่งเป็นบริษัทที่มีประชาชนทุกคนเป็นผู้ถือหุ้น โดยที่ประชาชนแต่ละคนก็ต้องเสียภาษีเงินได้ทุกปีเปรียบเสมือนค่าหุ้น เหมือนดังที่นักการเมืองทุกคนจะพูดว่าประชาชนทุกคนคือ เจ้าของประเทศ

บทบาทของภาครัฐในโซ่คุณค่าแต่ละโซ่นั้นก็มีหลายบทบาท จึงจะเห็นได้ว่าหน่วยงานของรัฐนั้นแบ่งออกเป็นหลายกระทรวงแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ นั่นเป็นแนวคิดในอดีตซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานและตัดสินใจในการดำเนินการ ปัจจุบันการทำงานของกระทรวงต่างๆ ที่แบ่งเป็นหน้าที่ต่างๆ จะต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่การสร้างคุณค่าในแต่ละโซ่คุณค่าที่เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ  ดังนั้นบทบาทหนึ่งของภาครัฐ คือ การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่การสร้างคุณค่าในแต่ละโซ่คุณค่าต่างๆ ของธุรกิจและหน่วยงานที่อยู่ในประเทศและประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อให้เกิดประโยนช์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ  ในแบบจำลองโซ่อุปทานและโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ในประเทศสามารถแสดงได้ดังในรูปที่ 1 โซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ใดๆ สามารถที่จะแสดงอยู่ในลักษณะเป็นความเชื่อมโยง (Linkage) หรือโซ่ (Chain) หรือเครือข่าย (Network) ของความร่วมมือกันของผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต และผู้กระจายสินค้า จนสุดท้ายเป็นผลิตภัณฑ์หรือคุณค่าที่ได้ถูกส่งมอบไปถึงมือลูกค้า

กิจกรรมแรกเริ่มที่มีบทบาทในการค้าและอุตสาหกรรมของโลกก็คือ การขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ธุรกิจการขนส่ง ถือว่าเป็นธุรกิจลอจิสติกส์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกธุรกิจหนึ่ง ซึ่งต่อมาธุรกิจลอจิสติกส์ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมมาถึงการจัดเก็บและคลังสินค้า (Warehouse) จนทุกคนเข้าใจว่า ลอจิสติกส์นั้น คือ การขนส่งและการจัดเก็บในคลังสินค้า   แต่ที่จริงแล้วแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีขอบข่ายมากกว่าการขนส่งหรือการรับจัดเก็บสินค้า  จึงจะพิจารณาได้ว่าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมลอจิสติกส์ โดยที่ผู้ผลิตหรือผู้รับสินค้าไม่ได้เป็นผู้ดำเนินงานในการขนส่งหรือเคลื่อนย้าย แต่ว่าจ้างให้ผู้อื่นดำเนินการแทน ที่เห็นได้ชัดก็คือ รถขนส่งสินค้าต่าง ๆ สายเดินเรือ สายการบิน แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ากิจกรรมการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ที่อยู่นอกพื้นที่ปฏิบัติงานในบริษัทหรือโรงงาน รถขนส่งต่างๆ จะต้องเคลื่อนที่ไปบนถนนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบธุรกิจ แต่ก็คงจะไม่มีบริษัทเอกชนบริษัทไหนลงทุนสร้างถนนเอง   ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมาเป็นคนกลางสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในการขนส่ง  จากจุดนี้จะเห็นได้ว่ากระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในงานพัฒนาตรงนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าแผนงานลอจิสติกส์แห่งชาติที่ริเริ่มโดยกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานวางแผนทางด้านการขนส่งอื่น ๆ จึงออกมาในรูปแบบของแผนงานพัฒนาการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าลอจิสติกส์ไม่ได้หมายถึงการขนส่งจากโรงงานหนึ่งไปยังคลังสินค้าอีกโรงงานหนึ่งเท่านั้น แต่ลอจิสติกส์จะครอบคลุมการขนส่งและการเคลื่อนย้ายทั้งภายในและภายนอกองค์กรธุรกิจทั่วทั้งโซ่อุปทาน

หากเราเข้าใจลอจิสติกส์ดี  เราก็จะทราบว่า ที่ไหนมีลอจิสติกส์ก็ย่อมมีโซ่อุปทานตามมา แล้วโซ่อุปทานตรงการขนส่งระหว่างองค์กรมีอยู่ตรงไหนบ้าง  โซ่อุปทานสำหรับลอจิสติกส์ในช่วงการขนส่งระหว่างองค์กรก็คือ ข้อตกลงในซื้อขาย การโอนถ่ายความเป็นเจ้าของในตัวสินค้า และการส่งมอบคุณค่าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และการบริการ  จึงเห็นได้ชัดว่า เมื่อมีสังคมเกิดขึ้นก็จะต้องมีคนกลางซึ่งก็คือภาครัฐ  ในกรณีนี้กระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเรื่องการค้าขายระหว่างองค์กรจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการออกระเบียบวิธีการเพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานในการตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน เพื่อให้เกิดการขนส่งสินค้ากัน   ยิ่งในปัจจุบันการใช้อินเตอร์เน็ตมาช่วยให้การทำรายการทางธุรกิจ (Transactions)  มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ในรูปแบบของ E-commerce  ดังนั้นบทบาทในการจัดการโซ่อุปทานระหว่างองค์กรที่มีผลกระทบโดยตรงกับปริมาณการขนส่งบนโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นของกระทรวงพาณิชย์

บทบาทเหล่านี้ทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์มีผลกระทบต่อโซ่อุปทานโดยรวมของสินค้าทุกชนิด แต่มีข้อสังเกตง่ายๆ คือ กิจกรรมลอจิสติกส์ที่อยู่ภายนอกทรัพย์สินของบริษัทหรือองค์กรและเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่จะต้องใช้หรือปฏิบัติร่วมกัน ภาครัฐจะต้องเข้าไปมีบทบาท   แล้วมุมมองของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เสนอจะแตกต่างจากอดีตอย่างไร   ในอดีตแนวคิดของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นมีอยู่มานานแล้ว ดังนั้นปัจจุบันและอนาคตเราจะต้องบูรณาการความคิด ข้อมูล วิสัยทัศน์ และนโยบายเชิงลอจิสติกส์เข้าด้วยกันเพื่อให้การใช้ทรัพยากรในเชิงลอจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

อุตสาหกรรมลอจิสติกส์

กิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่อยู่นอกกรอบของพื้นที่และหน้าที่การทำงานในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เช่น การจัดเก็บและการขนส่ง ส่วนมากหลายบริษัทพยายามที่จะจัดจ้างจากหน่วยงานภายนอก (Outsourcing) โดยเฉพาะการขนส่ง ในบางบริษัทที่ต้นทุนในการดำเนินงานจัดส่งต่ำและมีการจัดการที่ดีก็อาจจะเป็นเจ้าของและจัดการยานพาหนะเอง แต่ในปัจจุบันธุรกิจลอจิสติกส์โดยเฉพาะในการขนส่งและการจัดการคลังสินค้าสามารถเสนอการบริการครบวงจรในการจัดการลอจิสติกส์ทั้งขาออกและขาเข้าให้กับลูกค้าโดยที่ลูกค้าไม่ต้องมากังวลในการบริหารจัดการลอจิสติกส์ทั้งในช่วงขาเข้าและขาออกทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ


จากรูปจะเห็นได้ว่านอกจากรัฐบาลในฐานะผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งและการค้าพาณิชย์แล้ว  ภาคเอกชนเองสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางในการขนส่งสินค้าและบริการข้อมูลต่างๆ ในฐานะผู้ให้บริการลอจิสติกส์ (Logistic Provider) และผู้ให้บริการ IT ( IT Provider)  ทำให้แนวโน้มของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และ IT ได้เจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกันอยู่เรื่อยมา
สำหรับอุตสาหกรรมลอจิสติกส์นั้นในอดีตก็คือธุรกิจการขนส่งและการรับฝากสินค้า จะเห็นได้จากธุรกิจการเดินเรือ การขนส่งทางบกและทางอากาศรวมทั้งคลังสินค้าต่างๆ  สังเกตได้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนือขอบเขตอาณาบริเวณของโรงงานผลิตหรือธุรกิจ แต่ในปัจจุบันการให้บริการจัดการกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ขยายขอบข่ายเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมหรือที่หน่วยผลิตแล้ว ด้วยแนวคิดของการจัดจ้างจากภายนอก (Outsourcing) แต่ยังไม่ถึงขั้นเข้าไปรับจ้างผลิตชิ้นส่วน

เป้าหมายของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีขอบข่ายแค่กิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเท่านั้น ไม่ได้รวมกิจกรรมการผลิต ดังนั้นในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจึงประกอบด้วยวิธีการ แนวคิด แนวทางแก้ไขปัญหา เครื่องมือในการขนส่งขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) และที่สำคัญมากก็คือ ระบบ IT หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศนั่นเองที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน
             
เมื่อมองมาถึงจุดนี้แล้วจะเห็นได้ว่าภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ และ IT ให้มีส่วนในการสร้างคุณค่าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานถึงแม้ว่าจะเป็นแค่การเคลื่อนย้ายหรือขนส่งสินค้า แต่จะต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนหลายหน่วยงานที่มีกฎระเบียบของราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พิธีการศุลกากรการแจ้งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้เวลานาน  แต่ถ้าภาครัฐสามารถลดขั้นตอนลดเวลาและทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้   กระบวนการของลอจิสติกส์ในขั้นตอนนี้ก็จะเป็นตัวช่วยให้การเชื่อมโยงนั้นดีขึ้น

ส่วนโครงสร้างของเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ที่เห็นกันอย่างชัดเจนก็คือ กระทรวง ICT ที่จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานของ ICT ทั้งทางด้านนโยบาย การสนับสนุนส่งเสริมและการสร้างมาตรฐานในการติดต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างองค์กรธุรกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะธุรกิจในปัจจุบันจะต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการรับส่งข้อมูล ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานในการรับส่งสินค้าและวัตถุดิบ คือ ถนน และการคมนาคมขนส่ง และที่สำคัญคือ การไหลของข้อมูลในระบบ IT นั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อลอจิสติกส์การไหลของวัตถุดิบและสินค้า  คุณภาพของข้อมูลเชิงลอจิสติกส์ย่อมมีผลต่อลอจิสติกส์การไหลของวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อข้อมูลข่าวสารของธุรกิจ ก็น่าจะเป็นกระทรวง ICT ดังนั้นเราสามารถที่จะเห็นถึงความสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของ ICT และการคมนาคมขนส่ง ภาครัฐจะต้องพยายามสร้างสมดุลให้เป็นภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจที่มีระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน

สร้างมุมมองใหม่ด้วยการบูรณาการ
             
การสร้างยุทธศาสตร์ชาติจึงจำเป็นที่จะต้องมองภาพใหญ่ให้เห็นอย่างเด่นชัด และที่สำคัญจะต้องเห็นถึงความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ ในภาพนั้นด้วย ดังนั้นการมองเชิงยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะต้องมีข้อมูลและรายละเอียดในทุกมุมมองของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน   โดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในหน่วยงานต่างๆ  สิ่งแรกที่จะช่วยให้เกิดการบูรณาการที่ประสบผลสำเร็จคือ การมีความเข้าใจเหมือนกันในเรื่องต่างๆ  เพราะสิ่งที่เราจะต้องเชื่อมโยงหรือบูรณาการกันในเบื้องต้นก็คือ ความคิดของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องมีผู้บริหารงานที่มีพื้นฐานความคิดตามตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน  ดังนั้นการสร้างยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทานนั้นจำเป็นต้องมี “คำนิยามร่วมในการดำเนินงาน” (Working Definition) ซึ่งจะต้องใช้ร่วมกันทั้งผู้วางยุทธศาสตร์และผู้ปฏิบัติรวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน   แต่ปัจจุบันเรายังเห็นต่างคน ต่างทำ ต่างคิดกันอยู่ แล้วยุทธศาสตร์นี้จะทำให้เราไปถึงยังจุดมุ่งหมายได้อย่างไร เราจึงคงต้องช่วยกันคิดและช่วยกันทำอย่างบูรณาการ

การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ :  การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา  สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน  มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 2331 สิงหาคม 2554