วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชุม 6 สถาบัน -- 6.รัฐบาลในมุมมองของโซ่อุปทาน (จบ)


รัฐบาลในมุมมองของโซ่อุปทาน

หลายคนมีมุมมองเรื่องการจัดการโซ่อุปทานว่าคงเป็นแค่แฟชั่น  เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเวลาผ่านไปก็คงจะหายไปเหมือนเทคนิคการจัดการอื่นๆที่ผ่านมา   แต่โซ่อุปทานนั้นคงไม่เหมือนกับเทคนิคการจัดการทั่วไป   ในอนาคตชื่ออาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น   แต่หลักคิดของความเป็นโซ่อุปทานนั้นยังคงอยู่และได้รับการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องเพียงแต่เราไม่รู้และยังไม่เข้าใจในหลักคิดของการจัดการโซ่อุปทานอย่างลึกซึ้ง   ถ้าจะคิดว่าโซ่อุปทานนั้นเป็นของจริงมากกว่าเทคนิคการจัดการอื่นๆ แล้ว  เราก็ต้องดูว่าเรามองเห็นโซ่อุปทานนั้นจากอดีตสู่ปัจจุบันและมองไปถึงอนาคตได้อย่างมีความเข้าใจและเห็นตัวตนของโซ่อุปทานได้มากเพียงไร

โซ่อุปทานประเทศสร้างคุณภาพชีวิต

ถ้าเรามองโซ่อุปทานประเทศ (Country Supply Chain) ว่าเป็นเหมือนองค์กรธุรกิจที่มีประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นลูกค้าด้วยในเวลาเดียวกัน  หรืออาจจะมองให้กว้างและครอบคลุมมากกว่าว่า  โซ่อุปทานนั้นเป็นระบบสังคม (Social System)  ถ้าเป็นประเทศก็เป็นสังคมสาธารณะขนาดใหญ่  ซึ่งมีสังคมสาธารณะขนาดเล็กๆ จำนวนมากเป็นองค์ประกอบ   สังคมขนาดเล็กก็มีองค์กรธุรกิจที่แสวงหาประโยชน์ให้กับองค์กรเอง  และในขณะเดียวกันก็มีองค์กรสาธารณะอื่นๆที่ไม่ได้แสวงหากำไรให้กับองค์กร   แต่พยายามที่สร้างกำไรหรือประโยชน์ให้กับสาธารณะ  ในเมื่อประเทศเป็นสังคมสาธารณะขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยสังคมธุรกิจทั้งขนาดใหญ่  กลางและเล็ก  สังคมสาธารณะต่างๆ รวมทั้งบุคคลธรรมดาทุกคนที่เป็นประชาชนและองค์กรในสังคมระดับประเทศจะต้องมีความมุ่งมั่นในผลประโยชน์ร่วมกัน   แต่ด้วยขนาดและความซับซ้อนที่เชื่อมโยงระหว่างทุกองค์ประกอบในสังคมทุกระดับ  ทำให้การอยู่ร่วมกันด้วยผลประโยชน์ร่วมกันเป็นไปได้ไม่ง่ายมากนัก
             
ในเมื่อประเทศเป็นสังคมที่สร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับประชาชน  เราก็สามารถที่จะพิจารณามองสังคมอย่างโซ่อุปทานได้  และมองไปถึงโซ่คุณค่าของประเทศ  แต่อาจจะมีคำถามว่าแล้วโซ่คุณค่าของประเทศ คือ อะไร?  ข้อเขียน “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งเป็นข้อเขียนที่เขียนโดย อ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์  สามารถอธิบายถึงโซ่คุณค่าของประเทศที่ประชาชนเป็นผู้ได้รับในฐานะลูกค้าและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโซ่คุณค่าประเทศ

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกฎหมาย หรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง  ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์

ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้ รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวย หรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่จะต้องมีขื่อ มีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรม และเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิด และวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาส รับเงินทุนจากต่างประเทศ มาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม  ผมต้องการให้ชาติของผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ในราคายุติธรรม

ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้นมีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่  ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่นๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ก็ได้โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก  ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชะอุ่ม สามารถมีบทบาท และชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัด งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า

ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ เมียผมก็ต้องการโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับผม และเราสองคนควรจะได้รับความรู้และวิธีการวางแผนครอบครัว เมื่อแก่ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใจในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตอง ในงานศพให้วุ่นวายไป  นี่แหละคือความหมายของชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน   สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ขอความสุขสวัสดีและสันติสุข จงเป็นของท่านทั้งหลาย และพระท่านกล่าวไว้ดังนี้เกี่ยวกับความสวัสดี “เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เรื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำเร็จอินทรีย์ และความเสียสละ”

จากข้อเขียนข้างต้น  ลองสังเกตดูว่า มีกระทรวงใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเราในโซ่คุณค่าแห่งชีวิตนี้   เราคงจะบอกได้ถึงหน้าที่หลักของรัฐบาลที่จะต้องบริหารและจัดการโซ่คุณค่าประเทศเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน  ซึ่งได้เลือกผู้แทนราษฎรขึ้นมาเพื่อใช้สิทธิ์ใช้เสียงแทนพวกเขาในการบริหารประเทศ   เราจึงมอง จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน นั้นเป็นโซ่คุณค่าที่รัฐบาลจะต้องมาบริหารจัดการและพัฒนาให้สอดคล้องตามกระแสโลกาภิวัฒน์   ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลไหนๆในโลกก็ตามก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าเหล่านี้ไปได้   และเป็นที่แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ดีจากการบริหารจัดการของรัฐบาลจะต้องกระจายออกไปในทุกส่วนทุกระดับของประชาชนในประเทศ   ในเมื่อประเทศมีโซ่คุณค่าที่เด่นชัดแล้ว   ก็จะต้องมีโซ่อุปทานซึ่งหมายถึง  กลุ่มผู้บริหารประเทศหรือผู้บริหารจัดการโซ่คุณค่า  ซึ่งก็คือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่กระจายกันออกไปบริหารจัดการตามกระทรวงต่างๆ เพื่อทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับประชาชนในทุกช่วงระยะชีวิตของประชาชนแต่ละคน

การรวมตัวของโซ่อุปทาน
             
เวลาที่เราพูดถึงโซ่อุปทาน หลายๆ คนก็นึกไปถึงในหลายๆ มุมมอง  แต่สำหรับผมนั้นเมื่อกล่าวถึงโซ่อุปทานผมจะหมายถึงความสามารถ (Competency) ของบุคคลหรือองค์กรที่มาปฏิบัติหรือมาดำเนินกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process)  ดังนั้นผู้ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลมาบริหารโซ่คุณค่าของประเทศก็ต้องมีความสามารถที่เหมาะสมในแต่ละกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าซึ่งจะต้องให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

เคยมีหลายความคิดที่ไม่เป็นกลางหรือมีอคติว่าประเทศไทยนั้นไม่จำเป็นต้องมีนโนบายของพรรคการเมืองตามที่โฆษณาหาเสียงกันอยู่  เพราะว่าประเทศเรานั้นมีหน่วยงานวางแผนอย่างสภาพัฒน์ฯ อยู่แล้ว   ไม่จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ต้องมีความสามารถอะไรมากมาย  มีนายกรัฐมนตรีไว้รับแขกบ้านแขกเมืองก็พอแล้ว  เราจะคิดกันอย่างนั้นไม่ได้  เพราะประเทศไม่ใช่แค่สังคมเล็กๆแบบครอบครัว  แต่ประเทศประกอบด้วยหลายๆครอบครัวที่มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป  จึงต้องมีการจัดการแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน  การเข้ามาบริหารจัดการประเทศไม่ใช่แค่ทำให้ประเทศดำเนินงานได้ไปวันๆ   แต่ต้องจัดการให้มีทิศทางในการพัฒนาและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน  ทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในโลกได้  การที่จะทำได้เช่นนี้นั้นก็ต้องมีผู้ที่เข้ามาบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรต่างๆในโซ่คุณค่าของประเทศและประสานผลประโยชน์ร่วมกันในโซ่อุปทานของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
             
การจัดตั้งรัฐบาลจึงเหมือนกับการก่อตัวหรือการรวมตัวกัน (Formation) ของความสามารถในการบริหารจัดการคุณค่าต่างๆ ในสังคมที่ประกอบกันเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน   หรือจะเปรียบเทียบได้กับการรวมตัวของนักดนตรีที่มีความสามารถโดดเด่นในการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชนิด  โดยมารวมตัวกันเป็นวงดนตรี  ไม่ใช่เหมือนกับการรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลแบบไทยที่มีสูตรการจัดตั้งรัฐบาลตามจำนวน ส.ส. ที่ได้  แต่มันก็เป็นวัฒนธรรมของการเมืองไทยมาโดยตลอด
             
แล้วเราจะทำการรวมตัวโซ่อุปทานได้อย่างไร?  ที่จริงแล้วการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นโซ่อุปทานนั้นไม่ใช่แค่การเอาแต่บุคคลหรือกลุ่มมารวมตัวกัน  แต่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายใหญ่ของโซ่อุปทาน  ก่อนอื่นเลยจะต้องรู้จักลูกค้าของประเทศเสียก่อนซึ่งก็ คือ ประชาชนของประเทศ  ต้องรู้ตำแหน่งของตัวเองหรือประเทศในสนามการแข่งขัน  รู้จักคู่ต่อสู้  เพราะประเทศต้องไปทำการค้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ  และที่สำคัญต้องรู้จักสถานภาพปัจจุบันของตัวเองว่ามีความแข็งแกร่งตรงไหนและมีจุดอ่อนอย่างไรในกระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนของประเทศ  ลองเปรียบเทียบกับการตั้งวงดนตรีสักวงหนึ่ง  คุณจะต้องเลือกกลุ่มผู้ฟังเพลงเพื่อกำหนดลักษณะของเพลงว่าจะอยู่ในประเภทไหนบ้าง  นักดนตรีจะเป็นใครบ้างที่จะมาร่วมวงกัน   หัวหน้าวงดนตรีและผู้จัดการวงจะเป็นใครดี  แล้วแผนการดำเนินการพัฒนาเพลงออกมาเป็นอัลบั้มและการแสดงทัวร์คอนเสิร์ตรวมทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้วงดนตรีและบริษัทค่ายเพลงอยู่รอดได้ในธุรกิจ

รัฐบาลต้องคิดอย่างองค์รวม
             
โดยหลักคิดแล้วไม่ว่าโซ่อุปทานไหนๆ ก็มีหลักคิดเชิงโซ่อุปทาน (Supply Chain Thinking) เหมือนกันหมด  เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันในประเด็นของลักษณะของลูกค้า   และลักษณะของผลิตภัณฑ์   ประเด็นทั้งสองนี้จะไปกำหนดโซ่คุณค่าและโซ่อุปทาน   การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจการค้า  สังคม  เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคม   ถ้าผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลสามารถมองปัญหาอย่างองค์รวมแบบโซ่อุปทานได้   ก็น่าจะสามารถตีประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ว่าประชาชนของประเทศเป็นใครบ้าง   ความต้องการพื้นฐานของประชาชนในเวลานี้และในอนาคตมีอะไรบ้าง  ภาวะกดดันทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเข้ามามีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไรบ้าง  จะต้องวางแผนอย่างไร   จะต้องมองไปข้างหน้าอย่างไร   จะต้องปรับตัวอย่างไร  จะต้องตัดสินใจอย่างไร   สุดท้ายที่สำคัญเมื่อมารวมตัวกันแล้วจะทำงานร่วมกันอย่างไร (Collaboration) ให้ลองสังเกตนโนบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เราได้ฟังมาในช่วงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่ามีส่วนที่สะท้อนหรือเกี่ยวเนื่องกับความเป็นองค์รวมสำหรับโซ่อุปทานประเทศหรือไม่
             
หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศของเราก็มีอยู่แล้ว   ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ ในการบริหารจัดการประเทศของเราก็มีพร้อมอยู่แล้ว   แต่ว่าทำไมเรายังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งขันในโลกและโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ เรา  ทั้งๆ ที่เราก็มีการพัฒนาประเทศที่ดีมาเป็นเวลานานแล้ว  แต่ทำไมเรากลับพัฒนาตามโลกไม่ทัน  พัฒนาช้าไป หรือไม่ก็เป็นการพัฒนาไปไม่ถูกทาง  ทั้งๆ ที่เราก็มีโครงสร้างโซ่อุปทานประเทศเหมือนกันกับประเทศอื่นๆ และเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง   และหลายๆ อย่างที่เรามีก็ดีกว่าเสียอีก  แต่ทำไมเรากำลังจะสู้เขาไม่ได้



ประเทศไทยเรายังขาดการคิดแบบองค์รวม (Holistic) แต่เรายังอยู่รวมกันเป็นประเทศ   ก็ยังดีที่ไม่ต่างคนต่างแยกกันอยู่   ปัญหาก็ คือ คงจะตายร่วมกันในอนาคตเป็นแน่   แต่คิดว่าคงจะไม่เป็นเช่นนั้น  ถ้าเราช่วยกันคิดช่วยกันทำ   ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเหมือนกับทีมฟุตบอลที่รวมเอาผู้เล่นที่มีความสามารถมารวมกันเป็นทีมเหมือนทีมอื่นๆ   แต่ไม่มีการจัดการโซ่อุปทานซึ่งไม่ใช่เป็นแค่มุมมองหนึ่งการจัดธุรกิจในอดีตที่เป็นการควบคุมและตรวจสอบ   หรือเป็นในลักษณะเชิงรับ (Reactive) มากกว่าเชิงรุก (Proactive)   ปัจจุบันในการจัดการไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือประเทศจะต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงอย่างก้าวกระโดด (Breakthrough)  เพื่อความอยู่รอด   แต่บางคนอาจจะแย้งว่าเราควรจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง  ไม่ควรจะก้าวกระโดด  ที่จริงแล้วเรายังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในอีกหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในตัวเองในเรื่องความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ก็ให้ลองกลับไปอ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10  ว่ามีพื้นฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง  ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในระบบตลาดเสรีทุนนิยม  สิ่งนี้อาจจะแสดงให้เราเห็นว่าเรายังใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก หรือไม่ก็คงไม่เข้าใจในแก่นของปรัชญาดีพอ   ถ้าเราเข้าใจโซ่อุปทานก็จะพบว่าแก่นของการจัดการโซ่อุปทานที่ดีนั้นก็มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแฝงอยู่ด้วย

แต่ในภาวะของเศรษฐกิจที่เป็นพลวัตอย่างนี้   เราก็ควรจะต้องมองเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นพลวัตเช่นกัน  ประเด็นของการจัดการโซ่อุปทานในอดีตก็แฝงตัวอยู่ในการจัดการองค์กรธุรกิจของแต่ละองค์กรแบบตัวใครตัวมัน  แต่แรงกดดันจากทุกด้านในปัจจุบันผลักดันให้ผู้บริหารองค์กรจะต้องมองอย่างโซ่อุปทาน   มองอย่างองค์รวม  มองทั้งจากภายนอกจนถึงข้างในองค์กร  ที่สำคัญการมองอย่างองค์รวมเป็นการมองให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมาในสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

ลองมาพิจารณาที่ทีมฟุตบอลซึ่งมีแต่นักฟุตบอลที่เก่งๆ  แต่อาจจะพ่ายแพ้ต่อทีมที่มีนักฟุตบอลซึ่งไม่ได้มีฝีมือมากมายนัก  แต่กลับมีแผนการเล่นที่เป็นหนึ่งเดียวสามารถควบคุมได้ทั้งทีม  ดังนั้นความเป็นองค์รวมจึงต้องการความเป็นหนึ่งเดียว   มีเป้าหมายร่วมกัน   สังคมจะมีความเป็นองค์รวมได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกของสังคมมีเป้าหมายเดียวกัน   ไม่ใช่มีแต่ความแตกแยก   โดยเฉพาะประเทศไทยในเวลาเช่นนี้ที่เรามักจะพูดถึงความแตกแยก  สังคมแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย  หลายคนอยากให้มีความสมานฉันท์กัน   ที่จริงแล้วไม่ว่าสังคมหรือระบบใดก็ตามทั้งในธรรมชาติและในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก็ย่อมจะประกอบด้วยความแตกต่างกันทั้งสิ้น  จึงเกิดเป็นความหลากหลายที่สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์และธรรมชาติเอง    สังคมหรือระบบต่างๆ เกิดมาจากองค์ประกอบหลายๆ องค์ประกอบที่มีความแตกต่างกัน   ดังนั้นทุกสังคมหรือทุกองค์กรในโลกนี้มีความแตกต่าง มีฝ่ายกันทั้งนั้น  แต่ทำไมสังคมอื่นๆ เขาจึงไม่มีความแตกแยกกัน

ที่เราพูดๆ กันมากในเรื่องความแตกแยก   บางครั้งอาจจะทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราทุกคนต้องมีความคิดเหมือนกัน   ซึ่งที่จริงแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น  ที่เราแตกแยกกัน ก็เพราะว่าเรามีความคิดที่หลากหลายแต่เราขาดแกนนำหรือผู้ที่จะมาเป็นคนที่ผสมผสานหรือบูรณาการความคิดทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน  ทำให้ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นผลประโยชน์ของทุกคนด้วย  แต่ก็อาจจะไม่ได้อย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกัน   แต่จะต้องจัดสรรและกระจายไปให้เหมาะสมตามสัดส่วนการมีส่วนร่วมในโซ่คุณค่าและสภาวะการณ์แวดล้อม   ไม่ใช่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากเกินไป  จนทำให้ระบบโซ่อุปทานที่ควรจะพัฒนาไปได้ด้วยการรวมเอาแต่ละฝ่ายที่เก่งกันคนละอย่างมาทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวมไม่สามารถดำเนินการและพัฒนาไปได้

ผู้นำโซ่อุปทาน : ผู้สลายความแตกแยก
             
ในปัจจุบันระบบธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจไม่ได้ถูกผลักดันด้วยภาวะผู้นำองค์กรธุรกิจเหมือนอดีต  เพราะว่าบริบทของธุรกิจในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง  ดังนั้นผู้นำในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจหรือประเทศไทยก็ตามจะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดเสียใหม่ (Paradigm)  เหมือนหนังสือ  The World is Flat  ที่พยายามจะบอกว่าโลกนั้นไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว   เช่นกัน  ผู้นำรัฐบาลในยุคนี้คงจะต้องมองจากภายนอกสู่ภายใน  ความเข้าใจในบริบทของโลกาภิวัฒน์เป็นประเด็นที่สำคัญของผู้นำประเทศในยุคนี้ไม่ว่าประเทศไหนๆก็ตาม   ในขณะเดียวกันผู้นำรัฐบาลก็ต้องมีความเข้าใจในสภาพหรือสถานะของโซ่อุปทานประเทศว่าอยู่ในตำแหน่งใดและสถานะใด   มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกอย่างไร  วิสัยทัศน์ในการจะนำพาประเทศและปรับปรุงพัฒนาประเทศไปถึงที่เป้าหมายท่ามกลางการแข่งขันในระดับโลกได้อย่างไร

ส่วนนักการเมืองก็คือ นักการเมือง   ผู้นำผู้บริหารประเทศก็ต้องเป็นนักการเมืองในอีกบทบาทหนึ่งที่ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการมากกว่า   ไม่ใช่แค่ตัวแทนของประชาชนในสภาเท่านั้น   ผู้นำและคณะผู้บริหารประเทศจะต้องมีมุมมองเชิงโซ่อุปทานและประสานผลประโยชน์ของผู้ร่วมรัฐบาลและผลประโยชน์ของชาติ   แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นกันนั้นเป็นการประสานผลประโยชน์ส่วนตัวให้ลงตัวกันเสียก่อน    แล้วรัฐบาลก็อยู่ไม่รอดซึ่งก็เป็นเพราะว่าผลประโยชน์ส่วนตัวไม่ลงรอยกันเอง   แล้วยังกระทบไปยังผลประโยชน์ส่วนรวมจนสุดท้ายก็ต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่เลือกตั้งใหม่
             
ทำไมผู้นำรัฐบาลของประเทศเรายังไม่สามารถสลายความแตกแยกได้   หรือพูดในอีกมุมหนึ่งได้ว่ายังไม่ประสานรวมความคิดที่แตกต่างให้เข้ากันได้  และต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับทุกคน  อย่าลืมว่าเรื่องของโซ่อุปทานนั้นมีแกนอยู่ที่การตัดสินใจในแต่ละฝ่ายแต่ละฟังก์ชั่นที่ทำงานร่วมกัน  ไม่ใช่อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานหรือเทคโนโลยี  โซ่อุปทานที่ดีนั้นอยู่ที่ความสามารถในการคิดอ่านหรือตัดสินใจ  หรือ Supply Chain Intelligence   ความสามารถตรงนี้มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ดีที่สุด  ไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดจะมาทดแทนได้   แต่เทคโนโลยีถูกมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานแทนมนุษย์    ดังนั้นประเทศใดที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง  ประเทศนั้นจะมีความชาญฉลาดเชิงสังคม  (Social Intelligence) สูง  ซึ่งหมายถึงความสามารถของแต่ละบุคคลที่ร่วมกันคิดร่วมกันทำเพื่อส่วนรวม  ในขณะที่สังคมหรือประเทศมีความซับซ้อนมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา  ความเก่งหรือความสามารถในการคิดอ่าน  การเรียนรู้และการให้เหตุผลก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้น   ความสามารถเช่นนี้ คือ ความฉลาดเชิงสังคมที่สามารถนิยามได้ว่าเป็นความสามารถที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมและการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มคน   ดังนั้นโซ่อุปทานจึงเป็นเรื่องของคนหลายคนที่มาสร้างประโยชน์ร่วมกัน  ซึ่งดีกว่าคนเดียวหรือต่างคนต่างทำ

ความชาญฉลาดเชิงสังคม
             
การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นมากกว่าการจัดสรรผลประโยชน์ส่วนพรรค (ทั้งพรรคการเมืองและพรรคพวก)  ในมุมมองของโซ่อุปทาน  ความสามารถของโซ่อุปทานขึ้นอยู่กับความชาญฉลาดของโซ่อุปทานซึ่งก็ คือ ระบบสังคมแบบหนึ่ง  ดังนั้นโซ่อุปทานก็ควรจะมีความชาญฉลาดในการสร้างสรรค์คุณค่า    เช่นเดียวกับสังคมระดับประเทศที่เป็นโซ่อุปทาน ก็จะต้องมีความชาญฉลาดเชิงสังคมเพื่อที่จะตัดสินใจในกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคม   มีนักเขียนนักวิชาการหลายท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่หลายเล่ม  ส่วนใหญ่มองในมุมของจิตวิทยาส่วนบุคคลที่มีต่อสังคมภายนอกและการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือมองจากภายในไปสู่ภายนอก   แต่ในมุมมองของนักจัดการโซ่อุปทานนั้นความชาญฉลาดเชิงสังคมของโซ่อุปทานจะต้องมองจากภายนอกสู่ภายใน  โดยมีลักษณะเชิงรุก (Proactive) มากกว่า   เพราะว่าเมื่อโซ่อุปทานเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทธุรกิจและเศรษฐกิจสังคม    ผู้นำโซ่อุปทานจะต้องกลับมากำหนดความสามารถหรือปรับปรุงความสามารถของทีมงานหรือสมาชิกในสังคมเพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้   การกระจายงานหรือการแบ่งงานกันทำในลักษณะการวิเคราะห์โซ่คุณค่าแล้วกระจายออกไปตามแผนกหรือฝ่าย   หรือไม่ก็ Outsource ออกไปให้บริษัทภายนอกที่สามารถทำได้ดีกว่ารับไปทำในฐานะหุ้นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทาน

ดังนั้น ทุกคนในโซ่อุปทานจะต้องมีความชาญฉลาด (Intelligence) ในการเรียนรู้และการให้เหตุผล  เพื่อสร้างความสามารถใหม่ (New Competency) ให้สอดคล้องกับคุณค่าใหม่ที่ลูกค้าต้องการ   และความสามารถเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกันไปทั่วทั้งโซ่อุปทานด้วยการทำงานร่วมกัน (Collaboration) แล้วลองคิดดูว่า โซ่อุปทานของรัฐบาลในแต่ละชุดมีความชาญฉลาดเชิงสังคมมากน้อยแค่ไหน  ทั้งที่ทุกคนในคณะรัฐมนตรีมีความชาญฉลาดส่วนบุคคลที่ดีทั้งนั้น  แต่ขาดความชาญฉลาดเชิงสังคมหรือเชิงกลุ่มซึ่งจะต้องเกิดจากภาวะผู้นำของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย   ผมก็หวังว่าสังคมไทยก็น่าจะมีความหวังในการพัฒนาความชาญฉลาดเชิงสังคมให้เพิ่มมากขึ้น  รัฐบาลจะได้ฉลาดขึ้น  ผลประโยชน์จะได้ตกเป็นของประชาชนส่วนใหญ่

การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ :  การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา  สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน  มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 2331 สิงหาคม 2554